แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์นี้ ตอนเช้าดูฝน ตอนเช้าก็ได้นึกในใจว่าขอทีเถิด อย่าตกเช้า ๆ เลย เพราะว่าเช้า ๆ นี่ญาติโยมจะมาทำบุญทำกุศล ถ้าฝนตกแล้วมันไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง นึกไว้ในใจอย่างนั้น ตามเรื่องของคนเรา แต่ดูมันก็ดีอยู่ ครึ้ม ๆ พอดิบพอดี แดดไม่ออก ฝนไม่ตก ก็นับว่าสบาย เพราะว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่เราทั้งหลายจะได้มาวัดกัน มาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะ มาเพื่อขูดเกลาจิตใจให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ จะได้มีชีวิตเป็นสุขกับเขาสักคนหนึ่งในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท เพราะว่าพุทธบริษัทนั้นต้องเป็นผู้ที่อยู่อย่างเป็นสุข อยู่อย่างผู้รู้ อยู่อย่างผู้ตื่น อยู่อย่างผู้ที่มีความเบิกบานแจ่มใส
ถ้าเราอยู่อย่างเป็นคนมีความทุกข์ มีความวุ่นวายใจ มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา กลุ้มอกกลุ้มใจอยู่เสมอแล้ว ความเป็นพุทธบริษัทก็ไม่สมบูรณ์ เพื่อความเป็นพุทธบริษัทสมบูรณ์ขึ้น เราจึงมาวัดเพื่อศึกษาธรรมะ เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นหลักแก้ไขปัญหาชีวิตของเรา ให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์กับใคร ๆ
เพราะว่าการเป็นทุกข์นั้นมันไม่สบายใจ มันช่วยให้เราวุ่นวายใจด้วยประการต่าง ๆ เราอยากจะหนีให้ห่างไกล แต่ว่ามันก็เกิดขึ้นแก่เราได้ ในเมื่อเราไม่รู้วิถีทางของความทุกข์ ไม่รู้ว่าจะแก้ไขความทุกข์นั้นอย่างไร ความทุกข์นั้นก็รบกวนเราเรื่อยไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น คนที่มีความกลุ้มใจ ไม่เคยคิดว่าเรากลุ้มเรื่องอะไร อะไรเป็นเหตุให้กลุ้ม ก็มีแต่นั่งกลุ้ม ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ฝากกับคนอื่นก็บอกว่ากลุ้มใจ ก็ไม่รู้ว่ากลุ้มเรื่องอะไร
ที่วัดนี้มีคนแก่อยู่คนหนึ่ง แก่มากแล้ว ก็ไม่มีญาติอะไร แกอยู่ มาอยู่กันที่วัดนี้นานแล้ว แล้วก็เลยไปอยู่ที่กุฏิทางที่บ้าน ที่บริเวณนั้นคุณโยมบุญมารดาพระทองใบช่วยเหลือดูแล ให้ข้าวให้น้ำ รับทานอยู่ นาน ๆ อาตมาก็เดินผ่านไปเยี่ยมสักทีหนึ่ง เดินไปก็เดินเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก ไปยืนเฉย ๆ แกก็คงมองเห็นด้วยสายตา แล้วก็บอกว่า “หลวงพ่อมาเยี่ยม” แกพูดออกมาอย่างนั้น แสดงว่าตายังดีอยู่ ยังมองเห็น
อันนี้เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ไปเยี่ยม เดินเข้าไปแล้ว แกก็ลุกขึ้นนั่งมอง มองแต่ไม่แสดงว่ารู้จัก ไม่พูดอะไร เห็นนั่งมองนาน ๆ ก็เลยถามว่า “โยมเป็นยังไง สบายดีหรือ” “มันเจ็บปวด” “ปวดตรงไหน ปวดแข้งปวดขาหรือ ปวดเอวหรือ ปวดหลังหรือ” แกก็บอกว่า “มันไม่ปวดหรอก แข้งขาเอวหลังก็ไม่ปวดหรอก มันปวดที่ใจ” ว่าอย่างนั้น “มันปวดเรื่องอะไร ปวดที่ใจนี่มันปวดเรื่องอะไร” ถามแกอย่างนั้น แกก็บอกว่า “มันปวดใจ เพราะไอ้ขโมยชั่วร้ายมันมาเอาเงินไปหมดแล้ว” ว่าอย่างนั้น
ความจริงแกไม่มีเงินให้ขโมยเอาหรอก แต่ว่าเงินแกมีอยู่ คนเอามาให้น่ะ เขาก็ให้แกฝากมหาบุญเลี้ยงไว้ ท่านมหาบุญเลี้ยงก็เอาไปฝากธนาคารไว้ เผื่อแกตายก็จะได้ทำศพ บอกว่า “เงินขโมยมันจะเอาอย่างไร ก็โยมฝากท่านมหาบุญเลี้ยงไว้นี่ มหาบุญเลี้ยงแกเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว” “ท่านมหาบุญเลี้ยงแกมาบอกว่าโจรเอาไปหมดแล้ว” “เรื่องโจรมาบอกเมื่อไรล่ะ” “บอกเมื่อวานนี้เองว่าโจรเอาไปหมดแล้ว” บอกว่า “ท่านมหาบุญเลี้ยงมาบอกเหรอ” “ก็มาบอกไง” ความจริงเปล่า ท่านมหาบุญเลี้ยงไม่ได้เคยบอกอะไรแกหรอก แล้วก็เงินก็ไม่ได้หาย แต่แกก็ฝันไปนั่นเอง นั่งฝันไป นึกว่าขโมยเอาเงินไปหมดแล้ว
บางทีว่าง ๆ ก็บอกว่า “เสื้อผ้าก็ไม่มีนุ่งแล้ว” ถาม “มันหายไปไหน” “ไอ้เล็กมันเอาไปหมดแล้ว” ว่าอย่างนั้น เด็กผู้หญิงคนหนึ่งช่วยยกข้าวให้แกกินอยู่นั่นแหละ แกบอกว่า “มันเอาไปหมดแล้ว” ความจริงเปล่า ไม่ได้เอาไปสักหน่อย แล้วก็นั่ง ๆ คุยก็ถามว่า “นี่โยมรู้ไหมว่านั่งคุยกับใคร” “ไม่รู้” “อ้าว! แล้วกัน” ไม่ได้เรื่องแล้วนี่ ไม่รู้ว่าคุยกับใครแล้วนี่ ชักจะเลอะแล้ว
ก็นั่งคุย ๆ ก็ลุกขึ้นกลับไป แต่นึกในใจว่า อ้อ อายุมากเข้า สติอะไรไม่ค่อยจะดี ความจำก็เลอะเลือน จำอะไรไม่ได้ แต่ว่ายังฟังวิทยุอยู่ มีวิทยุอยู่เครื่องหนึ่ง บอกว่า “วิทยุนี่ขโมยยังไม่มาลักไป ไม่รู้วันไหนมันจะมาเอาไปเสียอีก” ว่าอย่างนั้น ยังมีเครื่องวิทยุอยู่ คือว่าสมองนี่ไม่ได้เรื่องแล้ว ก็อายุตั้ง ๘๕-๘๗ อะไรแล้ว นอน ลุกขึ้นเดินไม่ได้ เอาแต่นอน แต่โรคอื่นก็ไม่มี เรียกว่าโรคชรา แล้วก็อยู่ในสภาพอย่างนั้น คนเรามันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้นคนแก่แกก็ตามประสาคนแก่ แต่ว่าคนที่ยังไม่แก่ก็มีความกลุ้มใจ มีบางรายมาหา มาถึงบอกว่ากลุ้มใจ บอกว่า “กลุ้มเรื่องอะไร” “ไม่รู้” “แล้วไม่รู้แล้วจะไปกลุ้มทำไม กลุ้มทำไม ไม่รู้ว่ากลุ้มเรื่องอะไรแล้วไปกลุ้มทำไม” ก็ถามอย่างนั้น บอกว่า “มันหลายเรื่อง” “เอ เอามาสักเรื่องเถอะน่ะ เรื่องอะไรบ้างที่เรากลุ้ม” ก็ไม่สามารถจะหยิบมาให้ได้ว่ากลุ้มเรื่องอะไร มาบอกว่า “นอนไม่หลับ” “ทำไมนอนไม่หลับ” “จิตใจมันคิดมาก” ก็บอกว่า “หยุดคิดเสียบ้าง อย่าไปคิดอะไร” “มันคิด” ว่าอย่างนั้น อ้าว! นี่เรามันไม่ห้ามใจ แล้วก็คิดมากอย่างนั้น เลยบอกว่าทีนี้ก่อนจะนอนลงไปวิ่งรอบบ้านสัก ๕ รอบ แล้วก็อาบน้ำ อาบน้ำเสร็จแล้วก็ทานอาหารให้มันอิ่มท้องเสียหน่อย น้ำย่อยมันจะได้เกิดขึ้น แล้วก็มันจะง่วง ง่วงแล้วก็จะได้หลับไป บอกเขาไปอย่างนั้น
อันนี้มันเป็นอาการของคนที่ไม่รู้เท่าทันปัญหาชีวิต จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แก่ใครก็ได้ ถ้าเราเผลอไป เราประมาทไปมันก็เกิดขึ้น จิตเขาเรียกว่าวิตกกังวล คือมีความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เที่ยวหวาดเที่ยวกลัวไปด้วยประการต่าง ๆ บางเรื่องมันยังไม่เกิด แต่เรานึกว่ามันจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า กลัวไว้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำให้เกิดปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อน บางทีก็เรื่องผ่านมาตั้งนานแล้ว มันเลยไปแล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้เรื่องเลยไป เอามานั่งคิดนั่งฝัน แล้วก็นั่งกลุ้มใจ
เอาเรื่องเก่ามากลุ้ม เอาเรื่องที่ยังไม่มาถึงมากลุ้ม แต่ไม่ได้คิดเรื่องอยู่เฉพาะหน้า ว่าเราควรจะทำใจอย่างไร ควรจะคิดนึกในรูปใด ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเกิดความทุกข์ขึ้นในใจบ่อย ๆ ถ้าทุกข์บ่อย ๆ มันก็ไม่ดี มันเป็นโทษทางร่างกายด้วย เป็นโทษทางจิตใจ ทางประสาท จะเกิดปัญหาร้อยแปดพันประการขึ้น เช่น เป็นโรคท้องผูกบ้าง อาหารไม่ย่อยบ้าง อะไร ๆ ต่าง ๆ ตามมาเป็นลำดับ เพราะจิตใจมันผิดปกติ ร่างกายก็เลยพลอยผิดปกติไปเสียด้วย
เพราะฉะนั้นจึงต้องมาศึกษาข้อธรรมะ เพื่อนำไปใช้สำหรับแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะได้อยู่อย่างคนมีใจสงบ ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องอะไร ๆ ให้มันเกินไป อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
แต่ความจริงแล้วปัญหาชีวิต เราก็ต้องเอามาคิดเหมือนกัน แต่ว่ามันต้องคิดด้วยปัญญา อย่าคิดด้วยความเขลา คนที่คิดด้วยความเขลาคือคิดกลุ้มนั่นแหละ วิตกกังวลจนกลุ้มใจนี่เรียกว่าคิดด้วยความเขลา แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญา เราเอามาวิเคราะห์ แยกแยะเรื่องเหล่านั้นออกไป ว่ามันเรื่องอะไร มันมาอย่างไร มันอยู่อย่างไร ไปอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นในรูปใด ถ้าเราคิดอย่างนี้ เรียกว่าคิดด้วยปัญญา
ถ้าคิดด้วยปัญญามันก็ไม่เกิดทุกข์ แต่ว่ามันเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาเราก็รู้จักสิ่งนั้นถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง ความทุกข์มันก็หายไป แต่ถ้าเราไม่คิดด้วยปัญญา คิดกลุ้ม ๆ คล้ายกับอยู่ในที่มืด มันมองอะไรไม่เห็น แล้วก็นั่งกลุ้มอยู่คนเดียว เพราะมองไม่เห็นตัวปัญหา ไม่รู้สาเหตุของมัน แล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร มันก็มีความทุกข์ทวีขึ้นเรื่อย ๆ ไป แล้วถ้าเราหัดเป็นทุกข์แล้วมันก็จะเป็นทุกข์เรื่อยไป ไม่หัดคลายทุกข์เสียบ้าง ก็จะไม่มีการแก้เงื่อนปมของปัญหาชีวิตได้
เพราะฉะนั้นเรามาศึกษาธรรมะก็เพื่อเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับที่จะใช้แก้ไขปัญหาชีวิต ที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ว่าเราควรจะแก้ไขอย่างไร ควรจะปรับปรุงปัญหานั้นในรูปใด นี่คือประโยชน์ของการที่ได้มาศึกษาธรรมะ เพื่อเอาไปใช้สำหรับแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ธรรมะนี่ช่วยได้ทุกอย่าง ถ้าเรารู้จักเอาไปใช้ก็จะได้ประโยชน์แก่ชีวิตของเรามากทีเดียว เพราะฉะนั้นญาติโยมจึงควรจะได้สนใจศึกษา เพื่อจะนำไปสำหรับใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ในวันก่อนนี้ได้พูดถึงเรื่องสาเหตุของสิ่งที่มันไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้นในใจของเรา คือกิเลสตัวใหญ่ ๆ ๓ ตัว ได้แก่ โลภะ ความอยากได้สมบัติของผู้อื่น โทสะ คือความคิดประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น โมหะ คือความหลง ไม่รู้ในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ๓ ตัวนี้เขาเรียกว่าเป็นตัวนำ เป็นชั้นหัวหน้าที่ก่อการร้ายขึ้นในจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็เป็นเหตุให้ตัวอื่น ๆ พลอยเกิดตามมาด้วยประการต่าง ๆ
เช่นว่า เรามีความโลภ เราอาจจะมีความประทุษร้ายต่อบุคคลอื่นก็ได้ เพราะคนนั้นมาขัดประโยชน์ของเรา หรือว่าเราอาจจะมีความริษยาเกิดขึ้นในใจ เพราะเห็นคนนั้นมันร่ำรวยกว่าเรา มีความก้าวหน้ากว่าเราในเรื่องต่าง ๆ เราก็ชักไม่พอใจในบุคคลนั้น ก็เกิดความริษยา แล้วก็มีความพยาบาท อาฆาต จองเวร มันก่อให้เกิดปัญหาขึ้นไปเรื่อย ๆ จากต้นตอที่มันมีอยู่ในจิตใจของเรา ว่ากันโดยความจริงแล้ว กิเลสทั้งหลายไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาในใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ญาติโยมจะต้องจำไว้ให้มั่นในใจว่า กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันไม่ได้มีอยู่ในใจเราตลอดเวลา แต่มันมีขึ้นเมื่อเราเผลอ เราประมาท ขาดสติปัญญาที่จะพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ
เมื่อสิ่งนั้นมากระทบอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา และเราก็ขาดปัญญาที่จะพิจารณาไตร่ตรอง ไม่รู้เท่า ไม่รู้ทันต่อสิ่งนั้น สิ่งนั้นมันก็ก่อให้เกิดความคิดขึ้นในใจ เรียกว่า “เกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ” ภาษาธรรมะเรียกว่า “สังขาร” คือการคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้น มีความชอบใจบ้าง มีความไม่ชอบใจบ้าง สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจก็เกิดความอยากได้ ความโลภมันก็เกิดขึ้น สิ่งใดไม่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ เราก็ไม่อยากได้ มันก็เกิดหงุดหงิดงุ่นง่านในทางจิตใจ ทำให้เกิดโทสะ เกลียดแค้นสิ่งเหล่านั้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในใจอย่างนี้
ความจริงเมื่อมันเกิดแล้วมันก็ดับไป ไม่ได้อยู่ทนถาวรอะไรหรอก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายในตัวเรานั้น ให้เราจำหลักไว้อันหนึ่งว่า มันเกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา ร่างกายนี้ก็เกิดดับ ๆ อยู่ตลอดเวลา จิตใจหรือว่าความคิดความอ่านมันก็เกิดดับ ๆ อยู่เหมือนกัน ความคิดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป อีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป เช่น ความโลภเกิดขึ้นมันก็หายไป เมื่อใดได้สิ่งเหมาะมันก็เกิดขึ้นอีก คือได้อารมณ์ หมายถึงสิ่งที่มากระทบ พอได้สิ่งที่มากระทบให้เกิดอาการอย่างนั้น มันก็เกิดขึ้นอีก ความโกรธเมื่อมีสิ่งมากระทบจึงเกิดความโกรธ สิ่งกระทบทำให้เกิดความหลงก็เกิดความหลง
มันเกิดจากสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มากระทบนั้นเราเรียกว่า “อารมณ์” คือรูปบ้าง เสียง กลิ่น รส สัมผัส เข้ามากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายประสาท ใจเป็นผู้รับรู้ เอาไปปรุงแต่ง แล้วมันก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป ให้เราสังเกตว่าตั้งแต่เช้ามาจนบัดนี้ มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรากี่เรื่อง เกิดแล้วมันก็หายไป เกิดแล้วมันก็หายไป เราไม่ได้เป็นคนโลภอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นคนโกรธอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นคนหลง คนริษยา คนพยาบาทอยู่ตลอดเวลา
โดยธรรมชาติของจิตนั้นมันมีเวลาว่าง เรียกว่าว่างอยู่โดยธรรมชาติ แต่เมื่อมีอะไรมากระทบ มันก็เกิดอารมณ์ขึ้น เกิดความรู้สึกขึ้น แล้วก็เกิดการปรุงแต่งขึ้นมาตามรูปที่มากระทบ อันนี้มันเกิดขึ้นตามเรื่องที่มากระทบ ถ้าไม่มีเรื่องอะไรมากระทบ มันก็ไม่มีอะไร แต่เพราะมีเรื่องมากระทบบ่อย ๆ เรามักจะจำเรื่องนั้นไว้ ว่าง ๆ ไม่มีอะไรจะทำก็มาคิด คิดแล้วเกิดความโลภขึ้นมาบ้าง เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดความหลงขึ้นมา มันคิดไปในรูปอย่างนั้น
ให้สังเกตตัวเราแต่ละคนว่า บางทีนั่งอยู่เฉย ๆ แล้วมันก็เกิดอะไรขึ้นมาในใจ เช่น เกิดกลุ้มใจ เกิดวิตกกังวลอะไรต่าง ๆ นี่แสดงว่าเราเอาเรื่องเก่ามาคิด คล้ายกับเราไปนั่งดูอัลบั้มสำหรับใส่รูปภาพที่เราเก็บ ๆ ไว้มากมาย เอามาดูแล้วก็ยิ้มบ้าง ไม่ยิ้มบ้างไปตามเรื่อง อารมณ์ต่าง ๆ นั้นมันก็เก็บไว้ในใจของเรา จิตมีหน้าที่เก็บอารมณ์เหมือนกัน เก็บไว้แล้วก็อยู่ในภาพที่เรียกว่า “ความจำ” นั่นเอง
เราจำสิ่งนั้น จำสิ่งนี้ นั่นแหละคือการเก็บไว้ เก็บไว้แล้วก็รื้อมันเอามาคิด บางทีเรื่องมันเก่าไปตั้งหลายปีแล้ว แต่เราก็เอามาคิด คิดแล้วก็ไม่สบายใจ มีความกลุ้มใจ หรือว่ามีความทุกข์ขึ้นมา เสียดายสิ่งนั้น เสียดายสิ่งนี้ ความจริงสิ่งนั้นมันผ่านพ้นไปตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาคิดให้เกิดความยุ่งยากทางจิตใจ แต่ว่าบางทีก็อดคิดไม่ได้
นั่งคนเดียวน้ำตาไหล ใครมาเห็นเข้าก็ถามว่า “ทำไมนั่งน้ำตาไหล” “ฉันคิดถึงเรื่องเก่าที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องตอนหนึ่งในชีวิตของฉัน ฉันคิดแล้วมันเศร้าใจเหลือเกิน” นี่เรียกว่าอะไร เขาเรียกว่า “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ที่ภาษาไทยเราพูดกันว่า “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” หรือที่เราพูดว่า “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” เสี้ยนมันไม่มี เราไปเที่ยวแกว่งให้มันตำเล่น ไปฟื้นฝอยเพื่อหาตะเข็บให้มันกัดเราเล่น แล้วเราก็นั่งเสียใจ ไม่สบายใจ ยิ่งอยู่คนเดียวแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเวลาเศร้าใจมาก ๆ มันก็จะเป็นโรคทางใจ แล้วก็จะแตกดับลงไป
มีคุณยายอยู่คนหนึ่งเป็นญาติกัน คือเป็นลูกพี่ลูกน้องกับคุณยาย ทีนี้สามีแกถึงแก่กรรม อยู่กันมาจนอายุตั้ง ๘๗ คนผู้ชาย ๘๗ คุณยายอายุ ๘๕ อยู่กันมานานเหลือเกิน แล้วก็คุณตาแกตายไป ยายแกก็นั่งบ่นทุกวัน ๆ “เออ สุขมันไปอยู่ที่ไหน สุขมันไปอยู่ที่ไหน” นั่งบ่นอย่างนั้น ตื่นเช้าก็บ่น สาย ๆ เที่ยง ๆ ก็บ่น “สุขมันไปอยู่ที่ไหน ตาสุขอยู่ไหน” ๗ วันนะโยมยายตายแล้ว แกนั่งบ่นถึงตาอยู่ ๗ วันยายก็ตาย ไม่ได้มีโรคอะไร หัวใจหยุดเท่านั้น หัวใจหยุดทำงาน เพราะว่าคิดถึงว่าตาไปอยู่ที่ไหนมากไปนี่เอง ก็เลยต้องเอาไปเผาที่เชิงตะกอนอันเดียวกัน คือเผาคุณตาแล้วกระดูกยังไม่ได้เก็บเลย ยายก็ตายอีกแล้ว ก็ต้องเอาไปเผาตรงนั้นอีก ให้กระดูกไปอยู่รวมกัน จะได้ไม่ต้องคิดกังวลว่าไปอยู่ที่ไหนกันต่อไป คือได้ไปอยู่เชิงตะกอนเดียวกันแล้วก็หมดเรื่องกันไป
นี่คือความคิดที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาในจิตใจของเรา สร้างขึ้นมาอย่างนี้ บางทีเรานั่งแล้วก็นั่งแบบเหม่อลอย เอาแล้ว ใครนั่งเหม่อใจลอยแสดงว่ากำลังสร้างความคิด ในทางยุ่งแล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สร้างในทางจะมี ในทางจะเป็น ในทางที่จะอะไรต่ออะไรต่าง ๆ หลายเรื่องหลายประการ นั่งใจลอย ใจลอยก็หมายความว่า มันคิดฟุ้งไปเรื่อยไป จนไม่มีจำกัดจำเขี่ย คิดเรื่อย เขาเรียกว่า “คนใจลอย” ถ้าใจลอยก็เรียกว่า “ฟุ้งซ่าน” คิดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แล้วก็ไม่สบายใจ
ถ้าสมมติว่าใครมาเจอเข้า ถามว่าทำไมนั่งใจลอย มันเหมือนกับมากระตุกจิตใจอย่างนั้นแหละ ก็จะตอบคนนั้นว่า “แหม ฉันกลุ้มใจเหลือเกิน” “กลุ้มใจด้วยเรื่องอะไร” “บอกไม่ได้ เรื่องมันเรื่องของฉันเฉพาะเรื่อง เรื่องลับ” เอามานั่งกลุ้มเล่น เรื่องอะไร อยู่ดี ๆ ไปหาเรื่องให้กลุ้มใจเล่น ไปหาเรื่องให้มีความทุกข์เล่น นี่คือการปรุงแต่งที่มันไม่ได้เรื่อง เรามาสร้างภาพขึ้นในใจ ในทางที่จะให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนใจ เป็นการไม่ถูกต้อง สิ่งนั้นมันดับไปจากเรานานแล้ว แต่เราไปรื้อมันขึ้นมา ไปฟื้นขึ้นมา ไปคิดไปค้นเอาขึ้นมา เอามานั่งคิดให้กลุ้มใจเล่น หรือบางทีก็นั่งหัวเราะ เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น เพราะว่าภาพตอนนั้นมันเป็นภาพสนุกสนาน เป็นภาพแห่งความเพลิดเพลินเจริญใจ แล้วก็นั่งหัวเราะ
แต่ภายหลังจากหัวเราะนั้นก็ต้องเศร้าใจอีกเหมือนกัน ทำไมจึงต้องเศร้าใจ เพราะว่าภาพนั้นมันหายไปเสียแล้ว มันผ่านพ้นไปเสียแล้ว เราไม่สามารถจะดึงภาพนั้นมาให้เหมือนเดิมได้ ก็เลยไม่สบายใจ นี่เรื่องเก่าล้วนไม่ดีทั้งนั้น เอามาคิดแล้วมันยุ่งใจทุกอย่าง ให้มันพ้นไปเสียดีกว่า อะไรที่ผ่านพ้นไปแล้วก็ปล่อยให้ผ่านพ้นไป อย่าเอามาคิดเป็นอารมณ์ให้วุ่นวาย ส่วนเรื่องใดที่ยังไม่มาถึงนั้นก็อย่าไปคาดคิดให้มันมากเกินไป ถ้าคิดมากเกินไปก็กลุ้มใจอีกเหมือนกัน มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้หลักอย่างไรในเรื่องอย่างนี้ พระองค์สอนว่าให้เราคิดปัญหาเฉพาะหน้า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้า มีเรื่องอะไรที่เราจะจับจะทำในเวลานี้ ในวินาทีนี้ นั่นแหละเอามาคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาเฉพาะหน้า อย่าคิดสิ่งที่ล่วงแล้ว อย่าคิดถึงสิ่งที่มันยังไม่มาถึง เรามาพึ่งด้วยปัญญาในเรื่องปัญหาเฉพาะหน้า มันจะช่วยให้เราเกิดรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ถูกต้อง ก็ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องอะไรต่อไป เพราะเรามาเพ่งเรื่องเฉพาะหน้า
อันเรื่องเฉพาะหน้าก็คือเรื่องที่มากระทบเรา เช่นว่า รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้ถูกต้องอะไร หรือว่ามีอะไรเกิดขึ้นในความคิดของเรา เรายกเรื่องนั้นขึ้นมานั่งพินิจพิเคราะห์ เรียกว่า “วิเคราะห์ วิจัย” ตามภาษาสมัยใหม่เขาว่าอย่างนั้น หรือว่าเรียกว่า “วิตก วิจารณ์” ก็ได้ตามคำภาษาพระ วิตก วิจารณ์ สมัยก่อน คือ คิดค้น พิจารณาในเรื่องนั้น ให้รู้ชัดตามสภาพที่มันเป็นจริง
แล้วหลักของการพินิจพิจารณานั้น ก็ต้องเอาหลัก ๓ ประการมาเป็นเครื่องพิจารณา เป็นรากฐาน เป็นแม่บทสำหรับพิจารณา แม่บทสำหรับพิจารณานั้นก็ได้แก่ หลักธรรม ๓ ประการ เขาเรียกว่า “ไตรลักษณ์” คือลักษณะ ๓ ประการ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สามัญลักษณะ” สามัญลักษณะแปลว่า ลักษณะทั่วไปของสรรพสิ่งทั้งหลาย อะไร ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นนาม หรือว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันหนีไม่พ้นจากกฎ ๓ ข้อนี้
กฎ ๓ ข้อนี้เป็นกฎตายตัว เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ เอามาเปิดเผย แสดงให้คนทั้งหลายได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ กฎเกณฑ์ ๓ ประการนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาใช้พิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ทุกเรื่อง กฎอันแรกก็คือ อนิจตา หรือพูดง่าย ๆ ว่า อนิจจัง อนิจจังแปลว่าไม่เที่ยง อันที่ ๒ ว่าทุกขัง คือความเป็นทุกข์โดยสภาพ อันที่ ๓ อนัตตตา ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง
เรียกว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นคำสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักที่เราควรจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับพิจารณาเรื่องอะไรต่าง ๆ เพื่อให้รู้ชัดตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริง ๆ ก็ความเป็นอยู่จริง ๆ ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์อยู่ในตัวของมันอยู่ตลอดเวลา มันเป็นอนัตตา คือไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ มันเป็นของประสม ปรุงแต่ง เกิดขึ้นตามธรรมชาติบ้าง คนปรุงแต่งมันขึ้นมาบ้าง เรียกว่ามีการปรุงทั้งนั้น ปรุงให้มันเกิดขึ้น
เช่น ร่างกายนี่เรียกว่าธรรมชาติปรุงแต่ง ก็อาศัยคุณพ่อคุณแม่ แล้วเราก็เกิดมาเป็นร่างกาย ร่างกายนี้ประกอบขึ้นด้วยวัตถุธาตุ มีประการต่าง ๆ ถ้าแยกออกเป็นส่วน ๆ ก็ได้เป็น ๓๒ ส่วน นั่นแยกละเอียด เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนถึงมันสมอง เรียกว่า อาการ ๓๒ ถ้าแยกออกเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ ๕ อย่าง คือเป็นเรื่องรูป เรื่องเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องสังขาร เรื่องวิญญาณ เป็น ๕ เรื่อง ๕ กอง
พระพุทธเจ้าท่านแยกให้เราดู เพื่อไม่ให้เราไปยึดถือว่าเป็นก้อนเป็นกลุ่ม เป็นตัวเป็นตนที่ถาวร ให้เห็นว่ามันเป็นเรื่อง ๕ เรื่องที่มารวมกันอยู่ ถ้าถอดออกไปกองเป็น ๕ กองแล้ว ไอ้ตัวนั้นมันก็หายไป เหมือนกับว่านาฬิกาเรือนหนึ่ง เราเห็นก็เป็นนาฬิกา ทีนี้ถ้าหากดูให้ดีแล้วมันมีเครื่องประกอบหลายเรื่องจึงเป็นนาฬิกาขึ้นมาได้ ถ้าเราถอดออกให้หมด เอาไปวางไว้ในผืนผ้าผืนหนึ่ง คำว่านาฬิกานั้นหายไป ถ้าเราถอดออกหมดแล้วก็ไม่มีคำว่านาฬิกา แต่เมื่อเอามารวมกันเข้า มันก็เกิดเป็นนาฬิกาสมมติขึ้นมา
นาฬิกานี่เป็นคำสมมติ เราสมมติเรียกมันว่านาฬิกา เรียกว่านาฬิกาก็เพราะว่าเดิมเขาใช้กะลามะพร้าว มะพร้าวนี่ภาษาบาลีเรียกว่า นาฬิเก เราจึงพูดว่า มะพร้าวนาฬิเก มะพร้าว ๆ คือว่า นาฬิเกก็แปลว่ามะพร้าว เขาเอากะลามาเจาะ แล้วก็เอาไปลอยไว้ในขวด น้ำมันก็ซึมเข้าไป ๆ พอมันจมลงไปเรียกว่า เป็นนาฬิกา เรียกว่าเป็นระยะเวลาที่สมมติขึ้นว่า ชั่วโมง ชั่วโมงนี่ก็หมายความว่าเขาตีฆ้อง พอไอ้เจ้ากะลาจมลงไปแล้วก็ตีฆ้อง โมง ๆๆๆๆ เป็นชั่วโมง ถ้าเช้าก็ตีโมง ให้รู้ว่าโมงเช้า โมง ๆ ๒ โมงเช้า เขาเรียกว่าเป็นชั่วโมง คือมาจากเสียงโมง ๆ ของฆ้องที่เขาตีนั่นเอง มันเรื่องสมมติ ไม่ใช่เรื่องจริงแท้อะไร สมมติว่าเป็นเวลานั้นเป็นเวลานี้ขึ้นมา ให้รู้เป็นเครื่องนัดหมายจากนาฬิกาที่เรามีอยู่ แต่ถ้าเราถอดหมดนาฬิกามันก็ไม่มี
รถยนต์ที่เราใช้ขับไปขับมามันมีเครื่องประกอบมากมาย ถ้าเรารื้อออกให้หมดรถมันก็หายไป เรือนทั้งหลังก็ประกอบด้วยอะไรมากเหลือเกิน รื้อออกให้หมดเรือนมันก็หายไป คำว่าเรือนหายไป คำว่ารถหายไป คนนี่ก็เหมือนกัน เมื่อถอดออกแล้วมันก็หายไป เช่น เอาไปเผาไฟเป็นขี้เถ้ามันก็หายไปหมด เหลือแต่กองกระดูก เป็นซากศพที่เหลืออยู่ เหลืออยู่แต่รูป นามไม่มีแล้ว ไม่มีความรู้สึก ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ มีแต่เพียงรูปปรากฏอยู่เท่านั้น รูปนั้นก็มีอันสลายไป เมื่อใดมันผุไปเปื่อยไปมันก็สลายไป จะไม่เหลือให้ปรากฏให้แก่เราเห็นอีกต่อไป
นี่คือสภาพของสิ่งทั้งหลายที่มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ พระพุทธเจ้าสอนแง่นี้ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อทำลายความเข้าใจผิดที่เราเข้าไปยึดถือว่าตัวเราของเรา ตัวฉันของฉัน หรือที่ท่านพุทธทาสท่านพูดภาษาง่าย ๆ ว่า ตัวกูของกู ตัวกูของกูขึ้นมา มีเรามีเขา หรือมีฉันมีท่าน มีของฉันขึ้นมา เพราะมีตัวฉันแล้วก็มีของฉัน แล้วก็มีเขาแล้วก็มีของเขา มีเขามีเรา อะไรขึ้นมาในรูปต่าง ๆ แล้วก็เกิดการแก่งแย่งแข่งดีกันในทางที่จะให้เกิดปัญหาแก่ชีวิต เพราะความเข้าใจผิดในสิ่งเหล่านี้
เพราะฉะนั้นถ้าเรามาหมั่นพิจารณาเสียบ้างว่ามันไม่มีอะไร มันไม่ใช่ของแท้ เป็นของปรุงแต่งขึ้น เช่นว่า มีคนมากล่าวคำหยาบกับเรา เรียกเราว่าคำที่ไม่ดี เราโกรธขึ้นมา ว่าไอ้นี่มันดูหมิ่น มาพูดคำอย่างนั้นกับเรา เราโกรธ ถ้าเราคิดเสียหน่อยว่ามันควรจะโกรธหรือ มันควรจะเกลียดคนนั้นหรือ ถ้าคิดให้ดีแล้วก็ไม่น่าจะโกรธอะไร เพราะมันเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่เรื่องจริงแท้อะไร
เช่น เขาด่าเราว่าไอ้ชาติ... ชาติที่ไม่ใช่คน ที่เขามาพูดใส่เรา แล้วเราจะไปโกรธเขามันสมควรหรือ เราไม่ควรจะโกรธเขา เมื่อเรานึกได้ว่าก็เราไม่ได้เป็นชาตินั้น เรามันยังเป็นคนอยู่โดยสมมติ แต่เนื้อแท้มันก็ไม่ใช่คนนะ มันเป็นเพียงธาตุเป็นขันธ์ เป็นนายกตอนนี้ เป็นสิ่งที่สมมติทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ เราจะไปโกรธคนนั้นก็ไม่ได้ เราจะโกรธว่าเขาว่าอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีอะไรจริงจังอะไร
ที่เขาพูดออกมาเช่นนั้นก็เพราะว่ามีกิเลสหนุนหลัง มีความเชื่ออยู่ในใจของเขา เขาจึงพูดทำเช่นนั้นกับเรา เราได้ยินแล้วควรจะได้เอามาเป็นครูเตือนใจ ว่านั่นเป็นคำพูดที่มีกิเลสหนุนหลัง ไม่ใช่ปัญญาหนุนหลัง ถ้าเราจะไปโกรธคนนั้นเกลียดคนนั้น เราก็มีกิเลสหนุนหลังขึ้นมาอีกรายหนึ่ง ก็เท่ากับว่าเราเพิ่มความชั่วขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลกอีกคนหนึ่ง
พระพุทธเจ้าสอนเราว่าอย่าเพิ่มความชั่ว แล้วก็อย่าเพิ่มคนชั่ว ไม่เพิ่มความชั่วก็คือว่า เราไม่ทำชั่วเหมือนคนนั้น เราไม่ทำชั่ว เราต้องไม่เป็นคนชั่วเหมือนคนนั้น คนชั่วมันก็ไม่เพิ่มจำนวน ความชั่วก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่อันนี้มันต้องอาศัยปัญญาเป็นหลักพิจารณา ถ้าจะไปพิจารณาปุ๊บปั๊บเอาตรงนั้นมันไม่ได้หรอก ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อนไม่ได้ เราจึงต้องหมั่นบอกตัวเองไว้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้หรอก มันเป็นแต่เรื่องสมมติทั้งนั้น
สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่นี้ก็คือการปรุงแต่งของสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรคงที่ถาวรอยู่ในตัวเรา มันมี ๓ ลักษณะเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แพลบ ๆๆๆ อยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๆๆ คล้ายกับไฟแลบที่เขาประดับงานศพหรืองานอะไรต่าง ๆ แพลบ ๆๆๆ นั่นมันก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าชีวิตเราเหมือนอย่างนั้น โบราณไม่มีไฟฟ้าให้พิจารณา พระผู้มีพระภาคเปรียบชีวิตว่าเหมือนฟ้าแลบ ฟ้าแลบที่มันแปร๊บ ที่มันแปร๊บขึ้นมาได้เพราะอะไร เพราะมีการปรุงแต่งจึงได้แลบออกมาอย่างนั้น แลบแพลบเดียวมันก็หายไป มันไม่ได้อยู่ถาวรอะไร แล้วมันก็แลบบ่อย ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าเกิดดับ ๆๆๆ อยู่อย่างนั้น จะเอาความเที่ยงแท้ถาวรที่ไหน
ร่างกายเรามันก็มีสภาพแช่นเดียวกัน ในร่างกายนี้มีแต่เรื่องเกิดดับ ๆๆ อยู่ตลอดเวลา ในเรื่องใจก็เหมือนกัน มันเกิดอะไรขึ้นในใจแล้วมันก็หายไป เกิดแล้วมันก็หายไป มันไม่ได้อยู่ถาวรในจิตใจของเรา แต่ที่มันเกิดบ่อย ๆ ก็เพราะเราไม่ได้ระมัดระวัง เราไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วมันทำให้เกิดอะไรต่อไป เกิดขึ้นแล้วมันร้อนหรือเย็น สงบหรือวุ่นวาย มันเผาไหม้หรือว่ามันสงบเย็น ไม่ได้พิจารณา เราไม่ได้เอาสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นมาพิจารณา อันนี้เรียกว่าไม่ถูกการ ไม่ถูกต้องตามหลักการปฏิบัติธรรมะ
พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาทุกเรื่องที่ได้ประสบพบเห็น ไม่ว่าอะไรเราต้องพิจารณาทั้งนั้น จะกินอาหารก็ต้องพิจารณา ใส่อาหารเข้าไปในปาก เคี้ยวไป นึกไปอะไรมันเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรเกิดขึ้น เช่นว่า เผ็ด ร้อน ขม เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม แล้วอะไรเกิดต่อจากนั้น เราเกิดความพอใจไหม เพลิดเพลินไหม หรือเกิดความไม่พอใจ ไม่เพลิดเพลินในรสอาหารนั้น ให้หมั่นพิจารณา แล้วก็ถ้าเกิดความเพลิดเพลิน ก็ต้องรีบห้ามล้อเสียหน่อย อย่าให้มันเพลินไป เพราะถ้าเพลินไปแล้วมันจะกินมาก ตะกละตะกลามขึ้นมาแล้ว เพราะว่าความหลงไหลในรสอาหารนั้น
ก็ให้พิจารณาว่าไอ้นี่มันไม่มีอะไร มันเครื่องปรุงแต่ง แกงที่มีรสชาติต่าง ๆ นั้นเพราะปรุงแท้ ๆ โยมผู้หญิงเคยเข้าไปทำอาหารในครัว สมมติว่าจะแกงอะไรสักอย่างหนึ่ง ลองดูอะไรบ้างที่เราใส่ลงไป ขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม พริก มะกรูด มะนาว อะไรก็ไม่รู้ คนที่เคยแกงรู้ว่ามันใส่อะไรบ้าง ใส่ลงไปแล้วต้องเอาไม้ตีพริกโขลก ๆๆๆ ตำละเอียด แล้วก็ใส่ลงไปในหม้อแกง น้ำแกงเดิมนั้นมันไม่มีรสมีชาติอะไร ก็น้ำธรรมดา มันไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นอะไร แต่ว่าพอเราเอาอะไร ๆ ที่เราโขลกเรียบร้อยแล้วใส่ลงไป เปลี่ยนสีแล้ว เปลี่ยนรสแล้ว เปลี่ยนกลิ่นแล้ว เวลาเราเห็นสีก็ต้องบอกว่านี่การปรุงแต่งให้เกิดสีนี้ขึ้นมา ได้กลิ่นทางจมูกนี่การปรุงแต่งเกิดรสขึ้นมาแล้ว ได้เห็นสีทางตาก็ให้รู้ว่าปรุงแต่ง เราตักขึ้นมาชิมดูหน่อยว่าอร่อยขนาดไหน พอชิมแล้วเข้าที่ นี่ก็คือรสที่เราปรุงแต่งมันขึ้น
ไอ้ของเดิมมันไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเราประกอบมันเข้า จึงเป็นอย่างนี้ เนื้อแท้มันหามีไม่ เพราะเราปรุงมันเข้าจึงเกิดรูปอย่างนั้นขึ้นมา แล้วก็สมมติชื่ออีก ชื่อว่า แกงเผ็ด แกงหวาน แกงจืด แกงเหลือง แกงเนื้อ แกงกะหรี่ แกงฮังเล แกงแคร์เมืองเหนือ อะไรต่ออะไรหลายแกงชื่อออกไป ทีนี้เราก็มาคิดชื่ออีก อยากจะกินแกงนั้น อยากจะกินแกงนี้ เราไปติดรสอาหาร ถ้าได้อาหารไม่ถูกใจชักจะขุ่น ๆ ถ้ามีคนใช้ก็มักจะเรียกมาว่า “แกแกงอะไรของแกวะวันนี้” แล้วเวลาดูอะไรมันเกิดขึ้นในใจ เกิดตัวกิเลส เกิดความโกรธขึ้นมาในใจ เกิดโทสะเพราะเราได้แกงไม่ถูกปาก หรือว่าได้ข้าวเปียกไปบ้าง ข้าวสวยเกินไป
บางคนก็ชอบกินข้าวสวย คนที่ฟันดี ๆ ก็ชอบของสวย ข้าวสวย พอฟันหลุดไปบ้างชอบของเปียก ๆ ชอบข้าวที่แฉะ ๆ หน่อย มันเคี้ยวง่าย แต่ถ้าฟันสมบูรณ์ เขาหุงข้าวแฉะก็ไม่ได้ ไม่ได้นึกว่าหุงข้าวมันต้องใช้น้ำ มันต้องแฉะบ้าง ถ้ามันไหม้ไปบ้างก็ไม่ได้นึกว่าเขาใช้ไฟ มันก็เกินไปบ้าง มันก็ต้องไหม้บ้าง แต่ถ้าดิบมันไม่ได้เรื่อง แฉะมันต้องอย่าไปโทษเขาเพราะเราใช้น้ำ ไหม้ก็อย่าไปโทษเขาเพราะเราใช้ไฟ แต่ถ้าดิบนี่มันพอโทษได้ ว่า “แกหุงอย่างไรถึงดิบอย่างนั้น” แต่ก็อย่าไปโทษด้วยอารมณ์ขุ่น สอนด้วยใจเย็น บอกว่า “ทีหลังระมัดระวังหุงให้เรียบร้อยหน่อย ไอ้ข้าวดิบ ๆ นี่กินเข้าไปแล้วท้องข้ามันไม่ค่อยจะดี”
เราก็พูดไปไม่ให้กระเทือนใจเรา ถ้าไม่กระเทือนใจเราก็ไม่กระเทือนใจคนอื่น ถ้าเราพูดอะไร ทำอะไรกระเทือนใจเรา เราก่อนนะ เรากระเทือนก่อน กระเทือนใจเราก็คือพูดด้วยอารมณ์นั่นเอง เช่น พูดด้วยความโกรธนี่กระเทือนใจ พูดด้วยความเกลียดนี่ก็กระเทือนใจ พูดด้วยความรักนี่ก็กระเทือนใจเหมือนกัน เรียกว่ามันเกิดอารมณ์ขึ้นในใจ เกิดการเคลื่อนไหวในทางจิตของเรา
เราพูดออกไปก็เป็นไปตามอาการที่มีอยู่ในใจ ถ้ามีความโกรธ พูดร้อน หยาบ ถ้ามีความเกลียดก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความพอใจก็พูดสุภาพหน่อย อ่อนหวาน บางทีก็อ่อนหวานเกินไป ปรุงแต่งมากเกินไป เพราะว่าเราชอบเขา เหมือนชายหนุ่มพูดกับหญิงสาว เรียกว่าปรุงแต่งมากหน่อย พูดให้เขาชอบ หญิงสาวก็ปรุงแต่งอีกหน่อยเหมือนกัน พูดให้เขาชอบเหมือนกัน ต่างคนต่างหลอกกันอย่างนี้ ปรุงแต่งหลอกเข้าใส่กัน หลอกกันไปหลอกกันมา ทีหลังก็นั่งเป็นทุกข์อีกแล้ว เพราะว่าเขาเบี้ยวเสียแล้ว ไม่เหมือนเดิมที่พูดไว้ ปัญหามันก็เกิดขึ้นมา
เราไม่ได้นึกล่วงหน้าไว้มันอาจจะเบี้ยวก็ได้ คนสมัยนี้ไม่แน่ อย่าไปเชื่อนัก นึก ๆ ไว้อย่างนั้น มันก็ค่อยยังชั่ว มีอะไรเกิดขึ้นก็พอจะแก้ตัวได้ว่า “กูนึกแล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น” มันค่อยสบายใจ เรียกว่านึกไว้ล่วงหน้ามันค่อยสบายหน่อย แต่ถ้าไม่นึกเลย “แหม ไม่นึกเลยว่าจะเป็นอย่างนี้” กลุ้มใจอีก กลุ้มใจว่ามันเกิดโดยไม่ได้นึก ทีนี้นึกไว้เสียบ้าง นึกล่วงหน้าไว้ มีของนึกว่ามันคงจะแตกสักวันหนึ่ง มันคงจะชำรุดทรุดโทรมไปสักวันหนึ่ง มันคงจะเสียหายไปสักวันหนึ่ง เพราะมันไม่เที่ยง อะไร ๆ มันไม่เที่ยง มันมีการเปลี่ยนแปลง
อย่างพัดลมนี่ เปิดแล้วมันก็ติดอยู่ เรียบร้อย แต่ก็ต้องนึกไว้ว่ามันต้องเสียบ้าง มันก็เสียไปบ้างแล้ว บางตัวดึงไม่เดินแล้ว ต้องขึ้นไปหมุนเอง มันก็เริ่มเสียแล้ว เป็นธรรมดา ของอย่างนี้มันก็ธรรมดา ถ้าใครบอกเราว่ารถเสีย เราก็อย่าไปโกรธเขา เรานึกว่าธรรมดา มันก็ต้องเสียบ้าง ใจเราก็ไม่ขุ่นอะไร แต่ก็บอกคนขับว่า “ไปซ่อมเสียก็แล้วกัน เอาไปซ่อม แต่ว่าเวลาจะไปไหนก็ไปตรวจเช็ครถเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเสียหายกลางลู่กลางทาง” อย่างนี้เขาเรียกว่า เอาความไม่เที่ยงมาใช้เป็นหลักพิจารณา เอาความเป็นอนัตตามาพิจารณาไว้ จิตใจก็จะสบายขึ้น ไม่สับสนวุ่นวายด้วยปัญหาอะไร ๆ มากเกินไป ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็ต้องพิจารณาไว้
คนเราอยู่ด้วยกัน บางทีก็มีเรื่อง มักจะมีในบางครอบครัว แล้วตัวเองระแวง ระแวงกัน คือว่า สามีระแวงภรรยา ภรรยาก็ระแวงสามี ระแวงในเรื่องอะไร เรื่องจะเป็นอื่นน่ะสิ สามีก็ระแวงภรรยาว่าจะไปรักคนอื่น จะไปชอบคนอื่น ภรรยาก็ระแวงสามีว่าจะไม่ซื่อสัตย์ต่อตัว จะไปรักคนอื่น แล้วก็กลุ้มใจ มีความเป็นทุกข์ นึกถึงเรื่องนั้นทีไรแล้วก็ไม่สบายใจขึ้นมาทันที อันนี้เราแก้ได้ด้วยการเอาธรรมะไปใช้ คือไปพิจารณาให้มันรู้
โดยเฉพาะสังคมในยุคปัจจุบัน ผู้ชายนี่เขาอย่างนั้น เขาก็ต้องไปเที่ยวไปเตร่อะไรไปตามเรื่องเขา ตามชอบใจ เพื่อนฝูงมิตรสหายมันเยอะ ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นไปเราก็นึกว่าสัญชาติมันเป็นอย่างนั้นเอง นึกอย่างนั้น สันดานมันเป็นอย่างนั้น มันแก้ไม่ได้ นึกอย่างนั้น แล้วมันก็ค่อยเบา ๆ ไป อย่าไปโกรธไปเคือง ทำใจดีสู้เสือ แล้ววันหลังเขานึกได้เอง นึกได้ “อ้อ แม่บ้านเรานี่ใจดี ใจเย็น ไม่วู่วาม ไม่เร่าร้อน แม้เราจะทำอะไรผิดก็ไม่แสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์” ไอ้ความสำนึกผิดมันจะเกิดขึ้นในใจเขา แล้วเขาจะเป็นคนดีต่อไป แต่ถ้าเราวู่วาม ไปพูดไปใช้คำที่ไม่สมควรแล้วแสดงกิริยาอาการไม่เหมาะไม่ควร พอกลับมาถึงก็เป๊ะเข้าใส่เลย เป๊ะเข้าใส่ เขาจะไม่มา เพราะว่าเขามีที่จะไปอยู่แล้ว แล้วเขาจะมาอีกทำไมถ้าเราทำอย่างนั้น มันไม่ได้นะ ต้องเอาความดีชนะความชั่ว ต้องทำใจเย็น ๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้ กลับมาก็อย่าไปเที่ยวถามว่า พี่ไปไหนมา อะไรให้มันวุ่นวาย ปฏิบัติให้เขาสบายใจ มาถึงก็ไปเฝ้ารถ ยกกระเป๋า มาบนบ้านถอดเสื้อให้ เปิดพัดลมให้ เอาน้ำเย็น ๆ มาให้รับประทาน ชวนพูดชวนคุยในเรื่องที่สบายใจ อย่าไปคุยเรื่องไม่สบายใจ อารมณ์ขุ่นทั้งหลายอย่าเอามาใช้ ใช้แต่ความสงบ ความเยือกเย็น นาน ๆ เข้าชนะ ไม่ไปไหนต่อไป เราชนะแล้ว ชนะด้วยความดี
แต่นี่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น บางคนจะเอาชนะด้วยโมโห หุนหันพลันแล่น ก็เหมือนกับขับไล่ไสส่งให้เขาไปอีกนั่นแหละ นี่ใช้ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แม่บ้านต้องใจเย็น พ่อบ้านก็ต้องใจเย็นเหมือนกัน ต้องไว้ใจแม่บ้าน อยู่กันมานานแล้ว มีลูกมีเต้าแล้ว เขาจะไปอะไรกับใครที่ไหน เขาคงจะไม่ทำอย่างนั้นหรอก เราต้องให้ความไว้วางใจแก่เขา อย่าไปเที่ยวนึกระแวงให้เกิดความวุ่นวายใจ เกิดปัญหา เพราะการอยู่กันด้วยความระแวงนั้นมันเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ตลอดเวลา พอใครออกจากบ้านก็ ผู้อยู่ในบ้านนั่งเป็นทุกข์แล้ว ไม่รู้จะไปไหน จะไปหาใครอีกก็ไม่รู้ นั่งกลุ้ม ไอ้โน้นเขาไปสบาย เรานั่งกลุ้มอยู่คนเดียว เสียเปรียบ อย่างนี้เสียเปรียบ เราจะไปกลุ้มทำไม นึกว่าเรื่องธรรมดา เขาไปไหนก็ช่างเขาเถิด
เหมือนกับว่าคุณนายคนหนึ่งแกพูดดี แกบอกว่า “ถ้าอยู่บ้านนี่ผัวฉันจ้ะ แต่ถ้าลงจากบ้าน ฉันไม่รู้ ไม่รับรอง” ว่าอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่าปลงแล้ว “ถ้าอยู่บ้านเป็นของฉัน ถ้าลงบันไดไปไม่รู้ของใครก็ไม่รู้ ฉันไม่สนใจแล้ว กลับมานี่ของฉัน” ก็สบายใจ ไม่มีเรื่องอะไรทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่างนี้ก็สบาย
คนโบราณเขามี ในครอบครัวในบ้านมีเมียหลายคน คนที่เป็นแม่ใหญ่สำคัญมาก เอาไว้ในกำมือหมด แม่น้อย ๆ ทั้งหลายอยู่ในกำมือหมด เอาไว้ด้วยอะไร ด้วยความดีนั่นเอง ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วางตนเป็นผู้ใหญ่ เอาใจผู้น้อย ไม่รังเกียจรังงอนอะไร ไอ้พวกแม่น้อย ๆ ก็นับถือหมดเลย เคารพบูชา มีลูกมีเต้าออกมาก็รับเลี้ยงมัน เอาใจใส่เหมือนกับลูกตัวเหมือนกัน เอาใจใส่ในการเล่าการเรียนการเป็นการอยู่ ไม่รังเกียจเดียจฉันท์ เลยกลายเป็นความรักไปหมด อยู่กันสบายในครอบครัว พ่อบ้านก็สบาย แม่บ้านก็สบาย ทุกคนในครอบครัวก็เป็นพี่เป็นน้องกัน นี่เขาเรียกว่าอยู่ด้วยธรรมะ ไม่อยู่ด้วยการเห็นแก่ตัว ไม่อยู่ด้วยอารมณ์โกรธเกลียดกันและกัน ก็มีความสุข คนสมัยก่อนเขาอยู่อย่างนั้น เขาอยู่กันสบาย ไม่ค่อยมีปัญหา
เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ความคิดมันมาก ฟุ้งซ่าน ไม่ค่อยได้เข้าวัดเข้าวา ไม่เอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน เอะอะขึ้นมาก็เอาแต่โมโหโกรธา เอากิเลสใช้ท่าเดียว มันไม่ได้ ใช้กิเลสนี่มันไม่ได้ แต่ต้องใช้จิตใจที่สงบ มีปัญญา มีสติ สิ่งทั้งหลายก็จะดีขึ้น นี่หลักการมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรามาวัดทุกวันอาทิตย์นี่เขาเรียกว่าหยิบเอาไปใช้เรื่อย ๆ ไป เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ว่าเราจะแก้อะไรอย่างไรโดยวิธีใด ทำจิตใจให้มันสงบไว้ก่อน แล้วก็พิจารณาโดยแยบคาย สิ่งทั้งหลายก็จะดีขึ้น
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ วันนี้นี่หมอประสพ รัตนากร จะมาแสดงปาฐกถาตอนบ่าย พูดดี พูดเข้าใจ เรื่องอะไรดี ญาติโยมอยู่ฟังด้วย ไม่รีบไม่ร้อน อยู่ฟัง บ่ายโมงตรง อ้าวต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว แล้วคอยกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก อย่าให้จิตฟุ้งซ่านไปคิดในเรื่องอื่น ให้คิดอยู่ที่ลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที