แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา (เสริมเข้ามา)
หาที่นั่งให้เรียบร้อย เก้าอี้มีว่าง ข้างในก็มีว่าง เดินเข้ามาที่ว่างมี นั่งให้เรียบร้อย ข้างนอกก็นั่งให้เรียบร้อย อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย เดินเป็นเวลา นั่งเป็นเวลา นอนเป็นเวลา กินก็ให้มันเป็นเวลา ไม่พร่ำเพรื่อ ต้องรู้จักแบ่งเวลา เวลาไหนควรนั่ง-นั่ง เวลาไหนควรเดิน-เดิน เวลาไหนควรยืน-ยืน เวลาไหนควรพูด-พูด แต่เวลาไหนไม่ควรพูดอย่าพูด ไม่ควรเดิน ไม่ควรนั่ง โดยเฉพาะเวลานี้เป็นเวลาที่จะต้องนั่งสงบจิตสงบใจให้ทั่วทั้งบริเวณลานไผ่และที่อื่นๆ ที่พอจะนั่งลงได้ อย่าเที่ยวเดินไปเดินมาให้วุ่นวายรบกวนสมาธิคนอื่น
พวกขับรถก็หยุดรถ อย่าขับเข้ามาบริเวณถนนสายนี้ในขณะที่เขาฟังธรรม โดยเฉพาะพวกมอเตอร์ไซค์นี่อย่าเข้ามาเด็ดขาด เพราะว่าเป็นรถที่ก่อความรำคาญให้แก่คนอื่น เสียงมันดัง ไม่ค่อยจะรู้จักเวล่ำเวลาอยู่เหมือนกันพวกมอเตอร์ไซค์ เช่น เวลาไปจอดไว้ เขากำลังฟังเทศน์ พอจะไปก็สตาร์ท ตึง…ตึง…ตึง หนวกหูคนอื่น เขาเรียกว่าคนไม่มีความคิด ไม่นึกว่าคนอื่นเขาจะรำคาญ เขาต้องการความสงบใจ
คนเรามันคิดไม่ค่อยได้ เรื่องอะไรที่ควร-ไม่ควรนี่คิดไม่ค่อยได้ ถ้าคิดได้คนมันไม่ฆ่ากัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะต่างคนต่างก็เห็นอกเห็นใจแก่กันและกัน แล้วก็มีเรื่องเกรงใจกัน คำว่า “เกรงใจ” ในภาษาไทยนี่มีความหมายดีมาก เกรงใจกัน เกรงใจไม่อยากจะทำอะไรให้ใครรำคาญ ไม่อยากจะสร้างปัญหาหรือความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ใครๆ เขาเรียกว่ารู้จักเกรงใจคน คนเราถ้ารู้จักเกรงใจคนแล้ว ก็เรียกว่าเป็นคนรู้จักกาลเทศะ (ทาง) พระพุทธศาสนาเรียกว่า “กาลัญญู” ผู้รู้จักเวลา รู้จักเหตุการณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รู้เหตุรู้ผล รู้อะไรต่างๆ อย่างนี้ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการที่จะเข้าไปติดต่อกับคนอื่นที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ
วันนี้อากาศภายนอก (ค่อนข้าง)จะครึ้มหน่อย แต่ว่าไม่ต้องตกใจ ฝนก็คงจะไม่ตกลงมาในตอนนี้ เพียงแต่ว่าเมฆมากหน่อย เราก็นั่งกันให้สบายๆ เพื่อรับฟังธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระ (พุทธ) ศาสนาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ธรรมะนี่เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน คือใช้ทุกเวลานาที ใช้ทุกครั้งที่เราจะทำอะไรต่างๆ ไม่ว่าเราจะคิด เราจะพูด เราจะทำอะไร เราจะไปสู่สถานที่ใด เราจะเกี่ยวข้องกับใคร มันต้องใช้ธรรมะทั้งนั้น ถ้าไม่ใช้ธรรมะแล้วก็เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ บรรดาปัญหายุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรานั้นไม่ได้เกิดจากอะไร เกิดจากเราเผลอนั่นเอง
“ความเผลอ” หรือ “ความประมาท” ก็คือการไม่ใช้ธรรมะ เมื่อไม่ใช้ธรรมะ มันก็เผลอ เหมือนคนเดิน (ถ้า) ไม่ (รู้จัก) ใช้ธรรมะก็สะดุดบ้าง ตกร่องบ้าง ก้าวบันไดพลาดแข้งหักขาหักไปบ้าง นั่นเพราะไม่ใช้ธรรมะในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการทำ ในการพูด ในการคิด ต้องใช้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา ธรรมะนั้นเรียกว่า “สติ”
“สติ” คือความรู้สึกตัวในขณะที่เราจะทำอะไรๆ ไม่ทำโดยความไม่รู้ตัว ถ้าทำโดยไม่รู้ตัวก็เรียกว่า “ประมาท” หรือเป็นคนเผลอ เผลอเมื่อใดเกิดทุกข์เมื่อนั้น เผลอเมื่อใดก็เสียหายเมื่อนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร (ก็) เผลอไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาในการกระทำอะไรต่างๆ
“ความระมัดระวัง” นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม ที่เราพูดกันว่า ปฏิบัติธรรม...ปฏิบัติธรรม พูดให้เข้าใจง่ายก็หมายความว่า มีความระมัดระวังในการคิด ในการพูด ในการกระทำ ในการคบหาสมาคมติดต่อกับคนนั้นคนนี้ แม้ในขณะที่นั่งขับรถยนต์ไป ก็ขับด้วยความมีธรรมะ (ถ้าขับด้วยความ) ไม่มีธรรมะมันก็เสยกัน เมื่อตะกี้นั่งรถผ่านมาไม่น่าจะชนกัน คือรถเก๋งกับรถสองแถวเกิดไปชนกันเข้า เสียหายทั้งสองฝ่าย ที่ได้เกิดเสียหายก็เพราะว่าไม่มีธรรมะในขณะขับรถ คือไม่ระมัดระวัง รู้แล้วว่าฝนตก ถนนอาจจะลื่นก็ได้ ถ้ารู้ว่าถนนลื่นก็ค่อยๆ ไป อย่ารวดเร็ว อย่ารีบร้อน เราก็ไปด้วยความระมัดระวัง มันก็ไม่เกิดความเสียหาย คนบางคนขับอยู่เลนซ้ายเลนหนึ่ง แต่ว่าไม่รู้ทำไมดัน (ขับ) มาอีกเลนหนึ่ง สิบล้อผ่านมาพอดีก็โครมเข้าให้ ทั้งสองคนได้รับบาดเจ็บ ต้องนำไปส่งโรงพยาบาล อันนี้คือการไม่ได้ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมน่ะคือการทำตนให้ปลอดภัย เราปฏิบัติธรรมนี่ทำให้เราปลอดภัย ทำให้เราเจริญ ทำให้เราก้าวหน้าในชีวิตในการงานด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะเมื่อใด เราก็เกิดปัญหาเมื่อนั้น เกิดความทุกข์เมื่อนั้น
แม้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรา ก็เกิด (ขึ้น) จาก (การที่) เราไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน เช่นว่าร้อนกระทบเย็น เย็นกระทบร้อน ทีนี้เราไม่ได้ระมัดระวังในการที่จะทำอะไร ในขณะที่เราหลับเรานอน เราทำอะไรอยู่ เราไม่ระวังเนื้อระวังตัว มันก็เกิดกระทบกันขึ้น เช่น ไม่ระวังตัวตอนหัวค่ำมันร้อน พอดึกขึ้นมันเย็น เราไม่เอาผ้าคลุมหน้าอกไว้ไม่ห่มไว้ พอเย็นเข้าหลับไม่รู้ตัว ถูกความเย็นมากระทบรุนแรง ก็เกิดอาการเป็นไข้หวัดขึ้นมา แล้วก็ต้องไปรักษาไปโรงพยาบาล ต้องไปซื้อหยูกซื้อยา มันเป็นอันตรายมาก แต่ถ้าเรานึกว่าดินฟ้าอากาศมันเปลี่ยนแปลง ประเดี๋ยวร้อนประเดี๋ยวเย็น ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้นประเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เราไม่ประมาท เราเอาผ้าคลุมไว้ นอนเอาผ้าคลุมเนื้อคลุมตัวโดยเฉพาะที่หน้าอก เพราะหน้าอกนี้เลือดข้างในมันเยอะ ของดีๆ อยู่ในอกทั้งนั้น ปอดก็อยู่ตรงนั้น หัวใจก็อยู่ตรงนั้น อะไรมันก็อยู่ในอกของเราทั้งนั้น ก็ให้ความอบอุ่นแก่เขาหน่อย อย่าให้เขาเกิดว้าเหว่จนเย็นใจ (เย็นอก) ขึ้นมา ก็ไม่มีเรื่องอะไร ไม่เกิดปัญหา
เรื่องการกินก็เหมือนกัน คนกินโดยไม่ปฏิบัติธรรม กินพร่ำเพรื่อ กินไม่เป็นเวลา กินเพราะติดรสอาหาร ไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่ว่าอยู่เพื่อกิน เลยกินสุ่มสี่สุ่มห้าไม่เลือกว่าอะไรควรกินอะไรไม่ควรกิน อะไรควรดื่มอะไรไม่ควรดื่ม ดื่มเข้าไปเรื่อยๆ แม้ของเป็นพิษ มันไม่ดี ก็อุตส่าห์ดื่มเข้าไป ดื่มจนกระทั่งว่าประสาททนไม่ไหว แล้วก็เกิดโรคแก่ร่างกาย ทำให้เสียชีวิตไปเพราะการดื่ม เสียชีวิตไปเพราะการกิน ก็มีอยู่มิใช่น้อย
แม้การประกอบกิจการงาน ถ้าไม่ใช้ธรรมะ...เราก็ประกอบกิจการงานโดยไม่ได้คิด ไม่ได้ (ไตร่) ตรอง ทำไปเพราะความอยากจะได้ อยากจะมีในเรื่องอะไรต่างๆ มากไป เช่นว่าไปค้าของที่ไม่ควรค้า เช่น ค้าเฮโรอีน เป็นต้น เหมือนกับคนทำราชการในตำแหน่งรองกงสุลไทยในประเทศอเมริกา คิดจะร่ำรวยไวๆ เพราะเงินเดือนมันน้อย ความจริงเขาให้มากแล้วล่ะข้าราชการสถานทูต ให้บ้านอยู่ ให้รถยนต์ใช้ แล้วก็ให้เงินเดือนพอใช้ เพราะเขารักษาเกียรติคนที่เป็นตัวแทนของราชการไปอยู่ต่างประเทศ แต่เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย แล้วอยากจะ “รวยทางลัด” ก็ไปค้าเฮโรอีนเข้า ผลที่สุดก็ถูกจับได้ ป่านนี้คงไปนอนอยู่ในคุกเมืองชิคาโกเรียบร้อยแล้ว
นี่มันเรื่องอะไร ไม่ได้ใช้ธรรมะ ไม่ได้เอาธรรมะไปใช้ จะทำอะไรก็ไม่คิดไม่ตรองให้รอบคอบว่ามันจะเกิดความเสียหาย ถ้าเป็นคนใช้ธรรมะก็ไม่กล้าที่จะกระทำความชั่ว การกล้าทำความชั่วนั้นเขาเรียกว่า “คนหน้าด้าน” คือไม่ระมัดระวังในการกระทำแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตการงาน แล้วก็เสียไปถึงวงศ์สกุล ใครสกุลเดียวกัน พอ(เขา)ได้ยินชื่อสกุลแล้ว “อ้อ! ญาติคุณเหรอค้าเฮโรอีน” ญาติคุณเหรอ (ที่) ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ นี่แหละที่เขาเรียกว่า “ชั่วทาญาติ” คือชั่วแล้ว (ยัง) ไปเที่ยวทำญาติให้แปดเปื้อน ถ้า “ดีทาญาติ” มันค่อยยังชั่วหน่อย ใครก็อยากจะเป็นญาติกับคนดี แม้ไม่เป็นญาติก็อ้างตัวว่าเป็นญาติหรือว่าเป็นคนรู้จักมักจี่ กับคนดีนะ...อยากจะเป็นญาติกันทั้งนั้น แต่คนชั่วนั้นไม่มีใครอยากจะเป็นญาติด้วย
คนเราทำความชั่วเพราะขาดหลักใจ ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ จึงได้เกิดการกระทำในรูปที่เสียหาย แม้ความทุกข์ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้น จะเป็นทุกข์เรื่องอะไรก็ตาม มันเกิดเพราะเราไม่มีธรรมะคุ้มครองจิตใจ แล้วเราก็ไปจับไปฉวยเอาสิ่งซึ่งไม่น่าจะจับฉวยมาเป็นของตน ก็ทำให้เราเกิดความทุกข์ ทุกข์เกิดเพราะหลงผิด เพราะเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้นว่าเป็นตัวเราบ้าง เป็นของของเราบ้าง มันเกี่ยวข้องกับเราบ้าง
ความจริงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันก็อยู่ตามเรื่องของมัน เรียกว่าอยู่ตามธรรมชาติ ต้นหมากรากไม้อะไรต่างๆ มันก็อยู่ตามธรรมชาติ คนเราก็ทำอะไรตามเรื่องของตนๆ ตามเรื่องธรรมชาติ แต่อีกคนหนึ่งไปเข้าเกี่ยวข้องกับอีกคนหนึ่ง ไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างหนึ่งกับเรื่องอย่างหนึ่งเข้า การเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นไปเกี่ยวข้องด้วยความโง่ความเขลา ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วก็เลยไปยึดมั่นถือมั่น ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่นว่าญาติของเราอยู่ๆ กันนี่ก็มาตายลงไป ถ้าเราไม่คิดถึงธรรมะเราก็นั่งเสียใจเสียดายว่า “ไม่ควรจะตายเลย ควรจะอยู่ต่อไป” อะไรต่างๆ นานา ว่ากันไป คือคิดให้มันเป็นทุกข์ก็แล้วกัน
คิดให้มันเป็นทุกข์ ฝืนกฎธรรมชาติ กฎธรรมดา แล้วก็นั่งคิดให้เป็นทุกข์ เสียอกเสียใจ กินก็ไม่ได้นอนก็ไม่หลับ เพราะเราไม่ประพฤติธรรม เราไปคิดในเรื่องที่กลุ้มใจ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เราก็นั่งเป็นทุกข์ เป็นความผิดของใคร เป็นความผิดของคนที่ตายอย่างนั้นหรือ ? เขาไม่ได้ผิดอะไร เขาตายตามเรื่องของเขา เพราะว่าร่างกายของเขามันเปลี่ยนแปลงมาถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องจบเรื่องกันเสียที ละครจบฉาก แต่ว่าเราไม่อยากให้ฉากละครมันปิด เราอยากจะให้แสดงต่อ มันฝืนธรรมชาติ เหมือนเราไปดูลิเกละครนี่ เขาเชิด (14.12 ไม่ยืนยัน) …… ปิด ตัวละครเข้าโรงแล้ว เรียกว่า “ปิดฉาก” เราก็ไม่ออกจากโรงลิเก(โรง)ละคร อยากจะนั่งต่อไป นั่งขอร้องว่า “ให้แสดงต่อ ให้แสดงต่อ” มีลิเกบ้าโรงไหนมันจะออกมาแสดงต่อบ้าง ก็มันปิดแล้ว มันจะกลับบ้านไปนอนกันแล้วนะ เราก็ไปนั่งอยู่คนเดียว ไปนั่งว่า “ทำไมไม่มาแสดง…ทำไมไม่มาแสดง” นี่เห็นง่ายๆ
ชีวิตของคนเรานี่ก็เหมือนกัน เมื่อถึงเวลาเขาก็ต้องตายจากไป แล้วเราจะไปนั่งเสียดมเสียดายว่า “แหม! ไม่ควรจะตายเลย ควรจะอยู่ต่อไป” อย่างนั้นอย่างนี้ นี่มันถูกเรื่องที่ไหน...เราลองคิดดู มันไม่ถูกเรื่อง แต่ว่าเรากลับทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วตัวผู้กระทำนั้นเป็นอย่างไร ก็นั่งกลุ้มใจ มีความทุกข์ กินก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย นั่งก็ไม่สบาย จะทำอะไรๆ มันก็ไม่สบายไปทั้งนั้น นี่มันถูกต้องหรือการกระทำเช่นนั้น
ถ้าเราคิดในแง่ธรรมะก็จะเห็นว่า ไม่ถูกต้อง เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ร่างกายมันต้องเป็นอย่างนั้น มันฝืนจากความเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ หรือแม้ว่าเราจะไม่ตายล่ะ แต่ว่าร่างกายมันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
หูเปลี่ยนแปลงไป เมื่อก่อนนี้ฟังอะไรแจ๋วไปเลยทีเดียว ต่อมาชักจะเอามือป้องหู “ฮึ…แกพูดว่ายังไงนะ” มันไม่ค่อยชัดแล้ว เรียกว่าหูไม่ค่อยดี ใช้ไม่ค่อยสะดวกแล้ว เราก็ไม่สบายใจ ไปเที่ยวบ่นกับใครๆ “หมู่นี้แย่ หูมันชักจะตึงๆ” ไม่ได้นึกว่ามันเรื่องธรรมชาติ ของใช้นานมันก็ต้องเสื่อมบ้าง
วัตถุภายนอก รถจักรยาน รถยนต์ บ้านช่อง เสื้อผ้า เครื่องแต่งเนื้อแต่งตัว มันจะใหม่อยู่ตลอดเวลาได้หรือ มันจะเรี่ยมเร้เรไรอยู่อย่างนั้นตลอดเวลาได้หรือ มันเป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องเปลี่ยนไปตามสภาพ ร่างกายเรามันก็อย่างนั้นแหละ เพราะมันเป็นเรื่องของสังขารที่เกิดจากปัจจัยเครื่องปรุงเครื่องแต่ง ก็สิ่งใดที่เกิดจากการปรุงแต่งเมื่อเครื่องปรุงแต่งนั้นมันไม่พร้อม มันเป็นธรรมดาที่มันจะไม่พร้อม ไม่พร้อมเสมอไป มันต้องชำรุดบ้าง ขาดนั่นขาดนี่อะไรต่างๆ มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป
หูชักจะตึงเข้า ไม่ค่อยจะได้ยิน ถ้าเรานึกให้สบายใจว่า “เออ! มันก็ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนได้ยินทุกเรื่อง เขาด่าก็ได้ยิน เขาชมก็ได้ยิน เสียงรถยนต์วิ่งก็ได้ยิน แล้วก็รำคาญ (ที) นี้มันไม่ได้ยินก็ดีแล้วไม่ต้องรำคาญอะไร ใครด่าก็ไม่ต้องได้ยิน ใครชมก็ไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ รถสิบล้อวิ่งข้างบ้านเมื่อก่อนได้ยินรำคาญ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยินก็นึกว่าไม่มีรถสิบล้อวิ่งบนถนนแล้ว จะได้นอนสบาย” ถ้านึกอย่างนั้น...มันก็สบายใจ
ว่ากันความจริงธรรมชาติเขาช่วยคนแก่ เพราะว่าคนแก่นี้เป็นคนที่คิดมาก ชอบคิดชอบนึกในเรื่องอะไรมาก ได้ยินนั่นเอามาคิด ได้ยินนี่เอามาคิด ไม่ค่อยควบคุมความคิด ธรรมชาติก็เลยบอกเลย “เอ้า! คิดมากนักให้หูตึงเสียดีกว่า” เลยให้เป็นคนหูตึงเสียจะได้ไม่ต้องคิดมาก ธรรมชาติมันช่วยให้เราสบาย แต่เรากลับไม่ชอบใจหาว่าไม่สบาย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง
ตาก็เหมือนกัน ใช้มานานแล้ว ใช้มาตั้ง ๗๕ ปีแล้ว ตานี่ใช้มานาน มันก็มีอะไรๆ เกิดขึ้นในตาบ้าง เป็นต้อกระจกบ้าง ต้อเนื้อ ต้ออะไรก็ (ไม่รู้) มันเยอะที่มันมี มัน (มี) โรคมากเวลานี้ ทำไมคนสมัยนี้ตาจึงมีโรคมาก เพราะเราชอบใช้แสงสว่างมากๆ เดี๋ยวนี้ไฟจ้า เปิดไฟก็แหม…ต้องสว่าง สว่างแล้วตึกทาสีขาว แสงขาวกับตามันไม่ค่อยถูกกัน แล้วก็ดูบ่อยๆ ตามันก็จะเสีย
แล้วเวลานี้มีโทรทัศน์ให้เราดูด้วย ดูโทรทัศน์น่ะไม่ใช่มันดี เพราะว่าแสงมันแรง มันมาเข้าตาเรา ถ้าเรานั่งดูไกลๆ มันค่อยยังชั่ว ถ้านั่งเพ่งอยู่ใกล้ๆ เหมือนเด็กน้อยชอบไปนั่งดูใกล้ๆ ดึงออกมาเสีย เด็กมันจะเสียหูเสียตาเพราะการเข้าไปดูโทรทัศน์อย่างนั้น ควรจะให้นั่งห่างๆ ไม่ควรวางโทรทัศน์ไว้กับพื้นที่เด็กหมุนได้เปิดได้ (ส่วน) คุณแม่ (กลับเห็นว่า) “อู๊ย! ไอ้หนูของดิฉันมันเก่ง มันรู้ทุกช่องละค่ะ” เก่งไม่เข้าเรื่องนะนั่นน่ะ ไปชมลูกว่าเก่ง เก่งไม่เข้าเรื่องนะ ช่องไหนเปิดเรื่องอะไรมันรู้...ไม่ต้องบอก ชมลูก ชมลูกให้ฉิบหาย ไม่ใช่เรื่องอะไร เรารู้มันถูกต้องเมื่อไหร่ มันควรจะวาง (โทรทัศน์) ไว้ที่สูงให้ผู้ใหญ่เอื้อมเปิดได้ เด็กเปิดไม่ได้ เปิดตามชอบใจไม่ได้ อันนี้วางไว้เตี้ยๆ เด็กมันก็เปิดตามชอบใจ แล้ววันอาทิตย์นี่ ถ้าเด็กไม่ไปโรงเรียนก็นั่งจ้องอยู่ที่โทรทัศน์ตั้งแต่เช้าตลอดวันเลย บางบ้านไม่มีโทรทัศน์อุตส่าห์หาวีดิโอเทปมาให้ลูกดู ลูกมันจะได้ไม่ไปเที่ยว แต่ไม่นึกว่าดูมากจะเป็นพิษแก่สายตาของเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กสมัยนี้สวมแว่นตากันมาก แล้วตาก็เสียกันมากเพราะแสงมันมาก
คนตามบ้านนอกบ้านนาเขาอยู่ตามธรรมชาติ เขาไม่ค่อยเป็นโรคตาเท่าใด เพราะตาดูแต่ของเขียวๆ ดูไปในทุ่งก็เขียว ดูต้นข้าวก็เขียว มีแต่เรื่องเขียวๆ นะ ของเขียวนี่เราดูแล้วสบายตา ยิ่งโยมดูไปตามหมู่ไม้นี่สบายตา แต่ถ้ามีแสงสะท้อน...ไม่สบายตา เขาดูอย่างนั้น แล้ว (พอ) ค่ำเขาก็นอนกันไป แต่เวลานี้ทางราชการกลัวชาวบ้านจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็เดินเข้าไปให้มีไฟฟ้าใช้ หาเรื่องให้เขาเป็นทุกข์นั่นเอง...ไม่ใช่เรื่องอะไร ต่อๆ ไปก็ใช้ไฟฟ้า เอ้า! อยากฟังวิทยุ พอมีสตางค์ก็ไปซื้อโทรทัศน์ ทีนี้สตางค์ไม่พอใช้ ยุ่งเลยทีนี้ ประเดี๋ยวก็ได้จำนำนา จำนำสวนกัน ทำให้เกิดก็เรียกว่า “ความเจริญ” นั่นเอง ความเจริญนี่มันสร้างปัญหาเหมือนกัน ถ้าที่ใดยังไม่จำเป็นจะให้เจริญก็อยู่ไปก่อน อยู่ไปตามธรรมชาติไปก่อน
เขาว่า (มี) เมือง (ๆ หนึ่งอยู่) ใกล้ๆ วอชิงตัน มีอยู่หลายร้อยครอบครัว คนในหมู่บ้านนั้นเขาไม่ยอมใช้ของสมัยใหม่ เขาไม่ใช้เครื่องยนต์กลไกในการทำนาไถนา เขาใช้สัตว์ไถนา ใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ย แล้วกลางคืนเขาก็ใช้ตะเกียงน้ำมันแบบโบราณ เตาผิงก็ใช้ฟืนเผา ไม่ได้ใช้ของสมัยใหม่ เขาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนเรียกว่าอยู่แบบโบราณ แล้วเขาไม่เบียดเบียนกัน เขาเคร่งครัดในศีลในธรรม ความเจริญแผนใหม่เขาไม่ให้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตบ้านของเขา ถ้าใครไปเห็นว่า “อ้อ! ไอ้นี่มันคนล้าหลัง ไม่ทันสมัย” แล้วก็อยู่เหมือน (กับผู้คน) เมื่อร้อยปีก่อนโน้น (เคย) อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นนะ แต่ว่าชีวิตของคนพวกนั้นเขามีความสุข เขาไม่มีปัญหา ไม่เกิดความทุกข์ยากลำบากในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ เขาก็ชอบอยู่ในสภาพอย่างนั้น
คนในชนบทเมืองไทยเราที่อยู่ลึกๆ เข้าไปในป่า เขาอยู่กันสบาย ไม่มีปัญหา ไม่เบียดเบียนกัน ไม่รังแกกัน รักกันฉันท์พี่น้อง โรคภัยไข้เจ็บมันก็มีตามธรรมชาติ เช่น เป็นไข้มาเลเรียบ้าง อะไรบ้าง แต่เป็นๆ มันก็ชินไปเสีย จนไม่เป็น (กัน) แล้วนะเวลานี้ มันเป็นจนชินไปอย่างนี้
เราอยู่ในเมืองที่ความเจริญมันมาก แล้วก็ทำงานนี่ โดยเฉพาะงานหนังสือนี่ กลางคืนต้องเปิดไฟดูหนังสือ กระดาษมันก็สีขาว แสงไฟก็ส่องลงมาที่กระดาษ เรานั่งดูจนตามืดตามัว ตามัวแล้วยังไม่เสร็จงาน ต้องเอาน้ำล้างตาแล้วไปดูใหม่ ตามัวนะ...คือ (ว่ามัน) เตือนเราแล้วนะ บอกว่า “พอแล้วนะ ฉันชักไม่ไหวแล้วนะ (ตา)มัวแล้วนะ ควรจะหลับตาเสีย นอนพักเสีย” แต่ว่าเรามันติดในคำว่า “ขยัน” นี่เอง เอาใจใส่ต่องานนี่เอง เลยนั่งดูต่อไป อ่านไปจนกระทั่งว่าสายตาผิดปกติ อย่างนี้มีอยู่ทั่วๆ ไป เพราะความเจริญแผนใหม่ การแข่งขันกันในการทำมาหากิน ตาเราก็ชำรุดทรุดโทรมลงไป แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติอีก (นั่น) แหละ คือมันต้องเป็นอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” มันเป็นเช่นนั้นเอง คือมันแก่ เราใช้มันนาน มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ตาเปลี่ยนแปลงไป หูเปลี่ยนแปลงไป แข้งขาก็ไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว เดินเหินก็ต้องถือไม้เท้ายันๆ ไว้หน่อย ๒ ขาไม่พอ...เอาไป ๓ ขาเข้า นี่ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เราก็ควรพอใจว่า “มันก็ดีแล้ว…ยังเดินได้” ถ้าเดินได้ก็ควรจะดีใจว่าเดินได้ ดีกว่าเดินไม่ได้ แต่ถ้าเดินไม่ได้เสียเลย ก็นึกว่า “อ้อ! เราเดินมานานแล้ว” เดินมาตั้ง ๗๕ ปี หรือว่าเดินมาตั้ง ๘๐ ปี แล้วมันก็พอแล้วล่ะ เดินมานานแล้วนะ จะเดินต่อไปถึงไหน เวลาไปป่าช้านี่ ไม่ใช่ต้องเดิน เขาหามไปทั้งนั้น เราจะไปทุกข์ไปร้อนอะไร ถึงเวลาจะไป เขาก็หามไปเรียบร้อยนะ ไม่มีใครเขาให้ศพเดินไปป่าช้าสักรายเดียวนะ หามกันใหญ่โตเลย แล้วเราจะไปทุกข์อะไร คิดให้ดีแล้วมันก็เท่านั้นแหละ สบายอกสบายใจ ถ้าเรามองให้ถูกต้อง ก็เรียกว่า “มองในแง่ธรรมะ” นั่นเอง ถ้ามองในแง่ธรรมะแล้วก็สบายใจ แต่ถ้ามองโดยไม่มีธรรมะเราก็กลุ้มใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้เราประพฤติธรรม
“ประพฤติธรรม” หมายความว่าเอาธรรมะไปใช้ในการดู ในการฟัง ในการดม ในการชิม ในการจับต้องสิ่งอะไรทั้งหลายทั้งปวง ต้องใช้ธรรมะอยู่ตลอดเวลา
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนี่มันเหมาะที่จะใช้ธรรมะ เราไปนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ทำอะไร ? ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปนอน เวลานอนอยู่บนเตียงน่ะควรจะนึกถึงธรรมะว่าเราควรจะคิดอย่างไร ควรจะทำใจอย่างไร ใจจึงจะสบาย ไม่เกิดความทุกข์ทางใจเพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย คนไม่ได้ใช้ธรรมะก็ไปนอนเป็นทุกข์ว่า “แหม! เรานี้เป็นคนอาภัพ ต้องมานอนโรงพยาบาล” แต่หาได้มองห้องข้างเคียง(หรือ)ไม่ว่า...มีอยู่สักกี่ห้อง แล้วก็มีคนเท่าใด แล้วโรคอะไรบ้างที่ (ทำให้) เขา (ต้อง) มานอนอยู่ในโรงพยาบาลนะ บางคนโรคมันมากกว่าเราผู้เจ็บอยู่ด้วยซ้ำไป
คราวหนึ่ง ไปเยี่ยมคนป่วยขาขาด (เป็น) เจ้าหน้าที่รถไฟ ทำรถไฟอย่างไรก็ไม่รู้ล่ะ หล่นลงมาให้รถไฟทับเล่น...เลยขาหายไปข้าง ไปนอนโรงพยาบาล เลยถามว่า “เป็นอย่างไร นอนโรงพยาบาลนี่จิตใจเป็นอย่างไร” “โอย! เข้ามานอนใหม่ๆ ๖-๗ วันนี่กลุ้มใจเต็มที นอนไม่สบายใจ แต่ว่ามองดูคนไข้อื่นๆ คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกอะไรต่ออะไรในตึกเดียวกันนะ เขานอนคุยกัน เขาหัวเราะกัน สนุกสนานกัน คนที่เดินได้ก็เดินไปคุยเตียงนั้นเดินไปคุยเตียงนี้ เขาไม่มีความทุกข์อะไร แล้วบางคนน่ะนอนทรมาน นอนคว่ำอยู่ตั้ง ๓ เดือนแล้ว ยังไม่ได้นอนหงายกับเขาสักทีหนึ่ง ไอ้เรานี่มันยังพลิกได้นะ เพียงขามันเดินไม่ได้เท่านั้นแหละ” มองเห็นคนเหล่านั้นป่วยหนักกว่าตน แล้วยังมีการยิ้มหัว (เราะ) ได้ ยังมีความร่าเริงได้ ก็เลยสอนตนเองว่า “เขามันป่วยก่อนเรา หนักกว่าเรา เขายังยิ้มได้ แล้วเราจะมานั่งไม่ยิ้มอยู่ทำไม” แกก็เลยปลงตกไป...สบายอกสบายใจ เวลานี้เรียกว่านอนสบายใจ แม้ขามันหายไปข้างหนึ่งก็นึกว่า “มันยังดี เพราะยังมีอีกข้างหนึ่ง พอ(ที่จะ) เดินได้เมื่อหายแล้ว” นึกอย่างนั้นมันก็สบาย
แต่ถ้านึกว่า “เออ! เรามีขา ๒ ข้าง หายไปเสียข้างหนึ่ง น่าเสียดายไอ้ขาที่หายไป” ไปคิดถึงขาที่หายไปแล้วมันได้เรื่องอะไร เอาใจใส่กับขาที่ยังอยู่ดีกว่าว่าอย่าให้อะไรมาทับให้ขาด (อีก) มันจะไม่สบายใจกว่าหรือ แต่ว่า (บางคนเขา) ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะไม่ได้เอาหลักธรรมะไปใช้ในการพิจารณา ไม่มีข้อเตือนใจให้เกิดความคิดในแง่ตรงกันข้าม หรือไม่ได้มองอะไรในเหลี่ยมที่ว่ามันยังดีอยู่ แม้จะสูญสิ่งนั้นไป...มันก็ยังมีดีอยู่ ยังมีอะไรเหลืออยู่ เราไม่ได้คิดอย่างนั้น...จึงเป็นทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ
คนมีเงินแล้วขโมยมันมาเอาไปเสีย เราลองถามตัวเองว่า “เงินที่ขโมยเอาไป เอาไปหมดหรือเปล่า ?” เอาไปไม่หมด มันยังอยู่ ก็ยังดีที่มันเอา (ไป) ไม่หมด ยังพอได้กินได้ใช้ต่อไป ถ้าสมมติว่า (ขโมย) มันเอาไปเกลี้ยงเลย เราอย่าพูดว่า “หมดเนื้อหมดตัวกันคราวนี้แหละ” เงินนี่มันไม่ใช่ตัวเรา เพชรมันก็ไม่ใช่ตัวเรา สายสร้อย นาฬิกา ตุ้มหู มัน (เป็น) ตัวเราเมื่อไหร่ แล้วเมื่อเราออกมาจากท้องแม่ เราประดับมาด้วยหรือเปล่าไอ้ของเหล่านั้นน่ะ ลองคิดในแง่นั้น (ตอนเกิดมา...) ไม่มี แล้วเรามีเราได้เมื่อไหร่ ? ก็เมื่อเราโตขึ้นมา เราไปทำงานทำการ ได้เงินได้ทองเก็บหอมรอมริบ เลยอยากจะซื้อมาประดับอวดเพื่อนเขามั่ง ก็เห็นเขามีอวดกันอยู่ เลยเราก็ซื้อมาใช้ แล้วเวลานี้ขโมยมันยืมไปใช้เสียแล้ว เราก็ควรจะไม่ต้องเสียใจ เพราะว่าเราไม่ได้สูญเสียอะไรทั้งหมด เรายังมีชีวิตอยู่ ยังมีสมอง ยังมีปัญญาอยู่ แล้วเราจะไปเสียใจอะไรกับสิ่งที่มันสูญไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เราควรจะยิ้มได้
ยิ้มได้ว่า “เออ! มันยังดีที่ไม่ฆ่าฉันให้ตาย เพราะบางราย (ขโมย) มันขึ้นไปจี้แล้วมันฆ่าเจ้าทรัพย์เสียเลย ไอ้นี่มันยังมีใจกรุณาอยู่ มันไม่ทำร้ายฉัน ควรจะขอบอกขอบใจมัน ถ้ารู้บ้านมันจะส่งจดหมายไปขอบคุณสักหน่อย แต่ไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหนนะ” เราก็ควรคิดปลอบใจเราว่า “มันยังดี...ที่มันไม่ทำร้ายเราให้ถึงแก่ความตาย” นึกอย่างนี้มันก็สบายใจ ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไรมากมาย
คุณโยมคนหนึ่งนั่งร้องไห้เป็นทุกข์เพราะว่าลูกตาย อาตมาถามว่า “โยมมีลูกกี่คน”
“มี ๖ คน”
“แล้วตายไปกี่คนล่ะ”
“คนนี้ล่ะค่ะตายคนแรก”
“ยังอีกตั้ง ๕ นะโยม อะไรเสียไป ๑ มันยัง (เหลืออยู่อีก) ตั้ง ๕ นะ โยมเตรียมตัวรับทุกข์กับลูกๆ ๕ คนต่อไปดีกว่า ไอ้นี่ตายแล้วสบายใจนะ มันไม่มารบกวนขอสตางค์โยม (อีก) ต่อไป แล้วไม่สร้างปัญหาให้แก่โยมอีกต่อไป”
(ลูก) ๕ คนที่เหลือนี่ซิมันน่ากลัวนะที่มันยังอยู่น่ะ ตายแล้วมันไม่มาหลอกนะ แต่ไอ้ที่อยู่นี่มันหลอกเอาตามชอบใจนะ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ (แม่) ก็ต้องไปเอาอกเอาใจ “เอาไปเถอะ…เอาไปเถอะ” แล้วมันได้แล้ว มันขับรถยิ้มแฉ่งออกไปบอกว่า “คุณแม่ล่ะเสียท่ากูทุกที” ว่าอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ แม่มักเสียเปรียบลูกเสมอ หลอกเอาได้ ต้มเอาได้ (ลูกคน) นี้ตายไปเสียคนหนึ่ง ก็เรียกว่าขาดผู้ขู่เข็ญไป ๑ คน ยังเหลืออีก ๕ นะ ให้นึกอย่างนั้น มันก็สบายไปอีกเหมือนกันนะ มันไม่มีปัญหาอะไร
เรื่องงานเรื่องการ สมมติว่าเราทำงาน (รับ) ราชการ แล้วก็มีความผิด เขาให้ออก ถ้าไม่ผิดเขาก็ไม่ให้ออกหรอก ออกแล้วก็ไปนั่งกลุ้มใจทำไม ถ้าว่าเราเอาธรรมะไปใช้มันก็ไม่กลุ้ม แต่ว่าพวกทำผิดนี่มันไม่ค่อยเข้าวัดสิ ไม่ค่อยอ่านหนังสือธรรมะ มันถึงได้ทำผิด แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมะ ได้เอาธรรมะไปใช้ เขาจะไม่กระทำความผิดอย่างนั้น ครั้นเมื่อทำผิดแล้วก็ไปนั่งเสียอกเสียใจ ไม่คิดแก้ตัวว่าจะทำให้มันถูกได้อย่างไร เราควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไปจึงจะเป็นการถูกต้องเรียบร้อย หรือว่ามองดูชีวิตที่ผ่านมาว่าที่มันเกิดอะไรขึ้น นี่เพราะอะไร เราคิดอย่างไร เราคบหากับใคร เราดำเนินชีวิตในรูปใด จึงได้เกิดเป็นปัญหายุ่งยากขึ้นในชีวิตเราด้วยประการต่างๆ เราไม่ได้มองไปในแง่นั้น
เพราะอะไร ? เพราะว่าเขาขาด “กัลยาณมิตร” คนเรานี่ต้องมีกัลยาณมิตร “กัลยาณมิตร” คือ มิตรที่ดี ที่มีปัญญา มีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิต กัลยาณมิตรนี่เป็นเพื่อนแท้ ที่คอยชี้ คอยบอก คอยเตือนเรา คอยแก้ปัญหาให้แก่เรา คนไม่ค่อยหากัลยาณมิตร ชอบหา “ปาปมิตร” คือ มิตรชั่วๆ มิตรที่เป็นนักการพนัน มิตรที่ชอบดื่มสุราเมรัย มิตรที่ชอบเที่ยวกลางคืน มิตรที่ชวนเราให้ไปทำสิ่งเสียหาย ชอบพาไปสนุกสนานสิ้นเปลืองเงินทอง มิตรที่เกียจคร้านการงาน ประพฤติตนเหลวไหล นี่เรามักจะชอบมิตรประเภทอย่างนั้น แล้วเขาจะเตือนเราได้อย่างไร เพราะเขาไม่มีอะไรจะเตือน ไม่มีอะไรจะบอก ปัญญาเขาไม่มี ความคิดนึกที่ถูกต้องเขาก็ไม่มีในใจของเขา เราก็ไปคบคนอย่างนี้เข้า มันก็เกิดความเสียหาย
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่คบปาปมิตร แต่จะคบกัลยาณมิตร คือมิตรที่มีความรู้ มีความฉลาด มีความเข้าใจในเรื่องการดำเนินชีวิต เขาจะได้คอยเตือนเราบอกเรา ในเมื่อเราเผลอไป เราประมาทไป
คนบางคนทำความผิดมาเป็นสิบๆ ปี ทั้งๆ ที่มีเพื่อน แต่เพื่อนก็ไม่เตือนเลย จนกระทั่งเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในครอบครัว เพื่อนเหล่านั้นก็ช่วยอะไรไม่ได้ นี่คือเพื่อนไม่แท้ของเรา เราไปคบเพื่อนที่ไม่แท้ เพื่อนที่คอยจะปอกลอกเรา (ก็) เหมือนกัน เขาไม่อยากจะพูดให้เราขัดใจ เขาจะได้พาเราไปเที่ยวไปเตร่ เขาจะได้พลอยกินข้าวกับเราเวลาไปเที่ยว เขานึกเอาแต่ได้ เห็นแก่ได้-ไม่เห็นแก่เพื่อน เลยไม่ช่วยเพื่อนในเมื่อเพื่อนมีความคิดตกต่ำ เพื่อนประเภทอย่างนี้มันใช้ไม่ได้ เราคบเข้าแล้ว มันก็เกิดความทุกข์ เกิดเป็นปัญหา เพราะเขาไม่ประพฤติธรรม แต่ถ้าเราได้เจอเพื่อนที่มีคุณธรรมประจำจิตใจ พอเจอกันนี่เขาก็เตือนแล้วสอนแล้ว ให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร
มีอยู่สมัยหนึ่งนานมาแล้ว มีคนกรุงเทพ ๒ คน เป็นคนหนุ่ม เขาก็ไปเที่ยว เรียกว่าเที่ยวเสี่ยงโชค เที่ยวผจญภัย ไปเป็นกะลาสีเรือ พ่อแม่ก็ไม่ได้ลำบากยากจนอะไร แต่ว่าเขาเที่ยวไปในทางสร้างสรรค์ ไปสมัครเป็นกะลาสีเดินเรือระหว่างสิงคโปร์ไปอินโดนีเซีย ไปบอร์เนียว ไปฟิลิปปินส์ ไปฮ่องกง ทำงานเป็นกะลาสี เป็นกะลาสีนี่ทำงานเหนื่อยมาก ต้องถูพื้นเรือ ล้างเรือ เวลาเรือไปจอดก็ต้องยกของ ใช้ปั้นจั่นคุมเครื่องยกของขึ้นเรือจะไปให้เขาอะไร(นี่) เหนื่อยพอใช้ แต่ว่าเขาอยากเหนื่อย เขาอยากจะผจญกับชีวิตที่มันลำบาก เขาไม่นั่งใช้เงินของพ่อแม่ ที่พ่อแม่หาไว้ให้ เขาคิดว่าเขาจะหาเงินของเขาเอง เขาจะสร้างตัวเอง แม้คุณพ่อมีเงินมีทอง เขาบอกว่า “ไม่อยากได้” เพราะนั่นเป็นของที่พ่อหาด้วยความเหนื่อยยากเหมือนกัน เขาจะหาของเขาเอง เขาจึงไปเที่ยวอย่างนั้น
แล้วคราวหนึ่ง (เขา) ก็ไปเที่ยว เขาไปพักอยู่ที่วัดที่เมืองปีนัง อาตมาเป็นเด็กน้อยกว่าเขา วันหนึ่งก็ไปเที่ยวบนภูเขากัน บนภูเขานี่เขาขึ้นด้วยรถ แต่พวกเรานี่มันพวกชอบเสี่ยง ไม่ขึ้นรถ ปีนมันขึ้นไป ปีนภูเขาไปตามถนนที่เขาทำไว้ ไม่ได้ราดยางอะไร เดินไปเดินๆ ไป ก็ไปเจอฝรั่งคนหนึ่งนั่งพักผ่อน (อยู่) คนที่เคยเป็นกะลาสีเข้าไปถึงก็นั่งคุยกับฝรั่งจ้อไปเลย คุยไปคุยมาก็อยากจะไปกับฝรั่งด้วย ฝรั่งนั่นก็ใจดี เป็นคนเยอรมัน…ใจดี บอกว่า “จะไปด้วยก็ได้ คืนนี้ให้ไปที่เรือ” ลงเรือไป เขาจะเสียค่าเรือให้ คราวนี้เขาไปที่เรือ ไปเรือแล้วเขาลืมของไว้ เขากลับมาที่วัด (ก็เล่าว่า) แหม! พอไปถึงเรือ คุยกันบนภูเขานั้นคุยเรื่องธรรมดา พอลงไปในเรือจะไปกับมันเท่านั้นแหละ มันสอนจิปาถะเลย ฝรั่งนั่นสอนเรื่องอะไรต่ออะไร เรื่องการสมาคม การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดการจา โอ้ย! มันอบรมใหญ่เลย ที่จะเดินทางไปเป็นคนใช้กับมันน่ะ มันให้การอบรมอย่างใหญ่โตเลย (ก่อนจะเดินทาง) เขาก็ไปกัน แต่ไปได้ถึงไหนทีหลังก็ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้จะยังอยู่หรือจะตายแล้ว ยังอยู่...ได้ข่าวว่ายังอยู่
เขาถูกฝรั่งอบรมใหญ่นี่แหละเรียกว่าได้เพื่อนดี ไปถึงเขาอบรม ถ้าได้เพื่อนไม่ดี พอไปถึงเขาไม่ว่าอะไรล่ะ “อยู่ตามเรื่องของมึงเหอะ ทำอะไรให้กูก็แล้วกันแหละ” นั่นมันคิดอย่างนั้น แต่นี่เขาหวังดี เขาเรียกไปอบรมสั่งสอนกิริยามรรยาท การแต่งเนื้อแต่งตัว การกินอาหารบนโต๊ะควรจะทำอย่างไร เพราะว่าต้องไปปนกับฝรั่ง เดี๋ยวไปทำขายหน้า เขาจะหาว่าเป็นคนไม่มีวัฒนธรรม แล้วเขาถามว่ามากับใคร ถ้าเขาชี้มากับมิสเตอร์นั่น มิสเตอร์นั่นมันก็พลอยเสียชื่อด้วยนะ หาว่าเลี้ยงคนไม่เป็นน่ะ เป็นอย่างนั้น เขาจึงให้การอบรมบ่มนิสัย
คนที่เคยอยู่ในราชสำนักกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ นี่เขาเล่า (ให้ฟัง) ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านไม่เคยกริ้วใคร ไม่เคยกริ้วมหาดเล็ก แม้มหาดเล็กทำอะไรให้เสียหาย ท่านก็นั่งกดพระทนต์เฉย แสดงว่าจะโกรธนะ แต่ว่าไม่ปล่อยให้มันออกมา อดทนอดกลั้นไว้ ไม่ให้ใครรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินโกรธ ถ้าท่านจะพูดออกมา ท่านก็พูดเบาๆ ว่า “ซุ่มซ่าม” ไม่พูดดังนะ...พูดเบาๆ “ซุ่มซ่าม” พูดเบาที่สุดแล้วแต่ว่าคนได้ยินท่านว่า “ซุ่มซ่าม” แล้วท่านพูดต่อว่า “ทำอย่างนั้นไม่ดี เดี๋ยวเขาหาว่าพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงคนไม่เป็น” ท่านว่าอย่างนั้น นี่คือผู้ดี เรียกว่า “ผู้ดี”
ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินท่านจะพูดคำไม่สมควรก็ไม่ได้ แสดงกิริยาอันไม่สมควรก็ไม่ได้ ท่านพูดแต่เพียงว่า “ซุ่มซ่าม” มันก็พอแล้วละ พูดอย่างนั้นน่ะ คนที่ทำนั้นก็ไม่รู้จะซ่อนเข้าไปทางรูไหนแล้วละ ท่านบอก “เดี๋ยวเขาหาว่าเลี้ยงคนไม่เป็น” มันยิ่ง (หนักกว่าการว่าเข้าไปอีก) ท่านว่าอย่างนั้น
แต่ว่าเวลาว่างๆ แล้ว ท่านมักจะเรียกมาอบรม มาประชุมกันแล้วก็พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แนะนำการทำงานราชการ การติดต่อ การสังคมอะไรต่างๆ บางทีก็เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในเมืองนอกให้ฟัง เรียกว่าเป็นมหาดเล็กอยู่กับในหลวงรัชกาลที่ ๖ นี่เหมือนกับเข้าโรงเรียน ได้ความรู้มากมาย แล้วก็ต้องบันทึก ถ้าท่านทรงสอนอะไร ทุกคนต้องบันทึกไว้ เพราะว่าทรงสอนแล้ววันนั้น วันต่อไปท่านจะถามว่าเรื่องนั้นเป็นอย่างไร ตอบไม่ได้ละก็ถูกว่า “ซุ่มซ่ามอีกแล้ว” อย่างนี้ไม่ได้เรื่องอีกละ (หรือบางทีท่านก็ว่าๆ) “คนไม่มีหู” ท่านว่าอย่างนั้นนะ ไม่ได้กัดรุนแรงก็บอกว่า “คนไม่มีหู” หมายความว่าไม่รู้จักฟัง ไม่รู้จักเอาในสิ่งที่เขาให้ เลยไม่ได้อะไร เพราะฉะนั้นต้องทำตนเป็น “คนมีหู” เสียหน่อย เพราะฉะนั้นฟังแล้วต้องจดๆๆ จดไว้ เอาไปทบทวนเพื่อให้คล่องตัว เวลาท่านถามก็ตอบได้ ถ้าตอบได้แล้วก็ใช้ได้
แล้วนานๆ ไปท่านก็ส่ง (ให้) ไปทำงาน (อยู่ข้าง) นอกวัง ไปเป็นข้าราชการ ไปอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น ไปเป็นเลขานุการ (ไป)เป็นคนรับใช้อะไรกับท่านผู้นั้นต่อไป ไปแล้วไม่ใช่ว่าท่านไม่ติดตาม ท่านสืบถามว่า...มันไปทำอย่างไร นิสัยเป็นอย่างไร เอาการเอางานดีไหม...ท่านยังตามศึกษาอยู่
ท่านเลี้ยงคนแต่ท่านคอยตามดูอยู่ว่าคนของท่านเป็นอย่างไร คนไหนไม่ได้เรื่องเรียกกลับมาอยู่ในวังต่อ ไปเป็นคนใช้จนตายไอ้คนนั้น ไม่มีทางจะได้เป็นข้าราชการเพราะว่ามันไปไม่รอด แต่ถ้าคนไหนไปแล้ว นายบอกว่าเอาการเอางานดี มีสติปัญญา สนใจในการที่จะทำงานให้ดี คนนั้นก็ค่อยดีขึ้น...ดีขึ้น แล้วดีจริงๆ เพราะท่านดูคนว่ามันดีจริงไหม ถ้าดีไม่จริงแล้วเอามาเก็บไว้ในบ้าน ไอ้นี่ใช้ไม่ได้ อย่าเอาไปอวดแขก ของไม่ดีต้องเอาไป(เก็บ)ไว้ในตู้หลังบ้าน ไอ้ของดีเอาไปวางหน้าบ้าน...อวดหน่อย มันเป็นอย่างนั้น
ท่านทำอย่างนั้นนี่เรียกว่า “กัลยาณมิตร” ไม่ได้เป็น (แค่)นาย แต่ว่าเป็นเพื่อนทางจิตทางวิญญาณ ที่คอยแนะนำพร่ำเตือนให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ ชีวิตมันก็เจริญขึ้น คนเรานี่ก็เหมือนกันนะ เราจะไปอยู่กับใคร บางคนไม่อดทน ไปอยู่กับคนที่เขาชอบแนะชอบสอน นี้ไม่อดไม่ทน บอกว่า “ไม่ไหว เทศน์ทุกวัน” (ที่)เขาสอนนี่เขาสอนด้วยความรัก ด้วยความปรารถนาดี แต่ตัวก็ไม่อยากจะฟัง อยากจะทำอะไรตามใจตัว ตามใจอยาก เลยอยู่ไม่ได้ ต้องไปอยู่ที่อื่นต่อไป
อันนี้เป็นปัญหาสำหรับนักเรียนไทยที่ไปต่างประเทศ ผู้ปกครองนักเรียนในประเทศอังกฤษเคยบ่นให้ฟัง บอกว่า แหม! ผมนี่มันลำบากจริงๆ เอาเด็กไปฝากไว้กับครอบครัวคนอังกฤษ พิจารณาแล้วว่าครอบครัวนั้นเขาเอื้อเฟื้อ เขารักเด็ก เขาจะช่วยเหลืออบรมบ่มนิสัย เอาไปฝากไว้ อยู่เมืองไทยมันเคยอิสรเสรี ชอบเที่ยวชอบสนุก แล้วเพื่อนไปอยู่ต่างบ้านก็ชอบไปเยี่ยมกัน ไปคุยกัน(จน)ดึกดื่น เที่ยงคืนกลับบ้าน เขากินข้าว (และเข้า) นอนแล้ว มาถึงก็เข้าไปในครัว เปิดตู้ดังก๊อกๆ แก๊กๆ แหม่มแกนึกว่าแมวอะไร เปิดประตูไปดู “อ้อ! แมวไทยนั่นเอง ไม่ใช่แมวอะไร” (พอเป็น) อย่างนั้นแหม่มก็เทศน์น่ะสิ เรียกมานั่งแล้วก็เทศน์ให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ “เรามาศึกษาเล่าเรียนไม่ใช่มาเที่ยวมาเตร่ มันต้องเอาใจใส่ ต้องกลับบ้านเป็นเวลา กินอาหารพร้อมกัน เราจะได้พูดได้คุยกัน”
เพราะเวลากินนี่เขาไม่ได้กินเฉยๆ พ่อบ้านก็ถามปัญหานั่น แม่บ้านก็ถาม ถ้ามีลูกเขาก็ถาม (ได้พูด)คุยกัน นั่นแหละคือโรงเรียน ไอ้ที่ไปอยู่ในครอบครัวน่ะเป็น(เหมือนกับ)โรงเรียนหนึ่งที่จะให้ความรู้ แต่ว่าเด็กไม่เคยอย่างนั้น อยู่เมืองไทยเขาชอบเที่ยวนี่ ชอบสนุกนี่ ลูกคนมีสตางค์นี่ มีสตางค์นี่ระวังให้ดีนะ สตางค์มันจะทำลายลูกนะ คนมีสตางค์แล้วสตางค์ทำลายลูกเยอะแยะ ซื้อให้มันใช้มากเกินไป สบายเกินไป เลยมันประมาทว่า “พ่อแม่เป็นเศรษฐี ไม่ต้องเรียนมากก็ได้ เงินทองเยอะแยะ” มันคิดผิดแล้วนี่...คิดผิด ทีนี้มันก็เหลวไหลไม่ค่อยเล่าเรียน สตางค์ทำลายลูก ความมั่งคั่งของพ่อแม่ทำให้ลูกไม่ก้าวหน้า...ก็ได้เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ใช้ไม่เป็น
ทีนี้ไปอยู่เมืองนอก เขากวดขัน เขาสอน เขาเตือน เข้าห้องน้ำ...ออกมาเขาเข้าไปดู ทำอะไรบกพร่องบ้าง เขาก็ต้องเอามาเตือนแล้ว ทานอาหาร...หยิบเครื่องมือผิด เขาก็เตือนแล้ว เจ้าตัวก็ไม่สบายใจ “แหม! แกเตือนเสียเรื่อย แกสอนเสียเรื่อย ไม่อยู่แล้วครอบครัวนี้” ไปอีกแล้ว...ไปอีก ไปบอกผู้ปกครอง “ไม่ไหวครอบครัวนี้ เทศน์ผมทุกวัน” อ้าว! แล้วกัน อาจารย์พวกผู้ดูแลก็บอกว่า “อ้าว! เขาสอน เขา(ไม่ได้)เทศน์ อย่างนั้นเขาสอน เขาอบรมเรา เราต้องอดทน คนอังกฤษนี่เขาอยู่ด้วยความอดความทน เรามันต้องอดต้องทน” ไม่ยอม (พอ)ไม่ยอม เอ้า! ก็ต้องไปหาบ้านให้ใหม่ คนหนึ่งๆ ปีหนึ่งย้ายบ้านไม่รู้สักกี่ครั้ง เพราะอยู่ที่ไหนก็เจอแต่คนสอนทั้งนั้น คนเตือนทั้งนั้น เพราะเขาถือว่าเป็นหน้าที่ ถ้าเขาเอาเด็กมาฝากไว้ เขาถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องอบรมบ่มนิสัย ถ้าไม่สอนไม่อบรม…เสียชื่อครอบครัว ว่าเอาไปฝากครอบครัวนั้นไม่ได้ความ เขารักเกียรติ รักครอบครัวเขา รักต่อหน้าที่การงาน เขาก็ต้องสอนต้องเตือน
แต่ถ้าเด็กคนไหนไปอยู่ดี อยู่แบบไทย ไทยดั้งเดิมนะ อยู่แบบไทย (คือ) อยู่อย่างไร? อ่อนน้อมถ่อมตัว กลับมาถึงก็เข้าไปกราบแหม่มเสียหน่อย ทำแบบไทยๆ นะ โอ้ย! แหม่มรักตายเลย เอ็นดู กรุณา ชั้นแรกก็คิดเงินค่าอยู่ ต่อไปมันกราบบ่อยๆ ไม่คิดแล้ว ค่าอยู่ก็ไม่คิด เวลาแหม่มล้างชาม ก็(บอกแหม่ม) “ให้ผมล้างเถอะครับ” ช่วยล้างชามให้แหม่ม จัดโน่นจัดนี้ แหม่มยืนดูมันล้างเป็นไหม ถ้าล้างไม่เป็นก็แนะนำ แล้วไปรับอาสาล้างชามให้เขาบ้าง
ตื่นเช้า…แทนที่จะนอนตื่นสายตะวันโด่ง ตื่นแต่เช้ามีอะไรทำได้ก็ช่วยทำ แหม่มรักเหมือนลูกเหมือนหลาน เลยไม่อยากให้ไปไหน นี่เขาเรียกว่าไปกับธรรมะ ไปกับคุณงามความดี ความดีมันก็ช่วยให้เด็กนั้นมันเจริญขึ้น ก้าวหน้าในชีวิตในการศึกษา อยู่ไปจน(แหม่ม)แกไม่อยากให้ไปไหน…(อย่างนี้)มีเหมือนกัน
เด็กคนหนึ่งไปพบที่วอชิงตัน ไปอยู่กับแหม่ม บอกว่าเสีย(เงินให้กับแหม่มเป็นค่า)อะไร(บ้าง) “ชั้นแรกเสียๆ อยู่ ๕ – ๖ เดือน ทีหลังแกไม่เอาแล้ว แกไม่เอาสตางค์ผมแล้ว” ถามว่าทำไมไม่เอา “ก็แกนึกว่าผมเป็นลูกของแกแล้วเวลานี้” ตัวไปอยู่เป็นลูกเขาแล้ว ปฏิบัติตนเหมือนลูก กลับบ้านตามเวลา มาถึงเข้าไปรายงานตัว...ไปกราบ แหม่มนั่งอยู่บนเก้าอี้ไปกราบบนตัก ลูกฝรั่งที่ไหนมันจะกราบแม่อย่างนั้นล่ะ แหม่มน้ำตาไหล เข้าไปกราบอย่างนั้น กราบบ่อยๆ มันเป็นเสน่ห์...เป็นเสน่ห์ให้รักคนที่ไปอยู่ด้วยนี่ เลยไม่เอาสตางค์แล้ว “(เชิญ)อยู่ตามสบาย นึกว่าเป็นบ้านของเธอก็แล้วกัน” นี่ธรรมะตามไปรักษา เขาเอาพระไปด้วย ไม่(ได้)เอาผีไปเมืองนอก นี่มันก็ได้เรื่องได้ราวอย่างนั้นแหละ
ทีนี้เด็กบางคนมันไม่รู้เรื่องล่ะ...ไปน่ะ มันบอกว่าไปอยู่กับเขา ไปทำ(ตัว)ไม่ดี ไม่เรียบร้อย นิสัยไม่ดี มันก็เอาตัวไม่รอด นี่ถ้าไปอยู่(กับฝรั่งเขา)แบบไทยโบราณ รู้จักกราบ รู้จักไหว้ เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ซื่อตรงต่อหน้าที่ ตั้งใจเรียน ตั้งใจศึกษา คนที่ไหนเขา(ก็)อยากเห็นคนดีทั้งนั้นแหละ เขาอยากได้คนดีไว้ในบ้าน ถ้าคนดีเข้าบ้านแล้ว...เขาไม่อยากให้ออกไปหรอก แต่ถ้าคนชั่วเข้าบ้าน...เขาอยากจะให้ออกไป ออกไปแล้วต้องถูบ้านด้วยซ้ำไป อัปมงคลมันอยู่ติดพื้นพรมของเขา นี่มันเป็นอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง (ธรรมะ)มีอยู่กับใครทำให้คนนั้นเจริญก้าวหน้า ชีวิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
หนูๆ ที่เป็นนักเรียนมานั่งฟังอยู่หลายกลุ่มนะ...ฟังไว้ให้ดี เราต้องเอา(ธรรมะ)ไปใช้ในชีวิตประจำวันในฐานะเป็นนักเรียนนักศึกษา หนุ่มสาวก็เอาไปใช้ในฐานะเป็นคนหนุ่มคนสาว ผู้ใหญ่ก็เอาไปใช้ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ เพราะธรรมะนั้นเหมือนกับสระน้ำใหญ่ น้ำใสสะอาด ท่านกล่าวเปรียบว่า ธมฺโม รหโท อกทฺทโม – ธรรมะเหมือนน้ำที่ไม่มีเปือก ไม่มีตม ไม่มีสิ่งโสโครก ไม่มีจอก ไม่มีแหน เป็นน้ำใสมองเห็นดินที่อยู่ใต้น้ำ มองเห็นปลากี่ตัวก็มองเห็น สระมันเป็นอย่างนั้น เราลงไปอาบก็ได้ ไปกินก็ได้ ทำอะไรก็ได้(ใน)สระน้ำใหญ่
ธรรมะนี่เป็นเหมือนสระน้ำใหญ่ ที่คนแก่ก็อาบได้ กลางคนก็อาบได้ หนุ่มสาวก็อาบได้ เด็กน้อยก็ไปอาบได้ อันธพาลก็มาอาบเพื่อล้างอันธพาลก็ได้ คนโง่มาอาบล้างความโง่เพื่อสร้างความฉลาดในวิถีชีวิตขึ้นก็ได้ มาได้ทั้งนั้น เอาไปใช้ได้ทั้งนั้น และเมื่อใช้ย่อมได้ผลจากการใช้ เพราะธรรมะเป็น “อกาลิก” คือไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดบุคคล ไม่จำกัดเหตุการณ์ ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลทันที เอาไปปฏิบัติแล้วก็ได้ผล
ให้นึกดูว่าชีวิตของเราที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับนี่ ลองนั่งนึกทบทวนว่าเราก้าวหน้ามาด้วยอะไร? ด้วยความผิดพลาด หรือ ด้วยความถูกต้อง, ด้วยความดี หรือ ด้วยความชั่ว ด้วยอะไรลองพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วเราก็จะมองเห็นว่า ... ที่ผ่านมานี่ด้วยความดีทั้งนั้น เราจึงเจริญก้าวหน้า มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน มีลูกดีมีหลานดี มีฐานะไม่ยากไม่จน ทรัพย์สมบัติพอกินพอใช้ นี่เพราะเราเดินถูกทางโดยลำดับ จนกระทั่งแก่ชราก็เป็นอยู่อย่างสบายไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเราเดินถูกบ้างผิดบ้าง มันก็ล้มลุกคลุกคลาน เหมือนคนเดินทาง(มี)ล้มบ้าง หัวเข่าถลอกไปบ้าง เจ็บปวดไปตามเรื่องตามราว เพราะเดินไม่เรียบร้อย ไม่ศึกษาวิธีเดินให้ถูกต้อง เดินด้วยความไม่มีธรรมะจึงได้เกิดเป็นปัญหา
แต่ถ้าเราเดินถูก เดินตรงตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ไว้ให้เราเดิน เราก็ไม่มีเรื่องอะไร...สบาย จิตใจสงบ มีความสุข แม้จะมีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้น เราปลงได้วางได้ เพราะเราใช้ปัญญาตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เราปลงลงได้...วางลงได้ จิตใจก็เบาโปร่ง ไม่หนักใจ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะปัญหานั้นๆ นี่แหละคือผลแห่งการปฏิบัติธรรมะ (เป็นผล)แห่งการนำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเราจะเอาธรรมะอะไรไปใช้ เพราะธรรมะนี่มันมาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากมายหลายเรื่องหลายประการ ที่ตรัสมากมายนี่คือ(เพื่อให้)เหมาะแก่คนแก่เรื่อง ไปพบคนๆนั้น...พูดเรื่องอย่างนั้น พูดเรื่องเหมาะกับคนนั้น กับเหตุการณ์นั้น (กับ)สถานการณ์นั้นๆ ไปพบคนอื่นก็พูดอีกเรื่องหนึ่งเหมาะกับคนอื่นต่อไป
ทีนี้เราก็มาศึกษาว่าจากเรื่องเหล่านั้น เราก็เอามาเลือกมาใช้ให้เหมาะแก่เรื่องของเรา หรือว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นเป็นปัญหาในชีวิตของเรา เราจะหยิบตอนไหนมาใช้ เอามาแก้ปัญหาในชีวิตนั้นเราก็หยิบได้ เพราะเรารู้ เราเรียน เราพร้อม จึงเป็นหน้าที่อีกอันหนึ่งที่จะต้องกระทำคือ “หมั่นศึกษาธรรมะไว้” ศึกษาด้วยการฟังธรรมะ เช่น มาฟัง(ธรรมใน)วันอาทิตย์ที่นี่ ก็พยายามให้แนวทางชีวิตง่ายๆ แก่ญาติโยมทั้งหลาย เพื่อ(จะได้)เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือว่าเราอ่านจากหนังสือที่เรามีอยู่ อ่านค้นคว้าจากเรื่องเหล่านั้น...จำไว้ พอมีปัญหาขึ้นก็หยิบมาใช้ได้ เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่ใกล้ตัว มันหยิบง่าย ใช้ได้ทันท่วงที แต่ถ้าเราไม่มี(เครื่องมือ)อยู่ใกล้เนื้อใกล้ตัว (แล้ว)จะเอามาใช้ได้อย่างไร มันลำบาก มันไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะเราเตรียมไม่พร้อม
เบื้องต้นจึงต้องศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ เช่น คนหนุ่มที่เข้ามาบวชในพระ(พุทธ)ศาสนาชั่วระยะหนึ่งของชีวิตนี่ คือเจตนาเป็นกุศลของพ่อแม่ ที่ต้องการให้ลูกได้รู้จักชีวิต(ที่)ถูกต้อง ได้เรียนได้เข้าใจตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป และเขาให้บวชเมื่ออายุ ๒๐ (ปี) นั่นเรียกว่าพอเริ่มบรรลุนิติภาวะ ต่อไปจะต้องช่วย(เหลือ)ตัวเอง พึ่งตัวเอง จะต้องสู้กับปัญหาชีวิต ไม่มีใครเป็นพี่เลี้ยงแล้ว(เมื่อ)ออกจากพ่อจากแม่ ก็ต้องมีพระพุทธเป็นพี่เลี้ยง มีพระธรรมเป็นพี่เลี้ยง มีพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล คอยเตือนจิตสะกิดใจไม่ให้เราเกิดอะไรที่ผิดพลาดเสียหายในวิถีชีวิต เพราะพ่อแม่อยากจะเห็นลูกเจริญก้าวหน้า
เพราะฉะนั้นผู้ที่บวชเข้ามาจึงต้องตั้งใจศึกษาอบรมบ่มนิสัย ต้องนั่งมองตัวเองเสียบ้าง พิจารณาตัวเองว่าเมื่อก่อนเราเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เรามาบวชอยู่เป็นอย่างไร ต่อไปข้างหน้าเราควรจะเป็นอย่างไร มีอะไรควรจะปรับปรุงบ้าง มีอะไรควรจะแก้ไขบ้าง ไม่ใช่บวชเฉยๆ บวชมาเพื่อเรียนวิชาดูตัวเอง ดูนิสัย ดูลักษณะความเป็นอยู่ของตัวเองให้มันถูกต้องชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจะได้ปรับปรุงแก้ไข ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเมื่อ(ตอนที่ยัง)ไม่ได้บวช
ก่อนบวชนี่เป็นอย่างหนึ่ง เช่นว่าเป็นคนเหลวไหล บางคนก็เหลวไหลไม่เอาถ่าน อายุเกิน ๓๐ (ปี)แล้วยังไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว หาความทุกข์ให้แก่พ่อแม่ นี่เขาเรียกว่าเกิดมาฆ่าพ่อฆ่าแม่...ไอ้คนประเภทนั้นนะ ทำให้พ่อแม่ร้อนใจเป็นทุกข์ เขาเรียกว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่ อันนี้ยังไม่ได้เรื่อง เอามาบวช บวชแล้วอย่าไปฆ่าพ่อฆ่าแม่ด้วยความประพฤติไม่ดีอีกต่อไป แต่จะต้องไปใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ด้วยการทำงานทำการ อย่านึกว่าพ่อแม่เราเป็นอย่างนั้น...เราจะทำงานอย่างนั้นไม่ได้ ต้องนึกว่าเรามีความรู้ขนาดไหน เรามีความสามารถขนาดไหน พอจะตั้งต้นจุดใดได้ จะไปตั้งต้นสูงขึ้นไปเลยมันไม่ได้นะ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นต้น...ก้าวไป ก้าวไปจนถึงขั้นสูงสุดของชีวิต ต้องคิดอย่างนั้น ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ ความสนใจในการศึกษาคำสอน สนใจในการที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันก็จะเกิดขึ้น
ญาติโยมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ที่เรามาวัดนี่ต้องเสียสตางค์ค่าเดินทาง มาแล้วมันต้องให้คุ้ม คือให้ได้ความรู้ความเข้าใจ เอาไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิตให้ได้ จึงจะคุ้มกับการเดินทางที่เรามา เมื่อได้แล้วอย่าเอาไปใช้คนเดียว มีใครเป็นเพื่อนเป็นมิตร แจกๆ ให้เขา ดึงเขามาให้มารับมาฟัง มารู้มาเรียน จะได้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นบ้าง อย่างนี้ก็จะเป็นการช่วยกันส่งเสริมศีลธรรมใน(พุทธ)ศาสนาให้เจริญงอกงามในจิตใจคน เราก็จะอยู่กันด้วยความสุขความสบายตามสมควรแก่ฐานะ
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้