แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟัง ปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน และจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรก ตั้งแต่วันเข้าพรรษามา เราทั้งหลายได้มาทำบุญเมื่อวันเพ็ญอาสาฬห(บูชา) (00.46 คำเต็มว่า “อาสาฬหบูชา”) แล้วก็รุ่งขึ้น ก็เป็นวันเข้าพรรษา อันเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามพระวินัย เพราะว่าภิกษุสงฆ์ที่จะดำรงมั่นอยู่ได้ถาวรนั้น ก็โดยอาศัยการปฏิบัติเคร่งครัด ตามระเบียบวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทซึ่งมีอยู่ในประเทศลังกา ประเทศพม่า ประเทศไทย เป็นผู้ที่รักษาพระวินัย อันเป็นของเก่าไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้วมันจะเกิดความไม่สม่ำเสมอกัน องค์หนึ่งเปลี่ยนอย่างหนึ่ง องค์หนึ่งเปลี่ยนอย่างหนึ่ง ความเป็นอยู่ก็จะไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เท่าเทียมกันนั้น คือเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม เพราะในทางพุทธศาสนาเรานั้นต้องมีความเสมอกันโดยศีล เรียกว่า สีละสามัญญตา ความเสมอกันด้วยความเห็น เรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา สามัญญตาทั้งสองอย่างนี้ ถ้าเหมือนกัน การเป็นอยู่ก็จะเรียบร้อย ถ้าเกิดขัดข้องไม่เหมือนกัน ก็จะเกิดปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงรักษาของเก่าไว้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะให้สม่ำเสมอกัน เช่นพระวินัยก็รักษาเหมือนกัน ทุกแห่งมีความเป็นอยู่เหมือนกัน ความเห็นก็ถูกตรง ตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราจึงอยู่กันด้วยความมั่นคง
พระพุทธศาสนาอยู่ได้ยั่งยืน มาครบสองพันห้าร้อยกว่าปีเข้า (02.43) สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว แล้วจะยั่งยืนต่อไปตราบเท่าที่พวกเราทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ยังสนใจในการศึกษา สนใจในการปฏิบัติ สนใจในการที่จะช่วยกันประกาศ ให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตราบใดที่เราทั้งหลาย ได้ช่วยกันศึกษา ช่วยกันปฏิบัติ ช่วยกันประกาศ ให้ชาวโลกได้เกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะตั้งมั่นอยู่ตลอดไป แต่ถ้าเราทั้งหลายไม่สนใจในการศึกษา ไม่สนใจในการปฏิบัติ ไม่สนใจในการที่จะเผยแผ่ ให้คนทั้งหลายได้เกิดความรู้ความเข้าใจ พระศาสนาก็จะหายไป สิ้นไป เมื่อพระศาสนาไม่มีอยู่ในจิตใจคน สภาพจิตใจจะตกต่ำ อยู่ในความมืดความบอด เหมือนกับกลางวันไม่มีแสงอาทิตย์ มันก็จะมืด แล้วก็จะมืดตลอดไป เมื่อโลกอยู่ในความมืดบอด เราจะมีความทุกข์มากขึ้น เวลานี้เรามีความทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่รุนแรงมากเกินไป ก็เพราะเราอาศัยธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ช่วยให้เราเห็นแสงสว่าง รู้ทางผิดทางถูกทางดีทางชั่ว ทางเสื่อมทางเจริญ เราจึงหลีกเดินในทางที่ไม่เสื่อม หลีกเดินอยู่ในทางที่จะไม่ตกต่ำในชีวิต เราจึงเอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ ด้วยความสุขความสวัสดี อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องช่วยกัน รักษาพระพุทธศาสนาไว้ การรักษาพระพุทธศาสนานั้น ต้องรักษาไว้ด้วยการศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง ไม่หลง ไม่งมงาย ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา เราจะต้องปฏิบัติขัดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากสิ่งชั่วร้าย ที่จะทำลายความสงบสุขของตนและบุคคลอื่น เราจะต้องช่วยกันชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่เรามีความรู้จักกัน ให้หันหน้าเข้าหาธรรมะ เพื่อจะได้ช่วยกันปฏิบัติธรรมะต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันทำ ตามความสามารถที่จะช่วยกันได้ เมื่อเรายังช่วยไปไม่ไกล เราก็ช่วยกันในวงจำ???แคบๆก่อน (05.38 เสียงไม่ชัดเจน) การช่วยกันในวงแคบ ก็คือช่วยคนในครอบครัว ให้ทุกคนได้ประพฤติดี มีศีลธรรมประจำใจ ธรรมเนียมเมืองไทยเรานั้น ได้ส่งผู้ชายเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา การที่ให้ผู้ชายเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็เพราะเห็นว่า ผู้ชายนี่เป็นพ่อบ้าน จะไปเป็นหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าครอบครัวนั้นจะต้องเป็นคนดี มีศีลธรรมประจำจิตใจ ครอบครัวจึงจะอยู่กันด้วยความสุข แต่ถ้าหัวหน้าครอบครัวเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรมประจำใจ เป็นคนปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ครอบครัวนั้นจะอยู่เป็นสุขได้อย่างไร มันก็จะมีปัญหา มีความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ พ่อแม่ปู่ตาย่ายาย ของเราทั้งหลายนั้น ท่านเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ จึงได้ให้ลูกได้เข้ามาบวชเรียนในพระศาสนาโดยมากก็บวชในฤดูการเข้าพรรษา เพื่อจะได้มีเวลาอยู่นานหน่อย แล้วเมื่อเข้าพรรษาแล้ว ก็เหมือนกับผูกมัดด้วยกติกา ด้วยคำสัญญาว่าจะอยู่จำพรรษาตลอดสามเดือน จะสึกในกลางพรรษานั้นหาได้ไม่ ก็จะได้อยู่ศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ สร้างรากฐานชีวิตให้เจริญด้วยคุณงามความดี เหมือนกับว่ามาสร้างพระไว้ในใจ แล้วเวลาเราออกไป เราก็มีพระติดตัวติดใจไปใช้ ที่บ้านที่เรือนต่อไป
ครอบครัวใดพ่อบ้านเป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ในศีลในธรรม ก็จะได้นำพวกที่อยู่ในครอบครัว เช่นนำแม่บ้านให้ประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป ได้สั่งสอนลูกสั่งสอนหลานให้ประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมเนียมโบราณ ที่ท่านได้ตั้งไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ชีวิตในครอบครัว ดังที่กล่าวแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่ได้บวชในพระศาสนา ก็จะได้รับคำแนะนำจากพ่อบ้านต่อไป ว่าควรจะคิดอย่างไร ควรจะพูดอย่างไร ควรจะประพฤติตนอย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เขาจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจ และจะไม่ประพฤติสิ่งที่เสียหาย ทุกคนก็จะอยู่กันด้วยความสงบสุข เพราะมีใจเป็นพระ พระอยู่กับพระมันก็ไม่ยุ่ง แต่ถ้าพระอยู่กับผีมันก็ยุ่งเหมือนกัน เพราะว่าพระไม่ยุ่งแต่ผีมันมายุ่ง ทีนี้ก็เกิดเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นครอบครัวใดที่ไม่เหมือนกัน เช่นสามีเป็นคนดี ภรรยาเป็นคนไม่ดี หรือว่าภรรยาเป็นคนดี สามีเป็นคนไม่ดี หรือว่าไม่ดีทั้งคู่ หรือว่าดีทั้งคู่ ถ้าดีทั้งคู่นั่นก็เรียกว่าสวรรค์ แต่ถ้าคนหนึ่งดี อีกคนหนึ่งร้าย มันก็เกิดปัญหา การอยู่กันก็จะไม่สงบสุข เพราะความคิดความเห็นมันไม่ตรงกัน ท่านจึงสอนให้มีเท่าเทียมกันในเรื่องธรรมะ ถ้าทุกคนมีธรรมะเท่าเทียมกันก็จะเป็นสุข
ทีนี้เมื่อเราอยู่ครองบ้านครองเรือน เราก็มีผู้สืบสกุล คือมีบุตรชายบุตรหญิงเกิดมา เป็นผู้สืบสกุลต่อไป หน้าที่ของพ่อแม่ ที่จะต้องทำกับลูกก็คือว่า สอนลูกให้รู้จักพระพุทธศาสนา สอนลูกให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนา เช่นสอนให้รู้จักกราบ ให้รู้จักไหว้ ให้รู้จักนั่งเรียบร้อย ให้รู้จักไหว้พระสวดมนต์ เช่นเบื้องต้น ก็สอนให้ว่านะโมได้ นะโมสามจบได้ แล้วก็สอนให้ว่า ไตรสรณคมณ์ คือว่า
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ซึ่งเป็นเรื่องการเปล่งวาจา ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม พระสงฆ์ แล้วต่อไปก็ให้ท่องศีลห้าได้ อันนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะต้องสอน
วันก่อนนี้ไปที่บ้าน งานศพบ้านคุณพจน์ สารสิน ไปเทศน์งานศพท่านผู้หญิง แล้วก็มีเหลนของท่าน ตัวน้อยนิดเดียว อายุสามขวบเท่านั้น พูดจาได้แล้ว เขามาอาราธนา (10.44) เขามาว่า ศีลห้าข้อได้เรียบร้อย แล้วก็ยังว่าคำให้พรที่พระว่าด้วย “สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุฯ” เขาว่าคล่องเลย ว่าได้คล่องแคล่ว ว่าจบแล้วก็มองไปบนอาสน์สงฆ์ แล้วก็พูดว่า วันนี้พระสังฆราชไม่มาว่าอย่างนั้น คือเห็นพระที่นั่งอยู่ไม่เป็นสังฆราชสักองค์เดียว อันนี้เขาว่าวันนี้ทำไมพระสังฆราชไม่มา เขาบอกว่าพระสังฆราชไม่มาวันนี้ แต่จะมาวันต่อไป วันพรุ่งนี้สมเด็จวัดบวรจะมา เขาก็มองแล้วเขาก็ว่าอย่างนั้น เรียบร้อย นี่เขาเรียกว่า มันได้รับการสอนจากคุณแม่หรืออะไร จึงได้ว่าได้อย่างนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เด็กๆเราควรจะสอนให้พูดสิ่งเหล่านี้ได้ ให้จำสิ่งที่เป็นคำสอน เป็นข้อเตือนใจ ในทางศีล ทางธรรม ไว้ตั้งแต่ตัวเล็กๆ เมื่อโตขึ้นก็จะได้ฝังอยู่ในนิสัย เราอย่านึกว่าเรื่องท่องจำ เป็นเรื่องไม่สำคัญ มันก็สำคัญเหมือนกัน คือถ้าจำไว้ได้ เวลาโตขึ้น มันก็เอาไปใช้ได้ เวลาจำเป็นจะต้องใช้ก็ใช้ เหมือนเรามีเครื่องมือ ถึงเวลาไม่ใช้ก็เก็บไว้ในตู้ แต่พอถึงเวลาจะใช้เราก็ขนออกมาใช้ได้ หรือว่าเรามียาแก้ไข้ ถ้าเรายังไม่ไข้ เราก็ไม่ต้องใช้ยา แต่เมื่อใดเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องหยิบยามาใช้ได้ทันที แต่ถ้าเราไม่มีมันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องเตรียมไว้ ฉันใด ธรรมะนี่ก็เหมือนกัน เรารู้ได้ เราจำไว้ เวลามีอะไรเกิดขึ้น เราก็จะได้หยิบมาใช้ ได้ทันท่วงที จะทำให้ชีวิตของเรา ผ่านพ้นอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆไปได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องสนใจ ฝึกฝนอบรมจิตใจของเด็ก ให้มีความหนักแน่นในพระศาสนา ไปตั้งแต่ตัวน้อยๆ เช่นสอนให้ไหว้พระสวดมนต์ทุกคืน ก่อนนอน หรือว่าสอนให้รู้จักงดเว้นจากสิ่งไม่ดีไม่งาม พูดให้เขาได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่าทำอย่างนั้นเป็นบาป ทำอย่างนั้นเป็นบุญ ทำอย่างนั้นไม่ดี ทำอย่างนั้นดี พูดบ่อยๆ เขาได้ยินบ่อยๆ มันฝังเข้าไปในจิตใจ เพราะเด็กนั้นเขามีแต่เรื่องรับ รับมาก ทุกอย่าง
เด็กอยู่กับสิ่งใดเขาก็รับสิ่งนั้น อยู่กับคนพูดคำหยาบเขาจะรับคำหยาบเข้าไปไว้ พูดกับ …… (13.39 เสียงไม่ชัดเจน) พูดกับคนพูดจาสุภาพอ่อนหวาน เขาก็จะพูดอย่างนั้น หรือว่าเขา เห็นกิริยาอาการของใครเป็นอย่างไร เขาก็จะถ่ายทอดสิ่งนั้น มาใส่ไว้ในใจของเขา เราที่เป็นผู้ใหญ่ จึงจะต้องระมัดระวัง เมื่ออยู่ต่อหน้าเด็ก ให้นึกไว้เสมอว่า เป็นภาพที่เด็กจะต้องถ่ายไว้ ในจิตใจของเขาตลอดเวลา ถ้าเราแสดงภาพดี เขาก็จะถ่ายสิ่งดีไว้ในใจเขา ถ้าเราแสดงภาพไม่ดี เขาก็จะถ่ายภาพนั้นไว้ในใจของเขา ถ้าเขาเห็นอะไรบ่อยๆ เขาก็จะมีสิ่งนั้นประทับแน่นในใจ ถ้าสมมุติว่าได้เห็นความดีบ่อยๆ การประทับใจก็เป็นไปในทางดี ถ้าเห็นความชั่วบ่อยๆ การประทับใจก็เป็นไปในทางชั่ว เช่นเราแสดงอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟให้เด็กเห็นบ่อยๆ ก็เหมือนกับสอนเด็กให้โกรธนั่นเอง เราทำอะไรเหมือนกับสอนทั้งนั้น เพราะเด็กมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เห็นคุณแม่ทำอะไร มันก็นึกว่าคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วมันก็จำไว้ ทีนี้ถ้าเราทำแต่สิ่งที่อ่อนหวาน นิ่มนวล สุภาพเรียบร้อย เด็กก็ถ่ายสิ่งนั้นไว้ ถ้าเราทำเรื่องไม่ดีไม่งาม เด็กก็ถ่ายไว้ อันนี้คือความผิดของแม่ ความผิดของพ่อ ที่อยู่ใกล้เด็ก เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราเข้าไปใกล้เด็ก เราจะต้องนึกว่า เหมือนกับใกล้คนสำคัญ ที่จะเติบโตขึ้นต่อไปข้างหน้า จะต้องระมัดระวังในการพูดการกระทำ ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นการเรียบร้อย อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า เป็นการสอนเบื้องต้น เหมือนกับว่าสอนเด็กอนุบาล ให้รู้จักพระพุทธศาสนา ต่อไปจากนั้น เราก็สอนเขา ให้รู้จักสิ่งที่เขามองเห็นง่ายๆ เช่นว่าเราสอนให้เขากราบพระ เมื่อเข้าไปในห้องพระ เขาก็กราบพระ กราบพระพุทธรูป เราก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่ารูปนี้ เป็นรูปอะไร มีความหมายว่าอย่างไร อย่าให้เด็กเข้าใจไปในเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ หรือในรูปอย่างนั้น แต่เราให้เข้าใจว่ารูปนี้ เป็นรูปเปรียบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อเราเห็นรูปนี้ เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วเรากราบ เราไหว้ การกราบไหว้นั้น เป็นการอบรมจิตใจ เพื่อให้มีคุณงามความดีประจำจิตใจมากขึ้น ทุกครั้งที่เราไหว้พระ เราก็ได้ความดีเพิ่มขึ้นในจิตใจของเรา ทุกครั้งที่เราไปนั่งหน้าพระ แล้วนั่งสำรวมเรียบร้อย เราก็ได้ความดีประจำใจ เช่นได้ฝึกความอดทน ฝึกการบังคับตัวเอง ฝึกให้รู้จักมีระเบียบมีวินัย อันนี้มันคือการได้ จากการกระทำอย่างนั้น เราอธิบายให้เด็กน้อยๆได้เข้าใจ
แล้วเราผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ก็ต้องอ่านหนังสือพุทธประวัติ แล้วเอามาเล่าให้เด็กฟัง เรื่องเจ้าชายสิทธัตถะ เอามาเล่าให้ฟัง ตอนไหนที่เป็นคติ เป็นตัวอย่างชีวิต เราก็ต้องกล่าวย้ำในตอนนั้น ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ท่านเป็นอย่างนี้ ท่านมีความเมตตาอย่างนี้ กรุณาอย่างนี้ เช่นในพุทธประวัติ ที่จากฟากทางมหายานเขาแต่ง มันมีเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะ กับหงส์น้อย เขาแต่งไว้ ว่าเจ้าชายนั่งอยู่ในสวน แล้วก็เห็นหงส์บินมาฝูงหนึ่งในอากาศ แต่ว่ากำลังดูหงส์เพลินอยู่นั้น ก็มีลูกศรปลิวไปในอากาศ ถูกหงส์ตัวหนึ่งตกลงมา ที่พุ่มต้นไม้ เจ้าชายเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ สงสารหงส์ตัวนั้น ก็เลยวิ่งไปจับหงส์ตัวนั้นมาอุ้มไว้ประทับกับอก แล้วก็มีอีกคนหนึ่งคือเจ้าชายเทวทัต ซึ่งเป็นคนที่ใจพาล เกะกะระรานมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ มาถึงก็ต่อว่าต่อขาน ว่านกนี้เป็นของหม่อมฉัน เจ้าชายสิทธัตถะบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ของท่าน มันเป็นของเรา ทางฝ่าย …… (18.25 เสียงไม่ชัดเจน) เทวทัตก็บอกว่า ก็มันนกอยู่บนอากาศนี่ เรายิงตกลงมา มันก็ควรจะเป็นของเรา เจ้าชายสิทธัตถะบอกว่า ผู้ทำลายไม่ควรจะเป็นเจ้าของสิ่งใดที่ตนทำลายแล้ว ผู้ทำลายไม่ควรจะเป็นเจ้าของ อันนี้เราสอนเด็กได้ ให้เด็กรู้ว่า ถ้าเราทำลายของนั้นจะไม่เป็นของเรา เรามีของใช้ ถ้าเราทำลายมันก็ไม่เป็นของเรา เราทำหนังสือขาด หนังสือมันก็หายไป ทำสมุดขาดสมุดมันก็หายไป ทำเสื้อขาดเสื้อมันก็หายไป ทำสตางค์หายสตางค์มันก็ไม่อยู่กับเรา ใครเป็นผู้ทำลายไม่ว่าอะไร สิ่งนั้นมันไม่ใช่เป็นของเรา แล้วเราก็พูดให้เด็กฟัง เรื่องโต๊ะเรื่องเก้าอี้เรื่องดอกไม้ต้นไม้ ในบริเวณโรงเรียน เพื่อหัดเด็กให้เป็นคนมีนิสัยรัก สงวนของต่างๆในบริเวณนั้น ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการทำลายนั้น เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะสิ่งนั้นมันจะหายไป มันจะไม่อยู่กับเราอีกต่อไป เราจึงไม่ควรจะทำลายสิ่งใดๆ ผู้ทำลายไม่เป็นเจ้าของสิ่งนั้น เราเอาคำเหล่านี้เขียนไว้ข้างฝา ให้เด็กได้อ่านบ่อยๆก็ได้ หรือว่า เขียนปักไว้ตามต้นไม้ เพื่อให้เด็กเห็นว่า ถ้าเราทำลาย เด็ดใบไม้ เด็ดดอกไม้ ดอกไม้นั้นมันก็จะหายไป มันไม่เป็นของเราอีกต่อไป เด็กก็จะได้เกิดความคิด เกิดความจำขึ้นในข้อนั้น แล้วเจ้าชายท่านก็โต้เถียงกันกับเทวทัตไม่ตกลงกัน ไม่ตกลงก็ต้องพาไปหาอาจารย์ ไปหาอาจารย์ให้ตัดสิน อาจารย์ก็ถามว่ามันเรื่องอะไร เถียงอะไรกัน เมื่อได้รับคำบอกแล้ว ก็บอกว่า ผู้ใดทำลายไม่ควรจะเป็นเจ้าของ ผู้ใดรักษามันผู้นั้นควรจะเป็นเจ้าของสิ่งนั้น เพราะว่าได้รักษามันได้เยียวยามันไว้ ก็ควรจะได้เป็นเจ้าของสิ่งนั้น ผลที่สุดก็เจ้าชายสิทธัตถะชนะ ก็เรียกว่าธรรมะหรือความถูกต้อง ชนะความไม่ถูกต้อง ธรรมะชนะอธรรม
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่เราก็ย้ำให้เด็กฟังอย่างนั้นเป็นตัวอย่าง แล้วก็พูดให้เด็กฟังบ่อยๆในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า แม้เรื่องชาดกในพระพุทธศาสนา เราก็เอามาเล่าเป็นนิทานสอนใจ ให้เด็กได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วก็เด็กก็จะได้จำเรื่องเหล่านั้นฝังไว้ในใจ อันนี้คือการอบรมลูกเราให้มีความคุ้นเคยกับธรรมะ คุ้นเคยกับศาสนา ว่างๆเราพาเด็กมาวัดบ้าง การพาเด็กมาวัดนั้น ต้องพามาศึกษา ไม่ใช่มาเที่ยวเล่น เที่ยวกระโดดโลดเต้น หักต้นไม้นั้น ตัดต้นไม้นี้ อะไรต่ออะไร ทำลาย ให้เด็กรู้จักรักษาของภายในวัด เช่นเราพาเด็กเดินไปรอบบริเวณวัด ไปเห็นสนามหญ้าสวยๆ ซึ่งเขาตกแต่งไว้ดี เห็นต้นไม้ปลูกไว้มีระเบียบ ต้องหาโอกาสสอนเด็กได้แล้ว หยุดยืน แล้วก็ถามว่าดูสนามนี้เรียบร้อยไหม สวยงามไหม น่าดูน่าชมไหม เด็กมันก็ตอบตามความรู้สึกของมัน ว่าน่าดูน่าชม ที่มันน่าดูน่าชมอย่างนี้เพราะอะไร เพราะมีการรักษา ไม่มีการทำลาย ถ้าเด็กทุกคน หรือว่าใครทุกคน ที่เข้ามาในนี้เดินเหยียบย่ำ บ่อยๆหญ้ามันก็ตาย ไปเด็ดใบไม้บ่อยๆ ใบไม้ก็ไม่มี ต้นไม้ก็ขาดใบไม้ ต้นไม้ที่ไม่มีใบ มันมีหวังตาย มันอยู่ไม่ได้ ดอกไม้ที่มันขึ้นมาสวยงาม เราอย่าไปเด็ด เราควรจะไว้กับต้น ให้คนอื่นได้ดูงามๆด้วย เพราะสิ่งนี้เป็นของสาธารณะ เป็นของคนทุกคน ไม่ใช่ของผู้ใดใครผู้หนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าเราไปเด็ดเอามาใช้ส่วนตัว เราเป็นคนไม่ดี เราเอาเปรียบคนอื่น เราอธิบายให้เด็กฟัง แล้วก็เดินชมไป อะไรไป เด็กมันก็ค่อยรู้ว่า สิ่งนี้เป็นของมีค่า ควรจะสงวนควรจะรักษาไว้ ให้สวยให้งาม มีหินกองอยู่ก็บอกว่าหินมันไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่เขาเอามาจากที่ไกล ทำไมจึงเอาหินมากองไว้ ก็เพื่อให้เกิดความสวยงามความเรียบร้อย และพูดให้เด็กฟังว่าหินมันมีสภาพอย่างไร หินนี่มันเป็นของหนัก เป็นของแน่น มันอยู่ตรงไหนมันอยู่ตรงนั้น มันไม่เคลื่อนที่ไปไหน เราก็ควรทำใจให้หนักแน่น เหมือนกับแผ่นหิน ไม่เป็นคนขี้โกรธ ไม่เป็นคนขี้งอน ไม่เป็นคนขี้ร้องไห้ ไม่ทำอะไรที่ไม่น่าดู พูดๆเข้าไปเถอะ ฝังเข้าไปเถอะ เด็กมันก็รับไว้เรื่อยๆ แล้วมันก็ค่อยดีขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราหมั่นกรอกหู ลงไป ในเรื่องความงามความดี ไอ้ที่มันไม่ค่อยดี เพราะเราไม่กรอกมันลงไป หูเด็กมันเปิด แต่เราไม่ใส่อะไรเข้าไป เลยมันก็ไม่ได้เรื่อง อันนี้เราจะต้องกรอกลงไป กรอกความคิด กรอกความเข้าใจ กรอกปัญญาเข้าไปในจิตใจของเด็ก เรามาถึงเห็นอาคารหลังใหญ่คือโบสถ์ ก็ต้องชี้ให้เด็กดูว่านี่คืออะไร ทำไมต้องมีกำแพงรอบ ทำไมจะต้องมีหินปัดไว้อย่างนี้ ในนั้นเป็นที่ประดิษฐ์ (24.29 เสียงไม่ชัดเจน) อะไรอยู่ สิ่งนั้นคืออะไร เมื่อเราเข้ามาในบริเวณนี้ เราควรจะเดินอย่างไร ควรจะนั่งอย่างไร ควรจะทำอย่างไร เราจะเอาขยะมาทิ้งในบริเวณนี้ได้ไหม เราจะมาปัสสาวะในบริเวณนี้ได้ไหม มาฉี่ตรงแถวนี้ได้ไหม ให้เด็กรู้ว่า เป็นสิ่งทำไม่ได้ ในบริเวณอย่างนี้ แม้เดินก็ต้องระวังสำรวม ให้เรียบร้อย
ถ้าเราเข้าไปในโบสถ์จะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เป็นรูปเปรียบแทนพระพุทธเจ้า เราก็ต้องนั่งกราบด้วยความเคารพ กราบแล้ว ก็ต้องนั่งสงบ นั่งเรียบร้อย ก็นั่งอยู่ในสถานที่ที่ดีที่งาม ที่ให้เรานั่งนึกถึงความดีความงาม นึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เราพยายามสอนเด็กอย่างนั้น อย่าพาเด็กมาวัดเฉยๆ โดยไม่ได้บอกให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร ควรจะสอนตั้งแต่เข้าประตูมาแล้ว เข้าประตูมาก็พูดอธิบาย เวลานี้เราเข้าไปสู่อะไร เรามาที่นี่เรามาทำไม คนมาวัดนี่ เขามากันทำไม ให้เด็กได้รู้ไปตั้งแต่เริ่มต้น ว่าคนมาวัดเขามาเพื่อศึกษาพระธรรม อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตคนเรานั้นจะมีค่าเพราะมีธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่ทำคนให้มีค่ามีราคา คนไม่มีค่าก็ขาดธรรมะ เราพูดให้เด็กฟัง พูดไปเถอะ พูดไปเรื่อยๆ มีความรู้ก็พูดกรอกหูมันเข้าไป เด็กก็ได้เรียน ได้รู้ในเรื่องอะไรต่างๆ เวลาเดินผ่านเมรุเผาศพก็บอกเด็กให้รู้ว่านี่ เป็นที่สงฆ์ จะทำอะไร เป็นสถานที่สำหรับเผาคนที่ตายแล้ว บอกให้เด็กรู้ว่าคนทุกคนต้องตาย เกิดมาแล้วมันต้องแก่ คนแก่นั้นมีลักษณะ ผมหงอก หนังเหี่ยว ฟันหลุดมาจากปาก เดินเหินก็ไม่คล่อง เหมือนกับคุณย่าคนแก่ คุณยายคนแก่ คุณปู่คุณตาท่านก็แก่ แก่แล้วมันก็ต้องตาย ความตายเป็นของธรรมดาสำหรับชีวิต ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร เหมือนต้นไม้มันก็เหี่ยวแห้ง ต้นไม้ออกดอก ดอกมันก็เหี่ยว มันก็ร่วงลงจากต้น ผลไม้มันสุก แล้วมันก็เหี่ยวหล่นลงไปจากต้น คนเรามันก็เหมือนกับต้นไม้ อธิบายให้เด็กฟัง ให้เด็กรู้ความจริงไปตั้งแต่เบื้องต้น มันจะไม่กลัวอะไรเช่นไม่กลัวโครงกระดูกไม่กลัวหีบศพ ไม่กลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัว แล้วเราอย่าไปสร้างภาพความกลัวให้เด็ก ผู้ใหญ่เรามักจะฝังสิ่งไม่ถูกต้องไว้ในใจ ตั้งแต่นานมาแล้ว คือรับมาอย่างไม่ถูกต้อง แล้วก็กลัวโดยไม่ถูกต้อง เช่นว่ากลัวผี มันไม่ใช่เรื่องความกลัวที่ถูกต้องอะไร เพราะไม่มีผีที่น่ากลัวอะไร ตั้งแต่เราเกิดมา จนอายุแก่ๆแล้วนะ ยังไม่เคยเห็นผี ปรากฏโฉมหน้ามาเดินให้เราเห็นสักทีหนึ่ง ไม่มีการประกวดผีในงานไหนสักงานเดียว แล้วก็กลัวไปอย่างนั้น กลัวผีจะทำร้ายบ้างอะไรต่ออะไรบ้าง ไอ้ผีที่แท้จริงไม่รู้ ว่าคืออะไร ผีที่แท้จริง ก็คือความชั่ว ความโกรธเป็นผี ความเกลียดคนอื่นเป็นผี ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายเป็นผี เป็นผีที่ทำร้ายเรา ทำให้เราเสียหาย ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในทางจิตใจ นี่มันเป็นผี
ไอ้ที่นอนอยู่ในโรงนั้นไม่ใช่ผี แต่มันเป็นร่างกายของคนที่ตายแล้ว เมื่อตายแล้วก็ต้องเอาไปเผา อันนี้เขาทำไว้สำหรับเผา เผาให้เป็นขี้เถ้า จะได้ไม่เน่าไม่เหม็น ไม่เกิดเชื้อโรคแก่ประชาชน เมื่อเป็นขี้เถ้าแล้ว ก็เอาไปเก็บไว้ในที่ใดก็ได้ หรือไม่เก็บ ก็เอาไปลอยกระแสน้ำเสีย ก็ได้ ทิ้งลงแม่น้ำ ให้มันลอยไปตามกระแสน้ำ มันก็ไม่ลำบากยากเข็นอะไร เราพูดกับเด็กอย่างนั้น เมื่อเห็นสิ่งใดเราก็พูด ว่างๆพาเด็กมาเพื่อการศึกษา อธิบายให้เด็กรู้ เด็กเข้าใจ เข้ามาในบริเวณวัดเห็นต้นไม้ร่มรื่น ก็บอกให้เด็กรู้ว่านี่ต้นไม้นี่เขาปลูกทั้งนั้น มันไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ ไอ้ป่าที่เกิดเองธรรมชาตินั้นมันมีอยู่บนภูเขา แต่เดี๋ยวนี้มันก็น้อยลงไปแล้ว เพราะคนไม่รักธรรมชาติมันเยอะแยะ คิดทำลายเพราะความเห็นแก่ตัว อันนี้เขาปลูกไว้สวยๆงามๆ เราพาเด็กไปนั่งใต้ต้นไม้ นั่งแล้วก็ลองถามความรู้สึก ว่าเป็นอย่างไร นั่งใต้ต้นไม้สบายไหม เย็นไหม ร่มรื่นดีไหม ถ้าเด็กมันรู้อย่างนั้น (29.36 เสียงไม่ชัดเจน) ว่างเดี๋ยวจูงมา อยู่ที่สนามเปรี้ยงๆ กลางแดด แล้วก็ถามว่าอยู่กลางแดดเป็นยังไง เด็กมันก็ตอบว่ามันร้อน ร้อนกับเย็นอันไหนดีกว่ากัน เด็กก็คงตอบว่าเย็นดีกว่า อันนี้เราควรจะสร้างความร้อนหรือว่าควรจะสร้างความเย็น เราถามเด็กอย่างนั้น ถามไปเด็กมันก็ตอบไป เด็กมันก็ได้ความรู้ ว่ามาแล้วก็ได้ความรู้ความเข้าใจ เห็นมาในวัด เห็นพระเดินไปเดินมา เด็กอาจจะไม่รู้ เราก็บอกว่า นั่นเขาเรียกว่าพระสงฆ์
ในพระพุทธศาสนา พระนี่คือคนที่เสียสละความสุขจากบ้านจากเรือน มาอยู่วัด โกนหัว ไม่ต้องแต่งผม ตัดเล็บไม่ต้องแต่งเล็บ โกนหนวดโกนเคราไม่ต้องไว้หนวดไว้เครา นุ่งผ้าชุดเดียว ไม่หลายชุด ฉันอาหารง่ายๆ เรียนหนังสือธรรมะ ล้วนแล้วแต่เอาไปสอนชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ เราบอกเด็กให้รู้ ว่าพระท่านอยู่เพื่ออะไร ท่านทำอะไร เมื่อเราเห็นพระ เราควรจะแสดงอาการอย่างไร ควรจะยืนตัวตรง ยกมือไหว้ ถ้าเราไปถึงที่อยู่ก็นั่งลงเรียบร้อย แล้วก็กราบท่านสามครั้ง นั่งพับเพียบ ฟังท่านพูดอะไรให้เราฟัง อันเป็นเรื่องแนวทางของชีวิต เราพูดกับเด็กได้ สอนเด็กไปในตัว พามาแล้วก็สอนอธิบาย ให้เด็กเข้าใจในเรื่องอะไรๆต่างๆ การสอนธรรมะให้เด็กได้เรียนได้รู้ ได้เกิดความเข้าใจ ในหลักคำสอนในทางพระศาสนา โดยเฉพาะเรื่องพระพุทธเจ้านี่ต้องอ่าน พ่อแม่ต้องอ่านก่อน อ่านแล้วเอาไปสอนลูก คุยให้ลูกฟัง ให้ลูกเกิดความรักพระพุทธเจ้า เกิดความรักในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสในพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เด็กนั้นเติบโตขึ้น ก็จะเป็นคนเติบโตที่มีคุณธรรม มีธรรมะมีศาสนาประจำจิตใจ ถ้าเราสร้างคนให้มีธรรมะ ให้มีศาสนาประจำจิตใจ ประเทศชาติจะมั่นคง อะไรๆก็จะมั่นคงตามไปด้วย แต่ถ้าว่าเด็กคือ อนาคตของชาติ ไม่มีความมั่นคง ในทางจิตใจไม่มีหลักถูกต้องประจำจิตใจ แกว่งไปแกว่งมาตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม แล้วสภาพชีวิตมันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นปัญหา มีความสับสนวุ่นวาย ด้วยประการต่างๆ อันนี้คือความทุกข์ ที่จะเกิดในสังคมต่อไป เราจะต้องช่วยกันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น มีอันใดที่เราจะทำได้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของเด็กในทางพระศาสนา เราก็ต้องหาโอกาสทำแก่เด็ก ตามความสามารถที่เราจะทำได้ เป็นการเผยแผ่ธรรมะแก่คนเหล่านั้น อันนี้เรื่องภายในครอบครัว เราจะต้องทำอย่างนั้น
ถ้าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาสู่ครอบครัว เราก็ต้องคัดเลือกเหมือนกัน เช่นเรามีลูกสาว ก็ต้องมีลูกเขยต่อไปข้างหน้า ใครที่จะมาขอหมั้นลูกของเรานั้น เราต้องดู อย่าดูฐานะ ทรัพย์สมบัติ อย่าดูทรัพย์สมบัติ เพราะทรัพย์สมบัตินี่มันไม่ใช่เป็นเครื่องวัดคนอะไร ไม่แน่ว่าทรัพย์สมบัตินั้นเกิดจากอะไร คนบางคนอาจจะร่ำรวยเพราะขายเฮโรอีนก็ได้ เพราะค้าของเถื่อนก็ได้ ร่ำรวยเพราะการคอรัปชั่นกินสินบาทสินบนมาก็ได้ ความร่ำรวยอย่างนั้นมันไม่ใช่รากฐานของชีวิตอะไร ไม่มีความมั่นคงอะไร เราอย่าไปดูสิ่งนั้น แต่ดูว่าพ่อแม่ เขามีคุณธรรมขนาดไหน เขามีการดำรงชีวิตอย่างไร เป็นผู้เกลือกกลั้วด้วยอบายมุขไหม เป็นคนชอบการพนันไหม ชอบดื่มของมึนเมาไหม เสเพลเฮฮามากไหม ประพฤติ (33.56) มีพฤติกรรมในทางชีวิตเป็นอย่างไร ไอ้นั่นมันจะต้องถ่ายทอด มาสู่ลูกของเขา แล้วเราจะรับสมัครมาเป็นลูกเรา มาอยู่ในครอบครัวของเรา มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ลูกสาวเราเลี้ยงกว่าจะเติบโตกว่าจะจบการศึกษา แล้วใครมาเอาไป เราจะให้แก่ใครก็ต้องดูว่า คนที่จะมาเอาไป มันมีความรู้มีความสามารถ มีความประพฤติดี พอจะเลี้ยงลูกเราให้เป็นสุขได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่าเป็นคนแล้วมันก็จะใช้ได้เมื่อไหร่ มันไม่ได้ เห็นนั่งรถยนต์หรูมา เราก็ว่านี่มีรถยนต์ใช้ แต่ไม่รู้ว่ารถเช่าหรือรถอะไร ผ่อนส่งมาอย่างไร หรือว่ากู้มาโดยวิธีใด มันก็ไม่แน่เหมือนกันในสิ่งเหล่านี้ มันต้องดูให้ลึกซึ้ง ดูกันนานๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “สังวาเสนะ สีลัง เวทิตัพพัง” การรู้พฤติกรรมของชีวิตคนนั้น รู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกันนานๆ หมายความว่า คบกันนานๆ จนรู้ว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไร มีนิสัยใจคออย่างไร แล้วเราจึงจะอนุญาตให้เขามาเป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก พลาดท่าแล้วเป็นทุกข์จนตาย ลูกก็จะเป็นทุกข์ ลูกเป็นทุกข์หนักกว่าพ่อแม่ เพราะว่าได้สามีผิด เหมือนกับคนปลูกเรือนผิดคิดไปจนเรือนพัง ยิ่งเรือนคอนกรีตสมัยนี้ด้วยแล้ว ถ้าผิดแล้วมันไม่รู้จะทำอย่างไร จะทุบแล้วก็ไม่ไหว ต้องทนอยู่ไป อยู่ด้วยความตรมตรอมใจ จนกว่าเรือนจะพัง ไอ้เรามันพังก่อนเรือนซะด้วยซ้ำไป เพราะว่าเรือนมันมั่งคงเหลือเกิน
นี่คือความผิดพลาด เสียหาย ได้พบคนที่เป็นทุกข์อย่างนี้มากมาย มีปัญหาเยอะแยะ ก็อยากจะมาปรารภให้ญาติโยมฟังไว้ มันเป็นทุกข์อันหนึ่งในชีวิตของคนเรา ที่ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ในเรื่องที่จะรับสมาชิกใหม่เข้ามาในครอบครัว จะเป็นเขยก็ตาม จะเป็นสะใภ้ก็ตาม เราก็ต้องพิจารณานะไอ้เจ้าลูกชายมันไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง เราก็ต้องพูดจาให้เขาเข้าใจว่าชอบอะไรเขา ชอบร่างกายเขา ชอบเครื่องประดับของเขา ชอบที่เขายักคิ้วหลิ่วตากะเราอย่างนั้นหรือ หรือว่าชอบอะไร ต้องถามให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไร คนเราบางคนไม่ได้ชอบอะไรลึกซึ้ง ชอบว่ารูปร่างเข้าที แต่งตัวดีทันสมัย กระยึกกระยักอะไรต่างๆแล้ว มันก็ชอบไปตามเรื่องของมัน ไอ้นี่มันชอบเปลือก ไม่ได้ชอบเนื้อ ไม่ได้ดูว่าเนื้อมันเป็นอย่างไร คุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างไร มันยังไม่ได้พิจารณา มันชอบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องว่า ต้องวินิจฉัยต่อไปอีกหน่อย พิจารณาต่อไปอีกหน่อย อย่ารีบร้อนที่จะร่วมหอลงโรงกันก่อนเลย มันช้ากันได้ ไอ้อย่างนี้มันไม่ต้องรีบร้อนหรอก เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต มันต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าเราได้มาไม่ดี มันเสียคน หลานจะเสียด้วย หลานเสียนี่ยิ่งสำคัญหนักเข้าไปอีก เพราะว่าได้สะใภ้ไม่ดีเลยหลานเสีย ได้เขยไม่ดี ก็หลานเสียเหมือนกัน มันเสียใหญ่ เสียกันไปนานและเกิดเป็นปัญหา แล้วถ้าอยู่ๆกันเกิดการเลิกกัน หย่าร้างกัน อ้าว ทีนี้มันก็มีปัญหาหนักใครเป็นคนทำความผิด มันผิดหลายฝ่าย เด็กมันก็ผิด ผู้ใหญ่ก็ผิดที่ไม่อบรมบ่มเด็กไว้ ให้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาอะไรอย่างรอบคอบ แล้วมันก็เกิดความเสียหายขึ้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตประจำวัน แล้วก็ได้พบเห็นมามากแล้ว ว่ามีความทุกข์เหลือเกิน มาปรารภให้อาตมาฟังบ่อยๆ โดยมากเป็นฝ่ายสตรี มาบ่นเป็นทุกข์ บอกว่านี่ จะแก้อย่างไร บอกว่ามันแก้ด้วยความอดทน ทนไป บอกว่ามันทนไม่ไหว ก็ต้องอดทนต่อไป ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร แล้วก็มาคนเดียว มันแก้ไม่ได้เรียบร้อยหรอก ถ้ามาสองคนมันค่อยยังชั่วหน่อย ได้พูดฝ่ายนี้แล้วก็ดึงฝ่ายโน้นมาพูดกัน แล้วให้มาเจอกัน พูดกันทั้งสองฝ่าย ให้หันหน้าเข้าหากันปรับปรุงความคิด ความเห็น การกระทำ ให้พออยู่กันได้ เรียกว่าปรับลดให้มันพอเข้ากันได้ มันก็อยู่กันสบาย ปัญหานี่มีอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องคัดเลือก ผู้ที่เราจะเอามาเป็นสมาชิกว่า เป็นคนดีตามหลักพระพุทธศาสนาหรือเปล่า อย่าเป็นคนที่เรียกว่าทันสมัย แต่ไม่เข้าเรื่อง มันจะลำบากในกาลต่อไปข้างหน้า ความมั่นคงทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้อยากขอฝากไว้ ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่เหมือนกัน ในการที่จะ เราดูคน ว่ามีคุณธรรมอย่างไร มีความเลื่อมใสในศาสนาถูกต้องหรือไม่
ทีนี้คนบางคนนี่ก็ มีความเชื่อในเรื่องบางอย่าง ที่มันไม่ค่อยจะถูกต้อง ความเชื่อหลายอย่างที่เป็นเหตุให้คนเป็นโรคจิต เป็นโรคประสาท มีความเชื่ออะไรบ้าง เชื่อโชค เชื่อลาง เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่ออะไรๆต่างๆ ไอ้อย่างนี้ ทำให้คนเป็นโรคประสาทได้ง่าย คราหนึ่งมีครอบครัวหนึ่งมา มาถึงบ่นเป็นทุกข์ ถามว่าทุกข์เรื่องอะไร บอกว่าหิ้งพระมันเอียง หิ้งพระมันเอียงไป ไอ้หิ้งพระเอียงเพราะความนานของวัตถุ ไม้มันเก่า เก่าแล้วมันเกิดน้ำหนักมันก็เอียงไป แต่เห็นหิ้งพระเอียงแล้ว …… (40.06 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ได้แล้ว จะเกิดความล่มจมในครอบครัวแล้ว นี่มันก็พวกโง่ๆนะ เรียกว่าเชื่อสิ่งไม่ถูกต้อง ฝังไว้ในใจ ไอ้สิ่งไม่ถูกต้องที่รับกันมาเป็นช่วงๆ คือความเสียหายแก่จิตใจ ทำให้สภาพจิตเสื่อม เกิดความวิตกกังวล เกิดความหวาดกลัว เป็นโรคประสาท กันไปตามๆกัน เพราะเรื่องอย่างนี้ เลยมาหาอาตมา ก็บอกว่า มันไม่มีอะไร หิ้งพระมันเอียง มันเรื่องธรรมดา เพราะว่าไม้มันเก่า ข้างหนึ่งมันคงจะผุ มันเก่า เราเห็นเอียงมันก็ เปลี่ยนมันซะใหม่ ทำซะใหม่ ให้เป็นการเรียบร้อย มันก็ไม่มีอะไรแล้ว อย่าไปวิตกกังวลอะไร ถ้าเรือนมันเอียง มันจะลำบากกว่าหิ้งพระ เพราะว่ามันเอียงกระเท่เร่ แสดงว่ารากฐานมันไม่ดี ต้องแก้นะ ไม่แก้มันจะเสียหายอะไร แก้ให้มันดีขึ้นก็ได้ เราจะต้องไปแก้ไข แต่ว่าจิตใจนั้นมีความเชื่อในเรื่องเก่าๆ ซึ่งไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่ตัวศาสนา แต่รับช่วงกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ ที่รับมาเรื่อยๆด้วยความงมงาย รับมาไว้ วุ่นวาย ชีวิตไม่ค่อยจะเรียบร้อย ในครอบครัว เพราะมีปัญหาทางจิตใจบ่อยๆ มีอะไรเกิดนิดเกิดหน่อยก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว ไม่สบายใจแล้ว ได้พระพุทธรูปมาองค์หนึ่ง แล้วก็ไปตั้งที่บ้าน ก็ไปปรึกษาว่า จะตั้งอย่างไรดี หันหน้าไปทิศไหนดี บอกว่าเพราะว่าทิศตะวันตกนี่ไม่ดี ทิศนั้นก็ไม่ดี ต้องหันหน้าไปทิศตะวันออก ความไม่รู้ คนก็พูด ก็บอกว่าตั้งพระต้องหันหน้าไปทิศตะวันออก ถ้าหันหน้าไปทิศอื่นไม่ได้ บอกว่านั่นละคนโง่พูด พวกปัญญาอ่อน ไม่ใช่คนฉลาดอะไร
ก็พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้นั่งทิศเดียว ท่านนั่งหันหน้าไปทิศเหนือบ้าง ไปทิศใต้บ้าง ทิศตะวันตก ทิศตะวันออกไปอีสานไปพายัพ ไปทักษิณ ได้ทั้งนั้น สุดแล้วแต่เหตุการณ์ ไปถึงท่านนั่ง คนนั่งทิศไหน ถ้าคนนั่งด้านทิศตะวันตก ท่านก็ผินไปทิศตะวันตก ทีนี้ถ้าคนหันทิศตะวันตก พระองค์ไม่นั่งผินหน้าทิศตะวันตก หันหน้าไปทิศตะวันออก แล้วจะพูดกันยังไง คนฟังอยู่ด้านหลัง นั่งพูดอยู่อีกด้านหนึ่งแล้วจะสอนกันได้อย่างไร นี่คือความ …… (42.32 เสียงไม่ชัดเจน) แท้ ๆไม่ได้เรื่องอะไร มันเป็นความรู้ชนิดหนึ่งที่เรารับช่วงกันมาอย่างนี้นะ อันนี้เราเข้าใจว่าพระพุทธรูปนี่เป็นสิ่งแทนคุณธรรม แทนความงามความดีของพระพุทธเจ้า เราจะตั้งหันหน้าไปทิศไหนก็ได้ นี่ศาลานี้ พระพุทธรูปหันหน้าไปทิศตะวันออก ในโบสถ์กลับกันตะวันตกนะ พระพุทธรูปในโบสถ์ผินหน้าไปทิศตะวันตก คนก็มา บอกพระวัดนี้หันหน้าไปทิศตะวันตก อาตมาถามว่า แล้วทำไมหันหน้าไปทิศตะวันตกแล้ว …… (43.07 เสียงไม่ชัดเจน) มันจะตายโหงตายห่าอะไร บอกว่ามันไม่ดี มันไม่ดีมันอยู่ที่คน ไม่ใช่อยู่ที่พระผินหน้าไปไหน แล้วก็อธิบายให้ฟังว่า พระพุทธเจ้าท่านหันหน้าไปรอบทิศนะ ท่านไม่ได้ถือเรื่องเหล่านี้ ท่านไม่ได้ถือ คนมันไปถือเอานิดเดียว คือวันตรัสรู้ พระพุทธเจ้านั่งผินพระพักตร์ไปตะวันออก ไปด้านทิศตะวันออก ทีนี้การที่นั่งผินพระพักตร์ไปทิศตะวันออก ไปดูแล้ว ดูที่ต้นโพธิ์แล้ว ทิศตะวันออกทิวทัศน์มันสวยกว่า เห็นแม่น้ำ สมัยก่อนมันไม่มีบ้านคน ไม่มีสลัมไปสร้างอยู่บริเวณนั้น มันโล่ง มองเห็นแม่น้ำ แล้วแม่น้ำก็น้ำมากนะ นั่งดูแม่น้ำนี่มันสบายนะ คนเรานั่งไปเห็นแม่น้ำ สบายใจนะ คนอยู่ริมแม่น้ำ ใครปลูกบ้านหันหลังให้แม่น้ำบ้าง เอาบันไดไว้ข้างหลังบ้าน ไม่ค่อยมีหรอก เขาไว้หน้าบ้าน มาเรือ มาขึ้นหน้าบ้าน แล้วเดินอ้อมไปขึ้นด้านหลังนึกว่าเป็นผี เขาก็สร้างหันหน้าไปแม่น้ำ มีหน้าต่าง มีเฉลียง นั่งเปิดแล้วก็ดูกระแสน้ำ ไหลเอื่อยๆบ้าง ไหลเชี่ยวบ้าง เห็นผักตบลอยน้ำบ้าง มันเป็นแบบเรียนทั้งนั้น แบบเรียนของชีวิต นั่งดูมันก็เกิดความเพลิดเพลิน พระองค์ก็นั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศนั้น กลางวัน ครั้งกลางคืนมันก็ไม่เห็นน้ำ แล้วก็สงบ พิจารณาเรื่องอะไรต่ออะไร จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตอนนี้คนมันถือเอา ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ผินหน้าไปทิศตะวันออก เวลาจะตั้งพระ ก็ต้องพยายามให้ผินหน้าไปทิศตะวันออกอยู่ตลอดเวลา บางทีมันขัดกับสถานที่ มาไปถึงบอกว่าทำไมจัดอย่างนี้พระพุทธรูป ต้องผินหน้าไปทางทิศตะวันออก บอกมันไม่ได้ มันขัดกัน ดูมันไม่สวย หันใหม่ ก็ต้องหันกันใหม่อีกทีหนึ่ง มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้การเชื่อ …… (45.12 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่เนื้อแท้ เป็นเปลือก แต่เราเก็บมาเชื่อ แล้วก็กลัวไป วิตกกังวลไปด้วย ประการต่างๆ อะไรเกิดขึ้นก็มองไปในแง่ร้าย แล้วเอามาวิตกกังวล ทำให้เกิดเป็นทุกข์ทางใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นโรคประสาทกันไปตามๆกัน คนเป็นโรคประสาท เกิดจากความเชื่องมงายมีไม่ใช่น้อย เกิดจากความยึดถือในเรื่องที่ไม่เป็นสาระมีอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นจึงอยากจะขอบอกญาติโยมทั้งหลายว่า ความเชื่อประเภทใดที่มันไม่ตรงกับหลักพระพุทธศาสนา ตัดๆทิ้งไปเสียบ้าง อย่าเอามายึดถือเป็นอารมณ์อย่าไปกลัวสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมันไม่เข้าเรื่องอะไร เราจะได้อยู่สบาย ไม่ต้องทุกข์ร้อนกับเรื่องปัญหาที่ไม่เข้าเรื่องอย่างนั้น …… (46.08 เสียงไม่ชัดเจน) เรียกว่าเป็นความเชื่อไม่เข้าเรื่อง เอามาฝังไว้ในหัว แล้วก็เกิดความทุกข์ทางใจด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทีนี้จะทำอะไร เรามักจะวิตกกังวลว่า จะดีหรือไม่ดี เรามาเอาพระพุทธเจ้าว่าดีกว่า พระพุทธเจ้าว่าอย่างไร ทรงบอกว่า เมื่อสิ่งนั้นมันถูกต้องเป็นประโยชน์แล้วมันดีทั้งนั้น ทำเวลาไหนก็ได้ ทำอะไรทำได้ทั้งนั้น ถ้ามันดี มันถูกต้อง ไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์เพื่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ มันก็ทำได้ทั้งนั้น ทำไปเถอะ ไม่ต้องไปนั่งรออยู่ว่า ต้องวันที่นั้น ต้องวันที่นี้ ต้องเวลานั้นต้องเวลานี้ แล้วถ้าเราจะไป สมมุติว่าคนจะไปจดทะเบียน …… (46.57 เสียงไม่ชัดเจน) ที่กระทรวงมหาดไทย แล้วก็ดันไปถามหมอว่า ถามหมอว่าต้องไปจดเวลาเท่านั้น ขับรถเกือบตาย ตอนแปดโมง จอแจนะ รถมันจอแจ ถ้าเราไปต้องรีบขับนะ รีบขับไปเพื่อให้ทันเวลา อาจจะเกิดอุบัติเหตุก็ได้ เพราะว่าจะไปให้ทันเวลา แล้วก็ถ้าไม่ทันเวลาเป็นทุกข์ …... (47.21 เสียงไม่ชัดเจน) เวลาไม่ค่อยดี มันก็แย่ ไอ้คนมันแย่อยู่แล้ว …… (47.27 เสียงไม่ชัดเจน) มันก็แย่ต่อไป มันโง่นะ ไม่ใช่เรื่องอะไร อันนี้ถ้าเราไม่ถืออะไร เราก็ไปตามสบาย ไปถึงก็ขึ้นไปจดเท่านั้น จดแล้วมันก็หมดเรื่องไป ไม่ต้องรอว่า ต้องเวลา ๘.๓๙ นาทีถึงจะจด มันไม่ให้จดนะเวลานั้น เจ้าหน้าที่มันยังไม่พร้อม ก็แปดครึ่งเปิดนี่ เก้านาทีมันทำอะไรไม่ได้หรอก ทำอะไรไม่เสร็จ มันไม่ทันหรอก เวลานั้น ก็ต้องไปรอกันก่อน ได้เวลาเหมาะก็จดกันเลยแล้วกัน ไม่เห็นจะลำบากยากเข็ญอะไร
โรงเรือนที่จะสร้างตอกเข็มแล้ว ก็ตอกเมื่อวันที่เก้า เพราะว่าเครื่องมันเสร็จวันนั้นพอดี วันนั้นไปถามตอนวันที่แปด ไปถามเมื่อไหร่จะตอกได้ พรุ่งนี้ตอกได้แล้ว เครื่องพร้อมแล้ว พร้อมแล้วก็ตอก ไม่ต้องไปรออะไร ฉันสั่งให้ตอก ก็ตอกได้แล้ว แล้วเขาก็ตอกโครมๆลงไปแล้วเวลานี้ ไปยืนดูเขาตอกมา เข็มนี้มันเข้าที เข็มกลมนี่มันตอกดี ไม่ต้องเถียงกันกับเครื่องตอกเข็ม ไม่เหมือนเข็มไม้ หัวมันเล็กไปบ้าง มันคดบ้าง งอบ้างนะ แล้วก็สร้างโรงเรือนนี่ เข็มไม้ หลุมหนึ่งสามสิบสองต้น ต้องมาคัดไม้ทิ้งเยอะแยะ เพื่อมากองไว้ ไอ้คนตอกเข็ม ก็มันรำคาญเราคัดออกมาก ไอ้เรามันก็เอาของดี จะให้มั่นคงนะ ไม่ใช่เรื่องอะไร มันก็จะตอกให้เสร็จๆ เราก็ไม่ได้ ไม้มันไม่ดี มันคด ตอกแล้วมันจะไปยังไง มันไม่ …… (48.59 เสียงไม่ชัดเจน) ลำบาก เอาเข็มไม้ลำบาก แต่ว่าเอามันอย่างนั้นก็ต้องตอกจนจบ …… (49.04 เสียงไม่ชัดเจน) โรงเรือนนี้ เรียบร้อยอยู่เพราะว่าควบคุมการก่อสร้างดี พอจะสร้างกุฏิหลังโน้นไม่เอาเข็มไม้แล้ว เอาเข็มซีเมนต์ดีกว่า ก็ไม่ต้องเถียงกัน หัวกับปลายมันก็เท่ากัน ตอกลงไปก็แล้วกัน ตอกไม่ได้ดูฤกษ์ เขาถามว่าหลวงพ่อจะให้ตอกเมื่อไหร่ แล้วเธอพร้อมหรือยัง พร้อมแล้ว ก็ตอกเลย แล้วก็ตอก ตอกแล้วมันก็สร้างเสร็จเรียบร้อย มันอยู่ที่เงิน ถ้าเงินไม่มี …… มันก็ไม่ได้เรื่อง สร้างไม่เสร็จหรอก อันนี้ ตอกเข็มโรงเรือนก็เหมือนกัน ตอกได้แล้ว
พรุ่งนี้วันที่เก้าตอกได้ ตอกเวลาไหนก็ได้ เธอตอกเถอะ มันก็ตอกตามเวลาของเขา นี่ก็ตอกโครมๆอยู่ ตอกไปเรื่อยๆ แต่ว่าคนที่ตอก ……(49.53 เสียงไม่ชัดเจน) เอาไหม มันช้าหลวงพ่อ มันต้องเอามาอีกสักตัวหนึ่ง ตอกได้ไวหน่อย เดี๋ยวจะสร้างไม่ทันเวลา เดือนพฤษภาคมศกหน้า ว่าอย่างนั้น มันจะยุ่งเหมือนกัน บอกว่า มันก็เสร็จแล้วมันไม่มีจะตอก มันตอกไปตามเรื่อง ตอกไปเรื่อยๆ เข็มมันส่งไม่ทันเอง มันตอกไว ตัวแรกตอกลงไปมันวื๊ด ลงไว ลงไปไว แต่พอตัวที่สองมันลงช้า ปื๊ด ปื๊ด อันนี้ต้องนั่งนับดูว่า ฟุตหนึ่งตอกกี่ที ก็นั่งนับ เขาขีดไว้เป็นวงๆฟุตหนึ่งตอกยี่สิบเอ็ดครั้ง ดินแข็ง ไม่ค่อยไหว บางแห่งฟุตหนึ่งตอกสี่สิบครั้ง ย้อนสี่สิบครั้งถึงจะลงไปได้ หนึ่งฟุต …… (50.42 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ค่อยไหว ยังพอไปได้ แต่ว่าดูแล้ว ฟื๊ด มันไม่ค่อยลง …… (50.49 เสียงไม่ชัดเจน) เรียบร้อย อาตมาก็ยืนดูเขาตอก ตอกอย่างไร ศึกษาไป ถามเขา ว่าทำไมถึงขีดขาวๆ มันเป็นระยะฟุตหนึ่ง แล้วก็ตอกลงไปมันต้องคอยนับว่ากี่ทีจึงหมดขีดหนึ่ง พอนับได้ ยี่สิบเอ็ดครั้ง …… แผ่นดิน (51.04 เสียงไม่ชัดเจน) เรียกว่าไม่เหลือไม้แข็ง ตอกพอสบาย ทำอย่างนั้น เขาก็ทำไปตามเรื่องนะ มันไม่ต้องดูฤกษ์ดูยามอะไร ถ้าเราไปดูแล้วมันเกิดวิตกกังวล ทำไม่ถูกฤกษ์ก็วิตกกังวล แหมพ้นฤกษ์ไปเสียแล้ว แต่งงานกัน พ้นฤกษ์รดน้ำ พ้นฤกษ์ มันไม่มีอะไร แต่งไปเถอะ ถ้าว่ามันพร้อมแล้ว มาแต่งที่วัดนี่ดี ไม่จ่ายสตางค์มากเท่าใด มาแต่งหลายคู่แล้วนะ พวกที่บวชวัดนี้ มันออกไปแล้ว มันมาแต่งงาน มาที่นี่ หลวงพ่อให้โอวาท ไม่มีอะไร หลวงพ่อให้โอวาทก็แล้วกัน เรื่องอื่นไม่จำเป็น มันก็เรียบร้อยนะ เราเพาะเชื้อแห่งความถูกต้องไว้ในจิตใจมันแล้ว เมื่อเวลาบวช มันก็สบายไม่ต้องยุ่ง ไม่สิ้นเปลือง อันนี้แต่งกันเสร็จแล้วไปนอนก่ายหน้าผากเรื่องหนี้สินดอกเบี้ย มันจำเลยนี่แต่งงาน กว่าจะหลุดไปได้ มันก็เยอะ เป็นทุกข์ แต่งงาน เรื่องมันอย่างนี้
ความเชื่อที่ไม่เข้าเรื่องทำให้เป็นปัญหา เราอย่าไปเชื่อ แต่เรานึกว่าสิ่งนี้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าไม่ติเตียน ผู้รู้ทั้งหลายรับรองว่าเป็นความดีความชอบ แล้วก็ทำได้ ตลอดไป ทำไปด้วยความตั้งใจดีงาม ไม่ต้องวิตกกังวลว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่มันเกิดมันต้องดี ถ้าเราทำดี ทำถูกมันก็ต้องเกิดสิ่งถูกต้อง แต่ถ้าเราทำผิดมันก็ต้องเกิดสิ่งที่เป็นความผิดเป็นความเสียหาย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นญาติโยมพุทธบริษัทที่ได้มาฟังธรรม ที่วัดชลประทานนี้บ่อยๆ ก็ให้เข้าใจถูกขึ้น สิ่งใดที่มันไม่จำเป็นก็ลบทิ้งไปซะมั่ง เอาเท่าที่จำเป็น เหลือแต่สิ่งที่มันจะเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความจำเริญในทางจิตใจของเรา เราจะได้อยู่กันด้วยความสุขความสงบ แล้วก็อย่าลืมว่า หน้าที่ของเราจะต้องรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ให้เจริญงอกงามอยู่ในจิตใจต่อไป ถ้าทุกคนรักษาไว้ในใจ ให้เจริญอยู่ในใจ ให้มั่นอยู่ในใจก็เรียกว่าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างประพฤติปฏิบัติ มันก็เจริญนั่นละ จิตใจก้าวหน้า ไม่มีเรื่องปัญหาเกิดขึ้นในชีวิตด้วยประการใด ดังที่ได้แสดงมา ก็เป็นเครื่องชี้แนะแนวทาง เตือนสติและจิตใจ แก่ญาติโยมทั้งหลาย ที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่การเวลา ขอยุติการแสดงปาฐกถาไว้ แต่เพียงนี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยม นั่งสงบใจ เป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา เสร็จแล้วก็หายใจเข้า กำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ อย่าให้จิตฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ให้นึกอยู่แต่ลมเข้า ลมออก เป็นเวลา ๕ นาที