แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในความสงบ อย่าเดินไปเดินมา นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่จะสามารถได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ชีวิตของเราได้ผ่านพ้นมาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงอาทิตย์วันนี้ อาทิตย์หน้าก็เป็นเดือนใหม่ต่อไป วันเวลานั้น มันเปลี่ยนไปตามการโคจรของดวงดาวในท้องฟ้า โลกเราไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการหมุนอยู่รอบตัว หมุนเคลื่อนไปรอบดวงอาทิตย์ สิ่งทั้งหลายไม่หยุดนิ่ง ถ้าหยุดนิ่งก็เรียกว่าตาย เช่น คนเรานี่มันก็เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุด หยุดเมื่อไรก็เข้าหีบกันเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงกันไปตามเรื่องตามราว บางคราวก็เป็นสุข บางคราวก็เป็นทุกข์ บางคราวก็ได้ยิ้มหน้าบาน แต่บางคราวก็สูญเสีย เราก็ไม่สบายใจ การอยู่อย่างนั้น เรียกว่าอยู่ด้วยการเป็นทุกข์ พระพุทธศาสนาสอนในเราอยู่ในโลกโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ การที่จะไม่เป็นทุกข์ก็ต้องเรียนรู้ธรรมะ อันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ให้รู้ว่าธรรมชาติมันมีสภาพอย่างไร เราควรจะสนใจศึกษาทำความเข้าใจไว้ เพราะฉะนั้นญาติโยมมาวัดก็มาเพื่อปัญญา เพื่อเป็นคนมีหูตาสว่าง มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง
ที่วัดชลประทานฯ เรานี้มีหลักการณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ความจริงก็ไม่ใช่หลักการของวัดชลประทานฯ แต่เป็นหลักการของอาตมาโดยเฉพาะ ว่าจะเทศน์สอนคนให้มีปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง แล้วก็ได้สอนมาโดยลำดับ ตั้งแต่หนุ่มจนอายุ ๗๑ ขวบเต็ม ๗๒ ย่าง ก็สอนอย่างดียวกัน โดยสอนคนให้รู้ให้เข้าใจให้ฉลาดในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ไม่มีวิธีการอันใดที่จะทำคนให้มืดให้งมงาย ให้ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เคยพูดเคยกระทำตั้งแต่บวชมาในพระศาสนานี่ ก็ตั้งใจตลอดเวลาว่าจะนำคนชาวพุทธ ให้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง ให้สมชื่อว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้ที่มีความเบิกบานแจ่มใสอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงเทศน์สอนเพื่อให้เกิดความรู้ ให้เกิดความตื่น ให้เกิดความเบิกบานแจ่มใส
แต่ว่าการเทศน์การสอนนั้น บางทีมันก็เป็นที่ไม่พอใจของคนบางประเภท ที่ไม่ยอมทำตนเป็นคนฉลาด ไม่อยากจะเป็นคนที่หายโง่ หายงมงาย ว่าได้ฟังแล้วก็เกิดไม่ชอบอกไม่ชอบใจในเรื่องอย่างนั้น ก็เอาไปบ่นไปว่ากันไปตามเรื่อง บางครั้งบางคราวก็ขยันเขียนบัตรสนเท่ห์ แต่ไม่เคยใช้ชื่อจริง ไม่กล้า คนกล้ามันต้องบอกชื่อจริง สถานที่แน่นอน จึงจะได้บอกขอบอกขอบใจได้ แต่ความจริงเขาด่าทีไร ขอบใจทุกที แต่มันก็ขอบใจลม ๆ แล้ง ๆ ไปอย่างนั้นเอง ไม่สามารถส่งคำขอบใจไปที่ผู้เขียนได้ เพราะผู้เขียนยังคนทำตนเป็นไอ้โม่งคลุมหน้าตลอดเวลา ก็เลยไม่รู้จะขอบใจอย่างไร ความจริงนั้น เขาเตือนให้ อาตมาไม่เคยโกรธ เพราะถือว่าคำเตือนนั้นเป็นการที่บอกขุมทรัพย์ให้ ทำให้เราได้รู้ตัวเอง มองตัวเองชัดเจนขึ้น แต่มันจนปัญญาตรงที่ผู้เตือน ไม่เปิดเผยตัวเองนี่เอง จึงใคร่จะพูดไว้ในที่นี้ ในหนังสือที่พิมพ์ออกไปว่า ใครจะด่าจะเตือนท่านปัญญานันทะ โปรดใช้ชื่อจริง แล้วจะได้บอกขอบใจด้วยถ้อยคำสุภาพนิ่มนวล ไม่ได้โกรธได้เคืองอะไร ความจริงมันเป็นเช่นนั้น เพราะอาตมานี่สอนธรรมะ จะต้องทำใจนี่ให้เป็นธรรมด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เพียงแต่จะพูดสอนเขา เรามันไม่ได้เรื่อง ทุกครั้งที่สอนอะไรออกไปแล้ว ต้องมองดูตัวเองว่าเราบกพร่องในเรื่องนั้นหรือเปล่า ถ้ารู้สึกตัวว่ามันบกพร่อง ก็ปรับปรุงอยู่ตลอดมา เพื่อให้มีความคิดสมบูรณ์ มีการพูดสมบูรณ์ มีการทำที่สมบูรณ์ถูกต้องเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนี้ได้ปฏิบัติตนเสมอมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นที่เห็นว่าอาตมาทำอะไรที่มันไม่เหมาะไม่ควรก็บอกได้ มาพูดได้ ไม่บาปไม่เวรอะไร
บางทีเราเกรงใจพระ เป็นพระทำอะไรไม่เหมาะ กลัวจะเป็นบาป การไปบอกนั้นแหละไม่เป็นบาป แต่จะเป็นบุญเป็นกุศล เพราะว่าเราเตือนให้สติพระ พระก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์ทุกเวลา มีเผลอได้ ประมาทได้ เราก็ไปกราบเรียนเตือนท่าน ก็เป็นการทำบุญกุศลอย่างยิ่ง ในการกระทำเช่นนั้น ไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าเราไม่เตือน แต่เก็บไว้ในใจมันเป็นหนามยอกอกเสียเปล่า ๆ ไม่ได้เรื่องอะไร
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พุทธบริษัท คอยบอกคอยเตือนแก่กันและกัน เช่นอุบาสก อุบาสิกาก็ต้องเตือนกัน อยู่ในครอบครัวเดียวก็ต้องเตือนกัน ร่วมงานร่วมการกันก็ต้องแนะนำตักเตือนกัน เรามีโอกาสเห็นใครทำอะไรผิดไม่เหมาะไม่ควร เราก็ควรจะบอกจะเตือนกันให้เขารู้ การเตือนนั้นเขาเรียกว่าเป็นความเอ็นดูกรุณา จะพึ่งกระทำ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จิตอันได้ที่ตถาตคผู้มีความเอ็นดูกรุณาจะพึงกระทำต่อศิษย์ ตถาคตทำแล้วอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ไม่มีอะไรบกพร่องเลยแม้แต่น้อย อันนี้เป็นหลักที่น่าเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นเราเป็นพ่อแม่จะต้องคอยตักเตือนลูกตลอดเวลา เป็นครูก็ต้องคอยตักเตือนศิษย์ เราเป็นนายเขา เราก็ต้องแนะนำตักเตือนเขา ไม่ใช่ทำงานแล้วก็เป็นใช้ได้ คนเราถ้าจิตใจมันไม่ดี งานมันก็ไม่ดี ทำให้ผลประโยชน์เสียหาย เรานั้นเมื่อเห็นมีอะไรบกพร่อง ก็เรียกมา แค่คิดบอกเตือนให้รู้สึกตัว ให้กลับจิตกลับใจ เข้าหาคุณงามความดี อันนั้นเป็นการช่วยเหลือกันในทางที่ถูกที่ชอบ
ประชาชนก็เหมือนกัน เมื่อเห็นว่าผู้บริหารประเทศชาติ ทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร เขาก็เขียนเตือนไป เช่นว่าเตือนทางหนังสือพิมพ์ เขียนเป็นจดหมายถึงบรรณาธิการ ปรารภเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันนี้มันเป็นเรื่องระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่ เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ ใครจะเข้ามาบริหารประเทศชาติ ผู้ที่เป็นประชาชนก็ต้องเตือนด้วยความปรารถนาดี ช่วยกันติเพื่อก่อ เพื่อให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น ประเทศใดที่ชนในชาติไม่ละเลยเพิกเฉยหน้าที่นี้ ประเทศนั้นจะเจริญก้าวหน้า เพราะว่าทุกคนคอยดูว่าใครทำอะไร เหมาะหรือไม่เหมาะ ดีหรือไม่ดี เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็หาทางตักเตือนแนะนำไป ทางหน้าหนังสือพิมพ์อะไรต่าง ๆ นั่นและคือการช่วยกันปรับปรุงสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้มันถูกต้อง ให้เข้าทำนองครองธรรมต่อไป เป็นกิจที่เราควรจะช่วยกันกระทำ แต่ถ้าเราคิดว่าธุระไม่ใช่ มันคิดไม่ถูก ไอ้เรื่องธุระไม่ใช่นี่มันไม่ถูกต้อง เราจะต้องถือว่าเป็นธุระ ที่เราต้องจัดต้องทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เราทำเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม เพื่อให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น เป็นกิจที่จะต้องทำอยู่เสมอ ใครทำได้ก็ควรทำ ได้โอกาสใดที่ควรทำเรื่องอะไร อันจะเป็นเครื่องสติ เตือนจิตใจ ให้คมให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ เราจะต้องช่วยกันเท่าที่เราจะช่วยได้ ถ้าช่วยกันในรูปอย่างนี้ ก็เท่ากับเราให้สิ่งประเสริฐแก่คนเหล่านั้น คือให้ความมีสติ ให้มีปัญญา ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นคนไม่ประมาทในการดำรงชีวิต เป็นการปฏิบัติชอบอย่างหนึ่ง ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
อาตมานี่เป็นพระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งที่มีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา จึงได้ตั้งจิตอธิฐานมาตั้งแต่หนุ่ม ว่าชีวิตนี้จะมอบถวายเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จะทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ด้วยการเทศน์สอนคน คราวนี้การเทศน์สอนคนของอาตมานั้น ไม่ได้เทศน์ธรรมดา ๆ แต่มีหลักการใหญ่ว่า เทศน์แก้คน เทศน์เพื่อแก้คน แก้อะไร ? แก้ความหลงผิด แก้ความเข้าใจผิด แก้ความงมงาย แก้สิ่งที่ไม่รู้ให้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นปณิธานที่ตั้งไว้ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานเทศนาสอนคนมาโดยลำดับ ในสมัยก่อนเมื่อพรรษาเริ่มเป็นนักเทศน์ ก็เริ่มตั้งใจอย่างนั้น ว่าเทศน์เพื่อแก้ เพื่อดัดแปลงสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไปเทศน์ที่ไหนก็ต้องศึกษาหาข้อมูล หาความบกพร่องในสถานที่นั้นๆ เช่นว่าเขานิมนต์ไปเทศน์ที่วัดใด อาตมาต้องพยายามไปเดินดูตามบริเวณวัดว่ามันมีอะไรบกพร่องในวัดนี้บ้าง พยายามคุยกับประชาชน เพื่อให้รู้ว่าเขาทำอะไรกัน เขาใช้เงินเท่าไหร หมดเปลืองไปเท่าไหร เวลาเทศน์ก็จะได้มีข้อมูล สำหรับที่จะไปเทศน์แก้ไขปรับปรุงสิ่งซึ่งเข้าทำไว้ ให้เป็นการถูกต้องขึ้น เช่น เขานิมนต์ไปเทศน์ในงานศพ ถ้าเป็นพระอื่นก็ไปเทศน์ยกย่องเจ้าภาพว่าเป็นผู้มีศรัทธา มีความกตัญญูกตเวที ได้เสียสละทรัพย์เป็นอย่างมากเพื่อสนองคุณมารดาบิดา เขาก็เทศน์อย่างนั้น เจ้าภาพก็นั่งยิ้มสบายใจ เทศน์ให้ความสบายใจ อย่างนี้เขาเรียกว่าเทศน์เพื่อให้เกิดบุญแก่ผู้ฟัง
อาตมามันไม่มีหลักการณ์อย่างนั้น แต่มีหลักการณ์ว่าเทศน์เพื่อให้เป็นกุศล ไม่ได้ให้เป็นบุญ ไอ้เทศน์เป็นบุญนี่คือเทศน์ให้เจ้าภาพสบายใจ แต่ว่ามันไม่เป็นกุศล คือไม่มีปัญญาเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ฟัง เมื่อเขาฟังว่าท่านเทศน์อย่างนั้น เขาเรียกว่า ไอ้สิ่งที่เราทำถูกต้อง พระท่านยังชมเลย ว่าเราเป็นคนเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ แต่ว่าเสียสละไปในทางฉิบหายเท่าใดนั้น พระไม่เคยพูดสักคำเดียว ไม่ได้แนะไม่ได้เตือนในเรื่องอย่างนั้น คนจึงทำอะไรเหมือน ๆ กัน ในทางที่สูญเสียเงินทอง โดยไม่เกิดประโยชน์จากการกระทำไม่ใช่น้อย เช่นทำงานศพนี่ มันเสียเงินกันมากมาย หมดเงินไปตั้งหลายหมื่น บางศพก็ต้องแสน แต่ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ไม่มี นอกจากเป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮา เลิกงานแล้วขยะก็เต็มวัด พระเณรก็ต้องกวาดกันต่อไป อะไรที่มันจะเกิดทางคุณค่าทางจิตใจมันไม่ค่อยมี อาตมามองเห็นสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว เป็นคนที่เรียกว่าทนไม่ได้ ที่จะเห็นญาติโยมต้องตกต่ำเสียหาย ในทางทรัพย์สมบัติและจิตใจ ไอ้สูญเสียทรัพย์นี่ไม่เสียดายแต่ว่าสูญเสียปัญญานี่มันเสียดาย สูญเสียคุณค่าแห่งความเป็นพุทธบริษัทนี้ อาตมาไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นจึงเทศน์ให้เขาฟัง ไม่ได้เทศน์รุนแรงหรอก แต่ว่าเทศน์ชี้แจงว่าที่ถูกที่ต้องมันควรจะเป็นอย่างไร ควรจะทำกันอย่างไร ไอ้ที่ทำไปแล้วก็แล้วไป มันแก้ไม่ได้แล้ว แต่ว่าต่อไปข้างหน้า ใครจะทำศพ ควรจะปรารภทำอย่างไร ควรจะแก้ไขตัวเอง มีงานศพในรูปใดบ้าง เพื่อให้เขาได้คิด ได้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เทศน์อย่างนี้ ในการเทศน์อย่างนี้ พอเทศน์จบลงไปแล้ว เขาว่า "ไปนิมนต์เจ้าคุณนั้นมา แกด่าเราทุกที (หัวเราะ)" มันจึงเป็นอย่างนี้ ที่เราสอนเขากลับหาว่าด่า ไอ้ชมนะเขาหาว่า เอ๊ะ! ตาองค์นี้เขาพูดดี แต่ว่ามันไม่ได้อะไร เราชมให้เขารู้ ให้เขาหลง ให้เขางมงาย มันได้อะไรขึ้นมา ท่านนักเทศน์เหล่านั้น ขอโทษเถอะ คือท่านไม่ได้เทศน์เพื่อธรรมะ แต่เทศน์เพื่อเครื่องกัณฑ์อย่างเดียว โยมพอใจก็ติดหน้ากัณฑ์กันมาก ๆ กลับวัดก็ได้สบายใจ
อาตมานี่ไม่เคยคำนึงถึงกัณฑ์เทศน์ว่าจะได้เท่าไหร มันไม่เคยคิดอย่างนั้น สมัยหนุ่ม ๆ คิด เดี๋ยวนี้มันเลิกคิดหลายปีแล้ว คิดแต่ว่าจะสอนเท่านั้น สอนให้เขาฟัง ให้เขาเข้าใจ เทศน์แล้วเขาจะด่าก็ไม่ว่า แต่ขอให้พูดให้เขาเข้าใจ แล้วก็พูดอย่างตรงไปตรงมา ทุกงานก็พูดอย่างนั้น ไม่ได้กลัวว่าวันหลังเขาไม่นิมนต์เทศน์ ทว่าเขาก็ยังนิมนต์อยู่ เช่นว่า ไปเทศน์จังหวัดนั้นก็ไปว่าเขาไว้ วันหลังเขาก็มานิมนต์อีก นายอำเภอนั้นแหละ ถามว่า "ไปด่าวันก่อนไม่โกรธหรือ ?" บอกว่า "มันดีครับ ชอบ ควรจะด่าเสียบ้าง" เขาก็ยังชอบอยู่นะ ไม่ได้ปิดประตูไม่ให้พูดเมื่อไหร เพราะว่า "ดี ท่านมาเทศน์นะดี องค์อื่นมาเทศน์ ไม่ค่อยสอนคนเท่าใด" เขาก็ยังชอบ คนก็ยังนิมนต์อยู่ แสดงว่าคนฉลาดมันก็มีอยู่เหมือนกัน ในหมู่บ้านนั้น ในตำบลนั้น ก็ต้องไปเทศน์ไปสอนกันต่อไป
เมื่อคืนเขาก็นิมนต์ไปเทศน์งานบวชนาค เป็นร้านอยู่ติดขอบรถเข้ารถออก แต่คนก็นั่งฟังกันพอสมควร ก็ไปอธิบายให้เข้าใจว่าที่วัดชลประทานฯ นี่เขาบวชอย่างไร ชี้ให้ดูว่าถ้าบวชที่วัดชลประทานฯ มันไม่มีไอ้สิ่งเหล่านี้ ไม่มีสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่มีพิณพาทย์บรรเลง ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยพะลุงพะลัง (ไม่ยืนยันตัวสะกด) ที่จะมากมาย แล้วก็ผ้าไตรนี่ก็เป็นผ้าไตรที่ใช้ได้ ไม่ใช่ไปซื้อสุ่มสี่สุ่มห้ามาแล้วเอามาบวชกัน ไม่ใช่อย่างนั้น พูดให้เขาเข้าใจเรื่องว่าควรจะบวชควรจะทำอย่างไร แล้วก็สอนคนบวชว่าจะต้องศึกษาต้องปฏิบัติขัดเกลา ไม่ใช่บวชไปเพิ่มน้ำหนักเนื้อหนัง เพราะว่าถ้าบวชแล้วนอนนี่ ออกไปมันเพิ่ม ๒-๓ กิโล แต่ถ้าบวชแล้วเรียนนี่ น้ำหนักตัวมันลด แต่ว่าคุณค่าทางจิตใจมันเพิ่ม อธิบายให้เข้าฟังอย่างนั้น เขาก็ไม่โกรธไม่เคืองอะไร ทั้ง ๆ ที่เขาทำฟุ่มเฟือย แต่เขามาบอกอย่างหนึ่งว่า "ที่งานนี้ไม่มีเลี้ยงสุรา หลวงพ่อว่าเมื่อครู่ที่ว่ามางานเลี้ยงสุรา ที่นี่ไม่มี เลี้ยงน้ำธรรมดา" บอกว่า "ถูกแล้ว ควรจะเลี้ยงอย่างนั้น เพราะเป็นงานบุญงานกุศล" แต่ก็บอกว่า "แห่นาคไปวัด อย่าแห่ให้มันขบวนยาว ติดขัดการจราจร คนไปคนมามันไม่สะดวก ไม่ต้องให้นาคขี่คอคน ให้เดินไปก็ได้ แต่ทว่าจราจรคับคั่ง นั่งรถดีกว่า ไม่ต้องเตรียมรถสามล้อ มาแห่ยาว ๓๐๐ เมตร จะทำให้จราจรติดขัด" แนะนำว่าอย่างนั้น ก็เห็นไอ้คันสัปประทุน (18.18) มันหลายคัน พวกนี้เรียกว่า คลุมเจ้านาค คลุมผ้าไตร ราวกับว่าผ้าไตรมันร้อนมันหนาวได้อย่างนั้นแหละ มันต้องกางร่มให้ด้วยนะ มันเรื่องอะไร แล้วก็เดินแห่กันไป นาคก็ต้องขี่คอ ไอ้นาคขี่คอคนนะ ใช่ว่าสบายเมื่อไร! มันไม่ได้ระบาย ลองเราขึ้นไปนั่งบนคอคนดู มันเดือดร้อนนะ แต่ว่าเขาชอบแบก แล้วคนแบกนั้นต้องเมาทั้งนั้น ไอ้คนปกติก็ไม่ค่อยแบกนาคเสียด้วย ก็เมาเดินโซซัดโซเซ บอกว่าจะไปวัด เมาเหล้าไป มันจะไปพบพระได้อย่างไร มันเอาผีไปเต็มใจแล้วจะไปพบพระได้อย่างไร ก็เทศน์สอนเขาในรูปอย่างนั้น เขาก็พออกพอใจ ยังบอกว่า คราวหน้ามีงานอะไร หนูจะนินมต์มาเทศน์อีก ขอให้หลวงพ่อมาอีก แม้บ้านเล็ก ๆ ก็ขอให้มา บอกว่าบ้านเล็กบ้านใหญ่ไม่สำคัญ มันสำคัญที่บอกให้มา แล้วก็มาได้ ถ้าว่างนะ ถ้าไม่ว่างมันก็มาไม่ได้ เขาก็พอใจ ไม่ใช่ว่าไม่พอใจ แต่ว่าเราที่เป็นนักบวชนี่ไม่ค่อยกล้า เท่านั้นเองไม่กล้าจะพูดสิ่งซึ่งเป็นความจริงให้คนฟัง ฉะนั้นคนฟังก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นความจริง นี่มันเป็นความผิดพลาดในวงการพระศาสนาของเรา ที่ไม่เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าของเรานั้น เกิดขึ้นมาในโลก เมื่อได้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว ก็ได้ทำลายความงมงาย ความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเชื่อทางไสยศาสตร์ หรือความเชื่อ อะไรที่มันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง หมดทุกอย่าง พระองค์ก็สอนให้ทำลายสิ่งเหล่านั้น ไม่ให้เชื่อในสิ่งเหล่านั้น แต่ว่าพระองค์ทรงพูดอย่างแยบคายให้คนรู้คนเข้าใจ เช่น คนไปถามพระองค์ว่าจะประกอบกิจอย่างนั้น จะทำเมื่อไหรดี ? พระองค์บอกว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมันก็ดีทั้งนั้นแหละ ไอ้ความดีมันอยู่ที่ความพร้อม ฤกษ์มันอยู่ที่ความพร้อม ประโยชน์มันอยู่ที่ความพร้อม ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างไม่พร้อม มันก็ทำไม่ได้ จึงต้องดูว่ามันพร้อมเมื่อใด พร้อมเมื่อใดมันก็ทำได้เมื่อนั้น ไม่ต้องไปนั่งดูดาวดูเดือนให้มันเสียเวลา เพราะถ้าไปนั่งดูอยู่ แล้วก็มันพร้อมแล้วก็ไม่ได้ทำ เพราะเนื่องไปดูสิ่งเหล่านั้น พระองค์ก็สอนเขาในรูปอย่างนั้น ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร
มีคนหนึ่งต้องการจะเปลียนชื่อ เขาบอกว่าชื่อเดิมนั้น ทางผู้เฒ่าบอกว่าชื่อเธอมันเป็นกาลกีนี ไม่ดี ให้ไปเปลี่ยน ไอ้คนนั้นก็ว่าจะชื่ออะไรดี มันต้องไปหาพระพทุธเจ้า ให้ท่านตั้งชื่อให้ พระองค์บอกว่า ฉันจะตั้งชื่อให้เธอมันก็ลำบาก เดี๋ยวเจอใครว่าไม่ดีอีกมันก็ต้องเปลี่ยนชื่ออีก เอาอย่างนี้ดีกว่า ให้เธอไปเที่ยวหาชื่อ จากคนที่เธอพบ แล้วพบชื่อใดเหมาะก็มาบอกฉันก็แล้วกัน แล้วก็ไป ไปพบคน ๆ หนึ่ง ผอมกะหล่อง เลยถามว่าชื่ออะไร ชื่อนายอ้วน แต่ว่าตัวผอมนะเหลือแต่ซี่โครง แต่ว่าชื่อว่านายอ้วน มันไม่ตรงความจริง ไอ้ตัวผอมแต่ชื่ออ้วน แล้วก็ไปพบคนอ้วน บอกว่าชื่อนายผอม มันตรงกันข้าม แล้วคนหนึ่งเดินหลงทางอยู่ แต่ว่าชื่อว่านายชำนาญทาง ถามว่าชื่ออะไร เขาบอกว่าชื่อชำนาญทาง ชื่อบาลีแปลว่าชำนาญทาง แต่เขาบอกว่ากำลังหลงทาง เอ๊ะ! ชื่อชำนาญทางแต่ว่าเดินหลงทาง มันก็ไม่ได้เรื่อง เขาพบชื่อ ๓ ชื่อนี้แล้ว เขาเปลี่ยนใจ มันไม่ได้สำคัญที่ชื่อ คนอ้วนแต่ว่าชื่อผอม แล้วคนผอมก็ชื่ออ้วน คนชื่อชำนาญทางทว่าเดินหลงทาง มันไม่อยู่ที่ชื่อแล้ว เลยก็ไม่ต้องเปลียนชื่อ ไปเฝ่าพระพุทธเจ้า ทรงถาม เธอได้ชื่อแล้วหรือยัง ข้าพระองค์บอกว่าไม่ต้องเปลี่ยนแล้วพะยะค่ะ เพราะข้าพระองค์ทราบแล้วว่ามันไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่มันอยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติของคนมากกว่า คนนั้นก็เข้าใจ เลยไม่ต้องไปเที่ยวเปลี่ยนชื่อให้มันวุ่นวาย นี่พวกเราบางทีก็เปลี่ยนชื่อกันบ่อย ๆ เปลี่ยนชื่อเพื่อให้เป็นมงคล มันไม่เป็นมงคล ชื่อนายมงคลมันก็ไม่ได้เรื่องนะ ถ้ามันทำชั่ว ชื่อนายอัปมงคลมันก็ไม่เสียหาย ถ้าคนนั้นประพฤติดีประพฤติชอบ
แต่ว่าความยึดถือ ในสิ่งที่สืบต่อ ๆ กันมา เขาเรียกว่าของโบราณ คนบางคนก็พูดว่า โบราณเขาถือกันมาอย่างนี้ โบราณขนาดไหน เก่าขนาดไหน ถ้าเอาโบราณจริง ๆ มันต้องเอาโบราณสัก ๒๕๒๕ ปี เรียกว่าโบราณหน่อย แต่ว่าบางทีไอ้โบราณมันมาไม่กี่ปีมานี่เอง โบราณเก่านี่มันของพระพุทธเจ้า ไอ้นี่โบราณแท้ ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ยังใช้ได้อยู่ เป็นสิ่งถูกต้อง แต่ว่าสิ่งบางอย่างนั้น มันไม่โบราณอะไร มันเป็นของใหม่ ๆ ที่คนสร้างขึ้น ทำขึ้น สมมุติขึ้น แล้วก็ให้คนไปกราบ ไปไหว้ ไปบูชาสักการะ อันนี้แหละที่น่ารำคาญ คือว่าเราเป็นพุทธบริษัท มีการศึกษาพระพุทธศาสนาถูกมาแล้ว แต่ว่าไม่เข้าใจลึกซึ้งเท่าใด เข้าใจยังไม่ลึกซึ่ง จิตใจยังไม่ปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากความหลงผิด เข้าใจผิดในสิ่งต่างๆ ก็เลยทำอะไรขึ้น เพื่อให้คนกราบไหว้บูชาสักการะ
อาตมานี่ไม่ค่อยพอใจในเรื่องนี้ คือว่าอาตมานี่เคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อเราเรียกตนเองว่าเป็นพุทธบริษัท เราก็ควรจะพึ่งไปที่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นที่ปรึกษาทางใจอย่างแท้จริงไม่ต้องไปเที่ยวปรึกษาสิ่งอื่น อันนั้นจึงจะเป็นการถูกต้อง
แต่ว่าเราช่วยกันสร้างสิ่งซึ่งไม่ใช่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาให้คนกราบไหว้บูชาสักการะ เช่นมีข่าวบ่อยๆ ว่าจังหวัดบางจังหวัดไม่มีหลักเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดก็วิ่งเต้นขนขวายไปสร้างหลักเมืองขึ้น แล้วก็โฆษณาว่าเพื่อเป็นหลักรวมจิตใจของประชาชน แล้วประชาชนชาติไทยที่มันอยู่มาได้นี่ มันอยู่กับเสาหลักเมืองหรือว่าจะอยู่กับอะไร เสาหลักเมืองเกิดเมื่อไหร เกิดขึ้นในสมัยใด มันน่าศึกษา ความจริงเราอยู่มาได้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เราเป็นพุทธบริษัทกันทั้งนั้น แล้วทำไมไปเอาสิ่งอื่นมาให้คนกราบคนไหว้ แทนสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระรัตนตรัย ที่มันถูกต้องอยู่ไหม ? ถ้าพูดกันตามความจริงแล้ว มันไม่ถูกต้อง แต่ว่าเขาทำขึ้นตั้งแต่สมัยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ไม่เข้าใจแล้วก็ทำกันขึ้น เพราะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาถูกต้อง ไม่ได้คิดให้ลึกซึ้งแล้วก็ทำสิ่งเหล่านั้นขึ้นในสมัยนั้น ก็ทิ้งไว้ ของโบราณเขาสร้างไว้ เช่น สร้างมาตั้งแต่สมัยสร้างกรุงเทพฯ เขาสร้างไว้ เว้นกรุงศรีอยุธยานี่แหละ นานไป เพราะพม่าข้าศึกมาโจมตี แล้วเวลานี้เจ้าเมืองก็พยายามไปสร้างเสาหลักเมืองขึ้น ในเมืองนั้น ไปสร้างเสาหลักเมืองขึ้นอีก มันไม่จำเป็นอะไร
เราควรจะส่งเสริมให้คนไปไหว้พระมงคลบพิตร แต่ให้ไปไหว้อย่างถูกต้อง ให้ไปไหว้อย่างผู้มีปัญญา ไม่ใช่ไปไหว้พระอย่างไสยศาสตร์ ไปไหว้อย่างผู้นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าเราไปไหว้แบบไสยศาสตร์ก็ไปสั่นติ้วหน้าหลวงพ่อ ไปบนบานศาลกล่าว ทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ ฝั่งโน้นหลวงพ่อมงคลบพิตร ฝั่งนี้หลวงพ่อวัดพนัญเชิง เรียกว่าเป็นพระองค์ใหญ่ที่ทำคนให้ไปไหว้เพื่อความโง่ความเขลาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ไหว้เพื่อปัญญา ไม่ได้มีใครไปนั่งสอนคนให้เกิดความรู้ความฉลาด เพราะว่าไม่คิดว่าจะให้คนฉลาด ให้คนโง่อยู่ต่อไป แล้วจะได้อะไรจากความรู้เหล่านั้น อย่างน้อยก็ได้ค่าไฟเซียมซี แบ่งกับโรงพิมพ์บ้าง นิด ๆ หน่อย ๆ พอสมควร อันนี้มันไม่เป็นการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา เพราะว่าไหน ๆ เราจะเป็นพุทธบริษัทกันแล้ว แล้วเราคุยอวดกันหนักหนาว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา เป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง แล้วทำไมเราไปส่งเสริมสิ่งซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา เพื่อให้คนเข้าไปกราบไหว้สิ่งเหล่านั้น นี่หลายเมืองเวลานี้กำลังสร้างขึ้น
อาตมาอยู่ปักษ์ใต้เมืองพัทลุงนี่ ไม่มีเสาหลักเมืองสักหลักเดียว แต่พัทลุงมันก็อยู่กันได้ ท่านปัญญาก็เกิดเมืองพัทลุง แล้วก็มีปัญญาพอสอนคนได้ โดยไม่ต้องไปไหว้เสาหลักเมืองเลย คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า ก็ไม่เคยไหว้สิ่งเหล่านั้น ไหว้แต่พระพุทธเจ้า ไหว้แต่พระธรรมพระสงฆ์ เกิดลูกเกิดหลานมาให้ทำงานเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองได้ แต่ยังไม่มีเจ้าเมืองลูกไปอยู่เมืองพัทลุง จึงไม่ได้สร้างเสาหลักเมืองขึ้น เวลานี้มีพระองค์หนึ่ง เขาเรียกว่า “พระนิรโรคันตราย” พระไม่มีโรคไม่มีอันตราย ว่าทรัพย์สินมิ่งมงคล เอาไปไว้ที่ข้างศาลากลาง วันหนึ่งไปพบผู้ว่าฯ บอกว่านี่ดีแล้ว พระพุทธรูปมาวางไว้ให้คนกราบไหว้ ดีแล้ว อย่าอุตริไปขออนุญาตสร้างหลักเมืองขึ้นอีกนะ พระพุทธศาสนาเป็นหลักใจ พระพุทธศาสนาเป็นหลักเมือง เป็นหลักของทุกอย่างพอแล้ว อย่าให้คนโง่มากไปกว่านี้เลย ผู้ว่าหัวเราะยิ้ม ๆ แต่เมืองอื่นนั้น ที่ยังไม่มีก็พยายามสร้าง อาตมารู้ว่าปักษ์ใต้ไม่มีหลักเมืองหลายจังหวัด พัทลุงไม่มี จังหวัดตรังไม่มี ภูเก็ตไม่มี พังงาไม่มี เมืองระนองก็ไม่มี แต่ว่าเมืองเหล่านั้นขายแร่กันอื้อซ่าไปตาม ๆ กัน แร่มันเยอะ ไม่ต้องไหว้เสาหลักเมืองก็ได้ ขุดทีไรก็ได้แร่ขายกันอยู่ ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องห้ามอะไร เรามีพระพุทธเจ้าแล้ว มีพระธรรมแล้ว มีพระสงฆ์แล้ว ทำไมจะต้องไปสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นอีก ถ้ามันไม่มีก็อย่าไปยุ่งเลย
แต่เราควรจะชวนคนเข้าหาพระ ให้เข้าไปไหว้พระพุทธเจ้าถูกต้อง ไหว้พระธะรมถูกต้อง ไหว้พระอริยสงฆ์ที่ถูกต้องจะเป็นการฉลาดกว่าที่จะไปทำอย่างนั้น พูดอย่างนี้มันก็กระเทือนซางของคนมีปัญญาอ่อน ๆ กันอยู่มากมาย แต่ว่าก็ต้องพูดเพื่อทำความเข้าใจ ตามหลักการณ์ที่อาตมาเคยพูดว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะดึงคนออกไปนอกทางของพระศาสนา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ควรจะส่งเสริมความรู้ของประชาชน ความหลงใหลของประชาชน ทำอะไรออกไปนอกเส้นทางของพระพุทธศาสนา จึงจะเป็นการถูกต้อง เรียกว่าเราส่งเสริมพุทธศาสนา ส่งเสริมศีลธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า
สถานที่ราชการใด กระทรวงใด ทบวงใดก็ตาม ถ้าเราจะทำอะไรขึ้น ก็ควรจะทำในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ไม่ควรจะทำเรื่องเกี่ยวเนื่องกับสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่พระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น วิทยาลัยครู เป็นวิทยาลัยที่สร้างคนให้เป็นครูให้มีปัญญาให้มีความฉลาด แต่ในวิทยาลัยครูนั้น ปั้นรูปมนุษย์ครึ่งสัตว์ให้นักเรียนไหว้อยู่ตลอดเวลา รูปมนุษย์ครึ่งสัตว์ก็คือรูปพระพิฆเณศ พระพิฆเณศนี่เป็นรูปคนท่อนหนึ่งหัวเป็นช้าง เราลองศึกษาดูว่าไอ้หัวช้างกับตัวคนมันต่อกันได้อย่างไร ถามคุณหมอก็ได้ คุณหมอมานั่งฟังอยู่ด้วย ประสาทช้าง เส้นเลือดช้างนี่จะเอามาต่อกับคนนี่ มันจะได้หรือไม่ มันไม่ได้นะ หัวช้างกับคนนี่มันต่อไม่ได้ ไอ้นั่นมันตอบได้ก็ความรู้ของคนในสมัยโบราณ เรื่องของรามายณะ เรื่องเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์อย่างโง่ ๆ ไม่ใช่พราหมณ์อย่างฉลาด ๆ ญาติโยมเขาเข้าใจ ว่าพราหมณ์ชั้นฉลาดเขาก็มีนะ ศาสนาพราหมณ์ชั้นฉลาดเขาเรียกว่า "เวทานตะ" เวทานตะ คือที่สุดของพระเวท คำภีร์อุปนิษัท อันนี้เข้าไม่พูดเรื่องบุคคล เขาพูดเรื่องธรรมะ เรื่องความบริสุทธ์ เรื่องข้อปฏิบัติ เขามี เขามีเหมือนกันแต่ว่า มันไปติดอัตตาตัวตนอยู่ ไม่หลุดพ้นตามแบบความคิดที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เขามี ชั้นต่ำ ๆ นี้ให้นับถือพระพระพิฆเณศ รูปหนุมาน คนอินเดียวยังไปไหว้ ไปไหว้รูปลิงหนุมานในเรื่องรามเกียรติ์ ไปไหว้ ถามว่าไหว้อะไร ไหว้หนุมาน นึกหัวเราะในใจ หนุมานก็ลิงนั่นเอง มนุษย์นี่ไปไหว้ลิงเรื่องอะไร มันเห็น ๆ นี่ไหว้สืบต่อกันมา ไม่มีคนกล้าที่จะสอนให้เข้าใจถูก
พระพุทธเจ้าของเรานั้นเรียกว่าเป็นผู้กล้าหาญที่สุด เป็นผู้กล้าหาญชาญชัย ที่พูดอะไรไม่เหมือนกับที่เขาพูดขึ้นในประเทศอินเดีย ก็ในอินเดียในยุคพระพุทธเจ้า มีแต่ความเชื่อเหลวไหลเยอะแยะ พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามันไม่ไหว ไปไม่รอด ถ้าอยู่กันอย่างนี้ พระองค์ก็ทรงก็ไข พูดให้มันถูกต้องขึ้น ให้ตรงตามหลักการปฏิบัติ สมมุติว่าใครไปถามเรื่องพระพรหม ถามว่าพระองค์รู้จักพระพรหมณืหรือไม่ พระองค์ตอบว่าเรารู้จักดี ท่านรู้จักทางไปหาพระหรหมณ์หรือไม่ เรารู้จักดี แล้วเขาก็ถามต่อว่า พระพรหมคือใคร พระองค์ตอบว่าพระพรหมก็คือคนที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คนนี่เอง ไม่ใช่พรหม ๔ หน้าแบบรูปปั้นหน้าโรงแรมเอราวัณ ไม่ใช่ คนนี่แหละ แต่ว่ามีใจประกอบด้วยคุณธรรม ๔ เรื่อง ๑. เมตตา ปรารถนาความสุขความเจริญแก่เพื่อนมนุษย์ กรุณา ทนไม่ได้ เมื่อเห็นใครลำบากเดือดร้อน ต้องเข้าไปช่วยเหลือ นี่คืองานสังคมสงเคราะห์ อย่างพวกสังคมสงเคราะห์นี่ละพระพรหม มีพรหมหญิงส่วนมาก พรหมชายไม่ค่อยมี นี่พวกเราทั้งหมดพระหรหมหญิงทั้งนั้น ไปแจกหยูกแจกยา แจกเสื้อแจกผ้า ก็มีน้ำใจเป็นพระพรหม คือกรุณา มุทิตา คือความเพลิดเพลินยินดี เมื่อคนอื่นได้ดิบ ได้ดี มั่งมีศรีสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เขาเรียกว่าเป็นผู้มีมุทิตา คือความพลอยยินดี ถ้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเรียบร้อย ก็อุเบกขาไว้ก่อน อุเบกขานั้นเพราะว่า เมตตาก็ไม่ได้ กรุณาก็ไม่ได้ มุทิตาก็ไม่ได้ ต้องใช้อุเบกขาญาณ อุเบกขานั้น วางเฉยเพราะเห็นว่ามันเป็นกรรมของเขา เราช่วยไม่ได้ เช่นว่าเห็นตำรวจจับคนไปนี่ เราก็ต้องเฉย ๆ นึกว่าเป็นเรื่องของเขา ทำกรรมไว้ เราจะมีกรุณาเข้าไปช่วยแย่งนักโทษจากตำรวจมันก็ไม่ได้ ตำรวจจะเล่นงานเราเข้าไปด้วย มันต้องอุเบกขา งูกำลังจะกลืนเขียดอยู่แล้ว เราก็แหมสงสารเขียดตัวนี้เหลือเกิน งูมันกำลังกลืนแล้ว ต้องกรุณาหน่อย เลยเข้าไปจับงู งูวางเขียดแล้วเข้ามากัดเราตาย มันไม่ได้ ต้องอุเบกขาว่ากรรมของสัตว์ เพราะงูอยู่ได้เพราะกินเขียด ถ้ามันไม่ได้กินเขียด มันก็ตาย ไอ้เขียดตัวนี้เซ่อซ่ามาให้งูกัดเอง กูจะช่วยก็ไม่ได้ มันต้องอุเบกขา ปลงตกลงไปว่ากรรมของสัตว์ ผู้ใดมีคุณธรรมแบบนี้ เขาเรียกว่าเป็นพรหมแล้ว เป็นพรหมทุกคน นี่คือนั่งอยู่ในนี้เป็นพรหมในบางโอกาส เรียกว่าเป็นในบางโอกาส
และพระองค์บอกว่า พ่อแม่คือพรหมของบุตรธิดา เพราะพ่อแม่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ครูก็เป็นพรหมของศิษย์ เป็นพรหมทั้งนั้น ผู้ใหญ่นี่ก็เป็นพระพรหม เช่นว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่การงาน เป็นหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง เป็นนายก มันต้องเป็นพระพรหม มีน้ำใจกว้างขวาง มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่ในตำแหน่งพรหม พรหมของพระพุทธเจ้านี่เป็นง่าย แต่พรหมของพราหมณ์นี่เป็นยาก ต้องตายแล้วถึงจะไปเกิดเป็นพระพรหมได้ แล้วจะเป็นพรหมได้นี่มันไกล หลายภพหลายชาติเลย ของพระพุทธเจ้าเป็นได้ง่าย ๆ พระพุทธเจ้าให้เราเป็นง่าย ๆ คือเป็นกันที่ใจ เป็นพระพรหมได้ เป็นอย่างนี้
ชาวอินเดีย นับถือเทวดา มากมายก่ายกอง พระองค์ก็บอกว่าเทวดาคือบุคคลผู้มีความละอายบาป มีความกลัวบาป ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมบท ๑๐ ประการ มี สัปปุริสธรรม ๗ ประจำจิตใจเป็นเทวดา ธรรมะหลายอย่าง อย่างใดก็ได้ เช่นมีความละอายบาปกลัวบาป เราก็เป็นเทวดาแล้ว เรามีกุศลธรรมบท ๑๐ เรียกว่า กายกรรม ๓ มโนกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เป็นเทวดาแล้ว ตั้งอยู่ในสัปปุริสธรรม ๗ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บุคคล รู้ชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วทำตัวให้เหมาะให้ควรกับเหตุการณ์นั้น ๆ ผู้นั้นก็เป็นเทวดาแล้ว ในทางพระพุทธศาสนา มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นพรหมได้ เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นเทวดาได้ เป็นได้ เป็นกันในชาตินี้ ไม่ต้องรอแก่ตายแล้วเป็น ถ้าชาตินี้ไม่เป็นเทวดา ชาติหน้ามันก็เป็นไม่ได้ ชาตินี้ไม่คิดเป็นพรหม ชาติหน้าก็เป็นพรหมไม่ได้ ชาตินี่เป็นมนุษย์ยังไม่ได้ แล้วจะไปเป็นอะไรได้ มันเป็นไม่ได้
พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้อย่างนี้ ทรงเปลี่ยนสิ่งที่เป็นบุคคลสมมุติให้เป็นธรรมะ เพื่อให้คนเข้าถึง ก็หมายความว่าพระพุทธศาสนานั้น ย้ำหนักในเรื่องการปฏิบัติธรรม ให้ทุกคนปฏิบัติธรรมะ เมื่อได้ปฏิบัติธรรมะแล้ว เราก็ได้ตำแหน่งนั้น ๆ ตามธรรมะที่เราปฏิบัติ ก็ธรรมะนั้นเป็นหลักการณ์ที่พระพทุธเจ้าท่านวางไว้ ให้เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่นี่เราพุทธบริษัทไม่ค่อยจะได้สนใจในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ที่จะเอามาปฏิบัติ เรานับถือพระพุทธศาสนาเป็นเด็กกันอยู่ตลอดเวลา เว้นไว้แต่โยมที่มาวัดชลประทานฯ นี่ เรียกว่า เริ่มเลื่อนชั้นแล้ว ขึ้นจากอุบาล ชั้นประถมขึ้นไปโดยลำดับแล้ว เพราะฟังเทศน์บ่อย ๆ ถูกล้างสมองบ่อย ๆ ก็เลยชักจะก้าวหน้าขึ้นในความคิดความอ่านตามหลักพระพุทธศาสนา
อาตมานี่เป็นพระที่ไม่เอียง คือไม่เอียงไปด้านซ้าย และก็ไม่เอียงไปด้านขวา แต่ที่เขาพูดกันว่า ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง อาตมาไม่เป็นทั้ง ๒ อย่าง แต่ว่าอยู่ตรงกลางไม่เบี่ยงซ้ายไม่เบี่ยงขวาอยู่ตรงกลาง ตรงกลางนั้นคืออะไร คือยึดมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ยึดมั่นในอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า อริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า ก็คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง
สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูกต้อง
สัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง
สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง
สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง
สัมมาสติ มีความระลึกที่ถูกต้อง
สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นในเรื่องถูกต้อง
มั่นอยู่ในสิ่งนี้ มั่นอยู่ในหลักนี้ เป็นผู้ที่เดินในทางสายกลาง ไม่ซ้ายไม่ขวา ใครอย่ามาบอกว่า ท่านปัญญาฯ นี่เอียงซ้าย ไม่นี่ ไม่เอียงซ้าย เอียงซ้ายมันก็ล้มไปซ้าย เอียงขวามันก็ล้มไปทางขวา มันยืนตรงแล้วมันก็ไปได้แล้วคนเรานะ เอียงแล้วมันไปไม่ได้ คนเรานถ้าเดินเอียงละมันไม่ได้เรื่องแล้ว ร่างกายมันไม่สมดุลย์แล้ว จะเอียงได้อย่างไร มันเอียงไม่ได้ จิตใจก็ไม่ได้เอียงซ้ายไม่ได้เอียงขวา แต่ว่ามุ่งตรงไปตามเส้นทางที่พระพุทธเจ้าประกาศให้เดิน สิ่งใดพระองค์ประกาศให้เดิน เดินทางนั้น เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า สอนได้เหมือนกัน ไม่ได้สอนให้โยมเป็นซ้าย และไม่ได้สอนให้โยมเป็นขวา อาตมาไม่ได้สอนเพื่อทำลายอะไร แต่ว่าสอนเพื่อทำสิ่งทั้งหลายให้มันถูกต้อง ถ้ามันไม่ถูก ก็ต้องพูดให้มันถูกต้อง เราเกิดมามีอายุปูนนี้แล้ว ๗๒ ปี ย่างเข้าไปแล้ว ไม่รู้ว่ามันจะตายเมื่อไหร แล้วก็จะไม่ได้พูดไม่ได้สอนในสิ่งถูกต้องแก่ประชาชน แล้วญาติโยมนี่เลี้ยงอาตมา ใส่บาตรให้ฉัน แต่ไม่ค่อยได้ไปบิณฑบาตก็พลอยฉันของเขาอยู่ ก็เรียกว่าญาติโยมเลี้ยง จีวรก็ญาติโยมให้ กุฏิก็ญาติโยมก็มาซ่อมให้ เจ็บไข้ได้ป่วย โยมก็เอารถมาบรรทุกไปรักษาโรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลนี้ รักษาให้ฟรี เพราะเห็นว่าเป็นพระที่ทำประโยชน์แก่พระศาสนา อาตมาก็คิดอยู่ทุกวันว่าอะไรมันเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ประชาชน อะไรที่ควรพูดต้องรีบพูด เพราะไม่รู้ว่าจะไม่ได้พูดวันไหน คือหมายความว่าตายแล้วก็ไม่ได้พูด แต่ถ้ายังมีลมหายใจ ปากยังเขยิบได้ก็ต้องพูดเรื่อยไป พูดในที่นั่นบ้าง ที่นี้บ้าง เพื่อทำความเข้าใจ
ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านก็พูดกับอาตมาบ่อย ๆ ว่า ร่างกายมันเต็มทีแล้ว มีอะไรที่ต้องพูด ต้องรีบพูด มีอะไรจะต้องทำก็ต้องรีบทำ เดี๋ยวไม่มีเวลาจะพูด ไม่มีเวลาจะทำ เพราะร่างกายแก่ชรา อันนี้ถ้าเราเที่ยวเกรงใจคนนั้น เที่ยวเกรงใจคนนี้ ว่าพูดไปแล้วมันจะกระทบกระเทือนคนนั้นคนนี้ มันก็ไม่ได้ เราเป็นนักสอน ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องเกรงคนนั้น คนนี้ เพราะว่าเราสอนความถูกต้อง เมื่อมีคนทำผิดแล้วเราจะไม่สอนได้อย่างไร เมื่อเรากลัวว่า พูดไปแล้วจะกระทบคนนั้นกระทบคนนี้ ก็พูดไม่ได้ พูดเรื่องถูกต้องไม่ได้ พระพุทธเจ้าถ้าเกรงใจพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายในประเทศอินเดียในสมัยนั้น พุทธศาสนามันจะเกิดได้อย่างไร โยมลองคิดดูนะ พระพุทธศาสนาเกิดไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเกรงใจพราหมณ์ เลยไม่ต้องประกาศพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาของเราเกิดขึ้นเพราะ ความรักความถูกต้องของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงพูดความจริงให้เราทั้งหลายฟัง เราได้เกิดความรู้ความเข้าใจกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ว่ามาในตอนหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว คนเอาสิ่งไม่ถูกต้องมาใส่ไว้ในพระพุทธศาสนา แล้วก็ปฏิบัติตามสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นมากขึ้น เพราะการปฏิบัติในสิ่งไม่ถูกต้องนั้น มันง่าย การปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องนั้นมันยากหน่อย ก็เลยปฏิบัติสิ่งง่าย ๆ ศาสนาซึ่งเป็นตัวปฏิบัติ ที่จะทำคนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน กลายเป็นเรื่องพิธีรีตรอง กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ทำกันแต่พอให้เป็นประเพณี ไม่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์อย่างแท้จริง นี่คือความเสียหายที่เราเอามาใส่ในพระพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสเรียกสิ่งนี้ว่า โรคเนื้อร้าย ในพระพุทธศาสนา มันเป็นมะเร็งในวงการพระพุทธศาสนา ซึ่งเราจะต้องแหกออก (44.16) ต้องรักษา ต้องขูดเกลา เอาเนื้อร้ายนั้นออก เพื่อให้พระพุทธศาสนาคงอยู่
ประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจในทางพระพุทธศาสนา แล้วเราก็ไม่พูด เพราะว่าเกรงใจคนนั้นคนนี้ แล้วคนมันจะรู้ได้อย่างไร จะเข้าใจสิ่งถูกต้องได้อย่างไร ถ้าอาตมาไม่พูดใครจะพูดในเรื่องที่มันถูกต้อง ที่มันนั้นนี้ คนอื่นเข้าไม่พูด เขาเกรงใจชาวบ้านเขาก็ไม่พูด กลัวชาวบ้านจะโกรธ อาตมานี่ไม่กลัวชาวบ้านจะโกรธ แต่กลัวชาวบ้านจะโง่ อาตมากลัวสิ่งนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นต้องพูด พูดที่วัดก็ต้องพูด พูดที่วิทยุก็ต้องพูด พูดเรื่อยไป ออกโทรทัศน์ก็พูด บางทีพูดแล้ว ก็แหม! พูดแรงไปหน่อย ว่าเอ้า! ไม่แรงไม่ได้แล้วเวลานี้ มันบ้าเต็มทีแล้ว มันต้องบอกว่า แรง ๆ หน่อย ไม่แรงมันไม่รู้สึกแล้วเวลานี้ ต้องพูดแรง ๆ จะได้กระตุ้นเตือนให้สำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี จะได้ทำอะไรกันถูกต้องเสียบ้าง อย่างนี้มันก็จำเป็นเหมือนกันแต่บางครั้งบางคราว เพราะฉะนั้นก็ต้องพูดสิ่งที่มันควรจะพูด ให้คนไม่รู้ได้เข้าใจ เพื่อแก้ไขความงมงายของประชาชน
นี่ปีนี้เป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๒๐๐ ปี แล้วก็ประชาธิปไตยก็ ๕๐ ปีแล้ว ๕๐ ปีเมื่อวานซืนนี้เอง เขานิมนต์ไปเทศน์จุฬา ไม่ได้ไป ท้องมันเสีย แต่ว่านั่น เลยไม่ได้ไปพูดกัน เรื่องธรรมะกับประชาธิปไตย ไม่ได้พูด เราจะฉลองอะไรกันแล้ว ไม่ใช่เพียงฉลองผ่านพ้นไปเท่านั้น แต่เราควรจะมาคิด ๒๐๐ ปีที่อยู่ได้เพราะอะไร อะไรเป็นเนื้อแท้ที่คำจุนสิ่งทั้งหลายในประเทศไทยให้ยั่งยืนถาวร อาตมาพูดบ่อย ๆ ว่า พระธรรมนั่นแหละ เป็นสิ่งค้ำจุนชาติไทยเมืองไทยให้อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่อะไรที่เป็นวัตถุ เป็นอะไร ๆ ทั้งนั้น แต่ตัวธรรมะที่รักษาประเทศชาติไทยไว้ ตัวธรรมะที่อยู่ในน้ำพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทรงปะพฤติธรรมอยู่ ธรรมะรักษาพระองค์อยู่ ธรรมะรักษาประเทศชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ย้ำไม่พูดให้คนทั้งหลายเข้าใจ ว่าประเทศไทยอยู่รอดด้วยธรรมะ อยู่รอดด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักพระพุทธศาสนา คนจะได้หันหน้าเข้าหาพระ หันหน้าเข้าหาพระศาสนา เราไม่ได้พูดชักจูงอย่างนั้น ไม่ได้พูดทำให้คนเข้าใจว่า ในการฉลอง ๒๐๐ ปี เราควรจะระลึกถึง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าธรรมะรักษาคน รักษาชาติ รักษาเอกราชของชาติ รักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้อย่างไร ชี้แจงแสดงให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจ คนก็จะได้ตื่นตัวหันหน้าเข้าหาพระธรรม จะได้ปฏิบัติธรรมะกัน ... (47.33)
เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยสนใจปฏิบัติธรรมะ แต่คนสนใจไปไหว้ไอ้นั่น ไปไหว้ไอ้นี่ ไปวิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าว ตื่นเช้าจุดธูปครึ่งศอกไหว้รอบทิศเลย ขอให้ช่วยตนถูกหวย ถูกเบอร์ ให้ถูกนั่นถูกนี่ นี่มันถูกต้องหรือ โยมลองคิดดู ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือ พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำอย่างนั้นหรือ พระองค์สอนให้เราลุกขึ้น ก้าวไปข้างหน้า ทำงานแข่งเวลา พัฒนาครอบครัว อย่ามัวไปนั่งไหว้อย่างนั้น แต่ให้ประพฤติธรรม ประพฤติธรรมของพระพุทธเจ้า พระองค์บอกให้ขยัน ให้ขยันทำงาน ให้รู้จักเก็บหอมรอมริด ให้รู้จักคบคนดีไว้เป็นที่ปรึกษา ให้เลี้ยงชีพสม่ำเสมอพอสมควร ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป ใช้เท่าที่จำเป็น เราปฏิบัติธรรม ไอ้คนที่เจริญก้าวหน้ามั่งมีศรีสุขขึ้นมาได้ ไม่ใช่เพราะเทวดาช่วย ไม่ใช่เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาช่วย แต่ธรรมะช่วยคนนั้นให้เจริญ ให้ก้าวหน้า ให้สำเร็จการศึกษา เด็กที่มันเรียนจบเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยได้ ไม่ใช่เพราะอะไร แต่มันประพฤติธรรม มันรักการเรียน มันเอาใจใส่ มันคิดค้น มันขยัน มันก็สอบไล่ได้ ไอ้เด็กที่สอบไม่ได้ มันก็ขาดความรักการเรียน ขาดความเพียร ขาดความเอาใจใส่ ขาดการคิดค้นเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ แม้พ่อแม่เป็นใหญ่เป็นโต มันก็เข้าไม่ได้ ฝากได้แต่มันไปไม่รอด ปีเดียวกระเด็นออกมาเท่านั้นเอง เพราะเพื่อนมันไม่มี มันขาดธรรมะ มันจึงเรียนไม่สำเร็จ เราต้องสอนเด็กให้รู้ว่า เธอจะสำเร็จอะไรด้วยตัวเธอเอง ไม่ใช่เพื่อจะให้ใครช่วยได้ จะไปขออะไรให้ช่วยไม่ได้ แต่ต้องเอาธรรมะมาช่วย ด้วยการประพฤติธรรม เราก็จะอยู่รอดปลอดภัย
เราสอนให้ข้าราชการช่วยกันประพฤติธรรม ให้งดงามในหน้าที่ ให้ขยัน ให้เอาใจใส่ ให้ใช้ปัญญาความสามารถช่วยราชการให้เต็มที่ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ... (45.49) เป็นต้นไป เราก็จะก้าวหน้า ไม่ใช่มัวไปเที่ยววิงวอนสิ่งนั้น ไหว้สิ่งนี้ให้ช่วยบ้านช่วยเมือง มันไม่ได้เรื่องอะไร ต้องช่วยกันชักชวนคนให้ประพฤติธรรม ให้ทุกคนประพฤติธรรม ธรรมะจะช่วยคุ้มครองประเทศชาติ ให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง นี่สำคัญ แต่ไม่มีใครใคร่จะพูดกัน มีแต่ทำพิธีตามเรื่องตามราว สวดมนต์บ้าง อะไรต่ออะไรกันไปบ้าง มันเป็นเรื่องพิธีรีตรองทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องปฏิบัติชอบตามหลักธรรมะในทางพระศาสนา พิธีกรรมนี้ไม่ใช่ตัวศาสนา แต่เป็นสิ่งเกิดขึ้นเมื่อภายหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว
ยุคพระพุทธเจ้านี่ พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ เป็นยุคทองอย่างแท้จริง ไม่มีเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าไม่เคยไปสวดบ้านใคร พระพุทธเจ้าไม่เคยไปทำพิธีเปิดร้านของใครๆ ไม่ไปเจิมครอบครัวของเศรษฐีคนไหน เพื่อให้วัวเจริญเติบโต ไม่ใช่อย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าสอนว่าเลี้ยงวัวว่าให้ดีต้องเอาใจใส่ ต้องดูแลอย่าให้ตัวหนอนมาเกาะกินตัววัว ให้เอาตัวหนอนออก ให้หญ้าที่สมบูรณ์ ให้น้ำสะอาด พระองค์สอนอย่างนั้น ไม่ได้เที่ยวสอนว่าถ้าเจิมใต้คอกวัวแล้ววัวมันจะอ้วน ไม่ใช่อย่างนั้น พระองค์ไม่ได้สอนอย่างนั้น ไอ้สิ่งเหล่านี้มีนเกิดจากความรู้ของคน ที่ไม่คิดจะช่วยตัวเอง ไม่คิดพึ่งตัวเองตามหลักการณ์ของพระพุทธศาสนา แลก็เที่ยวไปวิงวอนขอร้องอะไร ๆ ให้คนช่วย ทำอะไรกันมาตามพิธีการ ไม่มีคนกล้าที่จะพูดออกมาว่า ไปทำสิ่งที่ไร้สาระอย่างนั้น เรามาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่านั้น ไปมีปัญญามากกว่านั้นตามหลักพุทธศาสนาไม่ได้หรือ เลยไม่มีคนกล้าที่จะทำ ก็ทำกันอยู่ตามที่เคยทำกันอยู่ตลอดเวลา สักแต่ว่าพอเป็นพิธี ไม่เอาธรรมะไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ ถ้าจะเทียบจริง แล้วเหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียแข้งเสียขา ๕๐ ของประชาธิปไตย ก็ไม่แข็งแรงที่จะเดินด้วยตัวเองได้ ยังต้องมีพี่เลี้ยงพยุงปีกให้เดินอยู่ เหมือนคนขาพิการ เพราะเราไม่ใช้หลักธรรมะเป็นหลักปฏิบัติ นี่มันเป็นความจริงที่ควรรู้ควรเข้าใจไว้ ควรที่จะเอาไปคิดพิจารณา
อาตมาพูดอยู่ในรูปอย่างนี้อยู่เสมอมา เรียกว่าชักจูงญาติโยมเข้าหาธรรมะ ให้มีศรัทธามั่นในพระพุทธเจ้า มั่นในพระธรรมคำสอน มันในพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า แล้วเราจะสำเร็จในกิจการทุกอย่าง ธรรมะจะช่วยให้เกิดความสำเร็จ แต่ลำพังธรรมะก็ไม่ได้ เราต้องเอาธรรมะมาปฏิบัติ เหมือนยาจะวิเศษสักเท่าไหร ถ้าคนไม่กินยา ไม่มีทางหายโรคเป็นอันขาด ยาดี คนก็ต้องกินยาด้วย แล้วยานั้นก็จะมีประสิทธิภาพแก้โรคแก้ภัย ให้เราหายจากโรคภัยไข้เจ็บไปได้สมความตั้งใจ
ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจไว้อย่างนี้ จากที่นี่โยมมาถามหลายคน ถามว่าเขาไม่ให้ท่านเจ้าคุณพูดทางวิทยุประชาสัมพันธ์หรือ ไม่ได้ห้ามหรอก เพียงแต่ว่าพักไว้ก่อน พักชั่วคราว เพราะว่าไปพูด มันรุนแรงไปหน่อย แต่พูดสอนคนให้ฉลาดไปหน่อย คนโง่ก็ยังไม่ชอบอยู่แล้ว ที่นี้ให้หยุดไว้ก่อน หยุดไว้ก่อน รอคนให้มันฉลาดขึ้นอีกหน่อย แล้วก็จะเทศน์กันต่อไป แต่ว่ามันก็ไม่ไหว ฉันก็ต้องรอไปก่อน ไม่เป็นไร ไม่ได้พูดทางวิทยุก็ไม่เป็นไร สบายเป็นปกติอยู่ ไม่ได้ทุกข์ได้ร้อนอะไร เห็นว่ามันกระทบกระเทือนคนนั้นคนนี้ ไอ้เราจะกลัวคนแล้วมันจะพูดอะไรไม่ได้ ความจริงพูดไม่ได้เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนโยม พูดไม่ได้ อันนี้เรามันต้องพูด พูดเป็นสัจจะเป็นความจริงเพื่อแก้ไขคน ต้องพูดไปตามเรื่อง ไม่พูดวิทยุ ก็พูดที่วัดก็ได้ ไม่ได้พูดที่วัด ก็พูดที่อื่นอีกก็ได้ ที่จะพูดมันเยอะแยะ ว่าเราจะพูดก็พูดได้ ก็ต้องสอนไปตามหลักการณืที่ตั้งใจไว้ ว่าต้องพูดให้คนฉลาด ไม่พูดให้คนโง่ นำคนไปสู่แสงสว่าง มีหลักการณ์ใหญ่ ใจตั้งไว้อย่างนั้น ใครจะว่าอย่างไรก็ตามใจ
อาตมายึดมั่นในอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา พระต้องสอนคนให้ฉลาดตามโอกาสที่เราจะสอนได้ บางคนพูดว่าคนมันโง่ อย่าไปดู … (54.49) … ขา คนมันโง่ ไม่สอนจะได้อย่างไร เด็กเกิดใหม่ ๆ ไม่รู้อะไร เอาไปเข้าโรงเรียนอนุบาล สอนให้มันเขียนหนังสือ เขียนตัวยังไม่ได้ ขีดเส้นตรง ขีดเส้นโค้ง ขีดเส้นคด ขีดเส้นไปก่อน ให้มือมันชินกับการกดปากกา แล้วต่อไปมันก็เขียน ก ข ก กา ได้ แล้วมันก็อ่านได้ เลื่อนอนุบาล ๑ ๒ ๓ ๔ ไปเรื่อย ประถม มัธยม อุดมศึกษา ถ้าเราไม่เขยิบฐานะ มันก็ฉลาดไม่ได้ จิตใจคนก็เหมือนกัน ทว่าคนเขาชอบอย่างนั้น ปล่อบให้ชอบอยู่ ชอบเล่นตุ๊กตาเล่นจนตุ๊กตาผุไป ผุไปแล้ว ก็ซื้อตัวไหม่มาเล่นอีก มันก็ไม่จบกันสิ แล้วจะฉลาดขึ้นได้อย่างไร เราต้องสอนเขา อบรมเขา เพื่อให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วถ้าเราไม่พูดไม่สอน คนมันจะรู้ได้อย่างไร แล้วกลัวว่าสอนแล้วมันจะกระเทือนคนนั้นคนนี้ มันเรื่องของเขา ก็ไปคิดเอาเอง เราไม่มีเจตนาจะสอนให้กระเทือนใคร เราต้องการสอนคนให้ฉลาด คนโง่รำคาญเป็นเรื่องของเขาเอง ไม่ใช่เรื่องของเรา เราก็ทำตามหน้าที่ต่อไป ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ขอให้ญาติโยมเข้าใจไว้ด้วย อย่าทุกข์อย่าร้อน ไม่มีอะไร ขอเพียงแต่ให้พักไว้ชั่วคราวก่อน วันไหนเขามีหูจะรับได้ เขาก็บอกเอา พูดอีก มีหูรับได้แล้ว พูดกันต่อไป ก็เท่านั้น ไอ้ความจริงจะไม่พูด แต่ว่าหนังสือพิมพ์มันพูดขึ้น แล้วเลยพูดกับโยมจะให้คลายทุกข์สักหน่อย ไม่มีอะไร เอาตอนนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที