แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันที่เมืองไทยก็มีงานฉลองกรุงเทพมหานครที่มีอายุยืนมาถึง ๒๐๐ ปี ฉลองกันเป็นการใหญ่ วันนี้มีอะไรบ้างก็ไม่ทราบ คนก็ไปเที่ยวงานกัน ได้ข่าวว่าเมื่อคืนนี้ไปดูโขนที่สนามหลวง แต่ว่าโขนไม่ได้แสดงก็วุ่นวายกันไป เพราะว่าไปด้วยความอยากแล้วมันวุ่นอย่างนั้น คืออยากจะดู แต่นี่ไม่มีให้ดูสมอยากก็เลยเกิดความวุ่นวายสับสน อันนี้เรานัดกันมาวัด มาฉลองแบบวัด ฉลองแบบพระ ฉลองแบบพระนี่ไม่มีเรื่องสนุก ความจริงก็สนุกเหมือนกัน แต่ว่าสนุกในธรรมะ เราเรียกกันว่า ธรรมหรรษา ธรรมหรรษา คือ ความร่าเริงในธรรมะ ความร่าเริงในธรรมะนี่มันไม่ยุ่ง แต่ถ้าร่าเริงในทางโลกมันยุ่ง เพราะว่ามันมีปัญหารอบทิศ แต่มาร่าเริงในธรรมะนี่สบายใจ การที่จะฉลองอะไร ๆ นั้น ควรฉลองในรูปธรรมะ ความจริงก็มีการชักชวนกันอยู่บ้างเหมือนกัน ชักชวนให้อยู่ในศีลในธรรม ในการฉลองพระนคร แต่ว่ามันเวลานี้ มันก็ควรมีกันตลอดไป เอาเป็นว่ามาเริ่มต้นในการฉลองกรุงเทพฯ ครบ ๒๐๐ ปี แล้วก็เริ่มต้นชีวิตกันใหม่ในทางธรรมะ เริ่มต้นในการรักษาศีล ในทางฟังธรรม ในการเจริญภาวนา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้สมกับว่าเป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา
เวลานี้เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา ใคร ๆ ก็เรียกกันอย่างนั้น แต่ว่าเมื่อดูสภาพความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังไม่ชื่นใจเท่าใด อาตมาดูแล้วก็ยังไม่ชื่นใจ ไม่สมกับว่าเป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เพราะยังมีการประพฤติปฏิบัติที่มันยังวุ่นกันอยู่ ยังสับสนวุ่นวายกันด้วยอะไรต่าง ๆ ไม่สมกับเป็นเมืองพุทธ
เมืองพุธนั้นมันก็มีอะไรหลายอย่างเป็นเครื่องแสดงออก เช่นเรื่องการไม่เบียดเบียนกันเป็นเรื่องแรก ชาวพุทธเราไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้าเบียดเบียนตนก็เบียดเบียนผู้อื่นไปด้วยในตัว ถ้าไม่เบียดเบียนตนก็ไม่มีการเบียดเบียนผู้อื่น อยู่กันด้วยความรักอย่างพี่อย่างน้อย เพราะการเบียดเบียนกันนั้นมันไม่ใช่หลักธรรมในพุทธศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดย่อมสอนไม่ให้เบียดเบียนกันทั้งนั้น แต่ว่าผู้สืบต่อศาสนาบางทีก็เอาคำสอนในศาสนาไปแปลความหมายให้ผิด เช่น แปลความหมายไปว่ารบกันไม่บาป อะไรอย่างนี้เป็นต้น อันนั้นมันผิดหลักการ หลักการของศาสนาทั้งหลายทั้งปวงย่อมสอนคนให้รักกัน ให้ประนีประนอมกัน ให้อยู่กันอย่างพี่น้อง ไม่ให้เบียดเบียนกันในทางกาย ทาง ...... (03.51 เสียงไม่ชัดเจน) ทางความรักความใคร่ ในว่าในแง่ใด ๆ ไม่ให้เบียดเบียนกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่เบียดเบียนกันก็มีความสุข
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก ความไม่เบียดเบียน มันเป็นความสุขในโลก พระองค์ไม่พูดถึงเรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องความเป็นใหญ่ เรื่องการมีอำนาจวาสนาอะไรว่าเป็นความสุข เพราะว่าถ้าเบียดเบียนกันแล้ว มันยังเป็นทุกข์ คนมีเงิน ใช้เงินในการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ว่าจ้างมือปืนมาไว้หลาย ๆ คน แล้วก็ส่งมือปืนไปเที่ยวรังแกคนอื่น อย่างนั้นมันก็ไม่เป็นสุขแก่ผู้นั้น ผู้นั้นก็ไม่มีความสุขทางใจ เพราะว่าคิดกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตน เพราะว่าไปเบียดเบียนผู้อื่น สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น มีคนหนึ่งเป็นคนรู้จักกัน บอกว่าครั้งหนึ่งนี่ คนที่มีเงินมาก เป็นเจ้าพ่อ เชิญไปกินเลี้ยงที่บ้าน ก็ไม่หลายคนหรอก กินกัน ๒-๓ คน แต่ว่าเจ้าบ้านนั้นกินเดี๋ยวเดียวก็ลุกขึ้นมองไปทางหน้าต่าง อีกเดี๋ยวก็ลุกขึ้นมองไปทางหน้าต่าง กินไม่เป็นสุข ต้องมองบ่อย ๆ เขาก็ถามว่าคุณทำไมต้องลุกขึ้นมองบ่อย ๆ ก็บอกว่าดูว่าไอ้พวกนั้นมันยืนเฝ้าเรียบร้อยหรือเปล่า คือดูว่าพวกมือปืนยืนเฝ้าอยู่หรือเปล่า ทำไมจะต้องอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวไปทำเขาก่อน ไปเบียดเบียนเขาก่อน ตัวก็เลยนั่งไม่สบาย นอนไม่สบาย กินก็ไม่สบาย เพราะไปสร้างกรรมสร้างเวรมาก จึงได้เกิดความทุกข์กันด้วยประการต่าง ๆ ไม่มีความสุขทางจิตใจ แม้เวลากินก็ต้องชะเง้อมอง ว่าคนที่ยืนเฝ้ามันยังอยู่หรือเปล่า กลัวใครจะแอบเข้ามายิงทางหน้าต่าง หรือเอาระเบิดขว้างให้ตัวถึงแก่ความตาย นี่คือคนรวยไม่ใช่คนจน มีเงินมากแต่ว่าเงินที่ได้มานี้ ได้มาไม่ค่อยจะสุจริตยุติธรรม เบียดเบียนคนอื่นแล้วจึงได้เงินมา ใช้อำนาจใช้อิทธิพล ตนก็ไม่มีความสุขทางใจ มีความทุกข์ความเดือดร้อน คนมีอำนาจเป็นใหญ่เป็นโต ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขสบายอะไร เพราะว่าจิตใจยังไม่ได้ใหญ่จริง ก็ยังมีความทุกข์มีความเดือดร้อน มีพวกมีบริวารมากก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสุขอย่างแท้จริง ความสุขอย่างแท้จริงนั้นจึงอยู่ที่การไม่เบียดเบียนกัน อัพยาปัชฌัง สุขัง โลเก การไม่เบียดเบียนแหละเป็นความสุขในโลก เราอยู่ในโลกถ้าจะให้มีความสุข ต้องงดเว้นจากการเบียดเบียนกัน
ไอ้เรื่องการเบียดเบียนกันนี่มันละเอียดเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ละเอียดมาก คือหมายความว่าเราคิดอะไร ทำอะไร จะพูดอะไร ไม่ให้กระทบกระเทือนใจทั้งนั้น มันตั้งต้นที่ความคิดก่อน คนเราถ้ามีความคิดถูกต้องก็ไม่เป็นการเบียดเบียนใคร เมื่อมีความคิดถูกต้อง การพูดก็เป็นไปในทางที่ถูกต้อง การกระทำก็เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เรียกว่าเป็น สัมมา สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ แล้วก็สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คิดชอบ สัมมาวาจา พูดชอบ สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ มันชอบไปหมด ถ้าชอบอย่างนี้ล่ะก็ ไม่เดือดร้อนใคร ไม่เบียดเบียนใคร ไม่มีปัญหาจะเกิดขึ้นแก่ใคร ๆ เพราะจะทำอะไรก็ต้องคิดว่า มันจะเดือดร้อนแก่ใครบ้าง อันนี้ก็พิจารณา เช่น สมมติว่าเราจะทำเสียงดัง ด้วยการเปิดเครื่องขยายเสียงให้คนอื่นรำคาญ เปิดวิทยุดัง ๆ ขยายเสียงดัง ๆ แต่คนเขาไม่อยากฟังก็ดี การกระทำอย่างนั้นก็เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น สร้างปัญหา คือความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่คนอื่น
หรือว่าสุนัขตายที่ในบ้าน แล้วเราเอาไปทิ้งบนถนนนี่ มันก็เบียดเบียนคนอื่นเหมือนกัน เพราะว่าไปทิ้งสิ่งปฏิกูลลงบนถนนหนทาง คนเดินไปเดินมาได้เห็นก็สะอิดสะเอียน บางทีก็อาเจียนออกมาก็ได้ เพราะเขาไม่ชอบใจสิ่งนั้น เพราะเราเอาไปทิ้งไว้ก็เบียดเบียนคนอื่น ถ้าจะไม่ให้เป็นการเบียดเบียนคนอื่นก็ต้องฝังเสียในบ้าน บ้านเรามีที่ดินพอจะฝังสุนัขได้สักตัว ฝังสุนัขนี่ไม่กินเนื้อที่อะไร มันตายแล้วก็ขุดหลุมเอาไปฝังเสียให้ลึก ก็จะเป็นการไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ฝังไว้ใต้ต้นไม้ก็ได้ ต้นไม้มันก็พอใจ เพราะจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ไปเลี้ยงต้นไม้ ออกดอกออกผล ให้คนได้กินได้ใช้ต่อไป ดีกว่าจะเอาไปทิ้งบนถนนหนทาง ให้เกิดความทุกข์แก่คนอื่น สมมติเรามีสุนัขเป็น ๆ อยู่ที่บ้าน แต่ว่ามันเป็นขี้เรื้อนมาแล้ว หรือว่ามันเกิดลูกออกมาหลายตัว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เอาหมาทั้งชุดนั้นมาปล่อยวัด เอาแมวมาปล่อยวัด มันก็เบียดเบียนเหมือนกัน เบียดเบียนพระในวัด เบียดเบียนคนมาวัดให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะถ้าหมามันเกิดบ้าขึ้นมา มันอาจจะกัดคนที่มาวัด คนมาวัดก็จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า อะไรขึ้นมา ทำไมจะต้องเอามาปล่อยวัด วัดไม่ใช่ที่สำหรับทิ้งขยะ คือ หมาที่ไม่ได้เลี้ยง ถ้าเป็นของดีล่ะไม่ก็เอามาทิ้งวัด เอาแต่ของที่ไม่ดี หมาขี้เรื้อน หมูไม่ดี วัวไม่ดี แมวไม่ดี ไอ้เรื่องไม่ดีนี้เอามาให้วัด แต่ลูกไม่ดีก็เอามาวัดเหมือนกัน ลูกไม่ดี ไอ้คนดีๆก็ไม่เอามาเรียนธรรมะธรรมโมจะได้เพิ่มพูนสมรรถภาพทางจิตใจ ไอ้ลูกคนนั้นเกะกะเกเร บอกว่าไอ้คนนี้มันไม่ไหว เอามาไว้วัดเสียเถอะ เหมือนกับวัดนี่เป็นที่รับของสิ่งโสโครกทั้งหลายอย่างนั้น ก็เป็นการทำให้คนอื่นเดือดร้อนอยู่บ้างเหมือนกัน แต่สำหรับคนมันไม่กระไร พอพูดกันได้ แต่บางทีก็หนักใจเหมือนกัน เพราะว่ามันไม่เอาถ่าน พูดกันไม่เข้าใจ มันดื้อมันดัน ก็อยู่ในประเภทนั้น
ทำอะไรไม่คิดถึงอกเขาอกเรา เรียกว่าเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน หรือว่าเราเอาขยะไปทิ้งข้างถนนเพ่นพ่าน ไม่ใส่ไม่ทิ้งให้มันเรียบร้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นเหมือนกัน ใครที่เป็นข้าราชการนี่ไปเมืองนอกบ่อย ๆ ไปดูอะไรเมืองนอก เมืองนอกนี่เขาทำดีเรื่องขยะ คือทุกบ้านเขามีถุงพลาสติก เดี๋ยวนี้เครื่องมือพลาสติกนี่มันเยอะแยะ ทำให้มันเป็นถุงพอสมควรยาวสักเมตรหนึ่ง กว้างพอสมควร ทำไว้ขาย เขาใส่กล่องทำไว้ขาย กล่องขนาดอย่างนี้กว้างขนาดนี้สูงขนาดนี้ เป็นกล่อง ๆ ไปซื้อมาไว้ เอามาไว้ที่บ้านก็เอาใส่ลงไปในถัง แล้วมัดปากไว้อะไร ๆ ก็ทิ้งลงไป ๆ จนกระทั่งเต็มถัง พอเต็มถังแล้วก็มัดปากถุงให้มิดชิด ยกไปวางบนถนน ไม่เกะกะ ไม่ส่งกลิ่น สัตว์ก็ไม่มากวน แมลงวันก็ไม่เกิด รถบรรทุกขยะก็มายกทั้งถุงใส่รถไปเลย เอาไปทิ้งที่ไกลต่อไป ทีนี้ที่ทิ้งขยะบ้านเรานี่ก็เบียดเบียนคนอื่นเหมือนกัน เพราะเอาไปทิ้งกองไว้ให้เน่าให้เหม็น
อาตมาเคย เขานิมนต์ไปเทศน์วัดกระทุ่มเสือปลา ไปนั่งรอจะเทศน์มันปวดหัวจะเทศน์ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกองขยะเท่าภูเขาอยู่ข้างวัดนั้น แล้วลมก็โชยมาจากกองขยะ ไม่รู้จะหลบตรงไหน หลบกลิ่นนี่มันหลบไม่ไหว ดังนั้นมึนหัวอยู่ตลอดเวลา มึนท้ายทอย ทำอะไรนี่สังเกตตัวเองว่าไปไหน ถ้าอากาศอุดอู้จะมึนศีรษะ อากาศไม่ดีก็มึนศีรษะไม่ค่อยจะสบาย วัดบางวัดนี่พอเข้าไปแล้วมึนหัว มีนหัวอย่างนั้นแสดงว่าวัดนั้นออกซิเจนมันน้อย ไม่พอสำหรับหายใจ ก็ไปธุระแล้วก็รีบกลับมา ไม่นั่งนาน เพราะว่าอึดอัดเต็มที หรือว่าไปบ้างวัดนี่มีกลิ่นไม่ค่อยจะดี เพราะว่ามีโรงงานมีอะไรอยู่ใกล้วัด เช่น มีวัดหนึ่งชื่อวัดวรจรรนี่ อยู่ใกล้ถนนตก มีกลิ่นเหมือนกับกลิ่นเครื่องเทศอะไรอย่างนั้นเข้าจมูกอยู่ตลอดเวลา จะไปเทศน์งานศพ ต้องไปยืนอยู่ริมแม่น้ำพอได้ลมหายใจ แล้วก็ขึ้นธรรมมาศก็รีบเทศน์ครึ่งชั่วโมง บอกว่าเทศน์นานไม่ได้ เพราะมันจะเป็นลม วัดนี้มันเหม็น ก็บอกขออนุญาตเอาครึ่งชั่วโมงพอ เสร็จแล้วก็จบกัน
อะไรต่างๆ ที่ทำให้เกิดมลพิษออกไปให้คนเดือดร้อน ก็เบียดเบียนคนเหมือนกัน เบียดเบียนประชาชนที่อยู่ใกล้ หรือว่าปล่อยน้ำเสียลงไปในคลองในแม่น้ำก็เบียดเบียนประชาชนคนอื่น ทำให้ปลาตาย ทำให้น้ำสกปรก ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา นี่คือการเบียดเบียนทั้งนั้น เรานึกแต่เพียงว่าไปทุบหัวเขาให้ตาย ไปแทงไปยิงเขาเรียกว่าเบียดเบียน ไอ้นั้นมันมองเห็นง่าย แต่การเบียดเบียนที่มองเห็นไม่ค่อยชัดเรื่องอย่างนี้ ที่เราทำอะไรแล้วให้คนอื่นมีปัญหาเกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ เป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความทุกข์ มีมวยกำลังทุกข์กันอยู่ที่เวที เพราะมีคนขว้างระเบิดไป มันต้องการจะฆ่าคนที่มันฆ่าคนเดียว แต่ว่าการขว้างระเบิดนั้นคนตายหลายคน นี่ก็คือการเบียดเบียนเขา ทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อนสับสนวุ่นวาย ถ้าเราจะฆ่าคน ๆ นั้นก็ไปยิงมันที่บ้านก็ได้ ฆ่าเขาที่บ้านไม่ต้องไปฆ่าที่สนามมวย หรือที่กลางแปลงอย่างนั้น การกระทำอย่างนั้นเป็นการเบียดเบียนชัดเจนแจ่มแจ้ง ทำให้เกิดเป็นปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นด้วยประการต่าง ๆ นี่เราถือหลักง่าย ๆ เรื่องการไม่เบียดเบียนนี้ว่า การกระทำอะไรที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ใคร เขาเรียกว่าเป็นการเบียดเบียนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้พิจารณางดเว้นจากการเบียดเบียนกันทุกวิถีทาง อยู่กันอย่างพี่น้อง มีความเห็นอกเห็นใจแก่กันและกัน การอยู่กันก็มีความสุขความสบาย
ในการฉลองกรุงเทพมหานครเรานี้ ชาวไทยทั้งมวลควรจะได้อธิษฐานใจ ว่าเราจะอยู่โดยไม่เบียดเบียนใครให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แต่เราจะอยู่กันด้วยความรัก อยู่กันด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา เอาพระพุทธเจ้ามาใส่ไว้ในใจ เอาพระกรุณาธิคุณมาใส่ไว้ในใจ ทำใจให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้รักผู้อื่น ให้จะทำอะไร ๆ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น อย่างนี้ก็จะชื่อว่า เราไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำไปให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าชาวไทยทั้งประเทศมีความตั้งใจอย่างนี้ ประเทศไทยก็เจริญเท่านั้นเอง ไอ้เรื่องความเจริญในบ้านเมืองนี้ เราอย่าไปวัดกันแต่วัตถุ ว่ามีถนนกว้าง รถยนต์วิ่งชนกันวันละหลายคัน หรือว่ามีตึกสูงระฟ้า หรือว่ามีโรงหนังมาก ๆ มีสถานท่องเที่ยวยามราตรีเต็มบ้านเต็มเมือง อะไรอย่างนั้น นั่นมันไม่ได้เป็นเครื่องหมายวัดความเจริญอะไร มันเป็นเรื่องของวัตถุที่ใครมีก็สร้างขึ้นได้ แต่ว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไรก็ไม่รู้ สร้างแล้วมันจะได้ประโยชน์แก่ชุมชนหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะว่าสร้างสิ่งบางอย่างก็เป็นการเบียดเบียนประชาชน ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเหมือนกัน เช่น สร้างบ่อนการพนันนี่ก็เป็นการเบียดเบียน เพราะทำคนให้ไหลเข้าไปในบ่อน หรือว่าสร้างบาร์ไนท์คลับให้คนไปเที่ยว ก็เป็นการสร้างสิ่งที่ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม หรือว่าเราสร้างสนามม้าไว้ให้คนไปเล่นการพนันมากนี่ก็เป็นการสร้างปัญหาให้แก่สังคม ไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องหมายวัดว่ามีความเจริญก้าวหน้าอะไร ไม่มีก็ได้ ไม่มีสนามม้าก็ได้ ไม่มีสิ่งที่มันมีอยู่ที่มันไม่จำเป็นหลายเรื่องหลายประการนี่เราไม่มีก็ได้ เพราะมันไม่จำเป็นอะไร มีแล้วก็สร้างแต่ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่เป็นเครื่องหมายแห่งความเจริญของประเทศชาติ ความเจริญอันแท้จริงนั้นอยู่ที่จิตใจคนที่มีคุณธรรม
ถ้าจิตใจคนในชาติใดประเทศใดเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม อยู่กันด้วยความสุขความสงบ ไม่เบียดเบียนข่มเหงแก่กันและกัน อย่างนั้นเรียกว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญพอสมควร มีความเจริญในทางจิตใจ ในประเทศบางประเทศในยุโรป เขาชมเชยกันว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านจิตใจ คือเขาเรียกว่ามีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจมาก เช่น ประเทศเล็ก ๆ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นี่เป็นประเทศเล็ก จิตใจคนเขาสูง เขาไม่ทำอะไรให้ใครยุ่งเดือดร้อน สมมติเราบินไปลงสนามบินนี่ จะไม่มีแท็กซี่มามะรุมมะตุ้มกับคนโดยสาร ไม่มีกวักมือเรียก ไม่มีการแย่งกระเป๋า ไม่มีการชิงคนโดยสารกัน แต่เขาจะยืนชำเลือกสายตามาที่คนโดยสารอยู่เฉย ๆ ชำเลืองยิ้ม ๆ สบสายตา ให้คนโดยสารเลือกเอาเองตามชอบใจว่าจะเอาคันไหน และเมื่อคนโดยสารเรียกแท็กซี่คันใด คันนั้นก็รีบวิ่งมาทีเดียว มาถึงก็ตะเบ๊ะแสดงความเคารพ เสร็จแล้วก็รับกระเป๋าพาไปขึ้นรถ ไม่ต้องต่อรองราคากัน เพราะเป็นมิเตอร์ ขึ้นนั่งแล้วมิเตอร์ก็หมุนไปตามเรื่อง เขาไม่เอาเปรียบคนโดยสาร เขาไปตามเส้นทางที่มันไปได้คล่องแคล่ว ให้ไปถึงปลายทาง อย่างนี้เรียกว่าคนแท็กซี่เหล่านั้นมีคุณธรรม มีความเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจ ไม่แย่งคนโดยสารเหมือนในบางแห่ง พอลงมาถึงคนหนึ่งแย่งเอากระเป๋าไปใบหนึ่ง คนหนึ่งแย่งเอาไปใบหนึ่ง กระเป๋าสองใบไปคนละรถ เสร็จแล้วก็วิ่งตามหา จึงจะได้กระเป๋าคืนมา อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง หรือว่าสถานีรถไฟก็มีไปออกันอยู่ตรงทางเข้าจนไม่มีทางจะเดิน แย่งคนโดยสารกัน อย่างนี้เรียกว่าจิตใจยังไม่เจริญเท่าใด ความเจริญวัตถุมี แต่จิตใจคนยังไม่เจริญ หรือว่าจะขึ้นรถนี่ก็ไม่เข้าแถว ไม่เข้าคิวตามลำดับคนมาก่อนมาหลัง แต่ไปกลุ้มกันตรงทางขึ้นจนขึ้นไม่ได้ ทำให้เกิดการชักช้า คนลงก็ลงไม่ได้ คนขึ้นก็ขึ้นไม่ได้ เลยเกิดการชักช้า อันนี้ก็เรียกว่ายังไม่เจริญในทางนั้น ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่เจริญเท่าใด
เวลาเผาศพนี่ก็อย่างหนึ่ง เห็นแล้วรำคาญหัวใจ ก็พยายามคิดอยู่บ้าง บอกว่าให้ขึ้นไปสัก ๒ คนก็พอ เรียงแถวกันไป ไม่ต้องแทรกเข้าไปถึง ๔ คน ๕ คน ดูเหมือนกับอะไรดี มานั่งรออยู่ได้ตั้งนานแล้ว พอจะขึ้นก็ผลักกันไป ๆ คนเราไปยืนรวมกลุ่มกันมาก ๆ มันสบายเมื่อไร กลิ่นตัวคนเราไม่ใช่สิ่งที่น่าดมอะไรกันหนักหนานะ แล้วถ้าอยู่กันมาก ๆ มันเกิดความร้อน มันระเหยออกมา ทำให้เกิดอาการไม่สบายแก่คนบางคน แต่บางคนก็ลุกลี้ลุกลนที่จะเข้าไปวางดอกไม้จันทน์ ทำไมจึงไม่ถือระเบียบเสียบ้างในที่เช่นนั้น อันนี้ก็แสดงว่ายังไม่เจริญ จิตใจยังไม่เจริญ คนที่เจริญนั้นเรามองเห็นง่าย จิตใจเจริญนี่มองเห็นง่าย เห็นง่ายตรงที่ว่ารู้จักจัดระเบียบของตนเอง รู้ว่าควรทำอย่างไร ในที่ใด ในเหตุการณ์ใด อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนเจริญ แต่ถ้าจิตใจยังไม่เจริญ คือไม่รู้ ไม่รู้จักจัดตัวเอง
เอาเห็นง่าย ๆ นั่งตามโบสถ์ตามศาลา ไม่เรียบร้อย เข้าไปถึงก็นั่งไม่เรียบร้อย นี่เรียกว่ายังจัดตัวเองไม่เป็น นั่งไม่เป็น คนไทยนี่ยังนั่งไม่เป็นนะ อาตมาว่าเอาบ่อย ๆ ว่า โยมอายุป่านนี้แล้วยังนั่งไม่เป็น แกก็หัวเราะ เอ..นั่งไม่เป็น ก็นั่งมาตั้งแต่เกิดก็นั่งมาอย่างนี้ นั่งเอาหัวขึ้นเอาตะโพกลง อย่างนั้นมันไม่ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ แต่ว่านั่งไม่เป็น คือนั่งไม่เป็นไม่รู้ว่าจะนั่งอย่างไร พอเข้าถึงประตูก็นั่งลงตรงนั้นแหละ ขวางเพื่อน นั่งไม่เป็น ขวางไว้ ต่างคนต่างก็อยากจะนั่งริมขวา นั่งริมประตู นั่งพิงเสา ไม่เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่นเลย นี่เรามาวัดกันทำไม มาเพื่อการปลูกใจ มาเพื่ออบรมบ่มจิตใจ ไม่ได้ฝึกได้เกลา กลับมานั่งทำอะไรต่ออะไรที่ไม่เข้าท่าอย่างนั้น ทำเป็นเด็กให้ว่ากันบ่อย ๆ ให้นั่งเป็นแถวเป็นแนว จัดแถวก็ยังไม่ได้ คนในเมืองไทยนั่งเป็นแถวก็ยังไม่เป็น นั่งกัน เหมือนอะไรดี ยังไม่เจริญ เรียกว่าจิตใจยังไม่เจริญ ถ้าเป็นคนที่มีความเจริญทางจิตใจนั้น รู้จักจัดตัวว่าจะนั่งอย่างไร นั่งตรงไหน นั่งวิธีใด เขารู้จัก แล้วก็จะเกิดความเป็นระเบียบขึ้นในหมู่นั้นในคณะนั้น เพราะรู้จักนั่ง รู้จักทำ รู้จักยืน รู้จักแสดงออกในรูปต่าง ๆ เป็นคนเจริญ เรียกว่ามีความเจริญทางด้านจิตใจ เดี๋ยวนี้ยังไม่เจริญ
ยิ่งการแต่งตัวนี่ยิ่งไม่เจริญใหญ่เลย เวลานี้คนไทยแต่งตัวไม่เรียบร้อย ดูนักเรียนนักศึกษาแต่งตัวอย่างไร พอออกจากโรงเรียนถอดเสื้อออกจากกางเกง หนีบกระเป๋า แล้วก็เดินทำท่าโฉงเฉง ๆ เป็นนักเลงนะท่าทาง นึกว่าแสดงความยิ่งใหญ่ แสดงความอะไรต่ออะไรอยู่ตลอดเวลา อันนี้ยังไม่มีระเบียบ เดินบนถนนไม่มีระเบียบ ขับรถก็ไม่มีระเบียบ ทำอะไรก็ไม่เอาระเบียบ เอาแต่ใจตัว ทำอะไรตามใจตัว ไม่ถืออะไรทั้งนั้น มันจะเจริญได้อย่างไร เรามีถนนสร้างให้คนเดินเต็มถนนไปหมด มีรั้วกั้นก็ปีนรั้วเข้าไป จะเรียกว่าเจริญได้อย่างไร เหมือนถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อก่อนนี้มีต้นไม้ แต่คนนุ่งกระโปรงสวย ๆ แต่งตัวสวย ๆ แล้วก็เดินข้ามถนนให้รถชนเล่น ทำไมจึงไม่เดินที่เขาให้เดิน เขามีสะพานลอยให้ข้าม แต่เดินไม่เป็น ใต้สะพานก็เดินข้ามไป นี่แสดงว่าจิตใจยังไม่เจริญ คนจิตใจเจริญนั้นเป็นคนที่บังคับใจตัวเองได้ จัดตัวเองได้ ทำอะไรถูกต้องเรียบร้อยดีงาม จะเรียกว่าเจริญ
บ้านคนที่เจริญนั้นเราเข้าไปดูจะมีระเบียบในบ้าน จัดข้าวของวางเป็นที่เป็นทาง อะไรควรวางไว้ตรงไหน ก็วางเป็นที่ บ้านก็สะอาดเรียบร้อย มีห้องแบ่งออกไป เป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องสมุดสำหรับอ่านหนังสือ เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญทางวัตถุด้วยก็จัดอย่างนั้น บ้านมีระเบียบ แต่ถ้าบ้านเล็ก ๆ มีของวางอะไรเป็นระเบียบ ความเป็นอยู่ก็เป็นระเบียบ เรียกว่าเจริญ กินพร่ำเพรื่อ กินไม่เป็นเวลา ก็เรียกว่ายังไม่เจริญในเรื่องการกิน แต่งตัวไม่เรียบร้อย ความเป็นอยู่ไม่มีระเบียบ ก็เรียกว่ายังไม่เจริญอยู่นั่นเอง แต่ผู้ที่เขาเจริญนั้นเขากินเป็นเวลา ไม่ใช่เวลาเขาไม่ให้กิน ร้านค้าร้านขายเขาไม่ได้ขายตลอดเวลา เขาขายเป็นเวลา ตั้งแต่นั่นถึงนั่น พอหมดนั่นเขาก็หยุด เขาปัดกวาดร้านให้สะอาด ล้างถ้วยล้างจานอะไรต่ออะไร พอถึงเวลาเที่ยงก็ขายอาหารกลางวัน คนมากินกันเต็มร้านเลย พอหมดเวลา บ่ายโมงครึ่งเขาก็เลิกขายแล้ว เขาก็ปิดเก็บกวาดล้างถ้วยล้างชามทำความสะอาด รอบเย็นต่อไป เขาไม่พร่ำเพรื่อเหมือนบ้านเรา บ้านเรากินได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ว่าได้ นี่เรียกว่าไม่มีระเบียบในการกินการอยู่ ระเบียบทำงานก็ไม่มี ของเขาธรรมเนียมเขาทำ ๕ วันใน ๑ สัปดาห์ อีก ๒ วัน คือเสาร์หยุด อาทิตย์เขาก็หยุด หยุดจริง ๆ หยุดหมด ปิดร้านหมดเลย พอวันเสาร์นี่ถนนโล่งไปหมด เราจะไปนอนเล่นกลางถนนก็ยังได้ เพราะไม่มีรถวิ่งวันเสาร์วันอาทิตย์ ไม่มีคนเที่ยว ถ้ามีก็วิ่งออกไปนอกบ้านนอกเมือง เขาไม่มาเดินย่ำอยู่ในกรุง เพราะเขาไม่มาทำงาน บ้านเมืองโล่งไปหมด ของเรายังไม่มีระเบียบอย่างนั้น วันเสาร์ก็รถแน่น วันอาทิตย์ก็ยังวิ่งกันอยู่แต่ว่าโปร่งหน่อย ร้านรวงก็ยังขายกันอยู่เป็นปกติ ขายกันคนจะไปซื้อข้าวซื้อของ ร้านใหญ่ ๆ ในเมือง เซ็นทรัลอะไรนี่ก็ยังขาย ในต่างประเทศนั้น ร้านใหญ่ ๆ เขาไม่ขายวันหยุด วันเสาร์เขาไม่ขาย วันอาทิตย์เขาไม่ขาย เขาหยุด หยุดหมด ให้คนพักผ่อน มีระเบียบอย่างนั้น เขามีระเบียบ
บ้านเมืองเจริญนี่คนมีระเบียบ ในการไปในการมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีระเบียบหมด มันก็สบายใจ ใครที่ชอบระเบียบก็ไปอยู่สบาย คนที่ไม่ชอบระเบียบก็เป็นระเบียบกับเขาด้วย เดินก็ต้องไปตามเขา ทำอะไรก็ต้องตามเขา ไปเดินช้าไม่ได้ ต้องเดินไว ทำอะไรต้องก้าวไว ๆ เข้าลิฟต์ ออกจากลิฟต์ ขึ้นบันได เข้าประตู ไวทั้งนั้น มันกลายเป็นระเบียบไปหมด เขาจัดกันอย่างนั้น มันก็สะดวกสบาย ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีใครกีดขวางใคร รถยนต์ก็วิ่งเป็นระเบียบไปตามเลนของตัว ไม่เที่ยววิ่งแซงขวาแซงซ้ายตามอารมณ์ชอบใจ นี่คือเรื่องแสดงความเจริญของจิตใจทั้งนั้น ถ้าจิตใจเจริญ อะไร ๆ ก็เจริญหมด แต่ถ้าจิตใจมันไม่เจริญ อะไรก็ไม่เจริญ ทำอย่างไรจิตใจจึงเจริญขึ้น มันต้องถือหลัก ถือกฎหมายบ้าง ถือธรรมะบ้าง เอาธรรมะไว้เป็นหลักประจำจิตใจ ทำอะไรก็ทำตามแบบมีธรรมะ ไม่ทำอะไรตามชอบใจตัว เสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวมเสียบ้าง อะไรมันก็ดีขึ้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ยุ่งไม่ยาก เพราะเมื่อความเป็นระเบียบเกิดขึ้น มันก็ไปตามแนว ต่างคนต่างไปตามแนว มันไม่ทับกัน ไม่มีการเบียดเบียนกันในการกระทำ มันไปเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ถือระเบียบนี่ก็เกิดขัดกัน เช่น ขับรถไม่มีระเบียบก็เกิดเบียดกัน เกิดชนกัน ทำให้เกิดความเสียหาย คนเดินไม่มีระเบียบ ก็กระแทกขวาบ้างกระแทกซ้ายบ้าง ประเดี๋ยวก็ต่อยปากกัน
๒๐๐ ปีของกรุงเทพฯ นี้ เพราะว่าพาบ้านพาเมืองมาได้ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงกาลบัดนี้ก็ไม่ใช่เล็กน้อย เวลาเป็นร้อย ๆ ปีมันก็ไม่ใช่เล็กน้อย ๒๐๐ ปีนี่อยู่กันมาได้ด้วยความเรียบร้อย ก็น่าคิดเหมือนกัน น่าคิดว่าอยู่มาได้อย่างไร ประเทศไทยนี่อยู่มาได้อย่างไร อยู่มาได้ถึง ๒๐๐ ปีเรียบร้อย เรียกว่าไม่เป็นเมืองขึ้นเขา ไม่เกิดปัญหารุนแรง แม้แต่เกิดบ้างก็เอาตัวรอดปลอดภัยมาได้ อันนี้ควรจะได้พิจารณา ควรจะเอามาพูดกันทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ ทางเครื่องมือสื่อสาร ให้คนได้เห็นว่ามันเป็นมาอย่างไร เขาปกครองบ้านเมืองอย่างไร คนในสมัยก่อนนั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร มีความเคารพกันอย่างไร มีความเสียสละอย่างไร ทำอะไรอย่างไร ศึกษาจากประวัติความเป็นมาของคนเหล่านั้น ที่เขาได้ทำคุณงามความดีเพื่อรักษาประเทศชาติบ้านเมืองมาได้ ด้วยความสะดวกสบาย ในบางครั้งบางคราวน่าจะทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ทำไมเขาไม่ทะเลาะกัน ทำไมไม่เกิดการแย่งชิงกันขึ้นมา เพื่อจะให้ตนได้ตามความปรารถนา
เช่นว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ นี้ เป็นโอรสรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๒ เป็นราชโอรสรัชกาลที่ ๑ นี้ เมื่อรัชกาลที่ ๒ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ ๓ นี้ไม่ใช่พระโอรสที่เกิดจากพระมเหสีใหญ่ คือไม่ใช่พระบรมราชินี เป็นพระสนม แต่ว่าอายุแก่กว่ารัชกาลที่ ๔ เป็น ๑๔-๑๕ ปี จำไม่แน่ แล้วท่านก็มีความรู้ความชำนาญในเรื่องอะไรต่าง ๆ มาก ท่านก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ ๔ นี้เป็นเจ้าฟ้า เป็นพระมเหสีเอก เป็นเจ้าฟ้า น่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พอข้าราชการทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ ก็อยู่ที่ข้าราชการผู้ใหญ่ ประชาชนไม่ค่อยเกี่ยวข้องเท่าไรสมัยนั้น เพราะประชาชนพูดไปแล้วก็เรียกว่ายังไม่ประสีประสา ยังขาดการศึกษา ไม่มีความรู้ในเรื่องการบ้านการเมืองอะไร ก็อยู่ที่พวกข้าราชการผู้ใหญ่ เจ้าพระยา พระยาทั้งหลาย นายทหารที่อยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทเป็นผู้ที่จะออกความเห็นกันว่าควรจะให้ใคร ท่านเหล่านั้นก็เห็นว่าควรจะให้รัชกาลที่ ๓ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตอนนั้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าชื่อทับ พระองค์เจ้าชาย ตอนนั้นชื่อทับ ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็น รัชกาลที่ ๔ เวลานั้นท่านบวช คือไปบวชก่อนไม่กี่วัน รัชกาลที่ ๒ สวรรคต บวชก่อนสวรรคตไม่กี่วัน ในขณะนั้นท่านบวช เพราะท่านก็ต้องมีพรรคมีพวกบ้างเป็นธรรมดา ถ้าท่านดำริว่าเรามันเจ้าฟ้านี่ น่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นั่นมันพระองค์เจ้า ทำไมได้เป็น ไอ้ลูกน้องทั้งหลายก็คงจะเฮขึ้น เพราะว่านายว่าอย่างนั้น ก็ต้องตามไป แต่ว่าท่านไม่ทำอย่างนั้น เพราะอะไรท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านยอมให้ตั้งรัชกาลที่ ๓ เป็นก่อน ท่านก็เลยบวชต่อไปเลย ไม่สึก บวชไปจนกระทั่ง ๒๗ ปี อายุ ๔๗ ปี จึงสึกออกมา สึกออกมาก็เพราะรัชกาลที่ ๓ สิ้นพระชนม์ สวรรคต เมื่อรัชกาลที่ ๓ สวรรคตแล้ว พวกข้าราชการทั้งหลายก็มองเห็นว่า เจ้าฟ้ามงกุฎนี่แหละ ควรจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ก็เลยไปเชิญให้สึก เรียกว่าไปเชิญให้พระสึก พระก็ต้องสึกออกมาครองราชย์สมบัติ ไม่ทะเลาะกัน เมื่อคนกลุ่มใหญ่เห็นตามนั้น ก็ถอยทัพมา
ท่านอยู่ในบรมพระศาสนา ท่านก็ตั้งใจศึกษาภาษาบาลีจนเก่ง แล้วก็ยังเรียนภาษาต่างประเทศคือภาษาอังกฤษ เพราะท่านเห็นว่าต่อไปข้างหน้าเมืองไทยนี่มันต้องคุยกับฝรั่ง ต้องพูดกับฝรั่ง พูดใช้ล่ามนี่มันลำบาก แปลผิดแปลถูก แปลเพี้ยน มันไม่สบายใจ ยืมปากคนอื่นมันไม่สบายใจ ท่านก็มองเห็นว่า มันต้องเรียนภาษาต่างประเทศไว้ เผื่อว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตจะได้สะดวก ท่านก็เรียนในวัด เอาครูฝรั่งมาสอน ก็พวกสอนศาสนาคริสเตียนมาช่วยสอนท่านให้เรียนภาษาอังกฤษ ท่านก็เรียนด้วยความตั้งใจ จนกระทั่งสามารถเขียนจดหมายติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษซึ่งในสมัยนั้นก็เป็นผู้หญิง เขียนจดหมายไปได้ เขามาติดต่อก็พูดจากันรู้เรื่องเข้าใจกันได้ นี่ประโยชน์ที่จะได้ ท่านไปบวชนี่มันได้ประโยชน์ รัชการที่ ๓ ก็ครองเมืองไป รบกับพม่า สร้างบ้านสร้างเมืองไป
แล้วก็ท่านมองเห็นว่าวัดวาอารามนี่มันสวย ยกช่อฟ้าใบระกาปิดทองรอบพระนี่มันแพง ต่อไปข้างหน้ามันไม่สะดวก ท่านจึงทำโบสถ์แบบใหม่ เขาเรียกว่าโบสถ์แบบรัชกาลที่ ๓ เราไปดูได้ตามวัด เช่น วัดราชโอรสนี่ท่านสร้างเอง วัดราชโอรสนี่ท่านสร้างตั้งแต่ยังไม่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝั่งธนวัดจอมทอง วัดราชโอรส สร้างโบสถ์แบบไม่มีช่อฟ้าใบระกา มันประหยัด ซ่อมง่าย แต่ง่าย แล้วก็โบสถ์วัดสามพระยา โบสถ์วัดเทพธิดา หลายวัดทำแบบนั้น ฝั่งธนมาก เป็นแบบพระนั่งเกล้า วัดนี้ก็เป็นแบบพระนั่งเกล้าเหมือนกัน เพราะไม่มีช่อฟ้า ทำแต่เพียงว่าบังลมไม่ให้ลมพัดกระเบื้องปลิว แล้วก็ใช้หินขัด ไม่ต้องปิดทอง การปิดทองนี่มันเปลืองนะ ทองมันดำเร็ว มันถูกแดดถูกลมมันก็ดำ เอาไปไว้กลางแจ้งก็ดำไว ท่านเห็นว่าต่อไปมันจะลำบากก็เลยเปลี่ยนระบบทำวัดแบบนั้น แต่ว่าต่อมา คนก็ไม่เอาอะไรทั้งนั้น คนเขาอยากสวย อยากสร้างโบสถ์สวย ๆ แต่สร้างแล้วไม่ค่อยได้ใช้เท่าไร
เหมือนกับสร้างธรรมาสน์สวย ๆ ขึ้นเทศน์ไม่เท่าไร แต่ว่าธรรมาสน์แพง ธรรมาสน์หลังหนึ่งห้าหมื่นนะ แต่ขึ้นไม่คุ้มราคา เคยไปถามดูว่าเทศน์ทุกวันพระหรือเปล่า นาน ๆ ที แหม..ธรรมาสน์หรูหรา แต่ไม่ค่อยได้เทศน์เท่าไร มันไม่คุ้ม สิ้นเปลืองเงิน ท่านก็คิดอย่างนั้น รัชกาลที่ ๓ ท่านทำอย่างนั้น รัชกาลที่ ๔ ขึ้นเสวยราชสมบัติ ท่านก็เก่งเหมือนกัน คือน้องชายนี่ ท่านก็เป็นเจ้าฟ้าเหมือนกัน พระปิ่นเกล้าเป็นน้องร่วมมารดา ก็ให้เป็นวังหน้า เพราะท่านบอกว่า พระเจ้าแผ่นดิน ๒ องค์ วังหลังองค์หนึ่ง วังหน้าองค์หนึ่ง ให้เป็นเหมือนกัน ไม่ให้น้อยอกน้อยใจ ให้เป็นเสียด้วย แต่อยู่วังหน้า วังที่เดี๋ยวนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ต่างคนต่างช่วยกันทำหน้าที่ บริหารบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
ทีนี้เรานึกไปถึงรัชกาลที่ ๑ นี่ ไปที่ผ่านฟ้า ที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์นั่น สะพานผ่านฟ้าอะไรตรงนั้นเขาเรียก ผ่านพิภพ มันหลายสะพาน ผ่านพิภพลีลา ผ่านฟ้าลีลาศ ๓ สะพาน มัฆวานรังสรรค์ ผ่านพิภพเขาเขียนว่า เราจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี เรื่องนี้สำคัญมาก เรียกว่าเป็นปณิธาน ในวันขึ้นเสวยราชท่านตั้งปณิธานใหญ่ ๓ อย่าง ๑.เกี่ยวกับศาสนา ๒.เกี่ยวกับอาณาจักร ๓.เกี่ยวกับประชาชน สามเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ เป็นนโยบายบริหารประเทศชาติบ้านเมือง แต่ว่าเริ่มต้นด้วยศาสนา แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อนนี้ ยังถือจิตใจเป็นยอดสำคัญ จะอุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนา อันแรก ป้องกันขอบขัณฑสีมา นี่คือรักษาประเทศ รักษาประชาชนแลมนตรี คือประชาราษฎร์ข้าราชการไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข นี่ปณิธานของท่าน อาตมาว่านี่อาจจะไม่เหมือนก็ได้ จำผิดจำถูกมาบ้าง เพราะว่าอ่านเวลารถวิ่ง ไม่ค่อยเรียบร้อย เมื่อก่อนนี่ดูหมด (42.23 เสียงไม่ชัดเจน) นี่แหละเป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสมัยก่อนนี้เขานึกถึงพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องสำคัญ
เราจะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลนี่ สร้างวัดมาก เราสมัยนี้เห็นแล้วบอกว่าวัดมีมากเหลือเกิน มันต้องนึกถึงอดีต ความจำเป็นที่จะต้องสร้างวัด นี่มันเพราะอะไร เพราะว่าวัดมันเป็นโรงเรียน เป็นโรงพยาบาล เป็นสนามกีฬาประชาชน เป็นอะไรทุกอย่าง อะไร ๆ ก็อยู่ในวัดทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรหรอก เช่น การศึกษาอยู่ในวัด เด็กเรียนในวัดทั้งนั้น ลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินก็เรียนในวัด รัชกาลที่ ๑ ท่านก็เรียนในวัด ท่านก็บวชเป็นสามเณร บวชพระ บวชที่วัดมหาทลาย อยุธยา น่าจะไปดูว่าวัดมันอยู่ตรงไหน คงจะทลายไปหมดแล้วล่ะ ชื่อวัดมหาทลาย (43.43 เสียงไม่ชัดเจน) เรียกว่าไปเรียนหนังสือด้วยกัน เรียนพร้อมกันสามคน รัชกาลที่ ๑ พระเจ้าตาก นายบุนนาค เรียกว่า นายทองด้วง นายสิน นายบุนนาค เขาอยู่วัดด้วยกัน เรียนหนังสือด้วยกัน หยอกล้อกันบ่อย เพราะนายสินนี่ท่านชอบไว้เปียยาว เป็นหางเปีย บุนนาคนี่ซุกซนหน่อย นายสินก็นอนอยู่ที่ศาลา นายบุนนาคก็เอาเปียไปผูกไว้กับพื้นกระดานศาลา แล้วก็ทำเอะอะให้นายสินลุกขึ้น พอลุกขึ้นก็ลุกไม่ได้ หางเปียมันติดศาลา พอลุกขึ้นมาได้ โกรธใหญ่ นายบุนนาคนี่เมื่อโตขึ้น ก็ได้เป็นข้าราชการ กรุงแตก กระจัดกระจาย ก็ได้มาพบรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่เป็นเพราะเจ้าแผ่นดิน นายบุนนาคไม่เข้าใกล้ ตลอด ๑๔ ปี ไม่ให้พระเจ้าตากเห็นหน้า กลัวอาชญา กลัวจะนึกถึงความหลังขึ้นมา (45.13 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะคำดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินนี่เป็นคำที่เหมือนเป็นกฎหมาย เป็นคำสำคัญ เพราะอย่างนั้นท่านไม่เข้าใกล้เลย พระเจ้าตากก็ไม่ได้ถามว่าบุนนาคไปไหน นายบุนนาคหลบไปอยู่ไหน ก็อยู่ในบ้านของเจ้าพระยากษัตริย์ศึก รัชกาลที่ ๑ อยู่ด้วยกัน อยู่ในบ้านเดียวกัน ไม่กล้าไปไหนรับใช้รัชกาลที่ ๑ อยู่ตลอดเวลา ไม่ออกไปให้เห็นหน้า ไม่เข้าเฝ้าอะไรทั้งนั้น ท่านก็นึกถึงสมบัติว่าฝังไว้ในกรุงศรีอยุธยา หมดพม่า คิดจะไปขุดเอามา ก็ไปกัน เอาเรือไป ไปขุดทรัพย์ ขุดมาได้แล้วใส่เรือกลับมา มายังไม่ถึงกรุงเทพฯ เจอโจร ก็สู้ เรียกว่าลูกทหารเหมือนกันก็สู้กับโจร ภรรยาตาย แกก็ต้องกระโดดน้ำหนีเอาตัวรอด หนีภัยเอาตัวรอด ก็มาอยู่ในบ้านรัชกาลที่ ๑ อันนี้รัชกาลที่ ๑ มีน้องภรรยา (46.31 เสียงไม่ชัดเจน) พระยามหากษัตริย์ศึก เวลานั้นยังไม่ได้เป็น ก็เลยยกให้แต่งกับนายบุนนาค นายบุนนาคก็เลยสัมพันธ์กัน รัชกาลที่ ๑ ก็เป็นเพื่อนเขยกัน สกุลบุนนาคมันก็สัมพันธ์กับราชวงศ์จักรี เป็นข้าที่รับใช้ใกล้ชิดซื่อสัตย์สุจริตกันมาตั้งแต่โบราณ ต่อมานายบุนนาคก็ได้เป็นเจ้าพระยาเหมือนกัน เมื่อรัชกาลที่ ๑ ครองราชย์ก็ได้เป็นเจ้าพระยา แล้วลูก ๆ ก็เป็นสมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา รับใช้ราชวงศ์จักรีมาโดยลำดับด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือความซื่อสัตย์ต่อกันนี่เป็นเรื่องสำคัญ อยู่กันได้ด้วยความเรียบร้อย
เช่นว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี่ เจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยา ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน (47.35 เสียงไม่ชัดเจน) ท่านสำเร็จทุกอย่าง ถ้าสมมติว่าท่านจะคิดอะไรขึ้นมา รัฐประหารยึดเอาเสียเลยก็ได้ สบาย ๆ สมัยนั้นไม่มีทหารเอก (47.52 เสียงไม่ชัดเจน) ท่านสั่งการได้ทุกอย่าง แต่ไม่เคยคิดอย่างนั้น จงรักภักดีต่อในหลวง รัชกาลที่ ๔ ที่ได้แต่งตั้งตนมา นึกถึงความหลังครั้งอดีต ตระกูลนี้กับราชวงศ์จักรีสัมพันธ์กันอย่างไร ทำอะไรก็ทำให้เรียบร้อย จนรัชกาลที่ ๕ บวชเป็นพระ เดือดร้อนก็ลาสิกขา ลาสิกขาก็บอกกับสมเด็จเจ้าพระยาบอกว่า ฉันโตแล้ว ฉันได้บวชได้เรียนแล้ว ฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินเต็มที่ได้แล้ว ก็ช่วยงานต่อไป ด้วยความจงรักภักดีก็อยู่ได้ บ้านเมืองอยู่ได้ก็เพราะว่ามีความพร้อมเพรียงกัน จงรักภักดีต่อกัน ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน แล้วก็ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว มุ่งประโยชน์ส่วนรวม ทำอะไร ๆ คิดอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
สมัยก่อนนี้พระเจ้าแผ่นดินมักจะมีลูกมาก จำเป็น เพราะว่าลูกมากนี่จะได้ใช้ พวกมากดีกว่าไม่มีพวก ละพวกไหนจะดีเท่าลูกของตัว จึงมีลูกมาก ๆ แบ่งหน้าที่ให้ทำ งานนั้นงานนี้ รัชกาลที่ ๔ นี่ พระโอรสพระธิดา ๗๐ กว่า พระโอรสพระธิดาของรัชกาลที่ ๔ นี่ เฉพาะพระโอรสนี่เก่งทั้งนั้น ทำงานเก่ง ช่วยงานประเทศชาติ รัชกาลที่ ๕ ท่านก็มีพระราชโอรสหลายพระองค์ ก็ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองเก่ง ๆ มาทั้งนั้น เช่น กรมหลวงราชบุรี กรมพระกำแพงเพชร กรมหลวงนครชัยศรี กรมพระจันทบุรีนฤนาถ รับหน้าที่ไปคนละด้านเลย ทำอย่างดี ทำด้วยความตั้งใจ ท่านเหล่านี้ (50.08 เสียงไม่ชัดเจน) อะไรทั้งนั้น ซื่อสัตย์สุจริต รักเกียรติรักชื่อเสียง ทำงานด้วยความตั้งใจ บ้านเมืองก็เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ด้วยดี เพราะอาศัยโอรสที่มีความรู้ มีความสามารถ ส่งไปเล่าเรียนต่างประเทศให้มีความรู้ทันสมัย แล้วมาช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้า อย่างที่เราทราบอยู่ในสมัยนี้
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ราษฎรที่ได้รับการศึกษา มีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องการบ้านการเมืองก็ขอรัฐธรรมนูญ ท่านก็ให้ (50.56 เสียงไม่ชัดเจน) ใครไปดูที่พระอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๗ ลองอ่านให้ดี อ่านคำที่ท่านตรัสให้ดี เราเต็มใจยกอำนาจให้แก่ประชาชน ไม่ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ใจความอย่างนั้นว่า เราไม่ได้ยกให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อำนาจยกให้แก่ประชาชน ไม่ได้ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ นี่ท่านเขียนไว้ดี ต่อมาเขียนไว้ที่แผ่นหินเป็นตัวสวยงาม ให้รู้ว่าน้ำพระทัยของพระองค์นั้นเห็นแก่ประชาชน ไม่ได้ให้แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้รับไปแล้วก็ไปกกไปกอดสงวนไว้ใช้แก่พวกตัวเป็นไปอย่างนั้น ให้ประชาชน ให้ประชาชนปกครองบ้านเมืองกัน จะได้อยู่กันก้าวหน้า พวกเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้รับมาแล้ว ไม่เข้าใจ คือไม่ได้ทำให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ต่างคนต่างก็กำมันไว้ (52.10 เสียงไม่ชัดเจน) กำกันต่อไป แย่งกันไปแย่งกันมา จนไม่เรียบร้อย บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ไม่เป็นประชาธิปไตยที่เรียบร้อย ไม่เหมือนกับประเทศใกล้เคียงบางประเทศ เช่น มาเลเซียพอเขาได้อิสรภาพจากอังกฤษ เขาก็มีการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ ใครเสียงข้างมากก็ได้ไปตามรัฐธรรมนูญ พอครบวาระแล้วก็เปลี่ยน เลือกตั้งกันใหม่ พรรคใดมีอำนาจก็เอาไป ก็ทำอย่างนั้น รัฐธรรมนูญเขาฉบับเดียว เขาไม่ใช้เปลืองเหมือนบ้านเรา ไอ้บ้านเรานี้ใช้ค่อนข้างเปลืองอยู่ เพราะมันตั้งหลายฉบับ แล้วเมื่อเปลี่ยนการปกครองนี่มีหลัก ๖ ประการ หลัก ๖ ประการนี้ไม่มีเรื่องศาสนา มีแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรต่ออะไร ไม่มีเรื่องศาสนาเลย ผิดกับของรัชกาลที่ ๑
รัชกาลที่ ๑ หลักสามประการ ๑.บำรุงศาสนา ๒.บำรุงประเทศ ๓.บำรุงประชาชน แล้วหลักสามประการนี่ก็ใช้มาทุกรัชกาล พอถึงรัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนการปกครอง แต่ว่าใน ๖ นั้นไม่มีเรื่องศาสนา ไม่มีเรื่องส่งเสริมด้านศาสนาด้านศีลธรรม แต่ว่าส่งเสริมเรื่องอื่นไป แล้วเราก็เห็นว่าเป็นกันอย่างไร สภาพสังคมไทยเป็นอย่างไร
เวลานี้เป็นอย่างไร เราฉลอง ๒๐๐ ปีกันแล้ว ก็ควรจะได้มาคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่มันก้าวหน้า เจริญงอกงามทางด้านจิตใจ ด้านสังคมให้มันก้าวหน้าไปกว่านี้ ไม่ใช่สนุกกัน ๓ วัน ๗ วัน แล้วก็ปิดไป แล้วมันก็เหมือนเดิม เรียกว่าเหมือนเดิม เรียกว่าฉลองกันไม่ได้เปลี่ยนแปลง การฉลองที่แท้ มันต้องมีความคิด พิจารณาเปลี่ยนแปลง ทำอะไรให้มันดี ให้มันก้าวหน้าขึ้น จึงจะเป็นการชอบการควร
วันนี้เอาเพียงเท่านี้ก่อน พอสมควรแก่เวลา ญาติโยมมาก็แสดงความยินดีด้วย ที่เรามาฉลองกันที่วัดในวันนี้ พรุ่งนี้ก็มาฉลองกันอย่างนี้อีก ก็เทศน์ให้ฟัง ๑ ชั่วโมง เรียกฉลองกันแบบนี้ แล้วก็ออกไปพิมพ์หนังสือเป็นที่ระลึก ในการฉลอง ๒๐๐ ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ต่อไป วันนี้ก็จบเรื่องเพียงเท่านี้ ขออวยพรให้ท่านทั้งหมดทั้งหลายจงเจริญก้าวหน้าในทางธรรมะจนทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ ต่อนี้ไปก็นั่งสงบใจ นั่งสงบใจแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่เราทั้งหลายได้กระทำมาอันยาวนานนี้ ถวายอดีตบูรพกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีพระพุทธยอดฟ้า พระพุทธเลิศหล้า พระนั่งเกล้า พระจอมเกล้า พระจุลจอมเกล้า พระมงกุฎเกล้า พระอานันทมหิดลที่ล่วงลับไปแล้วทุกพระองค์ จงมารับเอาส่วนบุญทั้งหลายที่เราได้ทำกันในคราวฉลองกรุงเทพฯ นี้ ตามสมควรแก่ฐานะ เชิญนั่งเจริญใจ