แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ที่เดินไปเดินมาก็หยุดเสียที นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ และจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการฟังตามสมควรแก่เวลา เวลานั่งฟังนี่ก็นั่งให้สงบ มือไม้ก็วางให้มันอยู่กับที่ อย่าไปเที่ยวซุกซนหยิบนั่นหยิบนี่ของเก้าอี้ เพราะว่าเก้าอี้บางตัวที่ปูข้างหลังมันขาดหายไป ก็คนนั่งฟังเทศน์นั่งมือไม่สุขเลย แกะนั่นนั่งแกะนี่เรื่อย ๆ หลุดไปหลายตัวจากเก้าอี้แล้ว วันนี้อย่าไปยุ่งกับเรื่องอะไร เอามือวางไว้บนตัก มันจะได้ไม่ยุ่ง แล้วก็ตั้งใจฟังให้เป็นสมาธิ เพื่อจะให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังอย่างแท้จริง
มาดูนี่ ดินฟ้าอากาศมันสะลืมสะลืออย่างไรพิกล บางวันก็มีแดด บางวันก็มีฝน แสดงให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ที่เราสวดมนต์อยู่ว่า “สัพเพ สังขารา อนิจจา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง นั่นแหละดูดินฟ้าอากาศมันก็บ่งชัดอยู่แล้ว ว่าไม่เที่ยง ไม่ได้มีแดดอยู่เสมอไป ไม่ได้ฝนตกอยู่ตลอดเวลาเสมอไป บางครั้งก็ไม่มีฝน บางครั้งก็มี บางครั้งก็มีแดดส่องจ้า แต่บางครั้งก็มืดไป เหมือนกับว่าไม่มีดวงอาทิตย์ส่องโลกอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีสภาพเช่นนั้น
พระพุทธเจ้าจึงบอกให้เรารู้ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ทีนี้เราจะต้องดู ต้องศึกษา คือหลักการที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นเรียกว่าเป็นทฤษฎี เป็นแนวความคิด ที่ให้เราเอามาคิดพิจารณา ถ้าเราอ่าน เราท่องได้ เช่น ท่องได้ว่า
“สัพเพ สังขารา อนิจจา” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
“สัพเพ สังขารา ทุกขัง” สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา” ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ถ้าเพียงแต่ท่องได้ จำได้ ยังไม่พอ เราจะต้องหมั่นคิดพิจารณาให้เห็นชัดว่า มันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันไม่มีตัวตนอย่างไร อันนี้ต้องพิจารณาตลอดเวลา สิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานั้น เป็นครูของเรา เป็นสิ่งที่เน้นให้เรารู้ เราเข้าใจ ของสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ดังนั้น เราจะต้องเรียนจากต้นไม้ ใบไม้ จากดินฟ้าอากาศ จากบุคคล จากเหตุการณ์ อะไร ๆ ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราเรียนจากสิ่งเหล่านั้น คือได้เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้พบสิ่งใด ขอให้นำสิ่งนั้นเข้าหาธรรมะ ถือเอาธรรมะมาเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราหมั่นตรวจสอบพิจารณา เราก็จะได้ปัญญาเพิ่มขึ้น ได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
คนในสมัยก่อนนั้น เขารีบออกจากบ้าน จากเรือนไปอยู่ในป่า ก็เพื่อไปหาความสงบเงียบ เพราะว่าความสงบนี่มันช่วยให้จิตใจสงบ เพราะในป่านั้นเป็นการอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีเสียงรบกวนหู ไม่มีรูปอื่น ๆ นอกจากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติกวนตา และไม่มีอะไรมากระทบประสาทอื่น ๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นศัตรูรับอารมณ์ มันมีอารมณ์ตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่เหมือนอารมณ์ในเมือง ในเมืองนั้นเราพบสิ่งต่าง ๆ ที่มีการปรุงแต่ง ให้มีสีต่าง ๆ กัน ให้มีเสียงต่าง ๆ กัน ให้มีรูปต่าง ๆ กัน ให้มีรสต่าง ๆ กัน นั่นเขาเรียกว่า สิ่งปรุงแต่ง มีอยู่ในเมืองมากมาย แล้วเราก็ไปเห็นสิ่งนั้น ได้ยินสิ่งนั้น ได้ดม ได้ชิม ได้จับ ได้ชอบ ก็เกิดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องเหล่านั้น ติดพันอยู่ในเรื่องเหล่านั้น อยากมี อยากได้ในเรื่องนั้น ๆ เราก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจเกิดขึ้น ทีนี้เมื่อเห็นว่าอยู่ในเมืองมันวุ่นวาย มีปัญหามาก เขาก็แยกตัวเข้าไปอยู่ในป่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่สงบเงียบ มีแต่เรื่องธรรมชาติล้วน ๆ ต้นไม้ก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ลำห้วย ลำธาร ก็เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เสียงที่ปรากฎก็เป็นเสียงนกที่ร้องอยู่ตามธรรมชาติของนก เราได้ยินเสียงนกไม่เกิดอารมณ์อะไร ได้เห็นสีแสงของใบไม้ก็ไม่เกิดอะไรในจิตใจ สภาพใจไม่ถูกปรุงแต่งให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ ไม่เหมือนกับเราอยู่ในบ้านในเมือง เราได้เห็นสิ่งนั้น ได้พบสิ่งนี้ สิ่งนั้นมันก็ยั่วยวนชวนใจ ทำให้เกิดการปรุงแต่ง เรียกว่ามีสังขารขึ้นในใจของเรา ปรุงแต่งให้เกิดความกำหนัด ให้เกิดความขัดเคือง ให้เกิดความลุ่มหลง ให้เกิดความมัวเมา ในสิ่งเหล่นั้น จิตใจวิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่ตามอารมณ์ วิ่งตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีความสงบสุข คือมันไม่เป็นสุขเพราะมันต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลา เหมือนคนไปวิ่งแข่งกัน นี่มันไม่มีความสุขฉันใด เพราะว่าแข่งกันไม่ใช่ว่าแข่งเฉย ๆ แต่ว่าแข่งจะเอาสตางค์กันด้วย เหมือนข่าวที่ว่าที่จันทบุรีเขาวิ่งแข่งกัน วิ่งแข่งกันแล้วก็มีคน ๒ คน คนหนึ่งคือ กำนันเป๊าะ อีกคนหนึ่งเป็นคนร่ำรวยเมืองจันทน์ ก็เรียกว่าเมืองชลกับเมืองจันทน์ก็ไปวิ่งแข่งกัน เขาเรียกว่าวิ่งการกุศล คือวิ่งแล้วจะได้เก็บสตางค์จากคนดูอะไร บำรุงการกุศล พอได้เงินถึง ๓ แสน แต่ว่าคนวิ่งนั้นมันไม่มีจิตเป็นกุศล คือไปวิ่งแข่ง แล้วก็เกิดการพนันกันขึ้น พนันก็ไม่ใช่เล็กน้อย พนันกันตั้งล้าน เรียกว่าวางมัดจำกันลงไปล้าน ต้องเอาเงินไปฝากธนาคารไว้
๑. ไม่งั้นเดี๋ยววิ่งแพ้แล้วมันไม่ให้เงินนี่ เรียกว่าเบี้ยว จะเกิดปัญหา
๒. เงินไปฝากธนาคาร ให้ธนาคารรับประกันไว้ว่า เงินอันนี้ จำนวนนี้
ทีนี้พอวิ่งเข้าจริง ๆ นี่ คนที่ชื่อกำนันนี่แกสู้คนโน้นไม่ได้ คือแกเป็นลมไม่ถึงจุดหมาย คนโน้นถึงจุดหมาย ก็ต้องเสียเงินไป นี่ก็เรียกว่าวิ่งอกุศล ไม่มีกุศลแล้ว แต่ถ้าเราไปวิ่งเพื่อเสียสละเงินสำหรับเอาไปสร้างนั้นสร้างนี้ ก็เรียกว่าวิ่งเป็นกุศล นาน ๆ ช้า ๆ น่าจะจับวิ่งที่วัดชลประทาน เรียกว่าวิ่งการกุศลหาเงินสร้างโรงเรียน แล้วห้ามการพนันขันต่อ ให้วิ่งกันเฉย ๆ แล้วคนวิ่งต้องบริจาคทรัพย์ คนมาดูคนวิ่งก็ปิดประตูเก็บสตางค์ตรงประตู จะได้เงินเข้าโรงเรียน อย่างนั้นเป็นกุศลแท้ แต่ถ้าไปมีเรื่องการพนันขึ้น มันก็ไม่เป็นกุศล ทำให้เกิดเป็นปัญหา อันนี้มีอยู่บ่อย ๆ ในเมืองไทยเรา นิสัยการพนันนี่มันมีมาก ไม่มีอะไรก็ต้องเอาพนันกันไหมล่ะ พนันกันไหมล่ะ นี่มันเป็นอกุศล ไม่เป็นตัวกุศลเสียแล้ว คนในเมืองก็เป็นอย่างนั้น ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าไปปรุงแต่งขึ้น แต่ว่าธรรมชาติในป่านี่มันสงบเงียบ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นการปรุงแต่ง ให้เราคิดอย่างนี้
บางครั้งบางคราวเราไปเที่ยวป่า ไปเที่ยวที่เงียบ ๆ สงบ ๆ มีน้ำไปนั่งริมห้วย หรือที่มีน้ำตก แต่ว่าไม่ใช่น้ำตก คนพลุกพล่าน น้ำตกเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ค่อยสงบเท่าใด เพราะว่ามีคนไปเที่ยวกันมาก เช่น น้ำตกนางรอง น้ำตกสาริกา อะไรนี่นะ คนก็ไปเที่ยวกันมาก ถ้าเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์ อันนี้เราไม่ไปที่อย่างนั้น เราเป็นผู้ชอบหลีกเลี่ยง หลีกลี้ไปจากหมู่คน ออกไปอยู่ที่เงียบ ๆ ถ้าเราไปนั่งอยู่ในที่เงียบ เราจะรู้สึกว่ามันสงบ มีความสุขเกิดขึ้นในใจ ความสุขอย่างนี้มันเป็นความสุขแท้ เรียกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากรีบ ๆ จากกายสงบ จากวาจาสงบ จากใจสงบ ทางที่จะเกิดกายสงบ วาจาสงบ ใจสงบนั้น ต้องได้สถานที่ที่สงบเป็นเครื่องช่วย เพราะว่าเรายังไม่ชำนาญต่อการทำจิตให้สงบ ฉะนั้นต้องหาที่สงบเสียก่อน เมื่อได้ที่สงบแล้ว เราก็ไปนั่งอยู่ในที่เหล่านั้น ไม่มีอะไรรบกวนประสาท ไม่มีรูปผ่านเข้าตา ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสอะไรที่เกิดจากการปรุงแต่ง เราก็จะพบว่าสภาพจิตสงบ เมื่อมีความสงบท่านจะรู้สึกว่าเป็นสุข สุขนี้ก็เรียกว่าสุขเกิดจากความสงบ สุขในใจที่จะเสมอความสุขที่เกิดจากจิตสงบนั้นไม่มี
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า “สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี” ความสงบนั้นเป็นสุขแท้ของชีวิตของเรา เราจะนั่งอยู่อย่างนั้นแล้วมันก็เป็นสุข บางทีก็นั่งลืมไป ลืมรับทานอาหาร เพราะว่าไปเพลินกับความสุขที่มันเกิดขึ้นในจิตใจ อาจจะป่ามีบ้าง ถ้าเราไปทำอย่างนั้น ไปหาที่สงบในรูปนั้น แต่ว่าในบ้านเรานี่มันหายากเหมือนกัน ที่สงบอย่างนั้น แปลว่าเราไปนั่งสงบกลัว กลัวผู้ร้ายจะมาจี้ มาปล้น เพราะผู้ร้ายมันก็ชอบไปจี้คนในที่เปล่าเปลี่ยวเหมือนกัน เลยมันไม่สบายใจ เพราะไม่มีไม่สงบอย่างนั้น เราจึงต้องหาความสงบในบ้าน ทำบ้านของเราให้มีสภาพสงบ เช่นว่าบ้านอยู่เรามีกำแพงกั้น มีประตูปิด แล้วเรานั่งอยู่ในบ้านของเรา ถ้าเป็นบ้านที่อยู่ห่างไกลถนนใหญ่ ก็จะรู้สึกว่ามันเงียบ ถ้าเราอยู่คนเดียว ไม่มีใครมารบกวน เราอาจจะได้สัมผัสกับความสงบเหมือนกัน จะรู้สึกว่ามีความสุขในขณะที่เรานั่งอยู่ในห้องคนเดียว ถ้าสมมติว่าเรามีห้องพระในบ้านของเรา เราทำไว้ให้เรียบร้อย สะอาดสะอ้าน มีระเบียง พอเข้าห้องก็ปิดประตู แล้วก็นั่งสงบจิตสงบใจ จะได้พบกับความสงบเหมือนกันในสภาพเช่นนั้น
แต่ว่าเรามาวัด แต่ว่าวันอาทิตย์นี่คนมันมาก มันมากแต่ก็หามุมสงบได้ เราไปนั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง หันหน้าเข้าที่ไม่มีอะไรรบกวน เช่นนั่งใกล้กำแพง ก็หันหน้าเข้ากำแพง นั่งใกล้ต้นไม้ ก็หันหน้าเข้าหาต้นไม้ เอาต้นไม้เป็นกำบัง แล้วก็นั่งหายใจสงบ เราจะรู้สึกว่ามันมีความสุขเกิดขึ้นในใจ ความสุขนี้คือความสุขที่เกิดจากไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจของเรา ใจเราก็มีความสุข คนเราหาความสุขได้ ๒ แบบ
ความสุขอย่างหนึ่งนั้นต้องอาศัยเครื่องล่อ เครื่องจูงใจ เขาเรียกว่า อามิสสุข อามิสสุขนั้นต้องมีเครื่องประกอบตลอดเวลา สุขด้วยการดู ก็ต้องมีรูปให้ดูตลอดเวลา สุขด้วยการฟัง ก็ต้องมีเสียงให้เราฟัง เช่น เสียงเพลง เสียงกล่อม เสียงขับ ให้ตลอดเวลา สุขด้วยกิน ก็ต้องมีอิ่ม ให้ดม ให้จมตลอดเวลา สุขด้วยรส ต้องมีอาหารกิน ต้องมีเครื่องดื่ม ต้องมีอะไรอมเล่น ไม่ใช่อิ่มแล้วก็ต้องอมไว้ตลอดเวลา แล้วก็เป็นความสุข เหมือนคนที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือว่าชอบเคี้ยวปลาหมึกแห้ง เคี้ยวยุบยับ ยุบยับเรื่อยไป หรือว่าเคี้ยวถั่วลิสง เคี้ยว ๆ อะไรต่าง ๆ ที่มันมีมัน ๆ เค็ม ๆ อะไรนะ ก็นั่งเคี้ยวเรื่อยไป เขาก็รู้สึกว่าสบายใจเหมือนกัน
แต่ว่าความสบายใจนั้น มันเกิดจากเครื่องปรุงแต่ง เราต้องหาเครื่องมาปรุงตลอดเวลา มาปรนเปรอความอยากอยู่ตลอดเวลา มันก็ไม่จบไม่สิ้น มันสู้ความสุขประเภทไม่ต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องปรุงเครื่องแต่งไม่ได้ เราไม่ต้องลำบากเที่ยวแสวงหาเครื่องประกอบ เพียงแต่เราไปนั่งแล้ว มันก็สงบ พอสงบแล้วเราก็มีความสุขทางใจเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่พอจะหาได้ ความสุขที่เต็มไปด้วยอามิสมันต้องลงทุน แสวงหาเครื่องประกอบ แต่ความสุขที่เกิดจากสงบนั้น ไม่ต้องลงทุนอะไร เพราะความสงบนั้นมันมีอยู่ในใจของเราแล้ว โดยธรรมชาตินี่ จิตมันสงบ มนุษย์เราโดยธรรมชาติมีความสงบ แต่ว่าเมื่อมีอะไรมาปรุงมาแต่ง มันก็เกิดความสับสน วุ่นวาย เกิดเป็นปัญหาขึ้นในจิตใจของเรา แล้วเราก็ไปปิดความสุขอย่างนั้น ไปปิดความสุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แล้วก็ชินกับสิ่งนั้น เมื่อไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่สบายใจ เช่น คนเคยอยู่ในบ้าน ในเมืองนี่ มันมีอะไรมากให้ดู ให้ชม แต่พอไปอยู่ในป่าที่เงียบ ๆ จะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเลย และก็จะเกิดเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรน่าดู น่าชม
คราวหนึ่งมีคนไปเที่ยวสวนโมกข์กันหลายครอบครัว ครอบครัวหนึ่งมีลูกไปหลายคน ลูกไปนอนคืนเดียว เด็กก็รบกวนพ่อแล้ว บอก “ไม่เห็นมีอะไรเลยพ่อ ที่นี่” ไอ้คำว่า “ไม่เห็นมีอะไร” ก็เพราะว่า ไม่มีรถ ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรต่ออะไรที่เขาต้องการ แล้วก็บอกว่า “นอนคืนเดียวก็พอนะ ไปเที่ยวบ้านดอนดีกว่า มันจะได้มีอะไรบ้าง” พ่อก็ตามใจลูก เลยมาบอกว่า “ผมพักคืนเดียวพอแล้ว แต่ความจริงผมก็อยากจะอยู่หลายคืน รู้สึกว่าสบายดี แต่ว่าลูกเขาไม่ชอบ มันบอกมันเงียบเกินไป ไม่มีอะไร ก็เลยต้องไป” แสดงว่า เด็กเหล่านั้นเขาติดอยู่ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่ปรุงแต่ง เมื่อไม่มีสิ่งปรุงแต่ง เขาก็อยู่ไม่ได้ เลยต้องไปหาที่อึกทึกครึกโครมต่อไป
เพราะฉะนั้น เราได้ยินคนบางคนพูดว่า “มันเงียบเกินไป น่ากลัว กลัวความเงียบ” ความจริงความเงียบนี่ไม่น่ากลัวหรอก ความเงียบนี่ไม่น่ากลัว เพราะความเงียบไม่เป็นพิษแก่ใคร ไม่เป็นภัยแก่ใคร ไอ้ความไม่เงียบน่ะ มันเป็นพิษ เสียงนี่เป็นพิษ รูปก็เป็นพิษ กลิ่นก็เป็นพิษ รสอาหารก็เป็นพิษ สิ่งที่จับต้องได้มันก็เป็นพิษ แต่ความไม่มีอะไรคือ ความเงียบนั้น ไม่เป็นพิษเป็นสงแก่ใคร แต่ว่าจิตใจของคนที่ยังไม่เคยสัมผัสกับความเงียบ เคยสัมผัสแต่ความอึกทึกครึกโครมด้วยสิ่งนั้น ด้วยสิ่งนี้ พอไปอยู่ในที่เงียบเข้า รู้สึกว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยวใจ จะพูดภาษาชาวบ้านว่า มันเซ็งไป เลยอยู่ไม่ได้ ต้องมาหาที่อึกทึกครึกโครมต่อไป เรื่องความเคยชินไม่ใช่เรื่องอะไร เคยชินกับสิ่งเหล่านั้น แต่ถ้าว่าทนอยู่ต่อไปสักหน่อย ก็จะเคยชินกับความเงียบ พอเคยชินกับความเงียบแล้ว ถ้าออกมาอยู่ในที่อึกทึกครึกโครม ไม่พอใจอีกแล้ว จิตใจไม่สบาย ทำให้เกิดปัญหาต่อไป
เพราะฉะนั้น คนเราถ้าไปอยู่ในที่เงียบ สบายใจ พอมาอยู่ในที่อึกทึกครึกโครม ไม่สบายใจ อันนี้ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่เข้าถึงจุดที่ถูกต้อง ที่ต้องการ ถ้าบุคคลใดไปอยู่ในที่เงียบ มีความสุขใจ แล้วออกมาอยู่ในที่อึกทึกครึกโครม ต้องไม่รำคาญ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ สภาพจิตเป็นปรกติ อันนี้ใช้ได้ เรียกว่าคนนั้นใช้ได้แล้ว สภาพจิตคงที่ และมีปัญญา มีสติ ที่จะควบคุมจิตใจของตัวเองไว้ ไม่ให้เกิดกระทบกระเทือนจากสิ่งแวดล้อม อย่างนี้ใช้ได้ ห้ามกินเปล่าว่า โยคี ฤาษี อยู่ในป่า มีความสงบเงียบแล้วก็เป็นสุข แต่พอเข้าในเมืองก็เกิดความรำคาญ แสดงว่าจิตใจของพระฤาษีตนนั้น ยังไม่ดี ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่มีปัญญาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังใช้สติไม่ทันท่วงที จึงได้เกิดความรำคาญ แต่ถ้าหากว่ามีฤาษีตนใด ไปอยู่ในป่าที่สงบเงียบ แล้วเข้าไปในเมือง จิตก็เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มากระทบกระทั่งเท่าใดก็ได้ จิตใจก็ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยสิ่งเหล่านั้น มีความวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบ ไม่ขึ้น ไม่ลง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ต่อสิ่งที่มากระทบนั้น หรือมีฤาษีตนนั้น เป็นผู้มีจิตใจคงที่ ไปอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่มีความรำคาญตอนนั้น อันนี้เป็นเครื่องวัดจิตใจเราเหมือนกัน
ถ้าสมมติว่าคุณโยมคนใดก็ตาม ปลีกจากครอบครัว ลูกหลานมาอยู่วัด พอมาอยู่วัดก็บอกว่า “แหม! สบายดี เจ้าคะ ไม่วุ่นวาย” อย่างนี้ก็อยู่สักเดือน อยู่สักเดือน แล้วก็ลากลับบ้าน พอไปถึงบ้านก็กลุ้มใจแล้ว กลุ้มใจเสียงนั่น กลุ้มใจลูก กลุ้มใจหลาน รำคาญ อันนี้เรียกว่ายังใช้ไม่ได้ ยังฝึกฝนไม่พอ ยังใช้ไม่ได้ ถ้าเปรียบเหมือนกับม้าหรือช้าง ที่เราหัดเชื่องในทุ่งนา หรือในป่า แล้วเราก็ขับขี่เข้าเมือง พอเข้ามาในเมืองก็ได้ยินเสียงรถ ได้ยินเสียงคน ช้างม้านั้นก็วิ่งเตลิดเปิดเปิงไปเลย วิ่งหางลู่ไปเลย ช้างนั้นยังใช้ไม่ได้ ยังฝึกฝนไม่เต็มที่ แต่ไม่สามารถควบคุมช้างนั้นให้อยู่ในสภาพที่นิ่งได้ แต่ว่าช้างสุรินทร์ก็มาเที่ยวเดินอยู่ในตลาด นั่นมันใช้ได้ ช้างมันเชื่องจริง ๆ ไปเดินในตลาด ในถนนที่มีจารจรคับคั่ง มันไม่ตื่น ไม่ตื่นเต้นต่อสิ่งแวดล้อม มันก็เดินเฉย ๆ ของมันไปตามเรื่อง ควานก็นั่งอยู่บนหลังคอยเคาะมันนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ต้องรุนแรง มันก็ไปเรียบร้อย ช้างนั้นอยู่ในทุ่งอย่างไร อยู่ในเมืองอย่างนั้น ก็เรียกว่าใช้ได้
คนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามาฝึกฝนอบรมจิตใจในที่สงบเงียบ เช่น มาเจริญภาวนา แต่พอกลับไปถึงบ้าน แหม! กูรำคาญจริงโว้ย อย่างนี้ไม่ไหว ต้องกลับมาทำใหม่ ต้องมาฝึกกันใหม่ เพราะยังไม่เหมาะที่จะออกไปสู่สนามรบ ทหารที่ฝึกหัดแล้ว ไม่มีข้าศึกศัตรูใจก็มั่นคงดี แต่พอออกสงครามเกิดขย้อนขย้อว่ากลัว ทหารนั้นยังใช้ไม่ได้ จิตใจไม่มั่นคง ทหารที่มีจิตใจมั่นคงนั้น แม้ไม่มีข้าศึกจิตใจก็สงบ มีข้าศึกก็คงที่ ไม่หวาดกลัว ไม่สะดุ้ง ไม่ขนพองสยองเกล้า อันนี้ทหารนั้นใช้ได้ ฉันใด
โยคาวจร หมายถึงว่า ผู้ประพฤติธรรมมาฝึกฝนในการเจริญภาวนา ไปอยู่ในป่า อยู่ในถ้ำ ในที่เงียบ ๆ เป็นเวลาหลายวัน หรือว่าหลายเดือน แต่พอเข้าเมืองจิตใจฟุ้งซ่าน พอไปประสบอะไรเข้าจิตเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม โยคีหรือฤาษีตนนั้นต้องรีบกลับป่า อย่าอยู่ในเมืองต่อไป เพราะถ้าอยู่ต่อไปแล้ว จิตจะกลับไปสู่ความเสื่อมได้ทันที ต้องไปป่าตั้งตัวใหม่ เรียกว่าไปซุ่มซ้อมกันใหม่ ซุ่มซ้อมให้ได้ที่แล้วมาทดสอบอีก กลับมาอีกที มันเป็นยังไง เข้าเมืองมาในที่พลุกพล่าน มาพบปะผู้คนมาก ๆ แล้วจิตใจสงบไม่เปลี่ยนแปลง ใช้ได้ คนนั้นเรียกว่าใช้ได้แล้ว เป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้วในทางจิตใจ อยู่ที่ไหนอยู่ได้ สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน เช่น เรื่องอาหาร อาหารสมบูรณ์ อาหารไม่สมบูรณ์ ไม่เดือดร้อน อาหารอร่อย ไม่อร่อย ก็ไม่เดือดร้อน ที่อยู่อาศัย ให้อยู่ตรงไหนก็นอนได้ หลับได้ ไม่ลำบาก ไม่เดือดร้อนอะไร นอนได้ หลับได้ ก็เรียกว่าจิตใจคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อมมีอย่างไร จิตใจก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้นั้นควรจะเข้าเมืองได้ ควรจะอยู่ในสังคมได้
เหมือนช้างม้าที่ฝึกฝนดีแล้ว ออกสู่สนามรบได้ฉันใด จิตใจคนที่ได้ไปฝึกฝนอบรมอย่างดีแล้ว เวลาเข้าบ้านเข้าเมืองก็ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดกลัว ไม่สะดุ้งต่อสิ่งอะไรต่าง ๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีจิตใจคงที่ สงบ อยู่ได้สบาย อันนี้เรารู้ได้ด้วยตัวเอง คนอื่นบอกไม่ได้ เพราะคนอื่นก็ไม่รู้ว่าเราคิดอะไร เราพูดอย่างไร เรามีสภาพจิตใจอย่างไร แต่ตัวเราเองรู้ได้ว่า อะไรเกิดขึ้นแล้ว จิตใจเราเป็นอย่างไร เรามีความสะดุ้งกลัว มีความเป็นอะไรขึ้นในใจเรา เรารู้ ถ้ารู้สึกว่ามันมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็แสดงว่ากำลังใจยังไม่เข้มแข็ง สติยังไม่พอ ปัญญาก็ยังไม่พอ เราจึงหวั่นไหวไปตามคลื่นของสิ่งแวดล้อม เราก็ถูกมันโยกไปโยกมาเหมือนกับต้นไม้ถูกลม แกว่งไปแกว่งมาอยู่ตลอดเวลา เราไม่เป็นเหมือนเสาหินที่ลมพัดเท่าใด เสาหินนั้นไม่โยกไม่ผุ ยังใช้ไม่ได้ ต้องฝึกฝนอบรมต่อไป จึงจะอยู่ในโลกแต่พอได้ แม้บุคคลประเภทที่เป็นนักบวช เช่นว่าเป็นอาจารย์สอนภาวนา ถ้าหากว่าอยู่ในที่สงบเงียบก็ไม่เป็นไร แต่พอคลุกคลีกับคนมากเข้า เอ้าแล้ว! จิตใจเปลี่ยนแปลงไปมาก จนกระทั่งก็สิกขาลาเพศไป นี่แสดงว่ายังไม่ถึงขั้น จิตใจยังไม่ถึงขั้น ความสงบมันยังไม่ถึงขั้น ปัญญาไม่ถึงขั้น สติก็ไม่ถึงขนาด จึงพ่ายแพ้ต่ออารมณ์และสิ่งแวดล้อม มีสหายกันอยู่ในรูปอย่างนี้ มีอยู่ไม่ใช่น้อย
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องคอยสังเกตดูตัวเราเอง เช่นว่าเราอยู่ในป่าเราไม่โกรธใคร ไม่โกรธเพราะว่ามันไม่มีอารมณ์ยั่วให้สู้ เราก็ไม่โกรธใคร แต่พอเข้าบ้านเข้าเมือง คนนั้นพูดยั่วอย่างนั้น คนนั้นพูดยั่วอย่างนี้ เอ้า!เข้าตัวแล้ว ก็แสดงว่ายังไปไม่ได้ ใช้ไม่ได้ อันนี้ก็มีตัวอย่าง คุณโยมคนหนึ่งที่เชียงใหม่ แกมาพูดว่า
“เฮ้ย ฉันหมู่นี้ไม่มีอะไรแล้ว ฉันไม่ยึดไม่ถืออะไรแล้ว ฉันไม่โกรธใคร เคืองใครแล้ว” พูดอย่างนั้นเลย
โยมคนหนึ่งแกได้ฟัง แกก็ยิ้ม ๆ แกยิ้ม แกอยากทดสอบน้ำใจของโยมคนนั้นว่าขนาดไหน เลยแกพูดว่า “แหม หมู่นี้ไอ้พวกผิดเพี้ยนนี่ มันทำอย่างนั้น มันทำอย่างนี้ มันโจมตีพระพุทธศาสนา หาว่างมงายบ้าง มันว่าพุทธบริษัทอย่างนั้น อย่างนี้” พูดแล้วก็ฟัง เดี๋ยว ๆ โยมคนนั้นพูดขึ้นมาแล้ว โกรธขึ้นมาแล้ว บอกว่า
“ไอ้พวกนี้มันใช้ไม่ได้ มันใจร้าย อย่างนั้น อย่างนี้” เลยโยมที่พูด
“เอ้า เมื่อกี้นี้ว่าไม่ยึดถือแล้ว แล้วทำไมจึงโกรธเคืองขึ้นมาอีกล่ะ” แกว่า
“โอ้ ลืมตัว”
นี่แหละที่เรียกว่า พูดออกไปแล้วว่าไม่ยึดถือ ไม่โกรธแล้ว พอเขาพูดชวนไปพูดเรื่องอื่น พูดไป พูดมา พูดเพื่อให้โกรธ พูดขึ้นมาทันที นี่ก็เรียกว่า สติไม่มี ความควบคุมตัวเองไม่มีพอ จึงได้เกิดอาการเช่นนั้นขึ้น ฉะนั้น ถ้าเราพูดออกไปอย่างนั้นแล้ว เราก็ต้องมีสติ ไม่โกรธ คอยคุมตัวเองไว้ เขาจะพูดอะไรก็ต้องนึกว่าเราไม่เอาเป็นอารมณ์ เราไม่ยึดถือ เราไม่โกรธ ไม่เคือง เราไม่ดีใจ เราไม่เสียใจ กับเรื่องนั้น เราจะอยู่เฉย ๆ ถ้าเตือนตัวเองว่าอย่างนั้น ใครจะพูดยั่วอย่างไร ก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีสติคอยกำกับ พูดภาษาง่าย ๆ ว่าเรารู้สึกตัว ว่าเขาจะพูดให้เราโกรธ หรือพูดให้เราเจ็บใจ ช้ำใจ เราจะไม่เจ็บ เราจะไม่ช้ำใจ เราจะไม่โกรธ เราจะไม่น้อยใจ เราเตรียมตัวไว้อย่างนั้น ถ้าเตรียมตัวไว้ได้ในรูปอย่างนั้น ใครจะพูดยั่ว เราก็เฉย ๆ อย่างนี้ก็เพียงยิ้มเยาะอยู่ในใจว่า “ว่าไปเถอะ ฉันไม่โกรธหรอก เพราะว่าฉันรู้แล้วว่า คุณจะทำให้ฉันโกรธ” อย่างนี้ก็เพียงแต่ยิ้มเยาะอยู่ในใจว่า “ว่าไปเถอะ ฉันไม่โกรธหรอก เพราะว่าฉันรู้แล้วว่า คุณจะทำให้ฉันโกรธ” เราก็ไม่โกรธ เพราะเรารู้ล่วงหน้า อย่างนี้ก็เรียกว่า มีสติ
ไอ้ตัว “สติ” นี่มันสำคัญนักหนา ที่เราจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา” แปลง่าย ๆ ว่า “สติเป็นสิ่งที่จะต้องใช้ทุกเมื่อ” ต้องใช้ทุกเมื่อ ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกอิริยาบถ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะยึดแขนเข้า จะเหยียดแขนออก จะหยิบนั่น จะหยิบนี่ ต้องทำด้วยสติ คือทำด้วยความรู้ตัว ไม่ได้ทำเพราะไม่รู้ ทำเพราะไม่รู้น่ะ มันยุ่ง แต่ทำเพราะรู้แล้ว เรารู้ เราได้ทำสิ่งนั้นแล้ว มีอาการบางอย่างเกิดขึ้นในตัวเราบ้างหรือไม่ ยกตัวอย่างว่า เราปิดประตูเสร็จแล้ว ใส่กุญแจเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าเวลาปิดประตูใส่กุญแจ เราไม่ได้รู้ คือเราไม่ได้สำเหนียกในขณะนั้นว่า เราปิดประตู เราใส่กุญแจ แล้วเราก็เดินไป บางทีก็ขึ้นรถแล้ว ขึ้นรถแล้ว บอก จอด ๆๆ ก่อน บอกให้เขากลับมา กลับมาแล้วขึ้นไปบนบ้าน ดึงประตูออก อ้อ! ใส่แล้ว ความจริงใส่ตั้งนานแล้ว แต่ว่ามายืนดูว่าใส่แล้วหรือยัง แล้วก็ใส่แล้ว ก็เดินลงไปขึ้นรถ ไปต่อไป ถ้าเขาถามว่า ทำไมกลับไป ไอ้จะบอกว่า นึกว่าไม่ได้ใส่กุญแจ มันก็ไม่เข้าท่า เลยไม่รู้อะไร นั่งเฉย ๆ เพื่อไม่ให้ตำหนิ อาการเช่นนี้เรียกว่า ลืมใส่กุญแจลิ้นชัก ทั้งที่ใส่แล้ว หรือบางคนนึกว่าใส่กุญแจลิ้นชักหรือยัง กองของจากตู้ที่ซื้อเอาออกมาใช้ ลั่นกุญแจหรือยัง ความจริงก็ใส่แล้ว ล็อคกุญแจเรียบร้อยแล้ว แต่ว่ายังกังวลว่าล็อคแล้วหรือยัง ทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง ทำสิ่งนี้แล้วหรือยัง อย่างนี้มีบ่อยหรือไม่ ในตัวเราแต่ละคน อาจจะมี ถ้ามีอาการเช่นนี้ขึ้น แล้วก็มีบ่อย ๆ ระวัง แต่ว่ายังกังวล มีกังวลเพราะอะไร เพราะขณะที่ทำสิ่งนั้น เราไม่รู้ตัว เราไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกตัว ว่าเราได้ใส่กุญแจ ได้หยิบข้าวของ ได้ปิดหน้าต่าง ได้ปิดประตูแล้ว เราใส่แล้ว ยังนึกขึ้นได้เราปิดหรือยัง ต้องมาดู ใส่กุญแจแล้วยัง ต้องมาดู นี่ มันทำให้ยุ่งใจอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ในการฝึกหัดนี่ เวลาเราจะทำอะไรนี่ ให้รู้ตัว รู้ตัวว่ากำลังปิดประตู กำลังล็อคกุญแจ ถอดกุญแจใส่กระเป๋า ทำแล้ว รู้ว่าทำแล้ว แล้วเมื่อทำเสร็จแล้วเราไปก็ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องไปคิด เอ๊ะ ปิดประตูหรือเปล่าเมื่อตะกี้ เอ๊ะ ใส่กุญแจแล้วหรือเปล่า เมื่อตะกี้นี้ นี่มันเป็นอย่างนี้ อันนี้ทำให้เกิดปัญหา ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็จะเป็นเกิดปัญหา แล้วจะเกิดอารมณ์เสียขึ้นในจิตใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเช่นนี้ เราจึงต้องหัดใช้สติทุกเวลานาทีที่เราจะทำอะไร เช่นเราจะหยิบอะไร ก็ต้องยื่นมือออกไป ก็ให้รู้ว่าเรากำลังยื่นมือไป จับนาฬิกา ยกขึ้นมาใส่ในย่าม ให้รู้ตัว ให้ทำรู้ตัวไว้ เราเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไอ้เรื่องผิดนี่เรื่องอะไรใหญ่ เห็นว่าเล็กน้อย เพราะมันใหญ่ทั้งนั้น มันสำคัญทั้งนั้น เมื่อเราทำลงไปในเรื่องใดบ่อย ๆ สิ่งนั้นมันจะเกาะจับในใจของเรา เราสะสมอะไร เราก็จะได้สิ่งนั้น เช่น เราโกรธบ่อย ๆ ก็นิดหน่อยไม่เป็นไร ต่อไปจะเป็นคนมักโกรธ ใจร้อน ใจเร็ว เรามักง่ายบ่อย ๆ ต่อไปก็จะเป็นคนมักง่าย เราทำอะไรหุนหันพลันแล่นบ่อย ๆ ต่อไปก็จะมีอาการเช่นนั้น อาการต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในตัวเราจนชินนั่นแหละ คือสิ่งที่เราทำบ่อย ๆ สะสมมันบ่อย ๆ แล้วมันก็เกิดอาการเช่นนั้นขึ้นในตัวเรา อันนี้มันสำคัญ ทั้งดี ทั้งชั่ว ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นเรื่องสำคัญ
เพราะฉะนั้น การฝึกจิตของเรา เราจึงต้องตั้งใจทำ จะลุกขึ้นก็ให้ลุกขึ้นด้วยความรู้สึกตัว นั่งลงก็ให้รู้สึกว่าเรากำลังจะนั่ง คือให้ทำความรู้สึกว่า ฉันกำลังจะนั่ง จะนั่งแล้ว แล้วจะไปหยิบอะไรมานั่งลงไปแล้ว ก็ให้ทำความรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ มีอีกอาการหนึ่ง อาจจะเคยเป็นกันได้บ่อย ๆ ถือของไว้อันหนึ่ง แล้วก็วางไว้ วางแล้ว พอต้องการ อันนี้วางไว้ตรงไหน เที่ยวหาให้วุ่นเลย เพราะว่าเวลาเราวาง เราไม่รู้ว่าเราวางไว้ตรงนั้น วางเฉย ๆ โดยไม่ได้มีสติกำหนดว่า ฉันวางของไว้ตรงนั้น แล้วก็ไปทำสิ่งอื่น ทำไป หรือว่าต้องการขึ้นมา เอ้า เอาไว้ตรงไหน เที่ยวหา เที่ยวรื้อ เที่ยวค้น ค้นไปค้นมามันก็อยู่ตรงนี้เอง มันอยู่ที่แจ้ง ๆ ที่ง่าย ๆ แต่ว่ามันไม่พบ เพราะว่าเราไม่ได้รู้ตัวในขณะที่เราวางของนั้น แล้วเราก็เที่ยวแสวงหา คนสวมแว่นตา ลืมแว่นบ่อย ๆ บางทีไม่ลืมไว้ตรงไหน ลืมไว้ที่หน้าผากตัวเอง เรียกว่าสายตายกขึ้นไปวางไว้ เที่ยวหา เที่ยวหาไป หามา เจ้าหลานชาย
“คุณปู่หาอะไร”
“โอ้ ไม่รู้กูวางไว้ตรงไหน”
“อะไร คุณปู่หาอะไร บอกหนูจะได้ช่วยหา”
“แว่นตา”
“เอ้า ก็อยู่ตรงหน้าผากคุณปู่”
“อ๋อ งั้นหรือ”
รีบเอาลงมาสวมต่อไป นี่เรียกว่าคุณปู่ขี้ลืม เวลายกแว่นออกจากตามาวางบนหน้าผาก ไม่รู้ ไม่ได้นึกว่ากูเลื่อนแว่นไว้ที่หน้าผาก แล้วจำไม่ได้อะไร มันอยู่ที่หน้าผาก แล้วเที่ยวหาทั่วไป หาไป หามา หลานบอกว่า ก็อยู่ที่หน้าผากคุณปู่ อ้าวนี่ คนบางคนที่สวมแว่น คงจะขี้ลืม เอาเชือกผูกคอเลย ไปไหนก็ผูกคอมันไว้ แว่นจะได้ไม่หาย ไม่เผลอวางต่อไป ผูกคอไว้เลย เอาแว่นผูกคอไว้ด้วย วางไว้แล้วมันขี้เผลอบ่อย ๆ เลยผูกคอไว้เสียดีกว่า มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นได้ยังไง อาการอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเมื่อเราทำ เราไม่รู้ตัว เราไม่มีสติในเรื่องนั้น เราทำลงไปด้วยความเผลอ ด้วยความประมาท ฉะนั้น จึงต้องฝึก กำหนดรู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร กำลังทำอยู่ ทำแล้ว เราก็กำหนดไว้อย่างนั้น ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ สติจะดีขึ้น ความหลงลืมก็จะหายไป ความเผลอเลอในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ก็จะหายไป ไม่มาเล่นงานเรา ต่อไปเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องกังวลกับสิ่งเหล่านั้น จึงต้องฝึกเหมือนกัน เขาเรียกว่า สติปัฏฐาน ที่เราได้ยินพระท่านสอนว่า สติปัฏฐาน คือเอาสติตั้งไว้ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ สติตั้งไว้ในเรื่องที่จะดู ที่จะฟัง ที่จะทำอะไรทุกอย่าง เคลื่อนไหวอิริยาบถทุกอย่าง จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะยึดแขนเข้า จะเหยียดแขนออก จับอะไร หยิบอะไร คอยกำหนดรู้
ดังนั้น คนที่ปฏิบัติฝึกสติ เขาให้ฝึกสติเวลาไปเจริญภาวนา ภาวนาเรียกว่าฝึกสติ เขาเรียกว่าไปภาวนาอยู่ในขั้นฝึกสติ จะต้องทำเวลาจะยื่นมือไปต้องคอยกำหนดรู้ เคลื่อนไหวช้า ๆ คือจะได้รู้ตาม จับก็ต้องรู้ ยกเข้ามาก็ต้องรู้ ทำอยู่อย่างนั้น ยื่นแขนต้องรู้ เข้ามาต้องรู้ นี่ฝึกทุกแบบเหมือนกับนักเรียนเขียนหนังสือใหม่ ขีดเส้นบรรทัด แล้วให้เขียนในระหว่างบรรทัด อย่าให้ออกไปนอกบรรทัด แต่ถ้าเราเขียนชำนาญแล้ว กระดาษไม่มีบรรทัด เราก็เขียนได้เรียบร้อย เส้นตรงไม่มีบรรทัดเพราะเราชำนาญแล้ว แต่ว่าเด็กนั้นมันยังไม่ชำนาญ ต้องขีดเส้นเอา เขียนบรรทัดนี้ เว้นหนึ่งบรรทัดแล้วก็เขียน มันก็เขียนไปตามเส้นบรรทัด หนังสือก็เรียบร้อยฉันใด คนเราที่ฝึกสติก็ต้องทำอย่างนั้น จะจริงเห็นว่าคนที่ฝึกสตินี่ เดินช้า เคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้า ๆ ที่ทำช้านั้นก็เพราะว่า จิตคอยกำหนด บางทีมันกำหนดไม่ทัน คู้เข้าคู้ออก มันจะกำหนดได้อย่างไร หยิบของ วางของ หุนหันพลันแล่น อาการไม่เรียบร้อย แต่ถ้าเราหยิบช้า ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ สติมันคอยกำหนดได้
ความจริงคนไทยเรานั้น ได้สอนลูกหลานให้มีสติอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่โบร่ำโบราณมา เขาเรียกว่าสอนวิชาความเป็นผู้ดีให้แก่เด็ก นั่งให้เรียบร้อย เดินเรียบร้อย กินข้าว ตักข้าวเข้าปาก บดข้าวต้องเรียบร้อย เขาสอนมาให้มีกิริยามารยาทเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะทำอะไร จะนุ่งผ้า สวมเสื้อ จะเดิน จะนั่ง จะเคลื่อนไหวอิริยาบถของร่างกาย สิ่งนี้เป็นภูมิธรรม เป็นวัฒนธรรมของคนไทย สิ่งเหล่านี้มันมาจากไหน ก็มาจากธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่สอนให้มีสตินั่นเอง เขาจึงสอนให้ทำอย่างนั้น โบราณนั่งเขาสอนเวลานั่งให้นั่งตัวตรง นั่งแบบขัดสมาธิ คนไทยเราสมัยก่อนไม่มีเก้าอี้ ไม่มีโต๊ะอาหาร ก็นั่งกับพื้น วางบนโตก บนพาน ถ้าเป็นคนที่มีฐานะหน่อย ก็มีโตกทองเหลืองวางกับข้าว ก็ทำด้วยทองเหลืองเรียกว่า โตกพื้นพานมาวางไว้ แล้วก็นั่งตัวตรงรับทานอาหาร เวลารับประทานอาหารก็ทานช้า ๆ เคลื่อนไหวช้า ๆ เคี้ยวช้า ๆ ไม่ให้เมล็ดข้าวหล่นตกลงข้างที่นั่ง เช่น เปิบข้าวไม่ให้เมล็ดข้าวตก ตกไม่ได้ เพราะสมัยเป็นเด็ก ๆ คุณยายดุนักหนา เวลาทานข้าวนี่ ถ้าข้าวตกสักเมล็ดหนึ่ง คุณยายดุทุกที บอกว่าไม่เรียบร้อย อย่าให้ข้าวหก ข้าวนี่เป็นของมีค่าสำหรับชีวิต เป็นแม่ของเรา ให้ตกไม่ได้ ต้องกินให้หมดทุกเมล็ด ถูกสอนให้ว่าเป็นสิ่งที่ควรเคารพ ข้าวนี่ ความจริงนั้นท่านต้องการให้เรากินเรียบร้อย ไม่มุมมาม ไม่เปรอะ ไม่เปื้อน ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย นี่เป็นเรื่องการศึกษาให้มีมารยาทนั่นเอง ให้มีมารยาทเรียบร้อย
เพราะฉะนั้น คนไทยเรานี่ ถ้าไปในสังคมชาวต่างประเทศ ชาวต่างประเทศเขาจะเห็นว่าคนไทยนี่ มีกิริยามารยาทนุ่มนวล เรียบร้อย น่าคบหาสมาคม ญี่ปุ่นนี่อีกชาติหนึ่ง ที่เขารับวัฒนธรรมจากพระพุทธศาสนาไปอบรมจิตใจ คนญี่ปุ่นเขารับรองว่าเขาที่มีความเจริญก้าวหน้าทุกแง่ทุกมุม เพราะธรรมะในพระพุทธศาสนา เขานับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่เหมือนเรา วิธีการไม่เหมือนเรา แต่หลักคำสอนนั้นในส่วนลึกก็เหมือนกัน อริยสัจ ๔ มรรค ๘ การฝึกอะไร ๆ เหมือนกัน แต่ว่ามีพิธีอะไรบางอย่างซึ่งแตกต่างออกไปเล็ก ๆ น้อย ๆ มันเป็นส่วนปลีกย่อย เนื้อแท้เหมือนกัน เขาได้เอาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้เป็นวัฒนธรรมของชาติ เราจึงเห็นว่าคนญี่ปุ่นนั้น เวลาช้าก็ช้า เวลาไวก็ไว แต่ไวอย่างมีสติ ไม่ได้ไวอย่างลืม ลืมนั่นมันไวโดยไม่มีสติ เรา จึงเห็นเป็นอาการลุกลี้ลุกลนไป
แต่ว่าความเคลื่อนไหวของคนที่มีสตินั้น แม้ไวก็มีจังหวะ ช้าก็มีจังหวะ ทำอะไรน่ะเรียกว่ามีจังหวะคือเขามีสติคอยควบคุมการกระทำ จะเคลื่อนไหวแต่อิริยาบถนี่จะดูช้า เรียบร้อย จะเห็นว่าพิธีการเลี้ยงน้ำชา เขาถือว่าเป็นเรื่องอวดแขกกันเลยทีเดียว เลี้ยงน้ำชาเป็นเรื่องอวดแขก ผู้หญิงที่เป็นคนรินน้ำชา ต้องมีท่าอย่างนั้น รินน้ำชาไม่ให้หกไม่ให้เลอะพื้น และก็น้ำชาก็ต้องมีสี มีกลิ่นพอเหมาะพอดี รินแล้วไปแจกคนนั้น แจกคนนี้ คนรับแจกก็ต้องดื่มด้วยท่าทางอย่างนั้น ต้องดื่มให้หมดถ้วย แล้วก็วางถ้วย เขามีท่าหลายอย่าง มีจังหวะ เรียกว่าการฝึกสตินั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร ฝึกให้รู้จักใช้สติ กำกับอยู่ตลอดเวลา อาการหุนหันพลันแล่นไม่มี แต่ถ้าถึงบทจะว่องไว เช่น ทหารรบทัพจับศึก เขาเล่นกีฬาเขาก็ทำได้ เขาว่องไวได้เหมือนกัน แต่ว่องไวอย่างมีสติ ไม่ได้ว่องไวอย่างหุนหันพลันแล่น มันเป็นการว่องไวมีสติ มันก็มีจังหวะดี แต่ถ้าว่องไวด้วยอาการหุนหันพลันแล่น จังหวะไม่เรียบร้อย เมืองที่นับถือพระพุทธศาสนา เขาเอาระบบของพระพุทธเจ้าไปใช้ คือเอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไปฝึกจิต ฝึกกิริยามารยาท ฝึกการกิน การอยู่ ทุกอย่างเขาเอาไปใช้ เขาเจริญก้าวหน้าเพราะได้อาศัยธรรมะเหล่านี้เป็นพื้นฐานทางจิตใจ
เมืองไทยเราก็ได้ใช้มาพอสมควร แต่ว่ามาในตอนนี้มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เรียกว่ามันเกิดการปะปนกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ตะวันตกนั้นชักจะแรง แต่ว่าไม่ใช่ตะวันตกส่วนดี ตะวันตกส่วนที่ไม่ค่อยจะดีเท่าใด เข้ามาปะปนในกิริยามารยาทของคนไทยเรา ทำให้คนไทยเปลี่ยนสภาพไป แทนที่จะอ่อนโยน อ่อนน้อม กลายเป็นแข็ง ๆทื่อ ๆ ไป นี่เราไปรับเอาของตะวันตกมาใช้ เพราะรับไม่เป็น รับไม่ถูก เอามาใช้มันก็ผิด ความจริงนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ รัชกาลที่ ๕ เป็นสมัยที่เราเริ่มรับแต่ของตะวันตกมาใช้ พระองค์จะต้องพิจารณาว่าอะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะแก่นิสัยคนไทย แล้วถ้าจะให้คนไทยทำอะไร ซึ่งเป็นแบบต่างประเทศ ต้องมีคำอธิบายยืดยาว เขาเรียกว่าราชปรารภแก่เหตุการณ์นั้น ๆ แม้จะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่ง ก็มีราชปรารภยาว สมัยนี้ไม่ค่อยมีราชปรารภอย่างนั้น ออกกฎหมายก็ออกกันเลย เขียนออกมาเลย แต่ว่าสมัยก่อนนั้นเหมือนพ่อปกครองลูก จให้ะลูกทำอะไรก็ต้องอธิบายว่าทำไมจะต้องทำอย่างนั้น ทำไมจึงต้องวางกฎอย่างนั้น ทำไมจะต้องวางระเบียบอย่างนี้ แยบยล เพราะทำอะไรแยบยล ไม่ได้ทำอย่างง่าย ๆ อธิบายให้เข้าใจว่า ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น มีความจำเป็นอย่างไรที่เราจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้คนเข้าใจ ความจริงคนสมัยนั้นไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ เพราะว่ารู้หนังสือน้อย แต่ก็เขียนไว้ยืดยาว เพื่อประโยชน์แก่คนชั้นหลัง เพื่อให้เห็นว่าคนสมัยก่อนนั้น เขาทำอะไรเขามีเหตุผล เขาไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ แต่ว่าใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงให้ทำอย่างนั้น เช่น ให้เปลี่ยนนุ่งกางเกง เปลี่ยนการหมอบเฝ้า เป็นนั่งเก้าอี้ ก็มีราชปรารภอย่างยืดยาว
ถ้าไปเที่ยวที่บางปะอิน จะไปเห็นวัด ๆ หนึ่ง เขาเรียกว่า วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดนั้นน่ะ ถ้าดูแล้วนึกว่าวัดฝรั่ง โบสถ์ก็มียอดเหมือนโบสถ์ฝรั่ง กุฐิก็เป็นของแบบฝรั่ง ฝรั่งทั้งนั้น ฝรั่งทั้งนั้น แต่ถ้าเข้าไปในโบสถ์จะไปเห็นว่ามีหินแผ่นหนึ่ง เขียนอธิบายไว้ลงในแผ่นหินว่า ทำไมทำอย่างนี้ ไม่ได้นิยมชมชอบระบบฝรั่งอะไร แต่ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อทำให้มันแปลก ๆ ให้เป็นของสำหรับชวนดู ชวนชม เท่านั้นเอง ท่านปรารภไว้ ให้รู้ว่าที่ทำอย่างนั้นเพราะอะไร ไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ แต่ทำด้วยมีเหตุมีผล จึงได้ทำอย่างนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ว่า คนโบราณนั้นเขารอบคอบ เนื่องจากทำอะไรนั้นไม่ได้ทำด้วยอารมณ์ แต่ทำด้วยสติปัญญา คิดแล้วจึงทำ คนอื่นจะไม่เข้าใจก็ต้องอธิบาย ให้รู้เรื่องให้เข้าใจความหมายว่าทำไมจะต้องทำอย่างนี้ ความจริงในสมัยนั้น ท่านมีอำนาจเด็ดขาด เป็นสมบูรณาญาสิทธิราช สั่งฆ่าคนก็ได้ ขังคนก็ได้ คำพูดของพระเจ้าแผ่นดินนี่เป็นกฎหมาย พูดออกไปแล้วเป็นกฎหมาย ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ท่านพูดก็ไม่เป็นกฎหมาย กฎหมายต้องออกจากสภา แต่ว่าสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินพูดเป็นกฎหมายเลยทีเดียว
พระพุทธบาทที่สระบุรีนั้นมีที่ดินมากเหลือเกิน ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออกไกลมาก คนชาวบ้านเข้าไปยึดครอง ทำนา ทำสวน ทำอะไรก็ไปเป็นชั่วอายุคน สองอายุคนแล้ว ท่านสมภารที่ไปอยู่ใหม่เอาที่ดินเหล่านี้มาเป็นของวัด ท่านฟ้อง ฟ้องเจ้าของที่ดินเหล่านั้นนะชนะทุกราย ชนะจนไม่ต้องแพ้แล้ว เวลานี้ถ้าไปเอ่ยปากว่านี่มันดินวัดนะ เขาบอกให้ผมเช่าก็แล้วกัน ต้องยอมแล้ว ก็เพราะฟ้องคดีไหนชนะคดีนั้น ทำไมจึงชนะ อ้าว!พระบรมราชโองการของพระเจ้าทรงธรรมที่ได้ออกพระราชโองการไว้ว่า ทิศเหนือจากพระพุทธบาทยาวเท่านั้นเป็นของวัด แล้วไม่ใช่ยาวเพียงกิโลเดียว ก็กว้างยาวไว้ตั้งเยอะอยู่ ไม่ใช่เล็กน้อย มันตั้ง ๔๐๐ เส้น ๓ โยชน์มันตั้ง ๑,๒๐๐ เส้น มันกินมาจนถึงเมืองสระบุรี มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ เข้าไปในป่าดงพงพี นิคมพระพุทธบาทเอาที่วัดพระพุทธบาทไปตั้งเยอะแยะ สมภารแกต้องเสียค่าเช่างอมแงมไปตาม ๆ กัน เอาพระราชโองการมาใช้ พระเจ้าแผ่นดินพูดอะไรเป็นคำเด็ดขาด แล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง คือ คนนั้นเป็นคุณหลวงสอนหนังสือดี พระองค์ทรงชมเชยว่า ครูสอนดีให้รับเงินเดือน ๙๐ บาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้ ๙๐ บาทไปจนตาย ไม่ได้ขึ้น ขนาดกระทรวงจะขึ้นก็ไม่ได้ เพราะว่าในหลวงมีพระราชโองการให้ ๙๐ เท่านั้น ลดก็ไม่ได้ เวลาออกบำนาญก็ต้อง ๙๐ อยู่นั่นแหละ ลดไม่ได้ ได้ ๙๐ จนตาย ก็เพราะในหลวงไปพูดชมว่า ครูสอนดี ให้รับเงินเดือน ๙๐ บาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลยรับอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงได้เลย นี่แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินพูดเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้น ท่านไม่ค่อยพูดอะไร พูดน้อย ไม่ได้พูดถึงไม่ได้หรอก เช่นพูด ไอ้นี่เอาไปตัดหัว ไม่ถามก็ไปตัดเสียจริง ๆ พูดเล่นไม่ค่อยได้ มาทำพูดเล่นไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินต้องพูดคำจริง คำแท้ อยู่ตลอดเวลา มีสติพูด มีสติทำ มีสติในทุกเรื่อง เผลอไม่ได้ เผลอมันเป็นอำนาจขึ้นมา เกิดความเสียหาย มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น คนโบราณเขารับฝึกธรรมะ ฝึกสติ ฝึกให้มีปัญญา อยู่ตลอดเวลา สมัยนี้เราก็ต้องใช้อย่างนั้น ฝึกลูก ฝึกหลาน ให้มีสติ ให้รู้จักควบคุมตัวเอง ให้รู้จักบังคับตัวเอง ไปตั้งแต่ตัวน้อย ๆ อย่าตามใจมากเกินไป อย่าปล่อยมากเกินไป แล้วก็จะสอนยากเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราต้องเด็ดขาด ไม่ได้ก็ต้องไม่ได้ ได้ก็ต้องได้ ให้เป็นคนซึ้งต่อคำพูดที่ได้พูดออกไป เด็กก็จะเข้าใจว่า อ๋อ ถ้าแม่พูดว่าไม่ได้แล้วไม่ได้จริง ๆ ถ้าได้แล้วก็ต้องได้ ไม่ใช่ว่าชั่วโมงนี้พูดว่าไม่ได้ ปะเดี๋ยวเดียวได้ เด็กก็จะว่า เฮ้อ ไม่ได้สักที แล้วมาได้แล้ว ทีหลังก็อย่างนี้ แล้วก็จะไม่กลัว เพราะว่าเราเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเร็วเกินไป ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีระบบสำหรับชีวิต มันก็เกิดเป็นปัญหา เรื่องอย่างนี้ก็สำคัญ
เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน จะทำอะไรอย่าทำด้วยความเผลอ ความเผลอนั้นภาษาธรรมะเรียกว่า ประมาท ปมาทะ บาลีว่าคำว่า ปมาทะ พอมาแปลงเป็นไทยว่ามี “ประ” ขึ้นหน้า ประมาทก็คือ เผลอนั่นเอง เผลอไม่มีสติในขณะนั้น ก็เรียกว่าเราประมาท
“ปมาโท มจฺจฺโน ปทํ” ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
“อปฺปมาโท อมตํ ปทํ” ความไม่ประมาทเป็นความไม่ตาย
ไม่เสียหาย ไม่แตก ไม่หัก ไม่บุบ ไม่สลาย ถ้าเราไม่ประมาท เราทำทุกอย่างเรียบร้อย แต่ถ้าเราเผลอไป เราประมาทไป สิ่งทั้งหลายไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นต้องหัด เวลานั่งอยู่จะลุกขึ้น ก็ต้องลุกขึ้นด้วยสติ นั่งลงด้วยสติ เดินด้วยสติ เดินด้วยสติก็ไม่ไปเตะกระโถน ไม่ชนถังน้ำ ไม่มีอะไรเสียหาย พอมีสติเดิน ก็เดินเรียบร้อย คนเดินด้วยสติก้าวมีจังหวะเรียบร้อย ไม่หุนหันพลันแล่น เรียกว่ามีสติกำกับ สติจึงเป็นเครื่องช่วยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปด้วยความถูกต้อง มีระเบียบเรียบร้อยในชีวิตประจำวัน นี่เป็นเรื่องที่ควรฝึก เราฝึกในที่สงบก่อน แล้วต่อไปเราก็ไปไหนด้วยความมีสติ ขับรถด้วยความมีสติ เปิดประตูรถ ลงจากรถก็ด้วยความมีสติ ไม่มีสติมันก็ไม่ได้ เหมือนกับเขาเล่าว่า นายพลคนหนึ่ง สมัยนั้นเขามีเรือบินแบบเรือบินน้ำ อันนี้เรือบินมันลงได้ในน้ำ ลงได้บนบก พอไปถึงบนบกเขาบอกว่ายังลงไม่ได้ ให้นั่งไปก่อน เขาจะไปลงที่สนามบินน้ำ พอไปถึงสนามบินน้ำ แกเปิดประตูแกก็ลงพัวะเลย จนนึกว่าบนบก แกเลยจมน้ำไป ทุกคนก็เลยต้องไปช่วย เรียกว่าเผลอสติไป เผลอสติลงไปในน้ำ แล้วก็บนบก นี่ก็ไม่ได้ นี่เพราะเผลอ รู้ไหม นั่งเพลิน ๆ ลุกขึ้นลงไปเลย ไม่ได้ ไม่ได้ คนเรามักจะมีอาการเช่นนั้นบ่อย ๆ เพราะไม่ได้อบรมสติไว้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้อบรมบ่มสติ บ่มปัญญา เพื่อให้ชีวิตเป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วยดี
ดังแสดงมาในวันนี้ ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็เรามาหัดสติกันอีกล่ะ อบรมสติด้วยการกำหนดที่ลมหายใจ หายใจเข้า รู้ หายใจออก รู้ คือหัดสติเหมือนกัน เผลอ ไม่อยู่ที่ลมแล้ว ไปตลาดแล้ว ไปบ้านแล้ว ไปโน่นแล้ว ต้องอยู่ที่ตรงนี้ ก็อยู่ที่ลมเข้า ลมออก อย่าให้ไปไหน เป็นเวลา ๕ นาที เอ้า เชิญได้