แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ดูญาติโยมน้อยไปหน่อย คงจะไปดูประกวดรถบุปผชาติ คือว่าเขารถมาแล้วก็ประดับประดาด้วยดอกไม้หลายสีและก็วิ่งไปตามบนถนน ถ้าเรานั่งนึกว่ามันเรื่องของรถ เรื่องดอกไม้ เรื่องคน และก็เคลื่อนไหวได้ นั่งนึกภาพเอาที่บ้าน ไม่ต้องไปดูก็ได้ เพราะว่าไปดูก็อย่างนั้น เรียกว่าดูเพื่อผ่านพ้นไป ไม่มีอะไรมั่นคงถาวรอะไร
ดอกไม้ที่จัดนั้น ดอกไม้มาก ลงทุนมาก จ่ายเงินเยอะ คนก็ได้สนุกกันไปตามเรื่องตามราว นานๆทีมีครั้งหนึ่ง..ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำบ่อยๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน แต่ถ้ามองในแง่ดี มันก็ดีไป คือคนขายดอกไม้จะได้ขายดอกไม้ได้มากๆ เอาไปประดับรถ เอาไปวิ่งให้คนดู ช่วยให้เงินหมุนเวียน เป็นประโยชน์แก่คนบางประเภท ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดอกไม้
แต่ว่านึกไปแง่หนึ่ง คนที่ไปดูก็ต้องเสียสตางค์เหมือนกัน เสียสตางค์ค่าเดินทาง ไปเดินๆดูมันคอแห้งต้องกินน้ำอัดลม กินน้ำแข็ง แล้วพาลูกไปด้วย ลูกจะกินขนมบ้าง กินไอ้นั่น กินไอ้นี่ พวกเที่ยวขายของนี่เขาไปก่อนเพื่อน พวกนั้นไปได้ พวกไปดูนี่ไปเสียคือเสียสตางค์ แล้วก็กลับบ้าน ถ้าเราคิดว่าไปแล้วได้อะไรบ้าง ก็ได้ความสนุกสนาน ร่าเริง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาๆ
ถ้าเราเปลี่ยนความสนุกไปในรูปอื่น เช่นเรามาวัดนี่ก็มาให้สนุกได้เหมือนกัน มาให้เพลิดเพลินในการมาวัด มาแล้วจะดูใบไม้ก็ได้ มีหลายสี หลายแบบ ใบเล็ก ใบใหญ่ ใบบางประเภทก็มีสีแปลกๆ มีอะไรสลับจนคนต้องตั้งชื่อให้เพราะๆ แล้วจะดูดอกไม้บนต้นไม้ก็ยังสวยกว่าดอกไม้ที่เขาไปจัดที่รถด้วยซ้ำไป เพราะมันเป็นธรรมชาติ
ต้นตะแบกออกดอกสวยงามตอนนี้ สีม่วง สีชมพู ดูแล้วก็ชื่นใจ หญ้าก็เขียว..ตอนนี้ เพราะว่าฝนโปรยลงมา ถ้าเราดูดอกไม้ที่บนต้น ดอกตะแบกข้างศาลามันสวยกว่าดอกไม้ในแจกัน มันสวยกว่าดอกไม้ที่เขาเอาไปประดับประดาตามสถานที่ต่างๆ เพราะว่ามันยังมีชีวิต ดูแล้วมีชีวิตชีวา มันออกดอกบานสะพรั่ง มันท้าแดด ท้าลม ลมพัดไม่หวั่นไหว แดดมาก็ไม่หวั่นไหว ถูกน้ำค้างแล้วก็สีสดชื่น สลับกับใบไม้เขียวสดซึ่งมีอยู่รอบๆ ถ้าดูแล้วเหมือนมันจะยิ้มกับเรา แต่ว่ายิ้มเยาะ หรือยิ้มอะไร ก็ไม่รู้เหมือนกัน บางทีมันก็จะยิ้มเยาะมนุษย์ก็ได้เหมือนกัน ยิ้มเยาะว่าฉันไม่มีความทุกข์เหมือนมนุษย์ ฉันไม่มีโรคกลุ้มใจ ฉันไม่มีโรคประสาท ฉันไม่ต้องนั่งปวดศีรษะเพราะปัญหานั้น ปัญหานี่
ดอกไม้มันเยาะเรา มันยิ้มเยาะว่ามนุษย์นี่แย่กว่าดอกไม้ เพราะดอกไม้ไม่เป็นทุกข์อะไร มันบานแล้ว มันก็ร่วงโรยไปตามธรรมชาติ มันร่วงโรยไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องยุ่งอีกต่อไป ไม่ต้องแจกบัตร แจกการ์ด เพื่อให้คนมาดูดอกไม้ร่วง ให้มากันมากๆ เกิดปัญหาจราจรติดขัด อะไรหลายอย่างหลายประการ มันไม่มีกับดอกไม้ ดอกไม้มันหัวเราะคนได้ว่าคนนี่ยุ่งมาก ตายก็ยุ่ง เกิดก็ยุ่ง แต่งงานก็ยุ่ง มีเรื่องยุ่งๆกันทั้งนั้น เวลาแต่งงานก็เอาคนมารดน้ำ ใช้ตั่งรด แต่ว่าเวลาตายก็เอาคนมารดน้ำ ใช้ขวดใส่น้ำรด รดที่มือ คนตายไม่รู้หรอก..ใครมารดกูมั้ง? ก็นอนเฉยไม่รู้เรื่องอะไร เวลาใครมาเผา..ก็ไม่รู้ว่าใครมาจุดไฟมั้ง? ใครมาทำอะไรกับตัวมั้ง? ตายแล้วไม่รู้เรื่อง
คนที่รู้คือคนเป็นเท่านั้นเอง แต่ว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้น เราทำเพื่อบูชาคุณงามความดีของผู้ที่ตายไป ว่าเป็นคนมีความดี น่ายกย่อง น่าบูชา คนมามากๆนั้น มาเพราะความดีของคนผู้นั้น เพราะว่าคนที่อยู่บ้าง เช่นบางคนมาเพราะความดีของคนที่อยู่ แต่ว่าความดีของคนที่อยู่มันก็เอื้อต่อความดีของคนตาย เช่นว่าลูกดีก็เพราะว่าพ่อแม่ดี เมื่อพ่อแม่ดีลูกก็ดี เจริญก้าวหน้าในการงาน ตั้งตัวได้ เป็นหลักเป็นฐาน พ่อแม่ตายก็มีคนมาให้เกียรติ มาเผาศพ มาสักการะศพ ก็เรื่องความดีทั้งนั้น
ไอ้เราทำเรื่องอย่างนี้ไม่ได้ทำเพื่อผู้ตายหรอก ความจริงเราทำเพื่อคนเป็น ทำเพื่อยั่วอารมณ์คนเป็น ให้เกิดความคิดว่า คนเราถ้าอยู่ดีมีคนให้เกียรติ ถ้าอยู่ร้ายไม่มีใครให้เกียรติ แล้วก็จะเกิดความคิดว่า อยู่ดีดีหรืออยู่ร้ายดี มันจะได้เกิดจิตใจสูงขึ้น ในการกระทำอย่างนั้น เรียกว่าเอาศพมาเป็นเครื่องสอนคนในรูปต่างๆที่ทำกันอยู่นั้น
แต่ว่าถ้าทำเกินพอดีมันก็ยุ่งเหมือนกัน ต้องจ่ายเงินมาก ต้องเหนื่อยมาก แล้วก็เป็นปัญหาในภายหลัง ถ้าเราทำอะไรแต่พอดีพองาม ก็เรียกว่าใช้ได้ เป็นการเชิดชูคุณงามความดีของผู้ตาย แล้วก็เป็นการสอนคนเป็นให้รู้จักทำอะไร แต่พอดีพองาม ไม่ทำอะไรให้มันเกินพอดีไป จนเป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม เพื่อเอาหน้าเอาตา เอาหน้าสำหรับคนเป็นนะ คนตายไม่ได้หน้าอะไรแล้ว เพราะหน้าแห้งหน้าเหี่ยวแล้ว นอนเฉยอยู่ในโลง..ไม่ได้อะไร แต่ว่าคนเป็นพลอยได้หน้าได้ตาจากเรื่องเหล่านั้น จึงได้ทำกันในรูปอย่างนั้น
เรื่องแรกนั้นทำกันเพื่อมุ่งความดีแท้ แต่ว่าต่อมานี่มันแตกดอกออกหางออกไป กลายเป็นเรื่องเอาหน้าเอาตา กลายเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เอาอะไรกันมากมาย เรียกว่าทำด้วยกิเลสเสียมาก ไม่ได้ทำเพื่อความเป็นธรรม การทำอะไรถ้าเราทำด้วยกิเลสมันไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ถ้าทำด้วยความเป็นธรรม เราไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้น เราทำเพราะสำนึกในหน้าที่ว่าเราจะต้องทำอย่างนั้น จะต้องทำอย่างนี้ ไม่ต้องไปปรารภใคร ว่าเขาจะว่าเราอย่างไร? เขาจะชมเรา เขาจะติเราอย่างไร? อย่าเอามาเป็นอารมณ์ เพราะว่าการพูดของคนนั้นมันเรื่องไม่จบ เขาจะพูดอะไรก็ได้ ถ้าเขาชอบเขาก็ชม ถ้าเขาไม่ชอบเขาก็ติ
จิตใจคนนี้ มันมีหลายรูปหลายแบบ เราจะเอาใจคนทุกคนมันก็ไม่ไหว เพราะคนมันมากเหลือเกิน อันนี้เราจะต้องเอาใจธรรมะ เรียกว่าเอาใจพระ พูดง่ายๆว่าเอาใจพระดีกว่าเอาใจคน พระก็ไม่ใช่พระที่เป็นคนนะ ถ้าเอาใจพระที่เป็นคนก็ยุ่งอีกละ
ท่านมหานั้นชอบอย่างนั้น ท่านพระครูนี้ชอบอย่างนี้ เจ้าคุณแกชอบอย่างโน้น มันก็มากเรื่องอีกละ เรื่องมันก็มี ถ้าทำไม่เหมือนพระชอบทุกองค์ มันก็ลำบาก เช่นเราจะแกงมาถวายพระ เรารู้ว่าท่านเจ้าคุณชอบแกงอะไร? ท่านพระครูชอบแกงอะไร? มหาชอบอะไร? ใบฎีกาชอบอะไร? ท่านปลัดชอบอะไร? มันก็ต้องแกงกันหลายหม้อ เอามาให้ชอบทุกองค์มันก็ลำบาก เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เราทำแต่เพียงว่าอาหารมีประโยชน์แก่ร่างกาย ฉันแล้วท้องไม่เสีย ไม่ลงท้อง ไม่แน่นท้อง อันนี้มันก็สบายใจ มันไม่ยุ่งยากในเรื่องที่เราจะทำอะไรๆ ให้ถูกใจคนนั้น ให้ถูกใจคนนี้ เพราะว่าคนมันหลายคน แต่เราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่
พูดง่ายๆ ว่าทำอะไรให้ถูกใจพระ ถูกใจพระในที่นี้ก็หมายถึงว่าถูกต้องตามหลักธรรมะ พระที่เรายึดถือนั้นก็คือพระธรรมนั้นเอง พระธรรมนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ที่เราถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราทำอะไร เราคิดอะไร เราพูดอะไร เราก็ยึดธรรมะเป็นหลัก ธรรมะว่าอย่างไรในเรื่องอย่างนี้ เราก็ทำอย่างนั้น ทำให้ถูกต้องตามธรรมะ ทำถูกต้องตามธรรมะแล้ว อาจจะมีคนชอบก็ได้ อาจจะมีคนไม่ชอบก็ได้
คนใดที่มีคุณธรรมเขาก็ชอบเมื่อเราทำถูกตามธรรมะ แต่คนใดไร้คุณธรรม เขาก็ไม่ชอบเมื่อเราทำถูกต้องตามธรรมะ เขาก็ไม่ชอบ เราจะให้เขาชอบเสมอไปก็ไม่ได้ เพราะคนมันไม่เหมือนกัน ดังที่กล่าวแล้ว
เราจึงต้องถือหลักว่าธรรมะว่าอย่างไร เราทำอย่างนั้น ทำให้มันถูกตรงตามหลักการของธรรมะ แล้วไม่ต้องไปหวั่นไหว ว่าใครจะพูดอย่างไร ใครจะติใครจะชม มันเป็นเรื่องของเขา คนเรามันก็ติได้ทุกเมื่อ ชมได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของบุคคลผู้นั้น
ถ้าเขาพอใจเขาก็ชม ถ้าเขาไม่พอใจเขาก็ติ ในเรื่องเดียวกัน ในคนเดียวกัน คนอาจจะติในบางครั้ง อาจจะชมในบางคราวก็ได้ เช่นว่าคนเป็นใหญ่เป็นโตมีอำนาจวาสนา ก็มีแต่คนชมเมื่อเข้าใกล้ แต่ลับหลังเขาก็ติเหมือนกัน เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ แต่ต่อหน้าแล้วเขาก็ชมไปตามเรื่อง การชมเช่นนั้นไม่ได้เกิดจากน้ำใสใจจริง แต่ว่าชมเพื่อประจบเท่านั้นเอง ประจบให้ผู้ใหญ่ชอบ ชอบแล้วจะให้อะไรแก่ตนตามที่ตนต้องการ นั้นไม่ได้มาจากธรรมะ ถ้ามาจากธรรมะ ก็เรียกว่าพูดตามความจริง ในคนนั้นๆ
แต่ว่าความจริงนี่ก็พูดเสมอไปไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลเพราะมันเป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจเขา เช่นว่าเขามีอะไร เป็นอยู่อย่างไร เราก็พูดไปตามความจริง คนนั้นอาจจะไม่ชอบเราก็ได้ ความจริงนี้จึงจะต้องดูว่าเวลา ดูเหตุการณ์ ดูบุคคล ดูว่ามันเป็นประโยชน์หรือไม่?
พระพุทธเจ้าท่านก็ตักเตือนเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน ท่านบอกว่าสิ่งที่เป็นความจริงนั้น ตถาคตไม่ได้พูดเสมอไปในเรื่องนั้น แต่ตถาคตต้องดูว่าเวลามันเหมาะหรือไม่? บุคคลมันเหมาะหรือไม่? เหตุการณ์มันเหมาะหรือไม่? และที่สำคัญก็คือว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังหรือไม่?.. อันนี้สำคัญมาก ก็ว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ด้วยนะ
ถ้าเรื่องพูดออกไปแล้ว ตรัสออกไปแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง แม้จะเป็นเรื่องจริง เหมาะแก่เวลา บุคคลอะไรก็ตามใจ แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัสเรื่องนั้น จึงถือว่า เอาประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าประโยชน์นั้นก็ต้องถูกเวลา ถูกบุคคล ถูกเหตุการณ์ด้วย จึงจะได้ตรัสสิ่งนั้นออกไป
สิ่งใดที่เป็นความจริงแต่ยังไม่เหมาะก็ไม่ตรัส ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง พระองค์ก็เก็บไว้ก่อน เรียกว่า รู้จักเรื่อง รู้จักเวลา รู้จักบุคคล รู้จักเหตุการณ์ว่าควรจะตรัสอะไร? กับใคร? ณ.สถานที่ใด? ด้วยเรื่องอะไร? เป็นประโยชน์แก่เขาหรือไม่? พระองค์ใช้หลักการอย่างนั้น
เราก็นำมาใช้ได้เหมือนกัน เช่นเราจะพูดอะไรกับใครก็ต้องดูว่า มันเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่เป็นประโยชน์เราก็ไม่พูด ที่นี้เรื่องเป็นประโยชน์แต่เวลาไม่เหมาะ ก็พูดไม่ได้ เช่น คนบางคนทำอะไรไม่ถูก แล้วเราจะเตือนเขาแต่เวลามันไม่เหมาะ เพราะว่าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ถ้าเราเตือนแล้วคนนั้นจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ในเกียรติของตัว เราก็ไม่ควรเตือนในเวลานั้น เรียกว่าเวลาไม่เหมาะ เหตุการณ์มันไม่เหมาะ เราก็พูดไม่ได้ บุคคลไม่เหมาะก็พูดไม่ได้ เพราะนั้นต้องดูว่ามันเหมาะสมเวลาจึงจะพูด เช่นว่าเราพูดกับเขาสองต่อสองไม่มีใครอยู่ด้วย พูดด้วยความรัก พูดด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้เขาเกิดความสำนึกรู้สึกตัว แล้วเขาจะได้เปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงแนวทางเข้าหาคุณงามความดีต่อไป อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์ เป็นเรื่องที่ควรพูดให้คนเหล่านั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ
เรื่องของธรรมะนี้จึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์แก่ชีวิตมากจริงๆ ถ้าเรารู้จักเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราแล้ว เราจะเป็นผู้อยู่รอดปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง อันที่ปลอดภัยอันยิ่งใหญ่คือปลอดภัยภายใน ภัยภายในสำคัญกว่าภัยภายนอก ภัยภายในนั้นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้นก็คือกิเลสประเภทต่างๆที่มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่ประพฤติธรรม เช่นเราขาดสติ ควบคุมความคิด การพูด การกระทำ เราก็มีภัยข้างใน เช่นเราคิดชั่ว..ใจเราก็เพิ่มความชั่ว ถ้าเราคิดในทางโลภ..ความโลภมันก็เพิ่มขึ้น ถ้าเราคิดในเรื่องโกรธ..ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น ถ้าเราคิดในเรื่องหลง..ความหลงมันก็เพิ่มขึ้น ถ้าเราคิดในเรื่องริษยา.. ความริษยามันก็เพิ่มขึ้นในใจของเรา ไม่ว่าเราคิดในเรื่องอะไร มันก็เพิ่มจำนวนขึ้นในใจทั้งนั้น
แต่ถ้าเราคิดในเรื่องดี เช่นคิดในเรื่องที่ไม่เบียดเบียนใคร ในเรื่องไม่พยาบาทใคร คิดในเรื่องที่จะออกจากกามารมณ์ อันเป็นเหตุในยุ่งยากในชีวิต เราก็ได้อะไรเพิ่มขึ้นในใจของเรา เรามีความดีความงามเพิ่มขึ้น สติเพิ่มขึ้น ปัญญาเพิ่มขึ้น ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันก็เพิ่มขึ้นในใจของเรา เราก็มีความดีมากขึ้น
การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ควรจะได้สำนึกไว้อันหนึ่งว่าเราอยู่เพื่อเพิ่มความงามความดี อย่าอยู่เพื่อลดความงามความดีให้หมดไปจากใจ คือใจของเรานั้นมันมี ๒ ฉากเท่านั้น ... ฉากดี ฉากชั่ว
ฉากดีก็เป็นฝ่ายขาว ฉากชั่วก็เป็นฝ่ายดำ ถ้าเราเพิ่มฝ่ายขาว จิตของเราก็สะอาดมากขึ้น ถ้าเราเพิ่มฝ่ายดำ จิตเราก็สกปรกมากขึ้น เลอะเทอะมากขึ้น มันเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นเราจะมีอุดมการณ์ประจำจิตใจว่าเราจะเพิ่มแต่ฝ่ายขาว เราจะไม่เพิ่มฝ่ายดำ เพราะฝ่ายดำนั้น ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ทำให้จิตใจไม่สงบ เกิดปัญหาด้วยประการต่างๆ เราจึงควรเพิ่มเฉพาะฝ่ายขาวอย่างเดียว การเพิ่มฝ่ายขาวนั้นก็ต้องอบรมสติ ปัญญาให้มากขึ้น เพื่อจะได้ควบคุมจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เผลอ ไม่ได้ประมาท ไม่คิดอะไรที่จะทำให้เราตกต่ำทางจิตใจ อย่างนี้ภัยภายในมันก็ไม่เกิด คือไม่เพิ่มข้าศึกศัตรู ถ้าเราไม่เพิ่มศัตรูภายใน ศัตรูภายนอกก็ไม่ทำลายเราได้ ไม่รบกวนเราได้ เพราะผู้นั้นเป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบอยู่ อันตรายภายนอกก็จะไม่มา คนที่มีอันตรายภายนอกมาเบียดเบียนนั้น ก็เพราะตัวขาดเกราะคุ้มกันตัวเอง เกราะที่คุ้มกันคือขาดธรรมะ เป็นเครื่องคุ้มครอง
ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ คำโครงไว้แล้ว มีบาทหนึ่งว่า “สุจริตคือเกราะบังศาสตร์คล้อง” (18.55) สุจริตจึงเป็นเกราะคอยป้องกันตัว คำว่า “สุจริต” ก็คือหมายถึงความประพฤติดี ประพฤติชอบทางกาย ทางวาจา ทางน้ำใจ
เมื่อเรามีการควบคุมตัวเองให้มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ ทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่แล้ว มันก็เป็นเกราะอยู่ในตัว ป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราทั้งภายใน ทั้งภายนอก คนที่มีอันตรายเกิดขึ้นจากภายนอก ก็เพราะมีอันตรายภายในอยู่ก่อน จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยความโกรธประทุษร้าย เต็มไปด้วยความหลง มัวเมาในเรื่องอะไรๆต่างๆ
การดำเนินจิตในชีวิตประจำวันเป็นไปเพื่อสร้างปัญหา เบียดเบียนผู้อื่นให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วก็เบียดเบียนตนคือลดความดีของตนลงไปเรื่อยๆ ทำตนให้เศร้าหมองเพิ่มขึ้น เขาจึงมีการกระทบกระเทือนกับบุคคลอื่น
การกระทบกระเทือนต่อกันนั้น ถ้ามันรุนแรง อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ขาดธรรมะก็ย่อมทนไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ก็เกิดการประหัตประหารกัน ถึงกับยิงกันตาย จึงปรากฏเป็นข่าวว่าคนที่ร่ำรวยมากๆ แต่ว่าการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมานั้นมีอันตราย สร้างตัวขึ้นมาด้วยการทำให้คนอื่นเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ต้องทำคนให้เดือดร้อน ทางนั้นไม่ใช่ทางแห่งความสุข ไม่ใช่ทางแห่งความมั่งคั่งในชีวิต แต่ว่าเป็นทางไปสู่ตะแลงแกง กลัวตัวเองจะถูกทำร้าย จะถูกฆ่าให้ตายในวันหนึ่งข้างหน้า นั่นคือตัวอย่างที่เราเห็นปรากฏอยู่บ่อยๆ เป็นข่าวว่าคนนั้นมีเงินเท่านั้น เท่านี้ กิจการใหญ่โตกว้างขวาง แต่ว่าถูกคนฆ่าไปเสียแล้ว
เมื่อเราเมื่อได้ฟังข่าวอย่างนั้นก็พอจะรู้ว่าคนอย่างนั้นมีเบื้องหลัง เบื้องหลังของเขาก็คือว่าเบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ตัวปรารถนามีความสุข แต่ว่าไปตัดรอนคนอื่น โดยเฉพาะผู้แข่งขันกัน ในการทำมาหากิน เรียกว่ามีความริษยาเป็นเริ่มต้นก่อน เมื่อมีความริษยาแล้วก็คิดจะทำลายคนที่แข่งกับตัว เมื่อคนหนึ่งถูกทำลายไปก็นึกว่าตัวจะปลอดภัย นึกว่าทรัพย์จะช่วยได้ นึกว่าบริวารจะช่วยได้ นึกว่ามือปืนที่คอยคุ้มกันตัวอยู่นั้นจะช่วยตนได้หรือ.. มันช่วยไม่ได้ คนเราเมื่อถึงวาระกรรมแล้ว อะไรก็ช่วยไม่ได้
มีเรื่องในตำนานทางพระพุทธศาสนาอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระเจ้าสุปปพุทธะ (22.27) พระเจ้าสุปปพุทธะเป็นพระบิดาของพระนางพิมพา ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านก็เป็นพ่อตาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกไปบวช พระเจ้าสุปปพุทธะก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน เพราะว่าทำให้ลูกสาวเป็นม่าย คนอินเดียเขาถือ เรื่องความเป็นม่ายนี่เขาถือมาก ถ้าเป็นม่ายเพราะสามีตาย ก็ไม่มีอะไร ไม่ได้เรื่องเสียหาย ถ้าเป็นม่ายเพราะสามีทอดทิ้งไปอะไรอย่างนี้ เขาถือว่าเป็นเรื่องบกพร่อง เป็นเรื่องน่าขายหน้า พระเจ้าสุปปพุทธะแกก็คงเอาหลักการนั้นมาใช้ ก็เลยไม่ชอบพระพุทธเจ้า ไม่ชอบ ไม่ชม คอยติคอยว่าอยู่เสมอ
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองเสวัตหะ (23.20) เพื่อโปรดทางญาติฝ่ายมารดา ท่านสุปปพุทธะนี่ไม่ไปฟังธรรม ใครไปแกก็ไม่พลอยยินดี ไม่ร่าเริงด้วย ไม่อนุโมทนาในการไปของคนเหล่านั้น คอยรังแกพระพุทธเจ้าเรื่อยมา จนถึงขนาดว่าปิดเส้นทางไม่ให้พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาต พระพุทธเจ้าจะไปทางไหนก็ไปปิดเส้นทาง เอาหนามไปปิดไว้ ไปปะไว้ ไม่ให้เดินไปได้ รู้ว่าไปทางโน้นก็ส่งคนไปอุดทางโน้นเรื่อยไปตลอดมา
พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ท่านสุปปพุทธะนี้ทำกรรมหนัก พระองค์พูดอย่างนั้นให้พระฟังว่าท่านทำกรรมหนัก แล้วอาจจะถึงแก่แผ่นดินสูบในเวลา ๗ วันข้างหน้านี้
ข่าวนี้ก็ดังมาถึงท่านสุปปพุทธะ ท่านก็นึกว่ามันจะสูบอย่างไร กูไม่เหยียบแผ่นดินก็แล้วกัน ก็เลยขึ้นไปนอนอยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ แล้วก็ให้คนเฝ้าไว้ ทุกบันไดมีคนเฝ้า ๒ คน ถ้าลงมาก็ให้ดันขึ้นไปก็แล้วกัน อย่าให้ลงมาเป็นอันขาด แล้วก็ไม่ลงมาเลย จะกินอยู่บนโน้น ถ่ายอยู่บนโน้น ไม่ลงมาต่อไป ก็อยู่นั้นล่ะ นึกว่าปลอดภัย
แต่ว่าเมื่ออยู่ไปพอถึงวันที่ ๗นี้ ม้าตัวโปรดมันร้อง ไอ้ม้าตัวนี้ท่านรักมาก คนเรารักสัตว์นี้มันก็สำคัญเหมือนกัน คนเลี้ยงหมาก็รักหมา เลี้ยงม้าก็รักม้า เลี้ยงไก่ก็รักไก่ ถ้าใครไปทำอันตรายของที่ตัวรักแล้ว แหม..ฆ่ากันทีเดียวล่ะ เกิดความเสียหาย เมื่ออยู่ปราสาทชั้นที่ ๗ เสียงม้ามันร้อง ร้องใหญ่ ม้าตัวนี้ถ้าร้องขึ้นมาแล้ว พระเจ้าสุปปพุทธะต้องลงมาดู มาปลอบ มันถึงจะหยุดร้อง ถ้าพระเจ้าสุปปพุทธะไม่ปลอบมันก็ไม่หยุดร้อง มันก็ร้องอยู่นั้นละ แกก็นึกว่า เอ..มันร้องทำไม? ใครไปทำอะไรมัน?
ให้คนไปดูก่อนว่ามันร้องทำไม? ใครไปรังแก? อำมาตย์มากราบทูลไม่มีใครรังแก มันอยู่เฉยๆมันก็ร้องเท่านั้นเอง ร้องเรื่อยเลย เสียงเข้าหูแล้วมันก็รำคาญท่าน อยากจะลงไปปลอบมันหน่อย ก็เลยลงมาโดยลำดับ ไอ้คน ๒ คนที่สั่งไว้ว่า ถ้าข้าลงมาแล้วเองดันขึ้นนะ มันไม่ดันขึ้นนะ มันยืนเฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ ท่านก็ลงมา ลงมา โดยลำดับ จนถึงชั้นล่าง ถึงแผ่นดิน พอถึงแผ่นดินแล้วก็เลยถูกแผ่นดินแยก แล้วก็จมหายไปเท่านั้นเอง นี่เรียกว่าถึงเวรถึงกรรม ถึงวาระที่ตัวจะต้องตายในรูปอย่างนั้น แล้วก็หนีไปไม่พ้นจะต้องตาย
คนเราทำอะไรไว้มันก็ต้องได้รับผลของการกระทำนั้น หนีไปไม่พ้น ในสังคมในยุคปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน คนเราที่กระทำความผิด สร้างปัญหาให้แก่คนอื่น เบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ แม้จะหลบหนีมือกฎหมายไปได้ ก็หลบอยู่ แต่มันก็ไม่พ้นเวร พ้นกรรมอะไรหรอก เพราะว่าขณะที่หลบหนี ไม่ใช่สบาย จิตใจมีความกระวนกระวาย มีความหวาดกลัว มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน เป็นปัญหา
พวกเราสมัยเด็กๆ เคยหนีโรงเรียนบ้างหรือเปล่า? ลองนึกถึงภาพว่าวันที่เราหนีโรงเรียนแล้วไปเที่ยวแอบตามที่ต่างๆ มันสบายไหม? กระวนกระวายใจไหม? มีใจสงบเป็นปกติไหม? ไม่มี..ไม่ได้สงบเลย
อาตมานี่ก็เคยหนีโรงเรียนเมื่อเด็กๆ หนีไปตั้ง ๗ วัน คือมามาเหมือนกันแต่ว่าไม่ถึงโรงเรียน เที่ยวแอบอยู่ตามป่าละเมาะ อะไรต่ออะไร แอบอยู่ไปเล่นกับเด็กเลี้ยงวัวอะไรต่ออะไร ไปตามเรื่อง ไม่ไปโรงเรียน แต่ถ้าเห็นใครเดินมาท่าทางคล้ายคุณโยมนี่ก็ต้องวิ่งหนีละ เห็นใครเดินมาท่าทางคล้ายคุณครูก็ต้องวิ่งหนีละ เที่ยวแอบ เที่ยวต้องซุกซ่อนอยู่ มันก็วิ่งไป มันเป็นเด็กนี่ มันก็วิ่งหนีเรื่อยไป
จนครบ ๗วัน พอครบ ๗วันแล้ว ครูเห็นว่าไม่ไปโรงเรียนก็เลยเขียนจดหมายไปให้ที่บ้าน บอกคุณโยมเตือนว่าลูกไม่มาโรงเรียน ๗ วันแล้ว หายไปไหน? เพื่อนร่วมชั้นกันถือหนังสือไปให้ เวลานั้นโยมไม่อยู่ ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ อาตมาก็รับมาอ่าน อ่านแล้วก็กำลังหุงข้าวอยู่พอดี ก็เลยเอาไปเผามันสะเลย ไม่ให้โยมอ่าน นึกว่ามันจะพ้น เผาแล้ว เผาแล้วมันคงจะพ้นแล้ว เออ..มันไม่พ้นเวรพ้นกรรมไอ้ที่เราหนีโรงเรียน
เพราะขณะที่เพื่อนคนนั้นมา เดินมาสวนทางกับคุณน้าผู้ชาย น้าผู้ชายก็ถามว่า “ไปไหน?” “เอาจดหมายไปให้ที่บ้านหน่อย” “จดหมายอะไร? เอามาอ่านดูสิ” โยมน้าก็อ่าน อ่านเสร็จแล้วก็ “มึงเอาไปเถอะ” แล้วแกก็ไป เอามาถึงพอรับจดหมายแล้วคิดว่าไม่มีใครรู้เลยเผาไฟสะเลย เผาไปแล้วก็สบายใจไม่มีใครรู้ แต่ก็สบายใจนิดหน่อย ใจตุ้มๆต่อมๆ เออ..คงจะรู้เข้าสักวันแน่ ถ้าทำอย่างนี้?
พอดีตอนค่ำน้ากลับมา มาถึงก็ถามว่า “ไอ้ปลวก” ชื่อมันหลายชื่อนะ ชื่อไอ้ปลวกมั้ง? ชื่อไอ้ขาวมั้ง? ก็ตามใจเขาจะชอบเรียก เรียกตามลักษณะท่าทาง บอกว่า“ไอ้แป้งเอาอะไรมาให้เมื่อตอนเย็น” “เอาหนังสือมาให้” โกหกไปอีก หาว่าเพื่อนยืมหนังสือไปแล้วเอามาคืน “หนังสืออะไร? ” พูดดังๆ “หนังสือแบบเรียนในชั้นนะ เพื่อนเขายืมไปอ่าน” ยังโกหกเข้าไปอีก ผิดศีลหนักเข้าไปอีก “มึงโกหกกู!!” เอาแล้ว..ตอนนี้เอาแล้วหน้าตา เราก็ตกใจแล้ว มึงโกหก “กูพบไอ้แป้งแล้ว มันถือหนังสือมา มึงไม่ไปโรงเรียนมา ๗ วันแล้วไม่ใช่หรือ?” เอาแล้ว..เขาว่าอย่างนั้นเราก็นั่งนิ่งนะ จำเลยมันไม่มีทางแก้แล้ว ก็นั่งเฉย อันนี้นั่งเฉยก็คุณโยมผู้ชายไม่ตี แต่ว่านั่งบ่น นั่งพูดนั่งบ่นอยู่นั่น บ่นอยู่ตั้งชั่วโมง ใช้เวลาตั้งขนาดนั้น ไอ้เราก็นั่งกลุ้มใจจริงๆที่โยมแกบ่นอยู่นั่นละ กลุ้มใจไม่เป็นอันหลับอันนอน เพราะว่ามันเป็นความผิด สำนึกในใจว่าไม่ได้การ ต่อไปจะไม่หนีโรงเรียนต่อไป
ตื่นเช้าแต่งตัวเรียบร้อยไปโรงเรียนเลย เข้าไปหาครู
ครูก็ถามว่า “ทำไมไม่มาโรงเรียน?”
บอกว่า “ผมกลัวครู”
“ฉันไม่ใช่เสือนี่จะกลัวอะไร?”
“ครูไม่ใช่เสือ แต่ไม้บรรทัดกับไม้เรียวมันเหมือนเสือ จะเฆี่ยนผมตลอดเวลา” “คนทำถูกเขาจะเฆี่ยนทำไม? เราทำไม่ดี ก็ต้องถูกเฆี่ยน”
เลยก็บอกว่า “กลัวนะ..”
ครูบอกว่า “ทีหลังไม่ต้องกลัว ฉันจะไม่เฆี่ยนไม่ตี ตั้งใจเรียนหนังสือนะ”
เลยก็ประนีประนอมกันกับครูได้
ครูก็ยอมรับว่าจะไม่เฆี่ยนตีกันต่อไป จะทำอะไรจะได้บอกได้สอนกัน เลยก็เรียบร้อย ครูก็ไม่เฆี่ยนไม่ตีคอยสอนคอยเตือน เสียงไม่ชัด (31.48) ไอ้เรามันก็กลัวเสียด้วย ไม่ชอบให้ครูตี เลยหนีมันสะเลย ทีหลังก็เลยรู้ว่ามันไม่ได้เรื่อง รู้ก็เพราะว่ากรรมมันแสดงผลออกมา เวลาไปเที่ยวหนีนี่ไม่สบายหรอก แม้จะไปเล่นเสือกินวัวกับเพื่อน เล่นอะไรต่ออะไร เสียงไม่ชัด (32.12) แต่มันก็หวาดระแวงกลัวใครจะมาเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่สบายใจ เย็น..เลิกโรงเรียนกลับบ้าน ค่อยโล่งใจ เพราะว่าไม่ต้องหนี แล้วก็กลับบ้านแล้ว มันเป็นอย่างนั้น
คนเราเมื่อจะทำอะไรไว้ สิ่งนั้นมันคอยกระซิบอยู่ในใจตลอดเวลา กระซิบให้เราคิดไม่สบายใจ นั่นละ..คือผลที่เราได้รับ เรียกว่าตกนรกทั้งเป็น เพราะว่าเราร้อนอกร้อนใจจากผลแห่งการกระทำนั้น ใครทำอะไรผิดมันก็ร้อนใจ ไม่ได้มีความสุขใจไปด้วยความทุกข์ คนทำความชั่วมันไปด้วยความทุกข์ เสร็จแล้วก็มานั่งนอนเป็นทุกข์ต่อไป จิตใจมันไม่สบาย
แม้จะได้เข้าได้ของอะไรมา ก็เอามากินมาใช้ไปตามเรื่อง แต่ว่ากินแล้วมันก็ไม่สบายใจ ของนั่นมันเหมือนกับบอกว่า ถ้าแกเอาของเขามา แกไปเอาเปรียบเขา แกไปทำการเบียดเบียนเขา มันก็ไม่สบายใจ แต่ว่าจิตมันด้าน มันด้านต่อความชั่ว คนเราทำชั่วบ่อยๆใจมันก็ด้านต่อความชั่ว ชั้นแรกก็ละอายใจ กลัว ทำนานๆเข้าไปก็ชิน ... ทำได้ เหมือนคนทำงานเกี่ยวกับของไม่สะอาดนี่ ชั้นแรกไปทำก็ แหม..สะอิดสะเอือน ปิดจมูก หันหน้าไปโน้นไปนี่ อะไรต่ออะไร ทำไปๆก็ชินสะแล้ว ชินแล้วมันก็ยกเฉยเท่านั้นเอง เหมือนกับคนกุดถัง ยกเฉย (33.50) ไม่รู้ไม่ชี้ มันชินแล้ว จมูกมันก็ชินจนไม่รู้สึกเหม็นแล้ว เหม็นแล้วมันก็เคยแล้ว มันไม่เหม็นแล้ว เรียกว่ามันชินกับสิ่งนั้น ฉันใด นั่นเป็นเรื่องวัตถุที่เราเห็นง่าย
คนจิตใจคิดในเรื่องไม่ดี มันก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดในเรื่องไม่ดีบ่อยๆ ทำบ่อยๆในเรื่องนั้น ก็เรียกว่าชินชาต่อการกระทำสิ่งไม่ดี เมื่อเกิดความชินชาแล้ว ก็ไม่กระดากไม่อายต่อหน้าใครก็ทำได้ ไม่กลัวไม่ละอายต่อไป แต่ถ้าว่ายังไม่เคยทำ ก็ละอายใจ คนไทยเราทั่วๆไป จะเห็นว่าชาวนาส่วนมาก ไปตกเบ็ดนี่..ถ้าพระเดินมา เขากระดาก เขากระดากว่าไปตกเบ็ดนี่จะถือว่าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เขากระดาก เขาก็ต้องทิ้งคันเบ็ดไปยืนเฉยเลย …… (34.50 เสียงไม่ชัด) พระท่านก็รู้ว่าไปทำอะไรนะ แต่ก็รู้ว่ามันกระดาก ก็เลยไม่ว่าอะไร เดินไปเฉยๆไม่ว่าอะไร
คนนั่งกินน้ำเมากันนี่เป็นวงเลี้ยงน้ำเมา ถ้าพระเดินมา สมัยก่อนเขาจะต้องซ่อนทันที เอาผ้าคลุม ไสไว้บ้าง คลุมขวดไว้บ้าง แล้วก็นั่งทำท่าสำรวม ให้พระพ้นก่อน นี่เขาเรียกว่าละอาย ยังกระดากอยู่ไม่กล้าทำอะไรต่อหน้าพระ ก็ถือว่าเป็นการผิดศีลธรรม แต่ว่าทำบ่อยๆเข้า นานๆเข้ามันก็ชินชา แม้พระจะเดินมาอีกกี่รูปก็เฉยๆ บางทียกแก้วขึ้นอวดเสียด้วย แล้วก็ชนเลย เขาจะอวด (35.40) สะด้วยซ้ำไป มันชินแล้ว มันชินต่อความชั่ว
คนบางท้องถิ่นที่เขาไม่นิยมดื่มของเมา ใครจะดื่มต้องแอบดื่ม เหมือนเชียงใหม่สมัยก่อนนี้ อาตมาไปอยู่เชียงใหม่ คนดื่มเหล้าเขาแอบดื่มกันนะ แอบ..ไม่เปิดเผย ร้านถ้าตรงไหนขายเหล้าต้องมีที่ให้แอบหน่อย พอซื้อแล้วก็แอบกิน รีบกินแล้วรีบไปเลย ไม่นั่ง กลัวใครจะมาเห็น เขายังมีความกระดากอาย กลัวใครจะเห็น อันนี้เรียกว่ากระดากอาย ไม่ใช่ละอายแบบผู้มี “หิริโอตัปปะ”
“หิริ” ที่เราเรียกในธรรมะว่า “หิริโอตัปปะ” “หิริ” ความละอายแก่ใจ “โอตัปปะ” ความกลัวต่อผลที่กระทำนั้น อย่างนั้นยังไม่ถึง แต่ว่ากระดาก อยู่ต่อหน้าคนแล้วไม่อยากจะทำ แต่ลับหลังแล้วก็ทำได้ อย่างนี้เขาเรียกว่ามีความกระดากอาย ไม่ใช่มี “หิริ”
คนมี “หิริ” นั้น ไม่กระทำ แม้อยู่ต่อหน้าคนก็ไม่กระทำ ลับหลังคนก็ไม่กระทำ เขาละอายแก่ใจตนเอง เมื่อมีความละอายแก่ใจตนเองแล้วทำชั่วไม่ได้ ทำไม่ลง เพราะมันละอายแก่ใจ แม้คนจะไม่เห็นก็ละอายตัวเองเลยไม่ยอมทำสิ่งนั้น
มีเรื่องชาดกเรื่องหนึ่งจะนำมาเล่าให้ฟังสักหน่อย คือว่า อาจารย์มีลูกศิษย์หลายคน ลูกศิษย์ก็เป็นคนดีทั้งนั้น เล่าเรียนดี มีความซื่อสัตย์ เคารพรักบูชาอาจารย์เป็นอย่างดี อาจารย์ใคร่จะทดสอบน้ำใจของศิษย์ ว่าใครมีน้ำใจอย่างไร มีความละอายบาป มีความกลัวบาปหรือไม่ เรียกว่าจะจบการศึกษากันแล้ว จะกลับบ้านกันแล้ว อาจารย์ก็เลยเรียกมาประชุมในห้องประชุม ไม่ใช่ห้องประชุม.. ประชุมใต้ต้นไม้ เพราะว่าฤาษีแกอยู่ป่า
เมื่อมาประชุมพร้อมหน้า อาจารย์บอกว่า “ฉันรู้สึกสบายใจมาก ที่มีศิษย์ดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เชื่อฟังคำครูบาอาจารย์ ประพฤติดี ประพฤติชอบกันอยู่ทั่วหน้า อาจารย์สบายใจ วันนี้อาจารย์ใคร่จะขอร้องเธอทั้งหลาย ให้ช่วยทำอะไรให้อาจารย์สักหน่อย เธอจะเต็มใจไหม?”
ทุกคนก็ยกมือไหว้ บอกว่า “เต็มใจครับท่านอาจารย์ อาจารย์ต้องการให้ทำอะไรจะยินดีทั้งนั้น”
อาจารย์ก็บอก “เออ..ดีแล้ว ที่เธอมีน้ำใจดีต่อฉัน เรื่องที่ฉันขอร้องให้เธอกระทำนี้ ก็คือว่า อยากจะทดสอบพวกเธอว่ามีความสามารถ เก่งกล้าขนาดไหน ให้ทุกคนนี่ไปลักข้าวของของชาวบ้าน ไปลักของเขามา แต่ว่าไปลักอย่าให้ใครเห็นนะ อย่าให้ใครจับได้ไล่ทัน ลักอะไรมาแล้วก็ต้องเอามาให้ฉันทุกอย่าง ฉันจะได้รับไว้ ทุกคนทำได้ไหม ”
พวกนั้นก็นั่งมองตากันอะไรต่ออะไรกัน อาจารย์ก็บอกว่า “ฉันขอร้องเพียงเรื่องนี้ทำได้หรือไม่?”
ทุกคนก็เลยยอมรับว่าจะทำตามอาจารย์สั่ง อาจารย์ให้เวลา ๓ วัน ให้ทุกคนไปเอาข้าวของชาวบ้านแต่อย่าให้ชาวบ้านเห็น พวกนั้นก็แสดงความสามารถกัน ไปทำงาน ได้ข้าวของมา เอามามอบอาจารย์ อาจารย์ก็จดลงบัญชี ลูกศิษย์ชื่อนั้นไปลักมาจากบ้านนั้น ในเวลานั้น ของมีอะไรเท่านั้น จดไว้ เก็บไว้เรียบร้อย ห่อไว้เรียบร้อยทุกประการ ไม่ให้เสียหาย
พอครบเวลา ๓ วัน ก็เรียกประชุมศิษย์ บอกว่า “ขอบใจมากที่เธอทุกคนได้ทำตามคำสั่งของอาจารย์เรียบร้อย แต่ว่ามีอยู่คนหนึ่ง ไม่ทำเลย มันเรื่องอะไร? ที่เธอไม่ทำตามที่ฉันสั่ง เธอไม่เคารพฉันหรือ? ไม่รักฉันหรือ? จึงไม่ทำตามเรื่องที่ฉันสั่ง ออกมานี่”
ศิษย์คนนั้นก็ออกมา กราบแทบเท้าอาจารย์ กราบเสร็จแล้ว ก็บอกว่า “อาจารย์ครับ ผมมีความรัก ความเคารพบูชาในท่านอาจารย์มากที่สุด เรียกว่าเหมือนกับเป็นพ่อของผมก็ว่าได้ สิ่งใดที่อาจารย์ใช้ให้ผมกระทำ ผมยินดีทำทุกอย่าง เพื่อสนองคุณอาจารย์ แต่ว่าสิ่งที่อาจารย์ใช้คราวนี้ ผมไม่สามารถจะทำได้ เพราะมันขัดกับความรู้สึกในใจของผม จริงอยู่ ไปเอาของเขาไม่ให้ใครรู้ ไม่ให้ใครเห็นพอทำได้ แต่มันมีความสำนึกอยู่ในใจว่ามันไม่เหมาะที่จะกระทำเช่นนั้น ผมละอายใจตัวเองเหลือเกินในการที่จะไปทำเช่นนั้น จึงกล้าขัดขืนคำสั่งของอาจารย์ เพราะมันขัดต่อความรู้สึกในใจ ผมมีความละอายไม่สามารถจะทำได้”
อาจารย์ก็เลยลงไปจากที่นั่ง แล้วก็ไปกอดศิษย์คนนั้น ชมเชยน้ำใจว่านี่ละ ศิษย์แท้ของอาจารย์ แล้วก็ติพวกเหล่านั้นว่าพวกเธอนี่มันใช้ไม่ได้ ไอ้พวกที่ไปลักมาทุกคน ถูกด่าเลย หาว่า ใช้ไม่ได้ เคารพอาจารย์แต่ไปกระทำความชั่ว ไม่มีความละอายแก่ใจ ไม่มีความกลัวต่อความชั่ว เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ความจริงนั้นเขาทำถูกว่าเชื่อฟังคำสั่งอาจารย์ แต่ว่าอาจารย์สั่งให้ไปทำความผิด แล้วเขาจะเชื่อได้อย่างไร มันก็ขัดกับความรู้สึกในใจ แต่พวกนั้นไม่รู้สึกอย่างนั้น อาจารย์ก็เลยติ และชมคนนี้ว่า เป็นคนที่มีจิตใจสูง มีความละอายสูง มี “หิริโอตัปปะ” คนอย่างนี้จะอยู่ในสังคมโลกได้ และก็สั่งสอนลูกศิษย์ทั้งหลายให้เอาอย่างคนนี้
เสร็จแล้ว ก็เรียกลูกสาวมา อาจารย์มีลูกสาวสวยอยู่คนหนึ่ง แกก็ตั้งใจจะให้แต่งงานกับลูกศิษย์คนที่ดีที่สุดนั้น ก็เลยคัดเลือกได้แล้ว ว่าคนนี้ละ ดีที่สุด เลยก็เอามือทั้งสองมาประสาน และประสาทพรให้ เป็นคู่ครองต่อกัน
เสร็จแล้วก็เรียกลูกศิษย์ทั้งหมดมาเอาของไปคืนชาวบ้าน จดไว้แล้วนี่ ว่าไหนของๆใคร เอาไปคืนให้ครบ ไปคืนเวลากลางวันนะ ไม่ใช่เวลากลางคืน เอาไปคืนแล้วก็ไปบอกเจ้าของด้วย ว่าทำไมจึงต้องมาลักๆเพราะอะไร แล้วก็ถูกอาจารย์สั่งสอนอย่างไร เอาไปคืนให้หมด ศิษย์เหล่านั้นก็ทำตามอาจารย์ เอาของไปคืนให้แก่ชาวบ้านเรียบร้อย ไม่ได้เสียหายเลยแม้แต่น้อย
เรื่องนี้ก็เป็นข้อเปรียบเทียบ เป็นคติสอนใจ อธิบายถึงคำว่า “หิริโอตัปปะ” ด้วยภาพชาดก ให้เราเห็นว่าอ้อ..ไอ้คนที่ไม่ไปเอานะ นั้นคนที่เขามี “หิริ” คือความละอายใจ แล้วมี“โอตัปปะ” คือกลัวต่ออนาคต กลัวที่สุดก็คือว่าใจจะเป็นบาป ใจจะเศร้าหมอง แล้วจะเกิดทุกข์เกิดโทษในใจ ไอ้ทุกข์ที่เกิดทางกายมันไม่สำคัญหรอก เขาจับไปใส่คุก ใส่ตะรางนี่ไม่สำคัญ แต่มันสำคัญว่าใจเราเศร้าหมอง ใจเราเป็นบาป ใจเราเป็นอกุศล จิตใจคนที่มีบาป มีอกุศลนี้มันจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ชีวิตจะไม่จำเริญ ไม่มีความก้าวหน้า เขามีความกลัวอย่างนั้น เมื่อมีความกลัวในรูปนั้นเกิดขึ้นในจิตใจ ก็เลยไม่กระทำความชั่ว นี่ล่ะ..เรียกว่ามีความละอายแก่ใจ มี “หิริ” มี “โอตัปปะ”
ที่นี่“หิริโอตัปปะ” สองประการนี้ พระผู้มีพระภาคเรียก เป็นธรรมคุ้มครองโลก เรียกว่าธรรมเป็นโลกบาล โลกบาลหมายความว่าคุ้มครองโลก ธรรมะนี่ละคุ้มครองโลก ไม่ใช่เทวดาคุ้มครองโลก ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาคุ้มครองโลก แต่ตัวธรรมะที่เราเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่ละ เป็นสิ่งจะคุ้มครองโลก โลกคือตัวเรา ไม่ใช่โลกคือแผ่นดิน ให้โลกเราอยู่รอดก่อน ถ้าจิตใจเราอยู่รอด แผ่นดินอยู่รอด ประเทศชาติอยู่รอด ทรัพย์สมบัติอยู่รอด ครอบครัวอยู่รอด รอดหมด
ถ้าเอาตัวไม่รอด จิตใจตกต่ำจนเอาตัวไม่รอด แล้วจะมันจะรอดกันได้อย่างไร มันไปไม่รอด ถ้าใจตกต่ำแล้วเอาตัวไม่รอด ก็เห็นอยู่ถมไปว่าคนที่มีจิตใจตกต่ำนี่ เอาตัวไม่รอด ครอบครัวก็ไปไม่รอด วงศ์สกุลก็ไปไม่รอด ประเทศชาติก็ไปไม่รอด ถ้าคนในชาติมีจิตใจตกต่ำกันทั่วหน้าแล้วมันไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น เราก็ต้องเอาใจเราเข้าอยู่กับธรรมะ แนบสนิทอยู่กับธรรมะในทางพระศาสนา ต้องรักพระพุทธเจ้าให้มาก รักพระธรรมให้มาก รักพระอริยสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ให้มาก ใจอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อใจอยู่กับสิ่งนั้น เราทำไม่ได้ คนเราเมื่อมีความรักอะไร ไปแล้ว เราทำชั่วไม่ได้
เรารักพ่อแม่เราทำชั่วไม่ได้ ถ้ารักจริงๆนะ เพราะกลัวพ่อแม่จะเดือดร้อน ลูกบางคนที่มีความประพฤติเสียหายไม่ดีไม่งามนั้น เพราะมันไม่มีความรักในพ่อแม่ ไม่ซาบซึ้งในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่รู้ว่าพ่อแม่มีบุญคุณแก่ตัวอย่างไร ตัวอยู่ได้เพราะใคร มีชีวิตอยู่เรียบร้อยนี่เพราะใคร ก็นึกไม่ได้ นึกแต่เพียงว่า..พ่อแม่คือคนที่จะต้องจ่ายสตางค์ให้ตัวเมื่อต้องการ นึกเพียงเท่านั้น มองในแง่ว่าเป็นผู้ที่จะต้องจ่าย จะต้องให้ ถ้าขอแล้วต้องให้ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้ มันจะต้องเอาจนได้ นี่มันนึกอย่างนั้น นึกแต่ว่าแม่คือธนาคารที่จะเบิกเงินได้ทุกเวลา ธนาคารล่มไม่ได้ จะต้องเบิกได้ ถ้าไม่ได้มันก็กระฟัดกระเฟียด มันจะเอาชนะ มันจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ตามที่มันต้องการ นึกเพียงเท่านั้น ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่านั้น นี่จิตใจมันยังต่ำอยู่ ยังไม่สูงขึ้น ยังมองซึ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ถูก ไม่ชัด ไม่เข้าใจ เข้าใจแต่เพียงเท่านั้น ความรักไม่มี มีแต่ความต้องการ ต้องการจะเอาสตางค์ เอาเครื่องนุ่งห่ม เอานั้นเอานี่ ถ้าไม่ให้มันก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงไป อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่เรียกว่าไม่เจริญทางจิตใจเขาจึงได้กระทำเช่นนั้น
แต่ถ้าคนใดมีความสำนึกว่า เราเกิดจากพ่อแม่ แม่เลี้ยงเรา พ่อเลี้ยงเรา เราได้รับการศึกษา เราได้เจริญ เราได้ก้าวหน้า เพราะท่าน นึกถึงบ่อยๆ เมื่อนึกถึงบ่อยๆ ก็ทำชั่วไม่ได้ ทำชั่วไม่เป็น เพราะว่ารักคุณพ่อคุณแม่ กลัวคุณพ่อคุณแม่จะเดือดร้อน กลัวจะเกิดปัญหา เขาจึงไม่กล้าทำอะไร แต่จะประคับประคองตัวดีที่สุดเพื่อให้พ่อแม่สบายใจ คนรักครู รักสำนึกเรียน เขาจะไม่กระทำความชั่ว เพราะถือว่าสำนึกจะเสียหาย ครูจะเสียหายทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
มีเด็กคนหนึ่งอยู่ชลบุรี เขามาบวชที่วัดนี้ พอบวชแล้วเขาก็ติดทหาร เพราะยังไม่ได้คัดเลือก เขาไปอยู่เมืองนอก กลับมาบวช บวชแล้วก็ถูกเกณฑ์ ถูกเกณฑ์ก็ติดทหาร แล้ววันหนึ่งก็มาบอกว่า แหม..เป็นทหารนี่มันหนักเหลือเกิน เขาหัดหนัก เขาหัดคนให้เก่ง ทหารนี่ ต้องหัดอย่างมาก เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า บอกว่า แหม..ถ้าผมไม่บวชวัดชลประทาน ผมหนีแล้ว มันพูดเองเพราะอะไร มันรักวัดชลประทาน มันรักอาจารย์ปัญญานันทะ ถ้ามันหนีใครเขาก็รู้ ว่าไอ้นี่บวชกับท่านปัญญา มันก็เสียชื่ออาจารย์ เลย บอกว่าถ้าผมไม่บวชที่วัดชลประทาน ผมหนีแล้ว เรียกได้ว่ามันมีคุณค่าทางจิตใจได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้มีความเสียสละ ให้รักหน้าที่ ให้อดทน ให้มีความหนักแน่น ได้อบรมอย่างนั้น แล้วเขาเอาไปใช้ เขาจะทำชั่วไม่ได้ เพราะว่าบวชที่วัดชลประทานแล้วจะไปทำชั่วไม่ได้ มันจะเสียชื่อวัด จะเสียชื่อครูบาอาจารย์ จะเสียชื่อพระพุทธศาสนา เลยเขาไม่ทำชั่ว เพราะว่าเขารักวัด รักพระศาสนา รักครูบาอาจารย์ เขาก็ทำชั่วไม่ได้
คนเราที่เรียกว่ารักชาติ รักประเทศก็เหมือนกัน เราพูดว่ารักชาติๆ พูดเป็นคำเล่นๆ ไม่ค่อยจะเอาจริงเอาจัง ถ้าเรารักชาตินี่ รักบ้านเมืองของเรา เราจะทำอย่างไร ต่อชาติต่อบ้านเมืองของเรา เราก็ต้องอยู่อย่างดีที่สุดในชาติ บ้านเมือง เรารักชาติก็หมายความว่ารักเพื่อนมาร่วมชาตินั่นเอง เพราะว่าชาติคือการรวมของคนจำนวนมาก ที่พูดภาษาเดียวกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนกัน นับถือศาสนาเหมือนกันบ้าง อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ว่าภาษา เผ่าพันธุ์มันเป็นอันเดียวกัน เราเรียกว่าเป็นชาติ
ถ้าเรารักชาติ เราก็จะไม่เบียดเบียนเพื่อนบ้าน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ทุกแง่ทุกมุม อะไรที่มันจะเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมชาติ เราจะไม่ทำ นั่นเรียกว่ารักชาติจริง เมื่อใดชาติต้องการเราก็ต้องยอมเสียสละเพื่อประเทศชาติ เช่นว่าเกณฑ์ทหารนี่ เวลานี้เขากำลังเกณฑ์ทหารกันอยู่ ได้ทราบว่าในกรุงเทพนี่ เรียกแล้วไม่ไปเกณฑ์ตั้ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์
เมื่อเช้าพลเอกอาทิตย์แกพูดทางโทรทัศน์ บอกว่า กรุงเทพแท้ๆคนไม่ไปเรียกตามหมายเกณฑ์ตั้ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แต่บ้านนอกนั้นไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าไปกันทั่วหน้า ขาดไปสักคน สองคนเท่านั้น เรียกว่าไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ๑/๒ เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำไป แต่ว่ากรุงเทพขาดมาก ไม่ได้ไปเป็นทหาร ชอบหลีกเลี่ยง ชอบให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ที่ไปเกณฑ์ทหาร
เมื่อเช้าฟังข่าวก็เข้าที ที่จังหวัดพิจิตร คุณศรีพงษ์ สละวาศรี (52.05) เป็นผู้ว่าการที่นี่ เขามีการคัดเลือกทหารอยู่ที่ตะพานหิน แกก็แต่งตัวเป็นคนธรรมดาๆ ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ไอ้คนกินก๋วยเตี๋ยวมันคุยกัน ๒ คน คุยกันว่าให้เงินแก่ใครบ้าง? ทำอย่างไร? ลูกจะได้ไม่ติดทหาร ไอ้คนที่คุยกันไม่ใช่คนธรรมดา เป็นผู้ใหญ่บ้านทั้งนั้น นั่งคุยกันว่าไปติดต่อกับคนนั้นอย่างนี้ เลยแกก็เข้าไปถาม แหม..ผมลูกมันกำลังจะถูกเกณฑ์ทหารเหมือนกัน จะทำอย่างไร? ไม่ให้ต้องให้ถูกติดทหาร จะทำอะไรได้? ให้ไปที่ไหน? ให้เท่าไรไม่ว่า
พวกนั้นก็ อุ้ย..แกก็ภูมิฐานเป็นเถ้าแก่อยู่สักหน่อย ไอ้นั้นก็ไม่รู้จักเจ้าเมือง เออ..เป็นผู้ใหญ่บ้านไม่รู้จักเจ้าเมือง ยังไม่คุ้น เลยบอกว่า ไปด้วยกัน ก็พาไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ไปที่โรงแรมหมายความว่าคนที่มารับ มารออยู่แล้ว แล้วก็ให้เงินกัน เมื่อไปพร้อมหน้า แกก็แสดงตัวว่า ผมนี่ไม่ใช่คนธรรมดานะ เจ้าเมืองพิจิตร เลยรีบจับพวกนั้นเลยทีนี้ รายงานไปแม่ทัพภาค ให้รู้เรื่อง ว่าอะไร แม่ทัพภาคก็สั่งย้ายภายใน ๒๔ ชั่วโมงเลย ย้ายสัสดีอำเภอนั้นไปเลยทีเดียว นี่มันเป็นอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าคนมันไม่รักชาติจริง
ถ้ารักชาติจริง เราก็ไปเกณฑ์ ถ้าติดก็ไม่เป็นไร เราต้องไปทำงานรับใช้ชาติ ถ้าไม่ติดทหารก็ไม่เป็นไร เราจะได้มาทำงานในหน้าที่อื่นต่อไป เพราะคนจะทำอะไรเหมือนกันทุกคนมันไม่ได้ เป็นทหารทุกคนก็ไม่ได้ เป็นตำรวจทุกคนก็ไม่ได้ เป็นข้าราชการหมดประเทศมันก็ไม่ได้ ไม่มีคนทำนา ทำสวน มันก็ไปไม่รอด ทุกคนต้องทำอะไรตามหน้าที่
ที่นี่ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งใดๆ ในหน้าที่ใด เราก็ทำงานด้วยน้ำใจเพื่อให้งานก้าวหน้า ให้งานเจริญ เพื่อส่วนรวม เพื่อชาติ เพื่อประเทศของเรา อันนี้เรียกว่าเรารักชาติ รักชาติก็ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมนั้นเอง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ได้ ไม่เอาสบายคนเดียว แต่ว่าต้องให้สบายกันหลายๆคน อะไรที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ส่วนรวมแล้ว เราก็ช่วยกันทำสิ่งนั้น เพื่อประโยชน์แก่หมู่แก่คณะ แก่ส่วนรวม นี่เรียกว่าเรารักชาติ
อันนี้เรารักพระศาสนา เราก็ต้องประพฤติตนสุจริต อยู่ในศีลในธรรม เพราะเรารักพระพุทธเจ้า เรารักพระธรรม พระสงฆ์ เราก็ทำตนให้เป็นคนมีความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มีความละอายบาป มีความกลัวบาป จะคิดอะไร จะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ต้องยึดมั่นในธรรมะไว้ เอาธรรมะเป็นฐาน เป็นเครื่องรองรับ เอาธรรมะเป็นเครื่องวินิจฉัยว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ต้องพิจารณาด้วยปัญญาอยู่เสมอ เรียกว่าเรารักพระศาสนา
เราจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือทำงานให้ดีเหมือนกัน เพราะว่าเราเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างชาติ สร้างประเทศ เราก็ต้องช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ที่เราอยู่กันมาได้ ๒๐๐ ปี เรียกว่าเรียบร้อย ไม่วุ่นวายมากเกินไป ก็มีบ้างเป็นธรรมดาในสังคมมนุษย์ แต่ว่าเราอยู่รอดเพราะไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของใคร..อันนี้สำคัญ
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงไปหมดเลย ด้านตะวันตกก็ไป ตะวันออกก็ไป ใต้ก็ไป เหนือเท่านั้นที่ไม่ไปเพราะมันใหญ่จนกลืนไม่ไหว เรียกว่าฝรั่งกลืนจีนนี้กลืนไม่ไหว ประเทศมันใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นฝรั่งก็กัดกลืนกินเอาไปบ้างเหมือนกัน ใช้วิธีการฉลาด ทำเอาจีน เสียงไม่ชัด (56.30) แต่ว่าประเทศไทยเรานี้ไม่เป็นไร นี่น่าคิดเหมือนกัน ก็เพราะว่ามีคนมีน้ำใจเป็นธรรมะ มีความรักชาติอย่างแท้จริง เคารพต่อพระศาสนา แล้วก็มีความเสียสละ เพื่อประโยชน์เพื่อส่วนรวม เราจึงอยู่ได้มาโดยเรียบร้อย เราก็ควรจะได้คิดว่าอ๋อ..ที่เราอยู่มาได้นี้ด้วยเรื่องอะไร เสียงไม่ชัด (57.10) เรื่องการประพฤติธรรมนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ด้วยการที่เราประพฤติธรรม พระราชาประพฤติธรรม ข้าราชการประพฤติธรรม ประชาชนทั่วไปก็อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติดีประพฤติชอบ ธรรมะนี่ละ.. รักษาชาติไทย คุ้มครองชาติไทย ให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่างปลอดภัยมาจนกระทั่งครบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงเทพมหานคร แล้วต่อไปนี่เรียกว่าตั้งต้น ๒๐๑ ตั้งต้นชีวิตกันใหม่
เราจะต้องหันเข้าหาธรรมะให้มากยิ่งขึ้น เวลานี้สังคมวุ่นวายสับสนมาก เพราะเราถูกความมืด คือโมหะเข้าครอบงำจิตใจ เราก็ต้องทำลายความมืด ความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเชื่องมงาย สิ่งทั้งหลายที่ไม่เป็นสาระให้หมดไปจากจิตใจ ตั้งหน้าศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้หันหน้าเข้าหาธรรมะ เรียกว่าเดินขบวนเพื่อความเป็นธรรมกันเสียที เข้าหาธรรมะกัน แล้วเราจะได้ผลจากธรรมะ ธัมโมอเวรักขติธัมจารี (58.23) ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธัมโมสุจิโนมหาติ (58.30) ผู้ที่สะสมธรรมะก็ย่อมได้รับผลจากธรรมะ มีความสุข ความสบาย ขอฝากเรื่องนี้ไว้กับญาติโยมทั้งหลาย
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที นั่งตัวตรง หลับตาจะได้ไม่ยุ่ง หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว แล้วค่อยกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก ให้ความคิดอยู่ที่ลมเข้าลมออก อย่าให้ฟุ้งซ่านไปในที่อื่น เป็นเวลา ๕ นาที เชิญได้ ณ บัดนี้