แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวานนี้ ดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย เลยทำให้ฝนตก ฝนตกนี้มันดี เพราะว่าจะได้ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ดูต้นไม้ยิ้มไปตามๆกัน พอฝนเทลงมาเท่านั้นต้นไม้ยิ้มแล้ว มันสดชื่นดูใบมันเขียวชอุ่ม หญ้าก็ขึ้นเขียวสวยงาม คนเราก็พลอยสบายใจไปด้วย ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เราไม่ชอบความร้อนชอบความเย็น แต่ถ้าเย็นมากไปก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกัน คนเรานี้มันหาความพอดียากเหลือเกิน ร้อนก็ไม่ชอบหนาวก็ไม่ชอบ อย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ค่อยชอบ เพราะว่าใจเรามันเที่ยววุ่นวายไป ต้องทำใจให้พอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าเราพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าแล้วสบายใจ เช่น ฝนตกเราพอใจก็สบาย แดดจัดเราพอใจก็สบาย มีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่สามารถจะแก้ไขได้ เราไปนั่งเป็นทุกข์ทำไม เป็นทุกข์มันทำให้เสียกำลังใจไปเสียเปล่าๆ เราก็ควรจะนึกในแง่ดีแง่งามของสิ่งนั้น แล้วก็จะเกิดความพอใจ จะไม่เป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อน
พุทธบริษัทต้องรู้จักหมุนจิตใจ ให้เหมาะแก่สถานการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องหาความสบายใจเบาใจ จากเหตุการณ์นั้นให้ได้ อย่าอยู่อย่างคนกลุ้มใจ อย่าอยู่อย่างคนมีความทุกข์ มีความเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะความกลุ้มความร้อนใจนั้น มันทำลายสุขภาพทั้งร่างกายทั้งจิตใจ ถ้าเราทำลายตัวเราเองมันก็ไม่ดี สิ่งอื่นไม่ทำลายเราหรอก แต่ตัวเรานั่นละที่ทำลายตัวเราเอง เช่นว่า ฝนตก ถ้าเราไม่พอใจก็ทำลายตัวเอง แดดร้อนไม่พอใจก็ทำลายตัวเอง แดดมันร้อนอยู่ตามธรรมชาติ ฝนมันก็ตกอยู่ตามธรรมชาติ เรื่องของดิน ฟ้า อากาศ ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ถ้าเราไปหวั่นไหว ไปตกอกตกใจ ก็เรียกว่า ทำลายตัวเราเอง สิ่งนั้นไม่ได้ทำลายเรา มันเป็นเรื่องของธรรมชาติอย่างนั้น แต่เราไปนึกในแง่ที่ว่ามันเป็นโทษแก่เรา เลยเราไม่สบาย
เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา จึงสอนให้เราเข้าใจว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรานั้น มันเกิดจากความคิดของเราเอง” คือเราคิดให้เป็นสุขก็ได้ คิดให้เป็นทุกข์ก็ได้ คิดให้กลุ้มใจ เบาใจ มันได้ทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอยู่นั้น มันเป็นเรื่องของธรรมชาติธรรมดา ให้เราเข้าใจเรื่องธรรมชาติธรรมดาไว้ให้ชัดเจน แล้วก็อย่าไปวิตกกังวลกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แต่เราต้องรู้ว่าธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง มีอะไรเกิดขึ้นเราก็มาคิดว่า ธรรมดาในเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วมันก็สบายใจ และความคิดในแง่นี้เอาไปใช้แก้ปัญหาได้ร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา ถ้าเราได้ใช้ความคิดว่า “ธรรมดามันเป็นเช่นนั้นเอง” เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป หรืออาจจะไม่ทุกข์เลย เราอาจจะยิ้มเยาะสิ่งนั้นก็ได้ ในสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วเรายิ้มกับมันได้ เรารับสิ่งนั้นด้วยอารมณ์ฝ่ายสดชื่น เพราะเรามีปัญญาเราไม่ไปต้อนรับสิ่งใดด้วยความเขลา ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เรารับมันด้วยปัญญา ถ้ารับด้วยปัญญามันก็สบายใจ ไม่ปัญหาอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา
จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานั้น สอนเราในเรื่องอะไร?
จุดมุ่งหมายสำคัญของพระพุทธศาสนา ต้องการให้เราเข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง นี่ละคือ จุดมุ่งหมายสำคัญ ต้องการให้เราเข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง คือ เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคืออะไร มันมาจากเหตุอะไร แล้วมันให้ทุกข์ให้โทษให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด จุดหมายอยู่ที่ตรงนี้ ให้เราเพ่งพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ในเรื่องอะไรๆต่างๆ แล้วก็ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นให้ชัดเจนถูกต้อง เราก็จะมีทุกข์น้อยลงไปๆเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอยู่อย่างไม่ …… (06.10 เสียงไม่ชัดเจน) อย่างไม่มีความทุกข์ เมื่อใดเราเป็นอยู่โดยไม่มีความทุกข์ นั่นละเรียกว่า เราได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ที่เรานับถือบูชากันอย่างแท้จริง
แต่ถ้าเรายังมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ วุ่นวายใจอยู่ด้วยอะไรๆต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ก็แสดงว่าเรายังใช้ศาสนาไม่เป็น ยังใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าสำหรับชีวิตประจำวันไม่เป็น เราจึงมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ มีปัญหา บางทีปัญหามันรุนแรงจนถึงกับว่า กินไม่ได้กินไม่หลับกันเลยทีเดียว ปัญหาประเภทอย่างนี้มันเกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องนั้นชัดเจนนั่นเอง ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจก็ไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา ไม่เอาปัญญาทางธรรมะไปใช้ แต่เอาความไม่รู้ไม่เข้าใจไปใช้ ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงหน่อยก็เรียกว่า ใช้แต่อวิชชา ไม่ใช่วิชชา แล้วเราไม่ใช้วิชชามันก็จะเกิดแสงสว่างขึ้นในใจไม่ได้ เพราะเราใช้แต่อวิชชากันเสียเรื่อยไป เราจึงต้องหัดใช้วิชชาให้เกิดปัญญา เกิดแสงสว่างในจิตใจของเรา เราจะได้มองอะไรให้มันชัดเจนถูกต้อง ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ
เวลาที่พระสงฆ์จะไปไหนครั้งโบราณ ก็มักจะไปเฝ้าทูลลาพระพุทธเจ้า เวลาไปทูลลาพระพุทธเจ้า พระองค์มักจะถามพระเหล่านั้นว่า “ได้ไปบอกลาพระสารีบุตรแล้วหรือยัง” ถ้าพระเหล่านั้นกราบทูลว่าไดไปบอกลาแล้ว พระองค์ก็จะถามอะไรต่อไป ทำไมจึงได้ตรัสถามอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าพระสารีบุตรนั้น เป็นผู้มีปัญญาอันเลิศ เรียกว่าเป็นสาวกที่มีความเลิศ เรียกว่า “เอตทัคคะ” คือว่าเป็นหนึ่งในด้านปัญญา พระโมคัลลานะนั้นเป็นหนึ่งในด้านแสดงพระเดช พระสารีบุตรนี่เป็นเรื่องพระคุณ เป็นเรื่องปัญญา เรื่องความรู้ เรื่องความเข้าใจในปัญหาอะไรๆต่างๆ พระผู้มีพระภาคจึงได้ให้พระไปหามาสู่ เวลาพระจะไปไหนก็ให้ไปลาพระสารีบุตรด้วย ลาพระองค์ด้วยนั่นละ แต่ว่าให้ไปลาพระสารีบุตรด้วย เพราะพระสารีบุตรเป็นผู้มีญาณอันไกล จะได้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติงานให้พระเหล่านั้นเข้าใจ ชี้แนวทางในการที่จะต่อสู้กับปัญหา ในขณะไปปฏิบัติงานว่าควรจะใช้หลักอะไร ท่านฉลาดในเรื่องนี้ ท่านรู้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอย่างไร แผ่นดินนั้นมันเป็นอย่างไร สภาพท้องถิ่นเป็นอย่างไร
คนเราที่จะออกไปติดต่อกับคนมากๆ มันต้องศึกษา ศึกษาเรื่องคน ศึกษาเรื่องท้องถิ่น ไอ้เรื่องท้องถิ่นนั้นก็ต้องรู้ แต่ว่าเรื่องจำเป็นที่ต้องรู้นั่นก็คือ เรื่องคน ว่าคนในท้องถิ่นนั้นเขามีพฤติการณ์อย่างไร มีความคิดในแนวใด มีความเชื่ออย่างไร มีการกระทำมากอยู่ในเรื่องอะไร การกินการอยู่เป็นอย่างไร ต้องละเอียดรู้ละเอียด แล้วเราจะสามารถเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ สามารถจะแก้ปัญหากับคนเหล่านั้นได้
ถ้าเราไปโดยไม่รู้ ว่าคนในที่นั่นเขาเป็นอยู่อย่างไร มีความคิดอย่างไร มีการกระทำส่วนมากในรูปใด หรือพูดง่ายๆว่ามีรสนิยมในทางใด เราก็ไปอย่างหลับหูหลับตา ไม่สามารถจะไปแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะเราไม่รู้มูลฐานของปัญหา ในตัวคนเหล่านั้น แล้วเราจะไปแก้ได้อย่างไร มันทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะไปในที่ใดต้องศึกษา แม้เราจะไปหาคนสักคนหนึ่ง เราก็ต้องศึกษาว่าคนๆนั้น เขาเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร พอใจในเรื่องอะไร มีงานอดิเรกอะไรบ้าง ชอบกีฬาประเภทใด มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร สิ่งเหล่านี้ถ้าเรารู้เราเข้าใจ มันเป็นใบเบิกทาง ที่จะทำให้เราเข้าถึงบุคคลนั้นได้สะดวกสบาย
เราจะไปคุยกับใคร ถ้าไปคุยเรื่องงานเรื่องการมันหนัก แล้วไม่เกิดการเป็นมิตรเท่าใด แต่ถ้าเราไปคุยเรื่องไม่ใช่งาน แต่เป็นเรื่องอดิเรกที่เขาพอใจ เช่น บางคนชอบเรื่องวาด เราไปคุยเรื่องวาด บางคนชอบกล้วยไม้ เราก็คุยเรื่องกล้วยไม้ บางคนชอบลายคราม เราก็คุยเรื่องลายคราม บางคนก็ชอบเข้าวัดเข้าวา ชอบอ่านหนังสือธรรมะ หรือว่าชอบพระ ชอบอะไร เราก็จะได้คุยให้มันถูกต้อง เรียกว่าไปคุยสิ่งที่เขาชอบ เช่น บางคนชอบเลี้ยงนกเขา ถ้าเราไปคุยเรื่องอะไรมันไม่สนุกเท่าเรื่องของนกเขา ถ้าใครไปถึงคุยเรื่องนกเขาละก็ คุยกันสนุกตลอดเวลาก็ได้ ชอบอกชอบใจ เพราะเขามันหายใจเป็นนกเขา เราก็ต้องพูเรื่องนกเขาก่อน ให้เขาสบายใจแล้วเราก็ค่อยวกเข้าเรื่องง่ายเรื่องการ
การคุยเรื่องที่เขาชอบใจนั้น เท่ากับเป็นใบเบิกทาง ทำให้คนนั้นมีความเป็นมิตรกับเรา ครั้นว่าเขาเป็นมิตรกับเราแล้ว เราจะพูดเรื่องอะไรมันก็สะดวกสบาย ไม่เป็นปัญหาต่อไป นี่เรื่องคนๆเดียว ถ้าเป็นคนหมู่มากก็ต้องดูว่าคนในที่นั่น เขาเชื่ออะไร เขาชอบอะไร เขามีความเป็นอยู่ในรูปอย่างใด เราจะได้คุยให้เขาถูกใจ เช่นว่า ขึ้นไปยืนพูดอะไรกับชาวบ้าน ถ้าเราไม่รู้เรื่องเสียเลยว่าชาวบ้านเขามีอะไร พูดไปเขาไม่หัวเราะ เขาไม่สนุก ไม่เพลิดเพลิน แต่ถ้าเราคุยที่มันถูกเส้นเข้า เขาก็ฮาตรึมเลยทีเดียว ถ้าฮาหลายครั้งก็เรียกว่า เขาเป็นพวกเราแล้ว แต่ถ้าเราพูดแล้วไม่เห็นมีใครหัวเราะเลย อย่างนี้ก็เรียกว่า เราไม่มีพวกจากคนเหล่านั้น อันนี้มันก็เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาสนใจ
ยิ่งจะไปประกาศธรรมะแก่ประชาชน ก็ต้องมีอุบายเหมือนกัน ไม่ใช่ไปถึงพูดเอาๆ อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ มันต้องมีเรื่องอะไรเบิกโรง ทำให้เขาเลื่อมใสพอใจกันเสียก่อน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงเตือนพระเหล่านั้นว่า ให้ไปหาพระสารีบุตร เพราะพระสารีบุตรนั้นท่านฉลาด ในการที่จะสอนคน ท่านก็จะได้ให้กลเม็ดเด็ดพลายชี้แนะแนวทาง ว่าไปที่นั้นควรจะตั้งต้นอย่างไรกับคนเหล่านั้น ควรจะพูดอะไรกับเขาจะเป็นการสะดวก นี่เป็นวิธีการหนึ่ง เอามาใช้ทางโลกได้อย่างดีทีเดียว เช่น เราจะต้องติดต่อกับคน เรามันต้องมีอุบาย ต้องมีแนวทางวางแผนว่า เราจะไปพูดอะไรกับเขา เพื่อให้เขาพอใจในเรา แล้วก็คุยกันได้ด้วยความเพลิดเพลิน คนเราถ้ารักกันชอบกันแล้ว จะขออะไรมันก็ง่าย แต่ถ้าไม่รักไม่ชอบแล้วอย่าไปขอ เขาไม่ให้ เพราะเขาไม่ชอบเรา แต่ถ้าเขาชอบแล้วมันสะดวกสบาย นี่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เอาไปใช้ได้
แสดงว่าเวลาพระท่านไปหาพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าท่านก็จะถามว่า “ไปหามาแล้วหรือยัง” ถ้าตอบว่า “ไปมาแล้ว” แล้วพระสารีบุตรพูดว่าอย่างไรบ้าง พระท่านก็บอกว่า พระสารีบุตรพูดว่า “สิ่งทั้งหลาย ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น” หรือท่านพูดว่า “รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา” (15.14 เสียงขาดหาย)
เรียกว่าเป็นหลักเบื้องต้น เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่คนผู้นับถือพระพุทธศาสนาต้องรู้ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อใช้แก้ปัญหาอะไรๆต่างๆ เพราะจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานั้น อยู่ที่การทำลายปัญหา คือ ความทุกข์ให้หมดสิ้นไป ความทุกข์นี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของเราทุกคน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เราได้ทุกเวลา เมื่อเราเผลอ เราประมาท เราไม่ระมัดระวัง ความทุกข์มันก็จะเกิดขึ้นแก่เรา แต่ถ้าเรามีความระมัดระวังตัวอยู่ ปัญหามันก็ไม่เกิด คนที่มีความระมัดระวังตัวนั้นมีน้อย แต่คนที่เผลอมีมาก เพราะฉะนั้นจึงได้เกิดอะไรๆขึ้นในชีวิตของเรา ด้วยประการต่างๆ เราจึงต้องมีเครื่องมือไว้ สำหรับแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีอะไรที่จะราบรื่นเรียบร้อยไปทุกอย่าง
ในชีวิตของเรา มันไม่มีอะไรราบรื่นเรียบร้อยสักอย่างเดียว ยอมมีเรื่องนั้นมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ยิ่งเราอยู่กับคนมาก มันยิ่งมีเรื่องมาก บางคนมาปรารภให้ฟัง
แหม! ยุ่งใจเหลือเกิน หลวงพ่อ
ถามว่ายุ่งใจเรื่องอะไร เรื่องงานหรือ?
เขาบอกว่า งานนี่ไม่ยุ่ง ทำไปตามหน้าที่ มีอะไรก็ทำไปๆ ที่ยุ่งนี่มันยุ่งเรื่องคน ไม่ใช่เรื่องงาน
เรื่องคนนี่มันตัวยุ่งเลย คนเนี่ยตัวยุ่งปัญหาเยอะเลย คนที่เป็นหัวหน้าคนนี่มันยุ่งกับคน เพราะคนนี้มีจิตใจไม่เหมือนกัน ความคิดไม่ตรงกัน ความต้องการก็ไม่ตรงกัน หลายคนหลายแบบ หลายคนหลายแบบมาอยู่ร่วมกัน มันก็ย่อมจะเกิดการขัดกัน แล้วก็เมื่อขัดกันแล้ว ไม่ค่อยยอมกันเสียด้วยนะ ต่างคนต่างไม่ยอม เพราะว่าคนเรานี้มันใหญ่ทั้งนั้น ไม่มีใครเล็กสักคนเดียว คนเราถ้าใหญ่ตลอดไปมันก็ไม่ได้ เล็กตลอดไปมันก็ไม่ได้ มันต้องรู้เวลา รู้กาลเทศะ ว่าเวลานี้มันต้องเล็ก..ก็เล็กให้สมชื่อ
เวลาใหญ่..ก็ใหญ่ให้สมชื่อ
เวลาใดเขาให้นำ..นำให้ถูกทาง
เวลาใดต้องตาม..ตามให้ถูกเรื่อง
ถ้าอย่างนี้ใช้ได้ เรียกว่า “รู้จักปรับตัวเองให้เหมาะแก่สถานการณ์” ไม่ใช่เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ร่างกายของคนเรานี้ มันไม่ได้แข็งทื่อเหมือนกับท่อนไม้นะ มันอ่อนโอนอ่อนได้ มือเราอ่อนได้ คู้เข้าคู้ออกได้ รู้คิดรู้เคลื่อนไหวได้ อ่อนได้ตามความปรารถนา ลำตัวก็อ่อนได้ก้มได้ ไม่ใช่แข็งเหมือนกับไม้ทื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น มันอ่อนได้ อะไรๆมันอ่อนได้ทั้งนั้น มีจังหวะควรอ่อนควรแข็ง เวลาไหนควรแข็งเวลาไหนควรอ่อน เช่น ร่างกายเราถ้าแบกข้าวสารมันต้องแข็ง ถ้าไม่แข็งมันก็พับไปเท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้นร่างกายมันก็รู้ว่า อ่อ!ต้องทานน้ำหนัก พอต้องทานน้ำหนักมันก็แข็ง ทุกส่วนแข็งทั้งตัว เพื่อต่อต้านน้ำหนักที่มาวางลงบนหลัง มันก็อยู่ได้ แต่พอเวลาใดควรอ่อน ร่างกายก็อ่อนไป อ่อนโยน อ่อนถ่อมตนเพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์
เพราะฉะนั้น ในชีวิตเรานี้ก็เหมือนกัน บางครั้งเราก็ต้องแข็ง บางครั้งก็ต้องอ่อน บางครั้งก็ต้องตามเขา แต่บางครั้งก็ต้องนำเหมือนกัน บางครั้งก็ต้องเป็นผู้ทำอย่างเป็นผู้ทำอย่างนี้ สุดแล้วแต่จังหวะ คือว่าเหมือนกับละครที่เขาให้ออกแสดง เขาบอกว่าคุณแสดงเป็นนั่นนะ ต้องแสดงให้ถูกจังหวะ ให้แสดงเป็นพระ ให้แสดงเป็นนาง เป็นตัวตลก เป็นคนใช้ ต้องแสดงเป็น ถ้าแสดงไม่เป็นมันก็ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว
เขาเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านแสดงละครท่านมักแสดงเป็น คนใช้ ทำไมอย่างนั้นล่ะ? ในหลวงทำไมแสดงเป็นคนใช้? แล้วตัวแสดงละครทั้งหลายที่จะต้องใช้ในหลวงนี้จะทำอย่างไร? ท่านบอกว่า “ไอ้นี่มันละคร ไม่ใช่ตัวจริง” เธอต้องแสดงให้สมกับฉาก ถึงบางคราวต้องเขกกบาลฉันก็ต้องเขก เขกกบาลในหลวงนี่นะ ท่านไม่ว่าอะไร ท่านทำได้..ท่านทำได้เช่นนั้นเพราะอะไร? ท่านทรงต้องการสอนคน สอนคนให้รู้จักวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ ตัวพระองค์ท่านเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ว่าแสดงละครท่านแสดงเป็นคนใช้ก็ได้ เพื่อสอนคนว่า “คนเรามันต้องรู้จักจัดตัวเองให้พอเหมาะพอควร” เวลาใดอยู่ในตำแหน่งใด …… (20.30 เสียงไม่ชัดเจน) ในตำแหน่งนั่น ไปอีกตำแหน่งหนึ่งก็ต้องให้ดี ให้ดีในทุกที่ทุกสถาน เรียกว่าแสดงให้มันดี ให้เป็นที่พอใจคนดู
ท่านทำอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร ต้องการสอนคนให้รู้จักทำตัวให้เหมาะสม ท่านต้องการจะปูพื้นฐานการปกครองเหมือนกัน เรียกว่า พื้นฐานการปกครองระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยนั้น คนเราต้องรู้จักปรับตัวให้เหมาะ ถ้าปรับตัวไม่เหมาะมันก็ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยนี้มันต้องเอาคนมากเป็นใหญ่ เอาเสียงข้างมาก บางทีเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น แต่ว่าส่วนมากเห็นด้วย เราก็ต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ไปเห็นด้วยกับคนเหล่านั้น จะไปแข็งทื่ออยู่ว่า ฉันไม่ยอม! ฉันไม่ยอม! มันก็อยู่กันไม่ได้ ถ้าไม่ยอมเขามันก็อยู่กันไม่ได้ ก็ต้องออกไปอยู่คนเดียว แล้วจะอยู่ได้อย่างไร อยู่คนเดียวมันไม่ได้ คนเรามันต้องอยู่เป็นพวก เป็นพรรค เป็นหมู่ เป็นคณะ
การอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะนี้ มันก็ต้องแสดงละครไปตามฉาก บางครั้งเขาอาจจะให้เป็นหัวหน้าต้องเป็นให้ถูกเรื่อง บางครั้งอาจจะให้ไปเป็นอะไรก็ได้ ก็ต้องไปเป็นให้มันถูกเรื่อง นี่คือความเป็นด้วยปัญญา คนเราถ้าเป็นด้วยปัญญาแล้ว มันก็เรียบร้อย แต่ถ้าเป็นด้วยทิฎฐิมานะ ด้วยความยึดมั่น สำคัญผิดในเรื่องอะไรๆต่างๆ ก็กลายเป็นคนประเภทไม่ยอมใคร อยู่ได้หรือในโลกนี้ คือไม่ยอมใคร มันอยู่ไม่ได้ มันต้องยอมในบ้างครั้ง แข็งข้อในบางคราว
ประเทศไทยเรานั้น ที่อยู่รอดปลอดภัยมาได้ ก็เพราะว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านฉลาด พระเจ้าอยู่หัวที่ผ่านมาทุกรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ท่านฉลาดแหลมคม รู้จักผ่อนผันสั้นยาว ในเรื่องเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เวลาใดควรผ่อนก็ต้องผ่อน เวลาใดควรจะแข็งก็ต้องแข็ง รู้จักกาลเทศะ บ้านเมืองจึงอยู่รอดปลอดภัยมา
โดยเฉพาะในขณะที่เราต้องติดต่อกับชาวต่างประเทศ ชาวต่างประเทศนี้เขาจะมากอบโกยทั้งนั้นละ มาหาประโยชน์จากบ้านเมืองของเราทั้งนั้น เราก็ต้องดูว่าไอ้คนที่มานี่มันเป็นคนประเภทใด มันเป็นคนมีน้ำใจอย่างไร เราจะใช้วิธีแข็งตลอดไปมันก็ไม่ได้ เพราะบางทีกำลังมันสู้เขาไม่ได้ เหมือนเราจะงัดข้อกัน ถ้าเขามันข้อแข็งกว่าเรา เราจะงัดเขาไหวหรือ เราชกกับเข้าได้หรือ มันชกไม่ได้ ถ้าชกไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีอื่น วิธีผ่อนปรนทำเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ผลที่สุดก็ไม่เป็นไร เอาตัวรอดมาได้ทุกครั้ง นี่เรียกว่าประพฤติธรรมเหมือนกัน เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ในงาน ในชีวิตประจำวันจึงได้อยู่รอดปลอดภัย
อาตมาจึงพูดเสมอว่า “ประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยโดยอาศัยธรรมะ” พระธรรมนั่นละคุ้มครองรักษาชาติไทย รักษาเมืองไทย ไม่ใช่เทวดาไหนมาคุ้มครองรักษา แต่อาศัยธรรมะที่มีอยู่ในน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล เราจึงอยู่รอดปลอดภัย แต่สมัยนี้นั้น พระเจ้าอยู่หัวท่านอยู่เหนือกฎหมาย เอ้ย! (24.20) อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ท่านไม่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง มีคณะรัฐบาลเป็นผู้บริหาร คณะรัฐบาลก็เหมือนกัน ถ้าเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ก็รู้จักผ่อนปรน ไม่ชอบความรุนแรง เพราะถ้าใช้ความรุนแรง มันก็แตกหักกันเท่านั้นเอง ไอ้เรื่องแตกเรื่องหักนี่มันไม่ได้ประโยชน์อะไร จานแตกก็กินข้าวไม่ได้ หม้อแตกก็หุงข้าวไม่ได้ บ้านแตกสาแหลกไม่ขาด ถ้ามันไม่มีอะไรจะขน มันก็ขนไปไม่ได้ สู้ไม่แตกดีกว่า จะทำอย่างไรที่ไม่ต้องแตกต้องไม่ร้าว? ก็ต้องอาศัยการผ่อนปรนประนีประนอม คนไทยเรารู้จักคำว่า “ประนีประนอม” รู้จักคำว่า “ผ่อนปรน” จึงเอาตัวรอดมาได้ในทุกวันนี้ อันนี้เรื่องของชาติ
เรื่องของแต่ละบุคคลก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักใช้วิธีผ่อนผันสั้นยาวเสียบ้างก็จะดี แต่ว่าบางคนมันใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้เพราะอะไร? เขาเรียกว่า “ทิฎฐิมานะ” ทิฎฐิมานะ พูดภาษาชาวบ้าน แต่ถ้าพูดตามหลักธรรมะ เรียกว่า มีความยึดมั่นในตัวตนแรงเกินไป มีตัวตนใหญ่ มีตนมาก มีตนแรงเกินไป ตามศัพท์เขาเรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน” คือการยึดมั่นในตัวตนรุนแรง ถือว่าฉันหนึ่ง ฉันเก่ง ฉันยอด แล้วไม่ยอมๆลดไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนให้ใครทั้งนั้น ฉันหนึ่งอยู่ตลอดเวลา...ไม่ได้ เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ คนเราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ สิ่งทั้งหลายต้องมีผ่อนปรน ดูต้นไม้ที่มันอยู่ได้ ลมแรงมันอ่อน ลมแรงมันก็อ่อนตามลม
สมัยก่อนเรียนหนังสือมีแบบเรียนเล่มหนึ่ง เพื่อนกับแพงสองพี่น้องอยู่บ้านใกล้ป่า วันหนึ่งก็ชวนกันไปเที่ยวป่า เกิดลมพายุฝนตกแรงมาก เลยชวนกันวิ่งหนีไปอยู่ที่เพิงผา เรียกว่า เป็นภูเขาเป็นเพิงเข้าไปกันฝนได้ น้องก็กลัวฝนกลัวพายุ พี่ก็ปลอบน้องว่า “น้องอย่าไปกลัวกับลมแรงพายุแรงอย่างนี้ เพราะว่าสิ่งใดที่แรงนั้น ไม่เท่าใดก็เบา” แล้วเราก็จะเดินกลับบ้านได้ แล้วก็นั่งรออยู่จนฝนหยุด ลมหยุดก็เดินกลับบ้าน เมื่อเดินกลับบ้านเพื่อน(เป็นพี่) ก็อธิบายหลักการให้น้องฟังว่า “นี่น้องดูต้นไม้ในป่า ไอ้ต้นยูง ต้นยาง ต้นกร่าง ต้นไม้ใหญ่ๆล้มระเนระนาด ล้มพลิกท้องเอารากขึ้นเลยทีเดียว แต่ว่าต้นอ้อ หญ้า กอเข็ม พวกหญ้าที่เล็มอ่อนๆทั้งหลายนี้ เวลาลมพัดมันลู่ไปตามสายลม ราบไปเลยราบไปหมด แต่พอลมหยุดแล้ว มันก็ทรงตัวต่อไป แต่ต้นไม้ที่แข็งๆนั้นลมแรงมันก็ล้ม ล้มแล้วลุกขึ้นไม่ได้ ต้นไม้นั้นเป็นอย่างไร? เป็นเหยื่อปลวกเท่านั่นเอง ปลวกมันกินหมดเลย ก็ไม่ได้เรื่องอะไร
นี่คือบทเรียนที่เขาแทรกไว้ในบทเรียนเรียนสมัยก่อน ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีแต่ก็เลิกใช้เสียนานแล้ว ถือว่ามันของเก่าไม่ทันสมัย เรื่องสมัยใหม่นี่มันดีกว่า มีหลายเรื่องนะในแบบเรียนเล่มหนึ่ง สมัยก่อนเราอ่านมันเฉยๆ อ่านไปอย่างนั้นแหละ แต่ว่าเมื่อโตขึ้นไปนั่งนึก ดูว่าโอ้! เราอ่านหนังสืออะไร ย้อนไปนึกถึงเรื่องเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นบทเรียนทางธรรมะที่แทรกอยู่ในหนังสือทั้งนั้น ดีๆทั้งนั้นเป็นเรื่องเป็นประโยชน์
ที่เห็นว่าต้นไม้อ่อนนี่มันลู่ตามสายลม ลู่ตามสถานการณ์ พอลมผ่านพ้นหยุด ตั้งตัวได้ต่อไป เหมือนเมืองไทยเรา ญี่ปุ่นขึ้นลมแรง ลมใต้ฝุ่นมาจากเกาะญี่ปุ่นแรงเหลือเกิน เรียกว่าพัดชั่วโมงละ ๓๐๐ไมล์ เลยทีเดียว พินาศไปเลยนะ เราก็ต้องลู่ไปให้มันเดินเหยียบไปบ้างไม่เป็นไร “ไปเลยๆไป พระอาทิตย์จะเดินไปเดินไป เราก็ไม่เป็นไร” แล้วก็ผลที่สุดๆท้ายเป็นอย่างไร ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยไม่แพ้ ไทยยังมีลูกไม้อยู่ว่าไม่แพ้ เพราะการประกาศ …… (29.14 เสียงไม่ชัดเจน )ไม่สมบูรณ์ ผู้สำเร็จราชการก็เซ็นไม่ครบ มันมีเรื่องแก้ตัว ลูกพี่ไทยนี่ลูกไม้ยังพอใช้ได้อยู่เหมือนกัน เอาตัวรอดมาได้ไม่เป็นไร นี่เรียกว่าเราฉลาด รู้จักผ่อนปรนนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน เราต้องรู้ว่าลมแรงลมเบาควรจะทำตนอย่างไร ต่อสถานการณ์นั้นๆ ต่อบุคคลนั้นๆ ให้ถือหลักไว้ในใจอันหนึ่งว่า
“การสร้างความแตกแยกไม่ดี สร้างความแตกร้าวก็ไม่ดี สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้เกิดขึ้น ในระหว่างเพื่อนระหว่างมิตรก็ไม่ดี”
จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ? บางคราวเรามันต้องยอมบ้าง ไอ้ไม่ยอมตลอดไปมันก็ไม่ได้ บางคราวต้องยอม ยอมเพื่ออยู่รอดเราก็ต้องยอม เมื่อเรามีการยอมกันอย่างนั้น มันก็ไม่มีปัญหา เช่น คนสองคนอาจจะเถียงกันด้วยปัญหาต่างๆ อีกคนหนึ่งนึกขึ้นได้ว่า เอ้! เถียงกันจนคอแห้งแล้วยังไม่ได้เรื่องอะไร แล้วก็มาบอก ผมยกให้คุณชนะแล้วกัน เรื่องมันจบใช่ไหม มันไม่ต้องเถียงกันต่อไป เพราะยกให้คนหนึ่งชนะแล้ว ไอ้คนชนะมันก็ภูมิใจว่ากูชนะ ไอ้เรานี้ยอมเราก็ไม่เสียหายอะไร ถึงจะเถียงต่อไปอีกก็ได้ แต่มันได้อะไร? ได้คอแห้ง แล้วบางทีพอเถียงหนักเข้าอารมณ์ไม่ดีเข้า ได้ปากขึ้นจมูกขึ้นไปอีก แล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันไม่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักว่าอะไรพอดี อะไรพอควร ก็หยุดยั้งชั่งใจได้ก็สบายใจ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมง่ายๆ ตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา
แต่ว่าส่วนที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ที่พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกของพระองค์ก็ดี ได้กล่าวพร่ำสอนบ่อยๆ ตลอดเวลาว่า “สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายมีความทุกข์โดยธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง”
คำว่า “สิ่งทั้งหลาย” นั้น ก็หมายถึงตัวเรานี้ ไม่ได้มีอะไรไปจากตัวเราหรอก ตัวเรานั้นก็ประกอบขึ้นด้วยอะไร ประกอบขึ้นด้วย กายกับใจ ถ้าพูดภาษาธรรมะก็เรียกว่า รูปกับนาม รูป ก็คือร่างกาย นาม ก็คือใจ รูปก็คือร่างกายทั้งหมด ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววาหนาคืบกว้างศอก นี่เรียกว่าร่างกาย
เรื่องกายนี้เป็นของประสม เกิดจากวัตถุธาตุมีประการต่างๆ ถ้าแยกธาตุในร่างกายแล้วมันมากมาย นักวิทยาศาสตร์เขาแยกให้ดูแล้ว ว่ามีอะไรเท่าไหร่ในร่างกายของคนเรานี้ นั่นเขาเรียกว่า แยกอย่างละเอียด วิเคราะห์อย่างละเอียด ก็เห็นว่าร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุต่างๆ การหล่อเลี้ยงร่างกาย ก็ต้องเติมธาตุเข้าไปในร่างกาย คือ การรับประทานอาหาร รับประทานอาหารก็ต้องเฉลี่ยประเภทต่างๆ ผักบ้างเนื้อบ้างใส่เข้าไปในร่างกาย เพื่อจะให้ร่างกายไม่ขาดธาตุที่ล่อเลี้ยงร่างกาย ถ้าเรากินเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่พอเลี้ยงร่างกาย สมมติว่า เรากินผักอย่างเดียว แล้วผักอย่างเดียวบางทีก็ผักอย่างเดียวซะอีก กินผักบุ้งทอดน้ำมันอยู่ตลอดเวลา ร่างกายมันก็ขาดอาหาร ซีดๆ เซียวๆ ผิวหนังไม่ค่อยมีเลือดมีฝาด เพราะว่ามันขาดอาหารบางประการ
คนที่เขากินผักเหมือนคนอินเดีย เขากินผักเป็นอาหาร แต่ว่าเขากินหลายอย่าง “ถั่ว” ซึ่งมีโปรตีนมาก หลายชนิดที่เขากินกันอยู่ แล้วเขากินนมไม่กินเนื้อ แต่ว่าเขากินนม เราคนไทยนี่ถ้ากินผักนี่ก็ผักจริงๆนะ หัวไชโป๊ก็หัวไชโป๊ ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น มันก็ขาดธาตุสำหรับล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ถ้าเรากินแต่เนื้อมันมากเกินไป ร่างกายก็ไม่ดีอีก มันมีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น มีกรดในเลือด มีอะไรที่มันเรียกว่า มันล้นๆ อยู่ในร่างกาย มันต้องเฉลี่ยกินนั่นบ้างกินนี่บ้าง เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์พอสมควรพออยู่ได้
หมอเขาแนะนำว่าให้กินอะไรบ้าง เราก็กินตามหลักโภชนาการ ไม่ไปยึดถือว่าต้องกินนั่นต้องกินนี่ เช่น ไปยึดว่าฉันมันต้องกินผักจนตาย เอ่อ !มันเรื่องอะไร ที่จะไปตั้งอธิฐานใจเข้าในรูปอย่างนั้น มันไม่เข้าเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สั่งให้เราปฏิบัติอย่างนั้น แต่ให้ปฏิบัติตามกาลเทศะ ตามเหตุตามที่เกิดขึ้น พอเลี้ยงชีวิตไปได้ พอสบายไม่เดือดร้อน ธาตุในร่างกายมันก็ต้องเติมอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเจ็บไข้ได้ป่วย หมอก็ศึกษาดูว่าร่างกายขาดธาตุอะไร เขาก็ให้กินยาเพิ่มธาตุ หรือว่าฉีดยาเข้าไปเพื่อให้เร็วหน่อย ร่างกายก็กลับมา (34.53 เพิ่มเติมคำว่า “มา”) แข็งแรง สามารถจะปฏิบัติงานในหน้าที่ต่อไปได้
นี่คือของประสม อันของใดที่เกิดขึ้นจากการประสมปรุงแต่ง มันอยู่ได้เมื่อของที่ประสมยังพร้อม ถ้าส่วนประสมไม่พร้อมมันก็อยู่ไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ร่างกายของคนเรานี้จึงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วก็เป็นอย่างนั้นเดี๋ยวก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งถ้าคนใดรู้จักรักษาตัวดี กินอาหารถูกส่วน อยู่บ้านช่องสะอาด ลมหายใจไม่เป็นพิษ แล้วก็ไม่ไปเที่ยวดื่มของที่ไม่ควรดื่ม ไม่ไปกินของไม่ควรกินเข้าไปในร่างกาย ร่างกายคนนั้นก็มีสภาพเป็นปกติ แข็งแรงอายุมั่นขวัญยืน อยู่ได้จนถึง ๘๐ กว่า ๙๐ ก็มี ยังไม่ตายยังแข็งแรง นั่นก็เพราะว่าเขารักษาร่างกายดี กินอยู่แต่พอดี ไม่เกินไปไม่น้อยไป ไม่ทำอะไรที่เรียกว่าไม่สมควร เขางดเว้นจากเรื่องหลายเรื่อง ร่างกายแข็งแรงไม่อ่อนแอ
ร่างกายเรามันต้องช่วยมันบ้างเหมือนกัน ช่วยรักษาช่วยดูแล ช่วยเข้าอู่ซ่อมเป็นครั้งคราว ถ้าใช้มานานๆก็ เอ้า! ไปเข้าอู่เสียหน่อย เข้าอู่ก็คือว่า ไปตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ ตรวจดูนั่นนี่สมัยนี้เขาตรวจละเอียด ตรวจได้หมดตั้งแต่สมอง หัวใจ ตับ ไต ไส้ พุง ตรวจได้ทุกส่วนร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการเต้นของหัวใจ คลื่นสมอง รู้หมดว่าอะไรบกพร่องอะไรไม่ดี เขาก็มีการแก้ไข
เหมือนรถที่เราจะเดินทางไกล จะเดินทางไกลๆจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือว่าไปถึงนราธิวาส ถ้าว่าออกโดยไม่ตรวจนี่ประมาท รถมันอาจจะไปเสียตรงไหนก็ได้ ถ้าไปเสียที่ตลาดไม่เป็นไร เพราะว่าคนมันเยอะ แต่ไปเสียในป่าล่ะ เดี๋ยวนักเลงก็มาจ่อดอดจี้เราก็เท่านั้นเอง นี่คือความประมาท เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเดินทางไกล ต้องเอารถไปเช็คเสียก่อน ไปอู่ตรวจดูว่าอะไรมันจะบกพร่องอะไรมันจะเสียหาย ช่วยเช็คช่วยตรวจเพราะพรุ่งนี้มันจะเดินทางไกลมาก มันก็เรียบร้อย เขาเรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ในเรื่องเกี่ยวกับรถ
รถกับร่างกายเรามันก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกว่า ร่างกายนี้เป็นเครื่องยนต์อันหนึ่ง “สรีระยันตัง” เครื่องยนต์คือสรีระ …… (37.44 ภาษาบาลี) มีล้อ๔ มีทวาร๙ ล้อ๔ แต่เราใช้เพียงสองล้อ เราไม่ใช้สี่ล้อหรอก ไอ้พวกใช้สี่ล้อก็พวกขี้เมา เรียกว่าเดินไม่ไหวแล้วมันต้องใช้สี่ล้อ ถ้าสี่ล้อมันไม่ใช่คนแล้ว อะไรก็ไม่รู้มันใช้ไม่ได้ คนเราเอาเพียงสองล้อพอ ไอ้ล้อสำรองนี่มันไม่ค่อยได้ใช้หรอก แต่ถ้าเมาจัดแล้วก็สี่ล้อคลานกลับบ้าน เข้าประตูไม่ถูกเอาหัวชนกำแพงอีกด้วยซ้ำไป นี่มัน …… (38.18 เสียงไม่ชัดเจน ) เลยต้องใช้สี่ล้อ นี่เหมือนกับเครื่องยนต์ ก็มีประตูเข้า ประตูปาก ประตูจมูก ประตูหู ทวารหนัก ทวารเบา เขาเรียกว่าช่อง๙(ทวาร๙ อย่าง) ถ่ายเข้าถ่ายออกอยู่ตลอดเวลา ถ้าเอาเข้านี่ก็คืออาหาร น้ำดื่ม อากาศ นี่คือเอาเข้า อากาศออกหายใจออก อาหารใส่เข้าไปมันก็ต้องมีการถ่ายออก น้ำใส่เข้าไปก็มีการถ่ายออก ออกทางเหงื่อบ้าง ออกทางปัสสาวะ ออกทางอุจจาระ
ถ้าถ่ายเอาเข้าได้ออกค่อยไม่ได้ มันไม่ค่อยจะดีแล้ว เกิดโรคเกิดภัย เช่นว่า เป็นโรคท้องผูก มันก็ไม่ได้ ปัสสาวะไม่ออก มีทางจะตายเร็วกว่าท้องผูกด้วยซ้ำไป นี่มันต้องคล่องซะทุกอย่าง อะไรต้องคล่อง ทีนี้ถ้ารู้สึกว่ามันผิดปกติ ก็ไปหาหมอ การไปหาหมอนั้นไม่ได้เป็นการรบกวนหมออะไร เพราะหมอเขามีหน้าที่ตรวจคนรักษาคนไข้ เราบางทีไอ้น้อยๆ ก็ไม่ค่อยไป ให้เขาหามไปก่อนถึงจะไปหาหมอ อย่างนี้มันก็มีหวังจะได้ไปอยู่วัดใดวัดหนึ่งไวเท่านั้น ประมาทอย่างนั้น ไอ้เล็กน้อยนี้มันต้องรีบรักษา ไม่เปลืองยา ไม่เปลืองเวลา ไม่เปลืองเงินทอง เพราะว่าเล็กน้อย แต่ครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย ไม่เป็นไรยังเดินได้ แล้วผลที่สุดก็จะเดือดร้อน แต่ไม่ได้นะ! มันหนักอยู่ตรงไหนเราก็ไม่รู้ เพราะโรคบางอย่างเป็นแล้วมันยังเดินได้อยู่ ยังกินได้อยู่ ยังนอนได้อยู่ แต่มันปุบปั๊บขึ้นมาเมื่อใดเราก็ไม่รู้ มันแรงขึ้นมานี่ลำบาก จึงต้องอย่าประมาท
รู้สึกไม่สบายก็ไปหาซะ หมอเยอะแยะเลยเวลานี้ คลินิกเปิดทั่วไป โรงพยาบาลก็มี รีบไปหาหมอให้ตรวจ หมอเขาไม่อึดอัดหรอก เราไปหาเมื่อใดก็ได้ ให้เขาตรวจร่างกาย ถ้าว่ามันไม่พบอะไร เอ่อ! มันต้องไปตรวจที่เครื่องดีกว่านี้หน่อย ต้องลงทุนธรรมดา เราจะเอารถไว้ใช้นานๆ มันก็ต้องเช็คบ่อยๆ ร่างกายเราอยากใช้นานมันก็ต้องสงวน รักษาให้มันคล่องตัวอยู่ทุกสิ่งทุกประการ อาหารที่เรารับประทานก็ต้องเลือก น้ำที่ดื่มก็ต้องเลือก อะไรเป็นพิษเป็นภัยกับร่างกาย เราตัดทิ้งเสียบ้าง มันก็ไม่เกิดโรคเกิดภัยมากจนเกินไป นี่เรื่องของร่างกายมันเป็นอย่างนั้น เป็นส่วนรูปที่เราจะต้องประคับประคอง
พระพุทธเจ้าบอกว่า ร่างกายนี้เหมือนกับหัวฝี เหมือนกับลูกศร
หัวฝีมันเป็นอย่างไร? ใครเป็นฝีละแหม! ระมัดระวังหนักหนาตรงนั้น สมมติว่า ฝีขึ้นที่สะโพก เวลานั่งต้องค่อยๆ ค่อยๆ นั่ง ค่อยๆ ลุกขึ้น จะไปตรงไหนก็ต้องคอยระวังหัวฝี ยิ่งเป็นฝีแถวบริเวณหน้านี่ต้องระวังที่สุดเลย ล้างหน้าก็เที่ยวอ้อมไปล้างอ้อมๆไป ค่อยๆเช็ดค่อยๆถู กลัวจะถูกเจ้าประคุณหัวฝีเข้ามันจะเดือดร้อน ร่างกายเรามันก็เป็นอย่างนั้น ต้องประคบประงมต้องเอาใจใส่ ดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา
ท่านว่า มันเป็นทุกข์ในการที่ต้องเป็นเช่นนั้น เวลาเราเป็นฝีนี่เราเป็นทุกข์หรือเปล่า? เราก็เป็นทุกข์ ร่างกายมันเป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศรเสียดแทง ถ้าเราถูกหนามตำเราก็เป็นทุกข์ อาจถูกลูกศรอาบยาพิษยิงมาถูกร่างกาย สมัยนี้ไม่ยิงด้วยลูกศรแล้ว ยิงกระสุนปืนเลยทีเดียว ถ้าถูกกระสุนนี่จะเป็นอย่างไร เราก็เป็นทุกข์ ร่างกายนี้เหมือนถูกยิงด้วยกระสุนอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์ ยิ่งคนแก่แล้วยิ่งมีเรื่องมาก กระทบนิดกระทบหน่อยก็ไม่ได้ของมันเปราะ มันหักง่ายแตกง่าย แล้วก็ใช้มานานแล้ว มันก็ต้องชำรุดชุดโทรมเป็นธรรมดา เข่าไม่ดีบ้างข้อเท้าไม่ดีบ้าง ปวดตรงนั้นปวดตรงนี้ มีเรื่องจะให้ปวดเยอะแยะ บางทีก็ปวดไปทั้งเนื้อทั้งตัว มันเป็นบทเรียนเป็นเครื่องสอนใจให้รู้ว่า นี่ละร่างกายมันมีสภาพเป็นอย่างนี้
เมื่อก่อนนั้นจะเคลื่อนไหว ทำอะไรก็คล่องแคล่วคล่องตัว แต่เวลาอายุมากเข้าก็ชักจะไม่คล่อง มันเป็นเรื่องธรรมดา โยมบางคนบ่นว่า “แย่เจ้าค่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้” เลยบอกว่า “มันเป็นอย่างนั้นแหละโยม ไม่ได้เป็นแต่โยมคนเดียวหรอก” ถ้าประชุมคนแก่สักร้อยคน แล้วมาคุยกันละเหมือนกันทุกคน ปวดนั่นปวดนี่ เจ็บนั่นเจ็บนี่ มันเรื่องธรรมชาติ ที่จะต้องเกิดมีแก่เรา เวลามันเกิดขึ้นก็อย่าไปทุกข์ไปร้อนจนเกินไป แต่ให้รู้ว่านี้แหละความจริง ที่มันจะต้องเป็นอย่างนี้ ธรรมดามันจะต้องเป็นอย่างนี้ เราหนีความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ ต้องเอาธรรมะเข้าปลง ถ้าเราไม่ปลงมันก็ไม่หนัก เหมือนเราแบกของมันหนัก วางเสียบ้างมันก็ค่อยสบาย
อารมณ์ในจิตใจเราก็ต้องปลง ปลงเรื่องร่างกายก็มองว่า เออ! มันไม่เที่ยง ร่างกายนี้เหมือนกับต้นกล้วย ต้นกล้วยมันไม่มีแก่น แก่นกล้วยไม่มี แล้วมันก็แตกง่ายเปราะง่าย สิ่งทั้งหลายไม่มั่นคงไม่ถาวร เวลาใดเราไปนอนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อย่าไปทุกข์ร้อน อย่าไปตกอกตกใจ แต่ควรจะนึกว่ามันก็ดีเหมือนกัน ที่เราจะได้บทเรียนสำหรับชีวิต ไอ้เวลาสบายๆมันก็นึกไม่ค่อยได้หรอก พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้นึกถึงเรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องอะไรไว้บ้างไม่ค่อยนึก สบายแล้วมันลืมไปหมดนึกไม่ค่อยออก ตอนสบายนึกไม่ออก แต่พอไปนอนอยู่โรงพยาบาลนั่นแหละ ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้พิจารณาร่างกาย
การพิจารณาร่างกายให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างไรนั้น ช่วยให้จิตใจสบาย ไม่ต้องกระวนกระวาย เดือดร้อนกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ใจมันสบายก็ดี เหมือนกับเราไม่เจ็บไม่ไข้ แต่ถ้าว่าเราใจไม่สบาย มันหนักลงไป คนไข้ที่ใจไม่ดีนี่มันหนักลงไปเรื่อยๆ เขาจึงพูดว่า กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญ กำลังใจนั้นมันอยู่ที่ว่าเราปลงตกนั่นเอง อยู่ที่เราเข้าใจปลงเข้าใจพิจารณา เราไม่นึกว่าเราเป็นคนเจ็บที่สุดในโลก บางคนแหม “เจ็บที่สุดในโลก” เอาอะไรไปเปรียบก็ไม่รู้ นอนเจ็บอยู่คนเดียว จะไปเปรียบได้อย่างไร ว่าที่สุดในโลกมันเปรียบไม่ได้ ว่าไปอย่างนั้น! คือ นึกให้มันอ่อนอกอ่อนใจไปเปล่าๆ เราไปนึกเช่นนั้นทำไม เรานั่งมองนั่งนึกพิจารณาไปว่า เออ! มันเจ็บตรงนั้น มันปวดตรงนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา เครื่องมันติดขัดมันยังไม่สะดวกก็ต้องเป็นบ้าง นอนพิจารณาไปเพลิดเพลินไป แล้วเราก็จะได้ไม่เป็นทุกข์ทางใจ ให้มันป่วยแต่เพียงร่างกาย อย่าให้ใจต้องไปป่วยด้วย
บางคนป่วยหมดเลยทั้งกายทั้งใจ พอป่วยแล้วก็ยิ้มไม่ออกเลย พูดอารมณ์ขันก็ไม่ได้ อย่างนี้มันหนักแล้ว มันหนักนะป่วยอย่างนี้หนัก หมอรักษาก็บอกว่า กำลังใจคนไข้สำคัญมาก เราต้องเตรียมไว้ เผื่อวันหนึ่งจะเป็นอย่างนั้น เราจะได้ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องนั้นให้มันมากเกินไป ต้องคิดปลอบใจไว้อย่างนี้ ไอ้การคิดปลอบใจนี่มันต้องคิดไว้ล่วงหน้า เหมือนกับเราจะไปขึ้นชกมวย มันต้องซ้อมไว้ล่วงหน้า จะไปซ้อมข้างเวที ไปเต้น ไปชกลมเอาตรงนั้นมันไม่ทันหรอก พอขึ้นถึงเพื่อนน็อกไม่ถึงยกเลย เพราะเราไม่ได้ฝึกไว้ก่อน เรามันต้องฝึกต้องซ้อม ความคิดก็ต้องซ้อม สติปัญญาก็ต้องซ้อม ซ้อมนึกๆสมมติไว้ว่า ถ้าเราป่วยเราจะทำใจอย่างไร ถ้าเรานอนบนเตียงเราคิดอย่างไรเราจะนึกอย่างไร จะได้มีความสงบใจ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน ต้องคิดไปล่วงหน้าเตรียมตัวไว้
พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาท ที่ว่าไม่ให้ประมาทก็หมายความว่า ให้เตรียมกายเตรียมใจ ต้อนรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ในเมื่อใดเราก็ไม่รู้ เพราะชีวิตมันไม่เที่ยง มันอาจจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเตรียมตัว เตรียมกายเตรียมใจ เตรียมเงินเตรียมทอง เตรียมข้าวเตรียมของ ไว้ด้วยนะ มันต้องเตรียมพร้อมไม่ประมาท คนไม่ประมาทมันต้องเตรียมพร้อม ว่าอะไรจะเป็นอะไรต่อไปมันก็ต้องเตรียมไว้ เวลาเกิดเป็นขึ้นก็ไม่เดือนร้อนไม่วุ่นวาย ไม่สร้างปัญหา
หลวงลุงอาตมานี่ ซื้อหีบมาวางไว้ข้างเตียงนอน หีบศพเลย! แล้วเอาไม้ฝืนมากองไว้ ผ้าห่อศพก็มีพร้อม วางไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ใครมาเห็นก็บอกว่า “โอ้! ท่านทำไมแช่งตัวเองอย่างนี้ หาว่าแช่งตัวเอง ว่าการที่เอาหีบมาไว้ข้างที่นอน เหมือนกับแช่งตัวเองให้ตาย เอาไม้ฝืนมาก็แช่งตัวเองว่าจะถูกเผา คนมันมองไปอย่างนั้น คือไม่ได้คิดว่าที่ทำไว้อย่างนั้น เพื่อเตือนตัวเอง เตือนตัวว่าใกล้แล้วที่จะได้ย้ายบ้าน ไปอยู่บ้านเล็กๆ ใกล้แล้วที่ขึ้นไปบนเชิงตะกอน แล้วเขาเอาไฟเผาสรีระร่างกาย เป็นการเตือนไม่ให้ประมาท เวลาจะอะไรเกิดขึ้นก็ไม่กังวลไม่ห่วงใย แม้จะเจ็บป่วยก็นอนสบายๆ ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อน ไม่กังวลในเรื่องปัญหาอะไรๆ ต่างๆ นี่คือการเตรียมพร้อม
บอกว่าเตรียมไว้ก็ไม่ได้ใช้ ก็ไม่ได้ตายที่นั่น เวลาตายจริงๆก็มาตายเอาที่วัดชลประทานฯ โลงก็อยู่ที่จังหวัดตรัง ไม้ฝืนก็กองอยู่ที่โน่น แต่ว่าท่านก็สั่งพระไว้เหมือนกัน สั่งไว้ว่า เวลาตายแล้วให้เอาโลงที่จังหวัดตรังมาใส่ด้วย ไม้ฝืนก็เอาไว้แล้วเอามาเผา ทีหลังก็ต้องให้เขาส่งมาทางรถไฟ เอามาใส่ท่านเหมือนกัน ไม้ฝืนนั้นก็เอามาๆเผาท่านเหมือนกัน คือไม้ฝืนนี้ไม่ใช่ไม่ธรรมดาเหมือนไม้จันทน์ เก็บเอามาจากภูเขาชาวบ้านเขาเอามาให้ ท่านก็บอกว่า “เออ อันนี้ไว้เผากู” ก็เลยเอาไว้เผาท่าน มาเผาตามที่ท่านได้สั่งไว้ทุกสิ่งทุกประการ มันก็ไม่มีอะไรเดือดร้อนไม่มีปัญหา
คนบางคนเมื่อแก่ชราแล้ว ทำพินัยกรรมไว้เรียบร้อย นี่คือการไม่ประมาท คนบางคนทำพินัยกรรมเหมือนกับแช่งตัวเอง ไม่ต้องแช่ง แช่งไม่แช่งมันตายวันเย็นค่ำแหละไอ้ร่างกายของคนเรานี้ ไม่ต้องแช่งหรอกเรื่องมันธรรมดา มันตายวันเย็นค่ำแหละ ไอ้การทำไว้นี่มันดี มันดียังไง? ลูกหลานจะไม่ต้องทะเลาะกัน จะได้พอใจว่า อ่อ! คุณพ่อคุณแม่ให้เราเท่านี้ มันก็ไม่เกิดเป็นปัญหาอะไร ไม่ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล คนในครอบครัวเดียวกัน พูดจากันไม่ตกลงกันในเรื่องทรัพย์สมบัติมรดก แล้วต้องไปขึ้นศาลต้องให้ทนายมาว่าความ มันเรื่องอะไร ที่เอาเงินไปเที่ยวแจกคนนั้นคนนี้ ให้มันวุ่นวายไปเปล่าๆ แล้วก็เป็นการลดเกียรติของตัวเอง
พี่ๆ น้องๆ ถ้าเป็นความกันบางคนเขาก็ดังไป ไม่กี่วันนี้หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว ใครฟ้องใครแย่งมรดกอะไรไม่รู้ ลงข่าวจั่วหน้าหนึ่ง คนก็รู้ๆแล้วถ้าสมมติว่า จะไปเข้าหุ้นเข้าส่วนกับใคร ทำการค้าขาย ร่วมมือ …… (51.07 เสียงไม่ชัดเจน) กับใครเขาไม่ไว้ใจ เขาสงสัยอยู่ในใจ สงสัยว่าพี่ๆน้องๆมันยังไม่รักกันเลย ไอ้เรามันคนอื่นแท้ๆ เขาจะซื่อตรงต่อเราขนาดไหน จะรักเราขนาดไหน มันเสียหายนะ มันเสียหายแก่ธุรกิจนะ หรือว่าเราจะไปทำอะไรคนเขาไม่ไว้ใจ เพราะพี่น้องคลานตามๆกันมาแท้ๆ มันยังพูดกันไม่รู้เรื่องเลย แล้วไอ้เราถ้ามีปัญหา แล้วมันจะรู้เรื่องกันได้อย่างไร เพราะไม่มีความสัมพันธ์ทางโลหิต นี่มันเป็นปัญหาเรื่องนี่สำคัญ
…… (51.47 เสียงไม่ชัดเจน) สตุงสตางค์นี่ เวลาพอจะรู้สึกว่า ร่างกายมันชำรุดทรุดโทรมเต็มทีแล้ว เขียนใส่ตู้ไว้ ฝากเขาไว้ก็ได้ ฝากสำนักงานทนายความให้ช่วยจัดการด้วย เรื่องมันเรียบร้อยไม่ต้องฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วก็ควรจะมีข้อแม้ไว้ว่า ถ้าทุกคนไม่พอใจในพินัยกรรมนี้ แล้วเกิดฟ้องร้องยังโรงศาล ขอให้ผู้จัดการมรดก ยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่สภากาชาดเลย ลูกหลานไม่มีกล้าฟ้องเลย มันกลัวว่าจะยกไปให้โรงพยาบาลหมด มันจะฟ้องกันยังไง ก็ต้องเรียบร้อย หรือเขียนเอาไว้ว่า ให้เอาไปถวายเจ้าคุณปัญญาฯ สร้างโรงเรียนวันอาทิตย์ก็ยังได้ มันก็ไม่ยุ่งแล้วทีนี้ เด็กมันก็ไม่ฟ้อง นี่เรียกว่าผู้ใหญ่ไม่ประมาท ไม่ประมาทจัดการทุกอย่างเรียบร้อย ไม่ยุ่งไม่ยากนี่มันดี
นี่เราต้องพิจารณาตัวไว้ มองดูสังขารตัวเอง ว่าเรามันอายุปูนนี้แล้ว ร่างกายก็เป็นอย่างนี้แล้ว ต้องพร้อมแล้วไม่ประมาทในเรื่องอะไรๆต่างๆ แล้วคนที่ทำงานทำการก็เหมือนกัน ถ้ารู้สึกว่าตัวแก่ขี้หลงขี้ลืม มันเลิกงานได้แล้วพักผ่อน พักผ่อนสบายๆหาความสุขทางใจ ตอนท้ายของชีวิตพักผ่อนเสียบ้าง แล้วก็หัดคนอื่นทำงานแทนเรา ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ จะได้เป็นที่ปรึกษาควบคุมดูแลเขา มีอะไรบกพร่องจะได้สอนได้เตือนเขา ถ้าเราทำเองเสียจนกระทั่งเราหมดลมหายใจ ลูกเราทำงานไม่เป็นอันนี้มันก็ยุ่งอีก ต้องตั้งต้นใหม่ เราต้องสอนต้องฝึกให้เขาทำงาน ลูกก็ทำงานเป็นทุกคน อย่างนี้เรียกว่าฉลาด
นี่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่า รู้เรื่องร่างกาย พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา เราก็พยายามที่จะใช้ปัญญาในเรื่องนี้ ตอนสวดมนต์ก็สวนทุกวัน “รูปปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง” เราสวดทุกวันอย่าเพียงแต่สวดเฉยๆ แต่ต้องเอาไปพิจารณาดูร่างกายดูจิตใจ ดูสิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งหลายทั้งปวง ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาไม่ใช่เนื้อแท้อย่างไร ค่อยตรวจค่อยส่องเตือนจิตสะกิดใจไว้ อย่าเผลออย่าประมาท ชีวิตมันก็จะไม่ยุ่งยากไม่เสียหาย แม้เราจะอยู่ในโลกก็เรียกว่า อยู่อย่างสดชื่น เพราะเรามองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ไม่ไปเที่ยวยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอย่างนั้น
มีเงินมีทอง ... อย่าให้เป็นทุกข์เพราะเงินเพราะทอง
มีลูกมีหลาน ... ก็อย่าให้เป็นทุกข์เพราะลูกเพราะหลาน
แต่ว่าเรารู้จักใช้เงิน รู้จักอยู่กับลูกกับหลาน รู้จักเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้ด้วยปัญญา เราจะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนใจ นี่เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าท่านแนะแนวไว้ เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วเราจะเห็นผลด้วยตัวของเราเอง ว่าเมื่อเราได้ใช้ธรรมะแล้ว จิตใจสงบอย่างไร เป็นสุขอย่างไร รู้เท่าทันต่อสรรพสิ่งทั้งหลายอย่างไร รู้ได้เอง ผลนั้นปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติเป็น สันฐิติโก (ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงรู้ได้ด้วยตนเอง) ตามบทที่เราสวดในพระธรรมคุณ
ดังที่ได้แสดงมาสำหรับในวันนี้ ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้