แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ พวกเราทั้งหลายก็มาวัดกันตามปกติ เพราะว่าอาหารใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย (00.44) อาหารธรรมะนี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจิตใจ ส่วนอาหารที่เป็นวัตถุนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัพเพ สัตตา อาหารัฏฐิติกา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร คำว่าอาหารนั้น หมายถึงอาหารกายและอาหารใจ อาหารกายเป็นคำข้าว น้ำ ขนม นม เนย มีประการต่างๆ ซึ่งเรารับประทานกันอยู่วันหนึ่งหลายมื้อ ส่วนอาหารใจนั้นก็คือ ธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ เรียกว่าเป็นอาหารใจ อาหารใจนี่ เรารับประทานน้อยไป เจ็ดวันจึงจะรับประทานอาหารใจกันครั้งหนึ่ง และเมื่อพอใจก็มาฟังกันเป็นประจำ เดือนหนึ่งสี่ครั้ง เดือนหนึ่งสี่ครั้งนี้เรียกว่า พอดีๆ เพราะว่าเราอยู่ในโลก เราจะต้องประกอบกิจการงานตามหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อการยังชีพ เมื่อถึงวันหยุดงานก็มาพักผ่อน รับอาหารทางใจ
เมืองไทยเรานี่ยังไม่หยุดงานกันอย่างจริงจัง คือวันอาทิตย์นี่ยังหยุดไม่จริง ร้านค้ายังเปิดค้าเปิดขายกันอยู่มาก ในประเทศอื่นนั้น ไม่ต้องไกล ประเทศมาเลเซียนี่ถ้าเป็นวันหยุดแล้วก็หยุดหมด ประเทศลังกานี่ก็หยุดหมดเหมือนกัน ไม่ว่าร้านขายอะไรหยุดกันหมดไม่มีขายในวันนั้น เป็นการพักผ่อนแก่คนทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นๆ ถ้าเราไปเที่ยวประเทศมาเลเซียในวันศุกร์นี่จะไม่มีของขายเลย เพราะหยุดกันหมด เว้นไว้แต่ร้านอาหารเท่านั้นที่ยังเปิดขายกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก มีน้อยร้าน ส่วนร้านขายของอื่นๆ นั้นเขาปิดหมด เพื่อให้คนได้มีโอกาสพักผ่อน ได้ไปสู่ศาสนสถานอันเป็นศาสนาที่เขานับถือกัน เขามีระเบียบในการหยุดงาน แต่เมืองไทยเรานั้นยังไมได้ตั้งเป็นระเบียบอย่างนั้นขึ้น เพราะฉะนั้นวันเสาร์คนก็ยังไปซื้อของกัน วันอาทิตย์ก็ยังไปซื้อกัน ยังมีร้านค้าขาย รถวิ่งเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ว่า เบาไปหน่อย ไม่เหมือนวันธรรมดา ในประเทศอื่นนั้น ถ้าเป็นวันอาทิตย์หยุดงานแล้ว จะไม่มีรถวิ่งบนถนนเลย ถนนซึ่งเคยเต็มไปด้วยยวดยานจอแจนั้น จะเห็นโล่งไปหมดเลย เราไปเดินตามถนนอย่างสบายๆ ไม่ต้องกลัวอะไรจะมาชนเรา เพราะไม่มีรถวิ่ง
แต่เมืองไทยเรานั้นก็หยุดกันไม่ทั่วถึง เพราะนั่น (04.00 เสียงไม่ชัดเจน) ยังไม่มีระเบียบในการอย่างนี้ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นปีฉลองเมืองไทยที่มาได้ เรียกร้อยสองร้อยปี ก็น่าจะหยุดงานให้มันจริงจังกันในวันอาทิตย์ เพื่อจะให้หยุดกันหมด ไม่มีรถยนต์วิ่งกันเพ่นพ่านกันบนถนน นอกจากเรามาวัด หรือว่าไปฟังธรรมตามสถานที่ที่เราเปิดไว้ อันนี้จะช่วยให้การจราจรสะดวกสบาย แล้วก็เป็นเหตุให้ไม่สิ้นเปลืองน้ำมันในเรื่องที่ไม่ควรจะสิ้นเปลือง มันก็ดีอยู่เหมือนกัน เมื่อหยุดงานแล้วอยู่บ้าน ก็เรียกว่ายังไม่หยุดทางใจ กายอยู่ที่บ้านก็ยังมีภาระวุ่นวาย เห็นนั่นเห็นนี่ เรื่องนั้นเรื่องนี้ จิตใจก็ยังเป็นกังวลกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ได้เป็นการพักผ่อนทางใจอย่างแท้จริง แต่ถ้าเรามาวัดนี่ก็เรียกว่ามาพักผ่อน ถ้ามาถึงวัดแล้วใจมันก็ว่าง ว่างจากความยึดถือในวัตถุต่างๆว่าเป็นของเรา ถ้าเราอยู่บ้านใจมันไม่ว่าง มองไปที่ไหนก็ของฉันทั้งนั้น ตู้ของฉัน โต๊ะของฉัน เก้าอี้ของฉัน ไอ้นู่น ไอ้นี่ในบริเวณบ้าน ของฉันเต็มไปหมด จิตมันก็มันไม่ว่าง มีความรู้สึกกังวลในสิ่งเหล่านั้น
แต่ถ้าเราออกจากบ้านมาก็เบาใจ สบายใจ เพราะไม่มีอะไรเป็นของเรา เพราะฉะนั้นการไปเที่ยวนี่ จึงเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนบางคนก็ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปเที่ยวแล้วบอกว่าแหม สบายใจ มันสบายตรงที่ว่าเราไม่มีภาระหนักใจ ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปแบกอยู่นั่นเอง เราปล่อยวางได้ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชที่วัดสระเกศ ท่านเดินทางไปในงานเขื่อนยันฮี อาตมาก็ไปด้วย นี่ก็ไปเรือบิน เฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่ ก็ไปหยุดเติมน้ำมันที่ตาคลี ซึ่งเป็นสนามบิน ท่านก็ลงมานั่งพักที่บันได บันไดเรือบิน อาตมาก็เข้าไปใกล้ๆ ท่าน ท่านบอกว่า แหม ผมนี่ถ้าได้ออกจากวัดแล้วมันสบายเหลือเกิน สบายใจ อยู่วัดนี่มันไม่ค่อยสบายอย่างนั้น ถามว่าเป็นอย่างไร พระเดชพระคุณไม่ค่อยสบายอยู่วัดเพราะอะไร คนมันกวนว่าอย่างนั้น คนมันมาหา เพราะท่านเป็นหมอใหญ่ เป็นหมอดู เดี๋ยวดูฤกษ์แต่งงาน ดูฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ ดูฤกษ์เปิดร้าน เรื่องมาก ท่านไม่ได้พักผ่อน แต่ถ้าวันไหนได้ออกจากวัดไปแล้วมันสบาย ท่านว่าอย่างนั้น แต่ว่าไม่ค่อยมีใครมาเอาไป เลยไปไม่ได้ ก็ต้องนั่งทนทรมานอยู่ในกุฏิต่อไป
ที่ท่านพูดเช่นนั้น ก็แสดงว่าท่านเบาใจ โปร่งใจเมื่อได้ออกจากวัดไป เพราะอยู่ที่วัดนั้น มันมีความหนักใจด้วยเรื่องคนมาติดต่อ ไม่ได้มีเวลาเป็นของตัวเองเลย แต่พอออกจากวัดไปก็ไม่มีอะไรถ่วงจิตใจ จึงเกิดความสบาย เพราะฉะนั้นคนเราจึงชอบไปเที่ยว ที่นั่นที่นี่ การเที่ยวนั่นก็คือการพักผ่อนแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าถ้าไปเที่ยวในแบบที่ไปอย่างชาวบ้านก็ได้พักเพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็พอสมควร แต่ถ้าเรามาเที่ยวแบบในธรรมะ มาในแง่ของศาสนาเราได้พักมากขึ้น และก็ยังมีโอกาสได้ศึกษาข้อธรรมะอันเป็นหลักที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ไขความยุ่งยากในชีวิตต่อไป อันนี้จะช่วยให้เกิดความสุขทางใจ ท่านทั้งหลายที่มาอยู่เป็นประจำ ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า มีความสุขทางใจ จึงได้อุตส่าห์มา มานั่งฟังปาฐกถา เสร็จแล้วก็กลับไปบ้าน มีความสบายใจอย่างนี้ ความสบายอย่างนี้เรียกว่า เป็นการพักผ่อนทางจิตใจ
พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นพระอรหันต์ ความทุกข์ไม่มี แต่ก็ยังมีเวลาที่จะปลีกพระองค์ออกไปพักเหมือนกัน ทำไมจึงได้ไปพัก เพราะว่าอยู่กับที่ทรงนั่งอยู่ตลอดเวลา คนก็มาหามาสู่ พระองค์ก็อยากจะไปอยู่ที่อยู่ไม่มีใครรบกวนบ้าง เรียกว่าอยู่วิเวกให้ได้ กายวิเวก ส่วน จิตวิเวก คือความสงบจิตท่านมีอยู่แล้ว อุปธิวิเวก ความสงบทางกิเลส ท่านก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าอยากจะไปพักบ้าง ไปพักร่างกาย เพราะว่านั่งนานๆ มันก็เกิดปวดเกิดเมื่อย แต่ว่าถึงแม้ไม่เป็นทุกข์ แต่มันก็เป็นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระองค์ก็เข้าไปในป่า ไม่ให้ใครเข้าไปเยี่ยม เป็นเวลา ๗ วัน เป็นการพักจริงๆ คนที่จะเข้าไปได้ ก็คือพระอานนท์เท่านั้น พระอานนท์ท่านนำอาหารไปถวาย วันละมื้อ พอถวายอาหารเสร็จ ท่านก็ออกมาอยู่ข้างนอก ให้พระองค์ประทับพักอยู่ในที่นั้นเพียงพระองค์เดียว นี่ก็คือเรื่องการพักผ่อนทางร่างกาย ความจริงจิตใจนั้นได้พักผ่อนอยู่แล้ว แต่ว่ากายไม่ได้พัก ร่างกายมันก็เกิดปวด เกิดเจ็บ เกิดเมื่อย อันเป็นเรื่องของวัตถุทางร่างกาย ก็ไปพักอย่างนั้น เพื่อผ่อนคลายอิริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ให้เป็นไปโดยปกติสม่ำเสมอ นี่เป็นเรื่องพักผ่อน
เรามาวัดนี่เรียกว่ามาพักผ่อนทั้งกายทั้งใจ ใจพักผ่อนด้วยการเปลี่ยนอารมณ์ คือเปลี่ยนจากเรื่องยุ่ง มาฟังเรื่องสงบ มาฟังเรื่องที่จะให้เกิดปัญญา เกิดความคิด ความรู้ ในทางที่ถูกที่ชอบ ตามหลักธรรมะในทางพระศาสนา ก็เป็นการเปลี่ยนระบบชีวิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน ท่านทั้งหลายแห็นประโยชน์จึงได้มากันเป็นประจำกันอยู่ในรูปอย่างนี้ ทีนี้เรื่องของธรรมะในศาสนาที่เรานับถือ คือพุทธศาสนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พุทธธรรม” พุทธธรรม นี่มีใช้มากกว่า “พุทธศาสนา” ถ้าในคำบาลีนั้นไม่ค่อยใช้คำว่า “ศาสนา” มากนัก แต่ใช้คำว่า “ธรรมะ” มาก หรือใช้คำว่า “พรหมจรรย์”
ธรรมะเป็นหลักคำสอน เป็นข้อปฏิบัติ ที่จะทำผู้ปฏิบัติตามให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้จริง หรือเรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์น่ะคือตัวการปฏิบัติ การปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้สงบ ให้สะอาด ให้มีความสว่าง เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ พระสงฆ์เรียกว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ หรือญาติโยมชาวบ้าน รับศีลอุโบสถในวันพระ กลางเดือน สิ้นเดือน วันดับอะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่ามาประพฤติพรหมจรรย์เหมือนกัน พรหมจรรย์ แปลว่า เป็นอยู่อย่างพรหม พรหมนั้นคือ ผู้ที่สงบ ผู้ที่บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากสิ่งชั่วร้ายในจิตใจ เรามาปฏิบัติพรหมจรรย์ก็มาสร้างความสงบใจ มาสร้างความเย็นใจ มาสร้างความสะอาดให้เกิดขึ้นในจิตใจ เรียกว่าพรหมจรรย์
พรหมจรรย์นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักปฏิบัติที่ทำให้เกิดความพ้นทุกข์ ด้วยอันหนึ่ง ส่วนตัวธรรมะนั้นก็เป็นคำสอน เป็นข้อปฏิบัติ ที่พระองค์แสดงไว้ในรูปต่างๆ กับคนหลายประเภท หลายเรื่องหลายเหตุการณ์มากมายก่ายกอง ที่เราเรียกกันว่า ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มีมากเหลือเกิน เพราะว่าสอนนานถึง ๔๕ ปี แต่ว่ารวบรวมคำสอนก็อยู่ในเรื่องข้อปฏิบัติ สามขั้น เรื่องศีลประการหนึ่ง เรื่องสมาธิประการหนึ่ง เรื่องปัญญาประการหนึ่ง เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือในบางครั้งพระองค์พูดว่า ทาน ศีล ภาวนา
ทาน ก็คือการให้ การแจก การแบ่ง สิ่งที่เรามีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น ศีล ก็คือการควบคุมความประพฤติ ทางกาย ทางวาจา ให้เรียบร้อย ส่วน ปัญญา นั้นเป็นเรื่องของการคิดค้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ชัดเจนถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริงในสิ่งนั้น ไม่หลง ไม่งมงาย ไม่เข้าใจผิดอยู่ในเรื่องต่างๆ เรื่องนี้เป็นหลักปฏิบัติตามขั้นตอน ของแต่ละบุคคล สุดแล้วแต่เราจะพอใจ ปฏิบัติในขั้นใด อันจะช่วยให้เราก้าวหน้า ในการชำระสะสางจิตใจทั้งนั้น
ให้ญาติโยมจำไว้เป็นหลักว่า การปฏิบัติทุกอย่าง มีจุดหมายเพื่อการชำระชะล้าง หรือขูดเกลาจิตใจของเรา ให้สะอาดขึ้น ให้สงบขึ้น ให้มีความสว่างด้วยปัญญาขึ้น นั่นเป็นจุดหมาย ไม่ว่าเราจะรักษาศีล เราจะเจริญภาวนา หรือเราจะคิดค้นเพื่อให้เกิดปัญญา ก็ต้องมีจิตอยู่ว่า ให้เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ชำระชะล้างจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ ถ้าเราทำแล้ว ไม่เป็นไปเพื่อการขูดเกลา ก็เรียกว่ายังไม่ถูกเป้าหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ เช่น เรารักษาศีล ก็เพื่อขูดเกลากิเลสหยาบๆ เช่นศีลข้อ ๑ เพื่อขูดเกลา ประเภทโทสะ ประเภทพยาบาท ประเภทความริษยา ต่อบุคคลอื่น ขูดให้มันออกไปจากจิตใจ เพราะว่ากิเลสประเภทดังกล่าวนั้น เป็นไปเพื่อการฆ่า เป็นไปเพื่อการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนทางใจ เราก็มาถือศีลข้อ ๑ เพื่องดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียนใครๆ กำจัดโทสะจริต ให้ออกไปจากจิตใจ กำจัดพยาบาท ให้ออกไปจากจิตใจ กำจัดความริษยา ไม่ยินดีในความสุขในความเจริญ ในความก้าวหน้าของบุคคลอื่น ได้หายไปด้วยอำนาจของศีลข้อ ๑ เมื่อใดเราได้รับศีลข้อ ๑ มาเป็นหลักในใจ ก็ให้รู้ว่าต้องการขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากจิตใจของเรา ไม่ใช่เป็นการรักษาศีลเพื่อเพิ่มพูนสิ่งไม่ดีไม่งามให้เกิดขึ้นในใจ นี่เป็นหลัก
ศีลข้อที่ ๒ ในศีลห้า เราถือศีลว่าไม่ถือเอาสิ่งของ ของใครๆ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เพื่อเป็นการขูดเกลาความโลภในใจของเรา ให้มันเบา ให้มันบางลงไป ความโลภหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ราคะ ราคะหมายถึงว่าความพอใจเพลิดเพลินในวัตถุนั้นๆ ส่วนโลภนั้น ก็หมายถึงว่าความอยากมีอยากได้ ในสิ่งนั้น ราคะ กับโลภะนี่มันพวกเดียวกัน เรียกว่าเดินทางมาด้วยกัน ราคะ ออกหน้า ความโลภตามมาทีหลัง แล้วก็เป็นเหตุให้ผิดศีล ผิดศีล ก็คือการไปหยิบของเขามา ไปฉก ไปฉวย หรือไปเบียดบังอะไรที่เป็นของผู้อื่นมาเป็นของตัว เช่นการคอรัปชั่น กินสินบน มันก็อยู่ในเรื่องนี้ หรือว่าการโกงเขา โกงเงิน เอาของกลาง เช่นคุณเป็นข้าราชการแต่โกงเงินหลวง โกงเงิน กสช. อะไรที่เขาเป็นข่าวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งมันก็เกิดจากราคะ เกิดความยินดีเพลิดเพลินในวัตถุนั้นๆ แล้วก็เกิดโลภะ ความอยากจะมีจะได้ในสิ่งนั้น เมื่อราคะมันรุนแรง โลภะรุนแรงขึ้นมา ความต้องการมันก็รุนแรงจนบังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ก็ล่วงละเมิดศีลข้อที่ ๒ ไปหยิบเอาของของผู้อื่นมา ถ้าเขาขัดขวาง ไม่ให้เราหยิบได้ตามชอบใจ ก็อาจผิดศีลข้อ ๑ เข้าไปอีก ก็ต้องทำร้ายเจ้าทรัพย์ ต้องฆ่าคนที่เห็นเราทำความผิดนั้นๆ ศีลข้อ ๒ ทำให้เกิดการผิดศีลข้อ ๑ ขึ้นมาอีก ถ้าเราไม่ระมัดระวัง นี่มันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิต ด้วยประการต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องควบคุม สภาพจิตใจของเราไว้ ในเรื่องเมื่อเรารักษาศีล การรักษาศีลนั้น ไม่ใช่รักษาแต่ภายนอก แต่มันรักษาเกี่ยวกับใจเหมือนกัน รักษาควบคุมจิตใจ ไนส่วนหยาบๆ ไม่ให้เกิดความคิดหยาบๆ ขึ้นในใจ ไม่ให้เกิดความโลภอยากได้ ไม่ให้เกิดความเพลิดเพลินยินดี ในสิ่งนั้นๆ ก็เท่ากับว่าควบคุมจิต ไม่ให้คิดล่วงเกินศีลข้อที่ ๒
ศีลข้อที่ ๓ เรียกว่าประพฤติล่วงเกินในทางความรักความใคร่ หรือว่าเป็นคนไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอในเรื่องความรักความใคร่ ย่อมแสวงหาของใหม่ๆ แปลกๆ บำรุงบำเรอตน เพื่อจะให้เกิดความสนุกสนานในทางกามารมณ์ ก็เนื่องมาจากราคะ ความพอใจ เนื่องมาจากโลภะ ความอยากได้ในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง ในสัมผัส อันเป็นสิ่งที่ตนปรารถนา ไม่มีการควบคุม ให้มีความรู้จักว่า เท่านี้ก็พอแล้ว หรือไม่มีการควบคุมจิตใจให้มีความสันโดษ พอใจ ในสิ่งที่เรามี เราได้ เช่นสามีภรรยา อยู่ด้วยกัน ถ้าไม่มีความสันโดษ คือพอใจในคู่ครองของตน ก็ย่อมจะไปแสวงหาจากภายนอก หาความสนุกสนานจากคนอื่น จนการล่วงเกินศีลธรรมทำให้เกิดปัญหา คือมารู้กันขึ้นมาว่าประพฤติเช่นนั้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดการพยาบาท อาฆาตจองเวรกัน ทำให้เกิดการผิดศีลข้อที่ ๑ ก็ได้ ผิดศีลข้อที่ ๒ ขึ้นมาก็ได้ เพราะเราล่วงเกินศีลข้อที่ ๓ มันก็สัมพันธ์กันอีกเหมือนกัน ความเสียหายจะเกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวัง ท่านจึงให้รับศีล ก็หมายความว่า อธิษฐานใจ ตั้งใจไว้ ถ้าเราจะไม่ล่วงเกินศีลข้อที่ ๓ เราจะเป็นอยู่ด้วยความระมัดระวังจิตใจ มีสติ ควบคุมไว้ มีปัญญาพิจารณาไว้ เจริญกรรมฐานบางสิ่งบางประการ เช่น อสุภกรรมฐาน พิจารณาให้เห็นว่า ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเอามาเป็นของเราไว้บ้าง เท่ากับว่าเป็นเครื่องห้ามล้อจิตใจ ไม่ให้คิดไปในทางต่ำ ที่ไม่เหมาะไม่ควร ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ก็จะสมเป้าหมายของศีลข้อที่ ๓
เรารักษาศีลข้อ ๔ ก็เพื่อจะได้ควบคุมการพูดจา การพาทีกัน ในระหว่างเพื่อนฝูง มิตรสหาย เพราะคนเรามันมีปากไว้ สำหรับพูด ทีนี้การพูด นี่มันก็ก่อทุกข์ ก่อโทษไม่ใช่น้อยเหมือนกัน พูดไม่เป็นนี่มันเกิดความเสียหาย พูดคำโกหกก็ทำให้คนอื่นเสียหาย พูดคำหยาบก็ทำให้คนอื่นเสียหาย พูดคำเพ้อเจ้อ ไม่ได้เรื่องได้ราวก็ทำให้คนฟังเสียหาย ผู้พูดก็เสียหาย ผู้ทำคนให้แตกจากกัน คนพูดก็เสียหาย คนอื่นที่ฟังก็เกิดความเสียหาย เมื่อเขาไปเชื่อคำพูดอย่างนั้น ทำให้เขาเกิดหลงผิด เข้าใจผิดในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ หรือแม้แต่การพูดจูงใจ ถ้าจูงใจคนให้เกิดราคะ มันก็เสียหาย เกิดโทสะก็เสียหาย เกิดโมหะขึ้นในจิตใจก็เป็นความเสียหาย เป็นการพูดที่ไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควรแก่จิตใจของบุคคลผู้นั้น เป็นการสร้างความแตกแยก แตกร้าว ให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะการพูด
การพูดนี่มันครอบคลุมไปจนถึงการเขียนด้วยนะ คนที่มีศีลเกี่ยวกับการพูด คือมุสาวาท ก็ครอบคลุมไปถึงการเขียนด้วย เขียนผิดศีลได้เหมือนกัน ไม่ใช่พูดผิดศีลอย่างเดียว เขียนเรื่องโกหกมันก็ผิดศีลข้อที่ ๔ เขียนให้คนแตกแยกกัน ก็ผิดศีลข้อที่ ๔ เขียนให้เกิดความระแวงกัน ระหว่างคนนั้น ระหว่างคนนี้ มันก็ผิดศีลข้อที่ ๔ จากการตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ที่ว่า พูดยุแยงตะแคงรั่ว ให้คนสองคนเกิดผิดใจกัน เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน นี่ก็คือผิดศีลข้อที่ ๔ แล้ว เราอย่าถือศีลแต่เพียงว่าพูดเท่านั้น เพราะการเขียนมันก็เป็นเรื่องแสดงออกซึ่งความคิดจากใจเรา ถ้าเราเขียนคำโกหกก็ผิดศีล เขียนคำหยาบก็เป็นการผิดศีล เขียนเรื่องเหลวไหลเพ้อเจ้อ ทำให้คนอ่านเสียเวลาไม่ได้เรื่องอะไร ก็เรียกว่าเป็นการผิดศีล หรือว่าเขียนยุยงให้คนแตกร้าวกัน ให้คนในชาติแตกกัน ให้คนในพรรคแตกกัน ให้เกิดความแตกแยก แตกร้าว ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็เป็นการไม่ถูกต้อง เป็นการผิดศีลธรรม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นการพูดจึงต้องระวัง
การเขียนนี่ก็ต้องระวังเหมือนกัน คนเขียนก็ต้องมีศีลธรรมข้อนี้ประจำใจ คนพูดก็ต้องมีศีลธรรมประจำใจ จึงไม่เกิดปัญหา เวลานี้ปัญหาในสังคมของมนุษย์นี่ เกิดจากการพูดก็มาก เกิดจากการเขียนก็มากเหมือนกัน ไอ้ที่เกิดจากการเขียนนั้น เกิดนานกว่าการพูดอีก เพราะว่าพูดแล้วมันก็หายไป มันไม่ติดอยู่ แต่การเขียนนั้นมันเป็นลายลักษณ์อักษร คนอ่านนาน มั่นคงถาวร เท่ากับว่าสร้างความแตกร้าวนานๆ สร้างความแตกแยกให้เกิดนานๆ (25.17 เสียงไม่ชัดเจน) จึงเป็นการผลิตความเสียหายมากอยุ่ จึงต้องระมัดระวัง เรารู้จักเพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่ชอบขีดชอบเขียนอะไรน่ะ ควรจะแนะนำเขาเสียบ้าง ว่าช่วยเขียนให้มันเป็นศีล เป็นธรรมเสียบ้าง อย่าเขียนแต่เรื่อง ไร้ศีล ไร้ธรรม อย่าเขียนเพื่อเอาสตางค์อย่างเดียว แต่เขียนเพื่อสร้างจิตใจคน ปลุกใจคนให้เกิดความคิดอ่านในทางที่ถูกที่ชอบ จึงจะเป็นการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ
หนังสือประเภทต่างๆที่ผลิตออกมาในตลาด เป็นหนังสือประเภทยั่วยุมากอยู่เหมือนกัน เช่น ยั่วยุกามารมณ์ ยั่วยุให้คนมันตกต่ำทางด้านจิตใจก็เป็นเรื่องเสียหาย มันผิดศีลธรรม เพราะทำให้คนอ่านแล้วเกิดราคะ ความกำหนัด เกิดโทสะ เกิดโมหะ การประทุษร้าย ความหลง ความงมงาย ในเรื่องอะไรต่างๆ เช่นหนังสือบางประเภท อาจเป็นเรื่องชวนคนให้งมงายก็ได้ คือจูงคนให้ไปเชื่อสิ่งเหลวไหล ให้เชื่อผี เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อการทรงเจ้า เชื่ออะไรต่างๆ อันเป็นเรื่องมิใช่ทางศาสนาที่เรานับถือ หนังสือประเภทนั้นความจริงก็ควรจะเป็นของต้องห้าม ไม่ควรจะให้พิมพ์ขึ้นในบ้านเมือง เราจะไปห้ามเสรีภาพ (26.54 เสียงไม่ชัดเจน) เพราะถ้าคนไปอ่านหนังสือนั้นแล้ว เสรีภาพทางจิตใจมันจะหายไป แต่จะกลายเป็นทาสของความชั่ว เป็นทาสของความงมงาย เป็นทาสของความหลงติด เข้าใจผิดอันเกิดขึ้นจากถ้อยคำสำนวน ที่เขาเข้าใจพูด เข้าใจเขียน ให้คนอ่านเคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์เหล่านั้น และก็สร้างความหลงผิดให้เกิดขึ้นในจิตใจ นี่ก็คือการทำลายนั่นเอง ทำลายหลักศีลธรรมในสังคม ทำลายความสงบเรียบร้อยในสังคม ทำลายตัวสติปัญญาให้มันหายไปจากจิตใจคน ให้คนอยู่ด้วยการหลับหูหลับตา ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน ใจก็คิดไม่ถูกในเรื่องอะไรต่างๆ เป็นการไม่เหมาะ ไม่ควรด้วยประการทั้งปวง แต่ว่าไม่มีใครพูดถึงเรื่องอย่างนี้ ไม่มีใครคิดแก้ไขในปัญหาเหล่านี้จึงได้เกิดเป็นปัญหากันขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ ถ้าเราเป็นผู้ถือหลักศีลธรมข้อนี้ ก็ควรจะงดเว้นจากการกระทำดังที่กล่าวมาด้วยประการหนึ่ง
ศีลข้อ ๕ ที่เราถือไว้ก็เป็นการขูดเกลาจิตใจ เพื่อสร้างสติ สร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในใจของเรา เพราะคนที่เสพย์ของเสพย์ติดมึนเมาประเภทต่างๆ นั้น ทำให้เขาขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เสียสุขภาพทางกายทางใจ เมื่อวานนี้ฟังข่าววิทยุตอนเช้าที่เขาเอามาอ่านว่าที่ บ้านนอกแห่งหนึ่งเขามีงานกัน มีงานแล้วก็มีการเตรียมสุรามาเลี้ยงกันเป็นการใหญ่ เขาเอาคนคนหนึ่ง เรียกว่าเป็นคนเก่งในทางที่จะปรุงเหล้าให้มีสีเหมือนแม่โขง ให้มีรสชาติเหมือนกับแม่โขง ไอ้นั่นก็ปรุงมาเป็นไห มากมาย เอามาใส่ขวดแล้วก็เหมือนกับแม่โขง เอาไปให้คนกินกัน คณะลิเกก็ดื่มเหล้า คณะพากย์หนังก็ดื่มเหล้า คนมาเที่ยวงานกินอาหารก็ได้ดื่มเหล้าเหล่านั้นเข้าไป เมื่อดื่มเข้าไปแล้วมันเมากันใหญ่ ลิเกว่าไม่ถูกบทกลอน ไอ้พวกพิณพาทย์ก็ตีไม่ถูกจังหวะ ไอ้จังหวะที่ให้ตีมันไม่ตี มันไปตีผิดจังหวะไปเสียก็มี แสดงกันไป แสดงกันมา ไอ้ตัวลิเกนั่นชักดิ้นชักงอ คนดูก็แหมชอบอกชอบใจ แหมมันแสดงถึงบทจริงๆ เรียกว่า ชักดิ้นชักงอถึงบทจริงๆ น่าดูจริงๆ แต่มันไม่ใช่แกล้งดิ้นนะ ไม่ใช่แกล้งชัก ไม่ใช่เรื่องแสดงแล้ว มันดิ้นจริงๆ ดิ้นพรวดพราดลงไปชักจริงๆ เพราะได้ฤทธิ์น้ำเมานั้น ไอ้พวกพากย์หนังก็เหมือนกัน เวลาหนังอ้าปากมันไม่พูด มันพูดเวลาหนังปิดปาก แล้วมันพากย์ผิดเรื่องไป หนังแสดงอย่างนี้มันพูดเป็นเรื่องอย่างอื่นไป เมากันทั้งบริเวณนั้น เรียกว่ายุ่งกันไปหมดแล้ว และก็ลิเกก็ชักดิ้นชักงอ คนอื่นก็ชักดิ้นชักงอกัน ตายไปสามคน เอาไปโรงพยาบาลตายอีกหนึ่ง แล้วยังจะตายอยู่อีก ยังไม่ได้ฟังข่าวต่อ เมื่อเช้ามันไม่ว่าง และคงจะตายอีกหลายคน เพราะว่าไอ้คนนั้นมันเอา เขาเรียกว่า เมทิล แอลกอฮอล์ (methyl alcohol) แอลกอฮอล์ประเภทนั้นมันแรงมาก ไม่ใช่ของสำหรับคนกิน มันเป็นกอฮอล์ประเภทอื่นเอามาผสม มันไม่รู้ มันผสมแล้วมันก็กินกัน มันเมาหัวคว่ำ (31.03 เสียงไม่ชัดเจน) กันเลยทีเดียว นี่เขาเรียกว่าเมาตกบ่อ เพราะว่าเมามาก นี่กินกันอย่างนั้น เกิดความเสียหายขึ้นในวงงานวงการของพวกเหล่านั้นกันเลยทีเดียว (31.14 ซ้ำ)
พุทธบริษัทเราในประเทศไทยมักจะมัวเมาในเรื่องการติดสุราเมรัย สิ่งเสพย์ติดหลายอย่างซึ่งแพร่หลายโดยเฉพาะเหล้านี่ดื่มกันมาก เบียร์นี่ก็ดื่มกันมาก แล้วก็ยังมีของเมาประเภทอื่น กัญชาบ้าง เฮโรอีนบ้าง ฝิ่นบ้าง สูบกันไปตามเรื่องตามราว สิ่งเหล่านี้ มันสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ดื่ม สร้างปัญหาให้แก่คนที่เกี่ยวข้องกับผู้ดื่ม เช่น สามีดื่มน้ำเมา มันก็กระทบกระเทือนไปจนถึงภรรยา กระทบกระเทือนไปถึงลูกทุกคนในครอบครัว กระทบกระเทือนไปถึงเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อได้ยินเสียงคนนั้นอาละวาดด้วยความเมา เขาก็หวาดกลัว กลัวมันจะเอะอะโวยวาย เดี๋ยวมันจะวิ่งเข้ามาในบ้านของเรา เดี๋ยวมันจะขว้างอะไรเข้ามาในบ้าน เอ้า มันเป็นทุกข์ ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เหมือนกับเราเดินไปบนถนนนี่ ถ้าเราเห็นใครเดินโซซัดโซเซนี่เราไม่สบายใจแล้ว กลัวมันจะเดินมาชนเราเข้า แล้วเขาจะหาว่าเราไปชนไอ้คนนั้น หรือว่ามันมาต่อยเรา เราก็ต่อยมันเพื่อป้องกันตัวและเกิดตำรวจจับไป แล้วตำรวจก็จะหาว่าไอ้สองคนนี้ทะเลาะวิวาทกันเลยปรับไหมกันไปทั้งคู่ มันเป็นที่ตั้งแห่งความหวาดเสียว น่ากลัวอันตรายยิ่งขับรถด้วยแล้ว ขับเป็นงูเลื้อย เลื้อยไปเลื้อยมา ในที่สุดก็เกิดชนกัน เสียทรัพย์สินไปมากมายก่ายกองเพราะความเมาอย่างนี้
เวลามีงานมีการประเภทต่างๆ เช่นบวชนาค ทำงานศพ อะไรเหล่านี้น่าจะงดเว้นจากการดื่มสิ่งเหล่านี้เพราะเป็นเรื่องที่มันไม่เหมาะไม่ควร ที่วัดนี้ต่อสู้มาหลายปี เดี๋ยวนี้ดีแล้ว เวลามีงานศพก็ไม่มีเอาเหล้ามาดื่มเวลานี้ นั่งเรียบร้อย ไม่เมาแล้วเพราะว่าเวลามีศพนี่เราไม่ให้อยู่นาน สวดนิดเดียว เทศน์ให้ฟังแล้วก็ได้กิดความคิดความอ่าน และเรียบร้อย ทีแรกๆ มาอยู่สองสามสี่ปีนี้ มันยังเมาทักสมภารอยู่ตลอดเวลา มาพูดดังๆ มาทำเสียงให้มันดังเลย ยั่วกิเลสสมภารอยู่บ่อยๆ แต่ว่าอาตมาก็ทำเฉยๆ ถือไม้เท้าเดินเกร่ๆ เข้าไปบ้างเหมือนกัน มันเห็นไม้เท้าอันใหญ่ก็เลยเดินเกร่ออกไปเหมือนกัน กลัวว่าสมภารจะฟาดกบาลมันเข้าเลยยำเกรง แต่เวลานี้ไม่มีแล้ว เรียกว่าเรียบร้อย เวลานี้ มีงานศพนี่ไม่มีใครเอาอะไรมาดื่ม ดื่มแต่น้ำอัดลมกันอะไรกันอย่างนั้นนะ ไม่มีของบางยี่ขันเข้ามาแทรกแซง เรียกว่าได้ชัยชนะไปเรียบ
แต่ว่าที่อื่นมันยังไม่ได้ เวลาทำงานทำการประเภทอื่นยังไม่ได้ ที่อื่นยังแก้ไม่ได้ก็ต้องพยายามแก้เรื่อยๆไป พูดจาทำความเข้าใจ ไปเทศน์ที่ไหนก็พยายามชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่าเราทำเพื่ออะไร แล้วจะได้อะไรขึ้นมา ควรทำให้มันถูกต้องอย่างไร ชี้แนะทำความเข้าใจ ก็ค่อยผ่อนคลายลงไปบ้าง คือควรจะถือหลักไว้ว่า งานประเภทที่เป็นบุญ ไม่ควรเอาของเป็นบาปเข้ามายุ่ง เพราะเราทำบุญ เราต้องการอาบน้ำ เราต้องการชำระชะล้างกาย วาจา ใจให้สะอาด เอาของไม่สะอาดมาล้าง มันจะสะอาดได้อย่างไร เหมือนเอาน้ำโสโครกมาอาบมันก็ไม่สะอาด น้ำโสโครกมาซักผ้า ผ้าก็ไม่สะอาด ไม่ถูกทั้งนั้น ฉะนั้นการทำบุญนี่ ไม่ว่าเป็นการทำบุญงานอะไร ทำบุญงานบวชนาค ทำงานศพ ทำบุญอายุวันเกิด ฉลองวันเกิด ฉลองวันเกิดนี่มักจะเมากัน เลี้ยงเพื่อนเลี้ยงฝูง เพื่อนฝูงก็รู้ว่าใครฉลองวันเกิด ก็ซื้อน้ำเมามาให้เป็นของขวัญ ก็เท่ากับมาแช่งให้คนนั้นตายไวๆ นั่นเอง เพราะว่าเอาของเป็นพิษมาให้ดื่ม ก็เท่ากับให้ตายนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ทีนี้เราถ้าใครเอาของขวัญประเภทนั้นมาให้ก็ไม่ควรจะรับไว้ บอกว่า แกนี่จะมาทำให้ข้าตายไวๆ รึ จึงเอาไอ้นี่มาให้ในงานนี้นะ มันไม่เป็นการถูกต้อง เราควรจะซื้อหนังสือธรรมะไปเป็นของขวัญ หรือว่าซื้อของดื่มที่มันไม่เป็นพิษ เช่นซื้อนมไปให้สักโหล ในงานวันเกิด หรือเอาไปให้สักหีบหนึ่งก็ได้ นมอะไรก็ได้ แทนที่จะซื้อแม่โขงไปให้สักโหล กลายเป็นน้ำนมไป นมมันดูจะถูกกว่าแม่โขงนะโยมนะ ราคามันถูกกว่า และก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เอาไปชงกาแฟ ชงน้ำชา เลี้ยงแขก แขกที่มาก็ไม่มึนไม่เมา กลับบ้านกันเรียบร้อย ไม่ขับรถไปเกยฟุตปาธ หรือไปชนเสาไฟฟ้า ให้มันเกิดปัญหา อันนี้มันน่าจะได้คิดกัน ทำให้เป็นไปในรูปอย่างนั้น ไม่ส่งเสริมสิ่งชั่วร้ายในสังคม แต่ส่งเสริม ความสะอาด ความสงบ ความสว่างในสังคมขึ้นมา ก็นับว่าดี
ทีนี่บวชนาคก็นับว่าได้ชัยชนะแล้วเหมือนกัน เพราะว่าบวชนาคเรียบร้อย ไม่มีเอะอะ ไม่มีการดื่มอะไรกันให้มันเป็นการวุ่นวาย สิ้นเปลืองก็ลดน้อยลงไป เจ้าภาพรู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ เป็นคุณ เป็นค่าแก่พระศาสนา ก็อาศัยการกล่าวแนะกล่าวเตือน แก้ไขกันมาโดยลำดับ เรียกว่าดีขึ้น ดีขึ้นในเรื่องนี้ จึงขอฝากให้ญาติโยมทั้งหลายได้ช่วยกัน ในเรื่องอย่างนี้ ในการฉลองสองร้อยปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เราน่าจะฉลองด้วยการถือศีลให้เคร่งครัด ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามหลักศีลธรรมของพระพุทธเจ้า เพื่ออวดชาวโลกว่า เราเป็นพุทธบริษัท เราเป็นผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ เป็นคนที่น่าไว้ใจ ไม่ต้องระแวงสงสัยว่าเราจะเอาล้วงกระเป๋าผิดที่อะไรอย่างนั้น บ้านเมืองมันก็จะสงบไม่วุ่นวาย ไม่ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องเพิ่มคุก เพิ่มตะราง ไม่ต้องเพิ่มอีกหลายอย่าง แต่นี่มันต้องเพิ่ม คุกนี่ต้องขยายแล้วเวลานี้ เพราะว่าพลเมืองเพิ่มขึ้น คุกก็แคบไป แล้วก็ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพิ่มผู้พิพากษา เพิ่มหลายอย่าง ล้วนแต่เป็นเรื่องสิ้นเปลืองที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งนั้น แต่ถ้าเรามาประพฤติอยู่ในศีล ในธรรมกัน ความสิ้นเปลืองมันก็ลดน้อยลงไป การใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นก็ลดไป มันได้ประโยชน์ในรูปอย่างนี้
จึงควรจะรู้เป้าหมายว่า การถือศีลก็เพื่อการขูดเกลา ให้จิตใจของเราสะอาด ปราศจากสิ่งชั่วร้าย ด้วยอาศัยศีลเป็นคอกล้อมไว้ เหมือนกับว่าเราได้สัตว์ป่ามาเราต้องขังคอกไว้ ไม่ให้มันออกไป จิตใจเราที่ยังไม่เชื่อง ยังไม่สงบ ก็เหมือนกับว่า เปรียบเหมือนสัตว์ป่ายังวิ่ง ยังดิ้น ซุกซน ยังจะหนีออกไป เราก็หาวิธีกั้นมันไว้ ด้วยรั้ว คือศีล เข้ามากั้นไว้ ด้วยศีลห้าก็ล้อมวงไว้ ออกไปทางนั้นติดศีลข้อนั้น ออกไปทางนั้นติดข้อนั้น ออกไปทางนั้นก็ติดศีลข้อนั้น ทีนี้มันก็จะไม่ออกไป มันก็อยู่กับที่ อยู่กับที่ก็เกิดความเป็นระเบียบดีงามขึ้นในสังคม ศีลมันช่วยให้เป็นไปในความเรียบร้อย เพราะคำว่าศีลนั้นก็คือคำว่าระเบียบ หรือเรื่องปกติ ไม่เกิดความวุ่นวาย ไม่เกิดความสับสน มีปัญหาด้วยประการต่างๆ สังคมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข เช่นในครอบครัว ถ้าอยู่กันอย่างคนมีศีลล่ะก็ แหมสุขสบาย ไม่มีเรื่องผิดใจกัน ไม่มีเรื่องระแวงภัยกัน ไม่มีเรื่องสงสัยกันในเรื่องการเป็นการอยู่ เงินทองก็เปิดเผยกัน ซื่อสัตย์ต่อกันอยู่กันอย่างคนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มันเป็นความสุขหรือไม่ เราลองพิจารณา
ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่า มันเป็นความสุข เป็นความสุข เวลาพระให้ศีลตอนท้ายท่านจึงว่า สีเลนะ สุคะติง ยันติ ได้ความสุขก็เพราะศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา โภคทรัพย์ เกิดทรัพย์สินเงินทองเจริญก็เพราะมีศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ จะดับทุกข์ดับร้อนได้ คือนิพพาน ก็เพราะอาศัยความมีศีล อานิสงส์ มันมาก ถ้าเราปฏิบัติได้แล้ว เราสบาย เรามีความสุขทางใจ คนที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนก็มีความสบาย มีความสุขทางจิตใจด้วย อานิสงส์มันเกิดอยู่ที่ตรงนี้ แล้วลองคิดดูว่าเรานี้ต้องการอะไร แล้วเราต้องการให้ใครเป็นอย่างไร แล้วเราแต่ละคนนี่ต้องการความสุขแล้วเราต้องการให้คนอื่นเป็นสุขเหมือนกับเราด้วย เพราะถ้าเขาเป็นทุกข์อยู่เราก็พลอยรับทุกข์ไปด้วย รับเคราะห์ไปด้วย เมื่อเราทำตัวเราให้เป็นสุข เราก็ควรคิดต่อไปว่าขอให้คนที่อยู่ใกล้เราจงเป็นสุขด้วย เช่นบ้านเรามีสุขแล้ว ก็ให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรามีความสุขต่อไป เพราะว่าถ้าเรามีความสุขสงบในบ้าน แต่อีกบ้านหนึ่งมันไม่สุขหรอก มันก็กระเทือนมาถึงเรา เสียงดังมาถึงเรา จะทะเลาะกันก็ดังมาถึงเรา ทุบตีกันเราก็รำคาญ มันเกิดปัญหา
เพราะฉะนั้น จะต้องสร้างความสุขรอบทิศ ทิศเหนือ ทิศตะวันตก ทิศตะวันออก เราต้องช่วยกันดึง ช่วยกันชักจูงคนเหล่านั้นให้มีจิตใจสงบ ให้มีจิตใจสะอาด สว่าง ให้เข้าถึงหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะทำอยางไร เราก็ทำโดยวิธีชักจูงคนเหล่านั้นให้มาวัดบ้าง เป็นครั้งๆ คราวๆ ถ้าไม่มาก็เอาหนังสือไปแจกให้เขาได้อ่าน เช่นหนังสือเทศน์วันอาทิตย์นี่ คนบ้านใกล้ของเรามี เอาไปแจกบ้านทางตะวันออกของเรา ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ด้านใต้ แจกให้เขาอ่าน ให้เขาบ่อยๆ อ่านบ่อยๆ มันก็ดีขึ้น มีท่านผู้หนึ่งที่มาฟังเทศน์อยู่ที่นี่ทุกวันอาทิตย์ ส่งหนังสือไปไกล ส่งไปถึงพัทลุง มีคนข้าราชการบำนาญคนหนึ่ง ท่านบอกว่า ผมอ่านเสมอ ที่ท่านเจ้าคุณเทศน์น่ะ มีเพื่อนส่งมาให้ อุตส่าห์ส่งไปให้ ท่านผู้นั้นก็ได้อ่าน ได้เกิดความเพลิดเพลินทางใจ ให้อะไรแก่เพื่อน ไม่ประเสริฐเท่ากับให้ธรรมะ สัพพะทานัง ธรรมะทานัง ชินาติ การให้ทานธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง นี่เรื่องชนะมันอยู่ที่ตรงให้ธรรมะ เพราะว่าให้ธรรมะ ทำให้เขาได้อาหารใจ ได้สิ่งประเล้าประโลมใจ ได้กำลังใจ จิตใจเขาเข้มแข็ง อดทน หนักแน่น เขาสามารถจะต่อสู้อุปสรรคชีวิตได้ ทำให้เขาดีขึ้น แต่ถ้าเราให้อาหารทางร่างกาย (44.13 เสียงไม่ชัดเจน) และบางทีให้อาหารเป็นพิษ เช่นเลี้ยงเหล้าเขาบ้าง เลี้ยงของไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ทำให้คนนั้นตกต่ำทางจิตใจ เป็นการทำลายเพื่อน ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์พื่อน อันนี้น่าคิดเหมือนกัน
บางทีเรารักเพื่อน แต่ว่าทำลายเพื่อน ทำลายด้วยการเอาเพื่อนไปเลี้ยงของมึนเมา ให้ดื่มมากๆ ถ้าเพื่อนดื่มมากเราชอบใจ เราก็ชมว่า โอย มันเก่ง เอ็งดื่มเข้าไป ข้าจ่าย เหมือนกับยุเพื่อให้ตายเร็วอย่างนั้นล่ะ แล้วมันได้อะไรขึ้นมา เราทำผิด ทำอย่างนั้นทำผิด ไม่ถูกกฎเกณฑ์ทางพระศาสนา เป็นการประทุษร้าย ต่อมิตร ไม่เป็นการอุปการะมิตร พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าเราเป็นมิตรกับใคร เราต้องอุปการะเขา เราต้องช่วยเขา ดึงเขาขึ้นมาจากบ่อโสโครก เอาไปอาบน้ำ ชำระร่างกาย แต่งตัวให้สะอาดหมดจดนั่นจึงจะเรียกว่าเป็นการถูกต้อง แต่นี้เราชวนเพื่อนของเราไปในทางเหลวไหล ชวนเพื่อนไปเล่นการพนัน ชวนเพื่อนไปดื่มของเมา ชวนเพื่อนไปเที่ยวกลางคืน ชวนเพื่อนสนุกสนานจนลืมงานลืมการ แล้วก็ชวนเพื่อนให้นอนเกียจคร้านเพราะว่าอดนอนกลางคืนมันก็ต้องนอนชดเชยกลางวัน อันนี้คือการทำลายแท้ๆ ทำลายตัวเราด้วย ทำลายเพื่อนของเราด้วย ทำลายประเทศชาติด้วย ทำลายพระศาสนาด้วย ทำลายหมด ไม่มีอะไรเหลือ ทำลายหมด
เราไม่คิดให้ลึกมันก็มองไม่เห็น แต่ถ้าคิดลึก โอโห เราทำลายเพื่อน แล้วก็ทำลายศีลธรรม เพราะเราไม่รักษาศีลธรรม ก็เท่ากับเราทำลายศีลธรรม ทำลายพระศาสนา ทำลายสิ่งดีสิ่งงามซึ่งควรจะมีอยู่ในสังคม เป็นเครื่องประดับจิตใจให้สวยสดงดงาม เราเอาทิ้งเสีย เราเอาสิ่งโสโครกเข้ามาใส่ไว้ในใจของเรา เราชั่วคนเดียวไม่พอ ยังจะไปชวนเพื่อนให้ชั่วต่อไป นี่คือการทำลายมากมายเหลือเกิน ทำลายหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีเหลือ แม้ตัวเองก็เรียกว่าไม่เป็นตัวเองแล้ว แต่เป็นตัวความชั่ว ตัวความเสียหาย ด้วยประการต่างๆ มันดีหรือไม่
ถ้าเราคิดว่า เอ ไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร แต่ว่าสังคม สร้างค่านิยมในทางเลวร้าย ในทางทำลายกัน ด้วยประการต่างๆ อันเป็นเรื่องที่น่าเห็นอก เห็นใจคนเหล่านั้นที่มันหลงไปในทางผิด และควรจะสงสารเขา ควรจะหาทางกลับจิต กลับไจ ดึงเขาเข้ามาหาแสงสว่าง ดึงเขาเข้ามาหาพระ ให้เขาได้เป็นคนดีคนงามต่อไป เราจะทำอะไร ที่เรียกว่าพิธีกรรมในทางพระศาสนา เราควรจะถือหลักในใจว่าเราจะไม่ทำอะไรในทางที่จะส่งเสริมสิ่งชั่วร้าย เราจะไม่ทำอะไรในทางที่จะทำลาย ความสงบสุขของประชาชนเพื่อนบ้าน หรือสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ใครๆ ให้ถือหลักไว้อย่างนั้น ถ้าเราถือหลักเกณฑ์ไว้ในจิตใจอย่างนั้น เราจะบวชนาค เราจะทำงานศพ เราจะทำบุญอายุ หรือว่าเราจะฉลองอะไรๆต่างๆ ที่ฉลองๆ กันนี่ มันจะเป็นไปเพื่อสร้างสรร เป็นไปเพื่อความพอกพูนส่วนดีส่วนงาม เรียกว่า สร้างเสริมทางแห่งสันติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า (48.14 ภาษาบาลี) แปลเป็นไทยว่า เธอทั้งหลาย จงสร้างทางแห่งสันติ อย่าสร้างทางแห่งความวุ่นวาย เวลานี้มันตรงกันข้าม เราไม่ค่อยจะช่วยกันสร้างทางสงบ แต่เราสร้างทางวุ่นวาย สร้างทางเดือดร้อน สร้างขวากสร้างหนาม ไปสร้างหลัก สร้างตอ ขึ้นในเส้นทางที่จะไปสู่สันติ ให้คนเดินสะดุด เดินเหยียบหนาม เหยียบสิ่งโสโครก แปดเปื้อนร่างกาย แปดเปื้อนจิตใจ เราก้าวหน้าไปไม่ได้ ต้องนั่งร้องไห้กระจองอแงอยู่เพราะหนามมันตำเท้าบ้าง หลักตอมันชนเอาแข้งขาหักไปบ้างมันเป็นอย่างนั้น เกิดปัญหาด้วยประการต่างๆ
จึงเป็นเรื่องที่น่าจะได้พูดได้คุยกัน ได้เถียงกัน แล้วก็ได้ชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายทั้งหลาย ทั้งปวงที่เรารู้จัก ว่า เพื่อนเอย สหายเอย เรามาเดินกันในทางที่ถูกที่ชอบกันเถอะ เรามาเดินกันตามเส้นทางแห่งสันติเถิด อย่าเอาหลักตอ เสี้ยนหนามไปทิ้งไว้บนเส้นทางที่จะไปสู่ความสงบ แล้วเราจะพบแต่ปัญหาในชีวิตด้วยประการต่างๆ กันเลย น่าจะได้พูดกันอย่างนั้น ชักจูงกันอย่างนั้น ให้คนทั้งหลายได้เกิดความสำนึกว่า เราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดี ที่ชอบ ที่ควร อันเราควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไร และเราได้ปฏิบัติอยู่ในแนวทางนั้นหรือเปล่า อันนี้ต้องสอบถามตัวเราเองบ่อยๆ ไม่ว่าเราจะเป็นคนแก่ เป็นคนกลางคน เป็นคนหนุ่ม เป็นสาว เป็นเด็ก เราก็ต้องคิดในรูปอย่างนั้น
คำว่าเด็กนั้นมันคิดไม่ได้หรอก ผู้ใหญ่ต้องให้แนวทาง ต้องทำตนเป็นตัวอย่างแก่เขา แล้วก็คอยต้อนเขาด้วยคำพูด ให้เขาได้รู้สึกว่าเดินทางนั้นมันผิด มาเดินทางนี้ถูกต้อง เดินทางนั้นเดือดร้อน มาเดินทางนี้จะสงบเย็น ต้องสอน ต้องเตือน คอยแนะ คอยบอก อย่าเป็นคนเฉยเกินไป อย่าเป็นคนประเภทที่เรียกว่า ธุระไม่ใช่ เพราะธุระไม่ใช่นี่มันไม่ได้หรอก ต้องเอาเป็นธุระกับคนที่เกี่ยวข้องกับเรา เช่นเราเป็นพ่อแม่ ต้องเอาธุระกับลูกหลานของเรา ต้องช่วยชี้ ช่วยแนะ ช่วยบอกให้เขาได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบ ว่างๆ เรียกมานั่งคุย มานั่งใกล้ๆ คุณย่าคุณยายก็พูดให้หลานฟัง เรื่องดี เรื่องงาม เอามาเล่า พูดจากัน แล้วก็พูดเรื่องชั่วให้มันเห็นว่า เรื่องชั่วนี่มันไม่ดีอย่างไร ก่อทุกข์อย่างไร ก่อโทษอย่างไรสร้างปัญหาขึ้นในสังคมอย่างไร โลกจะเดือดร้อนวุ่นวายก็เพราะเส้นทางนี้ การประกอบกิจอย่างนี้ เราพยายามพูดกรอกลงไปในหูมัน ฉีดเข้าไปในสมองของเด็กบ่อยๆ เพื่อว่าเพาะอุดมการณ์ในทางที่ถูกที่ชอบให้เกิดขึ้นแก่เด็กเหล่านั้น
เด็กนั้นเป็นเหมือนกระดาษซับที่ยังสะอาด ไม่ได้ซับอะไรเลย เราจึงเอาอะไรเข้าไปซับได้ เอาน้ำสะอาดเข้าไปให้มันซับเข้าไปในกระดาษนั้นก็ได้ เอาน้ำสกปรกให้มันซับก็ได้ แต่ว่ามันได้อะไรขึ้นมา ถ้าเอาสิ่งสกปรกเข้าไปมันก็ไม่ได้อะไรเท่ากับสร้างความล่มจมให้แก่ครอบครัว ให้แก่วงศ์ตระกูลของเราเสียเปล่าๆ เราจึงหมั่นพูด หมั่นเตือนชี้บอกแนวทางชีวิตให้เขาเข้าใจ ว่างๆ มานั่งใกล้คุณย่าสิ ใกล้คุณยาย เราก็พูดจาแนะนำพร่ำเตือนบ่อยๆ วันละเล็กละน้อยเท่าที่สามารถจะทำได้ เด็กก็จะได้รับฟังในสิ่งที่ถูกต้อง ฝังไว้ในใจ เติบโตขึ้นมันจะผลิดอกออกผล เป็นประโยชน์แก่เด็กเหล่านั้น เมื่อมันเป็นผู้ใหญ่ จะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เรื่องนี้จำเป็นมาก สำคัญด้วย เพราะสังคมโลกเราในปัจจุบันนี้มันมีสิ่งชั่วร้ายมากขึ้น แพร่หลายทั่วไปทางจอโทรทัศน์ ทางวิทยุ ทางหนังสือประเภทต่างๆ เด็กก็ได้อ่าน ได้พบ ได้เห็นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันก็ไหลไปตามกระแสของสิ่งชั่วร้าย เราไม่ช่วยให้ทุ่นชีวิตแก่เขา ไม่ช่วยพูด ช่วยบอกเขา เด็กเหล่านั้นก็ไหลไปตามสิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งว่าจมหายไปในน้ำวน เราก็นั่งเสียอกสียใจ แหม หลานคนหนึ่งมันเสียไปแล้ว ลูกคนหนึ่งมันเสียไปแล้ว มันเสียคน มันไม่ตาย ตายไปแล้วมันดี ก็ตายแล้วมันหมดเรื่องนะ มันไม่สร้างปัญหาอะไร แต่นี่มันไม่ตาย มันยังเดินได้ แต่มันสร้างความทุกข์ให้แก่คุณยายได้ สร้างความทุกข์ให้แก่คุณย่าได้ แก่พ่อ แก่แม่ แก่พี่ แก่น้อง นี่แหละน่ากลัว ตายแบบนี้น่ากลัว เราจึงต้องฉีดยา ทำให้เขามีชีวิต ยาที่จะทำให้เด็กมีชีวิตอย่างถูกต้องก็คือธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา เราต้องฉีดเข้าไปไว้ในจิตใจเขา อบเขา รมเขา ให้นิสัยเขาในทางธรรมะให้มากขึ้น เด็กเหล่านั้นจะอยู่รอดปลอดภัย ถ้าเราทำอย่างนี้เรียกว่า ช่วยครอบครัว วงศ์ตระกูล ช่วยชาติ ช่วยประเทศ ช่วยพระศาสนา ช่วยสถาบันที่ถูกต้องดีงามทั้งหลายให้ดำรงคงมั่นตลอดไปในประเทศเรานี้ นี่อันนี้ก็สำคัญอยู่เหมือนกัน
ดังที่ได้กล่าวมา ก็เสียงไม่ค่อยจะดี ก็ขอให้ยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง คอตั้งตรง หลับตา แล้วกำหนดลมหายใจ หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ ให้จิตมันอยุ่ที่ลมเข้าลมออก อย่าไปที่อื่น มันไปก็ดึงกลับมาอยู่ตรงนี้อย่าไปไหน ให้ทำอย่างนั้น เป็นเวลา ๕ นาที เชิญได้