แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา วันนี้เป็นวันดับ คือ เดือนขึ้นไปอีกเดือนหนึ่งทางจันทรคติ เป็นวันที่ชาวจีนซึ่งมาทำมาหากินอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เขาถือว่าเป็นวันไหว้ ไหว้บรรพบุรุษ คือ ไหว้พ่อแม่ ปู่ ตา ย่า ยาย บรรพบุรุษทั้งหลายที่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เขาก็ได้ทำพิธีไหว้กันในวันนี้ การไหว้ก็คือ นำเครื่องสักการะมาวางที่หน้าบ้าน มีหมู เห็ด เป็ด ไก่ ผลหมากรากไม้ หลายอย่าง แล้วก็จุดธูปจุดเทียนบูชา สักการะ น้อมจิตระลึกถึงบรรพบุรุษทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว เขาเรียกว่าเป็นวันไหว้ พรุ่งนี้ก็เป็นวันขึ้นปีใหม่ เขาหยุดงานหยุดการกันไปเที่ยวกันตามสถานที่ต่างๆ จะเห็นว่าพรุ่งนี้มีรถออกจากกรุงเทพมากมาย ถ้าใครจะไปทางแถวถนนบางนาล่ะก็ ระวังรถจะติดเป็นการใหญ่ เพราะคนจะไปเที่ยวกัน วัดวาอารามต่างๆ ก็ถือโอกาสที่เป็นวันตรุษจีนทำพิธีผูกพันธสีมา ทุกวัดผูกในวันตรุษทั้งนั้น ดูป้ายแล้วมันมากมายเหลือเกิน อาตมานึกในใจว่าจะวิ่งทางไหนให้มาอย่างนี้ จะวิ่งไปไหว้คงจะวิ่งไม่ทัน แต่ทุกวัดก็หาผลประโยชน์จากวันตรุษนี้ ก็เป็นวันที่เขาหยุดกันมาก พี่น้องชาวจีนก็ไปไหว้พระกันในวันปีใหม่ ตามสถานที่ต่างๆ หลวงพ่อโสธรตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ไหว้กันไม่ถึงเลยทีเดียว ควันโขมงเต็มวิหาร หายใจกันไม่ออก เพราะคนมันมาก ทองขายดี น้ำมนต์ก็ขายดี เชือกสีแดงสำหรับผูกข้อมือก็ขายดี อะไรๆ อยู่ในโบสถ์ก็ขายได้ทั้งนั้น คนเขาไปซื้อไปหามากมาย เดินแออัดยัดเยียด รถจอดเต็มวัด หลวงพ่ออื่นๆ ก็มาก วัดพนัญเชิงนี่ก็มาก หลวงพ่อเก่าๆ คนไปไหว้ไปบูชากัน
พระพุทธบาทนี่คนไปไหว้มากเพราะเขามีงานพระพุทธบาทต่อกันจนถึงวันตรุษจีนก็มีคนไปไหว้ไปนมัสการกันมากมายหลายที่หลายแห่งอันเป็นเรื่องของวันปีใหม่เหมือนกันแต่เขาถือปีใหม่แบบโบราณคือวันตรุษจีน ตรุษญวณเหมือนกัน ถือตามแบบจันทรคติ มาถึงวันดับแล้วก็ขึ้นเดือนใหม่ วันพรุ่งนี้ก็เป็นวันปีใหม่ ทำดีทำชอบกัน แล้วถ้าใครเป็นหนี้เป็นสินก็ต้องไปเปลื้องกันเสียให้หมดก่อนสิ้นปีก็เป็นเวลาที่เขาจัดงบบัญชีกันว่าได้กำไรเท่าไหร่ขาดทุนเท่าไหร่ ปีใหม่ควรจะค้าอะไรกันต่อไป เป็นการสำรวจตรวจสอบกันในวันสิ้นปีเป็นการใหญ่ เป็นธรรมเนียมโบราณที่เขาถือกันมานานแล้ว ชาวจีนจะไปอยู่ประเทศใดก็เอาธรรมเนียมไปด้วย ไปอยู่เมืองยุโรป ไปอยู่อเมริกา ไปอยู่ออสเตรเลียก็นำธรรมเนียมนี้ไปใช้เหมือนๆ กันทั่วทุกหนทุกแห่ง ในเมืองไทยเรานี้ก็จะเห็นว่าเขาทำอะไรกันอย่างไรในวันปีใหม่ทั่วไปก็เป็นการทำดีทำชอบ เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษ เป็นการพิจารณาตัวเอง แล้วจะได้ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ ในทางที่ถูกที่ชอบต่อไป ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆ ให้เจริญงอกงามในทางจิตทางวิญญาณต่อไป จึงเป็นประเพณีที่เขานับถือกันทั่วไป วันนี้เป็ดไก่ขายดีมาก เช้าวันนี้คนไปตลาดกัน ตลาดแถวเยาวราช ตลาดน้อย ตลาดแถวย่านสำเพ็งนี่คนจะไปกันมาก และไปหิ้วไก่กลับบ้านกันคนละสองตัวสามตัวเพื่อเอาไปประหารชีวิตแล้วจะได้ไหว้เจ้ากัน เจ้าไม่ได้กิน แต่ลูกหลานเจ้ากินกันสบาย เพราะเครื่องไหว้เอามากินได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นขนม เป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นผลไม้ ก็ได้กินกันในครอบครัว เป็นการเลี้ยงดูกัน เชื่อมไมตรีกัน สนิทสนมกัน แล้วถ้าใครมาเยี่ยมนี่ก็ต้องมีอั่งเปา อั่งเปานี่คือห่อกระดาษสีแดง เขาใส่ปัจจัยไว้ในนั้น สิบบาท ไม่มาก ใครมาก็แจกคนละซองๆ พวกเด็กๆ ก็ดีใจว่าจะได้อั่งเปาสีแดงกัน เมื่อเช้านี้ก็มีคนมาไหว้สองคนสามีภรรยา ก็มีอั่งเปามาเหมือนกัน เปิดดูแล้วก็มีมูลค่าสิบบาท สำหรับเอาไปสร้างอะไรต่อไป เขาก็สร้างกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเด็กๆ นี่สบายใจมาก พอใกล้จะถึงวันตรุษนี่เขาสบาย สบายว่าจะได้อั่งเปา จะได้กินขนมเปี๊ยะ แล้วก็จะได้ไปเที่ยวสนุกสนานหยุดงานหยุดการกัน นี่เป็นการสบายใจล่วงหน้าก่อนที่จะถึงวันปีใหม่
ประเพณีต่างๆ ที่เขาทำไว้แล้วก็ต้องมีเรื่องสนุกด้วย มีเรื่องที่จะได้กินได้ใช้ด้วย ประเพณีนั้นจึงจะอยู่ได้ ถ้าเป็นประเพณีล้วนไม่มีอะไรเลย อยู่ไม่นาน ประเพณีนั้นก็จะล้มหายตายจากไป แต่ประเพณีที่มีอะไรเข้าไปเจือปนด้วยมักจะอยู่ยั่งยืนถาวร คนโบราณเขาก็ฉลาดเหมือนกัน เมื่อตั้งประเพณีไว้แล้วก็ต้องมีผลพลอยได้จากประเพณีนั้น คือ ได้กินได้เลี้ยงกันจากของที่ไปทำการเซ่นไหว้อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ผูกใจคนไว้กับเรื่องประเพณีนั้นๆ ต่อไป เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะว่าคนไทยเรานั้น ตรุษไหนก็ตรุษนั้น ตรุษจีนเราก็ไป ตรุษฝรั่งเราก็ไป ตรุษแขกเราก็ไป ตรุษไทยเราก็ทำ หลายตรุษเมืองไทย ไม่ว่าตรุษไหนเราไปทั้งนั้น กินกับเขาทั้งนั้น ไม่มีการขาดทุนไม่ว่าตรุษอะไร เราก็พลอยกินกับเขา สนุกกับเขา วันเกิดพระเยซูเราก็ไป วันเกิดนบีมูฮัมหมัดเราก็ไป วันเกิดพระพุทธเจ้าเราก็มาวัดเหมือนกัน ไม่มีการขาดทุน คนไทยเราเป็นพวกที่เรียกว่าเหมือนกับน้ำที่เข้าไหนเข้าได้ เอาไปใส่ภาชนะกลมก็กลมไป ใส่ภาชนะเหลี่ยมก็ดูเป็นเหลี่ยมไป วางตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น เป็นของที่หมุนได้ เปลี่ยนแปลงได้ อันนี้มันก็ดีเหมือนกันคือทำให้เราเข้าสังคมได้ง่าย เข้ากับคนได้ง่าย บ้านเมืองของเราที่อยู่รอดปลอดภัยก็เพราะวิชานี้เหมือนกัน วิชาที่เข้ากับคนได้ ไม่กีดกันเขา ไม่รังแกเขา ไม่ทำอะไรให้เขาเดือดร้อน ใครจะมาทำอะไรในบ้านเมืองของเรา เราก็ไม่ว่าอะไร และก็ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ในบางประเทศบางชาตินั้นรุนแรงไป เป็นพวกสายสุด คือ หนักไปในทางรุนแรงมาก มันก็เกิดปัญหา เวลาใครมาก็ไม่ชอบใจก็รังแก ก็เบียดเบียนกัน ต่อสู้กันไป ต่อสู้กันมา หนที่สุดตายกันทุกฝ่ายไม่มีใครได้กำไร มีแต่เรื่องขาดทุนกันเท่านั้นเอง แต่การอยู่กันด้วยความรักด้วยความเมตตา เป็นเรื่องเป็นกำไรแท้ๆ อันนี้เป็นคุณสมบัติของคนไทยเราที่ได้รักษาไว้มาตั้งแต่โบราณ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เราก็อยู่กันด้วยความสุขตามสมควรแก่ฐานะ ปัญหาต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย แต่ก็เป็นไปเพื่อคุณเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียว เราจะได้ควรรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ เพื่อความเจริญมั่นคงทางจิตใจ ตลอดจนถึงส่วนรวมคือประเทศชาติต่อไป
ในแง่ทางศาสนาเราทั้งหลายเป็นผู้ปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธบริษัท เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา นับถือพระพุทธศาสนาก็คือ นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าคนที่จะมาเป็นพุทธบริษัทนั้นจะต้องกล่าวเปล่งวาจาออกมาว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ” ซึ่งแปลความว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คัจฉามิ แปลว่า ไปถึง ไปถึงพระพุทธเจ้า พูดให้ฟังง่ายว่าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่นับถือ เป็นสรณะ สรณะนั้นแปลว่า ที่พึ่ง ที่อิงอาศัยของใจ ใจเรามันต้องมีอะไรเป็นที่พึ่งเป็นหลักไว้ ถ้าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง เป็นหลักใหญ่ ใจเราก็จะกวัดแกว่ง ไม่มีอะไรเป็นที่อิงอาศัย เกิดความกลัวก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งอะไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในวิถีชีวิต เราก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร มันลำบาก เพราะไม่มีที่พึ่งพาอาศัย เพราะฉะนั้นเลยต้องมีอะไรเป็นที่พึ่ง คนทุกคนต้องแสวงหาที่พึ่งกันทั้งนั้น จะอยู่โดยไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งเสียเลยนั้นย่อยไม่ได้ แม้คนป่าคนดอยที่ยังไม่เจริญด้วยการศึกษา ไม่มีปัญญาอะไร เขาก็ต้องมีอะไรเป็นที่พึ่งของเขา ถ้าเราไปดูตามบ้านคนป่า เช่น ชาวเขาทางส่วนเหนือของประเทศไทย ก็จะเห็นว่ามีที่สักการะบูชาประจำบ้านประจำเรือน เวลาเข้าหมู่บ้านเขาก็ต้องมีอะไรเป็นเครื่องหมายประจำหมู่บ้าน เขาทำเป็นซุ้มประตูไว้ แล้วก็มีไม้แกะสลักเอามาวางไว้ เดินไปก็จะเจอสะพานน้อยๆ ซึ่งไม่มีห้วยไม่มีหนองอะไร แต่ก็ทำสะพานไว้ เป็นเครื่องหมายในทางศาสนาที่เขาเอาไว้เป็นที่พึ่ง เวลาเขากลัวเขาตกใจเขาก็นึกถึงสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าสรณะเป็นที่พึ่งทางใจ
เราพุทธบริษัทนี่ เอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เอาพระธรรมเป็นสรณะ เอาพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หมายความว่าเป็นหลักใหญ่ เป็นที่พึ่งทางใจ เวลาเรามีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ เราก็นึกถึงพระพุทธเจ้าบ้าง นึกถึงพระธรรมบ้าง นึงถึงพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าบ้าง เราจึงเปล่งวาจาว่า “พุทโธ พุทโธ” เช่นเวลาเราตกใจเราพูด “พุทโธ ธรรมโม สังโฆ” หรือบางทีก็เอาแต่พุทโธอย่างเดียว เลยว่า “พุทโธ พุทโธ” แต่ต่อมามันว่าสั้นเข้าไป สั้นเข้าไป เลยกลายเป็น “พัดโธ่” ไป มีเรื่องอะไรก็ “พัดโธ เดี๋ยว ปัด... นั่นเสียนี่” อันนี้เป็นตัวอย่าง อย่างนี้เราเรียกว่ามันไถลออกไปเสียแล้ว ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เดินอยู่ในเส้นที่ถูกต้อง อย่าเอาไปใช้มันผิด ให้เอาไปใช้ว่า “พุทโธ” พุทโธ นี้คือ พระนามของพระพุทธเจ้า แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใส จึงได้นามว่าพุทโธ พุทโธเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานแจ่มใส เราเอาพระนามนี้มากล่าวเป็นที่ระลึกว่าพุทโธ เป็นเครื่องปลอบใจ หรือเรากล่าว่า “อะระหัง อะระหัง” ก็เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าเอามาเป็นเครื่องปลอบใจ แต่คำอื่นมันยาวไป เช่น คำว่า “สัมมาสัมปันโน วิชชาจะระณะสัมปันโน” นี้มันยาวไป คำนี้สั้นดี คำว่าพุทโธนี่เหมาะแก่การที่จะนำมาระลึกในเวลาตกอกตกใจได้ทันท่วงที หรือคำว่า “อะระหัง” นี้ก็ได้ เราจะเห็นว่าเวลาคนเจ็บหนักใกล้จะตายนี่ ลูกหลานญาติมิตรมักไปกระซิบข้างหูบอกว่าอย่าลืมพระอะระหังให้ภาวนาไว้ ถ้าคนที่ไม่เคยนึกถึงพระอะระหัง หรือ อรหันต์ แล้วก็ไม่เคยภาวนา ไม่เคยคิด มันจะไปไม่ไหว เพราะเวลานั้นจิตใจมันรวนเรเต็มทีแล้ว เพราะความเจ็บมันบีบคั้นร่างกาย ใกล้จะหมดลมหายใจแล้วเราจะไปบอกว่าอย่าลืมอะระหังนั้น ถ้าเป็นคนไม่เคยมาวัด ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยอ่านหนังสือทางศาสนา จิตใจห่างพระห่างศาสนา แล้วเราจะไปเคี่ยวเข็ญตอนใกล้จะตายให้นึกมันก็ลำบาก
แต่ก็ให้บอกกันตามธรรมเนียมว่าอย่าลืมพระอะระหัง ให้นึกไว้ นึกแล้วใจจะได้สบายจริงๆ จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องความตาย เรื่องความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จิตใจจะได้สงบ เมื่อจิตสงบแล้วมันตายสบายหน่อย ไม่ตายด้วยความวิตกกังวล ด้วยการนึกถึงลูกหลาน นึกถึงบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ หรือว่าอะไรๆ ต่างๆ ที่ตัวทำไว้ไม่ค่อยจะเรียบร้อย บางทีมันจะแดงขึ้นมาเมื่อตัวตายไปแล้ว จิตใจมันก็ไม่สบาย มีความวิตกกังวลเป็นปัญหาขึ้นในใจ เขาจึงให้ตัดปัญหาในขณะนั้น เพื่อให้มีจิตบริสุทธิ์ขึ้น สบายขึ้น จึงให้ภาวนาว่า “พุทโธ พุทโธ” หรือ “อะระหัง อะระหัง” อันนี้ก็ทำตามคติ พระพุทธภาษิตที่ว่า เมื่อจิตบริสุทธิ์ สุขคติหวังได้ เมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ ทุกขคติก็หวังได้เหมือนกัน เรื่องของจิตมันมีสองอย่าง คือถ้าจิตเราบริสุทธิ์เราก็ได้รับความสุข คือมีสุขคติเป็นที่ไป ถ้าเรามีควาเศร้าหมองใจ ไม่บริสุทธิ์ในทางจิตไป จิตมันก็ไปสู่ทุกขคติ เป็นเรื่องไม่ดี อันนี้สำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนเขาจึงสอนให้ภาวนาอย่างนั้น ว่าพุทโธ ว่าอะระหัง ก็เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งทางใจ เวลาเรากลัวอะไร เราตกใจอะไรขึ้นมา เราก็นึกถึงพระอะระหัง สัมมาสัมพุทธเจ้า เราภาวนา “อะระหัง อะระหัง พุทโธ พุทโธ” ใจมันจะคลายออกจากความทุกข์ความเดือนร้อน ที่คลายออกจากความทุกข์ ความเดือนร้อนนั้นเพราะอะไร เพราะในขณะที่เรานึกถึงพระอะระหังนั้น ใจเรามันไม่ได้นึกถึงสิ่งที่เรากลัว ไม่ได้นึกถึงผี ไม่ได้นึกถึงอะไรที่เราตกใจกลัว แต่ใจเรามานึกถึงพระ นึกถึงพุทโธ พุทโธ ภาวนาถี่ยิบจนใจไม่มีโอกาสไปนึกถึงสิ่งที่เรากลัว ความกลัวมันก็หายไป อย่างนี้เขาเรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์จากความกลัวมาให้เป็นความไม่กลัว จากการตกใจมาเป็นความสงบใจ
ถ้าเรามานึกถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตของเรา คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่งใจก็ไปครุ่นคิดอยู่ในสิ่งนั้น ก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้ในระยะยาว ปัญหาระยะยาวนั้นต้องแก้ด้วยวิธีศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจ ในเรื่องนั้นให้ถูกต้อง ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันน่ากลัวหรอ มันทำร้ายเราได้ไหม เรามาคิดมาค้น จนเข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น ความกลัวมันก็หายไปเหมือนกัน หายอย่างเด็ดขาดไม่กลัวต่อไป แต่ถ้าเราเพียงแต่นึกถึงชื่อพระพุทธเจ้า ภาวนาพุทธคุณ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เขาเรียกว่า เจริญพุทธานุสติ พุทธานุสติ คือ ระลึกไปถึงชื่อพระพุทธเจ้าหรือองค์พระพุทธเจ้า จิตใจเราในขณะนั้นมันก็สงบได้ในชั่วครั้งคราว เพราะมันเปลี่ยนอารมณ์ไป แต่ว่าพอเลิกนึกมันก็นึกตกใจอีกก็ได้ เมื่อเห็นสิ่งนั้นขึ้นก็ตกใจกลัวอีกก็ได้ ยังไม่ถาวร แต่ถ้าเมื่อใดเราได้แยกวิเคราะห์วิจัย สิ่งที่ทำให้เรากลัวว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันมีจริงมั๊ย หรือมันเป็นสิ่งสมมุติ เป็นสิ่งที่คนเขาพูดๆ กันมา ตัวแท้ตัวจริงมันหามีไม่ แล้วก็สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำอันตรายแก่ใคร ไม่ได้ทำใครให้เกิดปัญหา คือ ความทุกข์ความเดือนร้อน เราพิจารณาสอบสวนไป ด้วยปัญญาอย่างรอบคอบ เราก็เกิดความรู้ชัดในใจของเราเองว่า สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร มันเป็นสิ่งที่เราสมมติขึ้นหลอกตัวเอง แล้วเราก็กลัวไปอย่างนั้นเอง เมื่อเรามีปัญญาขึ้นความกลัวก็หายไป ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น เรากลัวผี คนกลัวผีนี่ยังไม่เคยเห็นผีสักที ยังไม่รู้ว่าผีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่าไร แต่กลัว กลัวสิ่งที่ไม่เคยเห็น แล้วก็นึกว่าผีคือโครงกระดูก เพราะในหนังในละครถ้าแสดงเรื่องผีก็มันมีเป็นโครงกระดูกมา เพื่อให้เห็นง่ายว่าโครงนี้เป็นเรื่องของผี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่โครงกระดูกอย่างนั้น เราเที่ยวยึดถือเอาเองไปกลัว อะไรที่เกี่ยวกับศพก็ไปกลัวทั้งนั้น เห็นโรงผีก็กลัว เห็นกระดาษปิดโรงก็กลัว เห็นป่าช้าก็กลัว แม้ใครพูดถึงคำว่าผีนี่ใจมันไม่สบาย เกิดขนลุกขนผองขึ้นมาทีเดียว
ความกลัวมันเกิดขึ้นในจิตใจของเราอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น หลอกตัวเอง แล้วเราก็กลัวไปตามประสาของที่เราหลอกขึ้น เราตกอกตกใจ นอนคนเดียวก็ไม่ได้ นอนมืดก็ไม่ได้ ต้องเปิดไฟไว้ให้สว่าง ลมแรงไปก็ไปอีกไม่ได้เรื่องอะไร เพราะความกลัวมันเป็นเรื่องอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เด็กมันรับขึ้นภายหลัง เมื่อเราไปบอกเรื่องให้เด็กทราบ แต่ในใจของเด็กที่แท้จริงไม่มีผี ไม่มีการกลัวผี แปลว่ากลัวเพราะอะไร ก็เพราะผู้ใหญ่ไปทำเรื่องให้เด็กกลัว คือ ไปเล่าเรื่องผีให้เด็กฟัง แล้วเวลาเล่านั่นแสดงหน้าตาตกอกตกใจ แสดงอาการแปลกๆ ให้เด็กเห็น เด็กก็นึกไปตามภาพที่เราแสดง บางทีเราเล่าเรื่องผีมันดุร้าย มันมาหักคอคน โยนลงไปในสระน้ำ หรือว่าจับคนขึ้นไปแขวนคอที่ต้นมะพร้าว ที่ต้นตาลอะไรต่างๆ แล้วบอกว่าผีมีร่างกายสูงใหญ่ สูงขนาดต้นตาล สูงขนาดต้นมะพร้าว มือก็ยาว แม้คนอยู่ในห้องมันก็ยังล้วงเข้าไปได้ เล่าให้เด็กฟัง เด็กนั่งฟังครั้งแรกมันก็อยู่ตรงนั้น ฟังมาก็ขยับเข้ามาๆ บางคนขยับไปอยู่กลางวงเลยไม่รู้ตัวหรอก ขยับเข้าไปเรื่อยๆ ผู้ใหญ่ก็เล่าเรื่อยไป อันนี้แหละคือการสร้างภาพประทับใจอันไม่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก เราไม่ควรจะเล่าเรื่องผีให้เด็กกลัว ไม่ควรจะสอนเด็กให้กลัวสิ่งที่ไม่น่ากลัวอย่างนั้น แต่ให้เด็กคุ้นเคยกับเรื่องธรรมชาติ เช่นโครงกระดูกเขาแขวนไว้ถ้าเด็กมาไม่รู้ว่าอะไรก็จับต้องดูสบายๆไม่มีอะไร แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นคุณยายหรือคุณย่านี่ถ้าเห็นเด็กไปจับอย่างนั้นก็ร้องผีโวยวายขึ้นมาทีเดียว บอกว่า “ไอ้หนู เอ็งอย่าไปจับไอ้นั่น” เด็กก็ตกใจในท่าทางของคุณย่าคุณยายที่แสดงอาการตกใจหวาดกลัว ให้เด็กเห็น เด็กก็คิดว่าสิ่งนี้มันจะเป็นเรื่องใหญ่ซะแล้ว เด็กก็เกิดความกลัวขึ้นในใจ สร้างภาพกลัวขึ้นในใจ นี่เป็นความผิดของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ความผิดของเด็กที่เอาสิ่งไม่น่าจะคุยให้เด็กฟังเอามาเล่าให้เด็กฟัง โทรทัศน์ก็ชอบแสดงเรื่องผี แม่นาคพระโขนงบ้าง ผีอะไรต่ออะไร เอามาแสดง ถ้าเรามีโทรทัศน์ เรารู้ว่ามันจะแสดงเรื่องผีนี่ อย่าให้เด็กดูดีกว่า ถ้าให้เด็กดูก็ต้องบอกเด็กให้รู้ว่านี่เขาทำขึ้นมันไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรเป็นเรื่องหนัง
หนังนี่เขามีเทคนิคในการถ่ายภาพให้เกิดความหวาดเสียวน่ากลัวอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปยึดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรเลย พูดให้เด็กเข้าใจ แต่ถ้าเราไม่สามารถทำความเข้าใจกับเด็กเหล่านั้นได้ ปิดโทรทัศน์ พอมาถึงเรื่องผีเราก็ปิดโทรทัศน์ เราดูแล้วเราก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา มีแต่ความสะดุ้งหวาดกลัวในเรื่องนั้นๆ คนเราถ้าไม่มีใจยึดถือความกลัวมันก็หายไป แต่พอสร้างภาพอุปาทานขึ้นกลัวทันที กลัวขึ้นมาทันที เราเดินผ่านป่าช้าไม่รู้ว่าเป็นป่าช้าเดินสบายไม่มีอะไร ไม่ได้ตกอกตกใจอะไร แต่ถ้าไปถึงบ้านที่เราไปแล้วเขาถามว่าคุณมาทางไหนเมื่อตะกี้ บอกมาทางนั้น ก็อ้าวนั่นมันป่าช้า พอเขาบอกว่าป่าช้า ขนลุกเกรียวเลย นี่มันเรื่องอะไร มันพ้นป่าช้ามาแล้ว มันไม่มีอันตรายแล้ว แต่พอบอกว่าคุณเดินผ่านป่าช้ามา ขนลุกเกรียวขึ้นมาเลยทีเดียว ไอ้ขนลุกเกรียวขึ้นมานั่นแหละ คือ ความกลัวที่เกิดขึ้นจากอุปาทาน ที่เราไปสร้างภาพไว้ในใจว่าป่าช้าเป็นที่อยู่ของผี กลายเป็นเรื่องผีไป ความจริงป่าช้าไม่ได้เป็นที่อยู่ของผี ป่าช้าเป็นสถานที่ทำกิจเกี่ยวกับร่างกายของคนตาย ฝังบ้าง เผาบ้าง สถานที่อย่างนั้นเขาเรียกว่าสุสาน ฌาปณสถาน หรือว่าป่าเหี้ยว ป่าช้า ภาคเหนือเขาเรียกว่าป่าเหี้ยว ภาคใต้เขาเรียวว่าเปลว เปลวคือป่าเหี้ยวนะ คนเหนือเขาเรียกป่าเหี้ยว ไปป่าเหี้ยวคือไปป่าช้า ภาคใต้ว่าไปเปลวคือไปป่าช้า ป่าช้าสมัยก่อนนี้มันน่ากลัวเพราะมันรกรุงรังไปหมดเขาจะไปถางป่าเฉพาะที่เผาศพเท่านั้นเอง แล้วก็ไปถางในตรงกลางของป่าช้า ถางเสร็จแล้วก็เผาศพ คนจะเข้าไปในป่าช้าเขากลัว เพราะมันรกนั่นเอง แต่ถ้าเราไปดูป่าช้าฝรั่งนี่ไม่น่ากลัวอะไร ตอนเย็นๆ เขาพาลูกพาหลานไปเที่ยวตามป่าช้า ไปนั่งเล่น เอาอาหารไปกินกันในป่าช้า ไปกินข้างหลุมศพนี่แหละ เขาไม่ได้มีความกลัว คือเขาไม่ได้สอนเด็กว่าที่นี่เป็นที่น่ากลัว มันไม่ได้น่ากลัวอะไร ก็มีสนามหญ้าสะอาด แล้วก็มีดอกไม้ประเภทต่างๆ ปลูกไว้ มีความร่มรื่น น่าเดิน น่าชม เดินไปแล้วก็ดูชื่อที่เขาแปะไว้ที่แผ่นหินของคนที่เขาเกิดมาแล้วก็ตายไป เขาไม่เขียนแต่ชื่อเฉยๆ แต่เขาเขียนคำพาษิตเป็นคติเตือนใจติดไว้กับแผ่นหินนั้นด้วย พาเด็กไปดูแล้วก็ไปอ่านให้เด็กฟัง สอนเรื่องแนวคิดให้เด็กเหล่านั้นเกิดความรู้ความเข้าใจ ก็ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว ป่าช้าอย่างนั้นเป็นป่าช้าที่สะอาดมีระเบียบเรียบร้อย เราก็ไปเดินได้ แล้วป่าช้าถ้ามีไฟสว่างเราก็ไม่ค่อยกลัวอะไร แต่ถ้ามืดเรากลัว นี่เขาเรียกว่ากลัวความมืดนั่นเอง มันไม่ได้กลัวอะไร กลัวความมืด พอมันมืดแล้วก็นึกสร้างภาพขึ้นในใจแล้วว่าอาจจะมีอะไร อาจมีผียื่นมือมากำหัวเรา หรือมาสะกิดที่หลังเรา นี่สร้างและนึกไปเอง พอนึกขึ้นแล้วมันก็กระโดดโลดเต้นไปทีเดียวตกอกตกใจ มันเป็นอย่างนี้ นี่คือความกลัวที่เกิดขึ้นในใจของเด็ก
ทำไมเด็กๆ อ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่นหนึ่ง แล้วก็มีเรื่อง เอี้ยม-อิ่ม สองคนพี่น้องอยู่บ้านริมคลองขนมจีน เอ๊ะ คลองขนมจีนมันอยู่ที่ไหนไม่รู้อ่านไปอย่างนั้นแหละ มากรุงเทพเลยไปฝั่งธน ไปถึงตรงนั้น เขาบอกนี่แหละคลองขนมจีน เอ้า บ้านเอี้ยม-อิ่มก็อยู่แถวนี้เองแหละ กรมพระยาดำรงค์ท่านเขียนเป็นเรื่องให้ได้อ่าน ทีนี้ก็อิ่มน่ะวันหนึ่งเดินไปในเวลากลางคืนคือไปดูโขนแล้วกลับมา กลับมาก็เห็นบนต้นไม้มันอะไรแกว่ง ตกใจ ผีหลอก ผีหลอกก็มาจับไข้เลยทีเดียว ไม่สบาย มีคนหนึ่งก็มาเยี่ยมว่าเห็นอะไร ก็เลยไปพิสูจน์ที่ตรงนั้น ที่ข้างคลองนั่น ไปพิสูจน์ก็พบว่าเป็นกิ่งไม้แห้ง มันห้อยลงมาเป็นรูป แล้วพอลมพัดมันก็แกว่างไปแกว่งมาก็เลยกลัว ความจริงไม่ใช่ผีมันกิ่งไม้แห้ง เมื่อเห็นเป็นกิ่งไม้แห้งก็เอาหนูอิ่มไปดู บอกว่านี่แหละผีที่หนูกลัวเมื่อคืนนี้มันไม่ใช่ผีมันกิ่งไม้แห้ง พอรู้ว่ากิ่งไม้แห้ง ลุกขึ้นกินข้าวต้มกับกระเทียมดองได้สองชาม หนังสือเขาเขียนอย่างนั้น กินข้าวกับกระเทียมดองได้สองชาม ตอนป่วยกินไม่ได้ กลัวผี พอรู้ว่าผีไม่มี มีแต่ใบไม้แห้งเท่านั้นเอง ลุกขึ้นกินข้าวต้มกับกระเทียมดองได้สองชาม ใครเคยอ่านหนังสือนี้คงจำได้ แบบเรียนเร็วเล่มหนึ่ง ในหนังสือแบบเรียนเร็วเล่มหนึ่งมีเรื่องดีๆ เยอะนะ ถ้าเอามาอ่านเวลานี้แล้วนึกขำนะ แต่อ่านเมื่อเด็กๆ เห็นว่าอ่านไปอย่างนั้น ไม่ได้เรื่องอะไร ตาปู้เป้าปี่ ตาปีมือแปลงจะไปนา ตาขำหนูหล่อ พ่อพาไปดูหมีที่นาตาหมอหลอ เจ้าจำปีไปพบเจ้าจำปา ตัวพระเอกในเรื่องแต่ละตัวไม่ค่อยเรียบร้อยทั้งนั้น มือแปลงบ้าง ขาเป้บ้าง ตาบอดบ้าง เราอ่านซะเราสนุกสนานเลย เราก็ไปสร้างภาพขึ้นเป็นเรื่องอะไรต่ออะไร
กลัวผี อาตมานี่ก็เป็นคนกลัวผีเหมือนกันตอนเด็กๆ กลัวมาก เดี๋ยวนี้มันคลายมันจางไป โตเป็นผู้ใหญ่ มีเหตุมีผลขึ้น ก็ค่อยๆ คลายไป ที่เรากลัวก็เพราะว่าอยู่วัดนี่เย็นๆ เขาชอบเล่าเรื่องผีหลอกกันทั้งนั้น แหม เล่าแล้วคืนนั้นต้องนอนฝันผีหลอกทุกที กลัวมาที่วัด กลัวผีหลอก ต่อมาก็มาบวชที่วัด ก็เดินทางไปนอนตามป่าช้าบ้าง มันก็ค่อยๆ ชินชา ความกลัวมันก็ค่อยๆ หายไป หากคนที่กลัวผีนี่ ถ้ามาอยู่วัดที่มีป่าช้า ต้องหัดอย่างนี้ ให้ไปป่าช้า เช่น ไปหกโมงเย็นซักสองสามวัน ไปเดินในป่าช้า ต่อมาก็ไปหกโมงครึ่งมันมืดขึ้นไปหน่อย แล้วต่อมาก็ไปเวลาหนึ่งทุ่ม แล้วก็ไปเดินมันปกติเวลาหนึ่งทุ่ม ต่อมาก็สองทุ่ม ก็ไปเดินบริเวณนั้นอีกแหละ มันค่อยๆ ชินไป พอชินขึ้นมาแล้วความกลัวมันก็ค่อยจางหายไป เราไปนั่งพิงที่เขาเก็บศพ ไปยืนพิงบ้างนั่งพิงบ้าง หรือว่างๆ ก็เอาเสื่อไป นั่งดูระหว่างที่เขาเก็บศพ ข้างขวาก็มีศพ ข้างซ้ายก็มีศพ เอามือเคาะข้างขวาที เอามือเคาะข้างซ้ายที แล้วก็บอกออกมาคุยกันบ้างก็ได้ ทำไมนอนนิ่งๆ เฉยๆ ถ้าไม่มีอะไรออกมาก็แสดงว่ามันไม่มี ผีไม่มีที่จะออกมาคุยกับเรา ถ้ามีก็คงจะโผล่หัวออกมาคุยกันมั่งอะไรอย่างนี้ มันก็ค่อยเบาค่อยจางไปค่อยหายไป อย่างในบ้านบางห้องเราก็ไม่กล้าเข้าเพราะความกลัว เช่น บางห้องมันมืดไม่มีแสงสว่างเป็นห้องปิดไว้ เด็กๆ ก็ไม่กล้าเข้า คนใช้ก็ไม่กล้าเข้า กลายเป็นห้องลึกลับไป เป็นที่ตั้งแห่งความหวาดเสียว แต่ถ้าในห้องนั้นเปิดหน้าต่างให้มันกว้าง มีลมเข้ามา มีไฟฟ้าพอจะเข้าเปิดสวิตช์ปั๊บมันสว่าง เราก็จะไม่กลัวอะไร แต่ถ้าไม่มีไฟเราก็กลัวไม่กล้าเข้าไป นี่คือความยึดถือทั้งนั้น สร้างภาพความยึดมั่นถือมั่นกันไว้ในใจ แล้วก็เกิดความกลัวอะไรต่างๆ ปกติมนุษย์เรานี้มีความกลัวเป็นสัญชาตญาณ โดยสัญชาติของมนุษย์นี้มันกลัว กลัวลูก กลัวไข้ กลัวผี กลัวสาง กลัวนั่นกลัวนี่ ให้เห็นว่าเกิดใหม่นี่ร้องทุกคน การร้องก็คือการกลัวนั่นเอง เพราะว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ตนได้สัมผัส อยู่ในท้องคุณแม่ไม่รู้ไม่เห็นอะไร พอโผล่ปั๊บออกมามันมีอะไรกระทบร่างกาย ไม่เคยกระทบก็เกิดความหวาดกลัวร้องจ้าขึ้นมาทันที เด็กร้องนี้มันก็ดี คนไหนเกิดมาไม่ร้องก็ไม่ได้ ต้องจับหวดเท้า เอามือเอาหัวห้อยตบแรงๆ ให้ร้องจนได้ บางคนไม่ร้อง แต่พอร้องแล้วนางพยาบาลก็สบายใจ หมอก็สบายใจว่ามีชีวิตนั่นเอง แต่ถ้าออกมาไม่ร้องมันหมายความว่าไม่มีชีวิต ความร้องนี้เกิดจากความกลัว จากสิ่งที่เขาไม่เคยได้สัมผัส เมื่อได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นนี่มันก็กลัวทันที คนที่คุ้นเคยเด็กไม่กลัว คุณแม่นี่เด็กไม่กลัว คุณพ่ออยู่ใกล้ชิดก็ไม่กลัว แต่คนอื่นที่มาใหม่นี่เด็กเห็นเข้าก็คงนึกกลัว เหมือนเด็กไม่เคยมาวัดก็กลัวพระ กลับไปที่บ้านเด็กกลัวเพราะแต่งตัวไม่เหมือนเขา ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไป สีไม่เหมือนใครเขานุ่ง พอเด็กเห็นก็กลัวถอยหนีไป เกิดความไม่คุ้นเคย เป็นอย่างนั้นมีอยู่ในที่ทั่วๆ ไป แต่พอคุ้นแล้วก็ไม่มีความกลัว
ความกลัวจึงเป็นภัยอันหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคนเมื่อไหร่ก็ได้ ในเมื่อบุคคลนั้นไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความหวาดกลัว ความกลัวก็จะมีอยู่ แต่ถ้าหากว่าเราเกิดความกลัวแล้วเราก็หาที่พึ่ง ที่พึ่งอันสูงสุดคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักที่พึ่งทางใจ เราจึงเอาพระองค์เป็นที่พึ่ง เพราะเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจึงได้มีสิ่งที่เป็นวัตถุแทนองค์พระพุทธเจ้าสำหรับคนได้ไหว้เอาไปไว้ติดเนื้อติดตัวเพื่อจะได้หายกลัวนั่นเอง เช่นว่า เขาทำพระพุทธรูปให้ไปกับเนื้อกับตัว พระพุทธรูปน้อยๆ แรกเริ่มสร้างขึ้นก็เพื่อให้ไว้เป็นเครื่องตักเตือนใจไม่ให้เกิดความกลัวภัยอันตรายจะได้เกิดความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ เขาจึงทำพระไว้ให้บ้าง เอาคาถาพุทธภาษิตมาเขียน เขียนเป็นรูปยันต์ ทำเป็นรูปยันต์ขึ้น ยันต์นั้นคือคาถาพุทธภาษิต เช่นว่า อะสังวิสุโลปุสะพุภะ คำย่อของพระพุทธคุณก็ได้ คำย่อของอริยสัจจ์ ทุ สะ วิ มะ ก็ได้ (36.45 คำย่อของพระพุทธเจ้าว่า อะ กะ แล้วก็คำพุทธคุณ กรุณา ปัญญา อะ กะ ปะ ๓ อย่าง) เอามาเขียนเป็นตัวหนังสือขอม เพราะสมัยนั้นหนังสือไทยเรายังไม่แพร่หลาย ก็เขียนเป็นอักษรขอม แล้วเวลาเขียนก็ต้องมีเส้นนิดหน่อย ทำเส้นเป็นมุมเป็นฉาก แล้วก็ทำเป็นรูป ที่มุมทำเป็นรูป รูปพระนั่นเอง คือ หุ่นพระพุทธรูปนั่นเอง ที่เขาทำกันเป็นเส้นสามเส้นซ้อน แล้วก็เป็นเส้นขึ้นไป คือ รูปพระ เป็นพระทั้งนั้น เป็นเครื่องเตือนใจ เอาไปไว้ที่หน้าบ้าน เอาไปไว้ที่ในห้องบ้าง ให้คนได้เห็น พอได้เห็นแล้วก็ปลื้มใจ อุ่นใจที่เราได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เอาเป็นที่พึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นที่พึ่งแบบเด็กๆ แบบคนที่ปัญญาน้อย ปัญญาอ่อน เอาวัตถุเป็นที่พึ่งไว้ก่อน เป็นเครื่องเตือนจิตสกิดใจ คนอย่างนี้มีอยู่ในทุกศาสนา เราเห็นว่าพวกคริสเตียนนี้ก็เป็น เห็นไม้กางเขน เอาไม้กางเขนมาแขวนคอไว้ เอาไม้กางเขนมาห้อยคอเพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้อุ่นใจ อุ่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้ามาอยู่กับเรา อยู่ใกล้เรา และจะรักษาเราให้ปลอดภัย เขาจึงมีสิ่งนั้นผูกคอไว้ให้อุ่นใจ เด็กๆ ที่นับถือศาสนาอื่นเขาก็มีวัตถุประเภทต่างๆ ทำเป็นหลอดใส่ไว้แล้วห้อยคอไว้ก็มี เราจะเห็นว่าเด็กในโลกนี้มีอะไรสักสิ่งสักอย่าง เป็นเครื่องปลอบใจ แก้ความวิตกกังวล ความหวาดกลัวอะไรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงมีสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าเป็นวัตถุเป็นเครื่องปลอบใจ นั้นเป็นเรื่องเบื้องต้น เป็นอนุบาล ไม่ได้ก้าวหน้าในทางความคิด ในทางสติปัญญา
ถ้าก้าวหน้าในทางสติปัญญาเราก็ไม่ต้องเอาวัตถุ แต่เราเอาสิ่งที่เป็นหลักคำสอนมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรามีสติเพิ่มขึ้น มีปัญญาเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ถูกต้องขึ้น ความกลัวต่างๆ ก็ค่อยๆ เบาไป จางไป หายไปจากจิตใจของเรา เช่น เรานึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าเรานึกถึงไปในแง่ข้อปฏิบัติ เขาเรียกว่านึกในแง่ปัญญา แต่การนึกไปในแง่ว่า พระองค์เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ จะช่วยเราให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน นี่เป็นการนึกอย่างเด็กอยู่ ยังไม่ก้าวหน้าในทางปัญญาเท่าใด แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่ มีอายุ เจริญแล้ว แต่ถ้าเรายังคิดอยู่ในรูปอย่างนั้นก็เรียกว่าปัญญายังไม่งอกงาม สมองยังไม่เจริญในแง่ธรรมะเท่าที่ควร เพราะยังไปติดอยู่ในสิ่งที่เป็นวัตถุ เอาวัตถุมาเป็นเครื่องปลอบใจ คนประเภทนี้เป็นผู้ใหญ่ จึงไปไหว้ วิงวอน ขอร้อง บนบานศาลกล่าวกับพระพุทธรูปซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีอยู่ในสถานที่นั้นๆ ก่อนนี้ก็มีไม่มากแห่ง แต่ถ้ามีคนเขาอุตส่าห์ไปหลวงพ่อวัดไร่ขิงลุ่มน้ำนครชัยศรี เรียกว่าเขตนครชัยศรี อำเภอสามพราน แถวนั้นจะขึ้นกับหลวงพ่อวัดไร่ขิงทั้งนั้น แต่ถ้าลงไปถึงท่าจีนนี่ไปขึ้นกับหลวงพ่อเพชร หลวงพ่อเพชรวัดเพชรสมุทร เรียกว่าเขตอิทธิพลของหลวงพ่อเพชร คนก็ไปไหว้หลวงพ่อเพชรนี่วันนี้เลย ลูกประทัดสนั่นหวั่นไหว ตอนเย็นเลยได้ฟังเสียงลูกประทัดจุดถวายหลวงพ่อ ให้หลวงพ่อได้ยินว่าลูกหลานมาจุดลูกประทัดถวายกันแล้ว นั่นเขตอิทธิพลหลวงพ่อเพชรก็อยู่ในแนวนั้น แถวอยุธยานี่หลวงพ่อวัดพนัญเชิง ที่เรียกว่าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามานานแล้ว ก่อนจะตั้งกรุงด้วยซ้ำไปวัดพนัญเชิงนี่คนก็ไปไหว้ไปบูชา
เลยนั้นไปก็อ่างทอง หลวงพ่อวัดไชโย ใหญ่เหมือนกันอยู่ในเขตนั้น เดี๋ยวนี้ก็วัดพิกุลทองสร้างแข่งบารมีขึ้นมาอีกองค์นึง เรียกว่าแบ่งหน้าที่กันไปกับหลวงพ่อวัดไชโย เอากันไปคนละเขต หากขึ้นไปทางเหนือ นู่น พระพุทธชินราช อยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ก็กลายเป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ไปเหมือนกัน คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนี่มีอยู่มากแถวภาคกลาง ภาคกลางนี่มีมาก ภาคใต้นี่มีน้อย อาตมานี่อยู่ปักษ์ใต้นี่ก็ไม่ค่อยดังว่าหลวงพ่อวัดไหนศักดิ์สิทธิ์ที่คนจะไปไหว้ขอหวย ขอเบอร์ไปทำอะไรนี่ไม่ค่อยจะมีเท่าใด แต่ว่าอิทธิพลของกรุงเทพค่อยไหลไปเหมือนกัน ไหลไปตามวัด บางวัดเอากระบอกไปวางไว้ เอาอะไรๆไปตั้งไว้ให้คนไปไหว้ไปสั่นติ้วอะไรต่างๆ ความจริงเดิมมันไม่มี แถวภาคใต้นี่ไม่มี วัดใหญ่ๆ เช่น เหมือนถ้ำบางแห่งมีพระมาก เช่นถ้ำวัดคูหาสวรรค์ที่พัทลุงนี่มีพระมาก สมัยเด็กๆไม่มีกระบอกให้คนสั่นเล่น อาตมาก็เคยไปไหว้เวลาเป็นเด็ก ไปกันคุณยาย คุณยายบอกว่าไอ้หมาไปไหว้พระแนวนี้ พระปัญญา พระกรุณา พระบริสุทธิ์ พระบริสุทธิ์น่ะองค์ใหญ่ พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นประธานเรียกว่าพระบริสุทธิ์ พระปัญญาอยู่ด้านนี้ พระกรุณาอยู่ด้านนั้น คุณยายก็ไม่เคยบอกให้ไปไหว้ท่านไหน ให้ไหว้พระปัญญาทุกที เราก็ต้องไปไหว้บนตักพระปัญญา ไหว้เสร็จแล้วก็โกยขี้ฝุ่นมาทาหัวเสียหน่อยนึง ทุกทีน่ะก็ไหว้ไปอย่างนั้น ไหว้ให้เกิดปัญญา มันก็มีปัญญาเหมือกัน เพราะไหว้พระปัญญามานานเลยเกิดปัญญาจริง มีแค่นั้นไม่มีกระบอกสั่นติ้วสั่นอะไร แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาแล้ว พัฒนาถอยหลังเข้าไปแล้ว มีกระบอกให้คนสั่นเล่นแล้วเวลานี้ เป็นไปอย่างนั้นแหละ แล้วก็มีพระใหญ่โน่นแหละ ยะลา เขาเรียกว่าพระนอนวัดถ้ำยะลา คนก็ไปไหว้ไปนมัสการ โดยเฉพาะพี่น้องชาวจีนเขาไปไหว้วันสงกรานต์กัน ก็ได้เงินได้ทองค่าธูปค่าเทียนกันพอสมควรซึ่งสมัยก่อนก็ไม่ได้มากนัก แต่ที่ได้ชื่อว่าเก่งจริงๆ ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ นี่ก็ไม่ค่อยมี เหมือนนครศรีธรรมราชนี่ก็เป็นเมืองใหญ่ มีพระธาตุ คนก็ไปไหว้พระธาตุเท่านั้น แต่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกจากนั้นที่เป็นพระพุทธรูปก็ไม่มี มีอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกว่าพระเอน ท่านนั่งหลังเอนๆ คนก็เรียกว่าพระเอน คนก็ชอบไปบนบานศาลกล่าวแล้วก็เอาไม้ไปค้ำข้างหลังไว้กลัวท่านจะล้มลงมา ความจริงท่านก็ไม่ล้มเพราะเขาทำไว้แข็งแรง แต่เอาไม้ไปค้ำไว้ แต่ที่ไปค้ำนี่ก็ดีเหมือนกัน เด็กวัดได้เอาไม้ไปทำฟืนหุงข้าว เมื่อค้ำนานๆ เด็กก็มาหอบไปสักที เอาไปทำฟืน แล้วคนก็มาค้ำกันต่อไป กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปอย่างนั้น แต่ก็ไม่มีกระบอกเซียมซี ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าใด เมืองเหนือนี่ไม่มีเลย เมืองเหนือนี่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธรูปที่คนเขาจะไปไหว้ไปบูชาอย่างนั้น ก็มีแต่พระธาตุหริปุญชัย พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุจอมทอง คนเขาไปไหว้ ไปนมัสการ ก็ไปไหว้เท่านั้นแหละ เขาไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ไปบนบานศาลกล่าว ไม่ได้ทำอะไรเท่าใด
ดูๆ ไปแล้วพุทธศาสนาทางเหนือนี่มีสารบริสุทธิ์พอใช้ ไม่มีอะไรมาเจือปนเท่าใดในสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมทางภาคกลางไหลเข้าไปเรื่อยๆ บางวัดก็คิดหาผลประโยชน์ ก็เลยเอาสิ่งที่มันไม่ใช่ของทางพุทธศาสนาไปวางไว้ให้คนสั่นเล่น เช่น เดี๋ยวนี้พระธาตุดอยสุเทพก็มีกระบอกติ้วๆให้คนไปสั่น แล้วก็มีใบเซียมซี มีอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ซึ่งพระนั่งทำอยู่ในกิจเหล่านั้น อาตมาไปดูๆ ไม่มีกิจธรรมะเลย วันยังค่ำไม่ได้พูดเรื่องธรรมะให้คนไปไหว้พระฟังสักคำเดียว มีแต่เรื่องโชคชะตาราศีอะไรต่ออะไร เรียกได้ว่าเอาสถานที่พระพุทธเจ้าไปใช้เรื่องอื่น ไม่ใช้เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นของใหม่ ไม่ได้มีในสมัยก่อน อีกอันหนึ่ง ตัวอย่างเช่น งานผูกพันธสีมา ฝังลูกนิมิตร เมืองเหนือนี่ไม่มีอะไรเลย เขาไม่มีการติดทองหินที่จะฝัง เขาไม่มีการทำอะไรทั้งนั้น เขาขุดหลุมลงไปแล้ว หาหินมาวางไว้ ก็นิมนต์พระมาเป็นเรื่องของพระ เรื่องทุเจ้าเขาว่าอย่างนั้น ก็มาประชุมพระพร้อมกัน เมื่อพร้อมกันแล้วก็เอาลูกหินฝังลงไป ชาวบ้านไม่เกี่ยว เรื่องของพระก็ทำของพระ ฝังเสร็จแล้วก็กลบหลุมไป กลบหลุมแล้วท่านก็สวด สมมติว่านี่เป็นเขตสีมาที่เราจะทำอะไรต่อไปได้ เขาทำวันเดียวก็เสร็จแล้ว ไม่เหมือนแถวภาคกลางหรือภาคอื่นของประเทศไทย ทำกันห้าวันห้าคืนแล้วก็สนุกกันเต็มเหวี่ยง สนุกในทางเพิ่มกิเลสทั้งนั้น มีดนตรี สายัญสัญญา สังฆ์ทอง สีใส สุรพล สุรชัย มากมายก่ายกอง เพื่อสนุกทั้งนั้น มีป้านแผ่นเบ้อเริ่มเพื่อสนุกทั้งนั้น ไม่มีการเผยแผ่ธรรมะในงานเลยแม้แต่น้อย ถ้าจะมีบ้างก็บอกว่าในงานนี้มีอาจารย์ผู้ชำนาญทางวิปัสสนาซึ่งมันไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องวิปัสสนา
อาจารย์ทางวิปัสสนาคืออาจารย์สอนคน ให้รู้ความจริงของธรรมะให้เห็นความเป็นอนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา นั่นคืออาจารย์วิปัสสนา เพราะอาจารย์ทางวิปัสสนาคือผู้ที่เห็นสัจธรรม เห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่จะน่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา แล้วก็เข้าไปหลงไหลมัวเมา นั่นแหละเรื่องวิปัสสนามันเป็นอย่างนั้น แล้วก็บอกว่าอาจารย์ทางวิปัสสนามาทำพิธีปลุกเสก สะเดาะห์เคราะห์ อะไรต่ออะไร มันตรงกันข้ามไป คือใช้คำไม่ถูก ทำก็ไม่ถูก มันผิดเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องวิปัสสนาอยางนั้น มันเรื่องนอกรีตนอกรอยไป แต่คนก็นิยม เพราะเราเพาะความนิยมไว้อย่างนั้น คนก็พอใจอย่างนั้น ทางมาเลเซียนี่พระไทยไปอยู่มาก ตั้งแต่สมัยโบราณ โบราณพระไทยที่ไปนี่เป็นหลวงพ่อรดน้ำมนต์ สะเดาะห์เคราะห์ สะเดาะห์โศกนี่ แล้วถ้าพระไทยไปนี่คนมาเลเซียที่เป็นชาวจีน หรือชาวไหนก็ตาม เขามองว่าพระไทยนี่เก่งทางนั้นทั้งนั้น เก่งทางปลุกทางเสก สะเดาะห์เคราะห์ ทำพิธี ทำเสน่ห์อะไรก็ได้ ทำอะไรได้กันทั้งนั้น เขาก็ต้องมาขอไป อาตมาเคยไปอยู่ที่ (49.45 ไต้ตึ้ง ?) ไปอยู่ถึงสามปี คนก็มาขอทุกวัน มาขอเสน่ห์บ้าง มาขอนั่นขอนี่อะไรต่างๆ ก็บอกว่าไม่รู้ทำไม่ได้ เขากลับว่าพระอะไร บวชมากี่ปีแล้วล่ะ เราก็บอกมาบวชมา ๖-๗ ปีแล้วล่ะ บวชอะไร (50.07 สู้?? คนนี้ ไอ้นั่นก็ไม่รู้ ไอ้นี่ก็ไม่รู้) หาว่าเราเหลวไหลไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้เรื่องที่เขาต้องการก็หาว่าเราไม่รู้ มันก็แย่ไปเหมือนกัน
เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งแกมาบอกว่าในครอบครัวนี่มีปัญหา พ่อสามีนี่ไม่ถูกกับแกซึ่งเป็นลูกสะใภ้ก็อยากจะให้มาช่วยทำฮู้ ภาษาจีนเขาเรียก ฮู้ ก็คือยันต์อ่ะนี่ ที่เขียนลงกระดาษแดงเอาไปเผา แช่น้ำให้กิน แล้วคนนั้นก็จะได้รักได้ชอบอะไรอย่างนั้น มาขอเรื่องอย่างนั้น ขอให้เตี่ยรัก เลยถามว่าทำไม เรื่องมันเป็นมาอย่างไร ขอศึกษาสาเหตุ แกก็บอกว่าเมื่อก่อนนี้เตี่ยไม่ได้อยู่กับลูกชาย แต่ว่าอยู่ที่อื่น แล้วสมัยสงครามนี่เตี่ยลำบากก็เลยอยู่กับลูกชาย เตี่ยนี่เป็นคนโบราณก็เลยอยากให้ลูกสะใภ้ปฏิบัติตนเหมือนกับลูกสะใภ้ชาวจีนทั่วๆไป ครอบครัวจีนรุ่นโบราณนี่ถ้าใครไปเป็นลูกสะใภ้ก็เท่ากับสมัครไปเป็นคนใช้บ้านนั้นแหละ ต้องทำทุกอย่าง ทำให้แม่ผัว ทำให้พ่อผัว ทำให้ลูก พี่น้อง ทุกคน ต้องเอาใจใส่ดูแลเขา เรียกได้ว่าเพิ่มคนใช้ขึ้นอีกหนึ่งคนคือลูกสะใภ้นั่นเอง เป็นภาระหนักอยู่ไม่ใช่น้อย ทีนี้ลูกสะใภ้ในคนสมัยใหม่เรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนสมัยใหม่ ลูกชายก็เรียนภาษาทำงานเป็นนายไปรษณีย์ ก็มาเล่าให้ฟังมาเตี่ยนี่ลำบาก ให้กินอย่างนั้นก็ไม่ชอบ ให้กินอย่างนี้ก็ไม่ชอบ จะอย่างนั้นจะอย่างนี้ จู้จี้บ่น เวลาเหนื่อยก็ไปฟ้องลูกชาย ลูกชายก็มาดุภรรยา ภรรยาก็มาเถียงเอามั่ง เลยภรรยากับสามีก็อึดอัดไม่กลับบ้าน เลิกงานแล้วไปเที่ยวสโมสรกลับบ้านเอาดึกดื่นเที่ยงคืน ไม่พูดกับภรรยา ภรรยาก็ไม่สบายใจว่าสามีเหินห่างก็อยากจะมาขอเสน่ห์ทำให้สามีรักสักหน่อย ก็บอกว่าเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว ทำตามฉันว่าแล้วสำเร็จทุกประการ เขาก็ดีใจว่าจะทำอย่างไร บอกว่ากลับไปเอาใจพ่อผัวให้ดี แกอยากกินข้าวต้มให้กินข้าวต้ม อยากกินข้าวสวยให้กินข้าวสวย อยากกินในห้องยกไปในห้อง อยากกินกลางแจ้งยกมากินกลางแจ้ง อยากจะอาบน้ำร้อนต้มน้ำร้อนให้อาบ อาบเฉยๆ ก็ถูเนื้อถูตัวให้ เอาใจใส่ คอยถามสุขทุกข์อะไรต่างๆ พ่อผัวก็จะไม่บ่น เมื่อไม่บ่นสามีก็ไม่ได้รับคำอุธรณ์จากพ่อก็กลับบ้านเรียบร้อย คุณก็สบาย “โอยไม่ได้ๆ ดิฉันทำไม่ได้” “อ้าวแล้วกัน ถามว่าทำไมทำไม่ได้” “ดิฉันเกลียดพ่อผัวซะแล้วเวลานี้” “อ้าว แล้วกัน คุณไม่เปลี่ยนความเกลียดเป็นความรักแล้วจะทำได้อย่างไร” ก็บอกให้แกฟังว่าคุณต้องเปลี่ยนใจ มันต้องเปลี่ยนเกลียดเป็นรักแล้วคุณก็สบายใจ ถ้าคุณเกลียดคุณเองก็เดือดร้อนใจ ไม่สบายใจ มีเท่านี้แหละเสน่ห์ของฉันให้เท่านี้แหละ ไม่มีแล้วนอกจากนั้น แกก็ลาไปด้วยความผิดหวังบอกว่าเราไม่ได้ทำให้ได้ดังใจ ถ้าไปเจอวัดอื่นก็อย่างน้อยเรียกเอาร้อยเหรียญน่ะ ไม่มีอะไรเอาขี้ธูปให้เท่านั้นเอง โดนไปร้อยเหรียญแล้ว ขี้ธูปมีเยอะแยะ ห่อๆ เข้า ลงอะไรขยุกขยิกนิดหน่อย ห่อๆ เข้า ใส่น้ำให้กินทุกวันๆ ก็รักเอง
ก็อย่างนี้แหละนะ ก็ได้เงิน แต่อาตมาทำไม่เป็นน่ะ ก็ไม่มีแล้วมีเท่านี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ คนมันเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องอย่างนั้นไปหมด ไม่เข้าใจในแง่ธรรมะ ในข้อปฏิบัติ เราให้ธรรมะกลับไม่เอา กลับไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ชอบอย่างนั้น แล้วภายหลังก็มีคนไทยคนหนึ่ง ไปเที่ยวทุลักทุเล ไปเจอเข้าก็มาเล่าให้ฟังว่า ต้มคนนั้นไปได้ตั้งสองร้อยเหรียญ วันหลังก็มาเล่าให้ฟังว่า วันก่อนนี้มีหมอดีมาเอาไปตั้งสองร้อยเหรียญไม่เห็นได้เรื่องได้ราว ก็หมอไม่ได้ความของฉันถึงจะศักดิ์สิทธิ์ ก็ไม่เอาเองนี่ มันก็เป็นอย่างนี้ คนเรามันก็แปลก เรียกว่าหลงใหลมัวเมาไปในเรื่องที่ไม่ได้เรื่อง ไม่หันเข้าหาความถูกต้อง จึงถูกหลอกถูกต้มกันเรื่อยไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น อันนี้น่าคิด พูดมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ นั่งตัวตรง พยายามนั่งให้ตรงยืดหลังให้ตรง คอตั้งตรง หลับตา หายใจเข้ายาว กำหนดรู้ ตามลมหายใจเข้า หายใจออก กำหนดรู้ตามลมหายใจออก อย่าให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามันวิ่งไปก็ดึงกลับมาให้มาอยู่ตรงนี้ ให้มีสติคอยกำหนดลมเข้าลมออกอยู่ตลอดเวลา ๕ นาที ขอเชิญญาติโยมทั้งหลายทำได้ ณ บัดนี้