แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันอาทิตย์กลับมาเลยเวลาเทศน์ไปเพียงห้านาที ก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่ว่ามันเกิดไฟไม่มีก็เลยทำให้เกิดชักช้า เรื่องไฟฟ้านี่ก็เป็นเรื่องธรรมดามีเสียบ้าง เสียกันบ่อยๆ เมืองไทยไฟเสียอยู่บ่อยๆ บริษัท ห้างร้านยังไม่ได้ฟ้ององค์การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ ไฟฟ้านครหลวง ถ้าจะฟ้องเหมือนต่างประเทศบ้างแล้วไฟจะไม่เสีย ต่างประเทศถ้าไฟเสียแล้วละก็เขาจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย บริษัท ห้างร้าน เขาทำงานเขาคิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงเท่าไรเขาคิดค่าเสียหาย เกิดไฟเสียครั้งหนึ่งขึ้นมาจะต้องเสียหายกันมากมายก่ายกอง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไฟต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดการเสียหายขึ้น ถ้าหากว่าไฟจะต้องซ่อมตรงใดก็บอกให้ทราบ กรุงเทพเรานี่ก็บอกกันอยู่บ่อยๆ แต่เสียกันอยู่บ่อยๆ กรุงเทพเราไม่ค่อยเสียเท่าใด ทางหลวงเมืองนี่เสียบ่อย โดยเฉพาะทางใต้นี่เสียบ่อยมาก บางคืนเสียสามครั้ง นี่มันแย่ เพราะเดินทางผ่านมาไกล พักเหนื่อยกันบ้าง แสงไฟไม่ถึงชาวบ้าน กลายเป็นปัญหา ทีนี้เราอย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องไฟเสีย ให้นึกว่ามันเป็นเรื่องของธรรมดา อะไรๆ มันก็ต้องมีการชำรุดทรุดโทรมเสียหาย หรือว่า มันไม่เที่ยงนั่นเอง
ความไม่เที่ยงนี่เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เราควรจะได้นำมาใช้สำหรับแก้ไขปัญหาชีวิต เพราะว่าในชีวิตเรานี้มีอะไรอะไรเกิดขึ้นบ่อยๆ ความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง ความดีความชั่ว ความเสื่อมความเจริญ ย่อมเกิดขึ้นในชีวิตเราแต่ละคนโดยไม่บอกล่วงหน้าว่ามันจะเกิด เรื่องที่มันจะเกิดมันก็เกิดตามธรรมชาติของปัจจัยที่ปรุงแต่ง ถ้ามีปัจจัยมาปรุงมาแต่งเข้า มันก็เกิดเป็นอะไรอะไรขึ้นมา ทีนี้คนเราที่ต้องเป็นทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ ก็เพราะว่าไม่ได้พิจารณาไว้ล่วงหน้าว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น ไม่ได้คิดถึงกฎธรรมชาติ ธรรมดา ที่เป็นกฎที่มีอยู่อย่างนั้นทุกวันเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มันก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิด เช่น ความแก่นี่พระพุทธเจ้าสอนให้คิด ความเจ็บไข้ก็ให้คิด ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบอะไร สิ่งใดที่ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจของเรา มันก็ต้องเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติที่สอนให้พิจารณาไว้บ่อยๆ เช่นว่า (03.40 อภิญญาปัจจนึก) ให้พิจารณาในเรื่องห้าอย่าง เรื่องความแก่ เรื่องความเจ็บ เรื่องความตาย เรื่องความพลัดพรากจากสิ่งรักสิ่งชอบ เรื่องทำอันใดก็ได้อันนั้นหนีไม่พ้น ห้าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนให้เราพิจารณาไว้บ่อยๆ การพิจารณาไว้บ่อยๆนั้นจะเป็นเครื่องช่วยให้เราไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาอะไรเกิดขึ้นเราจะไม่เป็นทุกข์ เพราะเราได้เตือนตัวเราไว้บ่อยๆว่าสิ่งนั้นมันจะต้องเกิดขึ้นแก่เรา เช่นความแก่นี่จะต้องเกิดแก่เราทุกคน เพราะร่างกายของมนุษย์เรานั้นยังมีการไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดนิ่งหมายความว่าเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี่คือการมีชีวิต ถ้าร่างกายเราไม่เปลี่ยนแปลงก็เรียกว่าไม่มีชีวิต ไม่มีชีวิตคือร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว คือไม่มีลมเข้าออก ไม่มีอาหารเข้าไปในร่างกาย น้ำก็เข้าไปไม่ได้ อะไรมันหยุดนิ่งหมด มันหยุดนิ่งคือไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ายังมีชีวิตก็เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้ ที่เราเรียกว่ามีชีวิต คือมีการเคลื่อนไหวอะไรอยู่นั้น มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงของมันเรื่อยไป ต้นไม้มีเปลี่ยนแปลงไม่หยุด ถ้าหยุดเมื่อใดมันก็ตายเหมือนกัน ใบจะเหี่ยวแห้ง รากจะเหี่ยวแห้ง ที่สุดก็ยืนตาย การตายของต้นไม้ เช่นทุเรียนตายเป็นพืชสวน นั่นเพราะว่ามันหยุดการเปลี่ยนแปลงในทางราก รากดูดอาหารไม่ได้ มันหยุดที่รากก่อน พอรากหยุดอาหารไม่ขึ้นไปเลี้ยงลำต้น ใบก็เริ่มเหี่ยว เปลือกก็เริ่มแห้ง แล้วมันก็ยืนตาย เพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น มีปัจจัยอะไรบางอย่างมาทำให้มันต้องเป็นไปในรูปอย่างนั้น จึงได้หยุดการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ตาย เครื่องยนต์ที่หมุนได้ยังมีเสียงอยู่ ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลง มีการเผาไหม้ของน้ำมัน ทำให้เกิดความร้อน เมื่อเกิดความร้อน ลูกสูบมันก็เคลื่อนที่ ในเครื่องยนต์เมื่อลูกสูบเคลื่อนที่ ก็มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ล้อหมุนไป มีการระบายออกเครื่องไอเสีย แล้วเกิดหมุนเวียนขึ้น รถยนต์ก็วิ่งไปได้ แต่ถ้าน้ำมันหมด มันก็ไปไม่ได้ หมดปัจจัยเพื่อปรุงแต่ง หรือน้ำในหม้อมันแห้ง ถ้าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำ เกิดความร้อนมากเกินไป เครื่องรถยนต์อาจจะหยุดได้เหมือนกัน แต่ที่ยังเดินอยู่ได้ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำมัน ดวงไฟที่เราจุดไว้บูชาพระ ที่มีแสงสว่างอยู่ได้ เพราะมีการเผาไหม้ไต้และน้ำมัน น้ำมันเป็นตัวสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของดวงไฟ ดวงไฟนี้ไม่ใช่ไฟดวงเดียว แต่ว่ามันถี่มากจนเรามองไม่ทันว่ามันหลายดวง มันเปลี่ยนแปลงถี่ยิบและเกิดเป็นแสงสว่าง เพราะมีไต้มีน้ำมันช่วย หมดไต้หมดน้ำมันไฟก็ดับไป มันเป็นเรื่องธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น
ร่างกายของคนเราก็เหมือนกัน ที่มันเคลื่อนไหวไปมาอยู่ได้ก็เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลง เรามีลมหายใจเข้า มีลมหายใจออก เมื่อมีลมเข้าลมออกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ร่างกายก็ทรงสภาพที่เรียกว่ามีชีวิต ตราบใดที่เรียกว่ามีชีวิตก็หมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ก็เรียกว่ามีชีวิต แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงไปหยุดลงตรงไหนปุ๊บ ตายตรงไหน ไปเลือกที่ตายไม่ได้ เลือกเวลาก็ไม่ได้ เลือกอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น มันเป็นไปตามเรื่องของธรรมชาติ เราไม่รู้ว่ามันจะหยุดเมื่อใด เหมือนรถยนต์เราก็ไม่รู้ว่ามันจะหยุดเมื่อใด ขับๆไปแล้ว ทำไปตายหล่ะ คนขับพูดว่าอย่างนั้น นั่นก็แสดงว่าคนขับก็ไม่รู้ว่าเครื่องมันจะหยุด แต่มันก็หยุด เมื่อหยุดแล้วก็ต้องลงไปเปิดฝาหม้อดู คนโดยสารกี่คนในรถก็ลงไปดูกัน เป็นช่างกันหมดทุกคน ก้มๆไปดูอย่างนั้น ความจริงไม่ได้ทำอะไร น่าจะนั่งอยู่ในรถ หรือว่าไปยืนหายใจข้างรถยังดีกว่า แต่ก็ไปยืนดูว่าอะไรมันเสีย ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในเครื่องยนต์สักอย่าง ก็ไปยืนตามเรื่องตามราว รถยนต์ถ้าพูดได้ก็คงหัวเราะเหมือนกันนะ ว่ามายืนดูข้าทำไมก็ไม่รู้เรื่องของข้าสักหน่อย มายืนให้มันกีดคนที่รู้ทำไม แต่รถมันพูดไม่ได้ มันก็อยู่เฉยๆ เราก็ล้อมไปตามเรื่องตามราว ที่ไปยืนล้อมไม่ใช่ว่าเรื่องอะไร ร้อนใจ ว่าจะติดเมื่อไรจะได้เดินทางต่อไป ถ้าไม่ติดก็ยืนดูไปเรื่อยๆ เพราะว่าติดไปเรื่อยๆ ถ้าตามีไฟก็พอจะเข้าเรื่องได้ แต่นี่ก็ไม่ได้เข้าญาณแบบมีศีล ตาไม่ได้ลุกเป็นไฟ เครื่องยนต์มันก็เย็นอยู่อย่างนั่น ไม่มีอาการจะติดขึ้น รถยนต์หยุดยังค่อยยังชั่ว ถ้าวิ่งอยู่แล้วหยุดก็แย่เพราะมันไม่มีที่จอด เพราะมันหยุดปุ๊บก็ได้เรื่อง เรียบร้อยไปเลย สามร้อยสี่ร้อยชีวิตเรียบไปเลย มันหยุดไม่บอก
ร่างกายเราก็มีสภาพเช่นเดียวกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามหน้าที่ของมัน พอถึงเวลามันก็หยุดเท่านั้นเอง ความแก่ก็คือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่แก่ ไม่แก่ก็ไม่มีชีวิต ไม่มีชีวิตแล้วจะเรียกว่าเป็นผู้เป็นคนได้อย่างไร ที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงก็ต้องมีความแก่ ความแก่นี่ไม่มีใครชอบเท่าใด เพราะว่ามันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่เราไม่พอใจ ผมหงอกไม่มีใครชอบ หนังเหี่ยวไม่มีใครชอบ ฟันหลุดไม่มีใครชอบอะไรต่ออะไร ตอนแก่แล้วก็ไม่มีใครชอบ ยิ่งแก่เดินไม่ค่อยไหวต้องถือไม้เท้า แหมถือไม้เท้านี่มันไหว ทำไมถึงไม่ถือหละ เพราะว่าคนอื่นจะเห็นว่าเป็นคนแก่นี่เอง ก็ไม่ถือไม้เท้า กลัวว่าคนอื่นจะหาว่าเราแก่ ความจริงถึงไม่ถือไม้เท้าก็แก่อยู่แล้ว แต่ว่าไม่ถือเพราะกลัวเขาจะว่าแก่ เมื่อวานนี้ก็มีคนเดินไม่ได้มาในงานบวชนาค ถามว่าทำไมไม่ถือไม้เท้า แหมถือไม้เท้าดูมันรุ่มร่าม ว่ามันจะรุ่มร่ามอะไร ก็ใครเค้าเห็นจะว่าฉันนี่แก่เต็มทีแล้ว ชักจะมากไปแล้ว หาว่าตัวเองนี่แก่ เราไปถือไม้เท้าไว้ ความจริงนั้นไม้เท้าเป็นเครื่องค้ำจุนร่างกาย ก็เหมือนกับว่าเสื้อผ้าเดียวที่จะต้องใช้ หมวกคลุมหัวเวลาร้อน เอาเท้าใส่เพื่อไม่ให้หนามตำเท้า ไม้เท้าก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ประกอบเป็นคนแก่ก็ต้องถือไม้เท้า สำหรับใครที่จำเป็นจะต้องถือไม้เท้า อย่ากลัวว่าคนอื่นเขาจะหาว่าแก่ ถ้าไม่ถือแล้วกลัวว่ามันจะล้มลงไป แล้วจะลุกไม่ขึ้น มันจะลำบาก แล้วไม้เท้าทันสมัยทางโรงพยาบาลเขาทำไว้ ดีถือค้ำๆ ไว้ อาตมาก็ยังถือบ่อยๆ เวลาเดินในวัดเพราะว่าร่างกายไม่ค่อยปกติก็ถือไม้เท้าไว้ ไม่เคยกลัวว่าใครจะหาว่าท่านปัญญาเป็นคนแก่เลย ถือเอาไว้เวลางงๆเอามาค้ำไว้ ตอนนั่งลงก็ไม่ล้ม ไม่เสียหาย ยังมีโอกาสมาปาฐกถาให้โยมฟังได้ แต่ถ้าไม่ถือไม้เท้า ศรีษะล้มลงไปฟาดกับปูนซีเมนต์ก็เรียบร้อยเท่านั้นเอง ไม่ได้พูดกันต่อไป มันก็ช่วยค้ำไว้อย่างนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนแก่ คนแก่เรานั้นเมื่อรู้สึกว่าแก่แล้วจะทำอย่างไร ต้องทำจิตใจให้สงบ ไม่วู่วามไม่เร่ร้อน ไม่ยึดถือในอารมณ์อะไรรุนแรงมากเกินไป ก็เพราะว่าความยึดถือที่รุนแรงทำให้ไม่สบายทางร่างกาย แล้วจะไม่สบายทางจิตใจ จึงควรจะได้ผ่อนคลายอารมณ์ ปล่อยๆ วางๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็ปลงๆไว้ อย่าไปนึก บอกตัวเองไว้นี่หรือ เรื่องธรรมดา มีสภาพไม่เที่ยง มันก็เปลี่ยนไปตามเรื่องตามราว เราจะไปยึดไปถือเป็นทุกข์ไปทำไม
เราควรจะทำใจให้รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นเสียดีกว่า ลูกๆหลานๆบางทีก็ไม่ค่อยเอาใจใส่กับคนแก่ คนแก่นั้นก็จะเกินความน้อยอกน้อยใจ หาว่าเราแก่แล้ว มันไม่ค่อยจะเหลียวแล บางทีพูดเลยเถิดไปว่าไอ้เราเงินทองไม่ค่อยมีมันไม่เอาใจใส่แล้ว นี่ถ้าข้ามีเงินมีทองมากๆ คนนั้นก็มาลูบแข้งลูบขา ประจบประแจงเพื่อจะขอสตางค์ เดี่ยวนี้สตางค์ไม่ค่อยมีไม่มีใครเหลียวแล แล้วก็น้อยใจ ไม่สบายใจ เราอย่าไปนึกอย่างนั้น นึกว่าเขามีงานมาก เขาต้องประกอบธุรกิจหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ไอ้จะมานั่งดูแลอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ไหว ก็ต้องปล่อยเขาไปตามเรื่อง ช่างเขาเถอะให้เขาเจริญก้าวหน้าไปในชีวิตการงานของเขาดีกว่า ให้พรแก่ลูกแก่หลาน อย่าไปนึกแช่งชักหักกระดูกลูกหลานเข้าให้ เดี๋ยวกระดูกมันจะหักขึ้นมาจริงๆ แล้วจะเกิดปัญหามีความทุกข์ความเดือดร้อน ต้องทำใจเฉยๆปล่อยๆวางๆ ถ้าเราทำใจเฉยได้ ปล่อยวางได้ จะช่วยให้เราไม่เป็นโรคความดัน โรคความดันมันเกิดจากอารมณ์ทางจิตใจ ถ้าใจเรากระทบกระเทือนบ่อยๆ มันเกิดความดันสูงมาก ความดันสูงมันจะมีเพราะอารมณ์ ส่วนความดันต่ำมักจะเกิดเพราะความบกพร่องทางร่างกาย แต่ความดันสูงมักจะเกิดจากความบกพร่องทางอารมณ์ คือเราไปยึดถืออะไรมากเกินไป ต้องการอะไรก็ต้องให้ได้ดังใจ ช้าไปนิดก็ไม่ได้ ไม่เหมือนดังใจก็โกรธเขา เช่นจะกินอาหาร พอบอกว่าจะกินจะให้มาลอยอยู่ทันทีก็ไม่ได้ ไม่ใช่อาหารทิพย์ ลูกหลานเขาอาจจะกำลังไปปรุงอยู่ กำลังเจียวไข่ กำลังต้มอยู่ กำลังตักออกจากหม้อ ต้องนั่งรอใจเย็นๆ อย่าวู่วาม อารมณ์จะเสีย หัวใจจะเต้นแรง โลหิตจะพุ่งขึ้นสมอง จะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย นั่งเฉยๆ ภาวนาพุทธโท พุทธโท ไปก็ได้ กำหนดลมหายใจเขาหายใจออกก็ได้ นั่งรอประเดี๋ยว เดี๋ยวอาหารมาวางไม่ทันรู้ตัว เมื่อวางแล้วก็อย่ารับประทานมันกำลังร้อน รอสักหน่อย ให้มันพออุ่นๆสบายๆแล้วรอรับประทาน ขณะรับประทานรสมันไม่ถูกปาก อาจจะเค็มไปบ้าง อาจจะเปรี้ยวไปบ้าง หรืออาจจะจืดชืดไปบ้าง อย่าไปมีอารมณ์กับสิ่งเหล่านั้น เราก็รับประทานไปตามเรื่อง นึกแต่เพียงว่าเรารับประทานเพื่อหายหิว เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ใหม่ขึ้นในร่างกาย รับประทานพออยู่ได้ เสร็จแล้วก็หมดเรื่อง ไม่บ่นไม่ว่าอะไร แม่ครัวสบายใจ ลูกหลานก็จะสบายใจแล้วจะมองเห็นคุณยายนี่ใจดีเหลือเกิน
ไปวัดชลประทานบ่อยๆ หลวงพ่อท่านเทศน์บ่อยๆ คุณยายใจเย็นใจสงบ ไม่วู่วามไม่เร่าร้อน นี่ลูกหลานสบายใจ แล้วลูกหลานอาจจะอยากมาวัดแบบคุณยายบ้าง เพราะเห็นว่าคุณยายใจดี แต่ถ้ามาวัดทุกวันอาทิตย์กลับไปบ้านเป็นฟืนเป็นไฟ พ่นใส่ลูกใส่หลานตลอดเวลา ลูกหลานก็จะบอกว่า นี่คุณยายไปวัดบ่อยๆไม่เห็นดีขึ้นเลย หลวงพ่อท่านเทศน์ เทศน์ไม่เห็นเข้าหูคุณยายบ้างเลย ลูกหลานเลยขุ่นมัวไป กระทบกระเทือนมาถึงพระสงฆ์องค์เจ้าเกิดความเสียหาย เพราะคุณยายใจร้อนนั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ได้ ต้องเย็นๆ นั่งเฉยๆค่อยพูดค่อยจา ใครทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร อย่าพูดหมด อย่าพูดออกไปทันที เพราะถ้าพูดออกไปทันทีมักจะพูดด้วยความร้อนฉุนเฉียว คำพูดที่ออกมาด้วยอารมณ์ร้อนมันร้อนเหมือนกัน มันไม่น่าฟังไม่รื่นหู แทนที่เขาจะเอาไปเป็นเครื่องเตือนใจ เขากลับโกรธเสีย เขากลับไม่รับคำสอนคำเตือน เลยไปกันใหญ่ เพราะอย่างนั้นเฉยไว้ก่อน ว่างค่อยมากนั่งคุยกัน เรียกมานั่ง มีขนมอะไรก็นำมาเลี้ยง กินขนมเพลินใจแล้วก็ว่าแหมมีอะไรนิดหน่อยๆยายจะขอร้องอย่าให้กระทำอย่างนั้นต่อไป หลานฟังอารมณ์ดีบอกว่า มีอะไรที่คุณยายจะขอผมไม่ขัดข้อง ผมเคารพคุณยาย แล้วก็ว่าไปเรื่อยๆ ยายก็ว่าลงไป หลานก็เลยรับฟังด้วยดี เพราะอารมณ์ผ่องใสใจสบาย เขาก็เอาไปปฏิบัติ อย่างนี้ยายกับหลานก็เรียกว่าเข้ากันได้เรียบร้อย ไม่มีปัญหายุ่งยากในทางจิตใจ เรื่องนี้มันก็เหมือนกัน ต้องหัดทำไว้
เมื่อตะกี้ก่อนเทศน์ มีอุบาสิกามานั่งใกล้ๆถามว่า ทำอย่างไรดีหลวงพ่อ เป็นคนขี้โกรธเหลือเกิน อ้าวก็มาหัดสิ มาหัดเป็นคนไม่โกรธ แต่เป็นคนขี้โกรธมานานแล้วจะหัดอย่างไร ก็เลยบอกว่า คอยเตือนตัวเองไว้ เตือนตัวเองไว้เสมอๆว่าวันนี้ฉันจะไม่โกรธใคร ฉันจะไม่ก่อความรำคาญให้แก่ใครๆ ฉันจะอยู่อย่างใจเย็น อยู่อย่างใจสงบ ทีนี้ถ้าอยู่คนเดียวมันก็ไม่มีเรื่องให้โกรธ คนเราจะโกรธจะเกลียดจะรัก จะต้องมีบุรุษที่สองเข้ามาเกี่ยวข้อง คือมีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มันขุ่น สิ่งทั้งหลายมันเกิดจากคน รูปของคน เสียงของคน กลิ่นรส เป็นอาการของคนทั้งนั้น พอใครเข้ามาเราก็เตือนตัวเองว่าใจเย็นๆ อย่าไปวู่วามเขา อย่าไปโกรธไปเคืองเขา พูดกันใจเย็นๆ ว่าไว้ก่อน ท่องคาถาไว้ว่าใจเย็นๆ ว่ากับตัวเองนะ ไม่ต้องว่าดังๆ แล้วก็คุยกับเขาพูดจาการงานอะไรกัน บางทีมันก็มีเรื่องจะขึ้นเสียงกันบ้าง ถ้าใครเริ่มขึ้นเสียงขึ้นมาเราก็บอกว่าใจเย็นๆ อย่าไปขึ้นเสียงกับเขา เขากำลังร้อน ถ้าเราร้อนขึ้นอีกมันก็ไหม้กันใหญ่ใจเย็นๆบ้าง อย่าไปร้อนเหมือนเขา ไอ้คนนั้นคือไม่ดีมันจึงร้อน คอยเตือนตัวเองในใจนั่งเฉยๆ ยิ้มๆไป ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆเข้าก็ดีขึ้น ไอ้ที่เราเป็นอะไรเพราะเราสะสมไว้นั่นเอง สะสมความโกรธก็ได้ความโกรธเพิ่มขึ้น สะสมความเกลียดก็ได้ความเกลียดเพิ่มขึ้น สะสมความพยาบาทเราก็ได้ความพยาบาทเพิ่มขึ้น สุดแล้วแต่ว่าเราสะสมอะไร สิ่งนั้นมันก็เข้ามาอยู่ในใจของเรา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามีเราเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เราสะสมไว้ทั้งนั้น ถ้าเราเผลอเราประมาทเราก็ไปสะสมสิ่งไม่ดี ไปเก็บของที่ไม่ดีไว้ เหมือนคนเดินทางเก็บของเต็มไปหมดไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เก็บของเต็มไปหมด นี่เรียกว่าไม่ไม่ได้ประโยชน์ แต่คนที่ฉลาดเขาเก็บเอาแต่เพชรพลอยของมีราคา หาเก็บเอาใบไม้แห้งของถูกแดดไว้ เก็บเอาแต่ของมีค่ามีราคาไว้ ฉันท์ใด ในชีวิตจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เราก็จะเก็บจะพับความสนุกใจความสะอาดความสว่างทางใจ สิ่งใดที่มันจะเป็นเรื่องทำให้เราอารมณ์ไม่ดี เราไม่เก็บสิ่งนั้น ไม่สะสมสิ่งนั้น เพราะว่าเมื่อก่อนนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เกิดมาใหม่ๆนี้ยังไม่มีอะไร ยังไม่มีความโกรธความเกลียดความอาฆาต พยาบาท จองเวรอะไรทั้งนั้น อารมณ์ดีเด็กๆ ยิ้มไม่มีฟันสักซีก ได้แต่ยิ้ม พออายุสัก 2-3 เดือน ก็ยิ้มแล้ว เราทำหน้าทำตาก็ยิ้ม ใจมันดี ไม่มีอารมณ์โกรธแม้แต่น้อย ไม่มีอารมณ์อึดอัดขัดใจอะไรเลยแม้แต่น้อย พอโตขึ้นก็มีเรื่องขัดอกขัดใจคุ่มแค้น เรื่องอะไรต่างๆเกิดขึ้น นี่มันมาทีหลัง แล้วเราไม่รู้ คือขาดสติปัญญา ขาดความเข้าใจในเรื่องนั้น เพราะเรานึกว่าโกรธนี่ดี ทำอะไรก็โกรธ เกลียด พยาบาทเขา ริษยาเขา มีแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น เหล่านี้มันไม่ดี อย่าไปสะสมในใจของเรา เอาออก เอาออก ถ้ามันมีมาก่อน มีมานานแล้ว ก็ต้องบอกตัวเองว่าไอ้นี่ไม่ใช่ของเก่าของฉัน ฉันสะสมไว้ด้วยความหลงผิดความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้อ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้อบรมบ่มตัวเอง ครั้นมาวัดฟังธรรมก็เกิดความสำนึกในตัวเองว่า แหม่ เก็บไว้อยู่เบื้องลึกตั้งแต่ ไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว บอกตัวเอง ฉันจะไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่ใจร้อน ไม่ใจเร็ว คอยเตือนตัวเองไว้ จะไปหาใคร ไปพบปะสมาคมกับผู้ใด ก็ต้องคอยเตือนๆไว้ คอยสำรวมระวังไว้ บางสิ่งเกิดเพราะเราไม่ระวัง ถ้าเราระวังแล้วมันก็ไม่เกิด ถ้าเดินระวังแล้วไม่หกล้ม ไม่เกิดความเสียหาย แต่ว่าเดินรีบร้อนจะล้มบ่อย ลื่นบ้าง ล้มบ้าง เตะไอ้นั่น ชนไอ้นี่ วุ่นวายไปหมดเพราะขาดความระวัง
ใจนี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่ระวังแล้วมันแวบเดียวจะสร้างเรื่องขึ้นมา ทั้งดีทั้งเสีย ดีมักจะน้อย มักมีเรื่องเสียมากกว่า เพราะเราไม่ระวัง ดังนั้นต้องระวังไว้ให้ดี ถ้ารถยนต์จะติดอะไรไว้ให้วิเศษละก็ ควรจะมีกระดาษพิมพ์หนังสือตัวโต แล้วก็ติดไว้ที่รถว่า ระวัง แล้วทำเครื่องหมายตกใจไว้หน่อย ระวังขับรถด้วยความระมัดระวัง อย่าแซง อย่าอะไรต่ออะไรที่เป็นการผิดต่อกฎหมาย ระมัดระวังไว้ ความเสียหายก็ไม่เกิด อุบัติเหตุจะไม่เกิดขึ้นเพราะเราระวังไว้ ระวังไว้ ข้าวของก็เหมือนกัน ระวังการจับจ่ายใช้สอย ไม่จ่ายเกินไป ไม่ซื้อของแพง ไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็น อะไรที่มีอยู่แล้วก็นึกว่ามันมีแล้วยังใช้ไม่หมดเลย จะไปซื้ออีกทำไม สิ้นเปลืองสตางค์เปล่าๆ เอาของมาไว้ต้องรักษา เอาเงินฝากธนาคารไว้สบายใจไม่ต้องรักษา เสื้อผ้านี่ต้องคอยซักคอยรีด ต้องคอยดูแลมันเก็บๆไว้ไม่แต่งก็ล้าสมัย พอออกใหม่ต้องซื้อใหม่อีกแล้ว ก็ยุ่งกันใหญ่ เราเตือนตัวเตือนใจก็ระมัดระวังไว้ ไม่ต้องซื้อบ่อยๆ ไม่ต้องไปตามร้านใหญ่ๆที่คนแน่นๆ แม้จะมีปรับอากาศ แต่อากาศก็ไม่พอเท่าไร จะไปทำไม จะไปไหนก็นึกว่าไปไหนไปทำไม ไปธุระอะไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไป ถ้าไม่ไปได้ไหม มีอะไรพอไหมเวลานี้ ต้องพิจารณาเสียหน่อย พอพิจารณาได้ ไม่เข้าท่าเลย อยู่บ้านดีกว่ามีงานที่จะทำในบ้านก็ทำไป พอใจความเป็นอยู่ภายในบ้าน เขาเรียกว่าสันโดษ หรือพอใจหาความสุขภายในบ้าน เราจัดบ้านให้เป็นสุข ปลูกต้นไม้สวยๆงามๆ ในบ้านก็แต่งให้ดี มีของที่น่าดู เช่น หนังสือตำรับตำราเอามานั่งอ่านให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ หนังสือธรรมะก็มีไว้ เอามาอ่านเวลาว่างๆ จิตใจจะได้สงบไม่ต้องหาเครื่องปลอบโยนใจมากเกินไป ถ้าเราเอาแต่วัตถุมาปลอบโยนจิตใจนั้น ไม่จบหรอก เพราะว่ามันไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอในด้านวัตถุ เอาเสื้อผ้ามาปลอบโยน…เอาอาหารปลอบโยนก็ต้องปรุงแต่งบ่อยๆ รสชาติแปลกๆต้องไปกินตามภัตตาคารที่เขาเปิดใหม่ เขาเปิดใหม่ยังไม่ได้ไปเดี๋ยวจะไม่ทันสมัย เขาคุยกันเราไม่มีอะไรจะคุย ไปหาเรื่องคุยกับเขาหน่อย จ่ายสตางค์ไปเยอะแยะ เราก็คิดแบบนี้ไม่จำเป็นอะไร เราไม่มีสิ่งนั้นก็อยู่ได้ ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร นี่เรียกว่าระวังไว้ คบคนก็ระวัง ไปไหนก็ต้องระมัดระวัง ทำอะไรก็ระมัดระวัง ความผิดพลาดก็น้อย ชีวิตไม่วุ่นวายไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด น่านึก เอามาเป็นข้อเตือนใจ
สิ่งทั้งหลายฝ่ายในใจของเราว่า มันไม่ค่อยเหมาะ ไม่ดี สร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรยกเรื่องนั้นมาพิจารณาว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้เราร้อนใจ เกิดวิตกกังวล ต้องมีปัญหาในชีวิตด้วยประการต่างๆ นั้นเกิดมาจากอะไร จากคนจากวัตถุหรือจากอะไร และมาจากอะไร จากคน จากวัตถุจากสถานที่ ถ้าเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องมันจะเกิดแก่เราอย่างนั้นหรือ ลองตั้งปัญหาอย่างนั้น ถ้าเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องมันจะเกิดแก่เราได้หรือ ความผิดมันอยู่ที่ใคร ลองศึกษาให้ดี คิดให้ดี ถ้าลองคิดให้ดีเพราะเรา ผิดตรงไหน ผิดตรงที่เราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วยขาดความระมัดระวัง ขาดความระมัดระวังไปเกี่ยวข้องเข้า ก็เปิดปัญหา สร้างความเดือนร้อนให้เกิดขึ้นอย่างนั้น คนไปอยู่อย่างนั้น สร้างปัญหาเกิดขึ้น อะไรๆมันก็อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องมัน จะเกิดอะไรขึ้นแก่เรา ลองคิดอย่างนั้น มันเกิดขึ้นแต่เราไม่เคยเกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าหากเราไปเกี่ยวข้องด้วยสติปัญญา ความทุกข์จะเกิดหรือไม่ เราลองคิดดู ก็ตอบได้ว่า ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรด้วยสติปัญญาแล้ว มันไม่เกิดอะไรเหมือนกัน เหมือนเราจับสิ่งเป็นพิษ ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นพิษ เราก็จับไม่ให้มันกัดได้ จับงู ทำไมหมองูมันจับงูได้ เพราะว่ามันระมัดระวังในการจับ ต้องจับตรงหัว จับหัวแล้วมันจะกัดอย่างไร เอี้ยวกลับไม่ได้ ถ้าไปจับตรงกลางตัวมันก็กัดได้ จับกลางตัวมันก็เลี้ยวมากัดเราได้ จับหางมันก็กัดได้ แต่ถ้าจับหัวปุ๊บ จำไว้ไม่มีทางที่จะกัดเราได้ แล้วเอาใส่ถุงปิดปากถุง นำไปขาย ร้านอาหารที่เขาขายเนื้องูให้เขากินได้ อย่างนี้ก็เพราะว่าเขาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา ด้วยความระมัดระวัง สิ่งนั้นจึงไม่เป็นพิษ
อารมณ์ต่างๆเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแล้วเรานั่งกลุ้มใจเป็นทุกข์ เสียอกเสียใจ โอ๊ยเขาทำฉันเจ็บลึก อ้าวใครทำ เขาทำหรือเราทำกันแน่ นี่ลองคิดดูให้ดี ถ้าคิดดูให้ดี อ๋อมันเรื่องของเขา แต่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ไปเกี่ยวข้องด้วยความเขลา ด้วยไร้ปัญญา เราจึงเกิดปัญหาขึ้นมาในรูปอย่างนี้ เอาเถอะถือว่าเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนจิตใจเราเสีย เพราะคนเรานั้นเป็นปุถุชน สติไม่สมบูรณ์ ปัญญาไม่สมบูรณ์ อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่เมื่อเราได้รับบทเรียนแล้ว เราก็จะระมัดระวังไว้ ที่คนพูดกันตั้งแต่โบราณว่า ผิดเป็นครู ไอ้ความจริงถูกมันก็เป็นครูเหมือนกัน ไม่ใช่ผิดเป็นครูอย่างเดียว ถูกก็เป็นครูเหมือนกัน แต่ว่าเรื่องถูกมันไม่มีอันตราย เขาจึงไม่พูดเตือนไว้ ไอ้ของผิดนี่เป็นอันตรายเขาจึงพูดเตือนไว้ ผิดเป็นครู หมายความว่า เมื่อผิดอะไรลงไปแล้ว อย่าตกอกตกใจ อย่าเสียใจ อย่าเอามาเป็นเครื่องกังวลให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ให้ถือว่าเป็นครูสอนเรา เราได้เผลอไปอย่างไร ประมาทไปอย่างไร ไปคบหาสมาคมกับใคร เหตุการณ์ใด เอามาเป็นครูเสีย เป็นเครื่องเตือนใจ แล้วต่อไปเราจะได้ระมัดระวัง ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นแก่เราอีกต่อไป นี่แหละเขาเรียกว่าผิดเป็นครู ในชีวิตของคนเรานั้น ถ้าหากว่าผิดอะไรมาแล้วเป็นธรรมดา ก็ถือว่าเป็นครูของเรา เป็นบทเรียนของเรา ที่เราจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในชีวิตของเราอีกต่อไป เราก็ต้องใช้สติปัญญา ใช้ความระมัดระวัง
ในการที่จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ว่าไปพบใคร เกิดอะไร อย่าโทษบุคคล อย่าโทษเหตุการณ์ อย่าโทษแม้แต่ดวง เพราะบางคนชอบพูด เพราะดวงนี่ไม่บอกเรา ไม่เถียงเรา บอกว่าฉันดวงไม่ดี ดวงก็ไม่ว่าอะไร ดวงก็อยู่เฉย โต้ตอบไม่ได้ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เรื่องอะไร เราไปพูดสิ่งนั้นมันแก้ไม่ได้ สิ่งอันใดไม่มีตัวตน มาโต้ตอบกับเรามันก็ช่วยอะไรเราไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราจะไม่โทษดวงว่าดวงไม่ดี แต่เราจะโทษว่าเราทำอะไรไม่ดี เราทำอะไรผิดพลาด มันจึงเกิดความเสียหายในชีวิตของเราอย่างนี้ แล้วเราศึกษาให้ละเอียดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร มันมีลูกคู่สัมพันธ์กันมาอย่างไร จากเหตุการณ์อะไร จากบุคคลใด จากสถานที่ใด มันมีสาเหตุผูกพันพัวพันกันมาโดยลำดับ เป็นลูกโซ่ เราก็ต้องพิจารณาเหตุการณ์นั้นๆ ให้เห็นชัดแจ่มแจ้ง อันนี้เขาเรียกว่า ผู้ใคร่การศึกษา คือศึกษาธรรมะอยู่ในตัว ธรรมะคือสิ่งที่เกิดในชีวิตของเราก็ได้เหมือนกัน เราศึกษาจากประสบการณ์เรียกว่าศึกษาธรรมะ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นจริง แล้วเราก็จะไม่มัวเมาหลงใหลในสิ่งนั้น สิ่งนั้นจะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเราอีกต่อไป หลักการมันเป็นอย่างนี้ เราจึงควรถือหลักนี้ไว้ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ชัดเจน ว่าเราทำอะไรเราได้ ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว จำง่ายๆ ทำดีเราก็ดีขึ้น ทำชั่วเราก็ชั่วขึ้น เช่นเราคิดดีใจเราก็ดี คิดชั่วใจเราก็เศร้าหมอง เช่นเราโกรธใคร ใจเราก็ร้อน เราเกลียดใคร ใจเราก็ร้อน เราทำอะไรไม่ดี ก็รู้ในใจของเรา มันเกิดขึ้นมีอยู่ในใจของเรา ไม่หนีไปไหน เราได้สิ่งนั้น และถ้าเราทำบ่อยๆในเรื่องใด เราได้สิ่งนั้นเพิ่มขึ้น โกรธบ่อยๆเราได้ความโกรธเพิ่มขึ้น เกลียดบ่อยๆเราได้ความเกลียดเพิ่มขึ้น เผลอเรอบ่อยๆเราก็ได้ความเผลอเรอเพิ่มขึ้น สิ่งใดไม่ดีเพิ่มขึ้น ทำให้ชีวิตตกต่ำ แต่สิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น ทำให้ชีวิตเป็นสุขชีวิตสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเพิ่มพูนแต่สิ่งที่ดีงาม พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ให้เราเพิ่มพูนความดี ให้เราทำบุญทุกวันทุกคืน ...... (36.59) หมายความว่า ให้ทำดีทั้งกลางวันกลางคืน ตื่นอยู่ด้วยความดีหลับก็ฝันดี ตื่นอยู่ด้วยความร้ายหลับก็ฝันร้าย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องระมัดระวังในสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน อยู่ในสังคม อยู่ในการงาน ต้องอบรมสติปัญญาไว้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไว้ ไม่ให้อันตรายมาจดจ้องชีวิตของเรา ระวังไว้บ่อยๆ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจไม่เรากระทำสิ่งนั้นอีกในภายหลัง นี่เป็นหลักการที่จะช่วยให้ชีวิตของเราดีงามขึ้น ตามวิธีการในทางพระพุทธศาสนา
อีกประการหนึ่งเรื่องที่อยากจะทำความเข้าใจ เพราะว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้ามีอยู่ในปัจจุบันนี้ คือเรื่องความงมงายบางสิ่งบางประการ ที่เราไปเชื่อด้วยความเข้าใจผิด ความงมงายที่ทำให้เราหลงไป เชื่อด้วยความหลงผิด แล้วเป็นเหตุให้เราเสียอะไรหลายอย่าง หลายประการ เช่นเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีเป็นตัวอย่าง เขาเรียกทรงเจ้า คนทรง คนทรงอ้างว่าวิญญาณผู้นั้น วิญญาณผู้นี้มาเข้าทรง คนที่ตายไปตั้งหลายร้อยปีแล้ว ยังเข้าทรงอยู่ได้ นี่เขาเรียกว่าเอาคนตายมาหากิน เอาคนตายเก่าๆแก่ๆมาหากิน คนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องวิญญาณ คนนั้นไม่ได้มาอะไรหรอก แต่ว่าเขาบอกว่าท่านผู้นั้นท่านผู้นี้เป็นการโกหกพกลมให้คนเชื่อ เพราะวิญญาณผู้นั้นหาได้เข้าทรงคนนั้นไม่ การเข้าทรงนั้นมันขึ้นเกิดจากอะไร เกิดจากบุคคลประเภทที่หนึ่ง ปัญญาอ่อน เพราะปัญญาอ่อนเข้าทรงง่าย หรือว่าไม่ใช่ปัญญาอ่อนแต่วางแผนที่จะต้มคน แล้วก็หัดเป็นคนทรง คือการเป็นคนทรงนี้มันต้องฝึก ฝึกในที่ๆไม่มีใครเห็น ฝึกที่จะเป็นคนทรง ในเรื่องนั้น ในเรื่องนี้ แล้วก็ฝึกบ่อยๆ จนชำนาญ พอนึกจะทำการทรงปุ๊บก็ทำได้ทันที เหมือนกับเราหัดชกมวย หัดว่ายน้ำ หัดกีฬาต่างๆ มันคล่อง พอคล่องแล้วก็ทำได้ เหมือนคนขับรถยนต์ พอคล่องแล้วมือถือพวงมาลัย เปลี่ยนเกียร์ เหยียบคลัทช์ ทำอะไรทำได้ทันท่วงทีด้วยความคล่องแคล่ว ทีนี้คนทรงก็เหมือนกัน เขาหัดแต่เราไม่รู้ แล้วก็บอกว่าวิญญาณนั้นวิญญาณนี้ วิญญาณหลวงพ่อพุฒฒาจารย์โตมาเข้าทรงไว้ วิญญาณหลวงพ่อทวดมาเข้าทรงไว้ วิญญาณพระนเรศวรมาเข้าทรงไว้ วิญญาณพระเจ้าตากสิน อะไรต่ออะไร ก็พวกแอบกินทั้งนั้น ไปอ้างสิ่งเหล่านั้น วิญญาณของที่คนชอบทั้งนั้น คนเชื่อทั้งนั้น วิญญาณของพวกโจรเสือทั้งหลายไม่ค่อยมาเข้าทรง ก็โจรใครจะไปเชื่อ เพราะฉะนั้นจะต้องเอาวิญญาณดีๆ อุตสาห์เชิญมาทรงได้
ความจริงเปล่า ทำท่า ดูคนทรงต้องเป็นคนทำท่าเก่ง ต้องทำท่าเป็นคนแก่ นั่งหลังโกง มักจะนั่งขัดสมาธิ ไม่มีคนทรงคนไหนนั่งพับเพียบเรียบร้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้ามาทรงน่าจะนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่ว่าเขาเห็นรูปถ่ายสมเด็จนั่งขัดสมาธิ เลยพอเข้าทรงนั่งขัดสมาธิทันที ทำท่าให้แก่หน่อย ทำเสียงเป็นคนแก่ ให้ทำเสียงอย่างนั้นจนเคยชิน แล้วก็พูดเรื่องอะไรต่ออะไรไปตามเรื่องตามราวที่คนเขาต้องการให้พูด ถูกบ้างผิดบ้าง แต่ว่าคนไม่ได้จดสถิติไว้ว่าผิดเท่าใด ถูกเท่าใด ส่วนมากไม่ค่อยได้เรื่องอะไร ทรงแล้วก็อย่างนั้นแหละ แต่ว่าคนก็ยึดถือเชื่อมั่นเอาในสิ่งนั้นว่าเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็เสียเงินเสียทองกันไปสุดแล้วแต่คนทรงจะต้องการ ทีนี้คนทรงนั้นก็กลายเป็นคนที่คนทั้งหลายนับถือ นับถือว่าเป็นคนต้มมนุษย์เก่งนะ ไม่ใช่นับถือเรื่องอะไร ฉลาดในการต้ม วิธีการดี คนก็คอยเชื่อ ทีนี้คนที่ไปหาคนทรงนั้นเป็นคนประเภทใด เป็นคนมีความทุกข์ไม่สบายใจ แรกก็มีความทุกข์ไม่รู้จะไปไหน รู้จักเพื่อนฝูงบางคน เพื่อนบอกว่ากลุ้มใจไปหาเจ้าหน่อย ไปถึงก็จุดธุปจุดเทียน เข้าแล้วเข้าทรงหรือยัง เข้าแล้ว จะถามอะไรก็ได้ จะถามเรื่องอะไร อาตมารู้จักคนที่ชอบไปหาคนทรง อยู่อย่างใดก็อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะช่วยให้ทำมาหากินดีขึ้น ไปหาแล้วก็อยู่อย่างนั้น ไม่เจริญไม่ก้าวหน้าอะไร เพราะว่าไปเชื่อสิ่งเหลวไหล เลยกระทำไปอย่างนั้น ว่ารู้แม่เจ้าพ่อเจ้าตั้งเยอะแยะ เพราะว่าสมัยนี้ไม่มีใครลงโทษคนทรง สมัยก่อนใครทรงเจ้าเข้าผีนี่ถูกจับเฆี่ยน เฆี่ยน 100 ที เฆี่ยนด้วยหวายนะ เฆี่ยนอย่างนี้เลย เฆี่ยน ๑๐๐ ทีเพราะฉะนั้นผีไม่กล้าเข้าทรงใคร เพราะเวลาถูกเฆี่ยนผีไม่เจ็บ คนทรงหลังลาย แล้ววันหลังใครทรงแล้วถูกเฆี่ยนเลยไม่มีใครกล้าทรง ทีนี้ในสมัยนี้คนทรงมาก ไปถามนั่นถามนี่ เจ้าพ่อว่าอย่างนั้น เจ้าพ่อว่าอย่างนี้ แล้วบางทีก็แจกขนมให้กินนิดหน่อย คนที่ไปหาไปกันใหญ่ เป็นอย่างนี้
ทีนี้เราเป็นพุทธบริษัท เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ไม่ควรจะไปหาผี ไม่ควรจะไปหาสำนักทรงเจ้าเข้าผีใดๆ สำนักทั้งหลายไม่คู่ควรกับพุทธบริษัท เพราะในวงการพระพุทธศาสนาไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนามีประการเดียวคือธรรมะ ศักดิ์สิทธิ์หมายความว่าเราเอามาปฏิบัติ ศักดิ์สิทธิ์หมายความว่ามีอำนาจที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการกระทำ พระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อเราทำ ไม่ใช่ว่าดลบัลดาลให้เราเป็นอย่างนั้น ให้เราเป็นอย่างนี้ ไม่ได้ แต่ว่าเราทำตามแล้วเกิดอำนาจขึ้นในการกระทำ เช่นว่าเราทำงานด้วยใจรัก ทำงานด้วยความขยัน ทำงานด้วยความเอาใจใส่ ทำงานด้วยความไตร่ตรองรอบคอบ เกิดอำนาจในตัวผู้นั้น ในการกระทำ การกระทำนั้นศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนั้นสำเร็จ พระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้สิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ เช่นท่านสอนว่าทั้งสองอย่างมีอุปการะมาก คือสติและสัมปชัญญะ สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว ระลึกได้ว่าเราจะทำอะไร จะนั่งจะเดินจะยืนจะยืดแขนจะพูดจะจามีสติ แล้วสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่กับสติ ไม่เกิดความผิดพลาด ไม่เกิดความเสียหายต่อผู้กระทำ เป็นความศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้
ทั้งสองอย่างพระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นการคุ้มครองสัตวรูปให้อยู่เป็นสุข หิริความละอายต่อบาป โอตปะความเกรงกลัวบาป ใครเป็นคนละอายต่อบาปก็ไม่ทำบาป คนเกรงกลัวบาปก็ไม่ทำบาป แล้วคนนั้นจะปลอดภัย จะอยู่เย็นเป็นสุข นี่ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ แต่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราไปบนบานสารกล่าวต่างๆนานานั้น ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร เรานึกเอาเอง เรา นึกว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ แล้วเราก็ไปแก้ไปตามเรื่องไปบนบานสารกล่าว การบนบานสารกล่าวคือฐานคอรัปชั่นในสังคมไทย คอรัปชั่นกระทั่งเสาหลักเมือง คอรัปชั่นกับพระพุทธรูปตามโบสถ์ตามวิหาร คอรัปชั่นตามศาลต่างๆ คือติดสินบนนะ ถ้าสำเร็จคราวนี้เอาหัวหมูมาถวายสามหัวนะ แต่ไม่มีใครพูดว่าถ้าไม่สำเร็จเผาศาลเลยนะ ถ้าอย่างนั้นได้เผากันบ่อย ถ้าไม่สำเร็จจะเผาศาลนะ ไม่มีพูดนะ ไม่กล้าพูดอย่างนั้นนะ แต่พูดว่าถวายหัวหมูสามหัวพอเสร็จแล้ว เอาหัวหมูมาถวายเจ้าเขาไม่ได้กินหัวหมูหรอก แต่เราไปกินกันเอง นี่เขาเรียกว่าทำไปโดยไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในหมู่พุทธบริษัทไม่ควรจะมีสิ่งเหล่านี้ เพราะพุทธบริษัทเป็นผู้รู้เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบานแจ่มใส แล้วก็ไม่บนบานอะไรอย่างนั้น แม้พระพุทธรูปก็เหมือนกัน เราไม่ไปไหว้เพราะศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้น แต่เราไปไหว้เพราะระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า แล้วก็นำพระคุณนั้นมาใส่ไว้ในใจของเรา ทำใจเราให้เหมือนกับพระพุทธเจ้าเป็น พระพุทธเจ้ามีความรักเพื่อนมนุษย์ เรารักเพื่อนมนุษย์ พระพุทธเจ้ามีปัญญา เราอยู่ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ เราก็พยายามทำจิตใจเราให้บริสุทธิ์ ทำอย่างนั้น ไม่ใช่ไปไหว้ขอหลวงพ่อช่วยดิฉัน ขอให้ถูกรางวัลที่หนึ่งสักที จะเอาช้างมาถวายสักตัว อย่างนั้นกี่ทีก็ไม่ได้ เอาไปถวายหลวงพ่อจนรกโบสถ์รกวิหาร เดี๋ยวนี้ถวายพวงมาลัยในบางแห่งพวงมาลัยรกไปหมด ถามว่าไม่เอาไปเผาบ้าง เขาบอกว่าเอาไว้อย่างนั้นคนจะได้เห็นว่าขลังดี ถ้าเรารู้กันอย่างนี้แล้ว เราไม่ควรจะไปทำอย่างนั้น เราควรจะดูตัวเรา แก้ไขตัวเรา ปรับปรุงตัวเรา ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาชีวิต สิ่งทั้งหลายก็จะดีขึ้น ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้ วันนี้ก็เรียกได้ว่าพูดกระท่อนกระแทน ญาติโยมข้างนอกได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง แต่ว่ามีบันทึกเทปไว้ไปถอดเทปวันอาทิตย์ต่อไปเอาไว้
วันนี้พูดมาก็สมควรแก่กาลเวลาขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อจากนี้ไปขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรงหลับตา ไม่พูด แล้วหายใจเข้าแรงๆลึก เพื่อจะกำหนดง่าย หายใจออกแรง หายใจเข้าออกแรงๆช่วยสุขภาพทางกายด้วย ทำให้สุขภาพดีขึ้น ว่างๆหายใจแรงๆเสียบ้าง แล้วเวลาหายใจก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกรู้ เป็นการฝึกจิต การหายใจแรงนั้นเป็นประโยชน์ทางสุขภาพร่างกาย การกำหนดรู้เป็นประโยชน์แก่สุขภาพทางจิตใจ ได้กำไร เรื่องเดียวได้กำไรสองอย่าง จะทำให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น กำหนดรู้ มันไปก็ดึงกลับมาให้กำหนดที่ลมเข้าลมออก คอยกำหนดรู้ไว้ เดี่ยวไปก็ดึงกลับมาให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก ให้ทำ ๕ นาที