แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ ถึงเวลาฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา …… (00.29 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นอาทิตย์แรกของเดือน อาทิตย์แรกของเดือนนี้ ญาติโยมอยู่บ้าน ก็ได้ฟังปาฐกถาธรรมะทางวิทยุตอนเช้าที่อาตมาแสดงแล้ว มาวัดก็ได้ฟัง แล้วก็ไปออกโทรทัศน์ด้วยเมื่อตะกี้นี้ ออกเสร็จแล้วก็กลับมา มาพูดที่นี่ต่อไป
เดือนตุลาคมนี้ เป็นเดือนที่ใครๆชอบเรียกกันว่าเป็นเดือนอาถรรพ์ คำว่าอาถรรพ์นั้นมันหมายถึงอะไร หมายถึงว่า มีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่นึกไม่ฝัน เกิดโดยไม่รู้แล้วมันเป็นขึ้น เขาเรียกว่าอาถรรพ์ อันนี้ที่พูดว่าเป็นเดือนอาถรรพ์นั้นก็เพราะว่า เคยมีการปฏิวัติในวันที่ ๑๔ ตุลาคม แล้วต่อมาก็มีอะไรๆในเดือนตุลาคม เลยเรียกว่าเป็นเดือนอาถรรพ์อย่างนั้น ไม่ควรจะพูดกันให้มันวุ่นวายว่าอาถรรพ์อย่างนั้น อาถรรพ์อย่างนี้ เป็นการช่วยกันปลุกระดมข่าวลือ ไม่ได้เรื่อง ทำให้เกิดปัญหา เราได้รับข่าวลือจากใครเหยียบมันไว้เสีย อย่าเอาไปพูดต่อ แต่ว่าคนเรามันอดไม่ค่อยได้กับข่าวลือ ในเรื่องที่มันอดไม่ได้นั้น มันเรื่องอะไรรู้ไหม เรื่องอยากดังนั่นเอง คนชอบพูดอะไรที่เป็นเรื่องลือๆนี่ เขาเรียกว่าคนอยากดัง อยากเด่น ดังเด่นในทางที่ว่า ฉันรู้ทั้งนั้นแหละ เรื่องอะไรๆ แล้วก็เลยไปเที่ยวระบายคนนั้นคนนี้ อันนี้คนที่เขาสร้างข่าวลือ เขารู้จิตวิทยา เขารู้ว่ามนุษย์นี้มันชอบอวด ก็เลยฝากอะไรไปให้เขาอวดเสียหน่อย แล้วเวลาจะพูดข่าวลือนี้ เขาไม่พูดให้ดัง แต่ว่าพูดให้คนนั้นได้ยิน แต่ก็ไม่พูดให้ดัง ทำซุบซิบซุบซิบ แต่ว่าให้ได้ยินนั่นเอง นั่นมันเป็นลูกไม้ ลูกไม้ของคนสร้างข่าว เพื่อให้คนที่ได้ยินนั้น ว่าเป็นเรื่องลับ ความจริงเขาต้องการให้เปิดเผย ไอ้เราก็ตกหลุมพรางเขา พอได้ยินใครซุบซิบอะไรแล้วก็คาบไปเที่ยวแจกคนนั้น แจกคนนี้เรื่อยไป หารู้ไม่ว่า ช่วยกันกระพือโหมไฟให้มันลุกไหม้ประเทศชาติบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเดือดร้อน ทำให้คนเสียขวัญ ทำให้คนอยู่กันไม่สงบ อย่างนี้มันไม่ได้เรื่อง
เพราะฉะนั้น อย่าไปสนใจในเรื่องข่าวอะไรต่างๆที่ใครเขาพูดซุบซิบ ทำไม่สนใจ แม้ได้ยินก็ให้รู้ว่า เขาแกล้งพูดเพื่อให้เราได้ยิน และเพื่อใช้ให้เราเป็นเครื่องมือเขา จะได้ไปกระจายข่าวต่อไปจากปากสู่ปาก แล้วเวลาพูด บางทีมักจะกำชับเสียด้วยว่า อย่าไปพูดไปนะเรื่องนี้ รู้แล้วปิดไว้ ยิ่งพูดอย่างนั้นแล้วยิ่งเหมือนกับยุให้พูด เพราะว่าคนเรานั้นเก็บความลับไม่ได้ อกมันจะแตกตาย ยิ่งรู้ว่าเป็นความลับแล้วมันคับอก จึงพูดว่า “ความลับคับอก” เพราะอะไร มันแน่นอยู่ข้างใน อยากจะระบายออก ไม่ได้ระบายแล้วมันไม่สบายใจ เขาเล่านิทานไว้ว่า พระราชาองค์หนึ่งในสมัยครั้งกระโน้น หูของท่านไม่เหมือนใคร คือหูมันคล้ายกับหูลา แล้วก็ปิดไว้บ่อยๆ ปิดไว้ไม่ให้ใครเห็น แต่ว่าช่างตัดผมนี่เห็น เห็นแล้วก็ไม่กล้าพูดกับใคร พระราชาสั่งว่า แกอย่าไปพูดกับใครนะว่าหูฉันเป็นหูลา ขืนพูดแล้วจะถูกประหารชีวิต ไอ้เจ้านั่น พอไปตัดผมแล้วมันแน่นอก อัดอึดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้พูดเรื่องนี้แล้วมันจะอยู่ไม่ได้แล้ว จะพูดกับคนก็ไม่ได้ จะพูดอะไรก็ไม่ได้ เพราะคนมันจะรู้ เลยต้องไปขุดหลุม ขุดหลุมให้ลึกลงไป แล้วเอาอะไรปิดไว้ข้างบน ลงไปนั่งในหลุม พอนั่งในหลุมแล้วก็พูดในหลุมว่า “พระราชามีหูเป็นลา พระราชามีหูเป็นลา” - แหม สบายใจ พอได้พูดแล้วใจสบาย คือว่าได้ระบายออก เหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจะพูดอะไรกับใครนี่ เราเฉยๆ อย่าไปพูดว่า อย่าไปเที่ยวเล่าใครนะ ถ้าบอกไม่ให้เล่าแล้วก็ต้องเล่า มนุษย์เรามันอย่างนั้น ชอบดื้อ เขาห้ามว่าอย่าเดินลัดสนาม นี่มันค้องเดิน
ทีนี้ถ้าไม่อยากให้ใครเดินลัดสนาม ก็เขียนบอกเสียใหม่ว่า “เชิญเดินลัดสนามได้ตามชอบใจ” แล้วคนมันจะไม่เดิน เพราะว่าคนเรามันชอบดื้อ เขาให้ทำอะไรนี่ไม่ชอบทำตาม เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องลือๆนี้ อย่าไปเอามาเป็นอารมณ์ ยุ่ง แล้วก็หมู่นี้ มีจดหมายอยู่ฉบับหนึ่ง ชอบมาบ่อย ส่งมาหาอาตมาบ่อย หลายคนส่ง พิมพ์ดีดเรียบร้อยส่งมา ไม่มีอะไร มีว่า ให้ท่านคัดจดหมายนี้สิบฉบับ ส่งไปให้คนที่ท่านรู้จัก ถ้าท่านไม่คัดส่งไป ท่านจะเดือดร้อน ยกตัวอย่างว่า (06.29 พลตรีศิริ สิริโยธิน) น่ะ ได้รับจดหมายนี้แล้วไม่ส่ง เลยตาย -ว่างั้น แล้วก็ยกคนว่า คนนั้นพอได้รับแล้วคัดส่งสิบฉบับ ถูกล็อดเดอรี่สองครั้ง ได้รางวัลเท่าไหร่ไม่บอกนะ อาจจะถูกหางเลขก็ได้ แล้วเป็นข้อความเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร อุตส่าห์ส่งมา อาตมาได้รับแล้วฉีกทิ้งไปหลายฉบับแล้ว ทีนี้ ญาติโยมอาจจะได้รับบ้าง ถ้าได้รับแล้วก็อ่านแล้วก็เฉยๆ อย่าไปนึกว่ามันจะให้ร้ายหรือมันจะให้ดีหรืออะไรเลย เราไม่ได้ดีขึ้นเพราะอ่านจดหมายนั้น ไม่ได้ชั่วพราะไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ดีขึ้นเพราะได้พิมพ์จดหมายนั้นส่งไปสิบฉบับ ให้เพื่อนโง่ต่อไปอีกสิบคน เราไม่ได้ดีขึ้นหรือไม่ได้อะไรเป็นพิเศษขึ้นมาจากไอ้จดหมายบ้าๆบอๆเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับแล้วก็เผามันเสียก็ได้ ทิ้งไปเสียก็ได้ เช็ดอะไรเสียก้ได้ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก อาตมาได้รับบ่อย หมู่นี้น่ะ ได้รับหลายฉบับแล้ว แล้วก้ได้อ่านแล้วก็นึก - โอ้ มันยังมีคนบ้าอยู่ในเมืองไทยอีกประเภทหนึ่งเหมือนกัน คือประเภทที่เชื่อไม่เข้าเรื่อง อุตส่าห์พิมพ์ดีด กระดาษพอใช้นะ ส่งมาแล้วก็บอกว่า ให้ส่งต่อไป แล้วเซ็นต์ชื่อพระเสียด้วยนะ ความจริงคงจะไม่ใช่พระ ถ้าเป็นพระก็เรียกว่าพระไม่เต็มบาทแล้ว ที่อุตส่าห์คัดแล้วส่งไม่เข้าเรื่อง ส่งมาน่ะ อันนี้มีอยู่ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องอาถรรพ์ประเภทหนึ่งเหมือนกัน เราอย่าไปสนใจ แล้วก็อย่าไปตกใจ รับแล้วก็เฉยๆ ไม่มีอะไรหรอก อะไรมันจะเกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดจากเราทำเอง ความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญ ความโง่ ความฉลาด อะไรทั้งหมดนั้น มันเกิดเพราะเราไปทำมันเข้า ทำเหตุอันใดเกิดผลอย่างนั้น สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นความจริง เราเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วสบาย ถ้าไปเชื่อคนนั้นคนนี้แล้วมันก็วุ่นวายเดือดร้อนนั่นละ ยิ่งไปเชื่อเจ้าแล้วยิ่งยุ่งกันใหญ่
เมื่อเช้านี้ก็ฟังข่าววิทยุตอนเช้า บอกว่าผู้หญิงคนหนึ่งแต่งงานอยู่กันมาดีหรอก แล้วก็ไปหาเจ้าที่เขาเข้าทรง ไปหาผีนั่นเอง พวกไปหาเจ้านี่คือไปหาผี ไปหาผีมันก็เป็นลูกศิษย์ผี แล้วเราก็จะกลายเป็นผีไปสักวันหนึ่ง อันนี้ก็ เจ้าบอกว่า ไอ้ดวงชะตาของเจ้า มันต้องมีผัวหลายคนถึงจะดี – ว่าอย่างนั้น ไอ้นั่นเชื่อเจ้า มีผัวอยู่แล้วก็ไปเที่ยวริหาชู้มาหลายคน เที่ยวทำชู้คนนั้น ทำชู้คนนี้ ล้วนแต่เป็นเพื่อนของสามีทั้งนั้น อันนี้ต่อมาก็ชู้คนหนึ่งมันเกิดขัดใจขึ้นมา เพราะว่าชู้คนหนึ่งมาในบ้านได้ มากินเหล้ากับสามีได้ คุยกับภรรยาเขาก็ได้ ไอ้ตัวเข้ามาไม่ได้ ก็เลยรังเกียจ โกรธ แล้วก็เอาปืนไปยิงสามีตาย ภรรยาตาย แล้วไอ้ชู้คนนั้นก็ตาย ตายไปถึงสามราย ทิ้งลูกให้ลำบากเดือดร้อนนะ นี่ตายเพราะอะไร เพราะความโง่ ไม่ใช่เรื่องอะไรโง่ โง่เพราะไปหาเจ้า สำนักเจ้าทั้งหลายเป็นสำนักประกาศความโง่ ความเขลาทั้งนั้น ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า อย่าเดินเฉียดเข้าไปเป็นอันขาด ถ้าใครชวนให้ไป บอกว่า “ฉันมันเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ฉันไม่ไปหาความโง่นอกทางของพระพุทธศาสนา” - บอกว่าอย่างนั้น ถ้าว่าบอกให้มากไปว่า ท่านเจ้าคุณปัญญาฯแกสั่งไว้ด้วยละก็ไม่เป็นไร พวกนั้นมันจะ - อ้อ นี่ลูกศิษย์ท่านปัญญาฯ อย่าไปแหยมต่อไป เพราะว่าเป็นคนฉลาด ไม่ใช่คนโง่ อันนี้ ถ้าเราไปหาพวกเจ้าพวกผีทั้งหลายก็โง่ ไปหาพวกหมอดูก็โง่ ไปทำอะไรโง่ๆ มันโง่ทั้งนั้นละ ไม่ได้เรื่องอะไร เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไม่ไปอย่างนั้น มันไม่เกิดความเสียหาย มีโยมคนหนึ่ง เป็นอุบาสิกาเหมือนกันนี่ละ เสียเงินหมดไปล้านนึง เพราะพวกเจ้าอีกแหละ พระพรหม นี่เชื่อพระพรหม พระพรหมนี่เขามีตึกใหญ่อยู่ในทุ่งตรงโน้น ใกล้โรงเรียนสตรีปัญญาวิทยา ๒ ตึกใหญ่
พระพรหม เรียกว่าทรงเจ้าเข้าผีจนเป็นหลักเป็นฐาน อันนี้ก็ไปเป็นสมาชิกกับเขา ไปเป็นสมาชิกความโง่กับเขาหน่อย อยู่ดีไม่ดี วันหนึ่งพระพรหมเข้าทรงบอกว่า ที่บ้านเพมีน้ำมัน - หนอย ไอ้เขาเจาะกันอยู่จะตาย ยังไม่เจอน้ำมันแถวนั้น ไอ้พระพรหมมาพูดว่ามีน้ำมัน(หัวเราะ) เลยก็ ใครจะเข้าหุ้นบ้าง เพื่อจะไปเอาน้ำมันที่บ้านเพ โง่จริงๆ (เสียงสูง)โง่ไม่สมกับเป็นคนอยู่กรุงเทพเลย เกิดกรุงเทพนะ เจริญในกรุงเทพ แต่มันยังโง่นัก เลยไปเข้าหุ้นกับเขาล้านนึง ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานให้เขาล้านนึงให้กับคนที่ทรงพระพรหมล้านนึงเพื่อจะเอาไปขุดน้ำมัน สองเดือนผ่านไป สามเดือนผ่านไป ปีหนึ่งผ่านไป น้ำมันก็ยิ่งแพงขึ้นทุกวันทุกเวลา ไม่เห็นได้ไปเจาะที่บ้านเพสักที ร้อนใจ ไม่รู้จะไปไหนแล้ว เลยมาวัดชลประทานฯ มาเล่าให้ฟัง อาตมาเลยบอกว่า ก็สมแล้ว เรามันโง่นี่ อาตมาว่าอย่างนั้นนะ สมน้ำหน้าแล้วละที่โง่นะ อยู่ถนนงามวงศ์วานแค่นี้ วัดชลประทานฯเขาเปิดหูเปิดตา ไม่มา ดันไปหาพระพรหมที่อยู่ไกลจากบ้านตั้งมากมายก่ายกอง มันก็สมน้ำหน้าละที่พระพรหมแกต้มเอาอย่างนี้ ดีแล้วละ - เอ จะทำอย่างไรจะได้ต้นทุนคืนเล่า จะเอาอะไร ก็ไม่มีหลักฐานอะไร เราให้เขาไปเฉยๆ ให้ไปเพราะความโง่ความหลง มันไม่ได้คืนแล้ว นึกว่าเสียสละไปเสียก็แล้วกัน ตรวจน้ำไปเสียก็แล้วกัน
นี่ ความโง่ของมนุษย์ มันเป็นอย่างนี้ละ ทีนี้เอามาเล่าให้ฟังไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ จะได้รู้ว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้ มันไม่ได้เรื่อง เราอย่าไปเที่ยวบนบานศาลกล่าว ไหว้เจ้าไหว้ผี หรือไปให้คนเจ้าเข้าทรงอะไรต่ออะไร เช่นบางคน ครอบครัวเสียสมาชิกไป แล้วก็ไปทรงเจ้า มันขี้หกทั้งนั้นละ ไอ้มันโกหกแบบนั้นมันง่ายเพราะไม่มีใครพิสูจน์ ถ้าโกหกว่าไปเกิดบางรักนี่จะไปพิสูจน์ง่ายเพราะมันอยู่ใกล้ แต่บอก – อู๊ย (เสียงสูง) ไปอยู่สวรรค์ชั้นนั้น(เสียงสูง) จะไปพิสูจน์อย่างไร เราเอาเครื่องบินจรวดไปได้เมื่อไหร่เล่า สวรรค์ชั้นนั้น มันก็ต้องเชื่อไปตามเขาว่า อย่าไปยุ่งอย่างนั้น ตายแล้วก็แล้วไป เรา (13.18 ควร) ทำบุญสุนทานไปตามเรื่อง ประพฤติดีประพฤติชอบไปตามหลักศาสนา อย่าไปเที่ยวหาพวกทรงเจ้าเข้าผี แต่ว่าบางทีไอ้พวกทรงเจ้ามันก็จะมาหาเหมือนกันนะ จะมาต้มนะ ไม่ใช่เรื่องอะไร (หัวเราะ) ถ้าเขามา บอกว่า “ไม่ต้องหรอกค่ะ ดิฉันไม่กังวลอะไร เรื่องธรรมชาติ คนมันเกิดมาแล้วก็ตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครหนีความตายหรอก คุณของดิฉันไม่ไปนรกแน่ เพราะว่าทำแต่ความงามความดี ไม่ต้องดูก็รู้ว่าไปเกิดสวรรค์ ถ้าว่าไปมีสวรรค์จริงๆ” เราก็สบายใจ ไม่ต้องไปเป็นเหยื่อของไอ้พวกเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด ในเดือนตุลาคมนี่ นึกได้ก็เอามาเล่าให้ญาติโยมฟังเอาไว้หน่อย เพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจเอาไว้
ทีนี้ เมื่อเช้านี้ไปพูดโทรทัศน์ ญาติโยมอาจจะไม่ได้ยินได้ฟัง ก็อยากจะเอามาเล่าให้ฟังเสียหน่อยว่าเทศน์เรื่องอะไร มันเกี่ยวกับเรื่องอบายมุขนี่เหมือนกัน แต่ว่าค่อยลงท้าย จะเล่าเรื่องให้ฟังเสียก่อน คือว่าเล่าเรื่องชาดกทางโทรทัศน์เมื่อเช้า เรื่องชาดกนี่เป็นเรื่องนิทานประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือในศาสนาเกือบทุกศาสนามักจะมีเรื่อง เรียกว่าเป็นสัจจะที่เป็นความจริงล้วนๆ แล้วก็มีนิทาน มีพิธีการ มีอยู่ในทุกศาสนา มากหรือน้อย พระพุทธศาสนาเรานั้นมีสัจธรรม เช่นเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องสามัญลักษณะ เรื่องนิพพาน อะไรอย่างนี้ เขาเรียกว่าสัจธรรม เป็นของสูงสุดในพระพุทธศาสนา แล้วก็มีเรื่องเกี่ยวกับนิทานประเภทต่างๆ เรียกว่าชาดก ชาดกในพระพุทธศาสนานี้ มีตั้งห้าร้อยเรื่อง ไม่ใช่น้อย แล้วก็ยังมีแถมอีกห้าสิบเรื่อง ห้าสิบเรื่องนี้แถมขึ้นในเมืองไทย พระมหาเถระในเมืองไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะภาคเหนือ
การศึกษาภาษาบาลีนับว่าก้าวหน้ามาก ก้าวหน้าจนสร้างคัมภีร์เป็นบาลีได้ เช่นพระสิริมังคลาจารย์นี้ ท่านเขียนคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ เป็นภาษาบาลี เล่มขนาดอย่างนี้ ไม่ใช่เล่มเล็ก และเขียนแล้วท่านอ้างคัมภีร์มากจริงๆ มีอยู่ในที่นั่น สูตรนั้นๆ แสดงว่าท่านอ่านหนังสือหมดทุกคัมภีร์ที่มีอยู่ในสมัยนั้น เอามาเขียนไว้ เป็นหนังสือชั้นยอดของเมืองไทยเล่มหนึ่ง อันนี้ มีพระอาจารย์อีกองค์หนึ่ง เขาบอกว่า อยู่ที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ท่านเขียนปัญญาสชาดก คือชาดกห้าสิบเรื่อง ชาดกห้าสิบเรื่องนี้ ถ้าอ่านดูแล้วมันก็คล้ายนิทานพื้นเมืองของไทยเรา เช่นนิทานเรื่องวรนุชวรเนตร เรื่องศูทรน้อย (16.24 เสียงไม่ชัดเจน) รามเดือนงาม …… อะไรอย่างนั้น เขียนเป็นภาษาบาลีทั้งหมด แล้วเอาไปใส่พระโอษฐ์พระพุทธเจ้าว่า พระองค์ตรัสที่นั่นที่นี่ คนสมัยก่อนก็เชื่อกันไป แต่สมัยนี้อาจจะไม่เชื่อ เรื่องห้าสิบเรื่องนี้ ถ้าไปถึงเมืองพม่าเขาไม่เอา เขาบอกว่านี่นอกคัมภีร์ ในคัมภีร์มีเพียงห้าร้อย (16.48 ห้าสิบ) เรื่องเท่านั้น บรรดานิทานที่มีอยู่นั้น ถ้าเราจะอ่านให้ละเอียด เรื่องยืดยาว ต้องไปอ่านที่เขาเรียกว่า อรรถกถา ชาตถกถาคือคำอธิบายเรื่องชาดก เพราะในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นพูดแค่สั้นๆ เพื่อให้คนจำง่าย แต่ในอรรถกถาอธิบายไว้ยาว เล่าเรื่องไว้ทั้งหมดว่า เป็นมาอย่างไร ให้คนได้อ่านได้ศึกษา
ในเรื่องนิทานชาดกนั้นมีคติธรรม มีเครื่องเตือนใจมากมาย ถ้าเราอ่านให้ละเอียดแล้วเอามาเป็นเครื่องมืออบรมคน ก็ได้ประโยชน์มากเหมือนกัน และนิทานทุกเรื่อง สอนให้คนมีความกตัญญูบ้าง มีความเพียร มีความอดทน มีความเสียสละ มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว อยู่ในบารมีสิบประการ ไม่ขาดตกบกพร่อง มีอยู่ในเรื่องนั้นๆ ก็เป็นเรื่องน่าศึกษาเหมือนกัน แต่ว่าหนังสือประเภทนี้ไม่ค่อยจะแพร่หลาย เริ่มพิมพ์ขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือในสมัยนั้น พระองค์เจ้าองค์หนึ่งสิ่นพระชมน์ แล้วก็จะถวายพระเพลิงที่วัดเทพศิรินทร์ฯ ในหลวงท่านทรงพระดำริว่า คนไปในงานถวายพระเพลิงนี้ น่าจะมีอะไรแจกเขาสักอย่าง ก่อนนี้ไม่มีอะไรแจก ท่านดำริว่าควรจะมีของแจก แล้วก็มาปรึกษากับพระมหาสมณเจ้า ซึ่งเป็นน้องของท่าน ปรารภเรื่องนี้ขึ้น พระมหาสมณเจ้าท่านก็บอกว่า จะแปลหนังสือให้สักสิบเรื่อง เอาไปพิมพ์แจก แล้วก็เลยพิมพ์หนังสือนั้นขึ้น คือเรื่องชาดกนั่นเอง พิมพ์เรื่องสั้นๆสิบเรื่อง แจกในงานพระศพ การพิมพ์หนังสือแจกงานศพเกิดขึ้นในสมัยนั้น แล้วก็สืบต่อกันมาจนสมัยนี้
สมัยนี้มีงานศพก็พิมพ์หนังสือแจก เป็นเรื่องดีมาก เพราะช่วยกันเผยแผ่วิทยาทานให้คนได้อ่านได้ศึกษา สมัยก่อนนี้ เมื่อในหลวงท่านทรงพิมพ์เรื่องชาดกสิบเรื่อง ต่อมา พวกขุนนางสิ้นบุญไป พ่อค้าวาณิชสิ้นบุญไป เขาก็ไปที่หอสมุดแห่งชาติ ไปหากรมพระยาดำรงฯ บอกว่าอยากจะได้หนังสือเรื่องชาดกนี้ พิมพ์แจกต่อไป ก็เลยพิมพ์กันในงานศพเรื่อยๆมาจนครบห้าร้อยเรื่อง งานศพหนึ่งพิมพ์สิบเรื่องบ้าง สิบห้าเรื่องบ้าง สุดแล้วแต่ทุนมากทุนน้อย หนังสือนั้นก็เลยครบชุดขึ้นในประเทศไทย มีครบชุดแต่ก็ยังหาอ่านยากเพราะว่า ไม่มีในที่ทั่วไป มีอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ คนอ่านก็ต้องไปค้นคว้าที่นั่น แต่ก็ยังอ่านยากอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเขาแปลแบบให้นักปราชญ์อ่าน ถ้าจะทำอีกทีหนึ่ง ต้องเอามาเรียงใหม่ให้อ่านง่ายๆ หลวงวิจิตรวาทการเคยเรียบเรียงเป็นตัวอย่าง เรื่อง (20.08 สุตสูน … ชาดก) ที่สมเด็จพระวัดมหาธาตุ สมเด็จเขมจารีท่านแปลไว้ หลวงวิจิตรฯแกอ่านแล้วแกบอกว่า สมเด็จท่านแปลให้ผู้รู้อ่าน คนธรรมดาอ่านยังไม่ดี ท่านก็เลยเขียนใหม่เป็นเรื่องน่าอ่าน เป็นตัวอย่างว่าควรจะเขียนอย่างนี้ ก็เลยมีคนเขียนขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่มากนัก ในหนังสือเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องดีๆ น่าจะเอามาสอนคนเหมือนกันในบางโอกาสบางสมัย เมื่อเช้านี้ก็เลยพูดทางโทรทัศน์ ออกไปเรื่องหนึ่ง
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว - ชาดกมันต้องขึ้นต้นอย่างนี้ คำบาลีว่า (20.54 “อตีเตกีนะ พาราณสียัง รัชชังกาเรนเต”) บอกว่า ในสมัยอดีตกาลนานมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ครองเมืองนั้นขึ้นมา แล้วก็ว่าเรื่องไปตามลำดับเรื่อยไป เมื่อเช้านี้ก็ว่า นานมาแล้วเหมือนกัน มีพระนครหนึ่งชื่อว่า หัสดีปุระ อยู่ในประเทศอินเดีย อย่าว่าอยู่ที่ไหน เพราะว่าเป็นนิทานชาดก ก็เกิดที่นั่น ในสมัยกาลครั้งกระนู้น ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ในเมืองนี้มีพระราชาครอบครองเมืองมาโดยลำดับหลายชั่วกษัตริย์ พระราชาทุกพระองค์นั้นทรงทศพิธราชธรรม เขามักจะใส่ไว้อย่างนั้น ว่าพระเจ้าแผ่นดินนี่มีทศพิธราชธรรม คือธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสิบประการ ถ้าเราไปศึกษาทศพิธราชธรรมแล้วจะเห็นว่า การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะต้องอาศัยธรรมะสิบข้อเป็นรั้วกั้นไว้ตลอดเวลา จึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินสมบูรณ์ ในหลวงของเราปัจจุบันนี้ ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมสมบูรณ์ ถ้าเอาธรรมะนั้นมาส่องดูในหลวงแล้ว ไม่มีบกพร่องเลย สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกประการ พระราชาในหัสดีปุระก็เป็นอย่างนั้น ทรงประพฤติธรรม สืบเชื้อสายกษัตริย์มาโดยลำดับเป็นเวลาเป็นร้อยๆปี ก็มาถึงในสมัยกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ารัตนธัชชะ (22.34) รัตนะแปลว่าแก้ว ธัชชะแปลว่าธง แปลว่ามีธงชัยเป็นแก้ว ธงในที่นี้หมายถึงคุณงามความดี รัตนะก็หมายถึงคุณงามความดี ชื่อพระองค์จึงชื่อว่า รัตนธัชชะ เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม รักประชาชนเหมือนพ่อรักลูก สนพระทัยในการดูแลสุขทุกข์ของประชาชน
พระองค์ชอบเสด็จออกจากพระราชฐาน ปลอมพระองค์ไปเที่ยวสืบสุขทุกข์ของประชาชนในยามค่ำคืน พร้อมด้วยอำมาตย์คนสนิท ออกไปดูว่าประชาชนเขาคุยเรื่องอะไรกัน คนเราเวลากินข้าวเสร็จ ตอนเย็นมักจะคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยากจะไปสืบดูว่า เขาคุยกันเรื่องพระองค์อย่างไรบ้าง ก็ได้รับแต่คำสรรเสริญเยินยอ ไม่มีใครติว่าพระองค์ว่าบกพร่องอะไร ก็เที่ยวอยู่ในบ้านในเมืองมาก็นานแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรบกพร่อง ก็เลยเสด็จออกไปจากเมืองหลวง ไปดูในชนบท ว่าประชาชนในชนบทเขาเป็นอยู่กันอย่างไร มีอะไรควรจะช่วยเหลือให้เขาได้เป็นอยู่ดีขึ้น ก็เสด็จไปที่นั่น ไปที่นี่ ดูแลประชาชนบ้าง สนทนากับชาวบ้าน คล้ายกับในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่เสด็จประพาสต้นนั่นเอง
การประพาสต้นของในหลวงรัชกาลที่ ๕ นี้ก็คงจะเอาอย่างโบราณ โบราณเขาทำ ท่านก็ทำ เสด็จไปทางเรือ ปลอมพระองค์ไป สมัยก่อนมันไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีการถ่ายรูปในหลวงลงหนังสือพิมพ์ ไม่มีโทรทัศน์ออกข่าวในหลวง ประชาชาชนไม่รู้ ในหลวงท่านก็เสด็จไปบ้านนั้นบ้านนี้ ขึ้นไปนั่งคุยกับเจ้าของบ้าน เข้าไปในครัวเขา เขากำลังหุงหาอาหารอยู่ กรมหลวงสรรพประศาสน์ (24.40) เข้าไปชิมน้ำแกงเขาด้วยกระจ่า เจ้าของบ้านบอกว่า - โอ๊ยไม่ได้ (เสียงสูง) อย่างนั้นไม่ได้ เอากระจ่าตักน้ำแกงชิมไม่ได้ ท่านว่าไม่เป็นไรหรอก นิดหน่อย ของร้อนๆไม่มีเชื้อโรค – ว่าอย่างนั้น แล้วก็คุยกัน เวลาเสวยพระกระยาหาร ก็มารับเสวยกับเจ้าของบ้าน ไอ้เจ้าของบ้านกินไปดูไป กินไปดูไป - เอ หน้านี้มันคล้ายกับใครหนา เหมือนกับว่าเคยเห็นอย่างนี้ละนะ ดูไปดูมา ไอ้เจ้าลูกชายมันไปเอารูปมา รูปในหลวงที่เขาใส่กรอบไว้ ยกมาเทียบ (25.13) ดู - เอ๊ หน้าเหมือนคนนี้เลย (หัวเราะ) หน้าเหมือนเลยนี่ หน้าเหมือนเลยนี่ท่านนี่ หน้าเหมือนคนนี้ จึงได้รู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าของบ้านก็ปลื้มปิติ ได้รับเงินรางวัลเป็นของขวัญ หนึ่งชั่งบ้างสองชั่งบ้างตามฐานะ บางรายก็ให้มาเฝ้าจนถึงในวัง
เช่นที่อยุธยานี่ บ้านนายช้าง นายช้างนี่เป็นเพื่อนสนิทในหลวง เพื่อนต้น ให้มาเฝ้าถึงในวังกรุงเทพฯ แต่ไม่ให้เฝ้าในวังหลังใหญ่ ไปเฝ้าที่เรือนอีกหลังหนึ่งเรียกว่าเรือนต้น ไปต้อนรับที่นั่น เลี้ยงดูปูเสื่อกัน นายช้างอยากจะมีปืนสักกระบอกหนึ่ง เผื่อไว้ป้องกันตัว ทรงซื้อปืนลูกซองให้ แล้วบอกว่าลูกชายอยู่วัดเบญจฯ เรียนหนังสือเป็นพระอยู่ ในหลวงก็ไปอุปถัมภ์ ในฐานะเป็นลูกเพื่อน อย่างนี้เขาเรียกว่า ประพาสต้น ไปในหลายที่หลายแห่ง เป็นการออกไปเพื่อดูประชาชนว่ามีความสุขทุกข์อย่างไร พระเจ้ารัตนธัชชะท่านก็ทรงทำอย่างนั้น เสด็จไปในชนบท ไปในชนบทยังไม่พอ นู่นแน่ะ เสด็จขึ้นไปบนภูเขา เพราะว่าบนภูเขาก็มีคนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นคนที่ใช้ภาษาต่างจากคนในเมือง มีความเป็นอยู่ก็ไม่เหมือนกับคนในเมือง พระองค์ก็ขึ้นไปทำความคุ้นเคยกับคนเหล่านั้น รู้ว่าคนเหล่านั้นทำอะไร เขาต้องถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยเป็นการทำลายป่า ทำลายต้นน้ำลำธาร ต้องหาทางแก้ไข ก็ทรงแก้ไขให้คนเหล่านั้นได้ทำอย่างอื่น ไม่ทำอย่างนั้น อันนี้เป็นจริยวัตรของพระเจ้ารัตนธัชชะในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของพระราชาในทางดีเหมือนกัน จึงเป็นที่รักที่พอใจของประชาชนทุกถ้วนหน้า
พระราชารัตนธัชชะมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว แต่มีพระธิดาหลายองค์ พระองค์ก็มีความเห็นว่า พระโอรสนี่ต้องมีการศึกษาเพื่อเป็นพระราชาต่อไป จึงได้ส่งไปศึกษาในสำนักตักศิลา สำนักตักศิลานี่เขาเรียกว่าเป็นอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ในสมัยนั้นนะ ใครๆก็ไปเรียน ทั้งลูกเศรษฐี ลูกพระราชามหากษัตริย์ ไปเรียนที่ตักศิลาทั้งนั้น แล้วก็ไปอยู่กินนอน เป็นสำนักเรียนกินนอน ลูกศิษย์ต้องปฏิบัติอาจารย์ ต้องทำงาน ตั้งแต่ปลูกผักหักฟืน ทำกินทุกอย่างที่ในสำนักนั้น ไม่เลือกว่าเป็นเจ้า (29.12 ข้า) เป็นไพร่ ทุกคนเหมือนกัน มีสมภาพคือความเป็นอยู่เป็นอันเดียวกันในสำนักของอาจารย์ตักศิลา แล้วใครจะเรียนอะไรก็ได้ตามชอบใจ เหมือนกับพระอภัยมณีศรีสุวรรณในเรื่องพระอภัยฯ ท่านก็ไปเรียนสำนักอย่างนั้น แต่ว่าไม่ชอบเรียนอะไร ชอบไปเรียนเป่าปี่ ตีกระบอง กลับมาพ่อถามว่า - เออ เจ้าไปเรียนอะไรมา พระอภัยฯบอกว่า เรียนเป่าปี่ ไอ้น้องชาย ศรีสุวรรณบอกว่า เรียนตีกระบอง โกรธเลย บอกว่า ฉิบหายแล้ว ลูกชายทั้งสองไปเรียนอะไรมา ไปเรียนอันนี้มันไม่ใช่วิชชาเจ้าแผ่นดิน ไปเรียนตีกระบอง ไปเรียนเป่าปี่ เป็นวิชชาชาวบ้าน ขับไล่ออกจากเมือง เลยเรื่องไปกันใหญ่จนไปพบนางผีเสื้อ กลายเป็นเรื่องยาวของสุนทรภู่ไป นี่แน่ะ เขาเรียกว่าไปศึกษาสมัยนั้น
อันนี้เจ้าชายโอรสของพระเจ้ารัตนธัชชะนี่ก็ไม่เรียนเรื่องอะไร แต่ว่า (30.20 ชอบเรียน) ทหาร เพราะนึกว่าเราจะเป็นกษัตริย์ มันต้องเป็นทหาร ต้องเป็นนักรบ เพราะกษัตริย์นี่มันเป็นนักรบ คนในอินเดียเขามีวรรณะสี่ คือมีกษัตริย์ มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร กษัตริย์เป็นนักรบ พราหมณ์เป็นนักศึกษา สอนวิชชาการ พวกแพศย์เป็นพ่อค้า พวกศูทรเป็นกรรมกร โบราณนั้นเขาแบ่งงานกันทำ จัดไว้อย่างนั้น แต่ในสมัยต่อมาภายหลัง กิเลสมันเกิด เลยกลายเป็นแยกพวกแยกหมู่ เวลานี้ ประเทศอินเดียวุ่นวายกับเรื่องถือวรรณะนี้มากอยู่เหมือนกัน ในหมู่ของพวกที่ไปเรียนนั้น ไม่มีวรรณะ ทุกคนเท่าเทียมกัน กินอยู่ด้วยกัน เจ้าชายก็เลยเรียนวิชชาฝ่ายนักรบ เรียนฟันดาบ เรียนชกมวย เรียนขี่ม้า อ่านตำราพิชัยสงคราม เรื่องเกี่ยวกับทหารทั้งนั้น ไม่เรียนเรื่องอะไรอื่นเลย จนกระทั่งจบการศึกษาในสำนักตักศิลา เลยเข้าไปลาอาจารย์เพื่อจะกลับเมือง อาจารย์ก็บอกว่า อย่างเธอนี่เป็นลูกกษัตริย์ เมื่อกลับไปบ้านไปเมืองแล้วต้องอยู่ในศีลในธรรม จงประพฤติดีประพฤติชอบ รักใคร่ประชาชน เอ็นดูประชาราษฎร์ ปกครองบ้านเมืองให้เป็นสุขในเมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป เจ้าชายก็รับใส่เกล้าเกศา ลาอาจารย์กลับเมือง
เมื่อมาถึงเมือง ประชาชนก็ยินดีปรีดาปราโมทย์ว่า เจ้าชายของเราจบการศึกษาแล้ว จะได้มาอยู่ในบ้านเมือง จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อสมเด็จพ่อสวรรคตต่อไป ก็เลยมีการฉลองสนุกสนานกันเป็นเวลาสามวัน เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าชายเพราะสำเร็จการศึกษา
ต่อมาก็เป็นธรรมดาพ่อแม่ พ่อแม่มีลูกก็ทำหน้าที่ต่อลูกหลายประการคือ ห้ามลูกไม่ให้กระทำความชั่ว แนะนำลูกให้กระทำความดี ให้ลูกมีการศึกษาวิชชาการ จบการศึกษาแล้วหาคู่ครองที่สมควรให้ มอบทรัพย์สมบัติให้ไปตั้งเนื้อตั้งตัว ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ของพ่อแม่ พระเจ้ารัตนธัชชะก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของพ่อที่ดี พระมเหสีก็เป็นแม่ที่ดีของลูก เมื่อลูกจบการศึกษาแล้วก็เห็นว่าควรจะแต่งงาน เพื่อจะได้สืบเชื้อสายวงศ์สกุลต่อไป
ในการแต่งงานนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าคนแต่งงานกับเจ้าชายนั้น ต้องเป็นพระราชินีต่อไปในกาลข้างหน้า ก็ต้องเลือกเฟ้นจากสกุลที่เรียกว่าเจริญด้วยคุณธรรม สืบเชื้อสายกันมาโดยลำดับ คนโบราณเขาเรียกว่า “อุภโตสุชาต” (32.23) อุภโตสุชาตแปลว่าเกิดดีทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายพ่อก็ดี ฝ่ายแม่ก็ดี เมื่อมีลูกมาก็เรียกว่า กุภโตสุชาต (33.45) คือเกิดจากคนดีทั้งสองคน ก็มีหวังว่าจะได้เป็นคนดีต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อจะหาผู้หญิงมาเป็นลูกสะใภ้หลวงก็ต้องพิจารณา คนสมัยก่อนนี้ เขาก็ต้องส่งพวกมีความรู้ เขาเรียกว่าพวกพราหมณ์ มีความรู้ในลักษณะสตรี มีความรู้อะไรหลายอย่าง ไปเที่ยวสืบเสาะดูว่า เจ้าหญิงในนครใดที่เป็นพันธมิตรกัน มีลักษณะอุดมสมบูรณ์ ถ้าพูดสมัยนี้ก็เรียกว่าดูโหงวเฮ้งกันว่ามีลักษณะดี ว่าอย่างนั้น ให้ไปดู พวกพราหมณ์แปดคนก็ไปเที่ยวดูเมืองนั้น ดูเมืองนี้ ดูๆก็ไปเจอเจ้าหญิงเข้า
ในหนังสือบอกว่าเจ้าหญิงนั้นรูปสวย พระพักตร์ดังดวงจันทร์ เวลาแย้มพระโอษฐ์ก็เห็นไรฟันเหมือนกับเอามุกอย่างดีไปวางไว้ในปาก ผิวหนังสะอาดเรียบร้อย มรรยาทในการเดินก็เรียบร้อย นั่งก็เรียบร้อย จะเอื้อนโอษฐ์พูดจาอะไรก็เรียบร้อย เขาไปดูละเอียดถึงขนาดนั้น ไม่เห็นฟันก็หาเรื่องให้ยิ้มให้เห็นฟันจนได้ แล้วจะได้ดูว่าฟันเป็นอย่างไร ฟันเขยินฟันเก จะเอามาเป็นสะใภ้หลวงก็ไม่ได้ ยิ้มไม่สวย ก็ต้องเลือกอย่างดี เห็นว่าเหมาะแล้ว ที่จะให้เป็นเจ้าหญิงลูกสะใภ้หลวงในราชสำนักหัสสดีปุระต่อไป ก็เลยมากราบทูลพระราชา พระราชาก็ส่งทูตไปเจรจาขอหมั้น ทำการสู่ขอเรียบร้อยตกลงกัน เรื่องมันไม่ยากหรอก เจ้าแผ่นดินต่อเจ้าแผ่นดินพูดกันง่าย ก็ได้เจ้าหญิงโฉมงามรูปนั้นมาเป็นลูกสะใภ้ มีการแต่งงานกันในเมืองหัสสดีปุระ เจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายก็มาประชุมพร้อมกัน ประชาชนก็มีความปลื้มอกปลื้มใจกันทั่วพระนคร มีการฉลองเต้นรำระบำฟ้อนกันเป็นการใหญ่ ทำพิธีแต่งงานสำเร็จเสร็จสรรพแล้ว เจ้าหญิงเจ้าชายทั้งสองที่แต่งงานกันก็จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าหน้าพระลานหลวง ประชาชนก็แห่แหนกันไปเฝ้า ไปกันตั้งแต่เช้า เอาเสื่อไปปูไว้ จองที่นั่ง เอาข้าวไปกินที่นั่นกันเลย เจ้าฟ้าหญิงเจ้าฟ้าชายจะเสด็จออกให้เห็นเวลาเย็น ไปนั่งอยู่ตั้งแต่เช้าด้วยความจงรักภักดี ด้วยความเคารพในองค์พระมหากษัตริย์ของเขาในสมัยนั้น ก็ไปนั่งเฝ้าคอแหงนอยู่ พอได้เวลา เจ้าชายเจ้าหญิงก็เสด็จออก ประชาชนก็ไชโยโห่ร้องถวายพระพรเสียงอึงมี่ ขอให้ทั้งสองพระองค์ ทรงพระเจริญ จงอยู่เป็นเกียรติเป็นศรีแก่ประเทศชาติ เป็นผู้นำของราษฎรทั้งหลายต่อไป เสียงกึกก้องท้องฟ้า เหมือนกับฟ้ากระหึ่มอย่างนั้น เรียกว่าเสียงไชโยโห่ร้องดังเหมือนฟ้ากระหึ่ม แล้วก็เสด็จเข้าในห้องไป ประชาชนก็กลับบ้าน
ต่อมาก็เรียกว่า มันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นต่อไป ในเรื่องนั้นว่า เจ้าชายเมื่อแต่งงานกับเจ้าหญิงแล้ว ก็อยู่กินกันตามเรื่อง แต่ว่าไม่พอพระทัยเท่าใด เพราะว่ามีเพื่อนฝูงหลายคนที่เข้าใกล้ชิด คนที่อยู่ใกล้เจ้านายนี่มักจะทำให้เจ้านายเสีย ด้วยการคอยตามใจ คอยเพ็ดทูล คอยพูดคอยจา คอยทำอะไรให้เจ้านายชอบ เพื่อจะได้โปรดปรานตัว คนมันเสียคนตรงนี้ นายเสียเพราะคนใช้ นายกรัฐมนตรีเสียเพราะเลขาหรือคนใกล้ชิด เจ้านายก็เหมือนกัน เสียเพราะพวกมหาดเล็กเด็กชา (35.35) ที่ไม่รักพระองค์จริง แต่ต้องการจะทำให้พระองค์เสียผู้เสียคน มันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ พวกที่เข้าใกล้ก็ทูลเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง ความสนุกของบ้านเมืองในยามราตรีกาล เรื่องนู้นเรื่องนี้ เล่าให้ฟัง
คนเราได้ยินได้ฟังอะไรบ่อยๆ จิตใจมันก็โน้มเอียงไปในทางสนุกสนาน อยากจะออกไปลิ้มชิมรสแปลกๆนอกวังว่า มันมีสภาพอย่างไร เมื่อแสดงอาการว่ามีความปรารถนา พวกนั้นก็เสนอหน้าเข้ามาว่า จะจัดการให้สมพระประสงค์ให้ได้ คราวนี้จะจัดการอย่างไร ก็พวกนั้นมันชอบไปดูละเม็งละครที่เขาฟ้อนเขารำกันในเมืองต่างๆ ก็เห็นว่านางละครคนหนึ่งรูปร่างดี เราควรจะได้เอาเข้าไปถวายเจ้าชายน้อยของเรา ให้เจ้าชายน้อยจะได้เพลิดเพลิน ได้โปรดปรานเราต่อไป แล้วพวกนั้นก็จัดการแสวงหาหญิงคนนั้นเข้าไปให้พบกับเจ้าชาย เจ้าชายก็พอพระทัย แล้วก็เลยไปหาบ้านเล็กๆอยู่นอกวัง ไม่ให้พระบิดาพระมารดารู้ กลางวันก็เข้าไปในวัง ปฏิบัติหน้าที่ แต่กลางคืนนั้น ลอบออกจากวัง ไปอยู่กับนางละครที่เป็นตัวโปรด เรียกว่าเป็นสนม ว่าอย่างนั้นเถิด เป็นที่โปรดปรานสำราญใจตลอดมา ประชาชนก็ซุบซิบกันว่า แหม เจ้าชายของเรานี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนเสียแล้ว เวลานี้มีความประพฤติชอบเที่ยวชอบสนุก ไม่อยู่เหมือนเมื่อก่อน ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ซุบซิบกันไปตามเรื่องตามราว เพราะว่าประชาชนเขาสนใจในความเป็นอยู่ของคนในบ้านในเมือง ท่านนายกฯทำอะไรเขาก็สนใจ รัฐมนตรีทำอะไรเขาสนใจ ท่านปัญญาฯ ทำอะไรเขาก็สนใจอยู่เหมือนกัน
คนที่เรียกว่าเป็นคนเด่นในสังคมเขาก็สนใจ อย่างนั้นอย่างนี้ อยากรู้ แล้วก็กระซิบกระซาบกัน คุยกันไปจากปากสู่ปาก ซุบซิบนินทากันไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในบ้านในเมืองอยู่เหมือนกัน ทีนี้ต่อมา เจ้าชายท่านก็เห็นว่า อยู่หลังเล็กๆมันก็ไม่ได้ ต่อไปมันต้องสร้างวังสักแห่งหนึ่ง ก็ไปหาชัยภูมิเหมาะๆนอกกรุงออกไป เรียกว่าชานกรุง อยู่ในกรุงมันก็ไม่ได้ ออกไปนอกบ้านนอกเมือง คล้ายกับเจ้าเงาะกับรจนาอย่างนั้นแหละ ไปอยู่ในกระท่อมปลายนา แต่รจนานั้นไม่เต็มใจจะไปหรอก แต่ว่าเพราะไปแต่งกับเจ้าเงาะ แต่ว่าความจริงรจนา ตาแกแหลม แกเห็นทะลุเข้าไปว่า ไอ้ข้างในนั้นมันทอง (หัวเราะ) ไม่ใช่เงาะธรรมดา แต่ว่าเงาะมันเป็นคราบ แกมองเห็น ก็เลยไปอยู่กันทุ่งไร่ปลายนา อย่างเจ้าชายในนิทานนี้ก็เหมือนกัน ก็เลยไปสร้างตำหนักอยู่ปลายไร่ปลายนา ห่างตนไปหน่อย แต่ว่าก็ใหญ่กว่าของคนอื่นในบริเวณนั้น คนเขาก็สงสัยว่าบ้านใคร เขาก็ซุบซิบกันไปว่า นี่แหละ เจ้าชายของเรามาสร้างบ้านอยู่ที่นี่แหละ ต่อไปพวกเราจะสบายละ จะได้อยู่ใกล้เจ้าใกล้นาย จะได้มีความสุขความสบายตามสมควรแก่ฐานะ ก็เลยสร้างวัง สร้างกำแพงกั้นใหญ่โต เรียบร้อย ก็อยู่กันด้วยความสบายตามสมควรแก่ฐานะ แต่ความจริงก็ไม่สบายเท่าใดหรอก เพราะยังมีใจกังวลอยู่ด้วยปัญหาอะไรๆต่างๆ ก็เลยไม่สบายพระทัย มีอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่าน ใจร้อนใจเร็ว มักจะตามใจตัว ทำอะไรตามใจอยาก ขาดการควบคุมตนเอง เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่าไม่สบายอยู่ในใจนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ทีนี้ต่อมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นอีก ในบริเวณตำหนักนั้น เพราะว่ามันมีกระท่อมอยู่กระท่อมหนึ่งใกล้กับกำแพงตำหนัก เป็นที่อยู่ของสุภาพสตรี – เรียกว่าอย่างนั้น เธอเป็นคนแก่ อยู่มานานแล้ว ความจริงคนแก่นี้ก็ไม่ใช่คนธรรมดา สามีเคยเป็นข้าราชการเป็นทหารเหมือนกัน แต่ว่าได้ลาออกจากราชการเพราะชราแล้ว แล้วก็ถึงแก่ความตายไป แม่ม่ายก็อยู่ที่นั่น ทำมาหากินไปตามเรื่อง ปลูกผักอะไรขายไป ทำขนมอะไรขายไปตามฐานะ แต่ว่าบังเอิญ บ้านที่ตัวอยู่ไปติดกับกำแพงของเจ้าชายเข้า เจ้าชายก็มองเห็นบ้านนี้มันอยู่ใกล้เรา มันมองเห็นเรา เจาะกำแพงมันก็มองเห็น ขึ้นไปยืนบนบ้านก็มองเห็น เอ ไม่ได้ มันต้องเอาบ้านนี้ไว้เสียด้วย ต้องซื้อเอาไป ก็เลยมาเจรจาเพื่อจะขอซื้อบ้านหลังนั้น ชั้นเรกเจ้าชายดอดมาเอง มาติดต่อเพื่อจะซื้อบ้านหลังนั้นให้ราคาอย่างงาม แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจว่า มันแพงไป ควรจะขายราคาน้อยกว่านั้น แม่ม่ายคนนั้นแกก็ไม่ยอมจะขายให้เจ้าชาย มหาดเล็กเจ้าชายก็มาทำสงครามประสาทกับคนแก่คนนั้นบ่อยๆ คนแก่คนนั้นก็ไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ กลางคืนก็นอนเป็นทุกข์ร้องห่มร้องไห้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ก็นึกว่า - เอ มันต้องไปหาพระฤาษีเสียแล้ว เพราะว่าห่างไปจากนั้น ในป่ามีพระฤาษีอยู่องค์หนึ่ง เรียกว่าเจริญฌานภาวนาปฏิบัติมานาน
คุณยายคนนั้นก็เดินถือไม้เท้างกๆ เงิ่นๆ ไปหาพระฤาษี พระฤาษีก็ถามว่า มีความทุกข์ร้อนเรื่องอะไร คนเราเป็นทุกข์ต้องไปหาผู้รู้ คือไปหาพระฤาษีเรียกว่าไปหาผู้รู้ เพื่อจะให้ช่วยแก้ปัญหา เมื่อเล่าเรื่องให้พระฤาษีฟังจบแล้ว พระฤาษีบอกว่า แกไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้ ไปนอนในบ้านให้สบาย ฉันจะจัดการให้เรียบร้อย อันนี้ ฤาษีแกจัดการอย่างไร ฤาษีนี่ ท่านมีฤทธิ์ ในเรื่องนิทานนี่ต้องมีฤทธิ์เข้าไปปนด้วย ไม่มีฤทธิ์มันไม่ได้ ต้องเหาะข้ามกำแพงได้ถึงจะเก่ง ทีนี้ พระฤาษีแกทำอย่างไร กลายคืนแกก็เนรมิต พอเข้าฌานสมาบัติก็เนรมิต หายตัวได้ เดินข้ามกำแพงเข้าไปสบายๆ เอาต้นไม้ไปปลูกไว้ต้นหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่ไม่เคยมีในตำหนัก เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านไม่รู้จักว่าเป็นต้นอะไร เอาไปปลูกไว้ในตำหนักนั้น เมื่อปลูกไว้แล้วก็ใส่ปุ๋ยด้วยอำนาจจิตเป็นสมาธิของท่าน ท่านนั่งสมาธิ บังคับให้ต้นไม้มันเจริญเติบโตขึ้นพอสมควร สูงขนาดสักสองเมตรขนาดนั้น แตกใบเขียวชะอุ่มเลยทีเดียว ดูแล้วสวยงาม วันหนึ่ง เจ้าชายก็เสด็จออกมาหน้าตำหนัก เดินดูต้นไม้ดอกไม้ประเภทต่างๆ ก็เห็นว่า - เอ นี่ต้นอะไรมาปลูกไว้ตรงนี้ เราไม่ได้สั่งให้ปลูกนี่ มันขึ้นมาได้อย่างไรต้นไม้ต้นนี้ – ชักจะสงสัย ถามมหาดเล็กว่า ใครเอาต้นไม้นี้มาปลูกไว้ ถามนาย ก. นาย ข. นาย ง. ถามจนหมดวรรคแล้ว มันไม่มีใครรู้สักคนเดียว ก็มันไม่ได้ปลูกจะไปรู้ได้อย่างไร เลยกราบทูลว่าไม่รู้ เจ้าชายก็ทรงกริ้วว่า อยู่อย่าไร เขาให้รักษาความปลอดภัยให้แก่ฉัน แล้วต้นไม้นี้มันเหาะมาเกิดขึ้นในตำหนักได้อย่างไร โกรธกริ้วพวกนั้น พวกนั้นก็ก้มหน้าก้มตา ไม่รู้ว่ามาจากไหนอย่างไร
ทีนี้วันหนึ่ง พระฤาษีก็เหาะมา แล้วแกมาเดินเกร่อยู่ที่หน้าตำหนัก เจ้าชายเสด็จออกไปธุระก็มองเห็นฤาษี ไม่เคยเห็นฤาษีตนนี้ ก็เลยถามพระฤาษีว่าท่านมาจากไหน ก็อยู่ในบริเวณไม่ห่างไกลจากที่นี้หรอก แต่ว่าท่านไม่เคยไปหาพระฤาษี เพราะมัวลุ่มหลงมัวเมาในกามสุขมากเกินไป วันนี้เรามาหาท่าน เพื่อจะมาโปรดท่านเสียหน่อย เจ้าชายก็ดีใจเพราะเช้าๆอารมณ์ดีอยู่ไม่ค่อยเศร้าหมอง เลยบอกว่า เอาละ ถ้าอย่างนั้นก็นิมนต์เข้าไปในตำหนัก ก็เดินเข้าไปในตำหนัก ก็เดินผ่านต้นไม้ต้นนั้นเสียด้วย พอเดินผ่านต้นไม้ต้นนั้น เจ้าชายก็ถามว่า - โอ ท่านนี่อยู่ป่ามานานแล้ว อยู่มาตั้งหลายสิบปีแล้ว คงจะรู้เรื่องต้นไม้ดี ? – นึกว่าพระฤาษีนี้ มีความชำนาญในเรื่องพฤกษศาสตร์ด้วยเหมือนกัน ก็เลยถามว่า – ต้นไม้นี้ชื่อต้นอะไร
พระฤาษีก็เลยเข้าไปมองดูใบดูอะไร ทำท่าไปอย่างนั้น ไอ้ความจริงก็ปลูกไว้เอง แต่ว่ามองไปอย่างนั้นละ มองๆแล้วบอก โอ ต้นไม้นี้เขาเรียกว่า มตรุกขะ (45.50) มตรุกข์ มตะนี้แปลว่า ตาย รุกขะคือว่าต้นไม้ เรียกว่ามตะรุกขะ คือต้นไม้ตาย เออ ชื่อไม่เพราะ ต้นไม้นี้ชื่อก็ไม่เพราะ พระฤาษีบอกว่าชื่อมันอย่างนั้นเอง คนมันชื่อกันมานานแล้ว ไม่มีใครตั้งหรอก มันเป็นมันอย่างนั้นเอง เลยบอกว่า พระราชกุมารควรจะชิมใบไม้นี้ดูว่าจะมีรสชาติอย่างไร พระราชกุมารก็เลยเด็ดมาช่อหนึ่ง เอามาถึงก็เคี้ยว พอเคี้ยวก็ถ่มน้ำลายทันที มันขมยิ่งกว่าบอระเพ็ด ไม่ใช่ขมอย่างเดียว มันทั้งขมทั้งพิลึก เคี้ยวแล้วก็หน้าเบ้ไปทีเดียว หน้าบึ้งเลย โกรธเลย มองดูพระฤาษีเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อ แต่พระฤาษีแกฌานกล้า แกไม่ทำอะไรหรอก พอดูแล้วทำฤาษีไม่ได้ ถอนต้นไม้เลย ถอนต้นไม้แล้วฟาดกับดิน ฟาดแล้วไม่พอ เอาพระบาทกระทืบขยี้ต้นไม้ พระฤาษียืนดูเฉย ไม่ว่าอะไรเลย กระทืบไป(เสียงสูง) กระทืบให้พอใจ ท่านนึกในใจว่าอย่างนั้น พอกระทืบพอใจแล้วก็ยืนนิ่ง พักหนึ่งค่อยคลายลง พอคลายลงแล้ว พระฤาษีก็บอกว่า นี่แหละ ต้นไม้ชนิดนี้เขาเรียกว่ามตรุกข์ มันเป็นต้นไม้ที่ไม่ให้ประโยชน์แก่ใคร ปลูกไว้ก็ไม่ได้ประโยชน์ กินก็ไม่ได้เพราะมันขม ลำต้นก็ขม เปลือกก็ขม ใบก็ขม ขมทั้งนั้น ถ้าออกดอก ดอกก็ขมอีก ออกลูกมาก็ขม ไม่มีใครกิน เมื่อไม่มีใครกิน ถ้าใครมาแตะต้นไม้นี้ เขาก็โกรธต้นไม้ ก็ฟันทิ้งเท่านั้นเอง เขาไม่เอาไว้ให้รกบ้านรกเมืองต่อไป ฉันใด พระราชกุมารก็มีสภาพเช่นนั้น
เวลานี้ พระราชกุมารทรงประพฤติพระองค์อย่างไร อยู่ในศีลในธรรมเรียบร้อยไหม มีพระทัยสงบเยือกเย็นไหม เดินตามรอยพระบาทของพระเจ้าพ่อพระเจ้าแม่ไหม พระเจ้าปู่พระเจ้าย่าพระเจ้าตาพระเจ้ายายทั้งหลายทั้งปวง ในราชวงศ์หัสดีปุระอยู่หรือเปล่า หรือมีอะไรผิดแปลกไปบ้าง ขอให้พิจารณาพระองค์เอง ฤาษีเทศน์ใหญ่เลย พอได้ทีละเทศน์กัณฑ์ใหญ่เลย บอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ดีอย่างนั้น ต่อไปประชาชนเขาก็จะไม่ชอบท่านเหมือนกับที่ท่านไม่ชอบต้นไม้ แล้วก็จะถอนท่านทิ้งง คือเขาจะไม่ให้ท่านครองราชสมบัติต่อไป เพราะท่านประพฤติตนเหมือนต้นไม้มีรสขมอย่างนี้ แล้วท่านจะสืบราชสมบัติไปได้อย่างไร วงศ์สกุลของท่านก็จะล่มจม จะเสียหาย เพราะความประพฤติที่ไม่ดีไม่งามอย่างนี้ ฤาษีเทศน์ใหญ่จนเจ้าชายสลดพระทัย น้ำตาไหลนองหน้า เสียใจ เสียใจในพระองค์เองว่ามันผิดไปเสียแล้ว เลยบอกพระฤาษีว่า หม่อมฉันผิดพลาดไปแล้ว บุญนักหนาที่ได้พบพระฤาษีเช่นท่าน ที่มีวาจาอาจหาญกล้าเทศน์กล้าสอนข้าพเจ้า อ้ายพวกมหาดเล็กทั้งหลายมันมีแต่ป้อยอข้าพเจ้า มันยุให้ข้าพเจ้าเที่ยวให้สนุก มันหาสิ่งสนุกสนานมาป้อนให้แก่ข้าพเจ้า มันไม่จงรักภักดีต่อข้าพเจ้า แต่มันจะปอกลอกเอาเงินเอาทองของข้าพเจ้าไปใช้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมัน ทำให้ข้าพเจ้าเสียผู้เสียคน แต่นับว่าดีที่ได้พบท่านพระฤาษีในวันนี้ ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่ทำอะไรอันจะเป็นการผิดจารีตประเพณีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินต่อไป จะประพฤติพระองค์อยู่ในศีลในธรรมให้ประชาชนทั้งหลายพอใจ เหมือนเห็นดอกมะลิอันสวยสะอาด เห็นดอกบัวในสระ เห็นดอกไม้สวยสดงดงามก็อยากจะเก็บไปไว้ในบ้าน เกล้ากระหม่อมฉันจะประพฤติตนเช่นนั้นต่อไป แล้วก็ก้มลงกราบพระฤาษีแทบเท้า(เน้นเสียง)เลยทีเดียว
พระฤาษีก็เอาไม้เท้าเขี่ยหลังพระราชกุมารสามครั้ง ให้พรว่า ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญด้วยคุณธรรม ด้วยความงามความดี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แล้วพระฤาษีก็หายวับไปกับตา – ว่าอย่างนั้น ท่านมีฤทธิ์ พระฤาษีองค์นี้เหาะได้ เลยหายไปเลย พระราชกุมารก็ยืนมองพระฤาษีหายไปไหนแล้ว มาสอนเราอย่างดีเหลือเกิน
แล้วหลังจากนั้นก็เลยเรียกประชุมพวกมหาดเล็กเด็กชาทั้งหลาย บอกว่า ฉันนี่เสียคนมาหลายเดือนแล้ว เสียคนมานานแล้ว เพราะพวกเจ้าทั้งหลายนี่เอง เพราะฉะนั้น ชุดนี้ออกไป ถ้าเจ้าไม่รับใช้ข้าพเจ้า ต่อไปจะเปลี่ยนชุดใหม่ ชุดใหม่มาอยู่กับข้าพเจ้า ต้องเป็นคนนับถือศาสนาเคร่งครัด ถือศีลถือธรรม จะต้องไปฟังเทศน์จากพระฤาษีซึ่งอยู่ไกลออกไปในป่า เดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย แล้วก็จะคอยสะกิดเตือนฉัน ในเมื่อฉันเผลอ ฉันประมาท ฉันจะได้ไม่เสียผู้เสียคน ไอ้นี่พวกแกไม่สะกิดฉันเลย ฉันจะทำอะไรก็ทำอย่างนั้น มันเข้าลักษณะไม่ใช่มิตรแท้ มิตรแท้ต้องเตือนมิตร ต้องแนะนำมิตร ต้องให้สติแก่มิตร ศิษย์ …… ( 51.14) ที่ดีของนายก็เหมือนกัน ต้องคอยตักเตือนนาย เพื่อให้นายได้สำนึกรู้สึกตัวว่านายจะพลาดนะ จะผิดนะ เรื่องนี้คิดให้ดีนะ แม้นายจะติก็ยอมให้ติ เพราะเราต้องการให้นายดี ไม่ใช่ว่าคิดแต่จะยอเอารางวัลท่าเดียว คนใหญ่คนโตเสียผู้เสียคนเพราะคนข้างเคียงนี่ไม่ใช่น้อย ไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ เสียกับคนข้างเคียงทั้งนั้นละ ไม่ได้เสียกับคนไกลหรอก คนไกลเขาไม่เข้าไปประทุษร้ายหรอก ไอ้ลูกกระสุนที่มาจากข้าศึกมันไม่มีหรอก แต่ว่าไอ้กระสุนปากของคนที่อยู่ใกล้ๆที่จะยุให้นายเสียนี่ ที่จะทำให้นายเสียนี่ มันมีมากเหล่านี้ มันไม่รักนายแท้จริง มันเห็นประโยชน์ส่วนตัว ต้องการเอาอกเอาใจเพื่อประโยชน์แก่ตัวเท่านั้น เลยทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่เสียผู้เสียคนไป สมภารเจ้าวัดก็เสียเพราะลูกน้องในวัดเหมือนกัน เพราะว่าไม่ตักไม่เตือนไม่บอกไม่กล่าว คอยทำเสียอยู่บ่อยๆ มันเป็นอย่างนั้น พ่อแม่เสียเพราะลูก ครูก็เสียกับศิษย์นี่ละ นายใหญ่ก็เสียกับลูกน้อง มันเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น เรื่องชาดกเรื่องนี้ มันดี เหมาะกับสังคมในยุคปัจจุบัน ที่เป็นอยู่ในกาลบัดนี้ จึงนำมาเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง แล้วก็จะได้เป็นหนังสือเล่มขึ้นมา ใครเห็นว่าใครไม่ดีไม่งามอยู่บ้าง ก็ส่งหนังสือเล่มนี้ไปเป็นของขวัญ เพื่อจะได้อ่านแล้วจะได้สะกิดใจ จะได้สำนึกรู้สึกตัวขึ้น จะได้เปลี่ยนแนวชีวิตเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้เป็นคนดีคนงามของบ้านของเมืองต่อไปตามสมควรแก่ฐานะ
เรื่องชาดกก็ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ นิทานเรื่องนี้มีคติสอนใจอะไรบ้าง โยมไปคิดเอาเองก็แล้วกัน จบเวลาพอดี ต่อไปนี้ก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตาเสีย แล้วก็หายใจเข้ายาว (ลากเสียงยาว) กำหนดรู้ หายใจออกยาว กำหนดรู้ ไปตามลมหายใจเข้าออก อย่าให้จิตฟุ้งซ่านส่งไปอื่น เป็นเวลา ๕ นาที
ปรารถนาความสุขแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ( 53.42 ทั้งหมดสวดแผ่เมตตา สัพเพสัตตา ด้วยภาษาบาลี จบแล้วตามด้วยบทแปลภาษาไทย) สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ