แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา เมื่อวันอาทิตย์ก่อนคอมันแห้ง เสียงแหบ เลยพูดไม่จุใจให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง แล้วเอาพระฝรั่งพูดแทนไปหน่อยนึง สำหรับวันนี้ซุ่มเสียงค่อยยังชั่วขึ้นแล้ว เพราะว่าหยุดพักเสียง ๑ อาทิตย์ ไม่พูด ไม่ปาฐกถาก็ค่อยดีขึ้น พอจะพูดอะไรกับญาติโยมทั้งหลายต่อไป เมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้ได้พูดถึงเรื่องชีวิตของคนเรา ว่าต้องการอะไรเป็นสิ่งสูงสุด ความต้องการของคนเรานั้นอาจจะไม่เหมือนกัน คือว่า ขึ้นอยู่ตามขั้นของจิตใจที่ได้รับการอบรมหรือไม่ได้รับการอบรม ถ้าเป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไปแล้วก็ย่อมจะมีความต้องการในเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยสี่ คือ ต้องการ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย หยูกยาสำหรับแก้ไข้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แล้วก็มีความต้องการให้ดี ให้มากให้อร่อย เช่น อาหารที่เรารับประทานทุกวัน ทุกคนก็อยากรับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย อาหารดี เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีร้านอาหารประเภทต่างๆขึ้นมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพนั้นมีร้านอาหารที่มีชื่อมากมาย แล้วก็มักจะเขียนโฆษณาว่ามีอาหารประเภทนั้นประเภทนี้ ล้วนแต่มีรสชาดเอร็ดอร่อย น่ารับประทานด้วยกันทั้งนั้น ก็ปรากฎว่ามีคนไปอุดหนุนกันอย่างคับคั่ง อันนี้เป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่าคนเรานั้นต้องการความเอร็ดอร่อยทางลิ้น ต้องการอาหารที่มีรสมีชาด ถ้าไปรับประทานที่ร้านไหนอาหารไม่อร่อยก็ไปแค่ครั้งเดียวแล้วจะไม่ไปอีก แต่ถ้าว่าร้านไหนทำอาหารอร่อย รับประทานแล้วยังมาเที่ยวคุยอีกเป็นการโฆษณาให้ร้านไปในตัวว่า แหม..อาหารที่ร้านนั้นอร่อยมาก รสชาดดี อะไรต่ออะไรดี เพื่อจูงเพื่อนให้ไปจ่ายตังค์ต่อไปอีก นี้เป็นเครื่องแสดงว่าคนเราชอบความเอร็ดอร่อยทางอาหาร
เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มนี่ก็เหมือนกัน ก็มีร้านตัดเสื้อผ้ามากมาย ชื่อแปลกๆ แล้วก็ตัดในรูปแปลกๆ สีสันวรรณะก็สวยงามเรียบร้อย ฝีมือปราณีต เอามาสวมใส่แล้วภูมิใจว่าเราได้ใส่เสื้อผ้าที่มีค่ามีราคา เขาเล่าให้ฟังว่าเสื้อยืดที่ทอในประเทศไทยตัวหนึ่งราคา ๒๐๐ บาท แต่ว่าคนไม่ค่อยนิยมใช้ ต้องไปซื้อเสื้อตราจระเข้ หรือ ตราจิ้งเหลนอะไรก็ไม่รู้ที่เขาทำมาจากต่างประเทศตัวหนึ่งราคาตั้งพันบาทเอามาสวมใส่ ถ้าได้ใส่เสื้อยืดตัวละพันแล้วรู้สึกว่า “แหม!กูนี่มันเหลือเกินแล้ว” ภูมิอกภูมิใจ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนที่ไปเมืองนอกที่มีเสื้อยืดชนิดนี้จำหน่ายเขาก็มักจะซื้อมาทีละโหลสองโหล แต่ว่าซื้อแล้วก็ถอดเอาห่อออกเสีย เอากล่องเอาพลาสติกห่อเก็บเสีย แล้วเอาแต่เสื้อเฉยๆใส่กระเป๋ามา ผ่านด่านศุลกากรก็ไม่ต้องเสียภาษีเพราะเขานึกว่าของใช้ แต่พอมาถึงเมืองไทยก็ใส่กล่องเดิม เสร็จแล้วเอาไปส่งตามร้านได้กำไรดี เพราะว่าเขาเอาไปขายตัวละพัน คนไทยเราชอบซื้ออย่างนั้น ของอันใดแพงจากต่างประเทศเราชอบใจ ซื้อสวมใส่กันแล้วไปอวดเพื่อนฝูง เพื่อนฝูงที่ไม่มีเสื้อชนิดนั้นใช้พอรู้สึกว่ามันล้าสมัยไป น้อยเนื้อต่ำใจต้องการจะแข่งขันให้ทันเพื่อนก็เลยต้องไปซื้อเสื้อยืดตัวละพันเอามาใส่ให้เพื่อนเห็นต่อไป นี่ก็เป็นความต้องการอย่างนั้นทั่วไปเป็นธรรมดา
บ้านเรือนอยู่อาศัยก็ต้องมีอะไรให้มันแปลกๆสวยงาม ออกแบบไม่เหมือนใคร สถาปนิกจึงนั่งคิดนั่งค้นว่าจะออกแบบไหนดี ทำให้คนเห็นแต่ไกลแล้วก็นึกว่าบ้านใคร ดูไปดูมาก็ดูคล้ายกรงนกพิราบคือ มันออกมุกมากนั่นเอง มุมนั้นนิด มุมนี้หน่อย และนึกว่าเหมือนกรงนกพิราบ แต่ความจริงมันป็นกรงคนไม่ใช่กรงนก เขาต้องการแบบแปลกๆทำอะไรให้สวยให้งาม ของบางอย่างพอใช้ได้ก็ไม่เอา เอาให้มันมีวิเศษ เช่น ห้องน้ำบางบ้านก็ราคาแพง ใช้ห้องน้ำราคาเป็นแสน ความจริงมันก็เท่านั้น เข้าไปถึงแล้วก็อาบ อาบเสร็จแล้วก็เช็ดตัวออกมาเท่านั้น แต่ก็ต้องให้มันแพงหน่อย ไม่รู้จะอวดใคร เพราะว่าแขกไปใครมาเขาก็เข้าห้องน้ำไม่กี่คน ถึงเข้าก็เข้าห้องเล็กๆที่เขาจัดไว้พิเศษสะดวกแก่ผู้ไปมา แต่นิสัยชอบของสวยงาม ชอบของแพง มันก็ต้องทำให้ดีให้งามเป็นพิเศษ นี่เรื่องของที่อยู่อาศัย
ไอ้หยูกยาแก้ไข้นี่มันไม่เหมือนของอื่น แปลว่า เราต้องการอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องหาหมอที่ชำนาญในการรักษาโรค แล้วพอหมอให้ยาอย่างนั้นอย่างนี้ถ้าเป็นคนบ้านนอกบ้านนานี่ชอบฉีดยา พอไปหาหมอขอฉีดยาสักเข็มไม่รู้ว่าโรคอะไรขอฉีดยาเรื่อยเลย เพราะฉะนั้นพวกนายสิบเสนารักษ์ก็ได้หากิน คือ หาเข็มสักกล่องหนึ่งแล้วมียาอะไรก็ได้ที่เขาใส่หลอด บางทีก็เป็นน้ำธรรมดาที่เขาอัดมาคือน้ำธรรมดาๆใส่หลอดไว้ ราคาก็ไม่แพงอะไร แต่ไปบ้านนอกก็ฉีดเอา ๕๐ บาท ๖๐ บาทฉีดเรื่อยไป แล้วบางคนก็ติดฉีดยาไม่ได้ฉีดอยู่ไม่ได้ แต่นั่นมันก็เป็นยาเสพติดไป เอาไปขายแล้วก็ฉีด คราวหนี่งไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์คนเฒ่าคนแก่ก็มาบอกว่า ท่านเจ้าคุณช่วยเทศน์หน่อยคนแถวนี้มันติดยาฉีดกันงอมแงมไปหมดแล้ว ถ้าไม่ได้ฉีดยาแล้วมันเกิดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวไม่สบาย พอได้ฉีดสักเข็มแล้วก็สบาย เลยศึกษาไต่ถามว่ายาที่ฉีดมันเป็นยาพวกอะไร เขาก็บอกว่ามันเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่คนนักฉีดยาเอามาฉีดชาวบ้าน ครั้งแรกฉีดให้ถูกๆเข็มหนึ่งเพียง ๑๐ บาทเท่านั้น แต่พอติดแล้วต้องเอาเข็มละ ๕๐, ๖๐ ถึง ๑๐๐ ก็เรียกว่าอยู่ในกำมือ เช้าต้องไปฉีดรายบุคคลไปเลยทีเดียว ติดกันงอมแงมไปหมด เรียกว่าติดยา
นั่นเป็นเรื่องคนทั่วๆไปมีความต้องการอย่างนั้นในวัตถุที่ตนจะพึงมีพึงได้ อะไรๆที่ได้มาแล้วก็ไม่พอใจต้องหาใหม่ต่อไป ที่เขาพูดว่ามันเซ็งนั่นแหละหมายความว่ารู้สึกเบื่อหน่าย จืดชืดในการที่จะมองสิ่งนั้นที่จะใช้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหาสิ่งใหม่ๆแปลกๆมาสนองความต้องการของเราอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ถ้าเป็นคนมีเงินมีทองก็ไม่ค่อยจะเดือดร้อนเท่าไหร่ แต่ถึงแม้ตัวจะไม่เดือดร้อนมันก็เป็นตัวอย่างไม่ดี คือ เป็นตัวอย่างให้คนอื่นเอาอย่าง แข่งขันกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป เช่นว่างานพิธีกรรมต่างๆที่เราทำกันอยู่ในบ้านเมืองของเรา เช่น งานศพ งานบวชนาค งานแต่งงาน คนมีเงินมากๆก็ทำอย่างใหญ่โตหรูหราสิ้นเปลืองไปในเรื่องที่ไม่ควรจะสิ้นเปลือง ถ้าคิดคำนวณดูแล้วเงินทองที่ใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่จำเป็นนั้นมีจำนวนถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่จำเป็นนั้นมีเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ทำไมจึงต้องจ่ายมากในเรื่องที่ไม่จำเป็นก็เรื่องเอาหน้าเอาตาแข่งขันกัน กลัวจะน้อยหน้าคนนั้นคนนี้ กลัวเขาจะหาว่าเราเป็นคนไม่มีเกียรติ เราวัดเกียรติกันด้วยการใช้จ่าย ด้วยการทำอะไรให้สิ้นเปลืองในเรื่องที่ไม่ควรจะสิ้นเปลือง จึงได้พบว่ามีการสิ้นเปลืองในเรื่องพิธีกรรมต่างๆไม่ใช่น้อย ปีหนึ่งๆถ้ารวมเข้าแล้วคนไทยเราต้องสูญเสียเงินทองไปในเรื่องที่ไร้สาระเป็นจำนวนสักพันล้านเห็นจะได้ ถ้าทั้งประเทศเอามารวมกันเข้า แต่เราไม่ค่อยจะได้คิดในเรื่องอย่างนี้ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องอุดรูรั่วเหล่านี้ ไอ้รูรั่วของภาชนะที่เราใส่น้ำแม้จะรั่วเท่ารูเข็มแต่มันรั่วตลอดเวลาน้ำนั้นก็น้อยลงไปๆจนกระทั่งหมดไปทั้งภาชนะหรือทั้งโอ่งทั้งไหก็ได้ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับเงินทองทรัพย์สินที่เราใช้จ่ายไปในเรื่องที่ไร้สาระมันก็เป็นการสูญเสียไม่ใช่น้อย ด้วยการเอาอย่างกัน สูญเสียไปในเรื่องนั้นเรื่องนี้
มีเขาเล่าให้ฟังว่าที่เมืองสุพรรณมีคนหนึ่งบวชลูกหมดเงินไป ๘ หมื่นบาท บวชลูกชายคนเดียวหมดไป ๘ หมื่น ไอ้ที่หมด ๘ หมื่นไม่ใช่ว่าซื้อผ้าไตรพิเศษหรือบาตรปิดทองก็หามิได้ แต่มันหมดไปในเรื่องเหลวไหล เรื่องสนุกสนานเฮฮาทั้งนั้น ส่วนในเรื่องบวชนั้นความจริงก็ไม่เท่าไหร่ มีญาติโยมเคยถามบ่อยๆว่าบวชนี่จะใช้เงินเท่าไหร่ อาตมาว่าถ้าบวชจริงๆนี่มันไม่เท่าไหร่หรอก มันไม่ถึงพันบาทด้วยซ้ำไป แต่ถ้าบวชเล่นบวชสนุกบวชเอาหน้านี่มันสิ้นเปลืองเงินมาก มันต้องใช้ในเรื่องเหลวไหลฟุ่มเฟือยเรื่องไร้สาระมันมาก ทีนี้จะบวชแบบไหนล่ะ บวชแบบสิ้นเปลืองหรือว่าบวชแบบจริงๆกัน บวชแบบจริงๆก็ไม่มีอะไร ซื้อแค่ผ้าไตรไตรหนึ่งกับบาตรใบหนึ่งเท่านั้น เงินทองมันก็ไม่สิ้นเปลืองอะไรนักหนา แต่ถ้าเราบวชสนุกบวชเล่นมันก็ต้องสิ้นเปลืองมาก เพราะฉะนั้นคนบางคนพูดว่าจะบวชแต่ยังไม่มีเงิน ถามว่าต้องการเงินสักเท่าไหร่ที่คิดว่าจะบวชเนี่ย ต้องการเงินสักสองสามหมื่น เอาไปทำอะไรตั้งสองสามหมื่น ลองถามต่อไปสิ เขาบอกว่ามันต้องมีนั่นมีนี่ นั่นมันเรื่องฉิบหายทั้งนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศลอะไร ทำไมจะต้องจ่ายอย่างนั้นก็เนื่องจากว่าเอาอย่างกัน บ้านโน้นทำอย่างนั้นเราก็ต้องเอาอย่างจะไปทำน้อยกว่าบ้านโน้นมันก็ไม่ได้ น้อยหน้าเสียหน้า ไอ้เรื่องหน้าๆนี่มันน่ากลัวนักหนาเสียเงินเสียทองไปเยอะแยะปีหนึ่งก็ไม่ใช่น้อย
ถ้าเราตัดปัญหาเรื่องอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปเสียบ้างความสิ้นเปลืองก็ไม่มากมายอะไร เช่น ทำบุญสุนทานนี่ถ้าจะทำบุญแบบไม่สิ้นเปลืองก็ได้ เช่น เราจะเลี้ยงพระนี่กับข้าวก็ไม่ต้องมากเกินไปเอาสักอย่างสองอย่างก็พอแล้วพระก็ฉันได้สบาย โยมอย่านึกว่าของมากแล้วพระจะฉันได้ อาตมานี่เป็นพระมาหลายปีจะบอกให้รู้เสียด้วยว่าไอ้ของมากนี่มันฉันไม่ไหว มองแล้วตาลายไม่รู้จะกินอะไร มันยุ่งนะแล้วมันเบื่อนะ พอเห็นมากแล้วมันแน่นท้องอึดอัด แต่ถ้ามีแกงสักอย่างสองอย่าง เช่น มีแกงเลียง แกงจืด แกงผักบ้านเรา หรือว่าแกงเผ็ด แกงส้มอะไรสักอย่างนี้พระฉันได้มาก ฉันจนโยมสบายใจว่า แหม!ฉันหมดเลย ก็ของมันน้อยก็ฉันหมดน่ะสิ ถ้าของมากจะฉันได้อย่างไร โยมก็บ่นอีกว่าท่านไม่ฉันของดิฉัน ก็มันมากเกินไป อันนี้เราต้องการให้พระท่านฉันหรือให้ท่านเบื่อล่ะ เพราะว่าอาหารมากมายเต็มโต๊ะจนไม่รู้ว่าจะฉันอะไรแล้วมันก็ไม่ได้อะไร ทีนี้ถ้าเราจะให้พระฉันทำน้อยๆพระฉันสบาย
วันนั้นนั่งรถแท๊กซี่คนขับแท๊กซี่มันเคยอยู่วัดแล้วมันคุยว่า “ผมนี่ปีหนึ่งทำบุญ ครั้งหนึ่ง” แล้วก็เล่าว่า “ผมนี่ทำบุญแบบไม่เหมือนใคร ผมตำน้ำพริกครกใหญ่ แล้วก็ปลาทู ยอดผัก แล้วก็มีแกงจืดสักอย่างหนึ่ง ผมนิมนต์พระมาฉัน ท่านฉันกันอย่างสบายแล้วฉันได้มาก ผมนั่งดูท่านฉันผมก็พลอยหิวข้าวไปด้วยเหมือนกัน คือว่าท่านฉันอร่อยเพราะของมันพื้นบ้าน ง่ายๆ เราทำของดีๆไปมันก็ไม่ไหว” เคยมีโยมคนหนึ่งทำกับข้าวดีๆทั้งนั้น ของหวานก็ดีๆทั้งนั้นเอาไปถวายพระ พระบ้านนอกท่านฉันไม่ได้ โยมถึงกับร้องไห้เลย ร้องไห้ว่าอุตส่าห์ทำเกือบล้มเกือบตายพระไม่ฉัน คือ ท่านฉันไม่ได้เพราะของท่านไม่เคยฉัน เช่นว่าของหวานนี่มันหวานเสียเหลือเกิน ท่านฉันไม่ไหว กับข้าวก็เรียกว่าถ้าแกงกะทิก็มันย่องมาเลยอย่างนี้ ท่านฉันไม่ลงเลยโยมก็เสียใจ ถ้าโยมจะแกงพื้นบ้านไปถวายพระ ฉันหมดหม้อเลยโยมจะไม่ต้องร้องไห้ มันเป็นอย่างนี้ ไอ้ของง่ายคนไม่ค่อยทำ ของยากคนชอบทำ
คราวหนึ่งไปเทศน์แถวกำแพงเพชร แล้วก็นั่งรถผ่านป่ากล้วยเยอะแยะ เวลาฉันอาหารของหวานมีแต่ขนมทั้งนั้น ทองหยิบ ฝอยทอง อะไรก็ไม่รู้ บอกว่าโยมแถวนี้เห็นเขามีกล้วยมากมายก่ายกองทำไมไม่เอามาถวายพระบ้างล่ะ บอกว่านึกว่าพระมาจากกรุงเทพไม่ชอบฉันกล้วยน้ำละว้า บอกว่าไอ้นั่นล่ะของชอบ เลยเอามาตั้งเครือเลยทีนี้ เอามาถวาย เลยบอกว่าเหลือเอาใส่ท้ายรถไปด้วยเอาไปฝากพระที่วัดต่อไป นี่เขาเห็นว่ากล้วยนั้นเป็นของต่ำไปไม่ควรจะถวายเจ้าคุณอย่างนั้น นึกว่าเจ้าคุณชอบแต่ทองหยิบ ฝอยทอง ความจริงมันไม่ไหว พอบอกก็เอามาเป็นเครือเลย เลยบอกเอามาใส่รถกลับกรุงเทพ ของธรรมดามันดีไม่ถวาย มันเป็นอย่างนี้เราเข้าใจผิด
ความต้องการของคนมันเป็นอย่างนั้น ต้องการเอร็ดอร่อย ความเพลิดเพลินทางตา เพลิดเพลินทางหู เพลิดเพลินทางจมูก ทางลิ้น เพลิดเพลินไป นี่มันก็เป็นความสบายส่วนหนึ่งของคนทั่วไป แต่มันไม่ใช่ความสบายที่แท้จริง ความสบายที่แท้จริงนั้นต้องเกิดจากจิตใจที่สงบ จิตใจที่สงบนั้นเป็นความสบายที่แท้จริง ซึ่งความจริงนั้นมันมีอยู่แต่ว่าเราเอาอะไรมาปิดมันเสียไม่ให้มันโผล่ออกมา ความจริงมันมีอยู่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ คือ มันสงบอยู่ แต่ว่าเราไม่ให้มันโผล่ออกมาได้ ไม่ให้ความสงบโผล่ เพราะว่าเราเอาเครื่องวุ่นวายไปปิดเสีย เรานึกไปแต่เรื่องภายนอก นึกไปในเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสิ่งที่ถูกต้องทางปลายประสาทอยู่ตลอดเวลา ความสงบไม่มีเวลาที่จะโผล่ออกมา
นี่เราลองปิดเสียบ้าง ลองปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปากเสียบ้าง เรียกว่าเป็นพระปิดทวารเสียบ้าง พระเครื่องก็มีอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกว่าพระปิดทวารทั้งเก้า พอทำรูปมีมือปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก ปิดทวารหนัก ปิดทวารเบา ความจริงทวารหนักกับเบาไม่ต้องปิดมันก็ได้ มันไม่ต้องอะไร ไม่ยุ่งอะไร มันมีแต่เรื่องออกเรื่องเข้ามันไม่มีสองอย่างนี้ แต่ว่าทวารที่สำคัญคือ ตา หู จมูก ลิ้น ปลายประสาทอันนี้ควรปิด แล้วควรปิดใจเสียด้วย เขาว่าพระปิดทวารนี่ใครๆก็อยากได้เพราะว่ายิงไม่เข้า ถ้าได้องค์นี้แขวนคอแล้วยิงไม่เข้า แทงไม่เข้า อะไรไม่เข้า นั่นเขาพูดเป็นภาษาชาวบ้านมากไปหน่อย หาว่าวัตถุอื่นไม่เข้าร่างกาย แต่ความจริงนั้นที่เขาทำพระปิดทวารทั้งเก้า ก็เพื่อจะสอนคนนั่นเอง เพื่อให้คนรู้จักปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก ปิดกาย ปิดใจ ไม่รับอารมณ์ อารมณ์ นั้นคือสิ่งที่จรเข้ามา จรเข้ามากระทบตา กระทบหู กระทบจมูกเรียกว่าเป็นกลิ่น กระทบลิ้นเป็นรส กระทบร่างกายเป็นศัพท์ว่าโผฏฐัพพะ คือ สิ่งกระทบร่างกาย แล้วก็เกิดความรู้สึกทางใจ เรียกว่าเป็นธรรมารมณ์ขึ้นมา อันนี้มันของมาจากข้างนอกไม่ใช่ของมีอยู่ข้างใน อันนี้ท่านให้ปิดเสีย อย่าไปมองหรือมองก็ได้แต่มองด้วยปัญญา ฟังก็ได้แต่ฟังด้วยปัญญา ดมกลิ่นก็ต้องดมด้วยปัญญา ลิ้มรสอะไรก็ลิ้มด้วยปัญญา ร่างกายจะไปแตะต้องสิ่งใดก็แตะต้องด้วยปัญญา ว่าด้วยปัญญาคือด้วยความรู้ รู้เท่ารู้ทันสิ่งนั้น เราไม่มองด้วยความหลง ไม่ฟังด้วยความหลง ไม่ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความหลงไหลมัวเมา หรือด้วยความเพลิดเพลินด้วยความสนุกสนาน เช่น เราไปดูหนังนี่มักจะดูด้วยความเพลิดเพลิน ปล่อยใจไปตามภาพบนจอ บางทีหนังมันแสดงเศร้าโศก เราก็เศร้าโศก ไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย
เหมือนอย่างคุณยายนั่งดูลิเก พระเอกถูกจับผู้ร้ายจับไปแล้วมันทุบตีคุณยายร้องไห้ ทำไมถึงร้องไห้ นี่แหละเขาเรียกว่าปล่อยใจไปตามสิ่งนั้น ลืมไปว่านั่นเป็นละคร เป็นลิเก เป็นเรื่องเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นไม่ใช่เรื่องเนื้อแท้ แต่ว่าการแสดงของคนเหล่านั้นเขาแสดงแนบเนียนทำให้คนดูมองเห็นว่าเป็นความจริงแล้วก็นึกว่าเป็นเรื่องจริง จิตใจก็เลยคล้อยตามไปเรื่องนั้น เวลาเรื่องน่าโกรธก็โกรธ เวลาเรื่องน่ากลียดก็เกลียด เรื่องน่ารักน่าเศร้าใจก็เศร้าใจร้องไห้ร้องห่ม บางคนก็ทนไม่ได้ต้องขึ้นไปแสดงร่วมบนเวทีด้วย คือ ไปทุบคนที่แสดงเป็นตัวโกง บอกว่ามึงนี่มันโกงนะ เลยไปร่วมวง ตำรวจเลยจับไปโรงพักเพราะแสดงมากไปหน่อย มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าดูด้วยไม่มีปัญญา ไม่ได้ใช้ปัญญาว่านี่มันละคร นี่มันลิเก หรือว่าเป็นเรื่องหนังที่เขาทำเป็นภาพขึ้น คนเหล่านั้นไม่ได้โกรธไม่ได้เคืองกัน แต่เราดูว่ามันโกรธกัน เช่น ผู้ร้ายกับพระเอกนี่ดูเหมือนว่ามันโกรธกันจริงๆ มันแสดงมันถูก ความจริงนั้นมันแสร้งทำ เป็นมายาไม่ใช่ของจริงของแท้ แต่เราลืมไปเพราะเราเพลินไปกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเพลินไปก็นึกว่ามันเป็นความจริง เลยเราไปโกรธกับเขาด้วย ไปรักกับเขาด้วย ไปเศร้าโศกเสียใจกับเขาด้วย อย่างนี้เรียกว่ามองโดยไม่มีปัญญา ไม่มีสติกำกับการมอง พระท่านสอนให้ทำอย่างอื่นไม่ใช่ทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้มองอะไรด้วยปัญญา ฟังอะไรก็ฟังด้วยปัญญา ไปได้กลิ่นอะไรก็ต้องใช้ปัญญา ลิ้มรสก็ต้องใช้ปัญญา ไปจับต้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเข้าก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอยู่ว่า สิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร มันให้ทุกข์ ให้โทษ ให้ประโยชน์อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ในรูปใด ให้พิจารณาตามไปด้วย เรียกว่าดูไปมีปัญญาติดตามไป มีสติติดตามไป สิ่งนั้นจะไม่ครอบงำเรา จะไม่ทำเราให้ตื่นเต้น หรือว่าให้เสียอกเสียใจ หรือพูดง่ายๆว่าไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลงตามอารมณ์ที่มากระทบ จิตใจเราคงที่
คนที่มีสภาพจิตใจคงที่อย่างนี้แหละเหมาะที่จะไปสู่สมรภูมิแห่งชีวิต เราจะไปสู่สิ่งใดอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะไม่ทำร้ายเรา ไม่ทำเราให้เดือดร้อน เหมือนกับสัตว์ป่าที่เราเอามาหัดจนเชื่อง เช่นว่า ช้างป่านี่เราจับมาได้ก็หัดมันจนเชื่อง พอเชื่องดีแล้วเขาขับกลับไปในเมืองได้ เอาเข้าไปในเมืองใหญ่คนพลุกพล่านช้างก็ไม่ตื่นเต้น ได้ยินเสียงรถก็ไม่ตื่นเต้น คนโห่ก็ไม่ตื่นเต้น แสดงว่าช้างนั้นเป็นช้างที่ได้ฝึกฝนอบรมดีแล้ว เอาไปสู่นครเมืองใหญ่ได้
คนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้ควบคุมจิตใจ ยังไม่ได้ฝึกฝนการบังคับตัวเอง การควบคุมตัวเองให้เพียงพอ เราจะไปสู่สังคมคนมากไม่ได้ เพราะเมื่อไปสู่สังคมเหล่านั้นมันเกิดอาการตื่นเต้น ตกใจ ประหม่า กลัว หรือว่า ยินดีมากเกินไป ยินร้ายมากเกินไป ใจมันก็ขึ้นๆลงๆตามอารมณ์ที่มากระทบ เป็นคนไม่เหมาะที่จะอยู่ในที่เช่นนั้น
เขาเล่าว่าฤาษีที่อยู่ในป่านี่ท่านเป็นอาจารย์แล้วก็สั่งสอนศิษย์ ศิษย์มาอยู่ในสำนักของท่านหลายคน ท่านว่าท่านได้ฝึกฝนอบรมจิตใจศิษย์เหล่านั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านก็บอกว่า “พวกเธอทุกคนเข้าไปในเมือง เข้าไปเที่ยวตามสบาย เข้าไปในบ้านในเมือง ไปดูอะไร ไปกินอะไรก็ตามใจ ไปเถอะ ไปสามวันแล้วกลับมาหาฉัน” อันนี้พอปล่อยศิษย์ไป ในศิษย์ที่ไปเหล่านั้นสมมุติว่าปล่อยไป ๑๐ คน นี่กลับมาหาอาจารย์เพียง ๒ คนเท่านั้น หายไป ๘ คน อาจารย์ก็รู้ว่าไอ้ ๘ คนที่หายไปนั้น เรียกว่าถูกอารมณ์มันดูดไปเหมือนกับว่าตกลงไปในห้วงน้ำที่วน ที่เรียกว่าน้ำวนพระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนตกในน้ำวน น้ำที่มันวนหมุนเป็นเกลียวอย่างนี้ถ้าเราเอาไม้ทิ้งลงไปมันหายลงไป เอาวัตถุอะไรทิ้งลงไปก็หายๆไปในน้ำวน ถ้าคนตกลงไปในน้ำวนก็หายไปเหมือนกัน เราจะไม่รู้ว่าหายไปไหน มันหายจมไปตามกระแสน้ำ เหมือนที่เชียงใหม่เขามีที่เขาเรียกว่า ออบหลวง มันเป็นรูลึกลงไปแล้วน้ำมันหมุน ถ้ามีอะไรตกลงไปก็หายไป ซุงทั้งต้นหายไปในน้ำจมหายไปไหนไม่รู้ คนเราไปในสังคมเหมือนกับไปในน้ำวน วนอยู่ด้วยอำนาจ ความยินดี ความยินร้าย ความอยากได้ ความไม่อยากได้ อะไรต่างๆ ก็เลยจมไปกับกระแสของชีวิตไม่สามารถจะฟื้นคืนตัวได้ การที่อาจารย์ผู้เป็นฤาษีส่งลูกศิษย์ไปอย่างนั้นก็เพื่อจะให้ไปทดสอบกำลังใจว่าจะไปสู้กับโลกได้ไหม ควรที่จะอยู่ในโลกได้หรือไม่ โลกมันจะเตะถองให้เจ็บช้ำหรือไม่ ถ้าไปอยู่ในโลกแล้วเป็นทาสของอารมณ์โลกก็เรียกว่ายังไม่มีกำลังต้านทานเพียงพอต้องกลับมาเรียนต่อไป เหมือนกับคนเราที่มาบวชนี่บางคนก็บวชนานๆบวชตั้ง ๑๐ ปี พอสึกออกไปแล้วมันสู้โลกไม่ไหวกลายเป็นคนขี้เมาไป แล้วมีอะไรหลายอย่างที่บกพร่องในชีวิต มองดูแล้วโอ้นี่ใช้ไม่ได้ ทำให้ศาสนานี่หมดราคา ทำให้คนมองเห็นว่าก็ทิดนี่แกบวชตั้ง ๑๐ ปีออกมาแล้วเป็นอย่างนี้ ศาสนามันก็ไม่มีค่าเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่ได้เอาไปใช้ ที่ไม่ได้เอาไปใช้นั้นเป็นเพราะอะไร เพราะว่าในสมัยที่บวชอยู่นั้นก็ไม่ฝึกฝน ไม่ได้อบรมจิตใจ ไม่ได้ใช้หลักธรรมเป็นเครื่องต่อสู้กับอารมณ์ ครั้นเมื่อออกไปกระทบอารมณ์เข้าก็พ่ายแพ้ต่อสิ่งเหล่านั้น ไม่สามารถจะทำตนให้อยู่รอดได้ อันนี้ไม่ดี
คนเราจึงต้องหัดบังคับควบคุมจิตใจไว้ เราจะไปไหนนี่เราต้องเตรียมวางแผนไว้เสียก่อนว่าเราไปในที่นั่นเราจะสู้กับอารมณ์อย่างไร เช่น เราจะไปพูดกับคนบางประเภทไปพูดกันในเรื่องสลักสำคัญ จิตใจของเราจะเข้มแข็งพอไหม เย็นพอไหม อดทนเพียงพอไหมในการที่จะต่อสู้กับคนเหล่านั้น มีสติ มีไหวพริบเพียงพอไหมที่เขาจะพูดยั่วให้เราโกรธ ยั่วให้เราเกิดความน้อยอกน้อยใจหรือว่าเสียอารมณ์ไป เสียใจไป ถ้าเขาทำให้เราเป็นอย่างนั้นได้ กำลังมันก็หมดไปแล้ว กำลังจะต่อสู้ไม่มี ถ้าเราเป็นคนหวั่นไหวง่ายต่ออารมณ์เหล่านั้นเขาก็ทำให้เราหวั่นไหว เสียสมาธิ ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้ หาคำพูดที่หลักแหลมคมคายมาสู้เขาไม่ได้ ก็นับว่าพ่ายแพ้ ใจไม่เย็นพอ แต่ถ้าเราเป็นคนเตรียมตัวดี จิตใจมั่นคงเข้มแข็ง เราจะไปกระทบอารมณ์อะไรก็เฉยๆ เขาจะพูดให้สะเทือนใจเราไม่กระเทือน เพราะเราคอยรู้ว่าคำๆนี้เขาแกล้งพูดให้เรากระเทือนใจ เราต้องสู้กลับไป สู้กลับด้วยสติปัญญา ด้วยใจคอที่สงบเยือกเย็น เราจะไม่โต้ตอบด้วยอารมณ์เสีย เช่น เขาด่าเราๆจะไม่ด่าตอบ แต่เราจะยิ้มรับคำด่า ยิ้มด้วยปัญญา ด้วยความรู้ว่าเขาว่าเราแต่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น คนที่ว่านั้นมันแกล้งว่า มันใส่ความเรา เราไม่ได้เป็นอย่างเขาว่า เราไม่ต้องเสียใจ เราไม่ต้องโกรธไม่ต้องเคือง เพราะถ้าเราโกรธเรามีปมด้อย ทำให้คนที่เป็นข้าศึกของเรามองเห็นว่าเราโกรธ คนโกรธนั้นขาดสมาธิ ขาดความสงบใจ ขาดไหวพริบ ขาดปัญญาที่จะคิดจะอ่าน มันก็แพ้อยู่ในตัวแล้ว เราแพ้เขาอยู่ในตัว แต่ถ้าเราไม่โกรธไม่เคือง เรายิ้มระรื่นอยู่ตลอดเวลาเราก็สามารถสู้เขาได้ ใจเราสงบคงที่ จิตที่สงบนั้นแหละมันทำให้เกิดปัญญา เกิดความคิดความอ่าน แต่ถ้าจิตไม่สงบมันก็ไปไม่รอด เหมือนกับน้ำที่อยู่ในอ่างในภาชนะที่มันนิ่ง เราสามารถจะดูอะไรได้ ดูลึกลงไปได้ว่ามันมีอะไร
เวลาไปเที่ยวที่เกาะตะรุเตาอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัยหนึ่งเขาเคยเอานักโทษการเมืองไปกักไว้ที่นั่นรุ่นคุณไถง สุวรรณทัตไปกักไว้ แล้วก็ไปเที่ยวเยี่ยมเยียนประชาชนที่นั่น เวลาเข้าไปใกล้เกาะดูน้ำมันใสแจ๋วแล้วมองลงไปเห็นหมด เห็นก้อนหิน ก้อนกรวด เห็นปลา เห็นต้นสาหร่าย เห็นชัดหมดเลย พวกโยมที่เขามารับบอกว่า หลวงพ่อมองเห็นอย่างนั้นอย่าลงไปนะอย่านึกว่าตื้นนะ มันลึกตั้ง ๑๐ วาแน่ะ น้ำที่เรามองเห็นไม่ใช่น้ำตื้นๆ แต่ว่าเพราะมันใสแจ๋วมองอะไรเห็นหมด ปลาว่าย ปูปลา เม็ดกรวด เม็ดทราย สาหร่าย มองเห็นหมดเลย ทำให้เกิดความคิดว่าจิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจสงบแล้วมองอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง คิดอะไรก็ทะลุปรุโปร่ง ทำอะไรมันก็เรียบร้อย แต่ถ้าจิตวุ่นวายเหมือนกับทะเลมีคลื่นเราจะมองอะไรก็ไม่ได้ หรือน้ำกำลังเดือดเราจะมองอะไรก็ไม่เห็น สภาพจิตก็อย่างนั้น เวลาโกรธเหมือนกับน้ำเดือด มันก็พลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา ความคิดความอ่านที่แหลมคมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อกระทบอะไรด้วยความโกรธ มันก็พูดออกมาด้วยความโกรธ กริยาท่าทางที่แสดงก็เป็นความโกรธเป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งนั้น แต่ถ้าจิตใจเราสงบมันก็เรียบร้อยไม่ยุ่งไม่ยาก
ธรรมชาติจิตนั้นมันมีความสงบอยู่เป็นธรรมชาติ แต่ว่ามันมีสิ่งที่จรเข้ามาจากภายนอก ทำให้เกิดความขุ่นมัว เกิดความเศร้าหมอง เกิดความเร่าร้อน เกิดความมืดบอด อันนี้ให้ญาติโยมรู้ไว้ว่าของใหม่ทั้งนั้น มันไม่ใช่ของดั้งเดิมสักอย่างเดียว ของดั้งเดิมนั้นตัวเดิมแท้ๆ คือความสงบ คือความสะอาดของจิตใจ อันนี้เป็นของเดิม มาใหม่แล้วมันผิดลักษณะนี้ไป เช่นว่า ไม่สงบมันไม่ใช่ของเดิม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยา พยาบาท เรียกว่ากิเลสนี้มันไม่ใช่ของเดิม แต่ที่เราได้ฟังพระเทศน์ท่านเทศน์ว่าให้ละกิเลส คำว่าให้ละนั้นหมายความว่ามันมีกิเลสขึ้นเสียแล้ว เราต้องละมัน แต่ความจริงก่อนนั้นมันไม่มี กิเลสนั้นมันเกิดเป็นครั้งคราว เกิดเพราะการปรุงแต่ง เรียกว่าเป็นตัวสังขารชนิดหนึ่ง เป็นนามธรรม มันเกิดเพราะการปรุงแต่ง ปรุงแต่งจากอะไร ปรุงแต่งจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราเรียกว่า อายตนะภายใน
อายตนะภายในคือสิ่งที่ติดอยู่กับร่างกาย แล้วมันมีสิ่งภายนอก คือ อายตนะภายนอก มันมาต่อเข้ากับสิ่งที่เรามีอยู่ในร่างกาย รูปมาต่อกับตา เสียง หู กลิ่นมาต่อเข้ากับประสาทจมูก รสมากระทบประสาทลิ้น สิ่งถูกต้องมากระทบปลายประสาทแล้วใจเป็นผู้รับรู้ปรุงแต่ง พอตาเห็นรูปก็รู้ว่าเป็นรูป หูได้ยินเสียงก็รู้ว่าเป็นเสียง จมูกได้กลิ่นใจก็รับรู้ว่าเป็นกลิ่น ลิ้นได้รสก็รับรู้ว่าเป็นรส เมื่อร่างกายถูกต้องอะไรก็รับรู้ว่าได้ถูกต้องสิ่งใด แต่ว่ามันไม่หยุดเพียงรับรู้ มันเกิดการปรุงแต่ง ปรุงแต่งให้เกิดนึกอยากจะมี อยากจะได้ ปรุงแต่งให้เกิดความเกลียด อยากจะผลักดันสิ่งนั้นให้ออกไป ไม่อยากมี ไม่อยากได้
ความจริงในชีวิตของคนเราทุกวัน ทุกเวลานั้น เราก็อยู่อย่างนี้ อยู่ด้วยการดึงเข้ามา อยู่ด้วยการผลักดันออกไป สิ่งใดที่เราชอบใจ พึงใจเราก็ดึงมันเข้ามา สิ่งใดที่เราไม่ชอบใจไม่พึงใจเราก็ผลักมันออกไป เราอยู่ด้วยการผลักดัน ดึงดันอยู่ตลอดเวลา ดึงก็เพราะเราชอบ ที่ว่าชอบนั้นก็เพราะว่ามันถูกต้องกับฐานที่เรามีไว้ในใจ เรานี่มันมีสมมุติฐานอยู่ทั้งนั้น ทุกคนเขาเรียกว่ามีสมมุติฐานอยู่ในใจ สิ่งใดมันเข้ากันได้กับฐานที่เรามีไว้ก่อนเราก็พอใจสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าความพอใจของคนมันไม่เหมือนกัน รูปอย่างหนึ่งอาจจะเป็นที่พอใจของคนหนึ่ง แต่ว่าอาจจะไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น เสียงอย่างหนึ่งคนหนึ่งว่าเพราะ แต่อีกคนหนึ่งว่ามันแสบแก้วหูไม่เห็นอะไร กลิ่นอย่างหนึ่งคนหนึ่งชอบแต่อีกคนหนึ่งอาจจะไม่ชอบ เช่นกลิ่นดอกไม้บางอย่างบางคนดมไม่ได้แพ้ดอกไม้ชนิดนั้น แต่บางคนชอบ เหมือนดอกลำเจียกนี้บางคนชอบบางคนไม่ชอบ หรือดอกกุหลาบหรือดอกอะไร บางคนชอบบางคนไม่ชอบดอกไม้เหล่านั้น นี้เป็นเรื่องของความแตกต่างของฐานทางจิตใจที่คนนั้นมีอยู่
รสอาหารนี่ก็เหมือนกันไม่ใช่ว่าชอบเหมือนกัน บางคนชอบรสเปรี้ยว บางคนก็ชอบรสเผ็ดจัด บางคนก็ต้องชอบรสผสมกันไป เราเคยรับอาหารใดมาตั้งแต่เด็กเรามักจะชอบอย่างนั้น คนในภาคหนึ่งชอบอาหารอย่างหนึ่ง เช่นคนทางภาคใต้ชอบแกงส้ม แกงเหลือง คนภาคเหนือชอบแกงแค คนภาคอีสานก็ชอบลาบ ชอบลู่ อะไรไปต่างๆ นี่มันเป็นฐานที่ตั้งไว้ในใจ คือได้รับไว้ตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อเริ่มสัมผัสกับสิ่งทั้งหลาย เราได้สัมผัสสิ่งใด ลิ้นสัมผัสสิ่งใด ตาเห็นสิ่งใดก็ชอบใจสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไปถามใครว่าคนนั้นสวยไหม คนหนึ่งอาจจะว่าสวย แต่คนหนึ่งบอกไม่เข้าท่า ถามว่าอาหารนั้นอร่อยไหม คนหนึ่งว่าไม่อร่อยก็ได้ ดีของคนหนึ่งอาจจะไม่ดีของคนหนึ่งก็ได้ คนหนึ่งพอเห็นอาหารนั้นก็แหมสบายใจ กินด้วยความเพลิดเพลิน แต่อีกคนหนึ่งกินด้วยอาการพะอืดพะอมเพราะไม่ชอบใจ นี่มันเรียกว่าขึ้นอยู่กับฐานที่สมมุติไว้ในชีวิตของคนนั้นว่ามีฐานสมมุติอย่างไร
สิ่งใดที่มากระทบเหมาะกับฐานของตัวก็ย่อมจะพอใจสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่เหมาะก็ไม่พอใจ ความพอใจกับความไม่พอใจเราเรียกว่าเวทนา เวทนานี้มันไม่เที่ยง เวทนานี้มันเป็นทุกข์ ญาติโยมสวดมนต์ว่า เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง เวทนา อนัตตา เวทนาก็ไม่ใช่ตัวตน ความจริงเวทนามันไม่เที่ยง แล้วมันก็เป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา คือ มันเกิดจากการปรุงแต่ง ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง อะไรๆมันเกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ความสุขเกิดจากการปรุงแต่ง ความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากการปรุงการแต่ง ปรุงแต่งจากของที่มีในตัวเรากับสิ่งของภายนอก เช่น เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันเกิดมากระทบใจก็รับสิ่งนั้น เรียกว่า ธรรมารมณ์ เมื่อรับสิ่งนั้นมันก็เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา ยกตัวอย่างให้เห็นสักอย่าง เช่นว่า ตาเห็นรูปก็เกิดความรู้ทางตา ความรู้ทางตานี้เขาเรียกว่า จักขุวิญญาณ ภาษาธรรมะเรียกว่า จักขุวิญญาณ มีตานี่เรียกว่า จักขุ หรือ จักษุ แล้วก็รูปที่มากระทบตาเป็นของภายนอก พอกระทบปั๊บมันก็เกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่าเป็นจักขุวิญญาณ
ตา รูป ความรู้ทางตา สามอย่างนี้มันมาพรอมกันขึ้น เรียกว่าประชุมเกิดขึ้นเป็นผัสสะ เมื่อเป็นผัสสะแล้วมันก็เกิดเวทนา เรารู้สึกว่าเป็นสุขเพราะสิ่งนั้นเป็นที่พอใจ รู้สึกเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นไม่เป็นที่พอใจ หรือว่ารู้สึกเฉยๆไม่สุขไม่ทุกข์ ไอ้ของเฉยๆนี่มันก็มี เช่น เราดูต้นไม้ ดูต้นหญ้า ดูก้อนหิน ดูพื้นดิน อะไรต่างๆนี้มันเฉยๆ มันไม่มีรักไม่มีชัง ไม่มีชอบ หรือไม่มีอะไร มันเฉยๆ แต่ถ้าดูสิ่งที่เป็นอย่างอื่น เช่นคนนี่ ผู้ชายดูผู้หญิงผู้หญิงดูผู้ชายมันมักจะไม่เฉยเท่าใด มันเกิดอารมณ์ คือว่า เกิดอารมณ์ว่า น่ารัก น่าชัง น่าจะมีจะได้เป็นของเรา ไม่น่าจะมีไม่น่าจะได้ มันเกิดปรุงแต่งขึ้นอย่างนั้น เรียกว่าเป็นเวทนาขึ้นมา เวทนานี้มี ๓ เรื่อง คือ เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นี้อยู่ระหว่างสุขกับทุกข์มันเป็นกลางๆอยู่ มันมีเท่านี้ เมี่อเกิดเวทนาแล้วก็เกิดความอยากที่เรียกว่าเป็นตัณหา
ตัณหา คือ ความอยาก อยากอย่างไร ถ้าสิ่งนั้นเป็นที่พอใจก็อยากจะมี อยากจะได้ ถ้าไม่เป็นที่พอใจก็อยากจะผลักดันให้มันพ้นไป ไม่อยากให้อยู่ในสายตา ไม่อยากจะอยู่ให้ได้ยินได้เห็นได้อะไร เหมือนเราพูดว่า “ไปๆๆให้มันพ้นๆไปเสียที น่ารำคาญแกเต็มทีแล้ว” นี่เขาเรียกว่า มันเกิดอารมณ์ไม่อยาก ความไม่อยากนั้นก็เป็นตัณหาประเภทหนึ่ง เรียกว่า ไม่อยากจะมีจะได้ ถ้าอยากจะมีจะได้มันก็เป็นตัณหาประเภทหนึ่งเหมือนกัน นี่ความอยากมันเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าความอยากนั้นมันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความอยากได้มันก็ติดอยู่ในใจ ข้องอยู่ในใจเรียกว่า อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับตังมันติดลิง เรียกว่า ลิงติดตังนั่น มันติดสะโพก ติดมือ ติดเท้า แตะเข้าตรงไหนมันติดตรงนั้น เอาไม่ออกแล้ว คนเรามันก็ติดอยู่ในอารมณ์ประเภทต่างๆ เราติดสิ่งนั้นติดสิ่งนี้ แล้วสิ่งที่เราติดทำให้เราเป็นเราอย่างไร ทำให้เราเป็นสุขเมื่อสิ่งนั้นอยู่กับเรา ตามใจเราๆก็พอใจ เช่น เรามีลูก เราก็ติดในลูกว่าลูกของฉัน เรารักลูก หวังดีต่อลูก อยากให้ลูกดี ให้ลูกเจริญ ถ้าลูกมันดีมันเจริญเราก็สบายใจ แต่ถ้าลูกมันเกิดไม่ดีไม่เจริญขึ้นมา มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่เป็นที่พอใจของคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็นั่งกลุ้มใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ สิ่งที่เรามีมันทำให้เราเป็นทุกข์ก็ได้ มันทำให้เรากลุ้มใจหรือทำให้เราเป็นสุขก็ได้
คนเราจึงเป็นทุกข์เพราะทรัพย์ เป็นสุขเพราะทรัพย์ เป็นทุกข์เพราะลูก เป็นสุขเพราะลูก เป็นทุกข์เพราะสามี ภรรยา และก็เป็นสุขเพราะสามี ภรรยา มันทำให้เกิดทั้งสองฝ่าย การเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับความโง่ความเขลาในตัวเราเอง แต่ถ้าพูดเป็นภาษาธรรมะหน่อยก็ขึ้นอยู่กับวิชชา หรือ อวิชชา อวิชชาก็คือความโง่ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เรียกว่าเป็นอวิชชา พูดภาษาชาวบ้านก็ว่าโง่ ไม่รู้เรื่อง ที่นี้ถ้ามีวิชชา คือ มีความรู้ มีความเข้าใจในสิ่งนั้นถูกต้อง ความทุกข์มันค่อยผ่อนคลายไป ค่อยลดน้อยลงไปโดยความรู้ที่เรามีความรู้มากขึ้น เช่นว่า เกิดมีปัญหาขึ้นในครอบครัว เช่นว่า สมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรมไป เราก็เศร้าโศกเสียใจอาลัย มันเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นเพราะยังไม่ได้รู้ ยังไม่ได้เข้าใจ ยังตั้งตัวไม่ติด เพราะว่าถูกข้าศึกโจมตีเร็วเกินไป ไม่รู้ว่ามาถึงทันทีนี่เราไม่ทันตั้งตัว พอไม่ทันตั้งตัวก็ไม่สบายใจ ร้อน กลุ้มใจ เสียใจ อันนี้พอล่วงเลยมาค่อยคิด ค่อยอ่านหนังสือธรรมะบ้าง ฟังพระเทศน์บ้าง ค่อยเกิดความรู้สึกขึ้นว่า “อ้อ!เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนมันก็เป็นอย่างนี้” ไอ้เรื่องความตายนี่เป็นสมบัติของชีวิต มันมาคู่กันกับความเกิด แต่ว่าคนเราเลือกตายไม่ได้ จะเลือกวิธีตายก็ไม่ได้ เลือกที่จะตายก็ไม่ได้ เลือกเวลาก็ไม่ได้ ถ้าเลือกได้ใครจะไปตายให้มันไกลบ้าน ให้เกิดความลำบากยากเข็ญ พอรู้ว่าจะตายก็ไปนอนบนเตียงให้มันสบายแล้วก็จะตาย แล้วก็จะได้บอกคนนั้น คนนี้ว่า “เอ้อ! วันนี้ฉันจะตายแล้วนะ” ถ้าได้อย่างนั้นมันก็ดี นี่มันไม่รู้ จู่ๆ มันก็ปุ๊บเอาไปเลย เขาเรียกว่าพญามัจจุราชนี้ไม่ค่อยบอกให้รู้ว่าใครจะเป็นอย่างไร มันปุ๊บปั๊บๆมันก็เป็นขึ้น เราจึงพูดว่ามันไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัว มันเร็วเกินไป อะไรอย่างนี้ ก็อย่างนั้น มันต้องพูดอย่างนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งพูดคนเดียว เหมือนกันเกิดขึ้นแก่ใครก็เป็นอย่างนั้น แต่ว่านานเข้าๆก็ค่อยรู้ขึ้น ไม่ใช่ว่าเราไม่รักไม่ชอบผู้ที่ตายไปไม่ใช่ ยังรักยังชอบกันอยู่ ยังพอใจในคุณงามความดี
แต่ว่าปัญญามันเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้นในใจว่า “อ้อ!เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ คน สัตว์ เป็นอย่างนี้ ต้นไม้ก็เป็นอย่างนี้ไม่มีอะไรคงทนถาวร” สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไม่หยุด เปลี่ยนไปจนถึงที่สุดของความเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นก็แตกดับไป นี่ปัญญาค่อยเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นความเศร้าโศกความเสียใจก็ค่อยจางไป เบาไป ค่อยคลายไป คลายด้วยปัญญา เหมือนมีแสงสว่างเกิดขึ้น เราจึงค่อยเห็นอะไรต่ออะไร แสงสว่างน้อยๆอย่างตอนใกล้รุ่งมันมีแสงสว่างน้อยๆ อย่าพูดถึงแสงไฟนั้นเราบังคับได้ เปิดสวิตซ์ปุ๊บมันก็สว่างทันที แต่สว่างดวงอาทิตย์นี่มันค่อยๆ ค่อยสว่างขึ้นๆ ครั้นตอนแรกเราเห็นมัวๆ เอ้!เห็นต้นไม้ ต้นไม้หรืออะไร กลัว สมัยเด็กๆเคยเอาควายไปกลางทุ่งตั้งแต่ตีสี่ กลัวผี เพราะว่าเขาหลอกเรื่องผีกันจนกลัว พูดเรื่องผีบ่อยๆจนกลัวผี กลัวผีก็ต้องไปยืนอยู่ใกล้ควาย ถ้ามีอะไรก็ขึ้นขี่ควายขับวิ่งกันเท่านั้นแหละ ยืนใกล้ๆ ดูเอ๊ะ!ดูต้นไม้มันเคลื่อนได้นะ ต้นไม้ ตอไม้ นี่มันเคลื่อนได้ ทำไมมันเคลื่อนไม่ได้ ควายมันเคลื่อน ควายมันเคลื่อนเราเห็นต้นไม้เคลื่อนไปตามด้วยนะ คือเรายืนด้านนี้ ควายยืนตรงนี้ มันเดินกินหญ้า เราเดินตามมัน ต้นไม้มันเคลื่อนด้วย แต่ว่าปัญญาอย่างนี้มันไม่มี เมื่อเป็นเด็กมันไม่รู้ คิดว่ามันเดินได้ ตอไม้นี่มันเดินได้ ก็กลัวใหญ่ กลัวขนลุกขนพอง ดูไปๆมันค่อยสว่างขึ้นๆ อ้าวปัดโธ่!ตอไม้นั่นเอง นึกว่าผีหลอก กลัวซะเกือบแย่ นี่แหละเรียกว่าปํญญามันเกิด พอสว่างมองเห็นว่าตอไม้ไม่ใช่ผี ในชั้นแรกคิดว่าอะไรมันเดินได้ เพราะภาพมันเคลื่อนต่อหน้าตา เราเห็นสิ่งนั้นเคลื่อนไปด้วย อันนี้ภาพหลอกมันเป็นมายาแต่เราไม่รู้ มารู้เอาเมื่อโตแล้ว แต่เมื่อเด็กมันไม่รู้ รู้อะไร กลัวอะไร สิ่งเหล่านี้มันก็เหมือนกัน
อะไรที่มันเกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นเราก็ไปยึดไปถือด้วยความหลงผิดความเข้าใจผิด ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เช่นว่า เรามีลูกมีเต้า เราร้อนใจเพราะลูก ลูกมันไม่เหมือนใจ ไม่เรียบร้อย ว่าไม่นอนสอนไม่ฟังอะไรต่างๆนาๆ แล้วมีอะไรมันเหมือนใจบ้างในโลกนี้ ญาติโยมลองคิดดูสิ มีอะไรเหมือนใจบ้าง ที่จะว่ามันได้ทำได้ทุกอย่างมันไม่มีอะไร ท่านเจ้าคุณอุบาลี วัดบรมนิวาสเคยเทศน์ไว้อาตมาเคยอ่านนานมาแล้ว บอกว่าสิ่งที่เหมือนใจมีอย่างเดียวเท่านั้น “ม้ากาบกล้วย” ม้ากาบกล้วยนี่คือว่า เด็กๆเอากาบกล้วยมา เอามาถึงหักคอลงไปหน่อยแล้วมันก็เอามาใส่(ขออภัย)ใส่ระหว่างขา แล้วมันก็วิ่งเรียกว่าขี่ม้า ขี่ม้าต๊อกแต๊กๆ ไอ้ม้ากาบกล้วยนี่มันเหมือนใจ คือ จะเลี้ยวขวาก็ได้ จะเลี้ยวซ้ายก็ได้ จะหยุดก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ม้ากาบกล้วยนี่เราสั่งแล้วมันก็วิ่ง เราให้หยุดมันก็หยุดทันใจ แต่ม้าจริงนี่บางทีมันไม่หยุดนะ เราดึงบังเหียนแล้วบางทีมันก็ยังไป แต่ม้ากาบกล้วยนี่พอหยุดปั๊บมันหยุดทันที ท่านอุปมาชัดเหลือเกิน บอกว่ามีอย่างเดียวที่เหมือนใจ คือ ม้ากาบกล้วยเท่านั้นเอง นอกนั้นแล้วมันไม่มี แปลว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีนี่เป็นคนเมืองอุบล เด็กอุบลนี่ก็เล่นม้ากาบกล้วย อาตมาอยู่ปักษ์ใต้ก็เล่นม้ากาบกล้วยเหมือนกัน คือเอากาบกล้วยใบทางกล้วยนี่มาหักหน่อยเป็นหัวม้าแล้วก็ใส่ระหว่างขา วิ่งต๊อกแต๊กๆสั่งหยุด! มันหยุดปั๊บเลยนี่ม้ากาบกล้วย มีอันเดียวเลยที่ว่าเหมือนใจเรา นอกนั้นไม่มีที่จะเหมือนใจ มีลูกก็ไม่เหมือนใจ มีสามีก็ไม่เหมือนใจ มีภรรยาก็ไม่เหมือนใจ มีบ้านมีเรือนก็ไม่เหมือนใจ มันไม่เหมือนทั้งนั้น เรามันจะไปปรับของภายนอกไม่ได้ มันต้องปรับตัวเรา ปรับตัวเราให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ต้องทำความพอใจในสิ่งนั้น
คือว่าเป็นอย่างนี้ คือว่าคนเราอย่าอยู่ด้วยความทุกข์ จะคิดอะไรก็ตามใจอย่าคิดให้กลุ้มใจ ถ้าคิดแล้วมันเกิดกลุ้มใจ เสียใจ รำคาญ อึดอัด ไม่ถูกแล้วเป็นการคิดที่ไม่ถูกต้อง ต้องคิดใหม่ เอ๊!คิดอย่างนี้ไม่ได้ พระท่านว่ามันไม่ถูก คือเราวัดด้วยตัวเราเองว่าคิดแล้วกลุ้ม ไม่ถูก คิดแล้วอึดอัด เบื่อหน่าย คิดแล้วโกรธ คิดแล้วเกลียด มันไม่ดีทั้งนั้น แม้ว่าคิดอะไรแล้วมันเกิดร้อนใจ เกิดความกระวนกระวาย มีความทุกข์ขึ้นในใจ ไม่ดี เราต้องเปลี่ยนความคิด การเปลี่ยนความคิดนั้นต้องวิจัยตัวเอง คือ ต้องคิดว่า เอ!ทำไมจึงกลุ้มใจ ทำไมจึงร้อนใจ ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะอะไร เรื่องอะไร ต้องมานั่งวิจัยตัวเอง ขณะที่เราเปลี่ยนแนวความคิดมานั่งวิจัยตัวเองนั้น ไอ้ความคิดนั้นมันหายไปแล้ว ความทุกข์มันหายไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ว่ามันอาจจะกลับมาเมื่อใดอีกก็ได้ เพราะจิตใจคนเรานั้นมันกลับกลอก ดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ท่านจึงเปรียบว่า จิตคนนี่เหมือนกับลิง ลิงนี่มันลุกลิกๆอยู่ตลอดเวลา มันไม่อยู่นิ่ง อันนี้จิตคนเรามันก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องระวังเดี๋ยวมันกลับมาอีก ถ้าเราจะไม่ให้มันกลับมา เราก็ต้องแยกแยะ วิเคราะห์วิจัยในเรื่องนั้นจนเห็นชัดด้วยปัญญาของเราเองว่ามันคืออะไร แล้วเราก็ถึงบางอ้อ ร้องออกมาได้ว่า “อ้อ!มันเท่านี้เอง แหม!มัวกลุ้มใจเสียตั้งนาน” เรากลับตัวเราอย่างนั้นแล้วเราก็จะสบายใจ เราจะไปไหนจะทำอะไรก็เรียกว่ามันเป็นสุขอยู่ข้างใน เราไม่ต้องบอกใครว่าฉันเป็นสุขก็ได้ แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันสุขใจ ใจสงบนิ่ง ไม่มีอารมณ์ร้อน ไม่มีอารมณ์แรง ไม่มีความอึดอัดขัดอกขัดใจด้วยปัญหาอะไรๆต่างๆ ใจสบาย อย่างนี้แหละคือ ความถูกต้อง ชีวิตเรามันต้องอยู่ในรูปอย่างนี้ จึงจะเรียกว่าอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระธรรม พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าแนบสนิทอยู่ในใจ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้รู้ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร พระพุทธเจ้าท่านตื่นเราก็ตื่นอยู่ด้วยสติด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านบริสุทธิ์ เมื่อเราตื่นตัวอยู่ด้วยสติปัญญา ความเศร้าหมองมันไม่มีในใจ เราก็เป็นผู้บริสุทธิ์ เราก็ชื่อว่าอยู่กับพระตลอดเวลา ผู้อยู่กับพระย่อมมีความสงบใจ ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน จึงขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้คิดได้นึกได้รู้อย่างนี้
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ คือว่านั่งตัวตรง หลับตาเสียหน่อย ไม่ยุ่ง แล้วก็หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ขณะหายใจเข้ากำหนดรู้ตามลมหายใจเข้า ขณะหายใจออกกำหนดรู้ตามลมหายใจออก คอยต้อนความรู้สึกไว้ที่ลมเข้าลมออก อย่าให้มันวิ่งไปอื่นสักห้านาที เชิญญาติโยมทำได้ ณ บัดนี้ แผ่เมตตาปรารถนาความสุขแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า (ต่อด้วยบทสวดแผ่เมตตา)