แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ แล้วจงตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา อาทิตย์ที่ผ่านมานี้มีข่าวการประหัตประหารกันอย่างรุนแรงในประเทศอียิปต์ ท่านประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต ของอียิปต์ถูกยิงตาย ขณะที่ตรวจคนสวนสนาม ยืนดูเขาสวนสนามอยู่ แล้วก็มีพวกหนึ่งเขาว่าถือว่าเป็นพวกเคร่งศาสนา ความจริงไม่ใช่พวกเคร่งศาสนา เป็นพวกคลั่งศาสนา เคร่งกับคลั่งนี่มันไม่เหมือนกัน คือเคร่งหมายความว่า เคร่งครัดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามหลักคำสอนในศาสนาที่ตัวนับถือ
พวกคลั่งศาสนานั้นไม่ค่อยเข้าถึงธรรมะของศาสนา แต่ว่านับถือศาสนาด้วยความงมงาย แล้วก็เมาศาสนา ถือศาสนาเหมือนกับดื่มเหล้า เหล้านี่เราดื่มเข้าไปแล้วมันเมา หรือยาเสพติดทุกประเภท เมื่อใครไปติดเข้าแล้วก็เมา พวกที่ถือศาสนาแล้วก็เมานั้นมีอยู่จำนวนไม่ใช่น้อย พวกคอมมิวนิสต์มันถึงด่าเอา ด่าว่าศาสนาเป็นสิ่งเสพติด ศาสนาที่เป็นเนื้อแท้ไม่ใช่สิ่งเสพติด แต่เป็นสิ่งทำลายสิ่งเสพติด เช่น พระพุทธศาสนาของเรานั้นมีหลักคำสอนที่ทำลายการเสพติดอะไรต่างๆ ไม่ให้ติดในอะไร ไม่ให้ยึดมั่นในอะไร ให้ปฏิบัติธรรมะเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ถ่ายเดียว จึงไม่เมา ผู้นับถือพระพุทธศาสนาถูกต้องไม่เมาศาสนา ไม่เอาศาสนาไปใช้เป็นเครื่องมือฆ่าคน
แต่ว่าในบางศาสนานั้นมีคนประเภทเมาศาสนามากอยู่ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน มีความเมากัน ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์โลกจะพบว่าพวกเมาศาสนา หรือพวกคลั่งศาสนา ทำความยุ่งมาก รบราฆ่าฟันกันเป็นเวลาตั้งหลาย ๑๐ ปี เช่น รบแย่งที่เกิดของศาสดากันเป็นเวลาถึง ๓๐ ปี เอาคนไปตายเสียไม่ใช่น้อย แล้วอ้างว่าเพื่อศาสนา แล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็อ้างว่าเพื่อศาสนา แล้วเอาคำฝรั่งมาใช้ว่า Only War Only นี่หมายความว่าบริสุทธิ์ War หมายถึงสงคราม เรื่องสงครามนี่มันจะบริสุทธิ์ไม่ได้ การรบราฆ่าฟันกันนั้นจะเป็นเรื่องบริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะเรื่องรบราฆ่าฟันมันเป็นเรื่องกิเลส เรื่องต้องใช้โลภะ โทสะ โมหะ ตลอดเวลา แล้วจะเรียกว่าเป็นบริสุทธิ์ไม่ได้ แม้สงครามที่เรียกว่าสงครามบริสุทธิ์ มันก็บริสุทธิไม่ได้ ทางที่ถูกไม่ควรจะทำสงครามกันจึงจะเรียกว่าบริสุทธิ์
นายอันวาร์ ซาดัต นี่เป็นประธานาธิบดีสืบต่อจากนายนัสเซอร์ นายนัสเซอร์นี่แกก็เมาอยู่พอสมควร แต่ว่า อันวาร์ ซาดัต นี่ไม่เมาเท่าใด พยายามเจรจาปรานีปรานอมกับอิสราเอลเพื่อไม่ต้องรบกัน เพราะรบกันมาหลาย ๑๐ ปีแล้วมันไม่ได้เรื่องอะไร มีแต่ความเสียหายคนตายกันมากมาย ควรจะจับมือกันได้แล้ว ผลที่สุดก็จับมือกันได้เดินทางไปเยี่ยมอิสราเอลซึ่งเป็นเมืองศัตรู แล้วก็เลยไม่ต้องรบกัน แต่ว่าคนประเภทอยากรบมันยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นมันถือว่าซาดัตนี่ทำไม่ถูก ความจริงทำถูกแต่มันไม่ถูกใจพวกเหล่านั้น ไอ้เรื่องความถูกต้องกับเรื่องความถูกใจนี่มันคนละเรื่อง สิ่งถูกต้องนั้นเป็นสิ่งถูกต้องตามระเบียบตามกฎเกณฑ์ทางธรรมะ ถูกใจนั้นอาจจะไม่เป็นธรรมก็ได้ ใครชอบใจอะไรก็มักจะถือว่าสิ่งนั้นถูกใจ แต่อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้
เช่น คนชอบสุราเมรัย ก็เขาถือว่าสุราเมรัยเป็นสิ่งถูกใจเขา แต่มันไม่ถูกต้องตามศาสนา นักการพนันก็ชอบการพนันแล้วก็ถือว่าการพนันนั้นเป็นสิ่งถูกใจ แต่มันไม่ถูกต้องตามหลักธรรมะและกฎหมายบ้านเมือง พวกชอบเที่ยวกลางคืนก็ถูกใจแต่มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจะถือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะต่างคนก็ต่างจะทำตามใจตัว การกระทำตามใจตัวนั้นเป็นเรื่องถูกใจแต่มันไม่ถูกต้อง และเมื่อพวกถูกใจมารวมกลุ่มกันเข้าก็เกิดพลัง แล้วก็ไปกระทำความผิดเสียหาย (06.28 ทำให้คนที่) เขาทำถูกต้องถึงแก่ความตายไป แล้วก็เกิดสับสนวุ่นวายกันต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่ปรากฎเกิดขึ้น ที่นำมาพูดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ชาวโลกในปัจจุบันนี้มีอยู่จำนวนหนึ่ง ที่เป็นคนคลั่งศาสนาแต่ไม่เคร่งศาสนา ไอ้คนคลั่งนี่ถ้ามันได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้วมีแต่เรื่องฉิบหาย เช่น ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนี่ก็จะทำประเทศไปสู่ความล่มจม เพราะเป็นคนหัวรุนแรง หัวรุนแรงนี่เป็นพวกคลั่งไม่ใช่พวกเคร่ง ถ้าเกิดหัวรุนแรงก็ทำอะไรแบบหักโหม ใช้อารมณ์มากกว่าใช้เหตุผล
ประธานาธิบดีประเทศลิเบียนี่พวกคลั่งเหมือนกัน พอนายซาดัตตายนี่แกดีใจ ให้ประชาชนเดินขบวนยกธงโห่ร้องบอกว่าดีใจว่านายซาดัตตาย อันนี้เรียกว่าเสียมารยาทที่สุด คนเราแม้จะเกลียดกัน เวลาคนนั้นตายก็ไม่ควรจะโห่ร้อง ยังมีจิตใจเป็นสัตว์เดรัชฉานอยู่คือเป็นไก่ในเรื่องนิทานอีสป พวกเราเคยอ่านนิทานอีสปเมื่อเด็กๆ ไก่สองตัวหากินอยู่ในลานบ้านเดียวกัน แล้วก็ตีกันบ่อยๆ อันนี้ไอ้ตัวหนึ่งตีตัวหนึ่งชนะ พอตีชนะแล้วขึ้นไปโก่งคอขันอยู่บนกำแพง ขันเจี้ยวเจื้อยเหมือนไก่ตัวนั้น อันนี้ก็เหยี่ยวบินมาเห็นเข้า ไอ้นี่น่ากิน เลยเฉี่ยวเอาไปกินเสีย นี่เขาเรียกว่าไม่ใช่นักกีฬา นักกีฬานั้นไม่ทับถมผู้แพ้ แต่ว่าอยู่ในอาการสงบ
นี่รัฐบาลประเทศนั้นมันก็แย่หน่อย เรียกว่าโห่ร้องยินดี หลายประเทศโห่ร้องยินดี ซีเรียพวกโจร กองโจรปาเลสไตน์ก็โห่ร้องยินดี อิหร่านนี่ก็โห่ร้องยินดีเหมือนกันเมื่อซาดัตตาย พวกนี้พวกคลั่งทั้งนั้น แล้วประเทศที่คลั่งศาสนานี่วุ่นวายที่สุด ประเทศอิหร่านตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองมาฆ่าคนไปเป็นหมื่นแล้ว บางวันฆ่าร้อยคน ตัดสินง่ายๆ ไม่ต้องสืบสวนมากเอาไปยิงเป้าเสียเลย ตายกันไปเยอะแยะ นี่เพราะความคลั่งไม่ใช่ความเคร่งในศาสนา นำมาพูดสู่กันฟังเพื่อจะเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าเราจะถืออะไรนั้นอย่าให้มันรุนแรง ต้องถือสายกลางเอาแต่ความพอดี เอาแต่ความสุขความสงบ อย่าสร้างความทุกข์ความเดือดร้อน
ถ้าใช้กิเลสแล้วมันยุ่ง ถ้าใช้ธรรมะแล้วก็ไม่ยุ่ง เป็นตัวอย่างที่เราเห็นว่าเกิดขึ้นในโลก ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกในชีวิตประจำวันก็เป็นบทเรียนทางธรรมะเหมือนกัน ถ้าเรามาคิดแล้วพิจารณาในแง่ธรรมะ แล้วก็มองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร แล้วจะได้เตือนตัวเราหมู่คณะของเรา ไม่ให้ทำอะไรแบบรุนแรงกันเกินไป เมืองไทยเรานี้ถ้าพูดไปแล้วยังมีดีอยู่ คือไม่มีคนประเภทคลั่ง ไม่ว่าคลั่งอะไร คลั่งศาสนา คลั่งการเมือง หรือว่าคลั่งอะไรก็มีน้อย อย่าไปเพาะเชื้อแห่งความบ้าคลั่งขึ้นในจิตใจประชาชน ถ้าไปปลุกระดมให้คนคลั่งแล้วประเทศจะจราจลวุ่นวาย จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น
ในประเทศอินเดียก็มีคนประเภทคลั่งในสมัยหนึ่ง ท่านมหาตมา คานธี นี่ท่านเป็นคนเคร่งครัดศาสนา ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ส่งเสริมสันติ ไม่ส่งเสริมความวุ่นวาย ไม่ชอบการรบราฆ่าฟัน ท่านมีหลักประจำใจและสอนหมู่คณะว่า อหิงสา ปรโม ธัมโม การไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมสูงสุด การไม่เบียดเบียนกันเป็นสิ่งสูงสุด อันนี้ตรงกับหลักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัพยา ปัชฌัง สุขัง โลเก การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก อยู่ในโลกถ้าไม่เบียดเบียนกันแล้วเป็นสุข ไม่พูดถึงเรื่องเงินทองข้าวของ พูดถึงเรื่องใหญ่คือการไม่เบียดเบียนกัน เพราะถ้าคนจะมีเงินมีทองแต่ว่าเบียดเบียนกันมันก็ไม่เป็นสุข เศรษฐกิจดีถนนดีอะไรดีแต่คนจี้ปล้นกันตลอดเวลา มันก็ไม่มีความสุข ความสุขจึงอยู่ที่การไม่เบียดเบียนกัน
ท่านมหาตมา คานธี ท่านมีอุดมการณ์ในข้อนั้นอย่างนั้น แต่ว่ามีคนพวกหนึ่งไม่ชอบ เด็กหนุ่มน่ะมันไม่ค่อยชอบ มันชอบจะรบกันกับพวกปากีสถาน จะได้แหลกรานกันไปทั้งสองฝ่าย มันไม่คิดถึงอนาคตข้างหน้า คิดจะรบท่าเดียว เลือดเข้าตาเขาเรียกว่าเลือดเข้าตา เลยมันทำการประทุษร้าย ฆ่ามหาตมาคานธีตาย ในขณะที่ท่านจะลงไปสวดมนต์ที่สนามหญ้า แล้วจะพูดจาปราศรัยกับประชาชน เพราะคานธีนั้นจะเวลาจะพูดอะไรกับใครนี่ต้องสวดมนต์ก่อน นำจิตใจคนเข้าหาธรรมะเสียก่อนให้สงบใจนึกถึงธรรมะศาสนา แล้วจึงจะพูดจาภาษาคนกันต่อไป ในขณะเดินไปจะถึงแท่นที่จะปราศรัย ไอ้หนุ่มคนนั้นมันเข้ามาไหว้ด้วยเอามือแตะเท้าคานธี แต่ว่าพอยกมือขึ้นมันเอาปืนซ่อนอยู่ในมือยิงเปรี้ยงเข้าให้
คานธีนี่ยิงง่ายเพราะแกเหมือนกับพระ ร่างกายก็ผอมไม่ใช่อ้วนท้วนอะไร แล้วเข้าไปยิงง่ายเพราะเข้าไปกราบ กราบแล้วยิงเลยตายไป เพราะคนคลั่งศาสนาเหมือนกัน อันนี้มีข่าวบ่อยๆ พวกคลั่ง พวกคลั่งนี่ไม่ถึงธรรมะ ไม่ถึงเนื้อแท้ของศาสนา ความจริงศาสนาทุกศาสนาไม่สรรเสริญการฆ่า ไม่สรรเสริญการเบียดเบียนกัน แล้วไม่ได้นิยมชมชอบในเรื่องความรุนแรง แม้ศาสนาอิสลามที่สมัยพระนาบียังอยู่นี่ ต้องรบบ่อยๆ แต่ว่าเป็นความจำเป็นทั้งนั้น ที่ท่านรบเพราะจำเป็นเพื่อป้องกันตัว เพราะถ้าไม่รบมันก็อยู่ไม่ได้ เลยเราเห็นว่าศาสนานี้มีการรบกันมาก แต่คนที่นับถือศาสนาไม่เข้าใจก็เอาเรื่องนี้มาเป็นตัวอย่าง แล้วก็ชอบใช้ความรุนแรง
โดยเนื้อแท้เขาไม่ชอบ ศาสดาก็ไม่ชอบความรุนแรง พระเยซูคริสต์ก็ไม่ชอบความรุนแรง พระพุทธเจ้านั้นไม่ต้องพูดหรอก เพราะว่าท่านเป็นพระ เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่สรรเสริญความรุนแรง ไม่สรรเสริญความบ้าคลั่ง แต่สรรเสริญปัญญาและสติ ผู้มีสติ ผู้มีปัญญา ทำอะไรไม่ผิดพลาด นี้เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการอยู่ในชีวิตของชาติ ของบ้านเมือง ถ้าเราจะพบเด็กหนุ่มๆ ช่วยพูดแนะนำตักเตือน เรียกว่ากระตุกบังเหียนไว้บ้างไม่ให้วิ่งคะนองแรงเกินไป จนเกิดรบราฆ่าฟันกันหรือเกิดการเบียดเบียนกัน การต่อสู้กันนั้นต้องสู้อย่างลูกผู้ชาย สู้อย่างมีกติกาไม่ทำอะไรนอกกติกา อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม คือประเทศชาติ
อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด ก็นำมาพูดฝากไว้เพื่อคนจะได้เอาไปศึกษา จะได้ทำความเข้าใจในเรื่องที่มันเป็นบทเรียนสำหรับชีวิต ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในโลก เพราะเวลานี้มีคนประเภทอย่างนี้มาก มันชอบฆ่าคนใหญ่คนโต เช่น ฆ่าโป๊ปนี่มันไม่ได้เรื่องอะไร โป๊ปท่านไม่ได้ทำอะไรให้ใครเสียหาย มีแต่เมตตาปรานีทำแต่เรื่องดีไม่มีเรื่องร้าย แต่ทำไมมันต้องการฆ่า พวกนี้มันเป็นพวกจิตผิดปกติ ต้องการฆ่าคนที่มีชื่อเสียง แล้วตัวจะได้มีชื่อเสียงติดอยู่ในประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกด่าเล่นวันละเจ็ดหนๆ มันไม่ได้เรื่องอะไร หรือว่าฆ่าประธานาธิบดีอเมริกา มันก็เหมือนกัน พวกที่จิตผิดปกติ
สมัยโบราณก็มีการฆ่าอย่างนี้ ล้วนแต่เป็นพวกจิตผิดปกติทั้งนั้น คนเราทำอะไรมันเกินขอบเขต เขาเรียกว่าสภาพจิตผิดปกติ (16.33 คนที่มีจิตปกติ) นั้นไม่ทำอะไรรุนแรง ทำอะไรก็มีเหตุมีผลแล้วก็ใจสงบ ใจเยือกเย็น มีสติกำกับ มีปัญญากำกับในการกระทำเรื่องนั้นๆ เรื่องยุ่งยากก็จะไม่เกิดขึ้น เมืองไทยเรานี้ถ้าพูดกันไปแล้วก็นับว่ายังบุญโขอยู่ ที่คนประเภทรุนแรงไม่มี ที่ไม่รุนแรงนั้นก็เนื่องจากอะไร เนื่องจากฐานคำสอนในทางพระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมความเบียดเบียนกัน ไม่ส่งเสริมความรุนแรง แต่ว่าสอนให้ปฏิบัติตนให้พอเหมาะพอดี เรียกว่าทางสายกลาง แล้วก็สอนให้มีเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดที่จะมากได้ สอนให้รู้จักทำทาน ให้รู้จักรักษาศีล ให้รู้จักปฏิบัติตนในทางสูงยิ่งขึ้นไป เป็นหลักประจำจิตใจ
ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เราไม่มีสงครามระหว่างศาสนา พุทธศาสนาไม่เบียดเบียนศาสนาใดๆ แม้จะถูกเบียดเบียนบ้าง พระท่านก็ถอยไปเสีย ท่านไม่ต่อสู้ เพราะไม่มีอาวุธจะใช้แล้วก็ไม่นิยมใช้ ท่านให้อภัยทาน ไม่ถือโทษโกรธตอบ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดีย นาลันทามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่โตมาก มีนักศึกษาเป็นหมื่นๆ แล้วก็พวกมุสลิมเข้ามาลุกรานทำการเบียดเบียน เผามหาวิทยาลัยเป็นขี้เถ้า พระสงฆ์องค์เจ้าท่านไม่สู้ ไม่รบตบมือกับคนเหล่านั้น แล้วก็ไม่ได้สอนให้ใครต่อสู้ ท่านหนีไปซะเพราะแผ่นดินมันยังกว้างพอจะหนีได้ แล้วหนีไปอยู่ที่อื่นไม่อยู่ในสถานที่นั้น อันนี้เป็นเรื่องไม่ก่อเวรก่อกรรม
เพราะพระพุทธเจ้าสอนว่า เวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวรแก่กันและกัน ความโกรธไม่เคยชนะด้วยความโกรธ ความชั่วไม่เคยชนะกันด้วยความชั่ว แต่ว่าความโกรธชนะด้วยความไม่โกรธ ความชั่วชนะด้วยความดี เอาสิ่งดีเข้าไปสู้ สู้ด้วยความดี ไม่สู้กันด้วยความร้าย ไม่สู้กันด้วยการโกรธตอบตีตอบว่าตอบ ในพระสูตรแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสเตือนภิกษุทั้งหลาย ว่าภิกษุทั้งหลายถ้าใครเอาเลื่อยเหล็กมาเลื่อยขาของเธอ เนื้อหนังขาด เนื้อขาดจรดกระดูก ถ้ามี ถ้าเธอมีใจโกรธตอบคนเหล่านั้น เธอชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของตถาคต ไม่ทำตามคำสอนของตถาคต คำสอนของตถาคตนั้นคือไม่ให้โกรธคนที่มาเลื่อยขา ไม่ให้คิดประทุษร้ายต่อเขา ให้แผ่เมตตาต่อเขา แล้วก็เรื่องมันจะไม่ยืดยาว
หรือเวลานี้เราจะเห็นว่ามีการแก้แค้นกันอย่างรุนแรงในสังคมมนุษย์ แก้แค้นกันด้วยการยิงกัน กระหน่ำเข้าไป ไม่ตายคนๆ เดียว แต่ว่าตายทั้งบ้าน พ่อแม่ตาย ลูกเล็กเด็กน้อยพลอยตายไป ความจริงเด็กเหล่านั้นไม่รู้เดียงสา ไม่ได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็พลอยได้รับทุกข์จากการพยาบาทเบียดเบียนกัน มีอะไรโกรธเคืองกันนิดๆ หน่อยๆ ก็จะฆ่าจะแกงกันขึ้นมาเลยทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดโทสะ
เมื่อวานนี้มีเด็กคนหนึ่งนู่นมาจากพัทยา คือเขาโทรศัพท์มาหลายครั้ง อันนี้เด็กที่กุฏิข้างในนี่ มันไม่ไปปลุกพระเพราะว่าพระกำลังหลับ มันก็ต้องเดินทางมา แล้วมันโกรธ โกรธเด็กที่กุฏินั้นน่ะ ตามันเขียวเชียว มันไปถามอาตมาว่าพระนอนหลับนี่ปลุกไม่ได้หรือ บอกว่าปลุกได้บางครั้ง ปลุกไม่ได้บางครั้ง ทำไมเธอ ผมโทรมาไอ้นี่มันไม่ไปปลุกพระ ทำให้ผมต้องเดินทางมาตั้ง ๒๐๐ กิโล เพื่อมาธุระ บอกว่ามันเรื่องของเธอ เธอหยุดเรื่องนี้อย่าพูด หยุดเสีย แล้วให้มันหยุด แต่ตามันมอง มองไอ้เจ้า เจ้าเอียด มองตาเขียวนะเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อ นี้ถ้าไม่ใช่ที่วัดมันคงจะกินเลือดไอ้เอียดไปเสียแล้ว มันหาว่าไม่ไปปลุกพระที่มันต้องการโทรมา ธุระของเขา แต่ว่ามันมาโกรธคนอื่น
เลยบอกว่าเธอไม่มีสิทธิที่จะโกรธเด็กที่ไม่ไปปลุกพระ ไม่มีสิทธิที่จะโกรธจะเกลียดเขา เราควรจะเฉยๆ แต่ว่ามันโมโหโทโส มันไม่เคยเข้าวัดเท่าใด เลยมันก็บอกว่าเอาละเธอไปได้ กลับบ้านได้แล้ว เสร็จธุระแล้วไม่ใช่หรือ บอกว่าเสร็จแล้ว เสร็จแล้วก็กลับบ้านได้ อย่ายืนอยู่นานๆ เดี๋ยวตาเธอมันจะลุกเป็นไฟไปไหม้คนอื่นจะเดือดร้อน แล้วมันก็ออกไป เดินตุปัดตุป่องไป นี่คือว่าอารมณ์ คนเราไม่รู้จักบังคับอารมณ์ เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้จักควบคุมจิตใจ เมื่อไม่รู้จักควบคุมจิตใจมันก็เกิดรุนแรง อะไรอยู่ในมือมันก็ใช้สิ่งนั้น มีไม้มันก็ยกไม้ตีเขา มีมีดมันก็จะแทงเขา มีปืนก็จะยิงเขา
คนเราบางทีเที่ยวพกปืนโดยไม่ใช่เวลา ซึ่งความจริงก็ผิดกฎหมาย แต่มันก็พกปืนไปในร้านกาแฟในร้านอาหาร เกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่เรื่องรุนแรงอะไร เพียงเพื่อนมองเท่านั้น เขากินแล้วมองๆ มันเขม่น มองทำไม ทำไมมองไม่ได้หรือ เรียกว่าเกลือจิ้มเกลือเข้าแล้ว ต่างคนต่างเค็ม ผลที่สุดก็เลยเปรี้ยงปร้างกัน คนที่ไม่มีสาเหตุอะไรก็พลอยตายไปด้วย อย่างนี้มีอยู่บ่อยๆ ก็เพราะว่าขาดความยับยั้งช่างใจ ไม่มีการควบคุมตัวเองด้วยธรรมะ จึงได้เกิดความรุนแรงอย่างนั้น เราเห็นเหตุการณ์อันนี้แล้ว ก็ควรจะเอามาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนใจว่าทำอย่างไรจะให้โลกมนุษย์นี่มันมีความคิดดีขึ้น มีความยับยั้งช่างใจมากขึ้น รู้จักใช้เหตุผลมากขึ้น แล้วโลกก็จะอยู่กันด้วยความสุขความสงบ
จะเอาอะไรไปช่วยยับยั้งช่างใจเรื่องอย่างนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าอะไรจะช่วยได้ เช่น กฎหมายบ้านเมืองนี่ก็ช่วยได้นิดหน่อย แต่คนมันโกรธมันไม่นึกถึงกฎหมายนะ มันไม่ทำตามกฎหมาย จึงต้องใช้หลักศีลธรรมเอามาช่วย คือศาสนานี่ คือให้คนได้มีความหนักแน่นในศาสนา เชื่อมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ แต่ไม่ได้เชื่องมงาย เชื่อด้วยสติด้วยปัญญา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเรานั้น คนที่มีความหนักแน่นในพระศาสนา จะไม่มีความงมงาย จะไม่มีความหลงผิดเข้าใจผิดอะไรต่างๆ แต่จะมีความเชื่อถูกต้อง เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ท่านวางกฎเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีปัญญากำกับ ไม่ใช่ศรัทธาด้วยความงมงาย เชื่อง่ายเชื่อดายในเรื่องนั้นๆ แต่ว่าให้เชื่อด้วยปัญญา
ในที่ใดมีศรัทธาความเชื่อ ที่นั้นก็ต้องมีปัญญาควบคู่อยู่ด้วย เพราะลำพังแต่ศรัทธาตัวเดียวนั้นมันชักจะง่ายเกินไปยอมรับทุกอย่าง ใครพูดอะไรให้ฟังอ่านหนังสือเล่มใด หรือมีข่าวลือประเภทใดเชื่อหมด ยุ่งหมดพวกเชื่อแบบไม่ยุ่ง ท่านจึงให้ปัญญาไว้ให้เครื่องมือไว้อีกอันหนึ่งคือปัญญา ปัญญาสำหรับวินิจฉัยว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรไม่ดี อะไรจะเป็นประโยชน์ อะไรจะไม่เป็นประโยชน์ ท่านมีปัญญาเข้ามากำกับ พอมีปัญญาเข้ามากำกับเรื่องมันก็สมดุล มีความสมดุลเกิดขึ้น ความพอดีก็เกิดขึ้น จึงไม่มีเรื่องอะไรเสียหาย นี่เรื่องหนึ่ง
สมมติอีกเรื่องหนึ่ง หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั้น คือยิ่งเราปฏิบัติมากขึ้นเท่าใด จิตใจก็ยิ่งสูงขึ้น สงบขึ้น ปราณีตขึ้น เมื่อจิตใจเราสูงมันก็ต่ำไม่ได้ เมื่อจิตใจสงบความวุ่นวายมันก็ไม่มี จิตใจที่ปราณีตก็ไม่มีความหยาบอยู่ในจิตใจ นี่มันแก้กันอยู่ในตัว แล้วอีกประการหนึ่งคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดก็คือว่า สอนให้ปล่อยวาง ไม่ได้สอนให้ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอะไรต่างๆ คือไม่ได้ยึดถือไว้ด้วยความรั้น หรือความมั่นติดใจในทางผิด ที่เรียกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น คือถือไว้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับใช้ แต่ไม่หลงใหลในเครื่องมือนั้น ไม่ติดใจในเครื่องมือนั้นจนงมงาย
พระพุทธเจ้าท่านเคยเปรียบให้ฟังว่าอย่างนี้ ว่าคำสอนของตถาคตเป็นเหมือนแพสำหรับข้ามฟาก อันนี้ปรากฏอยู่ในพระสูตรชื่อว่า (27.20 โอลุมโอ) เป็นพระสูตรที่เกี่ยวด้วยเรื่องแพ บอกว่าคำสอนของตถาคตเป็นเหมือนแพสำหรับข้ามฟาก เพราะคนในสมัยก่อนนี้ทำแพรไม้ไผ่ แพไม้สำหรับข้ามฟากข้ามแม่น้ำ อันนี้เวลาลงไปในแพแล้ว ก็เอาไม่ถ่อค้ำเพื่อให้แพเคลื่อนไปสู่ฝั่งนู้น พระองค์บอกว่าคำสอนเหมือนกับแพสำหรับนำคนข้ามฟาก คือนำคนจากฟากแห่งความทุกข์ไปสู่ฟากที่มีความสุข จากฟากที่มีความวุ่นวายไปสู่ฟากแห่งความสงบ จากฟากที่มีความมืดบอดไปอยู่ฟากที่มีความสว่างไสวด้วยปัญญา
เมื่อลงไปในแพแล้ว ก็ให้รีบถ่อเอาแพออกจากฝั่งเพื่อไปสู่ฝั่งนู้น อย่าไปเถียงกันด้วยเรื่องแพ ให้ใช้แพสำหรับข้ามฟาก อย่าไปยึดรักแพ อย่าไปติดอยู่ในแพ แล้วก็ไม่ขึ้นฝั่งหรือว่าไปเถียงกัน เช่น เถียงกันว่าแพของฉันดีกว่า แพของแกสู้ฉันไม่ได้ แพของฉันมันไม้จริง ไอ้แพของแกมันไม้พุ ไปยืนเถียงกัน ถ้าไปเถียงกันอย่างนั้นไม่มีเวลาถ่อแพออกจากฝั่ง จะใช้ไม้ถ่อนั่นแหล่ะตีหัวกัน เลยตายอยู่กับแพนั้นเอง ไม่สามารถจะข้ามฝั่งไปได้ พระองค์บอกว่ามันไม่ถูก ความไปยึดถือเอาแพไปอวดกันนี่มันไม่ถูก แต่ว่าอย่าเอาแพไปอวดกัน ให้ลงในแพแล้วก็รีบถ่อข้ามไป เมื่อถึงฝั่งแล้วให้ขึ้นจากแพ อย่าไปนึกว่าแหมแพสวยๆ ไม่อยากจากไปเลย เลยไปสร้างกระท่อมน้อยนอนอยู่ในแพต่อไป อย่างนี้มันก็ถึงฝั่งไม่ได้ อันนี้เรานับถือศาสนานี่ก็เหมือนกัน เราอย่าเอาคำสอนที่เราได้รับนี้ไปข่มขู่ใครๆ ไปเหยียดหยามใครๆ หรือว่าไปพูดโต้เถียงกันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นสาระกับคนเหล่านั้น ซึ่งมันไม่ได้เรื่องอะไร
วันนั้นไปที่สมาคมหนึ่งที่ซอยอะไร ไปพูดให้คนฟัง พอพูดจบแล้วมีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ท่าทางก็เป็นคนรุนแรงอยู่สักหน่อย จุดหมายก็จะพูดเรื่องกินผักดีหรือว่ากินเนื้อดี แต่ว่ามันฉลาด มันฉลาดในการใช้คำพูด คือมาพูดยั่วก่อน มายั่วถามเรื่องนี้ดักคอก่อน เช่น มาถามว่าต้นไม้มีวิญญาณไหม ถ้าตอบว่าต้นไม้มีวิญญาณ มันก็ว่าเอ้าเราฆ่าต้นไม้มันก็เป็นบาป สัตว์มีวิญญาณไหม มีวิญญาณ ฆ่าสัตว์ก็เป็นบาป มันพูดอย่างนั้น พูดไปได้ ถามสักสองข้อ อาตมาก็พอรู้แกว พอรู้แกวก็เลยบอกว่าฉันไม่อยากจะเถียงกับใครเรื่องเหล่านี้ เพราะมันไม่เป็นประโยชน์อะไร เธอนี่ยึดถืออะไรอยู่มั่นคงแล้ว ถ้าว่าไปพูดกับคนอื่นที่เขาเห็นไม่เหมือนเธอ เธอก็ต้องเถียงกับเขาเรื่อยไปไม่รู้จบไม่รู้สิ้น
เธอจะกินผักก็กินไปเสีย ไม่มีใครว่าอะไร กินไปเสีย กินตามสบาย จะได้ถึงนิพพานด้วยการกินผักก็กินไป แต่ว่าเธออย่าเที่ยวไปด่าคนอื่นที่เขาไม่กินเหมือนเธอ หรือเขาไม่ได้ทำเหมือนเธอ เพราะว่าแพนี่มันมีหลายแพ แพไม้ไผ่ก็มี แพไม้จริงก็มี แพหยวกก็มีเหมือนกัน ทำด้วยต้นกล้วยก็มี แล้วเราจะบอกว่าแพฉันดีกว่าแพคุณมันก็ไม่ได้ ประโยชน์มันอยู่ที่ว่าข้ามฟากได้หรือไม่ ใช้แพนั้นแล้วข้ามฟากได้หรือไม่ ถ้าเราลงแพหยวกข้ามฟากได้แพหยวกก็ใช้ได้ ลงแพไม้ไผ่ข้ามฟากได้แพไม้ไผ่ก็ใช้ได้ แม้ว่าไม่เป็นแพซุงต้นเดียว เราไปกอดซุงแล้วเอามือตะพุ้ยน้ำมันก็เลื่อนไปฝั่งนู้นได้ ซุงต้นนั้นมันก็ใช้ได้ อันนี้มันสบายใจกว่า อย่ามาชวนใครเถียงนะมันยุ่งเปล่าๆ เด็กหนุ่มมักเป็นอย่างนั้น คือรุนแรงนั่นเอง หากไปถืออะไรแล้วมันถือ เขาเรียกว่าถือด้วยความคิดรุนแรง เลยเป็นแบบยึดมั่นถือมั่น
พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญความถือเช่นนั้น แต่ว่าให้รู้จักผ่อนผันสั้นยาว ไม่ใช่ว่าเราพบคนนั้นมันไม่เหมือนเรา แล้วเราก็ว่าใช้ไม่ได้ ทำไมใช้ไม่ได้ มันไม่เหมือนกูน่ะซิ อย่างนี้จะใช้ได้อะไร มันไม่ถูกต้องนะ มันถูกใจ อย่างนั้นมันก็ยุ่งนะ เราไม่โต้เถียงกันในเรื่องอย่างนั้น เราถือว่าธรรมะเป็นแพสำหรับข้ามฟาก อันนี้บางทีก็พวกหนึ่งไปเรียนที่หนึ่ง เรียนในสำนักหนึ่ง แหมติดสำนักนั้นซะแจเลย งอมไปเลย ถ้าไปสำนักอื่นใช้ไม่ได้แล้ว สำนักอื่นใช้ไม่ได้ มันดีสำนักเดียว อาจารย์ฉันต้องดี อาจารย์คนอื่นใช้ไม่ได้ มันก็ไม่ถูก เราไม่ควรจะคิดอย่างนั้น แต่ว่าเราเข้าไปนั่งฟังเขา รับฟังเขา แล้วก็เอามาคิดมากรอง อันใดดีก็เอาไว้ อันใดไม่ดีก็ขว้างทิ้งไป
เหมือนเขามอบผลไม้ให้เราตะกร้าหนึ่ง มีเน่าบ้างดีบ้าง ไอ้เราจะกินก็ต้องเลือกกินผลที่มันเป็นประโยชน์ ผลไหนเน่าก็ขว้างทิ้งไป ฉันใดในเรื่องทิฐิความคิดความเห็นของคนนี้ก็เหมือนกัน เราจะไปปรับคนให้เห็นเหมือนกับเราไม่ได้ ให้เห็นเหมือนเราทุกคนไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราลองพูดหยั่งดูเท่านั้นเอง หยั่งดูความคิดของคนนั้น ถ้าเขาพอรับได้เราก็พูดต่อไป แต่ถ้าเขารับไม่ได้อย่าไปแหย่กันเลย ทำให้เคืองกันเสียเปล่าๆ เราก็หยุดเสีย หรือว่าคนอื่นมาพูดกับเรา แต่เราเห็นว่าวาทะของคนนั้นรุนแรง พูดด้วยอำนาจทิฐิ คือความเห็นแก่ตัวยึดถือรั้นในเรื่องนั้น เราขยับดูสักแย็บทีสองที ถ้าเห็นว่ามันไม่ไหวแล้วเราก็อย่าไปแย็บมันแล้ว บอกว่าผมไม่อยากจะเถียงกับใครในเรื่องอย่างนี้ คุณเห็นอย่างนั้นก็เห็นไปเถอะ ผมไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร หรือว่าเห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราหยุดเถียงกันมันตัดปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านจึงเตือนไว้ว่า อย่าพูดเรื่องอันจะเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน เพราะเมื่อเถียงกันแล้วมันต้องพูดมาก เมื่อพูดมากจิตไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิมันก็ขาดปัญญา พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญการโต้เถียงแบบข้างๆ คูๆ แต่ว่าสรรเสริญการสนทนาธรรมะด้วยใจสงบเยือกเย็น คุยธรรมะนี่มันต้องคุยแบบสงบแบบเยือกเย็น ถ้าคุยธรรมะแล้วหน้าเขียวตาเขียว มือไม้สั่นหูแดงตาแดงมันไม่ใช่ธรรมะแล้ว มันไม่ใช่ธรรมะแล้วคนนั้นไม่มีธรรมะ เราเห็นอาการเช่นนั้นหยุดพูดซะ หรือไม่หยุดพูดก็บอกผมขอตัวลาก่อน เราไปเลย อย่าขืนพูดต่อไป ขืนพูดต่อไปเดี๋ยวมันชกปากเรา เพราะมือมันสั่นเข้าแล้วนี่มันไม่ได้ อันนี้มันต้องระวังเหมือนกัน ที่เราจะไปสนทนากับใครนะ
แม้คนต่างศาสนาบางทีก็มายั่ว มาถึงว่าท่านเชื่อไหมว่ามีพระผู้เป็นเจ้า ถ้าเราตอบว่าไม่เชื่อมันขัดกับเขาแล้ว ถ้าตอบว่าเชื่อมันขัดกับความรู้สึกในใจของเรา แล้วเราจะตอบอย่างไร เราตอบว่าไม่ค่อยได้คิดปัญหานี้ เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องคิดเรื่องนี้ คิดอยู่เรื่องเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้เวลานี้ ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ตัวเราได้ ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ชาวโลกได้ ตัดปัญหา ไม่ต้องเถียงกันว่าพระผู้เป็นเจ้ามีหรือไม่มี ซึ่งมันสร้างปัญหาขึ้นมาเปล่าๆ ไอ้คนนั้นมันก็ขี้เกียจพูด เห็นว่าเราตัดแล้วมันก็ไม่พูดต่อไป เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง ถ้าเราไปประเทศอินเดียนี่มักจะถูกถามปัญหา ท่านเป็นพระหรือ เขาถามอย่างนั้นก่อน เรารู้เพราะเขาเห็นแล้วว่าเราเป็นพระ แต่เขาแกล้งถาม ท่านเป็นพระหรือ บอกว่าเป็นพระเป็นนักบวช ท่านกินเนื้อหรือเปล่า เอาแล้ว เริ่มจะเถียงเราแล้ว เพราะว่าเขาไม่กินเนื้อ เขากินผัก
คนอินเดียนี่มันกินกันมาอย่างนั้น ถ้าเราตอบว่ากินเนื้อมันจะด่าทันทีว่าพระอะไรกินเนื้อ มันยุ่งนะ ถ้าตอบอย่างนั้นมันยุ่ง ถ้าตอบว่าไม่กิน ถ้าเรากินมันก็มุสาเปล่าๆ อันนี้เราต้องรู้ตัวปัญหาว่าเขาถามเพื่ออะไร เขาถามเพื่อให้เราพูดกับเขาจะได้โต้แย้ง อย่างนั้นเราไม่พูด ถ้าเราฉลาดเราไม่พูดว่าเรากินเนื้อ หรือไม่พูดว่าเรากินผัก แต่เราจะพูดเป็นกลางๆ ว่ากินอาหาร เรากินอาหาร เราไม่ตอบว่ากินเนื้อกินผัก เราบอกว่ากินอาหาร พอตอบอย่างนั้นมันหยุดทันที มันบอกว่านี่เยี่ยมมาก รู้ว่าเรามีเหลี่ยมคือรู้ทัน จะไม่ต้องโต้เถียงกันต่อไป ถ้าพูดตรงไปตรงมา มันโต้ใหญ่โตเลยมันมีช่องทางจะโต้เถียง อันนี้คนเราต้องฉลาดในการตัดปัญหา อะไรที่พอตัดได้ ตัดมันไปเถอะ ไม่ต้องพูดโยกโย้กัน ต้องโต้เถียงกันด้วยอะไรๆ ต่างๆ
ในแง่การเมือง ถ้าเราถือลัทธิต่างกัน คนหนึ่งถือระบบเสรีนิยม พวกหนึ่งถือระบบสังคมนิยม ถ้าไปเจอกันแล้วเถียงกันคอเป็นเอ็น จนกระทั่งต่อยกันก็มี เลยยุ่งนะ ถ้าเรามันไม่อยากจะเถียงกันเราก็บอกว่า เราไม่อยากจะโต้เถียงกันในเรื่องอะไรทั้งนั้น เรามาคิดแก้ปัญหากันดีกว่า ว่าจะทำอย่างไรสังคมจะดีขึ้น อันนี้มันสบายใจกว่า อย่าไปคิดเรื่องนั้นกันเลย อย่าไปเถียงกัน พอเราพูดอย่างนั้นเขารู้ว่าเราไม่ชอบโต้เถียง เขาก็หยุดไปเอง ในครอบครัวนี่สามีภรรยาที่ได้เถียงกันยาวความเพราะอะไร ไม่ยอม ต่างคนต่างไม่ยอม ผัวก็ไม่ยอม เมียก็ไม่ยอม
เมื่อไม่ยอมก็เถียงกันอยู่นั่นแหล่ะ เถียงกันอยู่นั้น ไม่ลดราว่าศอกกันเลยต่างคนต่างก็เถียงกัน บางทีไม่ต้องนอนทั้งคืน เถียงกันทั้งคืนไม่ต้องนอน ตื่นเช้าระโหยโรยแรง ถามว่าเป็นอย่างไร เมื่อคืนทะเลาะกัน ทะเลาะกับใคร ทะเลาะกับแม่บ้าน นี่โง่ที่สุดเลย หาเรื่องทะเลาะกับแม่บ้านนี่โง่ที่สุด ทะเลาะกับเพื่อนบ้านก็ไม่ดีอยู่แล้ว ไปทะเลาะในบ้านยิ่งไม่ดีใหญ่เลย ทำไมจะต้องทะเลาะกันอย่างนั้น เรื่องไม่ยอมนั่นเอง ฉันยอมหรือสักฝ่าย มันก็หยุดเท่านั้นเอง ไม่ต้องพูดอะไรกันมากต่อไป เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง แต่นี่ไม่ยอมกัน อะไรก็ไม่ยอมกูไม่ยอมท่าเดียว ไม่ให้เกียรติกันบ้างเลย จะอยู่กันได้อย่างไร
อยู่กันอย่างนั้น อยู่กันด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง มันไม่ได้เรื่องอะไร ควรจะยอมเสีย เมื่อฝ่ายหนึ่งดังอีกฝ่ายหนึ่งนั่งเฉยๆ ดังสักพักก็หยุดเอง เพราะคนหนึ่งไม่โต้เถียง แต่นี้ถ้ามีคู่สู้มันก็ต้องสู้กันเรื่อยไป คนหนึ่งเงียบ มันดังอยู่คนเดียวมันขายหน้า มันดังน้อยนะเพราะว่าคนเดียว ประเดี๋ยวก็นึกได้กูบ้าอยู่คนเดียวเลยมันหยุดน่ะ หยุดแล้วก็พูดกันใหม่ ทำใจให้ดีๆ แล้วก็ไม่มีเรื่องอะไร หรือว่าถ้าสามีดังขึ้น ภรรยาก็เข้าไปในห้อง ไปที่ตู้เย็นจัดผลไม้ออกให้เรียบร้อย แล้วก็มาถึงวางทานนี้ดีกว่า พูดมากเหนื่อยกินผลไม้ดีกว่า แล้วมันก็จะได้หยุดกินผลไม้ เรื่องมันก็สงบเท่านั้นเอง เรามันต้องลด คนเรามันไม่รู้จักลด มีแต่เพิ่ม เพิ่มขึ้นๆ เพิ่มปริมาณการโต้เถียงกัน ไม่จบ
พวกหนังสือพิมพ์นี่อย่าง ชอบให้คนทะเลาะกัน ชอบให้คนทะเลาะ นี่เวลานี้ก็เรียกว่าไปถามพรรคแสบ พรรคแสบก็ว่าตำรวจอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ไปถามตำรวจแล้วเอามาเขียนให้ทะเลาะกัน พรรคแสบกับตำรวจทะเลาะกัน ว่าเรื่อง นายอนันต์ สุขสันต์ นี่ให้ทะเลาะกัน เลยรัฐมนตรีมหาดไทยบอกว่าไม่ต้องทะเลาะกัน หยุดเสียดีกว่าทำตามหน้าที่ต่างคนต่างทำไป เขาก็ทำตามหน้าที่เขา เราก็ทำตามหน้าที่เรา ไม่ต้องโต้เถียง ค้นคว้าหาพยานหาหลักฐานที่จะให้อัยการเขาพิจารณา ศาลพิจารณาต่อไป อย่าไปเถียงกับพวกหนังสือพิมพ์ไปลงเลย อย่าสัมภาษณ์ หยุดสัมภาษณ์เสียที ว่างั้น
นักหนังสือพิมพ์นี่เขาชอบสัมภาษณ์ บางทีเขาไม่สัมภาษณ์เขามาคุยเล่นแต่ว่าเขาเอาไปลง อาตมาเคยถูก เขามาถึงบอกคุณมาจากไหน มาจากหนังสือพิมพ์ อาตมาไม่พูดด้วย เพราะว่าพูดแล้วคุณจะเอาไปลงหนังสือพิมพ์นี่ เลยอย่าพูดกันดีกว่า เรื่องนั้นอย่าพูด พูดเรื่องอื่น พูดเรื่องวัดเรื่องวาเรื่องต้นหมากรากไม้ มันไม่เอาไปลง มันอย่างนั้น เพราะว่ามันลงแล้วมันไม่มีอะไรต่อ ไม่มีคู่ คู่สู้แล้วมันก็เลยไม่ลง ถ้าว่าเขามาถามเรื่องนั้นเราพูดมันลงกันใหญ่ เช่น มาถามเรื่องท่านกิตติวุธโทน่ะ มาถึงก็ถามว่าเรื่องท่านกิตติวุธโทท่านเห็นอย่างไร อาตมาบอกคุณมาจากไหน มาจากหนังสือพิมพ์ บอกถ้าอย่างนั้นอาตมาไม่พูด เรื่องนั้นไม่พูด พูดเรื่องอื่นดีกว่า
ชวนคุยเรื่องอื่น มันไม่กดสักแก๊กเดียว มันไม่เปิดอัดเสียง ไม่จดอะไรทั้งนั้น เพราะมันไม่ได้ประโยชน์เลยจะเอาไปทำไม เราคุยเรื่องอื่นมันไม่ลง แต่นี้ถ้าอาตมาบอกว่าไอ้กิตติวุธแหมมันเอาเลย มันเอาไปเขียนเลยท่านปัญญาว่าอย่างนั้น ให้ท่านกิตติวุธโทกับท่านปัญญาทะเลาะกันอีกแล้ว ให้ขัดใจกันอีกละเพราะมันเอาไปเขียน มันไม่ได้เรื่องนะ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักว่าอะไรเป็นอะไร ในเรื่องนั้นๆ แล้วก็รู้จักตัดเรื่องนั้น เมื่อตัดเรื่องมันก็จบเรื่อง เหมือนอาตมาถามต่อไป ไม่ถามความคิดความเห็นอะไรต่อไป นี่มาแอบมาบ่อย มีอะไรเกิดขึ้นแอบมาถาม ท่านมีความเห็นอย่างไร บอกไม่มีอะไร ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้เห็นอะไร
เรารู้เราก็ว่าไม่รู้เรื่องไม่เห็นอะไร เวลานี้ไม่ได้เห็นนอกวัด กำลังดูวัดอยู่เวลานี้ ว่าต้นไผ่มันจะขึ้นสักกี่หน่อ แล้วมันจะได้เกิดความร่มรื่นเพิ่มแก่ญาติโยมต่อไป แล้วชวนมาดูต้นหมากรากไม้อะไรต่ออะไรไป คุยเรื่องนี้ มันไปไม่ไกลเดี๋ยวมันก็ขอลาแล้ว มันไม่ได้เรื่อง เอาประโยชน์เขา เขาไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ไปเท่านั้นเอง เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นใครมาถามอะไรเรา เราตัดเสีย เช่น เราเป็นข้าราชการนี่ เขาอาจจะมาล้วงความคิดความเห็นอะไรกับเรา เรารู้ว่าเขาเป็นใครเราตัดปัญหา เราไม่พูดเรื่องอย่างนั้น แต่เราพูดเรื่องอื่นไป เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกรณีนั้น มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้น นี่อันนี้วิธี เรียกว่าตัดเรื่องไม่ให้มันยืดยาว
ตามวิธีการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ตัดเหมือนกัน เวลาใครมาถามปัญหาอะไร ถ้าเป็นเรื่องไม่จำเป็นพูดแล้วไม่ได้ประโยชน์ พระองค์ก็ไม่พูด ถามเท่าใดก็ไม่พูด แล้วพระองค์บอกว่าเราไม่พูดเรื่องนั้น เพราะมันไม่เป็นฐานเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นฐานเบื้องต้นของพรหมจรรย์นี่หมายความว่า ไม่เป็นฐานเบื้องต้นของทางดับทุกข์ พรหมจรรย์คือการปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ไม่เป็นฐานเบื้องต้นของพรหมจรรย์ คือไม่เป็นเบื้องต้นของการดับทุกข์ จุดมุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการพูดคือเรื่องความดับทุกข์ แต่เรื่องนั้นมันไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ตถาคนไม่พูดเรื่องนี้
คนที่มาถามมันก็หยุดไป มันไม่พูดเรื่องนั้น เพราะมันอยากจะถามเรื่องที่มันต้องการรู้ แต่พระองค์เห็นว่าไม่ใช่ทางดับทุกข์ก็เลยไม่พูดไม่สอน สอนเฉพาะเรื่องแต่ความดับทุกข์ถ่ายเดียว แม้บางทีพระก็มีพระมาบวชแล้วก็มาถาม ถามเรื่องไม่เข้าเรื่อง ท่านก็บอกว่าเรื่องนี้เราไม่พยากรณ์ คือไม่พูดไม่กล่าว พระองค์นั้นบอกว่าถ้าพระองค์ไม่พูดเรื่องนี้ข้าพระองค์จะลาสิกขา ท่านบอกว่าเมื่อเธอมาบวชฉันไม่ได้สัญญานี่ว่าจะพูดเรื่องนี้ เธออยากอยู่ก็อยู่สิ อยากจะสึกก็สึกสิ ใครจะว่าอะไร แล้วเขา แล้วพระองค์ไม่พูดก็เพราะเห็นว่ามันไม่จำเป็นอะไร เรื่องที่จำเป็นมีที่ควรพูดควรกล่าวกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย แม้พวกพราหมณ์มาถามพระองค์ก็ไม่พูด
เช่น คราวหนึ่งมีพราหมณ์หลายคน แต่เป็นพวกจาระบุรุษ พระเจ้าอชาติศัตรูให้สึกปลอมเป็นพราหมณ์ไป เพื่อไปสืบเรื่องเมืองเวสาลี ว่าเวสาลีนี่เขาอยู่กันอย่างไร ยังมีความมั่นคงดีกันอยู่หรือ พวกพราหมณ์นั้นก็เข้ามาถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านรู้ ท่านยังพูดกับพระเลย พอเห็นพราหมณ์พวกนั้นเดิน แล้วพูดกับพระบอกว่าพราหมณ์เหล่านั้นไม่ใช่พราหมณ์ เป็นพวกจาระบุรุษมาจากเมืองราชคฤห์ จะมาสืบความการเมืองจากเมืองเวสาลี เดี๋ยวๆ ก็คงมาที่นี่ คงจะมาถามอะไรตถาคต ประเดี๋ยวเดียวพวกนั้นก็มาจริงๆ เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า อันนี้มาถามเรื่องอะไรเกี่ยวกับพวกเวสาลี พระองค์ไม่ตรัสกับพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์เหล่านั้นก็ลุกขึ้นไป แต่พระองค์เมื่อพราหมณ์ลุกขึ้นไปแล้ว ได้ตรัสกับพระทั้งหลาย บอกว่าพวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลีนี่ยังมั่นคง เพราะว่าเขายังประพฤติธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม เขาเรียกว่าอปริหานิยธรรม
อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ใครปฏิบัติแล้วไม่เสื่อม บุคคลก็ไม่เสื่อม หมู่คณะก็ไม่เสื่อม เรียกว่าอปริหานิยธรรม พวกกษัตริย์ลิจฉวีได้ปฏิบัติอยู่อย่างสมบูรณ์ แล้วพระองค์ก็บอกว่าคืออะไรบ้างธรรมเหล่านั้น เขาประชุมกันบ่อยๆ เวลาประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เวลาเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก เขามีความเคารพต่อบุคคลผู้เป็นหัวหน้าในที่ประชุม เมื่อที่ประชุมตกลงกันเรื่องอะไรแล้วทุกคนก็ต้องทำตามที่ประชุม แม้จะไม่เห็นชอบเขาก็ไม่ไปพูดนอกสภา นอกที่ประชุม ไม่ไปเที่ยวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เพื่ออยากดังว่าผมไม่เห็นด้วยเรื่องนั้น เขาไม่พูด เขาถือว่าตกลงกันแล้วในที่ประชุม เสียงข้างมากเห็นอย่างนั้น แล้วตัวไม่เป็นด้วยก็เป็นอันว่าต้องเห็นด้วย เพราะเสียงข้างมากเห็นแล้ว
ระเบียบอันใดที่ได้ตั้งไว้แล้ว ก็เคารพระเบียบอันนั้น ไม่ตั้งระเบียบเอาเอง แต่ว่าต้องตั้งขึ้นจากที่ประชุมของสภาของกษัตริย์ลิจฉวี พวกกษัตริย์ลิจฉวีมีความเคารพในระเบียบข้อปฏิบัติของบรรพบุรุษ ไม่ทำลายสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่บรรพบุรุษได้ตั้งได้ประพฤติได้ปฏิบัติ เขาก็ปฏิบัติกันอยู่อย่างเรียบร้อย พวกกษัตริย์ลิจฉวีนี่ไม่ดูหมิ่นสตรี แต่เคารพสตรีว่าเป็นแม่ เขาจึงไม่ดูหมิ่น ไม่เอาสตรีไปเป็นเครื่องเล่น แล้วอีกอันหนึ่งว่ากษัตริย์ลิจฉวีนี่เขานอนหนุนหมอนไม้ นอนหนุนหมอนไม้ กินอาหารไม่เอร็ดอร่อย แสดงว่าอยู่ง่ายกินง่าย ไม่สนใจในเรื่องการกินการอยู่ แต่สนใจในเรื่องการปฏิบัติงาน ในหน้าที่ เพื่อทำงานให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ตราบใดที่กษัตริย์ลิจฉวียังดำรงตนอยู่ในสภาพอย่างนี้ ข้าศึกเมืองไหนก็ตีไม่ได้ พูดให้พระฟัง แต่ไม่พูดให้พราหมณ์เหล่านั้นฟัง พระองค์พูดให้พระฟังเท่านั้น แล้วก็สอนพระว่า พระก็ต้องปฏิบัติตนอย่างพวกกษัตริย์ลิจฉวี อปริหานิยธรรมของพระมีอีกเฉพาะ ให้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้วจะไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม
อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ไม่ได้ทรงตรัสอะไรเสมอไป บางเรื่องก็ตรัส บางเรื่องก็ไม่ตรัส พระองค์จึงได้วางหลักไว้ว่า ตถาคตจะพูดเรื่องจริงแต่ว่าต้องดูเวลาด้วย ดูบุคคลด้วย ดูเหตุการณ์ของเรื่องนั้นด้วย แม้จริงไม่ใช่จะพูดเสมอไป แต่ต้องดูว่าเวลามันเหมาะไหม บุคคลมันเหมาะไหม เหตุการณ์มันเหมาะไหม แล้วเป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าหากว่าพูดออกไปแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ตถาคตจะไม่พูดเรื่องนั้น หลักการของท่านมี เรียกว่าพูดมีหลักการ มีเหตุมีผลไม่ทรงปฏิบัติอะไรอย่างง่ายๆ นี่เป็นแบบฉบับสำหรับพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความวุ่นวายมากมายในสมัยนี้ เราต้องเอาธรรมะมาใช้เป็นเครื่องมือป้องกันอันตราย ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราได้ นี่อย่างหนึ่ง
อีกประการหนึ่งมีปัญหาว่า จิตใจของคนเราบางครั้งมันก็สงบ แต่บางครั้งก็วุ่นวายสับสนด้วยเรื่องอะไรๆ ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สภาพจิตมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเรายังห้ามมันไม่ได้ ยังหยุดมันไม่ได้ มันก็กวัดแกว่งไปมาตามเรื่องตามราวของสภาพจิตอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า จิตนี้ดิ้นรนกลับกลอกรักษายากห้ามยาก แต่ว่าผู้มีปัญญาทำได้ คนไม่มีปัญญาทำไม่ได้ ผู้มีปัญญาทำได้ ผู้มีปัญญานั้นต้องคอยศึกษาเรื่องตัวเอง ศึกษาเรื่องข้างในนี่ อย่าไปศึกษาเรื่องข้างนอก ศึกษาเรื่องภายในจิตใจของเราเองว่า สภาพจิตใจเราเวลานี้มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร มันเป็นประโยชน์อย่างไร ให้โทษอย่างไรแก่จิตใจของเรา เช่น เรารู้สึกว่าเมื่อความคิดนั้นเกิดขึ้นนี่มันร้อนหรือเย็น วุ่นวายหรือว่าสงบ ต้องพิจารณาต้องศึกษา
เพราะว่าการศึกษาธรรมะน่ะ เบื้องต้นก็เรียนจากหนังสือตำรับตำราครูบาอาจารย์ แต่ว่าเรื่องเรียนสำคัญนั้นต้องเรียนจากตัวเราเอง คือเรียนจากความรู้สึกนึกคิด เรียกว่าประสบการณ์ภายในตัวเรา ให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ครูบาอาจารย์ช่วยไม่ได้ ช่วยได้เพียงบอกแนวคิดให้ แต่ว่าการกระทำเป็นเรื่องของเรา อันนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเหมือนกัน บอกว่าตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้ ส่วนการเดินทางเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย เราต้องเดิน พระองค์ชี้ทางให้เราต้องเดิน ถ้าเราไม่เดินเราก็ไม่ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ พระองค์บอกให้แล้วว่าไปทางนี้เราก็ไป บอกว่าไปบางรักต้องไปทางนี้ เราไม่ไปมันก็ไม่ถึง หรือว่าไปทางอื่นมันก็ไม่ถึงบางรัก
อันนี้เราจะต้องทำเอง การทำเองนั้นก็ต้องทำกับตัวเรา ต้องคอยสังเกตพิจารณาตัวเรา ให้รู้ว่าใจเรานี่มันมีอะไร มันคิดเรื่องอะไร แล้วเรื่องที่คิดนั้นคืออะไร เอามาแยก แยกแยะ วิเคราะห์วิจัยเรื่องนั้น ว่ามันคืออะไร มันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องคิดหรือ ต้องนึกหรือ ไม่คิดได้ไหม ไม่นึกถึงเรื่องนั้นได้ไหม เอามาแยก ขณะที่เรามานั่งแยกอยู่นั้นใจมันก็ไม่ได้คิดเรื่องนั้นแล้ว เพราะใจคนเรามันคิดได้ทีละเรื่อง จะคิดหลายเรื่องไม่ได้ คิดได้ทีละเรื่อง เมื่อคิดเรื่องนี้มันก็อยู่กับเรื่องนี้ ครั้นเราเปลี่ยนมาคิดเรื่องนี้ เรื่องนี้ก็หายไป เช่น เวลาเรามีความทุกข์เกิดขึ้น หรือมีความร้อนใจมีความกระวนกระวายใจ ก็หมายความว่าใจเราไปจดจ่ออยู่กับเรื่องนั้น จดจ่ออยู่กับเรื่องนั้น
อันนี้เรามาคิดเสียว่านี่อะไร นี่อะไร อะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา แล้วเราก็เอามานั่งวิเคราะห์วิจัยเรื่องนั้น ไอ้ความคิดนั้นมันหายไปแล้ว เราใช้ปัญญาแล้ว ใช้ปัญญาเมื่อใช้ปัญญาก็เรียกว่าเหมือนเราส่องแสงลงไปในเรื่องนั้น เราก็มองเห็นค่อยชัดขึ้นๆ ชั้นแรกแสงมันน้อยๆ มัวๆ แต่เราเพ่งหนักเข้าๆ แสงมันก็มากขึ้น ความสว่างมากขึ้นก็มองเห็นว่าอ้ออะไรเป็นอะไร เรื่องที่เรากำลังคิดคือเรื่องอะไร มันมาอย่างไร มันไปอย่างไร เราคิดถึงเรื่องอย่างนั้น จิตใจมันค่อยสว่าง มันลืมเรื่องนั้น เช่น มีความทุกข์มีปัญหาอะไร มันผิดที่เราทั้งนั้น ที่เราไปคิดอยู่แต่เรื่องทุกข์ คิดอยู่แต่เรื่องปัญหานั้น แต่นี้ถ้าเราเอาปัญหานั้นขึ้นมาพินิจพิจารณา ไอ้ความทุกข์มันก็เบาไป เพราะเราเพ่งมองสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
การมองอะไรตามสภาพที่เป็นจริงนั่นแหล่ะ เรียกว่าวิธีการทางวิปัสสนา ที่เราชอบพูดกันว่าไปเจริญวิปัสสนา ไอ้ที่ไปทำอยู่นั่นมันไม่ถึงขั้นวิปัสสนาหรอก ไปแค่เพียงขั้นฝึกจิตให้มีกำลังพอสมควร คือให้จิตมันสงบขึ้นหน่อย ให้ตั้งมั่น ให้อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา แล้วเราจะได้เอากำลังจิตที่มันสงบแล้ว มันตั้งมั่นแล้ว มันอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งานแล้วนั่นแหล่ะ ไปใช้เพ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า อันทำให้เราเป็นทุกข์ ทำให้เราเดือดเนื้อร้อนใจ เราจะได้เอากำลังจิตที่เราฝึกไว้นั่นแหล่ะไปนั่งพิจารณา มองดูมัน แยกแยะมันออกไป จนเห็นชัดว่ามันไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ น่าเอามาเป็นของตัว น่าวิตกกังวลให้เกิดความวุ่นวายใจ
แต่พอเรามองเห็นด้วยตัวของเราเอง เราก็ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติธรรรม การปฏิบัติธรรมนั้นมุ่งความสงบเป็นส่วนใหญ่ เมื่อใจสงบแล้วก็คิดให้มันเกิดปัญญา สูงสุดมันต้องอยู่ที่ขั้นปัญญา เพราะปัญญานี่เป็นตะแกรงสำหรับร่อน เอาแต่เนื้อกากทิ้งหมด และเมื่อเห็นเนื้อแล้วเราก็ไม่ได้ติดใจในเนื้อนั้นหรอก เราทิ้งมันไปไม่เอาอะไรทั้งนั้น จิตก็จะว่างจากความยึดมั่นถือมั่น อยู่ในอาการที่สงบเรียบร้อยได้ นี่คือจุดหมาย วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่กาลเวลา ขอญาติโยมได้นำสิ่งนี้ไปเป็นเครื่องมือใช้แก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลา ๕ นาที สงบใจคือนั่งนิ่ง ตัวตรง หลับตา หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ที่ลมหมายใจเข้าออก อย่าให้คิดเรื่องอื่น ให้คิดอยู่แต่ที่ลมเข้าลมออกเป็นเวลา ๕ นาที ปรารถนาความสุขความเจริญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย สัพเพ สัตตา อะเวรา อัพพะยาปัชชา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปริหะรันตุ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด