แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี อย่าเดินไปเดินมา นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการมาวัดในวันอาทิตย์ ตามสมควรแก่เวลา
เรามาวัดกันในวันอาทิตย์ก็เพื่อมาหาพระพุทธเจ้า มาฟังเสียงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้วทางร่างกาย แต่ว่าพระธรรมยังอยู่ ยังเป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลายที่ตกอยู่ในความทุกข์ จะได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน วันอาทิตย์เราหยุดงานหยุดการ จะพักอยู่กับบ้านเฉยๆ ก็ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเรามาวัดจะได้ศึกษาข้อธรรมะ จะได้นำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
อันเรื่องธรรมะที่เราจะเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น ก็เพื่อความสุข ความสงบในชีวิตของเรา ทั้งส่วนตัว ครอบครัว และในการปฏิบัติงานด้วย เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้อยู่ผู้เดียว ต้องอยู่กับเพื่อนมนุษย์มากมายหลายเรื่อง เช่นว่าในครอบครัว เราก็มีตัวเรา แล้วก็มีผู้ที่อยู่กับเรา เป็นสามีเป็นภรรยา มีลูกซึ่งเกิดออกมา จากการอยู่ร่วมกันของสามีภรรยา มีคนใช้ บ้านเพื่อน บ้านใกล้เรือนเคียง
ตลอดไปจนถึงเวลาเราไปปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เราก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นในขณะที่เราทำงานด้วยกับคนเหล่านั้น ในชีวิตที่มีความสัมพันธ์กันในรูปอย่างนี้ มันมีปัญหาได้ง่าย ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือความขัดแย้งกันในระหว่างคนที่อยู่ด้วยกัน ความขัดแย้งนี้เกิดจากความคิดไม่ตรงกัน ที่เราได้ยินคำพูดภาษาชาวบ้านเขาพูดกันว่า นานาจิตตัง คือว่า จิตมันต่างกัน ไอ้ความจริงจิตเดิมนี้มันไม่ต่างกัน คือ จิตเดิมนี่มันเหมือนกัน จิตเดิมนั้นคือ จิตยังไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอะไรๆที่เข้ามากระทบ มันมีสภาพ
สงบอยู่ แล้วก็มีสภาพผ่องใส ไม่ขุ่นมัวไม่เศร้าหมอง นั่นเรียกว่า จิตเดิม หรือว่า หน้าตาดั้งเดิมของตัวเราแต่ละคน มันมีความสงบอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีความเศร้าหมองอะไรทั้งนั้น ไม่มีบาป เรียกว่าบาปดั้งเดิมนั้นมันไม่มี มันมีแต่บาปใหม่ที่เกิดขึ้น ทีนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำสิ่งนั้นบ่อยๆ บาปนั้นก็เลยสะสมมากขึ้น จิตเราก็เลยเต็มไปด้วยบาป อันนี้เป็นเรื่องที่เราสร้างขึ้นด้วยความเขลา ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องชีวิตที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าเรารู้ความจริงของชีวิตว่าจิตของเรานั้นมันเป็นธรรมชาติสงบอยู่ สะอาดอยู่ แล้วก็รับรู้ อะไรต่างๆอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งชั่วร้าย สิ่งชั่วร้ายเพิ่มเกิดขึ้น เพราะเราไม่มีปัญญาในเรื่องนั้นๆ
เพราะฉะนั้นจิตคนทุกคนนี้เรียกว่าเหมือนกัน โดยธรรมชาติ แต่ว่าแตกต่างกันโดยการปรุงแต่ง อันนี้การปรุงแต่งก็อาศัย สภาพแวดล้อม บุคคลที่อยู่ข้างเคียงเรา เขามีความคิดอย่างไร มีการกระทำอย่างไร เราอยู่ใกล้คนนั้น ความคิดนึกตรึกตรองของเราก็คล้อยตามไป ตามคนที่เราอยู่ใกล้ ถ้าว่าคนที่อยู่ใกล้เรานั้น มีสภาพจิตใจเหนือเรา เราก็อยู่ใต้บังคับของคนนั้น เขาครอบคลุมเราได้ เขาบังคับให้เราทำอะไรๆก็ได้ แต่ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ เราก็ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนนั้นต่อไป
เด็กๆ ที่ออกจากบ้านไปเที่ยวเตร่ ไปพบเพื่อนเด็กรุ่นเดียวกัน ถ้าเพื่อนคนนั้นมีจิตใจเรียกว่ามีจิตใจเข้มแข็งกว่าคนนั้น หรือมีการจูงใจให้คนนั้นโน้มไปทางความคิดความนึกของเขาได้ เด็กที่ไปอยู่ใหม่ก็จะเหมือนกับเด็กคนนั้นต่อไป สภาพจิตจะเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็มีความคิด การพูด การกระทำหรือว่าทิฐิเหมือนกับเด็กคนนั้น ผู้ใหญ่นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าใกล้ใคร คนนนั้นมีความเห็นอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีการกระทำในรูปใด เราก็มักจะคล้อยตามไปกับความคิดความเห็นของบุคคลนั้น ยิ่งบุคคลนั้นเป็นผู้ที่เรานึกว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ทรงความรู้ ทรงธรรมะ อะไรๆตามที่เราเข้าใจ เราก็ตกเป็นเหยื่อ คือว่าอยู่ใต้อำนาจจิตของบุคคลผู้นั้น สุดแล้วแต่คนผู้นั้นจะให้เราทำอะไร แม้การกระทำนั้นจะเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะทำ บางทีก็ทำเรื่องที่ไม่น่าจะทำ ให้ทำอะไรแปลกๆ เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นในรูปต่างๆ เราก็สามารถจะกระทำได้เพราะเราตกอยู่ใต้อำนาจจิตของบุคคลผู้ที่เราอยู่ด้วย แล้วเราก็ทำไปตามคำสั่งของบุคคลผู้นั้น
เมื่อปีก่อนโน้น เราจะได้ยินข่าวว่ามีชาวอเมริกันจำนวนหนึ่ง ไปอยู่ที่ประเทศเวียนนาในอเมริกาใต้ แล้วก็มีการฆ่าตัวตายกัน เป็นจำนวนไม่ใช่น้อย หลายร้อย มีการฆ่าตัวตายกันหลายร้อยคน พวกที่ฆ่าตัวตายนั้น ก็เพราะว่าเชื่อหัวหน้านั่นเอง เชื่อผู้นำในทางศาสนา บุคคลที่เป็นผู้นำนั้นทำให้คนเหล่านั้นคล้อยตามความคิดความเห็นของตนไปได้ทุกวิถีทาง ทุกลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้ เลยผลที่สุดหัวหน้านั้นก็ใช้ให้คนเหล่านั้นฆ่าตัวตาย โดยความคิดว่าเมื่อฆ่าตัวตายแล้ว ก็จะได้สิ่งที่ประเสริฐในโลกหน้า พวกนั้นก็เชื่อ เชื่อแล้วก็ทำการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนไม่น้อย หนังสือพิมพ์ลงข่าว แล้วก็โทรทัศน์ทุกประเทศได้เอาไปออกเป็นข่าวให้ชาวโลกได้รับรู้กัน
เมื่อได้ฟังข่าวเหล่านั้นแล้ว ก็เกิดความคิดขึ้นในใจว่า ฝรั่งนี้ก็ยังไม่ฉลาดเท่าที่ควร ฝรั่งนั้นความจริงเป็นชนชาติที่ก้าวหน้าในวิชาการมีความเจริญในทางสร้างสรรวัตถุมากมายก่ายกอง แต่ว่าในหมู่ฝรั่งเหล่านั้นก็ยังมีคนที่งมงายอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ถ้าไม่มีความงมงายก็จะไปตายตามคำสั่งของหัวหน้าทาง
ศาสนานั้นไดอย่างไร อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความงมงาย ความงมงายนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อนั่นเอง ที่เรียกว่าศรัทธา แต่ว่าศรัทธาที่เขามีนั้น เป็นศรัทธาที่ขาดปัญญา ความเชื่อนี่มันก็มีฤิทธิ์อยู่พอใช้เหมือนกัน มีอิทธิพลเหนือจิตใจมาก เราเชื่ออะไรลงไปมากแล้ว เราก็มักจะทำตามสิ่งที่เราเชื่อนั้น ในทางพระพุทธศาสนานั้น ถ้าว่าให้มีความเชื่อ ท่านก็ให้มีปัญญากำกับอยู่ด้วยเสมอไป ไม่ว่าธรรมะหมวดไหน เราไปเปิดดูหนังสือหัวข้อธรรมะ เช่น นวโกวาท นี้เป็นต้น เป็นหนังสือที่รวบรวมหัวข้อธรรมะสำหรับเอามาสอนผู้มาใหม่ในพระศาสนา จะได้รู้ศัพท์แสง คำอธิบายความหมายของข้อธรรมะนั้นๆ
ในธรรมะหมวดใด ถ้ามีศัทธา ก็มีปัญญาอยู่ด้วย เช่นว่า พละ๕ ธรรมเป็นกำลังที่จะให้เกิดความสำเร็จในกิจการต่างๆ ก็ขึ้นต้นด้วยศรัทธาความเชื่อ แล้วลงท้ายด้วยปัญญา ความรอบรู้ในสิ่งนั้นๆ ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญ ๕ ประการ ก็ขึ้นต้นด้วย ศรัทธาความเชื่อ แล้วก็ลงท้ายด้วยปัญญาเหมือนกัน
อริยทรัพย์ ๗ ประการ ก็มีศรัทธะาขึ้นหน้าแล้วก็มีปัญญาอยู่ท้ายเหมือนกัน แปลว่าธรรมทุกบทที่เป็นข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้ามีศรัทธาความเชื่ออยู่ข้างหน้าข้างต้น ก็ต้องมีปัญญาอยู่ข้างท้าย ทำไมจะต้องเอาศรัทธากับปัญญามารวมไว้ในหมวดเดียวกัน ก็เพื่อให้มันสมดุลย์ ไม่ให้มันถ่วงหนักไปทางใดทางหนึ่ง ถ้าหากว่ามีศรัทธาแรง ขาดปัญญา ก็ชักจะเชื่อง่าย เชื่ออย่างหลับหูหลับตา ไม่ได้คิดได้ตรองอะไรทั้งนั้นมีอะไรที่คสรจะเชื่อแล้วก็เชื่อไป ไม่ใช้หลัก คือ หลักกาลามสูตรที่มีอยู่ในทางพระพุทธศาสนา หลักกาลามสูตรนี่เป็นหลักตัดสินสิ่งที่เราจะเชื่อ ว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ อันนี้ในการพิจารณาก็เป็นการใช้ปัญญา เมื่อเราใช้ปัญญา ความเชื่อนั้นก็จะสมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณา เราก็เชื่อง่ายเชื่อดายเกินไป ทำอะไรก็ทำโดยปราศจากปัญญา ปราศจากความคิดว่า เราทำทำไม ทำเพื่ออะไร ทำไมจะต้องทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนั้นจะได้หรือไม่ แล้วก็ทำไปตามที่ผู้ที่จะให้เราจะทำทำ แล้วเราก็ทำไปตามแนวนั้น คนอื่นเขาดูแล้วก็รู้สึกว่า เอ..ทำไมถึงทำอย่างนั้น ดูน่าขำในการกระทำในรูปเช่นนั้น แต่ว่าผู้กระทำนั้น ทำได้สบายๆ เฉยๆ ไม่รู้สึกอะไร ที่ไม่รุ้สึกอะไรก็เพราะว่ามีความเชื่อว่า การกระทำเช่นนี้ จะก่อให้เกิดผลอะไรแก้ตนจากการกระทำนั้น นั่นเขาเรียกว่าเป็นความเชื่อเกิดขึ้นจากความเชื่อ เพราฉะนั้นคนที่มีความเชื่อแล้ว ใครให้ทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่มีความคิดที่จะสงสัย ลังเลในเรื่องการกระทำนั้นๆ
เมื่อสมัยก่อนนี้ เป็นพระน้อยๆยังไม่แก่เท่านี้ มีคนๆหนึ่งเขาเรียกว่าแม่ชี ความจริงแกก็ไม่ได้เป็นชีแล้ว คือว่าเคยเป็นชี แล้วต่อมาก็ไม่ได้เป็นชีแล้ว แต่เขาเรียกแม่ชีอยู่ตามเดิม ชีคนนี้มีอำนาจจิตใจบางประการ แต่ว่าเอาไปใช้ในทางที่บังคับคนอื่นให้ทำอะไรตามใจตัว แล้วก็คนนั้นเขาเสียผู้เสียคนไปตามๆกัน มีอยู่คนหนึ่งนี่เป็นครูไม่ใช่คนธรรมดาเป็นคร ูป.ม. (13:33) มีความรู้ดีสอนศิษย์ดี แต่ว่าแม่คนนั้น
แกต้องการเอาครูคนนั้นมาเป็นเครื่องมือของแก แกก็ทำอย่างไรก็ไม่รู้หล่ะ แกเอาครูมาได้ เอาครูมาได้แล้วแกสั่งให้ครูทำอะไรก็ได้ แกเดินไปข้างหน้าแล้วแกบอกครูว่า เดินข้างหลัง เดินก้ม สั่งอย่างนั้นแหละครูคนนั้นก็เลยเดินก้ม ไม่มองหน้าใครทั้งนั้นแหละ พวกลูกศิษย์ไปเห็นครูเดินอย่างนั้นก็ฮาเฮ นึกว่าทำไมครูทำอย่างนั้น แล้วก็ไปเรียก คุณครู คุณครู ไม่เอา ไม่ได้ยินทั้งนั้น เดินเฉย เดินตามหลังแม่คนนั้น ไป เดินไปอย่างนั้น เดินไปอย่างที่แกสั่งแหละ ไม่กล้าขัดขืนคำสั่งเลยแม้แต่น้อย แล้วก็บางครั้งก็ แกให้กินข้าว ให้กินข้าวกับผักบุ้งสดๆเท่านั้นเอง ไม่มีกับอื่นนะเอาตักข้าวใส่จาน ผักบุ้งเก้ายอดสิบยอดหั่นแล้ว มากินซะ ก็นั่งกิน กินเหมือนกับเด็กว่าง่ายสอนง่าย ไม่ดื้อไม่ด้านไม่อะไรทั้งนั้นแหละ นั่งกินเฉย กินไปได้ โดยไม่ได้คิดว่า เอ..กูกินอะไรเว้ยเวลานี้ กูทำอะไร ไม่รู้ เวลาเข้าไปทำงานนี่ แกสั่งว่าเลิกงานแล้วไม่ต้องไปแวะที่ไหน กลับบ้านเร็วๆ ครูนั้นพอเลิกสอนแล้วต้องรีบกลับทีเดียว รีบกลับบ้าน มาถึงบ้าน
วันหนึ่งมาช้าไปหน่อยเดียว มาช้าไป แม่คนนั้นก็ว่า ทำไม่มาช้า ... แล้วเอาเกือกแตะตบเลย ตบหน้า แกก็ยืนตัวตรงเหมือนกับทหารญี่ปุ่นที่นายทหารเรียกมาตบอย่างนั้นแหละ ยืนเฉย ทั้งๆ ที่เป็นคนมีกำลังแต่ไม่ขัดขืนเลย นี่เพราะอะไร คือเมื่อยอมเขาแล้ว จิตมันตกอยู่ในอำนาจเขาเสียแล้ว สุดแล้วแต่เขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามที่เขาสั่งทุกประการ นี่เป็นตัวอย่าง ทำจนกระทั่งถูกออกจากราชการ เพราะหน้าที่การงานเลอะเทอะไม่ได้เรื่องได้ราวแล้ว จิตใจปั่นป่วน นั่งเหม่อนั่งลอย ใจลอยอยู่ตลอดเวลา งานเสีย สอนเด็กไม่ได้ผล เขาก็ให้ออกจากราชการ พอออกจากราชการ แม่คนนั้นแกไม่คบด้วยแล้ว แกบอกว่าไป อย่ามาบ้านกูต่อไป แล้วก็ไปตั้งแต่วันนั้น ไม่เข้าบ้านนั้นต่อไป ไม่มีมาเยี่ยมมากรายบ้านนั้นเลย
ไปเลยทีเดียว ไปแล้วก็ไปอยู่กับพระที่วัด พระท่านก็พยายามพูดจาแนะนำชักจูง ทำพิธีทางไสยศาสตร์นิดหน่อย ไอ้นั้นมันเรื่องหลอกนะ ไอ้ไสยศาสตร์อะไร เรื่องปลอบใจ รดน้ำมาต์นำ้พรสะเดาะเคราะห์อะไรต่ออะไร เรียบร้อย กลับชีวิตคงคืนอย่างเดิม มีปรกติภาพทางจิตใจเหมือนเดิม แล้วก็ไปเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ต่อไป ไม่ได้เป็นครูโรงเรียนรัฐบาลอีก เพราะว่าถูกออกจากราชการเพราะว่าบกพร่อง
นี่ นี่ตัวอย่างเอามาเล่าให้ฟังว่า คนเรานี่มีความเชื่อในบุคคลใด ในวิธีการใด ในเรื่องอะไร ถ้าว่าเชื่อเอามากเกินไปอย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่ลืมหูลืมตาแล้ว มักจะเสียหาย ทำอะไรแปลกๆแผลงๆก็ได้ สุดแล้วแต่ผู้นำของเราใช้เราให้ทำอะไร ซึ่งคนปรกติเขาไม่ทำกัน แต่ว่าเมื่อหัวหน้าสั่งแล้วก็ต้องทำตามที่ตนต้องการ เมื่อเขาสั่ง คนอื่นเขามองอย่างไรไม่คิดไม่คำนึง ทำทั้งนั้น เพราะอะไร เชื่อนั่นเอง เป็นความเชื่อ
ความเชื่อนี่จึงทำคนให้เสียหาย ถ้าไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ แล้วก็เชื่อตามไป อันนี้ความเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ต่อไปก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่ายึดถือในความเชื่อนั้น เขาเรียกว่าอุปาทาน ขึ้นมา อุปาทานในหลักธรรมะมีอยู่ ๔ ประการ เขาเรียกว่า
กามุปาทาน ยึดมั่นในความสุขสนุกสนานทางกาม
อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในเรื่องตัวตน สำคัญว่าตนเป็นอย่างนั้นตนเป็นอย่างนี้ เป็นอุปาทานชนิดหนึ่ง
ศีลลัพพัตตุปาทาน คือ ยึดมั่นในพิธีประเพณีต่างๆที่เขาทำกันมา เชื่อว่าต้องอย่างนี้จึงจะได้อย่างนั้น ต้องอย่างนั้นจึงจะได้อย่างนี้ ถ้าไม่ได้ทำดังที่ เขาทำแล้วมันจะไม่ได้ อะไรอย่างนี้ เขาเรียกว่า ศีลลัพพัตตุปาทาน เช่น เชื่อวัตถุมงคล เชื่อทิศ เชื่อเวลา เชื่อการกระทำในรูปพิธีต่างๆ เป็นอุปาทานประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในคนเราไม่ใช่น้อยเหมือนกัน เช่น คนที่ถือเลิกถือยามนี่ เขาเรียกว่า อุปาทานในเรื่องนั้น เป็น ศีลลัพพัตตุปาทาน อุปาทานในเรื่องพิธีประเพณี วิธีการต่างๆ ถ้าไม่ได้ทำตามที่ตนเชื่อแล้ว ไม่สบายใจมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจใหญ่โตกันเลยทีเดียว พอไม่ได้ทำอย่างนั้น นี่เป็นอุปาทานชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในจิตใจคนเราทั่วๆไป ถ้ามีอุปาทานแล้วมันก็เกิดกิเลสได้เหมือนกัน เกิดกิเลสประเภทต่างๆตามขึ้นมา
อันนี้อีกอันหนึ่งเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็นของตัวว่าถูกเด็ดขาดท่าเดียว อันอื่นแล้วมันก็ผิดหมดไปเลย มีความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐินั้นๆว่าอย่างนี้แหละถูก อย่างอื่นไม่ถูก ครูเราถูก ครูคนอื่นไม่ถูก พิธีการทำอย่างนี้ถูก ไอ้อย่างอื่นไม่ถูก อะไรอย่างนี้ กลายเป็นกิเลสประเภทหนึ่งขึ้นในใจ ยึดมั่นถือมั่น อันนี้เมื่อมีความยึดมั่นในทิฏฐิอย่างนี้ ก็ไปขัดกับคนอื่นที่ทำไม่เหมือนตน เมื่อไปขัดกันเข้าก็เกิดการคัดง้างกัน โต้แย้งกัน เกิดเป็นฝักเป็นฝ่าย พวกนั้นพวกนี้ พวกฉันพวกเขา พวกอย่างนั้นพวกอย่างนี้ เอาเครื่องแต่งตัวบ้าง เอาลักษณะทางร่างกายบ้าง เอาความคิดความเห็น เอาการกระทำมาเป็นเครื่องกีดกัน ไม่ให้รวมพวกรวมหมู่กับใครๆ เลยกลายเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้นมา
ไอ้การแตกออกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นกั๊ก เป็นพวกนี้ไม่ดี ไม่ว่าในวงการอะไรแล้วมันก็ไม่ดี เช่น ในวงการศาสนา ถ้าเรามีความยึดถือจนแตกกันเป็นพรรคเป็นพวก เป็นก๊กเป็นเหล่า มันก็ยิ่งแตกออกไปเรื่อยไป แตกกิ่งแตกก้านออกไปมากมาย ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในสังคม แทนที่คนจะรักกัน สามมัคคีกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลับเกิดการแตกแยกกันด้วยอำนาจทิฏฐิมานะ คือ ยึดมั่นสำคัญผิดในความคิดความเห็นของตัว แล้วก็มีมานะว่า ฉันเก่งกว่าเขา เขาด้อยกว่าฉัน ฉันดีกว่าเขา เขาไม่ดีเหมือนฉัน ฉันวิเศษกว่าเขา เขาไม่ได้เรื่อง มันเกิดอาการเช่นนั้นขึ้นในจิตใจ ก้ทำให้เกิดการดูหมิ่นถิ่นแคลนกัน เป็นกิเลสที่จะตามมา
การประพฤติปฏิบัติในทางที่ให้เกิดความแตกแยกก็ดี หรือยึดมั่นสำคัญในทิฏฐิที่ตัวได้กระทำอยู่ก็ดียังไม่เป็นการก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ อาจารย์ก็ดี ลูกศิษย์ก็ดี ถ้ามีความยึดมั่นอยู่ในรูปอย่างนั้น ก็เรียกว่ายังไม่ก้าวไปสู่เส้นทางที่ถูกต้อง คือ ยังไม่ได้เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อริยมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้านั้น มีอะไรบ้าง ขึ้นต้นด้วย
สัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นถูกตรงในหลักทางพระพุทธศาสนา
สัมมาสังกัปปะ ต้องคิดถูกคิดตรง คิดถูกคิดตรง คือ คิดออกจากกาม คิดไม่พยาบาทใคร คิดไม่เบียดเบียนใคร แล้วก็
สัมมาวาจา คือว่า พูดถูกต้อง พูดถูกต้อง คือพูดคำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำที่ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมนุมชน ในหมู่ในคณะ พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ไม่พูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยใครๆ หรือไม่พูดให้เกิดความแตกแยก ไม่พูดเพื่อดึงคนเข้ามาหาตัวเพื่อสร้างพรรคสร้างพวกให้ตัวได้มีพวกมากๆ อย่างนี้เรียกว่า พูดไม่เป็นสัมมาวาจา ตลอดถึงการเขียนด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเขียนสิ่งที่มันทำให้เกิดการแตกร้าวแตกแยกในสังคมมนุษนย์หรือให้เกิดการเป็นพรรคเป็นพวกเป็นฝักเป็นฝ่ายก็ชื่อว่าเป็นการเขียนผิดทาง ไม่เป็นสัมมาวาจา ตามองค์มรรคที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ แล้วก็
สัมมากัมมันตะ คือการกระทำที่ถูกที่ชอบ กระทำที่ถูกที่ชอบ คือ ทำทางกาย ไม่คิดเบียดเบียนใครในทางร่างกาย คือ ไม่ฆ่าใคร ไม่ทำใครให้เดือดร้อน ไม่ประพฤติผิดในทางกาม แล้วก็ไม่ทำให้เกิดการลักทรัพย์ของใครและก็ไม่ประพฤติผิดในทางกาม อย่างนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบที่ควร ไม่สร้างปัญหาให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นในสังคม สัมมาอาชีวะ ประพฤติชอบดำรงชีวิตชอบอย่างนี้
สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ คือ เพียรที่จะไม่ให้บาปเกิดขึ้นในใจ ถ้ามันเกิดก็เพียรละเสีย แล้วเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในใจ กุศลเกิดแล้วก็เพียรคุ้มครองรักษาให้ตัวกุศลนั้น ตั้งอยู่มั่นในจิตใจของเราต่อไป
สัมมาสติ ก็คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔
สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ เจริญฌาน ๔ นี้เรียกว่า อริยมรรค ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นทางเดินลัดตรงไปสู่พระนิพพาน อันเป็นการดับทุกข์ดับร้อน อันนี้การปฏิบัติ การพูด การสอน การกระทำ ก็ต้องมุ่งให้ไปตามหลักนี้ ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติ ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในครอบครัวของผู้นั้น หรือในวงการงานของบุคคลผู้นั้น อันจะเป็นเรื่องสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่เชา
อันนี้พระพทุฌจ้าของเราได้ทรงปฏิบัติอย่างนิ่มนวล เช่นว่าคราวหนึ่งนี่ อุบาลีคฤหบดี ในเมืองเวสาลีหรืออะไรนี่ เป็นศิษยืของพวกนิครนถ์ คือนับถือศาสนา ไชนะ ซึ่งเคร่งครัดหลายอย่างหลายประการ ครั้นอยากจะไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า ไปบอกลาอาจารย์เพราะความเคารพ อาจารย์ไม่ยอมให้ไป บอกว่าไปทำไม พระพุทธเจ้าพูดไปอย่างนั้นแหละไม่มีอะไร ไม่ยอมให้ไป แกก็เชื่ออาจารย์ ก็เลยไม่ไป
ไปบอกครั้งที่สองเพราะใจอยากจะไปมาก ก็ไม่ยอมไม่ไป ครั้งที่สามเลยไม่บอกไม่ลาแล้ว เพราะเห็นว่าถ้าขืนลาก็อาจารย์ห้ามทุกที เขาจะไปเพื่อปัญญส ไปเพื่อประโยชน์ ไปเพื่อความเจริญทางด้านจิตใจ ทำไมอาจารย์จึงได้ห้ามไว้ แสดงว่าตัวอาจารย์นั้นยังไม่บริสุทธิ์ทางจิตใจ แม้จะเป็นครูสอนศาสนา แต่ไม่บริสุทธิ์ เพราะต้องการดึง อุบาลีคฤหบดี ไว้เป็นพวก คือ เป็นตัวโฆษณาได้ เพราะอุบาลีนี่เป็นคนร่ำรวย มีเกียรติมีชื่อเสียงในเมืองนั้น ถ้ามาอยู่ในวัดของตัวในสำนักของตัวแล้วก็ไม่ต้องพูดหรอก เพียงแต่ชำเลืองเท่านั้นแหละ บอกว่าคนสำคัญยังมาเป็นลูกศิษย์ฉันเลย ชั้นอุบาลีนี่ยังมาเป็นลูกศิษย์ของฉัน แต่นี้เมื่ออุบาลีคิดจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แกก็เกรง เกรงขึ้นมาว่า เอ..ไม่ได้การแล้ว พระพุทธเจ้านี่เก่งนักในการเทศนาชักจูงจิตใจคน เดี๋ยวอุบาลีจะไปเพลินกับวาทะของพระพุทธเจ้า แล้วก็จะไม่มาสำนักเราต่อไป เราก็จะขาดหลักไป ขาดคนสำคัญที่จะเอาเป็นเครื่องมือโฆษณาชักจูงคนอื่นต่อไป ก็เลยห้ามถึงสามครั้ง เอ้อ ... ถึงสองครั้ง ครั้งที่สามนี่ไม่มาหาแล้ว เพราะนึกว่าไปหาก็ต้องห้ามอีกแหละ คราวนี้มันต้องดื้อหน่อย เลยก็ขัดขืน ไปเลย ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไอ้ที่ไปหาพระพุทธเจ้านี่ก็ต้องการจะไปโต้เถียง คัดง้างกับพระพุทธเจ้า พอไปถึง ก็แหม..โต้เถียงกันยืดยาว อยู่ในอุบาลีคฤหัสสูตรในหนังสือพระไตรปิฎก โต้เถียงกันยืดยาว
คัมภีร์ของเรานี่ถ้าว่ามีการโต้เถียงกันระหว่างพวกนอกศาสนากับพระพุทธเจ้าแล้ว เขาเขียนไว้ละเอียด ไม่ใช่มุบมิบโมเมว่าพระพุทธเจ้าชนะ เขาไม่เขียนอย่างนั้นล่ะ เขาได้เขียนไว้ละเอียดเพื่อให้คนอ่านได้ศึกษาความเป็นมาของเรื่องว่าเป็นอย่างไร ก็โต้เถียงกันไปจนกระทั่งอุบาลียอมจำนนด้วยเหตุผลต่อพระพุทธเจ้า ครั้นเมื่อยอมจำนนแล้ว อุบาลีก็บอกว่า ข้าพระองค์มีความเลื่อมใสในพระองค์มาก อยากจะมาเป็นลูกศิษย์นี้ของพระองค์ด้วย นี่ตอนนี้สำคัญ เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้านี่ท่านสำคัญตรงนี้ท่านบอกว่าอุบาลี เธอนี่เป็นคนใหญ่คนโตมีชื่อมีเสียง แล้วเคยเป็นศิษย์ในสำนักนิครนถ์มาก่อน แล้วจะมาเป็นลูกศิษย์ของเราน่ะคิดดูให้ดี คนเขาจะว่าได้ เขาจะหาว่าเป็นคนมักง่ายไร้ความคิด ไม่ใช้สติปัญญา ทิ้งครูบาอาจารย์ที่เคยนับถือมาอยู่กับพระพุทธเจ้า มันจะเป็นการเสียหายแก่เธอ อุบาลีพอได้ฟังเช่นนั้นก็น้ำตาไหลทีเดียว บอกว่า แหม..เพิ่งพบอาจารย์ประเภทไม่ต้องการศิษย์คราวนี้ คือว่าไปสำนักไหนนี่ พออุบาลีไป เขายกธงหน้าวัดแล้ว ยกธงต้อนรับแล้วและยินดีต้อนรับท่านอุบาลี เหมือนกับว่าในหลวงเสด็จมาวัด
นี่เราเขียน ฑีฆายุโกโหตุ มหาราชา แล้วแหละ อุบาลีไปสำนักไหนนี่เขายกธงต้อนรับ ดีอกดีใจว่า เศรษฐีมาวัดเราแล้วก็ชื่นอกชื่นใจกัน แต่ว่าข้าพระองค์มาหาพระองค์นี่ พระองค์เฉยๆ แม้จะยอมตัวเป็นศิษย์ยังไม่ยอมรับเลย ยังบอกให้คิดให้ตรองอย่างรอบคอบ การกระทำเช่นนี้ ข้าพระองค์ยิ่งเลื่อมใสนัก เลื่อมใสในข้อที่ว่า เป็นศาสดาที่ไม่ต้องการศิษย์ ไม่ต้องการโฆษณาหาศิษยืให้มาเป็นพรรคเป็นพวกของตัว ก็เลยยิ่งเลื่อมใสหนักขึ้น แล้วก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ คือ เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ยอมรับนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ
เมื่อได้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว เรายังเห็นต่อไปว่า พระพุทธเจ้ามีน้ำพระทัยกว้างขวางขนาดไหน กว้างขวางขนาดไหน บอกว่าบ้านของท่านเคยเป็นบ้านที่เปิดประตูต้อนรับพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลายอยู่ เมื่อท่านมาเป็นลูกศิษยืของเราแล้ว อย่าปิดประตูสำหรับคนเหล่านั้น เมื่อพระนักบวชเหล่านั้นมาที่บ้าน ท่านเคยต้อนรับอย่างไรเคยให้อาหารอย่างไรเคยปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างไร ขอให้ปฏิบัติตามอย่างนั้น อันนี้หาไม่ได้ในสำนักอาจารยืทั้งหลายในโลก ไม่มีในโลก คือว่าใครไปเป็นลูกศิษย์ใครแล้วก็ต้องสร้างรั้วกั้นมันเสียเลย เหมือนกับทำกรงขังเสือดำอย่างนั้นแหละ ไม่ให้ไปไหนแล้ว
แม้สมัยนี้ก็อย่างนั้นแหละ บางวัดน่ะก็ถ้าใครไปเป็นศิษย์แล้ว ไม่ให้ไปไหนแล้ว ถ้าไปไหนแล้วก็ไม่ยอมล่ะ ที่เชียงใหม่เคยมี พระพวกหนึ่งไปอยู่กับเจ้าชื่นเนี่ย โยมชื่นที่สร้างบำรุงสวนพุทธธรรมที่อาตมาไปอยู่ คราวหนึ่งโยมชื่นจะไปไชยา ไม่ให้ไป พระเหล่านั้นไม่ให้ไป บอกว่าจะไปทำไม ที่นี่มันก็มีแล้ว ธรรมะที่นี่ก็มีอะไรก็มี ไม่ต้องไปหาท่านพุทธทาสหรอกมันไกล ก็ห้ามโยมชื่น ต่อมาก็โยมแกก็ไม่ไปเอง ส่งลูกชายกับลูกเขยไป ให้ไปนิมนต์ท่านพุทธทาสให้มาเทศน์ที่เชียงใหม่ แล้วทีหลังนี้ โยมแกไป เวลาโยมไปนี่พระเหล่านั้นตามไปด้วย คุมไปด้วย คุมโยมชื่นไปด้วย ไปยืนคุมตลอดเวลา ถ้าโยมไปนั่งคุยกับท่านพุทธทาส พระเหล่านั้นก็ไปนั่งด้วย ไปนั่งคุมอยู่ด้วย แต่ว่าคุมไปคุมมาเห็นว่า ไม่ไหวแล้ว เอาไม่อยู่แล้ว เพราะว่าโยมนี่เลื่อมใสธรรมะของท่านพุทธทาสมากเสียแล้ว
คราวนี้เมื่อกลับมาแล้ว พระพวกนั้นไปเที่ยวพูดอย่างไร ไปบ้านไหนก็พูดว่า โอย ... ท่านพุทธทาสไม่มีอะไรหรอก ขุดบ่อล่อปลาไว้เท่านั้นเองแหละ กลับไปว่าอย่างนั้นอีกแหละ ไปเที่ยวโพนทะนาตามบ้าน ญาติโยมชาวเชียงใหม่ ว่าท่านพุทธทาสนั้นขุดบ่อล่อปลา ว่างั้น ให้ปลาไปติดเบ็ดเท่านั้นเอง เที่ยวพูดโจมตีอย่างนั้นอีก นั่นเขาเรียกว่าเป็นอาจารย์ประเภทเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกของตัว ใครมาเป็นศิษย์แล้วพยายามกีดกันไม่ให้ไป
พระพุทธเจ้าของเราไม่ได้มีอาการเช่นนั้น ทำไมจึงไม่มีอาการเช่นนั้น ก็เพราะว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความยึดมั่นในตัวตนแล้ว ืไม่มีตัวจะเห็นแล้ว ไอ้คนเราธรรมดานี่มันยังเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าท่านไม่มีตัวให้เห็น เลยไม่เห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเมื่ออุบาลีคฤหบดีมายอมเป็นลูกศิษย์แล้ว พระองค์ก็บอกว่า เดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เคยเข้ามาในบ้านของท่าน มารับอาหาร อย่าปิดประตูบ้านสำหรับท่านเหล่านั้น ให้ต้อนรับเหมือนเดิม ให้ให้อาหาร ทำการต้อนรับโอภาปราศัยเหมอนเดิมทุกประการ ทำอย่างนี้
ท่านอุบาลีก็แหม..สบายใจเหลือเกิน คือ สบายใจในธรรมะของพระพุทธเจ้า สบายใจในวิธีการที่พระพุทธเจ้าสอนให้กระทำ แล้วก็กราบลากลับบ้าน เมื่อกลับไปบ้านแล้วพวกนักบวชเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ปริพาชกทั้งหลายก็มาที่เคยมาก็มาปรกติ แกก็ต้อนรับเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้อนรับขับสู้ให้อาหารตามความปรารถนาของท่านเหล่านั้น นี่คือการกระทำที่เรียกว่าถูกต้อง เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่คนทั้งหลาย ไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในระหว่างคนเก่ากับคนที่มาใหม่
อุบาลีก็ไม่ต้องแตกกับอาจารย์เดิมเพราะยังเคารพอยู่ แต่ว่าในส่วนลึกทางจิตใจนั้นมีความเห็นถูกต้องตามหลักการในทางพระพุทธศาสนา นี่เป็นตัวอย่างที่น่าคิดสำหรับสังคมในยุคปัจจุบันนี้ที่มีการทำให้เกิดการแตกแยก แตกเรื่องกันไป โจมตีกันไปว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น พวกนั้นเป็นอย่างนี้ เวลานี้กำลังโจมตีใหญ่กันอยู่เรื่องหนึ่ง กลายเป็นเรื่องที่เรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ คือ เรื่องกินผักกินเนื้อนี่ ไม่ใช่เรื่องอะไร ความจริงมันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ใครจะกินก็กินไป มันเสรีภาพของคนนั้นนี่ ใครจะกินผักก็กินไป กินผักกินกันไป ใครจะกินเนื้อก็กินไป แล้วจะไปด่ากันทำไม ไอ้คนกินผักก็ไปว่าคนกินเนื้อ โอ๊ย..ใช้ไม่ได้ ใจเหี้ยมโหดทารุณดุร้าย เป็นยักษ์เป็นมาร ในชีวิตของตัวนี่กินเนื้อเข้าไปเท่าไหร่ เป็ดเท่าไหร่ไก่เท่าไหร่ ปลาจำนวนเท่าไหร่ กินไข่เข้าไปเท่าไหร่ โอ๊ย..ไปใหญ่โตเลย แล้วก็หาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ถทอว่าคนกินผักนี่จะวิเศษนะ ถ้าถือว่าคนกินผักวิเศษเนี่ย วันควายมันก็วิเศษด้วยนะ พวกมันนี่ไม่เคยกินเนื้อเลย มันกินแต่หญ้าตลอดเวลา วัวกินหญ้าควายกินหญ้า สัตว์หลายชนิดกินหญ้า พวกช้างนี่ก็กินหญ้า ไม่กินเนื้อ พวกกินเนื้อ นี่.เสือนี่กินเนื้อ ดุร้าย แต่มันไม่ค่อยกินคนหรอก เสือ มันกินแต่เนื้อหมาเนื้ออะไรไก่อะไรนั่นน่ะ
คราวนี้ถ้าเราถือว่าพวกกินผักวิเศษ บรรลุมรรคผลได วัวควายก็ต้องบรรลุมรรคผลได้เหมือนกัน เพราะมันกินผักมาตั้งแต่เกิด แต่เปล่า วัวควายไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร มันกินไปตามเรื่องของมัน แล้วมันก็ไม่ได้ยึดถืออะไร ควายมันกินหญ้า วัวกินหญ้าแล้วมันก็ไม่พูดว่า ไอ้เสือ มึงมันไม่ดีล่ะ ไม่กินผัก มันดุร้าย ควายมันไม่เคยโจมตีเสือ แล้วก็ไม่เคยชวนเสือทะเลาะ ขืนไปทะเลาะ เสือก็ขม้ำควายด้วยเท่านั้นเอง เพราะเนื้อควายมันก็อร่อยเหมือนกัน เลยมันก็ไม่ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกัน
อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะโต้เถียงกัน แล้วคนกินผักก็กินไปเถอะ ไม่ว่าอะไรหรอก ไม่เห็นเสียหายดีเหมือนกันล่ะ ประหยัดหน่อย กินผักน่ะ แต่ว่าเราอย่าไปพูดดูหมิ่นคนกินเนื้อว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ หรือว่าเป็นยักษ์เป็นมาร เอาเนื้อเขามากินอะไรต่างๆนาๆ แล้วถ้าจะพูดไปถึงว่า กินเนื้อแล้วจะบรรลุนิพพานไม่ได้ มันก็มากเกินไป เพราะว่ายุคโบราณนั้น พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลาย ท่านก็ฉันทั้งผัก ฉันทั้งผักทั้งเนื้อเพราะอะไร เพราะว่าชีวิตพระนี่ไม่ได้หุงแกงกินเอง เนื่องด้วยชาวบ้าน สุดแล้วแต่เขาให้ไปบิณฑบาต บ้านนี้เขาใส่กะหล่ำปลีผักกาดต้มมาให้ก็ต้องฉัน ไปบ้านนู้นเขาใส่เนื้อต้มมาให้ก็ต้องฉัน ไปบ้านนั้นเขาให้แต่จาปาตี ไม่มีกับข้างก็ต้องฉันตามมีตามได้ เพราะชีวิตของบรรพชิตเนื่องด้วยผู้อื่น ต้องทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย ไอ้เลี้ยงง่ายนั้นหมายความว่า เขามีอะไรเขากินอะไร เขาให้เราก็กินอันนั้นกับเขา มันเลี้ยงง่าย
แต่ถ้าเราบอกไม่กินอย่างที่เขากิน มันก็เลี้ยงยาก อยู่อินเดียนี่ถ้ากินผักก็เลี้ยงง่าย เพราะว่าคนอินเดียมันกินผักทั่วไป แต่ถ้าอยู่ในที่ที่เขากินผักบ้าง กินเนื้อกินปลาบ้าง ก็สุดแล้วแต่เขาให้ว่าอะไรกินก็ได้ พวกพระมหายาน คือ ชาวจีนนี่ ชาวทิเบต เกาหลีที่เขาเรียกว่าพระมหายาน เขากินผัก พระพวกนี้ไม่ได้บิณฑบาต เขาอยู่วัดในป่าตามภูเขา เขามีที่ดินมีไร่ แล้วก็มีการปลูกผักมากในบริเวณวัด พระที่ไม่ค่อยจะมีความรู้ เป็นนักบวชมันมีหลายประเภทเหมือนกัน นักบวชชั้นปัญญามีความรู้ก็อยู่ในห้องสมุดศึกษาค้นคว้า นักบวชอีกพวกหนึ่งก็อยู่ที่ห้อง ห้องบูชาพระรับแขก
ใครไปใครมาก็ทำการต้อนรับขายธูปขายเทียนไป อีกพวกหนึ่งนั้นอยู่ในสวน ขุดดินปลูกผักปลูกพืชเป็นการใหญ่ เพื่อเอามาเลี้ยงกันในวัด เพราะฉะนั้นเขากินผักได้สบาย เพราะชีวิตของเขาไม่ต้องอาศัยใคร เขาอาศัยปลีแข้งของเขาเอง ทำมาหากินได้ ปลูกผักปลูกพืชกินได้ ไม่เดือดร้อน แต่พระฝ่ายเถรวาทเรานี้ พระลังกา พระพม่า พระเมืองไทย ลาว เขมร แถวนั้นมันคัดบัญชีออกได้แล้ว ไม่มีแล้ว เขาก็อาศัยชาวบ้านไปบิญฑบาต ตื่นเช้าไปบิณฑบาต โยมก็ถวายตามเรื่อง โยมมีแกงเนื้อถวายเนื้อ มีแกงผักถวายผัก มีไข่ต้มถวายไข่ มีกล้วยให้กล้วย บางบ้านก็ไม่ได้ใส่กับ ใส่ข้าวกับกล้วย พระสมมติว่าได้บิณฑบาตวันนั้น ได้ข้าวกับกล้วยก็ต้องฉันข้าวกับกล้วย ได้ข้าวกับไข่ก็ต้องฉันกับไข่ ได้ข้าวกับปลาทูนึ่งก็ต้องฉันกับปลาทู เราจะมา เอ้อ..วันนี้ไม่มีกับข้าว ไม่มีผักฉัน ฉันแต่ข้างเฉยๆ มันก็มากไป ลำบากแก่ตัวเอง แต่ว่าก็ไม่เป็นไร ใครสมัครจะทำอย่างนั้นก็ไม่ว่าอะไร อาตมานี่ไม่ติไม่ว่าอะไร สุดแล้วแต่ใจชอบ ใครจะกินผักก็กินไป ขออย่างเดียวว่าอย่าใช้ผรุสวาจาให้คนอื่นกระทบกระเทือนจิตใจ อย่าไปว่าใครๆ ที่เขาไม่ได้กินผักเหมือน
ตนว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ ตัวเท่านั้นแหละวิเศษ การพูดเช่นนั้นมันก็ยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง ยังไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์อะไร เพราะยังพูด..เขาเรียกว่า ยกตนข่มท่าน ยังโอ้อวด ขี้โอ่นี่ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ขี้โอ่นี่ เขาเรียกว่ามีการโอ้อวดอยู่ ทำอะไรก็ในเชิงอวดๆ ที่สมัยใหม่เข่เรียกว่า SHOW OFF อยู่บ่อยๆนั้น ต้องแสดงหน่อย ทำเงียบๆ ไม่ได้ มันต้องแสดงหน่อย นั่นแหละ ทำอะไรมันต้องในรูปที่ว่าแสดง เพื่อให้คนสนใจ ให้คนได้เห็นได้อะไรอย่างนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่าแสดงออก การแสดงออกนั้นมันมีพื้นฐานทางจิตใจ คือยังมีตัวตนที่ให้ยึดถืออยู่ แล้วก็ยึดแรงเสียด้วย มี EGO หรือว่าตัวตนแรงอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ทำอะไรก็เพื่อแสดงออกอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีตัวแสดงเองไม่พอ ต้องไปให้คนอื่นมาช่วยแสดงหน่อย เพื่อให้คนอื่นเห็นว่ามีอะไรๆ เวลาพูดจาอะไรนี่ก็มักจะอวดหน่อย อวดคนที่มานั่งฟัง บอกว่า เออ..นี่คนนี้ไม่ใช่ย่อยนะนี่ นายพลน่ะมาฟังเทศนืของฉันน่ะ แล้วทำพูดเพื่ออะไรอย่างนั้น แปลวว่าอาจารย์มีจุดหมายว่าจะอวดว่าฉันนี่มันไม่ใช่ย่อยนะ มีคนชั้นนายพลมาเป็นลูกศิษย์นะ คนชั้นด็อกเตอร์ยังมากราบฉันเลยนะ นี่เพื่ออะไรนะ เพื่ออวดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
การกระทำเช่นนั้นมันไม่ใช่ธรรมะ แต่เป็นการแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่ามีอะไรๆ ก็เป็นกิเลสประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่คนกลัวไม่รู้ ไอ้กิเลสนี่มันเหลือเกินล่ะ เลยบางเราไม่รู้ว่าเรามีกิเลสนะ คนบางคนมีความบกพร่องอยู่ในตัว เป็นตัวกิเลสนะ เขาเรียกว่าอุปกิเลสน่ะ ไอ้ตัวเล็กตัวน้อยนี่นะมันมากมายเหลือเกินน่ะ คอยเกิดขึ้นมาเราไม่รู้ ถ้าไม่มีสติควบคุมจริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่ากิเลสนั้น ว่าอะไรเป็นกิเลส แล้วมันเกิดขึ้นเพราะอะไร มีอะไรเป็นพื้นฐาน ไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็เลยทำไป โดยนึกว่าเราไม่มีกิเลส ทั้งๆที่แสดงกิเลสออกอยู่ตลอดเวลา แต่นึกว่าตัวไม่มีกิเลส อย่างนี้มันก็มีเหมือนกัน
อันนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าต้องคิดต้องตรอง ใช้สติปัญญาให้รอบคอบ ในเมื่อเราจะทำอะไรลงไปก็ต้องพินิจพิจารณา ไม่ทำอะไรง่ายๆไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องใช้หลักเกณฑ์พิจารณาอย่างรอบคอบรอบรู้ในเรื่องนั้นๆ ทุกสิ่งทุกประการ คนเราสมัยนี้ ไม่ว่าจะมีอะไรที่ไหนล่ะ ต้องการโฆษณาทั้งนั้นเพื่อให้คนได้รู้ได้เห็น อันนี้การโฆษณามันก็มีสองแบบ โฆษณาในแง่ธรรมะ ไม่ต้องครึกโครมค่อยเป็นค่อยไป คนค่อยมาค่อยชุมนุมกันมากขึ้นเองล่ะในทางธรรมะนี่ มันค่อยๆดังไป อันนี้ถ้าว่ามีความคิดเห็นจะเอาตัวเด่นล่ะก็ ต้องรีบร้อนในการกระทำ ต้องแสดงออก ต้องพูดให้มันแผลงๆ ทำอะไรให้แปลกๆ เพื่อดึงความสนใจให้คนสนใจให้คนเข้าใกล้ อันนี้คนที่มีปัญญาน้อย เข้าใกล้ก็พอใจ ถ้ามีปัญญามากคิดมาก เขาก็พิจารณาเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร เกิดปัญหาขึ้นได้เหมือนกัน
เคยมีคนๆหนึ่งมาที่วัด เป็นพ่อบ้าน อันนี้ภรรยานี่ไปในสำนักหนึ่งซึ่งเคร่งครัดในการเสก เสกผักเป็นอาหาร แม่บ้านคนนั้นพอกลับบ้านก็แหม..จะขึ้นสวรรค์ด้วยการเสกผักแล้วล่ะ มาถึงก็เอาผักบุ้งผัดให้ลูกกินทุกวันๆ พ่อบ้านก็บอกว่า นี่..เธอ เธอกินผักฉันไม่ว่าหรอก เธอจะไปนิพพาน ฉันไม่ว่าล่ะ แต่ไอ้นี่ลูกมันยังเล็กอยู่ มันยังต้องการอาหารเพื่อความเติบโต ยังต้องการโปรตีนต้องการวิตามินอะไรต่ออะไรที่จะให้ร่างกายมันเติบโต ถ้าเธอให้กินแต่ยอดผักอยู่อย่างนี้ ลูกฉันมันจะแย่นะ ก็เถียงกันแหละ แม่บ้านก็ว่า โอ๊ย..นี่มันมิจฉาทิฏฐิ นี่ ไม่รู้เรื่องนี่ นี่แหละกินผักนั่นแหละมันบริสุทธิ์ มันจะได้จิตใจสะอาด แล้วลูกมันไม่ชอบแล้วมันสะอาดขึ้นได้อย่างไร เหมือนเขาแกงผักให้กินแล้วเราไม่ชอบกินนี่ใจมันจะสะอาดขึ้นได้อย่างไร มันสะอาดไม่ได้ล่ะ
นึกถึงตัวเองเมื่อสมัยเด็กๆ นั่นแหละ เวลาเด็กๆนี่คือว่าในครัวมีตะกร้าแขวนอยู่ใบหนึ่ง ในตะกร้านั้นมักจะมีเนื้อมีปลาเค็มแขวนไว้สูง เอื้อมไม่ถึง ไอ้เราเป็นเด็กนี่ จะเอาไม่ถึงล่ะ แต่วันไหนกินข้าวไม่อร่อยแล้วแหงนตาดู ดูตะกร้านั้นแหละ ดูบ่อยๆละ คุณยายบอก เอ้อ..ไอ้หมามันดูแต่ตะกร้า เอาให้มันกินหน่อย ว่างั้นน่ะ ก็เรียกไอ้หมา..ตัวเล็กๆนะ ไอ้หมาอีหมาน่ะ ไอ้หมามันแหงนดูแต่ตะกร้าวันนี้ มันกินข้าวไม่อร่อยแล้วแหละ เลยก็ไปหยิบปลา ปลาแห้ง ปลาช่อนแห้ง ปลาเค็มน่ะ เอามาถึงก็ จี่ให้พอสุกแล้วก็ เอา..กินซะ อ้า..พอได้กินปลาก็มันอร่อยล่ะทีนี้ กินข้าวเพลินหมดชามไปแหละ แต่ว่าให้กินแต่ยอดผักยอดมันสำปะหลังอะไรเอามาต้ม มันไม่ได้เรื่องอะไรล่ะ มันเป็นอย่างนั้น เด็กมันยังต้องการอาหาร เราเป็นแม่จะถืออาหารว่ากินผักก็กินไปของตัว แล้วทีนี้เราไปในครอบครัวนี่ เราเป็นแม่บ้าน เราจะกินผักจะไปสวรรค์นิพพาน มันต้องรู้ว่า อ้อ..เรายังมีความสัมพันธ์กับครอบครัวอยู่ ว่ามีความสัมพันธ์กับครอบครัวนั้น ต้องประพฤติธรรมที่จะให้เกิดความสุขในครอบครัว ประพฤติอย่างไร..ทำตามหน้าที่ ไปถึงบ้านก็ปรุงอาหาร สามีชอบอย่างนี้ก็ปรุงให้ ลูกควรกินอย่างนี้ก็ปรุงให้ด้วยความเต็มใจ แต่ตัวเองนั้นไม่รับทาน เพราะว่าถือศีลกินเจ อันนี้พ่อบ้านก็ไม่เดือดร้อนอะไร พ่อบ้านก็ไม่บ่น ลูกก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าลูกก็ได้กินอาหารที่ถูกตามหลักโภชนาการ พ่อบ้านก็ได้กินอาหารถูกหลัก ตัวก็ถือไปของตัว มีจานของตัว มีกะทะของตัว กลัวว่ามันจะเปื้อนน้ำมันหมูบ้างอะไรต่ออะไร กินแต่น้ำมันพืชน้ำมันทิพย์อะไรก็ว่าไปตามเรื่อง เอามาเจียวมาผัดกิน อย่าไปให้กระทบกระเทือนคนอื่นเมื่อเขายังไม่กินผักเหมือนเรา ก็ปรุงให้เขา นี่เรียกว่าแม่บ้านนั้นรู้จักหน้าที่ นี่ไม่รู้จักหน้าที่ เอาแต่ตัว กูจะไปนิพพานคนเดียว แล้วจะดึงคนอื่นที่ไม่อยากไปนิพพาน ลากถูลู่ถูกังไปด้วย แทนที่จะถึงนิพพานมันก็สลบไปเสียก่อนล่ะ เพราะจับตัวมันลากไปอย่างนั้นแหละ มันจะไปถึงได้อย่างไร
นี่เขาเรียกว่า ประพฤติธรรมไม่ถูกกาละเทศะ เราทำไม่ถูก เราต้องแบ่งว่าเวลานี้เรื่องของเรา ไอ้เวลานี้เรื่องครอบครัว เวลานี้เรื่องของสังคม เขาเรียกว่า กาลัญญ กาลัญญุตา ในสัปปุริษธรรม ๗ น่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้เหตุรู้ผล รู้ตนรู้ประมาณ รู้เวลารู้บุคคล รู้ประชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ว่าเราควรประพฤติตนอย่างไรควรจะทำตนอย่างไรให้เหมาะ คนเราที่อยู่ในสังคมแล้วมันวุ่นวาย เพราะไม่ได้ใช้หลักธรรมข้อนี้ ไม่ได้ใช้ สัปปุริษธรรม ๗ ในการคบหาสมาคมกับเพื่อฝูง ไม่ใช้เหตุผลไม่มองดูตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้เวลาไม่รู้บุคคล ไม่รู้ประชุมชน เลยปฏิบัติไม่ถูก เมื่อปฏิบัติไม่ถูกมันก็เกิดปัญหาทำให้เกิดเรื่องเกิดราวกันประการต่างๆ อันนี้คือความขัดข้องในครอบครัว
เมื่อหลายปีมาแล้วเจออุบาสิกาคนหนึ่ง แกก็ชอบทำบุญแหละ ทำบุญพวกแบบว่าบุญไม่ใช่เรื่องอะไรล่ะ วัดไหนมีงานก็ไปวัดโน้นมีงานก็ไป เลยไปพบกันพบกันที่งานวัดหนึ่ง แกก็เล่าให้ฟัง อาตมานี่ก็รู้ว่าแม่คนนี้นี่จะยุ่งล่ะ คือ ไปวัดไปเรื่อยจนลืมครอบครัวนี่ ไอ้ลูกผัวอยู่อย่างไรไม่สนใจแล้ว ฉันจะทำบุญของฉันท่าเดียวล่ะ ก็เลยอธิบายให้ฟังบอกว่าที่คุณพี่เล่ามาทั้งหมดนี่ ขอโทษเถอะจะขัดคอนิดหน่อย รู้สึกว่าคุณพี่นี่ทำแต่บุญท่าเดียว แต่ว่าเรื่องครอบครัวนี้พี่ไม่นึกถึงเลย ไม่นึกว่าผัวจะกินอะไรลูกจะกินอะไร ในครอบครัวจะอยู่อย่างไร เอาแต่บุญ บุญท่าเดียวล่ะ อันนี้ถ้าพบพระที่แกก็ชอบให้คนทำบุญ แกก็ชมล่ะ โอ...คุณพี่อย่างนั้นอย่างนี้แหละ แต่อาตมานี่มันไม่เหมือนเพื่อนล่ะ ไม่อยากจะชมให้คุณพี่เสียผู้เสียคนนะ ขอเตือนหน่อยแหละ ว่าอย่าทำบุญให้มันมากนัก คิดถึงบ้านบ้างคิดถึงสามีบ้างคิดถึงลูกบ้าง เอาใจใส่ในครอบครัว ทำเวลาที่ว่างแล้วบุญที่ควรทำก็คือว่าทำหน้าที่ของเราให้เรียบร้อยนั้นคือบุญแท้ล่ะ
หน้าที่อะไรของเรา เราเป็นพ่อทำหน้าที่พ่อให้สมบูรณ์ มันเป็นบุญอยู่แล้ว หน้าที่แม่ ทำหน้าที่แม่ให้สมบูรณ์ หน้าที่ครูก็ทำหน้าที่ไป เป็นอะไรก็ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์นั้นมันเป็นบุญอยู่แล้ว ส่วนบุญอื่นเช่น บุญให้ทานบุญอะไรต่ออะไร ว่างๆมีเวลาทรัพย์สมบัติเหลือเฟือ พอจะช่วยเหลือได้ ใช้ปัญญาพิจารณาว่าควรจะช่วยที่ใด ช่วยเมื่อจำเป็นที่จะต้องช่วย ไม่ใช่ว่ามีงานวัดนั้นก็ไปแสดงตัวมีงานวัดนี้ก็ไปแสดงตัว พระเห็นก็ยิ้ม เอ้อ..ว่าแม่คนนั้นมาอีกแล้ว แม่คนนี้มา แกดีใจและแกได้เงินบูชากันฑ์เทศน์อะไรต่ออะไรล่ะ แต่ไม่ได้นึกว่าเขาจะเสียหาย มีเหมือนกันพระเราชอบคน ชอบชวนคนไปเที่ยว เดี๋ยวจะไปผ้าป่า เดี๋ยวไปกฐินเดี๋ยวทัศนาจร ชวนเรื่อยแหละ แล้วคนไหนไปกับท่านบ่อย ... ก็แหม ... นี่โยมนี้เก่งไปได้ไปทุกทีแหละ หานึกไม่ว่าที่ไปน่ะกระเทือนครอบครัว
เช่นคนเป็นแม่บ้านนี่มัวแต่ไปทัศนาจรทอดผ้าป่าทัศนาจรทอดกฐิน ไปไหว้พระ ทิ้งคนไว้ข้างหลังกี่คน หนึ่งพ่อบ้าน ลูกกี่คนล่ะที่ไม่ได้เอาใจใส่ ไปทีนึงสามคืนสี่คืน อ้าว..เสร็จแล้วเดี๋ยวไปเหนือล่ะ เดี๋ยวไปใต้แล้ว เดี๋ยวไปตะวันออกแล้ว เดี๋ยวจะไปทัศนาจรนั่นี่แล้ว ... อู๊ย มากมายก่ายกอง เราไม่ควรจะไปดึงโยมอย่างนั้น ก็ต้องสอนให้รู้หน้าที่ในครอบครัวดีกว่าว่าหน้าที่มีอยู่ที่บ้านนี่ทำให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปไหว้พระไกลๆ หรอก ไหว้พระในบ้านก็ได้แล้วก็ทำหน้าที่ของตัวให้เรียบร้อย ลี้ยงลูกให้ดีให้มีการศึกษามีสติปัญญาเป็นพลเมืองดีของประเทศชาตินั้นแหละยอดบุญยอดกุศล ไม่ใช่แต่มัวไปไหว้พระอยู่ตลอดเวลา ทำแต่ให้ทานทำอยู่ตลอดเวลา แหม..ปลื้มอกปลื้มใจจนตัวสั่น วันนี้เลี้ยงพระมากๆแต่ที่บ้านไม่มีอะไรจะกินอยู่ อ้า ... ไอ้อย่างนี้มันเกินพอดีไปแล้วแหละ ก็เรียกว่าไปปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม
เนี่ย ... พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งตามธรรมอยู่นี่ มีหลักไหนปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันต้องรู้อะไรสมควรอะไรไม่สมควร มีอยู่ไม่ใช่น้อยนะ แต่ว่าในหมู่ญาติโยมนี่ไม่ค่อยมีอย่างนั้นแหละ เพราะว่าวัดนี้ไม่ชอบชวนโยมไปเที่ยว เสียเวลา อยากให้โยมอยู่บ้านทำงานบ้านไป วันอาทิตย์ก็มา พาครอบครัวมาด้วยก็ดี มาทั้งสองคนน่ะ มาฟังมาอบรมบ่มนิสัย แล้วเอาไปใช้ ที่ให้มาฟังเพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ฟังแล้วไปนั้นไปนี่ อาตมาฟังวิทยุบ่อย มีอาจารย์อยู่องค์หนึ่ง
แหม ... มีแต่ชวนคนไปเที่ยว ให้ไปไหว้พระที่นั้นไปไหว้พระที่นี่ ราวกับว่าพระอยู่ที่ยอดเขานั้นแหละ อยู่ที่ตำบลนั้นอย่างนั้นแหละ ต้องไปไหว้ แล้วก็ชักชวนว่าจะได้อานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้ นี่ไม่เข้าเรื่อง อาจารย์องค์นี้ไม่เข้าเรื่อง ชวนคนให้ยุ่ง ทำให้เป็นปัญหาในครอบครัว คราวนี้ถ้าเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัวแล้ว มันกระเทือนถึงศาสนาด้วยเหมือนกัน คือ ทำให้คนในครอบครัวไม่เลื่อมใสศาสนา เช่นว่า แม่บ้านมาวัดมากเกินไป พ่อบ้านชักจะเกลียดพระแล้ว (หัวเราะ) ไปกับพระองค์ไหนก็พ่อบ้านเกลียดพระองค์นั้นแล้ว ชักจะหึงพระขึ้นมาแล้ว ความจริงมันไม่มีอะไรแต่ชักจะหึงพระแล้ว เอ..มันยุ่งจริง นี่เป็นปัญหาแล้ว แล้วก็กระทบกระเทือนไปถึงเด็กในครอบครัวด้วย นี่คือความเสียหาย ไม่จำเป็นจะต้องไปทำอย่างนั้น พ่อบ้านก็เหมือนกันแหละ ถ้าว่าเคร่งครัดปฏิบัติจนไม่นึกถึงลูกถึงเต้า มันก็ไม่ดีเหมือนกัน เราต้องรู้หน้าที่ว่า เอ้า ... วันไหนว่าง เราไปวัด อย่างวันอาทิตย์เราก็ไปวัด แต่กลับมาถึงบ้านเราก็ต้องเปลี่ยนโฉมหน้า ไปวัดเราก็เป็นคนวัด มาบ้านก็ต้องทำหน้าที่ของเจ้าบ้านต่อไป
ทำด้วยปัญญาทำด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ให้สำนึกว่านี่เป็นหน้าที่ เช่นว่าเราเป็นพ่อบ้าน ก็ต้องมานั่งสนทนากับลูกบ้างบางครั้งบางคราว มาพูดจาสนทนากันแนะนำการเรียนการสอนในเรื่องวิชาการต่างต่าง กวดภาษากวดคำนวนวิทยาศาสตร์ให้แก่ลูกตามหน้าที่ของเรา คอยสอนคอยเตือน แล้วให้รู้ว่าคนเรามันไม่เท่ากัน เด็กน่ะมันอย่างหนึ่ง หนุ่มสาวอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง เหมือนกับเสื้อ ก็ต้องมีเสื้อขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ถ้ามีเสื้อจนาดเดียว คนผอมใส่ได้แล้วคนอ้วนไม่มีเสื้อใส่นี่ เดินล่อนจ้อนไปอย่างนั้นแหละ มันก็ไม่ได้แหละ มันต้องมีเสื้อหลายตัว คราวนี้การปฏิบัติธรรมนี่ก็เหมือนกันล่ะ
โยม มันก็มีขั้นมีตอนสำหรับเด็กต้องอย่างนั้น หนุ่มสาวผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่ เลื่อนชั้นกันไปโดยลำดับตามขั้นตามชั้น คราวนี้เราอยู่ชั้นมัธยมแล้วจะไปดุเด็กอนุบาลว่าอะไร เรื่องเท่านี้ไม่เข้าใจ มันก็ไม่ได้ มันยังเด็กอนุบาล เราต้องรู้ว่า นี่มันยังเด็กมันไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องสอนตามประสาของเด็กให้เขารู้ให้เขาเข้าใจ อย่าทำอะไรให้เกิดความกระทบกระเทือนในเรื่องความเป็นอยู่ในครอบครัวของเรา อันจะเป็นปัญหาที่จะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่สามีแก่ภรรยาแก่บุตรธิดาในครอบครัวเรา เราประพฤติธรรมนี่ต้องรู้ว่า การประพฤติธรรมนั้นเพื่อช่วยให้คนสบายใจ แต่ถ้าเราประพฤติธรรมแล้วคนอื่นเดือดเนื้อร้อนใจ มันก็ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนอยู่ในครอยครัวนี่ ยังครองบ้านครองเรือน ยังไม่ออกไปบวชเป็นพระ มันก็ต้องรู้ว่าหน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อภรรยาต่อบุตรธิดาต่อคนใช้ ต่อคนใกล้เคียงต่อผู้ทำงานร่วมกันว่าเราควรจะทำอะไรกับคนเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย แล้วก็จะอยู่กันด้วยความสุขความสบาย อย่างนี้จะชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งปฏิบัติตามธรรมอยู่ เราก็สบายใจทุกคนก็สบายใจ อย่าสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นระหว่างคนที่เราอยู่ร่วมกัน คนหนึ่งทำอย่างหนึ่งอีกคนหนึ่งทำอย่างหนึ่งมันยุ่งล่ะ สามีภรรยานี่เป็นตัวอย่างยุ่ง สามีไปทางภรรยาไปทางเกิดยุ่งแล้ว เขาเรียกว่าศรัทธามันไม่ตรงกัน คราวนี้ศีลก็ไม่ตรงกัน ปัญญาก็ไม่ตรงกัน ความเสียสละก็ไม่ตรงกัน อ้าว ... เกิดปัญหาแล้ว มันต้องปรับให้เท่ากันได้ อย่าดันไปคนเดียว เรียกว่าให้มันกลมกล่อมกัน ปรับคนละนิดให้มันพอเข้ากันได้นี่ เหมือนกับเราใส่น๊อตนี่ มันเข้าไม่ได้ก็ต้องแก้เกลียวใหม่ให้พอเข้ากันได้เรียบร้อย
คนอยู่กันมันก็ต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องปรับตัว เขาเรียกว่าปรับปรุงตัวเองให้เหมาะแก่สิ่งแวดล้อมตามสมควรแก่ฐานะ ไม่ถึงกับเกิดความเสียหายมากมายเกินไป เราก็ทำได้ นี่เคล็ดลับในการปฏิบัติธรรมะ นำมาพูดให้ญาติโยมได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะได้ไม่วุ่นวายสับสน ตามสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในสังคมในยุคปัจจุบันนี้ เพราะว่าการศึกษาก็ดี การปฏิบัติธรรมะก็ดี เพื่อสร้างความสงบสุขในสังคมและในตัวเรา ตัวเราก็เป็นสุขสังคมก็เป็นสุข ถ้าเราเอาสุขคนเดียวคนอื่นเดือดร้อนมันก็ไม่ได้ เราให้สุขทั่วกันสบายทั่วกัน ไอ้นี้ทำอย่างไรจะเกิดอย่างนั้นต้องใช้สติปัญญาพิจารณา
ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ นั่งตัวตรงหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวแล้วคอยกำหนดลมหายใจเข้าออก ควบคุมจิตให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก เป็นเวลา ๕ นาที ญาติโยมยืนสำรวมจิตแผ่เมตตาปรารถนาความสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย (ทุกคนกล่าวบทแผ่เมตตา)