แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย ปีนี้ฝนมันชุกหน่อย ปีก่อน ๆ นี้วันอาทิตย์นี่ไม่ค่อยมีฝนตก แต่ปีนี้แม้วันอาทิตย์ก็ไม่มีข้อยกเว้น ตกเรื่อยไป แสดงว่าบ้านเมืองจะอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ด้วยข้าวปลาอาหาร มันก็ดีเหมือนกัน ไอ้ของทั้งหลายทั้งปวงนี้มีดีมีเสียปนกันไป บางอย่างก็ดี แต่มันก็เสียปนอยู่ด้วย เช่นฝนตกมากนี่ น้ำท่าดี ข้าวปลาอาหารดี แต่ไม่ดีสำหรับเราที่จะนั่งสบาย ๆ ตามใต้ต้นไม้ หรือไม่ดีสำหรับคนที่จะจัดงานอะไรต่าง ๆ ในสนามหญ้าหน้าบ้าน ฝนเทลงมาก็หาว่าฝนไม่ดี
ความจริงฝนนั้นมันก็ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ความคิดของคนเราไปเที่ยวคิดว่ามันดีเมื่อมันถูกกับอารมณ์ของเรา ไม่ดีเพราะมันไม่ถูกกับความต้องการของเรา เช่นวันนี้ฝนตกนี่พวกเราว่ามันไม่ค่อยดี เพราะว่าญาติโยมมาทำบุญสุนทาน ไม่สะดวก ใต้ต้นไผ่ป่าไผ่นั้นมันชื่นหน่อย นั่งไม่สะดวก เราก็เรียกว่าไม่ชอบฝนตก แต่ว่าชาวนาชาวไร่เขาชอบ ฝนตกก็ว่าแหมดี ต้นข้าวชุ่มฉ่ำ (01.38) ขึ้นเขียวงาม พวกปลูกผักก็ชอบใจ พวกเที่ยวนี่ก็ไม่ชอบเหมือนกัน ขับรถไปไหนมันลำบาก ถนนมันลื่น มีชอบบ้าง มีไม่ชอบบ้าง
ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนี่ มีคนทั้งชอบทั้งไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติ เหตุการณ์ของแต่ละบุคคล เหตุการณ์ของบ้านเมืองของลูก ย่อมมีคนชอบมีคนชังตามอารมณ์ของคนเหล่านั้น เราจึงควรจะทำใจให้มันเป็นกลาง ๆ อย่าไปชอบอย่าไปชังเข้า เพราะถ้าชอบมันก็ดีใจ ไม่ชอบก็เสียใจ ดีใจมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เป็นเวทนาเหมือนกัน เสียใจก็เป็นเวทนาเหมือนกัน นี่มันก็เหมือน ๆ กัน เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในใจ ถ้าเราทำใจเฉย ๆ นึกว่าช่างเรื่องของเขา มันเป็นไปตามนั้น ตามเรื่องของธรรมชาติ ฝนตกบ้างแดดออกบ้าง เป็นดีร้ายเป็นเรื่องของธรรมชาติ
ร่างกายของคนเรานี่ก็เหมือนกัน บางทีมันก็ดี บางทีมันก็ไม่ดี บางทีก็เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย บางทีก็สะดวกสบายเป็นปกติ มันเป็นอย่างนั้น มาอาทิตย์ก่อนนี้มาเทศน์เสร็จแล้ว เขามารับไปจันทบุรีนู่น นั่งรถเบนซ์สวย แล้วก็เปิดแอร์ตลอดเวลา อาตมามันไม่ค่อยชอบแอร์ แต่เขาให้นั่งหน้าเสียด้วย พระนี่เขาให้เกียรติให้นั่งหน้ามันตรงกับแอร์ ไอ้เราไม่ชอบ แต่ว่าคนอื่น ๓-๔ คนเขาชอบ ไอ้จะบอกว่าไม่ชอบ คนข้างหลังเขาชอบ ถือว่าประชาธิปไตยเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เลยก็ปล่อยให้เขาชอบ อันนี้เราไม่ชอบก็เลยไม่สบาย แต่ก็นั่งไปได้จนถึงวัดที่จะไปเทศน์ เทศน์เอาเวลา 2 ทุ่ม เทศน์จบแล้วเดินทางกลับกลางคืน เขาก็เปิดแอร์มาตลอดทาง รุ่งเช้าขึ้นมันก็ไม่สบาย เป็นไข้หวัดขึ้นนิดหน่อย เลยก็ไอมาก เลยต้องพักผ่อนไปทั้งอาทิตย์ ต้องกินหยูกกินยา ยิ่งระดมกันเป็นการใหญ่ อาทิตย์นี้ก็เลยปกติพอพูดพอจาได้เรียบร้อย ไม่มีอะไร
นี่ก็คือความไม่แน่นอนของชีวิต วันนี้ดีพรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ ตอนเช้าสบาย ตอนบ่ายอาจจะไม่สบายก็ได้ เพราะความไม่สบายทางร่างกายนั้น มันเนื่องด้วยอุตุฯก็มีเหมือนกัน คือเราดูเรื่องกาล (04.25) เป็นเหตุ เรื่องแดดจัดไป ฝนตกอากาศชื้น ร่างกายเราไปกระทบร้อนกระทบหนาว รวดเร็วเกินไป มันกลับไม่ทัน ก็เลยเกิดเป็นปัญหา เจ็บไข้ได้ป่วยได้เหมือนกัน
แต่ว่าตอนนี้หมอเขารักษา ไปเช็คร่างกายดูแล้ว ปกติทุกอย่าง ตับไตไส้พุงเรียบร้อย ไม่มีอะไร คลื่นหัวใจ คลื่นสมอง คิดหมด คิดทุกเรื่อง สวนอะไรเข้าไปในท้อง เช็คลำไส้ดูว่าลำไส้มีอะไรบ้าง ไม่มีอะไร ไตก็เรียบร้อย มีนิดเดียวคือว่า ในเลือดนี่มันมีกรดมากไปหน่อย เลย 12 เปอร์เซ็นต์ หมอบอกว่า ต้องงดฉันของที่เป็นสัตว์ปีกคือเป็ดไก่ ไม่ฉันมานานแล้ว ก็หมอห้ามมาตั้งปีแล้ว เป็ดไก่นี่เลิกฉันกัน เรียกว่าเป็ดไก่นี่ละกันไป (05.27) สักทีหนึ่ง ไม่แตะต้อง
เครื่องในอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ฉัน เวลานี้ก็ฉันแต่ของธรรมดา ๆ แต่ว่าพอไปชั่งน้ำหนักเข้ามันกลายเป็น ๗๘ ไป ไอ้ก่อนนี้มัน ๗๕ นี่มันขึ้นเป็น ๗๘ ก็อ้อ มันชักจะมากอีกแล้ว มากนี่ก็เพราะว่าไม่ได้วิ่งนั่นเอง ไอ้จะลุกขึ้นวิ่งเช้า ๆ คนเห็นเข้าก็จะลำบาก นึกว่าเอ..หลวงพ่อทำไมถึงวิ่งอย่างนั้น มันลำบากวิ่งไม่ได้ ได้แต่ออกกำลังอย่างอื่น แกว่งแขนแกว่งขาอยู่ในกุฏิ แต่น้ำหนักมันก็ไม่ลด ลดอาหารนี่ความจริงก็ลดอยู่แล้ว แต่ก็น้ำหนักยังไม่ลด มันกลับเพิ่มไป ค่อยเอาใหม่ ออกพรรษารับกฐินอะไรเสร็จแล้ว เห็นจะต้องแบกกลดจาริกไปตามทางรถไฟด้วยการเดิน เรียกว่าเดินธุดงค์ ธุดงค์สักเดือนหนึ่งเพื่อเอาน้ำหนักมันลดลงไปหน่อย อดบ้างกินบ้างมันก็ค่อยยังชั่วขึ้นหน่อย ต้องทำอย่างนั้น น้ำหนักจึงจะเบาลงไป
นี่เอามาเล่าให้ฟังว่า เรื่องอะไร ๆ มันก็อย่างนั้นแหละ มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราอย่าไปตกใจในเมื่ออะไรมันเกิดขึ้น แต่ให้นึกว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้น มันจะต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วมันก็ไม่ใช่จะอยู่ถาวรมันก็หายไป เช่นเจ็บไข้ได้ป่วยมันเกิดขึ้น มันก็ต้องหาย ก็เรื่องธรรมดา มันก็ต้องหาย ถ้าไม่หายมันก็ตายไปตามเรื่องของมันอีกเหมือนกัน เพราะมีเกิดแล้วมันก็ต้องมีตาย เป็นเรื่องธรรมดา พิจารณาอย่างนี้แล้วก็ใจสบาย ไม่เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจมีความสุขในชีวิตประจำวัน
ทีนี้ว่าเมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้ก็พูดมาถึงเรื่องอบายมุข เมื่อวันที่แล้วนี่พูดเรื่องโทษของการเที่ยวกลางคืน เพราะว่าคนชอบเที่ยวกันมาก นั่งรถไปไหน ๆกลับมาดึก ๆ นี่ รถยังวิ่งกันเหลือเกิน คือนั่งกลับจากจันทบุรีนี่เข้ามากรุงเทพฯนี่มันตีหนึ่งครึ่งแล้ว เข้าบางนา รถสุขุมวิทก็ยังวิ่งกันเหลือเกิน ยังแน่นเชียว นึกในใจว่า อ่อ...คนมันยังชอบเที่ยว ไม่ได้ไปฟังเทศน์วันอาทิตย์ที่วัดชลประทานเลยไม่รู้ว่าโทษการเที่ยวกลางคืนนี่มันเป็นอย่างไร และยังเที่ยวกันอยู่มาก
จึงอยากจะให้หนังสือที่พูดในเรื่องนี้ แพร่หลายออกไป ใครที่เป็นพรรคพวกของเราที่ชอบเที่ยวกลางคืน ห่อแล้วก็ส่งไปให้เขาอ่านเสียบ้าง เผื่อเขาจะได้รู้ว่า อ้อ มันไม่ดี พระพุทธเจ้าท่านห้าม ถ้าเรารักพระพุทธเจ้า เคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่เที่ยวเตร่กลางค่ำกลางคืน หาเรื่องใส่ตัว สร้างปัญหาแก่ครอบครัว แล้วก็สิ้นเปลืองเงินมาก เงินก็ไม่พอใช้ อาจจะไปหาโดยทางผิดต่อไป มันเกิดเรื่องหลายเรื่องหลายประการ ดังที่พูดให้ฟังแล้ว
วันนี้ก็จะมาพูดต่อไปถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่สำคัญ สาเหตุของคนเราที่จะเป็นนักการพนัน เป็นคนเสพสุราเมรัยของเสพติด หรือจะไปเที่ยวกลางคืน สาเหตุมันมาจากอะไร เหตุสำคัญที่สุดก็เกิดจากการคบหาสมาคมนี่เอง การคบหาสมาคมนี้ความจริงมันก็เป็นเรื่องจำเป็นในชีวิต เพราะว่าคนเราเกิดมาแล้วจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีการคบเพื่อน แต่ว่าเพื่อนที่เราจะคบนั้นมันก็มีสองแบบ คือเพื่อนดีก็มี เพื่อนชั่วก็มี ถ้าเราได้คนดีมาเป็นเพื่อนไม่เสียหาย มีแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเราได้เพื่อนไม่ดี ความเป็นมิตรเป็นสหาย ปัญหาก็จะเกิดขึ้นแก่เรามากมายหลายเรื่องหลายประการ
เพราะฉะนั้นในมงคลสูตรนี่ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเกี่ยวด้วยมงคล มีเรื่องอะไรขึ้นต้น เรื่องมงคลมี ๓๘ ประการนี่ บทขึ้นต้นด้วยว่า อเสวนา จ พาลานํ (อะเสวะนา จะ พาลานัง) ปณฑิตานญฺจ (ปัณฑิตานัญจะ) เสวะนาแปลว่าอย่าคบคนพาล ให้คบหาสมาคมด้วยบัณฑิต ทำไมเอาเรื่องนี้ขึ้นก่อน เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราดีก็ได้ ให้เราเสียก็ได้ สิ่งที่เป็นมงคลจึงได้พูดไว้ก่อนว่า อย่าคบคนพาล ให้คบหาสมาคมด้วยบัณฑิต
ทีนี้คนพาลนี่คือคนเช่นไร เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง แต่ในเริ่มต้นนี่ให้รู้ว่าการคบหาสมาคมเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอะไร ๆ ขึ้นในชีวิตของเรามากมาย พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า ถ้าพูดถึงเหตุภายนอกที่จะทำคนให้ดีให้เสีย ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าการคบหาสมาคม ปัจจัยที่จะทำคนให้ดีให้เสียนั้นไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าการคบหาสมาคม คือถ้าเราไปคบหาสมาคมด้วยคนชั่ว มันก็เป็นเหตุให้เราชั่วได้ ถ้าเราไปคบหาสมาคมด้วยคนดี มันก็ดีขึ้นได้เหมือนกัน …… (11.14)
คำพูดจึงมีว่า คบคนเช่นใด เป็นเช่นนั้น อันนี้ไม่ใช่คำพูดชาวบ้าน แต่เป็นคำของพระพุทธเจ้าที่ ยัง เว เสวะติ ตาทิโส แปลว่า คบคนเช่นใด เป็นเช่นคนนั้น ถ้าเราไปคบคนขี้เมา ไม่ชอบ (12.01) ใจมันก็ชวนเราเข้าไปร้านขายเหล้า แต่เราไปคบนักการพนัน มันก็ชวนเราไปบ่อนการพนัน ถ้าไปคบคนชอบเล่นม้า วันอาทิตย์ไม่มาวัด ต้องไปรออยู่ที่ประตูสนามม้าแล้ว มันชวนเราไปเคี่ยวเข็ญเราไปให้เล่นม้า ถ้าเป็นคนชอบเที่ยวกลางคืน มันก็ชวนเราไปเที่ยวกลางคืน คนชอบสนุกด้วยร้องรำทำเพลง มันก็ชวนเราไปในทางสนุกอย่างนั้น หรือว่าเราไปคบคนขี้เกียจ ไอ้โรคขี้เกียจมันก็ติดเราเอาเหมือนกัน
นี่ฝ่ายธรรมฝ่ายเสีย ถ้าเราไปคบฝ่ายเสียแล้ว เราก็โน้มเอียงไปในทางเสีย แต่ถ้าเราไปคบคนดี เช่นไปคบคนที่ชอบไปวัด เขาก็ชักจูงเรามาวัด คบคนที่ชอบศึกษาหนังสะหนังสือ เขาก็แนะนำให้เราอ่านหนังสือนั้นอ่านหนังสือนี้ คบคนที่ขยันทำงาน เขาก็ชวนให้เราไปทำงานกัน ไม่ให้อยู่นิ่งอยู่เฉย คบคนเช่นใดมันเป็นเช่นอย่างนั้น
คนบางคนยังไม่เสีย แต่ว่าไปคบเพื่อนเข้าก็เสียผู้เสียคนไป เด็กหนุ่ม ๆ ซึ่งเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพ ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองที่เข้มงวดกวดขัน เช่นไปอยู่ตามหอพัก หรือว่าไปอยู่ในที่ใดที่ไม่มีผู้ปกครอง มีอิสระ มีเงินอยู่ในกระเป๋า แล้วก็ไปคบเพื่อน ถ้าสมมติเด็กคนนั้นไปคบเพื่อนเสีย ก็ค่อย ๆ ดึงไปในทางเสีย พอที่สุดเสียคน ไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วเขียนจดหมายหลอกคุณพ่อคุณแม่ ต้องการเงินซื้อนั่นซื้อนี่ พอสิ้นปีขอมากหน่อย เพราะว่าต้องเลื่อนชั้น ต้องไปเสียค่าหน่วยกิตอะไรต่าง ๆ นานา ไอ้คุณพ่อคุณแม่ก็อยู่บ้านนอก ไม่รู้ว่าไอ้เรียนน่ะ เขาเสียอะไรกันบ้าง สุดแล้วแต่ลูกจะปอกลอกไป เขียนจดหมายไปก็ส่งมา ๆ สี่ปีห้าปีลูกก็ไม่ได้เรื่องอะไร พอ (14.26) มาก เอาคนไปฝาก (14.30) คุณพ่ออีกคนหนึ่ง เพิ่มสมาชิกขึ้นในครอบครัว คือได้เมียไปด้วยคนหนึ่ง อย่างนี้มันไม่ได้เรื่องอะไร เพราะมันไปคบคนผิด
คนผิดนั้นย่อมดึงไปให้ทางผิด เขาถึงบอกว่า คบพาลพาลก็พาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตก็พาไปหาผล ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า คนไม่ค่อยจะรู้ว่าใครเป็นคนพาล ใครเป็นบัณฑิต ไม่ค่อยจะได้พิจารณา แล้วคนพาลบางทีก็มีเทคนิคการจูงใจเรา เขาเอื้อเฟื้อ เขาเอาอกเอาใจ ให้เราติดใจเขา เช่น เขาเลี้ยงเราบ้าง ให้สตางค์เราบ้าง แนะนำอย่างนั้น แนะนำอย่างนี้ จนเราตกหลุม คือความรักแก่เขา (15.24) พอใจเขา ครั้นว่าพอใจแล้วเกรงใจ พอเขาชวนให้ทำอะไรก็เกรงใจ เลยต้องไปกับเขา
นี่แหละคือปากทางแห่งความเสียผู้เสียคน ซึ่งมีอยู่ไม่ใช่น้อย เรามีลูกมีหลาน เคยสังเกตดูบ้างไหมว่าลูกหลานของเราน่ะ ไปเดินร่วมกับใคร เพื่อนของลูกเรานั้นเป็นคนประเภทใด มีความคิดอย่างไร จากสภาพในบ้านเรือนนั้นเขาเป็นอยู่อย่างไร อันนี้เราไม่ค่อยจะได้พิจารณากันหรอก เพราะว่าพ่อแม่นี่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะสืบสวนชวนถาม หรือเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของเด็ก ๆ เพราะฉะนั้นเด็กมีทางจะเสียคนได้ง่าย เช่นไปสูบกัญชา ไปสูบเฮโรอีน ติดผงขาว อันนี้ก็เพราะว่า มันไปคบคนประเภทอย่างนั้นเข้า แล้วคนประเภทนั้นก็แนะนำชักจูงในเรื่องที่จะทำให้เสียผู้เสียคน
ท่านมหาตมะ คานธี เมื่อเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียน ท่านก็เสียทีของพวกอันธพาลไปคราวหนึ่งเหมือนกัน คือพวกอันธพาลนี่มันพูดแนะนำท่าน บอกว่าเราคนอินเดียนี่มันแย่มาก พลเมืองก็มาก แผ่นดินก็ใหญ่ แต่ว่า คนอังกฤษนี่เกาะเล็กนิดเดียว พลเมืองก็น้อย แต่มันมาปกครองเรา มีอำนาจเหนืออินเดีย ทำไมคนอังกฤษมันถึงเก่ง คนอินเดียมันถึงไม่เก่ง ไอ้พวกนั้นก็คุยให้คานธีฟังว่า คนอังกฤษมันเก่งเพราะมันกินเนื้อสัตว์ เราอินเดียนี่มันกินแต่หญ้า พวกสัตว์กินหญ้านี่มันเซื่องๆ โง่ๆ และมันบอกว่าดูลาสิมันกินหญ้าก็โง่ วัวกินหญ้าก็โง่ ควายกินหญ้าก็โง่ แต่ว่าสัตว์กินเนื้อนะ สิงโตนี่มันก็ฉลาด สุนัขจิ้งจอกมันก็ฉลาด เสือมันก็เก่ง พูดอย่างนั้นนะ แกก็เห็นไปเออ..มันจริงเว้ย มันพูดชักเหตุผลเข้าที
แล้วไงมันบอกว่า เราไปกินเนื้อกันดีกว่า ชวนไปกินเนื้อ ชวนมหาตมะ คานธี สมัยเป็นเด็กไปกินเนื้อ แต่ว่าท่านไปกินเนื้อ คานธีเกิดความคิด ถ้าไปแอบกินในที่ริมห้วย ในป่า ไม่ให้มีใครเห็น แกก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอ..ทำไมต้องแอบกิน ทำไมต้องซ่อนทำ ถ้าของมันดีก็ไม่ต้องซ่อนทำ ไอ้ที่ซ่อนทำนี่มันต้องไม่ดี ไอ้เรื่องมันดีมันต้องแอบทำ แอบทำในที่ลับ กลัวคนนั้นจะรู้ กลัวคนนั้นจะเห็นนี่ แกคิดขึ้นในใจว่า ไอ้นี่มันต้องไม่ดีแน่ เพราะเราต้องแอบทำไม่ให้ครูเห็น และไม่ให้ใคร ๆ เห็น ทำเฉพาะคนที่มีความคิดร่วมกัน เป็นการประชุมลับ แกก็นึกว่ามันไม่ดีแน่สิ
มันดีที่ว่าแกเกิดมาดูธรรม เกิดความคิดชอบขึ้นในใจ แล้วก็รู้สึกว่าไม่ดี แต่ก็เพื่อนคะยั้นคะยอ ก็เคี้ยวไปกินไปตามเรื่องนะ ไม่ได้กินแต่เนื้อนะ ดื่มเหล้าด้วย พอเหล้ามันกินแกล้มเนื้อกัน กินเนื้อแพะ เนื้อวัวนี่เค้าไม่ฆ่ากิน กินเนื้อแพะกัน ทีนี้พอกินเสร็จแล้วแกก็ไม่สบายใจ เวลากลับไปบ้านไปนอนนี่รู้สึกว่าเหมือนแพะมันมาล้อมอยู่ในท้องนะ เสียงมันดังแบ๊ะ ๆ แบ๊ะ ๆ อยู่ตลอดเวลา นอนไม่เป็นสุข มันไม่สบายใจ
คนไม่เคยทำผิด ถ้าไปทำผิดเข้าสักครั้งนี่มันไม่สบายใจ และถ้ารู้สึกก็ว่ามันไม่ดี เพราะสิ่งใดทำแล้วร้อนใจนี่มันต้องไม่ดี ของดีนั้นทำแล้วไม่ร้อนใจ ก่อนทำไม่ร้อนใจ ทำอยู่ไม่ร้อนใจ ทำเสร็จแล้วก็ไม่มีเรื่องร้อนใจ อันนี้มัน …… (19.37) แต่ถ้าว่า ก่อนทำนี่มองขวามองซ้าย กลัวคนนั้นจะเห็น ใจไม่สบาย มันก็เป็นเรื่องประกาศอยู่แล้วว่าไม่ดี กำลังทำอยู่ก็ไม่สบายใจ มีความกลัววิตกกังวล เรื่องนั้นมันไม่ดี ทำเสร็จแล้วมานอน ก็ยังวิตกกังวลหวาดกลัวอยู่ แสดงว่ามันไม่ดีแน่ ๆ เลยก็ไม่สบายใจ
เมื่อไม่สบายใจก็นึกว่าไม่ได้ ถ้าเราเก็บความไม่สบายใจนี้ไว้มันจะไปกันใหญ่ จะเสียผู้เสียคนกันใหญ่ เลยก็ไปหาคุณพ่อที่กำลังนอนอยู่ ไม่ค่อยสบายใจเล็กน้อย เข้าไปถึงกราบแทบเท้าคุณพ่อ แล้วรับสารภาพว่า วันนี้ลูกได้ทำผิดไปเรื่องหนึ่ง พ่อก็ถามว่าทำผิดเรื่องอะไร บอกว่า ทำผิดเพราะไปกินเนื้อ แล้วก็ไปดื่มของเมาด้วย พ่อได้ยินเช่นนั้นก็เลยน้ำตาไหล พ่อน้ำตาไหลนี่ไม่ได้เสียใจว่าลูกประพฤติชั่วอะไรหรอก แต่น้ำตาไหลเพราะนึกว่า อ้อ..ลูกเรายังดีอยู่ ยังไม่เสีย เพราะว่าทำผิดแล้วรู้ตัวว่าผิด แล้วคิดกลับใจ มาสารภาพความผิดกับคุณพ่อ กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีต่อไป ยังปลื้มใจอยู่ว่า แม้จะเสียแต่ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เสียไปเพียงสัก ๕ ยังดีอยู่ ๙๕ แล้วก็ยังสำนึกตัวได้ว่ามันไม่ดี เลยมาสารภาพผิด
แล้วตั้งแต่นั้นท่านไม่กระทำความผิดต่อไป ในเรื่องอะไรก็ตาม ใครจะมาชักมาจูงอย่างไรท่านไม่เอาทั้งนั้น ถ้าเป็นการผิดต่อจริยธรรม ต่อวัฒนธรรม ต่อประเพณีของคนอินเดียแล้ว ท่านเป็นไม่เอาทั้งนั้น อันนี้ก็เพราะว่า ไปคบเพื่อนผิดนั่นเอง เพื่อนจึงได้จูงไปในทางที่ผิดที่เสีย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่คนอื่นได้ หรือแก่ตนเองได้ อันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ทีนี้เด็กมันไม่รู้หรือแม้คนใหญ่ก็ไม่รู้ เลยหลงผิดไปว่าคนนั้นเขาดี เขาดีในอีกแง่หนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่งเรามองไม่เห็น เราไม่เห็นหลังจากชีวิตของคนนั้น หรือไม่นึกว่าเขาจะเป็นคนอย่างนั้น เช่นบางคนมาพูดว่าเขาดี เรียบร้อย ไม่นึกเลยว่าจะเป็นอย่างนั้น คนเรามันรู้จักแต่งหน้า รู้จักแต่งตัว แล้วก็เป็นคนเขาเรียกว่า เก่งทางด้านแสดงละคร ต่อหน้าคนนี่เขาแสดงละครอย่างดี เป็นสุภาพบุรุษ เป็นสุภาพสตรี พูดจาในเรื่องธรรมะธรรมโมอะไรไปอย่างนั้นแหละ ทำให้เราหลงเพลินไปว่าคนนี้เขาคนวัดคนวา คนใจบุญสุนทาน แต่ว่าอีกฉากหนึ่งนั้นไม่ดี มีเรื่องเสียหาย เป็นฉากสกปรกเรามองไม่เห็น
เราเห็นความดี คนเรานี่มีปกติ (22.55) อันหนึ่งที่ทำให้เสียง่ายคือเชื่อง่าย ใครมาพูดอะไรมาทำอะไรให้ดูแล้วมักจะเชื่อง่ายเกินไป ขาดปัญญา ขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบในเรื่องนั้น ๆ เพราะฉะนั้นจึงถูกเขาหลอกเขาต้มเอาได้ง่าย โดยไม่ได้นึกว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น อะไรจะทำให้เราเสียหายในเรื่องนั้น ๆ อันนี้คือความเสี่ยง
เพราะฉะนั้นจึงใคร่จะให้ข้อคิดไว้สักหน่อยว่า คนที่ไม่คุ้นเคยกัน มาพูดอะไรกับเรานั้น ให้สงสัยไว้ก่อน อย่าไปเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ให้นึกสงสัยไว้ก่อนว่า ไม่รู้ว่าใคร มันจะมาไม้ไหนก็ไม่รู้ มันจะหาวิธีการต้มยำเราอย่างไรก็ไม่รู้ จงสงสัยไว้ก่อน ไอ้สงสัยไว้ก่อนอย่างนี้เรียกว่า เฉลียวใจ มีความเฉลียวใจ
ความเฉลียวนี่มันคู่กับความฉลาด เราจึงพูดว่า เฉลียวฉลาด เฉลียวนั้นคือตัวสติ ฉลาดนั้นมันตัวปัญญา เราพูดในภาษาไทยว่าเฉลียวฉลาด เฉลียวนี่มันต้องมาก่อน พอเกิดเฉลียวไปแล้วมันจะฉลาด แต่ถ้าไม่เฉลียวขึ้นแล้วมันจะไม่ฉลาดแล้ว เราเชื่อเขาทันที เพราะคนบางคนนั้นรูปร่างดี แต่งตัวดี พูดจาดี เรียกว่าบุคลิกลักษณะน่ะ พอหลอกคนกินได้ว่าอย่างนั้นเถอะ
เราก็นึกว่าน่าเชื่อ ท่าทางน่าเชื่อ แล้วบางทีก็บอก แหม...ผมรู้จักกับคนนั้นคนนี้ รู้สึกท่านเลขานายกดี คุณจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้นะ นายโฆษกผมก็คุ้นเคยกัน คุ้นกันทั้งนั้นแหละ ล้วนแต่คุ้นกับคนสำคัญ ท่านปลัดกระทรวง (24.50) โอ้..เคยพบตั้งแต่สมัยอยู่หัวบ้านหัวเมืองนู่น มันพูดอย่างนี้ เราต้องเฉลียวใจแล้ว ทำไมจะต้องอ้างอย่างนั้น ทำไมจะต้องพูดว่ารู้จักคนนั้นคนนี้ ไอ้นี่มันต้องมีแผนแล้วนะ เฉลียวใจไว้ว่า ไอ้คนนี้มันต้องมีแผน ที่มาพูดยั่วในเราเชื่อในตัวเขา
ถ้าคนดีน่ะไม่ต้องอ้างใคร ไม่ต้องอ้างว่ารู้จักเลขา รู้จักปลัดกระทรวง หรือว่ารู้จักอธิบดีนู่นท่านอธิบดีนี่ ถ้ามันดีอยู่ในตัวแล้วจะไปอ้างทำไม ทีนี้มีการโฆษณาชวนเชื่อว่ารู้จักคนนั้นรู้จักคนนี้ โอ๊ย..ไปมาหาสู่กันบ่อย ๆ ผมเคยไปเยี่ยมไปเยียน นี่แสดงว่า มันมีลูกไม้จะมาต้มเรา มันโฆษณาชวนเชื่อแล้ว ถ้ามาในรูปนั้นนะ เราอย่าไปรับเชื่อ ฟังเฉย ๆ ยิ้ม ๆ ไปตามเรื่องตามราวเลย เรียกว่าฟังไปอย่างนั้นแหละ แต่ว่าเราจะไม่ยอมรับเชื่อคน ๆ นั้น เขาขอร้องอะไรจากเรา เราก็หาคิดว่า เราจะปฏิเสธอย่างไร จะปฏิเสธในรูปใด มันต้องมีเทคนิคในการปฏิเสธเหมือนกันคนเรานี่ ไม่ใช่ว่าจะรับเสมอไป มันต้องรู้ว่าเราจะปฏิเสธโดยวิธีใดที่จะเอาตัวรอดปลอดภัยไปได้นี่มันต้องเข้าใจในเรื่องอย่างนี้
เหมือนกับนิทานอีสปที่เขาเล่าว่า สัตว์อยู่พวกหนึ่ง (26.21) ตัวนิ่ม ๆ มันออกมาเที่ยวถามสัตว์นั้นว่า กลิ่นปากมันเป็นอย่างไร กลิ่นหายใจมันเป็นอย่างไร ไอ้สัตว์มันก็บอกว่าเหม็น มันก็ตะครุบเอาเลย พอบอกว่าหอม ไอ้นี่พูดไม่จริงก็ตะครุบเอาเหมือนกัน ทีนี้ไปเจอสัตว์ตัวหนึ่งมันฉลาด บอกว่าแหม..หมู่นี้คัดจมูกดมอะไรไม่รู้เรื่องเลย นี่เขาเรียกว่ามันฉลาด มันมีเทคนิคในการปฏิเสธ เพราะถ้าพูดว่าดีมันก็ไม่ได้ ว่าเสียมันยิ่งโกรธใหญ่ ทีนี้เราจะพูดอย่างไร เราก็พูดว่า จมูกหมู่นี้มันแย่มาก เป็นหวัดมาสองสามคืนแล้ว ไม่รู้กลิ่นอะไรเลย นี่เขาเรียกว่า มันฉลาดนะ มันฉลาดที่จะแก้ไข สุนัขจิ้งจอกหรืออะไรนี่มันฉลาดที่จะพูดอย่างนั้น คนเรามันก็ต้องอย่างนั้น ต้องมีแนวปฏิเสธไม่ให้เสียทีใครได้
ทีนี้บางทีเขามาชวนเราให้เข้าหุ้นเข้าส่วน ทำนั้นทำนี่ แหม..พูดมาแนวทางดี วางแผนสถิติเรียบร้อยอย่างนั้นอย่างนี้นะ เชื่อนะ เชื่อตามเลย เชื่อแล้วก็เลยลงทุนไปกับเขา พอลงทุนไปแล้ว ล่มจมเป็นแถวไปเลย พอล้มแล้ว บอกแหม..มันพูดเก่งอะ มันอ้างสถิติ อ้างจำนวนอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จะมีจะได้เดือนละเท่านั้น ปีละเท่านั้น มันแจ๋วอะ (27.50)
คนมันพูดได้ ไม่ลำบากอะไร ยกตัวเลขให้มันแจ๋วอย่างไรก็ได้ แต่เราอย่าไปเชื่อว่า ไอ้พูดน่ะมันง่ายหรอก แต่ทำน่ะมันจะได้ดังที่พูดหรือ แต่มันก็สงสัยไว้ก่อนว่า ทำได้หรือ มันพูดนี่มันง่ายนะ ใครจะพูดอะไรก็ได้ พูดสร้างวิมานในอากาศสักกี่หลังก็ได้ แต่เกิดปัญหาว่า มันจะเอาเสาคอนกรีตอะไรไปสร้างวิมานในอากาศนี่ ถ้าเราสงสัยไว้บ้าง เราก็ไม่เสียทีคนอันธพาล หรือว่าคนที่จะมาต้มมายำเราด้วยประการต่าง ๆ หรือไม่มาชวนเราให้ไปเสียผู้เสียคน
อันนี้มีบ่อย ญาติโยมบางคนไปเสียทีเขามา เขาชวนให้ไปทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แหมมันพูดจาเข้าที มีเหตุมีผล บอกว่ามีเท่านั้นเท่านี้เลยเชื่อเลย ไปเข้าหุ้นกับเขา แต่พอที่สุดล้มไปเลยไม่ได้อะไร เสียหาย อันนี้เพราะว่าไม่มีเฉลียว ฉลาดแต่มันไม่เฉลียวใจนี่มันก็เสียหายนะ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเฉลียวใจไว้ว่า มันเป็นไปได้หรือ มันน่าเชื่อหรือ คน ๆ นี้คือใคร เรายังไม่รู้จักมักจี่ ทำไมจึงมาพูดโฆษณาตัวเองอย่างนี้ แล้วให้จำไว้ด้วยว่าคนโฆษณาตัวเองน่ะเป็นอันธพาลเหมือนกัน จำไว้ว่าอันธพาลนี่จะชอบโฆษณาตัวเอง ชอบยกย่องตัวเอง เป็นคนประเภทอันธพาลเหมือนกัน ก็โฆษณาตัวเองอย่างนั้น คนอันธพาลนี่ชอบยกตัวเอง ไม่สรรเสริญคนอื่น ไม่ยกย่องคนอื่น เอาตัวดีกว่าเขา ข่มเขาด้วยประการต่าง ๆ นี่ก็เป็นลักษณะอันหนึ่ง
พอเราจะมองเห็นแล้วว่าคนอย่างที่มาโฆษณาอย่างนั้น โฆษณาตัวเองก็นึกโอ้..ไอ้นี่ …… (29.48) ไม่เก่ง เพราะมันยังโฆษณาตัวเองอยู่ เป็นอันธพาลประเภทหนึ่งอยู่เหมือนกัน เราก็ไม่ไว้ใจ เราฟังไปตามเรื่อง ฟังไปสนุก ๆ แล้วก็ฟังดูว่ากลเม็ดเด็ดพรายมันจะขนาดไหน เสร็จแล้วเราไม่เอาเรื่อง พอมันลุกขึ้นไปแล้วเราไม่เชื่ออะไร เฉย ๆ ไม่เอาใจใส่ อย่างนี้ก็พอจะไม่ลำบากอะไร
ทีนี้คำว่าพวกอันธพาล หรือว่าพาลนี่มันหมายความว่าอย่างไร “พาละ”ในศัพท์บาลีนี่เขาแปลว่า อ่อน แสงแดดอ่อน ๆ เขาเรียกว่าพาลเหมือนกัน เรียกว่า “พาลสุริยะ” ดอกอาทิตย์อ่อน ๆ ตอนเช้า ๆ หรือว่าตอนเย็น ๆ นี่แสงมันอ่อน ๆ ก็ใช้คำว่าพาละนำหน้า เหมือนกัน เด็กอ่อนก็เรียกว่าพาละเหมือนกัน เด็ก ๆ นอนอยู่ในหม้อดินเขาเรียกว่า “พาลทารก” เรียกว่าเด็กอ่อนยังไม่รู้เดียงสา ยังไม่มีอะไรที่จะคิดจะอ่าน กับช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นช่วยเหลือ มันก็เป็นสภาพหนึ่ง
แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาเรียกว่าเป็นคนพาลนี่หมายความว่า เป็นคนอ่อน อ่อนสติปัญญา อ่อนการศึกษา อ่อนทางความคิดความอ่าน อ่อนทางการประพฤติการปฏิบัติ อ่อนในประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน เขาไม่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เขาเรียกว่า อ่อน
ภาษาไทยเราพูดกันว่า อ่อนหัด ที่ว่าอ่อนหัดนี่ก็หมายความว่า มันยังเป็นภาระอยู่ ยังไม่เก่งในเรื่องนั้น ไม่เก่งในเรื่องนี้ ยังอ่อนหัดเกินไป เขาเรียกว่าเป็นพาลเหมือนกัน แต่เขามีคำว่า “อันธะ” ใส่เข้ามานำหน้า “อันธะ” นี่แปลว่ามืด ว่าบอด มองไม่เห็นนะ เช่นคนตาบอดนี่เขาเรียกว่าคน “อันธะ”เหมือนกัน ถ้ามันบอด “อันธจักษุ” หมายความว่าเป็นคนตาบอด มองอะไรไม่เห็น “อันธปัญญา” ก็หมายความว่าปัญญามันไม่มี มันเป็นคนมืด คนไร้การศึกษา ไม่มีความคิดความอ่าน หรือเป็นคนที่ไม่ได้เล่าเรียนในสำนักครูอาจารย์ที่ดี มีครูนะแต่ว่าครูไม่ดี
ครูอันธพาลมันก็มีเหมือนกัน สอนลูกศิษย์ให้เสียผู้เสียคน หัดลูกศิษย์ให้ดื่มเหล้าบ้าง ให้เล่นการพนันบ้าง สอนลูกศิษย์ให้ไปเที่ยวกลางคืน คบหาสมาคมด้วยสิ่งชั่วสิ่งร้าย หรือว่าทำตัวเป็นตัวอย่างในทางเสื่อม อย่างนั้นก็เรียกว่าเป็นครูอันธพาลไป เป็นคนที่ใช้ไม่ได้
คนที่เป็นคนประเภทอันธพาลนี่ ความประพฤติไม่ดี การคิดอ่านก็ไม่ดี การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย เป็นพวกอันธพาล พวกอันธพาลนี่ขาดคุณธรรมหลายอย่าง เช่นว่า ขาดเมตตานี่เป็นข้อแรก ไม่มีความเมตตาต่อใคร ๆ คิดแต่จะเห็นแก่ตัว จะเอาประโยชน์ตัวเป็นใหญ่ ไม่เห็นความสุขของเพื่อนมนุษย์ ถ้าจะทำอะไรเขาก็ทำเพื่อตัว แต่ไม่ได้คิดว่าคนอื่นจะเดือดร้อน จะวุ่นวาย จะมีปัญหา เขาไม่คิดอย่างนั้น แต่เขาคิดว่ากูได้เป็นพอ อย่างนี้พวกอันธพาลเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไม่คำนึงว่าสิ่งที่ตัวจะได้นั้นเป็นผิดหรือถูก ทำให้เกิดความเสื่อมแก่สังคม แก่ประเทศชาติบ้านเมือง ก็จะเข้าในจำพวกอันธพาลเหมือนกัน
คนขาดเมตตา ไม่มีความปราณีใคร ไม่มีความคิดในทางที่จะจำเริญ (32.37) มีความสุขความสบาย คิดแต่ว่าจะตัดทอน ความสุขความสบายของคนอื่น จะสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น ก็เป็นพวกที่เรียกว่าอันธพาล คือขาดเมตตา ขาดกรุณา ไม่ช่วยเหลือใคร ใครได้ทุกข์ได้ร้อนที่จะมีแก่ใจไปช่วยเหลือให้เขามีความสุขความสบายก็ไม่มี เรื่องนี้ก็เป็นอันธพาล
คนหนึ่งที่เป็นอันธพาลนี่ไม่มีความพลอยยินดี อนุโมทนาในความดีความสุขของคนอื่น มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ(พาลา หะเว นัปปะสังสันติ ทานัง) แปลว่าคนพาลไม่สรรเสริญทาน ไม่สรรเสริญการให้ ตัวเองไม่ให้ คนอื่นให้เขาก็ไม่สรรเสริญ ไม่ชมเชย จะติว่าเสียอีก ว่าเป็นคนทำอะไร มีทรัพย์สมบัติไม่กินไม่ใช้ เอาไปบริจาคทาน เอาไปสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สร้างให้โง่น่ะสิ พวกอันธพาลมันว่าอย่างนั้น มันไม่สรรเสริญการบริจาคทาน และตัดทอนการทำทานของคนอื่น ใครจะบริจาคทานเขาก็ตัดทอนทำลายเสีย
ถ้าญาติโยมยกขบวนจะไปถอดผ้าป่า กฐิน พวกอันธพาลก็ยกขบวนเหมือนกัน มาสกัดเข้าแล้วก็เก็บเรียบ ทอดมันตรงกลางทางนั่นเอง ทอดให้กับพวกอันธพาลไปเลย ไม่ถึงวัด อันนี้มันพวกไม่สรรเสริญทาน ไม่ยกย่องการบริจาค ไม่ยินดีในการบริจาคทานของใคร ๆ เรียกว่า ขาดมุทิตา ไม่พลอยยินดีในความดีในความสุข ในความเจริญของคนอื่น
อันนี้ลักษณะคนอันธพาลที่เห็นชัดก็คือว่า ชอบเบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่มีน้ำใจเห็นความทุกข์ของผู้อื่น แต่เห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นเรื่องสนุกไป เป็นเรื่องที่ตนสบายใจ ได้ทรมานคน ได้เบียดเบียนคน ทำให้คนมันไม่ได้หลับได้นอน ทำสงครามประสาทกับชาวบ้าน เช่นอยู่ในตรอกไหนก็ทำความรบกวนให้แก่ชาวบ้านทั้งตรอก ด้วยการทำเสียงบ้าง เอาหินขว้างปาเขาบ้าง เข้าไปลักข้าวลักของเขาบ้าง ลักเล็กลักน้อย หรือว่าลักมาก ๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นพวกนิสัยอันธพาลทั้งนั้น
พวกอันธพาลนี่มักจะมีอยู่ในที่ทั่ว ๆ ไปตามตรอกตามซอยต่าง ๆ มักจะมีคนประเภทนี้แอบแฝงอยู่ แล้วก็ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเดินในที่มืด ๆ กลางวันมักจะหลับนอน มันคล้ายกับนกเค้าแมว นกเค้าแมวนี่เขานอนกลางวัน ตามันไม่ค่อยเห็นกลางวันนี่ แสงสว่างไม่ค่อยชอบ แต่พอกลางคืนตาลุกวาวเชียว แล้วก็มองอะไรเห็นชัด ฉะนั้นจึงเป็นนกประเภทหากินกลางคืน
พวกอันธพาลนี่ก็เป็นพวกอย่างนั้น ชอบหากินกลางคืน ชอบลักขโมย ตัดช่องย่องเบา เอาทรัพย์ของคนอื่น เราจึงเห็นว่าอันธพาลเป็นคนเกียจคร้าน สันดานมันหนา ไม่ชอบการทำงาน เข้าไปทำงานที่ไหนก็เอาเปรียบคนอื่น ทำงานไม่จริง แต่จะเอาผลประโยชน์ให้มาก และถ้าเข้าไปทำงานที่ใดแทนที่จะไปทำงานกลับไปยุยงคนที่ทำงานให้รังเกียจนายจ้างบ้าง ให้รังเกียจหัวหน้าบ้าง ไปให้เขาแตกแยกกัน ให้ก่อการstrike ให้หยุดงาน สร้างปัญหาให้แก่นายงาน ลงความว่าเป็นคนชอบแกล้งคนอื่นให้มีความทุกข์ ให้มีความเดือดร้อนใจ อันนี้เขาเรียกว่าเป็นพวกอันธพาลทั้งนั้นแหละ นิสัยมันเป็นอย่างนั้น จึงทำแต่ปัญหาสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่าง ๆ
นิสัยพวกอันธพาลจึงเป็นไปในทางหลอกลวง ปลิ้นปล้อน เบียดเบียนคนอื่น ทำความทุกข์ความเดือดร้อนให้คนอื่นตลอดเวลา ไอ้เรื่องที่จะทำตนให้สบายด้วยการให้นั้นหายาก ถ้าเขาจะให้ก็หวังผลที่จะเอาคนนั้นมาเป็นพรรคเป็นพวกของตัวต่อไป
อันธพาลขั้นยากจนก็มี อันธพาลที่มั่งคั่งก็มีเหมือนกัน อันธพาลที่มั่งคั่งก็เพราะว่าทำมาหากินในทางที่ผิด เช่น ค้าของเถื่อน ค้าเฮโรอีน ค้ากัญชา หรือว่าค้าของที่เป็นพิษ อาวุธสงครามอะไรอย่างนั้น เอามาค้ามาขาย เพื่อให้คนมันเบียดเบียนกัน ฆ่ากันฟันกัน อย่างนี้ก็เป็นพวกที่อันธพาล
อันธพาลนี่ตัวเองเป็นอันธพาลแล้วไม่พอ ยังส่งเสริมสนับสนุนให้คนอื่นเป็นอันธพาลด้วย ก็เรียกว่าเป็นอันธพาลเหมือนกัน สมมติว่าเราเป็นเจ้าหน้าที่ในวงงานโครงการ แต่ถ้าเราไปคบอันธพาลไว้ เลี้ยงอันธพาลไว้ ให้กำลังใจแก่พวกอันธพาล จะได้มีชีวิตอยู่ยืนยาว ได้เบียดเบียนชาวบ้านต่อไป ผู้ให้การสนับสนุนอันธพาลนั้นก็เป็นอันธพาลเหมือนกัน เรียกว่าร่วมหัวกับพวกอันธพาล ตัวก็เป็นอันธพาลไป ทำให้เกิดความเสียหาย ก็เลี้ยงคนชั่วไว้ในบ้านในเรือนให้เขาได้ทำความชั่วต่อไป แล้วคนชั่วนั่นแหละมันจะทำลายคนนั้นต่อไป เพราะอะไร?
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นตฺถิ พาเล สหายตา(นัดถิ พาเล สะหายะตา) แปลว่า ความเป็นมิตรที่แท้จริงไม่มีในคนพาล ความเป็นสหายหรือความเป็นมิตรที่แท้จริงนั้นไม่มีในคนพาล เพราะคนพาลนั้นถือเอาประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าได้ประโยชน์เราเป็นมิตรกับผู้นั้น ผู้ที่ให้ประโยชน์แก่เรา แต่ถ้าคนนั้นไม่ให้ประโยชน์แก่เราเมื่อใด เราจะไม่เป็นมิตรกับคนนั้นแล้ว นั่นเป็นความคิดของพวกอันธพาล เพราะฉะนั้นเขาไม่เป็นมิตรของใครจริง เขาจะหักหลังมิตรเมื่อใดก็ได้ ทำลายมิตรเมื่อใดก็ได้ ทรยศต่อมิตรเมื่อใดก็ได้ นี่เรียกว่าเป็นอันธพาล
อันธพาลขั้นธรรมดานี่ก็มีนะ การเมืองก็มีอันธพาลเหมือนกัน บางประเทศนี่เรียกว่า นโยบายเป็นอันธพาล ในการเมืองนโยบายบางประเทศเป็นอันธพาล เป็นอันธพาลในเรื่องอะไร ชอบเป็นใหญ่ ชอบรุกรานประเทศเล็กประเทศน้อย โดยใช้วิธีการรุกรานหลายอย่าง เช่นว่า ยุแหย่คนภายในประเทศให้แตกแยกกัน ให้รบกันเอง ให้เกิดเป็นสองพวก พวกในป่ากับพวกในเมือง
แล้วทีนี้ประเทศที่เป็นอันธพาลก็ส่งอาวุธมาให้พวกในป่า ส่งหยูกส่งยามาให้ ส่งคนมาช่วยเป็นที่ปรึกษา ส่งยอดอันธพาลของประเทศนั้นมา ให้มาเป็นที่ปรึกษาของพวกอันธพาลที่อยู่ในป่า แล้วจะได้ช่วยกันประหัตประหาร เบียดเบียนให้ประเทศนั้นแตกแยกกัน
ครั้นว่าคนในประเทศแตกแยกกัน ทะเลาะกัน รบราฆ่าฟันกัน ประเทศที่เป็นอันธพาลก็ส่งกองทัพอันธพาลเข้ามา เพื่อมาช่วยพวกอันธพาลที่ตนเลี้ยงไว้ แล้วผลที่สุด ฝ่ายที่ไม่ใช่อันธพาลกำลังไม่พอ ก็แพ้เขา พอแพ้เขา อันธพาลก็ยึดครองประเทศนั้นต่อไป ประเทศนั้นก็เลยอยู่ในอำนาจของอันธพาล
ทีนี้คนที่เป็นอันธพาลครองเมืองนี่ เขาไม่มีคุณธรรม เขาไม่เมตตาปราณีใคร เขาจะต้องใช้อำนาจเคี่ยวเข็ญเรื่อยไป เหมือนในหลวงรัชกาลที่ ๖ เขียนไว้ว่า
“ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย...”
มันลึกไปถึงอย่างนั้น นี่คืออันธพาลที่ยุแหย่ประเทศนั้นประเทศนี้ เดี๋ยวนี้มีอันธพาลอยู่หลายประเทศ อันธพาลใหญ่ประเทศหนึ่ง และก็อันธพาลเล็ก ๆ น้อย ๆ คอยแหย่ประเทศนั้น คอยแหย่ประเทศนี้ให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ส่งกองทัพอันธพาลเข้าไปในประเทศนั้น ยึดครองไว้แล้วก็ไม่ยอมถอย สุภาพชนทั้งหลายจะด่าจะตะโกนจะว่า อันธพาลว่า ด่าไปกูไม่แคร์ กูไม่ (41.41) กูจะทนหน้าด้านอยู่ต่อไป จนกว่าจะสำเร็จประโยชน์ นี่อันธพาลมันเป็นอย่างนั้น (41.49) พวกอันธพาลนี่พวกหน้าด้าน ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ที่ใครจะด่าจะว่าเขาไม่สนใจ เขาเอาประโยชน์เป็นใหญ่ เอาประโยชน์ตนเป็นใหญ่ ประโยชน์ผู้อื่นนั้นเขาไม่สนใจ ใครจะเป็นทุกข์ใครจะเดือดร้อน คนในชาติจะฆ่ากันตายวอดวายฉิบหาย อันธพาลไม่สนใจ สนใจแต่เพียงว่าดีแล้วให้มันฆ่ากัน กูจะได้เข้าไปครองแผ่นดิน จะได้เอาทรัพยากรธรรมชาติในแผ่นดินนั้นมาใช้ต่อไป
นี่ลักษณะอันธพาล การครองเมืองที่เป็นอันธพาลก็มี บัณฑิตครองเมืองก็มี ฝรั่งเขาจึงพูดว่า จะให้พระผู้เป็นเจ้าครองโลก หรือว่าจะให้อันธพาลครองโลก ถ้าอันธพาลครองโลก โลกเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจ แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่า ธรรมะครองโลก คนที่มีศีลธรรมประจำใจครองโลก ครองบ้าน ครองเมือง ครอบครอบครัว เป็นหัวหน้าคน บ้านเมืองก็สงบสุขไม่มีความทุกข์ ความเดือนร้อน
เวลาเลือกผู้แทนนี่ก็มีอันธพาลสมัครเยอะเหมือนกัน พวกอันธพาลสมัครเป็นผู้แทน ก็ใช้พวกนักเลงอีกนั่นแหละ ไปช่วยหาเสียง ไปข่มขู่ชาวบ้านอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าหากไม่ลงคะแนนเลือกไอ้นี่ละก็ บ้านนี้ต้องเรียบร้อย วัวควายกูลักให้เกลี้ยงไปเลย บางทีมันลักให้ดูแค่ตัวสองตัวก่อน ลักไปสักตัวสองตัว ก็เลยเขาไปสืบหา แล้วก็หัวหน้านักเลงอีกแหละ คอยเก็บไว้ ก็โอ..ไม่เป็นไร ฉันจะตามหาให้ ความจริงมันไปผูกไว้ในเรือนหลังบ้านแล้ว มันก็จูงมาให้ เขาก็โอ้..ไอ้นี่มันดี มันช่วยเหลือพวกเรา ความจริงมันมาลักเองแล้วมันก็มาให้เอง ก็หาว่ามันดี
นี่เขาเรียกว่ากลเม็ดของพวกอันธพาล ทำให้เกิดความเสียหาย แล้วอันธพาลก็ตั้งบ่อนการพนันให้คนมาสนุกสนานเพลิดเพลินในบริเวณนั้น ได้สนุก และพวกอันธพาลเขาก็ โอ้..ดีคนนี้ถ้าเลือกเข้าไปแล้วเราจะได้เล่นการพนันกัน ถ้าว่าใครตัดป่า อันธพาลก็ช่วยเหลือให้ทำลายป่าได้สบาย ๆ พวกทำลายป่าก็ชอบใจลงคะแนนให้ พวกค้าของเถื่อนก็ชอบใจลงคะแนนให้ พวกนักการพนันก็ชอบใจลงคะแนนให้ อันธพาลก็ได้เป็นผู้แทนกับเขาบ้างเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มี
แต่เข้ามาเป็นแล้วก็ไม่มีอะไรนะ ไม่เคยอภิปรายในสภา ไม่เคยได้เป็นกรรมาธิการพิจารณาอะไรกับเขา เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ในเรื่องระเบียบราชการงานเมืองอะไร มีหน้าที่อย่างเดียวยกมือเท่านั้นเอง พอเขาถามก็ยก ยกก็ได้รางวัลต่อไป ยอดอันธพาลก็แจกเงินต่อไป มันเป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่า เป็นอันธพาลเหมือนกันทั่วไป ทำอะไรด้วยความโง่แล้วมันก็เป็นอันธพาล ทำอะไรด้วยความหลงก็เป็นอันธพาลไป
แต่ถ้าทำอะไรด้วยปัญญา ด้วยความคิดอ่านรอบคอบ รอบรู้ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ได้ เมื่อจะทำอะไรก็คิดถึงเพื่อนมนุษย์ว่าใครจะเดือดร้อนบ้างจากการกระทำของเรา จากการงานของเรา อย่างนั้นเขาเรียกว่า เป็นคนไม่ใช่อันธพาล เพราะนึกถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เห็นความเดือดร้อนของคนอื่น
เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง ก็เป็นอันธพาลเหมือนกัน อันธพาลอย่างไร ปล่อยน้ำสกปรกให้ไหลท่วมไปทั้งบริเวณนั้น ชาวบ้านก็เหม็นน้ำสกปรก พูดไม่ออก ทำให้เกิดความเสียหาย ปล่อยควัน แหมควันโขมงไป ขี้เถ้าตกไปในบ้าน ตกไปในจานอาหาร คนที่อยู่ใกล้โรงงาน เวลาจะกินข้าวต้องกินในมุ้ง เพราะถ้าไม่กินในมุ้งขี้เถ้าลงในข้าว ลงในแกง เวลาที่โรงงานกำลังเดินเครื่องนะ อันนี้พวกเจ้าของโรงงานนี่ก็อยู่ในเครือข่ายอันธพาลเหมือนกัน เพราะไม่คิดถึงความทุกข์ยากคนอื่น ไม่ได้นึกว่าคนอื่นเขาจะเดือดร้อน ตัวเองไม่เป็นไรก็นั่งอยู่ในบ้านกระจก มีเครื่องแอร์ทำความเย็น ตัวเย็นสบาย ไม่เดือดร้อน แต่ว่าตายไปต้องไปร้อนในนรก แต่พวกนั้นมันไม่เห็นนรกข้างหน้า มันไม่คิดถึง กูเอาสบายชาตินี้ก่อน
อันธพาลนี่เขาคิดเอาปัจจุบัน ไม่คิดถึงอนาคต ไม่คิดถึงอะไร ๆ ทั้งนั้น เอาความสุขเฉพาะหน้า ข้างหน้าช่างหัวมัน จะเกิดอะไรช่างแต่เขา เอาเวลานี้ไว้ก่อน นี่เป็นความคิดของพวกอันธพาล มีลักษณะอย่างนี้
เราจึงควรจะรู้ไว้ แล้วก็ระวังตัวว่าอย่าไปคลุกคลีกับพวกอันธพาล การคลุกคลีหมายความว่า ไปกินร่วมกับเขา ไปนอนร่วมกับเขา ไปทำงานร่วมกับพวกเขา เช่น ไปเข้าหุ้นเข้าส่วนกับพวกอันธพาล ส่งเสริมอันธพาลให้สนับสนุนกิจกรรมประเภทอันธพาล เช่นเราไปเที่ยวในที่สนุกของพวกอันธพาล สมมติว่าอันธพาลเปิดบ่อนการพนันเราไป ก็เรียกว่าเราไปสนับสนุนความเป็นอันธพาลของคนเหล่านั้น หรือว่าเขาเปิดในสถานที่ทำให้คนเหลวไหล ประเภทใดประเภทหนึ่งก็ตาม เราไปเที่ยวไปเตร่ ไปสนุกสนาน ชักชวนเพื่อนกันไปสนับสนุน ก็เป็นการให้กำลังใจ ให้กำลังทรัพย์แก่คนอันธพาลทั้งนั้น เราก็จะกลายเป็นอันธพาลไปด้วยเหมือนกัน
อันนี้มันเห็นอันตรายได้ง่ายที่สุดว่าเราจะเป็นไปกับเขาได้ง่าย เพราะความสนุกสนานเพลิดเพลินในสิ่งเหลวไหล เช่นว่าวันเสาร์-อาทิตย์เขาแข่งม้า ถ้าเราไปสนามม้าก็เรียกว่า เราไปร่วมวงส่งเสริมสิ่งชั่วได้เหมือนกัน
รัฐบาลกำลังละลุง (48.05) อยู่กับเรื่องสนามม้า ถ้าปล่อยแต่พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีท่านไปไม่ไหว ตัวเล็กไปไม่รอดนะ แม้จะตำแหน่งใหญ่แต่ว่าร่างกายท่านเล็ก เดี๋ยวม้าจะเตะเอากระเด็นกระดอนไปเท่านั้นเอง ทีนี้จะทำอย่างไร?
ประชาชนต้องร่วมมือ ชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายไม่ให้ไปบ่อนนั้น ไม่ให้ไปเล่นแทงม้า ไม่สนับสนุน สมมติว่าพอเปิดม้าแข่ง ไม่มีคน สนามโหรงเหรงไป มีที่นั่งนิดหน่อย คนไม่ค่อยมี เจ้าของม้าก็วิตกกังวลแล้วว่า กูจะชิบหายแล้วถ้าขืนเลี้ยงม้าต่อไปนี้ ก็คิดว่าจะต้องขายม้าแล้วนะ เลิกเสียที เพราะอาชีพนี้มันไม่ไหวแล้ว มันเป็นเหตุให้คนเดือดร้อนวุ่นวาย ก็ว่ากันไปตามเรื่อง บางคนบอกว่า เฮ้ย การพนันนี่มันเป็นนิสัยสันดานของคนไทย อันนี้มองดูคนไทยใกล้ ๆ
คือคนไทยปีพ.ศ. ๒๕๐๐ มาเท่านั้นเอง คนไทยพ.ศ.ก่อน ๒๕๐๐ ไม่มีนิสัยการพนัน คนไทยไม่เป็นนักการพนัน การพนันในเมืองไทยมีน้อย แล้วก็ไม่ค่อยจะเล่นกัน ดูชื่อการพนันแต่ละชื่อสิ มีไหมภาษาไทย หรือว่าชื่อบาลี เป็นนักการพนันมันก็ไม่มี มันเป็นภาษาอื่นทั้งนั้น
เอาไพ่มาดูก็แล้วกัน ไอ้ลายในไพ่ก็ไม่ใช่ลายไทยนะ ไปถามไอ้พวกเรียกว่า สถาบันพวกวิจิตรศิลป์นะ ว่านี่มันลายอะไรนี่ลายไทย มันไม่ใช่ลายไทยนะ นี่โยมเคยเล่นไพ่หลายคนนั่งอยู่นี่ แล้วก็ดูสิไอ้ลายนี่มันลายอะไร มันไม่ใช่ลายไทยนี่นา ดูลวดลายมันไม่ใช่ของไทย นี่มันแสดงอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่สมบัติของไทย ไพ่นี่ไม่ใช่ของไทย ไพ่โปกเกอร์ (49.58) ก็ไม่ใช่ของไทย ไพ่ฝรั่งก็ไม่ใช่ของไทย มันบอกแล้วฝ่ายดอกจิก โพดำอะไร มันของฝรั่งนะ ชื่อมันก็เป็นภาษาฝรั่งนี่ มันไม่ใช่ของไทย
ม้าแข่งนี่ก็คนไทยไม่เคยเลี้ยงม้าแข่ง สมัยก่อนนะ สมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีม้าแข่งนะ สมัยกรุงธนก็ไม่มีคอกแข่งม้า สมัยกรุงเทพรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่มีม้าแข่ง ที่ ๒ ก็ไม่มี ที่ ๓ ก็ไม่มี ที่ ๔ ก็ไม่มีม้าแข่ง เพิ่งมีในสมัยรัชการที่ ๕ เพราะฝรั่งเขามาอยู่เมืองไทย ฝรั่งมันเคยเล่นม้า มันก็อยากมีสนามม้า
พระยาประดิพัทธภูบาลนี่เป็นคนสร้างคอกม้าขึ้น แล้วแกก็เปิดสนามม้าราชกรีฑาแห่งแรกให้ฝรั่งเล่น ต่อมาแกขัดใจกับฝรั่งและแกมาเปิดราชตฤณามัยขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แปลว่าเจ้าคุณประดิพัทธนี่เรียกว่าเป็นคนสำคัญในเรื่องเปิดสนามม้าเหมือนกันนี่ ท่านตายไปแล้วนะ แต่ว่าท่านเป็นต้นคิดในเรื่องสนามม้า เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ กับที่ ๖ นี่เอง ไม่ใช่ของเก่า เก่าไม่มี หัวบ้านหัวเมืองก็ไม่มีสนามม้า
เมืองไหนมีสนามม้าแสดงว่ามีฝรั่ง เชียงใหม่มีสนามม้า เขาเรียกว่าสนามยิมทานา มันไม่ชื่อไทย มันไม่ชื่อว่าสนามเนาวแก้ว เนาวรัตน์ หรือว่า สนามอะไรกาวีระ(51.27) มันชื่อยิมทานา ยิมทานามันภาษาฝรั่ง ฝรั่งมันเล่นม้าแล้วก็เปิดสนามม้า แล้วคนไทยก็พลอยไปชิบหายกับฝรั่งด้วย ฝรั่งไม่ฉิบหายเท่าไหร่ คนไทยฉิบหายมากกว่าฝรั่ง เพราะฝรั่งมันเล่น มันฉลาดคิด มันไม่เล่นอย่างมัวเมา มันเล่นอย่างกีฬาไอ้เรานี่มันเล่นเอาจริงเอาจัง ไอ้เรื่องชั่วแล้วคนไทยจริงจัง เรื่องดีไม่ค่อยเท่าใดนะ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น อันนี้มันเป็นธรรมดา
รายการพนันจึงไม่ใช่ของไทย แต่ว่ามันเพิ่งมาเกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนนั้นใครพูดว่าคนไทยมีนิสัยชอบการพนัน แล้วใครทำให้คนไทยมีนิสัยการพนัน เช่นนิสัยนั่งเล่นฉลากกินร่วม เล่นหวย เล่นมือนี่ ใครเป็นผู้สร้างนิสัยให้แก่คนไทย พูดไปแล้วมันกระเทือนใจ (52.18) อีกแล้ว อย่าพูดดีกว่าแบบนี้ อันนี้มันก็เพราะเราไปสร้างนิสัยขึ้น ของเดิมมันไม่มี
สมัยอาตมาเด็ก ๆ นี่ก็ไม่เคยเห็นใครเล่นการพนันอะไร แถวบ้านที่อาตมาอยู่ก็เล่นไม่เป็น มีเล่นอยู่ก็เล่นสะบ้านี่ไง สะบ้านี่มันของไทย สะบ้ามันเกิดเมืองไทย เล่นมาตั้งแต่นู่น เรื่องพระรถเมรี (52.40) เก่าอันนี้มันมี แต่ก็ไม่มีใครฉิบหายเพราะเล่นสะบ้า เขาเล่นสนุก ๆ วันสงกรานต์ เล่นกันสามวัน พอคนนั้นเลิก ไม่มีเล่นต่อไป แต่ของคนอื่นมานี่มันเล่นยืดยาว เล่นกันนาน ๆ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น มันเป็นอย่างนี้
บิลเลียดตามสโมสรมีบิลเลียด เขาไม่ชื่อภาษาไทย วิธีเล่นก็ไม่มีชื่อภาษาไทย ไอ้คนจดเขาก็ไม่เรียกว่าคน จะใช้ภาษาไทย เขาเรียกว่ามาสเตอร์ คนหมายเหตุ (53.13) คนฝั่งฝรั่งทั้งนั้นแหละ เรามันไปรับอนารยธรรมของต่างประเทศมา ไม่ใช่อารยธรรม ไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความเจริญ เรารับเอามาใช้ แล้วก็ใช้กันจนแพร่หลาย แล้วจนกระทั่งว่านึกว่าคนไทยมีนิสัยชอบการพนัน ความจริงไม่มี แต่เพราะเราละเลยเพิกเฉย ปล่อยกันเกินไปในเรื่องความเสื่อมความเสีย ความเสื่อมความเสียก็เจริญงอกงามขึ้นทุกวันทุกเวลา อันนี้คือความเสียหาย
เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่าอะไรมันเป็นอบายมุข เป็นปากทางแห่งความเสื่อม เราก็พยายามหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการคบคนนี่ต้องระวัง คนไทยเราจึงเตือนว่า คบคนต้องดูหน้า ซื้อผ้าก็ต้องดูเนื้อ คบคนต้องดูหน้า ดูว่าหน้าบัณฑิตหรือว่าหน้าอันธพาล หน้าชนิดไหน ดูให้ลึก (54.13) ไปถึงจิตใจการเป็นอยู่ในประจำวัน
คนบางคนพอเจอกัน เขาบอกไปไหน? ... (54.20) ไปได้แล้ว ไม่พูดกันมาก แต่บางคนนั้นพอยืนคุยกันได้บนถนน แต่พามาบ้านไม่ได้ บางคนก็ชวนไปกินข้าวตามร้านกาแฟ ตามร้านอาหารได้ พามาบ้านไม่ได้ บางคนพาเข้าบ้านไม่ได้ แต่บางคนพาเข้าไปในบ้านนั่งกันสักครู่แล้วก็เลิกกันไป บางคนนั้นเราอาจจะชวนมานอนที่บ้านก็ได้ ถ้าเราเห็นแล้วว่าเขาดี
อันนี้คนดีนั้นมันเป็นคนอย่างไร ต้องรู้ไว้ด้วยว่าคนดีน่ะ มีปกติแนะนำพร่ำเตือนเพื่อน เพื่อนที่ดีนี่คือคนที่คอยแนะนำพร่ำเตือน คอยให้สติ คอยสะกิดบอก ไอ้นั่นไม่ดีนะ ไอ้นี่ไม่เหมาะนะ อย่าทำอย่างนั้นนะ อย่าไปที่นั้นนะ อย่าคบคนนั้นนะ เรื่องนั้นต้องระมัดระวังนะ เดี๋ยวจะเสียหายนะ เพื่อนดีของเรา ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย ถ้าเขาคอยบอกคอยเตือนแล้วเป็นเพื่อนดี
เพื่อนดีนั้นมีความหวังดีต่อเรา แนะนำเราให้ศึกษาเล่าเรียน เช่นว่า หนูนักเรียนน้อย ๆ ถ้าเพื่อนดีเขาก็ชวนหนูคุยเรื่องการเรียน การเขียนการอ่าน ชวนถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ หนังสือตำรับตำรา เพื่อนไม่ดีก็ชวนคุยแต่เรื่อง สองบุรุษอยากรู้กันบ้าง(55.42) เรื่องอะไรต่ออะไรนะ แสดงว่าแหม..เปิดแต่โทรทัศน์ดูตลอดเวลา ไม่ได้ดูหนังสือ เพื่อนอย่างนั้นอย่าคุยนาน เพราะขืนคุยนานมันก็ไม่ไหว มันไม่ได้อะไรนี่ เพราะเขาคุยแต่เรื่องสนุก เรื่องเพลิดเพลิน หรือเขาชวนเราไปเที่ยวที่ไม่ดี
เพื่อนที่ดีนั้นต้องชวนให้เราศึกษา ให้เราเกิดปัญญา ให้เราเกิดความซื่อสัตย์ เกิดความอดทน เกิดการบังคับตัวเอง เกิดความเสียสละ เกิดความรักสามัคคีในหมู่ในคณะ นั่นเรียกว่าเพื่อนดีของเรา
แต่ถ้าเพื่อนชั่วแล้ว เพื่อนอันธพาลนี่มันก็จะจูงจะแนะไปในทางเสีย เช่นเราจะไปโรงเรียน มันชวน โอ๊ย..เรียนมาตั้งนานแล้ว ไปดูหนังกันหน่อยเถอะวันนี้ และชวนเพื่อนไปดูหนังเสีย ไปฟังเพลงเสีย ไอ้เราไม่สูบบุหรี่ ถ้าเพื่อนไม่ดีก็มาเคี่ยวเข็ญ สูบดูสิ ป่านนี้โตป่านนี้แล้วมันต้องสูบบุหรี่เป็นนะ เพื่อนเสียอันธพาลมาชวนเราให้สูบบุหรี่ ชวนเราให้สูบกัญชา เอาผงขาวยัดบุหรี่ให้เราสูบ นั่นเพื่อนทำลาย ไม่ใช่เพื่อนดีของเรา เราเห็นว่าถ้าเป็นเพื่อนที่จะทำลายแล้ว เราห่าง ๆ เสีย ไม่เข้าใกล้ ไม่คบหาสมาคม
แล้วก็ถ้าเพื่อนคนใดเข้าใกล้กระซิบบอกบุญ อย่าไปยุ่งกับมันคนนั้นน่ะ เดี๋ยวมันจะชวนให้เราเสียหาย ชวนกันแอนตี้นะไม่เข้าไปยุ่งกับคนชั่วคนร้าย คนชั่วคนร้ายจะได้สำนึกตัวว่าสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่นี้มันไม่ดี สังคมเขาไม่ชอบ ไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริม เขาก็จะได้เลิกละจากความชั่ว มาอยู่กับความงามความดี
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราคบคนที่เป็นบัณฑิต อย่าคบคนที่เป็นอันธพาล เพราะจะเป็นปัจจัยให้เราเสียผู้เสียคน เกิดความเสียหายในอบายมุขก็เลยบอกว่า คบคนชั่วก็เป็นปากทางแห่งความเสื่อม เพราะคบคนชั่ว มันจะชวนเราไปเป็นนักเลงเหล้า เป็นนักเลงการพนัน เป็นคนเที่ยวกลางคืน เป็นคนสนุกสนานไม่เป็นเวลา เป็นคนเกียจคร้านการงาน แล้วผลที่สุดมันชวนเราไปอยู่บางขวาง หรือลำพูนนู่นแหน่ะ (58.05) มันไปไกลถึงขนาดอย่างนั้น
จึงขอให้เอาไปใช้เป็นสิ่งสอนลูกสอนหลาน สอนลูกน้องของเราให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่เป็นอบาย สมัยนี้ต้องช่วยกันต่อสู้รณรงค์ ในสิ่งที่ชั่วร้ายคืออบาย ให้มันน้อยลงไปในบ้านเมืองของเรา บ้านเมืองจะไปไม่รอด ถ้าประชาชนในชาติมัวเมาในอบายมุข ประเทศชาติจะอยู่รอดปลอดภัยเมื่อคนในชาติไม่มัวเมาในสิ่งเป็นอบาย จึงขอนำมาพูดไว้ เพื่อเป็นเครื่องเป็นแนวทางให้ญาติโยมได้นำไปใช้เป็นอุปกรณ์อบรมลูกหลานเหลน ลูกน้อง ให้ได้รู้สึกคุณค่าของการที่พ้นจากอันธพาล อยู่กับบัณฑิต แล้วทำตนให้เป็นบัณฑิต อย่าทำตนให้เป็นอันธพาล ชีวิตก็จะมีความเจริญก้าวหน้า สมความปรารถนา ดังที่กล่าวมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้