แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ อย่าเดินไปเดินมา แต่นั่งอยู่ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงได้ชัดเจน แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๙ วันเวลาช่างผ่านมารวดเร็วเหลือเกิน ผ่านไปๆ โดยลำดับ ไม่มีหยุดยั้ง วันเวลาที่ผ่านไปนั้น ไม่ได้ผ่านไปเฉพาะเวลา แต่ว่าได้ฉุดคร่าสรรพสิ่งทั้งหลาย ให้ติดไปกับเวลาด้วย ก็ท่านจึงกล่าวไว้ว่าเวลานี้ มันเที่ยวกินตัวมันเอง แล้วเที่ยวกินสรรพสิ่งทั้งหลายให้ย่อยยับลงไป ชีวิตร่างกายของคนเรานั้น ก็เปลี่ยนไปตามเวลา เด็กก็เปลี่ยนเติบโตขึ้น ผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนไปในทางเสื่อม แล้วก็ถึงวันที่สุดของชีวิตเป็นเรื่องธรรมดา เราสำนึกถึงเวลาก็ต้องนึกว่าเวลาทำให้เราเปลี่ยนแปลง ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลงไปโดยลำดับ
อีกแง่หนึ่งมานึกถึงเวลาแล้ว ควรรีบใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราชาวพุทธให้คิดอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่ อันนี้นี่ถ้าเราคิดบ่อยล่ะก็ จะทำให้เราเป็นพุทธบริษัทที่ว่องไว ตื่นตัวก้าวไปข้างหน้าไม่เฉื่อยชาชักช้า เพราะการเฉื่อยชาชักช้านั้นทำให้เสียเวลา การงานไม่ก้าวหน้า ชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคจึงสอนให้คิดบ่อยๆ ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้ทำอะไรอยู่ ถ้าได้รับคำตอบว่าไม่ได้ทำอะไร ก็เรียกว่าอยู่โดยเปล่าประโยชน์ไม่มีความหมายในชีวิต แต่พอนึกได้ก็รีบลุกขึ้นทำงานอันเป็นหน้าที่ที่เราจะพึงกระทำ ไม่ว่าในเรื่องใด อันเป็นเรื่องที่ต้องมาทำมาหากิน นอกจากนั้นแล้วก็ทำงานภายใน คืองานเกี่ยวกับจิตใจของเรา เพื่อพัฒนาจิตใจให้เกิดความสะอาด สงบสว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้จิตใจตกไปสู่ความชั่วความร้าย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ
วันนี้เรียกว่าเป็นวันพระ ได้พูดกับญาติโยมบ่อยๆว่าวันพระ เป็นวันประเสริฐสำหรับชีวิต เป็นวันที่เราควรจะได้ทำกายวาจาใจให้ดีให้งามขึ้นเป็นพิเศษ เป็นวันที่เราควรจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ด้วยการปฏิบัติให้ดีเป็นพิเศษขึ้นไป เมื่อถึงวันพระให้นึกทุกครั้งว่า วันนี้เป็นวันที่เราควรจะได้ทำกายวาจาใจให้ดีงามเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้าถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เราจะได้อยู่เย็นเป็นสุขในชีวิตของเรา นี้เป็นเรื่องที่ควรคิด เพราะว่าเป็นวันสำคัญในชีวิตวันหนึ่ง แล้วสมัยก่อนนี้วันพระก็หยุดงานกัน แต่ในสมัยนี้เราหมุนไปตามสากลนิยมเลยมาหยุดวันอาทิตย์ หยุดวันอาทิตย์ก็มาวัดได้เหมือนกัน เพราะว่าที่วัดเรานี้ได้ใช้วันอาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะตลอดมา
ตั้งแต่เริ่มเปิดวัดมาจนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลา ๒๑ ปีเข้ามานี่แล้ว ญาติโยมที่เห็นคุณค่าของการมาวัดในวันอาทิตย์ก็ได้มากันโดยลำดับ บางท่านก็ไปชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้มาร่วมด้วย บางท่านอยู่ไกลๆ ห่างไปจากตัวกรุงเทพฯ แต่ก็อุตส่าห์มา ก็รู้ว่าวันอาทิตย์ที่นี่เขามีแสงสว่าง มีของดีแจก ก็มารับแจกกัน ของดีที่แจกให้ญาติโยมนั้น เป็นของดีด้านใน ของดีนี่มันมี ๒ แบบเรียกว่าดีด้านนอก ของดีด้านใน พูดง่ายๆ ว่า ดีนอกดีใน ดีนอกนั้นมันเป็นเรื่องวัตถุ ที่เรามีไว้ประดับเนื้อตัว เพชรนิลจินดานี่ก็เป็นของดีข้างนอก สมัยนี้ประดับมากนักก็ไม่ค่อยได้ เพราะว่าขโมยมันมาก อาจจะจี้เราให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ของดีที่เป็นวัตถุมงคลที่ญาติโยมแสวงหากันนัก คือเครื่องรางของขลังประเภทต่างๆ เป็นเครื่องรางตามแบบที่ชาวพุทธสร้างขึ้นบ้าง ตามแบบอื่นบ้าง เราก็ชอบหาเอามาไว้กับเนื้อกับตัว ของดีอย่างนั้นเป็นของดีนอก ยังไม่เป็นหลักประกันเพียงพอที่จะทำเราให้ปลอดภัยอย่างแท้จริง
แต่ว่าของดีอีกอันหนึ่งนั้นเรียกว่าของดีข้างใน ของดีข้างในก็คือธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักปฏิบัติที่จะทำผู้ปฏิบัติตามได้หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ของดีนี้แหละควรมี ควรไว้ประจำเนื้อประจำตัวแล้วเราจะปลอดภัย ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมนั้นย่อมได้รับความคุ้มครองจากธรรมะ ดังพระพุทธภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจารี (06.58 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ไม่ประพฤติธรรม ธรรมะก็ไม่รักษา เมื่อธรรมะไม่รักษาเราก็เดือดร้อนวุ่นวายทั้งกายใจนี่ก็เพราะไม่มีธรรมะรักษา ถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ล้วนเกิดจากคนไม่มีธรรมะ สำหรับเป็นเครื่องรักษา จึงเกิดการเสียหายแก่ชีวิต เช่นถูกฆ่าตายก็เพราะว่าขาดธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจ ไปเที่ยวในที่ไม่ควรไป เช่นไปบ่อนการพนันหรือไปมั่วสุมกับพวกนักเลงประเภทต่างๆ แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา ถูกฆ่าตาย นี่ก็เพราะว่าไม่ประพฤติธรรม ไม่เอาธรรมะมาใช้ ถ้าเป็นทหารก็เรียกว่าถอดเสื้อเกราะทิ้งเสีย แล้วก็ไปรบกับข้าศึกก็ตายเท่านั้นเอง ไม่มีเกราะแล้วจะไปรบได้อย่างไร ข้าศึกมันก็ฟันเนื้อแหลกไปหมด
เราจึงไม่ควรจะทิ้งเกราะป้องกันภัย เกราะในที่นี้ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นเกราะวิเศษที่ไม่ต้องปลุกเสกลงเลขลงยันต์ ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เพียงแต่เอามาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วเราจะได้รับผลทันที พอเริ่มปฏิบัติมันก็ได้ผลทันที ไม่ต้องรอเวลาบุคคลเหตุการณ์หรืออะไรทั้งนั้น ทำปุ๊บก็ได้ปั๊บทันที พระพุทธเจ้าจึงบอกให้เรารู้ว่า เป็น อะกาลิก อะกาลิโก หรือ อะกาลิก (08.58 ไม่ยืนยันตัวสะกด) นี่หมายความว่า ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติจะได้ผลจากธรรมะโดยไม่จำกัดเวลา ผลหมากรากไม้ให้ผลเป็นฤดู เช่นฤดูนี้ลำไยชุมที่เมืองเหนือ เอามาขายกรุงเทพขายไปเมืองนอกเมืองนา เจ้าของสวนหน้าบานไปตามๆ กัน เพราะปีนี้ลำไยดกมาก ได้ราคาดี แต่ว่าปีหน้ามันไม่ดกก็มันเรื่องธรรมดา ปีไหนดกมากปีหน้าก็เปลี่ยนไป อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ อันนี้เมื่อให้ผลนั้นให้ผลเป็นเวลา ถึงฤดูจึงจะให้ผล พ้นฤดูไม่ให้ผลแม้เราจะเร่งใส่ปุ๋ยอะไรก็ตามใจ มันให้ผลไม่ได้ตามที่เราต้องการ ไม่เหมือนกับธรรมะ ธรรมะนี่เราหยิบมาใช้เมื่อใดได้ผลเมื่อนั้น ตอนเช้าตอนสายตอนบ่ายตอนเย็น สถานที่ที่ใดก็ได้ เมื่อเราใช้ธรรมะเราก็ได้ผลจากธรรมะนั้น จึงเรียกว่าเป็น อะกาลิก (10.15 ไม่ยืนยันตัวสะกด) คือไม่จำกัดเวลาของการศึกษาของการปฏิบัติ ของการที่จะได้รับผลจากข้อปฏิบัตินั้น
เราจึงควรจะได้หยิบมาใช้ให้มาก ให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยแห่งชีวิตทรัพย์สมบัติและครอบครัวของเรา เวลานี้ความปลอดภัยมันน้อยลงไปทุกวันเวลา เช่นคนเดินทางนี้ไม่ค่อยจะปลอดภัย เดินทางรถทัวร์ เดินทางรถไฟ ก็เหมือนกันเวลานี้ เมื่อก่อนนี้รถทัวร์อันตราย เปลี่ยนมาขึ้นรถไฟ ขึ้นรถไฟกลับอันตรายอีกแล้ว มันทำให้ตกรางบ้างอะไรต่ออะไรบ้าง ทำให้เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ เมืองไทยนี้เรือบินยังปลอดภัยอยู่ แต่เมืองอื่นนั้นเรือบินก็ไม่ปลอดภัย จี้กัน จี้เรือบิน คนก็พลอยเดือดร้อนกันไป บ้านเราก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่ระวังให้ดีล่ะเดี๋ยวก็โดนจี้เข้าสักวันหนึ่ง จะเกิดปัญหา อันนี้คือการขาดสิ่งซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิต คือขาดธรรมะนั่นเอง คนไม่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ไม่สนใจศึกษาไม่สนใจนำมาปฏิบัติ ก็ได้รับทุกข์รับโทษดังที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป
เมื่อเราได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้นแล้ว เราควรจะทำอย่างไร ในฐานะเป็นผู้อยู่ในสังคมนี้ เราก็ควรจะได้หาทางช่วยกัน ให้ธรรมะได้ไปถึงคนมากๆ ให้คนได้เข้าถึงธรรมะกันมากๆ เรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย แทนที่เราจะชวนเพื่อนไปเที่ยวไปสนุกไปกินไปดื่มให้มันลดราคาของความเป็นมนุษย์ให้น้อยลงไป ไอ้อย่างนั้นนี่ชอบนัก ชอบชวนกันไป กลางคืนชวนเพื่อนไปเที่ยวไปดื่มเหล้า ไปหาความสนุกตามสถานที่ที่เขาสร้างไว้ เพื่อล่อเราทั้งหลายให้ตกลงไป เราชวนเพื่อนไปในทุกข์เช่นนั้น เราไม่รักเพื่อน เราไม่รักตัวเรา เราไม่รักประเทศชาติ เราไม่รักพระศาสนาอันเป็นหลักคำสอนที่จะทำคนให้พ้นจากความทุกข์ ก็เรามันเดินสวนทางกับธรรมะ เดินคนละทางกันเสียแล้ว ก็เรียกว่าช่วยกันให้ความเดือดร้อนวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น เพราะความไม่รู้เท่าถึงการณ์ เพราะไม่ได้สดับตรับฟังคำสอนในทางธรรมะ ไม่เข้าวัด ไม่รักษาศีลฟังธรรม แม้เขาเทศน์ทางวิทยุก็ไม่ฟัง เปิดแต่ฟังเรื่องอื่นเสีย แต่ว่าเดี๋ยวนี้ดีอยู่อย่างหนึ่ง เวลาพระเทศน์วิทยุประเทศไทยนี่ เขาบังคับให้เปิดทุกสถานี คนเลยเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าคนที่ไม่ชอบฟังมันก็ปิดเสียอีกนี่ พอเสียงธรรมะมาก็ปิดเสีย มีหูปิดหูเสีย มีตาปิดตาเสีย ไม่ยอมรับสิ่งถูกต้องดีงาม อย่างนี้เขาเรียกว่า พระโปรดไม่ถึง คนอย่างนั้นเป็นคนที่พระโปรดไม่ถึง มันลึก เขาเรียกว่าอยู่ใต้เถรเทวทัต นี่เขาเรียกๆ กัน มันก็แย่ลงไปทุกวันทุกเวลา
ทีนี้เราไม่เอา เรามาตั้งต้นชีวิตกันใหม่ มาสร้างแนวทางกันใหม่ในรูปที่ถูกต้อง คือเราพยายามดึงเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เข้าหาธรรมะ หรือเรานำธรรมะไปให้ถึงเพื่อนของเรา เช่นหนังสือนี่ เล่มน้อยๆ ที่วัดพิมพ์อยู่ทุกอาทิตย์ ส่งไปให้เพื่อนอ่านบ้าง เอาไปให้ไปแจกเขา ดีกว่าจะเอาอะไรไปให้ เพราะของอื่นนั้นเราให้แล้ว เคี้ยวไม่กี่ทีก็กลืนลงท้อง ย่อย ถ่ายออกไป มันก็เท่านั้นแหละ แต่ว่าถ้าเราให้หนังสือธรรมะนี่ เขาจะได้อ่าน อ่านแล้วเขาจะได้รู้จักตัวเอง แต่รู้จักสิ่งที่มันเกิดขึ้นในตัว แล้วจะได้วินิจฉัยถูกว่ามันดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ เสื่อมหรือเจริญ แล้วก็จะได้มีการปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น คนเรามีชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ นี้ ถ้าได้ช่วยกันชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ให้ได้หันหน้าเข้าหาพระ ให้ได้ปฏิบัติธรรมะแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเราได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างยิ่ง เป็นการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างยิ่ง และการบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในรูปนั้นนั่นแหละจะเป็นการช่วยกันแก้ปัญหาสังคม ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในยุคปัจจุบันนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรจะทำ แล้วก็ต้องทำกันให้มากๆ ให้แผ่กระจายออกไปกว้างขวางในสังคมของมนุษย์ คล้ายกับเราจุดดวงเทียนขึ้นให้สว่างดวงหนึ่ง แล้วก็ให้เพื่อนจุดอีกดวงหนึ่ง เพื่อนจุดอีกดวงหนึ่ง จุดกันต่อๆ ไป ความมืดมันก็ไม่มี มีอยู่แต่ความสว่าง เราสามารถจะมองเห็นอะไรได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ต้องเดินคลำอยู่ในที่มืดต่อไป เพราะเรามีแสงสว่างประจำจิตใจแล้ว แสงสว่างทางใจนี้แหละสำคัญกว่าแสงสว่างทางตา
พระศาสนาเราเรียกว่ามีตา ๒ อย่าง เขาเรียกว่าตาเนื้อ มังสะจักษุ (16.34 ไม่ยืนยันตัวสะกด) แล้วก็ตาปัญญา ปัญญาตาญาณ (16.39 ไม่ยืนยันตัวสะกด) เขาพูดว่าอย่างนั้น ปัญญาจักษุ คือตาใจ ตาเนื้อดูได้แต่วัตถุ มืดดูไม่เห็น ไม่มีแสงตะเกียงก็ดูไม่เห็น กลางคืนก็ดูไม่เห็น แต่ว่าตาญาณปัญญา (16.54 ไม่ยืนยันตัวสะกด) นั้น ดูเห็นหมด ดูชัดดูเข้าใจ ดูเห็นอะไรไม่ใช่เห็นเพียงผิวเผิน แต่เห็นลึกซึ้งลงไปในความจริงของสิ่งนั้นว่ามันคืออะไร มันดีมันชั่วมันเป็นประโยชน์ ให้ทุกข์ให้โทษอย่างไร มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง อย่างนี้แหละเขาเรียกว่า ตาปัญญา ตาปัญญาเกิดจากอบรมในด้านธรรมะให้รู้ให้เข้าใจในเรื่องอะไรถูกต้อง เรียกว่ามีตาวิเศษสำหรับใช้มองอะไรชัดเจนขึ้น เราก็ควรจะแจกดวงตาให้แก่คนเหล่านั้น
แต่มันก็น่าขำเหมือนกัน ไปที่สวนโมกข์ ไปที่โรงมหรสพทางวิญญาณ ข้างบน ด้านฝาข้างบนนี้ทำกั้นไว้ แล้วท่านทำเป็นรูป รูปทำด้วยโมเสกแต่ว่าประดับเป็นรูปภาพ เป็นคนนั่งอยู่แล้วก็แจกดวงตา แล้วก็ทำภาพคนรับแจกไม่มี มีแต่คนวิ่งหนีไปหมด วิ่งหนีการแจกดวงตา มีอยู่สักคนหนึ่งเท่านั้นที่มารับแจกดวงตาไป เห็นรูปนั้นแล้วก็สงสัย เลยถามท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่ารูปนี้เอามาจากอะไร รูปมันเหมือนกับรูปอียิปต์ท่านบอกว่าทำด้วยโมเสกมันก็เป็นรูปอย่างนั้นมันง่าย แต่ว่ารูปนี้เป็นเครื่องหมายถึงผลงานที่ได้กระทำมา ๔๐ ปี ท่านเจ้าคุณพุทธทาสทำงานมา ๔๐ ปี คือแจกธรรมะนี่แจกมา ๔๐ ปี ท่านบอกว่ายังได้น้อย ยังไม่สมกับความตั้งใจในเรื่องนี้ ก็เลยทำภาพเป็นปริศนาไว้ให้เห็นว่าแจกดวงตานี้ไม่ค่อยมีคนเอา มีแต่คนวิ่งหนีกระเจิงไปเลย พอเขาจะแจกดวงตานี่ไม่เอา มีอยู่สักคนหนึ่งรับดวงตามาใส่เข้า คือว่าทำเป็นรูปภาพมีแต่ร่างกายไม่มีหัว พอได้ดวงตาก็เอามาใส่ตรงที่ตัวนั่นแหละ เรียกว่ามีรับแจกบ้าง นอกนั้นไม่เอา วิ่งหนีไปหมด มันเป็นอย่างนี้
นี่ดูตัวอย่าง เราแจกดวงตากันอยู่นี่ นี่ถ้าว่านั่งรถไฟข้างวัดเบญจมบพิตร (19.30) อัดแน่นเหมือนปลาซาดีนแล้ว เริ่มกลับกันมาแล้วป่านนี้ (19.31 เสียงไม่ชัดเจน) พอตอนบ่ายนั้นแน่นเป๊ะเลยทีเดียว สนามม้า โยมพิจารณาดูสิ คนชอบ ชอบไปอัดกันอยู่ประตูนิดเดียว เก็บสตางค์ด้วย ยังอุตส่าห์เบียดเสียดยัดเยียดเข้าไป แต่ประตูวัดเบญจมบพิตร (19.49 เสียงไม่ชัดเจน) มีตั้ง ๓ ประตู เปิดกว้าง ไม่มีคนเข้า มีแต่ฝรั่งมาเที่ยวเดินดูโบสถ์ดูศิลปะของเมืองไทย ส่วนคนไทยนั้นเขาไม่มีตาจะดู ไม่มีหูจะฟัง นู่นไปดูม้า เขาเรียกว่าจิตใจมันเป็นม้าตลอดเวลานั่นแหละ ความโง่ เขาเรียกว่าความโง่ พระพุทธเจ้าว่าความโง่นี่คือสัตว์เดียรฉาน หรือว่าสัตว์เดียรฉานก็คือความโง่ คิดแต่เรื่องจะให้ฉิบหายเรื่อยไป ดีก็ไม่ค่อยเอามันเป็นอย่างนี้ เรียกว่าแจกดวงตาคนไม่เอา แต่จะไปเอา (20.27 เสียงไม่ชัดเจน) ของที่ไม่เข้าเรื่อง มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเราก็จะเลือกแจกไม่ได้ ต้องช่วยต่อไป เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยชาวโลก ให้ลืมหูลืมตาให้ได้ปัญญาได้แสงสว่างของชีวิต ก็ต้องทำหน้าที่ตีฆ้องร้องป่าวแจกเรื่อยไป คนที่ต้องการเขาก็มารับแจก คนไม่ต้องการก็เดินพ้นไป ผ่านหน้าวัดก็ไปกินกุ้งเต้นเมืองปทุมฯนู่น ไม่แวะวัดชลประทานฯ นี่มันเป็นซะอย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มารับแจกดวงตา มันก็ลำบากเดือดร้อน แต่ว่าเราจะท้อถอยก็ไม่ได้ ต้องทำเรื่อยไป เท่าที่ความสามารถมีอยู่ให้จะทำ เราก็ต้องทำเรื่องนี้เรื่อยไป เพื่อปลุกใจคนให้ตื่นตัว ให้เข้าถึงธรรมะ ให้ได้นำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่ว่าปัญหามันก็มีอยู่อีกอันหนึ่ง คือผู้แจกมันยังน้อย ถ้าพูดแบบชาวบ้านก็เรียกว่าขาดกำลังคน กำลังคนมันไม่พอ จึงต้องสร้างคนให้ไปแจกดวงตาต่อไป เวลานี้ก็กำลังคิดกันอยู่ว่าจะต้องสร้างคนแล้ว จะต้องเปิดการอบรมเรียกพระมา ที่สมัครมาอบรมบ่มนิสัย เรียกว่าโครงการธรรมทายาท โครงการธรรมทายาทที่จะให้เอาพระมาจากต่างจังหวัดมาอบรม มาแนะแนวให้รู้ว่าเราควรจะทำอะไรกับญาติโยมชาวบ้าน เราควรจะสอนอะไร ควรจะสอนอย่างไรโดยวิธีใด เราจะนอนหลับอยู่ในกุฏิไม่ได้แล้ว เดี๋ยวกุฏิพังโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นจะต้องออกไป ออกไปพูดกับประชาชนตามที่ต่างๆ เอาธรรมะไปให้ถึงคน ไม่ต้องเอาคนเข้ามาวัดเสมอไป ที่วัดนี่ก็ต้องมีแต่ว่าพวกหนึ่งต้องออกไป ออกไปเยี่ยมเขา ไปคุยกับเขาแนะแนวทางชีวิตให้แก่เขาว่าควรจะอยู่อย่างไร ควรจะเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านอย่างไร ควรจะใช้หลักอย่างไร แนะทุกอย่าง เรื่องการทำมาหากิน การเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย การสังคมอะไรต่างๆ เพื่อให้เขารู้ว่าชีวิตเขาคืออะไร เกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ควรทำในชีวิตประจำวันคืออะไร นี่เป็นเรื่องที่กำลังคิดอยู่ แล้วก็ส่งหนังสือไปตามจังหวัดต่างๆ ให้เจ้าคณะท่านทราบ แล้วคัดเลือกภิกษุที่มีความรู้พอสมควร มีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่มหาชน ตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็จะให้ความรู้แนวทางวิธีการสอนแก่พระเหล่านั้น เพื่อจะได้ออกไปปฏิบัติงานต่อไป นี้จะต้องทำ เรียกว่าระดมกำลังเพื่อปฏิบัติงานในเรื่องนี้ต่อไป นี่กำลังไม่พอ การปฏิบัติงานก็ไม่สมบูรณ์ อาจจะต้องช่วยกันต่อไปในเรื่องนี้ บอกให้ญาติโยมทราบไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้คิดว่า เป็นการเข้าทีดีเหมือนกัน ที่เรื่อง (24.01)
ทีนี้มาพูดว่าในแง่การปฏิบัติธรรมะ เราควรจะเอาธรรมะอะไรมาปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันนี้ควรใช้ธรรมะข้อใด อันหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนธรรมะ ๒ ชั้น คือธรรมะชั้นที่จะอยู่ในโลกนี้อย่างหนึ่ง ธรรมะที่จะออกจากโลกนี้ไปอย่างหนึ่ง ธรรมะสำหรับอยู่ในโลกนี้ก็เพราะว่าคนบางคนต้องอยู่ในโลก ต้องอยู่กับครอบครัว ต้องทำงานทำการอยู่ในสังคม เขายังไม่อยากจะออกไป ก็ต้องให้ธรรมะประเภทหนึ่ง มันคล้ายๆ กับว่าเมื่อจะอยู่ในโลกต้องอยู่ในวงนี้ ขีดวงให้อยู่ ต้องอยู่ในวงนี้ต้องประพฤติอย่างนี้ ต้องคิดอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ธรรมะชั้นนี้เขาเรียกว่าเป็นโลกียธรรม แปลว่าธรรมสำหรับการอยู่ในโลกนี้ต่อไป อีกประเภทหนึ่งนั้นเรียกว่าเป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมเฉพาะบุคคลบางคนที่มีความเบื่อหน่ายต่อโลกแล้ว แล้วก็จะออกจากโลกนี้ไป ออกจากโลกนี้ไม่ได้หมายความว่าขี่ดาวเทียมไปในอวกาศไม่ใช่อย่างนั้น ออกจากโลกนี้หมายความว่าปฏิบัติตนให้จิตใจอยู่เหนือโลก ไม่ให้สิ่งในโลกนี้เข้ามารบกวนจิตใจให้เป็นเหตุเกิดทุกข์เดือดร้อนได้ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะสำหรับที่ออกไปนอกโลก
แต่ว่าในธรรมะทั้ง ๒ อย่างนี้ ถ้าคิดดูให้ดีแล้วมันก็ใช้ร่วมกัน คนอยู่ในโลกก็ปฏิบัติในโลกียธรมแล้ว แต่ว่าก็ต้องใช้โลกุตรธรรมด้วยเหมือนกัน เพื่อแก้ปัญหาชีวิตเพราะว่าคำสอนในขั้นศีลธรรมหรือโลกียธรรมนั้น เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้คนอยู่ในสังคมอย่างเรียบร้อย ไม่ทำให้เกิดปัญหา ไม่ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในสังคม นี่เป็นเรื่องที่จะต้องมี แต่ว่าคนเรามันมีปัญหาเฉพาะตัว ปัญหาเฉพาะตัวไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น แต่มันเป็นเรื่องของตัวโดยเฉพาะ ปัญหานั้นคืออะไร คือความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการคิดผิดพลาด หรือจากความเข้าใจที่ผิด แล้วก็คิดผิดพูดผิดทำผิดไป หรือไปจับฉวยอะไรไว้ด้วยความหลงผิด ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในปัญหาต่างๆ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า เราอยู่กันในครอบครัว แล้วก็มีคนๆ หนึ่งในครอบครัวนั้นต้องจากไป โดยความตาย คือตายจากเราไป ในเวลาที่ยังไม่สมควรจะตาย คนที่ตายยังไม่สมควรตายนี้ เขาเรียกว่าความตายเป็นมาร มัจจุมาร ทางพระเขาเรียกว่า มัจจุมาร คือความตายนั้นเป็นมาร มาขัดขวางชีวิตไม่ให้ก้าวหน้าต่อไป แล้วก็ถึงแก่ความตายไป เช่นว่าถูกเขายิงตายไป อาจรถคว่ำตาย หรือว่าตกเรือบิน เรือบินตกตาย ไม่ใช่ตกเรือบิน ไม่มีเรื่องตกเรือบินนี่ไม่มี มันมีแต่เรือบินตกแล้วคนตายทั้งนั้น มันเป็นอย่างนั้นเขาเรียกว่ามันยังไม่ถึงเวลา อายุอานามก็ยังไม่แก่ไม่เฒ่าเกินไป แต่ว่ามันเกิดเรื่องให้ตาย เป็นอุบัติเหตุประเภทใดก็ตาม ถ้าคนอยู่ข้างหลังก็เสียอกเสียใจมีความทุกข์ความเดือดร้อน
ความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างนี้แม้เราจะถือศีลแล้วมันก็แก้ไม่ได้ เช่นเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าใคร ไม่ลักของใคร ไม่ประพฤติผิดล่วงเกินของรักของชอบใจของใคร ไม่ดื่มกินสุรา และไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร อาจทั้งเขียนด้วย แล้วก็ไม่ดื่มเสพของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็ไม่สามารถจะดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ หรือว่าถือศีล ๘ ก็ยังไม่ดับทุกข์อย่างนั้นได้ เพราะว่าศีลที่เราเอามาปฏิบัตินั้นเป็นเครื่องคุ้มครองกายวาจาให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ในเรื่องชีวิตร่างกายทรัพย์สมบัติคู่ครองครอบครัว การพูดจา สุขภาพทางกายทางจิต ไม่ให้เกิดอย่างนั้น ป้องกันได้ แต่ว่าช่วยให้หมดทุกข์ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ใช่เกี่ยวกับปัญญา มันเพียงแต่เพียงขั้นศีล เราจึงต้องก้าวขึ้นไปอีก ต้องเอาธรรมะที่เป็นเรื่องสัจจะ เป็นความจริงมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
เพราะฉะนั้นเมื่อวันอาทิตย์ก่อนนี้ท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านพูดว่า โลกุตรธรรมกลับมา โลกาสว่างไสว หมายความว่าใช้โลกุตรธรรมเป็นเครื่องแก้ปัญหาชีวิต ทำให้ชีวิตหายมืด หายหลง หายประมาท หายมัวเมา อันนี้ต้องใช้ธรรมะสูงขึ้นไป เพราะธรรมะชั้นสูงนั้นสอนให้เรารู้จักสิ่งต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริง เรารู้ชัดเห็นชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ การเห็นอะไรตามที่มันเป็นจริงนั้นแหละ จะช่วยคลายปัญหา คือทำให้เราหมดความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าตัวทุกข์นั้นมันอยู่ที่อะไร มันอยู่ที่เราเข้าไปยึดถือไว้ เขาเรียกว่า อุปาทาน หมายความว่าเข้าไปยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งน่ารัก น่าเอามาเป็นของตัว แล้วก็ถือไว้เหมือนกับคนโบราณเขาพูดว่า ไปกอดกองไฟไว้ทั้งๆ ที่มันร้อน นี่เรียกว่าเราไปหลงผิดในสิ่งนั้น ไปจับฉวยสิ่งนั้นไว้ เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ว่าพอเรามาศึกษารู้ว่า โอ้ สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ เราก็คลายไปเองโดยอัตโนมัติ คือคลายไปเพราะเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่มีอะไรที่น่าจะไปถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ไม่มีอะไรน่ารัก ไม่มีอะไรน่ายึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นบุคคลเราเขา อย่างนี้มันต้องใช้ธรรมะส่วนลึก จึงจะมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
แต่ธรรมะส่วนลึกนั้นสอนเราให้รู้ว่า สิ่งที่ถูกต้องมันคืออะไร มีคำๆ หนึ่งในภาษาบาลีว่า ยะถาโพธะญาณทัศนะ ยะถาโพธะญาณทัศนะ (31.34 ไม่ยืนยันตัวสะกด) หมายความว่าเห็นด้วยปัญญาตามสภาพที่เป็นจริง เห็นด้วยปัญญาตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ทีนี้คนเราโดยปกติ เห็นด้วยตาเนื้อแล้วก็เข้าไปจับฉวยสิ่งนั้นไว้ ว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเราเป็นสิ่งน่าเอาน่ามีน่าเป็นอะไรด้วยประการต่างๆ จึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่ได้สิ่งนั้นตามชอบใจ หรือได้มาแล้วแต่ว่ามันสูญเสียไป เราก็มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ อันนี้เราไม่รู้กฎธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่คงที่ มันไม่ใช่เป็นของ (32.23 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นสุข มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้ เราไม่รู้ เพราะเราไม่เข้าใจธรรมะส่วนลึก
เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันนี้เมื่อเราจะใช้แต่เพียงหลักศีลธรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องใช้หลักสัจธรรมเป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจของเรา เช่นเวลาเราเกิดความทุกข์ขึ้น ถ้าเราไม่มีความรู้ในเรื่องโลกุตรธรรมหรือสิ่งที่เป็นความจริงแท้ในสรรพสิ่งทั้งหลายนั้น เราก็คลายทุกข์ไม่ได้ คลายทุกข์ไม่ได้ เช่นว่ามีการตายเกิดขึ้นในครอบครัวนี้ ถ้าเราเอาหลักสัจธรรมมาใช้ เราก็พิจารณาว่าความตายนี่เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา หรือพูดได้สั้นว่า เมื่อมีเกิดมันก็ต้องมีดับ เกิดแล้วไม่ดับมันจะมีที่ไหน ไม่ว่าอะไร จะเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้เป็นวัตถุสิ่งของ มีเกิดมันก็มีดับ โลกที่เราอยู่นี้มันก็ต้องดับไปสักวันหนึ่ง แต่ว่าไม่ต้องกลัวมันอีกนาน มันต้องมีสักวันหนึ่ง เหตุการณ์อย่างนี้มันจะเกิดสักวันหนึ่ง
อันนี้เราก็มาคิดได้ อ้อ มันธรรมดา คนเกิดมาแล้วมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องตายก็เป็นเรื่องธรรมดา ของหายมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้วยชามลายครามที่เรามีไว้ในตู้เด็กหยิบไม่ดีตกเปรี้ยงลงไป ถ้าคนที่มีจิตใจมองเห็นโลกุตรธรรมอยู่บ้าง ก็พูดได้กับตัวเองว่า ธรรมดา ของแตกมันก็ต้องแตก เราพูดตรงใจได้ แล้วเราไม่โกรธเด็ก วู่วามเด็ก แต่เราจะพูดกับเด็กว่า ถือไม่ดีมันก็ตกอย่างนั้น ต้องระมัดระวังหน่อย ไม่ต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเผาใจตนเองให้เร่าร้อน แล้วก็พ่นพิษออกมา เด็กนั่นร้อนต่อไปอีกมันเป็นอย่างนั้น เรามีธรรมะเป็นเครื่องถ่วงใจ ใช้ธรรมะเป็นเครื่องถ่วงใจมันไม่เกิดปัญหา เกิดคน ๒ คนขับรถ ๒ คันคนละคันแล้วก็มาเบียดกันสีถลอกไปหน่อยหนึ่ง ไปซ่อมก็ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ว่าคนขับ ๒ คนกระโดดลงมาก็ปั้นหน้ายักษ์เข้าใส่กันเลย ปั้นหน้ายักษ์เข้าใส่ก็เถียงกัน ไอ้คนหนึ่งมีปืนมาด้วย ชักปืนออกมาเปรี้ยงเข้าให้ คนนั้นตายไปแล้ว มันเรื่องอะไร นี่แหละเขาเรียกว่าไม่มีธรมะที่เป็นส่วนลึกคุ้มครองจิตใจ ไม่ได้คิดในทางยับยั้งชั่งใจเลย ก็เกิดเรื่องเสียหายขึ้นทำให้เพื่อนตาย ตัวก็ไม่ใช่อยู่รอดปลอดภัย ต้องไปนอนในคุกในตารางด้วย เป็นทุกข์เดือดร้อนใจ
เมื่อคืนนี้ไปเทศน์ที่ศพ คุณกำธร ลาชโรจน์ ส.ส. ปัตตานี ก็เลยบอกว่า เจ้าภาพนี่ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร เวลานี้คนที่เป็นทุกข์เขามีอยู่แล้ว ใครที่เป็นทุกข์ คนที่วางแผนฆ่าคุณกำธรเป็นทุกข์ที่สุดเวลานี้ เป็นทุกข์ว่าตำรวจมันจะคลำมาเจอเงื่อนเข้าแล้วกูจะซังเตกับเขาด้วย แล้วไอ้คนที่ไปยิงหรือไปฆ่าคุณกำธรตาย ทุกข์มาก ทุกข์ ๒ แง่ ๑ กลัวตำรวจจับ อีกแง่หนึ่งกลัวคนวางแผนสั่งให้ฆ่าตัวอีกทีหนึ่ง ก็เจ้าพ่อทั้งหลายเขาใช้วิธีการนั้น เมื่อใช้คนหนึ่งไปฆ่าคนหนึ่งแล้ว ใช้อีกคนหนึ่งไปฆ่าคนนั้นต่อไป ฆ่าทำไม ฆ่าปิดปาก ทีนี้คนนั้นนอนไม่หลับเวลานี้ กลุ้มอกกลุ้มใจ ไอ้คนที่สั่งฆ่าก็กลุ้มอกกลุ้มใจ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าก็กลุ้มอกกลุ้มใจ พวกนั้นตกนรกอยู่แล้วเวลานี้ไม่มีความสุขในใจเลยแม้แต่น้อย ตกนรกอยู่แล้ว นี่แหละเขาเรียกว่านรกทั้งเป็น ส่วนภรรยาบุตรธิดาไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะมันเรื่องธรรมดา คนเราเกิดมามันก็ต้องตายทั้งนั้น ถ้าว่ายังไม่ตายก็ดี แต่ตายแล้วก็ต้องมองว่า ธรรมดา อย่าไปทุกข์ร้อนอะไร ใช้ปัญญาว่า อย่าให้เป็นทุกข์แล้วก็ใช้ปัญญาคิดต่อไปว่าจะอยู่อย่างไร จะเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าอย่างไรต่อไปเพราะพ่อบ้านไม่มีแล้ว ถ้าแต่มัวบ่นนั่งทุกข์นั่งโศกมันไม่มีอะไรดีขึ้น ว่าให้เขาฟังอย่างนั้นเพื่อจะได้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจกันเสียหน่อย มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นในชีวิตเราก็ต้องเอาธรรมะส่วนลึกนี้มาใช้บ้างบ่อยๆ ให้มองเห็นอะไรมันชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วจะได้คลายปมคือความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ต้องใช้ทั้ง ๒ ประการอย่างนี้ เรียกว่าโลกียธรรมก็ต้องใช้ โลกุตรธรรมก็ต้องใช้ โลกียธรรมใช้เพื่อปรับตัวเราให้เข้ากับคนอื่นได้ในสังคมนั้นๆ ให้มันพอเหมาะพอดี แล้วเมื่อมีปัญหาทางใจของเราเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องเฉพาะตัวเราก็ใช้ธรรมะส่วนลึก ปรมัตถธรรมมาเป็นเครื่องพิจารณาแก้ปัญหาชีวิตของเรา เช่นอะไรเกิดขึ้นเราก็นึกว่า ธรรมดาๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คิดว่า ธรรมดาๆ ที่ใช้ศัพท์บาลีว่า ตถตา ตถตาหมายความว่า มันเป็นอย่างนั้น เรื่องมันเป็นอย่างนั้น เอามาพูดกับตัวเองบ่อยๆ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ธรรมดา มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ คิดบ่อยๆ ใจมันก็สบาย คลายจากปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน
ทีนี้ถ้าพูดถึงธรรมะควรเป็นหลักปฏิบัติสำหรับชาวบ้านชาวเมืองทั่วๆ ไป ก็ควรจะใช้หลักธรรมที่พระผู้มีพระภาควางไว้สัก ๔ ประการ ๔ ประการนี้เป็นข้อปฏิบัติสำหรับชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นใครต้องใช้ธรรมะ ๔ ข้อนี้ไว้เขาเรียกว่า ธรรมสำหรับชาวบ้าน แต่ว่าภาษาหนังสือเขาเรียกว่า ฆราวาสธรรม ฆราวาสคือผู้ครองเรือน ฆร ก็แปลว่า เรือน อาวาส ก็คือ เข้ามาอยู่ อยู่ในบ้านในเรือน มาต่อกันเข้าเป็นฆราวาส แปลว่าผู้ครองบ้านเรือน มีครอบครัว มีลูกมีเต้าอะไรไปตามฐานะ แม้ไม่มีลูกก็เรียกว่าครองเรือนเหมือนกัน เช่นนายกฯ ของเรานี้ท่านไม่มีภรรยา เขาเรียกว่าครองเรือน ครองหนักเสียด้วยเวลานี้ ครองประเทศ มันหนักอันนี้ เขาเรียกว่าผู้ครองเรือน อันนี้คนอยู่วัดถึงแม้จะมีกุฏิอยู่ ก็ไม่เรียกว่าผู้ครองเรือน เรียกว่า ผู้ไม่มีเหย้าเรือน ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อนาคาริก อนาคาริกแปลว่าคนไม่มีเรือน เป็นนักบวชนี่พวกไม่มีเรือน แม้มีเรือนก็ไม่ได้นึกว่าเรือนของฉัน แต่ถ้าไปนึกว่ากุฏิของกูนี่มันก็ยุ่งเหมือนกัน มันเป็นทุกข์เหมือนกัน ไอ้นั่นของกู ไอ้นี่ของกู ของกูเต็มวัด เลยก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เที่ยวแบกวัดอยู่ มันก็เป็นทุกข์อย่างนี้ อันนี้เราก็ต้องรู้ว่า อันนี้ของเขาให้เรารักษาเราช่วยปัดช่วยกวาดช่วยปลูกต้นไม้ให้มันสวยงาม สำหรับให้โยมมาชื่นใจ รับอาสา คือพระนี่เรียกว่าเป็นทหารอาสาของพระพุทธเจ้า อ.ส. เหมือนกัน เรียกว่า อ.ส. ของพระพุทธเจ้า อ.ส. ที่ไม่แบกปืน อ.ส. ชาวบ้านนั้นแบกปืน แต่งตัวเดินกร่าง เผลอๆ อ.ส. เอาเอง แทนที่จะรักษาปล้นมันเสียเองเลย มันยุ่งจริงๆ โลกมนุษย์นี้มันวุ่นวาย อันนี้เราเป็น อ.ส. ของพระพุทธเจ้า อาสามาช่วยรักษาวัด ช่วยสร้างช่วยอะไรต่ออะไรให้มันเป็นการเรียบร้อย ญาติโยมจะได้นั่งนอนสบาย กลุ้มใจที่บ้าน พอเข้ามาวัดเห็นต้นไม้ร่มรื่นสนามหญ้าสะอาด ชื่นใจ ใครเข้ามาวัดนี้แล้ว ที่จะพูดว่า กลุ้มใจจริง ไม่มี ไม่มี พอเข้ามาบริเวณวัดชลประทานฯ สบายใจ เข้ามาแล้วไม่อยากไป ว่าอย่างนั้น แต่ผลที่สุดก็ไปบ้านอยู่ดี ไม่อยู่วัดแล้ว มันเป็นอย่างนี้ เรียกว่า ธรรมดา ผู้ที่มีบ้านกับคนไม่มีบ้านนี่มันแตกต่างกัน มีลักษณะอย่างนั้น ฆราวาสก็ผู้ครองบ้านครองเรือน
ผู้ครองเรือนนี้จะต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐาน คล้ายกับมีเสา ๔ ต้นค้ำเรือนไว้ เรือนนี้มันต้องมีเสา ๔ ต้นนะ ไอ้ ๓ ต้นนี้มันไม่ไหว มันเป็นเรือนไม่ได้ เสาเดียวก็เป็นได้ เรือนนกพิราบ มันไม่ใช่เรือนคนอยู่ มันไม่ไหว มนุษย์อยู่ไม่ได้ มันต้อง ๔ ต้น ก่อนที่จะสร้างเรือนนั้นเราต้องมีอะไรนิดหน่อย คือจะต้องมีหลักใจเกี่ยวกับสิ่งยึดถือ คือต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นคงในองค์พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ในฐานะเราเป็นพุทธบริษัทนี้เราต้องมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามีความมั่นคงในพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยก็คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ไหว้แต่พระพุทธเจ้า นึกถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นไม่ไปเที่ยวไหว้สิ่งนั้นไหว้สิ่งนี้ให้มันวุ่นวาย เราต้องนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงหลักการของพระพุทธเจ้าที่จะนำมาแก้ปัญหาชีวิต อย่าไปแก้ด้วยหลักการมิใช่ของพระพุทธเจ้า เช่นเราแก้ด้วยการไปรดน้ำมนต์น้ำพรสะเดาะเคราะห์ ไปสั่นติ้วตามสถานที่ต่างๆ อะไรนี้ เขาเรียกว่าไม่ใช่พุทธวิธี ไม่ใช่หลักการของพระพุทธเจ้า ถ้าเราทำเช่นนั้นแสดงว่า เราเชื่อพระพุทธเจ้าน้อยไป ไม่มั่นคงในพระพุทธเจ้า มันไม่ถูกนะ แต่ว่าไม่มีใครค่อยว่าเท่านั้นเอง
ที่วัดนี้ต้องการให้โยมเข้าใจถูก ต้องการแกะเกาไอ้สิ่งที่ไม่ได้เรื่องออกไปเสียบ้าง ลิดเปลือกออกเสียบ้าง ให้มันเหลือแต่แก่นๆ มันเสียหน่อย เดี๋ยวนี้ต้นไม้พุทธศาสนาถูกกาฝากหุ้มมากเหลือเกิน กาฝากจับเต็มต้นแล้ว นานๆ ต้นไม้พุทธศาสนาตายเหลือแต่กาฝากเท่านั้นเอง ไม่ไหวแล้ว อย่างนี้เราต้องรู้ว่ามันไม่ใช่ ไม่ใช่วิธีการของพระพุทธเจ้า เราจะต้องแก้ปัญหาตามระเบียบที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เราเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า เมื่อทุกข์ร้อนไม่สบายใจต้องนึกถึงพระพุทธเจ้า จะทำอะไรก็นึกถึงพระพุทธเจ้า จะไปไหนก็นึกถึงพระพุทธเจ้า จะคบหาสมาคมกับใครสักคนหนึ่งต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร วางหลักการไว้อย่างไร เราต้องนึกถึง ถ้านึกถึงอย่างนี้เรียกว่าเรามั่นคงในพระพุทธเจ้า เชื่อพระพุทธเจ้า ทำตามพระพุทธเจ้า จิตใจไม่วอกแวกไปอื่น ไม่ไปนึกถึงอะไรทั้งนั้น ผีสางเทวดาเราไม่เอา เพราะว่าสิ่งนั้นถึงมีอยู่ก็ไม่เกี่ยวกับเรา มาช่วยเราไม่ได้ เราช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้าสอนให้ (44.51)
ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านะโยมนะ ชาติไทยเจริญกว่านี้แล้ว ก้าวหน้ากว่านี้แล้ว อันนี้จะแกว่งไปแกว่งมา เหมือนกับว่านั่งเรือแต่ว่าพายไปนั่น แหวกมานี่ (45.03 เสียงไม่ชัดเจน) มานู่น มันไม่ถึงจุดสักที เที่ยวจอดท่านั้นจอดท่านี้อย่างนั้น มันไม่ไปถึงท่าที่ต้องการ คือความดับทุกข์ดับร้อนในชีวิตประจำวัน เพราฉะนั้นต้องมีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นพื้นฐาน เชื่อในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ทั้ง ๓ อย่างนั่นแหละ แต่ว่าทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้าจะเอาแต่เพียงสักอย่างหนึ่งก็ได้คือเชื่อพระธรรมนั่นเอง แต่ว่าพระธรรมก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้สืบต่อพระธรรมมา สัมพันธ์กันแยกไม่ออก ๓ เป็น ๑ อันนี้ ๓ เป็น ๑ เรียกว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็น ๑ คืออยู่ในพระธรรมนั่นเอง เมื่อเราเอาพระธรรมมาปฏิบัติก็เรียกว่าหมดเลย อยู่ในนั้นหมด อยู่ในตัวหมดแล้ว เราเชื่อหลักการนี้เราต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องนึกถึงว่า เอ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างไร แก้ไขตามแบบของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่ามีศรัทธามั่นในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์
ครั้นเรามีศรัทธามั่นคงในเรื่องนี้แล้ว เราก็มีคุณธรรมที่จะเอามาใช้เป็นหลักเป็นเสาค้ำเรือนไว้ ๔ ต้น คือ ๑ ต้องมีสัจจะ สัจจะนี้แปลว่าความซื่อสัตย์ก็ได้ จริงใจก็ได้ เปิดเผยในเรื่องอะไรๆ ก็ได้ มีความจริง ความจะซื่อตรง เรียกว่าซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า สัจจะจึงมีความหมายอย่างนั้น ซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คนเรานี้ถ้าว่าซื่อตรงต่อพระพุทธเจ้าอันเดียวก็พอแล้ว ความซื่อสัตย์อย่างอื่นไม่ต้องพูดแล้ว มันมาหมด เพราะเราซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้าเราไม่ทรยศต่อพระองค์ ไม่คิดออกนอกลู่นอกทาง ใจมันตรง เป็น อุชุปะฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีแล้ว (47.17) ปฏิบัติตรง สุปะฏิปันโน ก็ปฏิบัติดีโยม สามีจิปะฏิปันโน ก็ปฏิบัติเป็นธรรม ญายะปะฏิปันโน ก็ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ มันดีแล้ว เพราะอะไร เพราะเราซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า ทำอะไรชั่วไม่ได้ เหมือนลูกนี้ถ้าซื่อสัตย์ต่อคุณแม่คุณพ่อแล้วมันทำชั่วไม่ได้ มันหนีโรงเรียนไม่ได้ มันเหลวไหลไม่ได้ เพราะความซื่อสัตย์ต่อคุณพ่อคุณแม่ ไอ้เด็กที่มันเหลวไหลเกเรเกตุงนี้มันไม่ซื่อสัตย์ต่อแม่ พ่อแม่ ไม่รักพ่อแม่ ไม่เห็นอกเห็นใจพ่อแม่ มันเอาแต่ตัวมัน แต่ไม่ใช่ตัวแท้ด้วย ไอ้ตัวบ้าๆ บอๆ นั้นก็ไม่รู้แหละ มาสิงสู่อยู่ในใจของมัน เลยไปตามเรื่อง ไปสูบกัญชาบ้าง ไปสูบเฮโรอีนบ้าง ไปเที่ยวเดินวนเวียนอยู่หน้าโรงหนังบ้างอะไรต่ออะไร มันไม่รักพ่อแม่ ไม่ซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ นี่เป็นอย่างนั้น
ในฐานะผู้นับถือศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นคนซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน ต่อเวลา ต่อบุคคล ต่อประเทศชาติหมดเลย คลุมไปหมดเลย คนอย่างนี้แหละก็ไม่ตกต่ำ ท่านจึงบอกว่า คนมีสัจจะที่เป็นประโยชน์ด้วย เป็นธรรมด้วยชีวิตจะไม่ตกต่ำเพราะความมีสัจจะอย่างนี้ อันนี้เป็นสำคัญอันหนึ่ง อันนี้เราจะต้องทดสอบตัวเองไว้เสมอว่า เราซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้าหรือเปล่า เราคิดจะไปพึ่งอะไรบ้างหรือเปล่า จะไปไหว้อะไรบ้างหรือเปล่านั้น ต้องถามบ่อยๆ สอบตัวเอง สอบพิจารณาตัวเองไว้ว่า ซื่อตรงดีอยู่หรือ หรือใจมันเขวไปทางนั้น เขวไปทางนี้ ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์เสียแล้ว ต้องตรวจๆ ไว้ พิจารณาไว้ เพื่อจะให้ความซื่อตรงคงที่อยู่ในจิตใจของเราตลอดไป นี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งนั้น ท่านสอนให้มีธรรมะ ธรรมะนี้แปลว่าควบคุมตัวเอง ควบคุมตัวเองบังคับตัวเองไว้ ให้อยู่ในอำนาจแห่งความผิดชอบชั่วดี แห่งปัญญาแห่งสติก็ได้ ให้อยู่ในความรับผิดชอบแห่งสติปัญญา ควบคุมตัวเองไว้ คล้ายกับคนขับรถถือพวงมาลัยก็คอยคุมไป ไม่ให้รถมันลงคู ไม่ให้ไปชนเสาไฟฟ้า แล้วไม่ให้ไปชนกับรถอื่นให้ไปตามเลนของตัวเรียบร้อย คนนั้นก็ควบคุมรถไป ขี่ม้าก็ต้องควบคุมม้าให้ไปสู่จุดหมายที่เราต้องการ แต่ร่างกายของเรานี้อยู่ในความควบคุมของจิต จิตอยู่ในความควบคุมของพระธรรมหรือของพระศาสนา ถ้าจิตเราไม่มีศาสนาเป็นเครื่องควบคุมก็เป็นจิตที่ไม่มีระเบียบ ไม่มีแบบ ทำอะไรนอกแบบอยู่เรื่อยไป ออกไปนอกลู่นอกทาง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ
เพราะฉะนั้นต้องมีการควบคุมไว้ ควบคุมด้วยอะไร ควบคุมด้วยศีล ควบคุมด้วยสมาธิ ควบคุมด้วยปัญญา เช่นเรามาวัดนี่เรารับศีล รับศีลนี่อย่ารับเล่นๆ กัน อย่ารับพอเป็นพิธี รับศีลนี่ต้องสำนึกไว้ว่าเราสัญญา เราสาบานตัวต่อหน้าพระสงฆ์ ต่อหน้าพระพุทธรูป สาบานตัวว่าเราจะไม่ฆ่าใคร เราจะไม่เบียดเบียนใคร เราจะไม่ไปเอาของใครๆ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เราจะไม่เอารัดเอาเปรียบใครโกงใคร เราจะไม่ค้ากำไรเกินควรด้วยนะ มันคุมกันด้วยศีลข้อนี้ ใครเป็นพ่อค้าแม่ค้าอย่าไปค้าเอากำไรเกินควรนะ ผิดศีลเหมือนกัน ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ข้าวของแพงนี่ เรียกว่าเบียดเบียนเขาอยู่ในตัวแล้ว เบียดเบียนให้เขาเดือดร้อน เราก็ควบคุมไว้ไม่ให้เกิดความอยากได้ในรูปอย่างนั้น ให้เป็นคนขยันทำมาหากิน ตามหน้าที่ที่ตัวพึงจะปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ควบคุมตัวเองไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่ให้ไปยินดีในสิ่งที่มันเกินขอบเขต ยินดีเฉพาะในขอบเขตที่เราจะมีจะได้ เช่นว่าเรามีคู่ครองก็ยินดีในคนที่เรารัก ต่อคู่ครองของเรา เราไม่เที่ยวไปก้าวก่ายของคนอื่นเขา ไม่ไปเที่ยวไปเตร่ในสิ่งที่ไม่ควรไป เช่นพวกผู้ชาย ถ้าไปเที่ยวไปตามสถานอะไรต่างๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องนั้น เขาเรียกว่าไม่ควบคุมตัวเอง ปล่อยตัวให้หลงใหลไปกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส อันเป็นสิ่งยั่วยุ แต่ว่ามีอะไรอยู่ข้างหลัง มันมีเบ็ดอยู่ มันมีเหยื่อนะ มันมีเบ็ดนะ เบ็ดคืออะไร โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ยากลำบาก เดี๋ยวบางทีก็ไปรับส่วนแบ่งเขา ไปนั่งอยู่ดีๆ เขาทะเลาะเบาะแว้งกัน แบ่งให้หน่อย เอาไปสักลูก ฝังหัวไปเลย ฝังท้องไปบ้าง นี้มันเรื่องอะไร นี่เรียกว่าไปรับส่วนแบ่งซึ่งมันไม่ถูกต้อง ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าต้องไม่ไปสถานที่อย่างนั้น ไม่ไปในสถานบ่อนการพนัน ไม่ไปเที่ยวตามบาร์ตามไนต์คลับ ตามสถานที่ไม่ควรจะไปหรือว่าอะไรต่างๆ ที่มันไม่ดี ไปแล้วมันเกิดปัญหา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต เราคุมไว้ ไม่ไป ผิดศีลผิดธรรม ผิดคำสอนของพระพุทธเจ้าเราไม่ไป
ควบคุมการพูดจา เรามีปากด้วยกันทั้งนั้น มีลิ้นด้วยกันทั้งนั้น พูดมากไม่เข้าเรื่องมันก็ไม่ได้อะไร พูดหยาบคายก็ไม่ได้อะไร พูดด่าเขาก็ไม่ได้เรื่องอะไร พูดยุให้มันแตกกัน ให้มันทะเลาะกัน ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ก็เรียกว่าหยิกท้ายมดให้มันกัดกัน มันไม่ได้เรื่องอะไรเราไม่พูดคำเช่นนั้น เราควบคุมการพูดให้พูดคำสัตย์ คำอ่อนหวาน คำสมานสามัคคีมีประโยชน์ แม้เป็นคำสัตย์แต่ไม่เป็นประโยชน์เราก็ไม่พูด พระพุทธเจ้าบอกว่า ตถาคตพูดคำจริงมีประโยชน์แต่เหมาะแก่เวลาด้วย แก่บุคคลด้วย ไม่ใช่พูดเรื่อยไป ไม่ใช่ ต้องมีคนฟัง คนฟังนั้นเหมาะกับเรื่องนั้น แล้วก็ใช้ถ้อยคำสุภาพนิ่มนวลชวนฟัง ฟังแล้วเกิดประโยชน์เอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ พระองค์จึงจะตรัส ไม่อย่างนั้นนั่งนิ่งๆ ไม่ตรัสอะไร เราก็ควบคุมปากของเรา ให้พูดแต่คำจริงอ่อนหวานสมานสามัคคีมีประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าควบคุมตัวเองไว้ด้วยศีล
แต่คราวนี้ตัวเราจะเสียตรงจิตนี้มันฟุ้งไป ต้องคุมจิตด้วย ควบคุมจิตก็คือทำสมาธิ ฝึกทำสมาธิเสียบ้าง เหมือนกับเรานั่ง ๕ นาที หลังการฟังเทศน์ เขาเรียกว่าเรียนให้รู้ไว้พอเป็นแนวทาง เราเอาไปคุมของเราที่บ้าน ที่สำนักงานที่ไหนๆ คอยควบคุมใจให้มันมีสมาธิในเรื่องถูกต้องเรื่องดีมีประโยชน์ ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องที่ไม่เข้าเรื่อง ใช้ปัญญาเป็นเครื่องควบคุม คือต้องพิจารณาว่าสิ่งนี้คืออะไร มันเกิดจากอะไร มันเป็นประโยชน์เป็นโทษอย่างไร เราควรจะเข้าไปเที่ยวข้องอย่างไร คุมทางนั้น คุมไว้ให้มันดีมันงาม จิตใจเรียบร้อย มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เรียกว่า ธรรมะ หรือใช้คำหนึ่งว่า สัญญมะ ก็ได้ มันหมายความว่าสำรวม เหมือนคนเดิน เดินสำรวม นั่งสำรวม เรียกว่าสุภาพเรียบร้อย ผู้ดีๆ ที่เขาเรียกว่า คนนั้นเป็นผู้ดี ผู้ดีคือคนที่ควบคุมตัวเองได้ บังคับตัวเองได้เขาเรียกว่าเป็นผู้ดี จะเคลื่อนไหว มือไม้ อิริยาบถ พูดจาท่าทาง นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย เขาเรียกว่าเป็นผู้ดี คือคนที่คุมตัวเองได้ คุมตัวเองไม่ได้มันก็เป็นผู้ร้ายไปเท่านั้นเอง หลักการมีอย่างนี้ นี่ประการหนึ่ง
อีกประการที่ ๓ ท่านสอนว่า ต้องอดทนสักหน่อย ขันติ ขันติ ธีรัสสะลังกาโร (56.42 ไม่ยืนยันตัวสะกด) ความอดทนเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ขันติเป็นเดชเป็นอำนาจเป็นเครื่องเผาผลาญสิ่งทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้น เราจะต้องบำเพ็ญบารมีคือขันติ อดทนไว้ อดทนต่อสิ่งที่มากระทบ อะไรมากระทบเราอดได้ทนได้ ควบคุมตัวเองไว้ไม่ให้ยินดี ไม่ให้ยินร้าย หรือตามที่ท่านว่า ควบคุมจิตใจไม่ให้กำหนัด ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้ลุ่มหลง ไม่ให้มัวเมามาก สิ่งนั้นคืออะไรมันสืบเนื่องกันมาจากข้อต้น แล้วเราอดได้ทนได้ ไม่ปล่อยใจไปตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม เช่นใครมาด่าเรานี้เราทนได้ เราทนได้ ทนได้ด้วยอะไร ทนได้ด้วยปัญญา ทนได้ว่า คนนั้นท่าทางไม่เข้าท่า จิตใจเขาตกต่ำ อยู่ใต้อำนาจกิเลส ถ้าเราจะทำแบบคนนั้นเราก็ชั่วไปอีกคนหนึ่ง เราถือหลักว่าไม่เพิ่มความชั่ว ไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลก ถ้าเราไปด่าตอบเพิ่มความชั่ว แล้วเราก็เป็นคนชั่ว เพิ่มคนชั่วขึ้นอีกคนหนึ่ง เราพุทธบริษัทต้องถือหลักไว้ในใจว่า เราอยู่ในโลกจะไม่เพิ่มความชั่ว ไม่เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลก อย่างนี้ก็สบาย อันนี้ไม่เพิ่มความชั่ว ไม่เพิ่มคนชั่วมันจะเกิดได้ด้วยอะไร ด้วยความอดทน ถ้าไม่อดทนก็ผลุนผลันออกไปเท่านั้นเอง ไปด่าไปตีไปต่อยกัน ก็เกิดความเสียหาย
อีกอันหนึ่งสิ่งยั่วยุ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ยั่วตา ยั่วหู ยั่วจมูก ยั่วลิ้น ยั่วใจให้เกิดอะไรๆ ขึ้นมา เราก็ไม่ปล่อยใจของเราให้ไปกับสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าอดทนได้ คนอดทนได้มีชีวิตเรียบร้อย ไม่เกิดความเสียหาย อดไม่ได้ ทนไม่ได้ เดี๋ยวเกิดเรื่องด้วยประการต่างๆ อันนี้คือความเสียหายในชีวิตจึงต้องฝึกฝนความอดทนไว้
ประการสุดท้ายท่านเรียกว่า จาคะ หมายความว่าเสียสละ เสียสละอะไร เสียสละสิ่งซึ่งเป็นข้าศึกแห่งสัจจะ สิ่งที่เป็นข้าศึกแห่งธรรมะขันติ อะไรที่มันจะทำลายความซื่อสัตย์ การบังคับตัวเองความอดทน ไม่เอาไว้ คัดออกไปๆ เรียกว่าสละสิ่งเหล่านั้นออกไป คือสละสิ่งไม่ดีที่มีอยู่ในใจของเรา อันนี้มันต้องตรวจดูตัวเรา เราเก็บอะไรไว้บ้าง เราสะสมอะไรไว้บ้าง ในชีวิตประจำวันนี้เราสะสมบุญหรือว่าสะสมบาป สะสมบุญนี้มันเป็นสุขนะโยม สะสมบาปนี้มันเป็นทุกข์ อันนี้เรานั่งเป็นทุกข์นอนเป็นทุกข์เดินเป็นทุกข์นี่เพราะอะไร อ้อ เราสะสมบาปไว้ ถ้าบาปนั้นมันไม่ดี สิ่งนั้นไม่ดีเอาทิ้ง เหมือนขยะมูลฝอย เอากองไว้ในบ้านทำไม ต้องกวาดทิ้งทั้งนั้น ใครเก็บขยะไว้ในบ้านก็บ้านเป็นกองขยะไปเท่านั้นเอง ในใจเรานี้ก็เหมือนกัน สิ่งใดมันไม่ดีไม่งามอย่าเอาไว้ ต้องเอาออกทิ้งไป การเอาออกทิ้งนี่ก็คือรู้สึกตัวเท่านั้นเอง เรียกว่ามีสติปัญญาเกิดขึ้น รู้ว่านี่ไม่ดี เมื่อไม่ดีแล้วเราบอกตัวเองว่า อย่าทำต่อไปอีก เราไม่ทำสิ่งนั้น อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดการกระทำสิ่งนั้น เราคอยหยุดมันยั้งมัน ไม่ให้มากระทบจิตกระทบใจของเราต่อไป อย่างนี้ก็เรียกว่าคอยเสียสละสิ่งไม่ดีออกจากตัว มีอันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งนั้นคือว่าเสียสละเพื่อผู้อื่น เสียสละเพื่อผู้อื่น ความเสียสละผู้อื่นนั้นเรียกว่าเราให้ ให้อะไรแก่เขา ให้ความสุขความสบายแก่เขา ไอ้ความทุกข์ความเดือดร้อนมันเกิดจากอะไร เกิดจากไม่รู้จักให้อภัยแก่กัน ไม่รู้จักให้อภัยแก่กัน มีอะไรกระทบกระทั่งก็เป็นฟืนเป็นไฟ โกรธวู่วาม นี่เรียกว่าไม่ให้ เราต้องให้อภัยเขา นึกไปในแง่ว่า เขาคงไม่เจตนา เขาคงเผลอไป คงประมาทไป จึงได้กระทำเช่นนั้น โดยเจตนาคนเราไม่มีใครอยากทำชั่ว แต่ที่ได้ทำลงไปนั้นเพราะหลงผิด เข้าใจผิดอะไรบางอย่าง ไอ้คนนั้นมันผิดอยู่แล้ว เราจะไปผิดกับเขาอีกทำไม เราอดไว้ดีกว่า ทนไว้ ทำเฉยๆ สำรวมจิตใจ ภาวนาไว้ว่า ทนไว้ๆ อย่าวู่วาม อย่าใจร้อน เราก็หยุดยั้งได้ เพราะเราให้อภัยแก่เขา ไม่ถือโทษโกรธตอบต่อกัน อย่างนี้ชีวิตเป็นสุขหรือไม่ ญาติโยมลองพิจารณา การที่ไม่อดทนนั้นมันเป็นทุกข์ แต่เราอดได้ทนได้เหมือนเสาหินแท่งทึบนี้ ลมพัดไม่โยกไม่โคลง จิตใจเราก็มีลักษณะอย่างนั้น แล้วเราให้อะไรๆ แก่คนอื่น ก็สบายใจไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน
ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการกล่าวธรรมกถาไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมฝึกสมาธิ นั่งตัวตรงหลับตาเสียหน่อยจะได้ไม่วุ่นวาย เสร็จแล้วก็หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว เวลาหายใจเข้ากำหนดรู้ตามลมหายใจ หายใจออกกำหนดรู้ อย่าให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามันไปก็ดึงกลับมา อยู่ตรงนี้ๆ เป็นเวลา ๕ นาที