แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงชัดเจนได้ แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้อรรถประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์เป็นวันที่เราพักผ่อนจากการทำงานในชีวิตประจำวัน พักแล้วถ้าอยู่กับบ้านก็เรียกว่าเป็นการพักทางร่างกาย แต่ว่าจิตใจนั้นไม่ได้พักเต็มที่ จึงควรจะไปในที่ๆเราจะได้พักใจ ศาลาพักใจก็คือวัด อันเป็นสถานที่สงบเงียบ เป็นที่ๆเราเข้ามาแล้วเกิดความสงบ เกิดความเย็นใจ แต่ว่าวัดนี่ก็ต้องทำให้เป็นที่สงบ ให้สะอาด ให้น่าดู ญาติโยมที่เข้ามาก็จะได้เกิดความสบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน อยู่ที่บ้านมีเรื่องมาก เรามาวัดก็เพื่อให้เรื่องมันน้อย เมื่อมาวัดก็จะได้พักผ่อนทางด้านจิตใจ แล้วจะได้ฟังธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางศาสนา เป็นการเพิ่มสติปัญญาสำหรับจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป
พวกเราทั้งหลายที่มากันอยู่เป็นประจำย่อมเห็นประโยชน์ของการมาวัด คือได้รับความสุขความสงบทางใจ ไม่มาผู้เดียว ยังไปชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้มาด้วย การชวนคนนั้นต้องชวนคนไปในทางสร้างสรรค์จิตใจ เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ถ้าเราชวนแล้วไปทำสิ่งที่เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ ทำให้ชีวิตของเขาตกต่ำ การชวนอย่างนั้นเป็นเรื่องไม่สมควร เรียกว่าเป็นการชวนเป็นอกุศลเพราะทำให้สิ่งทั้งหลายตกต่ำ แต่ว่าเราชวนใครไปในทางดีทางงามก็เรียกว่าเป็นการชวนที่เป็นกุศล ทำให้คนนั้นเจริญก้าวหน้าทางด้านจิตใจ เป็นเรื่องที่เราควรจะกระทำให้มาก แล้วกระทำกับคนทั่วๆไปที่เรารู้จัก เพราะว่าสังคมในยุคปัจจุบันนี้มีปัญหา มีเรื่องวุ่นวายกันอยู่บ่อยเหลือเกิน ถ้าอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวทางวิทยุที่เขาพูดเพื่อโฆษณาสินค้าแถมไปด้วยนั้น เราจะพบว่ามีแต่เรื่องวุ่นวายด้วยปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นทั่วๆไป
ความวุ่นวายทั้งหลายเหล่านั้นเป็นเรื่องอันตรายแก่ชีวิต ทรัพย์สมบัติ และความสงบสุขของบ้านเมือง เป็นเรื่องที่เรารู้แล้วควรจะได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดจากอะไร ทำไมมันจึงเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วให้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเพื่อจะได้รู้ต้นสายปลายเงื่อนของเรื่องเหล่านั้น ทีนี้เราก็ต้องคิดว่ามีทางใดที่เราจะช่วยกันแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นในสังคมของมนุษย์เรา นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิด ต้องนึก เมื่อคิดได้นึกได้แล้วก็ต้องลงมือกระทำตามแนวความคิดที่ถูกที่ชอบ เป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง แล้วก็มีการกระทำให้ถูกต้อง มีการพูดให้เป็นการถูกต้องต่อไป ก็จะช่วยเราทั้งหลายให้อยู่กันด้วยความสุขความสงบตามสมควรแก่ฐานะ
เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่เราจะเฉยไม่ได้ เราจะคิดว่าธุระไม่ใช่ก็ไม่ได้ เพราะสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนั้นมันไม่ได้อยู่เฉพาะตรงนั้น เหมือนไฟเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันไม่ได้ไหม้เพียงจุดเดียว แต่มันลามไปไหม้บ้านคนนั้นบ้านคนนี้ ถ้าไม่มีใครมาหยุดมันๆ ก็ลุกลามเรื่อยไป ไหม้สิ่งต่างๆ ให้เสียหาย เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
ไฟนั้นเป็นวัตถุ ไหม้สิ่งที่เป็นวัตถุ แต่ว่าปัญหาชีวิตมันไหม้จิตใจคน ทำให้จิตใจคนถูกเผาด้วยประการต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย ดังที่เราเห็นกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรจะเพิกเฉยในเรื่องเหล่านั้น แต่เราควรจะคิดว่าโดยหน้าที่เราควรจะทำอะไรได้บ้าง โดยหน้าที่เราควรจะทำอะไรได้บ้าง ให้ญาติโยมได้คิดว่าอย่างนี้ เพราะว่าหน้าที่ของเรานั้น เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ และหน้าที่ที่สำคัญที่เราควรจะกระทำก็คือช่วยกันสร้างสรรค์ความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม การสร้างสรรค์ความสงบให้เกิดขึ้นในสังคมเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ ละเลยเพิกเฉยไม่ได้ ถ้าเราละเลยเพิกเฉยต่อหน้าที่ส่วนนี้ เราจะได้รับความทุกข์ จะได้รับความเดือดร้อน ใครต้องการความทุกข์บ้าง ไม่มีใครต้องการ ใครต้องการอยู่อย่างคนมีความร้อนอยู่ในใจตลอดเวลาบ้าง ไม่มีใครต้องการ เราต้องการความสงบ ความเยือกเย็น ความอยู่กันฉันท์พี่น้อง จะได้ไม่มีเรื่องไม่มีปัญหาในชีวิตประจำวัน นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ
ถ้าเราต้องการสิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องนึกถึงหน้าที่อันเราจะต้องทำ ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ หรือว่าสร้างสรรค์สัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกัน แล้วก็เป็นงานที่เรียกว่าด่วนจี๋ ช้าไม่ได้ เป็นงานด่วนที่สุด ช้าไม่ได้แล้ว เพราะถ้าเราขืนทำชักช้าเฉื่อยชา ความชั่วร้ายมันไม่หยุดนิ่ง มันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆ
อันความชั่วร้ายนั้นเจริญเพื่อทำลาย ไม่ใช่เจริญเพื่อการสร้างสรรค์ ยิ่งเจริญมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งเกิดมากเท่านั้น แล้วแผ่กระจายไปทุกกลุ่มบุคคล ทุกบ้าน ทุกครอบครัว ก็บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหา โลกจะวินาศเพราะสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเรามองเห็นว่ามันไม่ไหวแล้ว ถ้าเราขืนปล่อยกันไว้อย่างนี้เราจะลำบากจะเดือดร้อน เราจะต้องหาทางช่วยกัน เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านั้น
การช่วยกันทำนั้นเป็นหน้าที่ การทำหน้าที่ก็เรียกว่าเราปฏิบัติธรรม เพราะคำว่าธรรมะนี่มันหมายความได้หลายประการ หมายถึงธรรมชาติก็ได้ หมายถึงระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติก็ได้ หมายถึงหน้าที่อันเราจะต้องปฏิบัติก็ได้ หมายถึงผลอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเราก็ได้ ธรรมะมันมีความหมายเป็น ๔ นัยยะด้วยกัน อันนี้เราจะต้องเอาธรรมะใน ๔ ประการนี้มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และธรรมะทั้ง ๔ ประการนั้น ธรรมะที่เรียกว่าหน้าที่นี่แหละสำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณา ศึกษา ให้เข้าใจชัดเจน และเราควรจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา คือเรามาปฏิบัติหน้าที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ
ทีนี้ทุกคนก็มีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยที่จะไม่มีหน้าที่ คนบางคนพูดว่าผมไม่มีงานทำ นั่นหมายถึงงานที่ไปทำเพื่อเงินทองข้าวของอะไรต่างๆ อาจจะไม่มีในบางครั้ง อาจจะมีในบางคราว เช่น บางครั้งเราก็เป็นคนว่างงาน เพราะว่าไม่มีงานที่จะให้เราทำ หรือว่าเราออกจากงานนั้นเสียเพราะเราไม่ชอบใจในงานนั้น เราก็เป็นคนไม่มีงานจะทำ อันนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่เหมือนกัน เรียกว่าเป็นธรรมดาที่จะเกิดจะมีขึ้นก็ได้ แต่เรื่องไม่มีงานอย่างนั้นทำ แต่ว่าเรื่องหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำนั้นมันไม่เป็นเช่นนั้น มันมีอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้ลาออก เราไม่ได้ว่างงาน เรามีงานที่จะต้องทำอยู่ตลอดไปในฐานะที่เป็นหน้าที่ คือประพฤติธรรมตามหน้าที่
หน้าที่ที่เราประพฤติธรรมที่เราไม่ต้องลาออกหรือไม่ต้องว่างนั้นคืออะไร คือเราจะต้องยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น ให้ประณีตขึ้น ให้สะอาดขึ้น นี่คือหน้าที่ประจำวัน แม้เราจะไม่มีงานอื่นที่จะต้องทำแต่เราก็ต้องมีหน้าที่นี้อยู่เป็นประจำ หน้าที่ที่จะยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น ไม่ให้ตกต่ำ ไม่ให้ความชั่วเข้าชักจิตใจ ไม่ให้ใจเราแปดเปื้อนด้วยสิ่งโสโครกอันมีอยู่มากมายในโลกนี้ นี่คือหน้าที่ประจำที่เราจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เผลอก็ไม่ได้ หยุดเมื่อใดใจตกต่ำเมื่อนั้น เผลอไปประมาทไปเมื่อใด ใจเราก็ตกต่ำลงไปเมื่อนั้น เราจะต้องยันไว้ให้สูงอยู่ตลอดเวลา ทำมันไว้ให้สูงอยู่ตลอดเวลา อย่าเผลอ อย่าประมาท พอเผลอไปประมาทไปมันก็หล่นตุ๊บลงไปคลุกขี้ฝุ่นขี้โคลน คืออารมณ์ประเภทต่างๆ ที่ยั่วยวนชวนใจ ทำให้เราเกิดความยินดี ทำให้เราเกิดความยินร้าย ทำให้เราหลงใหล ทำให้เรามัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น หน้าตาจิตใจมันก็เปลี่ยนไปตามสภาพของสิ่งเหล่านั้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นนั้นเปลี่ยนเป็นนี้วุ่นวายไปหมด
การที่จิตใจของเราต้องเปลี่ยนไปบ่อยๆนั้น มันไม่เป็นความสงบ ไม่เป็นความสุขในชีวิตประจำวัน เผลอๆ อาจจะไปกระทำผิดศีลธรรมเข้าก็ได้ เช่นว่าจิตใจเราเปลี่ยนไปในทางขัดเคือง เราอาจจะไปฆ่าคนก็ได้ อาจจะไปลักของก็เพราะว่าเราเกลียดคนนั้นก็ได้ อาจจะไปทำอะไรแก่ครอบครัวเขาให้เสียหายก็ได้ อาจจะพูดด่าว่าหมิ่นประมาทเขาจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็ได้ หรือว่าอาจจะไปหาเครื่องย้อมใจให้เกิดความมึนๆเมาๆแล้วก็เกิดความกล้าแบบบ้าบิ่น กล้าไม่เข้าเรื่อง ไปทำสิ่งเสียหายขึ้นเมื่อใดก็ได้ นี่คือความเผลอเรอในชีวิต
ใครเป็นคนเผลอแล้วพญามารก็เข้ามาจับตัวไป ไม่เผลอมารไม่มา มารนี่มันสำคัญนัก มันคอยจ้องอยู่ตลอดเวลาที่จะจับเราไปอยู่ในอำนาจของมัน แต่ว่ามารมันมาเวลาเผลอ ถ้าเราไม่เผลอมารก็ไม่มา ไม่ยุ่งกับเรา แต่ว่ามันเดินๆเตร่อยู่ข้างนอกนั้น แต่พอเราเผลอมันกระโดดปุ๊บเข้ามาเลย จับตัวเราไป จับที่สำคัญเสียด้วย คือจับเข้าที่ใจเลย มารมันจับที่ใจ จับแล้วมันบีบมันคั้นให้เรากระทำสิ่งที่มารปรารถนา เราก็ไหลไปตามอำนาจของมาร แล้วเราก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยประการต่างๆ นี่คือความเผลอความประมาท
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเราว่าอย่าอยู่ด้วยความประมาท อย่าอยู่ด้วยความประมาทหมายความว่าไม่เผลอ ไม่เผลอก็หมายความว่ามีสติกำกับความคิด การพูด การกระทำ การเคลื่อนไหวอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเราจะคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร หรือว่าเราจะไปสู่สถานที่ใด จะคบหาสมาคมกับใคร เราต้องมีสติคอยกำกับอยู่ กำกับให้รู้สึกตัวว่าเรากำลังจะทำอะไร เรากำลังจะพูดอะไร เรากำลังจะคิดในเรื่องอะไร และเรากำลังจะไปไหน ไปกับใคร ไปเพื่ออะไร มันต้องคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามีสติ
ถ้ามีสติก็เรียกว่าไม่เผลอไม่ประมาท คนเผลอคนประมาทก็คือคนขาดสติ เมื่อขาดสติก็ไม่รู้ตัวว่าตัวกำลังทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ไปกับใคร ไปสถานที่ใด ไปเพื่ออะไร ไม่รู้ ไปตามเรื่องที่มันหลงไป เพลินไปกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราไปในรูปอย่างนั้นอันตราย ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นรุมจิตใจของเรา แล้วก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
คนเราที่ได้เสียผู้เสียคนไปนั้นก็เนื่องจากเรื่องอย่างนี้ คือทำอะไรโดยขาดสติ ไม่ได้คิดเหตุผล ไม่ได้รู้ตัวว่าเรากำลังจะทำอะไร แล้วก็ไม่มีปัญญาเข้ามากำกับการกระทำนั้น มีปัญญาก็ใช้ไม่ตลอด ทำไปด้วยอารมณ์ ด้วยอารมณ์นี่หมายความว่ามีอะไรเกิดขึ้นอยากทำก็ทำเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้คิดว่าทำแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น จะสำเร็จตามที่เราต้องการหรือไม่ ไม่ได้คิดรอบคอบอย่างนั้น เราก็ทำไปด้วยความเผลอความประมาท ผลที่สุดก็เสียท่า คือทำอะไรไม่ถูกต้องหรือไม่สำเร็จ ครั้นว่าไม่สำเร็จก็เกิดเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อันนี้ก็เพราะเราเอง เราจะโทษใครก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เราทำไปด้วยความเผลอความประมาท เราไม่ได้ใช้สติใช้ปัญญากำกับเรื่องนั้น จึงได้เกิดอะไรขึ้นที่มันเป็นเรื่องที่เห็นประจักษ์แก่ตัวเองอยู่แล้ว
อันเรื่องการปฏิบัติธรรมะนี่ หรือการไม่ปฏิบัติธรรมะนี่ เรารู้เองเห็นเอง ในทางพระพุทธศาสนาจึงว่า สันทิฏฐิโก เวลาเราสวดมนต์สวากขาโต ภควตาธัมโม สันทิฏฐิโกๆ นี่หมายความว่าเห็นประจักษ์ด้วยตัวเอง รู้ชัดด้วยตัวเอง รู้ว่าเราได้อะไร เราเป็นอย่างไร เราร้อน เราเย็น เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์ ชีวิตของเรามีสภาพอย่างไร รู้ได้ด้วยตัวเองทั้งนั้น ไม่ต้องให้ใครบอก เพราะคนอื่นบอกนั้นมันก็ไม่เหมือนกับเราเห็นเองรู้เอง แต่เรารู้นั่นน่ะมันดีกว่า เหมือนเขาบอกว่าอาหารนั้นอร่อย เขาพรรณานาไปเถอะ พรรณนาเท่าใดก็ตามใจ แต่ถ้าเราไม่ได้ชิมอาหารนั้นด้วยตัวเองแล้วเราก็ไม่รู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร เมื่อใดเราได้ไปลิ้มชิมอาหารนั้นด้วยตัวเราเอง เราก็รู้ว่ารสมันเป็นอย่างนั้น อร่อยอย่างนั้น น่ากินอย่างนั้น รู้ชัด เป็นเรื่องเฉพาะตัว
ในการปฏิบัติธรรมะนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติถูกเราก็รู้ชัดว่าสงบเยือกเย็นมีความสุข ถ้าเราปฏิบัติผิดเราก็รู้จักชัดว่าวุ่นวายเร่าร้อน มีความทุกข์ มันรู้ได้เอง เห็นได้เอง แต่ว่าคนเราโดยปกตินั้นไม่ค่อยจะได้พิจารณาคือไม่ศึกษาเรื่องตัวเอง ไม่มองดูตัวเอง จึงไม่รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในจิตใจของเรา เราไม่ได้พิจารณา การไม่พิจารณานี่แหละมันไม่เกิดปัญญา พระพุทธเจ้าจึงสอนเราให้หมั่นพิจารณา ตรวจสอบตัวเองในเรื่องอะไรๆต่างๆ ให้มองดูด้านใน คือมองดูที่ใจของเรานั่นเอง ดูการคิดที่ใจ ดูผลที่มันเกิดขึ้นว่าร้อนหรือเย็น สุขหรือทุกข์ วุ่นวายหรือว่าสงบ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เราจะต้องพิจารณาให้รู้ รู้แล้วเราก็จะได้พบว่า โอ มันมาอย่างนั้น มันไปอย่างนี้ สิ่งนี้มันสร้างปัญหา ทำให้เกิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้น ก็ได้จำไว้เป็นบทเรียน จะไม่ทำเรื่องนั้นให้เกิดขึ้นต่อไป
เราอยู่ในโลกนี่ อยากจะบอกให้ญาติโยมทราบว่าอยู่อย่างผู้ศึกษา เรียกว่านักศึกษาๆ หรือเป็นนักเรียน ก็พูดตามภาษาไทยง่ายๆว่าเราเป็นนักเรียน สูงขึ้นมาหน่อยก็เรียกว่าเราเป็นนักศึกษา การเรียนการศึกษานั้นไม่ได้จำกัดว่าเรียนในโรงเรียนเท่านั้น หรือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น การเรียนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยนั้นเป็นการเรียนเฉพาะวิชา เป็นการเรียนเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไรเท่านั้น เป็นชั้นต้น การเรียนที่แท้จริงก็คือการเรียนในวิถีชีวิตประจำวันของเรา นั่นแหละคือการเรียนที่แท้จริง เรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งหมดลมหายใจ พอหมดลมหายใจก็หยุดเรียนทันทีเลย เพราะมันเลิกกันแล้ว หมดเรื่อง แต่ว่าคนอื่นจะเรียนจากเราต่อไปในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรา ในเรื่องประวัติ เรื่องความเป็นอยู่ การทำงาน นิสัยใจคอ อะไรต่างๆของเรานั้น คนอื่นเขาจะเอาเป็นบทเรียนต่อไป แต่สำหรับตัวเราเองนั้นจบชั้นเพียงตาย ความตายเรียกว่าจบการเรียน ไม่มีการเรียนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นให้ถือว่าเราเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเราดำรงตนอยู่ในฐานะเป็นนักเรียนเราก็ต้องเรียนเรื่อยไป และการเรียนของเรานั้นไม่ได้เรียนไกลออกไป ถ้าเรียนไกลออกไปนั้นมันเป็นเรื่องการเรียนดินฟ้าอากาศธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ของอะไรๆมันวุ่นวาย เรียนพอสมควร แต่ว่าเรื่องที่เราเรียนกันจริงจังนั้นคือเรื่องภายในตัวเราเอง จำกัดเรื่องที่เรียนยาววา หนาคืบ กว้างศอก คือภายในตัวนี่ มันยาววาหนึ่ง หนาคืบหนึ่ง กว้างศอกหนึ่ง ของใครก็ของใคร เลือกที่จำกัดที่เราจะต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ความคิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น อะไรมันตั้งอยู่ อะไรมันเป็นอะไรขึ้นต่อไป ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
นี่เวลานี้ก็เรียกว่ากำลังเรียนธรรมะ เรียนแนวทาง เรียนข้อปฏิบัติที่พระท่านนำมาชี้มาบอกให้แก่เราเป็นการเรียนจากผู้อื่นเรียกว่าเรียนแบบนักปริยัติ ครั้นต่อไปจากนั้นเราเรียนอย่างนักปฏิบัติ คือลงมือด้วยตัวเอง ทำด้วยมือของตัวเอง ด้วยจิตของตัวเอง ถ้าเราพูดเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่าเราเรียนวิชาการเกษตร เรียนเรื่องดินเรื่องอากาศ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรียนเรื่องพืช เรื่องต้นไม้ เรื่องศัตรูของต้นไม้ วิธีการใส่ปุ๋ยให้น้ำอะไรต่างๆ เรียนรู้จากหนังสือ เรียกว่าเรียนทฤษฎี เป็นความรู้เบื้องต้น ถ้าเรียนเพียงเท่านั้นไม่ได้กินผลไม้ ไม่ได้กินเลย เพราะว่าในหนังสือมันไม่ออกผลให้เรากินได้ เราจะต้องเรียนต่อไปปลูกเลย เราไปขุดดินตามแบบที่เราได้เรียนมา แล้วหาพันธุ์ไม้ดีๆมาปลูก ๆ แล้วก็ใส่ปุ๋ยรดน้ำ คอยดูไม่ให้แมลงมาเจาะมาไช แมลงอะไรมาเจาะควรจะทำลายมันโดยวิธีใดเราก็หาทางป้องกัน ทำลาย ไม่ให้แมลงนั้นมาเจาะไชต้นไม้ ๆ นั้นก็จะเจริญงอกงาม ออกดอกออกผล ทีนี้แหละเราได้กินแน่ ได้กินผลไม้นั้นแล้วรู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร ฉันใด ในเรื่องการเรียนธรรมะนี่ก็เหมือนกันเราอ่านหนังสือบ้าง เราฟังจากพระมาสอนให้เราบ้าง แล้วเราก็เอาความรู้นั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา คือลงมือปฏิบัติ
ที่เรียกว่าปฏิบัตินั้นทำอย่างไร การปฏิบัติก็คือการคอยกำหนดรู้วาระจิตของเรา เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าอะไรๆในตัวเรานั้นมันสำเร็จมาจากใจทั้งนั้น ใจนี่แหละเป็นตัวเรื่องตัวการใหญ่ล่ะ เป็นพระเอกในชีวิตของเรา เพราะมันเกิดทิฐิใหญ่ ความคิดเกิดที่ใจ การกระทำเกิดจากความคิด การพูดเกิดจากความคิด อะไรๆมันก็ออกมาจากความคิดของคนทั้งนั้น ถ้าใจดี คิดก็ดี พูดดี ทำดี ถ้าใจร้าย คิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย แล้วผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องร้าย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแก่ตนด้วยประการต่างๆ เช่นคนที่มีความโลภเป็นพื้นฐานในใจ มันก็ไปฆ่าคนอื่น ไปทำร้ายเขา เบียดเบียนเขาในทางกาย ทางทรัพย์ ทางคู่ครอง ทางการพูดการจาทางอะไรๆต่างๆอยู่ ใจมันร้ายมันคิดแต่เรื่องร้าย ไม่มีเรื่องดีเข้าไปอยู่ในใจ จึงได้สร้างปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อน
เราอยู่กันหลายคนในครอบครัวเราจะพบว่าบางคนใจเย็นแต่บางคนใจร้อน บางคนว่าอะไรก็เฉย แต่บางคนกระทบก็ไม่ได้ เหมือนดินประสิวไวไฟ ประเดี๋ยวก็ปึงปังโผงผางขึ้นมาทีเดียว อาการมันเป็นอย่างนั้น ในใจคนมันเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนกัน เขาจึงพูดว่านานาจิตตัง แปลว่าความคิดมันต่างกัน เป็นรูปเป็นแบบหลายเรื่องหลายประการ แล้วที่แสดงออกมาก็ปรากฏในวงหน้า ในดวงตา กริยาท่าทางการพูดการแสดง เป็นสิ่งแสดงถึงน้ำใจ ท่านจึงกล่าวว่าคิดอย่างใดทำอย่างนั้น ใจกับความคิด ใจคือความคิดกับการกระทำนั้นตรงกัน ถ้าคิดดีมันก็ทำในเรื่องดี ถ้าคิดร้ายก็ทำในเรื่องร้าย มันแสดงออกมาในรูปอย่างนั้น นี่คือใจที่ปล่อยตามเรื่องเรียกว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม
ผู้ไม่ปฏิบัติธรรมย่อมขึ้นๆลงๆ ตามอารมณ์ที่มากระทบ อารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เขาเรียกว่าอารมณ์ๆ นั้นมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจเป็นผู้รับรู้ ว่าแรกเริ่มมันก็ปรุงแต่งชอบใจ ไม่ชอบใจ เฉยๆ มีสามเรื่อง เกิดถ้าว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจก็ชอบใจ ไม่ถูกอกถูกใจก็ไม่ชอบใจ แล้วบางทีก็เฉยๆ เช่นเรามองของบางอย่างนี่เราเฉยๆ มองก้อนหินมองดิน มองทราย มองต้นไม้ เฉยๆ ไม่มีอะไร ไม่เกิดอะไรคือไม่ยินดีไม่ยินร้ายอะไรนัก แต่ถ้าเรามองไปที่คนนี่ มันเกิดอารมณ์ ผู้ชายมองผู้หญิงเกิดอารมณ์ยินดีบ้างยินร้ายบ้าง ผู้หญิงมองดูผู้ชายก็เกิดอารมณ์ขึ้นคือยินดีบ้างยินร้ายบ้าง สุดแล้วแต่ว่าสิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งที่ตนมีอยู่ก่อน ก็ชอบใจ เข้ากันไม่ได้กับสิ่งที่ตนมีอยู่ก่อนก็ไม่ชอบใจ
ไอ้สิ่งที่ตนมีอยู่ก่อนนั้นคืออะไร เรียกว่าสมมติฐาน ทุกคนมีฐานสมมติอยู่ในใจทั้งนั้น สิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งที่เราพอใจมาตั้งแต่เริ่มต้นอันนี้เป็นฐานในใจ หรือว่าสิ่งหนึ่งเราไม่ชอบมาตั้งแต่เบื้องต้น มันก็เป็นฐานอยู่ในใจ ให้สังเกตง่ายๆว่าคนบางคนนี่ชอบใจบางเรื่อง ไม่ชอบใจบางเรื่อง ยกง่ายๆว่าอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนี้แหละ เราชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบแกงเผ็ด บางคนชอบเปรี้ยว บางคนชอบแกงอย่างนั้นชอบแกงอย่างนี้ สุดแล้วแต่การรับมาตั้งแต่เริ่มต้น คือเมื่อเป็นเด็กเรารับอาหารประเภทใด การกินมันไม่ได้ติดอะไรหรอก เริ่มต้นไม่ได้ติดอะไร เช่นเรากินนมคุณแม่นี่ไม่ได้ติดนมคุณแม่ มันกินไปตามธรรมชาติ คือเวลาอยากมันก็เลยกินน่ะ เด็กมันกินนมแม่มันอยากก็ไปกิน ไม่ได้ติดในรสชาติของนมนั้น
เราโตแล้วนี่พอนึกออกไหมว่านมแม่รสเป็นอย่างไร โยมที่นั่งอยู่พอนึกออกไหม อาตมานี่จนปัญญา ถ้าใครจะถามว่ารสนมของแม่นี่เป็นอย่างไรนี้บอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ ไม่มีใครรู้สักคนเดียวว่านมคุณแม่นี่รสชาติมันเป็นอย่างไร หวานปะแล่มหรือว่าหวานอย่างไรนี่ไม่รู้เลย ไม่รู้ จำไม่ได้ นี่เรียกว่าไม่ได้ติดพันในเรื่องนั้น ธรรมชาติเขาช่วยไม่ให้จำไว้ ไม่ให้ติด เพราะถ้าติดแล้วมันจะยุ่งกันใหญ่ พอเห็นใครมีลูกอ่อนก็จะพุ่งเข้าใส่ไปแย่งดูดหมด ทีนี้ไอ้ตัวน้อยมันก็ไม่ได้กินแล้วตัวใหญ่มันก็กินหมดเลย มันก็เดือดร้อนก็เท่านั้นเอง ธรรมชาติเขาช่วย ธรรมชาตินี่มันช่วยคนเหมือนกัน ช่วยให้คนไม่รำคาญ ไม่ให้จำรสนมคุณแม่ได้แล้วพอไม่ให้ติด
ธรรมชาติช่วยคนแก่ให้รำคาญน้อย คนแก่นี่หูมักจะตึงๆนะ อย่างโยมพออายุมากน่ะชักจะหูตึงนั่นแหละธรรมชาติมันช่วยๆให้รำคาญน้อย ถ้าได้ยินทุกอย่างล่ะแหมรำคาญตาย เพราะว่าลูกหลานมันพูดไม่ถูกใจ รำคาญ เราก็ลำบาก คือธรรมชาติช่วยว่าคนแก่นี่ให้ได้ยินน้อยๆ ไม่ได้ยินบ่อยๆ ตัดความรำคาญ เพราะฉะนั้นใครที่หูตึงนี่อย่าเป็นทุกข์ คืออย่าเป็นทุกข์ว่า โอ้ย ฟังอะไรไม่ได้ยิน ดีแล้วนะที่ไม่ได้ยิน ขืนได้ยินทุกเรื่องน่ะมันปวดหัวปวดตา ลูกหลานมันพูดอย่างนั้นมันพูดอย่างนี้รำคาญ ยิ่งคนแก่สมัยโบราณหน่อยได้มาฟังลูกหลานสมัยนี้พูดล่ะคงจะเวียนหัวตายเลย เพราะมันพูดแปลกๆแผลงๆ คำที่ไม่น่าจะพูดมันก็พูด ผู้หญิงพูดเหมือนกับผู้ชายอย่างนั้น รำคาญ ธรรมชาติก็ช่วยว่าแก่แล้วอย่าให้ได้ยินมากเลยจะได้สบายใจ เลยทำให้หูตึงแบบนั้น แต่ตานี่ไม่ตึงเลย เขาไม่นั่น ยังให้เห็นอยู่ ไม่ทำลายตา แต่บางคนก็ตามัวเหมือนกัน มัวไป ก็ช่วยเหมือนกัน ช่วยให้ดูอะไรเท่าที่จำเป็น อะไรไม่น่าดูก็อย่าไปดู ธรรมชาติช่วย
เราไม่รู้รสนมของแม่ เราไม่ได้ติด มาติดเอาเมื่อเริ่มเติบโตกินอาหารได้ ติดแล้วติดอาหารแล้ว พอเริ่มกินอาหารได้ติดอาหาร ติดนมที่เขาชงให้กิน รู้ รสโอวัลติน รสไมโล รสอะไรๆไม่รู้ อะไรอย่างนั้น รสแม่ไม่รู้ สมมติแล้วว่านมแม่มีวันหมด แล้วก็ไปติดไมโล ติดโอวัลติน ติดอะไรต่างๆที่เขาชงให้กิน ติดอาหารประเภทนั้นประเภทนี้ ใครกินแกงอะไรมากก็ติดรสแกงนั้น ติดแกงเหลือง ติดผัดสะตอ คนปักษ์ใต้ชอบของอย่างนั้น ถ้าเป็นคนเหนือก็ติดชอบแกงฮังเล แกงแค คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ชอบลาบชอบลู่อะไรต่างๆไปตามเรื่อง มันติดตามของที่เคย เคยแล้วมันก็ชอบอย่างนั้น นี่เรียกว่าฐานสมมติอยู่ในใจ เรามีอยู่แล้ว
ทีนี้เมื่อเรามีฐานอยู่อย่างนั้นแล้วเราไปเห็นอะไรเข้ามันถูกกับฐานที่เรามีไว้ก่อนเราก็ชอบใจ ถ้าไม่ถูกกับฐานที่เรามีไว้ก่อนเราไม่ชอบใจ นี่ ชอบไม่ชอบมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่ามันถูกกับฐานของเราหรือไม่ แต่เราไม่เรียกว่าฐาน เราเรียกว่าอัธยาศัย มันถูกกับอัธยาศัยของเราหรือไม่
อัธยาศัยก็คือสิ่งที่เราได้ทำมาบ่อยๆจนกระทั่งชิน พอชินแล้วมันเป็นนิสัย พอเป็นนิสัยแล้วอะไรมากระทบถูกกับอัธยาศัยของตัวๆก็ชอบสิ่งนั้น สิ่งใดมากระทบไม่ถูกกับอัธยาศัยเราก็ไม่ชอบสิ่งนั้น หรือบางอย่างเราไม่ชอบ เสียงบางอย่างเราก็ไม่ชอบ กลิ่นบางอย่างเราก็ไม่ชอบ รสบางอย่างเราก็ไม่ชอบ สัมผัสบางอย่างเราก็ไม่ชอบ แต่บางอย่างเราชอบ รูปบางอย่างเราชอบใจ เสียงบางอย่างชอบใจ กลิ่นบางอย่างชอบใจ รสบางอย่างชอบใจ สัมผัสบางอย่างเราชอบใจ ความคิดบางอย่างเกิดขึ้นเราสบายใจ แต่บางอย่างเกิดขึ้นเราไม่สบายใจ นี่ มันเป็นอย่างนี้ จิตใจที่ไม่ได้ควบคุมมันเป็นอย่างนั้น มันวิ่งไปวิ่งมา เดี๋ยวไปนู้นเดี๋ยวมานี่เดี๋ยวอะไรเลอะเทอะไปเรื่อยไป ไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักยั้ง ทำให้เราลำบาก ใช้กับต้นไม้ก็ตัวคนนี่เหมือนกับต้นไม้
ญาติโยมเคยไปเมืองปทุมธานี ที่สามโคก วัดไผ่ล้อม อยู่ตรงข้ามอำเภอสามโคก ที่นั่นมีนกมาก นกตัวใหญ่ๆ หน้านี้ไม่ค่อยมี เพราะว่าหน้านี้ทุ่งนามันเต็มไปด้วยน้ำ นกเหล่านั้นหาอาหารกินไม่ได้ มันหายไป ไม่รู้อพยพไปไหน โอ้ นกนี่อพยพไปไกลเลย นกประเทศจีนอพยพมาเมืองไทย ที่นั่นหนาวน้ำแข็งเต็มบ้านเต็มเมือง อพยพมาเมืองไทย มาหากินเมืองไทย พอน้ำแข็งละลายเสร็จแล้วมันอพยพกลับไป มันบินไกลเหลือเกิน นกนี่มันบินไกล นกที่อยู่เมืองปทุมน่ะ พอหน้าแล้งมานะ พอทุ่งนาเกี่ยวข้าวหมดมันมานะ เพราะนกพวกนี้กินหอย กินปลา หน้านี้มันเอาปลากินไม่ไหว เพราะมันลงลุยน้ำไม่สะดวก แต่พอหน้าแล้งพวกหอยพวกปลาหนองน้ำตื้นๆ มันเที่ยวหากินตามในทุ่ง แล้วมันก็มานอนที่นั่น นอนที่ต้นไม้วัดไผ่ล้อม นอนกันเต็มไปเลย ต้นไม้ที่วัดไผ่ล้อมนั้นไม่ค่อยมีใบ กิ่งโกร๋นๆไป ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น นกมันมาลงทีหนึ่งต้นไม้กิ่งไม้กระเทือนใบร่วง จะบินทีหนึ่ง สนามบินกระเทือนอีกแล้ว ต้นไม้กระเทือนใบร่วง เพราะฉะนั้นใบไม้ไม่มีเหลือแต่กิ่งโกร๋นๆนกจับเป็นแถว แล้วก็ถ่ายมูลลงมาในบริเวณนั้น สมภารวัดนั้นไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยที่ไหน ไปโกยดินใต้โคนต้นไม้นั้นมาทำปุ๋ยก็พอแล้ว นกมัน ต้นไม้มันกระเทือน พอบินลงจับ กระเทือน จะบินขึ้นกระเทือน เหมือนกับสนามบินนะ จะบินลงทีน่ะไม่ใช่น้อยนะ น้ำหนักเท่าไร แต่ก็ช่างแข็งแรง ถึงอย่างนั้นก็มีรอยแตกรอยร้าวเหมือนกัน มันกระเทือน จิตใจคนเรานี้ก็เหมือนกัน อะไรมากระทบมันก็กระเทือน อะไรจากไปก็กระเทือนแล้ว
ว่าสักครู่นี้มีคนหนึ่งมาบอกว่าดิฉันเสียพี่ชายไป เสียใจ เลยกระเทือนใจแล้ว กระเทือนใจเพราะว่าพี่ชายจากไป กระเทือนใจ อันนี้ถ้าเราได้อะไรมาก็กระเทือนใจเหมือนกัน อยู่ๆมีคนเอาแหวนเพชรมาให้ แหมกระเทือนใจ ดีใจน้ำตาไหล กระเทือนใจ อยู่ๆแหวนเพชรวงนั้นถูกขโมยเอาไปเสียแล้ว กระเทือนใจอีกแล้ว มันกระเทือนทุกที จิตใจเรากระเทือนด้วยการรับ กระเทือนด้วยการสูญเสีย เราได้ใจมันก็กระเทือน พอเสียกระเทือนเหมือนกัน กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง เรียกว่ายินดียินร้ายนั่นเอง พูดภาษาที่เขาพูดกันว่ายินดี ได้มาก็ยินดี สูญหายก็ยินร้าย ไอ้ยินดีมันก็ทำให้ทุกส่วนในร่างกายนี้เคลื่อนไหว ก่อนทำงานในร่างกายก็เคลื่อนไหว หัวใจเคลื่อนไหว การโคจรโลหิต ตับ ไต ไส้ พุง มันเคลื่อนไหวหมดทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนที่เสียใจบ่อยๆนี่อายุสั้น อายุสั้นกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับ กระเทือนใจบ่อยๆ ไอ้ดีใจเกินไปก็กินไม่ลงเหมือนกัน
สมมติว่าอยู่ดีๆก็บอกว่าลอตเตอรี่ที่ซื้อไว้ตรวจหรือยัง เอามาตรวจ ถูกที่หนึ่งเลย ก่อนนั้นไม่ได้กินอะไร กินไม่ลง กินลอตเตอรี่อิ่มตื้อแล้ว วันนี้กินอะไรไม่ลงแล้ว มีแต่นั่งยิ้ม เผลอๆเป็นลมชักดิ้นชักงอไปน่ะ มันกระเทือนมาก นี่มันเป็นอย่างนี้ สภาพจิตใจคนเรามันเป็นอย่างนี้ เมื่อได้ดีใจ เวลาเสียก็เสียใจ ดีใจก็เกิดความกระทบกระเทือนทางร่างกายจิตใจ เสียใจก็มีการกระทบกระเทือนเหมือนกัน
ทีนี้สิ่งที่ดีล่ะคืออะไร คือไม่ดีใจไม่เสียใจ สภาพจิตใจคงที่ ได้มาก็เฉยๆ เสียไปก็เฉยๆ ถ้าได้มาเฉยไม่ได้ เสียก็เฉยไม่ได้ คือถ้าได้มายินดี เสียไปก็ยินร้าย เข้ามาทำให้เรายินดีเท่าใดก็แปลว่ายินร้ายเท่านั้น เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตใจที่ไม่ได้มีการควบคุมนี่มันยุ่ง มีแต่ความเศร้า ความโศก เสียใจ หรือว่าที่เราพูดว่ามันเซ็งๆ อย่างไรพิกล
ไอ้ที่ว่าเซ็งน่ะคือมันไม่มีกำลังใจ ไม่อยากจะทำอะไร ชีวิตมันๆ ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร มองอะไรมันไม่น่าดูอย่างนั้นน่ะ ต้นไม้เขียวก็ไม่น่าดู ดอกไม้ก็ไม่น่าดู คนนั้นก็ไม่น่าดู แต่คนนี้มันก็ไม่น่าดู นี่ ชีวิตมันชักจะเซ็งๆ เขาว่าอย่างนั้น ใช้ภาษาชาวบ้านว่ามันเซ็ง ไม่รู้มันเซ็งอย่างไร อาตมายังไม่เคยเป็นในรูปเซ็งๆอย่างนั้น ว่ามันยังอยู่ปกติมันไม่เซ็ง แต่นี่คนที่เซ็งๆน่ะเพราะว่ามันคิดมาก คิดในเรื่องอะไรมากเกินไป ไร้เหตุไร้ผล จิตใจฟุ้งซ่าน ก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นเอง สภาพจิตใจมันก็วุ่นวายสับสน
เบื่อนี่ ไม่ได้เบื่อรูปแบบผู้เข้าธรรมะ ที่เขาเรียกว่านิพพิทา ภาษาธรรมะนี่เขาเรียกว่านิพพิทา ๆ นี่คือความเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งหลายในโลก เรียกว่านิพพิทา ๆ นั้นเขาเบื่อหน่ายเพราะมีปัญญา คือปัญญามันเกิดขึ้นแล้วมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เห็นว่าอะไรๆ มันก็ไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร อะไรๆ มันก็มีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ อะไรๆมันก็ไม่มีอะไรที่เรียกว่ามีเนื้อแท้ มีตัวตนที่ถาวรอะไร มองเห็นอย่างนั้น แล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย เรียกว่านิพพิทา ใช้ศัพท์บาลีดีกว่า มันสะดวก นิพพิทา
นิพพิทา คือความมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง แล้วไม่ไปติดพันอยู่ในสิ่งนั้น ไม่อาลัยใยดีในสิ่งนั้น มันจะมาหรือว่ามันจะไปก็ไม่มีอะไร เฉยๆ ความแปรปรวนจิตหรือว่าสภาพจิตมันเฉยๆ ไม่ได้เกิดยินดีขึ้น ชอบเพราะได้ ไม่ได้เกิดความเสียใจ ใจเหี่ยวใจแห้งเพราะไม่ได้ ไม่มี แต่รู้ตามสภาพที่เป็นจริงว่ามันคืออะไร มันมาอย่างไร เช่นว่าคนตายนี่เรามารู้ชัดตามสภาพว่า ไอ้เรื่องตายนี่เป็นเรื่องธรรมดาๆเหลือเกิน เกิดแล้วตายทุกคน ไม่มีใครที่เกิดแล้วไม่ตาย มีบ้างเกิดแล้วไม่ตายมีบ้าง โยมเคยพบบ้างไหมในโลกนี้ ตั้งแต่สร้างโลกมาจนบัดนี้ไม่รู้กี่หมื่นปีแล้ว ยังไม่มีอะไรที่เรียกว่าเกิดแล้วไม่ตาย คน สัตว์ ต้นไม้ วัตถุ สิ่งของ สรรพสิ่งที่มีทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้น่ะมันก็ต้องตายทั้งนั้น เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วไม่ตายไม่มี อันนี้เป็นกฎ เรียกว่าเป็นกฎธรรมดา เป็นธรรมดา ๆ นี่คือกฎของธรรมชาติ ๆ คือสภาพที่เกิดขึ้นตามเรื่องๆ ปรุงขึ้นเอง แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับกฎ (44.09) คือกฎธรรมดา
ธรรมดานั้นมีว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องแตกดับเป็นธรรมดา นี่ เมื่อมีเกิดต้องมีดับ ถ้าไม่เกิดสิมันจึงจะไม่ดับ แต่นี่เมื่อเกิดแล้วมันก็ต้องดับ แต่เราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า นี่ เราไม่ได้ประพฤติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมก็มองอะไรก็คิดว่าไอ้นี่มันมีเกิดก็มีดับ ไม่มีอะไรคงทนถาวร จะเป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นทรัพย์สมบัติตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ เขาให้เป็นใหญ่เป็นโต เขาให้เป็นรัฐมนตรี เขาให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาให้เป็นผู้แทนอะไรก็ตามใจ ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติก็นึกๆไว้ บอกว่าเขาให้เป็น ไอ้ความเป็นนี่มันเกิดได้ แต่ความไม่เป็นมันก็เกิดได้เหมือนกัน วันนี้เราเป็น พรุ่งนี้ไม่แน่ วันนี้เรานั่งเก้าอี้ตัวนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่แน่ วันนี้เราอยู่อย่างนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่แน่ คอยเตือนไว้ บอกตัวเองไว้บ่อยๆ เพื่อให้ได้รู้ตัวไว้ล่วงหน้า เวลามันเกิดขึ้นจริงๆเราสบายใจ เราปลงได้ เราร้องออกมาได้ว่า อืม มันเป็นไปตามธรรมชาติ หรือพูดได้ว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น แล้วจะไปเศร้าใจทำไม เสียใจทำไม เสียใจนี่ก็เป็นทุกข์นะ ดีใจก็เป็นทุกข์เหมือนกัน มาแล้วดีใจสบาย ไม่ใช่ ไอ้ดีใจน่ะมันเป็นเบื้องต้นของความเสียใจ การได้มันเป็นเบื้องต้นของความเสีย การเกิดมันก็เป็นเบื้องต้นของการตาย การพบกันน่ะก็เป็นเบื้องต้นของการที่จะจากกัน เป็นธรรมดาไอ้ของเหล่านี้ มีพบกันก็ต้องจากกัน มีเกิดมันก็มีตาย มีได้มันก็มีเสีย มันเป็นอย่างนี้
ถ้าเรานึกตามกฎธรรมชาติว่านี่โอ้นี่กฎธรรมดา เวลานี้มันเป็นไปตามกฎแล้ว ธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราก็ไม่เศร้าใจ เราไม่เสียใจ เราเฉยๆ เราไม่ร้องไห้ ไม่น้ำตาไหลนองหน้าให้ขายหน้าคนอื่นเขา ร้องไห้นี่มันน่าขายหน้า ๆ ว่าเรานี่ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่นำธรรมะมาใช้ล่วงหน้าไว้จึงได้มีอาการร้องไห้ เราไม่ร้อง เรานั่งเฉยๆ นั่งสำรวมจิตใจ นั่งท่องคาถาว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิด สิ่งใดก็ที่สุดแล้วมันก็ต้องมีดับ เมื่อเกิดแล้วไม่ดับนั้นหามีไม่ นึกอย่างนี้ใจสบาย ไม่มีความทุกข์เพราะเรื่องนั้น เมื่อได้นึกถึงเรื่องเสีย เมื่อมีนึกถึงเรื่องไม่มี เมื่อพบกันก็นึกว่าเมื่อวันหนึ่งเราจะต้องจากกัน บอกไว้ล่วงหน้า ถ้าเคยบอกไว้ล่วงหน้าอย่างนี้พอมันเป็นขึ้นเราคิดมาได้ว่าธรรมดาๆ พูดออกมาได้ว่าธรรมดาๆ มันเป็นอย่างนั้น นี่ช่วยให้เกิดความไม่ต้องนั่งเป็นทุกข์ใจ เพราะเราปลงตกลงไปได้
สิ่งใดอื่นก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดขึ้นแก่เราแล้ว เราก็ต้องรู้ว่ามันผลิตมาจากอะไร มันเป็นผลมาจากอะไร เราคิดไปคิดมาก็ โอ้ ธรรมดา เราสร้างเหตุ ผลมันก็ต้องมี ถ้าเราสร้างเหตุดีผลมันก็ต้องดี ถ้าสร้างเหตุไม่ดีผลมันก็ต้องไม่ดี หว่านข้าวมันก็ได้เกี่ยวข้าวนะ หว่านถั่วก็ได้เก็บถั่วนะ ปลูกทุเรียนจะกลายเป็นลูกมังคุดน่ะมันมีไม่ได้ มันธรรมดา เรารู้ไว้ล่วงหน้าใจมันสบาย ไม่วุ่นวายเดือดร้อน
ไอ้เรื่องข้าวของแพงนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นนักธรรมะเราไม่ทุกข์ ธรรมดา เมื่อมีขึ้นมีลง ของมันอย่างนั้นล่ะ ถ้ามีของขึ้นมันก็มีของลง พ่อค้าเขาก็อยากจะได้เงินมากๆ แต่เรามันก็อยากได้ของถูกๆ มันไม่ตรงกันนะ ความอยากของคนซื้อคนขายไม่ตรงกันมันก็เป็นเรื่องคนละเรื่องไป อันนี้เราเมื่อเขาขึ้นเราก็ต้องซื้อ ถ้าไม่ซื้อเราก็ไม่มีกิน แต่ว่าซื้อเท่าที่จำเป็น กินเท่าที่จำเป็น แต่ส่วนใดไม่จำเป็นเราไม่ซื้อ เราไม่กินส่วนเกิน เรากินเท่าที่ร่างกายต้องการ เรากินเท่าที่ร่างกายต้องการมันก็ไม่ยุ่ง แต่ถ้าเรากินเกินความต้องการของร่างกายเราก็ยุ่ง มีปัญหา นี่
นักธรรมะย่อมไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนใจในเรื่องอะไรเกิดขึ้น แต่มองเห็นสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริงว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เราก็จะเฉยๆ นั่งยิ้มต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรายิ้มได้ นี่แหละเขาเรียกว่ายิ้มได้เมื่อภัยมา ไฟกำลังไหม้บ้านเราก็ยิ้มได้ ธรรมดา ไฟมันไหม้แล้วมันก็เป็นขี้เถ้าอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าของใครล่ะ เราก็นั่งยิ้มได้ ค่อยหาใหม่ต่อไป เราจะไปร้องไห้ก็ไม่ใช่ไฟมันจะดับได้นะ น้ำตาเราที่ไหลออกมาจะทำให้ไฟดับนั่นก็ร้องเข้าไปเถอะร้องออกไป ๆ ไปร้องใกล้กองไฟยิ่งดีมันจะได้รดกองไฟบ้าง แต่เปล่า ไปร้องไห้ก็ตาบวมเปล่าๆ น้ำตาเหือดแห้ง ไม่มีเลยไฟที่จะหยุดตามความต้องการของเรา นี่ ธรรมดาเป็นอย่างนั้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ญาติโยมจะต้องคอยคิดเตือนจิตเตือนจิตใจไว้บ่อยๆ เขาเรียกว่าเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าเพื่อต้อนรับสถานการณ์ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราไม่ต้องเป็นทุกข์เกินไป เพราะเราได้เตรียมตัวล่วงหน้าไว้แล้ว การเตรียมตัวนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็คือว่าเราเตรียมพร้อม คนเตรียมพร้อมก็คือคนที่มีสติสมบูรณ์ ตามปกตินั้นสติมันมักขาดๆ หล่นๆ ทีนี้เราพยายามที่จะติดต่อไว้ คอยเตือนตัวเองไว้ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ
สิ่งที่เราได้ประสบพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร มันเตือนเราทั้งนั้น เป็นครูเป็นบทเรียนของเราทั้งนั้น เราเห็นต้นไม้มันก็มีครูอยู่ที่ต้นไม้ ที่ใบไม้ ที่ดอกไม้ ที่กิ่ง ที่เราได้พบเห็น เช่นต้นไม้มีใบมันไม่เหมือนกัน ใบอ่อนก็มี ใบ 51:25 ก็มี ใบแก่ก็มี ใบเหลืองก็มี ใบที่หล่นกองอยู่ติดโคนต้นมันก็มี นะ สภาพมัน อย่างนั้นคือธรรมดา คือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ไม่มีอะไรหยุดนิ่งเลย นิ่งไม่ได้ ถ้านิ่งแล้วมันตาย ไม่ว่าอะไรถ้านิ่งแล้วมันหยุดมันไม่มีความหมาย ไม่มีชีวิตชีวา แต่นี่มันก็ต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ใบไม้ตั้งแต่เริ่มใบอ่อนแล้วก็ไปตามลำดับจนเหลืองหลุดจากขั้ว กวาดไปเผาไฟ หรือเอาไปกองไว้ทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป นี่มันอย่างนั้น ดอกไม้ เราเล่นดอกไม้เล่นดอกกุหลาบดอกกล้วยไม้อะไรต่างๆ ไปดูมันน่ะมันผลิออกมาหน่อยแล้ว มันเป็นเหมือนออกมาก่อนเป็นตูม เป็นตุ่มออกมานิดเดียว แล้วค่อยโตขึ้น แล้วก็ค่อยผลิแล้วก็ค่อยบาน ดูไปเถอะ ดูไปๆ เฮ้อ เหี่ยวแล้ว ร่วงแล้วๆ หล่นไปกองอยู่ที่โคนมันแล้ว นี่ มันก็บอกเราว่าตัวเธอก็เหมือนกัน ฉันก็เหมือนเธอ กล้วยไม้สอนเรา ดอกไม้มันก็สอนเรา ต้นไม้มันก็สอนเรา สอนเราว่าฉันเป็นอย่างไรท่านก็เป็นอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างใดฉันก็เป็นอย่างนั้น น่ะ มันสอน
ไปนั่งใต้ต้นไม้อย่าไปนั่งเฉยๆ นั่งดูบทเรียนจากต้นไม้ ดูบทเรียนจากต้นไม้คือดูว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลที่สุดมันเป็นอย่างไร แล้วน้อมสิ่งนั้นเข้ามาที่ตัวว่าเราก็เหมือนต้นไม้ เราเหมือนดอกไม้ เราเหมือนกับสิ่งทั้งหลายที่เราได้ประสบพบเห็น เราไปเห็นซากสัตว์ตายบนถนน เห็นสุนัขตาย แมวตาย คนตายนี่ก็บ่อยแต่ก็ไม่รู้ไม่เห็น เขาเก็บไปเร็วๆ มูลนิธิกตัญญูนี่ชอบเก็บศพจริงๆ ขยัน พอรู้ว่าตายที่ไหนก็เหมือนกับพญาแร้งนะ บินไปเก็บแล้วเก็บเอาไปให้แผนกนิติเวช ตำรวจที่ทำงานเกี่ยวกับศพนี่น่าจะถึงนิพพานไวๆ แต่ไม่ถึงนะเพราะว่าไม่ได้พิจารณา ทำไป เรื่อยไป ผ่าไป ค้นหากระสุน ค้นหาปลายมีด ค้นหาไอ้นั่นไอ้นี่ ไม่ได้ค้นหานิพพานจากศพที่เขาเอาไปให้ผ่าสักคนเดียว ถ้ามันต้องค้นคว้า มาค้นหานิพพานคงจะเจอก่อนพวกเรา เพราะเห็นบ่อยๆ เห็นศพทุกวัน ผ่าทุกวัน ยังไม่ได้ไปคุยกับพวกตำรวจผ่าศพสักทีว่าผ่าๆนี่รู้สึกอย่างไรบ้าง ได้บทเรียนอะไรบ้างจากศพ บางทีก็ผ่าศพเสร็จแล้วออกมาถึงดื่มเบียร์เลย แหม ศพนี้ผ่านานจริง เอาเหล้ามาดื่มสิ ดื่มเหล้าปลอบใจ นี่เรียกว่าไม่ได้ธรรมะจากศพ ยังอยากเหล้า ไม่ได้เรื่องอะไร นี่เราไม่ได้ความรู้ไม่ได้บทเรียนจากสิ่งนั้น
ถ้าว่าเราไปเห็นอะไรพยายามเฟ้นหาบทเรียน สิ่งนี้มันให้อะไรแก่เราบ้างในแง่ธรรมะ เห็นซากศพตาย อ้อ ศพนี่ซากสัตว์นี่มันก็เป็นเหมือนเรา เกิดเหมือนเรา แล้วก็มีชีวิตอยู่ กินอาหาร หลับนอน กลัวอันตราย สืบพืชพันธุ์เหมือนมนุษย์ เวลานี้นอนแอ้งแม้ง เวลานี้มันตายแล้ว แล้วถ้าตัวเราล่ะ ถามตัวเรา ตัวเราล่ะ เราก็เป็นแบบนี้นะ อาจจะตายแบบนี้เหมือนกัน จะเดินเก้ๆกังๆ รถสิบล้ออาจจะชนเอาก็ได้ ถ้าเดินไม่ระวังนะ ชนได้ เดี๋ยวนี้ก็ชนง่ายจะตายพวกขับรถสิบล้อมันชอบชนคน ชนรถบ้าง คนบ้าง ควายบ้าง วัวบ้าง สุนัขบ้าง ชนง่าย ถ้าเราเดินไม่ดีก็มันชนนะ อันนี้ต้องเดินด้วยความมีสติ ดูขวาดูซ้าย เดินน่ะมันถูกเรื่อง ถ้าเดินผิดเรื่องก็ตู้มเข้าให้ ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน นี่คือบทเรียนทั้งนั้น
เห็นคนนั่งร้องไห้ก็เป็นบทเรียนเตือนใจเรา เตือนว่าทำไมเขาร้องไห้ อ่อ เขาร้องไห้เพราะสูญเสียอะไรไป การสูญเสียอะไรไปทำไมต้องร้องไห้ ก็เพราะไม่มีปัญญาจึงร้องไห้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรจึงต้องร้องไห้ แล้วถ้าเราเป็นอย่างนั้นบ้างจะร้องหรือไม่ร้อง อย่างนี้มันก็ร้องน่ะซี่ เราบอกกับตัวเราอย่างนั้น ถ้าฉลาดฉันก็ไม่ร้อง แล้วเวลานี้คิดแต่มันโง่หรือว่าคิดให้ฉลาด ถามตัวเองอย่างนั้น ถ้าได้รับคำตอบว่ากำลังคิดแบบโง่ๆ ว่าต้องร้องเรื่อยไป ถ้าคิดแบบฉลาดก็ไม่ต้องร้องไห้ นี่ ปัญญามันเกิด พอปัญญาเกิด ความมืดหายไป สิ่งไม่ดีหายไป
เมื่อเช้านี้ท่านเจ้าคุณพุทธทาสเทศน์น่ะ ตั้งหัวข้อใหม่แล้ว เมื่อก่อนนี้หัวข้อว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ น่ะ จบแล้วเรื่องนั้น หลายๆครั้งแล้ว เวลานี้ตั้งใหม่ว่า ขอให้ปรมัตถธรรมกลับมา โลกาจะผ่องใส ให้ปรมัตถธรรมกลับมา โลกาผ่องใส
ปรมัตถธรรมนั่นคืออะไร คือความจริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง ความจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเรียกว่าปรมัตถ ปร มัตถ แปลว่า ปร แปลว่า ปรมัตถ แปลว่ายิ่ง อัตถ แปลว่าเนื้อแท้ เนื้อๆจริงๆของสิ่งนั้น แก่นของสิ่งนั้นเรียกว่าปรมัตถ ธรรมะที่เป็นเนื้อเป็นแก่น เรียกว่าปรมัตถธรรมๆ ก็คือเรียนรู้เรื่องสภาพธรรมชาติ ให้รู้เห็นความเป็นจริง ให้รู้ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันเป็นทุกข์อย่างไร มันเป็นอนัตตาอย่างไร รู้ชัดเข้าใจชัด เรียกว่าปรมัตถธรรม คนรู้ในเรื่องปรมัตถ์ใจสว่าง ไม่มืด ไม่บอด เพราะมองเห็นของทุกอย่างถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง
ไอ้ที่ไม่จริงนั้นเขาเรียกว่ามายาๆๆคือภาพลวง เราดูสิ่งทั้งหลายเป็นมายา คือมันลวงตา ดูทุกภาพคนก็ลวงให้เราหลงให้เรายินดีให้เรายินร้าย ให้เราอยากได้ นี่เรียกว่ามายา ไม่เห็นของแท้ เห็นสีที่เขาฉาบไว้ภายนอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ดูเข้าไปถึงเนื้อในๆนั้นคือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา น่ะเป็นเนื้อแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลาย เขาเรียกว่าเหมือนกันหมดไม่มีข้อยกเว้น จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ มันเหมือนกันในแง่ ๓ อย่างนี้ นั่นคือตัวปรมัตถสภาวะ สิ่งที่เป็นความจริง เราต้องหัดมองให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ใจจะไม่เศร้าหมองไม่ขุ่นมัว แล้วสิ่งนี้น่ะจะช่วยให้ศีลธรรมดีขึ้น ให้ความคิดถูกต้อง ให้ความเป็นอยู่ถูกต้องขึ้น ท่านจึงพูดว่าให้ปรมัตถธรรมกลับมา โลกาสว่างไสว คือจิตใจคนมันสว่างเพราะความจริง
ทีนี้ความจริงมันมีอยู่ทั่วไปแต่เรามองไม่ค่อยเห็น เราเห็นของหลอกลวงไปซะ ไม่ได้เห็นเข้าไปเนื้อแท้ ไม่ได้ปอกให้เข้าไปถึงแก่น ไปดูเปลือกมันไปดูกระพี้มัน ไม่ได้ดูให้ว่าแกนมันคืออะไร เลยไม่รู้อะไรถูกต้อง หลักการมันเป็นอย่างนี้
วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสว่างไสวในทางธรรมจงบังเกิดขึ้นในใจของญาติโยมทั้งหลายจงทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ
ตอนนี้ไป เรามานั่งพักใหญ่ สงบใจกันเป็นเวลาสัก ๕ นาที นั่งตัวตรง กับสติ แล้วคอยกำหนดลมหายใจ ณ ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ที่ลมกระทบ หรือจะกำหนดตามลมไปก็ได้ ควบคุมจิตอย่าให้ไปคิดเรื่องอื่นให้คิดอยู่ที่ลมเข้าลมออก เพียงแต่ให้รู้ว่ากำลังเข้ากำลังออก เอ้า เริ่มได้ ณ บัดนี้