แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงชัดเจน แจ่มแจ้ง แล้วจงตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ ของฤดูกาลเข้าพรรษา ญาติโยมในวันเข้าพรรษา ได้รับการขอร้องว่า ให้อธิฐานใจไว้ ว่าเราจะมาฟังธรรมทุกวันอาทิตย์ ในฤดูการเข้าพรรษา เพื่อจะได้ฟังติดต่อกันไปตลอดเป็นเวลา ๓ เดือน gื่อถึงวันอาทิตย์ ท่านทั้งหลายก็ ได้มาตามที่ได้ตั้งใจไว้
การมาวัดในวันอาทิตย์ ก็เหมือนกับการมาวัดในวันพระเหมือนกัน เพราะว่าวันพระนะ คือวันที่เราตั้งใจทำดี คิดดี พูดดีก็เรียกว่า เป็นวันพระของเรา แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันพระตามนิยม แต่ว่าเราไปคิดเรื่องไม่ดี ทำเรื่องไม่ดี ไปสู่สถานที่ไม่ดี วันนั้นก็ไม่ใช่เป็นวันพระ ให้เข้าใจว่าวัน พระคือวันที่ เราตั้งใจประพฤติดี ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ก็เรียกว่าเป็นวันพระของพวกเรา เช่น วันอาทิตย์ นี่ ตามปกติ โดยนิยมก็ไม่ใช่วันพระตามแบบโบราณ แต่เราถือว่าเป็นวันพระโดยการปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อถึงวันอาทิตย์ เราก็มาวัดกัน เรามาฟังธรรม เรารับศีล เรามาบริจาคทาน เพื่อบำรุงกิจการพระศาสนา ก็ถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันพระ
สำหรับเราแล้ว วันพระคือวันขูดเกลา วันพระคือวันชำระ ชะล้าง วันพระคือวันที่เราจะได้ ตั้งใจชำระกิเลสซึ่งมีอยู่ในใจให้หดให้หายไป อย่างนั้นจึงจะเรียกว่า วันพระสำหรับการปฏิบัติ ไม่ใช่วันพระโดยนิตินัย แต่วันพระโดยพฤติคือการปฏิบัติของเราทุกคน จึงควรจะถือวันอาทิตย์ที่เราทำกิจอย่างนี้ว่าเป็นวันพระของพวกเราทั้งหลาย
ในวันอื่นนั้นเราทำงาน ทำการอยู่บ้าน อยู่เรือน มีธุระที่จะต้องจัดจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา อันการทำงานในชีวิตประจำวันนั้น บางทีมันก็วุ่นวายใจ สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในชีวิต เพราะสังคมในยุคปัจจุบันนี้ เขาไม่ได้ทำงานกันด้วยธรรมะ แต่ทำงานด้วยความอยาก ทำงานด้วยความต้องการที่จะเอาผลมากๆ ทีนี้เมื่อจะเอามาก เอาโดยสุจริตไม่ได้ก็เลยเอาโดยทางทุจริต เมื่อเอาโดยทางทุจริตก็เดือดร้อนใจ กระทบกระเทือนไปถึงบุคคลอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นด้วยประการต่างๆ
เราอยู่ด้วยความหวาดกลัว ด้วยความระแวงภัยอันจะเกิดขึ้นแก่ตน อันที่เกิดขึ้นแก่ตนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอะไร แต่ว่าเกิดมาจากการที่เรากระทำผิด คือเราคิดผิด เราพูดผิด เราทำอะไรผิด การกระทำนั้นกระทบกระเทือนต่อบุคคลอื่น สร้างปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่เขา เมื่อเราสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เขา เราก็ต้องได้รับความทุกข์ด้วยเหมือนกัน
เพราะว่าเราส่งอะไรออกไป เราก็ต้องรับสิ่งนั้นตอบแทนกลับมา เท่ากับเราโยนลูกบอลไปที่กำแพง เมื่อโยนไปมันก็กระดอนกลับมาหาเรามันไม่ไปทางอื่นหรอก มันกลับเป็นเส้นตรงมาหาเราทุกครั้งที่เราโยนมันก็กลับมาหาเราทุกที อันนี้ฉันใด ในการกระทำอะไรด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยน้ำใจ ถ้าเราทำด้วยความทุจริต เขาเรียกว่า ประพฤติกายทุจริต วาจาทุจริต มโนทุจริตแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน เราหนีจากผลนั้นๆ ไปไม่ได้
อันนี้เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากเรากระทำเอง แต่ว่าในบางเรื่องบางกรณีผู้ประพฤติ ทำงานนั้นเป็นคนเรียบร้อย ทำงานด้วยความสุจริต ไม่คิดคดโกงอะไรใครหรอก แต่มันก็มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เช่นเราไปทำงานในต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รับเหมา ไปสร้างทาง สร้างทำนบกั้นน้ำ หรือสร้างอะไรๆ ที่ในชนบท มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นจากการไปทำงาน
เพราะว่าในถิ่นนั้นๆ มันมีนักเลงอยู่ ไอ้พวกนักเลงนี่มันไม่ทำอะไร มันคอยแต่จะเอาเปรียบคนอื่น มันก็มาขู่มาบังคับขอความคุ้มครอง ความจริงมันก็ไม่ได้คุ้มครองอะไรหรอก แต่ว่ามันก็ขอความคุ้มครองจำนวนเท่านั้น เท่านี้ ถ้าเราไม่ให้มันก็เบียดเบียน ลักเครื่องมือเครื่องใช้เสีย มีเครื่องยนต์ใช้ มันเอาเครื่องยนต์ไปเสีย
มีเครื่องอยู่สองเครื่องมันก็มาบอกว่า ทำไมใช้ตั้งสองเครื่อง ขอสักเครื่องเถอะต้องให้มันไป เจ้าพ่อมันจะเอาแล้วก็ต้องให้มันไป อันนี้เป็นปัญหา เป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนของผู้ที่ปฏิบัติงาน ความจริงก็ทำงานด้วยความสุจริตนั่นแหล่ะ แต่ว่าไอ้พวกทุจริตมันก็มาเบียดเบียน ทำให้เราสงสัยขึ้นว่าธรรมะ ไม่คุ้มครองเราหรือจึงได้เป็นไปเช่นนั้น ธรรมะก็ยังคุ้มครองอยู่นั่นแหล่ะ ไม่ใช่ว่าจะไม่คุ้มครอง
แต่ว่าไอ้เหตุการณ์มันเฉพาะหน้าเกิดขึ้นอย่างนั้น เราก็ต้องผ่อนผันสั้นยาวกันไป เขาขออะไรก็ให้มันบ้าง ผูกมิตรไมตรีกันไว้ อย่าให้มันเบียดเบียนต่อไป หรือว่าเราจะไปทำงานที่ใดก็ควรจะสืบเสาะว่าที่นั่นนะใครมันใหญ่อยู่บ้าง มันใหญ่แบบนักเลงนะเป็นเจ้าพ่อประจำถิ่นนะ เราก็ไปหาเสีย ไปกราบไปไหว้ ไปแสดงความคารวะ เขาเรียกว่า ไปเซ่นไหว้ เจ้าที่เจ้าทาง
เจ้าที่ที่เป็นผี เป็นเทวดานะ ไม่ค่อยรุนแรงหรอก ไม่ทำร้ายใคร แต่เจ้าที่มนุษย์นี่แหล่ะมันสำคัญนักหนา ถ้าเราไม่ไปกราบไหว้ เซ่นสรวง บวงบน มันก็รังแก ทีนี้เมื่อเราจะไปไหนก็ต้องสืบเสียก่อนว่า ที่นั่นนะใครเขาใหญ่ เขาโตคับบ้านคับเมืองอยู่บ้าง เราก็ต้องไปฝากเนื้อ ฝากตัว เอาดอกไม้ไปสักการะเสียหน่อย
ไอ้ดอกไม้นี่มันก็ไม่เอาเท่าไรหรอก มันต้องเอาของที่มันชอบ เอาไปสักการะหรือว่าเชิญมากินเลี้ยงให้มันเมาเสียสักมื้อหนึ่ง ไอ้พวกนั้นถ้ามันได้เมาเสียสักมื้อหนึ่ง มันก็สบายใจ มันให้ความคุ้นเคยกันกับเราที่จะไปปฏิบัติงาน เราก็จะได้รับความสะดวกสบายในการปฏิบัติงานในสถานที่นั้นๆ ไม่เกิดปัญหา ในเรื่องชาวบ้าน
ทีนี้ทางวัดนี่ก็ควรจะไปคุ้นเคยด้วยเหมือนกัน เราอย่านึกว่าพระสงฆ์องค์เจ้านี่ ท่านไม่มีอะไร ความจริงพระสงฆ์องค์เจ้าตามชนบทนั้น ท่านมีอิทธิพลเหนือชาวบ้าน เมื่อเราไปอยู่ในสถานที่ใดที่เราจะต้องทำงาน เราก็ไปกราบ ไปไหว้ ฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็จะได้บอกไอ้พวกแถวนั้นว่า เออ. คนนี้เขามาฝากเนื้อฝากตัวกับกูแล้วโว้ย. เอ็งอย่าไปเที่ยวรังแกนะ พระท่านห้ามปรามไว้อย่างนั้น เราก็อยู่ได้โดยปลอดภัย
คือไปที่ไหนนี้มันต้องพึ่ง เหมือนเราเดินกลางแจ้ง พบต้นไม้ร่มๆ เข้าไปนั่งอาศัย พบศาลาพักร้อนเราก็เข้าไปอาศัย เราก็จะได้เกิดความเย็นอกเย็นใจ ไม่เกิดปัญหาคือ ความทุกข์ ความเดือดร้อนในสถานที่นั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ ธรรมะจะรักษาคุ้มครองเรา เพราะเราประพฤติธรรมนะ ประพฤติธรรมในข้อที่ว่า อปจายนะ
อปจายนะธรรม คือการอ่อนน้อมถ่อมตัว เราไปที่ไหน เราไปอย่างคนอ่อนน้อมถ่อมตัว มือสิบนิ้วนี่ยกมันไว้เรื่อยๆ ไหว้กัน วันทนารอบทิศ เราคิดผูกมิตรกับคนเหล่านั้นไว้ อันตรายที่จะเกิดกับเรามันก็ลดน้อยลงไป นี้เป็นเรื่องหนึ่งอยากจะขอฝากนักรับเหมาก่อสร้างหรือว่าไปทำงานห่างไกลจากกรุงเทพฯ มักจะมีปัญหา เราก็แก้ด้วยธรรมะนี่แหล่ะ
คือเอาความอ่อนโยนเข้าไปใช้ เราก็จะปลอดภัย ส่วนเราทั้งหลายที่อยู่ในกรุงเทพฯซึ่งเป็นเมืองที่แออัดยัดเหยียดสิ่งเป็นพิษในนครหลวงนี้มีมาก สิ่งเป็นพิษจากธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ อันทำให้เกิดความไม่สบายทางร่างกาย สิ่งที่เป็นพิษทางจิตใจก็ทำให้เกิดอารมณ์เสีย เช่น การจราจรคับคั่ง ไปไหนมาไหนมันก็ติดขัด ทำให้เกิดอารมณ์ไม่สบายจิตใจ หงุดหงิด งุ่นง่าน เพราะฉะนั้นคนในสมัยนี้จึงมีอาการเป็นโรคประสาทกันมาก อาการโรคประสาทนั้นมันเกิดจากอะไร เกิดจากความหงุดหงิดบ่อยๆ หาไอ้เรื่องนั้นก็ไม่พอใจ ไอ้เรื่องนี้ก็ไม่พอใจตามภาษาธรรมะ เขาเรียกว่า ปฏิฆะ
ปฏิฆะ นี่ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็แปลว่า หงุดหงิด งุ่นง่าน ใครมากระทบก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด คือไม่สบายใจ รำคาญใจกับสิ่งที่มากระทบนั้น เช่นเราได้ยินเสียงแตรบ่อยๆ เกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมา ได้ยินเสียงรถยนต์วิ่ง เกิดอาการหงุดหงิดขึ้นมาหรือว่าใครทำอะไรให้เราไม่ชอบใจ เราก็เกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมา เรื่องเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาทั้งนั้น ทำให้จิตใจไม่สบาย วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราไม่ได้ใช้หลักธรรมะ เป็นเครื่องประเล้าประโลมใจไว้ ปลอบใจไว้ อารมณ์เหล่านั้นมันก็ทำให้เรารุนแรงขึ้น แล้วเราก็เป็นคนนิสัยเสีย นิสัยเสียคือเสียไปในทางว่าขี้โกรธ ใจร้อน ใจเร็ว อะไรมากระทบนิดกระทบหน่อย ทนไม่ค่อยจะได้ เลยกลายเป็นคนหุนหันพลันแล่น จะพูดจาอะไรก็ไม่หวานหู พูดคำห้วนๆ สั้นๆ ไม่มีคำสุภาพ นิ่มนวลต่อท้าย
เช่น ว่าจะปฏิเสธก็ไม่เอา … อย่างนี้ ไม่มีคำต่อท้าย หรือไม่ใช้คำสุภาพหรือว่าจะพูดกับใครก็ดูมันดุดันอยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นี่แหล่ะเขาเรียกว่า เกิดจากอารมณ์เสียจากเรื่องต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราสังเกตคนที่ทำงาน ติดต่อกับคนมากๆ เช่นว่า นางพยาบาลนี้เป็นตัวอย่าง คนเคยบ่นอยู่เสมอว่า ไปโรงพยาบาลนี้ นางพยาบาลนี้ไม่อ่อนหวานเสียเลย พูดจาเด็ดขาด พูดจาอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้มันก็น่าเห็นใจเขาเหมือนกัน
คนที่เป็นนางพยาบาลนี้ ถ้าว่าไม่ได้อบรมจิตใจในด้านธรรมะให้สูงพอแล้ว เรื่องหงุดหงิดมันเยอะ เพราะว่าคนที่มาติดต่อนั้นมันหลายพวกหลายเหล่า แล้วนิสัยใจคอก็แตกต่างกัน การพูดการจา กริยา ท่าทาง มันไม่ค่อยจะสบอารมณ์ ก็ทำให้เกิดอาการอย่างนั้น แปลว่าเราไม่ได้คิดว่าเรามันมีหน้าที่อย่างนั้น หน้าที่จะต้องติดต่อกับคน หน้าที่ที่จะต้องบริการ แก่คนที่มาหาเรา เพื่อช่วยเขาให้สบายใจ ความคิดอย่างนี้ มันไม่เกิดขึ้นในใจ แต่คิดไปในเรื่องว่า แหม..มันน่ากลุ้มจริง คนนั้นอย่างนั้น คนนี้ อย่างนี้ ใจมันก็กลุ้มเร่าร้อน
พอเกิดอารมณ์ร้อนขึ้นมา ก็แสดงอาการหน้าบึ้ง หน้าตึง ไม่ยิ้ม ไม่หัวกับใครแล้ว คือ ไม่มีอารมณ์ขันแล้ว คนเรานี้มันต้องมีอารมณ์ขันไว้บ้าง ถ้ามีอารมณ์ขันไว้บ้าง แล้วมันสบายใจ มีอะไรเกิดขึ้นก็น่าขำ ทำให้เราหัวเราะไปตามเรื่องตามราว อย่างนี้จิตใจมันก็ดีขึ้น แต่นี้ไม่เรียกว่า ไม่มีอารมณ์ขัน มีแต่อารมณ์ขึง ขึ้งอยู่ตลอดเวลา อะไรมากระทบก็หงุดหงิด งุ่นง่าน ไม่สบายอก ไม่สบายใจ นี้มันเพราะสิ่งที่เราทำนั่นแหล่ะ ไม่ใช่เรื่องอะไร
อันนี้ คนอีกประเภทหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่โรงพักนี่ มันยุ่งไม่ใช่น้อย เรื่องยุ่งทั้งนั้น คนมาหาแต่ละคนหอบความยุ่งมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งนั้นไม่มีใครที่จะไปหาให้ตำรวจเย็นใจ เพราะว่าถ้าเขาเย็นแล้วเขาไม่ไปโรงพัก มีแต่เรื่องร้อนทั้งนั้น ผู้หญิงก็ร้อน ผู้ชายก็ร้อน เด็กหนุ่มก็ร้อน เด็กสาวก็ร้อน คนแก่แล้วก็ยังร้อน อยู่ไปโรงพักมีเรื่อง เรื่องที่จะไปต้องแจ้งความจะไปขอร้องให้เจ้าหน้าที่ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ให้แก่ตนด้วยประการต่างๆ
บางทีก็ไปกันสองคน แล้วก็ไปเถียงกันต่อหน้าสารวัตร ต่อหน้านายร้อยเวร เถียงกัน นายร้อยก็นั่งกลุ้มอก กลุ้มใจ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ให้เขาเถียงกันเสียให้หายเหนื่อยก่อน พอเถียงกันจนหอบ แฮ่กๆ แล้วก็ถามว่า นี่มันเรื่องอะไร ที่มาเถียงกันที่นี่ อ้าว…ต่างคนก็แป๊ดเข้าใส่กันอีกแล้ว แล้วมันน่ากลุ้ม ไหมนั่น
คนเราที่นั่งอยู่ใน สภาพเช่นนั้น ก็น่ากลุ้มใจ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ติดต่อกับคนมากๆ มีแต่เรื่องกลุ้มเหมือนกัน เพราะคนเอาความกลุ้มไปใส่ให้ ตัวก็เลยรับความกลุ้มนั้นไว้ ไม่ได้ใช้ธรรมะ เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ไม่รู้จักมองโลกในแง่ขำขัน หรือในแง่ที่ว่า สภาพมันเป็นอย่างนั้น มองโลกในแง่ที่ว่า แหม…มันยุ่งจริงๆ กูละเบื่อเต็มทีแล้วว่ะ อย่างนี้ มันก็ยุ่งใจ อารมณ์ไม่ดี พออารมณ์ ไม่ดี จะพูดจะจา ก็ไม่มีน้ำมีนวล คนทั้งหลายก็ แหม…เจ้าหน้าที่นี้เหลือเกินนะ
ทีนี้ เจ้าหน้าที่แผนกอื่น ๆ ที่ต้องติดต่อกับคนมาก ๆ ก็น่าเห็นใจ เราที่ไปติดต่อถ้าไปพบอารมณ์ที่ ไม่ค่อยจะหวานหู หรือว่ากริยา ท่าทางที่ไม่น่าดูนะ เราอย่าไปซ้ำเติมเขา อย่าไปโกรธเขา อย่าไปเคืองเขา เขาเป็นโรคอยู่คนหนึ่งแล้ว เราอย่าไปเป็นโรคเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง ให้ถือหลักไว้อย่างนั้น แล้วเราก็มองไปในแง่ว่า อ๋อ..มันน่าเห็นใจ คนมันมาก มันหลายพวกหลายเหล่า หลายความคิดความอ่าน จึงได้เกิดอาการอย่างนี้ เราก็อย่าไปทำอะไรให้เขาเพิ่มความโกรธ แปลว่าอย่าเอาเชื้อลงไปเติมลงในไฟ อย่าเอาน้ำมันไปราดลงบนกองไฟ ไฟมันจะลุกลามขึ้นใหญ่โตต่อไป
แต่เราจะทำอย่างไร ช่วยเขาได้ เราก็ช่วยเขาไปตามฐานะที่มันเป็นเช่นนี้ แม้ญาติโยมที่อยู่บ้านนี่ก็ ปกติธรรมดานั่นแหล่ะ แต่มันก็มีเรื่องวุ่นวายใจ เรื่องปัญหาในครอบครัว ค่าไฟฟ้ามันก็แพงขึ้น น้ำประปาก็จะแพงขึ้น ข้าวสารก็จะแพง อะไร ๆ ก็จะแพง ค่าของเงินก็ลดน้อยลงไปนิดหน่อย ความจริงไม่กระเทือนอะไรหรอก ถ้าเงินลดในเมืองเรานะ มันกระเทือนเมื่อไปต่างประเทศ ถ้าเราจะเอาเงินไทยไปซื้อเงิน ดอลล่าร์อเมริกัน มันต้องเพิ่มขึ้น
สมัยก่อนซื้อเพียง ๒๐ บาท เดี๋ยวนี้มันไป ๒๓ บาท มันเพิ่มขึ้น เราจะสึกรู้ว่า เงินน้อยไป แต่ถ้าของในเมืองไทย มันก็อย่างนั้นแหล่ะ ไม่กระทบกระเทือนอะไรหรอก แต่ว่าคนที่มีรายได้น้อย ถ้าซื้อข้าวของแพงก็ไม่สบายใจ คนที่ไม่สบายใจเพราะปัญหาในครอบครัวนี้ มีมาก เพราะอยู่หลายปาก หลายท้อง กินมันก็มาก นุ่งห่มมันก็มาก ที่อยู่ที่อาศัย เจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องเล่าเรียนเขียนอ่านของลูก ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น
วันนั้น ไปเทศน์ที่กองทหาร แต่ยังไม่ถึงเวลาเทศน์ ก็เลยเดินเตร่เข้าไปในหมู่เขานั่งกัน เป็นพวกคุณจ่านั่งอยู่ ก็เลยถามว่า ได้รับเงินเดือนละเท่าไร เรานี่ ขนาดนี้ ยศอย่างนี้ บอกว่า เดือนละสามพัน แล้วใช้จ่ายในครอบครัววันละเท่าไร วันละร้อย อ้าว วันละร้อย มันก็เกลี้ยงละสิ มันก็ไม่มีเหลืออะไร บอกว่า นั่นแหล่ะครับ มันไม่เหลือ แล้วไม่คิดตัดอะไรเสียบ้างเหรอ ให้มันเหลืออยู่บ้าง ผมตัดเต็มที่แล้วเวลานี้ บุหรี่ก็ไม่ดูดแล้ว เหล้าก็ไม่ดื่มแล้วเวลานี้ สโมสรที่เขาไปสนุก ผมก็ไม่ไปแล้ว เลิกงานผมก็กลับบ้าน แต่ว่ามันก็ต้องวันละร้อยทุกวัน ลูกกี่คนละเรา หกคนครับ
อ้าว…นี่ ไม่ตัดเสียบ้าง มันเกิดมามากมายเกินไป บอกว่ามันเกิดแล้ว จะทำยังไงหลวงพ่อ มันเกิดมาแล้ว ไอ้ก่อนที่มันจะเกิดก็ไม่พูดให้รู้ มันไม่รู้เรื่อง มันเกิดมาเสียแล้ว ทีนี้ลูกหกคนไปโรงเรียนนี่เราลองคิดดูว่าคนละเท่าไร ให้สตางค์แก่ลูกนี่ อย่างน้อยคนละ สิบบาท มันก็ตั้ง หกสิบบาทเข้าไปแล้ว ที่ลูกไปเรียนหนังสือนี้ มันก็มากเข้าไปแล้ว แล้วก็ต้องอ้ายโน่น อ้ายนี่ อะไรต่ออะไร อาหารการบริโภค มันก็ต้องเพิ่มขึ้น ทำให้จิตใจไม่สบาย มีอารมณ์ไม่ดี
ที่นี้ถ้าว่าไป กระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้าน เดี๋ยวก็มันโกรธขึ้นมา ก็ไปชกต่อยกัน ตีรันฟันแทงกัน เดี๋ยวนี้เขาไม่ชกไม่ต่อยกันแล้ว มันน้อยไป ต้องเปรี้ยงเข้าไปเลย พอมีเรื่องก็ เปรี้ยงเข้าให้ ดิ้นเสร็จ ๆ ไปเลย มันเป็นเสียอย่างนั้น
นี่.. ก็เรื่องความหงุดหงิดในสังคม จากปัญหาค่าครองชีพ การกินการอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ทั่ว ๆ ไป แต่ว่า เราจะไปแก้เหตุการณ์อย่างนั้น มันก็ไม่ไหว ก็เรื่องโลก เรื่องของโลก เรื่องของสังคมโลก มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แต่จะเดือดร้อนเฉพาะบ้านเราเมืองเรา บ้านอื่น เมืองอื่น เขาก็มีปัญหาเหมือนกัน ข้าวของแพงนี้ มันมีทั่วไป ความแร้นแค้นมันมีทั่วไป
ถ้าจะเปรียบกันแล้ว เมืองไทยนี่มันยังสดใสอยู่ ยังสบายอยู่ ประเทศที่เขาลำบากกว่าอีกหลายสิบประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา เขาลำบากมาก ดูถ่ายรูปออกโทรทัศน์ทีไรแล้ว มันเห็นแต่ก้างคน ไม่เห็นคน เห็นแต่ก้างมัน พุงป่อง ก้นปอด ยืนน่าสงสาร มากมายก่ายกอง ชาวโลกก็ต้องช่วยกัน ส่งอาหารไปทางเรือบิน เอาไปช่วยคนเหล่านั้น ให้มันอยู่ทรมานต่อไปอีกหน่อย ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก ช่วยให้มัน ทรมานต่อไป ถ้ามันตายไปเสียก็หมดเรื่องไป แต่ว่าเขาไม่ให้ตาย ให้อยู่ ต่อไป มันยังไม่หมดเวรหมดกรรมที่เกิดมาลำบากอย่างนั้น
เห็นแล้วก็ยิ้มออก คือเห็นสภาพอย่างนั้น แล้วก็ยิ้มสบายใจ ยิ้มสบายใจว่า บ้านเรามันไม่มีอย่างนั้น แม้จะมีคนลำบากยากจน ก็ไม่ถึงกับขนาดนั้น เจ้าหน้าที่โภชนาการโรงพยาบาลรามา เขาบอกว่า คนเมืองไทยนี้ขาดแคลนอาหารมาก ไอ้ที่ว่า ขาดอาหารนั้น ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีกินไม่ใช่อย่างนั้น มีกิน แต่ว่าอาหารมันไม่สมส่วน ไม่มีอาหารประเภทบำรุงร่างกาย ให้เจริญเติบโต ให้แข็งแรง
เช่น เด็ก กำลังเติบโตนี้ ขาดอาหาร เด็กน้อย ๆ นี้อ้วนดี เด็กตามบ้านนอกเรามันยังกินนม นี้อ้วนท้วนจ้ำม่ำเลย พอหย่านมนี่มันผอมลงไปทันทีเลย มันขาดอาหาร นมแม่นี้สมบูรณ์ที่สุด เป็นอาหารเลี้ยงทารกที่ดีที่สุด ใครที่เป็นแม่ มันต้องเลี้ยงให้นม เลี้ยงไปเถอะ อย่ากลัวว่านม มันจะเหี่ยว มันจะแห้งอะไรเลย มันเหี่ยวตามธรรมชาตินั่นแหล่ะ ลูกจะดูดไม่ดูดมันก็เหี่ยว อายุมากมันก็เหี่ยวไปตามเรื่องของมัน แต่ว่า เราควรเลี้ยงเขาด้วยนมมารดา
การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดานี้ทำให้เด็กรักแม่ ก่อให้เกิดความสำนึกในบุญคุณของแม่ แต่ถ้าพอเกิดมาเราเลี้ยงด้วยนมวัว นมผง ไอ้นมผงนี้ก็นมวัว แต่เขาเอาน้ำออกหมดก็กลายเป็นนมผง เด็กมันไม่ได้ใกล้ชิดมารดา ไม่ได้แนบสนิทอยู่กับอกของคุณแม่ โตขึ้นมันก็อย่างนั้นแหล่ะ ความสำนึกในบุญคุณอะไรมันก็ไม่เท่าไร แต่ถ้าเราเลี้ยงด้วยนม เราอุ้มมาประทับอกอยู่ตลอดเวลา ตั้งปีกว่า กว่าจะหย่านม แต่สมัยนี้เขาไม่กินนานขนาดนั้นหรอก ห้าหกเดือนก็เลิกแล้ว หย่านมแล้ว ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน
สมัยอาตมาเป็นเด็ก ๆ นี่เรียกว่า คุณแม่อุ้มตีนถึงดินแล้วยังดูดนมอยู่เลย เรียกว่ามันมีให้ดูดเรื่อยไปแหล่ะ ออกไม่ออกก็ดูดไปอย่างนั้น เรียกว่า ดูดไปตามเรื่องตามราว ได้รู้สึกว่า อบอุ่นที่ได้อยู่ในอ้อมอกของคุณแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกมันลึกซึ้ง
แต่ในสมัยนี้ เราเลี้ยงลูกด้วยนมโค เด็กมันไม่ซาบซึ้งเท่าใด อันนี้น่าคิดเหมือนกัน ทีนี้ปัญหามันก็เกิด เด็กทารกเหล่านั้นขาดอาหาร เพราะฉะนั้น เด็กเราเล็กลงไปทุกวัน ร่างกายเกร็น ๆ ไปดูในกองทหารสิ ตัวมันเล็ก ๆ เวลานี้ ก่อน ๆ นี้ คนร่างกายใหญ่ ๆ นายทหารรุ่นก่อนๆ นี้ ใหญ่โต ใหญ่ขนาดหลวงพิราษฏร์โยธาลักษณ์ แหล่ะ ใหญ่โตแหล่ะ ยืนอยู่ใหญ่สมชื่อทีเดียว (24.06)
แต่ตอนนี้ ทหารตัวน้อย ๆ ตำรวจตัวน้อย ๆ แต่ว่าผู้ร้ายมันก็ตัวเล็กเหมือนกัน มันก็พอสู้กันเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าตำรวจตัวเล็กตัวร้ายตัวโต ไม่ใช่อย่างนั้น มันก็เล็ก ๆ ทั้งนั้น มันไม่โตแล้ว แต่คนบางท้องถิ่นร่างกายโตนั้น แต่พอชั้นลูกตัวเล็กลงไปแล้ว นี่แสดงว่ามันขาดอาหาร
ความจริงสมัยนี้ อะไรก็มีมาก แต่สมัยก่อนมันก็ดีกว่า อาหารสมัยก่อนสมบูรณ์ ป่าสมบูรณ์ ปลาในน้ำสมบูรณ์ พืชผักก็สมบูรณ์ ใครจะทำอะไรกินก็ไม่ลำบากเก็บผักมากินได้สบาย จับปลามาแกงได้สบาย อะไรก็สมบูรณ์ เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยมี มันฝืดเคืองลงไป ค่าครองชีพบีบคั้น ทำให้คนจิตใจไม่ดี ทำท่าจะมีความคิด ความเดือดร้อนทางใจ ทีนี้ เราจะทำอย่างไร
เพราะเราจะไปแก้โลกมันไม่ได้ แก้สังคมก็ไม่ได้ เราจึงต้องหันมาแก้ตัวเราเอง คือมาปรับปรุงตัวเรา ปรับปรุงจิตใจของเรานี้ ให้มันพออยู่ได้ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในวันหนึ่ง ๆ ของชีวิต แล้วเราก็อยู่ได้โดยสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่ยวายเกินไป อะไรเล่าจะช่วยให้เรามีความสบายใจ ไม่หงุดหงิด งุ่นง่านด้วยสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็อาศัยธรรมะนี้แหล่ะ เป็นเครื่องช่วย เอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ ในชีวิตประจำวันของเรา
เพื่อปลอบโยนจิตใจ เพื่อศึกษาให้เห็นสภาพสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่จริง ๆ แล้วเราก็จะยิ้มได้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนคำที่เขากล่าวว่า ยิ้มได้เมื่อภัยมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยิ้มรับกับสถานการณ์นั้นได้ โดยไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ต้องมีปัญหา มีความทุกข์ ความเดือดร้อนกับสิ่งนั้นมากเกินไป อันนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระทางจิตใจ
การแบ่งเบาภาระโดยเข้าหาธรรมะนี้มันก็ทำได้หลายอย่าง เช่นว่า วันอาทิตย์เราควรจะพักผ่อนบ้าง อย่าทำงานกันตลอดทุกวันๆ เขามีให้หยุดไว้แล้ว วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ ทำงาน หรือว่า วันเสาร์ก็ยังทำงาน แต่พอวันอาทิตย์นี้เราหยุดงานเสียสักวันหนึ่ง หยุดงานแล้วทำอะไร ได้พักผ่อนทางร่างกาย แล้วก็หาการพักผ่อนทางใจ
การพักผ่อนทางกายนะอยู่บ้านก็ทำได้ เราไม่ไปทำงาน เราก็นอนมันเสีย นอนอยู่กับบ้าน นอนดูโทรทัศน์อะไรมันเพลินๆไป ฟังวิทยุไปอะไรนั้นก็ทำได้ แต่ว่าการพักผ่อนทางใจนั้น เราจะทำที่บ้านมันไม่สะดวก เพราะอะไร ก็เพราะว่าที่บ้านมันยังมีเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจ ยังมีเรื่องให้คิดให้นึกอยู่ตลอดเวลา เราก็ยังมีปัญหาที่เราจะต้องคิดต้องตรองอยู่ เราจึงต้องแยกตัวออกจากบ้าน
พอถึงวันอาทิตย์ก็แยกตัวออกจากบ้าน การแยกตัวออกจากบ้านนี้ เขาทำกันอยู่ทั่วไป แต่ว่า แยกตัวแล้ว เขาไปเที่ยวพัทยา ไปเที่ยวบางแสน เดี๋ยวเราไปเที่ยวหัวหิน หรือว่าไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ ที่เขาจะโฆษณากันว่า ยกทะเลมาตั้งไว้บนบกแล้ว อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
เราแยกตัวออกจากบ้าน เพื่อไปพักผ่อนตามสถานที่เหล่านั้น แต่ว่า เราไปที่เหล่านั้น มันก็หนีปัญหาไม่พ้น ทำไมหนีไม่พ้น เพราะไปย่างนั้น มันก็ต้องรับอารมณ์ เช่นเราไปเที่ยวพัทยา รับอารมณ์ ไปเกาะล้าน มันก็รับอารมณ์อะไรขึ้นมาอีกเยอะ ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกในใจไม่ดี หรือว่าไปเที่ยวตามที่ต่างๆ เมืองสนุก เมืองเนรมิตอะไรก็ตามใจ มันเรื่องต้องจ่ายทั้งนั้น
เพราะเราพาเด็กไป เด็กก็ไปสนุก ไปเพลิดเพลิน เราก็ต้องจ่าย มันจะซื้อไอ้นั่น มันจะซื้อไอ้นี่ ไอ้คนอื่นเขามี ลูกเรามันก็อยากได้ ถ้าไม่ให้มันมี มันก็น้อยเนื้อต่ำใจ มันอาจจะคิดว่า คุณพ่อไม่รักหนูนะ คุณแม่ไม่รักหนูนะ มันไปหลายเรื่อง จะเจอปัญหามากมาย มันไม่ถูกต้อง
ถ้าจะมาพักผ่อนทางใจแล้ว ก็ควรจะมาวัด มาวัดนี่พักผ่อนทางใจ เหมือนกับมาวัดชลประทานนี่โยมได้พักผ่อน คือมานั่งพักให้สบายใจตามใต้ร่มไม้ ในศาลา ฟังเสียงที่ดังออกมาจากเครื่องขยายเสียง เทป ยังไม่ปาถกฐา ก็มีเทปดังออกมา เรานั่งฟังให้สบายใจ ทำใจให้สงบ ให้ไปอยู่กับเสียงนั้น ได้เกิดปัญญา ได้เอาสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องประกอบ (29.24) ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะทำให้เรามีความทุกข์น้อย มีความหงุดหงิดงุ่นง่านน้อย ถ่วงการเป็นโรคประสาทให้มันช้าลงไปอีกสักหน่อย มันดีหรือไม่ เรามาอย่างนั้นแหล่ะ
นี่ญาติโยมเห็นผลอย่างนั้นแล้ว ว่า..เออ ไปวัดนี้ดี สบาย แต่ว่าบางวัดไปแล้วมันไม่สบายเหมือนกัน เพราะว่าสถานที่ไม่อำนวย สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะไม่สม พระก็ไม่มีอะไรที่จะให้เรา เราก็ไปแล้วมันก็ไม่สบาย บางทีไปแล้วกลับกลุ้มใจเสียอีก
บางคนบอกว่า ผมเบื่อที่จะไปทำบุญ แล้วก็มีความกลุ้มใจ ทำไมถึงได้กลุ้มใจ เพราะว่าไปถึงในวัด มีพระองค์หนึ่ง นั่งเปิดเครื่องขยายเสียง แล้วก็เปิดเพลง วี้ดๆดังก้องวัดเลย เพลงอะไร เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกอะไรนั้น คนมาวัดนี้ เขาไม่ชอบเพลงแล้ว เหมือนโยมที่มาวัดนี้ ไม่ค่อยอยากฟังเสียงเพลงแล้ว หนวกหู ของเราไม่ชอบนี่มันก็หนวกหู แต่ถ้าชอบมันก็ไม่รำคาญอะไร เราอยากจะมานั่งเงียบ ๆ
แต่ว่าอยากจะได้ฟังเสียงของพระ แต่วัดนั้น ท่านก็ไม่มีเสียงพระดังออกไป ท่านก็เปิดเพลงของท่านไปตามเรื่องตามราว บางทีไม่มีเพลงก็อุตส่าห์ หาพิณพาทมาให้โยมสบายใจ เจ้าพิณพาทก็พอตี แล้วก็ตีไม่หยุดเลย โยมก็นั่ง รำคาญอยู่ อย่างนี้ไปแล้วมันไม่ว่าง จิตไม่ว่าง มันหนวกหู มันรำคาญเสียงนั้น เสียงนี้ ก็เลยไม่สบายใจ
แต่ถ้าเรามา เหมือนมาวัดชลประทานนี่ เรามารู้ว่าอะไรมันทำให้กลุ้มใจ ฉะนั้นวัดไม่ให้มีเสียงรำคาญ แม้มีงานศพก็ไม่ให้ยุ่งมีเสียง ทำเงียบ ๆ ให้โยมได้นั่งสบายใจ ได้พิจารณากรรมฐาน บริเวณวัดก็ทำให้มันร่มรื่น ให้สะอาด โยมมาถึงนั่งแล้วใจมันสบาย ไม่มีปัญหาอะไร นี้เรียกว่า พักผ่อน
การพักผ่อนแท้จริงนั้น ต้องไปพักที่เงียบ ๆ ถ้าเราไปในป่ามันก็เงียบเหมือนกันแต่ว่า อันตรายอีก ไปนั่งอยู่ในป่า เดี๋ยวถูกจี้อีกล่ะ ก็ไม่ไหว ก็ต้องหาที่ลับ ๆ อย่างนี้ เรามาพักผ่อน เพื่อนคนไหนบ่นว่ากลุ้มใจ เอา..ไปกับฉัน พามาวัดเสีย มาวัด มานั่งเงียบ ๆ หรือมาสนทนาธรรมกับพระสงฆ์องค์เจ้า เพื่อปรึกษาปัญหาชีวิต เรียกว่ามาปรับปรุงชีวิตกันอย่างนั้น ปรับปรุงชีวิต
การปรับปรุงชีวิต นั้นต้องปรับปรุงด้วยธรรมะ ไม่ใช่ปรับปรุงด้วยการดูหมอ ด้วยการสะเดาะเคราะห์ หรือด้วยการทำอะไรเสี่ยง ๆ ทาย ๆ ด้วยประการต่าง ๆ อย่างนั้น ไม่ชื่อว่า เป็นการปรับปรุงชีวิตอย่างถูกต้องแท้จริง เราจะมาปรับปรุงชีวิต มันต้องมาอย่างนี้ มาปรับปรุงที่วัด มาฟังธรรม รับเอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทางวัดก็เตรียมพร้อมที่จะช่วยญาติโยม ในเรื่องธรรมะ ในเรื่องการฝึกจิต ในเรื่องการแนะแนวทางให้ญาติโยมได้รู้ ได้เข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ว่าอะไรมันเป็นอะไร จิตใจจะได้สบาย นี้เรียกว่าเรามาพักผ่อนที่วัด
เพราะฉะนั้น ใครที่มีความวุ่นวายใจ หรือว่ามันมึนหัว ด้วยการงานมันหนัก หนักอึ้ง ที่เราพูดว่า แหม...หนักหัวเต็มทีแล้ว มันหนักด้วยอะไร ความจริง ไม่ได้หนักด้วยอะไร มันเพิ่มเป็นน้ำหนักขึ้นในหัว ไม่ใช่ เราใช้ความคิดมาก แล้วมันมึนงง สมองมันทำงานหนัก มันก็ล้า มันก็เหนื่อย สมองมันก็เหนื่อยเหมือนกัน ใจมันก็เหนื่อยเหมือนกัน ร่างกายก็เหนื่อยเหมือนกัน มันเหนื่อยทั้งนั้นแหล่ะ เราก็ต้องการพัก
เมื่อมาพักก็ต้องทำใจให้มันว่าง จากสิ่งที่เราเคยหนักใจ เราคิดอะไร แต่มันหนัก เราไม่คิด เราได้ยินอะไรมันหนัก เราไม่ได้ยิน เห็นอะไรมันหนัก เราก็ไม่ให้เห็น อะไรที่มันจะเกิดความไม่สบายใจ เราหนีจากสิ่งนั้น มานั่งหลับหูหลับตาเสียมั่ง ทำใจให้สงบด้วยการเจริญกรรมฐาน ภาวนา เจริญกรรมฐาน ก็คือว่า พักใจ เรามาพักใจเพื่อให้ใจเกิดความสงบขึ้น เพราะเราก็จะได้กำลังเพิ่มขึ้น
ถ้าพูดตามแบบเครื่องยนต์ ก็เรียกว่า มาชาร์ต ชาร์ตแบตเตอรี่ เพิ่มพลังงานให้มันอีกหน่อยหนึ่ง สตาร์ทเครื่องจะได้ติดทันที เพราะว่าใช้มานานแล้ว มันกำลังไฟ มันไม่มีแล้ว น้ำอันนั้นก็ไม่มีแล้ว เราก็เติมลงไป เติมแล้วก็มีกำลังไฟเพิ่ม มีกำลังจิตสูงขึ้น สามารถจะแทงทะลุในอารมณ์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ นี่การมานี่ มุ่งอย่างนี้ เรามาวัดนี่เรามุ่งมาอย่างนี้ ผู้ใดที่จิตใจหมกมุ่นอยู่กับงานการ ควรจะมาพักอย่างนี้
แต่ว่า คนโดยมากก็ไม่ค่อยคิดอย่างนี้อีก พอหมกมุ่นเข้า ก็ไปเลี้ยงกัน ไปเลี้ยงกัน ดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ นั่งดูอะไร ๆ ให้มันเพลินไป นี่มันไม่ได้แก้ มันเพิ่ม เพิ่มความยุ่งยากทางจิตใจ เพราะว่าเราไปสนุกสนานร่าเริงอย่างนั้น เขาเรียกว่าเปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง ครั้งหนึ่งเราเคยมองตรงนี้ มันรำคาญแล้ว ไปมองตรงนี้เสีย มองตรงนี้รำคาญ มองตรงโน่นเสีย มันก็อยู่ในเรื่องรับรู้อารมณ์นั้น ๆ เอง ยังไม่ใช่เป็นการพักผ่อนอะไร แล้วการเปลี่ยนอารมณ์นี่ บางครั้งเราเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่ม เพิ่มอะไร เพิ่มราคะ เพิ่มโทสะ เพิ่มโมหะ ให้แก่จิตใจ เพิ่มความกำหนัด ยินดี หลงใหล มัวเมา เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ
แล้วมันก็เกิดปัญหาอีกแหล่ะ เพราะว่าเราต้องจับจ่ายใช้สอย แล้วถ้าเราไปในที่ที่มันไม่มีสิ่งเหล่านั้น ก็รำคาญอีก เช่น ไปทำงานบ้านนอกบ้านนา ไม่มีแสงเสียงให้ดู ก็รำคาญใจ เราก็ต้องมาหาสิ่งนั้น เมื่อมาหาก็ต้องจ่ายเงินจ่ายทอง เพื่อซื้อ ซื้อความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น ใจ ไปซื้อสิ่งเหล่านั้นมา เงินมันไม่อำนวย อ้าว..ก็เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์
ถ้าคนที่ทำงานเกี่ยวกับการเงินการทอง มันเพลินไป สนุกมากไปในสิ่งยั่วยุเหล่านั้น เงินตัวไม่พอ เอาเงินบริษัทไปใช้ก่อน พอเขามาตรวจบัญชี เงินขาดไปเยอะ ๆ ขาดมากมาย แล้วคนบางคนฉลาด เอาไปทีละน้อย ๆ ทีละไม่มาก แต่มันหลายทีเขาไม่รู้ พอรู้เข้าก็แหม..เป็นแสน เงินเป็นแสน ๆ ตายแล้ว เอาเงินที่ไหนมาคืนให้เขา ในที่สุดก็ต้องออกจากงาน
ออกจากงานก็ไม่พอ เขาฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่มีเงินให้ อ้าวติดคุดติดตะราง เป็นคดีอาญาขึ้นมา ชีวิตหมดค่า ไม่มีความหมายต่อไป นี่คืออันตราย ที่เราพักผ่อนไม่ถูกทาง เรียกว่าพักใจไม่ถูก พักใจด้วยการเปลี่ยนอารมณ์นั้น มันทำให้เกิดเสียหายได้ง่าย ทำให้เกิดวุ่นวาย แล้วของยั่ว ๆ ทั้งหลายนี้ มันทำให้คนติด เรา เช่นว่า ชอบเล่นบิลเลียด ต้องเล่นเป็นบ้าเป็นหลังไปเลย พอถึงเวลา ต้องไปเดินแบกไม้เวียน แทงมันไป แล้วก็พนันกัน แพ้ไม่ได้ ไม่ยอม เอาอีก อ้าวเข้าไปลอง จนดึกดื่นเที่ยงคืนจึงกลับบ้าน
กลับบ้านก็เมากระเงาะกะแงะมา เพราะว่าต้องกินอะไร ต่อไร ไป ดื่มอะไร ๆ เข้าไป เกิดปัญหาในครอบครัว เกิดปัญหาแก่ลูกเต้า เปลี่ยนอารมณ์อย่างนั้น มันเกิดปัญหา หลายเรื่องหลายประการ สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตเรา ด้วยประการต่าง ๆ
ในทางพระศาสนานั้น ท่านสอนให้ตัด ไม่ให้เพิ่ม การเพิ่มนั้นมันยุ่ง ให้ตัดอารมณ์ ให้ตัดเต็มที่ ทำให้เราสนุกสนานอารมณ์ เพลิดเพลิน ยินดี แต่ให้เอาสิ่งนั้นออกไปเสีย แล้วก็มาหาความสงบทางจิตใจ มาพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เกิดปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ
คนเราที่มีความสุขในทางวัตถุนี้ ถ้าไปพบความสุขที่แท้จริงแล้ว ก็จะเห็นชัดว่า โอ...มันไกลกันเหลือเกิน เหมือนกับเจ้าชายองค์หนึ่ง เขาเรียกว่า เจ้าชายภัททิยะ (38.27) ก็ลูกพี่ลุกน้องกับพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสด์ เพื่อโปรดพระญาติพระวงศ์ โปรดพระพุทธบิดาด้วยญาติทั้งหลาย ครั้นเมื่อไปโปรดแล้ว พวกเจ้าชายศากยะหนุ่ม ๆ นี่ คิดกันว่า เราควรจะบวชบ้าง บวชตามพระพุทธเจ้า เพราะคนอื่น ๆ เขาบวชกันเยอะแยะ เขาช่วยงานพระพุทธเจ้า พวกเราในวงศ์ศากยะ ก็น่าจะไปบวชกันบ้าง
เขาก็เลยคิดกัน คิดกันแล้ว ออกบวชพร้อมกันหลายคนด้วยกัน เช่นพระอานนท์ อนุรุธ แล้วก็ภัททิยะ รวมทั้งหมดถึง เจ็ดคน รวมทั้งเทวทัตด้วย แล้วก็มีอุบาลี ช่างตัดผมอีกคนหนึ่ง ช่างตัดผมของพวกเจ้าชาย เจ้านายไปบวชแล้วกูจะตัดใครต่อไป ไปบวชด้วยดีกว่า แล้วก็ไปบวชกันบ้าง
แต่เวลาบวชนี่ พวกเจ้าชายบอกว่า อุบาลีนี่เดินหลังเราตลอดเวลา รับใช้เราตลอดเวลา จะบวชแล้วให้บวชก่อนเถอะ เราจะได้บริการอุบาลีบ้าง เลยให้บวชก่อน จะได้เป็นผู้มีอาวุโส แล้วพวกศากยะที่บวชทีหลังก็จะได้ให้เกียรติ ได้เคารพ อันนี้เป็นประชาธิปไตยในจิตใจของท่านเหล่านั้นขึ้นมาแล้ว ไม่ถือว่า ฉันเป็นเจ้าชาย ฉันต้องบวชก่อน แต่ให้คนใช้บวชก่อน จะได้ทำความเคารพคนใช้บ้าง จะได้ลดทิฐิมานะ ความถือตัว ถือตนลงไปอีกเยอะแยะ เลยก็อุบาลีได้บวชก่อน แล้วก็บวชพวกนั้นต่อมา
องค์หนึ่งที่ชื่อภัททิยะ นี่เคยเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งพระราชาเมืองกบิลพัสด์บ่อย ๆ เป็นเจ้าแผ่นดินชั่วครั้งชั่วคราวเป็นบ่อย ๆ ทำหน้าที่นี้บ่อย ๆ ครั้นเมื่อไปบวชแล้ว ไปพบความสงบสุขที่แท้จริง เมื่อไปอยู่ในป่า ก็ได้เปล่งวาจาว่า สุขังวัตตะ สุขังวัตตะ (40:32) ถ้าแปลเป็นไทย พุดภาษาชาวบ้านหน่อยก็ว่า
สุขจริงเว้ย..สุขจริงเว้ย..อย่างนั้นแหล่ะ ไปนั่งตรงไหนก็มักจะพูดว่า สุขจริงเว้ย..สุขจริงเว้ย.. พระทั้งหลายได้ยินเข้า ก็ว่า โอย..พระองค์นี้ ท่าจะคิดเป็นบ้า คิดถึงความสุขในวัง ความสุขที่ได้รับจากความสบายในวังหลวง จึงไปนั่งเพ้ออยู่ในป่าว่า สุขจริงเว้ย..สุขจริงเว้ย ..ก็ไปกราบทุลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ดำรัสให้มาเฝ้า
ครั้นเมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ถามว่า ภัททิยะ ได้ข่าวว่าเธอไปนั่งอยู่ในป่า ใต้ต้นไม้ เรือนว่าง ในถ้ำ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ที่สงบเงียบ เธอเปล่งวาจาว่า สุขังวัตตะ (41.19) สุขจริงเว้ย สุขังวัตตะ สุขจริงเว้ย มันหมายอะไร มันอะไรกัน
ท่านก็บอกว่า มันเป็นความสุขที่แท้จริง ซึ่งข้าพระองค์ไม่เคยได้รับ ครั้งหนึ่งข้าพระองค์อยู่ในวัง ได้ตำแหน่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องทำงานทำการบริหารประเทศ ไปไหนต้องมีราชองครักษ์ ถือดาบ สี่คน เดินตามข้างหน้าสอง ข้างหลังสอง แม้เวลานอนก็ต้องมีทหารยืนเฝ้าที่ประตู เพื่อป้องกันภัยอันตราย มีแต่ความสะดุ้ง หวาดเสียว มันก็เป็นสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถาวรอะไร
แต่ครั้นเมื่อได้สละราชสมบัติออกมาบวชแล้ว ไปนั่งใต้ต้นไม้ สบาย ไปนั่งในถ้ำก็สบาย ไปนั่งอยู่ลอมฟางก็สบาย ไปนั่งอยู่ในเรือนว่างหลังไหน ที่ไหน มันก็สบายทั้งนั้น ไม่มีความรู้สึกว่า มีใครจะทำร้ายเรา หรือมีใครจะเป็นศัตรูแก่เรา จิตมันว่าง มันสงบ ข้าพระองค์ จึงได้พูดว่า สุขังวัตตะ สุขจริงเน้อ… สุขจริงหนอ มันสุขตรงนี้ นี่คือ ความสุขที่แท้ เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ (42.45) สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบใจไม่มี ท่านว่าอย่างนั้น
สุขอื่นนั้น มันสุขอะไร สุขจากการได้เห็นรูปทางตา ได้ฟังเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ได้กินอาหารอร่อย ได้จับได้ต้องสิ่งที่เราพึงใจหรือว่าใจมันฟุ้ง คิดไป ฝันไปในเรื่องอะไรๆ ต่าง ๆ นี่มันก็เป็นความสุขที่ชาวโลกเขาว่ากัน เขาเรียกว่า อามิสสุข
ความสุขที่เจือด้วย อามิส มีเหยื่อ มีวัตถุเป็นเครื่องล่อ ถ้าไม่มีเหยื่อมาล่อ สุขอย่างนั้นไม่มี มันก็ต้องแสวงหาสิ เช่นถ้าเราเคยฝึกด้วยการดู ก็ต้องไปดู ด้วยการฟังก็ต้องไปหาฟัง สุขด้วยการดม ต้องไปหามาดม เหมือนเด็กนักเรียน ชอบดมทินเนอร์ ดมให้ตายไวๆ ไม่ใช่เรื่องอะไร มันรู้สึกว่ามันสบาย ถ้ามันได้ดมแล้ว ชุบสำลีแล้วก็นั่งดมไป พ่อแม่ก็ เออ หนูมันไปนวด อีหนูมันไปนวด ไอ้หนูมันไปนวด มันดมยา หารู้ไม่ว่า ลูกจะฉิบหายแล้ว ไปดมอะไรก็ไม่รู้เข้าแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้
มันเพลินกับสิ่งเหล่านั้น เพลินกับดม เพลินกับรสอาหาร เพลินกับความสนุกต่างๆ เหมือนคนดื่มเหล้า พอดื่มเหล้าแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นสุข มันเป็นสุขอย่างไรดื่มเหล้า คือมันลืมนะสิ ลืมเนื้อ ลืมตัว ลืมว่ากูเป็นใคร ลืมตำแหน่ง ลืมหน้าที่ แล้วก็พูดตามสบาย ทำอะไรก็ตามสบาย แม้เป็นคนอายุมากแล้วยังร้องเพลงเหมือนเด็ก ๆ ก็ได้ มันสนุกตรงนั้นแหล่ะ มันสนุกตรงที่มันไม่เป็นผู้เป็นคน ไม่ใช่เรื่องอะไร แล้วมันก็ติดในความสนุกเหล่านั้น เมื่อติดก็ต้องไปดื่มบ่อย ๆ ไปเที่ยว ไปแสวงหาสิ่งนั้น สิ่งนี้
ญาติโยม ผู้หญิงบางคนก็ แหม..เล่นไพ่ พอได้ล้อมวงแล้ว มันเพลิน ลืมกินข้าว ลืมเข้าห้องน้ำ จะไปก็ยังไม่ได้ มันไม่เกมส์ ก็ว่าต่อไป นี้เรียกว่า ติดต่อ กันอยู่ตลอดเวลา เพลินไปกับไพ่ แต่พอหยุดเล่นไพ่แล้วโทรมเลย นอน หาเด็กมานวดหน่อย นวดเอว นวดหลัง นวดแข้ง นวดขา พอถึงเวลา ก็ไปอีกแล้ว ไม่รู้จักเข็ดจักหลาบ เรียกว่า เหยื่อมันล่อ มันล่อให้ไปหลงใหลเพลิดเพลิน
พวกดูหนังก็ต้องไปดู พวกฟังเพลงก็แหม..ติดใจเสียงเพลงเหลือเกินแหล่ะ ความจริงเพลงที่ร้องก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร วนไปเวียนไปเวียนมาอย่างนั้นแหล่ะ ไม่ได้สาระอะไร แล้วก็ชอบฟัง สนุกไปกับเสียงเหล่านั้น สนุกไปกับอะไร ๆ ต่าง ๆ
มันต้องมีของมาช่วยเหลือ ให้เกิดความสุข ขาดเมื่อใด ไม่เป็นสุข เราจึงได้ยินคนบางคนว่า แหม..ฉันขาดสิ่งนั้น ฉันอยู่ไม่ได้ ฉันขาดเสียงเพลงฉันอยู่ไม่ได้ ฉันขาดรูป ฉันอยู่ไม่ได้ ขาดอาหารประเภทนั้น ฉันอยู่ไม่ได้ ตายแล้ว มันก็ยุ่งแล้วคน คนนั้น มันไปขาดไม่ได้แล้วชีวิต มันจะแย่แล้ว ว่าตายแล้วเหมือนกัน เขาเรียกว่าตายทางจิตใจ จิตใจมันตายไปจากความสงบ จากสิ่งที่เป็นของเดิมของแท้ มันไปติดอยู่ในสิ่งจอมปลอม มันไม่ใช่ความสุขแท้
แต่เมื่อใดเราได้ประสบความสุขแท้ ก็เรียกว่า เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีอะไรมาเจือปนเป็นความสุขจริงๆ พระผู้มีพระภาค เมื่อหลังจากตรัสรู้แล้ว เสวยวิมุติสุขนี่ วิมุติสุข คือ สุขที่เกิดจาก หลุดพ้น เกิดจาก ไม่มีพันธะ ไม่มีเครื่องตรึงรัดจิตใจคนเราธรรมดานี่ มันมีพันธะ มีเครื่องตรึงรัดจิตใจ ยึดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
พระองค์พระพุทธเจ้าท่านดิ้นร้นด้วยปัญญาพ้นไป พอพ้นแล้วได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั้น บริเวณต้นโพธิ์นั้น ต้นจิต (45.59 เสียงไม่ชัดเจน) แล้วต้นอะไรหลายแห่งตรงนั้น ตั้ง ๔๙ เก้าวัน ไม่ใช่เล็กน้อย ไม่ได้ฉันอาหารอะไร อยู่ได้ด้วยปีติ เขาเรียกว่า ปีติภัทร (47.05 ไม่ยืนยัน) มีปีติเป็นอาหาร อยู่ด้วยความสุขในการหลุดพ้นในความสงบ ไม่ต้องฉันอาหารเลย เป็นเวลาถึง ๔๙ วัน อยู่ได้ไม่เห็นลำบากอะไร นี่มันเป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่ต้องมีอาหารที่เป็นวัตถุ แต่ว่ามีอาหารแท้คือ ปีติ
ปีติ เป็นอาหาร เขาเรียกว่า ปีติภัทร (47.30 เสียงไม่ชัดเจน) เออาภัตธรายถา เหมือนเทพยาดาที่อยู่ในชั้นอาพัททยาพรหม เขาไม่กินอาหารพวกนี้ เขามีความสงบ คนที่สงบนั้นไม่กินอาหาร ถ้าคนเข้าญาณ คนเข้าญาณนั่งเข้าญาณ ๗ วัน ไม่ดื่ม ไม่รับประทานอาหารเลย นั่งเฉย ๗ วัน อยู่ได้นะ อยู่ด้วยปีติในญาณ คือความสุขอยู่ในเรื่องอย่างนั้น แล้วพอครบเวลาที่อธิษฐานไว้เขาออกไป พอออกไปมันก็ต้องกินอาหารแล้ว ต้องมีของล่อเลี้ยงร่างกาย เพราะปีตินะมันหายไปเสียแล้ว นี้เรียกว่า ความสุขที่แท้
เราจะแสวงหาความสุขโดยไม่ต้องเสียเงิน โดยไม่ต้องส่งเสริมสิ่งชั่วร้าย เดี๋ยวนี้ชาวโลกกำลังสร้างความสุขด้วยวัตถุจนต้องส่งเสริมสิ่งชั่วร้ายขึ้นในสังคม ส่งเสริมเรื่องบาร์ เรื่องไนต์คลับ เรื่องอะไรต่ออะไร เพื่อให้คนมันสบาย แต่ว่าจิตใจคนตกต่ำลงไปอยู่กับกิเลส ไปอยู่กับสิ่งแปดเปื้อนด้วยประการต่างๆ
อันนี้ก็มีการกวดขันกันขึ้นก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ก็เขียนว่า ท่านมหาจำลองอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยประการต่างๆ ความจริงนั้นเขาคิดว่าควรจะได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไอ้ที่เป็นมาแล้วนั้น คือ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำอะไรตามชอบใจ จิตใจคนก็แตกกันไปหมด แล้วเกิดอะไร อาชญากรรมมากขึ้น เด็กหนุ่ม เด็กสาว เสียผู้เสียคน เพราะสิ่งยั่วยุทั้งหลายเหล่านั้น
โลกวุ่นวายประเทศชาติของเราจะเสีย จึงต้องมีการกวดขันให้เบาๆ ลงหน่อย ให้ตรงตามเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็เป็นการยับยั้งนั่นเอง ห้ามล้อไม่ให้ไหลเลื่อนไปสู่เหวลึกเร็วเกินไป แต่คนมันติดในสิ่งเหล่านั้นมันได้ประโยชน์ เขาก็ไม่พอใจทำให้เกิดเป็นปัญหา
เราทั้งหลายจึงควรจะได้ช่วยกัน ช่วยกันเปลี่ยนจากความสุขแบบนั้นมาหาความสุขแบบสงบๆ ทางจิตใจ ลองหัดนั่งทำใจให้สงบเสียบ้าง แล้วท่านจะรู้สึกว่ามันแปลกกัน เมื่อก่อนเคยวุ่นวาย เคยเร่าร้อน เคยขึ้น เคยลง ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ต่อมานี้เราฝึกจิตบ่อยๆ เราเฉยๆ เราไม่ตื่นเต้นต่อสิ่งเหล่านั้น ตาได้เห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส หรือว่ามีอะไรเกิดขึ้น เราก็เฉยๆ เรามองเห็นสิ่งนั้นว่ามันไม่แปลกอะไร มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่นิดหนึ่งแล้วก็สลายไป ไม่มีอะไรคงทน ไม่มีอะไรถาวรที่เราจะไปจับไปฉวยเอาว่า เป็นตัวเรา เป็นของเราขึ้นมา มันเป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ไหลไป แล้วก็ดับไปเท่านั้น เรียกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ถ้าทำเป็นรูปสามเหลี่ยม ก็เรียกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วจะไปฉวยเอาอะไรว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ลองคิดถึงในใจของญาติโยมทุกคนว่า เรามีทุกข์ด้วยเรื่องอะไร ด้วยปัญหาอะไร แล้วไอ้นั้นนะมันคืออะไร เรามาแยกแยะอีกเพราะมีใจให้ไป ให้มันดีแล้ว เราก็จะมองเห็นว่ามันไม่มีอะไรแล้วที่จะวุ่นวายใจ สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป
เหมือนกับกระแสน้ำ กระแสลม กระแสน้ำนี้มีแต่ไหลไป ไหลออกทะเล ไหลไปไม่รู้จักหยุดจักยั้ง เราจะไปกั้นให้มันหยุดก็ไม่รู้จะกั้นทำไม เป็นได้ก็แต่จะเอาน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก เขาก็กั้นไว้ แต่มันก็หยุดไม่ได้ มันต้องไหลออกไปทางอื่น ต้องมีเหมืองระบาย ถ้าขืนกักไว้มากๆ ทำนบมันก็พังเหมือนกัน อยู่ไม่ได้ เขื่อนยันฮีว่าแข็งแรงก็ยังระบายออก ให้ไหลไปตามท่อเพื่อผ่านกังหันไฟฟ้า เราได้ใช้ไฟกันอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นกระแสที่ไหลไป ลมก็ผ่านไป น้ำก็ผ่านไป เวลาก็ผ่านไป
อารมณ์ทั้งหลายจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสิ่งสัมผัสถูกต้องได้ มันก็ผ่านมาผ่านไปแหล่ะ เราลองคิดดูสิตั้งแต่เราเกิดมานี้ อะไรผ่านมาผ่านไปเยอะแยะแล้ว แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันผ่านมาผ่านไป เราชอบไปจับมันไว้ ยึดมันไว้ คือไม่ยอมให้มันผ่านไป ไปจับไว้เหมือนกับหนุมาน ไปจับรถพระอาทิตย์ในเรื่องรามเกียรติ์ ผลุงไปเลย ดีที่ขนเพชรมันเหลืออยู่หน่อยหนึ่ง เลยไม่ตาย พระอาทิตย์เห็นก็เลยเป่าพรวด อ้าวฟื้นกันต่อไป นี่แหล่ะมันเป็นอย่างนั้น เราก็จะไปจับสิ่งที่มันกำลังขึ้น จับเอามาไว้แล้วเย็นใจไหม สบายใจไหม เป็นทุกข์ไหม เราลองคิดดูสิในขณะที่เราไปคิดถึงอะไร หรือเราจับฉวยอะไรเอามาเป็นของเรานี้ เราสบายใจหรือ เราร้อนใจหรือ เราวุ่นวายใจหรือ ลองคิดดู
ถ้าเราคิดดูบ่อยๆ เอง ทำไมคิดถึงสิ่งนั้น เราไม่สบายใจ เราร้อนอก ร้อนใจ เรามีปัญหา แต่ว่าคนมันก็ชอบนึกชอบสร้างแล้วบอกว่ามันตื่นเต้นดี มันตื่นเต้น แล้วก็เลยนั่งคิดนั่งนึก บางทีก็ร้องไห้น้ำตาไหล ยิ่งร้องยิ่งดี เหมือนได้กินแกงเผ็ดน้ำมูกออก เหงื่อไหล อร่อยซีดซาดๆ มันอร่อยอะไร กินทั้งน้ำมูกน้ำตา มันไม่ได้เรื่องอะไร สู้กินปกติไม่ได้ กินแกงจืดๆ ไม่มีรสมีชาด เคี้ยวกลืน ลงไป ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ลำบาก ไม่ดีกว่าเหรอ
อารมณ์ทั้งหลายกลุ้มใจ กลุ้มใจเรื่องอะไร มันเป็นความหลงใหลมัวเมาที่ไม่เข้าเรื่อง ทำให้เกิดอารมณ์ไม่ดี ทำให้ประสาทไม่ดี ร่ายกายไม่ดีก็ลงโทษตัวเองเท่านั้นเอง เราจึงควรจะคิดในแง่ใหม่ มันไม่มีอะไรที่น่าจะเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา ไม่มีอะไรที่น่ารักน่าเอา มันเป็นแต่เพียงธรรมชาติเกิดขึ้น ไหลไป แล้วก็ดับไปในที่สุดเท่านั้น แม้ตัวเราก็เป็นอย่างนั้น ตัวใครๆ มันก็เป็นอย่างนั้น แล้วเราจะไปวิตกกังวลอะไรกับสิ่งเหล่านั้น
เรามานั่งไหว้พระสวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบเป็นเวลา เช่น เวลากลางคืนจะนอนก็ไหว้พระสวดมนต์ พิจารณาร่างกายของเราเอง ของใครๆ ว่าไม่มีอะไรที่เป็นสาระ เป็นแก่นเป็นสารที่เราจะไปเที่ยวคิดให้วุ่นวายใจ แล้วก็นอนให้สบาย
ตื่นเช้าทำใจให้สบาย ให้จิตมันไม่วุ่นวายไม่เศร้าหมอง แล้วเราก็วางแผนว่าวันนี้เราจะทำงานด้วยใจรัก ด้วยความขยัน ด้วยความเอาใจใส่ ด้วยการใช้สติปัญญา เพื่อให้งานสำเร็จเป็นไปด้วยดี ชีวิตจะได้ไม่วุ่นวายไม่สับสน เราคิดอย่างนั้นจิตมันก็จะสงบขึ้นตามสมควรแก่ฐานะ ดังที่ได้กล่าวมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติจิตใจแก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ก็พอสมควรแก่เวลา
วันนี้ตอนบ่ายมีปาฐกถาพิเศษ ญาติโยมควรอยู่ฟังเรื่องสุขภาพจิตกับชาวพุทธ พูดโดยนายแพทย์หญิงศรีธรรม ธนากูล นายแพทย์หญิงศรีธรรม ธนากูลนี้ เป็นจิตแพทย์อยู่โรงพยาบาลรามา ใครกลุ้มอก กลุ้มใจก็ตรงไปหาหมอนี้ หมอก็ไต่ถามซักไซ้ไล่เรียงแนะแนวให้คิดใหม่ ให้ตั้งใจใหม่ตามหลักจิตวิทยา ตามหลักธรรมะ วันนี้ได้เชิญมาพูดให้พระใหม่ฟัง คือวันอาทิตย์ ตอนบ่ายทุกอาทิตย์มีเชิญคนนั้นบ้างคนนี้บ้างมาพูดให้พระฟัง โยมก็ได้พลอยฟังด้วย อันนี้ผู้ใดสนใจในเรื่องนี้ สุขภาพจิตกับชาวพุทธน่าฟัง เราก็ควรจะอยู่ฟัง รับประทานอาหารแล้วก็นั่งพัก บ่ายโมงครึ่งก็มาประชุมกันที่นี่เพื่อฟัง (56.17)