แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ โดยเฉพาะคนที่นั่งอยู่ตามใต้ต้นไม้ห่างไกลจากผู้แสดง ขอให้นั่งสงบเรียบร้อย อย่าวิพากษ์วิจารณ์เวลากำลังเทศน์ เพราะว่าคนอื่นเขาจะฟัง นี่บางคนนั่งฟังแต่ว่านั่งพูดแข่งไปกับเสียงฟังด้วย อย่างนั้นเสียงมันไม่เข้าหู เพราะว่าเปิดปากไว้ด้วย ทีนี้ถ้าให้เสียงเข้าหูมันต้องปิดปาก ถ้าปิดปากแล้วเสียงมันเข้า ถ้าเปิดปากพูดด้วยเสียงมันก็ไม่เข้า คนที่ตั้งใจฟังก็รำคาญ แล้วก็อย่าเดินไปเดินมาให้วุ่นวาย ทำให้เสียสมาธิของคนที่ตั้งใจจะฟัง นั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่งสงบๆ แล้วก็ฟังด้วยดี แม้ว่าเราจะรู้แล้วก็ฟังไปเถอะ เพิ่มเติมความรู้ขึ้นไปใหม่ เพราะบางคนมีปกติอย่างนั้น คือรู้หมด ใครพูดก็ไม่ฟัง ถ้ารู้หมดนั่นคือไม่ค่อยรู้อะไร แต่ถ้านึกว่าตัวรู้น้อย มันจะได้รู้มากขึ้น นั่งข้างนอกระวังหน่อย ฝนมันอาจจะตกลงมาก็ได้ ดูครึ้มๆ อยู่ แต่ว่าก็ตกแล้วจริงๆ น่ะ เอ้า ขึ้นมาบนนี้แล้วมานั่งที่ศาลา นั่งข้างใน นั่งแถวนั้นจะไม่ถูกฝน นั่งด้านนี้ก็ได้ ที่หอสมุดนี่ก็ได้ ไปเปิดหอสมุดสิ เปิดหอสมุด เข้าไปนั่งในหอสมุดก็ได้ยิน นั่งแถวนี้ไม่เป็นไร ไม่ถูกฝน เพราะมีเฉลียงกั้นแล้ว เข้าไปในได้ นั่งเก้าอี้นั่นก็ได้ นั่งบนพื้นนี่ก็ได้ นั่งลงไปเถอะ ไม่เป็นไร อย่าไปถือว่านั่งสูง นั่งต่ำ ใจมันเท่ากัน เพราะว่าที่มันจำกัด
วันนี้ เด็กนักเรียนโรงเรียนรัตนาธิเบศน์ มามาก เลยให้นั่งที่ป่าไผ่ ป่านนี้ก็วุ่นวายเต็มทีแล้ว เพราะฝนตก ขยับเข้ามาอีก โยม ขยับเข้ามา อย่าไปนั่งขวางทาง ขยับเข้ามาอีก ขยับมานี่ มาแถวนี้ๆ มานั่งตรงที่พื้นนั่งให้สบาย นั่งไปเลย อย่าไปนึกว่าใครนั่งข้างบน ใครนั่งข้างล่าง นึกแต่เพียงว่าเรานั่งก็แล้วกัน แล้วก็ฟังให้สบาย นี่เก้าอี้ นั่งลงไป
เรื่องฝนฟ้าอากาศนี่ ไม่มีใครรับรองได้ว่าเวลานั้นจะตก เวลานี้จะไม่ตก ปีนี้ฝนชุกมาก เพราะมันเคยแล้งมาปีก่อนๆ มาตกชดเชยกัน ธรรมชาติน่ะเขาทำอะไรก็พอสมดุล เกิดปีไหนฝนน้อย ปีต่อไปก็ฝนมาก ก็ชดเชยกัน ฝนมาก กล้าไม้ก็เหมือนกัน ถ้าปีนี้เป็นมาก ปีหน้าก็เป็นน้อย ถ้าปีนี้เป็นน้อย ปีหน้าก็เป็นมาก มันชดเชยกันอยู่ในตัว เพื่อจะได้พอกินพอใช้ มนุษย์เรานี่ ถ้ามากก็ประมาท มอมเมา พอมีเงินมากกินใหญ่ พอไม่มีเงินก็เดือดร้อน นี่เขาเรียกว่าขาดการควบคุม ไม่รู้จักประมาณ คือความพอดีในเรื่องต่างๆ ก็เกิดเป็นปัญหาแก่ชีวิต แก่เศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น เราจึงควรจะรู้ว่า ธรรมชาติของอะไรๆ นั้น มันก็เป็นอย่างนี้ บางทีมันมาก บางทีมันน้อย เวลาใดมากก็อย่าคิดว่ามันมาก แต่ให้คิดว่ามันมีเวลาจะน้อยได้ พอถึงเวลาน้อยเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเราคิด แหม ฝนนี่สำคัญ เข้ามาจนถึงอาตมาในวันนี้ ฝนมันสาดเข้ามาถึงนี่ ไม่ใช่น้อย ตกมากๆ ลมแรง ปิดนั่นเสียก็ได้ ฝนเปียกไม่เป็นไร ผิวหนังเปียกฝนไม่เป็นไร ใจเปียกกิเลสมันหนักหน่อย เปียกฝนไม่เท่าใดก็แห้งเรียบร้อย แต่ถ้าเปียกด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันเปียกนาน แล้วก็ไม่รู้จักแห้ง ไม่รู้จักหาย
เพราะฉะนั้น เราอย่ากลัวความเปียกภายนอก แต่ให้กลัวความเปียกภายใน ของเปื้อนภายนอกก็ไม่น่ากลัว แต่ของเปื้อนภายในนี้น่ากลัว นี่มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่กลัวสิ่งที่เป็นของภายนอกให้เกินไป แต่ว่ากลัวสิ่งที่อยู่ภายใน อันจะทำให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
เอานะ ญาติโยม นั่งกันลงไปเถอะ ไม่ถูกฝนแล้วจะได้ตั้งใจฟังกันต่อไป
ในวันอาทิตย์ที่แล้วนี้ ไม่ได้อยู่ เพราะต้องเดินทางไปจังหวัดพัทลุง ไปในงานศพของพระที่เป็นผู้มีอายุมาก คุ้นเคยกันมานาน ท่านบวชตั้งแต่สมัยอาตมาเป็นเด็ก แล้วก็ท่านมาถึงแก่กรรม เขาก็อยากให้ไปเทศน์ไปพูดกับประชาชน ไอ้เรื่องเผาศพน่ะไม่สำคัญหรอก ใครๆ ก็เผาได้ แต่ว่าจุดมุ่งหมายเขาต้องการให้ไปพบปะประชาชนจะได้พูดจาทำความเข้าใจกันกับชาวบ้าน ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ที่ควรรู้ ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าคนเราในสมัยปัจจุบันนี้ ค่อนข้างจะห่างพระ แล้วก็พระก็ห่างคนด้วยเหมือนกัน คือต่างคนต่างห่างกัน หันหลังให้กัน ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่พูดจากันในด้านที่เป็นประโยชน์ สิ่งทั้งหลายจึงเปลี่ยนไปเป็นความวุ่นวายสับสน ด้วยประการต่างๆ จึงได้เกิดเป็นปัญหาดังที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป
ทีนี้ การแก้ปัญหาอะไรต่างๆ นั้น เราจะแก้ภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ว่าต้องแก้ภายใน คือแก้ที่จิตใจของคน ถ้าเราไม่ได้แก้ที่จิตใจคนก็เหมือนไม่ได้แก้ เช่น ปัญหายาเสพติด เป็นตัวอย่างที่กำลังเป็นปัญหาในบ้านเมืองของเรา เพราะว่ามีแพร่หลาย คนก็ชอบไปสูบไปเสพกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางจิตใจในบางครั้งบางคราว สูบเข้าแล้วมันก็ติดงอมแงม ไม่สามารถจะตัดได้
เราจะไปแก้เรื่องนี้ก็ต้องแก้ที่จิตใจ คือแก้ตั้งแต่คนในครอบครัว เพราะว่าเด็กหนุ่มเด็กสาวที่ไปเสพของเสพติดนี่ มันเนื่องจากมีปัญหาในครอบครัว คือในครอบครัวนั้นมันไม่สบาย ที่ไม่สบายก็เพราะว่า มารดาบิดาไม่ประพฤติธรรม ไม่รู้จักหน้าที่อันตนควรจะปฏิบัติในครอบครัว เป็นคนชอบปล่อยอะไรไปตามใจตัวใจอยาก เช่น พ่อเป็นคนชอบดื่มเหล้าเมามาย กลับบ้านทะเลาะกับแม่ หรือแม่เองก็ชอบเล่นไพ่ ไม่ดูแลการบ้านให้เรียบร้อย ปัญหาในครอบครัวมันก็เกิดขึ้น เด็กๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มองเห็นพ่อก็ไม่ดี เห็นแม่ก็ไม่สบาย เลยเข้าไปหาความสบายข้างนอก ไปพบเพื่อนพบฝูงเข้า เพื่อนก็แนะนำว่า ไอ้นี่แหละยาแก้กลุ้มละ สูบแล้วสบายใจ เขาก็เลยลองสูบเข้าไป เมื่อสูบเข้าไปก็สภาพจิตใจมันเปลี่ยนไป มันไม่เหมือนเดิม นี่เมื่อสภาพจิตใจเปลี่ยนไปเขาก็นึกว่าเป็นเครื่องช่วยบรรเทาปัญหาทางจิตใจ แต่หานึกไม่ว่ามันจะทำให้ตกต่ำทางจิตใจต่อไป เพราะความเขลา ความไม่เข้าใจ ขาดการศึกษา ไม่มีการโฆษณาให้แพร่หลาย ถึงเรื่องทุกข์ โทษของสิ่งนี้ เด็กนั้นก็เลยติดงอมแงม เสียผู้เสียคนไปตามๆ กัน
นี่ปัญหามันอยู่ที่จิตใจคนในครอบครัวที่ไม่มีการประพฤติธรรม ถ้าหากว่าในครอบครัวนั้นมีการประพฤติธรรม คนในครอบครัวมีความสุขความสบาย พ่อแม่เรียบร้อยลูกก็เป็นสุข เมื่อลูกมีความสุขเขาก็ไม่ดิ้นรนไปหาความสุขนอกบ้าน เพราะในบ้านเขามีความสุขดีอยู่แล้ว มีอยู่ไม่น้อยในครอบครัวต่างๆ ที่พ่อแม่อยู่ในศีลในธรรม ลูกเรียบร้อยทุกคน มีความเป็นอยู่ดี จิตใจเป็นปกติ ไม่มีสภาพจิตทรามในชีวิต นี่ก็เพราะว่าสิ่งแวดล้อมในครอบครัวเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมในครอบครัวเรียบร้อยก็เพราะว่าในครอบครัวนั้น หันหน้าเข้าหาพระ มีพระเป็นหลักประจำจิตใจ จะพูด จะคิด จะทำอะไรก็นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นำคำสอนนั้นไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่
หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา สอนให้คนรู้จักหน้าที่อันตนจะพึงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หน้าที่พ่อ หน้าที่แม่ หน้าที่ครูบาอาจารย์ หน้าที่ทหารตำรวจ หรือใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์เรียบร้อย การทำหน้าที่ให้สมบูรณ์นั่นแหละเรียกว่าเราประพฤติธรรมอยู่แล้ว เมื่อเราประพฤติธรรม คือทำหน้าที่สมบูรณ์เรียบร้อย ปัญหามันก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีปัญหาทุกคนก็อยู่กันด้วยความสุขความสบาย ไม่เกิดความวุ่นวายสับสนกันด้วยประการต่างๆ นี่เป็นเรื่องที่ทำได้ มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจอะไร
แต่ที่ทำกันไม่ได้นั้นก็เพราะว่า ใจไม่เข้มแข็งพอที่จะละทิ้งสิ่งไม่ดีไม่งาม เมื่อใจของตนตกไปอยู่กับอะไรที่มันไม่ดีแล้ว ขาดความเข้มแข็งที่จะเลิก จะละสิ่งนั้น ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมันมีเครื่องยั่วยวนชวนใจ ในภาษาธรรมะเขาเรียกว่ามีอรรถสาทะ (12.10 ไม่ยืนยันตัวสะกด) อรรถสาทะ หมายความว่า ความเอร็ดอร่อยจากสิ่งเหล่านั้น (อะไร ลูกใครไปติดอยู่ในส้วม ร้องโวยวายอยู่) มันเนื่องจากความเอร็ดอร่อยในสิ่งเหล่านั้น ทีนี้เมื่อมีความเอร็ดอร่อยมันก็เลิกไม่ได้ เพราะใจไม่เข้มแข็ง ไม่คิดเลิก คิดละ ก็เลยติดงอมแงมกันต่อไป แต่ถ้าหากว่าคนเรามีจิตใจเข้มแข็งมั่นคงแล้ว ก็ไม่พ่ายแพ้แก่สิ่งเหล่านั้น
ทีนี้การปฏิบัติธรรมะในพระศาสนา เราลองคิดดูว่ามีจุดหมายอยู่ที่อะไร เราถือศีลก็เพื่อการงดเว้น เราฝึกจิตก็เพื่อให้มีกำลังเข้มแข็ง เพื่อจะได้งดเว้นจากสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีไม่งาม เราเจริญภาวนาในด้านปัญญา ก็เพื่อจะให้รู้ชัดเห็นชัด ในทุกข์ในทูตของสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตของเรา นี่คือจุดหมายของการปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนา คือเป็นไปเพื่อการงดเว้น เพื่อการขูดเกลา เพื่อการชำระชะล้างให้จิตใจของเราผ่องใสขึ้น สะอาดขึ้น นี่พอจะใช้เป็นเครื่องวัดได้ เป็นเครื่องวัดว่าเราได้เข้าธรรมะ เราได้มาศึกษาธรรมะในชีวิตประจำวัน เช่น วันอาทิตย์เราก็มาแล้วเรามาเป็นประจำก็มี เราก็ควรจะได้ตรวจสอบตัวเราเองว่า ตั้งแต่เราได้เริ่มเข้าหาธรรมะแล้วนี่มีอะไรเบาไปบ้าง มีอะไรเพิ่มขึ้น หรือว่ามันเหมือนกับของเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เราเคยมีความโกรธ ใจร้อน ใจเร็วมันก็ร้อนอยู่เหมือนเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือว่าเราเป็นคนมักริษยาคนอื่น เห็นใครได้ดิบได้ดี มั่งมีศรีสุข มันรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบใจไม่ค่อยจะสบายใจในความเจริญความสุขของคนนั้น เราคิดว่าควรจะทำลาย ไม่ให้เขามีความเจริญก้าวหน้า ไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นกิเลสเกิดขึ้นในใจเราทั้งนั้น เราก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อก่อนเคยมีอย่างนั้นแล้วเดี๋ยวนี้มันมีอยู่หรือเปล่า เมื่อก่อนเราเป็นคนมัก เช่น เป็นคนมักโกรธ มักเกลียด มักพยาบาทอาฆาตจองเวรด้วยประการต่างๆ แล้วตั้งแต่เริ่มเข้าวัดนี่ไอ้ความมักอย่างนั้นมันหายไปหรือเปล่า เช่น มักโกรธนี่มันหายไปหรือเปล่า มักเกลียด มักพยาบาทอาฆาตจองเวร มักริษยา อะไรเหล่านี้ มันลดลงไปหรือเปล่า ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของเรานั้นมันเปลี่ยนสภาพไปหรือเปล่า เช่น เมื่อก่อนมันร้อนเหมือนไฟ เดี๋ยวนี้มันค่อยสงบ ค่อยเย็นลงหรือเปล่า เมื่อก่อนมันวุ่นวาย เดี๋ยวนี้มันสงบลงหรือเปล่า เมื่อก่อนมันมืดด้วยอำนาจกิเลส เดี๋ยวนี้ค่อยสว่างขึ้น ขนาดเหมือนกับตอนรุ่งอรุณเช้าๆ สว่างน้อยๆ แล้วค่อยสว่างมากขึ้น มากขึ้น จนสว่างจ้า สามารถจะมองเห็นอะไรชัดเจนถูกต้องในเรื่องที่เข้ามากระทบกับเรานั้นหรือไม่ ถ้าเรามีความรู้สึกตัวว่ามันดีขึ้นเยอะ อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น ชีวิตก็มีความสงบขึ้น มีความสุขมากขึ้น นั่นแสดงว่าเราได้ผลจากการศึกษาธรรมะ เราได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมะ เราได้รับผลจากพระพุทธศาสนาที่เรานับถือแล้ว
การนับถือพระพุทธศาสนานั้นต้องนับถือให้มันได้ผลจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ผลจากพระศาสนา ก็เรียกว่าเรายังไม่ได้ประโยชน์จากศาสนา การนับถือนั้นคงจะยังไม่ถูกต้อง ไม่เรียบร้อยจึงไม่ได้รับผล จึงควรจะได้ทดสอบพิจารณาตัวเองในเรื่องต่างๆ ดังที่กล่าวมา แล้วก็ในชีวิตประจำวันของเรานั้น ควรจะได้นำหลักธรรมะมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะไปไหน จะทำอะไร จะเกี่ยวข้องกับใคร เราก็ต้องเอาธรรมะไปด้วย เหมือนคนเฒ่าคนแก่พูดว่า เอาพระไปด้วย เช่น รู้ว่าเราจะไปไหน ท่านก็มักจะเตือนว่า อย่าเผลอ อย่าลืมเอาพระไปด้วย แต่ว่าคนฟังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง คือแทนที่จะเอาพระที่ถูกต้องไป กลับเอาพระที่เป็นก้อนวัตถุไป เอาพระที่เป็นวัตถุก็คือ เอาพระเครื่องห้อยคอไป แต่ว่าในจิตใจนั้นไม่ได้เอาพระที่แท้ไปด้วย พระข้างนอกกับพระข้างในมันคนละเรื่อง โดยมากรู้จักแต่พระข้างนอก ไม่ค่อยจะรู้จักกับพระข้างใน มีความคุ้นเคยกับพระข้างนอก แต่ไม่ค่อยคุ้นกับพระข้างใน แล้วสนใจแสวงหาแต่พระนอกไม่สนใจแสวงหาพระใน เพราะฉะนั้นเราจึงได้แต่พระข้างนอก มีพระข้างนอกแต่ว่าใจไม่มีพระ ก็เหมือนเราไม่มีพระ เหมือนกับเราไม่ได้ถึงพระ การถึงพระที่แท้จริงนั้น ต้องถึงพระด้านใน ไม่ใช่ถึงเพียงด้านนอก
การนับถือพระพุทธศาสนานั้นต้องนับถือให้มันได้ผลจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ผลจากพระศาสนา จะเรียกว่าเรายังไม่ได้ประโยชน์จากศาสนา การนับถือนั้นคงจะยังไม่ถูกต้อง ไม่เรียบร้อยจึงไม่ได้รับผล จึงควรจะได้ทดสอบพิจารณาตัวเองในเรื่องต่างๆ ดังที่กล่าวมา แล้วก็ในเรื่องชีวิตประจำวันของเรานั้น ควรจะได้นำหลักธรรมะมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะไปไหน จะทำอะไร จะเกี่ยวข้องกับใคร เราก็ต้องเอาธรรมะไปด้วย เหมือนคนเฒ่าคนแก่พูดว่า เอาพระไปด้วย เช่น รู้ว่าเราจะไปไหน ท่านก็มักจะเตือนว่า อย่าเผลอ อย่าลืม เอาพระไปด้วย แต่ว่าคนฟังไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง คือแทนที่จะเอาพระที่ถูกต้องไป กลับเอาพระที่เป็นก้อนวัตถุไป เอาพระที่เป็นวัตถุก็คือเอาพระเครื่องห้อยคอไป แต่ว่าในจิตใจนั้นไม่ได้เอาพระที่แท้ไปด้วย พระข้างนอกกับพระข้างในมันคนละเรื่อง โดยมากรู้จักแต่พระข้างนอก ไม่ค่อยจะรู้จักกับพระข้างใน มีความคุ้นเคยกับพระข้างนอก แต่ไม่ค่อยคุ้นกับพระข้างใน แล้วสนใจแสวงหาแต่พระนอก ไม่สนใจแสวงหาพระใน เพราะฉะนั้นเราจึงได้แต่พระข้างนอก มีพระข้างนอกแต่ว่าใจไม่มีพระ ก็เหมือนกับเราไม่มีพระ เหมือนกับเราไม่ได้ถึงพระ การถึงพระที่แท้จริงนั้นต้องถึงด้านใน ไม่ใช่ถึงเพียงด้านนอก พระข้างนอกนั้นเป็นแต่เครื่องสะกิดใจให้เราได้คิดสร้างพระข้างใน หรือให้เราทำใจของเราให้เป็นพระ ถ้าหากว่าเรามีพระข้างนอกแต่ว่าเรามองไปในแง่ขลัง ในแง่ศักดิ์สิทธิ์ ในแง่ที่จะช่วยเราโดยเราไม่ต้องช่วยตัวเอง อย่างนี้มันก็ผิดหลักการพระพุทธศาสนา ถ้าเราเชื่อในรูปอย่างนั้น หรือเราทำในรูปอย่างนั้น เราก็ยังเป็นคนห่างพระ ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้เข้าใกล้พระ คือยังไม่ถึงพระที่เป็นเนื้อแท้ เราก็ยังวุ่นวายสับสนอยู่ด้วยปัญหาต่างๆ
จึงใคร่จะขอให้เข้าใจว่าพระข้างนอกเป็นแต่ภาพเตือนใจให้เราได้คิดสร้างพระข้างในขึ้นในใจของเรา อย่าว่าแต่พระพุทธรูปอันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังเลย แม้ในครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คนเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เห็นคำสอนของพระองค์ ก็หาชื่อว่าเข้าพบพระพุทธเจ้าไม่ แม้จะได้นั่งสนทนากับพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน แต่ก็ยังนึกว่าไม่เห็นพระพุทธเจ้าอยู่นั่นเอง เพราะเขามุ่งเอาพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปร่างเนื้อหนัง เอาสิ่งที่เป็นวัตถุ ไม่ได้ไปหาพระพุทธเจ้าที่เป็นคุณธรรม หรือที่เป็นสิ่งที่เราจะสัมผัสด้วยจิตใจ ผู้นั้นก็ยังไม่เข้าถึง “พุทธะ” ก็ยังต้องวิ่งเตลิดเปิดเปิงไป เพื่อไปหาพระพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่พบกันแล้วแต่ไม่รู้ เหมือนเราไปหาคนแต่เราไม่รู้จัก เราก็เลยบอกว่าไม่เจอคนนั้น ทั้งๆ ที่ได้ไปคุยกันแล้ว อย่างนี้เป็นตัวอย่าง
คนในสมัยก่อนไปหาพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธเจ้าเพราะเรื่องอย่างนี้ นั่นพระพุทธเจ้ายังอยู่ เนื้อหนังยังปรากฏแก่สายตา ยังเข้าไปสัมผัสได้ เวลานี้พระพุทธเจ้าที่เป็นรูปร่างไม่มี แต่มีพระพุทธเจ้าที่เป็นคุณธรรม พระพุทธเจ้าที่เป็นคุณธรรมนี้ไม่สูญ ไม่สิ้นไปไหน เป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่าแทนพระองค์ แทนพระองค์เมื่อพระองค์นิพพานแล้ว สิ่งนี้จะเป็นสิ่งแทนพระองค์ต่อไป เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึง ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยน้ำใจของเรา แต่ว่าเราไม่ค่อยจะคิดสิ่งเหล่านี้ ก็เพราะว่ามีวัตถุเกิดแทนขึ้นมา แล้วเราก็ไปติดอยู่ในวัตถุนั้นอย่างงอมแงม คิดแสวงหาแต่วัตถุ อยากได้พระชื่อนั้นชื่อนี้
เช่น อยากจะได้พระสมเด็จฯ อยากจะได้นางพญา อยากจะได้พิจิตรลำพูนแดง หรือว่าพระทุ่งเศรษฐี อะไรต่างๆ เพราะเขาพรรณนาไว้ว่า ถ้ามีพระอย่างนั้นแล้วคนจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะอยู่รอดปลอดภัย นี่เรียกว่าถูกหลอกแท้ๆ คือถูกคนเขาหลอกมาหลายปีแล้ว หลอกให้เราหลงเที่ยวไขว่คว้าอยู่ในอากาศโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วเราก็แสวงหาสิ่งเหล่านั้น ครั้นได้มาก็ แหม ปลื้มอกปลื้มใจ แต่ถ้าไปเจอคนที่ชำนาญดูวัตถุ ไม่ใช่คนดูพระหรอก เขาเรียกว่า “ผู้ชำนาญในเรื่องธรณีวิทยา” คือ ดูดิน ดูว่าน ดูอะไรต่างๆ ว่าเกิดขึ้นสมัยไหน เอาแว่นขยายมานั่งเพ่งนั่งมอง แล้วก็บอก โอ้ย นี่บวชใหม่ คือเป็นวัตถุสมัยใหม่ ไม่ใช่ของที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นในสมัยนี้ เราคลายความเชื่อลงไป คลายความนับถือในสิ่งนั้นลงไป แล้วก็เก็บไว้เฉยๆ แสวงหาใหม่ต่อไปเพื่อจะให้ได้สิ่งที่เราต้องการ อย่างนี้ก็เรียกว่า คนไขว่คว้า นางงามในอากาศ หานางฟ้าในอากาศ
ในครั้งโบราณก็มีเรื่องเล่าว่า มีคนไปพบคนๆ หนึ่ง เอาบันไดพาดในอากาศ ทำบันไดยาวและก็พาดปีนขึ้นไป ถามว่าพาดขึ้นไปทำอะไร จะไปหานางฟ้าที่สวยงาม แล้วนางฟ้านั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่รู้ ไม่เคยเห็น แต่เขาว่าสวยงามก็อยากจะได้ แล้วก็นึกว่านางฟ้ามันก็อยู่ในฟ้า เลยทำบันไดพาดขึ้นไป แล้วเราลองคิดดูว่าคนนั้นจะเป็นคนเต็มบาทหรือเปล่า ที่เอาไม้บันไดไปพาดในอากาศเพื่อจะไปหานางฟ้า มันก็ได้คว้านั่นแหละ คือเที่ยวไขว่คว้าได้ลมๆ แล้งๆ แต่ไม่ได้อะไรที่เป็นสาระแก่นสาร เราบางทีก็มีสภาพเช่นนั้น เที่ยวไขว่คว้าแสวงหาสิ่งที่เป็นวัตถุด้วยประการต่างๆ เลยตั้งราคาวัตถุขึ้นแพงๆ วัตถุสิ่งหนึ่งราคาเท่านั้นเท่านี้เพราะคนนิยมชมชอบ
เช่น สมัยหนึ่งนิยมพระบัวเข็มจากพม่า เมืองพม่านี่พระบัวเข็มเอามาใส่รถสิบล้อสักสิบคันก็ยังไม่หมด เพราะอะไร เพราะว่าเป็นพระแก้บน คนที่มันเจ็บไข้ได้ป่วย มีความทุกข์ ความเดือดร้อน บนบานศาลกล่าว จะสร้างพระบัวเข็ม แล้วก็สร้างกันเป็นการใหญ่ ตามวัดวาอารามในเมืองพม่านั้น พระบัวเข็มปลอม มีเยอะแยะ คนเมืองไทยถูกใคร หลอกก็ไม่รู้ ก็เลยชอบพระบัวเข็ม แล้วก็เลยข้ามแม่สายไปในเขตพม่าไปขอพระบัวเข็ม พระท่านก็ไม่ขัดข้อง เพราะมันปลอมยกกุฏิเยอะแยะแล้ว บอกว่าเอาไปตามชอบใจเถอะ พวกนั้นก็เอามาขายกัน เช่น แรกก็ขนาดองค์ละ ๕๐๐ ต่อมาก็ขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ ๕,๐๐๐ ๖,๐๐๐ ราคายิ่งแพงขึ้นไป แพงขึ้นไปตามความนิยมของคน นั่นเราไม่ได้ไปซื้อพระ แต่เราไปซื้อวัตถุที่สมมุติว่าเป็นพระบัวเข็ม แล้วก็เอามาไว้ที่บ้าน เขายังหลอกต่อไปอีก บอกว่า เอาไปไว้ที่บ้านต้องมีภาชนะใส่น้ำแล้วเอาพานใส่ลงไปในภาชนะนั้น เอาพระใส่พานให้อยู่ในน้ำตลอดเวลา จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ถูกหลอกทั้งนั้น คือหลอกให้หลงอยู่ในโลกของวัตถุด้วยประการต่างๆ คนที่งมงายก็ไปเชื่อสิ่งเหล่านั้น แสวงหาได้มา แล้วบางทีไปคุยกับเพื่อนว่า ผมมีตั้ง ๕ องค์ ถ้าบอกว่ามีองค์เดียวมันฉลาดน้อยไปหน่อย เลยบอกว่ามี ๕ เพื่อให้เพื่อนเห็นว่าตั้ง ๕ ชิ้น ไม่ใช่ชิ้นเดียว อย่างนี้เป็นตัวอย่าง นี่เขาเรียกว่า เที่ยวคลำอยู่อย่างนั้นเอง นี่แหละที่ภาษาพระเขาเรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” “สีลัพพตปรามาส” เที่ยวลูบคลำอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไปถือผิดไปจากสิ่งที่ถูกต้อง ไปหลงผิดอยู่ในสิ่งที่ล่อให้หลงให้เพลิดเพลิน ให้เข้าใจผิดด้วยประการต่างๆ เราเรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” คนที่เป็นพระโสดาบันบุคคลตัดสิ่งนี้ได้ ก็หมายความว่า คนที่เป็นพระโสดาบันนั้นเกิดความเข้าใจถูกต้องแล้ว มีความรู้ถูกต้อง มีความเชื่อถูกต้อง มีความคิด การพูดการกระทำถูกต้องตามหลักการในพระพุทธศาสนา ไม่เที่ยวเชื่อเหลวๆ ไหลๆ นอกลู่นอกทางต่อไป เข้าไปสู่กระแสธรรมะ เมื่อเข้าไปสู่กระแสแล้ว กระแสธรรมนั้นก็จะพัดพาเรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง คล้ายกับวัตถุชิ้นหนึ่งตกลงไปในแม่น้ำ มันก็ไหลเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งออกทะเลเป็นที่สุดฉันใด บุคคลที่มีจิตใจเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าโสดาแล้ว ก็ย่อมจะไหลเลื่อนไปสู่พระนิพพาน คือความดับทุกข์ดับร้อนได้เด็ดขาดในที่สุด
คนที่เป็นพระโสดาบันนั้น ต้องละสิ่งเหล่านี้ ไม่มีความเชื่อประเภทเหลวไหล พระโสดาบันท่านไปไหว้พระ ไม่ไปไหว้เพื่อขอให้พระช่วย ไม่ไปไหว้เพราะถือว่าพระนั้นศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มีเดชจะดลบันดาลให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ไปไหว้เพื่อทำพิธีบนบานศาลกล่าวเพื่อให้พระช่วยตนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยประการใดๆ ไม่ได้ไปทำอย่างนั้น
แต่ว่าสมัยครั้งพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีสิ่งที่เป็นวัตถุให้คนไหว้หรอก คนไหว้พระพุทธเจ้าเท่านั้น ไหว้พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น สิ่งที่เป็นวัตถุนี้เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ๗๐๐ ปี จึงได้มีวัตถุเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร มาในสมัยหลังๆ วัตถุเจริญ การทำอะไรก็สะดวกก็เลยมีมากขึ้น มีมากกันจนกระทั่งว่า ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน เพราะคนชอบสร้าง ชอบบนบานศาลกล่าวว่า หายป่วยแล้วจะสร้างพระ แล้วก็ชอบสร้างพระข้างนอก ไม่บนบานศาลกล่าวว่าจะสร้างพระข้างในกันเสียบ้าง จึงอยากจะแนะนำว่า เลิกบนบานศาลกล่าวกันในรูปแบบนั้นกันเสียทีเถอะ อย่าบนว่าหายป่วยแล้วจะสร้างพระพุทธรูปเท่าอายุ หรือจะสร้างพระพุทธรูปเท่าตัว หรือจะสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้มันวุ่นวาย เราควรจะบนตัวว่า ถ้าหายป่วยคราวนี้ จะไม่โกรธใครตลอดชาติ จะไม่เกลียดใคร จะมีใจเมตตารักเพื่อนมนุษย์ จะอยู่ด้วยสติปัญญามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีประจำจิตใจ จะรักษาศีล ๕ ให้เคร่งครัด หรือว่าจะถือศีลอุโบสถในวันพระ อะไรอย่างนี้
ถ้าเราบนบานในรูปอย่างนั้น ดูมันเป็นปัญญาชนสักหน่อย แต่ถ้าเราไปบนว่า จะเอาไข่มาถวายสัก ๑๐๐ ฟอง ข้าวเหนียวสักชาม ปลาร้าสักถ้วยอย่างนี้ ไปแก้บนวัดพระแก้ว ก็เรียกว่ายังเป็นเด็กอยู่นั่นเอง ไม่มีความเติบโตทางจิตใจ ร่างกายเติบโต ใช้ของทันสมัย นั่งรถเบนซ์ แต่ว่าจิตใจนั้นยังเป็นคนสมัยโน้น สมัยขี่เรือแจว ยังไม่ได้เจริญตามสมัยเลย จิตใจยังเป็นเด็ก ยังไม่ก้าวหน้าในธรรมะ ยังเชื่อสิ่งที่ไม่มีสาระ จึงขอให้เปลี่ยนเสียใหม่ ถ้าจะไปบนบานศาลกล่าวที่ไหน ก็บนบานว่า ถ้าหายเจ็บหายป่วยคราวนี้จะถือศีลเคร่งครัด จะนั่งเจริญกรรมฐานทุกคืน จะควบคุมจิตใจให้สงบ ไม่โกรธใคร เกลียดใคร ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร จะมีน้ำใจเสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม อย่างนี้เรียกว่าเราเข้าถึงธรรมะ เราบนบานเพื่อให้เราเข้าถึงธรรมะ ให้มีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ดีกว่าที่จะไปบนบานอย่างนั้น นี่น่าคิด เพราะว่ามีแพร่หลายอยู่ในสังคมทั่วๆ ไป
แล้วใครอยากจะได้พระนี่ อาตมาอยากจะบอก ไม่ต้องไปวิ่งเต้นขวนขวายไปหาให้มันวุ่นวายอะไรหรอก พระมันอยู่ในตัวเราแล้ว อยู่ในใจของเราแล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอยู่ข้างในแล้วให้ค้นหาเอา ให้เปิดสิ่งที่ปิดอยู่ออก แล้วสิ่งนั้นจะปรากฏออกมา ไอ้สิ่งที่ปิดนั้นมันคืออะไร คือความเห็นผิด นี่เป็นเรื่องหนึ่ง ความเข้าใจผิด นี่เรื่องหนึ่ง แล้วก็เกิดกิเลสขึ้นในใจ เกิดกิเลส คือ ความไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในใจนั้น มันปิดบังความเป็นพุทธะ ปิดบังไม่ให้เราเห็นพระพุทธเจ้าที่อยู่ข้างในของเรา เราก็เลยไม่รู้จักพุทธะว่ามีอยู่ ใครอยากจะได้พุทธะก็ไม่ต้องไปเที่ยวหาที่ไหน หาเอาในตัวของเรานั่นเอง ด้วยการเปิดเอาสิ่งที่มันหุ้มห่อไว้ออกไป สิ่งที่หุ้มห่อจิตใจเราก็คือ ความคิดไม่ดีไม่งามด้วยประการต่างๆ เอาออกไปเสีย แล้วใจเราก็สงบ เมื่อใจสงบใจสะอาด ก็เรียกว่า เรามีพระออกมาแล้ว ทุกครั้งที่เรานั่งสงบใจเรียกว่าเรานั่งกับพระ ทุกครั้งที่เรานั่งด้วยความสะอาดในจิตใจเราก็นั่งกับพระ ทุกครั้งที่เรานั่งด้วยใจที่เข้าใจในสิ่งที่มากระทบอย่างถูกต้องก็เรียกว่าเรานั่งอยู่กับพระ เรามีพระประจำอยู่ในจิตใจของเรา คนที่มีพระประจำอยู่อย่างนั้น ก็เรียกว่าปลอดภัย ไอ้ภัยข้างนอกนั้นไม่สำคัญหรอก เพราะภัยข้างนอกมันทำลายแต่ร่างกาย แต่ว่าภัยที่น่ากลัวที่สุดนั้นคือภัยข้างใน ภัยที่มันทำลายจิตใจของเรา ทำให้ใจเราขุ่นมัวเศร้าหมอง ทำให้เร่าร้อน ทำให้มืดบอด นี่น่ากลัว เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นในใจของเรา เรียกว่าเป็นภัย ที่ท่านบอกว่ามีพระแล้วปลอดภัย คือมันปลอดจากภัยเหล่านั้น จิตใจเราไม่มีอันตรายภายใน ไม่ตกไปสู่อบาย คือไม่เป็นไม่ตกนรก ไม่เป็นเศษ ไม่เดรัจฉาน ไม่เป็นอสูรกาย ไม่เป็นผี ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าธรรมะเข้าไปอยู่ในใจ มีพระประจำอยู่ในใจของเรา คือพระปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่เข้าไป มันอยู่แล้ว แต่ว่าเราเปิดสิ่งที่ปกปิดออก เราก็ได้พบพระ คือความสงบ สะอาด สว่างอยู่ภายใน
ในขณะที่ใจเราเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่มีอันตรายที่เรียกว่า ไม่ตกอบาย อบาย คือสภาพจิตใจที่มันไม่สบาย จิตใจที่ไม่สบาย คือจิตใจที่มีความโง่ มีความร้อนอกร้อนใจ อย่างนั้นเขาเรียกว่าจิตใจนั้นมันไม่สบาย อยู่ในอบาย ในภาวะที่ชั่ว ต่ำ ด้วยประการต่างๆ อบายที่น่ากลัวมันก็อยู่ในใจเรานี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน เรากลัวให้มากในเรื่องนี้ และกลัวให้มากในปัจจุบันนี้ เพราะข้างหน้านั้นมันยังไม่มาถึง เรากลัวปัจจุบันกันดีกว่าสิ่งที่อยู่เฉพาะหน้า อะไรที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไอ้นั่นแหละควรกลัว ควรกำจัด ควรเอาออกไปเสียจากใจ เช่น ความโง่นี่ เราควรจะให้อยู่ได้หรือ ถ้าเรายอมให้ความโง่อยู่ในใจเรา ก็คิดผิด พูดผิด ทำผิด เราก็มีภาวะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเรานั่งร้อนอกร้อนใจด้วยอะไรๆ ต่างๆ กลุ้มอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนกับว่าเราตกนรกแล้ว นรกที่น่ากลัวมันไอ้ตัวนี้ที่น่ากลัว นรกที่เขาว่าอยู่ใต้ดินนั้นยังมองไม่เห็นชัด แล้วก็ เราไม่รู้ แต่ไอ้นี่รู้ ร้อนใจนี่รู้ ท่านร้อนใจท่านรู้ นั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ ใครขวางหูขวางตาเดี๋ยวก็เปรี้ยงปร้างเข้าให้ นี่ มันร้อน ร้อนอย่างนี้แหละเรียกว่าเป็นสัตว์นรกอยู่แล้ว มันเป็นอยู่ในใจของเรา ความเป็นอะไรมันก็อยู่ในใจ
คนไทยเราไม่ใช่คนโง่ ท่านพูดอะไรไว้คมๆ เช่นพูดว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” นิพพานอยู่ที่ไหน ก็ที่ใจนั่นแหละ นี่พูดถูกต้อง คุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยายของเรา พูดไว้ถูกต้อง แต่คุณหลานกลับไม่ค่อยเชื่อในคำพูดอย่างนั้น กลับไปเชื่ออย่างอื่น ซึ่งมันไม่ค่อยจะตรงนัก ถ้าเราจะเชื่อให้ตรงก็เชื่ออย่างนั้นว่ามันอยู่ในใจ แล้วสิ่งที่อยู่ในใจ มันแก้ได้ ไอ้สิ่งที่ยังไม่มาถึงมันแก้ไม่ได้ อยู่ข้างนอกมันก็แก้ยาก เราแก้ข้างในดีกว่า แก้เรื่องที่อยู่ในใจของเรา ด้วยการรู้ว่าอะไรมันอยู่ในใจเราในขณะนี้ แล้วเราพยายามที่จะจัดการชำระสะสางสิ่งนั้นให้มันหมดไปสิ้นไป เราก็อยู่ในสภาพสงบ สะอาด สว่าง อยู่ด้วยปัญญา อย่างนี้มันไม่ดีกว่าหรือ ญาติโยมทั้งหลายลองพิจารณา
ถ้าหากว่าเราเชื่อตามแนวนี้ มีความคิดในแบบนี้ เราไม่ต้องไปเที่ยวให้มันวุ่นวายอะไรหนักหนา เรานั่งสร้างพระอยู่ให้สบายในบ้านของเรา เว้นไว้แต่เรามาวัด การมาวัดนี่คือมาเพิ่มความรู้ความเข้าใจ มาซักซ้อมในสิ่งที่เราได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันว่าเป็นการถูกต้องหรือเปล่า จะได้สอบกับครูบาอาจารย์ เราจึงมาวัด มาวัดนี่ก็เหมือนกับมาโรงเรียนนั่นแหละ ไม่ใช่มาเพื่ออะไร เรามาเพื่อการศึกษา มาเพื่อการปฏิบัติ มาเพื่อการขูดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด ปราศจากสิ่งชั่วร้าย มาวัดต้องมาอย่างนั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มาเพื่อแก้ทุกข์ ด้วยการศึกษาเรื่องปัญหาความทุกข์ ให้รู้ว่ามันคืออะไร มันมาจากอะไร แล้วก็จะแก้ได้โดยวิธีใด อันเป็นหลักของพระพุทธเจ้า เราก็มาศึกษา
วัดนี่เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ สถานที่ต่างๆ ที่เราลงทุนรอนสร้างขึ้นไว้ ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แก่การทำตนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน เหมือนกับมาสร้างหลังนี้ไว้ สร้างไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะ วันอาทิตย์ ญาติโยมก็จะได้มาใช้ มานั่งฟังคำสอนในทางพระศาสนา มาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เราทำไว้เพื่ออย่างนั้น ไม่ใช่เพื่ออะไรอื่น ไม่ใช่ วัดที่เราสร้างไว้ก็เพื่ออย่างนั้น เราไปวัดเราไปเพื่ออย่างนั้น แต่ถ้าเราไปวัดเพื่อเรื่องอื่นมันก็ผิดหลักการทางพุทธศาสนา เช่นที่เราไปวัดเพื่ออะไรอื่นเยอะแยะที่เราไปๆ กันอยู่ ไปหาพระ ก็ไปหาเรื่องอื่น เรื่องนอกทางของพระพุทธเจ้า เช่น ไปดูหมอ ไปสะเดาะเคราะห์ ไปเสี่ยง ไปทาย ไปทำอะไรต่างๆ เช่น เข้าไปในโบสถ์ก็แทนที่จะเข้าไปนั่งสงบจิตสงบใจ ไปหาเรื่องรำคาญด้วยการสั่นกระบอกให้มันดังอยู่ตลอดเวลา ไอ้คนอื่นจะนั่งไหว้พระก็ไม่ได้ เพราะคนมันไปสั่นหนวกหู
อาตมาเคยไปพิษณุโลก เข้าไปโบสถ์หลวงพ่อพระพุทธชินราช คือว่าเขาปั้นไว้สวยงามดี พระองค์นี้ ก็อยากจะไปนั่งสงบๆ นานๆ นั่งไม่ได้ เพราะว่าคนสั่นกระบอกมันมากเหลือเกิน แล้วก็เขาก็จัดกระบอกไว้พอคนที่จะมาสั่นเสียด้วย มีตั้งหลายสิบ หลายกระบอก เพื่อให้ได้สั่นทั่วกัน มีเสียงตุ้กติ้กๆ ตลอดเวลา ดูๆ ก็นึกขำว่าแหม หลวงพ่อนี่ถ้าพูดได้ คงด่าก้องโบสถ์แล้ว ว่าไอ้พวกแกนี่มันไม่ได้ความทั้งนั้น มาหาฉันแล้วมาทำอะไรให้ฉันหนวกหูอย่างนี้มันจะได้เรื่องอะไร แต่ว่าหลวงพ่อท่านจะพูดได้อย่างไร เพราะว่าเขาปั้นรูปไม่ไห้พูดนี่ น่าจะเอาเครื่องขยายเสียงไปไว้ข้างหลัง แล้วให้หลวงพ่อพูดเสียบ้าง แล้วคนจะได้หาว่าหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์เข้าไปอีกเรื่องหนึ่ง มันไปได้อย่างนั้น เรื่องศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น
ที่สุโขทัยก็มี เขาเรียกว่าวัดอะไรมีเจดีย์สี่เหลี่ยม วัดนั้น แล้วก็เจดีย์นี้ก็ก่อผนังเป็น ๒ ชั้น ขึ้นไปได้ ขึ้นไปได้ มีช่องขึ้นไปถึงซุ้มพระเศียรพระพุทธรูป เขาทำไว้อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก เรื่องเกี่ยวกับเพื่อให้เกิดความเย็นในห้องพระ ทำไว้อย่างนั้น ผนัง ๒ ชั้นนี่มันเย็นดี
ทีนี้ เช้าหนึ่งมันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ตัดสินไม่ได้ ก็ตกลงว่าไปถามพระดีกว่า ทีนี้เวลาให้ไปถามพระนี่ พระเจ้าพระร่วงท่านฉลาดกว่าคนเหล่านั้น ท่านก็แอบเสด็จไปกรุ แล้วท่านขึ้นไปทางรูฝานั้น ขึ้นไปแอบอยู่ข้างพระเศียรพระพุทธรูป ก็ถามว่าเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไร พระเจ้าแผ่นดินจะต้องการอย่างไรท่านก็บอก ทำเสียงให้มันประหลาดหน่อย แล้วบอกว่า “ควรทำอย่างนั้น” (ทำเสียงประหลาด) พวกนั้นก็ โอ หลวงพ่อพูดได้ คนสมัยสุโขทัยยังพอหรอกได้ หลวงพ่อพูดได้ หลวงพ่อท่านพูดออกมาแล้ว ความจริงพระร่วงท่านพูดเอง เพราะท่านแอบไปอยู่ก่อนแล้ว ทำไว้อย่างนั้นเพื่อแก้ปัญหาเหมือนกัน ทีนี้คนเราก็นึกว่าหลวงพ่อพูดได้ เลยถือว่าศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง นอกจากที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว นี่ การถือไปในรูปอย่างนั้นมีอยู่ทั่วๆ ไป เพราะว่าคนไม่เข้าถึงสิ่งที่ถูกต้องเลยไปยึดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น แล้วอะไรๆ จะกลายเป็นเรื่องประเภทขลังๆ ประเภทศักดิ์สิทธิ์ไปเสียทั้งนั้น นี่มันไม่ใช่เรื่องแท้ เรื่องแท้นั้นเราจะต้องเอาธรรมะมาใช้ขูดเกลาชีวิตจิตใจของเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัวขึ้นมา
นี่โยมรู้สึกอย่างไรบ้างเวลานี้ อาตมารู้สึกว่าอากาศมันจะอย่างไรก็ไม่รู้ มันมัวๆ อย่างไร หมอกน่ะสิ หมอกมันลง แล้วก็หายใจ เหมือนกับควันไฟ ใครเผาอะไร อ้อ โน่นแน่ะ มีคนเผาไฟไว้ตรงนั้น อากาศมันกดลงต่ำ ทีนี้ควันมันไม่ลอยขึ้นบน เลยลอยเข้ามาในห้องนี้ นึกว่าเรื่องอะไร นี่ถ้าไม่รู้เรื่องก็นึกว่ามันศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นอีกแล้ว ความจริงควันไฟนั่นเอง นี่ที่มันไม่ไปไหนเพราะว่าอากาศมันกดลงมาต่ำ เหมือนกับที่เชียงใหม่เขาทำโคมลอย ทำใหญ่ ลงทุนตั้งสี่-ห้าร้อยบาท ซื้อกระดาษ กระดาษบางๆ เอามานั่งติดๆๆ และก็จุด ใกล้ฤดูลอยกระทง เขาจุดโคมลอย ลอยไปในท้องฟ้า บอลลูนนั่นเอง คนไทยทำบอลลูนมาก่อนฝรั่ง แต่ไม่พัฒนา ทำอยู่เท่านั้น ไว้ลอยเล่นอย่างนั้น
ทีนี้วันนั้นอากาศมันมีเมฆหนาข้างบน จุดแล้วมันไม่ขึ้น มันลอยเตี้ยๆ เสมอหลังคาเท่านั้นเอง เพราะอากาศมันกด คนก็บอกว่า ทำไมมันไม่ขึ้น มันจะขึ้นได้อย่างไร เพราะอากาศมันกดไว้ มันขึ้นไม่ได้ มันจะขึ้นต่อเมื่ออากาศมันโปร่ง แจ่มใส ลอยไปไกล และลมก็พัดไป ตกที่นั่นที่นี่ บางทีเขาก็ใส่ของไป เอาผ้าใส่ไปด้วย ใครพบก็เรียกว่าเป็นบุญลาภของคนนั้น แต่ว่าไม่รู้ว่าธรรมชาติมันมี คือความกดของอากาศ นี่ก็เหมือนกองไฟกองนั้น ทำให้มัวๆ ไป โยมนั่งอยู่ในนี้ก็รู้สึกว่ามันมัวๆ อย่างไรพิกล อาตมาก็รู้สึกว่า ทำไมมันมัว นั่นเอง สาเหตุมันอยู่ตรงนั้นเอง
ทีนี้ ถ้าค้นพบเหตุอย่างนั้นมันแก้ง่าย คือเอาน้ำไปราดเสียไม่ให้มีควันมันก็ได้ แต่ว่าปล่อยมันเถอะ เวลานี้ไม่เป็นไร ให้มันฟุ้งไปก่อน แต่ว่าเอามาเปรียบเทียบในชีวิตของเราได้ ว่าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องค้นหาเหตุ เมื่อพบเหตุก็ต้องแก้ที่เหตุ แล้วเหตุนั้นอย่าไปเที่ยวพัดไปข้างนอก มันจะไม่เจอ ถึงเจอก็เจอแบบเขลาๆ หลงๆ เหตุนั้นมันอยู่ในตัวเราเป็นส่วนใหญ่ ความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญ ความเป็นที่รักของคนอื่น ความเป็นที่ชังของคนอื่น มันอยู่ที่เราทั้งนั้น เราทำเอาเอง แต่นี่เราไม่รู้ เพราะไม่มองดูตัวเอง ไม่ศึกษาเรื่องปัญหาชีวิตก็มักคิดว่า แหม หนูนี่ไม่รู้อย่างไรมีแต่คนเกลียดหนูทั้งนั้น เขาเกลียดเราเพราะอะไร เพราะเราวางตัวไม่เหมาะก็ได้ ไม่ถูกต้องก็ได้ เข้าสังคมกับเขาไม่ได้ เพราะเราวางตัวไม่เหมาะ มันขาดคุณธรรมที่เรียกว่า ปริสัญญุตา (47.13) ไม่รู้จักประชุมชน กลัญญุตา (47.17) ไม่รู้จักบุคคลที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องว่าเราควรจะทำตนอย่างไร จึงจะ …... (47.25 เสียงไม่ชัดเจน) นั้นๆ นี่เขาเรียกว่าขาดธรรมะเหมือนกัน
ถ้าเรารู้ธรรมะ เราก็รู้จักปรับตัวเรา ทีนี้ คนเรามันก็แปลก ชอบให้คนอื่นปรับเข้าหาเรา ไม่ชอบปรับเราเข้าไปหาคนอื่น มันลำบากตรงนี้ คนเขามากจะให้ปรับมาหาเรามันไม่ได้ เราจะเอาแต่ใจตัวมันไม่ได้ เราจึงต้องพยายามปรับตัวเราเพื่อให้เข้ากับคนเหล่านั้นชั่วครั้งชั่วคราว เช่น เราเข้าไปในหมู่คนประเภทใด เราจะเอาตัวรอดก็ต้องปรับตัวให้เหมาะแก่คนประเภทนั้น พอเอาตัวรอดไปได้ ไม่ให้เขาติเราก็แล้วกัน ทีนี้ถ้าเราปรับตัวไม่ได้เราก็เป็นคนขวางโลก ไม่รู้จักเวลา ไม่รู้จักสถานที่ ไม่รู้จักบุคคล เข้าไปเที่ยวขวาง เขาก็หมั่นไส้ เขาก็เล่นงานเรา เขาไม่ชอบเราขึ้นมา แล้วเราจะบอกว่า แหม ดวงไม่ดี เข้าไปตรงนั้นถูกปิด มันไม่ใช่เพราะดวง แต่เพราะว่าเราทำไม่ถูก เรื่องจึงเกิดเป็นเช่นนั้น
ในเหตุการณ์อื่นๆ อีกก็เหมือนกัน ในชีวิตของเรานั้น ถ้าหากว่าเราไม่รู้เรื่อง แก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้เรื่องเราก็แก้ได้ง่าย ปัญหาต่างๆ นี่มันง่ายที่จะแก้ ถ้าเรารู้สาเหตุของเรื่อง แต่ถ้าเราไม่รู้เหตุของมันแล้วแก้ยาก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า ให้หมั่นศึกษาเรื่องเหตุผลของชีวิต ในชีวิตประจำวัน คือเราต้องศึกษาเรื่อง ต้องค้นดูที่ตัวเรา มองดูว่าเรานี้คือใคร เรามีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร นิสัยใจคอของเราเป็นอย่างไร เราเป็นคนชอบเข้าข้างตัว หรือเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว หรือเป็นคนที่โอ้อวดตลอดเวลา เรียกว่าเป็นคนชอบอวด ชอบโม้ พอไปไหนเราก็ชอบพูดชอบคุยจนเขารำคาญ ไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักยั้ง เรามีสภาพอย่างไร ต้องดูพิจารณาไว้เสมอ แล้วเราก็แก้ไขปัญหานั้นได้ หรือว่าเราอยู่กัน ๒ คน ๓ คนในครอบครัว อาจจะมีปัญหากลุ้มอกกลุ้มใจ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร บางทีก็ถามมาเหมือนกัน บางทีก็โทรศัพท์มาถาม บอกว่าจะแก้อย่างไรปัญหานี้ ก็ต้องอธิบายไปว่าควรจะแก้อย่างไร แต่บางทีก็ตอบมาว่า แก้ไม่ได้ เพราะว่าฉันทำอย่างนั้นไม่ได้ อ้าว นี่มันแย่แล้ว เพราะว่าให้เราแนะวิธีให้ทำ บอกว่าทำไม่ได้ ให้เสียสละก็ไม่ได้ ให้ตัดใจก็ไม่ได้ มันทำไม่ได้ทั้งนั้น ก็บอกว่าทำไม่ได้ก็ทุกข์ต่อไปก็แล้วกัน ทุกข์จนหมดลมหายใจก็แล้วกัน ก็เพราะไม่ทำ จะทำได้อย่างไร เราแนะวิธีให้ สมมุติว่าเราถือของหนัก บอกว่า แหม หนักเหลือเกินเจ้าค่ะ ทำอย่างไร ก็วางเสียสิ ถ้าแกบอก วางไม่ได้ วางไม่ได้ก็แบกต่อไปสิ เรื่องอะไร ใครอยากจะถือก็ถือไปสิ ใครจะว่าอะไร ก็อยากจะหนักก็ถือไปสิ อย่างนี้ เราบอกให้วางไม่วาง บอกให้ปล่อยเสียบ้าง ให้นึกอย่างนั้นให้นึกอย่างนี้ นึกไม่ได้ทั้งนั้น คือนึกแต่ตัว จะเอาท่าเดียว เข้าข้างตัวท่าเดียว ไม่ให้เขาบ้าง ถือว่าไม่ให้อภัยแก่เขา คนเราถ้ามันผิดไปแล้ว เราก็ต้องให้อภัย ค่อยพูดค่อยจากัน ค่อยทำความเข้าใจกัน ไม่ยอมทั้งนั้น อย่างนี้เขาเรียกว่า ทิฐิมานะ มันแรง เข้าข้างตัวมากไป เมื่อเข้าข้างตัวมากไป ก็ต้องอยู่คนเดียว อยู่กับผู้อื่นไม่ได้ เพราะเราไม่ยอมสละตัวเราเพื่อคนอื่น ในเรื่องอะไรต่างๆ มันก็กลุ้มใจเรื่อยไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น นี่เป็นปัญหาที่มีอยู่มากมายก่ายกอง
บางทีปัญหามันเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิด แต่มันเกิดเพราะเราเผลอไป เราประมาทไป แล้วก็ทำตัวปัญหามันขึ้น ก็ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้น กลุ้มอกกลุ้มใจ ความทุกข์ทั้งหลายเกิดเพราะความยึดถือ ที่ภาษาธรรมะเรียกว่า อุปาทาน อุปาทาน หมายความว่ายึดถือไว้ด้วยความหลงผิด เข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ แล้วก็นั่งกลุ้มอกกลุ้มใจมีความทุกข์ รู้ว่าทุกข์ ทำไมไปเอามันไว้ เรากำถ่านไฟร้อน แล้วกำไว้ทำไม เพียงแต่ อ้ามือเท่านั้นถ่านมันก็หล่นไปเอง ไม่ยอมอ้า ยังกำไว้ แล้วไปบอกว่า ร้อนจริงๆๆ บอกว่า อ้าว ก็อ้ามือออกเสียสิ ไม่ยอมอ้า ยังกำอยู่ แล้วมันจะปล่อยได้อย่างไร ไอ้เรื่องปล่อยมันนิดเดียวเท่านั้นเอง อ้ามือออกเท่านั้น ถ่านมันก็หล่นตุ้บไปเท่านั้นเอง แต่ไม่ยอมอ้า คือใจมันไม่ยอม ใจจะยึดไว้ ทำไมยึดไว้มาก เพราะนึกว่าตัวจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตัวจะไม่ได้สิ่งนั้น ตัวจะไม่ได้สิ่งนี้ นี่แหละเขาเรียกว่า ยึดมั่นในตัวตนมากไป ไม่รู้จักสละ ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในสังคมทั่วๆ ไป ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าคนไหนมันเหมือนกันทั้งนั้น คือ ถ้าเรารู้จักว่า ปล่อยมันบ้าง ช่างหัวมันเสียบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นก็ช่างหัวมันเสียบ้าง ปล่อยๆ วางๆ ไม่จำเป็นก็อย่าไปคิดถึงมัน เรื่องอะไรเกิดแล้ว มันก็แล้วไปแล้ว นึกปลงด้วยคำง่ายๆ แล้วก็แล้วไป ช่างหัวมัน มันไม่มีอะไรนักหนาที่เราจะไปนึกถึงให้มันเป็นทุกข์ นึกอย่างนั้นมันก็ง่าย แต่นึกไม่ได้ เพราะไม่ยอมตัวเดียว ไม่ยอมอย่างเดียว ไม่ได้ เรื่องนี้ยอมไม่ได้ หัวเด็ดตีนขาดยอมไม่ได้ แล้วจะไปแก้กันอย่างไร อย่างนี้มันก็ไม่ไหว เขาเรียกว่า คนดื้อนี่พระโปรดไม่ได้ คนที่พระโปรดได้ คือคนที่ยอมรับ เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม คือถ้าไม่ยอมรับ ไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตาม ใครจะไปโปรดได้ ไม่มีพระไหนจะมาโปรดได้ เพราะเราไม่ยอมรับ เราไม่เชื่อ เราไม่ฟัง เราไม่ทำตาม แล้วจะไปโปรดได้อย่างไร แม้พระพุทธเจ้าท่านก็โปรดไม่ได้ เพราะเขาไม่ยอมรับ
มีเรื่องเล่าไว้ คือว่าไม่ใช่เรื่องในบาลี แต่ว่าเอาเรื่องพระโมคคัลลานะเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่าพระโมคคัลลานะ ท่านไปเห็นคุณยายคนหนึ่งกำลังทำปาณาติบาตร พระโมคคัลลานะ ก็ไปยืนด้านทิศตะวันออกเพื่อให้มองเห็น แกหันหน้าไปทิศตะวันตก พระโมคคัลลานะ ก็แสดงฤทธิ์ได้นี่ ไปยืนอยู่ทิศตะวันตกอีกองค์หนึ่ง แกหันหน้าไปทางทิศเหนือ พระโมคคัลลานะ ก็ไปยืนทิศเหนือองค์หนึ่ง แกหันหน้าไปทิศใต้เสีย แล้วก็นี่ พระโมคคัลลานะ ไปยืนอยู่ทิศใต้ แกก้มลงดูพื้นดิน พระโมคคัลลานะ จะไปยืนตรงไหน ทำอย่างนั้นแกก็ไม่เห็น นี่แสดงว่า ไม่ยอมรับนั่นเอง คือถ้าพูดไม่ยอมฟัง ไม่ใช่ว่า พระโมคคัลลานะ ไปยืน พูดไม่ยอมฟัง ไม่ยอมรับ ไม่เอาทั้งนั้น ปิดหูเสีย ปิดตาเสีย ปิดใจเสีย แล้วจะได้เรื่องอะไร โปรดไม่ได้ อย่างนั้นโปรดไม่ได้ ต้องอยู่นรกต่อไป เขาเรียกว่า ตกโลกันตร์นรกโลกันตร์ คือมันที่สุดของนรกแล้ว ไม่รู้จะตกลงไปตรงไหนแล้ว จมดิ่งลงไปเลย เพราะไม่ยอมรับนั่นเอง แต่ถ้าเรายอมรับฟัง เอาไปคิด เอาไปปฏิบัติปัญหานั้นแก้ง่าย ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เป็นอย่างนี้
เรามีปัญหาอะไรก็คิดอย่างนั้น คิดให้มันเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ มันไม่ถึงกับเป็นกับตายในชีวิตหรอก ไม่ถึงกับเสียหายอะไร เราไม่มีไอ้สิ่งนั้นก็ยังอยู่ได้ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร หรือว่าเราจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง เราก็นึกว่าเมื่อก่อนเราก็ไม่มี แล้วมันเพิ่งมามีขึ้น แล้วมันก็หายไป สมมุติว่ามันอยู่กับเรา มันก็ไม่ได้ไปกับเราตลอดไป มันเป็นของธรรมชาติ เรายืมมาใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเราก็ต้องจากสิ่งนั้นไป เอาทิ้งไว้ให้คนอื่นใช้ต่อไป แม้ว่าขโมยมันจะลักเอาไปมันก็อย่างนั้น ยิ่งขโมยด้วย ก็รักษาไว้ไม่ได้ มันต้องไปอยู่กับคนอื่นต่อไป เราจะไปยึดอะไรนักหนาในเรื่องอย่างนั้น ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นไปแล้ว ก็ต้องปล่อยไปตามเรื่องตามราวเถอะ เรานึกปลง นึกวาง จิตใจก็จะสบาย ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน แต่มันลำบากตรงที่ไม่ยอมปลง ไม่ยอมวาง เป็นเหมือนกับยักษ์แบกเจดีย์ เราไปดูเจดีย์โบราณ เขาทำยักษ์ยืนอยู่ แหม ทำหน้าตา เราเห็นแล้วนึกบ้างไหมว่าอะไร นั่นก็ตัวปริศนา ตัวปริศนา ตัวนั้นมันตัวปริศนา ปริศนาว่าทุกข์แล้วไม่ยอมปล่อย คือยักษ์นี่มันโง่ ยักษ์นี่ ยักษ์นี่ไม่ใช่คนฉลาดอะไร มันโง่ ยืนยันอยู่อย่างนี้ หน้านิ่วคิ้วขมวด เกร็ง ลำข้อเกร็ง ไม่ใช่เครื่องประดับเจดีย์เฉยๆ แต่เขาให้คนที่ไปที่เจดีย์นั้นได้มองว่า การแบกมันเป็นความทุกข์ ถ้าวางแล้วมันเบา มันโปร่ง มันสบาย แต่ยักษ์นี้มันไม่ยอมวาง เพราะเขาปั้นให้มันแบกอยู่อย่างนี้ตลอดชาติจนมันพังแหละ แต่เพื่อสอนคนที่ไปเห็นว่าอย่าแบกเข้าไป อย่าไปแบกเข้าไป ทำอะไรอย่าทำอย่างคนแบกยักษ์แบกเจดีย์ หมายความว่า อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ให้ทำด้วยปัญญา ถ้าเราทำด้วยปัญญามันปล่อยง่ายวางง่าย แต่ถ้าทำด้วยความยึดมั่น มันปล่อยไม่ลงวางไม่ลง เพราะอะไร เพราะเรานึกว่า ไอ้นี่มันของฉันนี่ ฉันจะต้องแบกมันไว้ จะต้องยึดมันไว้ ฉันจะไม่ยอมให้ใคร นี่เขาเรียกว่าแบก เป็นยักษ์แบกเจดีย์ ก็กลุ้มใจตาย
พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำงานทุกอย่าง แต่ว่าไม่ทำให้เกิดทุกข์ ทำงานอย่าให้เป็นทุกข์ มีอย่าให้เป็นทุกข์ เป็นก็อย่าให้เป็นทุกข์ หลักการมันอยู่ตรงนี้ และเราต้องหัด หัดคิด หัดนึกว่า เออ จะทำอย่างไรอย่าให้มันเป็นทุกข์ มีอย่าให้เป็นทุกข์ หรือว่าเกี่ยวข้องกับใคร อย่าเกี่ยวข้องให้เป็นทุกข์ เช่น เราจะรักใครสักคนหนึ่ง ถ้ารักเป็นทุกข์ก็อย่าไปเที่ยวรักมันเข้า มันจะเป็นลมตายเพราะความรัก รักเป็นทุกข์ จะไปรักทำไม รักแล้วไม่ทุกข์ มันใช้ได้ เช่น เจ้าหนุ่มไปรักหญิงสาวคนหนึ่ง แล้วมานั่งทุกข์ใจเรื่องเล็กๆ รักแบบนี้เป็นทุกข์ หญิงสาวก็ไปรักหนุ่มคนนั้นมานั่งกลุ้มใจ นี่รักแบบโง่ๆ ถ้ารักแบบโง่มันก็เป็นทุกข์ มีแบบโง่ๆ มันก็เป็นทุกข์ ทำอะไรแบบโง่ๆ มันก็เป็นทุกข์ วัดได้ด้วยตัวเอง ถ้าตัวมานั่งกลุ้มใจ อ้าว เรามันโง่แล้ว กลุ้มใจทุกครั้ง นั่นเราโง่แล้ว ถ้าเราฉลาดเราจะกลุ้มทำไม เรายิ้มได้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเราก็หัวเราะได้ หัวเราะมันอย่างนั้น ธรรมชาติมนุษย์มันเป็นอย่างนั้น เราหัวเราะ เราไม่เป็นทุกข์ แล้วมันก็สบายใจ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเศร้าหมอง หน้าตาไม่บูดไม่บึ้ง จิตใจสบาย มันต้องรู้จักทำใจให้สบายในสถานการณ์ทุกอย่าง ทุกเวลา ทุกบุคคล ทุกเหตุการณ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นแหละเรียกว่า เป็นชาวพุทธแท้ เพราะชาวพุทธคือผู้เบิกบานแจ่มใส ไม่มีความทุกข์เพราะปัญหาอะไรๆ ที่เกิดขึ้น เราจึงต้องฝึกหัดในเรื่องนี้ หัดทำใจในเรื่องนี้ ฝนตกก็อย่าไปเป็นทุกข์ แดดออกก็อย่าไปเป็นทุกข์ อะไรก็อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน เราก็ทำใจให้ดีไว้ แล้วค่อยหาใหม่ต่อไป อะไรสูญไปแล้ว ช่างหัวมัน หาใหม่ได้ ของมาทีหลัง เราก็สบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน
นี่เป็นแนวทางที่ควรจะใช้ในชีวิตประจำวันได้ แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที นั่งสงบใจ คือนั่งตัวตรง หลับตา ไม่ยุ่ง หายใจออกยาว หรือหายใจเข้าก็ให้ยาว กำหนดที่ลมหายใจ หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ อย่าให้ไปนึกเรื่องอื่น คุมมันไว้ เอาสติคุมไว้ให้รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ เป็นเวลา ๕ นาที