แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ฤดูนี้เป็นฤดูฝนใกล้การเข้าพรรษา พ่อแม่ที่มีลูกชายพอจะบวชในพระพุทธศาสนาได้ ก็มักจะนำมาวัดเพื่อให้บวชในพระศาสนา โดยเฉพาะที่วัดนี้ ในขณะนี้มีคนนำลูกมาฝากเพื่อให้บวชมากรายหรือมาเกือบทุกวัน แต่ว่าเสียดายที่ไม่สามารถจะรับไว้ได้ เพราะจำนวนคนที่มาสมัครไว้นั้นมากพอแล้ว ไม่ใช่มากพอ มันเกินไป คือล้น ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของก็ใส่ไม่พอ ตะกร้าภาชนะจะใส่มันเต็ม ก็ไม่รู้จะรับอย่างไร เมื่อไม่รับก็นั่งอ้อนวอน ขอให้รับไว้สักคนเถอะ ทุกคนก็ต้องอย่างนั้น คราวนี้ถ้ารับตามอ้อนวอนทุกคนก็ไม่รู้จะให้นอนตรงไหน เพราะว่านอนใต้ต้นไม้ไม่ได้ หน้าฝนมันต้องอยู่ในอาคารมีหลังคา มีพื้น มีฝาบังแดดบังฝนได้ตามพระวินัย อันนี้ที่มันจำกัด ก็มักจะพูดว่าตรงไหนก็นอนได้ ไอ้คนที่พูดนั้นไม่ได้มาบวชคือคุณแม่ คราวนี้คนที่มาบวชคือลูกชาย พอบวชเข้าไปแล้วนอนตรงไหนมันไม่ได้ แล้วก็บ่นอู้อี้จะขอย้ายที่บ้างละ อย่างนี้นู้นบ้างละก็ทุกปีมา อันนี้มันเป็นเรื่องลำบากใจ อาตมา นี่ไม่ชอบปฏิเสธในเมื่อใครมาขออะไร แต่ว่าครั้นจะรับก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน นี่มันเป็นปัญหาอยู่ทุกวันในสมัยนี้ จึงเป็นการลำบาก
ทีนี้เราจะทำอะไรนี่ขอให้วางแผนล่วงหน้านาน ๆ หน่อย สมัยนี้เค้านิยมวางแผนกัน เพราะว่ามันไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนคนมันน้อยทำอะไรก็ถึงเวลาไปก็ไปได้ อย่างจะไปขึ้นรถไฟ นอนหลับตื่นแล้วไปเดินไปขึ้นรถยังได้ เพราะว่ารถไฟไม่ค่อยมีคนโดยสาร เรือบินก็ไม่ค่อยมีคนโดยสาร จะไปซื้อข้าวซื้อของอะไรก็ไปสะดวกสบาย เดี๋ยวนี้มันไม่อย่างนั้น จะขึ้นรถไปไหนนี่มันต้องลำบาก เพราะว่าคนมันแน่น เรือบินก็ต้องบุ๊ค ล่วงหน้า อะไร ๆ มันต้องวางแผนล่วงหน้าทั้งนั้น เราจะบวชนี้ก็ต้องวางแผนว่าจะบวชวัดไหน เมื่อรู้ว่าจะไปบวชวัดไหนก็ต้องไปติดต่อสมภารเจ้าวัด ให้รู้ว่าต้องการจะมาบวชที่วัดนั้นวัดนี้ เขาจะได้จดชื่อไว้ ทีนี้บางคนบอกว่า ยังลาราชการไม่ได้ จึงไม่มาบอก อันนี้ไม่จำเป็น ลาไม่ได้มาบอกไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย ที่ลาไม่ได้แล้วไม่มาบอกนั่นแหละจะเสียหาย เพราะว่าเมื่อบอกเข้าจริง ๆ มันไม่มีที่จะให้อยู่ ก็เลยผิดหวังไป การมาบอกไว้ล่วงหน้าบุ๊คที่ไว้ ว่าขอบวชด้วยคน ครั้นถึงเวลาลาไม่ได้มันก็ไม่ได้เสียหายอะไร วัดก็ไม่ได้ขาดทุนอะไร ท่านก็ไม่ร้อนใจในเรื่องอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องทำไว้ล่วงหน้า บางคนบอกว่าไม่รู้เรื่อง นั่นมันโทษของการไม่มาวัด คือว่าเมื่อไม่มีอะไรจำเป็นแล้วก็ไม่ค่อยมาวัดกัน มาก็เมื่อคราวจำเป็นจะฝากลูกให้บวชอะไรนี่ มันลำบาก วัดใหญ่ ๆ นะ ส่วนมากที่เต็มทั้งนั้น ลองไปถามดู วัดบวรนิเวศฯ วัดราชบพิธฯ อะไร วัดใหญ่ ๆ ที่คนนิยมเต็มกันทั้งนั้น ไปแล้วก็บวชไม่ได้ อันนี้เราจึงต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไร เตรียมตัวไว้ วางแผนไว้ ทุกอย่างต้องมีแผนทั้งนั้นสมัยนี้ แม้การดำเนินชีวิตประจำวันนี่ก็ต้องวางแผน วางไว้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี ว่าเราจะทำอะไร จะทำอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง นี่มันต้องทำทั้งนั้น สมัยนี้คนมันมาก ชาวตะวันตกนั้นเขาจะทำอะไร เขาวางแผนเป็นปี ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ยิ่งเป็นเรื่องประเทศชาติแล้วต้องวางแผน ๕ ปี ๆ เขาเรียกว่า “โครงการ ๕ ปี” รอบที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม แล้วดำเนินงานตามโครงการนั้น แล้วก็วางแผนต่อไป มีอะไรควรจะปรับปรุงแก้ไขก็ต้องจัดต้องทำต่อไป เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมในยุคปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ไม่ให้เราประมาท ให้เราทำอะไรด้วยความไม่ประมาท ให้คิดล่วงหน้าไว้ว่าจะทำอะไร แล้วก็ทำตามที่คิดที่ตรองไว้ ถ้าเป็นการถูกการชอบก็ทำตามนั้น ถ้าไม่ถูกไม่ชอบเราก็ไม่กระทำ อันนี้เป็นหลักการในทางพระพุทธศาสนา ให้เราดูตัวอย่างว่าการปฏิบัติงานของพระผู้มีพระภาค ภายหลังการตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็วางแผนว่าจะไปสอนใคร ใครจะรู้เรื่องในสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นี้บ้าง อย่างวางแผนว่าต้องไปสอนนักบวชดูก่อน ว่าเขาฟังแล้วจะรู้เรื่องหรือไม่ ครั้นไปสอนนักบวชได้ผล ทีนี้วางแผนว่าจะต้องไปสอนประชาชน สอนประชาชนนี้จะไปสอนที่ไหนก่อน เมืองใดเป็นประเทศ และรัฐใดเป็นรัฐใหญ่ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ก็ต้องไปรัฐใหญ่ก่อนเพราะรัฐใหญ่นี่ปัญญาชนมาก คนมีความรู้ก็มีมาก ครูบาอาจารย์เจ้าลัทธิก็มีมาก ต้องไปสอนคนรู้คนฉลาด ถ้าไปสอนคนที่ไม่รู้เรื่อง พูดแล้วมันก็เสียเวลา แล้วก็จะเกิดปัญหาในกาลต่อไป
สมมุติว่าได้คนมาเป็นสมาชิก คนเขามองว่าก็พวกไม่มีความรู้ทั้งนั้นแหละ มาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า งานมันหนักในกาลต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นพระองค์จึงคิดว่าต้องไปสอนคนฉลาดก่อน สอนชั้นปัญญาชน เช่นว่าพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการ พ่อค้าผู้มั่งคั่ง หรือว่านักบวชที่คนเคารพนับถือมากในแคว้นนั้น ในรัฐนั้น เช่นจะไปกรุงราชคฤห์นี่ก็ต้องไปปราบนักบวชที่คนนับถือมากสามคนพี่น้อง คือกัสสปะสามคนพี่น้อง ไปปราบให้อยู่มือก่อน เอามาเป็นลูกศิษย์ให้ได้ ครั้นปราบสามคนนั้นเสร็จแล้วก็เข้ากรุงราชคฤห์ได้ คนในราชคฤห์เห็นอาจารย์ซึ่งมีชื่อสียง คนนับถือมากมาเป็นลูกศิษย์พระองค์แล้ว มากราบแทบเท้าให้คนเห็นแล้ว พวกนั้นก็ยอมรับฟังด้วยดีในหลักคำสอน แล้วก็เลยได้ประโยชน์ งานมันไม่เหนื่อย นี่เรียกว่าเป็นการวางแผนการปฏิบัติงาน ผลที่สุดก็สอนพระเจ้าพิมพิสารและบริวารจำนวนมากมาย ทีนี้พระเจ้าพิมพิสารนี่เป็นมหาราช เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ แคว้นมคธนี่ก็เป็นแคว้นใหญ่ เดี๋ยวนี้เค้าเรียกว่าแคว้นพิหาร มีพลเมืองตั้งแปดสิบล้านในสมัยนี้ อาณาเขตกว้างขวางมาก ทิศเหนือจรดภูเขาหิมาลัย ไม่ใช่เล็กน้อย แล้วก็มีคนที่มีความรู้มีปัญญาอยู่ในรัฐนั้นมากมาย พระองค์จึงไปเริ่มปฏิบัติงานที่รัฐนั้นก่อน เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างให้รัฐอื่นได้เห็นว่าพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยอมรับนับถือพระผู้มีพระภาคเจ้า ยอมตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ข่าวมันก็ลือไปสู่รัฐอื่น ๆ แล้วพอจะไปทำงานที่รัฐอื่นก็ง่าย โดยไม่ต้องไป เขามานิมนต์เองด้วยซ้ำไป พอรู้ข่าวเขาก็มานิมนต์เช่นว่าเมืองสาวัตถีนี่ ก็เรียกว่าแคว้นใหญ่อีกเหมือนกันเรียกว่าแคว้นโกศล มคธนี่อยู่ทางใต้ แคว้นโกศลนี่อยู่ทางเหนือขึ้นไปหน่อยเป็นแคว้นใหญ่เหมือนกัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในแคว้นนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในแคว้นมคธ คนมาค้าขายเมืองมคธก็เล่าลือกันไป ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ คำสอน สอนอย่างนั้นอย่างนี้ น่าเลื่อมใสน่าศรัทธา คนเขาลือไป พวกทางโน้นก็อยากจะมาพบพระพุทธเจ้า
ตัวอย่างคนที่มาพบคนแรกก็คือเศรษฐีอนาถปิณฑิกะ สมัยก่อนนี้เรียกว่าสุทัตตคฤหบดี ชื่อนาย “สุทัต” เรียกง่าย ๆ เป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมาก แล้วก็น้องสาวนี่มาแต่งงานกับราชคหกะเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ก็เดินทางมาเยี่ยมครอบครัวน้องสาว แต่มาถึงเห็นเค้าวุ่นวายกันไปทั้งบ้าน ทำนั่นทำนี่ให้วุ่น ไม่ได้สนใจว่ามีแขกมาเยือนเพราะยุ่งสั่งงาน ก็สงสัยว่าจะทำงานอะไรกัน เลยถามน้องเขยว่า “วุ่นวายเรื่องอะไรกัน” เค้าก็บอกว่าพระพุทธเจ้าจะมาฉันที่บ้านในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารจำนวนมาก จึงได้จัดสถานที่ จัดอาหารที่จะเลี้ยงพระ แล้วก็เลี้ยงคนที่มาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าด้วย ท่านเศรษฐีนั้นได้ฟังแล้วก็นึกในใจว่า “โอ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก” อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า เขาฝันอยู่แล้วคนในประเทศอินเดียนี่ ฝันว่าจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักองค์หนึ่ง หรือว่ามีพระอรหันต์ที่จริง ๆ เกิดขึ้นในโลกสักองค์หนึ่ง ครั้นเมื่อได้ทราบข่าวเช่นนั้นก็ดีใจ นึกในใจว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก คืนนั้นนอนไม่ค่อยจะหลับสนิท มีความกังวลด้วยเวลา อยากจะให้มันสว่างไว ๆ จะได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็นอนไม่หลับเท่าใด พอยังไม่ทันสว่างก็ลุกขึ้น แล้วเดินทางออกจากบ้านที่พักไปสู่เวฬุวนาราม อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เวลานั้นพระพุทธเจ้าตื่นบรรทมแล้ว ก็เดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ปกติพระผู้มีพระภาคฯ ตื่นบรรทมแต่เช้ามืด คือขณะตีสี่ ตื่นแล้วก็ลงมาเดินออกมาเดินอยู่กลางแจ้ง เป็นการบริหารร่างกายให้มีความเป็นปกติ ในขณะเดินนั้นก็พิจารณาไปด้วยในตัว คือวางแผน เดินวางแผนไปด้วยในตัว วางแผนว่าเราจะไปสอนใคร ใครมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจอยู่บ้าง ใครมีปัญหาชีวิตที่ขบไม่แตกแต่เราจะต้องไปช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้น นี่พระองค์วางแผนว่าจะไปแล้ว ขณะที่กำลังเดินอยู่นั่นแหละ เศรษฐีก็เดินเข้ามาใกล้ ๆ พระพุทธเจ้า เข้ามาถึงก็นั่งลงแสดงความเคารพ พระองค์ก็สอนธรรมะให้ฟัง สอนเรื่องง่าย ๆ คือสอนเรื่องทาน การให้ การแบ่งสิ่งที่เรามีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ผู้อื่น สอนเรื่องความเป็นอยู่อย่างมีระเบียบในชีวิต เรียกว่ามีศีล สอนเรื่องผลอันเกิดขึ้นจากทานและศีล คือความสงบในสังคม มนุษย์จะอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องเพราะมีความรักกัน อยู่กันมีระเบียบ
อันนี้เราลองคิดดูว่าคนเราในสังคมนี่ ถ้าอยู่กันด้วยความรักมันก็เป็นสุข อยู่กันด้วยความมีระเบียบมันก็เป็นสุข เรื่อง “ศีล” นี่ก็คือเรื่องความมีระเบียบ ความมีระเบียบในการกินการอยู่ ในการทำงาน การประพฤติปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่ามีความเป็นระเบียบ เมื่อมีความเป็นระเบียบสังคมมันก็ไม่วุ่นวาย ไม่เกิดปัญหา ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เกิดความทุกข์ยากอันเกิดจากการไม่มีศีลประจำใจ ท่านสอนให้มีศีลแล้วก็เกิดผล ผลที่เกิดก็คือเรียกว่า “สวรรค์” สวรรค์ในที่นี่ก็หมายถึงว่าความสงบสุขในสังคม มนุษย์อยู่กันฉันพี่น้องไม่มีการรังแกกัน ในทางร่างกายชีวิต ในทางทรัพย์สมบัติ ในทางคู่ครองและในทางการพูดการจา หรือมีสุขภาพดีเพราะไม่มีการดื่มอะไรที่เป็นพิษเข้าไปในร่างกาย ไม่เสพสิ่งเป็นพิษ ร่างกายเป็นปกติ อย่างนี้มันก็มีความสบายเป็นอยู่เหมือนกับในสวรรค์ สวรรค์ที่เค้ากล่าวไว้ก่อนนั้นเป็นสวรรค์โดยสมมุติ ยกภาพมาให้ดูว่ามีวิมาน มีนางฟ้า มีการเป็นอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นข้อเปรียบเทียบมากกว่า แต่เนื้อแท้จริง ๆ นั้นสวรรค์นี่มันอยู่ในเมืองคนนี่เอง คือถ้าคนประพฤติดีประพฤติชอบ อยู่ในศีลในธรรม มีความรักกันฉันพี่น้อง เพราะว่าคนเหมือนกัน เทวดานี่มองแล้วน่าตามันเหมือนกัน คือมองแล้วว่าเราเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราไม่ควรจะเบียดเบียนกัน ที่นี้ถ้าว่าไม่มองอย่างนั้น มองเห็นเพื่อนไม่เป็นมนุษย์มนา คิดจะไปฆ่าจะไปแกงเขา อย่างนี้มันก็ไม่เป็นสวรรค์ไม่เป็นความสุข เราก็แสดงอานิสงส์ว่ามันเป็นสวรรค์ เป็นความสุขในชีวิตประจำวัน มีบ้านก็ไม่ต้องปิดประตูบ้าน ไปไหนก็ทิ้งบ้านช่องได้ มันเป็นอย่างนี้มันเป็นความสุขหรือไม่ สมัยก่อนนี้เมืองไทยเราบางจังหวัดมีสภาพเช่นนั้น เช่น จังหวัดสตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ข้าราชการที่ไปอยู่ที่นั่นมีบ้าน เปิดประตูไว้ก็ยังได้ ถึงปิดก็ไม่ต้องใส่กุญแจ ไม่ต้องหากุญแจเชน อย่างดีมาใส่ประตูอย่างสมัยนี้ เอาเชือกผูก ๆ ไว้เท่านั้นเอง ผูกไว้ไม่ให้สุนัขมันเข้าเท่านั้นเอง แล้วก็รถจักรยานก็ทิ้งไว้ใต้ถุน กลางวันกลางคืนก็อยู่ที่นั่น ตากผ้าทิ้งไว้ข้างในบ้านมากมาย ไม่เคยมีขโมยมาลัก เดินไปไหนก็ปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง เจ้าคุณคนหนึ่งท่านไปอยู่ตั้งแต่ยังไม่เป็นเจ้าคุณ เป็นคนธรรมดา ไปอยู่ปัตตานีอยู่มาจนออกราชการแก่ชราตายที่นั่น
ท่านบอกว่ามันไม่เคยมีขโมยที่จังหวัดนี้ นั่นเขาเรียกว่าอยู่กันอย่างมีสวรรค์แล้ว มีความสุขแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นสวรรค์แล้วแถวนั้น มันมีแต่ความวุ่นวายมีปัญหา คนเดินทางไปมาก็ถูกจี้ถูกถูกปล้น อยู่ในบ้านก็ถูกลักขโมย ข้าวของเผลอไม่ค่อยจะได้ นี่มันก็เป็นนรก นรกมันคือร้อน อยู่กันด้วยความร้อนอกร้อนใจด้วยความเป็นทุกข์ด้วยความกังวล แม้เราจะมานั่งพักผ่อนสักหน่อย ใจมันคิดไปถึงบ้านว่า เอ๊ะ! บ้านจะอยู่เรียบร้อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เดี๋ยวจะเกิดขโมยเข้าไปงัดบ้านหรือว่าเราอยู่ในบ้านนอนก็ไม่สบายกลัวขโมยจะปีนป่ายเข้ามา เอาข้าวเอาของไป อย่างนี้เรียกว่าสภาพนรก คือร้อนอกร้อนใจ ไปไหนก็ร้อนใจ นั่งอยู่ในบ้านก็ร้อนใจ จะทำมาหากินอะไรก็เต็มไปด้วยความวิตกกังวลมีปัญหา ร้อนอกร้อนใจด้วยประการต่าง ๆ มันไม่มีความสุข แต่ถ้าประพฤติหลักดังที่กล่าวแล้วมันก็เป็นสุขสบาย เป็นสวรรค์ทีเดียว ในพุทธศาสนาเราพูดถึงอย่างนั้น ต้องการให้ทุกคนทำตนเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพระอริยะเจ้า แล้วจะได้มีความสุขเหมือนอยู่ในสวรรค์ แต่ว่าสวรรค์นั้นพระองค์ก็ยังติเหมือนกัน บอกว่าความสุขในสวรรค์นั้นเป็นความสุขที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มั่นคงไม่ถาวร ก็ชี้ทุกข์โทษให้เห็น ให้เบื่อหน่ายในความสุขแบบนั้น ให้ออกไปจากความสุขแบบนั้น เรียกว่า “กามาxx (0:18:50.2) เห็นxx แล้วผลที่สุดก็จิตพรากออกจากอารมณ์เหล่านั้น เป็นความสุขที่สูงยิ่งขึ้นไป เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากสภาพจิตใจที่มีความสงบ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ในเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น แม้อะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตก็พอปลง พอวาง มีสภาพจิตใจสงบเฉย เพราะปลงตกไม่ใช่เรื่องอะไร ปลงตกว่าธรรมดามันเป็นอย่างนั้น อะไร ๆ มันก็ฝืนกฏธรรมดาไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ จิตใจก็สบายขึ้นมีความสงบในชีวิตประจำวัน พระองค์พูดให้ฟังอย่างนั้น เศรษฐีผู้นั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรมนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เรียกว่าเป็นพระโสดาบันบุคคล
พระโสดาบันบุคคลนี่แปลว่า บุคคลผู้ถึงกระแสธรรม ถึงกระแสแล้วมันมีแต่จะไหลเลื่อนกันไปแล้ว เหมือนกับท่อนไม้ใหญ่ ไหลเลื่อนมาเรื่อย ๆ ตกลงไปสู่กระแสน้ำใหญ่ แล้วน้ำมันก็ต้องพัดเรื่อยไป ออกไปสู่มหาสมุทรฉันใด จิตใจคนที่เข้าถึงขั้นนี้ เรียกว่าเข้าถึงขั้นโสดาบันบุคคล ผู้ถึงกระแสธรรมะแล้ว ธรรมะนั้นก็จะพัดผันบุคคลนั้นให้ไปเรื่อยๆไป ไม่มีอันตกต่ำแล้ว ไม่ก้าวมาสู่ความตกต่ำในชีวิตอีกต่อไป มีแต่ก้าวหน้า เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันบุคคลนี่ถ้าดูคุณลักษณะแล้ว ดูมันไม่ใช่ยากเย็นอะไร มันง่ายๆ ไม่ยากอะไร แล้วโสดาบันบุคคลนี่ยังอยู่บ้าน ยังครองเรือน ยังมีครอบครัว เช่นท่านเศรษฐีนี่ท่านเป็นโสดาบัน ท่านก็ยังอยู่บ้าน ท่านทำมาค้าขายตามปกติ มีธุรกิจการงาน เรียกว่าเป็นนักธุรกิจนี่ก็อยู่ตามธรรมดา ไม่ได้เลิกไม่ได้ร้าง ไม่ได้ทิ้งงานทิ้งการอะไรไป เราบางทีอาจจะเข้าใจว่า ถ้าไปเป็นอย่างนั้นแล้ว จะไม่ทำมาค้าขาย งานการก็จะเสียหาย อันนั้นคือความเข้าใจผิด พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนคนให้ละทิ้งหน้าที่การงาน ไม่ได้สอนคนให้อยู่นิ่งอยู่เฉย แต่ว่าสอนคนให้มีความว่องไว ให้มีความตื่นตัว ให้มีความก้าวหน้าในชีวิต ในการงาน แต่ว่าการอยู่นั้น อยู่ด้วยปัญญา ไม่ใช่อยู่ด้วยความหลง ความมัวเมา หรือความประมาทในเรื่องอย่างนั้น แต่อยู่ด้วยปัญญารู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร ไม่ดีใจเกินไป ไม่เสียใจเกินไปในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น เช่นบุคคลเป็นขั้นโสดานี่ ถ้าขโมยมันเข้ามาเอาของในบ้าน ก็ไม่เสียใจไม่ร้องไห้ร้องห่มเพราะข้าวของนั้น หรือว่ามีสมาชิกในครอบครัวต้องตายจากไปสักคนหนึ่ง ท่านก็นั่งสงบๆ เฉยๆ ปลงตกลงไปว่า เอ้อ! มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ
ชีวิตของคนเรามันไม่เที่ยง มีการเกิดแล้วมันก็ต้องแตกต้องดับเป็นธรรมดา แต่ความแตกดับนี่มันของเที่ยง แต่ความเป็นอยู่มันไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นเรากำหนดไม่ได้ว่าเราจะแตกเมื่อไหร่ จะตายเมื่อไหร่ อะไรมันจะหายไปเมื่อไหร่ หรืออะไรมันจะเกิดขึ้นในโลกเราเมื่อใด เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ค่อยจะได้นัก มันเป็นเรื่องไม่เที่ยง ก็พอปลงพอวาง ไม่ต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนอะไรมากเกินไป คุณสมบัติของพระโสดาบันนั้นเป็นอย่างไร ท่านวางไว้ ๓ ประการ คือ
หนึ่ง - มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้ ศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นลักษณะอันหนึ่งของพระโสดาบันบุคคล มั่นคงนั้น มั่นคงอย่างไร คือเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ จิตใจไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ไปเที่ยวกลัวสิ่งอื่น ไม่ไปไหว้สิ่งอื่น ไม่นับถือสิ่งอื่น คนเป็นพระโสดาบันนี่ถ้าเดินผ่านศาลเจ้าเขาไม่ไหว้ ไม่ใช่ดูถูกดูหมิ่นอะไร แต่ว่าถ้าไหว้แล้วมันขัดกันกับความเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะไปมองเห็นศาลเจ้านั้นว่าดีเท่าพระพุทธเจ้าไป หรืออาจจะดีกว่าพระพุทธเจ้าไป หรือว่าเวลาใดมีความทุกข์มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น ไม่นึกถึงหลักการของพระพุทธเจ้า แต่ไปนึกถึงหลักการของหมอดูบ้าง เรื่องไสยศาสตร์บ้าง เรื่องดวงเรื่องผีสางนางไม้ เรื่องอะไรๆ ต่างๆ ที่เขาทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ในสังคมของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ แล้วเราก็หันไปสิ่งนั้น หันไปแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ บนบานศาลกล่าว ไหว้เจ้าไหว้ผี หรือว่าไปถามคนทรงเรื่องต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เช่นสมมติว่าญาติของเราตายไปสักคนหนึ่ง เราก็ไปถามพวกนั่งทางใน คนนั่งทางในถ้าโกหก ก็โกหกอย่างฉกาจเลยทีเดียว เพราะมันไม่รู้ คนจะไปพิสูจน์ยาก จะไปมองก็ไม่เห็น ก็เลยมักจะบอกว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตามเรื่องที่เขาจะว่าให้เราฟัง ถ้าเราไปเชื่อบางทีก็ถูกเขาต้มเอาเหมือนกัน หลอกเอาในเรื่องอะไรต่าง ๆ เสียเงินเสียทองไปมากมาย อันมิใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา
ผู้ที่มั่นคงในพระพุทธเจ้านี่เขาเรียกว่ายอมรับหลักการของพระพุทธเจ้า เช่น ยอมรับหลักการว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ เสื่อม เจริญ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น เกิดจากการกระทำของเราเอง จากการคิด การพูด การกระทำ ของเราเอง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยการกระทำ ไม่ใช่สำเร็จด้วยวิธีการบนบานศาลกล่าว หรือเพียงแต่นั่งเพ้อฝัน หรือด้วยการเสี่ยงทายอะไรต่าง ๆ อย่างนั้น พระโสดาบันไม่มีความคิดอย่างนั้น แต่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็โทษตัวเอง พิจารณาตัวเอง เพื่อศึกษาว่าเราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร เราไปคบหาสมาคมกับใคร เรื่องเช่นนี้มันจึงเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เขาคิดอย่างนั้น เรียกว่าคิดตามแบบพระพุทธเจ้า ตามหลักการของพระพุทธเจ้า คือเชี่อมั่นในพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ถ้าเรามีความตกอกตกใจขึ้นมา เราก็ไม่คิดถึงเรื่องอะไร เรานึกถึงว่าทำไมจึงตกใจ ตกใจเรื่องอะไร เราพอคิดได้ แต่ถ้าคนที่มั่นในธรรมะนี่มันตกใจน้อย เพราะมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมตัว คนเราที่ตื่นเต้นตกใจอะไรต่าง ๆ นั้นเพราะเผลอไป นั่งใจลอยแล้วมีใครมาตบสันหลังนี่อาจจะหวีดว๊ายขึ้นมาอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเรามีสติคอยกำหนดอะไรอยู่ ไม่ตื่นเต้นต่อสิ่งนั้น ลักษณะเป็นอย่างนั้น
ผู้เป็นพระโสดาบันนี่ยึดมั่น เชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้ ไม่มีความเชื่ออื่นเข้ามาแทรกแซง สมมุติว่าในใจนี่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เต็มไปด้วยแนวคิดของพระพุทธเจ้า เต็มไปด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีสิ่งอื่นเข้ามาแทรกอยู่ในจิตใจนี่ข้อหนึ่ง เราก็พอวัดตัวเราได้ ว่าเรานั้นมีความหนักแน่นพอหรือไม่ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือยังเที่ยวเอาไปฝากอะไรต่ออะไร เอาใจไปแบ่งไป เรียกว่าแบ่งไปฝากให้ผีบ้าง ให้เทวดาบ้าง ให้เสาหลักเมืองบ้าง ให้ก้อนหินบ้าง ให้อะไรต่ออะไร อย่างนี้เขาเรียกว่ายังไม่มั่นคง ยังห่างไกลต่อพระโสดาบัน เพราะยังเที่ยวไปฝากความรักไว้กับเสาหินบ้าง กับต้นไม้บ้าง กับผีสางบ้าง เทวดาอะไรต่ออะไร มันห่าง ยังไม่มั่นคงเท่าใด หลักการนี้มีอยู่อย่างนี้ ญาติโยมไม่ค่อยจะได้ทราบในเรื่องอย่างนี้ ก็บอกให้เข้าใจกัน
อันนี้ประการที่สองนั้น พระโสดาบันบุคคลเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ก็คือศีลห้า ไม่ต้องมากหรอกเอาเพียงห้า ศีลห้านี้มันเป็นศีลชั้นพื้นฐาน ศีลแปด ศีลสิบ ศีลอะไรต่ออะไรนั้น เป็นเครื่องประกอบเพื่อให้ศีลห้าบริสุทธิ์ขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นศีลห้านี้เป็นศีลชั้นพื้นฐาน เราก็รู้กันอยู่ว่าศีลห้าคืออะไร เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ เวลานี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบางอย่าง คือมีคนบางคนที่ไปถือว่าการกินผักนี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้ากินเนื้อแล้วก็เรียกว่าศีลจะไม่บริสุทธิ์ อันนี้มันไม่ถูกต้อง ไม่ใช่พูดตามหลักการของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเอาเองไม่ใช่ว่าตามหลักการ คือเรื่องความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธ์นั้น ไม่ใช่อยู่ที่การกิน เราจะกินผักเราจะกินเนื้อหรือจะกินอะไรนั้น มันไม่ได้เกี่ยวในการความบริสุทธิ์ในเรื่องศีล เพราะว่าเรากินอาหารนี่ เราจะกินอะไรก็ได้ ถ้าสิ่งนั้นเราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ว่าเขาฆ่าเพื่อเรา เช่นเรื่องของพระเรานี้ พระที่ฉันผักก็ดี ฉันปลา ฉันเนื้อก็ดี
สมมุติว่าฉันปลา ฉันเนื้อนี้ จะไปบอกว่า องค์พระที่ฉันปลา ฉันเนื้อนี้ยังใจร้ายอยู่ ศีลไม่บริสุทธิ์ มันก็ไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราไม่ได้ไปสั่งให้เขาฆ่า คือไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้รังเกียจในเรื่องนั้น ว่าเขาฆ่าเพื่อเรา มันเป็นสิ่งที่เขาทำกันอยู่ทั่วไป ชาวประมงอยู่ชายทะเลก็ต้องจับปลา หากุ้งในทะเลมาขาย ถ้าว่าหามาได้แล้วไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร คนก็ซื้อมา คนซื้อมาขายไม่มีส่วนบาปกับชาวประมงผู้นั้น ถ้าเราจะไปพูดในแง่ตรรกะว่า มีเหตุจึงมีผล คนซื้อเป็นเหตุให้คนไปหาปลา คนกินเป็นเหตุให้คนไปซื้อมาขาย เพราะฉะนั้นได้ชื่อว่าร่วมทำชั่วด้วยกัน อันนั้นมันพูดในแง่วัตถุมากไป แต่พูดในแง่จิตใจแล้ว ขอให้เราลองนึกดูว่า เวลาเราไปซื้อปลา ซื้อเนื้อ ซื้ออะไรอย่างนี้ เราซื้อด้วยจิตอย่างไร เราไปสมรู้ร่วมคิดกับคนฆ่าบ้างหรือไม่ ไปสั่งให้เขาฆ่าเฉพาะเราบ้างหรือไม่ ถ้าสั่งแล้วมันเป็นโทษเป็นบาป แปลว่าสมรู้ในการฆ่า แต่ว่าเขาขายอยู่ตามปกติ เนื้อที่เขาขายในตลาด เราไปถึงก็ซื้อมา จิตใจไม่ได้ไปสมรู้ในการฆ่ากับเขา บาปบุญนั้นมันเกิดเพราะเจตนา ถ้าไม่มีความเจตนาหรือความตั้งใจ บุญมันก็ไม่เป็น บาปมันก็ไม่เป็น กรรมที่เราทำนั้นจะเกิดผลแก่ผู้กระทำ เมื่อเราทำกรรมนั้นด้วยเจตนา ถ้าเจตนาแล้วจึงจะเป็นกรรม ถ้าเจตนาในทางบาปมันก็เป็นกรรมบาป ถ้าเจตนาในทางบุญ กรรมนั้นก็เป็นไปในเรื่องบุญ (31.29)
อาหารปราณีตนี่ มีปลา มีเนื้อ มีนม มีเนย มีของดี ๆ หลายอย่าง มันก็อยู่ในพวกอาหารปราณีต ในพระวินัยบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่ป่วยไข้ ห้ามขออาหารปราณีตจากชาวบ้าน คือให้ไปบิณฑบาตรฉันอยู่ตามปกติ แต่ว่าถ้าเป็นไข้นี่จะไปขออาหารอันปราณีตคือเหมาะแก่ร่างกาย ที่ผู้เป็นไข้ได้ป่วยจะพึงฉันนี้ไม่ว่าอะไร ไม่ถือว่าเป็นความเสียหาย แต่ถ้าปกติสบายอยู่ไปบอกโยมว่า ช่วยต้มไก่มาให้ฉันสักตัวเถอะ อย่างนี้มันไม่ได้ แม้ว่าเขามีไก่ขายอยู่ในตลาด แต่เราไปกล่าวเช่นนั้นชื่อว่าเป็นการไม่สมควรแก่นักบวชในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเขาทำอยู่โดยปกติ เช่นเราไปบิณฑบาตรนี่ เขาใส่เนื้อลงไปในบาตรเราก็ต้องรับตามหน้าที่ เขาใส่ผักก็ต้องรับ เขาใส่ข้าวเปล่าเราก็ต้องรับมา รับมาแล้วเราจะฉัน ไม่ฉัน มันเรื่องของเรา ถ้าสมมติรับมาแล้ว อันนี้ไก่เราไม่ฉัน แล้วเขาไม่ว่าอะไร เราก็รับมา ไม่ฉันก็ได้ให้คนอื่นเขากินต่อไป เรามันไม่ฉันไก่ เหมือนอาตมานี่ไก่ไม่ฉันตอนนี้ เป็ดก็ไม่ฉัน เครื่องในก็ไม่ฉัน เพราะหมอบอกว่าไม่ควรฉัน เพราะว่าถ้าฉันแล้วมันจะเกิดกรดในเลือดทำให้ปวดตามข้อตามขาอะไรต่าง ๆ ก็เลยไม่ฉันไป แต่ถ้าโยมเอามาถวายก็ไม่ได้บอกว่า “โอ้ย อย่าเอามาให้ฉันฉัน” อย่างนี้ ไอ้อย่างนั้นมันก็เรียกว่า ทำลายน้ำใจโยมมากไป ทำให้โยมกลุ้มใจเป็นทุกข์ เราก็รับไว้ โยมมาประเคนไก่ย่างก็ต้องรับวางไว้ ประเคนเนื้อหมูก็รับวางไว้ ประเคนปลาก็รับวางไว้ เราไม่ฉันก็ไม่เป็นไร หรือว่าในนั้นมันมีปลา มีเนื้อแล้วก็มีผักอยู่ด้วย เราไม่ฉันปลา ฉันเนื้อ เราก็ฉันแต่ผักก็ได้ เลือกเอาแต่ผักฉันก็ได้
ในสูตร (33.39) ยังกล่าวไว้เลย ก็คือว่าพวกชาวจีนนี่เขานับถือพุทธศาสนามหายาน พระจีนทั้งหลายนี่เขาไม่ฉันปลาฉันเนื้อ แต่พระจีนนี่ไม่ได้บิณฑบาตรฉันนะ เขาทำสวนครัว ปลูกผักกิน วัดเขาอยู่ตามป่า ตามภูเขา เนื้อที่มาก ๆ แล้วเขาก็ปลูกผักเต็มในบริเวณ เพราะฉะนั้นเพราะจีนนี่กินผักได้ เพราะแกหุงกินเอง แล้วก็กินสามมื้อ พระจีนนี่ไม่ได้กินสองมื้อ หรือมื้อเดียวเหมือนกับพระเรา ไม่ใช่ กินวันละสามมื้อ มื้อเช้า กลางวัน เย็นอีกมื้อหนึ่ง เค้ากินอาหารผักทั้งนั้น ต้มผักกินกัน อะไรต่ออะไรไปตามเรื่อง เรียกว่าฉันเจ เขาไม่ได้ไปรบกวนชาวบ้าน ในการไปบิณฑบาตร
ส่วนพระเราในทางมหาเถรวาทนี่ เป็นพระลังกา พระพม่า พระไทย พระอินเดีย พระเขมร พระลาว แต่เขมรนั้นตัดบัญชีไปแล้ว เรียกว่าไม่มีพระเวลานี้ พระเหล่านี้เลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาตร คือไปรับอาหารจากโยมผู้มีศรัทธา โยมมีปลาก็ถวายปลา มีเนื้อก็ถวายเนื้อ คือโยมกินอะไรก็ถวายอย่างนั้น เราไม่ได้ไปรบกวนพิเศษว่า โยมต้องต้มผักให้อาตมานะ อันนี้โยมก็ต้องทำพิเศษขึ้นไปอีก ต้องเพิ่มอะไรขึ้นไปเพราะในบ้านนี่ไม่ได้กินผัก ก็ต้องเพิ่มผักขึ้นมา หรือว่าในบ้านเขากินผักแต่เราต้องการเนื้อ เขาก็ต้องเพิ่มพิเศษ เป็นภาระหนักแก่ญาติโยมชาวบ้าน ทำให้เขาเกิดปัญหา เราก็จะไม่สร้างปัญหาเพราะเราไปรับด้วยอาการนิ่ง เขาให้อะไรก็นิ่ง ๆ เฉย ๆ ใส่ลงไปเถอะโยม ใส่ลงไปมันก็พอแล้ว เราก็รับไว้ อันนี้เราไม่รับมันก็ไม่เหมาะ รับมาไม่ฉันก็ไม่ว่าอะไร ให้คนอื่นไปกินก็ได้ ไม่มีคนก็ให้สุนัขกินก็ยังได้ ในวัดเรามันเยอะแยะไปหมดนะ ให้เขาไปเราไม่ฉัน อย่างนี้มันก็สบาย ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน เคยเห็นพระที่ถือเคร่งครัดในเรื่องเศษผักนี่ ไปไหนสะพายหัวไชโป๊วไปทุกที่ กลัวจะไม่มีฉัน เรียกว่าไปไหนก็พกกระป๋องเครื่องเค็มไปด้วย พอญาติโยมถวายอาหารก็ไปล้วงในกระเป๋าออกมา “อะไรนั่น” “อาตมามันฉันผัก” ว่างั้นนะ อันนี้มันเป็นภาระ อย่างนี้มันเป็นภาระ
มีพระไทยไปอยู่อินเดียสององค์ จะเห็นความแตกต่างกันในสององค์นี้ องค์หนึ่งเป็นเชื้อเขมรชื่อมหาประเสริฐ ฉันผักตรงนี้ ไม่ฉันร่วมกับใคร ฉันผักทำเอง ฉันกินเองคนเดียว แต่ว่าขี้โมโหโทโส ไม่ใช่ใจเย็นสงบอะไร ทั้ง ๆ กินผักแต่ว่าขี้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ นี่องค์หนึ่ง อันนี้อีกองค์หนึ่งเป็นหลวงตา อายุมากหน่อย บวชแล้วองค์นี้ฉันผักเหมือนกัน ฉันผัก ไปบิณฑบาตรอินเดียมันง่าย ฉันผักนี่ เพราะชาวอินเดียเขากินผักกันทั้งนั้น เขาก็ใส่บาตรให้ฉันสะดวกสบาย แต่ว่าบางทีไปบิณฑบาตรไม่ได้อะไร ไม่ได้ทั้งผัก ไม่ได้ข้าว ไม่ได้แป้ง อะไรทั้งนั้น หลวงตานี่แกฉันหญ้าเลย เพราะว่าเขาไม่ใส่อะไรให้ แกฉันหญ้าเลย แล้วแกไปฉันอยู่ข้างถนน เอาหญ้ามา เก็บยอดหญ้ามานั่งฉัน แขกก็มาดู “โอ้..พระองค์นี้สำคัญนี่ฉันหญ้าได้นะ” ว่าอย่างนั้น แหม ไหว้กันใหญ่เลย มาไหว้ มาเคารพ มากันใหญ่ เพราะว่าพระนี่เคร่งครัดมากฉันหญ้าได้ คนอินเดียก็นับถือ คราวนี้วันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณวัดไทยนี่นิมนต์ท่านมาฉันที่วัด นิมนต์มาฉันร่วมกัน พอมาฉัน ท่านบอก “แหม! หลวงตาวันนี้คงจะลำบากใจหน่อยเพราะว่าไม่มีผักให้ฉัน” “อ้อ ไม่เป็นไร เขานิมนต์ให้ฉันอะไร ผมฉันได้ทั้งนั้น” แล้วแกก็ฉันในนั้น ฉันเท่าที่มี เขามีปลามีเนื้อแกก็ฉัน เพราะว่าเขานิมนต์แล้วก็ต้องฉันทั้งนั้น ปลาก็ได้ เนื้อก็ได้ แกก็ฉันสบายไปไม่มีเรื่อง ไม่เป็นปัญหาอะไร คือเราถืออะไรนี่อย่าให้มันเป็นอุปาทาน
อุปาทานคือยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นละก็ไม่ได้ นี่มันเป็นทิฐิ เป็นอีกตัวหนึ่ง โดยไม่รู้ตัวนะ ไอ้กิเลสนี่มันเกิดบางทีเราไม่รู้ว่ามันเกิดกิเลสขึ้น นึกว่าถูก ว่าดี ว่าชอบ แต่บางทีมันก็เป็นกิเลสไปเสียก็ได้ หรือบางทีอาจจะเป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่งก็ได้ กิเลสอีกประเภทนั้นคืออะไร สำคัญว่าตัวเก่งกว่าเขา ตัวดีกว่าเขา ไอ้นี่ตัวกิเลสตัวนี้ละเอียดมาก ถ้าเกิดขึ้นแล้วไม่ค่อยรู้หรอก คือสำคัญว่าฉันนี่กินผัก ดีกว่าแกนี่กินเนื้อ หรือว่าพระฉันผักนี่ดีกว่าพระฉันเนื้อ นี่เกิดการดูหมิ่นกัน เหยียดหยามกันในท่าที ในจิตใจ มันก็มีกิเลสอยู่นั่นแหละอยู่ในจิตใจ
คราวนี้เราทำอะไรไม่ต้องโฆษณาก็ได้ ไม่ต้องบอกใครว่าฉันนี่ ฉันนั้น ฉันนี้เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้เพราะการพูดโฆษณานั้นก็เรียกว่าเป็นการอวดอยู่ในทีแล้วเหมือนกัน เราทำไปเงียบ ๆ ตามเรื่องของเรา ไม่ต้องอะไรนัก ไม่ต้องยุ่งยากลำบากเป็นปัญหา เหมือนกับที่สวนลุมฯ เมื่อวันวิสาขะนี่ คนก็มาบ่นให้ฟัง บอกว่าหลวงพ่อก็ไปร่วมวิสาขะ สวนลุมฯ ก็ไปร่วมไปเทศน์กันฑ์หนึ่ง บอกว่าแหมมันลำบากอยู่หน่อยนึง เวลาใส่บาตรนี่เขาโฆษณา บอกไม่ให้ใส่ปลาใส่เนื้อ ก็เอามาแล้วจะเอาไปไหน ทีนี้บางคนก็ไม่ได้ใส่ก็เกิดโมโหโทโส ไม่ใส่มันเลย ขนข้าวขนแกงกลับบ้าน เพราะเขาห้ามไม่ให้ใส่อันนี้ไม่ถูกต้อง คือว่าเราไม่ต้องไปห้ามเขา เขาใส่ก็ให้ใส่ไปตามเรื่อง แล้วก็พระที่ไปนั่งอยู่นั้น ก็มีพระสองประเภท พระประเภทหนึ่งนั้นเคร่งครัดในเรื่องไม่ฉันปลาฉันเนื้อ อีกหมู่หนึ่งนั้นฉันได้ทั้งเพล ไม่ว่าอะไร อันนี้เราจะไปบังคับน้ำใจเขาทำไม
พระพุทธศาสนานั้น ญาติโยมต้องจำไว้อันหนึ่งว่า ไม่มีเรื่องบังคับ พระพุทธเจ้านี้ไม่มีการบังคับ มีแต่เรื่องขอร้องให้ทำอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้ แต่สิ่งใดจะเป็นเรื่องบังคับก็ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น พระเทวทัตนี่เรียกว่ายอดอันธพาล ถ้าว่าพูดถึง ความเป็นอันธพาลแล้วไม่มีใครเป็นเท่าพระเทวทัต คืออันธพาลรังแกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ทำไปทำมาหมดฤทธิ์แล้ว คนไม่ค่อยนับถือแล้ว ที่นี้ต้องการให้สงฆ์แตกกัน ทำอย่างไร พระเทวทัตน์เข้าไปขอพรพระพุทธเจ้า ขอพรไอ้สี่ข้อแรกไม่แปลกอะไร เรียกว่าเป็นบทลวง หลุมพรางเพื่อให้พระพุทธเจ้าตกหลุมเท่านั้นเอง ก็คือขอว่า พระถ้าอยู่ป่าก็ให้อยู่จนตาย อยู่โคนไม้ก็ให้อยู่ไป ฉันหนเดียวก็ให้ฉันหนเดียวไป นุ่งผ้าบังสกุลก็ให้นุ่งผ้าบังสกุลจนตาย สี่ข้อขออย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะพระทั้งหลายทำอยู่แล้ว แต่มีข้อหนึ่งว่าพระภิกษุไม่ควรฉันปลาฉันเนื้อจนตลอดชีวิต ขอห้าข้อ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ ท่านบอกว่า นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราจะให้ได้ เพราะเรื่องอย่างนี้มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องบังคับ ภิกษุใดอยากอยู่ป่าก็อยู่ อยากจะอยู่โคนไม้ก็อยู่ อยากจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุลก็ทำไปเถอะไม่ว่าอะไร อยากจะฉันหนเดียวก็ไม่ว่าอะไร แต่จะไปบังคับว่าต้องอยู่ป่า ต้องอยู่โคนไม้ ต้องนุ่งห่มผ้าบังสุกุล แล้วถ้าญาติโยมเค้าจะถวายผ้าบ้างละ พระเป็นอย่างนั้นหมดแล้วโยมจะได้อะไร จะได้ถวายผ้าได้อย่างไร ก็ไม่มีโอกาสได้ถวายผ้าแก่พระ เพราะว่าพระไม่รับ จะไปเอาผ้ามาจากซากศพตลอดเวลา แล้วมันก็อันตรายต่อไปข้างหน้า ซากศพมีโรคติดต่อมีอะไรขึ้น พระไปดึงเอามา ซักฟอกไม่เรียบร้อย เดี๋ยวก็ลุกลามเป็นโรคระบาด เกิดปัญหา พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต แล้วบอกว่าไม่ให้ฉันปลา ฉันเนื้อ ให้ฉันผัก พระองค์บอกว่า นั้นก็ตามเรื่อง ไม่ต้องบัญญัติ ไม่ต้องวางเป็นกฏเป็นระเบียบอะไร พระองค์ใดอยากจะฉันผักก็ฉันไป อยากจะฉันเนื้อก็ฉันไป เพราะชีวิตของพระ เนื่องด้วยชาวบ้านแล้วแต่เขาให้ แสดงว่าคนอินเดียในสมัยนั้นก็ยังกินผัก กินปลา กินเนื้อ ไม่ได้กินผักอย่างสมัยนี้ ที่กินผักติดต่อมาสมัยนี้ก็เนื่องจากพระราชโองการของพระเจ้าอโศก ที่บังคับให้คนกินผักกันในสมัยนั้นแล้วก็สืบต่อกันมานี่อันหนึ่ง
อีกอันหนึ่งก็เป็นเรื่องแข่งขัน ระหว่างศาสนาอิสลามกับฮินดู แข่งกันแล้วทำให้เกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง เช่นเราจะเห็นว่าคนฮินดูโกนหัวแต่มีหางเปียไว้นิดหนึ่ง เรียกว่า หางหนู มีไว้ทำไม ไว้เป็นเครื่องหมายเวลาตีหัวกันมันจะได้สะดวกหน่อย แต่ไม่ตีแล้วมันผิด ถ้ามีหางแล้วหัวฮินดูอย่าไปตี ถ้าโล้นไม่มีอะไรละหัวอิสลามพุ่งเข้าได้เลย เรียกว่าให้มันแยกกันไว้ตีหัวง่าย แล้วก็ยังแยกอะไรอีกหลายอย่างเช่นชาวอินเดียแต่งงาน เล็ก ๆ นี่แต่งงานกัน อายุห้า-หกขวบ แต่งงานแล้ว ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องอิสลามชอบลักผู้หญิง ลักเอาไปทำลูกทำให้เข้าศาสนา อันนี้ฮินดูก็หาทางแก้เพราะอิสลามไม่ลักเด็กที่แต่งงานแล้ว เพราะฉะนั้นฮินดูก็แต่งงานได้ตั้งแต่เด็กหมดเลย พออายุห้า-หกขวบแต่งงานเปิดเผย แล้วพ่อผัวก็เอาไปเลี้ยงไว้ พ่อฝ่ายชายนี่เอาลูกสาวที่ยังเล็กไปเลี้ยงไว้เลย เลี้ยงไว้จนกระทั่งโตเป็นสาว อยู่ร่วมกันได้ จึงจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากันต่อไป ท่านคานธีนี่ก็แต่งงานเมื่อเด็กเหมือนกัน ตามประเพณีนี้ อันนี้มันเรื่องระหว่างศาสนา สังคมมันเปลี่ยนแปลงไป
เรื่องกินผัก กินปลา กินเนื้อ ก็เหมือนกัน เราก็กินไป ใครจะกินก็กินไป แต่อย่าไปพูดว่าคนกินปลา กินเนื้อนั้นเป็นยักษ์เป็นมาร มันจะมากไปหน่อย เพราะว่าถ้าว่าอย่างนั้นแล้วคนใหญ่คนโตในเมืองไทยก็จะพลอยเป็นยักษ์เป็นมารไปด้วย พระเจ้าอยู่หัวก็จะเป็นยักษ์ไปด้วยเหมือนกัน พระท่านเสวยปลาเสวยเนื้อเหมือนกัน พระสังฆราชก็จะเป็นยักษ์ไปด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นมันไม่ได้พูดอย่างนั้นนะ เราอย่าไปพูดว่าใคร กินไปเถอะ ใครอยากจะกินปลาผักก็กินไป ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป เรื่องส่วนตัว ไม่ต้องไปยุ่งกันกับเรื่องคนอื่นเขา
พระจีนทั้งหลายเขาก็ไม่ค่อยเทศน์เรื่องกินผักกินเนื้อ เขาเทศน์เรื่องมรรคผลนิพพาน เรื่องการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความพ้นทุกข์อะไรอย่างนั้น มันก็สูตร (45.28) ไม่พูดเรื่องกินผักกินเนื้อเลย พูดแต่เรื่องจิตว่าง จิตสงบ จิตอะไรต่ออะไรไปอย่างนั้น เขาพูดกันอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่ามีปัญหา อย่าไปเถียงกัน อย่าไปโต้คารมกันว่าคนนั้นฉันผัก วัดนั้นฉันเนื้อปลา แล้วไม่ฉันผักอะไรอย่างนี้ อย่าเอามาเป็นเครื่องวัดว่าบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ คนกินเนื้อใจบริสุทธิ์ก็ได้ คนกินผักใจสกปรกก็ได้ มันไม่แน่ มันอยู่ข้างในใครจะไปรู้ ยกตนข่มท่านนั้นก็กิเลสตัวหนึ่งแล้ว อวดดีมันก็กิเลสตัวหนึ่งแล้ว ถ้าเราไม่รู้ เค้าเรียกว่าอุปกิเลส ตัวเล็ก ๆ มันเกิดง่าย ๆ ไม่ระวังแล้วมันก็เกิดง่าย เกิดง่ายขึ้นได้ เช่นจะอวดตัวว่าฉันเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่มันก็เป็นกิเลสแล้ว ผู้บริสุทธิ์เขาไม่อวดหรอก พระอรหันต์นี่ท่านไม่มีอะไรจะอวดแล้ว คือไม่มีอารมณ์จะอวด ไม่มีตัวจะอวด ถ้ายังอวดอยู่แปลว่ายังเป็นปุถุชน ยังอยากจะดังอยากจะเด่นอยู่ ยังพูดอวดอย่างนั้น อวดอย่างนี้ ไม่มีอะไร มันมีหลังฉาก หลังฉากก็คือความอยากดังอยากเด่นนั่นเอง ไม่ใช่อะไรมากมายเรื่องมันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราไม่ถือ ไม่ทะเลาะกันในเรื่องอย่างนั้น ไปไหนก็ไม่ทะเลาะกันในเรื่องว่ากินอะไร เราถือว่ากินอาหารก็แล้วกัน
อินเดียนั้นไม่ได้เหมือนกันถ้าเจอพระมักจะถาม “ท่านกินเนื้อหรือเปล่า” ถ้าบางองค์ก็ตกหลุมพราง พอบอกว่า “กิน” เค้าก็บอกว่า “พระอะไรกินเนื้อ” ทีหลังพระถูกถามบ่อย ๆ ก็บอกกันว่ามันต้องตอบใหม่ อย่าไปตอบว่ากินเนื้อ ถามว่า “ฉันเนื้อหรือเปล่า” “ไม่ได้ฉัน” “แล้วฉันอะไร ฉันผักหรือเปล่า” “ไม่ได้ฉัน” “แล้วฉันอะไร” “ฉันอาหารนะสิ” พอตอบอย่างนั้นแขกก็หยุดเหมือนกัน บอกพระฉันอาหาร ไม่ใช่ฉันปลาฉันเนื้อ เราฉันอาหาร ไม่ใช่ปลาใช่เนื้อ ไอ้ปลาไอ้เนื้อนี่มันเรื่องสมมติ เราเรียกว่าปลาช่อนปลาดุกปลาเทโพ ปลากระดี่ ปลาดุกอะไรก็เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้นแล นี่เราตั้งชื่อให้มันสำหรับเรียก อันนี้เรามาเรียกว่าเรากินอาหารก็แล้วกัน พอตอบว่า “กินอาหาร” หมดเรื่อง แขกก็ไม่โต้ตอบไป ก็นึกว่าองค์นี้ฉลาดเหมือนกัน พอเห็นคนฉลาดแขกก็ไม่โต้แล้ว ก็เราว่าเรากินอาหาร กินอาหารเท่านั้น อาหารนี้กินเพื่ออะไร กินเพื่อให้ร่างกายเป็นไปได้ แล้วจะได้ใช้ร่างกายนี้ประพฤติธรรมต่อไป สร้างความงามความดีต่อไป จุดหมายก็มีเพียงเท่านั้น จะไม่เกิดปัญหายุ่งยากแก่ชีวิตของเรา นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นการรักษาศีล นี่คือว่าให้รู้จุดหมายของศีลว่า เรารักษาเพื่ออะไร เช่นศีลข้อ ๑ ก็ จุดหมายก็เพื่อให้เราเกิดความรักกันในหมู่มนุษย์ แผ่ไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ แต่ว่าถ้าจำเป็นสัตว์บางอย่างมันทำร้ายมนุษย์ เราก็ต้องทำลายมันเหมือนกัน ถ้าไม่ทำลายแล้วมันจะได้อย่างไร ให้พูดเรื่องฆ่านี่ปัญหาใหญ่นะ บางก็ว่า “ผมทำสวนนี่ ตัวหนอนมันกินใบไม้ กินผักผมนี่ ถ้าผมถือศีลห้าเคร่งครัดนี่ทำอย่างไร” อ้าว..แล้วกัน ไอ้เรามันต้องรู้ว่า ถ้ามันมาทำร้ายเรา เรามีการป้องกันตัวได้ไม่เป็นการเหี้ยมโหดดุร้ายอะไร เราเดินไปเสือมันพุ่งจะมากัด เราก็ยืนเฉย กูถือศีลเว้ย เสือมันไม่รู้ว่าเราถือศีล มันก็กัดเนื้อเท่านั้นเอง อันนี้เรามันต้องวิ่งหนีนะ ขึ้นต้นไม้ไว้ก่อน ถ้าคือไม่มีต้นไม้จะขึ้นก็ต้องวิ่งสุดฝีเท้า ถ้าวิ่งไม่ไหวมันก็ต้องสู้ ยืนสู้กับมัน ไอ้ยืนสู้นี่เสือมันก็ไม่กล้าเหมือนกันนะ ยืนเพ่งนะ ดูลูกกะตามันนะ มันก็หยุดนิ่งเหมือนกันนะ
เคยมีโยมคนหนึ่งแกเล่าให้ฟังว่า แกมีมีดเล่ม แค่นี้เองนะ สู้เสือได้ เสือมันพรวดเข้ามา แกก็ยึด ง้างมีดไว้อย่างนี้ ก็ยืนดูกันอยู่นั่นแหละ ชั่วโมงกว่า แกก็เหงื่อไหลซิก ๆ เลยไปยืนสู้อยู่กับเสือนะ ผลที่สุดเสือถอย เกือบแพ้ (49.53) ที่แท้แกก็กลัวแพ้แกเหมือนกัน พอเสือแพ้แกบอกแกวิ่งสุดฝีเท้าเลย ความจริงไม่ต้องวิ่งหรอก เสือมันไปแล้ว แต่แกกลัวจึงวิ่งใหญ่เลย อันนี้ถ้ามันกระโชกเข้ามาเราจะทำอย่างไร เราถือว่าเราไม่ฆ่ามันก็ไม่ได้ มันจะกินเนื้อเรา เราถือสิทธิ์ว่าป้องกันตัว เพื่อรักษาชีวิตไว้ เพราะการอยู่มันยังเป็นประโยชน์แก่ครอบครัว ดีกว่าเอาเนื้อไปให้เสือกิน มันก็ต้องสู้กะเสือ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา
เราทำอาชีพอะไรมันก็ต้องหมุนไปตามเรื่องตามราว เช่นเราทำสวนผัก หอยมันมากินผักในสวน จับไปปล่อยแล้วกลางคืนมันก็มากินอีก หอยทากนั้นนะ แล้วจะทำอย่างไร มันก็ต้องจับใส่ปี๊ปเอาไปต้มน้ำเท่านั้นเอง เพราะว่ามันมาทำลายผักของเรา เราฆ่าหอยแต่ว่าอย่าฆ่าคน เราให้ถือว่ามันเป็นชั้นเป็นช่องขึ้นไป อย่างนี้มันก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราก็อยู่ไม่ได้ อันนี้มันต้องคิดว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมันก็ต้องทำลายกันอยู่ในตัว แต่ว่าเราไม่เหี้ยมโหดไม่ดุร้ายในทางจิตใจ ให้รู้ประมาณ รู้ว่าทางพอดีมันคืออะไร ไม่ใช่ว่าเคร่งจนกระทั่งไม่ดูตาม้าตาเรืออะไรอย่างนั้นไม่ได้ อยู่ในโลกมันก็ต้องรู้ เหมือนชาวทะเล สมุทรปราการ ปากน้ำ แล้วก็แม่กลอง ปากน้ำระยอง ปากน้ำประแสร์ มันไม่มีอาชีพอื่นหรอกถ้าไม่ลงทะเล ไม่รู้จะกินอะไร
อันนี้มีเจ้าคุณองค์หนึ่ง สมัยนั้นเป็นเจ้า (51.34) ไประยอง เทศน์เรื่องจับปลาเป็นบาป ทำนั้นเป็นบาป พวกนั้นบอก เจ้าคุณองค์นี้กูไม่ส่งให้ขึ้นเรือไฟ เรือไฟมาไม่มีใครไปส่งสักคนเดียว เรือไฟเมื่อสมัยก่อนไประยองต้องไปเรือ เรือจอดโน่นไกลนะ คราวนี้จากฝั่งมันต้องไปเรือ เจ้าของเรือมันพวกชาวประมงทั้งนั้น คราวนี้ท่านไปเทศน์ว่า ชาวประมงว่าใจบาปหยาบช้า ไปจับสัตว์จับกุ้งมา ทำบาปทำเวร พวกนั้นฟังแล้วก็ชักจะไม่พอใจ เวลาเรือไฟมา ไม่ได้เรือบาปกรรมทั้งนั้น อย่าไปให้ท่านนั่งเลย เลยก็ลำบากทีนี้กว่าจะได้ไปทุลักทุเลนะ ต้องเที่ยววิ่งหากัน บอกไม่ได้เรือผมมันบาปเรือใส่ปลาว่าอย่างนั้น ท่านก็เลยเดือดร้อน อันนี้ก็เรียกว่าเทศน์ไม่ดูกาละเทศะ เราเทศน์เรื่องอื่นก็ได้ อย่าไปเทศน์เรื่องให้เค้าเลิกฆ่ากุ้งฆ่าปลา ก็มันอาชีพเขา เลิกแล้วเขาจะไปทำอะไร เราไปเทศน์ว่าอย่ากินเหล้ากัน อย่าเล่นการพนันกัน ให้ประหยัดหน่อย บางวันหาได้อย่าใช้ให้มันมาก เก็บไว้เผื่อว่าหาไม่ได้ พายุมันใหญ่ลมมันแรงออกทะเลไม่ได้ ไม่มีอะไรจะกินจะใช้ พูดว่าอย่างนั้น อย่าไปว่าคนประมงนี่มันคนบาปหนา ไอ้อย่างนั้นมันก็ไม่ให้นั่งเรือเหมือนกัน ไปไม่ได้ เพราะว่าเรือบรรทุกปลา เรือบาปเรือนี้ใต้ท้าวนั่งไม่ได้ เราก็แย่นะ เราก็ต้องไปกับเขานั่งไปบนอวนก็ได้บนกองอวน นุ่มดีนะบนกองอวน เวลาเรือพวกจับปลาเค้าให้นั่งโดยสารก็นั่งบนกองอวนเนี่ยดี อย่าไปติเค้าสอนเค้าเลยว่าไม่ควร
พระโสดาบันท่านรักษาศีลบริสุทธิ์ก็หมายความว่า รักษาใจของเราให้ดีไว้ เรื่องศีลมันอยู่ที่ใจ รักษาตัวเดียวก็พอแล้ว รักษาใจให้บริสุทธิ์ไว้ ไม่ให้คิดในเรื่องชั่วเรื่องร้าย เรื่องไม่ดีไม่งามมันก็สบาย อันนี้อีกอันหนึ่งพระโสดาบันนั้นก็คือว่า ท่านไม่มีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสนี่คือการเชื่อสิ่งเหลวไหล เชื่อโชค เชื่อลาง เชื่อฤกษ์ เชื่อยาม เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช ประเภทต่าง ๆ นี้ ไม่มีน้ำใจของพระโสดาบัน พระโสดาบันเชื่ออย่างเดียวคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อกฏแห่งกรรมจึงไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในจิตใจ ทำอะไรก็ไม่ได้ถือว่าเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ เพราะวัตถุนั้น เพราะวัตถุนี้ เพราะเวลานั้น เพราะเวลานี้ เพราะสิ่งนั้น เพราะสิ่งนี้ จะดลบันดาล คือไม่มีเรื่องคำว่าดลบันดาลให้เราเป็นอะไร เราจะเป็นอะไรก็เพราะเราทำด้วยตัวของเราเอง เราคิด เราพูด เราทำ สิ่งถูกต้องหรือสิ่งไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องแล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าถูกต้องแล้วมันก็เป็นสุข มีจิตใจสบายไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน หลักการมันเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่าคุณธรรมของพระโสดา
ท่านเศรษฐีผู้นั้นได้เป็นพระโสดา เป็นพระโสดาแล้วท่านก็ค้าขายเป็นปกติ แต่ก่อนเป็นพระโสดานี่กักตุนหากำไรหน่อย พอเป็นพระโสดาบันก็เลิกค้าขายกักตุนค้าขายเอากำไร ค้าขายปกติ ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า ตรงไปตรงมา ช่วยเหลือคนยากคนจน สงเคราะห์คนชรา คนพิการ สร้างโรงทานให้อาหารคนยากจน ใครไม่มีที่ทำกินก็ให้ที่ดินทำกิน ไม่มีวัวก็ให้วัว คนยากจนไม่มีเสื้อผ้า ก็มีเสื้อผ้าไว้แจกเป็นครั้งเป็นคราว เป็นโสดาบันบุคคลขึ้น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวเหมือนกับเศรษฐีธรรมดาที่เป็นชาวอินเดียทั่ว ๆ ไป เศรษฐีอินเดียปกติเขาขี้เหนียวนะ เขาไม่ค่อยจ่ายหรอก อันนี้พระพุทธเจ้าสอนท่านผู้นี้ให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จนได้นามใหม่ ว่าอนาถปิณฑิกะ เป็นก้อนข้าวคนยากคนจน ใครมาก็ได้พึ่งพาอาศัย จะได้กินได้อยู่ได้หยูกได้ยา เรียกว่าใครบากหน้าเข้ามาพึ่งแล้วก็ได้พึ่ง กลายเป็นคนใจกว้างอารีย์อารอบขึ้นมา มันเปลี่ยนสภาพจากเมื่อก่อนเป็นคนละคน ธรรมะทำให้เปลี่ยนสภาพจิตใจไปได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านทำงานมาในรูปอย่างนี้ เราทั้งหลายเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ก็รับวิธีการนี้มาใช้ ในชีวิตประจำวันเพื่อเกิดความถูกต้อง ในการคิด การพูด การกระทำ ความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น ตามสมควรแก่ฐานะ ดังแสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ เป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ นั่งยืดตัวให้ตรงจะได้หายใจสะดวก แล้วก็หายใจเข้า คอยกำหนดลมหายใจเข้า รู้ตามลม หายใจออก คอยกำหนดรู้ตาม ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ให้คิดอยู่ที่ลมเข้า ลมออก เป็นเวลา ๕ นาที