แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวันเริ่มเข้าพรรษา ได้พูดในเรื่องปฐมเทศนา แล้วก็ต่อมาอีกวันหนึ่ง ก็ได้พูดบรรยายต่อมา เรื่องอื่นเข้ามาแทรกแซงหลายเรื่องหลายประการก็เลยหยุดชะงักไว้ เรื่องที่ได้พักไว้ เกี่ยวกับเรื่องในปฐมเทศนานั้น คือพูดถึงเรื่อง สัมมาทิฏฐิ อันแปลว่าความเห็นชอบหากเป็นบุคคลก็หมายถึงบุคคลผู้มีความเห็นชอบ เรียกว่า “สัมมาทิฏฐิกบุคคล” หมายถึงบุคคลที่มีความเห็นชอบ เห็นตรงตามหลักพระพุทธศาสนา อันความเห็นชอบตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ได้อธิบายเมื่อวันอาทิตย์ก่อนโน้นค้างไว้ ก็หมายถึงว่า เห็นชอบตามแนวศีลธรรม ตามแนวศีลธรรมก็คือเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เรามีผลแห่งการกระทำเป็นของตน เราไม่สามารถจะหนีจากผลที่เรากระทำไว้ได้ ถือว่าเป็นความเห็นชอบตามหลักศีลธรรม
ความเห็นชอบในแง่นี้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ชีวิตมาก เพราะว่ามันเป็นฐานแห่งการพึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองให้แก้ปัญหาอะไรต่างๆด้วยตัวเอง เราไม่เอาโชคชะตาของชีวิตไปเที่ยวฝากไว้กับดวงดาวในท้องฟ้า หรือ ประสิ่งอะไรอื่นอันเป็นเรื่องภายนอก แต่เราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง จากการคิดจากการพูด การกระทำ การคบหาสมาคมในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของตัวทั้งนั้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น อะไรมากนัก แม้จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ก็เกี่ยวข้องเพียงสักว่าเป็นตัวประกอบ ไม่ใช่ตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาอะไรๆขึ้นในชีวิตของเรา
ถ้าบุคคลทั่วๆไปมีความเชื่อสัมมาทิฏฐิในรูปอย่างนี้ก็จะมีการประพฤติปฏิบัติสร้างตัวสร้างตนมากขึ้นเช่นว่าตนที่เป็นคนยากจนก็ไม่ไปเชื่อว่าไอ้ที่จนนี้เพราะว่าชาติก่อนไม่ได้ทำอะไรไว้ อันเป็นความเชื่อที่มันไม่ถูกต้อง เราควรจะตั้งต้นชีวิตกันในชาตินี้ที่เราเกิดมา ที่เราจนก็เพราะว่าเราไม่ทำมาหากินไม่รู้จักเก็บหอมรอบริบไม่คิดสร้างเนื้อสร้างตัวหาเงินได้ แต่ใช้ไม่เป็น คือใช้มากเกินรายได้ไป เลยต้องทำให้ลำบากยากจน ถ้าเราไปคิดว่าที่จนก็เป็นเรื่องชาติก่อน มันแก้ไม่ได้ แก้ยาก เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว อันนี้ถ้าเรามาคิดว่ามันเป็นเรื่องของเราในปัจจุบันที่เราได้กระทำอะไรไม่ดีไม่งาม มาตั้งแต่ปีนั้น เวลานั้น จนกระทั่งบัดนี้ แล้วเราก็มาคิดแก้ไขปรับปรุงชีวิตกันใหม่ ให้เข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ชอบตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะช่วยให้เราหลีกพ้นจากความยากจนได้ เพราะ
ความจนแก้ได้ด้วยการทำงาน ไม่ใช่แก้ได้ด้วยการเกียจคร้าน หรือไม่ใช่แก้ด้วยการไปหาหลวงพ่อบอกหวยบอกเบอร์ แล้วก็ไปซื้อกันเป็นการใหญ่ อย่างนั้นมันไม่ใช่ทางแก้จน แต่มันจะทำให้ชีวิตเสียหายมากขึ้น เราจะแก้ความจนก็ต้องถือว่าเป็นผลของการกระทำของเรา
ความมั่งมีก็เกิดจากผลของการกระทำ ความยากจนก็เกิดจากผลการกระทำ เค้าเกลียดเราก็เพราะเราทำตนให้เขาเกลียด เขารักเราก็เพราะเราทำตนให้เขารัก ไม่ใช่เพราะว่า มันไม่ถูกกัน เช่นผู้หญิงผู้ชายจะแต่งงาน เค้าว่าวันนั้นกับวันนั้นถูกกัน วันนี้กับวันนี้ไม่ถูกกัน มันไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา เรื่องที่ถูกกันก็เพราะว่าต่างคนต่างเรียนรู้นิสัยกัน คอยเอาอกเอาใจกัน ไม่ทำอะไรในทางที่จะให้กระทบกระเทือนจิตใจกัน ก็อยู่กันด้วยความเรียบร้อย ไม่ยุ่งไม่ยาก นี่ก็เกิดจากกระทำ ไม่ได้เกิดจากอะไร แต่คนไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องปัญหาอย่างนี้ ไม่ค่อยเชื่อกฎแห่งกรรมว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากการกระทำ เลยไม่คิดสร้างตัวสร้างตน ไม่คิดปรับปรุงตัวเอง ในเรื่องปัญหาชีวิต ไปเที่ยวเชื่อสิ่งภายนอก อันเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย ไม่ใช่เรื่องพระพุทธศาสนา แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ ไอ้สิ่งเหล่านั้นควรจะลบทิ้งไปได้แล้ว ไอ้ความเชื่อดวงชะตา ราศี โชคดีโชคร้าย วันดีคืนดีอะไรต่างๆนั้นมันเป็นเรื่องนอกตำรา ไม่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า
เราก็ต้องหันมาเชื่อว่า “ดีชั่วสุขทุกข์เสื่อมเจริญ เกิดจากกากระทำของเราเอง ไม่ได้เกิดจากการกระทำของอะไรที่ไหน” ไม่มีอะไรที่จะมาดลบันดาลให้เราเป็นอะไร แต่ตัวเราเองนั่นแหละสร้างอะไรให้แก่ตัวเอง สร้างอนาคต สร้างความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นในตัวเรา ด้วยการกระทำของเรา ไม่ใช่ด้วยเรื่องอื่น ขอให้เข้าใจว่าในรูปอย่างนี้ (07.10 โยมที่นั่งใกล้ลำโพงตัวนั้น โปรดช่วยหันไปโน่น มันเอียงมาทางนี้มากไป ... )
อันนี้เราก็มาคิดนึกการกระทำของเรา คือพระพุทธศาสนาสอนให้เรามองตัวเอง ให้พิจารณาตัวเอง ให้ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง หลักนี้เป็นหลักความเห็นชอบในแง่ศีลธรรมที่เราควรจะยึดไว้เป็นหลักประจำใจ ถ้าเรายึดหลักนี้เป็นประจำใจแล้ว สิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ยุ่งไม่ยาก ไม่สร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้น เพราะเราสะสางตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา อันนี้ได้พูดได้ฟังมาก่อนแล้วในอาทิตย์โน้น ซึ่งญาติโยมคงจะได้อ่านจากหนังสือ… วันนี้เรามาพูดต่อไป ถึงสัมมาทิฏฐิ ที่มันสูงขึ้นไปกว่าขั้นศีลธรรม ขั้นศีลธรรมนั้นเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นการเชื่อกรรมตามธรรมดาทั่วๆไป แต่ว่าถ้าสูงขึ้นไปกว่านั้น เป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เราพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง คือมีความเห็นถูกต้องในขั้นที่เป็นสัจธรรม คือเห็นว่าความทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ทุกข์นี้เป็นเรื่องแก้ไขได้ และเราจะแก้ได้โดยวิธีใด วิธีนั้น ท่านผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ว่าให้แก้ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเราได้รับทราบที่มาแล้วโดยลำดับ อันนี้เรื่องของความรู้ในเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ได้ เรื่องการปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นี้มันเป็นเรื่องไม่เพียงแต่รู้ตามตัวหนังสือ... คือเราอ่านจากตัวหนังสือตำรับตำรา หรือว่าฟังจากคำเทศนาสั่งสอนของพระสงฆ์องค์เจ้าที่อธิบายให้เราเข้าใจ เรียกว่าเป็นการรู้ในเชิงปริยัติ รู้ตามแบบการเรียน การศึกษา ต่อจากนั้นเราจะต้องมีความรู้ที่ลึกเข้าไปกว่านั้น เห็นสิ่งนั้นถูกต้องชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ใช่สักแต่เราเรียนรู้วิชาการอะไรบางอย่าง เช่นเรียนเรื่องการเพาะปลูก แต่ว่าเราไม่เคยปลูกเลย เราก็ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องเกี่ยวกับการเพาะปลูกนั้น เพราะเราไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเราเอง หรือว่าเราเรียนตำราทำกับข้าว เรียนรู้ว่าแกงนั้นใส่นั้นใส่นี้ ประกอบเครื่องอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าเราไม่เคยแกงสักที แล้วเรามีความเข้าใจในเรื่องนั้นชัดเจนได้อย่างไร เพียงจำ แต่ก็ไม่เคยทำขนมจีนสักที รู้จักแต่จะซื้อเขากินอยู่ตลอดเวลา ก็เรียกว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ารู้ แต่ไม่เข้าใจ และไม่เห็นในเรื่องนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง รู้แล้วแต่ไม่เห็น เพราะไม่มีการกระทำอันจะถูกต้องตามเรื่องที่ควรกระทำ ต้องทำเรื่องที่ควรจะทำในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะ นี้เหมือนกัน
ถ้าเราเพียงแต่เรียน เรียกว่ามีความรู้มีความเข้าใจ ในศัพท์แสงในความหมายของเนื้อเรื่องเหล่านั้น ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติ หรือไม่ได้ศึกษาเพื่อการภาวนา คำว่าภาวนาก็หมายความหมายว่าเข้าไปพิจารณาอยู่ในเรื่องนั้นให้เห็นตัวมันที่แท้จริงถูกต้อง เราก็ยังไม่ได้รับผลจากสิ่งนั้นเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว... ใจความสำคัญของพระศาสนาทั้งหมดอยู่ที่ตัวการปฏิบัติ ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติ เราก็เรียกว่ายังไม่ถึงตัวศาสนา ยังไม่ได้รับผลจากพระศาสนาอย่างแท้จริงแต่ถ้าเมื่อใดเราได้ลงมือปฏิบัติเมื่อนั้นเราจะได้ซาบซึ้งในสิ่งนั้นลงไปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนกับเราได้รับประทานอาหาร เราเคี้ยวไปเราก็รู้ว่ารสชาติมันเป็นอย่างไร ให้ความรู้สึกอย่างไร แล้วก็ได้ความชุ่มชื่นในทางร่างกายอย่างไร เมื่อได้รับประทานอาหารประเภทนั้นเข้าแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเราเข้าถึงสิ่งนั้นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
ในธรรมะ กิเลสก็เหมือนกันถ้าเพียงแต่เรียนแต่รู้ยังไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว เพียงแต่รู้ไว้ เอาไปคุยกันเล่นเวลามีอะไรก็คุยกันเพลิดเพลินกันไปเท่านั้น แต่เราไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น เพราะเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเราเองให้มันรู้ชัดเห็นชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่มันเป็นอยู่อย่างไร ในเรื่องนี้ ความจริง ๔ ประการเรียกว่า อริยสัจ นี้ ก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้ให้เห็นว่าทุกข์มันคืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์ มันคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อมีความทุกข์อยู่ในใจของเรานั้น สภาพจิตใจเราเป็นอย่างไร มีความร้อนขนาดไหน กระวนกระวายอย่างไร มีความวิตกกังวลในเรื่อง ในปัญหาต่างๆเป็นประการใดบ้าง เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาเพ่งมองในสิ่งนั้นเพื่อให้เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งนั้นๆ เพราะว่าเราจะละสิ่งใดจะเลิกสิ่งใด มันสำคัญอยู่ที่ว่าเรารู้จักรสชาติของสิ่งนั้น รู้ความอร่อยของสิ่งนั้น แล้วก็รู้ทุกข์รู้โทษของสิ่งนั้นเมื่อเอามาเทียบเคียงกัน ระหว่างทุกข์ กับความเอร็ดอร่อยที่เกิดขึ้นจากสิ่งนั้น มันเป็นทุกข์มากกว่า มีความสุขนิดหน่อย แต่มีความทุกข์เหลือเกิน เราก็เห็นว่ามันไม่ไหว ที่จะแบกความทุกข์อยู่อย่างนี้ เราก็เริ่มเบื่อหน่ายในสิ่งนั้นแล้วก็คิดไปนึกไปพิจารณาไปบ่อยๆ ความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น และผลที่สุดเราก็เลิกจากสิ่งนั้น ไม่ทำเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อไป
การไม่ทำเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อไปนั่นแหละ เรียกว่าเราตัดตัวทุกข์ให้หมดไปแล้ว ตัวทุกข์หมดไปก็เพราะว่าเรารู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แล้วเราก็ตัดตัวเหตุ เมื่อตัดตัวเหตุผลมันก็ไม่เกิดต่อไปเหมือนกับว่าหญ้าในสนามนี้ หญ้าบางประเภทเราไม่อยากให้มันขึ้น เพราะว่ามันรกไปเสียเปล่าๆ เราปลูกหญ้าประเภทหนึ่ง แต่อีกหญ้าประเภทหนึ่งมันแทงเข้ามา เราก็ต้องตัดออก ถ้าเพียงแต่ไปตัดข้างบน มันไม่หมดไม่สิ้นเพราะรากของต้นไม้นั้นยังอยู่ มันก็ขึ้นต่อไป ตัดไปเท่าใดๆก็ไม่จบ เพราะสาเหตุมันยังอยู่ใต้ดิน ถ้าเราจะให้มันจบๆ ต้องขุดลงไป ให้เอาหัวของหญ้ากอนั้นขึ้นมาให้หมด เอาไปทิ้งซะที่อื่น ไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ต่อไป เช่นหญ้าแห้วหมูเป็นต้น หญ้าแห้วหมูนี่มันเก่งหนักหนา เหลืออีกซักนิดมันก็ขึ้นได้อีกต่อไป การปราบหญ้าแห้วหมู ต้องขุดให้หมด ขุดแล้วอย่าเอาไปทิ้ง เอาไปตำเป็นผง แล้วเอาไปแช่น้ำผึ้ง เอาไว้กินเป็นยาอายุวัฒนะได้ประโยชน์แก่ร่างกาย กินบ่อยๆอายุมั่นขวัญยืน ไม่ต้องมีอะไร เอาแต่หญ้าแห้วหมูอย่างเดียวก็เป็นยาอายุวัฒนะแล้ว แล้วก็ในสนามนั้นจะไม่มีหญ้าแห้วหมูขึ้นต่อไป หญ้าคาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมันก็ชอบเหลือเกิน ปราบไม่ค่อยไหว ชอบขึ้น แต่ถ้าเราขุดรากให้หมด หญ้าคาก็จะไม่ขึ้นต่อไป แต่ถ้าเหลืออยู่ซักนิดหนึ่ง มันยังขึ้นได้ต่อไป หญ้าคานี่เป็นหญ้าในประเภทตายยาก ดังนั้นเขาจึงเอาใบหญ้าคามาทำเป็นอะไรสำหรับพรมน้ำมนต์ ให้ถือว่ามันคงทนถาวร ไม่รู้จักตาย แต่ว่าผลที่สุดมันก็ตาย มันหนีไม่พ้นหรอก แต่ว่ามันตายช้า ก็เลยเอามาใช้เป็นเครื่องรางของขลังอะไรไปในรูปอย่างนั้น นี่ฉันใด สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เราต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์ของสิ่งเหลานั้น เห็นทุกข์ของสิ่งเหล่านั้น แล้วเราก็ตัดสินใจละเลิกจากสิ่งเหล่านั้นไป ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ความทุกข์ธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นเพราะสิ่งเสพติดที่เรายังติดๆกันอยู่บ้าง เช่นว่าติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดอะไรต่างๆ อันเป็นของประเภทเสพติด สามัญๆ ไม่รุนแรงเกินไป ไม่ทำให้เสียหายเกินไปแต่ว่ามันก็เสียหาย วันละนิดวันละน้อย ทอนอายุให้แก่ลงไป ให้ชำรุดทรุดโทรม เปิดช่องเปิดทาง ให้โรคอื่นเข้ามาก่อนดับร่างกายของเรา เราได้เรียนรู้ว่าไอ้ของเหล่านี้มันเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกาย รู้อย่างนั้นเรียกว่ารู้ตามแบบหนังสือตำรับตำรา จากการสดับตรับฟังของผู้อื่น เป็นการรู้เพื่อทุกข์
ต่อไปก็มามองดูตัวเอง ว่าตั้งแต่เราดื่มสุรามานี่ สุราเมรัยมา มันเป็นเวลากี่ปีแล้ว เวลาเท่านั้นปี ร่างกายของเราเป็นอย่างไร เคยไปให้หมอตรวจบ้างไหม ว่าสภาพร่างกายของเรานี้มันเป็นอย่างไร ถ้าเราไปให้หมอตรวจดู หมอก็จะบอกให้เรารู้ว่าเวลานี้เครื่องเครามันไม่ค่อยจะเรียบร้อย ตัวนั้นเสียตัวนี้เสีย ไอ้ที่เสียไปก็เพราะว่าเอาสิ่งเป็นพิษ คือสุราเมรัยใส่เข้าไปในร่างกายมากไปหน่อย แล้วก็ ไปเป็นสิ่งเรื้อรังอยู่ในร่างกายทำให้ประสาทไม่ค่อยดี มือไม้สั่น กระตุก เดินเหินก็ไม่ ค่อยจะเรียบร้อย สายตาก็ไม่ดี สมองก็ไม่ดี อะไรๆในร่างกายนี้มันค่อนข้างจะเสื่อมไปทั้งนั้น เราพอได้ยินหมอพูดให้เราฟังอย่างนั้น ก็ยังไม่พอ เราต้องมานั่งมองดูตัวเอง ดูมือเวลายกขึ้นทำอะไรๆ ทำไมมันไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นเค้ายกขึ้นมาจับอะไรได้ ของเรามันต้องทำอย่างนี้ๆ เสียก่อน ถึงจะจับอะไรได้ จับแล้วบางทีมันไม่มั่นไม่คง มันลื่นหล่นไป นี่เพราะอะไร สายตาก็ไม่ค่อยจะดี ก่อนนี้ขับรถได้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ขับรถไม่ได้ เพราะมองอะไรมันไม่ค่อยแม่นเหมือนเมื่อก่อน กะว่าไม่โดนแล้ว แต่มันไปโดนเข้าได้ เพราะว่าตามันรายงานผิด ตารายงานผิดก็เพราะว่าฤทธิ์สุราเรื้อรังที่เข้าไปกักขังอยู่ในร่างกายมากทำให้มีพิษขึ้นในร่างกาย
อันนี้เราพิจารณาตัวเองมองเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นแล้วก็พิจารณาต่อไปว่า ความเป็นอยู่ในครอบครัวของเรามีสภาพอย่างไร แม่บ้านเป็นอย่างไร ลูกเต้าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในครอบครัวของเราบ้าง อันเนื่องจากการประพฤติ...เสพสิ่งเสพติดเหล่านี้
ถ้าพิจารณาไปก็จะเห็นว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกในครอบครัวด้วยประการต่างๆ พิจารณาไปสิ การปฏิบัติงานในหน้าที่ ว่าเราได้ทำงานเป็นที่พอใจของผู้บังคับบัญชาหรือเปล่า เราไปทำงานเป็นปกติไหม หรือเราชอบไปทำงานสาย ทำงานก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ทำอะไรก็ไม่ถูกไม่ต้อง ทำให้เกิดความเสียหายได้รับคำเตือนบ่อยๆ แต่ก็ยังไม่เห็นว่ามันมีดีขึ้น ที่ไม่ดีขึ้นนั้นเพราะอะไร
เราก็ต้องมองที่ตัวของเรา ว่ามองไปมองมาก็จะเห็นว่า อ้อ มันบกพร่อง เรามีสิ่งไม่เข้าเรื่องนี้ เข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายแล้วเรารักชีวิตเราหรือเปล่า เรารักครอบครัวของเราหรือเปล่า เรารักชาติ รักบ้านเมืองของเราหรือเปล่า เรานับถือศาสนาอะไร เรานับถือพระพุทธศาสนา บางทีเราก็มีพระห้อยคออยู่ด้วย แต่ว่าเราห้อยไว้เหมือนกับเด็ก เราไม่ได้เคารพ ไม่ได้นับถืออะไร ยกแก้วเหล้าข้ามหัวหลวงพ่อทุกวันทุกวัน เอ้อ มันก็ไม่ได้เรื่องเสียแล้ว พิจารณาไปมันเห็นทุกข์ขึ้นมา เห็นโทษด้วยตัวของเราเอง แล้วก็รู้ว่า
ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานี้มาจากสาเหตุคือการไม่บังคับตัวเอง ไม่ควบคุมตัวเอง ปล่อยตัวเองให้ไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งมึนเมาเหล่านั้นอันเป็นเรื่องของความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เรามองไปคิดไปก็มองเห็น ตัวเหตุอันแท้จริงของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราไม่มีการบังคับความรู้สึกของเราเอง
เรื่องการไม่บังคับความรู้สึกนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่จะให้เราตกเป็นทาสของอะไรๆต่างๆ หรือทำให้เราต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เสียเวลา เสียชีวิตร่างกายไปในเรื่องอะไรๆต่างๆ เพราะเราไม่มีการควบคุมความรู้สึกของเราในทางพระศาสนาท่านจึงสอนให้เราปฏิบัติในข้อหนึ่ง เค้าเรียกว่า “สัญมะ”
สัญมะ ก็คือการระวัง การสำรวมก็ได้ การระวังก็ได้ หรือว่าการบังคับความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ก็ได้ คนเราที่ไม่ค่อยจะมีการบังคับตัวเองจึงมักไหลไปตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม เพราะไม่คอยบังคับไม่คอยควบคุมตัวเองไว้ จึงได้เกิดปัญหาอะไรต่างๆ คนที่เสพสิ่งเสพติดไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร บุหรี่ เหล้า เบียร์ กัญชายาฝิ่นเฮโรอีน อะไรเหล่านี้ ที่ทิ้งไม่ได้นั้น เพราะอะไร ก็เพราะว่าคนเหล่านั้นไม่คิดบังคับตัวเอง ไม่ควบคุมอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วก็คอยหักห้ามยับยั้งชั่งใจ เขามักจะปล่อยไปตามความอยากที่เกิดขึ้น และมักจะพูดว่าควบคุมไม่ได้ มันไม่ใช่จะควบคุมไม่ได้ เรื่องไม่มีการควบคุมไม่มีความสนใจในการที่จะบังคับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ได้คิดให้มันละเอียดว่าความรู้สึกนี้มันคืออะไร มันเกิดขึ้นเพราะอะไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันทำลายเราหรือว่ามันช่วยเราให้เจริญ ให้ก้าวหน้าในชีวิต
ในการงานด้วยประการต่างๆ เราไม่เคยพิจารณา ไม่เคยศึกษาค้นคว้าในเรื่องเช่นนั้น เมื่อเราไม่พิจารณามันก็ไหลไป ไหลไป อันนี้สภาพจิตใจของคนเหล่านั้นทำสิ่งใดบ่อยๆ มันก็เป็นนิสัยขึ้นมา ทำอะไรนานๆก็เป็นนิสัย สิ่งนั้นไม่เคยทำมาก่อน แต่ว่าเราไปทำบ่อยๆ เข้า ก็กลายเป็นนิสัยเป็นสันดานขึ้นมา นิสัยสันดานของคนนี้ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ เมื่อเกิดมาใหม่ๆนั้นมันไม่มีอะไร มันมีแต่ความต้องการอาหาร การหลับนอนเท่านั้น ไอ้เรื่องอื่นมันก็ไม่มีอะไรแต่ว่าค่อยสะสมความรู้สึกนึกคิดอะไรบางอย่างขึ้น ตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม
และตัวอย่างเด็กที่ได้ประสบพบเห็นก็มาจากพ่อแม่ คนในครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ที่จะให้เด็กชายชอบนิสัยไปฝังไว้ในใจ พ่อแม่ประพฤติอย่างไร ทำอะไร แสดงอะไรออกมา เราอย่านึกว่ามันผ่านพ้นไปเฉยๆ แต่ว่าสิ่งนั้นมันจะไปประทับอยู่ในใจของเด็กแล้วเด็กมันก็รับสิ่งนั้นมาแสดงออกในรูปต่างๆ ตามที่ได้ประสบพบเห็นอันนี้คือการสร้างเสริมสิ่งเหล่านั้น เด็กก็รับไว้ ผู้ใหญ่จึงต้องระมัดระวังเหมือนกัน ในการที่จะแสดงอะไรออกไปเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างในทางเสียแก่เด็ก แต่ว่าจะแสดงแต่เรื่องดีเรื่องงาม เรื่องที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ เป็นความสุขเป็นความเจริญแก่ชีวิตของเขา
จิตใจคนมันคือปกติอย่างนั้น มันคอยดูดคอยซับอะไรอยู่ตลอดเวลา ถ้าเปรียบก็เหมือนกับกระดาษซับ ที่เราซับน้ำหมึกสีแดงก็ได้ สีดำ สีเขียว สีอะไรก็ได้ ซับลงไปซะ มันก็ซึมเข้าไปในกระดาษซับทั้งหมด ฉันใด จิตใจของคนเราก็คอยดูดซับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้แล้วเอามาเก็บสะสมไว้ในใจ
หากท่านจะเรียกว่าจิตนี้ แปลว่า การสะสม ก็ได้เหมือนกัน หมายถึงการสะสมอารมณ์ประเภทต่างๆเอามาไว้ในใจ เก็บไว้ในใจแล้วก็ค่อยแสดงออกมาตามอาการที่เราได้สะสมไว้นั้น เราจึงเห็นว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนี้ ไอ้ที่ดีก็มี ไอ้ที่ไม่ได้เรื่องก็มี แต่คนเหล่านั้นไม่รู้ตัวเอง คนเรานี่โดยมากไม่ค่อยรู้จักตัวเองว่าตัวบกพร่องอะไร มีความไม่เหมาะไม่ควรอยู่ที่ตรงไหน เคยประพฤติอย่างไรเคยทำอย่างไรเราจะเห็นว่าเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงเป็นมาตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งเข้าวัยกลางคน จนกระทั่งแก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นแหละคือตัวอย่างของบุคคลที่ขาดความสำนึกในเรื่องของตัวเอง ไม่มีการควบคุมตัวเองไม่มีการควบคุมความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ จึงเป็นอยู่อย่างนั้น อายุมากแล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ นั่นคือแสดงให้เห็นว่าไม่ได้เรื่อง แม้จะเป็นนักศึกษาธรรมะ ก็เพียงแต่รู้ธรรมะ แต่ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่ได้เอาธรรมะมาเป็นกระจกคอยส่องดูตัวของเราเองว่า เราได้ประพฤติในเรื่องอะไร ได้ปฏิบัติตนอยู่ในรูปอะไร ไม่ได้พิจารณาก็เลยปล่อยตามเรื่อง ไปตามเรื่องตามราวจนแก่จนเฒ่า ก็ไม่สามารถที่จะปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นได้ อันนี้คือการขาดทุนในชีวิตของเรา เราอย่าอยู่อย่าง ชนิดขาดทุนอย่างนั้น แต่อยู่ให้เกิดกำไร
กำไรนั้นมันต้องเป็นเรื่องกุศล เรื่องดีงามความดี ที่เพิ่มขึ้นในจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้หลักอันหนึ่งว่า ควบคุมความรู้สึกของเราไว้ อย่าให้ไหลไปตามอารมณ์สิ่งแวดล้อมที่มันจะยั่วยุให้เราเสียคน เช่นควบคุมความอยากอาหาร ควบคุมความเอร็ดอร่อยทางลิ้น เวลากินอาหารนี่ เราก็ต้องกินด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ได้กินด้วยการหลงในรสอาหาร ด้วยการติดในอาหารที่เรากำลังเคี้ยวกำลังกินเพลินๆไป จนลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็มักจะรับประทานมากเกินไป ไอ้ของมากนี่มันไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายหรอก เหมือนน้ำที่เราใส่จนล้นถ้วย มันไม่ได้เรื่องอะไรมันสูญไปเสียเปล่าๆ อาหารที่เรารับประทานเข้าไปนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเกินไปมันก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย ทำให้หนักท้อง ทำให้เกิดอารมณ์อึดอัด ทำให้เกิดอะไรๆขึ้นในร่างกายเสียเปล่าๆ จึงเป็นเรื่องไม่สมควร
เพราะฉะนั้นในขณะที่เรารับประทานอาหาร ก็ต้องมีการควบคุม คือรับประทานด้วยความมีสติ กำข้าวเข้าไปในปาก เวลาเราเคี้ยวก็ต้องนึกอยู่เสมอว่าเรารับประทานอาหารนี้เข้าไป มีอะไรเกิดขึ้น รู้ว่ามันเค็มมันเปรี้ยวมันหวานมันเผ็ดอย่างไร คอยกำหนดรู้ไว้เท่านั้น อย่าให้เกิดความรู้สึกที่ยินดี หรือยินร้าย หรือว่าเพลิดเพลินหลงใหลในอาหารนั้น อย่างนี้เรียกว่ากินปลอดภัย ไม่เป็นพิษแก่เรา เพราะเราใช้การควบคุมในเรื่องการกินไว้ การดื่มอะไรก็เหมือนกัน การจะดื่มด้วยความรู้สึกว่าเราดื่มเพื่ออะไร ดื่มเพื่อบรรเทาความกระหาย แล้วก็ไม่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ดื่มให้มันเกินไป เอาแต่พอสมควร เรียกว่าพอหายกระหาย แล้วเราจะดื่มแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์เราจะไม่ดื่ม ซึ่งความอยากจะดื่มอะไรเกิดขึ้น เราก็ต้องคิดว่านี่มันอยากอะไร ต้องคอยกำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าอยากอะไร อยากจะดื่มสิ่งนั้น อยากจะดื่มสิ่งนี้ เช่นคนชอบดื่มเบียร์ดื่มเหล้า ก็อยากจะดื่มเบียร์ดื่มเหล้า คนที่ชอบดื่มกาแฟ ก็อยากจะดื่มกาแฟ คนที่ชอบติดน้ำอัดลม ก็ชอบดื่มน้ำอัดลมอย่างนั้น ยี่ห้อนั้น กาแฟก็ต้องยี่ห้อนั้น ถ้าไม่ใช่ยี่ห้อนั้นแล้วเกิดอารมณ์เสีย ไปไหนก็ต้องเป็นทาสมันไป ต้องพกมันไปด้วย หิ้วมันไปด้วย อย่างนี้เค้าเรียกว่าติดมันแล้ว เราไปติดสิ่งนั้น เราเป็นทาสของสิ่งนั้น เมื่อเกิดจิตเกิดเป็นทาสขึ้นมาในรูปอย่างนั้น มันก็เกิดเป็นปัญหา สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในใจ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ เมื่อได้ก็หลงใหลมัวเมา ประมาท ในสิ่งเหล่านั้น มันก็เป็นเรื่องทุกข์ทั้งนั้น เราก็ต้องควบคุมไว้ เอ็งอยากอะไร อยากทำไม จงอย่าไปติดมันเข้า และมีอะไรให้รับประทาน ดื่ม เราก็ดื่ม แต่ว่าเราไม่ติดในสิ่งนั้น ไม่ดื่มสิ่งนั้นจนกระทั่งว่าติดงอมแงม
เดี๋ยวนี้คนในเมืองไทยติดน้ำประเภทต่างๆมากมาย ขวดเล็กขวดน้อย กินกันจริงๆ ดื่มกัน โดยเฉพาะคนทำงานขับรถนี่ ชอบดื่มน้ำอะไรใส่ขวดเล็กๆ มาดื่มๆ ดื่มมากๆ หารู้ไม่ว่า ไอ้สิ่งเหล่านั้นคืออะไร ดื่มกันจนอย่างนั้น มันติดแล้ว ถ้าไม่ดื่มก็อยู่ไม่ได้ ไปไหนก็ต้องมีใส่กระติกไป หอบไปเอาไปดื่มไปกินกันต่อไป นี่แหละคือการไม่ระมัดระวัง ในเรื่องการดื่ม เราชอบเป็นทาสของน้ำดื่ม เราก็ต้องพกต้องพาไปไหนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ เกิดการเดือดร้อนวุ่นวายใจขึ้นด้วยประการต่างๆ สร้างปัญหาเพราะการดื่ม
เรื่องอื่นๆก็เหมือนกัน เช่นตานี่ มันต้องดูอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องควบคุมการดู คือดูได้ เห็นอะไรก็เห็นไป แต่ว่าเอาแต่เพียงขั้นเห็นเท่านั้น อย่าไปติดขึ้นในสิ่งนั้น อย่าไปนึกว่าน่าดูน่าชมน่าพอใจ อยากจะดูต่อไป อย่างนี้มันก็ยุ่งนะ สร้างปัญหาแล้ว เพียงสักแต่ว่าดูเฉยๆ ดูด้วยปัญญา ดูด้วยความคิดนึกตรึกตรองตามเรื่องที่เราดูไป ให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันมาอย่างไร มันไปอย่างไร มันเป็นประโยชน์อย่างไร เป็นพิษเป็นโทษอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปอย่างไร อันนี้เรียกว่าดูแล้ว มันไม่เกิดความข้องทางจิต เพราะเราดูด้วยการคิด การวิจัย ไตร่ตรองค้นคว้าอยู่ในเรื่องนั้นๆอยู่ตลอดเวลา ดูอย่างนี้ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นทุกข์แก่ผู้ดู แต่ถ้าดูด้วยความหลงใหล ด้วยความมัวเมา ด้วยความประมาท การดูนั้นมันก็เกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นในจิตใจของเรา เพราะเราไปติด อันนี้คนที่ตามันเป็นพิษแก่ตัวเองมีไม่ใช่น้อย ตาเป็นพิษน่ะมันเป็นอย่างไร คือดูแล้วมันชอบใจขึ้นมา อยากได้ขึ้นมา ต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อไปหา หรือว่าไปดูต่อไป เขาไม่ให้ดู ล่วงล้ำก้ำเกิน จนกระทั่งเกิดเรื่องเกิดราว หรือว่าชกต่อยกันเพราะเรื่องตานี่แหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร นี่มันต้องคุมทั้งนั้น เรียกว่าคุมตั้งแต่ในตา
เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องร่างกาย เรื่องการเคลื่อนไหว การไปการมา การกระทำอะไรทุกอย่าง แม้เราจะพูดก็ต้องควบคุมแล้ว ควบคุมว่าเวลาใดควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด เวลาใดควรจะนั่งนิ่งๆ ไม่พูดให้คนอื่นเขารำคาญ เวลาใดเราควรจะพูดอะไรกัน มันต้องรู้จักเวล่ำเวลา เรียกว่าสำนึกรู้สึกเรามีความระมัดระวังนั้น เขาจะไม่พูดอะไรในเมื่อคนอื่นเขาจะฟังกัน คนอื่นเขาฟังกันอยู่ทั้งนั้น ไอ้เราไปนั่งพูดจ้อๆกันอยู่ มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ทำให้คนอื่นเขารำคาญ
เสียงที่ออกมาจากปาก ซึ่งไม่ใช่เวลาจะพูดอย่างนี้มันก็ไม่ดี เราพูดไม่ได้ หรือว่าเรื่องบางอย่างเราไม่ควรพูด แต่กลับไปพูดขึ้น เรียกว่าพูดผิดเวลา ผิดกาละผิดเทศะผิดบุคคลผิดเหตุการณ์ มันไม่ได้ทั้งนั้น คนที่ไม่มีการควบคุมการพูด ก็มักจะพูดเรื่อยไป พูดโดยไม่ได้คำนึงว่าเวลานี้เขากำลังทำอะไร เขากำลัง อะไรกันอยู่ แล้วเราไปทำอะไรในที่นั้น มันผิดเรื่องผิดราว มันไม่ถูกต้องไม่คิด ไม่คิด เพราะว่าไม่ได้นึกว่าตัวทำอะไร ทำถูกหรือว่าทำผิด ... ใครรำคาญหรือไม่รำคาญจากการกระทำของเราบ้าง ความคิดอย่างนี้มันไม่เกิด เพราะว่าเราไม่เคยอบรมนิสัยใจคอในรูปอย่างนั้น ไม่เคยสำรวม ไม่เคยระวังตัวเอง ควบคุมตัวเอง มันก็เสียหายแก่ตัว…
ด้วยประการต่างๆ นี้เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเรา เราจึงต้องหมั่นคอยควบคุมอะไรตัวเราไว้ จะพูด จะคิด จะทำ จะไปไหน จะคบหาสมาคมกับใครก็ต้องคิดทั้งนั้น เช่นเราจะไปไหน ไปทำไม ไปแล้วจะได้อะไร แล้วไปกับใคร คนนั้นคือใครไว้ใจได้ไหม มีความประพฤติเรียบร้อยไหม เราพกอะไรไปไหน เราไปแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นไหม เราต้องคิดแล้ว เรื่องจะไปนี่เราต้องคิด แล้วเรามีสตางค์จะจ่ายก็ต้องคิดเหมือนกัน ต้องคิดว่า เอ จ่ายอะไร จ่ายทำไม เอามาทำอะไร แล้วสิ่งนั้นเรามีบ้างแล้วหรือยัง อะก็มีบ้างแล้ว มีแล้วทำไมต้องซื้ออีกล่ะ ซื้อด้วยเรื่องอะไร เรื่องสนองความอยากเท่านั้นล่ะ ไม่ใช่เรื่องอะไร อยากจะซื้อแล้วก็ไปซื้อ แล้วสตางค์นี่มันหาง่ายนักอยู่เมื่อไหร่ ถ้าเราซื้อบ่อยๆ แล้วมันก็จะเกิดปัญหาสตางค์ไม่พอใช้ ทำให้เกิดเป็นทุกข์ต่อไป เรื่องอย่างนี้ แต่ละเรื่องในชีวิตประจำวันของเรา ต้องอาศัยการเพ่งการพิจารณาคอยนึกคิดเตือนจิตสะกิดใจของเราไว้ ให้สม่ำเสมอแล้ว ก็ไม่มีปัญหา ไม่ว่าอะไรเราจะอยู่กันด้วยความสุขด้วยความสงบใจ เช่นในชีวิตในครอบครัว สามีภรรยาอยู่กัน ต่างคนต่างมีการควบคุมความรู้สึกนึกคิดในชีวิตประจำวันควบคุมการกระทำอะไรต่างๆแล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในครอบครัว แต่ที่มันมีๆกันอยู่นั้น ก็เพราะว่าไม่คิดว่า เอ๊ะตัวกระทำอะไร ดีหรือชั่ว เป็นสุขจริงหรือ เป็นทุกข์จริงหรือ หรือว่าใครจะเดือดร้อนวุ่นวายจากการกระทำของตัวบ้าง ไม่ได้คิดในเรื่องอย่างนี้ เป็นคนชอบตามใจตัวเอง ตามใจสิ่งแวดล้อมที่มันเกิดมายั่วยุ แล้วก็ไหลไปตามอารมณ์นั้นๆ โดยหานึกไม่ว่าตัวเรานี่ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เรามีความสัมพันธ์กับคนอื่น คือสัมพันธ์กับแม่บ้านนั่นแหละ ไม่ใช่ใครที่ไหน ถ้ามีความสัมพันธ์กันกับแม่บ้าน แล้วเราทำอะไรที่มันไม่ถูกเรื่อง ในเรื่องอย่างนั้นขึ้นมา แม่บ้านก็จะรำคาญจะเป็นทุกข์ แล้วมันทุกข์แม่บ้าน ??? (40.45 เสียงไม่ชัดเจน) มันไหลไปถึงลูกบ้านนะสิ มันไหลไปถึงลูกถึงเต้า กระทบกระเทือนอารมณ์มันเกิดไม่ดี แล้วก็เหวี่ยงนั้นเหวี่ยงนี้ กระทบกระเทือนขึ้นมา บางทีอาจจะปึงปังโผงผาง มีอะไรอยู่ใกล้มือก็เขวี้ยงขว้างให้ เอาละสิ หนังสือพิมพ์พาดหัวอีกแล้ว ยิงกันตายด้วยเรื่องอะไร เรื่องไม่ระวังน่ะสิ ไม่ควบคุมความรู้สึกนึกคิด ไม่มองให้เห็นความทุกข์ในชีวิตการกระทำ ในชีวิตประจำวัน อันนี้มันเป็นเรื่องที่เราจะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันนะ
อริยสัจของพระพุทธเจ้า เราต้องเอามาใช้ ในชีวิตประจำวันทีเดียว คือใช้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาที แล้วเราก็จะเข้าใจในเรื่องอย่างนี้ขึ้น ให้รู้เรื่องชีวิตของเราละเอียดขึ้น รอบคอบขึ้น มีปัญญามองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งมากขึ้น เพราะจะอาศัยการศึกษาเรื่องภายในตัวของเราเอง หมั่นดู หมั่นตรึกตรอง หมั่นค้นคว้าพิจารณาจากตัวเราบ้าง จากเรื่องของคนอื่นบ้าง เรื่องของคนอื่นนี่ก็เป็นบทเรียนเหมือนกัน บทเรียนที่เราจะเอามาเรียนมาศึกษา เช่นเรื่องของเพื่อนฝูง สหาย เรื่องของเราเพื่อนร่วมงานกัน คนบ้านใกล้เรือนเคียง ข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุ ที่เขาชอบอ่านให้คนฟัง สลับการประกาศขายนั่นขายนี่ เราอ่านเอามาฟังแล้วอย่าฟังเฉยๆ ฟังแล้วเรื่องมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ ไอ้ที่เกิดเป็นอย่างนั้น เกิดเป็นอย่างนี้ขึ้นมา มันเพราะอะไร มันขาดอะไร คนนั้นมันไม่มีอะไร จึงเป็นอย่างนั้น อ๋อเขาไม่มีการควบคุมตัวเอง ไม่มีสติปัญญา แล้วทำไมถึงไม่มีสติปัญญา ก็เขาไม่มี เพราะเขาไม่ศึกษา เขาไม่เข้าใกล้พระ ไม่ชอบมาวัด เป็นพวกอสูรกาย จะไปทางโน้น ไนท์คลับโน่น ไปเที่ยวดูของอย่างนั้น ที่เพลินเพลินสนุกสนาน ในความหลงใหลเขาชอบไป แต่วัดนี่ไม่ชอบมา ไม่ชอบเข้าใกล้พระ กลัวพระจะห้ามไม่ให้ตัวเสียคน เราอยากจะเสียคน มาเพื่อความเสีย ถ้าใครมาแล้วไม่ให้เสียแล้วชักจะไม่ชอบใจ
จิตมันเป็นอย่างนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นชอบ ไม่มีความเห็นตรง ตามทัศนะในทางพระพุทธศาสนาที่ตนนับถือ เขาก็เวียนว่ายอยู่ในกระแสของความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดเวลา เราเห็นแล้วก็นึกว่าน่าสงสาร ชีวิตคนที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น สงสารคนอื่นแล้ว ก็หันมาสงสารตัวเองสักหน่อย ด้วยการบอกว่า เออ ระวังอันนี้เถอะนะ ระวังนะ เห็นตัวอย่างแล้วนะ อย่าไปทำเหมือนเขานะ อย่าไปคิดเหมือนเขา อย่าไปประพฤติเหมือนเขานะ เราคอยเตือนตัวเราไว้อย่างนั้น ทุกครั้งทุกคราวที่เราได้เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ประสบกับเหตุการณ์ใดๆ จากบุคคลอื่น จากตัวเราเอง จากสิ่งแวดล้อม อะไรก็ตาม
อย่าลืม ที่จะต้องมองให้เห็นความคิดของสิ่งนั้น ว่ามันมีความคิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็มาเตือนตัวเองว่า อย่าแส่ไปให้ความทุกข์อย่างนั้นมาใส่ตัวเรา อย่าใส่ตัวเราให้เกิดปัญหา คอยเตือนไว้อย่างนี้ถ้าเราคอยเตือนคอยบอกตัวเราไว้อย่างนี้สม่ำเสมอตลอดเวลาแล้ว เท่ากับว่าเรามีหลักประกันอันมั่นคง สำหรับชีวิตของเรา
หลักประกันที่เค้าประกันๆกันทั่วไปนั้น มันเรื่องสักแต่ว่าหาปัจจัย ประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันความเจ็บไข้ได้ป่วย ประกันอุบัติเหตุอะไรต่างๆนะ มัน ได้นะ แต่ว่าประกันของเรา ประกันแขนไว้ แขนหักแล้วได้เบี้ยประกันแล้วแขนมันดีหรือเปล่า มันก็ยังหักอยู่อย่างนั้น ก็เดินแขนคู้อยู่อย่างนี้ ...มันคุ้มไม่ได้ แต่มันได้เบี้ยประกันมานิดหน่อย แล้วประกันส่วนอื่นก็เหมือนกัน มันเสียไปแล้ว มันไม่ใช่หลักประกันที่คุ้มเราได้เมื่อไหร่ บางทีประมาทว่าไม่เป็นไร ประกันไว้แล้ว เช่นเรามีรถยนต์ขับด้วยความประมาท ก็นึกว่าประกันไว้แล้ว ชนก็ไม่เป็นไร บริษัทให้ แต่ให้มามันไม่เหมือนเดิม บู้บี้ ทาสีเรียบร้อย แต่ข้างในมันก็ไม่สวยนะ รถคันนั้นน่ะ เราจะไปเอาอย่างนั้นหรือไง มันสู้ประกันด้วยสติปัญญาไม่ได้
ถ้าเราเอาสติเอาปัญญามาเป็นหลักประกันคุ้มครองไว้ คอยควบคุมตัวเอง หมั่นทักตัวเอง มองให้เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่จะเกิดขึ้น สิ่งนั้นมันจะไม่เกิด มันไม่เกิดเพราะอะไร เพราะเราระวังไม่ให้เกิด การระวังไม่ให้เกิดนี้เรียกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อัปปมาโท อมตังปทัง” ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งอมตะ คือไม่ตาย “ปมาโท มัจจุโนปทัง” ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ความประมาทนั้นคืออะไร คือไม่มีการควบคุมนั่นเอง ไม่มีสติมาควบคุม ไม่มีปัญญามาควบคุมตัวเอง เรียกว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท เมื่ออยู่ด้วยประมาทมันก็เผลอง่าย ผิดง่าย เกิดความเสียหายได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ประมาท มันไม่ค่อยมีความเสียหายหรอก ขับรถด้วยความไม่ประมาท มันไม่ค่อยชนกับใครนะ ถึงแม้พุ่งมา จะมาชนเราไม่ประมาท เรายังหลบได้ทัน แต่ถ้าเราประมาทหลบไม่ทัน ความไม่ประมาท ไม่ถลำ ไม่เหยียบของโสโครก ไม่สะดุด หยิบอะไรให้เกิดความเสียหาย จะหยิบจะฉวยอะไร จะอะไรทุกอย่างเรียกว่าไม่ประมาท
ท่านจึงบอกว่าให้มีสติควบคุมตัวเองไว้ ทุกอิริยาบถ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะคู้แขน จะเหยียดแขน จะเลี้ยวซ้าย จะเลี้ยวขวา ทุกอิริยาบถต้องทำด้วยความมีสติ ด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังจะทำอะไร กำลังจะเคลื่อนไหวอะไร กำลังจะพูดกับใคร จะพูดด้วยเรื่องอะไร แล้วพูดด้วยอารมณ์อะไร ถ้าพูดด้วยอารมณ์ร้อนแล้วพูดทำไม เอาของร้อนพ่นออกมามันไม่ได้เรื่อง เพราะว่าพูดเหมือนกับอมอะไรพ่น มันไม่ได้เรื่องอะไร เก็บไว้ดีกว่า เก็บให้มันเย็นก่อน พอเย็นแล้วค่อยพูดค่อยจากัน ค่อยทำความเข้าใจกัน ถ้าร้อนสองคนแล้ว ก็พ่นพิษเข้าใส่กัน พ่นพิษกันจนหน้าตาปูดบวมไปตามๆกัน มันเรื่องอะไร มันมีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสียหาย สร้างปัญหาแก่ชีวิต เราจึงต้องใช้หลักนี้นะ หลักความคิด เอาไปพิจารณาไว้ในเรื่องเกี่ยวกับประจำวันของเรา ไม่ใช่เรื่องอะไรที่ไหน ทุกข์มันก็อยู่ในตัวเรา สุขมันก็อยู่ในตัวเรา ความดับทุกข์มันก็อยู่ในตัวของเรา
ข้อปฏิบัติให้เห็นความดับทุกข์มันก็อยู่ในตัวเรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อย่าไปเที่ยวมองข้างนอก มันไม่พบหรอก ยิ่งมองไปในอากาศมันยิ่งว่างที่สุด เป็นอวกาศลึกลับ หาอะไรไม่เจอ แต่ถ้ามองเข้ามาในตัวแล้วจะเจอ เจอความคิดของเราเอง เจอสิ่งที่เป็นกุศล เช่นเจอความไม่รู้ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ไม่ริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวรใคร คิดอะไรก็ด้วยใจเมตตาปราณี ปรารถนาดีต่อคนทั้งหลาย
แต่บางคราวมองดูแล้วเจอสิ่งไม่ค่อยจะดี เจอความรู้ เจอความโกรธ เจอความหลง เจอความริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวร เจอความร้อนเผารมจิตใจให้ร้อนอยู่ นั่งไม่ได้นอนไม่ได้ ลุกขึ้น ปุ๊บปั๊บตึงตังอะไรต่างๆนี่มันร้อนนะ ร้อนอยู่ข้างใน คือความร้อน ถ้าเจอความร้อนต้องถามร้อนอะไร ถามตัวเองร้อนอะไร ทุกข์อะไร ทำไมจึงทำอย่างนี้ มันเหมาะแก่คนเช่นเจ้าหรือ เจ้านี้มีการศึกษามีสติปัญญาไปฟังเทศน์อยู่บ่อยๆ จะดำเนินการอย่างนี้ได้รึ มันไม่เหมาะแก่เจ้าเสียแล้ว ...พอว่าอย่างนั้น มันเย็นวูบลงไป ค่อยๆเย็นลง ไปเพราะอะไรถึงเย็น เพราะเรารู้จักว่ามันไม่ดี พอรู้สึกว่าไม่ดี มันก็ค่อยๆเย็นลงไป วูบลงไป เราต้องเตือนเวลาอารมณ์อะไร พอรู้สึกว่าจะร้อน รีบๆฝึกทันที ไอ้การรีบๆฝึกทันท่วงทีนั่นแหละ เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องฝึกไว้ คอยรู้สึกตัวไว้ ถ้าคนรู้สึกตัวทันที หยุดยั้งใจได้ทันทีนี่ นับว่าเป็นคนวิเศษแท้
ได้ยินคนที่เค้าอยู่ใกล้พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญานวโรรส ท่านพระองค์นี้เป็นพระโอรสรัชกาลที่ ๔ เป็นน้องรัชกาลที่ ๕ นะ แต่ว่าท่านบวชซะเสีย บวชเป็นพระจนได้เป็นพระมหาสมณเจ้า เป็นผู้ทำงานฝ่ายคณะสงฆ์นะ เรียกว่าพระโอรสรัชกาลที่ ๔ นี่ เกิดมาสร้างบ้านสร้างเมืองกันเกือบทุกองค์ ฝ่ายท่านที่บวชก็มาสร้างบ้านศาสนา ปรับปรุงกิจการพระศาสนา สร้างตำรับตำราจัดระบบการปกครองของสงฆ์ อะไรให้เรียบร้อย ท่านทำงานมากเหน็ดเหนื่อยทีเดียว คนที่อยู่ใกล้เขาบอกว่าท่าน ปรับใจเร็วเหลือเกิน ดุคนนั้นแล้ว ก็หันมาคนนี้หน้ายิ้มแล้ว ยิ้มได้ทันที อารมณ์ โกรธทางนั้น...ดูเหมือนจะไม่ได้ติดมาด้านนี้เลย ท่านมาทางนี้ก็หันมายิ้ม หายปุ๊บเลยท่านยิ้มได้ทันที พูดอะไรๆอื่นได้เรียบร้อย ไม่ได้ติดมา นั่นแสดงว่าท่านมีการควบคุมความรู้สึกได้ ลืมได้ไว เปลี่ยนหน้าได้ เหมือนกับละคร เรียกว่าตัวละครที่เค้าเปลี่ยนหน้าได้ แต่นั้นเค้าแสร้งทำเอา แต่นี้เราทำจริงๆ เราเปลี่ยนหน้าได้ทันท่วงที ไม่โกรธนาน ทำท่าเอา ความจริงไม่ได้โกรธหรอก ท่านทำไปอย่างนั้นน่ะ แต่ว่าแสร้งโกรธเอา แสร้งโกรธไม่ได้โกรธ แต่งเอา ให้คนกลัว
แต่งความโกรธนี่มันไม่เป็นไรหรอก เราแต่งมัน เราแต่งเติมบ้าง แต่งฤทธิ์บ้าง ลูกๆหลานๆถ้าใจดีเกินไป ก็ไม่เป็นไร คุณยายใจดี เดี๋ยวมันจะไปกันใหญ่ อย่างนี้ต้องแต่งเติมบ้าง ทำแต่งโกรธทำท่าตึงตังขึงขัง ??? (52.00 เสียงไม่ชัดเจน) ในใจเราไม่โกรธ แสดงละครหน่อย แต่งอย่างนี้ได้ แต่ถ้าความโกรธมันแต่งเราล่ะไม่ได้ มันแต่งเรามันทำให้เราหน้าแดงๆ มือไม้สั่น พูดจาถ้อยคำที่ไม่สมควรออกไป อย่างนี้ความโกรธแต่งเรานี่มันเสีย แต่ถ้าเราแต่งโกรธไม่เป็นไร ทำท่าว่าเหมือนกับว่าโกรธ แต่ความจริงไม่ อันนี้ไม่เป็นไร ไม่เกิดความเดือดร้อน
ใจของเรา แกล้งทำเอา คนที่ฝึกหรืออบรมตนเค้าทำได้อย่างนั้น ไม่ปล่อยให้ความโกรธแต่งเรา ไม่ปล่อยให้ความโลภแต่งเรา ไม่ให้ความหลงมาแต่งเรา ไม่ให้ความริษยาพยาบาทมาแต่งเรา เราก็สบาย เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านั้น สภาพชีวิตมันก็เป็นสุข มีความสงบในชีวิตประจำวัน
อันนี้ญาติโยมต้องหมั่นฝึกฝน และการฝึกฝนเบื้องต้นนั้น ต้องสำรวจตัวเองเสียก่อน ว่าเราตัวนี้มีอะไรเป็นเรื่องใหญ่อยู่ในตัวเราบ้าง เค้าเรียกว่ามีเป็นเจ้าเรือน เช่นบางคนมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน มีความเกลียดเป็นเจ้าเรือน มีความอะไรๆหลายอย่างเป็นเจ้าเรือน ให้รู้ว่าหนักในเรื่องอะไร เมื่อหนักในด้านไหนต้องแก้ด้านนั้นก่อน เหมือนกับเรารู้ว่าข้าศึกมันจะตีด้านนี้ เพราะว่ากำแพงมันไม่ค่อยแข็งแรง เราก็ต้องส่งทหารฝีมือดีไปไว้ที่ตรงนั้น เผื่อมันทะลวงเข้ามา เราจะได้ตีโต้ออกไป ให้มันตกคูน้ำไปเลย จึงสู้ได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าเราเป็นอย่างไร เราจะแก้ลำบาก
เพราะฉะนั้นเวลาไหนว่างๆก็นั่งดูตัวเอง พิจารณาตัวเองซะบ้าง การดูตัวเองก็คือดูความคิดนั่นแหละ แล้วก็ดูเหตุให้เกิดทุกข์นั่นแหละ ดูเรื่องที่จะดับทุกข์นั่นแหละ และต้องหาวิธีว่าจะดับทุกข์ได้อย่างไร ต้องเอาหลักนี้ไปใช้ สัมมาทิฏฐิตัวนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา เราหมั่นดู พิจารณา ความบกพร่องต่างๆในตัวเรา คนเรามีหน้าที่ดูอย่างนี้ คือต้องมีความบกพร่อง คือความไม่สะอาด ความไม่ดี ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา... ถ้าไม่ดูก็ไม่เห็น ไม่รู้ว่าจะฟอกอย่างไร จะชำระชะล้างอย่างไร เหมือนเราไม่รู้ว่าเสื้อผ้าสกปรก แล้วเราจะซักอย่างไร เรารู้ว่าสกปรกเปื้อน แต่ไม่รู้ว่าสกปรกเปื้อน ??? (54.50 เสียงไม่ชัดเจน) เรื่องอะไร จะเอาอะไรมาคู่ควรกัน จะซักด้วยแฟ้บหรือ จะซักด้วยอะไร เราไม่รู้ จะซักไปแล้ว... เสียเวลา เปลืองแฟ้บที่จะใช้ด้วยทำให้เกิดปัญหา
ชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เราจะต้องตรวจสอบว่า เรามีความบกพร่องอะไร มีความไม่ดีไม่งามที่ตรงไหน ชอบทำตนอย่างไร อยู่ในระเบียบในวินัยไหม เคารพตัวเองไหม เคารพระเบียบวินัยใหม่ อยู่ในศีลในธรรมดีไหม ศีลห้าเรียบร้อยไหม หรือว่าอะไรอื่นเรียบร้อยไหม ในตัวเรา หมั่นตรวจหมั่นพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามันไม่ค่อยจะเรียบร้อย สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนี้ไม่งาม ถ้าเราขืนฝึกไว้จะเป็นอย่างไร (55.50 เสียงไม่ชัดเจน) ความชั่วไว้กับตัว มันจะเป็นอะไร มันก็เดือดร้อนนั่นสิ เราก็พลอยเน่าไปกับสิ่งนั้นด้วย เราไม่ได้อยู่เพื่อความเน่าเหม็น เราอยู่เพื่อความหอมหวนชวนดม เพื่อคุณงามความดี เราก็มาศึกษา อันนี้มันเกิดจากอะไร จากอารมณ์ประเภทใด เกิดมาอย่างไร ไปอย่างไร ต้องพิจารณา แล้วก็ให้พิจาณาว่ามันมีทุกข์อย่างไร
ถ้ามันมาอยู่กับเรา มันให้ทุกข์อย่างไร ให้โทษอย่างไร คนเค้าจะชอบเราไหม หรือว่าเขาจะเกลียดเรา ฐานะการงานเราจะดีขึ้นไหม หรือว่ามันจะเลวลงไป การเงินการทองจะเป็นอย่างไร ทุกแง่ทุกมุมเอามาศึกษาค้นคว้า ให้ละเอียดรอบคอบจนกระทั่งเห็นว่า อ๋อไม่ได้การ ไอ้เจ้านี้ถ้าขืนเลี้ยงมันไว้ต่อไป มันมีแต่ให้ความทุกข์ความเดือนร้อนแก่เรา เราต้องเลิกเลี้ยงมันซะที แล้วจะเลิกอย่างไรนี่สิ ก็เลิกอย่างไรก็ต้องรู้ทางมาทางไปของสิ่งนั้น ว่ามันเกิดทางไหน มันมาอย่างไร มีอะไรเป็นอาหารของมัน มีอะไรเป็นพี่เลี้ยงมัน ที่มันยังโตอยู่ได้ เพราะอะไร ต้องมองไปศึกษาไป ให้มันละเอียดรอบคอบอย่างถูกต้องแน่นอน แล้วเราก็จัดการกับปัญหานั้น (57.10 เสียงไม่ชัดเจน) ของการจัดการจะอยู่ที่ว่า ควบคุมความรู้สึกของเราในแง่นั้นไว้ อย่าให้มันเกิด ควบคุมอย่าให้มันเกิด ก็ควบคุมความคิดของเรานั่นเอง อย่าให้เกิดอารมณ์เช่นนั้น มันอาจจะมาหยอกล้อนิดหน่อย พอมันมาก็รีบดุมันก็หาย ข้าไม่พร้อม ข้าไม่เอา เอ็งมาทีไรข้าเดือดร้อนทุกที อย่ามายุ่งกับข้านา ข้ารู้แล้วนะ ว่าแกจะย่องเข้ามาอีกแล้ว ออกไปๆ ไล่มันออกไปซะ เหมือนเราไล่คนที่เราไม่ชอบ ไล่มันออกไป คราวนี้มันก็กลับไป
ด้วยประการทั้งปวง คนบางคนก็เรียกว่ามันชอบตื้อ เมื่อคืนก็นั่งคุยกับเจ้าคุณที่วัดพิชัยญาติ ไปธุระ มีบุคคลหนึ่งเข้ามาเห็นกราบ เจ้าคุณนั่งอยู่ตรงนั้น อาตมานั่งอยู่ตรงนี้ มันกราบมาที่อาตมา มันนึกว่าอาตมาเป็นสมภารวัดนั้น มันกราบมา หลวงพ่อครับ ผมอยากจะมาขอพักได้ไหม (58,10เสียงไม่ชัดเจน) สมภารทางโน้น ผมอยากจะมาขอพัก ไม่ได้ ตำรวจเค้าห้าม คนมาขอพัก ตำรวจมาจับ ลำบาก สมภารเสียหาย (นาทีที่ 58:40 ฟังเสียงหลวงพ่อได้ไม่ชัดเจน) คืนเดียวก็ไม่ได้ ผมอย่างนั้นผมอย่างนี้ (59.00 เสียงไม่ชัดเจน) แล้วมาจากไหน ผมมาจากพระประแดง แล้วทำไมมาจากพระประแดง... มันบอกว่าไปพระประแดง ไปหางาน ได้งานหรือเปล่า จะได้วันจันทร์ แล้วทำไมไม่กลับบ้านเมืองนนท์ ก็ไม่มีบ้านที่เมืองนนท์ เอ๊ะนี่มันยังไง ถามไปๆก็ดูมันวกวนยังไงพิกล เลยชักจะสงสัย... มืดค่ำไป ความจริงมันมืดแล้ว ๖ โมงแล้ว มาบอกว่า ... มันยังพอไปได้ ขึ้นรถไปไหนก็ไปเถอะ อย่ามาอยู่นี่เลย มันก็ยังนั่งเซ้าซี้อยู่นั่นแหละ ยั่วโมโหสมภารอยู่ตรงนั้น แต่ท่านก็ไม่ว่าอะไร บอกให้มันไปซะ ก็ลุกขึ้นไปแบบนี้เค้าเรียกว่ามันตื้อ...ไม่ใช่เรื่องอะไร มันจะเอาให้ได้ อารมณ์เรานี่บางทีไอ้ความชั่วมันชอบมาตื้อมายุ่งมายั่วให้เราไปตามอารมณ์ให้ได้ หาว่า... ยุไม่ไป ก็ต้องทำใจไว้ ขืนใจไว้ ... กูไม่ยอมเด็ดขาดในเรื่องนี้ ไม่ยอมแพ้ เอาชนะให้ได้ อันนี้ก็สบายใจเรียกว่าใช้หลักสัมมาทิฏฐิ คือเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มาเป็นเครื่องพิจารณา เพื่อยับยั้งชั่งใจ บังคับตัวเองไม่ให้ทำอะไรตามอารมณ์ ตามความอยาก เราก็จะมีความสบายใจ ตามสมควรแก่ฐานะ ดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลาแล้ว