แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ โดยเฉพาะญาติโยมที่อยู่ตามร่มไม้ โปรดนั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง อย่าเดินไปเดินมา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการฟังตามสมควรแก่เวลา
พวกเราทั้งหลายที่มาวัด บางท่านก็มากันหลายปีแล้ว บางท่านก็เพิ่งมาก็มี คือยังไม่รู้ว่าที่วัดชลประทานเขามีการแสดงธรรมกันในวันอาทิตย์ ทั้งๆที่แสดงมา ๒๐ปีแล้ว ที่ไม่รู้ก็เพราะว่า ไม่ได้โฆษณาตามวิทยุ ตามโทรทัศน์ หรือว่าทางหน้าหนังสือพิมพ์ให้ญาติโยมทั้งหลายได้รับทราบ จึงยังไม่ทราบ เมื่อมาแล้วจึงรู้ว่า ที่วัดนี้เขามีอะไรกันบ้าง ก็ควรจะได้ไปบอกกล่าวแก่เพื่อนฝูงมิตรสหาย ที่ยังไม่รู้ให้รู้ให้เข้าใจกัน ที่ยังไม่มาก็ให้มากัน เพื่อจะได้มาทำความเข้าใจกันในเรื่องธรรมะ เพราะการมาวัดนั้นมีจุดหมายสำคัญยิ่งใหญ่อยู่ที่ มาเพื่อการศึกษาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนถูกต้อง จะได้ทำลายความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเชื่อที่งมงาย ที่เรารับไว้เพราะไม่ได้เรียนให้หายไป ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เราได้รับอะไรไว้เยอะ คือรับกันมาตามธรรมเนียม ตามขนบประเพณีที่ทำกันอยู่ในครอบครัว หรือตามที่ต่างๆ ที่ทำกันทั่วๆไป นั่นเป็นการทำอะไร ทำตามกันมาโดยไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องนั้นๆ ซึ่งมันค่อนข้างจะเป็นเรื่องงมงายอยู่ ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้ปฏิบัติก็มีน้อยไป ยังไม่เข้าถึงเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นการมาวัดของเราจึงควรจะถือหลักไว้เป็นเบื้องต้นว่า เรามาวัดเพื่อการศึกษา ถือว่ามาวัดมาโรงเรียนเช่นมาวันอาทิตย์ก็คือว่ามาโรงเรียนวันอาทิตย์ เป็นโรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ หนุ่มสาวทั่วไป ซึ่งเป็นการเรียนเรื่องธรรมะ เรียนเรื่องธรรมะก็คือการเรียนเรื่องชีวิตของเราเอง เพื่อให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคืออะไร มาจากอะไร เราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นในรูปใด
เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น ที่เราจะต้องเรียนต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจไว้ อีกประการหนึ่งจะได้รู้ถูกต้อง ว่าคำสอนการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เป็นอย่างไร ที่ถูกมันเป็นอย่างไร ที่ไม่ถูกมันเป็นอย่างไร เพราะความรู้พื้นฐานของพระพุทธบริษัทในบ้านเรานั้น ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียน แต่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากการรับกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยโบราณกัน ถูกบ้างผิดบ้าง งมงายบ้าง ถูกต้องตามเหตุผลบ้าง ปนกันไป ยุ่งกันไปหมด ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อวานนี้ไปเทศน์ที่บ้านหนึ่งแถวบางซื่อ เจ้าของบ้านมุ่งหมายเพื่อให้เด็กๆได้ฟังเทศน์ แล้วก็มีคนผู้ใหญ่ คนผู้หญิงอายุสัก ๕๐ ปี เห็นจะได้ พอเทศน์จบแล้วก็เข้ามาว่า หลวงพ่อช่วยเป่าหัวให้ดิฉันหน่อย เลยบอกว่า เป่าแล้ว เป่ามาตั้งเกือบชั่วโมงแล้ว เขาก็ถามว่าเป่าตั้งแต่เมื่อไร ก็บอกว่าที่สอนนั่นแหละคือเป่าแหละ สอนธรรมะก็คือการเป่าหัว เป่าลงไปในหัวใจ ในสมอง ให้เกิดปัญญา แกก็บอกว่ามันไม่ค่อยดีหมู่นี้ โชคมันไม่ค่อยดี อยากให้หลวงพ่อช่วยเป่าให้มันหายโชคร้ายสักหน่อย บอกว่าเป่ามันก็ไม่หาย ถ้าเราทำไม่ถูก ถ้าเราคิดถูกพูดถูกมันก็ดีขึ้น เรียบร้อยขึ้น ก็พูดกับแกอย่างนั้น แต่แกก็คงจะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจอะไรเท่าใดหรอก
เพราะว่าพื้นฐานมันไม่ได้อยู่ที่ปัญญา พื้นฐานศาสนาของแกอยู่ที่ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อว่า อะไรๆ จะดลบันดาลให้ตนเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อันนั้นคือฐานที่ตั้งไว้เก่าแก่ เป็นฐานผิด ไม่ใช่ฐานที่ถูกต้อง แต่ว่ามีโดยมากทั่วๆไป เขาทำกันทั่วๆไป ญาติโยมก็เลยเข้าใจว่าเรื่องอย่างนั้นเป็นเรื่องศาสนา ความจริงมันไม่ใช่ นี่เพราะขาดการศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ แม้จะไปวัดฟังเทศน์บ่อยๆ แต่ว่าการฟังเทศน์บางแห่งนั้น ไม่ได้เทศน์มุ่งเพื่อให้คนฉลาดแต่ว่าเทศน์ให้พอสบายใจ ให้เพลิดเพลินอยู่ในคำว่า บุญ สบายอกสบายใจ ฟังเทศน์แล้ว แหม สบายใจ เท่านั้นแหละ แต่ว่ายังไม่หายรู้เลย ยังงมงายไม่รู้ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ชี้แจงลงไปว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรใช่ อะไรไม่ใช่พระพุทธศาสนา ไม่ค่อยชี้ลงไป ไอ้ที่ไม่ชี้ก็เพราะว่าตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าใจชัดเหมือนกัน แม้แต่ผู้ที่เป็นนักบวชนี่ ก็ขออภัย บางองค์นี่ก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไร คือไม่ได้ตั้งใจศึกษาอย่างแท้จริง ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำตามอาจารย์ ถ้าอาจารย์องค์ก่อนอยู่รดน้ำมนต์ ลุกศิษย์ก็รดน้ำมนต์ต่อไป ถ้าอาจารย์องค์ก่อนเป็นหมอดู ลูกศิษย์ก็เป็นหมอดูต่อไป อาจารย์องค์ก่อนทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เขาเรียกว่าเถรส่องบาตร ไม่รู้ว่าส่องเพื่ออะไร ความจริงก็เขาส่องดูว่ามันมีสนิมหรือเปล่า แต่ลูกศิษย์ไม่รู้ พอตื่นเช้าขึ้นมายกบาตรขึ้นมาส่องสักหน่อย เลยไม่รู้ว่าส่องทำไม อาจารย์ก็ถามว่า เอ็งส่องทำไมทุกวันๆ ก็เห็นว่าอาจารย์ส่องผมก็ส่องบ้าง นั่นเขาเรียกว่างมงาย ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรในทางอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
ที่วัดนี้มีจุดหมายอย่างนั้น คือต้องการเทศน์ให้โยมฉลาด ให้เข้าใจถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา อะไรผิดก็บอกว่าผิด แม้ทำกันมานานแล้วก็บอกว่าผิด อะไรถูกก็บอกว่าถูก อาตมาพูดเทศน์นี่ไม่ได้เกรงใจญาติโยม เพราะถ้าว่าเกรงใจแล้ว ก็ไม่กล้าพูดอะไรกับโยม กลัวโยมจะโกรธจะเกลียด แล้วโยมจะไม่มาวัด แต่ว่าอยากจะให้โยมฉลาด ให้มีปัญญา ให้รู้จักพระพุทธศาสนาถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างชนิดตรงไปตรงมากับญาติโยม เพื่อให้เข้าใจในเรื่องธรรมะ อันเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แล้วที่มาวัดก็ให้รู้ว่า มาเพื่อศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ ถ้าสมมติว่า พอเกิดความสงสัย ไม่เข้าใจก็ควรหาโอกาสไต่ถาม เช่นตอนบ่าย มีเวลาก็มานั่งคุยกันอะไรกัน ไต่ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่ข้องใจ จะได้ปรับความเข้าใจให้ถูกต้องขึ้น หรือว่าฟังแล้วก็หาหนังสือไปอ่านทบทวน เพื่อจะได้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ตรงไหนสงสัยก็หมายเหตุไว้ วันไหนมาพบกันก็มาไต่ถาม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ อันนี้เรียกว่าเรามาวัดถูกวัด มาวัดได้ศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป ขอให้ญาติโยมเข้าใจอย่างนี้
เมื่อวันก่อนได้พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ “นิพพาน” ไว้ เพราะว่าในคาถาปาติโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์ ในวันมาฆบูชานั้น มีคาถาหนึ่งกล่าวว่า (09.40 “นิพพานัง ปรมังวัตทันติพุทธา”) ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง พระนิพพานก็คือการดับทุกข์ได้ สำคัญเป็นเรื่องสูงสุด พระพุทธศาสนาเราสุดยอดอยู่ที่นิพพาน อยู่ที่การพ้นทุกข์ได้ อยู่ที่การดับทุกข์ได้ ถ้าใครเขาจะมาถามเราว่า สุดยอดของพระพุทธศาสนาคืออะไร เราก็ตอบโดยไม่ต้องลังเลใจ ตอบว่าสุดยอดของพระพุทธศาสนาคือนิพพาน หรือพูดว่า สุดยอดของพระพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ได้เด็ดขาด มันดับทุกข์ได้เด็ดขาดก็เรียกว่าเราถึงนิพพาน เพราะฉะนั้นนิพพานคือความดับทุกข์ ไม่มีทุกข์เหลืออยู่ในใจของเราอีกต่อไป เรามีชีวิตอยู่อย่างเป็นคนไม่มีความทุกข์ แม้โลกนี้มันจะขึ้นมันจะลง ใครจะออกใครจะเข้า อะไรตามใจ เราไม่ต้องเป็นทุกข์กับเรื่องนั้น แต่เรานั่งมองดูโลกด้วยปัญญา ดูความปั่นป่วนของโลกแล้วก็รู้ว่ามันปั่นป่วนเพราะอะไร เพราะโลกมีกิเลส มีความอยากมีอยากเป็นในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็ชอบใช้กิเลสเป็นเครื่องนำทาง เมื่อใช้กิเลสนำทางมันก็ยุ่ง แต่ถ้าเราใช้ธรรมะ หรือความสว่างทางจิตใจ เป็นเครื่องนำทางชีวิต เราก็จะยุ่งน้อยลงไป ยุ่งน้อยลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งมันหายยุ่ง แม้ว่าเราจะทำงานอยู่ในบ้าน ทำการค้าขาย ทำไร่ไถนา ทำราชการ หรืออะไรต่างๆ เราก็ทำด้วยความไม่ยุ่ง เพราะว่าใจเรามันไม่ยุ่ง ใจไม่ยุ่งงานมันก็ไม่ยุ่ง สังคมมันก็ไม่ยุ่ง เรื่องในครอบครัวของเรามันก็ไม่ยุ่ง เพราะเราทำด้วยจุดหมายคือปัญญา เราทำเพื่อความดับทุกข์ อะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เราไม่ทำ เราไม่ใช้เครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
แต่ทีนี้คนในโลกเราทั่วไป เรามักใช้เครื่องมือคือกิเลส แล้วก็ก่อปัญหาขึ้นในครอบครัว ในการงานในชาติในโลกด้วยประการต่างๆ นั่นคือการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เพราะใช้กิเลสนั่นเอง ในทางพระพุทธศาสนาเรานั้นไม่ให้ใช้กิเลส แต่ให้ใช้วิชชา ปัญญา เป็นเครื่องนำทางชีวิต จะทำอะไรก็ต้องทำด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ว่าทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันเป็นปัญหา เกิดทุกข์แก่ตนแก่บุคคลอื่นก็ไม่ทำสร้างนั้น แต่ถ้าสิ่งใดทำแล้วมันเกิดสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่สร้างปัญหาให้แก่ใครๆ ก็ทำสิ่งนั้น ทำเรื่อยไป ทำด้วยจิตใจที่สงบไม่ต้องมีความอยากในการกระทำ ทำไปมันก็เสร็จในตัวของมันเอง เหมือนเราถูพื้น ถ้าเราถูพื้นด้วยความอยากเป็นทุกข์ ไปคิดเอาว่าพื้นมันกว้างบ้าง ในมันมากบ้าง แหม กวาดกันทุกวันไม่รู้จักจบจักสิ้นบ้าง มันก็เป็นทุกข์ ถูไปกลุ้มใจไป บางทีมันก็ฮึมฮัมๆอยู่คนเดียว นี่มันก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเราไม่มีปัญญา แต่ถ้าเรามีปัญญา มันก็คิดว่า ขี้ฝุ่นมันก็เป็นเรื่องธรรมดา มีตรงไหนที่จะจับได้ มันก็จับ ถ้าไม่มีที่จะจับได้มันก็ไม่จับ ถ้ามันจับมาก เราก็ต้องกวาด เรากวาดมันก็เพื่อจะให้สะอาด แต่สะอาดแล้วมันก็มาจับอีก เราก็ต้องมากวาดอีก เพราะเรามีหน้าที่จะต้องกวาดบ้าน มีหน้าที่ถูบ้านให้สะอาดให้เรียบร้อย ก็เป็นการออกกำลังร่างกายไปในตัว เป็นการฝึกจิตไปด้วยในตัว เราจะไปเป็นทุกข์กับเรื่องนั้นทำไม เราก็ทำไปตามหน้าที่ของเรา อันนี้เป็นเรื่องเห็นง่าย เรื่องอื่นก็เหมือนกัน เช่นเราทำการค้าขาย เราก็ทำไปตามหน้าที่ วางแผนว่าซื้อมาเท่าไร เราควรจะขายเท่าไร ได้กำไรสักเท่าไร เอาน้อยๆ ไม่ต้องเอามากเกินไป เอาน้อยมันได้มาก ถ้าเอามากมันจะได้น้อย เพราะคนเขาเบื่อว่าเราขายแพง จนเขาไม่อยากจะเข้าร้านเรา เราก็ได้น้อย แต่ถ้าเราขายถูก คนเขาก็ชอบใจ ว่าเออ ร้านนั้นขายถูกดี เขาไม่เอากำไรมากเกินไป เอาแต่พออยู่ได้ ไม่ได้คิดร่ำรวยอะไรมากเกินไป ร่ำรวยหรือยากจนมันก็ตายเหมือนกัน เราคิดอย่างนั้น เราก็ทำไปตามหน้าที่ไม่ต้องกังวล วันนี้ขายได้น้อยก็ไม่เป็นทุกข์ ขายได้มาก ก็ไม่หลงใหลเพลิดเพลินกับสิ่งที่ได้ แต่เรามีปัญญาคิดได้ว่า มันก็อย่างนี้แหละ เหมือนกับน้ำในแม่น้ำ บางทีมันก็ขึ้นบางทีมันก็ลง สิ่งของทั้งหลายในชีวิตเรามันก็เหมือนกัน บางทีมันก็มีกำไร บางทีก็ขาดทุนไป บางทีก็ต้องสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้มันเป็นกระแสของธรรมชาติ เป็นเรื่องของโลก ที่เราอยู่ในโลกก็ต้องพบกับสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราพบกับสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญา เราจะไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อนใจ แต่ถ้าเราพบกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความเขลา ไม่มีความรู้แจ้งในเรื่องนั้น เราก็กลุ้มใจ เวลากลุ้มใจนี่ร่างกายก็ไม่สบาย จิตใจก็ไม่สบาย ทำไมเราจะไปกลุ้ม เราควรจะอยู่โดยไม่กลุ้มดีกว่า เราคิดอย่างนั้น เขาเรียกว่าเราเข้าใจความหมายของความดับทุกข์ แล้วเราปฏิบัติอยู่เพื่อให้เกิดความดับทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรา
สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น มันเป็นเรื่องของบทเรียนทั้งนั้น เป็นเครื่องสอนใจเรา คนเรานี่ต้องเรียนเรื่องชีวิตจนกว่าจะหมดลมหายใจ เรียนเรื่อยไป ของบางอย่าง มันยังไม่เกิด เมื่อเราไปเกี่ยวข้องโดยความไม่รู้ไม่เข้าใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นความทุกข์ขึ้นมา พอได้ความทุกข์เราก็ได้บทเรียนว่า ทำอย่างนี้เป็นทุกข์ เราก็ระมัดระวัง ไม่จะทำอย่างนั้นต่อไป เรื่องนั้นจบลงไปแล้ว มีเรื่องอื่นมาให้เราทดสอบอีก เราก็ต้องยินดี ทดสอบกับเรื่องอย่างนั้น เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอย่างนั้น ด้วยปัญญาของเรา เราก็จะผิดพลาดน้อย มีความทุกข์น้อยลงไปตามลำดับ อันนี้คือวิธีปฏิบัติชอบย่างหนึ่งในชีวิตของเราที่เป็นชาวบ้าน ญาติโยมอยู่บ้านมันต้องคิดไปอย่างนั้น ปฏิบัติจิตไว้ในรูปแบบนั้น อย่าให้มันขึ้นๆลงๆ ตามสิ่งที่มากระทบ เพราะว่าถ้าขึ้นบ่อยลงบ่อย ก็หัวใจมันก็เต้นไม่สม่ำเสมอ ร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ สมองก็จะไม่เรียบร้อย อาจจะเป็นโรคจิต หรือที่เขาเรียกกันว่าโรคทางประสาท โรคทางประสาทนี่เกิดขึ้นเพราะใจวุ่นวายสับสนด้วยปัญหาต่างๆ เราพยายามดับมันไปเรื่อยๆ แก้มันไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่าเราใช้นิพพานของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวัน ไม่ให้มันลุกลามใหญ่โตขึ้น อะไรเกิดขึ้น พยายามดับมัน ดับแล้วก็รู้ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นซ้ำต่อไป เหมือนไฟไหม้บ้าน เราศึกษาว่ามันไหม้เพราะอะไร ไหม้เพราะเราเผลอทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วมันไปไหม้กระดาษ แล้วเราไม่เก็บกระดาษทิ้งมันจึงไหม้บ้านไหม้เรือน เราก็ต่อไปก็ไม่ทิ้งบุหรี่เพ่นพ่าน ไม่ทิ้งเศษขยะเพ่นพ่าน เราก็แก้ไขได้ ไม่ให้เกิดทุกข์แบบนั้นต่อไป หรือว่า เพราะว่าไหม้เพราะไฟช็อต ดูสายไฟในบ้านของเราใช้มาตั้งสิบปียี่สิบปี มันก็ต้องโละกันสักทีหนึ่ง ถอดสายไฟเก่าทิ้งหมด เดินสายใหม่เพื่อให้เรียบร้อย แล้วก็เดินสายใหม่ เครื่องมือเขาก็มีอะไรใหม่ๆเราก็เอามาใช้ไว้ เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ ถ้าเรามีปัญญาอย่างนี้ ไฟมันก็ไม่เกิดไหม้แก่เรา ไอ้ที่เกิดขึ้นเพราะความเผลอไผลไม่ได้ตรวจสอบให้มันเรียบร้อยจึงได้เกิดปัญหา เกิดปัญหาก็เพราะว่าละเลยต่อหน้าที่ ที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เท่ากับว่าเราทำให้ทุกข์เกิดขึ้นเพราะไม่อยู่ในแนวทางที่จะดับทุกข์
ผู้ที่อยู่ในแนวทางที่จะดับทุกข์ ต้องหมั่นตรวจสอบสิ่งทั้งหลายรอบๆตัวเรา คนที่อยู่ในบ้าน ว่าเป็นคนประเภทใด ว่าเป็นคนมักง่าย เป็นคนละเอียดรอบคอบในเรื่องอะไร ต้องคอยสอยคอยเตือนให้เขาได้รู้จักปรับปรุงแก้ไขชีวิตให้ดีขึ้นตามแนวทางของธรรมะ สิ่งของเครื่องใช้ที่เราวางไว้ก็ต้องตรวจสอบว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็จัดการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สิ่งทั้งหลายดีขึ้น สิ่งที่จะเป็นปัญหาในชีวิตก็น้อย ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมันก็จะลดน้อยลงไป เพราะว่าเราเป็นคนมีสติ มีปัญญา ระมัดระวังในเรื่องต่างๆอยู่ตลอดเวลา ชีวิตก็จะดีขึ้น บทเรียนทั้งหลายที่เราได้รับมันคอยสอนเรา เตือนเรา แล้วเราเอาบทเรียนนั้นมาคอยปรับปรุงแก้ไขอะไรต่อไป เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดับทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาเหมือนกัน
ทีนี้เราดับทุกข์นั้น มันต้องทำไปเป็นขั้นๆ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติ ท่านจึงได้ให้ปฏิบัติเรื่องตามลำดับชั้น เช่นว่าเรื่องปฏิบัติในเรื่องศีล ปฏิบัติจิตในขั้นเป็นสมาธิ ปฏิบัติในขั้นค้นคว้าเพื่อให้เกิดปัญญา รู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ทำเป็นขั้นขึ้นไป คือดับไปในขั้นหยาบก่อน แล้วดับไปในขั้นกลาง แล้วก็ดับขั้นละเอียดลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในใจเรา ในขั้นหยาบๆนั้น เราก็ดับทุกข์ได้ด้วยการถือศีล
การถือศีลนั้นก็คือการยอมตนอยู่ในระเบียบ ศีลนั้นเป็นระเบียบของชีวิต เป็นระเบียบของสังคม คนเราอยู่ มีชีวิตอยู่ก็ต้องมีระเบียบสังคมของคนชาวบ้านชาวเมืองก็ต้องมีระเบียบ ถ้าอยู่กันโดยไม่มีระเบียบมันก็ยุ่ง คือต่างคนต่างทำตามชอบใจ ตามอารมณ์ ตามความอยาก มันก็เกิดปัญหาขัดกันกับคนอื่น ทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย คนในสมัยก่อนเขาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสังคมเหมือนกัน เรียกว่าวิชาสังคม หมายความว่าการอยู่กันนี่ ควรจะอยู่กันอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เขาก็เรียนจากความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตของคนเหล่านั้น มองเห็นว่า อ้อเกิดความทุกข์อย่างนี้ขึ้น เขาก็คิดว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ เขาศึกษาค้นคว้า สังเกตว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ก็เอาเรื่องนั้นมาวางขึ้นเป็นกฎเป็นระเบียบ ว่าอย่าทำอย่างนี้กัน เราจึงจะอยู่กันด้วยความสบาย ยกตัวอย่างเช่นว่า การเบียดเบียนกันนี้มันเป็นทุกข์ การเบียดเบียนกันเรื่องร่างกาย ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน เบียดเบียนกันในทางทรัพย์ ไปลับไปล้วงของของคนอื่นเอามาเป็นของตัว ไปฉ้อฉลไปหักหลังเขา ไปเอาหุ้นเข้าส่วนกัน แล้วก็ไปหักหลังกัน ทำบัญชีโกงกันอะไรต่างๆ ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะเป็นการเบียดเบียนกัน การเบียดเบียนกันในเรื่องของรักของชอบใจ เช่นคู่ครองวัสดุสิ่งของ อะไรต่างๆ ที่คนเป็นเจ้าของก็ย่อมมีความห่วงอาลัยในของนั้นๆ ถ้าคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของมาเอาไปใช้ มาแตะมาต้อง มาทำให้เสียหาย เจ้าของก็จะมีความทุกข์ เขามองเห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นทุกข์ ก็เลยตั้งกฎขึ้นมาว่า เราในหมู่เรานี้จะอยู่ไปอย่างคนมีศีล คือเราจะไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกันในทางร่างกายชีวิต เราจะไม่เบียดเบียนกันในทางทรัพย์สมบัติ เราจะไม่เบียดเบียนกันในทางคู่ครอง เราจะพูดจากันด้วยคำจริง ด้วยคำอ่อนหวาน สมานสามัคคีมีประโยชน์ เราจะไม่เสพของมึนเมาอันจะเป็นเหตุให้เสียสติเสียปัญญา แล้วอาจจะทำอะไรผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้นในชีวิต เขาก็ตั้งเป็นกฎเป็นเกณฑ์นี้ขึ้น
กฎเหล่านี้ไม่ได้ตั้งขึ้นทีเดียว ไม่ได้นั่งประชุมกันแล้วก็เขียนธรรมนูญว่า อย่าฆ่า อย่าลัก อย่าประพฤติผิดในกาม อย่าพูดโกหก อย่าดื่มของมึนเมา เขาไม่ได้ตั้งอย่างนั้น ตั้งขึ้นตามเหตุการณ์ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้วมันก็เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนในสังคม เขาก็ตั้งบัญญัติกันขึ้นว่า ต่อไปนี้ เราอย่าประพฤติในรูปอย่างนี้ แล้วพอมันเกิดอะไรขึ้นอีก เขาก็บันทึกไว้ว่าเราอย่าประพฤติอย่างนี้ มันค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นศีล ๕ ขึ้นมา เป็นหลักเบื้องต้นของการดับทุกข์ในชั้นหยาบๆ เพราะคนเรามีความทุกข์เพราะเรื่องการเบียดเบียนกัน กลัวเขาจะฆ่า กลัวเขาจะตี นี่เป็นความทุกข์ กลัวเขาจะมาลักสิ่งของของเราไป มาแย่งเอาของที่เรามีไปเป็นของเขา กลัวเขาจะบุกรุกที่ดินของเรา กลัวเขาจะบุกรุกเข้ามาในบ้านในเรือนของเรา กลัวใครจะมาทำผิดในเรื่องเกี่ยวกับความรัก เช่นเรามีลูก กลัวเขาจะมาแย่งลูกของเราไป มีภรรยาสามี กลัวคนอื่นจะมาแย่งเอาของเราไป มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น จึงได้ถือเอาเป็นระเบียบเหล่านี้ขึ้น เป็นบัญญัติเบื้องต้นในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ถ้าพูดกันไปแล้ว ศีล๕ นี่มันเป็นฐานของศีลทั้งหลายทั้งปวง ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล๒๒๗ มันก็ตั้งอยู่บนฐานความดับทุกข์ ๕ ประการเบื้องต้นคือศีล ๕ นี่เอง เดี๋ยวนี้เราลองสังเกตดูว่าโลกเราวุ่นวายกันเพราะอะไร วุ่นวายกันเพราะการฆ่ากัน ทำร้ายร่างกายกัน ข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน ยิงกันซึ่งหน้า เข้าไปเสร็จแล้วก็ยิงกัน แล้วก็ขึ้นรถมอเตอร์ไซต์หนีไป ขึ้นรถยนต์หนีไป หรือไม่ยิงในบ้านก็ยิงตามบริเวณอื่นที่คนนั้นผ่านไปผ่านมา ใช้คนที่มีอาชีพฆ่าคน
เดี๋ยวนี้เขามีอาชีพเพิ่มขึ้นมาในสังคม คืออาชีพฆ่าคน เวลาไปจดทะเบียนมันน่าบอกกันจะให้ชัดเจนกันเลยทีเดียว พอถามว่าอาชีพอะไร อาชีพฆ่าคน จะได้รู้ว่าใครฆ่าใครกันบ้าง จะได้จับง่าย เพราะมีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานไว้ อาชีพฆ่าคนนี่มันก็หาเงินคล่องอยู่เหมือนกัน เพราะฆ่าทีหนึ่ง มันได้หนึ่งหมื่น ห้าหมื่น สุดแล้วแต่คนใหญ่คนโต คนไหนฆ่ายากหน่อยก็ต้องแพง เพราะฉะนั้นพวกนั้นเขาไม่ทำอะไร เขาหัดยิงปืนแม่นๆ ขี่รถมอเตอร์ไซต์หนีไวๆ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันสองคน หรือบางทีอาจจะถึงสาม ช่วยกันไปทำงาน ช่วยกันไปสังเกตการณ์ว่าคนนั้นเดินผ่านทางไหนบ่อยๆ ใครที่กลัวเขาฆ่านี่อย่าไปทางเดียวบ่อยๆ วันนี้เดินทางนี้ พรุ่งนี้เดินทางโน้น อย่างนี้ เดินทางมันหลายเส้นทางหน่อย อย่าให้เขาดักถูกนะ เหมือนกับนกนี่ถ้ามันบินมาทางเดียวนี่ แร้วจะดักง่าย แต่ถ้ามันบินหลายทางไม่รู้ว่าจะดักทางไหน พอคนเรานี่มันมีถนนหลายสาย ออกหน้าบ้านบ้าง ออกหลังบ้านบ้าง เวลาไปไหนมาบางทีก็มาเข้าหลังบ้านบ้าง ถ้ามีถนนนะแต่ไม่มีถนนมันก็ลำบากอยู่เหมือนกัน ต้องเข้าหน้าบ้าน มาดักอยู่หน้าบ้าน เพราะประตูบ้านเราปิดกันไว้ พอรถมาก็ต้องปู้ดป้าด พอคนมาเปิดประตูกำลังรอนะ ไอ้นั่นจ้องรออยู่พอดีก็ยิงเปรี้ยงๆเข้า ก็เลยไม่ต้องเข้าบ้าน เลยต้องย้ายทะเบียนไปนิติเวชกันเลย
นี่มันก็วุ่นวาย ทำให้เกิดความทุกข์ในชีวิตประจำวัน เวลานี้คนไปไหนมาไหนมันเป็นทุกข์ นั่งรถไฟก็เป็นทุกข์ กลัวคนจี้ คนปล้นขบวนรถไฟ นั่งรถทัวร์ก็เป็นทุกข์ กลัวขโมยจะมาปล้นที่รถทัวร์ นั่งเรือบินก็เป็นทุกข์ กลัวจะมีไฮแจค คือจี้เรือบิน ซึ่งมันจี้กันบ่อยๆ เวลานั่งไปมันก็วุ่นวายใจ มีความทุกข์ ดูเหมือนว่าที่ไหนที่จะปลอดภัยไม่ค่อยจะมี อันนี้แหละเป็นความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า (27.49 อัพยาปัจชัง สุกขังโลกี) การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก อยู่ในโลกนี่ถ้ามันไม่มีการเบียดเบียนแล้วมันก็เป็นสุข เป็นความสบายเพราะไม่เบียดเบียนกัน แต่ถ้ามีการเบียดเบียนกันก็เป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อน เขาจึงหาทางให้คนดับความทุกข์เรื่องนี้ ด้วยการมาอยู่ในศีลกันซะ ด้วยการมาตั้งใจว่าเราจะแผ่เมตตามีความรักต่อคนทุกคน เราจะไม่คิดร้ายใคร เราจะไม่ทำใครให้เดือดร้อน เราจะเคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของคนอื่น เราจะพอใจแต่ในทรัพย์ที่เราหามาได้ เราใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช้ให้มันเกินจำเป็น อะไรไม่มีเราก็ไม่ใช้ ใช้เท่าที่ร่างกายต้องการ อย่าใช้ให้เกินความต้องการ ให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย เราบังคับตัวเองให้พอใจอย่างนี้ ถ้าเรามีคู่ครองเราก็พอใจในคู่ครองของเรา ไม่ไปเที่ยวแสวงหาความสนุกนอกบ้าน แล้วก็ไม่ควรส่งเสริมให้มีเรื่องสนุกนอกบ้านเช่นมา บาร์ มีไนต์คลับ สถานอาบอบนวด อะไรต่างๆ มันส่งเสริมให้คนผิดศีลธรรม ให้คนทำชั่วทำเสีย แทนที่จะนิพพานคือดับทุกข์ในสังคมได้ มันดับไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันยั่วยวนชวนให้ติดใจ คนอยากจะไปเที่ยว อยากจะไปสนุก อยากไปทดลอง ไปแล้วมันก็ติด ก็ต้องไปบ่อยๆ ไปเป็นปัญหาในครอบครัว เมื่อมีปัญหาขึ้นในครอบครัว ครอบครัวก็เป็นนรกไป คือมันร้อน ครอบครัวมันร้อน แม่บ้านร้อนใจลูกก็พลอยร้อนไปกับแม่บ้าน คนใช้ก็พลอยร้อนไป นั่นบ้านนั้นก็เป็นนรกหมกไหม้ ทุกคนร้อนอกร้อนใจ อันนี้มันไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำความผิด ไม่ดับทุกข์ ไม่เดินทางไปสู่พระนิพพาน แต่ว่าเราเดินออกไปนอกทาง ที่จะไปหาความเดือดเนื้อร้อนใจ คนเราที่อยู่กัน เช่นแต่งงานกัน
เมื่อเช้านี้ก็ไปงานแต่งงานคู่หนึ่ง เด็กมันเคยอยู่วัด แล้วมันก็เรียบร้อยขึ้น ได้ไปเรียนต่อ ก้าวหน้า ก่อนหน้านี้มันเหลวไหลจะไปไม่รอดแล้วเมื่อเป็นนักเรียน เลยเอามาบวชเณรเสีย บวชเณรแล้วมันก็เรียนๆไป ได้ไปเรียนลังกา เรียนอินเดียก็ได้ปริญญาดีขึ้น เวลานี้ได้ทำงาน เป็นหลักเป็นฐานก็เลยแต่งงาน เวลาแต่งงานเขานิมนต์ไปก็บอกให้รู้ว่า ไอ้เราที่แต่งกันนี่เพื่อเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนเพื่อร่วมเดินทางไปสู่พระนิพพาน อยู่คนเดียวมันยุ่งใจ ไม่มีเพื่อนคู่คิด มิตรคู่เรือน ก็เลยไปหาเพื่อนคนหนึ่ง เอามาอยู่เป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนแท้ เป็นเพื่อนที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนที่เป็นคนเดียวกัน ที่เป็นคนเดียวกันก็เพราะว่าใจมันใจเดียว ใจเดียวมันก็คือใจที่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะใจมันอันเดียว มันเหมือนกัน ถ้าใจมันมีกิเลสแล้วมันหลายใจ มันไม่เหมือนกัน เช่นใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจริษยา ใจพยาบาท นี่มันหลายใจ มันไม่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าใจมันมีธรรมะ ใจมันเหมือนกันหมด ใจสะอาดเท่ากัน ใจสงบอยู่เหมือนกัน ใจก็มาอยู่เป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนแท้ เป็นเพื่อนที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนที่เป็นคนเดียวกัน ที่เป็นคนเดียวก็เพราะว่าใจมันใจเดียว ที่มันใจเดียวคือใจที่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะ ใจมันอันเดียว มันเหมือนกัน ถ้าใจมีกิเลสแล้วมันไม่เหมือนกัน มันหลายใจ เช่นใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ใจริษยา ใจพยาบาทนี่มันหลายใจ มันไม่เหมือนกัน แต่ถ้าใจมีธรรมะใจเหมือนกันหมด ใจสะอาดเท่ากัน ใจสงบอยู่เหมือนกัน ใจก็สว่างอยู่เหมือนกัน สองคนก็เหมือนคนเดียว สามคนก็เหมือนคนเดียว สิบคนก็เหมือนคนเดียว ถ้าเป็นผู้ประพฤติธรรม มันเป็นคนเดียวกัน ในหมู่นั้นมันไม่แตกแยก เพราะมีธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจ
คนมีชีวิตอยู่ในครอบครัว ถ้ามีธรรมะเสมอเหมือนกัน เรียกว่ามีความเชื่อเหมือนกัน มีศีลเหมือนกัน มีปัญญาเท่าเทียมกัน มีน้ำใจเสียสละเท่าเทียมกัน พอดับทุกข์ได้ อยู่ครองเรือนโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์บางแง่บางมุม แล้วถ้าฉลาดยิ่งกันไปกว่านั้น ทุกข์มันก็ไม่เกิด อยู่กันสบาย ไม่สร้างปัญหา ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่ต้องเป็นโรคประสาท เพราะธรรมะเข้าไปคุ้มครอง เข้าไปรักษา แนะนำเขาอย่างนั้น ให้รู้ว่าเราแต่งงานกันนี่เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่แต่งงานเพื่อเรื่องอื่น ไอ้เรื่องอื่นมันเรื่องเล็ก แต่เรื่องใหญ่คือเรื่องความดับทุกข์ อยู่คนเดียว มันไม่มีเพื่อนคู่คิด เลยไปหาเพื่อนมาช่วยกันคิดอีกคนหนึ่ง แล้วก็สัญญากันว่าจะอยู่กันจนแก่จนเถ้า ถือไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชรอะไรก็ว่ากันไปอย่างนั้นก็ต้องมีธรรมะกันเป็นพื้นฐาน มีหลักนิพพานอยู่ในใจ ว่าเราจะอยู่กันเพื่อการดับทุกข์ อันนี้อะไรมันจะเกิดเป็นทุกข์ขึ้นในครอบครัว เราไม่ทำสิ่งนั้น อะไรจะเป็นทุกข์ขึ้นในสังคม เราไม่ประพฤติสิ่งนั้น ก็เรียกว่าเรามีศีลขั้นต้น มีศีลคือศีล ๕ เป็นประจำนิสัย ประจำจิตใจ มันก็ปลอดภัยแล้ว
โยมลองคิดดูว่าคนถือศีล ๕ นี่มันปลอดภัยไหม ไม่ฆ่าใคร ไม่ลักของใคร ไม่ประพฤติผิดลูกเมียใคร ไม่พูดโกหกหลอกลวงใคร ไม่พูดคำหยาบให้ใครกระทบกระเทือนน้ำใจ ไม่พูดยุงยงใครให้แตกกันแต่ไปพูดให้คนรักกันให้สามัคคีกัน ให้หันหน้าเข้าหากัน แล้วก็ไม่เสพของมึนเมาอันเป็นเรื่องไม่จำเป็น งดจากการสูบบุหรี่ งดจากการดื่มเหล้า งดดื่มเบียร์ งดสูบอะไรทุกประเภทซึ่งเป็นของมึนเมา คิดดูว่ามันจะเป็นสุขหรือไม่ ชีวิตจะเรียบร้อยหรือไม่ เราลองพิจารณา พิจารณาแล้ว อันนี้แหละ ฐานของชีวิตแหละ เราตั้งเพื่อการดับทุกข์ไว้ที่ฐานนี้ก่อน พอเรามีฐานนี้ขึ้นแล้ว เรายืนอยู่บนฐานมั่นคง เหมือนกับเราสร้างบ้านตอกเสาเข็มมั่นคง เข็มคอนกรีตลึกมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่โคลง เราสร้างตัวอาคารสูงใหญ่ก็ได้ แต่ถ้าเราสร้างฐานไม่มั่นคง พอสร้างบ้านขึ้นมันก็เอียงไป ทรุดไป บางทีก็ทรุดพร้อมกันพรึ่บลงไปเลย เหมือนที่สี่แยกคอกวัวเมื่อหลายปีมาแล้ว มันลงไปกันตึกทั้งหลังเลย นั่นมันเป็นการสร้างฐานไม่ดี ในชีวิตคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าฐานไม่ดีมันก็เอียงขวาเอียงซ้าย เอียงหน้าเอียงหลัง พังลงไป จมดินลงไปเลยเพราะไม่มีฐาน เพราะฉะนั้นการที่เราจะดับทุกข์นี่ต้องมีฐานเบื้องต้น คือศีล๕ ประการนี้ไว้ก่อน เป็นหลักประจำจิตใจ ลูกเล็กเด็กน้อย เราก็ต้องสอนเขาให้เขาหัดถือศีล ไปตั้งแต่เบื้องต้น
แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ให้ถือๆไว้ ให้รู้จักศีลไว้ ให้เห็นคุณค่าของศีลไว้ ให้เห็นอานิสงส์ของศีลไว้ ว่ามันดีอย่างไร เด็กนั้นมันก็จะไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่พ่อแม่ ไม่เบียดเบียนพ่อแม่ ถ้าทำให้พ่อแม่เดือดร้อนนี่ก็ผิดศีลนะ เช่นเราบอกให้ลูกรู้ว่า ใช้สตางค์เปลืองนี่มันเบียดเบียนพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเพราะข้าวของมันแพง เราต้องใช้อย่างประหยัด ไม่ให้สิ้นเปลืองมากเกินไป อะไรที่ไม่ควรเสียอย่าเสีย อะไรที่ไม่ควรทิ้งก็อย่าทิ้ง จะเป็นสมุดดินสอ เครื่องใช้ไม้สอยเสื้อผ้า ให้รู้จักทะนุถนอมให้รู้จักรักษา อย่าทำลาย ถ้ายังใช้ได้ก็ให้ใช้ไป แม้ว่าต้องปะต้องชุนก็ไม่ต้องไปขายหน้าใครว่าเราใช้ผ้าอย่างนี้ เพราะเราเป็นคนดี เราไม่สุรุ่ยสุร่าย เราควรหยิ่งว่าเราเป็นคนดี เราเป็นคนรู้จักประหยัด เราเป็นคนมีธรรมะ เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราจะไม่ขายหน้าใครในเรื่องการใช้ผ้าอย่างนี้ หรือว่าใช้ของอย่างโน้นอย่างนั้น อะไรต่างๆ เรามีความภูมิใจว่าเราประพฤติธรรม ใจเราก็สบาย ทีนี้สังคมเรามันไม่ใช่อย่างนั้น แข่งขันกันในความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย นั่นคือไม่เดินไปสู่ความดับทุกข์ แต่เดินไปสู่ความก่อทุกข์ เพิ่มเชื้อเพลิงให้แก่กิเลสตัณหา ก็เพิ่มความทุกข์ให้แก่ตัวเองมากขึ้น ไม่รู้จักดับทุกข์ ไม่รู้จักเข้าไปหาสิ่งที่เย็นที่สงบ ก็เกิดปัญหาเรื่อยไป ในครอบครัว ในสังคม ตลอดไปจนถึงในประเทศชาติของเรา มันเป็นปัญหา เป็นพื้นสำคัญ เพราะฉะนั้นเราเริ่มต้นด้วยการขูดเกลาความทุกข์ ดับทุกข์ด้วยการมีศีล ถือศีล ๕ เมื่อถือศีล ๕ นี่มันยังไม่บริสุทธิ์เท่าใด เราต้องเพิ่มไปถือศีลอุโบสถ
ถือศีลอุโบสถนี่คือทำให้ศีล ๕ สมบูรณ์ขึ้น เป็นการดับทุกข์ที่สูงขึ้นไปอีกหน่อย เพราะอุโบสถนั้นเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์หมายถึงอะไร พรหมจรรย์หมายถึงว่า มีชีวิตอย่างธรรมะ อย่างพรหม พรหมคือผู้บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์เรียกว่าเป็นพรหม และพรหมนี่จะไม่มีความหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในเรื่องความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินทางเนื้อทางหนัง ไม่สนใจในเรื่องกามคุณ เรียกว่าพรหมจรรย์ เราถือเป็นครั้งๆคราวๆไปได้ เช่นวันพระ เราชวนกันถือพรหมจรรย์ อยู่ในบ้านกันทุกคน อ้าววันนี้วันพระ เรามาถือพรหมจรรย์กัน เราไม่กินอาหารมื้อเย็นกัน ไม่กินกันทุกคน เว้นไว้แก่เด็กเล็กๆ ให้มันกินนมกินอะไรไป ถ้าโตแล้ว หัดให้เกิดความอดทน ให้เกิดการบังคับตัวเอง ให้เกิดการอดอะไรเสียบ้าง เป็นการฝึกอดนะ ที่อินเดียเขาฝึกมากเรื่องนี้ เขามีกันมาก ปีหนึ่งเขามีเรื่องนี้หลายวัน เดือนหนึ่งบางทีตั้ง ๓ วัน ๔ วัน หยุดเพราะเรื่องนั้นเพราะเรื่องนี้ ไม่กินอาหารกัน ทั้งบ้านไม่มีใครกิน เว้นแต่เด็กตัวน้อยๆ ไม่หุงหาอาหารเลย เขาก็อยู่กันได้ ชีวิตเขาจึงอยู่กับศาสนา ไม่ค่อยวุ่นวายสับสนเท่าใด เราจึงควรหัดเหมือนกัน หัดถือศีลอุโบสถเสียบ้าง ลองอดเสียบ้าง อย่าไปกลัวว่าอดเข้าแล้วท้องมันจะเสีย คนเราถ้าไม่คิดจะกินแล้ว น้ำย่อยมันไม่ออกหรอก คนเรากลัวว่าถ้ามันถึงเวลาแล้วมันจะออก ไอ้ที่มันออกก็เพราะอยากกินแล้ว มันก็มา แต่ถ้าเราตัดสินใจวันนี้ไม่กินอาหาร มันก็เฉยๆ ไม่มีอะไร เราดื่มแต่น้ำแล้วก็ไม่กินของเคี้ยวนอกจากยา ของขบอะไรต่างๆซึ่งเป็นพวกอาหาร เป็นการฝึกความอดทนหนักแน่น แล้วก็ประหยัดด้วยนะ ถ้าสมมติว่าครอบครัวทุกครอบครัวถือศีลอุโบสถกันเสียบ้าง ในสัปดาห์หนึ่งสักวันหนึ่ง จะเอาวันไหนก็ได้ วันเสาร์ก็ได้ไม่ได้ไปทำงาน หรือจะเอาวันอาทิตย์ก็ได้ ไม่ไปทำงาน วันพระนี่ไม่แน่ เพราะวันพระตรงกับวันทำงาน เราก็ไปทำงาน แต่วันเสาร์นี่หยุดแน่ๆ วันอาทิตย์ก็หยุดแน่ๆ
เราก็ถือศีล วันเสาร์เราถือศีล หรือวันอาทิตย์เราถือศีล เมื่อถือศีลเราก็ไม่ออกนอกบ้าน เราไม่ขับรถยนต์ไปธุระ เพราะเรามันถือศีลอุโบสถ เราสำรวมจิตใจ เราสวดมนต์ เราภาวนา เราเดินจงกรมอยู่ในบ้าน สวดมนต์ไหว้พระ เราไม่ไปเที่ยว ประหยัดเท่าใดแล้ว ออกจากบ้านไปนี่ต้องเสียน้ำมัน มีค่าน้ำมันแล้ว ไปๆแล้วมันหิว ก็แวะกินอาหารหน่อย อาหารร้านนี้เขาว่าดีก็อ้าวแวะกันหน่อย มันไม่มีระเบียบบังคับ แต่ถ้าเราถือเอาว่า วันอาทิตย์นี่เราไม่ออกนอกบ้าน เราถือศีล เราไม่ไปไหน เราอยู่แต่ในบ้าน ประหยัดได้ตั้งเยอะแยะ อยู่เพื่อหาความสงบใจ ต่างคนต่างอยู่ ห้องใคร ใครอยู่ นั่งอยู่ในห้องอ่านหนังสือศาสนา ไหว้พระ สวดมนต์ หรือว่านั่งทำจิตให้สงบ กำหนดลมเข้าลมออก อานาปานสติ มีลูกประคำอยู่พวงหนึ่งก็สวดมนต์ อิติปิโส สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ให้มัน ๑๐๘ จบ ให้มัน สวดไปอีก ๑๐๘ จบ จะได้ไม่ไปคิดอย่างอื่น ไม่ไปนึกเรื่องอื่น ถ้าเราทำอย่างนี้เราจะเห็นว่ามันดีขึ้น ดีขึ้นหลายเรื่อง จิตใจสงบขึ้น การเที่ยวเตร่ก็น้อยลงไป แม่บ้านก็สบายใจ พ่อบ้านก็สบายใจ ลูกก็สบายใจ เรามาคุยกันกับลูก วันไหนเราถืออุโบสถ เราคุยกับลูกเรื่องศาสนา เรื่องศีลเรื่องธรรม คุยเรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คุณงามความดีของพระพุทธเจ้า เราเอามาคุยสู่กันฟัง หรือว่าอ่านหนังสือสู่กันฟัง อ่านเสร็จแล้ว ขยายความ อธิบายให้เด็กเข้าใจ อย่างนี้ดีหรือไม่ ลองพิจารณาดู ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ครอบครัวเราจะมีความสุข มีความสงบ ปัญหาต่างๆมันก็จะลดน้อยลงไป เพราะเราไม่ไปไหน เราหยุดกันเสียสักวันหนึ่ง ไม่กินอะไร จิตใจก็สบาย มันไม่สร้างปัญหา เราลองทำดูสิ ทำแล้วก็จะสบายใจ วันอาทิตย์นี่ก็ได้ อย่างเย็นวันอาทิตย์อย่างนี้เรามาวัด เราอยู่วัดทั้งวันก็ได้ พักผ่อนกัน รับประทานอาหารมื้อกลางวันก่อนเพล ก่อนเที่ยง เสร็จแล้วก็นั่งพักผ่อน สวดมนต์ไหว้พระ นั่งใต้ต้นไม้ สวดภาวนาสงบจิตสงบใจ แยกจิตใจออกจากภาระต่างๆเสียวันหนึ่ง หรือว่าเราอยู่บ้านแต่เราแยกจิตใจออกจากบ้าน ควรจะหยุดปิดร้านกันเสียบ้าง เหมือนคนค้าขาย
เมืองไทยเรานี่ค้าขายทุกวันเลย อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ไม่มีปิดกันเลย มันก็เหนื่อยแย่นะสิ ไม่มีเวลาพักผ่อน ขายกันไป ๗ วันนี่ก็เท่านั้น ลองชวนกันหยุดกันเสียบ้าง มันต้องหยุดนะ คือว่า สมาคมอย่างสมาคมพ่อค้า พวกพ่อค้าควรจะมาตกลงกันว่า เอาวันเสาร์เราหยุด หรือว่าวันอาทิตย์เราหยุด จะยังขายอยู่บ้างก็ได้ ครึ่งวัน วันเสาร์ขายเสียครึ่งวัน แต่พอมาวันอาทิตย์นี่ปิดเลย ปิดหมดเลย ให้ตลาดมันเงียบไปเสียหมด ปิดทุกอย่าง คือว่าร้านอาหารก็ปิด ร้านอะไรก็ปิด ปิดหมด โรงหนังนี่ก็ปิด วันอาทิตย์นี่ไม่ให้คนออกไปดูหนัง ให้คนอยู่บ้านอยู่เรือนกัน ถ้าทำอย่างนี้นะเศรษฐกิจเมืองไทยมันจะดีขึ้น อันนี้ไม่ต้องเรียนจบเป็นด๊อกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์อะไร เราเอาธรรมะนี่แหละ เอาด๊อกเตอร์ธรรมะนี่แหละลองเอาไปใช้ดูกัน เราหยุดเที่ยวกันวันอาทิตย์เราไม่ไปเที่ยวไปเตร่ เราอยู่บ้านหาความสงบใจ ไปตลาดทำไม เขาปิดตลาดนั่น เราจะไปซื้อของอะไร ร้านค้าก็ปิด ร้านอาหารก็ปิด ที่ไหนๆก็ปิดแล้ว แล้วเราจะไปซื้อของอะไร มันไม่มีขายคนก็ต้องอยู่บ้าน อยู่บ้านก็ทำงานที่บ้าน หาความสงบที่บ้าน ได้คุยกับลูกกับเต้าบ้าง อะไรต่ออะไรไปตามเรื่องตามราวมันน่าจะดีนะ อันนี้ต้องบอกคุณจำลองให้ไปบอกนายกทักษิณ บอกว่าปิดร้านกันเสีย ไม่ไหว มันขายกันมากมันก็ยุ่ง ต้องช่วยกันปิดร้านเสีย ร้านรวงปิดหมดคนมันก็ไม่เที่ยว ไม่เที่ยวมันก็ประหยัดนะ สตางค์มันก็ไม่สิ้นเปลืองนะ อันนี้คนไทยเรามันเที่ยวนะ วันเสาร์ก็เที่ยว วันอาทิตย์ก็เที่ยว ดูตลาดวันอาทิตย์ในเมือง เต็มไปหมดนะ รถยนต์วิ่งขวักไขว่ ร้านอาหารก็คนเต็ม
มันผิดกับเมืองนอกเมืองนา เมืองนอกในวันอาทิตย์นะ กรุงลอนดอนวันอาทิตย์นี่นะเหมือนเมืองร้าน กรุงลอนดอนคนอยู่กันตั้ง ๑๐ ล้าน มันไมใช่เล็กน้อย แต่พอวันอาทิตย์นี่เมืองร้าง เราจะไปเดินวิ่งกันบนถนนในกรุงลอนดอนนี่ก็ได้ ไม่ต้องกลัวรถชนนะ มันไม่มีรถวิ่ง มันเงียบไปตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเย็น เขาปิดหมด ร้านรวงปิดหมด คนไม่มา เขาอยู่บ้านเขา คนในเมืองถ้าจะไปก็ไปนอกเมือง ออกไปหาอากาศสดชื่น ตามนอกเมืองไกลออกไป เขาไม่เข้ามาในเมือง เขาหยุดงานหยุดการ มันดีนะอย่างนี้ เมืองไทยเราไม่ได้ทำกัน มันน่าจะทำกันในตอนนี้ เดี๋ยวให้นายกได้ฟอร์มรัฐมนตรีให้เสร็จเสียก่อนแล้วก็จะได้เรื่องกัน เดี๋ยวนี้มันเป็นเรียกว่า มันว่างเทวดากันตอนนี้ เทวดาไม่ครองเมืองตอนนี้ มันยุ่งหน่อย ทีนี้ถ้าจัดเรียบร้อยแล้ว ก็ลองเสนอเรื่องนี้ ว่าปิดวันอาทิตย์ หยุดให้หมดนะ แต่วัดชลประทานไม่หยุดนะ วันอาทิตย์ ยังจะต้องเทศน์ต่อไป อันนี้มันอาหารใจ หรือว่าเราหยุดไปตลาดและเรามาวัด มาวัดนี่มันไม่สิ้นเปลืองอะไรเท่าใด มาวัดเรามาอย่างประหยัด อย่างนี้มันก็จะดีนะ อาทิตย์หนึ่งนี่นะเรียกว่าช่วยให้เกิดการอดออม ประพฤติพรหมจรรย์เสียบ้าง ในระยะ ๗ วัน เราประพฤติพรหมจรรย์กันเสียวันหนึ่ง หรือทำให้ชีวิตมันสงบ ให้มันสะอาด ให้สว่างเสียบ้าง เหมือนกับว่าเราได้กำลังเพิ่มขึ้น
กำลังนี่เราสูญไปทุกวัน สูญเสียไปเหมือนหม้อแบตเตอรี่ที่ใช้มากเลย พลังงานในหม้อแบตเตอรี่มันก็ค่อยๆหมดไป สิ้นไป อันนี้ถ้าหมดแล้วต้องไปเติมน้ำ แล้วก็ต้องไปชาร์ตไฟเข้าไป เพิ่มกำลังงานให้แก่มัน คนเรานี่ก็เหมือนกันนะ เราคิด เราทำงาน เราใช้สมอง กำลังมันค่อยหมดไป เพราะฉะนั้นจะรู้สึกอ่อนเพลียนะ ญาติโยมลองสังเกตดูนะ วันไหนเราคิดมาก อ่อนเพลีย เช่นวันสอบไล่นี่นะตัวอย่างเห็นได้ง่ายๆ วันไหนเราไปสอบไล่ พอกลับจากที่สอบตอนเย็นนั้นมาเพลียเลย ใช้สมองคิดนะ กูจะตอบอย่างไรดี ไอ้ตรงนั้นมันอยู่ตรงไหนนา หาเรื่องที่จะตอบ ใช้สมอง รู้สึกอ่อนเพลียตอนเย็น นี่คือกำลังงานที่มันสิ้นไปมาก แล้วก็ไม่มีการพักนี่ก็ไม่ได้ ญาติโยมที่ทำงานนี่ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะทำราชการก็ตาม พ่อค้าอะไรก็ตาม เราต้องนั่งคิด นั่งวางแผนทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้พักผ่อนเลย อันนี้เราก็ลองมาว่า วันอาทิตย์เราหยุดกันเสียหมด แต่หยุดร้านเดียวมันก็ไม่ได้ ร้านอื่นเขาไม่หยุดกัน มันก็เสียเปรียบ ไม่เสมอภาคกันในสังคม จึงต้องวางระเบียบว่า วันอาทิตย์หยุดทุกร้านเลย อย่างนี้ก็สบายใจ อย่างที่ลังกาเขาก็หยุดกันนะ วันพระนี่ก็หยุดหมดเลยไม่มีคนไปตลาด แต่คนไปวัดกัน เขาไปถือศีล ไปฟังธรรม ไปนั่งสงบจิตสงบใจ เขาทำอย่างนั้น เท่ากับว่าไปชาร์ตแบตเตอรี่ คือกำลังภายในแล้วก็จะได้นำมาใช้ ประกอบหน้าที่การงานต่อไป นี่คือประโยชน์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ให้เขามาอยู่สงบจะได้รู้จักตัวเอง จะได้พิจารณาตัวเอง จะได้ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อะไรบกพร่องไม่ดีไม่งามก็จะแก้ไข ก็บวชเพื่อความดับทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นคำขานนาคสมัยก่อนเขาขานว่า (47.39 “สัพทุกขา …… ”) “เพื่อทำความดับทุกข์ให้แจ้ง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ท่านจงเอาผ้านั้นให้ข้าพเจ้านุ่งห่มเพื่อบวชในพระพุทธศาสนา” เขาบวชเพื่อดับทุกข์ไม่ใช่เพื่ออะไร บวช ๑๕ วันก็เพื่อดับทุกข์ เป็นการดับทุกข์ต่อๆไปด้วย บวช ๓ เดือนก็เพื่อความดับทุกข์ เรียนรู้
มาบวชคือมาเรียนรู้ว่า เราจะดับทุกข์ได้อย่างไร ทุกข์มันเกิดจากอะไร และอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้น และจะดับได้อย่างไร ให้รู้ให้ชำนาญ ก็พอแล้ว ออกไปอยู่กับบ้านก็จะได้ผจญกับปัญหา คือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น เราได้เรียนรู้วิธีไว้แล้ว เรามาซุ่มซ้อมตอนอยู่ที่วัดแล้ว พอออกไปขึ้นเวทีโลกเราก็สู้ได้ เพราะเราเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง นี่ก็เรียกว่า มุ่งความดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่ ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิต เพื่อความดับทุกข์ดับร้อน ถ้าเราไม่บวชอย่างนั้น เช่นเราไม่บวชโกนผมโกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง แต่เรามาพักอยู่วัดเสียบ้าง เช่นว่า มันรู้สึกว่าไม่ค่อยจะดี มาบอกว่าผมอยากจะมาพักอยู่วัด ถือศีลประพฤติพรหมจรรย์สัก ๗ วัน ๑๕ วัน ไม่เป็นไร มาบอกกุฏิให้เลยว่า อยู่กุฏินั้น เวลาพระไปทำวัตรก็ไปทำด้วย เวลาพระสวดมนต์ก็ไปสวดด้วย ไปนั่งฟัง เวลาพระไปนั่งสงบจิต ก็ไปสงบจิตภาวนา คุยธรรมะกับพระ ทำใจให้สงบ ครบแล้วก็ออกไปสู้กับโลกต่อไป มันก็ดีไม่มีอะไรเสียหาย เป็นวิธีการพักผ่อนอย่างแท้จริง เวลานี้คนชอบการพักผ่อนเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พัก เป็นการเปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง อยู่กรุงเทพไปพัทยา นี่ไม่ได้ไปพักผ่อนที่พัทยา แต่มันเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนจากอากาศกรุงเทพไปสูดอากาศพัทยา
แต่ที่พัทยาก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนเหมือนกัน เราก็รับอารมณ์อีกเหมือนกัน ถ้าพักผ่อนจริงๆต้องมาวัด มานั่งเงียบๆ ในสถานที่ที่มันไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจ หรือว่าเรามีสถานที่ไกลๆ เช่นมีสวน มีอะไรอยู่ที่ไม่พลุกพล่าน เราก็ไปสวน ไปนั่งในสวน เดินชมต้นหมากรากไม้ ทำใจให้สงบ นั่นก็เรียกว่า หลีกออกเพื่อความสงบใจ หลีกออกเพื่อความดับทุกข์เหมือนกัน วิธีการนี้ประหยัด แล้วก็ทำให้เกิดสติเกิดปัญญา เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ ซึ่งเป็นวิธีการที่ควรเอาไปใช้ในสังคม เป็นวิธีการที่เราผู้เป็นพุทธบริษัทควรใช้ ควรชวนเพื่อนให้ใช้ในวิธีการอย่างนี้ด้วย จะได้เกิดความสุขความสงบใจ เช่นว่าวันหนึ่งของชีวิต เช่นวันเกิดนี่เป็นตัวอย่าง วันเกิดนี่มักจะยุ่ง พอถึงวันเกิดนี่ก็จะเลี้ยงดูปูเสื่อกันอะไรต่ออะไร แทนที่จะได้พักผ่อนมองดูตัวเอง ได้มีความสงบใจ ก็กลุ้มตั้งแต่เช้ามืด พอเช้ามืดแขกมาแล้ว จะมาอวยพร ไม่ใช่มาอวยพรนะ มากวนเอาเข้าจริง มากวนให้วุ่นวายใจกันนะ ต้องรับคนนั้นต้องรับคนนี้ แหมวันนี้มันเหนื่อยจริง พอตอนเย็นมันเหนื่อยแล้ว
วันเกิดมันไม่ควรจะเหนื่อยอย่างนั้น ควรจะพักผ่อนเงียบๆ ปิดประตูบ้าน วันนี้วันเกิดฉัน ฉันจะไม่รับใครทั้งนั้นแหละ ไม่รับแขกอยู่เฉยๆเงียบๆ หรือไม่อย่างนั้นก็หนีออกไปจากบ้านกันเสียเลย ไปอยู่ที่ไหนที่มันเงียบๆไม่ยุ่ง อยู่วันกับคืนหนึ่ง รุ่งเช้าขึ้นมาก็พ้นวันเกิดแล้ว คนก็ไม่มายุ่งกันแล้ว แต่คนธรรมดาไม่มาอวยพรหรอก คนที่เขาไปอวยพรนี่เขาหวังกันทั้งนั้นแหละ ได้แล้วเขาก็จะเอากันทั้งนั้นแหละ คนเป็นใหญ่เป็นโตต้องไปสักหน่อย ไปให้เขาได้รู้จักหน้าไว้ วันหลังจะได้ไปขอความช่วยเหลือเรื่องนั้นเรื่องนี้กันต่อไป ไม่ได้อวยพรกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่จะไปหว่านพืชเพื่อหวังผลกันทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไร หวังผลจะเอานั่นเอานี่ จากคนนั้นคนนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นใครใหญ่เป็นรัฐมนตรีตอนนี้ อธิบดีอย่างนี้ คนอวยพรคับคั่งเลย ยิ่งอธิบดีกรมตำรวจนี่คนอวยพรกันมาก คนพวกนี้ เพราะว่าพวกหาเรื่องกันมากนะคนพวกนี้ ไปอวยพรกัน เจ้าของซ่องก็ไป เจ้าของบ่อนก็ไป นักค้าของเถื่อนก็ไปอวยพรอธิบดีกันทั้งนั้น ไอ้ของที่ได้มาแต่ละชิ้นนะไม่น่ากินกันทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันของไม่สะอาด นี่มันอวยพรกันอย่างนั้น ไม่ได้เรื่อง เราหลีกไปเลย วันเกิดนี่ไปแล้ว ไม่ให้ใครรู้ อย่าไปบอกว่าวันเกิดฉันไม่ต้องมา ไม่ใช่เรื่องจะต้องบอกใคร เราไปของเราก็แล้วกัน
วันนั้นเราไม่อยู่บ้าน เงียบไปเลย ออกไปอยู่บ้านนอกบ้านนา ไปนั่งอยู่ริมห้วยริมภูเขา หรือมาวัดมาวา นั่งใต้ต้นไม้สงบจิตสงบใจให้สบาย ถ้ามีเงินมีทองจะทำบุญก็ค่อยจะไปทำวันอื่นก็ได้ ไม่ว่า ไม่จำเป็นต้องทำวันนั้น ปรารภวันเกิด เราเอาเงินไปทำบุญที่มันไม่ยุ่งนะ มูลนิธิสายใจไทย หรือว่าอะไรต่ออะไร บริจาคไปอย่างนั้นมันก็สบาย ไม่เอาหน้าเอาตากับใคร เอาไปให้เงียบๆ ไม่ต้องให้โทรทัศน์ไปถ่ายตามหลังก็ยังได้ อย่างนี้มันก็เป็นบุญแท้ มีความสงบจิตใจ คนไม่ค่อยทำอย่างนี้ ไอ้วิธีอย่างนี้มันดี หลีกไปเสีย หาความสงบใจ หลีกความยุ่ง แล้วจะเกิดความสงบ บัณฑิตเนห์รู (53.30) แกชอบหนีไปบนยอดเขามิสุรี หรือ มัทรี ขึ้นไปนั่งอยู่คนเดียวไม่ให้ใครไป ถ้าไปอย่างนั้นนี่แกไปคนเดียว ทหารก็ไม่ให้เข้าไปยุ่ง อยู่ข้างนอกนั่น ไม่ต้องเข้ามา อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันจะนั่งหาความสงบใจ นั่งสงบใจ ทำสมาธิแล้วก็พอ ๗ วันก็กลับมาทำงานต่อไป ท่านไปบ่อยๆ ท่านพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านก็ไปทำอย่างนั้น พอเวลาท่านบริหารงานในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ชักจะยุ่งแล้วก็ลา ไปอยู่กับพระ ไปอยู่ป่าไปอยู่กับพระ แต่ท่านไม่ได้ไปบวชหรอก ท่านไปถือศีลไปประพฤติพรหมจรรย์ ไปอยู่กับพระ ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ใครอย่ามายุ่งเรื่องงานการ มอบให้ใครทำคน สำเร็จงานหมด ใครอย่ามาถามฉัน ทำไปตามหน้าที่ ครบ ๑๕ วันท่านก็ออกมา สดชื่น มีชีวิตสดชื่น สบายใจ คนเรามันต้องมีการพักผ่อนทางจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีการพักผ่อนเสียเลย เราจะเหนื่อยมา เหนื่อยกายนี่ไม่เท่าไร เหนื่อยกายนี่นอนลงหลับก็ได้ แต่เหนื่อยใจนอนไม่หลับอีกนะ กายมันง่วงแต่ใจมันไม่นอน ลุกขึ้นตื่นแล้ว ไม่หลับกระสับกระส่าย เพราะใจมันไม่สงบ ใจมันเหนื่อย ดังนั้นเราจึงต้องให้ใจสงบอย่าให้ใจเหนื่อย เหนื่อยกายไม่หนัก แต่เหนื่อยใจหนัก เพราะฉะนั้นต้องแก้การเหนื่อยใจด้วยการพักผ่อน ที่ใช้ธรรมะ สวดมนต์ภาวนา สงบจิตสงบใจ อย่างนี้จะเป็นการถูกต้องมากกว่า ในเรื่องที่จะสิ้นเปลืองในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็เรียกว่าเรามุ่งไปสู่นิพพานคือดับทุกข์ในชีวิตประจำวันด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ นี่แง่หนึ่ง สำหรับวันนี้ก็ขอยุติลงเพียงแค่นี้ก่อน วันหน้ายังจะพูดอีกเรื่องนี้ ยังไม่จบหรอก ยังจะพูดต่อไปอีกหน่อย ญาติโยมจะได้เข้าใจว่าเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ต่อจากนี้ไปเราก็มาฝึกสมาธินั่งทำความสงบใจ นั่งตัวตรงหลับตา กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ รู้ตาม หายใจออกกำหนดรู้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นนะ มาอยู่กับเรื่องนี้ เป็นเวลา ๕ นาที