แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา ก่อนที่จะพูดเรื่องอะไร อยากจะเล่าอะไรสักนิด คือเมื่อวันที่ ๑๙ เดินทางไปจังหวัดหนองคาย เขานิมนต์ไปปาฐกถาธรรมที่วัดสระแก้ว อำเภอท่าบ่อ ทีนี้เมื่อไปปาฐกถาเสร็จแล้วก็กลับมาที่วัดพระธาตุบังพวน ตรงข้ามกับวัดนั้นเป็นป่า พระเขาไปฝึกฝนทางด้านภาวนากันอยู่ที่นั้นรวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาก็หลายร้อยคน ผู้ที่เป็นหัวหน้าก็มานิมนต์ให้แวะไปที่นั่นด้วยเพื่อพูดกับญาติโยมและพระสงฆ์เหล่านั้น เสร็จแล้วก็เดินทางมาที่ตัวจังหวัดหนองคายไปที่วัดโพธิ์ชัย ไปหนองคายนี่หลายหนแล้วแต่ไม่เคยไปที่วัดโพธิ์ชัย วัดโพธิ์ชัยนี้เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านเคารพนับถือมากอยู่องค์หนึ่ง เขาเรียกว่าพระใส เป็นพระโบราณ เขาเล่าว่าสร้างพร้อมกันสามองค์คือ พระเสริม พระสุก พระใส พระสุกนั้น จมน้ำหายไป พระเสริมนั้นอยู่ที่กรุงเทพฯ พระใสอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย อันนี้มีเรื่องที่น่าขำอยู่หน่อย คือว่าเมื่อคราวเรือบินตกที่พระสงฆ์องค์เจ้าพลอยมรณภาพไปด้วย แล้วบาดเจ็บกันไปหลายรายนั้น มีข้าราชการกรมราชทัณฑ์คนหนึ่งแกย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็เลยอุ้มพระใสจำลององค์เล็กๆ ติดตัวมาด้วย นั่งอยู่ในเรือบินก็อุ้มอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จะวางตรงไหน พอเรือบินเกิดอุบัติเหตุแกก็ยังอุ้มพระองค์นั้น เมื่อว่าเรือบินตกลงมาคนอื่นเขาตายกัน คนผู้นี้หาได้เป็นอะไรไม่ เดินอุ้มพระใสออกมาสบายๆ บาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ
ข่าวมันก็ลือไปว่าพระใสนี้มีอภินิหาร ป้องกันคนไม่ให้มีอันตราย เลยคนไปสั่งจองพระใสจำลองกันเป็นจำนวนมาก หลายแสนบาท เจ้าคุณก็ไม่รู้จะเอาพระที่ไหนให้ เลยต้องทำใหม่แล้วทำพิธีอะไรกันอยู่ในวันนั้นไปเห็นเข้าพอดีก็เลยถาม ท่านก็เลยเล่าให้ฟัง เรือบินตกมันเป็นประโยชน์แก่วัดโพธิ์ชัยเพราะว่าทำให้พระใสขายดีขึ้นมาเรื่องมันก็เท่านั้น แล้วก็กลับจากหนองคายก็พ้นไปลำปาง ไปในงานศพบิดาของคุณสอาด ปิยวรรณ เพื่อให้ไปปาฐกถา แต่ว่าในงานศพนั้นพิธีมันมากก็ได้พูดพอสมควรแก่เวลา แล้วก็เดินทางกลับโดยเรือบินเมื่อคืนนี้ ก็อยากจะเล่าไว้สักหน่อยเพื่อให้มันติดอยู่ในหนังสือกัณฑ์เทศน์ เดิมมีท่านรองนายกฯ ประมาณ มาด้วยกับลูกน้องหลายคน ลูกน้องนี่นั่งข้างหลังอาตมา คุยกันได้ไม่หยุด คุยกันเป็นเรื่องที่ไม่น่าคุยก็มี เช่นคุยว่า “แหม่นัยน์ตานี่เหมือนกับตาแขก ถ้าจะเป็นเชื่อแขก รูปร่างเข้าที แอร์โฮสเตส” แล้วก็คุยเรื่องอะไรต่ออะไรไป อาตมานั่งฟังแล้วก็นึกในใจว่าพวกนี้ดูเหมือนจะเป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่ค่อยสำรวมปากสำรวมคำ ก็คงจะมึนๆ อะไรเข้าไปแล้ว เพราะในเรือบินไทยนี้ไม่เลี้ยงแต่อาหารเลี้ยงสุราด้วย อันนี้น่าจะเลือกเลี้ยงน่าจะถูกในเรือบิน มันยุ่ง คนโดยสารอื่นที่เขาไม่เมาเขารำคาญ ไอ้พวกเมามันไม่รำคาญเพราะมันไม่รู้ตัวว่ามันกำลังทำอะไร คนเราพอเมาแล้วมันไม่มีตัวที่เป็นมนุษย์แต่มันมีตัวที่เป็นอะไรก็ไม่รู้ ตัวเมาหมด นั่นก็พูดเลอะเทอะเรื่อยไป มันดีอยู่หน่อยเดียวเวลาจะลงมันบอกว่าให้อาจารย์ลงก่อน อาตมาก็เลยได้เดินลงมาก่อน มันดีอยู่ตรงนั้น นอกนั้นแล้วก็ดูไม่ค่อยได้เรื่อง นี่เอามาเล่าไว้เพื่อจะได้เป็นข้อคิดสำหรับเราทั้งหลายต่อไป
ทีนี้มาพูดถึงเรื่องธรรมะกันต่อไป เมื่อวันที่แล้วเป็นวันมาฆะ ก็ได้ปาฐกถาเป็นพิเศษ ยังไม่ได้ถอดออกพิมพ์เพราะยังถอดไม่เสร็จ วันนี้ก็ใคร่ที่จะพูดกันต่อไปในเรื่องเกี่ยวกับธรรมะในเรื่องนั้น คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ถ้าแปลตามตัวก็แปลว่าธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้น ที่จะทำคนให้พ้นจากความทุกข์ เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นขั้นพื้นฐาน ที่จะช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ท่านเอามาพูดกับพระอรหันต์ ซึ่งความจริงพระอรหันต์นั้นท่านพ้นแล้วจากการละ และการเจริญ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องละเพราะละหมดแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องเจริญเพราะมันถึงที่สุดแล้ว คำบาลีเขามีคำว่า กตํ กรณียํ แปลว่าจิตที่จะต้องทำไม่มีแล้ว แต่พระอรหันต์ท่านยังอยู่ในรูป ท่านอยู่เพื่ออะไร ท่านอยู่เพื่อช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ตัวท่านพ้นแล้วก็ช่วยคนอื่นให้พ้นตามด้วย ท่านบริสุทธิ์แล้วก็ช่วยผู้อื่นให้บริสุทธิ์ตามท่านด้วย ท่านเป็นสุขแล้วก็ช่วยให้คนอื่นได้เป็นสุขต่อไปด้วย อันนี้คือหน้าที่ของพระอรหันต์ ทีนี้พระอรหันต์นั้นมีจำนวนตั้ง ๑,๒๕๐ รูป คงจะไปพูดต่างๆ กัน ไม่มีระเบียบการสอน ไม่มีหลักการสอน ท่านเมื่อมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมายในบ่ายวันนั้น พระองค์ก็เห็นว่าท่านเหล่านี้จะไปทำหน้าที่สั่งสอนคนต่อไป ก็ควรจะสอนให้เหมือนๆ กัน พูดเป็นแบบเดียวกัน จึงได้มอบโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นคำสอนชั้นต้นๆ ให้แก่พระเหล่านั้นเพื่อเอาไปถ่ายทอดให้แก่บุคคลอื่นต่อไป
ทีนี้เรามาลองศึกษาว่าโอวาทที่พระผู้มีพระภาควางไว้เป็นแบบ สำหรับสอนนั้นเริ่มต้นด้วยเรื่องอะไร เริ่มต้นด้วยคำว่า ขันติ คือความอดทน ให้ถือว่าความอดทนนี้เป็นตบะ เป็นเครื่องเผาผลาญ เป็นเดช เป็นอำนาจ เป็นเกราะที่จะป้องกันสรรพสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้เกิดก่อกับจิตใจของเรา คนเราที่กระทำความผิดเกิดจากความอ่อนแอ ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ การที่อ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งก็แสดงว่าไม่มีน้ำอดน้ำทน ทนไม่ได้เมื่อเห็นสิ่งยั่วยุ รูปมากระทบตา ทนไม่ได้ก็ไหลไปตามอำนาจของรูป เสียงมากระทบหูก็ทนไม่ได้ ไหลไปตามอำนาจของเสียง กลิ่นกระทบจมูกก็ทนไม่ได้ ไหลไปตามอำนาจของกลิ่น รสอาหารประเภทต่างๆ มากระทบลิ้น ทนไม่ได้ ติดอยู่ในรสอาหารนั้นๆ อยากชิมๆ ของเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา กินจนเกินความจำเป็นของร่างกาย กินไม่เป็นเวลา กินเล่น กินพอให้สนุก อย่างนี้เรียกว่าอดไม่ได้ทนไม่ได้ จึงต้องเป็นทาสของลิ้น ร่างกายได้สัมผัสถูกต้องสิ่งใด ก็ไปติดอยู่ในความสบายจากสิ่งนั้น ใจเคยคิดอะไรก็คิดอยู่ในเรื่องนั้น อันนี้เรียกว่ามันอ่อนแอ ไม่มีน้ำอดน้ำทน คนอ่อนแออย่างนี้จะทำอะไรให้ดีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานฝ่ายคดีโลก ฝ่ายคดีธรรม ย่อมไม่ก้าวหน้า เช่น เราเป็นผู้อยู่ครองเรือน เราจะต้องทำมาหากิน เป็นชาวนา ชาวสวน เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ ถ้าไม่มีความอดทนเป็นพื้นฐานแล้ว งานที่เราจะทำนั้นจะสำเร็จด้วยดีไม่ได้เพราะว่างานบางอย่างต้องใช้เวลา ใช้ความเพียร ใช้ความอดทนนาน งานจึงจะสำเร็จเป็นไปด้วยดี แต่ถ้าไม่มีความอดทนเข้ามาช่วยเหลือ พอพบงานหนักก็ไม่ชอบใจ พบงานยากก็ไม่ชอบใจ พบงานที่ไปไกลๆ ก็ไม่ชอบใจ ชอบงานเบา งานง่าย งานสะดวกสบาย แต่ว่าต้องการผลตอบแทนมาก ต้องการเงินมากๆ เพราะฉะนั้นคนบางคนจึงถามว่าไปทำงานที่นั่นสบายไหม นี่มันเป็นคนอ่อนแอให้เห็นตั้งแต่เบื้องต้น คือจะทำงานอะไรก็ตามก็ถามว่าสบายไหม เอาแต่ความสบาย แสดงว่าไม่ได้ฝึกฝนในเรื่องขันติ คือความอดทน ทำงานอะไรก็เอาง่ายๆ เอาสบายๆ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ไม่ต้องอดทนให้มันสำเร็จได้อย่างง่ายๆ มีที่ไหน งานที่มนุษย์ทำที่อย่างง่าย ที่จะสบาย จะสะดวกนั้นมันไม่ค่อยมี มันต้องใช้เวลาทั้งนั้น ใช้ความอดทนทั้งนั้นจึงจะทำงานนั้นสำเร็จเป็นไปด้วยดี
ทีนี้เราอยู่บ้านอยู่เมืองจึงต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ ในการประกอบกิจการงานนั้นๆ งานนั้นจึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้ ถ้าเราไปคุยกับคนที่เขามีความสำเร็จในชีวิต เป็นคนร่ำรวยมีฐานะดี หรือได้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงาน เราจะพบว่าคนเหล่านั้นต้องใช้ความอดทนอย่างมากต้องต่อสู้กับปัญหาอย่างเข้มแข็ง จึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ด้วยดีมีความสำเร็จ นั่งยิ้มในความสำเร็จของตนเองได้ คนที่ไปเห็นความสำเร็จนั้นก็นึกว่าเป็นบุญของเขา ก็ถูกต้องเหมือนกันเรียกว่าบุญ คำว่าบุญนั้นหมายถึงว่ามีความงามความดี ความงามความดีที่เป็นบุญนั้นมันต้องทำติดต่อกันไป ไม่ได้ทำๆ หยุดๆ ถ้าทำๆ หยุดๆ มันก็ไม่ได้ผล เหมือนเรารดน้ำต้นไม้รดวันหนึ่งทิ้งไว้เจ็ดวันมันก็ตาย เราไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าเรารดทุกเช้าทุกเย็นสม่ำเสมอ ดินมันชุ่ม ต้นไม้ก็เจริญงอกงาม ออกดอกออกผลให้เราได้กินได้ใช้กันต่อไป คนที่สำเร็จอะไรในชีวิตก็แสดงว่าเขาทำกันติดต่อ คนที่ทำอะไรติดต่อนั้นเรียกว่ามีความอดทน แต่ถ้าทำบ้างหยุดบ้างก็ไม่อดไม่ทน งานที่ทำนั้นก็ไม่สำเร็จ มาทำงานด้านฝึกฝนอบรมจิตใจ เช่น เรามารักษาศีล เราเจริญภาวนา หรือว่าเรามาวัดเพื่อการฟังธรรม จำเป็นที่จะต้องใช้ความอดทน ถ้าไม่ใช้ความอดทนมันก็ทำไม่ได้ เช่น รักษาศีลห้านี่ไม่ต้องมากอะไร ทนไม่ได้ก็เดี๋ยวไปฆ่า ทนไม่ได้ก็เดี๋ยวไปหยิบอะไรของใครเข้าให้ ทนไม่ได้เดี๋ยวก็ไปประพฤติผิดล่วงเกินต่อของรักของชอบใจเขา ทนไม่ได้ก็พูดจาพล่อยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว พูดโดยไม่ได้คิดไม่ได้ตรอง เห็นอะไรก็พูดโพล่งๆ ออกไป ทนไม่ได้ก็ไปดื่ม ไปสูบ ไปกินของเสพติดอันเป็นโทษแก่ร่างกายจิตใจ อันนี้ก็เห็นอยู่ว่ามันต้องอาศัยความอดทนจึงจะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ
พระโพธิสัตว์คือบุคคลที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การตรัสรู้ อยู่ที่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าเราศึกษาเรื่องชีวิตพระโพธิสัตว์แล้วจะพบว่ามีความอดทนอย่างยิ่ง อดทนอย่างสูงเลยทีเดียว ใครจะทำอะไรท่าน ท่านก็มีความอดทนอยู่ตลอดเวลา เหมือนชาดกเรื่อง ขันติวาทีดาบส ขันติวาทีดาบสนี้เป็นผู้มีปกติอดทนต่อสิ่งทั้งหลายที่เวียนมากระทบอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งไปบำเพ็ญความเพียรอยู่ในสวนของพระราชา พระราชาเสด็จมาประพาสสวนแล้วก็รู้สึกง่วงบรรทมหลับอยู่ใต้ต้นไม้ พวกสาวใช้ มหาดเล็กทั้งหลายก็ไปพบพระฤษีเข้า เลยไปคุยธรรมะกับท่าน ท่านพูดท่านสอนก็ฟังเพลินไป ละเลยต่อหน้าที่การอารักขาพระราชา พระราชาเสด็จตื่นพระบรรทมไม่เห็นใครสักคนก็เลยเที่ยวเดินแสวงหา ไปพบพวกนั้นนั่งหมอบอยู่หน้าพระฤษี ก็เลยเข้าไปถามว่า “ท่านเป็นใคร” ฤษีตอบว่า “เราเป็นฤษี” “ท่านมีปกติปฏิบัติอะไร” “เรามีปกติปฏิบัติความอดทน” เอาละทีนี้พระราชาจะทดสอบพระฤษีว่าอดทนขนาดไหน ขั้นแรกก็เอาไม้มาเฆี่ยนพระฤษี พระฤษีก็เฉย นั่งเฉยๆ ไม่ว่าอะไร ไม้เฆี่ยนยังนั่งเฉยแสดงว่ามันไม่เจ็บเท่าใด เลยเอามีดมาเชือดผิวหนังเหมือนกับเราหั่นปลา พระฤษีท่านก็ไม่ว่าอะไร เฉยๆ ไม่แสดงอาการทุกข์ร้อน อย่างกระนั้นแล้วก็ยังไม่พอ ทรมานหนักเข้าไปอีก จนเอาดาบแยงเข้าไปในรูหูอย่างนี้เป็นตัวอย่าง พระฤษีก็บอกว่ายังทนอยู่ ทนอยู่อย่างนั้นพระราชาก็ทำอย่างหนักจนฤษีก็สลบเหมือดไปเลย แต่พระราชาองค์นั้นพอเดินพ้นพระฤษีไปก็ถูกแผ่นดินสูบหายไป แผ่นดินสูบนี้อาจจะเป็นคำพูดแบบบุคลาธิษฐาน พูดภาษาง่ายๆ ให้คนฟังเข้าใจว่าแผ่นดินมันไม่ยอมรับคนชั่ว มันหนักแผ่นดินก็เลยจมดินไป แต่ถ้าพูดอีกแบบหนึ่งก็หมายความว่า คนที่มันเห็นความโหดร้ายของพระราชา เกิดเกลียดขึ้นมาถึงที่สุด ก็เลยรุมกันลงทัณฑ์จนถึงแก่ความตายก็เป็นได้
อันนี้เป็นเรื่องเล่าให้ฟังว่าผู้มีความอดทนก็ทนจริงๆ ทนต่อทุกอย่างที่มากระทบ ก็สำเร็จในสิ่งที่ต้องการ เรามาปฏิบัติธรรมจึงต้องอดทน เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการฝืนธรรมดาของมนุษย์ ธรรมดาของมนุษย์นั้นมันไหลไปในทางที่ง่ายๆ เหมือนน้ำไหลไปในที่ต่ำ เคยประพฤติอย่างไร เคยกระทำอย่างไรมันก็ชินกับสิ่งเหล่านั้น ครั้นเรามาปฏิบัติธรรมกันเข้า มันก็ต้องฝืนสิ่งเหล่านั้น ของที่เคยกระทำทำไม่ได้ เคยกินตามชอบใจกินไม่ได้ เคยเที่ยวตามชอบใจเที่ยวไม่ได้ เคยสนุกตามชอบใจก็สนุกไม่ได้ อยากจะดื่มอะไรก็ดื่มได้ แต่พอมาปฏิบัติธรรมท่านก็ไม่ให้ทำอย่างนั้น ทำไมท่านจึงไม่ให้ทำอย่างที่เคยทำ เป็นการฝืนความต้องการ บางคนก็บอกว่ามันฝืนธรรมชาติ อะไรคือตัวธรรมชาติ ความอยากที่จะมีนั่นจะมีนี่ จะได้นั่นจะได้นี่ นั่นเป็นเรื่องธรรมชาติหรือ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ธรรมชาตินั้นมันบริสุทธิ์ มันสงบ ไม่มีสิ่งสกปรกวุ่นวายเป็นเรื่องธรรมชาติ ทีนี้เรามันทำธรรมชาติให้เปลี่ยนสภาพไป แล้วเราก็พูดว่านั่นคือธรรมชาติ ความต้องการในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เราถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้วก็พูดว่าฝืนธรรมชาติไม่ไหว ธรรมชาติมันเรียกร้อง อันนี้คือการพูดที่ผิด ความจริงสิ่งนั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่มันเป็นเรื่องเกินธรรมชาติ หรือผิดธรรมชาติไป จริงอยู่ร่างกายนี้ต้องการอาหาร ต้องการน้ำ ถ้าไม่มีอาหารไม่มีน้ำมันก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่าธรรมชาติก็มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ เรามีความหิวอาหารเราก็รับประทาน พอรับประทานเข้าไปเมื่อร่างกายมันได้รับพอดีก็อิ่ม ความอิ่มนั้นคือการบอกของธรรมชาติคือร่างกาย ว่าพอแล้ว แต่ว่าเราบอกว่าไม่พอ ทำไมจึงไม่พอ เพราะอันนี้มันอร่อย เราจะต้องกินอีก เราจะต้องดื่มอีก เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้อีก
อันนี้มันฝืนแล้ว ฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติบอกแล้วว่าฉันอิ่มแล้ว ท้องมันบอกมันรายงาน หิวมันก็บอก อิ่มมันก็บอก แต่ว่าเราไม่ค่อยจะเชื่อธรรมชาติ เรามักจะดื้อต่อธรรมชาติ มนุษย์นี้มีปกติดื้ออยู่ตลอดเวลา ดื้อขัดขืนธรรมชาติ ทุกแง่ทุกมุมก็ว่าได้ ไอ้โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์นี่มันเกิดจากเราดื้อ เราขัดขืนธรรมชาติ ไม่ทำอะไรเพียงสักแต่ว่าธรรมชาติต้องการ มักจะทำเกินไป กินเกินไป ดื่มเกินไป ทำอะไรๆ มันเกินไป มันก็เกิดปัญหาคือความทุกข์ความเดือดร้อน โรคภัยไข้เจ็บในร่างกายเกิดจากการกินไม่ใช่น้อย คือกินเกินไปนั่นเอง เกินความต้องการไป เมื่อคืนนี้คุยกับท่านเจ้าคุณที่วัดเชียงราย ลำปาง ก็เลยถามถึงคุณหมอที่เคยรู้จักว่าคุณหมอศรียังอยู่หรือเปล่า ท่านบอกว่ายังอยู่ แล้วท่านบอกว่าหมอศรีนี้มากินนิดๆ รับประทานอาหารนิดเดียว ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยังพูดว่าไอ้หมอนี่มันอยู่ได้ยังไง กินนิดเดียว แต่แกก็อยู่ได้ แกไม่ค่อยมีโรคมีภัย แกเป็นคนรักษาโรคภัยไข้เจ็บคนอื่น แต่ตัวแกเองก็ไม่ค่อยจะมีโรค อายุหกสิบกว่าแล้วก็ยังอยู่อย่างนี้ไม่ได้กินมากเกินไป กินพอเท่าที่จำเป็นร่างกายต้องการ ดื่มเท่าที่ร่างกายต้องการ ร่างกายไม่มีน้ำ มันก็บอกกระหายน้ำ รู้สึกแห้งในร่างกาย เราก็ดื่มเข้าไป ดื่มกับน้ำธรรมชาติคือน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ร่างกายก็สบาย แต่ว่าแทนที่เราจะดื่มตามธรรมชาติ เราไปดื่มน้ำที่เขาปรุงแต่งผิดธรรมชาติ ดื่มน้ำใส่ขวดประเภทต่างๆ ที่มีชื่อขายในตลาด หรือว่าไปดื่มน้ำที่มันมีพิษเพื่อแก้กระหาย มันไม่ได้แก้ ไม่ได้ชดเชยในสิ่งที่ธรรมชาติเรียกร้องต้องการ เราทำอะไรผิดธรรมชาติก็เลยเกิดไม่สบาย เป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกาย เมื่อไปที่หนองคายเราไปนั่ง คุณโยมยกน้ำอัดลมมาจะเปิด อาตมาบอกว่า “ไม่เอา ฉันต้องการน้ำธรรมดาดื่มแล้วมันหายกระหาย อันนี้มันแพงขวดละสี่บาท น้ำธรรมดานี้ไม่ต้องซื้อไปตักมาแล้วก็กินได้” เขาก็ไปหาน้ำมาให้ดื่ม ดื่มแล้วมันก็สบาย ดีกว่าดื่มน้ำในขวดซึ่งดื่มแล้วมันไม่เคยจะหายกระหาย ต้องดื่มบ่อยๆ จ่ายเงินมากผิดธรรมชาติ เราก็เกิดปัญหาเพราะเราทำอะไรผิดธรรมชาติไป ลองฝึกหัดเป็นอยู่ตามธรรมชาติแท้ๆ บ้าง คือทำเท่าที่ร่างกายต้องการอย่าให้มันเกินความต้องการ หรือร่างกายยังไม่ต้องการก็อย่าไปบังคับมัน เช่น ไม่หิวอย่าไปกินอาหาร ไม่กระหายก็อย่าไปดื่มมันเข้า อย่าดื่มด้วยความอยาก ดื่มด้วยความอยากนั้นมันฝืนธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เป็นกิเลสนั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง ปรุงแต่งด้วยความโง่ความเขลา ไม่ใช่ปรุงแต่งด้วยปัญญา ถ้าปรุงแต่งด้วยปัญญามันไม่มีเรื่อง แต่งด้วยความรู้มันก็มีเรื่อง เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นไม่ใช่ของแท้ ให้เราศึกษาให้รู้ว่าอะไรมันแท้ อะไรมันปลอม อะไรมันเป็นตัวธรรมชาติ อะไรไม่ใช่ แล้วเราจะรู้จักจัดตัวเราให้เหมาะกับธรรมชาติต้องการ
คนที่อยู่ตามธรรมชาติร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่คนที่อยู่กับสิ่งปรุงแต่งมากมีโรคมาก อันนี้เห็นง่ายๆ คนในเมืองที่เจริญมีโรคมาก คนในชนบทที่ห่างไกลความเจริญมีโรคน้อย เราจะไปพบคนแก่ๆ ตามบ้านนอกอายุ ๙๐ ปี ยังเดินมาฟังเทศน์ได้ เดินไกลตั้ง ๕-๖ กิโลเมตร เดินมาตั้งแต่เช้า มาได้ คนในกรุงอายุ ๙๐ ปี นี้เดินไม่ไหว ไม่ถึง ๙๐ ปี หรอก อายุ ๖๕ ปี นี้ก็เดินไม่ค่อยไหวแล้ว เพราะเราทำอะไรผิดธรรมชาติ มีเท้าไม่ใช้เราไปนั่งรถกันเสียหมดเลยไม่ได้เดิน มันก็ฝืนธรรมชาติ หรือทำอะไรมันฝืนในบางเรื่อง เช่นว่า ยกตัวอย่างคนชอบเล่นไพ่ มันนั่งนานผิดธรรมชาติ ถ้าไม่จบก็ไม่ลุกขึ้น เรื่องมันกว่าจะจบมันก็นาน ปวดท้องไม่ไป ปวดเอวนั่งทนเอา ตามืดแล้วก็อุตส่าห์ขยิบ แล้วก็ดูมันใหม่ ฝืนทั้งนั้น ฝืนธรรมชาติ เมื่อฝืนมากเข้าตาเสีย ปวดเอว ปวดหลัง แข้งขาไม่ดี เดินไม่ค่อยจะได้ นี่คือฝืนธรรมชาติทั้งนั้น เพราะเราทำในเรื่องเดียวนานเกินไป เรานอนนานผิดธรรมชาติ นั่งนานก็ผิดธรรมชาติ เดินนานเกินไปก็ผิดธรรมชาติ ธรรมชาติมันต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้สม่ำเสมอ แล้วใครเป็นคนบอกหรือ ร่างกายมันบอกเอง เราเดินนานมันก็เหนื่อย เหนื่อยขาเหนื่อยแข้ง นั่นมันบอกแล้วว่าหยุดเสียบ้าง เราไปนั่ง พอนั่งนานเข้ามันก็มีอะไรบอกอีก ปวดเอวมันนั่งนานไป ปวดกล้ามตะโพกก็ลุกขึ้นยืนเสียบ้าง นอนเสียบ้าง ทำให้พอดี อะไรที่เราทำพอดีนั้นมันสบาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มตฺตญฺญตา สทา สาธุ ความทำอะไรแต่พอดีนั้นเป็นเหตุให้เกิดสุข ให้สบาย เราลองหัดอะไรให้มันพอดีเสียบ้างแล้วจะสบาย กินอยู่แต่พอดี ดื่มพอดี หลับนอนพอดี ทำอะไรก็พอดีอย่าให้มันฝืนธรรมชาติ เราก็จะสบาย ถ้าวันหนึ่งเรามาทำผิดธรรมชาติคือนั่งเขียนหนังสือ นั่งเขียนสามวัน เจ็ดโมงเช้าถึงสิบเอ็ดโมง บ่ายโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็นติดต่อกันสามวัน ปวดไปที่ตัว ที่??? (29.39 เสียงไม่ชัดเจน) ไปหาหมอ หมอที่เชียงใหม่ตรวจไปตรวจมา ตรวจแล้วตรวจอีกไม่รู้ว่ามันเป็นโรคอะไร หมอบอกว่า “มันก็เรียบร้อยร่างกายมันไม่มีอะไร แต่มันไม่สบาย มันปวดอยู่นี่เพราะอะไร เลยจะถามว่าท่านไปทำอะไรมา” บอกว่า “ไม่ได้ทำอะไรนั่งเขียนหนังสือ” “เขียนยังไงหนังสือ” “เขียนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสิบเอ็ดโมง เขียนบ่ายโมงครึ่งถึงห้าโมง” “เขียนมากี่วันแล้ว” “เขียนมาสามวันแล้ว ยังไม่จบเรื่องมันยาว” หมอบอกว่า “นี่แหละที่เขาเรียกว่าโอเวอร์ ท่านไม่ต้องกินยา ไปนอนเถิด ไปพักอย่าเขียน ครู่เดียวก็สามวัน นอนๆ แล้วก็เดินบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง มันก็หายเป็นปกติ” เลยได้บทเรียนว่าการทำอะไรเกินไปนั้นมันผิดธรรมชาติ เมื่อผิดธรรมชาติร่างกายก็ประท้วงทำให้เราเกิดไม่สบาย อันนี้เรารู้กันอยู่ทั้งนั้น เห็นกันอยู่ทั้งนั้น แต่โดยมากไม่ค่อยจะได้พิจารณา เพื่อเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงชีวิต เราจึงลำบากเดือดร้อนกันไปตามๆ กัน อันนี้น่าคิดนะ เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมชาตินั้น ขอให้เข้าใจให้ถูก ว่าความต้องการของร่างกายนั้นคือความพอดี ถ้าเกินพอดีมันก็ไม่ได้
ความต้องการทางจิตนี้ก็เหมือนกัน ธรรมชาติจิตนั้นบริสุทธิ์ อันนี้หลักพุทธศาสนายืนยันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ความไม่บริสุทธิ์นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเครื่องปรุงแต่ง อาศัยสิ่งภายนอกกับสิ่งภายในกระทบกัน เรียกว่าอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มันมากระทบกันเข้า พอกระทบกันเข้าก็เกิดเรื่องขึ้นมาต่อๆ กันไปจนเป็นเรื่องเป็นราว มันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติแต่เป็นเรื่องของการปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่งนี้เราหลีกได้ หลีกไม่ให้มันปรุงได้ มีตาไม่ดูก็ได้ มีหูไม่ไปฟังก็ได้ มีกลิ่นเราไม่ดมก็ได้ มีรสนี่ไม่อ้าปากใส่เข้าไปก็ได้ ไม่จับต้องอะไรที่มันจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาก็ได้ ใจเราอย่าไปปรุงแต่งสิ่งนั้นให้มันไม่วุ่นวายนี้ก็ได้ ทำได้ แต่ว่าเราไม่ค่อยจะได้ทำอย่างนั้น เพราะเราเคยกับนิสัยตามใจตัวเอง เคยปล่อยไม่เคยยับยั้ง ปรกติเรามันปล่อยไปตามเรื่อง ไม่เคยเหนี่ยวรั้ง ไม่เคยมีการบังคับตัวเอง เพราะฉะนั้นในทางพระศาสนา ทุกศาสนามีจุดหมายอันเดียวกัน คือต้องการให้มีการยับยั้งชั่งใจ ให้มีการบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง เพื่อให้เกิดความสมดุลในสิ่งที่ธรรมชาติต้องการ อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เราจึงต้องมาปฏิบัติในเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา การปฏิบัติในเรื่องสิ่งเหล่านี้ขอให้เข้าใจจุดหมายว่า เป็นการปฏิบัติเพื่อละสิ่งไม่ดีไม่งาม เพื่อความบริสุทธิ์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิบัติเพื่อการถูกเกลา ทั้งถูกทั้งเกลาเพื่อให้มันได้รูปได้ทรง ความจริงเดิมรูปทรงมันดีอยู่แล้ว แต่เราเอาอะไรๆ ไปใส่เสียจนจำรูปไม่ได้ หน้าตาดั้งเดิมหายไป ทีนี้เรามานึกได้ว่าไม่ไหวแล้ว สิ่งปรุงแต่งมันมาก มันพอกจนหนาจนไม่เห็นของเดิมเสียแล้ว อันนี้ก็ต้องถูกเกลาออกไป การถูกเกลานั้นต้องใช้เครื่องมือ เครื่องมือก็คือการถือศีล การฝึกจิต การคิดการค้น เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา
ศีลนั้นก็คือการสร้างระเบียบแก่ชีวิต ให้เราอยู่อย่างมีระเบียบมีแบบไม่ทำอะไรตามกิเลสตลอดไป การฝึกจิตก็คือทำให้มันสงบตั้งมั่น อ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน การคิดค้นก็เพื่อให้เกิดรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง เพราะที่เรารู้บางทีมันไม่จริง รู้ไม่ถูกไม่ชัด แล้วเราก็ยังหลงอยู่ในสิ่งนั้น เมื่อใดเรารู้แจ้งเห็นจริงเราก็ไม่หลง เหมือนกลางคืนมันมืดๆ มัวๆ เราเห็นตอไม้นึกว่าเป็นคน ตอไม้มันนิ่งเรานึกว่ามันเดินได้ เห็นเป็นท่าเป็นทางนึกว่ามันหลอกเรา บางทีเราตกใจวิ่งหนีแข้งขาถลอกปอกเปิด นี่เพราะเห็นไม่ชัด เห็นไม่จริงไม่ถูกต้อง เราก็ถูกมันหลอกอยู่ตลอดเวลา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันมีมายา มายาหมายความว่ามันปรุงแต่งหลอกเรา ทำให้เราหลงผิดเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ เราจึงเกิดปัญหามีความทุกข์ความเดือดร้อน พระพุทธศาสนาสอนให้คิดค้น แยกแยะ วิเคราะห์วิจัยในเรื่องนั้น เพื่อให้รู้ชัดเห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง เรามีคำบาลีอยู่คำหนึ่งว่า ยถาภูต ญาณทสฺสนํ แปลว่า เห็นสิ่งนั้นชัดเจนตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ มันเป็นอยู่จริงๆ อย่างไรเราเห็นอย่างนั้น ไม่เห็นแต่เพียงเปลือกนอกเหมือนกับร่างกายคน ถ้าเราเห็นเขาทาแป้ง ทาลิปส์อะไรไว้ เราไปติดอยู่ในสิ่งที่เขาทาไว้ นั่นไม่ใช่เนื้อแท้ เราเห็นแต่สิ่งมายาที่ปรุงแตงไว้บนผิวกาย เราก็หลงใหลเพลิดเพลินไป บางทีก็ไปเอานัก นี่เรียกว่าไม่เข้าใจชัด แต่เมื่อใดเราเห็นแล้วเราคิดไปว่าแต่เดิมมันเป็นอย่างไร เนื้อแท้มันเป็นอย่างไร แล้วเราก็คิดไปจนกระทั่งเห็นชัดในสิ่งนั้น เมื่อเห็นชัดก็เห็นว่ามันไม่เที่ยง คือ มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราจะไปจับเอาตอนใดตอนหนึ่งว่าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นเราเป็นเขามันก็ไม่ได้ เราเห็นความจริงว่ามันไหลวนอยู่ตลอดเวลา แล้วเราเห็นว่ามันเป็นทุกข์
เราเห็นว่าเนื้อแท้มันไม่ดี มันมีแต่สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง เรามองก็เห็นชัดอยู่อย่างนั้น ปัญญาเกิดขึ้นในใจของเรา แสงสว่างเกิดขึ้นในใจของเรา ความที่เคยหลง เคยเข้าใจผิด เคยมัวเมา เคยอะไรต่างๆ มันหายไป หายไปเพราะมารู้ชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง อันนี้คือผลของการคิดค้น พระพุทธศาสนาสอนให้เราคิดเราค้น ให้คิดดูทบทวนไปมาเพื่อให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรเกิดขึ้นถ้าเราไม่คิดเราก็หลงเข้าใจผิด เช่นว่า พ่อแม่ตาย ใครคนหนึ่งคนใดในครอบครัวเราตายไป เราร้องไห้ เราเศร้าโศกเสียใจไม่เป็นอันกินอันนอน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะเราไม่รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง คือไม่รู้ว่าร่างกายของคนนี้มันมีเกิด มีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีแตกดับ เราไม่ทันคิด เราคิดแต่เพียงว่ามันอยู่อย่างนั้น มันไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่แปรเปลี่ยน คือ คิดในทางตรงกันข้ามกับเรื่องของธรรมชาติ เราก็หลงผิดไป พอสิ่งนั้นเปลี่ยนไปเพราะเราไม่เคยคิดถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่เคยคิดถึงความแตกสลายของสิ่งนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นเราก็เสียอกเสียใจ มีความทุกข์ร้องไห้ร้องห่มด้วยประการต่างๆ การกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องของความไม่รู้ เป็นเรื่องของอวิชชา ความโง่ความเขลา ไม่น่าจะทำอย่างนั้น บางคนไม่ใช่ร้องจริงก็มีเหมือนกัน เช่นว่า ร้องให้เขาเห็นว่าฉันยังอาลัยคนนี้อยู่ มายาอีกอย่างนั้น ไม่ใช่ของแท้ ไม่ได้ร้องจริงจัง เหมือนสมัยก่อนนี้เขาเรียกว่าถ้าเจ้านาย ผู้หลักผู้ใหญ่สิ้นพระชนม์ลงไป เขามีนางร้องไห้ มีหน้าที่ร้อง ร้องเลย เอาผ้าปิดตาแล้วก็ร้องรำพึงรำพันไปด้วยประการต่างๆ นี่คือมายา ปรุงแต่งขึ้นในใจ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าคนที่ตายนี้ยังมีคนรักอยู่ บางทีเขาเกลียดเต็มทีแล้วแต่ว่าร้องเป็นพิธีหน่อย แล้วไอ้คนที่ร้องก็เรียกว่าร้องรับจ้าง ร้องได้เงินก็เลยไปร้องให้เขาสักหน่อย ขยี้ตาร้องไห้เท่านั้นพอออกมาจากห้องนั้นยิ้มกับเพื่อนได้ มันคนละเรื่องกันแล้ว อันนี้ไม่ใช่ของจริงเป็นการปรุงแต่ง เมื่อเรารู้จริงอย่างไรเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้น อย่าปรุงอย่าแต่งให้มันวุ่นวาย ไม่เสียใจก็ไม่เสียใจ ถ้าใครเขาถามว่าคุณพ่อตายไม่เห็นร้องไห้ เราก็บอกว่าร้องแล้วมันฟื้นหรือ เราร้องแล้วคุณพ่อแกรู้ไหมว่าเราร้อง คงไม่รู้ แล้วจะร้องทำไม ร้องไม่ได้เรื่อง ร้องตามธรรมเนียม มันไม่ได้เรื่องอะไร แต่บางคนร้องเพราะเศร้าใจเสียใจจริงๆ ก็แสดงว่าไม่ค่อยจะได้คิดในปัญหาชีวิต ไม่ได้ใช้ปัญญาจึงได้เป็นเช่นนั้น
เพราะฉะนั้นเราถือพุทธศาสนานี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ การรักษาศีล การฝึกจิต การคิดการค้น ต้องใช้ความอดทน ไม่อดไม่ทนแล้วมันจะรักษาศีลได้อย่างไร รักษาสองวันหายไปแล้ว วันเดียวบางทีก็ขาดไปตั้งเยอะแล้ว ทะลุไปตั้งเยอะแล้ว ทนไม่ได้ เคยมีเด็กหนุ่มมาบวชคนหนึ่งหลายปีมาแล้ว พอกลางคืนบอกว่า “หลวงพ่อครับขออนุญาตฉันขนมปังหน่อยได้ไหม” “ฉันจะอนุญาตยังไงล่ะ ไม่ใช่ข้อบัญญัติของฉัน พระพุทธเจ้านั้นท่านบัญญัติไว้แล้วฉันจะอนุญาตให้เธอฉันอย่างไร” “ไม่ไหวหิว” “หิวมันก็ต้องอดทนสิ กินไม่ได้ กินน้ำไป ไปเอาน้ำมา กินน้ำเสีย เอาน้ำตาลทรายใส่ลงไปนิดหน่อยแล้วกินเสีย” กินแล้วก็ได้นอนหลับไป นี่คือไม่อดทน ไม่รู้ว่าการบวชนั้นคือการอดทน บวชนี่มันต้องอยู่ด้วยความอดทน ต้องอยู่ด้วยน้ำมูกน้ำตา ต้องอดต้องทน เหมือนคนเดินทางในทะเลทรายที่ร้อนทั้งข้างบนข้างล่าง มันต้องอดทน ไม่อดทนหยุดมันก็ตาย มันต้องเดินไปจนกว่าจะถึงที่เราต้องการ ชีวิตของคนที่เป็นนักบวชก็ต้องอดทน ทนไม่ได้ก็ลาสึกเท่านั้นเอง ออกไป เคยถามหลายคนว่า “ทำไมถึงสึกล่ะ” บอกว่า “ทนไม่ไหวหิว” หิวหลายเรื่องเลยต้องออกไป มันไม่อดทน มันไม่มีความอดทนก็ไปไม่ได้ ถ้าอดทนแล้วเอาตัวรอด ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าสักหน่อยว่าทรงอดทนขนาดไหน เคยอยู่สบายในวัง อาหารดี เครื่องนุ่งห่มดี คนใช้ดี สิ่งแวดล้อมดี ดีทุกอย่างเพราะเป็นกษัตริย์อยู่ในวัง มีความสบายเรียกว่าสมควรสบายตามสมัยนั้น ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเหมือนสมัยนี้แต่มันก็มีสบายตามสมัยนั้น พระองค์ยังหนีจากความสบายอย่างนั้นแล้วไปอยู่ในป่า
เราลองนึกถึงเราว่าเคยอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ไปอยู่บ้านนอก ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนหนทางที่จะอำนวยความสะดวก จะรู้สึกอย่างไร ย่อมรู้สึกอึกอัดในดวงใจ ลำบากลำบน กระปอดกระแปดด้วยประการต่างๆ นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าเราไม่มีความอดทน พระพุทธเจ้าท่านออกไปอยู่ในป่ากว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้ามันตั้งหกปี นอนบนดินบนทราย เอาร่มไม้เป็นหลังคา นุ่งผ้าเนื้อหยาบๆ ซึ่งเก็บมาจากซากศพ ผ้าห่อศพนั้นเขาไม่เอาผ้าดีห่อหรอก เขาเอาไปเผาจะห่อผ้าดีทำไม ตัวเองก็ไปเก็บมาเอามานุ่งห่ม ซักฟอกแล้วเอามานุ่งห่ม อาหารก็ไม่ไหว คนเอาไปให้หรือไปบิณฑบาตมามันก็อย่างนั้น ฝืดกลืนไม่ค่อยลง แต่ก็ทรงอยู่ได้ อดทนได้เพราะอะไร เพราะมีฐานแห่งความอดทนอยู่ในใจว่า เราจะแสวงหาสิ่งถูกต้อง เพื่อเอามาให้มนุษย์ใช้ต่อไป เพราะมนุษย์นี่เป็นอยู่อย่างไม่ถูกต้อง คิดไม่ถูก พูดไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูกต้อง มีความเพียรก็ไม่ถูกต้อง ตั้งใจก็ไม่ถูกต้อง เป็นอย่างนั้นจึงได้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราจึงต้องเข้าไปค้นคว้าหาว่าอะไรมันคือสิ่งถูกต้อง อะไรที่จะช่วยให้คนพ้นจากความวุ่นวายสับสนในชีวิตประจำวัน ต้องไปค้นหา ค้นหามันไม่ใช่หาได้ง่ายๆ นี่ของอย่างนั้น ต้องไปทำความเพียรพยายาม อะไรที่เขาเคยกันมาก่อนว่าเป็นทางที่จะให้พ้นทุกข์ต้องไปทดสอบ ไปอดทำลองในเรื่องต่างๆ ไปอดข้าวจนผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เอามือลูบนี้ขนร่วง เอามือจับท้องถึงกระดูกสันหลัง ท้องนี่??? (46.39 เสียงไม่ชัดเจน) เข้าไป นัยน์ตาลึกเข้าไปเหมือนกับน้ำบ่อหน้าแล้ง เราอยู่กรุงเทพฯ มองไม่เห็นหรอกบ่ออย่างนี้ มันไม่มี ลองไปบ้านนอกหน้าแล้งน้ำบ่อมันลึก นัยน์ตาลึกเข้าไป ผมร่วงหมดทั้งศีรษะเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เกือบจะหมดลมหายใจเพราะการกระทำความเพียร แต่ภายหลังทรงทราบว่าไม่ถูก ขืนทำไปก็ตายเปล่า จึงกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แล้วทรงคิดค้นต่อไป ศึกษาต่อไป จนกระทั่งได้พบความจริง ที่เราเรียกว่าบรรลุความเป็นพุทธะ พูดให้ยาวว่าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือความรู้ที่ทำให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องอย่างสูงสุด ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ใช้ความเพียร ความอดทนอย่างนานถึงหกปี จึงได้เป็นพุทธะคือเป็นพระพุทธเจ้า คือใช้ความอดทนอย่างมาก
พระบรมครูของชาวเราทั้งหลายนั้นเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงสุด แล้วเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าจะไม่มีความอดทนนั้นมันถูกต้องหรือ เป็นคนอ่อนแอไม่มีความเข้มแข็งนั้นมันถูกต้องหรือ เราต้องคอยบอกตัวเองว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูเป็นบิดาทางจิตใจของเรานั้นท่านอดทนอย่างจริง เราก็ต้องทำตนอย่างนั้น มีอะไรเกิดขึ้นต้องอดทน ต้องเข็ดเคี่ยวเคี้ยวฟัน ต้องสู้กับมันเพื่อเอาชนะให้ได้ สู้อะไรๆ มันไม่ประเสริฐเหมือนกับสู้ข้างใน ศัตรูภายนอกก็อย่างนั้นสู้ไปเถิดมันสู้ศัตรูภายในไม่ได้ ศัตรูภายในนั้นก็คือความคิดที่ไม่ถูกต้อง คิดด้วยความรู้ คิดด้วยความโกรธ ด้วยความหลง ด้วยความริษยา ด้วยความพยาบาท ด้วยความเห็นแก่ตัว คิดอะไรก็เอาตัวเข้าว่า ให้กูได้ก่อนคนอื่นจะเดือดร้อนช่างหัวมัน คิดไม่ถูกต้อง อันนี้แหละเขาเรียกว่าเป็นศัตรูของธรรมชาติคือจิตของเรา เป็นศัตรูที่มาทำให้จิตของเรามีไฝมีฝ้า มืดมัวเศร้าหมองไปด้วยประการต่างๆ เราจะต้องสู้กับมัน สู้ด้วยความอดทน ถ้าเราไม่อดไม่ทนเราก็แพ้ คนติดยาเสพติดนี้คือคนที่ไม่อดทน ติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดกัญชา ติดอะไรตามใจ ไม่อดทน ติดหนังติดละครก็ไม่อดทน ติดความสนุกสนานท่องเที่ยวก็ไม่อดทน ติดรสอาหารก็ไม่อดทน ไม่อดทนนั้นก็แพ้ แพ้ต่อสิ่งเหล่านั้น เราแพ้ก็เป็นทาสมัน ความเป็นทาสนี่มันเป็นทุกข์ ความเป็นไทนี่มันเป็นสุข เราเป็นไทแต่ทำไมอยู่อย่างทาส มันไม่ถูกต้อง เมื่อเราเป็นไทมันต้องอยู่อย่างไท อยู่อย่างไทก็คือไม่เป็นทาสของอะไรๆ ที่มันมายั่วให้เราหลง ให้เรางมงาย แล้วพูดว่ามายั่วให้เกิดความกำหนัด ให้เกิดความขัดเคือง ให้เกิดความลุ่มหลง ให้เกิดความมัวเมา เราไม่ยอม เราทนแข็งใจไว้ไม่ยอมมัน อย่างนี้เรียกว่าอดได้ทนได้ คนอดทนได้เป็นคนมีบุคลิกลักษณะดี ดียังไง นั่งก็เรียบร้อย ยืนก็ตัวตรงมีสง่า พูดจาอะไรก็มีท่วงทีมีจังหวะจะโคน ไม่พูดด้วยอารมณ์ ไม่พูดด้วยความหุนหันพลันแล่น จะทำอะไรก็ทำด้วยความมีสติมีปัญญาเพราะเขาอดได้ทนได้ มันทำให้ดีขึ้น คนไม่อดไม่ทนก็พูดพลุ่มพล่ามไปตามอารมณ์ นึกจะพูดอะไรก็พูดไปโดยไม่ได้คิดว่าคนอื่นเขาจะรำคาญ เขาจะเบื่อหน่ายหนวกหู ไม่ได้คิด กิริยาท่าทางก็เรียบร้อยมีความอดทนสูง คนที่เคยคบกับฝรั่งชาติอังกฤษ เขาบอกว่าคนอังกฤษนี้เป็นผู้ดี ความเป็นผู้ดีมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่อดทนนั่นเอง ถ้าไม่อดทนแล้วมันลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่งมันจะเป็นผู้ดีได้อย่างไร จะเดินก็??? (52.03 เสียงไม่ชัดเจน) ไว้ จะพูดก็คำหยาบ กิริยาท่าทางไม่น่าดูมันเป็นผู้ดีไม่ได้ ความเป็นผู้ดีจึงต้องมีฐานอยู่ที่ความอดทนถ้าเราฝึกฝนความอดทนเราเป็นผู้ดีสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เป็นผู้ดีเพราะชาติสกุลเพราะไอ้นั้นไอ้นี่ แต่เป็นผู้ดีเพราะมีธรรมะเป็นเครื่องหนุนจิตใจ เป็นผู้ดีแท้ก็อยู่ที่ความอดทน นี่เรียกว่าความเป็นผู้ดีอยู่ที่น้ำอดน้ำทน
ท่านสังเกตเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านออกอดทนมาก เรียกว่าบำเพ็ญขันติ ซึ่งเป็นธรรมข้อหนึ่งในสิบข้อของพระเจ้าแผ่นดิน ธรรมของพระเจ้าแผ่นดินเขาเรียกว่าทศพิศราชธรรม ธรรมของพระราชามีสิบประการ ในสิบประการนั้นมีความอดทนอยู่ด้วยประการหนึ่ง ในหลวงนี้ท่านอดทนนักหนา ไม่ต้องดูอะไร ดูเวลาแจกประกาศนียบัตร ปริญญาบัตรก็พอแล้ว ว่าพระองค์นั่งอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร ทุกส่วนของร่างกายนิ่ง เคลื่อนไหวแต่แขน คนก็คำนวณแล้วว่าแจกปริญญาบัตรแก่นักศึกษากี่พันคนยืดแขนเข้าออกนี่ยาวเท่าใด เขาคิดแล้วเจ็ดกิโลเมตร ยืดอยู่อย่างนี้เจ็ดกิโลเมตร ลองคิดดูยาวขนาดไหน แล้วส่วนอื่นนี่นิ่งหมดมีแต่แขน ทรงมีน้ำอดน้ำทนอย่างเหลือหลาย ทรงลำบากตรากตรำไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ไปด้วยความอดทน เราเห็นแล้วน้อมเข้ามาใส่ตนเสียบ้าง เขาเรียกว่าโอปนยิโก ที่เราสวดมนต์นั้นโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาใส่ตน คือเห็นอะไรดีอะไรเจริญเราน้อมเข้ามาใส่ตน เห็นใครเขาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบน้อมเข้ามาใส่ตน อย่างนี้แล้วก็ดี ในหลวงท่านอดทน เราเอาความอดทนของท่านมาใช้ เวลาใดที่จะต้องทำอะไรด้วยความอดทนก็นึกถึงท่าน นึกถึงพระมหากษัตริย์ นึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วเราก็อดทน เข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟันสู้มัน ทำให้สำเร็จ ไม่สำเร็จจะไม่เลิกละ ต้องอธิษฐานใจไว้ คนมีความอดทนต้องอธิษฐานใจ อธิษฐานใจว่าเราจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ไม่สำเร็จจะไม่เลิกไม่ละเป็นอันขาด นี่คือความอดทน พอมีความอดทนแล้วมันเกิดปีติ เกิดความรู้ เกิดความสงบใจ มันตามมาเอง แล้วจะลืมอะไรหมด ทำสิ่งนั้นด้วยน้ำใจที่เป็นสมาธิตั้งมั่น เพราะอาศัยพื้นฐานคือความอดทนนั่นเอง
เด็กๆ อยู่ในครอบครัวของเรานี้อยากจะให้ฝึกไว้บ้าง ฝึกความอดทน คนโบราณเขามีวิธีฝึกความอดทน เช่น เวลาจะรับประทานอาหาร ไม่ใช่มาถึงนั่งแล้วกินเอาๆ เขาไม่ให้ทำ เขาให้นั่งสำรวมใจให้นึกถึงพระแม่โพสพ โบราณแท้ นึกถึงคุณพระแม่โพสพให้ยกมือไหว้ อันนี้เขาต้องการจะให้เว้นไว้ก่อนไม่ใช่พอมาถึงก็จู้เอาทันทีเลย ทีนี้ในทางศาสนาพระพุทธเจ้าท่านก็ให้ปัจจเวก ก่อนฉันนี้ให้พิจารณาว่า ปฏิสังขาโย แต่ถ้าว่าไม่รู้มันกลายเป็นคาถาเสกข้าวกินไปมันไม่ได้เรื่อง ต้องรู้ว่าเราพิจารณาแล้วจึงฉันอาหารนี้ ท่านก็พิจารณาแล้วจึงฉัน มันเกิดความยับยั้งชั่งใจ นุ่งห่มก็ต้องพิจารณา กินยาก็ต้องพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วกินยาไม่ผิด กินยาแก้ปวดท้องไปเอาน้ำ??? (56.43 เสียงไม่ชัดเจน) กินเข้าไป ต้องพิจารณาก่อน ปัจจเวกก่อน มันก็ไม่เลอะ เรื่องอื่นก็เหมือนกันท่านสอนให้พิจารณาให้สำรวม ฝรั่งเขาเวลาจะกินข้าวให้ขอบคุณพระเจ้าก็เพื่อฝึกฝนให้รู้จักบังคับควบคุมตัวเองและให้สำนึกถึงสิ่งที่มีบุญคุณแก่เรา คืออาหาร อาหารมาจากใคร มาจากชาวนาชาวไร่ จากชาวสวนที่เขาปลูก เราก็รักเขาบ้างอย่าเอารัดเอาเปรียบเขา อย่าไปซื้อข้าวเขาให้มันถูกเกินไป อย่าไปซื้อผักถูกเอาไปขายแพง คนอื่นจะเดือดร้อน เขาสอนให้เราประพฤติธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรเป็นอุบายยับยั้งชั่งใจให้มีสติ มีปัญญาในการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ลองคิดดูแล้วเอาไปใช้จะเกิดประโยชน์มาก มีความสุขจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกประการ ดังที่ได้แสดงมาวันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา
วันนี้ท่านพันเอกจำลองก็ยังมาด้วย มาฟังถ้าว่าง ท่านนายกฯ ไปเหนือท่านอยู่นี่ คอยดูมีอะไรท่านจะได้รายงาน เลยแอบมาวัดเสียหน่อย แล้วตอนบ่ายนี้จะไปแสดงปาฐกถาที่วัดนรนาถสุนทริการาม เทเวศร์ เรื่องชาติจะอยู่รอดเกี่ยวกับศีลธรรมนี้แหละ เห็นเอาใบปลิวแจก ก็ว่างๆ ก็ไปฟังที่นู้น เพื่อจะได้รับความคิดความเห็นอะไรจากท่านผู้แสดง เพราะว่าทุกทีอยู่กับงานของชาติก็ต้องใช้ความอดทนมาก คนทำงานราชการนี่ต้องอดทนเหมือนกันไม่อดทนเดี๋ยวเขาก็เอาเงินมากองให้เฉพาะหน้าให้กินสินบนไปตามๆ กัน เห็นในหลวงก็ต้องอดทนว่าอย่าไปรักท่านไม่ถูกที่เข้า มันยุ่ง ต้องใช้ธรรมะตลอดเวลา ก็ฟังไว้จะได้ประโยชน์ ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที