แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่1กุมภาพันธ์ พศ. ๒๕๒๔ เดือนมกราคม อันเป็นเดือนตันของปีได้ผ่านพ้นไปแล้ว เดือนกุมภาพันธ์กำลังย่างเข้ามาถึงในวันนี้ ปีหนึ่งมี๑๒เดือน เมื่อครบ๑๒เดือนก็เป็นปีหนึ่ง ปี๒๕๒๓ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อย ปี๒๕๒๔ ได้เข้ามาถึงอีก๑เดือน ยังอีก๑๑เดือน วันเวลานี่มันผ่านไปเร็วมาก ไม่มีใครจะสามารถจะหยุดยั้งเวลาที่จะผ่านไปได้เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของการโคจรไปตามจักรราศีอันเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ลูกเราได้เกิดขึ้น การหมุนเวียนของสรรพสิ่งไม่หยุดยั้งอันนี้ก็เรียกว่าเป็นกฎแห่งความจริง อนิจตา ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย เวลาก็มีความเปลี่ยนแปลง เวลาเปลี่ยนแปลงไปนั้นไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแต่เวลาเท่านั้น แต่ว่าทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่นร่างกายของคนเรานี้ วันเวลาเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
เพราะชีวิตเราของคนเรานั้นเริ่มจากการปฏิสนธิจากในครรภ์มารดา แล้วก็ค่อยเจริญเติบโตขึ้นเปลี่ยนแปลงลงขึ้น ไปตามเวลานาทีตามลำดับจนกระทั่งครบ๑๐เดือน แต่บางคนไม่ครบ แล้วก็ออกจากมาจากท้องแม่ เติบโตขึ้นตามวันเวลาที่เราพูดกันว่า โตวันโตคืน เรื่อยมาโดยลำดับจนกระทั่งว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นคนเฒ่าคนแก่ จนที่สุดแล้วร่างกายก็แตกดับไป ไม่มีอะไรที่จะหยุดนิ่ง
สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องที่ควรคิดคำนึง วินาทีหนึ่งผ่านไป ชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีก็มี เปลี่ยนแปลงไปในทางลงก็มี เปลี่ยนแปลงไปในทางขึ้นเราพอใจ เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเราไม่พอใจ เหราะจิตใจเรานั้นไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลง อยากให้อยู่ในสภาพอย่างนั้น ถ้าใครมาทักใครซักคนหนึ่งว่า ดูคุณนี่ไม่แก่เลย คนที่ถูกทักนั้นก็จะพอใจ ยิ้มดีใจในสิ่งที่เขาพูดหลอกเรานั่นเอง เพราะความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น
ความจริงร่างกายเรานี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราก็ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น เรามักจะพอใจสิ่งที่เป็นมายา ในสิ่งที่เขามาหลอกบอกเราว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเขาบอกเราว่าคุณนี่ดูไม่แก่ยังหนุ่มกระชุ่มกระชวยอยู่ พอได้ฟังดังนั้นก็ยิ้มแป้นออกมาทันทีทีเดียว แสดงความพออกพอใจในการที่เราเป็นคนไม่แก่ ทั้งที่ความจริงนั้นเราแก่ลงไปแล้ว เพียงแต่เขาพูดว่าคุณไม่แก่ มันก็แก่ลงไป พูดยังไม่ทันจะจบประโยค มันก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงนี่เปรียบเวลาเหมือนกระแสน้ำที่ไหลมาจากที่สูง มันไม่ได้ไหลมาแต่น้ำ แต่เอาสิ่งต่างๆติดน้ำมาด้วย เช่นใบไม้ท่อนไม้หรืออะไรอะไรต่างๆ ซากสัตว์ตายก็มีลอยมาตามกระแสน้ำ ไหลเรื่อยไปจนกระทั่งจะถึงที่สุดของสิ่งนั้นๆ สิ่งทั้งหลายจึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ไหลเวียนไม่มีหยุดยั้ง การไหลเวียนไม่หยุดนั้นล่ะคือการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่เราสวดมนต์ว่า สรรพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งไม่เที่ยง คำว่าไม่เที่ยงก็หมายความว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเป็นไปตามนี้
เราจึงควรจะได้คิดพิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งนั้นๆ ว่ามันไม่มีอะไรหยุดนิ่ง แต่มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่ควรจะเข้าไปยึดถือจับต้องเอาของสิ่งนั้นว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา อันจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในภายหลัง เพราะสิ่งใดๆที่เราเข้าไปยึดถือ แล้วจะไม่เกิดทุกข์นั้นหามีไม่ มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่อย่างไร ถ้าเราไปจับไปฉวยมันเข้าแล้ว มันก็ก่อให้เกิดปัญหาโดยเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่เราด้วยกันทั้งนั้น เราจึงควรจะอยู่ด้วยปัญญาอย่าอยู่ด้วยความโง่ความเขลา
คนอยู่ด้วยความโง่ก็จะเป็นทุกข์เรื่อยไป แต่ถ้าอยู่ด้วยปัญญาความทุกข์มันก็ลดน้อยลงไป จึงควรใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับดูสิ่งต่างๆ อย่าเอา อวิชชาความโง่ความเขลามาเป็นเครื่องมือแล้วก็มองดูสิ่งนั้นๆเป็นอันขาด เพราะถ้าเรามองดูด้วยความโง่ความเขลาเราก็เป็นทุกข์ จอยู่เป็นทุกข์ทำไม เพราะเราไม่ได้เกิดมาเพื่อความเป็นทุกข์ เราเกิดมาเพื่อทำใจให้สุขสบาย เพราะรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นๆ
ทางพระพุทธศาสนาสอนเราให้พิจารณาให้รู้เห็นชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าเรามองอะไรตามสภาพที่เป็นจริงแล้วเราก็จะรู้ความจริงในสิ่งนั้น การรู้ความจริงเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ การพิจารณาให้รู้ความจริงจึงเป็นเรื่องหนึ่ง ที่เราควรจะได้สนใจศึกษาตามหลักนี้ไว้ตลอดเวลานี่เรื่องหนึ่ง อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเวลานั้น เวลาเป็นสิ่งมีค่าสำหรับชีวิต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงสอนเราให้พิจารณาทุกๆวันว่า เวลามันล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่ ทำไมท่านจึงสอนให้พิจารณาในเรื่องอย่างนั้น เพราะเพื่อจะให้รู้ว่า เวลาที่มันล่วงไป มันไม่หยุดนิ่งและไม่ได้ล่วงไปแต่เวลาแต่ทำให้สังขารร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน และเราควรจะได้ใช้สังขารที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปฏิบัติงานในหน้าที่ของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะเราเกิดมาเพื่องาน เราอยู่เพื่องาน เราควรจะใช้ชีวิตให้เป็นงานเป็นการ ชีวิตมันจึงจะมีค่ามีราคาคนโดยมากมักไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องเวลาที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไปจึงมัวเมาหลงใหลอยู่ในเรื่องอะไรๆต่างๆ สนุกสนานเพลิดเพลินด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าพึงใจ โดยหาคำนึงไม่ว่าชีวิตร่างกายนี้ มันไม่ได้หยุดนิ่ง มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังขาร เราจึงควรจะได้สำนึกไว้แล้วก็เตือนตนเองว่าอย่ามัวเมาอย่าประมาท อย่าหลงผิดถึงอยู่ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ แต่จงทำร่างกายนี้ให้เป็นสาระ
สาระของชีวิตนั้นอยู่ที่อะไร อยู่ที่การปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน แก่ชาติแก่ประเทศ ถ้าเราอยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไร มันก็สูญเปล่า เหมือนกับครกโม่ที่เราโม่แป้ง ถ้ามันหมุนไปเอาข้าวสารใส่ลงไป มันก็ออกมาเป็นแป้ง ถ้าเราไม่เอาข้าวสารใส่ลงไป มันก็หมุนไปเปล่าๆ หากวัตถุที่มันเป็นเครื่องมันก็เสื่อมสึกหรอไปเรื่อยไป สึกหรอโดยไม่มีผลงาน สึกหรอเปล่าฉันใด ชีวิตร่างกายของเรานี้ถ้าเราปล่อยให้มันสึกหรอโดยไม่ให้มีอะไรเป็นผลขึ้นมา ก็จะกลายเป็นคนเรียกว่า อยู่เปล่าแก่เปล่าแล้วก็ตายเปล่าเท่านั้นเอง อยู่เปล่าๆอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกคนนั้นว่า โมฆะบุญ โมฆะหมายความว่า คนเปล่าๆปลี้ๆ คนไม่มีสาระไม่มีประโยชน์อันใด ไม่มีคูณไม่มีค่า ไม่มีสาระแก่ตัว ท่านกล่าวว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องคำนึงถึงข้อนี้ไว้ แล้วรีบใช้ชีวิตให้เป็นงานเป็นการ อย่าให้มันผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นอันขาด
เราจะเห็นว่าคนบ้างคนเขาทำงานได้มากเหลือเกิน แต่บางคนนั้นมักจะพูดว่าไม่มีเวลา เวลามันมีแต่เราไม่นำมาใช้ มันจึงไม่มีเวลา เราไม่เคยคิดว่าเราได้ใช้เวลาอย่างไร เวลาในชั่วโมงหนึ่งเราได้ใช้อะไรบ้างถ้าคิดดูพิจารณาดูแล้วเห็นว่าเราเอาแต่ใช้ในเรื่องที่ไม่ควรใช้ เราไปเล่นเสียบ้างไปสนุกกันเสียบ้างหรือเอาไปนอนเฉยๆโดยไม่ทำอะไร อย่างนี้วันหนึ่งๆเราเสียไปเท่าไหร่ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร เช่นว่าตื่นแต่เช้าเราไปนั่งที่ร้านกาแฟ ดื่มกาแฟถ้วยเดียวแต่ไปเจอเพื่อนฝูงไปคุยเพลินกันไป ฆ่าเวลาด้วยการนั่งคุยกันเพลินๆก็ไม่ได้เรื่องอะไร หรือว่าเราไปเดินเล่น หรือว่าเราไปทำอะไรที่ไร้สาระ เช่นไปนั่งเล่นไพ่ หรืออยู่ที่สนามม้าดูม้ามันวิ่ง หรือไปเที่ยวตามบาร์ตามไนต์คลับตามสถานที่ยั่วกิเลส ทำให้เกิดความหลงใหลเพลิดเพลินไร้สาระ เวลามันก็สูญเสียไปโดยเราไม่ได้รับอะไรตอบแทน เวลาในวันหนึ่งๆก็ไม่ใช่น้อย แต่ว่าคนที่เขาคำนึงถึงวันเวลานั้น เขาทำงานตลอดเวลา เวลาหนึ่งทำงานอย่างนี้ แล้วก็ไปทำงานอย่างโน้น ทำงานอย่างโน้นต่อไป เวลาทุกนาทีเป็นงานเป็นการ
ฉะนั้นเราจึงเห็นว่า คนๆนั้นทำงานไว้มากมายก่ายกอง เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทำอะไรทุกสิ่งทุกประการ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยในหลวงรัชกาลที่๖ ซึ่งเราทั้งหลายขนานนามพระองค์ว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้านั้นท่านเอาเวลาไหนไปเขียนหนังสือ เขียนหนังสือร้อยแก้ว เขียนหนังสือเป็นบทละคร เขียนอะไรต่างๆ แล้วก็เอาเวลาไหนไปทำราชการปกครองประชาชน พิจารณาเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา เคยถามคนที่อยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เขาก็บอกว่าท่านทรงทำงานตลอดเวลา เมื่อทรงตื่นพระบรรทมแล้วทำกิจส่วนพระองค์เสร็จแล้ว ก็ออกมาประทับที่โต๊ะเพื่อเสวยพระกายาหารเช้า และขณะเสวยพระมหาธีรราชเจ้านั้นก็ทรงทำงานไปด้วยในตัว เสร็จแล้วก็ไปทำงานนั้น แล้วก็ไปทำงานโน้น ไม่มีเวลาที่จะอยู่นิ่ง ไม่มีเวลาที่จะให้มันสูญไปโดยไม่ได้ทรงกระทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นงานเป็นการไปเสียทั้งนั้น แม้นการเล่นก็เป็นงาน การทำงานอะไรเป็นงานอดิเรกก็เป็นงานของพระองค์ท่าน เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นสาระอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไป ผลงานที่ปรากฏมีมากมายก่ายกอง ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือที่เขาพิมพ์ขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระองค์ แสดงถึงผลงานของพระองค์ว่ามีมากมายขนาดไหน อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าคนทำงานนั้นเป็นคนที่รู้จักคุณค่าของเวลาและก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เป็นคุณเป็นค่า
เราคนไทยยังไม่ค่อยคำนึงถึงข้อนี้เท่าไหร่นัก แม้นเราเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้เราคำนึงถึงเรื่องเวลาไว้เสมอ ว่าเวลาล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่ ที่ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เพื่อจะไม่ให้เราเป็นคนอยู่นิ่งอยู่เฉย แต่ให้เป็นคนรู้จักใช้เวลาทุกนาทีของชีวิตให้เป็นประโยชน์ด้วยการกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็หมายความว่า อย่านิ่งอย่าเฉยอย่าปล่อยให้เวลาฆ่าเรา แต่เราต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เพราะเวลานั้นมันเที่ยวกินตัวมันเองและมันเที่ยวกินสรรพสิ่งทั้งหลาย จะเป็นสัตว์เป็นคนเป็นต้นไม้เป็นแผ่นดินหินจอมปลวกอะไรก็ตาม เวลามันย่อมเที่ยวเคี้ยวกินสิ่งเหล่านั้น ให้เปลี่ยนสภาพไปทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราอย่าให้อย่าได้ทำตนให้เป็นเหยื่อของเวลา แต่เราเอาเวลามาเป็นเหยื่อของเรา ด้วยการใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์
คนที่จะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นั้นจะต้องมีระเบียบในการปฏิบัติงาน ต้องมีกติกาสัญญาไว้กับตนเองว่า จะตื่นเวลาเท่าใด เวลาไหนจะทำอะไร แล้วก็ทำตามเวลานั้นทุกเวลานาที ไม่ให้เหลวไหล ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวไป จะพักผ่อนเวลาเท่าไร เมื่อตื่นขึ้นมาก็ทำตามสิ่งนั้นอีก วางระเบียบกันไว้อย่างนี้ เวลามันก็มีคุณมีค่ามีประโยชน์ ไม่เสียไปเปล่าๆ เขาก็ควรจะได้กระทำในรูปอย่างนั้น ขออย่าได้พูดว่าฉันไม่มีเวลาเป็นอันขาด คนที่พูดว่าไม่มีเวลานั้น ก็คือคนที่ไม่รู้จักเวลา ไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์จึงพูดออกมาเช่นนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเราสังเกตดู ชาติที่เขาก้าวหน้า มีความเจริญในชีวิตในการงานด้วยประการต่างๆ ประชาชนพลเมืองของเขานั้น เป็นผู้ที่รู้จักคุณค่าของเวลา เขาไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปแต่เขาจะทำทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานั้นๆในเรื่องนั้นๆอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเขาจึงเต็มไปด้วยงานและเขาได้สร้างสิ่งที่เป็นสาระเป็นแก่นสารไว้ในโลกนี้ เรื่องเล่นที่ไม่เป็นสาระไม่เป็นประโยชน์ขออภัยพูดเถอะ พี่น้องชาวไทยทั้งหลายนั้นยังมีเรื่องเล่นที่ยังไม่ได้เรื่องกันอยู่มาก ปล่อยเวลาให้มันสูญไปโดยไม่ทำอะไรที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสารมีอยู่ไม่ใช่น้อย ทำอะไรก็เฉื่อยชาไม่ตื่นตัวไม่ก้าวหน้า
อันนี้ผิดต่ออุดมการณ์ทางพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนว่องไวเป็นคนตื่นตัวเป็นคนก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ตื่นตัวว่องไวก้าวหน้า อย่างบัญญัติ๓ประการที่เราทั้งหลายควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นคนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา คอยบอกคอยเตือนตนอยู่เสมอว่าเราควรทำอะไร เราควรจะคิดอย่างไร เราควรจะใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์อะไรบ้าง คอยเตือนไว้ในรูปอย่างนั้น เราคอยบอกคอยเตือนตัวเราไว้อย่างนั้นแล้ว เราก็จะเป็นคนตื่นตัว เราจะกลายเป็นคนว่องไว จะกลายเป็นคนก้าวหน้า ในชีวิตการงานต่อไป ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราชาวไทยทั้งหลายจะต้องสำนึกในเรื่องอย่างนี้ แล้วจะต้องตื่นตัวขึ้นจะต้องว่องไวในกิจการงานต่างๆ แล้วจะต้องก้าวหน้าไปในสิ่งที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร ขออย่าได้ใช้ชีวิตในทางที่มันไม่เป็นสาระในเรื่องที่เหลวไหลไม่ได้ประโยชน์อะไรกันอีกเลย เพราะชีวิตของท่านมันเวียนไปตลอดเวลา ไม่เท่าไรท่านก็จะไปถึงป่าช้า แล้วร่างกายของท่านก็จะจมอยู่ในผืนดินมันไม่ได้เรื่องอะไรที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อชีวิตท่านมันแต่น้อยและไม่เป็นประโยชน์ต่อคนที่อยู่ร่วมกับท่าน ไม่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินที่ท่านอยู่อาศัย เราเกิดมาในแผ่นดิน กินอยู่บนแผ่นดิน หรือเอาประโยชน์จากแผ่นดิน เช่นได้อาหารได้เสื้อผ้าได้ที่อยู่อาศัย หยูกยาแก้ไขอะไรต่างๆเราได้มาจากแผ่นดินทั้งนั้น แต่ว่าเราไม่ทำอะไรเป็นเครื่องตอบแทนแก่แผ่นดิน อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นคนอย่างไร ก็เรียกว่าเป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณค่าสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตน เป็นคนอาเปรียบสิ่งต่างๆซึ่งตนได้รับประโยชน์อยู่นั้นแล้วไม่ให้แก่สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นคนใช้ไม่ได้เป็นโมฆะบุรุษไปด้วยเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราคิดได้ในข้อนี้ ทุกครั้งที่เราเดินอยู่บนแผ่นดิน จงเดินให้เป็นประโยชน์ ทุกครั้งที่เรานั่งก็ต้องนั่งให้เกิดประโยชน์ ทุกครั้งที่เราทำอะไรก็ต้องคิดว่าควรทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์เป็นบุญเป็นคุณเป็นค่าแก่ชีวิตแก่การงานของพวกเราทั้งหลาย ให้เราคอยสำนึกคิดอยู่ในรูปอย่างนี้ตลอดเวลา ชีวิตก็จะมีคุณค่าสมปารถนาอันนี้เป็นเรื่องที่ควรคิดไว้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งสำหรับเราภิกษุในพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้บวชเข้ามาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นทั้งหลายที่เขาเป็นผู้สนับสนุนเรา เราจึงควรจะได้คำนึงอยู่ตลอดเวลา ชีวิตเรามันเริ่มด้วยผู้อื่น อาหารจีวรเสนาสนะยาสำหรับแก้ไข้หรือเครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ตามที่เรามีเราได้อะไรอยู่นี้ มันมาจากชาวบ้าน เมื่อเราได้ฉันอาหารเขาอยู่ในเสนาสนะที่เขาสร้างเขาให้ หรือได้นั่งห่มจีวร หรือกินยาสำหรับแก้ไข้ เราควรจะนึกว่าส่งเหล่านี้เป็นหยาดเหงื่อหยาดแรงของญาติโยมทั้งหลายที่เขาได้มาด้วยความเหนื่อยยาก เขาอุทิศให้กับเราเพื่ออะไร เพื่อให้ศาสนา ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งมั่นสถาพรต่อไป เพราะพระศาสนาจะตั้งมั่นถาวรอยู่ได้นั้น ก็โดยมีบุคคลบางประเภทที่สนใจการศึกษาเข้ามาบวชในพระศาสนา บวชแล้วก็ต้องเรียนเรื่องพระศาสนา ต้องปฏิบัติกิจทางพระศาสนา ปฏิบัติกิจทางพระศาสนานั้นก็ต้องทำตนให้เป็นคนมั่นคงอยู่ในศีล มั่นคงอยู่ในสมาธิ มั่นคงอยู่ในปัญญา ทำสิ่งดีสิ่งงามให้เจริญให้เกิดขึ้นในจิตใจของตน ให้ตนพอใจในความเป็นอยู่ของตน ขณะใดที่ตนมองตนเองก็มองได้ด้วยความไม่ อิจหนา ระอาใจ มองแล้วก็มีความพอใจในศีลในสมาธิในปัญญาของตัว ในการไม่ด้างพร้อยในชีวิตของพรหมจารย์ อย่างนี้ก็เรียกว่าเราทำชีวิตให้มีค่า ทำชีวิตให้เกิดเป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเรา แก่ญาติโยมพุทธบริษัท
ผู้ใดที่ได้เข้ามาบวชเรียนในพุทธศาสนา จึงควรจะได้พิจารณาว่า ชีวิตเรานั้นเป็นชีวิตที่เนื่องด้วยผู้อื่น ทุกเวลานาทีของชีวิตเราจะต้องคิดต้องพูดต้องทำสิ่งที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร ไม่ควรเอาเวลาไปนั่งเล่น ไปฟังเพลงทางวิทยุ หรือไปดูภาพทางโทรทัศน์ที่ไม่เป็นสาระ ถ้าจะฟังก็ต้องฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ดูโทรทัศน์ก็ดูเฉพาะเรื่องที่มันเป็นประโยชน์ ทำให้เกิดปัญญาจะได้เอาไปใช้ในการสั่งสอนญาติโยมต่อไป หรือว่าจะทำอะไรก็ควรทำในสิ่งที่เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร ไม่ควรจะทำในสิ่งที่เหลวไหล เช่นการไปเที่ยวที่ไม่เป็นสาระ นั่งคุยกันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นสาระ อ่านหนังสือที่ไม่ได้สาระ ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทำให้เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะขึ้นในจิตใจ มันก็ไม่ได้เรื่องได้รสอะไร เราจะไม่ควรใช้ชีวิตในรูปนั้น แต่ควรจะใช้ชีวิตในเรื่องการศึกษา ให้เกิดปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา ใช้ชีวิตในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่องศีล ปฏิบัติในเรื่องสมาธิ เพื่อทำจิตใจของเราให้สูงขึ้น ให้พ้นจากอำนาจใฝ่ต่ำซึ่งเป็นตัวกิเลสทั้งหลาย ถ้าเราได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในแนวทางอย่างนี้ ชีวิตของเราเป็นคุณเป็นค่ามีประโยชน์ ผู้ไม่ประมาทในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะดำรงชีวิตเป็นพระก็ตามเป็นชาวบ้านก็ตาม ท่านมีหน้าที่ที่ท่านจะต้องกระทำด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจงทำหน้าที่นั้นอย่างชนิดที่เรียกว่า ฝากชีวิตจิตใจไว้กับงาน อย่าทำเล่นๆ อย่าทำสักแต่ว่าพอให้ผ่านพ้นไป แต่ว่าทำอย่างชนิดจริงจัง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเตือนไว้ว่า …… ถ้าจะทำก็ให้ทำจริงๆ …… พึงบากบั่นในงานนั้นให้มั่น คำไทยเราพูดว่า จับให้มั่นคั้นให้ตาย นี่เป็นคำที่เราพูดอยู่ในรูปภาษาไทย
เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำอะไรก็ตาม เรียกว่าทำอย่างจริงจัง อย่าทำอย่างหละหลวม เช่นเราเป็นข้าราชการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ถ้าถึงเวลางานก็ต้องทำงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเล่นๆ ทำไปคุยกันไปหรือว่าหลบเลี่ยงทิ้งงานไว้ หรือเวลาทำงานก็อ่านหนังสือพิมพ์เสีย ไปเขียนจดหมายถึงแฟนเสียบ้าง หรือว่าไปทำอะไร หรือว่าบางที่นั่งง่วงหลับไปเพราะเมื่อคืนนี้ไปเที่ยวดึกดื่น หรือไปนั่งล้อมวงเล่นการพนัน อันเป็นเรื่องที่เสียหายแก่ชีวิตแก่การงาน อันนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เพราะอาเปรียบประชาชน เพราะเราทำงานของประชาชน เราได้รับเงินเดือนจากภาษีอากรที่ประชาชนเขาอุทิศให้ เพื่อบำรุงประเทศชาติ เราก็ต้องทำงานอย่างจริงจัง ไม่ทำเล่น ถึงเวลางานก็ทำงาน ถึงเวลาพักก็ไปพัก แล้วตอนบ่ายก็ทำต่อไปจนกระทั่งหมดเวลา เมื่อเวลาหมดแล้วแต่ว่างานมันยังไม่หมดไม่สิ้น อย่าทิ้งไว้ทำเสียก่อน อุทิศชีวิตของเราให้แก่งานให้มากขึ้น อย่าเอาเปรียบงาน อย่าคิดแต่จะว่าหมดเวลาแล้วต้องเลิกงาน ถ้าทำงานต่อไปต้องมีเรื่องเงินเกินเวลา อย่างนี้ก็เรียกว่า คิดอะไรๆเข้าตัวมากเกินไป เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป ก็เป็นคนใช้ไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า …… มนุษย์ผู้มีปัญญาเอาปัญญามาใช้เพื่อประโยชน์ตนไม่สะอาด คนสะอาดนั้นต้องเอาปัญญาไปใช้เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของผู้อื่น การทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อความสุขของผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์เป็นเหตุให้เกิดความสุขให้เกิดความเจริญในชีวิตการงาน สังคมมนุษย์เราจะอยู่กันได้ก็โดยอาศัยที่เราทั้งหลายเป็นผู้มีน้ำใจเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ถ้าเราเป็นคนไม่เสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้วก็ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างเอารัดเอาเปรียบกัน การเบียดเบียนการข่มแหงกันเอง การมุ่งร้ายต่อกันก็จะเกิดขึ้น เมื่อการเบียดเบียนกันเกิดขึ้นแล้ว อะไรมันจะเกิดขึ้นต่อไป ผลก็คือความทุกข์ความเดือดร้อน สังคมไม่มีความสงบความสบาย เพราะเราทั้งหลายมัวแต่เบียดเบียนกัน ข่มแหงกัน เอารักเอาเปรียบกันด้วยประการต่างๆ ชีวิตของความเป็นมนุษย์ก็จะหายไป แต่ชีวิตของสัตว์เดียรฉานจะเข้ามาแทนที่ในชีวิตเรา จิตใจเราไม่เป็นมนุษย์ มันไม่สูง คือเป็นสัตว์เดียรฉานคือมันรู้ มันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำอะไรก็ด้วยอำนาจความโง่เขลา ความเป็นอยู่ก็จะไม่มีค่าไม่มีราคา อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากให้ท่านผู้ศึกษาธรรมะได้พิจารณาไว้เพื่อเป็นเรื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดความคิดความอ่านในทางสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณเป็นค่า เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ของพวกเราทั้งหลายตลอดไป ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ เราก็ต้องใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ของเราอย่างเข้มแข็งอย่างอดทนอย่างหนักแน่น เพื่อให้สิ่งทั้งหลายก้าวหน้าเป็นไปในทางที่เจริญงอกงามเป็นประโยชน์แก่ตนเป็นประโยชน์แก่ท่านตามสมควรแก่ฐานะ ผู้ใดได้คิดอย่างนี้ได้นึกไว้ในรูปนี้ ชีวิตของคนนั้นจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ
ชีวิตที่ประเสริฐคือชีวิตที่รู้จักใช้เวลาให้เป็นคุณเป็นค่าเป็นงานเป็นการ นั่นล่ะคือชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่อับเฉาคือชีวิตที่ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ตัวควรจะทำอะไรตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ชีวิตของผู้คนก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ ไร้แก่นสารไม่เกิดคุณเกิดค่าต่อตนต่อคนอื่น การอยู่ในรูปนั้นมันจะได้ประโยชน์อะไรที่ตรงไหน อันนี้ต้องฝากไว้ให้ญาติโยมได้พิจารณาในวันที่๑กุมภาพันธ์เป็นต้นไป เพื่อเราจะได้ทำตัวเราให้เป็นประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว เวลานั้นเป็นสิ่งมีค่า แต่ความมีค่ามันขึ้นอยู่กับงาน ถ้าเราไม่ได้ทำงานชีวิตมันก็ไม่ได้มีค่าราคาอะไร การรักความเป็นคนมีค่าของคนนั้นต้องรักกันที่งาน คือต้องดูว่าคนนั้นเขาได้ทำงานอะไรบ้าง เขาได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์กับใครบ้าง ถ้าเราเห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้ใช้ชีวิตเป็นงานเป็นการและทำชีวิตให้เป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ก็ควรจะยกย่องเชิดชูคนนั้นว่าเป็นผู้ที่อยู่ด้วยงาน อยู่ด้วยการเสียสละ อยู่เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
ชีวิตของพระศาสดาที่เราเคารพบูชาคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น พระองค์ได้ใช้ชีวิตของพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมแก่บุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราดูรายการปฏิบัติงานของพระองค์แล้ว ไม่มีหยุดนิ่งเลย ตื่นแต่เช้าทรงพิจารณาถึงสัตวรูปทั้งหลายว่าจะได้มีใครควรจะได้ไปโปรดไปสอนบ้าง และแล้วเสด็จออกบิณฑบาต การไปบิณฑบาตของพระองค์ก็เป็นงานอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการไปโปรดสัตว์ ไปสั่งสอนเอาธรรมะไปถึงคน ไปดึงคนเข้าหาธรรมะ นี่เป็นการไปบิณฑยาตได้อาหารมาได้อาหารมาแล้ว เวลากลางวันพระองค์ก็พบคนนั้นพบคนนี้ พูดจาแนะแนวทางชีวิตให้แก่เขา ตอนบ่ายก็สอนพวกภิกษุที่ได้มาอยู่ในสำนักของพระองค์ แนะแนวทางชีวิตให้เขาเข้าใจ ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร แก้ไขปัญหาต่างๆที่มีข้อสงสัยตลอดเวลาไม่มีการหยุดยั้ง พระองค์ทรงพักผ่อนไม่มากมายนัก แล้วก็ทรงตื่นขึ้นปฏิบัติงานต่อไปเป็นอย่างนี้ตลอดเวลาถึง๔๕ปี แม้นในเวลาที่พระองค์ประชวรหลับ ประทับบรรทมอยู่เหนือพื้นแผ่นดินใต้ต้นไม้สาระที่เมืองกุสินารา ก็ยังทรงปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของผู้อื่น ได้สนทนากับพระภิกษุสงฆ์มากมายหลายเรื่องหลายประการ ใครมาถามเรื่องอะไรก็ตรัสตอบให้ ผลสุดท้ายก็มีสุภัทรปริพาชกซึ่งได้ข่าวว่าพระองค์จะปรินิพพานแล้ว ก็รีบมาเพื่อจะถามปัญหา พระอานนนท์ชั้นแรกก็ห้ามไม่ให้เข้าไป แต่เมื่อข่าวนี้ไปถึงพระสูตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ได้กล่าวว่า อานนท์อย่าไปห้ามเขา เขาไม่ได้รบกวนอะไร คถาคต เขาจะถามข้อสงสัยปล่อยเขามาเถอะ สุภัทรปริพาชกก็ได้เข้าไปถามปัญหา ชั้นแรกก็ถามปัญหามากมาย พระองค์จึงกล่าวว่าเวลามันน้อยมันสั้น อย่าถามมากนัก แต่จงฟังเราจะพูดให้ฟังณบัดนี้ พระองค์ก็ทรงพูดให้ฟัง สุภัทรปริพาชกก็ได้เข้าใจในกลักคำสอนของพระสาสนา ขอบวชเป้นพระภิกษุสงฆ์องค์สุดท้ายของชีวิตของพระองค์ อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงทำงานตลอดเวลา แล้วเราลองคำนึงดูเถอะว่าผลงานที่พระองค์ทำไว้นั้น เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ชาวโลกขนาดไหน เป็นสิ่งมีคุณค่าขนาดไหน พระธรรมคำสอนของพระองค์ยังเหลือมาถึงพวกเราทุกวันนี้ยังไม่หมดไม่สิ้น แล้วเราทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ของพรองค์จะมานั่งนิ่งกันอยู่เฉยๆกันอยู่ทำไม เราจะต้องลุกข้นก้าวไปข้างหน้า ทำงานคามหน้าที่ของเราให้เกิดประโยชน์เป็นคุณเป็นค่า พระสงฆ์ก็ทำหน้าที่ตามแบบพระสงฆ์ อุบาสกอุบาสิกาทำหน้าที่ตามแบบอุบาสกอุบาสิกา อย่าได้อยู่นิ่งอยู่เฉยกันเป็นอันขาด แต่จงทำงานจงก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบตามแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปูไว้ให้เราได้เดินไป อันนี้เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่จะให้ญาติโยมทั้งหลายได้ศึกษาได้เข้าใจไว้
อีกประการหนึ่งชีวิตของคนเรานั้นเกิดมาอยู่ในโลกนี้เราต้องผจญกับปัญหานานาประการ เรียกว่ามีปัญหาในชีวิตประจำวัน ปัญหาเรานั้นเป็นเรื่องที่สั่งได้ ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าของเรา เป็นผู้แก้ปัญหาจนกระทั่งปัญหาที่เกิดขึ้นให้หายไปเพราะปัญญาปรีชาสามารถของพระองค์ แล้วก็ทรงสอนผู้อื่นให้กระทำอย่างนั้นด้วย ปัญหาสำคัญของชีวิตของเรานั้นอยู่ที่อะไรก็อยู่ที่ความทุกข์ความเดือดร้อนใจในชีวิตประจำวัน คนเราย่อมมีเรื่องทุกข์ใจมีความวิตกกังวล มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นเสมอ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องการงาน และปัญหาของประเทศชาติอันเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้เสมอ และเกิดขันจากใจ เกิดจากความคิดของคนที่อยู่ในชุมนุมชนนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากอะไรที่ไหนหรอก แต่ว่าเกิดจากความคิดของเราเอง ความคิดมันสร้างขึ้นมา เพราะเราคิดในเรื่องดีก็มี คิดในเรื่องชั่วก็มี คิดในเรื่องให้เจริญก็มี คิดในเรื่องเสื่อมก็มี คิดให้ร้อนใจก็มี คิดให้เย็นอกเย็นใจก็มี ทุกคนมีโอกาสคิดกันอยู่ทั้งนั้น การคิดมันเกิดจากอารมณ์ที่มากระทบ เพราะเรามีประตูที่จะรับสิ่งต่างๆเข้าสู่ร่างกายเราแล้วคือ เรามีตาสำหรับดูรูป มีหูไว้สำหรับฟังเสียง มีจมูกไว้สำหรับดมกลิ่น มีลิ้นไว้สำหรับลิ้มรส มีกายไว้สำหรับถูกต้องสิ่งที่มากระทบร่างกาย แล้วก็มีใจที่จะปรุงแต่งนึกคิดในเรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของคนคือชีวิตแห่งการปรุงแต่ง ชีวิตของคนคือชีวิตแห่งการคิดนึกเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าเราคิดนึกโดยไม่ได้ใช้ปัญญา มันก็เป็นปัญหามากขึ้น แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญา ปัญหาก็ลดน้อยลงไป เราควรจะเพิ่มปัญหาดีหรือลดปัญหาให้มันน้อยลงไปดี อันนี้ควรจะเป็นเรื่องที่จะได้คิดให้รอบคอบ เราควรจะคิดในแง่ที่ว่าไม่ควรคิดเรื่องเพิ่มปัญหา แต่ควรคิดจะลดปัญหาลงไป ลดสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในจิตใจของเราให้มันน้อยลงไป
เราอาจจะได้พบคนบางคนที่เจอหน้ากันก็พูดว่า แหมขัดใจจริงๆ ลำบากจริงๆ มีเรื่องมากจริงๆ พูดกับเราในรูปอย่างนั้น ทำไมเขาจึงได้พูดอย่างนั้น ที่เขาพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า เขามีความวุ่นวายใจ มีความหนักอกหนักใจในปัญหาชีวิตประจำวันของเขา และเขาไม่รู้จักปลงวางปัญหานั้น มีแต่ความหนัก หนัก หนักอยู่ตลอดเวลาไม่ปลงลงไปเสียบ้าง ไม่วางลงไปเสียบ้าง แล้วเรื่องมันจะจบกันได้อย่างไร คนเรามีความเขลาที่ไปเที่ยวไขว้คว้าสิ่งนั้นสิ่งนี้เข้ามาไว้ในใจของตน ไปยืดถือว่าเป็นของตนอยู่ตลอดเวลา ความยืดถือนั่นแหละมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ อยู่ดีมือว่างๆ ก็ไปจับสิ่งนั้นไปจับสิ่งนี้ จับของร้อนบ้างจับของที่เย็นบ้าง จับของแข็งบ้าง จับของอ่อนบ้าง จับของที่มันทำให้เปรอะเปื้อนบ้าง จับของที่ทำให้สะอาดบ้าง เราคอยจับคอยฉวยเอาของสิ่งนั้นสิ่งนี้ เข้ามาไว้ในกำมือของตนอยู่ตลอดเวลา เห็นเราก็มีปัญหามีเรื่องหนักใจ ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น และในเมื่อใจของเรามันหนักกายเราก็พลอยหนักไปด้วย ใจเรามันวุ่น อะไรๆในร่างกายก็พลอยวุ่นไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นในร่างกาย เช่นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เกี่ยวกับโรคตับโรคไต เกี่ยวกับหัวใจ เกี่ยวกับปอด เกี่ยวกับทางประสาท สมองไม่ดี มีอาการเปลี่ยนแปลงไปในรูปต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตของเราเหล่านี้ มันเกิดกับตัวใครก็เพราะคนนั้นเป็นผู้สร้างมันขึ้น เราอย่านึกว่าใครมาสร้างอะไรให้แก่เรา อย่านึกว่าคนนั้นคนนี้มาก่อเรื่องให้กับเรา มันไม่สำคัญหรอก คนอื่นไม่สำคัญ สิ่งภายนอกก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ใจของเราที่รู้จักฉวยสิ่งนั้นอามา ไปไขว้คว้าสิ่งนั้นอามาไว้ในชีวิตของเราเอง ถ้าเราไม่ไปจับฉวยมัน มันจะทำอะไรแก่เรา ของเปื้อนมันมีอยู่ แต่ถ้ามือเราไม่ไปจับมันมือเราจะเปื้อนได้อย่างไร ของร้อนมีอยู่แต่เราไม่ได้ไปจับมือเราจะร้อนขึ้นได้อย่างไร มันไม่ร้อนฉันใดใจเรามันก็เช่นเดียวกัน วัตถุต่างๆอารมณ์ต่างๆที่มากระทบเรานั้น ถ้าเราไม่จับฉวยไว้ เรารู้จักตัดทิ้ง รู้จักปล่อยรู้จักวาง สิ่งนั้นมันก็ไม่มีฤทธิ์พิษสงอะไร มันไม่ทำให้เราเกิดปัญหาเกิดความวุ่นวายขึ้นมาได้
แต่ว่าคนเราโดยปกตินั้นเพราะขาดการสศึกษาขาดการอบรมบ่มนิสัยในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เห็นอะไรก็ไปจับมาว่าเป็นของฉัน ได้ยินเสียงก็ไปจับเอามาไว้ ได้กลิ่นก็ไปจับเอามาไว้ ได้รสก็ไปจับเอามาไว้ มือไปแตะสิ่งใดก็นึกว่าเป็นของฉัน แล้วก็ไปนั่งนึกว่า ของฉันๆๆๆอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น คล้ายว่ามันเป็นของฉันขึ้นมาแล้ว ก็ไม่อยากให้ใครมาเอาของฉันไป เหมือนกับหนูน้อยอายุเพียง2ขวบ แกก็ยึดว่าอะไรก็เป็นของฉันทั้งนั้น ดูนกก็เป็นของฉัน ถามว่ามีอะไรของใครของแอร์ นี่กุฏิใครกุฏิแอร์ อะไรๆนี่รถของใครของแอร์ เด็กมันเริ่มยึดถือเข้าไปแล้ว นึกว่าเป็นของตัวเข้าไปแล้ว แต่ว่าเด็กมันอย่างนั้นพูดไปตามประสาเด็ก ไอ้ความยึดถือที่แท้จริงมันยังไม่มีเท่าไหร่ มันมีขึ้นบ้างบางครั้งบางคราว เกิดอารมณ์หวงแหนไม่อยากให้ใครเข้ามาแตะต้องสิ่งของตัว ถ้าใครเข้ามามักจะบอกว่าไปๆๆๆ เพราะไม่อยากให้เข้ามาแตะต้องในสิ่งนั้นๆ นั่นคือการเริ่มต้นของการยึดถือ เด็กมันยึดถือในสิ่งใกล้ตัว ยึดถือคุณแม่เป็นของตัว ยึดถือคุณพ่อเป็นของตัว ตุ๊กตาเป็นของตัว เสื้อผ้าเป็นของตัว อะไรๆก้เป็นของตัว ไอ้ความเป็นของตัวนี่มันค่อยๆกว้างออกไปๆๆจนกระทั่งว่าพอความเป็นของตัวนั้นมันมาหุ้มร่างจนมิดเลย ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปได้ คล้ายกับตัวไหมที่ชักใยหุ้มตัวเอง แล้วคนก็เอาตัวไหมนั้นไปต้ม ตัวไหมก็ตายแล้วก็สาวเส้นไหมนั้นมาเป็นเส้นด้ายทอผ้ากันต่อไปตัวไหมนั้นก็ตายไป แต่ตัวไหมที่ไม่ถูกต้มมันก็มีเหมือนกัน โดยถ้าไม่ต้มมันตัดรังออกมันก็บินปร๋อต่อไปมีชีวิตต่อไป
ตัวไหมตัวนั้นเป้นตัวที่ฉลาดมันออกมาได้ หรือลุกไก่มันถูกหุ้มไว้ด้วยกระเปาะฟองไข่ แล้วหุ้มไว้อย่างนั้นถ้ามันเติบโตขึ้นในกองไข่ มันก็จะเจาะฟองไข่นั้นออกมาได้ มันก็เป็นอิสระไม่ต้องอยู่ในฟองต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมครูของชาวเราทั้งหลายนั้น พระองค์ได้ทำลายฟองไข่แล้วออกมาดูโลกด้วยปัญญาเป็นพระองค์แรกในโลก แล้วมาดูโลกด้วยปัญญาด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ไม่ดูด้วยพระองค์เองเท่านั้น ยังอุตส่าห์มีความเมตตากรุณา ปรารถนาที่จะให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นได้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามสภาพที่เป็นจริงเหมือนที่พระองค์รู้พระองค์เห็นบ้าง แล้วจะได้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน จึงได้ไปเที่ยวสั่งสอนอบรมคนเหล่านั้นให้มีปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา นี่คือผลงานที่พระองค์ได้กระทำไว้ต่อมหาชนชาวโลกทั้งหลาย ซึ่งเราทั้งหลายควรดีใจที่เราได้พระศาสดาผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณาปราณีและเสียสละเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชาวโลกทั้งหลาย เราก็ควรจะเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ต่อไป อย่าเป็นคนใจคับแคบ อย่าเป็นคนเห็นแก่ได้ อย่าทำอะไรแต่เฉพาะของตัว แต่คิดว่าเรามีโอกาสช่องทางที่จะได้เจริญ จะได้เดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าในแง่กรุณาปราณี ในแง่ของการทำอะไรๆที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่คนอื่นได้บ้างหรือไม่ และถ้าเห็นว่ามีช่องทางที่จะทำได้เราก็อย่าชักช้า อย่าให้มันเสียเวลา จงกระทำสิ่งนั้นทันท่วงที เราก็มีชีวิตมีประโยชน์มีคุณมีค่าสมความปารถนา
ในแง่ความทุกข์นี่ก็เหมือนกัน เราต้องหมั่นตรวจสอบพิจารณาในสิ่งต่างๆตามภาษาธรรมะที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ เป็นศัพท์ เทคนิคอยู่ซักหน่อย โยนิโสมนสิการ ก็หมายความว่า พิจารณาโดยแยบคาย มองให้ลึกมองให้ซึ้ง แทงให้มันตลอดในสิ่งเหล่านั้น อย่ามองอะไรแต่เพียงผิวเผิน อย่าดูอะไรแต่เพียงเปลือกนอก แต่จะต้องมองจ้องดูจ้องคิดให้มันลึกลงไปว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร มันเกิดอยู่อย่างไรเป็นประโยชน์อยู่อย่างไร เป็นทุกข์เป็นโทษอยู่อย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด อย่างนี้เรียกว่ามองลงไปให้ลึก แทงให้มันตลอดในสิ่งนั้น ปัญญามันก็จะเกิดขึ้นกับบุคคลผู้นั้นเพราะการคิดการนึกโดยทางที่ถูกที่ชอบด้วยวิธีที่กล่าวมา นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาชีวิต โดยความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของเราทั้งหลาย ในการแก้ปัญหาชีวิตนั้นเราต้องตั้งฐานให้มันถูกเสียก่อน ฐานที่ถูกนั้นอยู่ที่อะไร อยู่ที่ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดของเขาเอง สิ่งทั้งหลายมันเกิดจากการผิดพลาดของเราเอง มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของดินฟ้าอากาศ หรือไม่ใช่อะไรๆทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นความผิดพลาดของเราเอง ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆเช่น ฤดูนี้เป็นฤดูที่มีอากาศหนาวเย็น แล้วกลางวันก็ร้อนนิดหน่อย คนมักเป็นหวัดกันในฤดูนี้ การเป็นหวัดนั้นไม่ได้เกิดเป็นเพราะอากาศหนาวร้อนอย่างเดียว แต่มันเกิดเพราะเราเผลอไปประมาทไป เราไม่ระวังรักษาร่างกายของเรา
เช่น ไม่ห่มผ้าให้เกิดความอบอุ่น ไม่ระมัดระวังตัวเมื่อกระทบอากาศเช่นว่ากระทบอากาศหนาวเร็วเกินไป กระทบร้อนเร็วเกินไป มันก็อาจจะทำให้เป็นหวัดได้ ร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไม่ทัน มันก็เป็นความบกพร่องของเราเพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงได้เกิดอาการเป็นหวัดขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้ว่ามันจะเกิดหวัดเราก็ห่อหุ้มร่างกายไว้ให้เกิดความอบอุ่นพอพียง ไม่ให้เกิดความเย็น และก็มียาอะไรจะทำให้เกิดความอบอุ่น เช่นยูคาลิปตัสหรืออะไรต่างๆเอามาทาให้เกิดความอบอุ่นที่หน้าอก ทาจมูกให้เกิดความอบอุ่นความร้อนข้นมา หวัดนั้นมันก็บรรเทาเบาบางลงไป มันเกิดขึ้นแก่เรานี่ก็เปรียบให้เห็นได้เป็นเรื่องของร่างกาย ถ้าเป็นความบกพร่องของเราในเรื่องเกี่ยวกับทางจิตทางวิญญาณ มันก็เป็นเรื่องความบกพร่องเหมือนกัน เช่นว่ามีชายคนหนึ่งมาด่าเรา ด่าเราว่า ไอ้ชาติชั่ว อะไรอย่างนี้ อันนี้เราก็เผลอไป ประมาทไป ขาดความระมัดระวัง ก็ไปรับเอาทันทีว่า ฉันเป็นคนชั่ว มันว่าฉันมันด่าฉัน เราไปรับมาอย่างนั้น รับเข้าอย่างนั้น เราก็เป็นทุกข์ เรามีความโกรธ มีความขุ่นเคืองต่อบุคคลนั้น อยากจะไปต่อยหน้ามันซักทีหนึ่ง นี่มันเป็นความผิดของใคร มันไม่ใช่ความผิดของคนโน้นหรอก คนโน้นเขาทำตามเรื่องของเขา เขาเกิดกิเลสเหมือนกัน กิเลสครอบงำจิตใจเขาแล้วเขาก็มาด่าเรา ถ้าเราไม่ยอมรับคำด่านั้น เขาว่าชาติชั่วเราไม่ได้ชาติชั่วตามเขาว่า เราจะไปรับของเขาทำไม เรานั่งเฉยๆทำอารมณ์ให้มันเย็นๆ แล้วพิจารณาว่า แหมน่าสงสารไอ้คนคนนั้นที่มันประมาทขาดสติขาดปัญญา ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิตใจ
แล้วมาพูดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแก่เราอย่างนี้ เราควรจะระวังไว้อย่าให้กิเลสประเภทนั้นมาเกิดแก่เราต่อไป เพราะถ้าเราเผลอไปประมาทไปพูดกับเขาเข้า กิเลสอันนั้นมันก็จะเกิดขึ้นแก่เรา การที่ปล่อยให้กิเลสเกิดข้นแก่เรานั้นก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้ความชั่วเกิดขึ้นในโลก เพิ่มคนชั่วให้เกิดในโลก ไอ้คนที่มาด่าเรานั้น มันก็ชั่วอยู่แล้ว เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ถูกกิเลสครอบงำอยู่แล้ว แล้วเราไม่ระวังตัวเราปล่อยให้ความชั่วนั้นเกิดแก่เรา ก็มีปริมาณความชั่วเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง แล้วก็เพิ่มคนชั่วขึ้นในโลกอีกคนหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการถูกต้องหรือ เป็นการสมควรรึ เราควรจะไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้น เราควรจะทำใจเย็นๆ ถ้าจะนึกก็นึกว่าเป็นเรื่องน่าขำ น่าหัวเราะ ที่คนๆนั้นเขาทำหน้าอย่างนั้น เขาแสดงกริยาผึงผังออกมาในรูปนั้น ถ้าเรามองอย่างนั้นเราคิดอย่างนั้น เขาเรียกว่าเร่ใช้ปัญญาเราใช้สติเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องอย่างนั้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นง่ายๆ ถ้ามันเกิดขึ้นที่เราเราไปรับมันเราไปปรุงแต่งมัน ไม่ใช่เกิดที่คนอื่น คนอื่นไม่ใช่ตัวการสำคัญไม่ใช่แฟคเตอร์ใหญ่ แต่แฟคเตอร์ใหญ่หรือตัวการสำคัญนั้น มันอยู่ที่ความคิดของเรา ที่การรับของเราด้วยความเผลอด้วยความประมาทแล้วมันจึงเกิดสิ่งนั้นขึ้นมา ถ้าเราไม่เผลอตัวไม่ประมาทเรารู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นๆ สิ่งนั้นก็ไม่เกิดความทุกข์แก่เรา
ในเรื่องอย่างนี้มันเป็นอยู่ที่เราทั้งนั้น สมมุติว่าเรามีอะไรอยู่ที่เป็นวัตถุเช่นมีนาฬิกา มีแหวนเพชร หรือว่ามีอะไรที่มีค่ามีราคา แล้วมันหายไป ถูกขโมยลักเอาไป เราเศร้าโศกเสียใจ เราโกรธไอ้ขโมยคนนั้นที่มาลักของเรา ถ้าพบหน้าก็อยากจะฆ่ามันเสียเลย นี่มันเป็นความผิดของใคร มันเป็นความผิดของขโมยที่มาลักของรึ มันก็เป็นเรื่องของขโมยเขาทำอย่างนั้น แล้วเขาคิดอย่างนั้น เขามีนิสัยอย่างนั้น หรือเขาไม่มีจะกินจะใช้แต่ไม่มีอะไรจะทำดีกว่านั้น มันเป็นคนโง่ มันมีความไม่ฉลาดเพียงพอจึงได้ทำอาการเช่นนั้นแล้วมันมาลักของๆเราไป ของๆเรามันถูกอาไปแล้ว แล้วเราจะมานั่งเศร้าโศกมานั่งเสียใจเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจมันถูกต้องไหม สมควรแก่ผู้มีปัญญาในฐานะลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบานแจ่มใสไหม ถ้าเราคิดว่ามันไม่ใช่ผู้รู้เสียแล้ว แต่กลายเป็นผู้ไม่รู้ มาใช่คนตื่นเสียแล้วแต่กลายเป็นคนหลับอย่างงมงาย ไม่ใช่ผู้เบิกบานเสียแล้วแต่กลายเป็นคนเหี่ยวแห้งร่วงโรย นี่มันสมควรแก่เรารึ ถ้าเราคิดได้เราก็ไม่โกรธไม่เคืองอะไร เพราะเรามองด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายมันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ เป็นของกลาง เรายืมมาใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ส่งคืนธรรมชาติไป แต่ถ้าบางทีเราไม่ส่งคืนก็ต้องมีคนมายืมต่อไปอีก มันก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างนั้น เราจะไปทุกข์ร้อนอะไร สิ่งใดเกิดแล้วเป็นแล้วก็ปล่อยไป อย่าเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าเรายังมีอะไรอยู่อีกก็ระมัดระวังต่อไป เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ไม่แต่งไปอวดพวกขโมยมากเกินไป บางคนมีแหวนเพชรเอามาสวมแล้วก็ยกมือบ่อยๆให้คนอื่นเห็น มีสายสร้อยก็สวม มีตุ้มหูก็เอาไปโปะให้มันอีรุงตุงนัง อวดเขา อวดให้พวกนั้นมันเกิดกิเลส มันก็มาจี้เอาไป เราไม่ควรมาโกรธคนที่มาจี้เอาของเราไป แต่ควรพูดกับตัวเองว่า แหมเรามันไม่รู้จักรักษาของ มีอะไรก็เอามาโปะไว้ที่ตัวทั้งนั้นแหละ เหมือนกับว่าตู้เพชรเดินไปตู้ทองเดินไป ไอ้พวกที่เห็นมันก็น้ำลายไหล มันก็อยากจะได้ ถ้าเรามันก็สมน้ำหน้าเสียแล้วที่เป็นคนโง่ไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ เพราะตัวเราแทนที่จะไปดูคนอื่นเราก็ดูตัวเราเสีย เรื่องมันก็ไม่ยุ่ง เหมือนกับคนสอนคน เช่นเป็นครูสอนศิษย์ พอสอนไปแล้วศิษย์มันทำไม่ถูก โกรธไปตีมันเข้า เลยเกิดอารมณ์หงุดหงิดอะไรว่าอย่างนี้ว่าอย่างโน้น เราไปดูเขาทำไมเราจะต้องไปดูเขา เราควรจะมองตัวของเราเองว่า เราทำถูกรึเปล่า เรามีวิธีสอนที่ทำให้เขาเข้าใจรึเปล่า รึเราสอนไปด้วยอารมณ์ เราไม่ได้คิดว่าคนที่มาเรียนเขาไม่รู้ ถ้าเขารู้เขาจะต้องมาเรียนทำไม มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใจเย็นใจสงบค่อยพูดค่อยจาแนะแนวให้เขาทำความเข้าใจ ถ้าเราไปสอนเขาด้วยความโกรธ เขาก็จะไม่นับถือเราผู้เป็นผู้สอน เพราะเราควบคุมตัวองไม่ได้ บังคับตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปสอนให้คนอื่นควบคุมตัวเองบังคับตัวเองได้อย่างไร นั้นก็เป็นความผิดของเราทั้งนั้น ไม่ใช่ความผิดของผู้อื่น
เพราะฉะนั้นจึงมีหลักง่ายๆที่เราควรจะได้พิจารณา เตือนใจไว้เสมอในเมื่อมีอะไรเกิดข้นแก่เราก็พูดกับตัวเองว่า ฉันเองเป็นผู้ผิด ฉันเผลอไป ฉันประมาทไป จึงได้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้น ถ้ารู้ตัวอย่างนี้แล้วเราไม่ต้องโกรธใคร ไม่ต้องไปเคืองบุคคลใด แต่เราควรจะรู้ว่าเรามันผิดในเรื่องนั้น ผิดแล้วอย่าไปผิดซ้ำลงไปอีก ให้รีบแก้ไขปรับปรุงระมัดระวังสิ่งนั้นต่อไปเหมือนเราเดินถลำล้ม วันหลังเราก้อย่าเดินถลำอีก เดินไปเหยียบตะปูก็ระวังอย่าไปเดินเหยียบอีก สิ่งใดจับฉวยมาแล้วมันร้อนใจมีทุกข์ไม่สบาย เราไปจับฉวยไว้ทำไม เราปล่อยได้เราวางได้คนเรามีสิทธิ์ที่จะปล่อย วางได้แต่เราไม่ค่อยจะใช้สิทธิ์อันนั้น เรากลับไปใช้สิทธิ์ยึดถือทำให้เกิดความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าการเข้าไปยึดถือนั่นแหละมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ปล่อยวางเสียได้เมื่อใดเราก็จะไม่มีความทุกข์ใจจากเรื่องนั้น ผู้ฉลาดจึงควรจะรู้จักปล่อยรู้จักวางรู้จักพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็คลายจากความทุกข์ได้ แต่ผู้ไม่ฉลาดผู้ไม่เข้าใจปัญหามักจะคิดยึดถือในเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าเป็นของตัวอยู่ตลอดเวลา กอดไว้ไม่ปล่อยไม่วางอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์เรื่อยไป อย่างนิทานที่เขาเล่าว่า มีคนไปกอดเสาไว้แล้วก็ถามว่าจะออกได้อย่างไร แต่ก็ไม่ปล่อยแล้วมันจะออกได้อย่างไร เพียงแต่อ้าแขนออกมันก็ออกแล้ว แต่ว่าเรากำอะไรไว้ล้าเราก็ไม่ปล่อยเพียงแต่อ้ามือออกมันก็หลุดหล่นออกไปแล้ว แต่เราไม่ทำอย่างนั้นนั่นเพราะความโง่ความเขลาในเรื่องปัญหาชีวิต เรามาศึกษาพระพุทธศาสนาเพราะเพื่อจะมาเอาไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเรา เพื่อให้เราอยู่อย่างเบาใจโปร่งใจสบายใจไม่หนักใจในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน เรามีหน้าที่แต่เพียงปฏิบัติเท่านั้น ปฏิบัติแล้วมันก็หมดเรื่อง ทำด้วยปัญญาไม่ทำด้วยความโง่ความเขลา เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเพราะสิ่งนั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดจึงขอญาติโยมทั้งหลายเอาไปใช้เป็นหลักพิจารณาเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ จะได้มีใจปล่อยวางไม่ต้องเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ดังที่ได้แสดงมาก็พอสมควนแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงท่านี้ ขออวยพรให้ญาติโยมทั้งหลายมีชีวิตสดชื่นรื่นเริงเพราะเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนทั่วกันทุกท่านทุกคนเทอญ