แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้วิทยาลัยครูได้นำนักศึกษาวิทยาลัย มาร่วมฟังด้วยแต่ว่าจะขึ้นมานั่งที่ห้องประชุมนี้ก็ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบเลยนั่งกันอยู่ตามใต้ต้นไม้ เป็นกลุ่ม เป็นกลุ่ม ขอให้นักศึกษาทุกคนที่นั่งฟังอยู่ตามสถานที่ต่างๆ นั่งฟังด้วยความตั้งใจ อย่าพูดอย่าคุยกัน ให้ใช้แต่ตาแต่หู ไม่ต้องใช้ปาก แล้วจะได้เรื่องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตต่อไป แล้วก็ทางคณะอาจารย์ที่นำนักศึกษามา ต้องการให้อาตมาพูดเรื่องคุณธรรมของครู เพราะฉะนั้นจึงจะพูดเรื่องเกี่ยวกับครู พวกเราทั้งหลายที่นั่งฟังอยู่นี้ก็เป็นครูเหมือนกัน พ่อแม่นี่เป็นครูทั้งนั้น เรียกว่าเป็นครูคนแรกของบุตรธิดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า มารดาบิดาเป็นครูคนแรกของบุตรธิดา บุตรธิดาจะได้รับอะไร ๆ จากพ่อแม่มาก รับรู้ในเรื่องอิริยาบถการยืน การเดิน การนั่ง การพูดการจา เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่า ลูกมักจะทำอะไรคล้ายพ่อคล้ายแม่ ถ้าลูกคนไหนใกล้แม่มาก กิริยาท่าทางก็เหมือนคุณแม่ ถ้าใกล้พ่อมาก กิริยาท่าทางก็เหมือนกับคุณพ่อ การพูดก็อย่างนั้น การเดิน การเหิน การนั่ง ทุกอย่าง ถ่ายแบบคุณพ่อคุณแม่ทั้งนั้น ท่านจึงเรียกว่าพ่อแม่นี่เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา เพราะฉะนั้นเราทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ได้ผ่านชีวิตการเป็นครูอบรมลูกมาทั้งนั้น เวลานี้ก็ยังเป็นครูอบรมหลานต่อไป ถ้าไม่แก่เกินไปและก็ไม่สิ้นลมหายใจ ก็ต้องเป็นครูสอนเหลนต่อไป เพราะว่าธรรมเนียมไทยเรานั้น มีลูกก็ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแล มีหลานก็เอามาฝากต่อไป มีเหลนก็เอามาฝากต่อไป คนแก่ ๆ ก็มีความสบายใจที่ได้อยู่กับลูกหลานเหลน ถ้าให้อยู่คนเดียวก็เหงา แต่ถ้าได้อยู่กับลูกหลานแล้วก็ รู้สึกว่าสบายใจ จึงได้ชื่อว่าทำหน้าที่ของครูอยู่ตลอดมา
ทีนี้ต่อมาก็เป็นครูที่โรงเรียน มีหน้าที่สั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ไม่ใช่สอนแต่เรื่องวิชาอย่างเดียว แต่ว่าสอนให้เป็นผู้มีความสามารถ ให้มีความประพฤติดีเป็นหลักรักษาจิตใจด้วย คนที่เป็นครูจึงต้องเป็นบุคคลพิเศษ ด้วยว่าไม่ใช่ว่าใคร ๆ จะเป็นครูสอนเด็กได้ทุกคนหามิได้ ต้องเป็นคนพิเศษ พิเศษอย่างไร คือมีความรักในการที่จะเป็นครูอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นครูสักแต่ว่าสอบเข้าที่อื่นไม่ได้ไปสอบเข้าครูดีกว่า แล้วก็ไปเรียนเพื่อจะเป็นครู เรียนไปตามเรื่องตามราว ไม่มีน้ำใจรักในการที่จะเป็นครูอย่างจริงจังแล้ว การเป็นครูนั้นก็จะไม่สมบูรณ์ จะกลายเป็นลูกจ้างรับสอนหนังสือไปเสียเท่านั้น ไม่ได้เป็นครูเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นครูที่จะเป็นครูอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีอุดมการณ์ประจำจิตใจ ตั้งแต่เริ่มต้น คือ ตั้งแต่เราเข้าไปวิทยาลัยครู เราก็มีความคิดเป็นพื้นฐานไว้ในจิตใจของเราว่า เราจะทำงานในหน้าที่ของครู เพื่ออบรมสั่งสอนเด็กน้อย ๆ ให้มีความรู้ ให้มีความฉลาด ให้มีความสามารถ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองของเราต่อไป อันนี้เรียกว่าตั้งฐานไว้ในใจก่อน ตั้งฐานไว้อย่างนั้น เพราะว่าฐานนี่มันสำคัญ ถ้าเราไม่มีฐานจะไปสร้างอะไรไม่ได้ เหมือนเราจะสร้างบ้าน ต้องมีดินก่อน ถ้าไม่มีดินเที่ยวแบกเสาอย่างนั้นแหละไม่รู้จะไปสร้างตรงไหน เพราะฉะนั้นคนที่จะมีบ้านต้องไปซื้อดินก่อน เมื่อซื้อดินได้แล้วจึงจะวางแผนว่าจะสร้างในรูปใด ต้องไปหาสถาปนิกให้ช่วยออกแบบ แล้วเอามาสร้างได้สมความตั้งใจ ฉันใดในชีวิตของเราที่จะไปเป็นอะไร เราจะต้องการเป็นครูนั้น มันเป็นงานพิเศษ เป็นงานที่สำคัญกว่างานใดๆ เป็นเล่นไม่ได้ ต้องเป็นกันอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งฐานสมมติไว้ในใจเสียก่อนว่า เราจะมีชีวิตเป็นครู เป็นอาจารย์เพื่อทำการสั่งสอนอบรมศิษย์ให้เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไปในกาลข้างหน้า อันนี้เป็นฐานที่เราจะต้องตั้งไว้เป็นเบื้องต้น
ครั้นว่าตั้งฐานไว้เช่นนี้แล้ว อะไรมันก็จะมั่นคงขึ้น เพราะเรามีความคิดที่เป็นพื้นฐานดีงามอยู่ในจิตใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ถ้าเราอ่านศึกษาตามเรื่องเรียกว่าเรื่องชาดก อย่าไปคิดว่าชาดกเป็นเรื่องอะไร แต่คิดเอาในแง่ที่เป็นประโยชน์ ก็จะเห็นว่าตัวเอกของเรื่องในชาดกนั้น ๆ มีอุดมการณ์มั่นคงอยู่เรื่องหนึ่ง คือต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้า มีความคิดที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามสังสารสาคร หรือว่าช่วยสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเสวยพระชาติเป็นอะไร พระองค์มีอุดมการณ์ประจำใจว่า เราจะเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นคติธรรม เป็นเครื่องที่แนะแนวทางชีวิตให้แก่เราทั้งหลาย ให้รู้ว่าเราจะต้องมีจุดหมายในชีวิตของเรา ไม่ใช่เราอยู่กันเฉย ๆ อยู่กันตามเรื่องตามราว มีอะไรมาปา (07.49 เสียงไม่ชัดเจน) ข้าวก็จัดไปตามเรื่องอย่างนั้นไม่ได้ เราจะต้องมีจุดหมายว่า เราจะเป็นอะไร เราจะทำอะไรในชีวิตประจำวันของเรา ในเมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่ามีจุดหมายในชีวิต คนไม่มีจุดหมายก็เที่ยวเดินเปะปะไปตามเรื่องตามราว พบอะไรเข้าก็จัดการกันไป แล้วก็เดินต่อไปเรียกว่าไม่มีจุดหมาย เดี๋ยวไปเหนือ เดี๋ยวไปใต้ เดี๋ยวไปตะวันตก ตะวันออก สุดแล้วแต่อารมณ์สิ่งยั่วยุจะชวนให้หันเหเข็มชีวิตไปในรูปต่าง ๆ อย่างนั้นมันไม่ดี จึงต้องตั้งเข็มไว้ในชีวิตของเรา ว่าเราจะเป็นอะไร เราจะดำเนินชีวิตในรูปใด โดยเฉพาะคนที่จะมาเป็นครู ก็ต้องตั้งเข็มไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ว่าเราเรียนเพื่อจะไปเป็นครู เป็นอาจารย์
การเรียนวิชาเพื่อจะไปเป็นครูนั้น เรียนเล่นก็ไม่ได้ ต้องเรียนจริงจัง เพราะเรียนเพื่อจะเอาไปสอนเขา ให้เขามีความรู้ เข้าใจ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ สุนทรภู่เขียนไว้ว่า เรียนอะไร เรียนให้รู้เป็นครูเขา จึงจะเบาแรงตนเร่งขวนขวาย อันนี้หมายความว่า ถ้าเราจะไปเป็นครูละก็ มันต้องเรียนจริงๆ จะเรียนภาษาไทย เรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ วิชาครูจิตวิทยา อะไร ก็ตาม ต้องเรียนให้รู้ชัด เข้าใจชัดในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง เพราะเราเรียนเพื่อจะเอาไปสอนคนอื่น เอาไปให้แก่คนอื่น การจะเอาอะไรไปให้คนอื่นนั้น เราต้องมีสิ่งนั้นเพียงพอ ถ้าเรามีสิ่งนั้นไม่เพียงพอแล้ว เราจะเอาไปให้เขาได้อย่างไร มันให้ไม่ได้ คือบางคนมีเหมือนกัน เรียกว่าเรียนก็สอบได้คะแนนไม่ค่อยจะดี แต่ว่าสอบผ่านมาได้ เวลาไปสอนเด็กก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อยเพราะความรู้น้อยไม่แตกฉาน พูดอะไรก็พูดได้เท่าที่รู้เท่านั้นเอง มันไม่แตกแขนงแตกกิ่งแตกก้าน เพื่ออธิบายให้เด็กเข้าใจ อันนี้ก็เพราะว่าบกพร่องในเรื่องการเรียน เรื่องบกพร่องในเรื่องการเรียนก็เพราะว่า เราไม่ได้ตั้งเข็มไว้ว่าเราเรียน เพื่อจะเอาความรู้นี้ไปสอนคนอื่น มันขาดหลักอันนี้ ถ้าเราเรียนด้วยตั้งหลักไว้ในใจว่าเรียนเพื่อเอาความรู้ไปสั่งสอนคนอื่นแล้ว การเรียนก็จะดีขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราอ่านหนังสือ ถ้าเราอ่านโดยคิดว่าอ่านแล้วจะเอาไปพูดให้คนอื่นฟัง การอ่านนั้นมันได้อะไรมากขึ้น แต่ถ้าเราอ่านเฉยๆ มันก็อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราจะไปสอนใครในเรื่องใด แล้วเราอ่านเรื่องนั้น เรื่องนั้นมักจะติดอยู่ในสมอง เพื่อเราจะได้เอาไปขยายให้คนอื่นรู้ต่อไปได้มาก
เพราะฉะนั้นนักศึกษาวิทยาลัยครูนั้น จะต้องมีความตั้งใจในการเรียนอย่างแท้จริง ต้องเรียนด้วยวิธีการของพระพุทธเจ้า วิธีการของพระพุทธเจ้าในเรื่องการเรียน เรื่องการทำงาน เรื่องการสร้างเนื้อสร้างตัว ใช้ได้หมด อันนี้ที่เรียกว่าเป็นยาหม้อใหญ่ก็ว่าได้ สำเร็จในกิจการทุกอย่าง ซึ่งในธรรมะเรียกว่าอิทธิบาท อิทธิบาทแปลว่าฐานแห่งความสำเร็จหรือว่าที่ตั้งแห่งความสำเร็จ ที่ตั้งแห่งความสำเร็จทางจิตใจนั้นมีอะไรบ้าง คือ ๑. ต้องมีฉันทะ หมายความว่ามีความพอใจในการที่เราจะเรียนวิชานั้น ๆ เมื่อมีความพอใจแล้วมันก็เกิดความสนใจในเรื่องนั้นมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องปลูกฉันทะให้เกิดขึ้นในวิชาทุกสาขาที่เราจะเรียน ประการที่ ๒. ต้องมีวิริยะ คือความพากเพียร ไม่ละวางในเรื่องที่เราจะเรียน จะเขียนจะอ่าน เรียกว่ามีความเพียรไหม ความเพียรเป็นเหตุให้เราพ้นทุกข์ เป็นเหตุให้เรามีความสามารถในวิชาการต่างๆ ประการต่อไปนั้น จิตตะ หมายความว่าเอาใจใส่ไม่ทอดธุระ ทำไว้ในใจเสมอว่าฉันเป็นนักเรียน ฉันมีหน้าที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน ฉันจะต้องเพิ่มปัญญาให้แก่สมอง เพิ่มความรู้เพิ่มความสามารถให้แก่ตัวเอง ฉันจะไปทำเรื่องอื่นซึ่งมิใช่เรื่องของการศึกษาเล่าเรียนนั้นมากๆ ไม่ได้ ทำได้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ต้องกลับมาสู่งานของฉันต่อไป อย่างนี้เรียกว่าเอาใจใส่ไม่ทอดธุระ จะไปไหน จะทำอะไรก็รีบไปรีบมา ไม่ชักช้าไม่ให้เสียเวลา เพราะเรามีงานที่จะต้องทำอยู่ที่หอพักหรือที่บ้านของเรามากมาย เรียกว่าเอาใจใส่อยู่อย่างนี้การเรียนจะก้าวหน้า และประการสุดท้ายวิมังสา หมายความว่าเรียนด้วยการจะวิจัยวิจารณ์วิเคราะห์ในเรื่องนั้นๆ คือคิดค้นหาเหตุหาผลในวิชาที่เราเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความเข้าใจนั้นมันไม่ลืม ถ้าเพียงแต่รู้ เพียงสัญญามันลืมได้ การเรียนอะไรต้องเรียนให้เข้าใจ ให้ไปอยู่ในใจของเรา ในสมองของเรา แล้วสิ่งที่เข้าไปอยู่นั้นไม่ใช่อยู่ในรูปทั้งดุ้นทั้งแท่ง แต่อยู่เพราะเราเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง การที่จะเข้าใจก็ต้องคิด เรียนไม่คิดมันไม่เกิดปัญญา แต่เรียนคิดเกิดปัญญา
หลักการเรียนมันต้องมุ่งไว้อย่างนั้นเพื่อให้เรามีความรู้เพียงพอที่จะเอาไปแจกแก่ลูกศิษย์ต่อไป ถ้าเราตั้งใจอย่างนี้สิ่งทั้งหลายก็จะก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี ครั้นเราเรียนอยู่ยังมีสิ่งที่เราจะเสริมให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราอีกบางประการเรียกว่าเป็นเครื่องเสริมเติมแต่ง ให้คนที่จะเป็นครูเป็นอาจารย์นั้นมีความเป็นอยู่ดีงามเรียบร้อยขึ้น คือจะต้องฝึกฝนตัวเองให้มาก ฝึกฝนในเรื่องอะไรบ้าง ในเรื่องการพูด ในเรื่องการแสดง กิริยาท่าทางที่เขาเรียกกันว่าบุคลิกลักษณะ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การแสดงออก กิริยาท่าทาง การแต่งเนื้อแต่งตัวของคนที่จะเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นเครื่องก่อให้เกิดความศรัทธาแก่เด็ก คือเด็กเห็นแล้วมันสบายใจ ถ้าแต่งตัวเรียบร้อยมีท่าทางสง่างาม พูดจาถูกต้องชัดถ้อยชัดคำ เวลานี้คนไทยพูดภาษาไทยไม่ค่อยถูกต้องมีมากเหลือเกิน แม้คนที่เอาไปพูดทางวิทยุ ทางโทรทัศน์พูดภาษาไทยไม่ชัด ไอ้ที่ไม่ชัดคืออักษรตัว “ร” กับตัว “ล” พูดไม่ชัดกันมากเหลือเกิน เช่นว่า “รุ่งเรือง” พูด ”ลุ่งเลือง” ไม่ได้ แต่พูดว่า “ลุ่งเลือง” “กำไร” พูดว่า “กำไล” อย่างนี้เป็นตัวอย่าง แสดงความบกพร่องของการฝึกฝนในเรื่องภาษา คือไม่ค่อยกวดขันเหมือนสมัยเป็นเด็ก ตั้งตัวน้อยๆ ไม่กวดขัน พ่อแม่ครูที่บ้านก็ไม่กวดขัน ลูกพูดผิดจนติดนิสัยเวลาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ไปเป็นรัฐมนตรี พูดภาษาไทยไม่ชัด เป็นอธิบดีก็พูดภาษาไทยไม่ชัด พูดภาษาอื่นไม่ชัดไม่น่าติเตียน แต่ภาษาไทยไม่ชัดนี่มันน่าติ เพราะภาษาของคุณพ่อคุณแม่ ของปู่ตาย่ายาย เอามาฟังคนพูดไทยไม่ชัดมันรำคาญ ถ้าคนจีนพูดไทยไม่ชัดก็ไม่ว่าอะไร ฝรั่งพูดไม่ชัดก็ไม่ว่าอะไร แต่ว่าลูกไทยแท้ๆ พูดภาษาไทยไม่ชัดนี่ มันรำคาญเหลือเกิน ฟังแล้วมันรำคาญใจไม่สบายใจ จึงใคร่จะขอฝากพวกเราที่จะเป็นครูทั้งหลาย ที่เป็นครูอยู่แล้วก็ดี ในวิทยาลัยครูต้องพยายามหัดพูดภาษาไทยให้ชัด เอานักเรียนครูมาอ่านหนังสือชัดๆ กันซะบ้าง แล้วให้พูดภาษาไทยให้มันชัดเจนแจ่มแจ้ง ฟังแล้วมันสบายใจ ถ้าพูดไม่ชัดแล้วมันผิดไปหมดเลย แล้วเด็กก็จะผิดต่อไปอีก ตัว “ร” กับตัว “ล” นี่อย่างหนึ่ง พูดไม่ค่อยถูกต้อง อักษรกล้ำนี่มันมักจะหายไป เช่นว่า “กล้าหาญ” ไม่พูดว่า “กล้าหาญ” แต่พูดว่า “ก้าหาญ” และคำว่า “ใคร” ไม่พูดว่า “ใคร” พูดว่า “ใค” มันผิดมากเหลือเกิน อ่านหนังสือก็ผิด พูดก็ผิด อักษรกล้ำ “ปลา” ไม่พูดว่า “ปลา” แต่พูดว่า “ปา” ไปซื้อ “ปา” ที่ตลาดสักหน่อย และไม่ว่า “ตลาด” ซะด้วย ว่า “ตลาด” (18.20) เสียด้วย แหมมันเลอะเทอะหมดอย่างนี้ พวกอักษรกล้ำนี่มันต้องพูดให้ชัด เช่นคำว่า ไกล ใกล้ กลาย กลุ่ง กลิ่ง เกาะแกะ (18.30) อะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นต้องเอาเลือกคำเหล่านี้มารวบรวมไว้ แล้วก็ให้หัดอ่านหัดพูด เช่น ตัว “ร” นี่ก็หามา รุ่งเรือง เร่งรีบ รีบร้อน รวดเร็ว อะไรต่างๆ เอามาพูดให้มันชัดๆ ชัดถ้อยชัดคำ อันนี้อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย มันเป็นความบกพร่องของคนในชาติ แล้วต่อไปจะเลอะเทอะกันใหญ่ พูดอะไรไม่ได้เรื่องได้ราว เวลานี้ในวิทยุไม่กวดขันแล้ว
สมัยก่อนนี้คนจะเอาไปอ่านทางวิทยุ เขาสอบ ถ้าพูดภาษาไทยไม่ชัดเขาไม่เอา แต่เวลานี้ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจ ถือพวกกันเป็นใหญ่ ลูกหลานของข้าส่งไปด้วยคนหนึ่ง แล้วไปพูดภาษาไทยไม่ชัดอันนี้เสียหาย จึงอยากจะขอฝากนักเรียนครูทั้งหลายไว้ ว่าให้ฝึกฝนในเรื่องพูดจาภาษาไทยให้มันชัดถ้อยชัดคำ จะได้รักษาอักขระวิธีของภาษาของเราไว้ ไม่ให้ใครดูหมิ่นดูแคลนได้ นี้ประการหนึ่ง เรียกว่าการพูดจา กิริยาท่าทางก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน เรียกว่าหัดเพิ่มพูนบุคลิกลักษณะ ลักษณะของคนนี่มันสำคัญ ยิ่งคนเป็นครูเป็นอาจารย์ยิ่งสำคัญมาก ท่ายืน ท่านั่ง ท่าเดิน ท่านั้น ท่านี้ มันต้องมีจังหวะ มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ไม่ลุกลี้ลุกลน ไม่หลุกหลิกต่อหน้าเด็กนักเรียน ไม่แสดงความอ่อนแอให้เด็กเห็น เช่นไปนั่งหลังคู้อยู่หน้าชั้น มันไม่ได้ แต่ครูต้องนั่งตัวตรง คอตั้งตรง อะไรๆ เรียบร้อย นี่เรื่อง กิริยาท่าทางต้องฝึก ต้องหัดทำสมาธิเสียบ้าง เอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ หัดนักเรียนให้นั่งสมาธิ เพราะการนั่งสมาธิต้องนั่งตัวตรง ถ้าไม่ตรงหายใจไม่สะดวก กำหนดลมมันก็ไม่ดี เพราะถ้านั่งตัวตรงหายใจดีนั้น มันก็จะเป็นเหตุให้ปอดของเราสบาย ผายลมได้สะดวก ทำให้เกิดสุขภาพทางร่างกายและสามารถควบคุมตัวเองได้ นั่งๆ เรียนก็ เอ้า! มานั่งทำสมาธิกันสักหน่อย ๕ นาที อะไรอย่างนี้ แล้วเด็กก็นั่งตัวตรงรู้จักควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยในการฝึกสมาธิน้อยๆ ให้เด็กนี่ เราจะเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ทำให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง บังคับตัวเอง การบังคับตัวเองได้มันเป็นเรื่องสำคัญ คนเราที่มันเหลวไหล เลอะเทอะกันมากมายนั้นเพราะอะไร เพราะไม่เคยหัดบังคับตัวเอง ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ ตามสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่พยายามที่จะบังคับตัวเองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันนี้มันเสียหาย คนเราจึงต้องหัดควบคุมบังคับตัวเอง
ในหลักธรรมะ ก็มีอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่าธรรมะ ธรรมะนี่หมายความว่ารู้จักบังคับตัวเอง เมื่อบังคับตัวเองแล้ว มันมีความอดทน มีความหนักแน่น ไม่อ่อนแอ ไม่แสดงกิริยาอ่อนแอให้ใครเห็น อันนี้ต้องฝึกเหมือนกัน วิทยาลัยครูเราต้องฝึกนักศึกษาให้เป็นคนที่รู้จักบังคับตัวเอง ควบคุมตัวเอง เดินเหินเรียบร้อยสวยงาม น่าดู อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะกวดขันสักหน่อย แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยกวดขัน เขาทำเฉยๆ กัน คือการแต่งเนื้อแต่งตัวไม่ค่อยจะเรียบร้อย ไม่เรียบร้อยตั้งแต่หัวลงไปทีเดียว หัวมันไม่เรียบร้อยอย่างไร ผมเผ้ารุ่มร่ามรุงรัง ไว้ผมยาวแล้วไม่ค่อยหวีค่อยสาง รูปร่างของผมบนหัวเหมือนเด็กเลี้ยงควายเสียเป็นส่วนมาก เอามานี่ (22.53) มันเด็กเลี้ยงควาย เมื่อสมัยเด็กๆ เด็กเลี้ยงควายมันไว้ผมอย่างไร มันไว้ตามธรรมชาติ เพราะสมันนั้นหวีมันไม่ค่อยจะมี แล้วก็น้ำมันมันก็ไม่มี อย่างดีก็มียางต้นกากระทิง กากระทิงตรงนี้ก็มี ลองไปจับยางกากระทิงเอามาใส่หัว วันไหนจะ …… (23.15) วันไหนเขาจะมีมโนราห์แต่งอะไรนะ ต้องแต่งตัวมันหรูหราสักหน่อย ก็ไปจับยางกากระทิง ต้นกระทิงเอามาถึงใส่หวีแสกตรงกลางเอาไว้ ๒ ข้าง ทำงอนไว้ที่หน้าผากสักหน่อย เหมือนกับเขาควายอย่างนั้น เรียกว่ามันรู้ …... (23.33) แล้วนะ วันนั้นว่าวันแต่งตัว มันก็วันเดียวเท่านั้นแหละ พอพ้นจากนั้นแล้วมันก็ปล่อยเป็นผมเป็นกะลาครอบเ ค้าเรียกทรงกะลาครอบอยู่ตลอดเวลา รุ่มร่ามรุงรัง ไอ้เรื่องบนหัวรุงรังมันไม่น่าดูนะ คนอื่นไม่เป็นไรหรอกแต่ครูอาจารย์นี่ ผมเผ้ารุ่มร่ามนี่มันไม่น่าดูแต่ว่าพูดไปแล้วมันขัดกับความนิยมของคนสมัยนี้เขา เพราะคนสมัยนี้เขาชอบรุ่มร่ามกัน ชอบไว้ผมยาวๆ เวลานี้นายกรัฐมนตรีก็ชักจะผมยาวขึ้นแล้ว ตั้งแต่เป็นนายกนี่เป็นทหารดูผมสั้นหน่อย แต่นี่ชักจะยาวขึ้นแล้วนะ เอาอย่างกันเพราะว่าคนอื่นเขาเป็นนักการเมืองผมยาว ท่านก็เลยชักจะยาวออกไปเหมือนกัน พอใกล้จะเกษียณแล้วเวลานี้ พอเกษียณแล้วผมคงจะรุ่มร่ามต่อไป มันก็ไม่สวยรุ่มร่ามอย่างนั้น โดยเฉพาะครูควรจะมีแบบของครู ตัดแบบผมสั้น ผมเกรียน หรืออะไรอย่างนั้น
เราอย่าเอาความงามไม่เข้าเรื่องบนหัวเลย จัดหัวของตัวยังไม่เรียบร้อย แล้วจะไปจัดอะไรได้ ญาติโยมลองคิดดู บนหัวของตัวนิดเดียวยังจัดเรียบร้อยไม่ได้แล้วจะไปจัดโรงเรียนได้อย่างไร จัดคนให้เรียบร้อยได้อย่างไร มันไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราปล่อยกันเกินไปเสียแล้ว แต่ถ้าไปบังคับเขาหาว่าเผด็จการอีกแล้วนะ มันต้องประชาธิปไตย ไอ้ประชาธิปไตยไม่เข้าท่านี่มันไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร มันต้องหวีผมให้เรียบร้อยเป็นตัวอย่างแก่เด็ก อย่าให้เด็กเอาตัวอย่างแบบผมรุ่มร่าม รุงรัง ทรงรากไทรบ้าง ทรงกะลาครอบบ้าง อะไรก็ไม่รู้ รุ่มร่าม แล้วบางทีแต่งเนื้อแต่งตัวเข้าไปในชั้นเรียน ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ใส่เสื้อสีฉูดฉาดบาดตาเข้าไปก็มี จะมีบ้างหรือเปล่าเคยพบอย่างนั้น เคยมีอันนี้ไม่ดี เราควรจะแต่งให้เป็นระเบียบเหมือนๆ กัน ถ้าครูคือเราต้องการฝึกเด็กให้มีระเบียบ ครูต้องทำตนให้มีระเบียบ ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ต้องมีระเบียบทั้งหมด ที่โต๊ะทำงานก็ต้องมีระเบียบ บริเวณโรงเรียนก็มีระเบียบ มันต้องจัดหมดทุกอย่างเลย จึงจะเรียบร้อย ที่จริงต้องควบคุมการแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดี ความจริงวิทยาลัยครูนี่ควรจะใช้ระบบโรงเรียน จปร. จปร.มันทหารนี่ เขาอยู่กินนอน ทหารเขาแต่งตัวอย่างไร เขาควบคุมอย่างไร เข้มงวดกวดขัน เพราะทหารนั้นต้องการระเบียบวินัย ฉันใดครูก็ต้องการระเบียบวินัยเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีระเบียบวินัยแล้ว ชาติประเทศมันจะไปไม่รอด ชาติใหญ่ๆ ที่เขาสร้างชาติ สร้างประเทศมาตั้งแต่เก่าก่อนนั้น ถ้าเราศึกษาประวัติของเขาแล้ว จะพบว่าเขาอยู่กันอย่างเข้มงวดกวดขัน มีระเบียบ มีวินัย เช่นคนชาติอังกฤษ ชาติเยอรมัน อะไรเหล่านี้ เขาอยู่กันอย่างมีระเบียบเหลือเกิน มีวินัยเข้มงวดกวดขันในที่ทุกหนทุกแห่ง ในบ้าน ในโรงเรียน บนถนน ในสังคมต่างๆ เขามีวินัยทั้งนั้น มีระเบียบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นชาติเขาจึงมั่นคง แพ้สงครามก็ไม่แพ้ ไม่แพ้เพราะอะไร เพราะคนในชาติมีระเบียบวินัย มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่ถ้าคนในชาติขาดระเบียบ ขาดวินัย ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง นั่นแหละอันตราย คนชาติอื่นมันกลืนได้ง่าย
การกลืนชาตินั้นเขากลืนอะไร กลืนความไม่มีระเบียบนั่นเอง พอไม่มีระเบียบวินัยแล้ว ชาติอื่นมันกลืนง่ายกลืนไปในทางวัฒนธรรม กลืนไปในทางภาษา กลืนในทางศาสนา เพราะนี่ก็ไม่มีอะไรเป็นของตัว จึงต้องมีการเพาะความนิยมในเรื่องอะไรๆ ที่จะให้เป็นตัวเอง ให้เป็นของในชาติมากขึ้น ในเรื่องอย่างนี้ก็ต้องฝึกฝน อบรมกันด้วยเหมือนกัน ในฐานะที่เป็นนักเรียนวิทยาลัยครู เพื่อให้เป็นครูที่ดีออกไปแล้วจะไม่เสียหาย นี่อย่างหนึ่ง ที่นี้เราเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูนี่ ต้องมีความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ชอบอยู่ตลอดเวลา คือต้องงดเว้นจากสิ่งเสพติดทุกประเภท คือให้ดีมันต้องงดเว้นหมดเลยสิ่งเสพติดนี่ เคยเห็นครูสูบบุหรี่หน้าชั้นนักเรียน ไม่ได้ เราจะไปสอนเด็กไม่ให้สูบบุหรี่ได้อย่างไร เมื่อเราไปสูบให้เด็กเห็น มันจะสูบอย่างนั้นไม่ได้ แล้วเวลาจัดแถวเด็กนักเรียนนี่ ครูเดินหนีบบุหรี่ ฉุย ไปเดินจัดแถว เด็กมันก็เห็น แหมครูนี่พูดดี หนีบบุหรี่สองนิ้ว แล้วสูบทำท่าเหมือนกับพระเอกหนัง เด็กมันเห็นภาพ มันก็อยากจะทำอย่างนั้นบ้าง มันเป็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะไม่ควรในกรณีเช่นนั้น ถ้าเรามันติดบุหรี่ก็ควรจะสูบเป็นเวล่ำเวลา ในห้องเรียนต่อหน้าเด็กไม่ควรสูบ คืออยู่ต่อหน้าเด็กไม่ควรสูบ ในโรงเรียนควรจะมีห้อง เขามีไหมห้องพักครู ห้องพักครูถือว่าเป็นที่รโหฐาน ไม่เปิดเผย พอเราเข้าไปในห้องพักก็แหมอัดสักหน่อย ถ้ามันอยากเต็มแก่ก็เข้าไปอัดในห้องพัก อัดเสร็จแล้วก็มาสอนเด็กนักเรียนต่อไป แต่ว่านึกดูให้ดีว่ามันได้อะไรบ้าง ที่เราเป็นทาสยาเสพติดมันได้อะไรบ้าง บางที่ติดมาตั้งแต่เป็นนักเรียน เป็นนักศึกษา พวกเธอที่เป็นนักศึกษาครูนี่ใครติดบุหรี่งอมแงมอยู่บ้างเวลานี้ คงมีไม่ใช่น้อย ติดมา ก็ได้ตัวอย่างมาจากคุณครูทั้งนั้น ไม่ได้มาจากไหน
ทีนี้เราควรจะหัดละหัดเลิก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เสพของมึนเมาทุกประเภท เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก ให้เด็กเห็นว่าครูของเรานี่ มีอะไรๆ เรียบร้อย เขาจะได้เอาเป็นตัวอย่าง ชีวิตครูนี่ควรจะเรียกว่าเป็นชีวิตครึ่งพระครึ่งชาวบ้าน อยู่อย่างครึ่งพระครึ่งชาวบ้าน พระที่ดีนะไม่ใช่พระประเภทเหลวไหล ครึ่งพระครึ่งชาวบ้าน เพราะว่าส่วนหนึ่งเป็นเหมือนกับพระ มีศีลมีธรรม มีข้อบังคับเข้มงวดขันเหมือนกับพระ แปลว่าชีวิตครึ่งหนึ่งนั้นเรายู่บ้าน เรามีครอบครัว มีความเป็นอยู่อย่างคนๆธรรมดา กัลยาณชน แต่ว่าจิตใจนั้นมีความเป็นพระอยู่ตลอดเวลา เพราะเราเป็นตัวอย่างแก่เด็ก การเป็นครูไม่ใช่เป็นแต่ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่เราจะต้องเป็นตลอดเวลา นอกชั้นเรียน ตามร้านกาแฟ เดินไปบนถนน ไปพบปะสมาคมกับใคร เป็นครูอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงชั่วระยะสั้นๆ ในหลวงของเราเสด็จไปประพาสอเมริกา แล้วก็ท่านพูดกับนักหนังสือพิมพ์ที่มาสัมภาษณ์ว่า พวกท่านนี่สบาย มาสัมภาษณ์เสร็จแล้วก็เขียน เขียนเสร็จแล้วก็มีอิสระไปไหนไปได้ ทำอะไรก็ได้ ฉันนี่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๒๔ ชั่วโมงนะ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๒๔ ชั่วโมง จะเลิกความเป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เป็น ๒๔ ชั่วโมงเลย จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะอยู่ที่ไหนต้องรักษาเกียรติของความเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังพระองค์ ในการประพฤติปฏิบัติเรื่องอะไรต่ออะไรทุกอย่างเลย เราเห็นในหลวงท่านทรงประทับนั่งอยู่เวลาไปแจกวุฒิบัตรหรืออะไร แจกปริญญาบัตรนี่ ท่านนั่งอย่างไร นั่งตัวตรงแหน๋วเลยทีเดียว เคลื่อนไหวแต่พระหัตถ์เท่านั้นเอง จะยื่นไปอย่างอื่นไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ท่านทรงนั่งอย่างนั้นตลอดเวลา นั่นคือการสำนึกว่าฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเทวดาโดยสมมติที่คนทั้งหลายเขามองกันตาเดียว ถ้าในหลวงประทับนั่งอยู่ตรงไหน คนร้อยคนก็มองไปที่ในหลวง พันคนก็มองไปที่ท่าน เพราะฉะนั้นท่านจะต้องนั่งให้คนเห็นว่าท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีความอดทน มีการบังคับตัวเองเป็นพิเศษ ท่านทรงกระทำอย่างนั้น
เราก็เหมือนกัน ชีวิตเป็นครูนี่ก็ต้องเป็นครูเรื่อยไป เพราะศิษย์ของเรามีทุกหนทุกแห่ง เราเดินไปไหน เดี๋ยวศิษย์ก็จะเห็นเข้า ถ้าเราเดินอย่างไร เราทำกิริยาอาการอย่างไร ศิษย์เขาเห็น เห็นแล้วเขาจะติได้ว่าครูทำอย่างนั้น ครูทำอย่างนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการต่างๆ จึงต้องมีการควบคุมบังคับตัวเองเป็นพิเศษ ครูจะต้องมีธรรมะ ๔ ประการเป็นพื้นฐานทางจิตใจ คือมีสัจจะ ความซื่อสัตย์ มีธรรมะการบังคับตัวเอง มีขันติความอดทนแล้วก็มีจาคะความเสียสละ นี่เป็นฐานที่ควรจะมีไว้ในใจทั่วกัน ที่ว่ามีความซื่อตรงนั้นซื่อตรงต่ออะไร ซื่อตรงต่อธรรมะแห่งความเป็นครู ต่อคุณธรรมแห่งความเป็นครู ความเป็นครูนั้นเป็นด้วยอะไร เป็นด้วยความหนักแน่น คนเป็นครูคือคนที่หนักหนักแน่น เป็นเหมือนกับหิน หินนี่มันแน่น มันหนัก มันเคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าไม่มีใครทำให้เคลื่อนไหวไป ครูเราก็ต้องเป็นคนที่เรียกว่าหนักแน่น เมื่อใดเราถามตัวเองว่าฉันเป็นอะไร ถ้าตอบว่าฉันเป็นครู การเป็นครูนั้นมันเป็นที่อะไร เป็นที่มีน้ำใจหนักแน่น อันนี้เรียกว่าเป็นหลักใหญ่ของคำว่าครู แล้วครูนั้นเป็นผู้นำ เป็นผู้นำในทางจิตทางใจของศิษย์ทั้งหลาย ผู้นำมัน ต้องตรง ต้องหนักแน่น ต้องตรง ต้องแน่วแน่ เพื่อให้ศิษย์ได้เดินตาม มีหลักการมีอุดมการณ์ที่ถูกต้องแน่วแน่ ให้ศิษย์ได้เดินตามไปด้วยความสะดวกสบาย เราจึงต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสิ่งนี้ ซื่อสัตย์ต่อความเป็นครู ซื่อสัตย์ต่อคุณธรรมของความเป็นครู แล้วก็เอาครูใหญ่มาเป็นตัวอย่างชีวิตของเรา ครูใหญ่ที่เป็นบรมครูของเรานั้นคือใคร คือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเคารพสักการะบูชานี้ ท่านเป็นบรมครูของพวกชาวโลกทั้งหลาย เราเป็นครูน้อย พระพุทธ พุทธเจ้าท่านเป็นครูใหญ่ ใหญ่อย่างยิ่งแก่เราทั้งหลาย เราก็ต้องมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า
ความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้านั้น ก็หมายความว่าซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นเนื้อเป็นหนังนะ ท่านเสด็จนิพพานไปเสียแล้ว เรายังมีอยู่แต่พระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมะ พระพุทธเจ้าที่เป็นองค์ธรรมนี่แหละ คือสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระอานนท์ท่านได้ทูลถามเรื่องนี้เหมือนกัน คือถามว่าเมื่อพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาได้เข้าเฝ้า ได้ฟังธรรม ได้ถือเอาพระองค์เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นที่พึ่งทางใจ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จนิพพานไปแล้ว พระองค์จะทรงตั้งใครให้เป็นผู้นำแทนพระองค์ต่อไป พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตั้งบุคคลให้เป็นตัวแทนพระองค์ เพราะเห็นว่าคนนี่มันจะยุ่ง คนในสมัยนั้นไม่ยุ่ง แต่คนในสมัยต่อมาอาจจะยุ่ง สับสนวุ่นวาย อาจจะเอาตำแหน่งของพระองค์ไปใช้ในทางที่หาประโยชน์ส่วนตัวก็ได้ ในทางวุ่นวายก็ได้ จึงไม่ทรงตั้งคนเป็นตัวแทน พระองค์ทรงตั้งอะไร พระองค์ทรงตั้งธรรมะ เพื่อ (36.59) จัดเป็นภาษาบาลีว่าอยู่คู่อานันทะ ธัมโมจยินนโย จ เจสิโตธรรมะ (37.01) บอกอานนท์เอ๋ย ธรรมะมีในอันใดที่เราได้สอนแล้วบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั่นแหละจะเป็นศาสดาแทนเราต่อไป ก็เท่ากับว่าพระธรรมนั่นเอง เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า ก็หมายความว่าเราซื่อสัตย์ต่อพระธรรม เรารักพระพุทธเจ้าเราก็รักธรรมะ คนที่มีความซื่อตรงต่อพระธรรมนั้น ย่อมไม่คิดในทางที่ผิด ไม่พูดในทางที่ผิด ไม่กระทำในทางที่ผิด ไม่คบหาสมาคมกับคนที่ผิด ไม่ไปในสถานที่มันผิดธรรม ชีวิตจะเรียบร้อยไม่วุ่นวาย ไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยประการใดๆ เพราะเราซื่อสัตย์ต่อธรรมะ เวลาเราจะไปไหน เราจะทำอะไร เราจะคบหาสมาคมกับใคร เราก็ต้องศึกษาพระธรรมเสียก่อน ศึกษาพระธรรมว่า คนๆ นี้เป็นคนอย่างไร เป็นคนดีหรือว่าเป็นคนเลว เป็นคนจูงเราลงนรก หรือว่ามันจะจูงเราขึ้นสวรรค์ เราจะไปในสถานที่นั้น สถานที่นั้นพระธรรมว่าอย่างไร เป็นสถานที่ควรไป หรือสถานที่ไม่ควรไป การกระทำอย่างนี้ ธรรมะว่าอย่างไร ทำแล้วจะเกิดทุกข์หรือทำแล้วจะเกิดสุข ทำแล้วจะเกิดความเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ทำแล้วจะได้เกียรติได้ชื่อเสียง ต้องศึกษาพระธรรม
การศึกษาพระธรรมนั้น ก็คือเราจะต้องเรียนพระธรรมให้รู้ไว้ เรียนธรรมะไม่ต้องเรียนมากมายอะไรหรอก เรียนในหนังสือนวโกวาทสักเล่มก็พอแล้วนะ นักวิทยาลัยครูควรจะเอานวโกวาทไปสอนครูด้วย สอนให้มันละเอียดตามหมวดธรรมนั้นๆ แล้วเราเอาธรรมเหล่านั้นแหละไปเป็นหลักเป็นกระจก เป็นแว่นสำหรับส่องทางชีวิต ส่องทางชีวิต โดยเฉพาะในตอนตายของโลก (39.28) ที่เรียกว่าวิธีปฏิบัติ คือการปฏิบัติของชาวบ้านผู้มีความสัมพันธ์กับใครต่อใคร เรามีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์เพื่อนฝูงมิตรสหาย พระสงฆ์องค์เจ้า เราควรจะประพฤติกันอย่างไร พระองค์วางไว้เรียบร้อยแล้ว วางหลักไว้เรียบร้อย จะทำต่อพ่อแม่อย่างไร ต่อครูอาจารย์เราอย่างไร ต่อเพื่อนของเราอย่างไร ต่อนายงานของเราอย่างไร ต่อใครอย่างไร วางไว้ละเอียดเวลาเราจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับใคร หยิบหนังสือนั้นมาอ่านดูเสียหน่อย เช่นจะคบคนนี่นะ คนนี้จะเป็นยังไง ถ้าเป็นมิตรชั่วมันมีลักษณะอย่างไร มิตรดีมันมีลักษณะอย่างไร ธรรมะบ่งบอกให้เราเข้าใจ เป็นแว่นแก้วที่ให้เราได้ส่องให้มันละเอียด เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ในเรื่องอื่นๆอีก ก็มีหลักธรรมะ เอามาเป็นเครื่องประกอบ เราเป็นคนซื่อต่อธรรมะ ศึกษาธรรมะ เอาธรรมะเป็นมิตรเรือนเป็นมิตรในเรือนใจของเรา เป็นเพื่อนแท้ของเรา เป็นที่ปรึกษาในเรื่องชีวิตของเรา อย่างนี้เรียกว่าเราซื่อสัตย์ต่อพระธรรม คนมีความซื่อสัตย์ต่อพระธรรมนั้น ไม่ปล่อยตัวไม่ปล่อยใจให้ไหลไปตามสิ่งชั่วร้าย หรือว่าสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เพราะสิ่งนั้นมันขัดต่อหลักธรรมะ เราก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเพียงเท่านี้จะเอาตัวรอดหรือไม่ ลองพิจารณา ถ้าลองพิจารณาว่าถ้าเราเป็นคนซื่อสัตย์ต่อพระธรรม จงรักภักดีต่อพระธรรมแล้ว เราไม่มีเผลอออกไปนอกทางเป็นอันขาด เราละอาย เรากลัว เราไม่ทำอะไรที่จะเป็นการขัดขืนต่อธรรมะ อันเป็นการขัดต่อคำสั่งของพระพุทธเจ้า เรารักพระพุทธเจ้าเสมอด้วยชีวิตจิตใจของเรา เรามีพระอยู่ในใจตลอดเวลา นั้นแหละจะช่วยเราให้พ้นภัย จะให้เราเป็นอะไรสมบูรณ์ เช่น เป็นครูสมบูรณ์ เป็นพ่อสมบูรณ์ เป็นแม่สมบูรณ์ เป็นสามีสมบูรณ์ เป็นภรรยาสมบูรณ์ มันอยู่ที่ธรรมะเท่านั้น ถ้าขาดธรรมะแล้วมันเป็นอย่างนั้นแหละ เป็นอย่างกะพร่องกะแพร่ง ไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีหลัก คือความซื่อสัตย์ต่อพระธรรม เป็นเรื่องสำคัญไว้หน้าที่ของเราก็คือธรรมะเหมือนกัน
ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ต่อธรรมะแล้ว เราทำหน้าที่เรียบร้อย ไม่มีใครจะติจะว่าเราได้ในเรื่องหน้าที่ว่าบกพร่อง ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อพระธรรมคือหน้าที่ หน้าที่ก็เป็นธรรมะแล้วก็สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปด้วยดี นี้ประการหนึ่ง ประการต่อไปต้องหัดบังคับตัวเองให้อยู่ในระเบียบ ในวินัยไว้เสมอ กฎอันใดระเบียบอันใดที่ตั้งขึ้นแล้ว ต้องพยายามปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัด คนเรามันจะเป็นคนสมบูรณ์ได้ ก็เพราะมีการบังคับตัวเอง ถ้าไม่มีการบังคับตัวเองแล้ว ความสมบูรณ์มันไม่ดี มันจะบกพร่องด้วยประการทั้งปวง ไอ้คนที่บกพร่องหนองยุ่งทั้งหลายอยู่ในสังคมนั้น มันเรื่องนี้แหละ เรื่องไม่ควบคุมตัวเองไม่บังคับตัวเอง ไหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบ รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัสที่มาถูกตาหูจมูกลิ้นกายใจ แล้วก็ไหลไปตามอารมณ์เหล่านั้น ฟุ้ง (43.16) อยู่ตลอดเวลาไม่มีการควบคุมบังคับตัวเอง อยากจะดื่มก็ไปดื่ม อยากจะเที่ยวก็ไปเที่ยว อยากสนุกก็ไป ไม่มีการคิดว่าไปทำไม ไปแล้วมันได้อะไร ไปแล้วมันดีขึ้นหรือว่าไปแล้วมันเลวลง มันเสื่อมลง เราไม่คิด ไม่ได้พิจารณาในเรื่องอย่างนั้น แล้วก็ไม่ควบคุมตัวเองไว้ ว่าอย่าไป อย่าทำสิ่งนั้น สิ่งนี้จึงไหลไปจนเสียผู้เสียคนอย่างน่าเสียดาย คนที่เสียผู้เสียคนก็เพราะว่าไม่มีการบังคับตัวเอง แต่ถ้าคนใดหัดควบคุมตัวเองไว้ ครั้งแรกมันลำบากสักหน่อย เพราะมันฝืนธรรมชาติฝ่ายต่ำ แต่ถ้าเราทำกันไปบ่อยๆ ผลที่สุดเราชินกับการบังคับตัวเอง แล้วจะไม่หนักใจ ไม่ลำบากอะไรเหมือนกับพระบวชใหม่ บวชเข้ามาใหม่ๆ นี่ เฮ้อ! ลำบาก ยืดมือยืดเท้าก็ไม่ได้ เป็นอาบัติไปหมดเลย ลำบากเดือดร้อน แต่ว่าพอทำไปๆ ชิน ชินแล้วมันก็สบาย พอสบายแล้วก็เหมือนกับไม่บังคับ เพราะมันเป็นธรรมดาเสียแล้ว มันสบาย ครอบครัวใดมีระเบียบมาก ครอบครัวนั้นเป็นสุข สังคมใดมีระเบียบมาก สังคมนั้นก็เป็นสุข ประเทศชาตินี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนในชาติมีระเบียบ มีการบังคับตัวเองสม่ำเสมอแล้ว นักโทษมันน้อย อาชญากรรมมันน้อย เพราะว่าทุกคนไม่ตามใจตัวเอง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจสิ่งยั่วยุ ความชั่วมันก็ไม่มี หลักการมันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นครูเรานี่จะต้องมีการควบคุมตัวเองให้ดีเป็นพิเศษ ประการต่อไปครูต้องมีความอดทนให้มาก งานครูนี่มันหนักนะ ไม่ใช่เบานะ อาตมานี่เคยเป็นครูมาแล้ว เป็นครูใหญ่ เป็นครูน้อย เป็นภารโรง …… (45.24) ๓ ตำแหน่ง เพราะว่ามันคนเดียว สอนคนเดียว นักเรียน ๓ ชั้น ป.๑ ป.๒ ป.๓ อยู่ในที่แคบๆ ไม่กว้างขวางอะไร โรงเรียนมันกว้างสัก ๕ เมตร เท่านั้นเอง มันยาวก็ประมาณสัก ๗ เมตรแค่นั้น แล้วก็มีฝาห่างๆ ตีลูกกรงไม่ให้ควายเข้ามาเรียนด้วยเท่านั้นเอง แล้วก็สอนกัน ๓ ชั้นเลย ประเดี๋ยวสอน ป.๑ ป.๒ ป.๓ ก็ได้ยินนั่นแหละ สอน ป.๒ ไอ้ ๑,๓ ก็ได้ยินแหละ สอน ป.๓ ไอ้ ๒,๑ มันก็ได้ยินด้วยนั่นแหละเพราะมันสอนทุกป.นะ (45.59) เรียกว่าเรียนเข้าไปในตัวแล้วเดี๋ยวก็เด็กมีเรื่อง ประเดี๋ยวครูครับไอ้เด็ก ป.๒ (46.06) มันตีผมครับ เดี๋ยว ไอ้นั่นรังแกผมฮะ เอ้อ! ต้องเป็นผู้พิพากษาด้วยคอยตัดสิน คอยดุ คอยว่า เฮ้อ! มันวุ่นวาย สับสน ชีวิตของครูนี่ต้องเป็นชีวิตที่มีความอดทนเป็นพิเศษ เพราะเด็กๆนั้นมันไม่เหมือนผู้ใหญ่ นิสัยใจคอก็อย่างนั้นแหละ เด็กไปตามเรื่องตามราวเราจะต้องคอบควบคุม แนะนำ พร่ำเตือน ให้เด็กเกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี ทนต่อสิ่งยั่วยุ ทนในการที่จะพูดจะสอน ถ้าเราทนไม่ได้เดี๋ยวใจร้อน พอใจร้อนขึ้นมาเด็กทำผิดฟาดเปรี้ยงเข้าให้ ไม้บรรทัดลงบนหัวบ้างลงตามเนื้อตามตัวบ้าง เดี๋ยวเดือดร้อนแหละ เด็กไปบ้านมีแผลช้ำไป คุณแม่เห็นแล้วทำไมแผลช้ำ ครูตีหนู เอาแล้ว แม่สมัยนี้ไม่ได้นะเห็นอย่างนั้นแหละ แหวมาเลยทีเดียวฉันเป็นแม่ยังไม่เคยตีเลย ครูทำไมมาตีลูกฉัน มันผิดกับพ่อแม่สมัยก่อนเลย พ่อแม่สมัยก่อนเอาเด็กไปฝากวัดนี่ สั่งเลย เอ้า! ตีให้มันแรงๆ นะหลวงพ่อ อย่าไปฟังอย่าไปอ่อนกับมัน แหนะ สั่งให้ตีซะด้วยนะ เอาไปฝากครูก็สั่งครู ตีให้เต็มที่เลยครู สมัยก่อนชอบตี เฆี่ยนกันจนหลังลายเป็นแนวเลย ครูสมัยก่อนเค้าไม่ว่า ตีแล้วมีแผลกลับมาบ้าน พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร รักษาไปตามเรื่องเพราะว่ามันซุกซนนี่ ต้องเฆี่ยนต้องตี เดี๋ยวนี้ไม่ได้หรอกพ่อแม่เค้าหวงสิทธิ์ของเขามาก เพราะฉะนั้นครูเราก็ต้องอดทนเป็นพิเศษเวลาเด็กทำอะไรก็ต้องใจเย็นๆ ต้องควบคุมตัวเองให้เย็นไว้ ค่อยพูดค่อยจา อย่าแสดงอาการโกรธ หุนหันพลันแล่น ใจร้อนใจเร็วแต่ …… (48.00) ถ้าทำอย่างนั้นมันก็เสียหาย เพราะเด็กสมัยนี้ถ้าเราทำแรงๆ เดี๋ยวมันชวนกันเดินขบวนไล่ครู หาว่าครูรุนแรง อย่างนี้มันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเย็น ค่อยพูดค่อยจา ใช้ความเย็นน้ำเย็นเข้าลูบน้ำร้อนไม่ได้ทำให้ผิวหนังแสบ ต้องเอาน้ำเย็นค่อยๆลูบ เรียกมาพูดมาสอน คนไหนไม่ค่อยเรียบร้อยเอามาพูดทีละคน ค่อยพูดค่อยจาเอาความรักความเอ็นดูอวด เด็กมันก็จะรักเรา สงสารเรา สงสารครูไม่อยากให้ครูเดือดร้อน เลยมันคิดเรียบร้อยนี่ชนะด้วยความอดทน ด้วยความดี เราชนะได้ อย่างนี้อยู่สบาย ความอดทนมันเป็นเครื่องประดับของนักศาสตร์ เป็นเดช เป็นอำนาจเป็นเครื่องเผาผลาญความชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ เราจึงต้องฝึกข้อนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น
การเล่นกีฬานี่มันเล่นเพื่ออะไร นั่นแหละเขาฝึกความอดทนกัน เล่นกีฬานี่ฝึกความอดทน ฝึกความหนักแน่น ฝึกความใจเย็น ให้คนทุกคนมีความอดทน มีความหนักแน่น มีความสงบเยือกเย็น รู้จักใช้ปัญญา คิดปัญหาว่าเราจะแก้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเอาชนะมันได้ นี่เป็นเรื่องฝึกทั้งนั้นแหละแต่ว่าไม่ค่อยจะได้ฝึกเท่าใด เล่นเพื่อจะเอาชนะท่าเดียว ถ้าแพ้ ฟุตบอลแพ้แต่คนไม่แพ้ เอ้า! ยกไปเล่นกันนอกสนามไม่มีกรรมการ ต้องใช้ตำรวจเป็นกรรมการ เชิญไปโรงพัก พ่อแม่ก็เดือดร้อนวุ่นวายกันมากต่อไป อันนี้ แสดงว่าเราไม่ถึงสปิริต (49.50) ของกีฬา ที่เค้าร้องว่า กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน แก้กิเลสนี่ กีฬานี่เขาเล่นแก้กิเลส ทำคนให้เป็นคน ความจริงท่านจะว่าทำคนให้เป็นมนุษย์นะ แต่มันไปไม่รอดถ้าเป็นมนุษย์แล้วไม่รู้จะเขียนต่ออย่างไร มันเรื่องอุด เรื่องหลุด เรื่องมุด นี่มันไปไม่ได้ แต่มันตาย กลอนมันตาย เลยต้องให้เป็นคน เล่นกีฬาสากล ตาละลา ตาละลา มันสบายหน่อย แหม ถ้าว่าเป็นมนุษย์ มันจะตายย่างไร ไม่ได้ ความจริงนั้นมันหมายความว่าให้เป็นคน คนสมบูรณ์ คนมีคุณธรรม คนที่มีความอดทน มีความเยือกเย็น มีไหวพริบในการที่จะแก้ปัญหา ถูกเพื่อน …… (50.39) นิดหน่อยไม่เป็นไร พอเพื่อนตินอกนิดหน่อย เฮ้ย เรื่องนิด เรียกว่าอดได้ทนได้ ไม่มีอะไร คนเราไปไหนถ้าอดทนแล้วไม่มีเรื่อง ไอ้ที่ไม่ทนมันจึงมีเรื่องกันนั่นแหละ คนไทยเรานี่ยังคนน้อยต่อเหตุการณ์ต่างๆ มีอะไรเกิดขึ้นมักจะเหเข้าใส่กันตลอดเวลา เลยเกิดเรื่อง เลยเกิดเรื่องตีกัน ต่อยกัน ไม่เย็น คนอินเดียนี่อดทนมาก ใจเย็น มีเรื่องอะไรก็มาเถียงกัน เถียงกันเอามือชี้ ชี้เข้าไปเฉียดเหลืออยู่สักเซ็นต์เดียวจะถึงจมูก แต่ไม่ถึง ชี้ตรงนั้นเขาชี้มาเราก็ชี้ไป มันเถียงกันอยู่ได้ตั้งชั่วโมงมันไม่ต่อยกันแหละ คนไทยไม่ถึงสองนาทีก็เปรี้ยงเข้า
นี่แสดงว่าจิตใจมันผิดกันนา คนอินเดียมันเยือกเย็น คนอินเดียมันซื่อสัตย์ด้วย เยือกเย็น ไอ้เรามันกินเหล้าไม่ได้กินนิดๆนะ กินเหล้านี่ใจมันร้อนแหละ เอะอะมะเทิ่ง เอาเรื่องแหละ คนโบราณเขาว่ากินเหล้าว่าเออว่ะ (51.47) พอกินเหล้า …… (51.49) ทั้งนั้น การพูดการจาเดี๋ยวก่อนจะนอนนี่กัญชา ซึมๆ เซื่องๆ มันไปไม่รอดกัญชานี่สู้ไม่ได้พวกฝิ่นก็เหมือนกัน ฝิ่นก็สูบแล้วง่วงจะนอนท่าเดียวแต่ว่าใบกระท่อมเอาทั้งนั้น เรื่องหาบเรื่องคอน เรื่องยก เรื่องแบก เก่งไอ้พวกเมาๆ เหล่านี้มันไม่เหมือนกัน เมาเหล้าอย่าง เมากัญชาอย่าง เมาฝิ่นอย่าง เมาใบกระท่อมก็ไปอย่างหนึ่ง มันเป็นอย่างนั้น คนอินเดียเค้ามันไม่มีสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเขาเรียบร้อย ชีวิตสงบ ขับรถช้าๆ ใช้แก๊สโซล่า (52.27) ยิ้มๆ เคี้ยวหมาก แยบๆ ไปเรื่อยไป ใจเขาเย็น พี่ไทยเรามักจะใจร้อน ต้องหัด โดยเฉพาะครูนี่ต้องใจเย็นเป็นพิเศษ ก็คืออดได้ทนได้ อดได้ทนได้นี่มันต้องลึกเข้าไปในจิตใจ ต้องมีคุณธรรมเป็นในใจว่า นิดหน่อยไม่เป็นไร ให้อภัยกันดีกว่า เราท่องคาถานี้ไว้ นิดหน่อยไม่เป็นไรให้อภัยกันดีกว่า แล้วมันก็สบาย ถ้ามีคาถาป้องกันไว้ เพราะฉะนั้นหลักมันมีขึ้น ประการสุดท้ายครูเราต้องฝึกฝนให้เป็นคนเสียสละอย่าคิดถึงเรื่องที่เราจะได้ คิดแต่เรื่องที่เราจะให้ เรื่องจะให้ เรามาเป็นครูนี่เรามาให้นะ ไม่ใช่มาเอา ถ้าเป็นครูมาเอาแล้วมันยุ่งนะ ครูสมัยก่อนท่านไม่ได้เอาหรอก พอใจในเงินเดือนที่ได้ ถ้าจะสอนศิษย์พิเศษ สอนให้ได้เปล่าๆ ไม่เอาอะไร เพราะ (53.32) มีความรู้เป็นเรื่องให้เปล่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดบัญ …… (53.37) บัญชีอะไรกัน สมัยก่อนเป็นอย่างนั้น
แต่สมัยนี้ค่าครองชีพมันเดือดร้อนครูเราจึงต้องมีการกวดวิชา ต้องคิดหัวกันเท่านั้นเท่านี้ มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าโดยน้ำใสใจจริงนั้น ควรจะมีความเสียสละ ช่วยศิษย์ให้มาก ช่วยเหลือศิษย์ด้วยน้ำใจอันงาม แนะนำพร่ำเตือน ยกระดับจิตใจของเขาให้สูงขึ้น แล้วก็นำจูงไปในทางที่ถูกต้อง อย่านำศิษย์ไปในทางที่ตกต่ำ ในทางความคิด ความประพฤติ การปฏิบัติ ให้เขาเป็นคนที่มีสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบประจำจิตใจ เราจึงต้องมีน้ำใจไม่เอาเป็นพื้นฐาน ไอ้เรื่องเอากับไม่เอานี่มันผิดกันนะ จิตใจคนเรา จิตใจจะเอามันยุ่ง จิตใจจะให้มันสบาย ญาติโยมลองคิดดู คนเรานะพอคิดจะให้มันสบายใจ สบายให้ออกไปแล้วก็สบาย คิดถึงเรื่องให้แล้วก็สบาย แต่พอคิดจะเอาแล้ววุ่นวายใจแล้ว จะเอาอย่างไร จะเอาสักเท่าไร จะเอาวิธีไหน เรื่องมันมากต้องวางแผนในเรื่องจะเอา แต่เรื่องให้ไม่ต้องวางอะไร เรื่อง (54.59) ออกมาให้ไปก็เท่านั้นเอง มันให้ มันสบาย ไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้นอุดมการณ์ทางจิตใจของคนเราที่จะเป็นครูนี่ต้องคิดไว้ในใจว่า เราเป็นเพื่อให้ ส่วนเงินเดือนที่เราได้รับนั้นถือว่าเป็นเครื่องบูชาธรรมเทศนาเหมือนของพระเท่านั้นเอง เช่นพระไปพูดเขาเรียกว่าติดกัณฑ์เทศน์ ติดกัณฑ์เทศน์นี่มันเรื่องของญาติโยมถวายบูชาธรรมเทศนา เพื่อให้เอาไปใช้บำรุงกิจการศาสนา ไม่ใช่เอาไปใช้เรื่องอื่นอะไร ที่นี้พระก็ดีใจเท่าที่เขาให้ พอใจ อย่าไปนึกว่าน้อยไป แหม บ้านนี้มันมาเทศน์ ให้นิดเดียว แล้วก็เทศน์นิดหน่อย อย่างนี้ก็ไม่ได้ มันต้องพูดตามหน้าที่ ว่าไปตามเรื่อง เรื่อง …… (55.50) อย่าไปคำนึงถึง เขาให้มากให้น้อยไม่เป็นไร เพราะเราไปเพื่อให้ ครูนี่ก็เหมือนกัน มีความรู้ ให้ศิษย์ก็ให้ไป เราไม่หวังอะไรตอบแทนจากศิษย์
ถ้าจะหวังบ้างก็หวังว่า ขอให้ศิษย์ของฉันเป็นคนมีความรู้ดี มีความสามารถดี มีความฉลาดยอดคน จะได้เป็นประโยชน์แก่ชาติ แก่บ้านเมืองต่อไป เอาเท่านั้น ต้องการเท่านั้น ไอ้เรื่องวัตถุนั้นไม่ต้องการ แล้วถ้าเรามีพื้นฐานทางจิตใจ ว่าเราทำงานเพื่อให้นะ มันดี ดีอย่างไร ได้เงินมาใช้เงินเป็น ใช้เงินเป็นเพราะมีความรู้สึกว่าฉันมีเท่านี้ ฉันจะใช้เกินนี้ไปไม่ได้ จะใช้ฟุ่มเฟือยก็ไม่ได้ ใช้จ่ายในเรื่องเหลวไหลก็ไม่ได้ มันกลายเป็นครูที่เป็นอยู่อย่างประหยัด อดออมในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย ไม่ทำอะไรที่เรียกว่าส่วนเกิน กินพอดี นุ่งห่มพอดี บ้านช่องอาศัยก็เรียกว่าอยู่พอดีพองาม พอมีระเบียบเรียบร้อย ไม่มีอะไรที่เรียกว่าส่วนเกิน ชีวิตมันก็ไม่ยุ่ง การเป็นครูมันก็สบายใจ ไม่ยุ่งไม่ยากแต่หลักการมันควรจะเป็นอย่างนี้ มีอะไรอีกหลายอย่างที่ควรจะเสริมสร้างขึ้นในใจ แต่เท่าที่ให้นี้ก็จะเป็นการเพียงพอที่เราจะเป็นครูที่ดีของชาติประเทศได้ เวลานี้ประเทศไทยเราต้องการครูดีๆ สำหรับช่วยสร้างคนให้เป็นคนดีในชาติ ประเทศชาติจะอยู่รอดปลอดภัยอาศัยครูนี่แหละเป็นสำคัญ ครูพ่อแม่ ครูที่โรงเรียน …… (57.48) ช่วยกันทำให้ชาติอยู่รอดทำไมจึงอยู่รอด เพราะทำคนให้ดี ครู…… (57.55) ทำคนให้ดี ให้มีความรู้ดีมีความสามารถดี มีความประพฤติดี เป็นพื้นฐานทางจิตใจ ประเทศชาติมันก็อยู่รอดเท่านั้นแหละ ก็เพราะเรื่องอื่นมันมาจากครู จะไปเป็นทหาร เป็นนักเศรษฐกิจ เป็นนักการเมือง ถ้าครูไม่ได้สอนให้มันดีแล้ว มันจะดีได้อย่างไร ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นเราที่เป็นนักเรียนครู ให้ภูมิใจว่าเรานี่แหละคืออนาคตของชาติ อนาคตของประเทศ แต่เราจะต้องทำอนาคตให้สดใส รุ่งเรือง อย่าทำอนาคตให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส การที่จะทำให้รุ่งเรืองก็เพราะเราตั้งใจประพฤติธรรม ซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ในใจ เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นเพื่อนใจ เป็นยาแก้โรคใจ เป็นสิ่งปลอบประโลมจิตใจ อะไรๆ ก็จะเรียบร้อย เป็นไปด้วยดีทุกประการ ดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลา