แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ.บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ นั่งพัก ณ.ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งสามารถจะได้ยินเสียงจากเครื่องขยายเสียงนี้ได้ ตอนนี้ลำโพงขยายเสียงดังทั่วบริเวณ เพราะว่าพึ่งปักเสาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อยู่ในบริเวณสนามหญ้าแถวนู้นก็ได้ยิน เพราะฉะนั้นขอให้ญาติโยมหาที่นั่งให้สบายๆ ฝนไม่ตกอากาศครึ้มครึ้มดีไม่ร้อนแล้วก็ตั้งใจฟัง อะไรๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเราต่อไป วันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนแปด เราเรียกว่า อาสาฬหบูชา เพราะเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคได้แสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก เรียกตามภาษาวัดว่า ปฐมเทศนา คือการพูดธรรมะเป็นครั้งแรกในโลก แก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เรียกกันง่ายๆ ว่าสวนกวาง ใกล้เมืองพารานาสี ซึ่งวันก่อนนี้ได้พูดให้ญาติโยมทั้งหลายฟังไว้ และพิมพ์เป็นหนังสือนู้นแล้วในวันนี้ วันนี้ก็จะได้พูดต่อไป ถึงเรื่องที่พูดค้างไว้เมื่อวันอาทิตย์ก่อน พูดต่อจากวันอาทิตย์ก่อนก็พูดในตอนที่ว่าพระผู้มีพระภาคได้แสดงธรรมะครั้งแรก เรื่องที่แสดงนั้นแบ่งเป็นสามตอน คือตอนแรกแสดงทางที่ไม่ควรเดินสองทาง ไม่เหมาะแก่บรรพชิตนักบวช คือการหมกมุ่นมั่วเมาในความสุขทางกามอย่างหนึ่ง การทรมานร่างกายให้เดือดร้อนด้วยการบำเพ็ญความเพียรอย่างหนักตามแบบโยคะ ซึ่งเขาปฏิบัติอยู่ก่อน แต่ว่าไม่ได้ผลทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ท่านห้ามไม่ให้บรรพชิตปฏิบัติ เพราะเป็นทางที่หย่อนเกินไปและมันตึงเกินไป ไม่เป็นทางที่เรียกว่าสายกลาง คือพอเหมาะพอดี พระองค์จึงได้ประกาศทางสายกลางให้เข้าใจเป็นตอนที่สอง ทางสายกลางนั้นก็คือสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความคิดชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำการงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามในทางที่ชอบ สัมมาสติ คือความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจมั่นชอบ รวมแปดอย่าง แปดอย่างนั้นมารวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียว เรียกว่าเป็นทางสายเดียว แต่ประกอบขึ้นด้วยเรื่องแปดอย่าง เราจึงเรียกว่าอริยมรรค มีองค์แปด
อริยมรรคแปลว่าทางที่ไปจากข้าศึก ข้าศึกก็คือความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อริ ก็แปลว่าข้าศึก ยะแปลว่า ไป อริยะ แปลว่าไปจากข้าศึก ถ้าเป็นตัวบุคคลก็หมายความผู้ปฏิบัติตนเพื่อให้พ้นไปจากข้าศึก คือกิเลสประเภทต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ทางปฏิบัตินั้นเรียกว่ามรรค มรรคนั้นเป็นทางประเสริฐ เพราะเป็นทางปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์จึงเรียกว่า อริยมรรค มีองค์แปด มีองค์หมายความว่ารวมกันเข้าเป็นอันเดียว แล้วก็สำเร็จเป็นทางสายเดียว เหมือนกับเชือกเส้นหนึ่งมันมีสามเกลียว เราก็เรียกว่าเชือกมีองค์สาม ถ้ามีห้าเกลียวก็เรียกว่าเชือกมีองค์ห้าอะไรอย่างนี้ ของที่มารวมกันเข้านั้นเรียกว่าเป็นองค์ประกอบ ประกอบกันเข้าแล้วได้ทางเส้นหนึ่งเกิดทางสายกลางหรือเรียกว่า อริยมรรค เป็นทางเอกเป็นทางเดียว ที่จะนำผู้ปฏิบัติไปให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ พระผู้มีพระภาคได้แสดงในตอนที่สอง ในตอนที่สามก็แสดงถึงความจริงสี่ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ คือความจริงที่ทำให้ไปจากข้าศึกเหมือนกัน ผู้ปฏิบัติในทางสายนี้แล้วย่อมจะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อันนี้เป็นใจความย่อๆ ในเรื่องปฐมเทศนา คือการเทศนาครั้งแรกของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังที่ได้กล่าวให้ฟังในวันก่อนแล้ว มาวันนี้ก็จะกล่าวต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องทั้งแปดประการที่เรียกว่าอริยมรรค อริยมรรคข้อต้นนั้นเรียกว่า สัมมาทิฐิ
คือความเห็นชอบ ความเห็นหรือทิฐินี้เป็นเรื่องสำคัญ คำบาลีเขาใช้คำว่าทิฐิ ทิฐินี้แปลว่าความเห็นเฉยๆ ยังไม่ดีไม่ชั่วอะไรเป็นความเห็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฐิ เอาคำว่ามิจฉามาใส่ข้างหน้า เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฐิ คือความเห็นผิด ถ้าเป็นความเห็นถูกเห็นตรงก็เรียกว่าสัมมาทิฐิ สัมมามาใส่ไว้ข้างหน้า เอาคำมาเติมข้างหน้าทำให้คำเกิดเปลี่ยนไป ทิฐิคำเดิมมันไม่ดีไม่ชั่ว แต่เอามิจฉามาใส่ข้างหน้าเป็นมิจฉาทิฐิ ก็เรียกว่าเป็นความคิดผิด ถ้าเอาสัมมามาใส่ข้างหน้าก็เป็นสัมมาทิฐิ เรียกว่ามีความเห็นถูกตรงตามทำนองครองธรรม ความเห็นของคนนี้สำคัญมากที่จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นในเรื่องการกระทำ คนเราจะทำอะไรก็ต้องมีความเห็นก่อน มีทิฐิมาก่อนคือเป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ คนมีความเห็นเป็นพื้นฐานในรูปใด ก็มักจะกระทำอะไรตามพื้นฐานนั้น ถ้าเป็นผู้มีความเห็นผิดก็มักจะกระทำอะไรเป็นไปในทางผิด ถ้ามีความเห็นถูก ก็กระทำอะไรเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ พระผู้มีพระภาคจึงเอามรรคตัวนี้มาไว้ข้างหน้าเพราะเป็นตัวนำเป็นแกนสำคัญของอีกเจ็ดประการ ถ้าหากว่าใครมีความเห็นชอบแล้วอะไรมันก็ชอบตามไป เช่นมีความเห็นชอบ ความคิดก็ชอบ จะพูดก็ชอบ ทำก็ชอบ เรื่องอาชีวะก็เป็นไปในทางชอบ ความเพียรก็เป็นไปในทางชอบ สติก็ระลึกในทางที่ถูกที่ชอบ อาตมาคิดก็เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ แต่ถ้ามีมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดเป็นตัวนำ อะไรที่ตามมามันก็ผิดไปหมด ไม่มีอะไรดีเป็นอันขาด พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานัง สัพพะทุกขัง อะปัจจคุงแปลว่า บุคคลผู้มีสัมมาทิฐิย่อมพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้
แต่ถ้าเป็นคนมีมิจฉาทิฐิเป็นพื้นฐานทางจิตใจ ผู้นั้นจะตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดเวลา มีความเห็นผิดแล้วมันก็ทำผิดเท่านั้นเอง จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น ความเห็นเป็นพื้นฐานขั้นศีลธรรม มีความเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี้เรียกว่าเป็นสัมมาทิฐิตามหลักพระพุทธศาสนา ทีนี้ถ้าหากว่าเราเห็นผิดไปจากนั้น เห็นว่าทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว มันสุดแล้วแต่เรื่องที่ตัวทำ ถ้าใครเห็นมันถึงจะได้ ถ้าใครไม่เห็นก็คงจะไม่เป็นไร คิดอย่างนี้ เรียกว่าคิดผิดไปแล้ว คนที่มีความเห็นชอบก็เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราต้องรับผลแห่งการกระทำที่ตนได้กระทำลงไป ไม่ว่าเราจะทำอะไร ทำดีก็ได้ในทางดี ถ้าทำชั่วก็ได้ในทางชั่ว ทำให้เสื่อมก็เป็นเหตุให้ได้ความเสื่อม ทำให้เจริญก็เป็นเหตุให้ได้ความเจริญ แปลว่าผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรานั้นมันเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง ไม่มีอะไรที่ไหนที่จะมาดลบันดาลให้เราเป็นอย่างนั้นให้เราเป็นอย่างนี้ ผู้ใดมีความเห็นตามแนวตามนี้ ก็ย่อมจะเชื่อมั่นในการกระทำ ชีวิตของเขาอยู่ด้วยการทำ จะอยู่ด้วยงานด้วยการ ก็เขาถือว่าอะไรๆ จะสำเร็จขึ้นได้ก็โดยอาศัยการกระทำ เช่นเหมือนกับนักเรียนทั้งหลายที่มาฟัง ปาฐกคาถานี้ ถ้าเราเชื่อมั่นในหลักว่า ทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว แล้ว อะไรๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเรามันก็อาศัยการกระทำของเราเอง เราจะสอบไล่ได้ ก็โดยอาศัยเราเป็นผู้รักการเรียน มีความขยันขันแข็งเอาใจใส่ไม่ทอดธุระ หมั่นคิดนึกตรึกตรองค้นคว้าในเรื่องจะเรียนจะเขียนจะอ่านอยู่ตลอดเวลา คนที่ทำอย่างนี้ก็ย่อมจะสอบไล่ได้และได้คะแนนดีด้วย แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจเขวไป มีความเห็นเขวไม่ตรงตามแนวนี้ เห็นว่ามันสุดแล้วแต่โชคชะตา สุดแล้วแต่ดวง ถ้าดวงดีก็คงจะสอบได้ถ้าดวงไม่ดีก็สอบไม่ได้ เลยไม่ทำอะไร ไม่ขยันเรียน ไม่รัก ไม่เอาใจใส่ ไม่คิดไม่ค้น ไม่เข้าใกล้ครูเพื่อศึกษา นักเรียนคนนั้นก็จะสอบตกเพราะว่าเราไม่ประพฤติตามหลักการที่ถูกต้อง มีมิจฉาทิฐิเป็นพื้นฐานทางจิตใจเลยทำให้ไม่ได้ดังใจ
แต่ถ้ามีฐานถูกอยู่ในใจแล้ว เขาก็จะมุมานะตั้งใจเรียน เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอะไรๆ มันจะสำเร็จด้วยการกระทำเท่านั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำ ไม่ใช่ให้เรานั่งคิดเพ้อฝัน หรือไปทำการเสี่ยงทายบนบานศาลกล่าวเพื่อให้ตนได้สิ่งที่ตนปรารถนา จะสำเร็จขึ้นได้ก็ด้วยการกระทำของตนเท่านั้น เขาก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำท่าเดียว การเรียนก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย แต่คนที่เชื่อผิดไปก็ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้ตั้งใจศึกษา นึกว่าถ้าดวงดีมันก็สอบได้ ถ้าดวงร้ายก็คงจะตกเราคงหนีดวงไม่พ้น นี้เรียกว่าเข้าใจผิด ในเรื่องอื่นก็เหมือนกัน เช่น นักกีฬาเป็นตัวอย่าง ถ้านักกีฬาเชื่อว่าอะไรๆ สำเร็จด้วยการกระทำตามหลักพระพุทธศาสนา สอนให้กระทำ เขาก็หมั่นฝึกฝนหมั่นซ้อมหมั่นคิด เขาก็เล่นเก่ง เวลาลงสนามทีไรเขาก็ไม่แพ้ เพราะว่าเขาฝึกอยู่เป็นอาจิณ เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ดูหมิ่นกำลังศัตรูว่าเป็นผู้อ่อนแอไม่เข้มแข็ง แต่คอยเตือนตัวเองไว้เสมอว่าดูหมิ่นไม่ได้ เขาก็ซ้อมเหมือนกัน เขาก็ฝึกเหมือนกัน แล้วเขามาเล่นก็เพื่อเอาชนะ ถ้าเราเป็นคนอ่อนแอไม่ฝึกฝน ไม่อบรมตนเอง ให้มีความเข้มแข็งให้มีความว่องไว ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทีม เราก็จะสู้เขาไม่ได้ เมื่อคิดอย่างนั้นก็หมั่นซ้อมหมั่นฝึก หมั่นศึกษาการเล่น พลิกแพลงลูกไม้เพื่อเอาชนะให้ได้ ทีมกีฬานั้นต้องชนะได้ถ้วยได้รางวัล เพราะเป็นผู้มีหลักการในใจว่า มันสำเร็จด้วยการกระทำ ไม่ใช่สำเร็จด้วยดวง
ไม่ใช่ว่าพอถึงวันจะเล่นก็ต้องดูว่าจะออกจากบ้านเวลาไหน จะไปเข้าสนามทางด้านไหน หรือว่าควรทำอย่างไร นั้นมันไม่ใช่เรื่องที่จะให้เราชนะ แต่จะให้เราชนะก็ด้วยการที่เราหมั่นฝึกหมั่นซ้อมให้พร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราก็เอาชนะเขาได้ อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าพื้นฐานความเห็นในจิตใจมันก่อผลให้เกิดการกระทำขึ้นมา แล้วก่อให้เกิดอะไรตามมาด้วยก็ได้ ทีนี้ในชีวิตเราก็เหมือนกัน สมมติว่าในชีวิตการงานที่เราจะต้องกระทำนี้ มีบางคนพูดว่า สุดแล้วแต่บุญกรรม แล้วก็ไม่ค่อยทำอะไร ไม่เอางานเอาการ ปล่อยชีวิตให้ไหลละล่องไปตามกระแสโลกเหมือนกับผักตบชวาลอยน้ำ เวลาน้ำลงก็ลอยลงไป ไม่ถึงปากน้ำสักที เพราะว่าไปได้เพียงพระประแดงน้ำมันขึ้นอีกแล้ว ตอนน้ำขึ้นก็ลอยขึ้นมา มาจอดอยู่แถวสะพานพุทธเดี๋ยวน้ำลงอีก ก็ลอยไปลอยมาอยู่แถวนั้นไม่ไปถึงจุดหมายปลายทาง นี่ก็เพราะว่าปล่อยตามเรื่อง คนเราบ้างคนมักจะมีความคิดอย่างนั้น จะคิดว่าสุดแล้วแต่บุญกรรมอย่างนี้มันไม่ถูก แล้วแต่บุญกรรมนี่มันไม่ถูก ความหมายมันมีแต่เราไม่เข้าใจ มักจะเป็นคนเฉยเฉย เฉื่อยเฉื่อย แฉะแฉะ ไม่เอางานเอาการ ถ้าเขาถามว่าทำไมไม่ทำอะไรบ้าง สุดแล้วแต่บุญกรรม บุญมีมาเองไม่ต้องไปขวนขวาย แล้วจะมีมาได้อย่างไร ข้าวมาอยู่บนโต๊ะแล้วถ้าเราไม่ตักเข้าปากมันจะกระโดดเข้ามาในปากเราได้อย่างไร ทั้งข้าวทั้งกับมันไม่กระโดดเข้าปากใคร เราต้องเอามือไปตักใส่เข้าไปในปาก ฟันต้องเคี่ยว ลิ้นต้องช่วยพลิก แล้วก็ต้องกลืนมันลงไป มันจึงจะตกไปสู่ท้องได้ ครั้นลงไปในท้องแล้วเขาจัดการกันเองข้างในไม่ต้องไปยุ่งธรรมชาติมันมีเรียบร้อยแล้ว เขาทำตามหน้าที่ มันต้องทำ ไม่ใช่อยู่ตามบุญตามกรรม ไอ้คนที่อยู่ตามบุญตามกรรมมักจะเข้าใจผิดนั่นเอง ความจริงที่เขาเรียกว่าตามบุญกรรมหมายความว่า ตามการกระทำที่เป็นส่วนดีส่วนเสีย แต่พูดสั้นว่าบุญกรรม ถ้าพูดให้เต็มตัว ตามบุญบาปกรรม ให้มันเต็มคำต้องว่าอย่างนั้น แต่เราตัดเสียว่า ตามบุญกรรม
ตามบุญกรรม ให้มันสั้น ที่จริงควรจะว่า สุดแล้วแต่บุญแต่บาปอันเกิดขึ้นจากการกระทำ บุญมันเป็นผลของการกระทำ บาปก็เป็นผลของการกระทำ ถ้าเราไม่ทำบุญ บุญมันก็ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา เราไม่ทำบาป บาปมันก็ไม่เกิดขึ้นในใจของเราเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะพูดว่า ตามบุญตามกรรม มันต้องทำกันเป็นการใหญ่ แล้วต้องเลือกทำ คือทำแต่ด้านดีอย่าไปทำด้านเสีย ทำอะไรก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบครอบ ไม่ทำด้วยอารมณ์ ไม่ได้ทำด้วยความใจร้อน แต่ว่าทำด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยการพิจารณาอย่างรอบครอบในเรื่องนั้นๆ การกระทำนั้นก็จะเป็นบุญขึ้นมา เมื่อเป็นบุญมันก็เป็นสุขใจ แต่ถ้าทำด้วยความเผลอด้วยความประมาท ด้วยความไม่ระมัดระวัง เราก็จะได้รับผลเป็นบาป เมื่อได้รับผลเป็นบาปก็เกิดทุกข์ใจ เดือดร้อนใจ มีปัญหาเกิดขึ้นในใจ ด้วยประการต่างๆ หลักการมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้เข้าใจเสียใหม่ ก็ที่พูดว่าตามบุญตามกรรมนั้น มันต้องทำด้วย ถ้าไม่ทำแล้วบุญก็ไม่ตาม บาปมันก็ไม่ตามมา อยู่เฉยๆ มันไม่ได้เรื่อง แต่ความจริงอยู่เฉยๆ มันก็ทำบาปอยู่แล้ว คนเรามันต้องว่องไว ต้องตื่นตัว ต้องก้าวหน้า ชีวิตต้องเป็นงานเป็นการ อยู่เฉยไม่ได้
สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมีการเคลื่อนไหวทั้งนั้นไม่อยู่นิ่งเลย ต้นหญ้ามันก็ไม่อยู่นิ่ง ต้นหญ้าลองดู ดูเขียวชอุ่มตัดกันไม่ค่อยหวาดไหว หน้านี้ฝนตกดินดีหญ้าขึ้นงาม ต้นไม้ก็งอกขึ้นตลอดเวลา เจริญเติบโตเป็นร่มเป็นเงาใหญ่ออกดอกออกผลต่อไป นี้มันเรื่องของการงานทั้งนั้น นกที่เที่ยวบินไปบินมาร้อง จิ๊บจั๊บ จิ๊บจั๊บ อยู่บนยอดไม้นั้น มันไม่ได้ร้องเปล่าหรอก มันไม่ได้ไปเปล่า มันทำงานแต่ว่ามันร่าเริงไปด้วย สนุกไปด้วยในตัว ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย มันทำงานทั้งนั้น โลกนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง โลกนี้ก็คือการกระทำ มันมีเป็นกรรมอยู่ในตัวโลกนี้เป็นกรรมอยู่ในตัว คือหมุนอยู่ตลอดเวลา ถ้าโลกไม่หมุนแล้วเราจะแย่ ไปหยุดอยู่ที่เรามืดแล้วเราจะแย่ หรือว่าไอ้พวกที่สว่างมันก็แย่เหมือนกัน มันไม่มืดเสียเลยมันสว่างอยู่อย่างนั้นนอนตาแข็งโลกมันไม่มืดสักที ไม่มืดตั้งเป็นเดือนเดือนมันก็แย่ โลกมืดเป็นเดือนมันก็แย่เหมือนกัน มืดสามวันมันก็แย่แล้วเราไม่ได้ทำอะไร โลกมันหมุน พอหมุนก็มีกลางวันมีกลางคืน มีเย็นมีร้อน มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ มีฤดูหนาว มีฤดูฝน แล้วก็มีฤดูร้อน นี้มันเกิดจากอะไร เกิดจากความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวนั้นก็คือกรรมนั้นเอง มันเป็นกรรมตามธรรมชาติ โลกนี้ก็หมุนดวงจันทร์ก็หมุน ดวงอาทิตย์ก็หมุน ดวงดาวในท้องฟ้าในสากลจักรวาลมันหมุนอยู่ทั้งนั้น มันธรรมทั้งนั้น ไม่ได้นิ่งเลยสักส่วนเดียว ส่วนไหนนิ่งส่วนนั้นมันไม่มีชีวิต มันตาย มันหมดความหมาย อันนี้คนเราจึงควรจะได้เตือนตัวเองให้ลุกขึ้นให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ทำงานทำการ
พระพุทธศาสนาสอนให้กระทำ ทิฐิถูกต้องตามพุทธศาสนาสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยการกระทำ ไม่สำเร็จด้วยการอยู่นิ่งอยู่เฉย หรือด้วยการวิงวอนขอร้องบนบานศาลกล่าว แต่จะสำเร็จได้ด้วยการลงมือ คือการคิดและวางแผน แล้วก็ต้องพูดแล้วก็ต้องทำ สุดแล้วใครถนัดทางไหน ถนัดทางพูดก็พูดไป อาตมามันถนัดพูดก็พูดสอนญาติสอนโยมเรื่อยไป ต้องพูดเรื่อยไป พูดเป็นเงินเป็นทอง เป็นโรงเรียน เป็นกุฏิ เป็นนั่นเป็นหนี้ขึ้นมา ถ้านั่งเฉยไม่พูดมันจะก้าวหน้าได้อย่างไร วัดก็เจริญไม่ได้ นี้อาศัยการพูด แต่ว่าพูดถูก พูดดี พูดเป็นธรรมะ ญาติโยมทั้งหลายได้ฟังแล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีความสุข มีความสงบ มีความสบายใจ ก็เลยได้ประโยชน์จากการพูดคือการกระทำ การพูดมันก็ต้องเกิดจากการคิด ถ้าเราไม่คิดมันก็พูดไม่ออกทีนี้มันต้องคิด มันพร้อมกันหมด เรียกว่าการกระทำมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่ปาก อยู่ที่มือที่เท้า ที่ร่างกายทุกส่วนมีการเคลื่อนไหว ธรรมชาติมันก็เคลื่อนไหวอยู่อย่างนี้ แต่ว่าถ้าเราจะให้มันไหลไปเองตามธรรมชาติไม่ได้ ต้องมีการควบคุม เหมือนกับรถถ้าสตาร์แล้วปล่อยไปตามเรื่องมันก็เกิดเรื่องเท่านั้นเอง ชีวิตคนนี้ก็เหมือนกันต้องมีการควบคุมการเคลื่อนไหว ให้เคลื่อนไหวไปในทางที่ถูกที่ตรง ที่เป็นประโยชน์ไม่ก่อทุกข์ไม่ก่อโทษต่อใครๆ เช่นเราจะคิดต้องคิดไม่ให้ก่อทุกข์ก่อโทษแก่ใครๆ เพราะว่าความคิดมันก่อให้เกิดการพูดให้เกิดการกระทำ คิดเฉยๆ มันให้โทษแก่ตัวเอง แต่ว่าคิดแล้วมันไม่อยู่นิ่ง พอคิดไปแล้วปากมันจะพูดออกไป เช่น เราคิดโกรธใครเราพูดด่าเขา ถ้าคิดชอบใครเราก็พูดชมเขา เราคิดโกรธใครเอามือไปต่อยหน้าเขา เอาเท้าไปเตะเขา อย่างนี้มันก็เป็นบาปเป็นอกุศล แต่ถ้าคิดในทางถูกทางชอบมันก็เป็นบุญเป็นกุศลไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ตนแก่ท่าน จึงต้องมีการควบคุม
ดังนั้นการควบคุมนั้นต้องเอาธรรมะมาใช้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องชีวิตของเรา ถ้าเราอยู่โดยไม่มีธรรมะไม่มีศาสนาไม่มีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ จิตใจก็จะไปตามอารมณ์ไปตามเรื่องตามราว หมุนไปตามโลกไม่มีการควบคุม สิ่งทั้งหลายก็จะไม่เรียบร้อย จะเกิดความเสียหายขึ้นด้วยประการต่างๆ เราจึงเอาศาสนามาเป็นหลักใจ เอาคำสอนในศาสนาคือหลักธรรมมาเป็นหลักของใจ เอาธรรมะมาคุ้มครองไว้คอยคุมไว้ให้เดินไปในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่ให้ก้าวไปในทางที่ผิด สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานทางจิตใจ เรียกว่าเป็นทิฐิ มีความเห็นตามแนวไหน ถือพระพุทธศาสนาก็มีทิฐิตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า คนถือศาสนาอื่นก็มีความเห็นตามแนวแบบศาสนาอื่นไป เช่นบางศาสนาอาจจะสอนว่าการทำสงครามนั้นไม่เป็นไรไม่เป็นบาปก็ได้ อันนั้นมันก็เป็นความคิดไปอีกมุมหนึ่ง แต่ในพุทธศาสนาถือว่า การทำสงครามนั้นเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ว่าเป็นสงครามประเภทใดมันไม่ดีทั้งนั้น จะรบเรื่องอะไรมันก็เป็นบาปทั้งนั้น มันไม่ดี ไอ้ที่ดีคือไม่ต้องรบกันนั้นดี พูดกันทำความเข้าใจกันไม่ต้องก่อการทะเลาะวิวาทกันมันจึงจะดี แต่ว่ามนุษย์ในโลกมันยังเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ จิตใจยังไม่สูงพอ ยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้ว ขออภัยที่จะพูดกับญาติโยมทั้งหลายว่า โลกของเราปัจจุบันนี้มันเป็นโลกของเด็กอมมือไม่ใช่โลกของผู้ใหญ่ที่มีปัญญามีสติ มีความคิดเป็นสัมมาทิฐิ แต่มันเป็นโลกของเด็กๆ อมมือกันส่วนมาก จึงได้เกิดเป็นปัญหารบราฆ่าฟันกัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน แย่งกันเป็นใหญ่เป็นโต แย่งกันเป็นมีอำนาจอะไรต่างๆ นี้คือโลกเด็กๆ เหมือนเด็กเล่นข้าวหม้อแกงหม้อ เดี่ยวมันก็แย่งผักกัน แย่งน้ำกัน เดี่ยวมันก็ข่วนกันทะเลาะกัน แต่ว่าเด็กมันดีกว่าผู้ใหญ่ มันทะเลาะกันประเดี๋ยวประด๋าวไม่ยืดยาวเท่าใดรู้จักจบรู้จักสิ้น เด็กมันจบง่าย ผู้ใหญ่ไม่จบไม่สิ้น ด่ากันด้วยทางวิทยุ ด่ากันทางโทรทัศน์ คนหนึ่งอยู่ไกลอีกคนหนึ่งอยู่นู้นด่ากันได้ทุกวัน พูดกันได้ทุกวัน เพราะมีข่าวสารการติดต่อผ่านดาวเทียม ผ่านดาวเทียมนี้ก็เรียกว่าเป็นสื่อสารแห่งกิเลสเสียเป็นส่วนมาก เอามาประเทศนั้นว่าอย่างนั้นประเทศโน้นได้ยินแล้วตอบมาว่าอย่างนั้น คือดูเหมือนกับเด็กทะเลาะกันอย่างนั้น เด็กมันทะเลาะกันมันด่ากัน หรือว่าแม่ค้าขายผักในตลาดเขาด่ากัน เปิงปาง เปิงปาง เรื่องเล็กเรื่องน้อย โลกมันก็เป็นอย่างนั้นโลกของคนอย่างนั้น ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้น เพราะจิตใจคนไม่แนบสนิทอยู่กับศาสนา ไม่แนบสนิทอยู่กับธรรมะ จึงได้เกิดปัญหาสับสนวุ่นวายด้วยประการต่างๆ พูดโกหกอย่างหน้าด้านด้าน เรียกว่าบิดเบี้ยวไปอย่างชนิดขุ่นขุ่น เขาจับได้ขุ่นขุ่นยังไม่ยอมรับเลย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ความละอายบาปไม่มี ความกลัวบาปก็ไม่มี
ทิฐิของมนุษย์ในปัจจุบันนี้เป็นไปในทางที่เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฐิมากขึ้นทุกวันทุกเวลา สังคมมนุษย์จึงเดือดร้อนวุ่นวาย เพราะมิจฉาทิฐิ ทิฐิมันเป็นอย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่เรียกว่า เป็นพื้นฐานของการพูดของการกระทำ ของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้ด้วยประการทั้งปวง พระผู้มีพระภาคจึงเอามาวางไว้ข้างหน้า เพื่อให้เห็นว่ามันต้องเริ่มด้วยสัมมาทิฐิ ถ้าเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิแล้วอะไรอื่นก็ดีหมด เรียกว่าเห็นชอบเป็นเบื้องต้น แล้วการคิด การพูด การกระทำ การงาน ความเพียร ความพยายาม ความระลึก ความตั้งใจ ก็ย่อมจะถูกต้องหมด แต่ถ้าขึ้นต้นเป็นมิจฉาทิฐิมันก็ผิดไปหมดเรื่องมันเสียหายมากอย่างนี้ นี้ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เป็นเรื่องในทางศีลธรรมอันเป็นเรื่องชั้นต้น แต่ว่าสัมมาทิฐิที่สูงเกินไปกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้นมีอยู่ คือพระองค์สอนให้มีความเห็นในเรื่องอะไร ให้เข้าใจในเรื่องอะไร เรียกว่าความเห็นก็ได้ เรียกว่าเข้าใจก็ได้เหมือนกัน เขาจึงแปลว่าความเข้าใจในทางที่ถูกต้อง หรือความเห็นในทางที่ถูกต้อง เข้าใจในทางที่ถูกต้องนั้นเข้าใจในเรื่องอะไร หรือเห็นถูกต้องในเรื่องอะไร เห็นถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตนี้สำคัญกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด เห็นถูกต้องในเรื่องของชีวิตสำคัญกว่าเรื่องอะไรทั้งหมด เพราะอะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นในสังคมนี้มันเกิดมาจากชีวิตแต่ละชีวิตที่ตั้งตนไว้ไม่ถูก คือไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องชีวิตถูกต้อง คือไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่รู้ว่ามันมาจากอะไร แล้วไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรให้ปัญหานั้นมันหายไป ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ ในเมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ก็อยู่อย่างชนิดไม่มีตาไม่มีหูไม่มีใจ ลองคิดดูว่าคนเราไม่มีตา ไม่เห็นอะไร ไม่มีหูก็ไม่ได้ยินอะไร ไม่มีใจก็ไม่รู้ว่าจะคิดอะไร ใจมันก็มืดบอด ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนขึ้นในชีวิตด้วยประการต่างๆ เพราะฉะนั้นในส่วนสูงขึ้นไปท่านสอนให้เรามีความเข้าใจถูกต้อง หรือมีความเห็นถูกต้องในเรื่องชีวิตเป็นส่วนใหญ่
ฉะนั้นเรื่องชีวิตนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสในเรื่องอะไรบ้าง ก็ตรัสในเรื่องความคิดให้คนเข้าใจ พูดเรื่องความคิดให้คนเข้าใจ เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจให้มันชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ยังจะต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏ ยังเวียนว่ายอยู่ในความคิดที่ไม่ดีไม่งามเรื่อยไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คนเรามันเวียนอยู่ในสิ่งเหลวไหล เช่นคนชอบดื่มสุราเมรัย เวียนอยู่แต่ร้านเหล้า เช้าไปเย็นไป เช้าไป เย็นไปเขาเรียกว่าสังสารวัฏมันอยู่ตรงนั้นเดินวนอยู่ตรงนั้น จากบ้านร้านเหล้า ร้านเหล้ามาบ้าน บ้านไปร้านเหล้า เรียกวนอยู่แต่ร้านเหล้า วนอยู่แต่อย่างนั้น แล้วก็วนอยู่ในบ่อนไพ่ วนอยู่ในสนามม้า วนไปวนมา คือไม่รู้ว่าการไปดื่มเหล้ามันเป็นทุกข์อย่างไร ให้โทษทางร่างกายทางจิตใจอย่างไร ให้โทษแก่ครอบครัวอย่างไร ให้โทษแก่การงานของตนอย่างไร ไม่รู้ ไม่เข้าใจ มองไม่เห็นทุกข์จากสิ่งนั้น หรือว่าเราชอบเล่นการพนัน เล่นไพ่ เล่นถั่ว ไฮโล เล่นม้า เล่นอะไรก็ตามใจ เราไม่รู้ว่ามันให้ทุกข์อย่างไรให้โทษอย่างไร เพราะไม่เคยพิจารณา ทั้งๆ ที่บางคราวเพ้อหยิกหยักมานอนเอามือก่ายหน้าผากทีเดียว แพ้หนักเข้าเกิดปัญหาเกิดความเดือดร้อนใจ แต่ไม่เอาสิ่งนั้นมาพิจารณา ไม่เอามาเป็นเครื่องเตือนใจว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ ไม่คิดนึกตรึกตรองให้รอบครอบในเรื่องนั้น ก็เลยไม่รู้ว่ามันให้ทุกข์อย่างไรให้โทษอย่างไร ยังทูนอยู่ ยังเมาต่อไปแล้วก็เวียนไปเวียนมาไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ในเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน ที่เราเวียนไปเวียนมาเป็นสังสารวัฏ วนอยู่เหมือนกับมดไต่อ่างน้ำ อ่างน้ำมันก็ไต่อยู่อย่างนั้น ไต่อยู่อย่างนั้น มันไม่ได้ลงไปในอ่าง หรือไม่ได้ออกจากอ่าง มันก็ไต่อยู่อย่างนั้นเวียนอยู่อย่างนั้น พอเข้าแล้วมันก็เวียนอยู่อย่างนั้นไม่รู้ว่าจะออกทางไหน นั้นมันเรื่องมดใครเคยเห็นบ้างไหม ที่มดมันวนอยู่ตามขอบอ่าง เราไม่เห็น ถ้าเห็นเราก็เอามาเตือนตัวเองได้ว่า ไอ้เราก็วนอยู่บ้างเหมือนกัน วนอยู่ในเรื่องอะไรลองพิจารณาตัวเอง ว่า กูนี้มันวนในอะไรบ้าง วนในเรื่องอะไร ทำไปทำมา ทำมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่แล้วหัวหงอกแล้ว ฟันหลุดออกไปบ้างแล้ว ยังไม่หยุดวนสักทียังเวียนอยู่ในสิ่งเหล่านี้ออกไม่ได้
นี้เพราะว่ามันขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องอย่างนั้น แต่ว่าคนบ้างคนเขาไม่เวียนอยู่ในเรื่องนั้นเลย เขาลดละมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่เล่นการพนัน ไม่ประพฤติเหลวไหล ทำตนเป็นคนเรียบร้อย ชีวิตเขาเป็นอย่างไรครอบครัวเป็นอย่างไร การงานเขาเป็นอย่างไร ลูกที่เกิดออกมาเป็นอย่างไร ลองสังเกตดูเถอะมัน เรียบร้อย เรียบร้อยตลอดเวลา ไม่มีปัญหา ไม่มีความยุ่งอยากในครอบครัว ในชีวิต ในการงาน ฐานะมั่นคง คือการงานก็ดีตลอดไป ถ้า (35.27) ข้าราชการก็เรียกว่าทำงานดีมั่นคงจนกระทั่งออกจากราชการ เกษียร ได้รับเบี้ยบำนาญ แล้วก็ไม่เดือดร้อนในเรื่องฐานะการเงินการทอง เพราะเมื่อเป็นข้าราชการก็เรียกว่ามองเห็นความทุกข์อยากลำบากอยู่ แล้วก็เก็บหอมรอมริบไว้ หาที่ทางไว้สร้างบ้านสร้างเรือน ไม่ต้องไปเที่ยวแบกเสาเรือนไปปักที่นั่นทีปักที่นี่ที คนโบราณเขาว่า เสาเรือนอยู่ในห่อพาย อยู่ในผ้าเช็ดหน้าสี่มุม คนไทยเราสมัยก่อนเรามีผ้าเช็ดหน้าผืนโตกว่านี้สี่มุมเอามาผูกเข้า ผูกเข้าแล้วก็สะพายไป มีอะไรๆ ก็มีเท่านั้นแหละ เมืองเหนือเขาเรียกว่าผ้าพก ผ้าพกคือผ้าเช็ดหน้าห่อเรียกว่าผ้าพก ผู้แทนคนหนึ่งสมัครเลือกมาหลายหนไม่ได้ เลยปีนั้นออกมุมใหม่เอาผ้าเช็ดหน้าสี่มุมมาผูกแล้วก็สะพายเข้า แล้วมีร่มกระเดียดคันหนึ่งถ่ายรูปเลย แล้วบอกว่า ”มีแต่ผ้าพกกับจ้องพี่น้องสงสารบ้างเถอะเนอะ” ว่าอย่างนั้นเลย คนมันหมดแล้วมีแต่ผ้าพกกับจ้องก็ร่ม ขอท่านทั้งหลายสงสารเลือกสักทีเถอะ คนมันสงสารคะแนนชาวเชียงใหม่ที่สงสารคนเลยเลือกผู้แทนผ้าพกกับจ้องมาได้
นี่มันหมดเนื้อหมดตัวแล้วเหลือผ้าพกอยู่นิดเดียวกับร่มคันเดียวร่มกระดาษสันกำแพงเสียด้วยร่มกระเดียดอยู่นั้น ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์แจกไปทั่ว ก็ได้เป็นผู้แทนเพราะสงสาร ก็มันสมัครมาหลายหนแล้วจนหมดเนื้อหมดตัวเหลือแต่ผ้าพกกับจ้องแล้วก็เลือกสักทีเถอะ คนบ้างคนแบบนั้นเรียกว่า เสาเรือนอยู่ในกระเป๋าสมัยนี้เขาไม่พกอย่างนั้นแล้ว โบราณเขาว่าเสาเรือนอยู่ในพาย ถ่อพายไปเที่ยวทั่ว เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วเขาหิ้วเจมส์บอนด์กันแล้ว บางคนหิ้ว (37.29) เจมส์บอนด์โก้แต่เปิดออกมาไม่มีอะไรในกระเป๋า หิ้วมันไปอย่างนั้น หิ้วมันทุกวัน หิ้วจนหูเจมส์บอนด์สึกหรอแล้วไม่ได้มีอะไรกับเขา นี้เขาเรียกพวกเสาเรือนอยู่ในพาย กางเกงกับเสื้อก็มีอยู่ชุดเดียวแต่งมันอยู่อย่างนั้น กลับมาถึงบ้านก็พับเรียบร้อยใส่ใต้หมอนนอนเล่นมันไปด้วย พอรุ่งเช้าก็นุ่งไป หิ้วเจมส์บอนด์ต่อไป เที่ยวเดินหางานสามปียังไม่ได้งานสักที เพราะไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถ แล้วก็ไม่มีความประพฤติดีอะไรเลยใครเขาจะเอาไปคนอย่างนี้มันก็ลำบาก ชีวิตตกต่ำเพราะมีพื้นฐานไม่ดี แต่คนที่เขามีพื้นฐานดีมาตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งทั้งหลายเรียบร้อยไม่ยุ่งไม่ยาก ตั้งมั่น ตั้งครอบครัวได้เป็นหลักเป็นฐาน มีลูกก็เรียกว่ามีลูกดี แล้วก็มีหลานดีต่อไปถ้ายังไม่ประมาท ถ้าประมาทขึ้นมาเมื่อใดก็เปลี่ยนทิศเหมือนกัน คือว่าประมาทคือว่าลืมตัว ลืมตัวไป ลืมตัวแปลว่าว่าเรานี้คือใคร เราควรจะประพฤติอะไร ควรจะคิดอะไร ควรจะทำอะไร แล้วก็เลยประมาท พอประมาทก็หลงตกต่ำลงไปทันที มันเป็นอย่างนี้
ชีวิตคนเรามันเพราะไม่รู้จักทุกข์นี้มันลำบาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านเห็นว่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องความคิดนี้เป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ สัมมาทิฐิต้องรู้จักคิดด้วย รู้ว่าชีวิตนี้มันเป็นทุกข์ได้และมันก็เป็นสุขได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นทุกข์ตลอดไป ถ้าเราดิ้นรนต่อสู้แก้ไขปัญหาความทุกข์มันก็หายไป พระองค์จึงบอกให้เราเข้าใจว่าทุกข์มีอยู่ เหตุให้เกิดทุกข์ก็มีเหมือนกัน ทุกข์นี้เป็นเรื่องแก้ได้และแก้ได้ด้วยอะไร พระองค์ก็สอนไว้ เหมือนกับบอกรู้ว่าเป็นโรค แล้วก็รู้ว่าเป็นโรคอะไร มีสมุห์ฐานมาจากอะไร แล้วก็โรคนี้แก้ได้ แก้ได้ด้วยยาอะไร ก็สอนยาไว้ให้ด้วยสอนไว้หมด เรียกว่ามีเหตุมีผลสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หลักคิดศาสนานี้มีเหตุผลสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เราเข้าใจให้เราศึกษาในตัวเราเอง ไม่ใช่ศึกษาออกไปไกลอะไรให้เรียนในตัวเราเอง เพราะอะไรๆ มันก็เกิดในตัวเรา ความชั่วก็อยู่ในใจเรา ความดีก็อยู่ในใจเรา นรกมันก็อยู่ในใจเรานั้นแหละ สวรรค์ก็อยู่ในใจเรานั้นแหละ ความเป็นอะไรๆ ก็อยู่ในใจเราทั้งนั้นไม่ได้อยู่ไกลไปที่ไหน พระองค์จึงบอกว่าในกายยาววาหนาคืบกว้างศอกที่มีใจครองนี้ เราบัญญัติว่ามีความทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย มีความดับทุกข์ได้ด้วย และมีการปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็ได้อีกเหมือนกัน มันรวมอยู่ในนี้ทั้งหมด ในๆ จักรวาลอันนี้ในรูปอันนี้ พระองค์เรียกร่างกายนี้ว่าเป็นโลก
โลกที่ไม่ใหญ่โตเกินไป ยาววาหนึ่ง หนาคืบหนึ่ง กว้างศอกหนึ่ง ของใครๆ คนเรารูปร่างมันไม่เหมือนกันศอกใครก็ศอกใคร วัดดูก็รู้ แล้วก็รู้ว่ามันมีใจครอง ใจเรานี้มันคิดนึกไปในเรื่องต่างๆ สร้างปัญหา สร้างอะไรๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา มากมายก่ายกองไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น พระองค์จึงคิดจะลงไปชี้จุดสำคัญ คือชี้ให้เห็นว่าชีวิตนี้มันไปทุกข์ มันมีความทุกข์อยู่ อันนี้เรียกพูดว่าชีวิตนี้มันเป็นทุกข์ คนบ้างคนก็อาจจะนึกว่า พระพุทธเจ้าของเรามองโลกในแง่ร้าย คือ เห็นอะไรๆ ก็เป็นทุกข์ไปเสียทั้งหมด หาว่ามองโลกในแง่ร้าย อันนี้ของให้เข้าใจว่าไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าของเราไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายและไม่ได้มองโลกในแง่ดีด้วย การมองในแง่ร้ายมันเกิดโทสะ เกิดกิเลส เกิดราคะก็ได้โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ ถ้ามองในแง่นี้มันก็เกิดกิเลสเหมือนกัน เกิดราคะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ คือหลงใหลมัวเมา คือนึกว่ามันดีแล้ว มันเจริญแล้ว มันเป็นสุขแล้ว ก็เมาอยู่ในเรื่องนั้น ไม่รู้จักลืมหูลืมตา ไม่ศึกษาให้มันเข้าใจท่องแท้ พระองค์จึงไม่ได้ให้มองอย่างนั้น แต่ว่าให้มองตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ
พระพุทธศาสนาของเรานั้นขอให้จำหลักไว้อันหนึ่งว่า สอนให้มองทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ความจริงของสิ่งอะไรเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านให้มองลงไปให้ซึ้ง เรียกว่ามองให้ลึกแทงให้ไปให้ตลอด ท่านใช้ศัพท์ว่ามองให้ลึก แทงให้ตลอด ให้เห็นตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายเรื่อง ตั้งแต่ผิวน้ำจนลงไปใต้น้ำ ให้รู้ว่ามันมีอะไรในสภาพที่มันเป็นจริงๆ คนเราโดยปกติทั่วไปนั้นมักจะมองอะไรผิวเผิน ไม่ได้มองอย่างลึกซึ้งจนถึงแก่นของสิ่งนั้น จึงเข้าไปยึดถือมัวเมาในสิ่งนั้น แล้วก็อยากได้อยากมีในสิ่งนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ อันเป็นเรื่องสร้างความทุกข์สร้างปัญหาให้แก่ชีวิตมากมายก่ายกอง เพราะมองไม่เป็นนั้นเอง พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายแล้วก็ไม่ได้มองโลกในแง่ดี แต่มองโลกตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ ที่นี้ที่มันเป็นอยู่จริงๆ นั้นมันเป็นอย่างไร พระองค์บอกว่ามันมีความทุกข์ เรียกว่ามีความทุกข์ทั้งร้อยก็ว่าได้ สุขไม่มีเลย สุขนั้นคือทุกข์มันเล็กลงไป ลดลงไปนิดหนึ่งเราก็เรียกว่าเป็นสุขแล้ว ถ้าพูดเป็นตัวเลขว่าทุกข์ร้อย มันลดลงไปหนึ่ง สุขหนึ่ง ทุกข์มันตั้งเก้าสิบเก้า ลดลงไปห้า ทุกข์ยังเหลืออยู่เก้าสิบห้า ลดลงไปยี่สิบทุกข์มันยังเหลืออยู่ตั้งแปดสิบ ลดลงไปเราก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะมันมีแต่ทุกข์คล้ายๆ จะพูดว่า โลกนี้มีแต่อุณหภูมิ ความร้อน ความร้อนมันเต็ม ก็ลดลงไปๆ ก็ยังร้อนอยู่นั่นเอง เหลือหนึ่งมันก็ยังร้อนอยู่นั่นเอง มันไม่หมดร้อน ทุกข์ก็เป็นเช่นนั้น
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่ ท่านว่าไว้อย่างนั้น เพราะว่าตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ได้มีการปรุงแต่งหรือไม่ได้พูดในแง่ใด พูดตามที่เป็นจริง เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้สรรเสริญความจริง ประกาศความจริงให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นเมื่อเราได้ยินพระท่านเทศน์ว่า ชีวิตเป็นทุกข์ อย่าไปนึกว่า มองกันในแง่ร้ายเกินไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ท่านบอกให้เรามองตามที่เป็นจริงว่า มันเป็นทุกข์หรือไม่ ลองคิดถึงตัวเราเองในชีวิตประจำวัน เรามีความทุกข์เท่าไร กังวลใจ วิตกกังวล ด้วยปัญหาอะไรร้อยแปดพันประการมีปริมาณเท่าไร แล้วที่เราเบาใจ โปร่งใจ สงบใจนั้น มีปริมาณเท่าไร ลองๆ จับตาดูมันบ้าง ถ้าเราจับตาดูสังเกตว่า อ้อมันมีแต่เรื่องวุ่นวายใจมากมาย ความทุกข์มันเกิดอยู่อย่างนั้น ทีนี้มันเกิดเรื่องอะไร เกิดด้วยความหลงผิดนั้นเอง เกิดด้วยความเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ เราจึงได้เกิดมีความทุกข์ขึ้น ไอ้สิ่งที่มันไม่ดี เราไปนึกว่ามันดี ไอ้สิ่งผิดเราไปนึกว่ามันเป็นสิ่งถูก สิ่งชั่วเราก็ไปนึกว่าดีว่าถูก แล้วเราก็ทำลงไปด้วยอำนาจความหลง พอทำลงไปด้วยความหลงก็เกิดความทุกข์ เมื่อเกิดความทุกข์แล้วเราไม่มองที่ตัวเรา ไม่ค้นหาเหตุของการกระทำ ว่าเราได้ทำอะไรไว้ จึงได้เกิดความทุกข์อย่างนี้ ตัวได้ทำอะไรไว้จึงมีเรื่องนี้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เราไม่คิด เราไม่มอง เพราะฐานในใจของเราที่ตั้งไว้ผิด ตั้งไว้ผิดอย่างไร ตัวเรานึกว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไรๆ ภายนอกมาทำให้เราเป็นไป
เช่นว่าทุกข์เพราะดวงไม่ดี ทุกข์เพราะวันไม่ดี ทุกข์เพราะไอ้นั่นไม่ดี ไอ้โน้นไม่ดี นี่เรียกว่าฐานที่ตั้งไว้ผิดแล้ว พอตั้งฐานไว้ผิดเวลาทุกข์ก็ไม่ได้คิดว่า มันเกิดจากภายใน แต่เราไปนึกว่ามันเกิดมาจากภายนอก จากบุคคล จากเหตุการณ์ จากดินฟ้าอากาศ จากเรื่องนั้นเรื่องนี้ ว่าไปเสีย ว่าไปข้างนอก ไม่มีทางแก้ เพราะเราไปมองหาอยู่ข้างนอกจะไปตามแก้ได้อย่างไร เช่น เรื่องคน คนโน้นก็ไปโน้นเราจะไปแก้เขาอย่างไร ฝนตกมันก็ผ่านไปแล้วเราจะไปตามแก้อย่างไร อะไรๆ มันแก้ไม่ได้ แต่ถ้าในตัวเราแก้ได้ เราศึกษาในตัวเรา เหตุมันอยู่ในตัวเรา มองหา ค้นหา นั่งลง สงบจิตสงบใจ แล้วก็คิดดูว่า เราได้ไปพบกับใคร เราได้คิดอะไร เราได้พูดอะไร เราได้ไปในสถานที่ใด ลองทบทวนด้วยความสงบใจ ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบครอบในเรื่องนั้นๆ ทำไปๆๆ ประเดี๋ยวก็เจอต้นตอ อ้อมันอยู่ตรงนี้เอง มันเป็นสายโซ่ๆ เหตุเกิดขึ้น ถอยไปๆ เป็นวงๆ ไป ก็เจอต้นสายมันก็เพราะเรื่องนี้ เพราะเรื่องอะไร เพราะเรื่องเราหลงผิดนั่นเอง มิจฉาทิฐินั่นเองจึงได้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น เพราะเรามีมิจฉาทิฐิไม่เข้าใจถูกต้องเราจึงไปดื่มของมึนเมา เราไปเล่นการพนัน เราไปเที่ยวกลางคืน เราไปคบกับคนนั้นเรานึกว่าเขาดี แต่ความจริงมันแย่เลยเสียท่าเอา เหมือนกับเมื่อเช้าวิทยุอ่านข่าวว่าหมอคนหนึ่งอยู่นู้นกาญจนบุรีเป็นหมอมีชื่อ ชื่ออะไร ชื่อหมอพวง เขาอ่านเมื่อเช้า แกมันไม่ค่อยสบาย หมอนี้รักษาคนอื่นได้แต่พอถึงตัวไม่สบายนี้แย่เหมือนกัน เขาจึงพูดว่า ไอ้นี่ขี้ตัวเองตำตาตัวเองไม่ได้ พอตำเข้าไปมันหลับจะตำไปได้อย่างไร ตามันรู้กูจะถูกตำ เลยไม่สบายพอไม่สบายก็มารักษาในเมือง รักษาก็อยากจะหาคนมาช่วยนั่งเป็นเพื่อน ดูแล รับใช้ นางพยาบาลเยอะแยะก็ไม่เอา ไปเอาผู้หญิงอะไรก็ไม่รู้ เอามารับใช้ใกล้ชิด คนเรามันใกล้กันมันก็เกิดจิตใจผูกพันกันขึ้น เลย ...... ก็บอกว่าเธอมาอยู่กับฉันเถอะ เลยพาไป ไปอยู่ที่คลินิก อยู่แล้วก็มอบหาหน้าที่ดูแลบัญชีเรียบร้อย ดูไปดูมาแม่คนนั้นหายไปเสียแล้ว ไม่หายเปล่าเอาเงินไปสามหมื่น อันนี้หมอก็เดือดร้อน เลยต้องทำตัวเป็น Detective ทำเป็นสันติบาลเที่ยวสืบเสาะ สืบไปสืบมาก็มาพบแม่โฉมยงค์ที่แถวสะพานควายนี่ กำลังนั่งกินก๋วยเตี๋ยวหม่ำก๋วยเตี๋ยวอยู่ หมอเข้าไปจับมือ อะไรเรื่องนี้ต้องพูดกันหน่อย จับหน่อยมันก็ดิ้นรนไม่ยอม หมอชักปืนออกมาก็เลยเกิดการแย่งปืนกัน ปืนลั่นถูกมือแม่หญิงคนนั้นบาดเจ็บ เอ๊าไปหาตำรวจ ตำรวจก็เลยพูดจาประนีประนอมกัน ต่างฝ่ายต่างไม่เอาความกัน แล้วหมอก็ต้องเสียเงินค่าแผลเข้าไปอีก ค่าร้านก๋วยเตี๋ยวเสียหายเข้าไปอีก เขาเรียกว่า คนมันเคราะห์ร้าย เคราะห์ร้ายมันเกิดจากอะไร เกิดจากมันโง่ ไม่ใช่มันเกิดจากอะไร คือความโง่ไม่ดูคน เราจะไปเอาคนมารับใช้ใกล้ชิด ดูให้ดีก่อน มันคือใคร มันมาจากไหน ไม่ระมัดระวังตัว เรียกว่า ความเข้าใจผิดนั่นเองทำให้เกิดความเสียหายชีวิตเดือดร้อนวุ่นวาย เป็นอย่างนี้
อันนี้ถ้าไปพูดกับคนธรรมดา หมอนี่มันเคราะห์ร้ายดวงไม่ดีเลย ไปว่าดวง ว่าเคราะห์ ว่าไอ้นู้นว่าไอ้นี่ไม่ดี แต่ไม่พูดว่าหมอนี่มันโง่ที่ไปทำอย่างนั้น ขืนพูดเดี๋ยวหมอเตะเอาเท่านั้นเอง เรื่องอย่างนี้คือความเขล่า ความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วก็ไม่ยอมรับว่าตัวผิด ตัวผิดแล้วก็ยังไม่ยอมรับ เหมือนลาวยิง นกข.ไทย มันบอกว่ายิงจริงแต่คงจะเป็นมือที่สาม ไอ้มือที่สามมันจะยิงได้อย่างไรคนมันมีสองมือเท่านั้น มันพูดไม่เขาท่า มือสาม มันยิงยังไงมือสาม มันสองมือใช่ไหม มือขวาหรือมือซ้ายที่ยิง คงเป็นพวกมือซ้ายเท่านั้นไม่ใช่พวกมือขวา นี่เขาเรียกว่ามันพูดอย่างคนที่ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่มีสัมมาทิฐิอยู่ในใจมันจึงพูดอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น ถ้าเราศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังแล้วจะพบสาเหตุของเรื่อง เพราะเหตุมันอยู่ในตัวเรา
พระพุทธเจ้าบอกว่า เหตุอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน เหตุนั้นก็คือความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องอะไรให้มันรอบครอบรอบรู้ เผลอไผลไปทำลงไปจึงได้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เราจึงต้องศึกษาค้นคว้ามีอะไรเกิดขึ้นต้องใช้ปัญญาของพระพุทธเจ้า เรียกว่าวิธีการของพระพุทธเจ้า เพื่อค้นให้พบเหตุของมัน แล้วก็ตัดตัวเหตุออกไป เมื่อตัดตัวเหตุออกไปผลมันก็หายไป เหมือนเราเห็นหญ้ามันขึ้นในสนามแต่เราไม่ชอบ เราก็ต้องขุดทิ้ง ไม่ขุดเอาเครื่องตัดหญ้าตัดเดี๋ยวมันก็เจริญเดี๋ยวมันเจริญไม่จบไม่สิ้น จึงต้องขุดรากถอนโคนเลย ในใจเรานี้ก็เหมือนกัน ต้องขุดรากถอนโคนคือถอนตัวอวิชชา ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ความหลงผิดอะไรต่างๆ ออกไปเสียจากใจของเราให้หมดสิ้น มันจะไม่งอกงามเป็นเชื้อขึ้นมาอีกต่อไป นั้นแหละเราจึงจะเอาตัวรอด
เพราะฉะนั้นการศึกษาพุทธศาสนาในเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ได้และทางปฏิบัติให้ถึงตรงทางดับทุกข์ เป็นตัวสัมมาทิฐิ ตัวสัมมาทิฐินี้ลึกซึ้งมาก ต้องลึกซึ้งจนเข้าใจเรื่องชีวิตถูกต้อง เรื่องอะไรถูกต้อง จนกระทั่งความทุกข์ไม่มารบกวนเราอีกต่อไป เพราะเรารู้จักอะไรหมดแล้ว เห็นอะไรก็รู้อะไรเป็นอะไร รู้ลึกหมดตื้นลึกหนาบางรู้เรื่องหมดทุกประการ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ถูกต้องอะไรๆ ก็รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร เพราะมันจะเกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเราต่อไปนี้แหละคือสัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิต้องมีอยู่ตลอดเวลา ต้องมองต้องพิจารณาเรื่องทุกเรื่องให้รู้ชัดตามสภาพที่มันเป็นจริงอยู่ตลอดไป เราก็จะพ้นจากภัยจากเวรจากความทุกข์จากศัตรูทั้งภายในทั้งภายนอกด้วยประการทั้งปวง นี้เป็นเรื่องสัมมาทิฐิอย่างหนึ่ง ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจตามนี้ วันอาทิตย์หน้าค่อยว่าต่อไปอีก แล้วก็วันนี้ก็พอสมควรแก่เวลา ฝนฟ้าไม่ตกนับว่าดีแท้ ขอพรอย่าตกก่อนตอนนี้ อย่าตกญาติโยมจะได้ไปตักบาตรกันในสวนไผ่สบายหน่อย ตกลงมาแล้วไม่ได้ คนมากเดือดร้อน อย่าตกเป็นอันขาด อธิฐานใจไว้อย่างนั้น ว่าไปตามเรื่อง แต่ถึงบทมันจะตกมันก็ตก เรื่องของดินฟ้าอากาศ แต่เราก็พูดให้มันสบายใจ อย่าตกก่อนเลย เอาละต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลาห้านาที นั่งสงบใจ เอ๊าหนู นักเรียนที่นั่งข้างบนหัดนั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตาเสีย แล้วก็หายใจเข้ายาว หายใจลึกๆ หายใจออกมาจนหมดลมหายใจแล้วหายใจเข้า ให้ความคิดเขาเรียกว่า มีสติอยู่ที่ลมเข้าลมออก ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นตลอดเวลา ๕ นาที เอ๊าเชิญได้