แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวันเพ็ญที่ผ่านมานี้ เราทั้งหลายคงจะได้ไปทำบุญกันเป็นพิเศษเพราะเป็นวันเพ็ญวิสาขบูชา ที่วัดนี้ก็ได้มีคนมาในตอนเช้าตอนบ่ายมากกว่าปกติ แสดงว่าญาติโยมมีความสนใจ มีความระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของชาวเราทั้งหลาย เมื่อระลึกถึงพระองค์ ก็ระลึกถึงคำสั่งสอนที่พระองค์ได้แสดงไว้ เป็นการชี้ทางชีวิตให้เราได้เกิดความเข้าใจ เราจะได้เดินไปตามเส้นทางที่พระองค์ชี้ไว้ให้
ทางที่พระองค์ชี้ให้เราเดินนั้น เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์พ้นร้อน เป็นทางที่ควรเดิน เป็นทางที่ใครเดินแล้ว ย่อมเห็นผลด้วยตนเอง ว่าผลแห่งการเดินทางนั้นเป็นอย่างไร พอเริ่มเข้าเส้นทางเราก็เห็นแล้ว คือเห็นว่ามันสบาย สงบ หมดปัญหาขึ้นไปโดยลำดับ เมื่อเดินไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นผลแห่งการเดินมากขึ้น เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง เราก็จะรู้สึกว่า ตัวเราหายไป มีแต่ธรรมชาติแห่งความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ในใจตลอดเวลา ปัญหาต่างๆ ที่เราเคยประสบ ก็ไม่เกิดขึ้นแก่เราต่อไป นั่นคือปลายทางที่เรามุ่งจะไปให้ถึง
เราเป็นพุทธบริษัท เป็นลูกศิษย์ (ของ) พระพุทธเจ้า เราก็ควรเดินตามเส้นทางที่พระองค์ชี้ไว้ให้เราเดิน ถ้าเราไปเดินทางอื่น ซึ่งไม่ใช่ทางที่พระองค์ชี้ไว้ให้ก็เรียกว่า เราเป็นผู้เดินนอกทาง เมื่อเดินนอกทางก็ไปถึงจุดปลายทางไม่ได้ มันไปถึงจุดอื่น ซึ่งไม่ใช่จุดที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เราเดิน การเดินทางนั้นเสียเวลาเสียเรี่ยวแรง แล้วบางทีก็เรียกว่าตายเปล่า ไม่ได้ประโยชน์จากการเดินทางเลยแม้แต่น้อย กลับจะเป็นการเพิ่มปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราด้วยประการต่างๆ เพราะการเดินผิดทางนี่เอง เพราะฉะนั้น การเดินทางนี่จึงต้องพิจารณา ใช้ปัญญาในการที่จะเดิน ว่าเราควรจะไปทางไหน ให้เป็นทางที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เดิน อย่าไปทางที่พระองค์ไม่ได้ชี้ไว้ ทางที่พระองค์ไม่ได้ชี้ไว้มันก็มีเหมือนกัน เขาเรียกว่าทางอื่น ลัทธิอื่น ในคำบาลีเขาเรียกว่า อัญญติตถิยะ
ติตถิยะ แปลว่า ท่า ท่าน้ำ ท่าเรือ เหมือนกับท่าเรือต่างๆ ในกรุงเทพนี่ ท่าเขียวไข่กา ท่าสามเสน ท่าบางลำพู ท่าช้างวังหลวงวังหน้า เราเรียกว่า ท่า ทั้งนั้น
ท่า นั้นเป็นที่สำหรับเรือเข้ามาจอด ให้คนขึ้นจากเรือ เป็นท่าที่คนลงไปในเรือ เพื่อจะเดินทางต่อไป ฉันใด หลักคำสอนในทางพระศาสนาก็เรียกว่าเป็นท่าเหมือนกัน ภาษาบาลีใช้คำว่า ติตถิยะ เวลาเรามาพูดในภาษาไทยว่า เดียรถีย์ เดียรถีย์นี่ก็คือศัพท์แผลงมาจากภาษาสันสกฤต เราเรียกว่า เดียรกีย์
เดียรถีย์นั้นเป็นคำกลางๆ ไม่ว่าดี-ไม่ว่าร้าย ไม่ว่าถูก-ว่าผิด มันเป็นคำกลางๆ อยู่ พระพุทธคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นท่าหนึ่งเหมือนกัน เป็นท่าที่พระองค์ให้เรือมาจอด ให้คนลงเรือเพื่อจะนั่งเรือข้ามฝั่งไปสู่ฝั่งโน้น ฝั่งโน้นนั้นคือฝั่งแห่งความสงบ สะอาด สว่าง ทางจิตใจ เป็นฝั่งที่ไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องยุ่งยาก ท่าที่พระองค์ให้เรือมาจอดนั้นก็เรียกว่าท่าของพระพุทธเจ้า หรือ (เรียกว่า) เป็นเดียรถีย์ที่พระพุทธเจ้าให้เดิน แต่ถ้าหากว่าเป็นท่าอื่น ในคำบาลีเขาใช้คำว่า อัญญติตถิยะ คือว่าท่าอื่น มีคำว่า อัญญะ เข้าไปข้างหน้า ถ้าใช้คำว่า อัญญติตถิยะ แล้วมันก็เป็นท่าอื่นไป หรือว่าเดียรถีย์ถ้าเราใช้ก็เรียกว่า อัญญเดียรถีย์ คือเดียรถีย์อื่น อย่างนั้นมันเป็นการผิดออกไปจากเส้นทาง (ของ) พระพุทธเจ้า
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเขียนเหน็บแนมท่านเจ้าคุณพุทธทาส เขียนว่า “คำสอนเดียรถีย์” ท่านไม่ได้เจ็บปวดอะไร ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร เพราะเป็นคำพูดที่กลางๆ ไม่ว่าดีว่าชั่ว ไม่ว่าเสียหายอะไร เป็นคำสอนที่มีอยู่ แต่ถ้าพูดว่า อัญญเดียรถีย์ แล้วก็ทำให้วุ่นวายสักหน่อย คือว่าๆ ผิดไป แต่นั้นเขาว่าไม่ผิด แต่เพราะคนใช้ไม่เข้าใจ ไม่รู้มูลฐานของศัพท์ ไม่รู้มูลฐานของภาษาที่คนใช้ เลยใช้ว่า “คำสอนเดียรถีย์” จุดมุ่งหมายคือต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คำสอนที่ท่านพุทธทาสสอนนั้นไม่ได้เรื่อง แต่ว่าใช้คำไม่ถูก เลยไม่เกิดเรื่องอะไรสำหรับผู้ถูกค้อน แต่ว่าผู้ค้อนเองนั้นเสียเครดิตไปหน่อย เพราะไม่เข้าใจคำที่ใช้ ก็เป็นการลดราคาของตัวเอง คนเราไปว่าคนอื่นนี่มันลดราคาตนเอง เพราะไม่ใช่เรื่องที่ควรว่าควรกล่าว
คำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นท่าหนึ่ง ที่คนจะลงไปในเรือ แล้วเรือก็จะออก เพื่อไปสู่ฝั่งโน้นคือพระนิพพาน พ้นทุกข์พ้นร้อน อัญญเดียรถีย์อื่นเขาก็มีท่าของเขา เช่นท่าของสัญชัย ท่าของปริพาชก ท่าของพวกชฎิล พวกอเจลก (หรือพวกชีเปลือย) ต่างๆ ซึ่งในสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิมากมาย ที่สอนอยู่ในประเทศอินเดีย
ประเทศอินเดียในยุคนั้น จะเรียกว่าเป็นประเทศที่รุ่งเรืองด้วยความคิด รุ่งเรืองด้วยสติปัญญา แล้วก็มีเสรีภาพในการที่จะคิดจะค้น จะกล่าวอะไรออกมาตามความคิดความเห็นของตัว ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่มีใครว่าอะไร เมื่อพูดออกไปแล้วก็มีคนเชื่อฟัง มีคนรับเอาไปปฏิบัติ ก็มีสมาชิกมีผู้สนับสนุน เพราะฉะนั้นท่าขึ้นลงทั้งหลายในด้านจิตวิญญาณนี้ จึงเป็นท่าที่พลุกพล่านด้วยผู้คนอยู่ตลอดเวลา ผู้คนเหล่านั้นเขามาศึกษา มารับทาง เพื่อเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป แต่ว่าท่าทั้งหลายในสมัยนั้น ที่เด่นมีชื่อมีเสียงคนนิยมมาก ก็คือท่าของพระพุทธเจ้า เพราะว่าท่าของพระพุทธเจ้านี้มีคำสอนซึ่งประกอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เป็นสันทิฏฐิโก
คำว่า สันทิฏฐิโก ที่เราสวดมนต์อยู่ทุกเช้าๆ ว่า ...สันทิฏฐิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก... (คำว่า) สันทิฏฐิโก หมายความว่า เห็นประจักษ์ด้วยตัวเอง (คือ) เมื่อเราเอามาปฏิบัติแล้วมันประจักษ์แก่ใจ เป็นสิ่งที่จะมองเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่นั่งนึกเอาอย่างลมๆ แล้งๆ แล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้ว เอามาปฏิบัติก็จะเห็นชัดด้วยตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก
คำสอนในทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น เป็นเรื่อง สันทิฏฐิโก จริงๆ คือเป็นเรื่องที่ ผู้ศึกษา ผู้ปฏิบัติ จะพึงรู้เห็นด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามเขาว่า ไม่ต้องเชื่อตามตำรา หรืออะไรทั้งนั้น แต่เป็นเรื่องที่มันประจักษ์แก่ใจ ว่าสิ่งนี้เมื่อเราปฏิบัติแล้วให้ประโยชน์อย่างไร ให้ความสุขอย่างไร หรือว่าสิ่งใดที่พระองค์สอนไว้ว่า เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม เมื่อเราเอามาปฏิบัติมันก็เกิดความร้อนใจจริงๆ มีความทุกข์จริงๆ จากการปฏิบัตินั้น อันนี้เรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาผู้ปฏิบัติพึงเห็นชัดด้วยตนเอง อย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ
แต่ว่าภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มีคนที่มาเขียนอธิบายหลักคำสอนของพระองค์ หรือว่ามาพูดอธิบายคำสอนของพระองค์ บางทีก็พูดไถลไป ออกไปในทางที่ไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตนเองได้ ไม่สามารถจะนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เป็นเรื่องอนาคตไกลจนมองไม่เห็น มีหลายเรื่องหลายประการ เช่นว่าคำสอนที่ชี้ให้เห็นว่า อะไรๆ เกิดขึ้นในใจของเรา พระผู้มีพระภาคท่านบอกให้เราทั้งหลายทราบว่า ในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่งนี้ ตถาคตบัญญัติว่า มันเป็นโลก มีความทุกข์อยู่ในนี้ เหตุให้เกิดทุกข์ก็อยู่ในนี้ ความดับทุกข์ได้ก็อยู่ในนี้ วิธีการปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ก็อยู่ในนี้
อันนี้พระองค์ชี้ลงมาที่ตัวเรา ที่ร่างกายกับจิตใจของเรา การสอนอย่างนี้เรียกว่า สอนให้เห็นชัดด้วยตัวเอง เป็นสันทิฏฐิโก คือเราเห็น เพราะว่าชี้ให้มองที่ตัวมันก็เห็น เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เห็นสุขเห็นทุกข์ เห็นร้อนเห็นเย็น เห็นมืดเห็นสว่าง มันอยู่ในตัวเราทั้งนั้น แต่ที่สอนว่า...อยู่โน้นไกลออกไป อยู่ข้างบนบ้าง อยู่ข้างล่างบ้าง เช่น เรื่องนรกเรื่องสวรรค์อะไรอย่างนี้ ที่เขาสอนกันอยู่ก่อนๆ นี้ (เขา) สอนว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า อย่างนี้มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง เพราะว่าเราจะเห็นไม่ได้ จะมองนรกใต้ดินนี่มันก็มองไม่ได้ จะมองสวรรค์บนฟ้ามันก็มองไม่ได้ เพราะว่ามองไม่ไหว มองไปก็เจอฟ้าทุกที ถ้ากลางคืนค่อยยังชั่วหน่อย เจอดาวเจอเดือน แต่กลางวันนี้มองก็เห็นเมฆเห็นฟ้า มันไม่ประจักษ์ในเรื่องสวรรค์ที่อยู่อย่างนั้น การสอนในรูปหยั่งรู้ (13.30 เสียงไม่ชัดเจน) ความจริงมีมาก่อนพระพุทธเจ้า มีมาก่อนยุคพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมาสอน ท่านไม่สอนอย่างนั้น ท่านเปลี่ยน ชี้ให้คนเข้าใจชัดว่า นรกก็อยู่ในตัวเรา สวรรค์ก็อยู่ในตัวเรา นิพพานก็อยู่ในตัวเรา
คนแก่คนเฒ่าโบราณในเมืองไทยเรานี้ จึงพูดไว้ถูกต้องที่พูดว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ พระนิพพานอยู่ที่ไหน ?” เขาจะพูดเป็นเชิงตั้งปัญหา แล้วก็พูดต่อว่า “ก็อยู่ในใจนั่นแหละ” เขาพูดไว้อย่างนั้น อันนี้ถูกต้อง คนโบราณเราพูดถูกต้อง ไม่ได้พูดผิดจากหลักความจริง ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานอยู่ที่ไหน...มันก็อยู่ที่นั่น ความจริงมันอยู่ที่ใจแหละ แต่ว่าพูดให้มันเป็นสำนวนว่าอยู่ในอกในใจของเราทั้งนั้น ถ้าพูดให้มันชัดก็ว่าอยู่ในใจของเรา หรือว่าอยู่ในจิตใจของเรา จิต กับ ใจ นี่มันอันเดียวกันนะ แต่ว่าภาษาไทยเรามีสำนวน (ที่) เรียกว่าสะบัดสะบิ้งหน่อย พูดอะไรก็ให้มันแพรวพราวไป ให้มันเสียเวลา ให้ฟังเพราะด้วย
เช่นพูดว่า จิตใจ จิต มันก็คือ ใจ แหละ ใจ มันก็คือ จิต นั่นแหละ จิต นั่นคือภาษาบาลี ใจ (เป็น) ภาษาไทยแท้ แต่นี้เราแปลบาลีมาเป็น ใจ แปลแล้วไม่ทิ้งเอามาด้วย เลยพูดว่า จิตใจ เอามันทั้ง ๒ ภาษาแหละ ทั้งบาลีทั้งไทยว่า จิตใจ อะไรอย่างนี้เป็นตัวอย่าง ความจริงนั้นเป็นเรื่องอันเดียวกัน จิต ก็คือ ใจ นั่นแหละ ใจ ก็คือ จิต นั่นแหละ แล้วก็มีอีกคำหนึ่งที่เรามักจะได้ยินพูดว่า มโน มันก็อันเดียวกันนั่นแหละ เรื่องคำเดียวกันทั้งนั้น ๓ คำนี้ จิต ใจ มโน มันก็เป็นคำเดียวกัน
สิ่งทั้งหลายมันอยู่ในจิตของเรา นรกก็อยู่ในจิตของเรา สวรรค์ก็อยู่ในจิตของเรา พระนิพพานก็อยู่ที่จิตของเราเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนในรูปอย่างนั้น เพื่อให้เห็นชัดว่ามันเกิดอยู่ เป็นอยู่ในตัวเรา ถ้าอยู่ในตัวเราอย่างนี้เราเข้าถึงได้ และเราก็แก้ไขได้ด้วย เช่นว่าเรื่องของอบายภูมิ
อบายภูมิ คือที่ที่ไม่ดี ที่ที่ใจไปอยู่แล้วมันไม่ดี มันเดือดร้อน มันวุ่นวาย มันเป็นปัญหา อบายภูมินี่มีอะไรบ้าง มี สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย แล้วก็ (ผี) ของไม่ดีทั้งนั้นแหละที่ว่าๆ มา
อบายภูมิ คือที่ไม่สบาย ความคิดที่ไม่สบาย ใจเราไปตั้งอยู่ในที่ไม่สบาย เช่นว่าตั้งอยู่ในภาวะของความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าพูดว่าสัตว์เดรัจฉานที่เดินท่อมๆ อยู่ในทุ่งในนา คือวัว ควาย ช้าง ม้า หรือว่าสัตว์ที่อยู่ในบ้าน เช่น สุนัขและแมว อันนี้มันก็เห็นด้วยตา แต่ว่ามันไม่เกี่ยวด้วยจิตใจของคน ไม่ได้เกี่ยวในทางปฏิบัติธรรม เพื่อจะให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าว่าจะเป็นอย่างนั้น โน่นมันต้องตายแล้วถึงจะเป็น (อย่างนั้น) ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เป็นอสูรกาย มองไม่เห็น มันไม่เป็นสันทิฏฐิโกคือเห็นชัดด้วยจิตใจของเรา พระพุทธเจ้าท่านจึงต้องการให้เห็นชัดลงไป พระองค์จึงบอกว่า สัตว์เดรัจฉานคือความโง่ ในขณะใดที่จิตเราโง่ ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง เวลานั้นจิตใจเราอยู่ในสภาพของสัตว์เดรัจฉาน
เรามีความโง่อยู่ อันนี้เห็นได้เลย พอเราโง่ปั๊บเราก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน คิดแบบโง่ๆ ทำอะไรแบบโง่ๆ เพราะอำนาจความคิดนั้น ก็เรียกว่าเป็นสภาพของสัตว์เดรัจฉานไป มันเป็นขึ้นได้ในตัวเรา เราก็หลีกมันได้ คือเราไม่ยอมให้โง่ เราต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ เพื่อทำตนให้เป็นคนฉลาดในเรื่องอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา เราไม่ยอมโง่ เราไม่ยอมทำอะไรโง่ๆ ไม่ยอมคิดอะไรโง่ๆ ไม่ยอมพูดอะไรที่แสดงความโง่ แสดงความโข่งอะไรออกมา อย่างนี้มันหลีกได้ ไม่ให้มันเกิดขึ้นในใจเราก็ได้ เพราะว่ามันอยู่ในตัวเรา เราไม่ให้เกิดก็ได้ ทำให้มันเกิดขึ้นมาก็ได้ แต่ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ทำให้เกิดมาเพื่อความไม่สบาย เพื่อความตกต่ำ (ของ) การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ใครอยากจะเป็นเช่นนั้นบ้าง ถ้าใครมาด่าเราว่า “อ้ายชาติสัตว์” นี่เราไม่ชอบแล้ว พอเขาด่าอย่างนั้นเราไม่ชอบ แต่หารู้ไม่ว่า...เผลอๆ เราจะเป็นเอาเสียเอง มันเป็นได้นะ
วันหนึ่งๆ นี่เราอาจจะเป็นสัตว์เดรัจฉานได้หลายครั้ง ถ้าเราไม่ระวังความคิดของเรา ไม่มีปัญญารู้เท่ารู้ทัน เราก็เผลอเป็นสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาได้ อย่างนี้มันเป็นได้ง่าย เห็นได้ง่าย ท่านจึงสอนไว้ในรูปอย่างนั้น เพื่อให้เราเข้าใจชัด แต่ว่าไม่ค่อยมีใครนำเอาคำสอนที่พระพุทธเจ้าพูดนี้มาสอน ถ้าจะสอนเรื่องนี้ทีไรก็ชี้ไปในอ้ายเรื่องควายเรื่องวัว มันเป็นวัตถุทั้งนั้น ไม่ได้ชี้ลงไปที่นามธรรมอันจะเกิดขึ้นในใจของเรา ว่าถ้าเราโง่เมื่อใดแล้วเราจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นตัวอย่าง
หรือว่าสัตว์นรกนี้ก็เหมือนกัน เราเห็นภาพฝาผนังที่เขาเขียนไว้ ภาพสัตว์นรกเป็นภาพอย่างนั้นภาพอย่างนี้ นั่นเขาเขียนไว้สอนเด็ก เพื่อให้เด็กเห็นเป็นภาพไปก่อน ถ้าเป็นผู้ใหญ่เขาไม่เอาอย่างนั้นแล้ว ให้รู้ว่า ความร้อนอกร้อนใจอันเกิดขึ้นจากความคิดชั่ว การพูดชั่ว การทำชั่ว การคบหาสมาคมด้วยคนชั่ว การไปสู่สถานที่ชั่ว นั่นแหละคือนรกของเรา นรกที่อยู่ในใจของเรา พอเกิดขึ้นมาแล้ว...มันร้อนใจ
เวลาโกรธนี้เราอยู่ในสภาพอะไร ลองพิจารณา พอโกรธขึ้นมาเราก็เป็นสัตว์นรกขึ้นมาแล้ว แล้วที่ได้โกรธนั้นเพราะเราเป็นเดรัจฉาน เราเป็นสัตว์เดรัจฉานคือเราโง่ในเรื่องที่มันมากระทบ เช่น สิ่งใดมากระทบเรา เราโง่ เราไม่มีปัญญา เมื่อไม่มีปัญญาก็เกิดความโกรธขึ้นมา พอโกรธขึ้นมามันก็ร้อน ความโกรธแผดเผาใจให้เร่าร้อน หรือว่าเกิดความเกลียดก็ร้อน เกิดความริษยาก็ร้อน เกิดความอาฆาตเคียดแค้นพยาบาทต่อคนนั้น มันก็ร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นนรก
เขาว่านรกนั้นมันมีสภาพอย่างไร นรกนั้นมีแผ่นเหล็กทองแดงอยู่ข้างล่าง ฝาทุกด้านมีแผ่นทองแดงลุกเป็นเปลว เขาทำภาพให้เห็นง่ายๆ ว่าลุกเป็นเปลวอยู่รอบด้าน ทั้ง ๖ ด้านนะ ด้านล่าง ด้านบน ด้านขวา ด้านซ้าย ด้าน เท้า ด้านหัว มันเป็นเปลวอยู่ทั้งนั้น เราไปนอนอยู่ในระหว่างแผ่นเหล็กแดงซึ่งลุกเป็นเปลวเพลิง ถ้าเราไม่ตีปัญหาเป็นภาษาทางธรรมะ เราก็นึกว่า โอ้ ตายแล้วนี่ไปนอนร้อนอยู่ในกระทะทองแดง ไปร้อนอยู่ในระหว่างแผ่นเหล็กแดง นึกไปถึงเมื่อตายแล้วนะ อันนี้คนมันก็ไม่กลัว เพราะนึกว่า ตายแล้ว...ช่างหัวมัน อยู่ในโลกนี้ให้มันสบายก็แล้วกัน ไม่กลัว เพราะไม่เห็นในตัว
แต่ถ้าเรามารู้ว่า ความร้อนนี่มันน่ากลัวหรือไม่ เราเคยร้อนใจหรือเปล่า เคยมีปัญหาแล้วก็นั่งร้อนอกร้อนใจ มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ กินก็ไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ มันเป็นสุขหรือไม่ นั่นแหละคือความร้อน แล้วนั่นแหละคือนรกที่เรากำลังตกอยู่ เดินก็ร้อน นั่งก็ร้อน นอนก็ร้อน ไม่มีความสุขในใจเลยคนที่มีความร้อนนี่ไม่มีความสุข คนเราเวลาอยู่ในสภาพอย่างหนึ่ง แล้วจะเปลี่ยนชีวิตไปสู่สภาพอย่างหนึ่งนี่ เป็นคนที่ร้อนอยู่ในใจ นอนไม่หลับเลย ไปนอนในที่เงียบๆ สงบ ใครเขาก็นอนหลับกันทั้งนั้น เพราะว่ามันเงียบ มันเป็นป่า ไม่มีเสียงอะไรรบกวน บอกว่า นอนไม่หลับเลยทั้ง ๔-๕ คืนที่ไปอยู่นี้ มันทนไม่ไหว นั่นแหละเขาเรียกว่าตกนรกแล้ว
ตกนรก คือนอนไม่ได้ นอนแล้วมันร้อน นอนข้างขวาก็ร้อน นอนข้างซ้ายก็ร้อน เอาหลังลงไปก็ร้อน นอนคว่ำก็ร้อน ลุกขึ้นนั่งก็ร้อน เดินอยู่ก็ร้อน ทนไม่ไหวแล้ว อ้ายอย่างนี้มันต้องจุติเกิดแล้ว ถ้าร้อนแบบนี้ มันร้อนเหลือเกิน สติปัญญาที่เคยมีบ้าง...ไม่ใช้แล้ว เอามาใช้ไม่ได้ เพราะความโง่มันเข้าครอบงำเหลือเกิน โง่เข้าครอบงำแล้ว...มองไม่เห็นแล้ว ไม่รู้ว่าธรรมะมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าดีกับเราอย่างไร พระธรรมให้ประโยชน์ชีวิตอย่างไร มันนึกไม่ออก ไม่สามารถจะใช้ยาคือธรรมะ เพื่อเยียวยาตัวเองให้พ้นจากความร้อน เลยก็ต้องกระโจนลงไปในกระทะทองแดง ยิ่งร้อนหนักเข้าไปอีกต่อไป นี่คือความเห็นผิด
ความเห็นผิดนั้นก็คือความโง่แบบหนึ่งที่เกิดขึ้นใจของเรา แล้วเราก็หลงไปในเรื่องอย่างนั้น เหมือนกับว่าคนมีความทุกข์ทางใจ แล้วก็ไม่เข้าใจเรื่องความทุกข์ ไม่เข้าใจปัญหาชีวิตถูกต้อง นึกว่าเป็นทุกข์นี่ต้องแก้ด้วยวัตถุ ก็ไปแก้ด้วยการดื่มสุราเมรัย เพราะหนังที่แสดงทุกเรื่อง พระเอกกลุ้มใจนี่ต้องไปกินเหล้า นางเอกกลุ้มใจก็ต้องไปกินเหล้า มีเหล้าทั้งนั้นแหละ คนมันดูๆ อ้อ เหล้านี่แก้กลุ้มได้นะ เลยมันพอทุกข์นี่มันก็ไปดื่มเหล้า ดื่มให้สลบไสลไปเลยล่ะ ไม่รู้ตัวเลย นี่คือความโง่ ความโง่ไม่รู้ว่าเหล้ามันเป็นทุกข์แก่ร่างกาย แก่จิตใจ เลยไปทำด้วยความโง่ เป็นสัตว์เดรัจฉานเข้าไปแล้ว แล้วพอทำแล้วมันร้อน ทีหลังร้อน (ตอน) เวลาเมานี้มันไม่ร้อนนะ เพราะมันไม่มีความรู้สึกอะไร หลับไป พอตื่นปั๊บขึ้นมาร้อนอีกแล้ว ร้อนอีกก็ต้องกินอีก นี่เขาเรียกว่า ดื่มน้ำทองแดง
ที่เขาเขียนภาพในนรกว่าดื่มน้ำทองแดง น้ำทองแดงลุกเป็นเปลว พวกนายนิรบาลจับสัตว์นรกลงไปนอนหงาย เอาคีมจับปากอ้าแล้วกรอกลงไป พอกรอกลงมันก็ดิ้นรนด้วยประการต่างๆ อันนี้คือหมายความว่า สิ่งที่เราดื่มเข้าไปนั้น มันร้อน มันมีความทุกข์ ดื่มด้วยความทรมาน เหมือนกับเขาเอาคีมมาจับปากอ้าออกไป แล้วกรอกน้ำนั้นลงไปในคอ ก็ถูกเผาถูกไหม้ ภาพนั้นเขาเขียนให้เห็นอย่างนั้น เป็นภาพปริศนาธรรม เป็นข้อเตือนใจให้คนได้พิจารณา แต่ว่าถ้าไม่พิจารณา มันก็ไม่เกิดปัญญาในเรื่องนั้น ไม่เข้าใจ ก็นึกเป็นภาพว่า อ้อ เมืองนรกมันเป็นอย่างนั้น ไม่ได้คิดว่านรกในใจเรานี่มันมีสภาพอย่างไร มันร้อนขนาดไหน ร้อนด้วยเรื่องอะไร เราไม่เข้าใจว่ามันร้อนอยู่ในใจของเรา เมื่อไม่เข้าใจก็เลยไม่แก้ไขตัวเองได้ ปล่อยตัวไปตามเรื่องตามราว นี่สัตว์นรกมันร้อนอย่างนี้ หาเรื่องให้ร้อนอกร้อนใจ
หรือว่าเราทำอะไรเสียหายแล้วก็ร้อนใจ เช่นว่า ไปเล่นแชร์ เล่นอะไรกับเพื่อน แล้วเจ้ามือเขาหนีไปเสีย อ้าว เราร้อนใจอีกแล้ว ตกนรกอีกเหมือนกันแหละ มานั่งร้อน เจ็บใจนัก...มันทำได้ พอถึงบทเราจะเปียแล้วมันหนีไปเสียได้ ตอนมันจะเปียแล้วมันอยู่ เลยมันร้อนอีกแหละ...ร้อนใจ ไม่สบายใจ เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ก็ร้อนอย่างนี้ เรื่องอื่นก็เยอะแยะ สิ่งที่เรียกว่าเป็นทางแห่งอบาย เช่น การเสพของมึนเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนชั่ว เกียจคร้านการงาน สนุกสนานไม่เข้าเรื่อง ทางร้อนทั้งนั้น ทางแห่งอบาย ทางที่จะทำให้ใจเราไปสู่ภาวะของสัตว์เดรัจฉาน ของสัตว์นรก ของพวกเปรต ของพวกอสุรกาย พวกผี พวกอะไรต่างๆ ทั้งนั้น แต่ว่าเราไม่ได้พิจารณา ไม่ลึกซึ้งในปัญหาเหล่านี้เลยมองไม่เห็น เลยเข้าไปคลุกอยู่กับในที่เหล่านั้น
พระองค์จึงตรัสว่า ตราบใดที่สัตว์โลกทั้งหลายยังมืดบอดอยู่ด้วยอวิชชา ก็ย่อมจะหลงผิด กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเรื่อยไป แต่ถ้าเมื่อใดเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นขึ้นมา ก็จะวิ่งหนีอย่างสุดฝีเท้าเลยทีเดียว ไม่อยากจะอยู่ในที่นั้นต่อไป เพราะมองเห็นสิ่งนั้นว่ามันเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อนใจ หลักการมันเป็นอย่างนี้ นรกในใจนี่มันเห็นได้ เกิดขึ้นแก่เราเมื่อใดก็ได้ เป็นเรื่องที่น่ากลัว และเราควรจะหลีกให้ห่างออกไปจากนรกเหล่านี้
ความเป็นเปรตก็เหมือนกัน ถ้าเรานึกไปถึงเปรตที่พระโมคคัลลานะไปพบนี่ ที่ปรากฏในหนังสือรุ่นหลังนี่ว่าพระโมคคัลลานะนี่มีฤทธิ์มีเดชมาก เหาะไปที่นั่นเหาะไปที่นี่ บางทีก็โน่นแน่ะไปเมืองนรกก็ยังได้ แล้วไปสวรรค์ก็ยังได้ ไปที่ไหนก็ยังได้ พระโมคคัลลานะท่านอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าท่านลอยไปเหมือนกับมนุษย์อวกาศ หรือว่าเรื่องหนังมนุษย์มหัศจรรย์อะไรอย่างนั้น...ไม่ใช่ ความจริงนั้นท่านมีปัญญาลึกซึ้ง ที่จะอธิบายให้คนเข้าใจในเรื่องของอบายภูมิก็ได้ ให้เข้าใจในเรื่องสุคติภูมิคือสวรรค์ก็ได้ ให้เข้าใจชัดด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าท่านพาคนนั้นเหาะไปอย่างนั้นหามิได้
แต่ว่าคนที่แต่งหนังสือรุ่นหลังนี่ แต่งให้คนที่ปัญญาน้อยๆ อ่าน เขาก็แต่งไปในรูปอย่างนั้น ให้คนที่มีปัญญาคิดไปอีกทีหนึ่ง ปอกเปลือกมันอีกทีหนึ่ง แล้วจะเห็นเนื้อใน แต่สำหรับคนปัญญาน้อย ปัญญาอ่อน ไม่ปอกเปลือกก็ไปเชื่อในทางอย่างนั้น ก็ได้ประโยชน์ในทางศีลธรรมเหมือนกัน คือทำให้คนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในขั้นศีลธรรม แต่ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ หรือเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง ถ้าไม่ปอกเปลือกออกมันไม่ถึง
พระโมคคัลลานะท่านมีฤทธิ์มีเดช ทำอะไรต่างๆ นี้หมายความว่า ท่านเข้าใจวิธีที่จะสอนคนหยาบๆ ให้มีอัธยาศัยสุภาพขึ้น พอสุภาพขึ้นหน่อยแล้ว ต้องให้ประณีตไปอีก ก็ส่งไปที่พระสารีบุตร คล้ายๆ กับ(ว่า)ถ้าว่าเป็นช่างไม้ พระโมคคัลลานะท่านเอาไม้ทั้งต้น (พอ) มาถึงก็ถากเปลือกออก แล้วก็ทำให้มันเป็นรูปเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม อะไรเรียบร้อย พอทำเสร็จแล้วก็โยนโครมไป “เอ้า! สารีบุตรจัดการต่อไป” พระสารีบุตรท่านก็เอากระดาษมาขัด มาแต่ง ให้มันสวยงาม ทาชะแล็ก ชักเงา แล้วไม้นั้นมันก็เรียบร้อยขึ้นมา
พระโมคคัลลานะท่านก็สอนคนที่หยาบๆ พวกนักเลง พวกอันธพาลอะไรอย่างนี้ ให้ท่านไปสอนแล้วก็ดี ไปสอนคนเหล่านี้ดี คือว่าท่านมี (จิตวิทยา) เข้าใจสอน เข้าใจวิธีการที่จะพูดให้คนเหล่านี้พอรู้อะไรขึ้นมาบ้าง ครั้นพอเรียบร้อย (ขึ้นมา) หน่อย ท่านก็ส่ง “เอ้า! ไปเรียนต่อ” ไปเรียนต่อกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ใช้นโยบายของท่าน กล่อมเกลา ขูดเกลา จนกระทั่งว่าใช้ได้ เป็นคนสุภาพอ่อนโยน ไม่ดื้อด้านต่อไป มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ที่ว่าท่านไปนรก ก็หมายความว่าพูดให้คนเข้าใจนรกในใจ สวรรค์ในใจของเรานั่นเอง ท่านอธิบายในรูปอย่างนั้น ให้คนเข้าใจ
เรื่องเปรตนี่ก็เหมือนกัน มีตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเปรตทั้งนั้น พระโมคคัลลานะเป็นผู้เห็นมาทั้งนั้น เปรตร่างกายสูงร้อยโยชน์ แหม! มันใหญ่เหลือเกินเปรตตัวนี้ ร้อยโยชน์นี้มันสักเท่าไร มันจะสูงกว่าภูเขาทองสักกี่ ๑๐๐ เท่า อาจจะสูงกว่าดอยอินทนนท์ในภาคเหนือเสียด้วยซ้ำไป...เปรตที่ยืนตระหง่านอยู่นั่น แล้วก็มีอาการแปลกๆ เปรตบางตัวนี่ก็สันหลังเน่า แล้วเอาเล็บมือที่ยาวตะกุยสันหลังเอามากินเอง แล้ว (ที่ได้รับ)โทษ (นี้เป็นเพราะ) อะไร เขาก็ชี้โทษไว้ว่าโทษอย่างนั้นโทษอย่างนี้ เปรตอย่างนั้นเปรตอย่างนี้ มีมากมายก่ายกอง พระโมคคัลลานะเห็นมาทั้งนั้น แล้วเอามาเล่ากับชาวบ้าน เล่าอย่างนั้น นี่ท่าน (บอกกล่าว) ไปในรูปอย่างนั้น คือว่าท่านสอนไว้ในรูปเป็นตัว เป็นบุคคล ตั้งตุ๊กตาขึ้นมาให้เห็น ให้คนเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น
ความจริงอ้ายตัวเปรตแท้ๆ นั้น คือความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ในสิ่งที่ตนจะมีจะได้ เรื่องที่มนุษย์เราจะมีจะได้ มันก็หลีกไม่พ้นจากเรื่องกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๕ อย่างนี้ เขาเรียกว่า กามคุณ ๕
กามคุณ ๕ คือสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าแสวงหาของชาวโลกทั่วไป ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ แม้สัตว์เดรัจฉาน มันก็แสวงหาสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าเราแสวงหาเกินพอดีไป มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเรามีเราใช้พอดีๆ มันก็พอสบาย ไม่เกิดปัญหาอะไร
ท่านจึงกล่าวเปรียบว่า คนที่มักมากอยากได้ในวัตถุจนไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ แล้วก็มีความทุกข์ มีความร้อนอกร้อนใจในสิ่งที่ตนจะมีจะได้ อย่างนี้เขาเรียกว่ามีความเป็นเปรตอยู่ในใจของบุคคลผู้นั้น คือมีความร้อนใจจากความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ
คนเรานี่...ความอิ่มความพอนี่มันไม่ค่อยมี ถ้าไปถามใครเขาก็ว่า “แหม ยังน้อยไป ยังไม่พอกินไม่พอใช้” คราวหนึ่ง ถามเถ้าแก่คนหนึ่งซึ่งมีเงินมาก ถามว่าเวลานี้รายได้วันละเท่าไร “เวลานี้ได้อยู่วันละ ๕ พันเหรียญ” เหรียญมลายูนะ แกบอกว่า “หมู่นี้มันได้น้อยไป” ได้วันละ ๕ พันนี่ยังน้อยไป แล้วคนอื่นเขาได้เดือนละ ๒ พัน ไม่แย่เข้าไปกว่านั้นอีกหรือ แกว่า “มันน้อยไป รายได้ตกต่ำ แล้วก็ไม่เป็นสุข วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา นั่งตรงไหนก็กลุ้มอกกลุ้มใจ รายได้มันตกลงไป” ความจริงที่ได้อยู่ก็มากแล้วแหละ แต่แกบอกว่า “มันตกลงไป เคยได้มากกว่านั้น เวลานี้มันลดน้อยลงไป” นี่คือ ไม่รู้จักพอ นี่เอง จึงมีอาการเช่นนั้นขึ้นมา
ถ้าคนเรา (รู้จัก) พอเสียบ้าง มันก็สบายใจ เช่น เรามีเท่านี้ก็พอกินพอใช้แล้ว แต่ว่าเราไม่ได้เลิกงานหรอก การทำงานก็ทำไปตามหน้าที่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราหยุดงาน (พระพุทธเจ้าท่าน) สอนให้เราทำงาน แต่ให้ทำงานด้วยปัญญา ทำงานด้วยความรู้เท่าทันในอันที่จะไม่สร้างปัญหาขึ้นในจิตใจ ไม่ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เราจะทำงานอะไรก็ได้ ทำงานอุตสาหกรรม ทำการค้าขาย ทำไร่ทำนา เป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ แต่มันมีอยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ร้อนใจเพราะการทำงานนั้น อันนี้สำคัญมากตรงนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่ร้อนใจ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ ในชีวิตประจำวัน
ลองถามตัวเราเองว่า เรามีความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน (อย่างไร) อยู่ด้วยความสุขใจ เบาใจ โปร่งใจหรือเปล่า หรือว่าเราอยู่ด้วยความทุกข์ใจ หนักใจ อึดอัดใจในเรื่องอะไรต่างๆ ลองศึกษา ลองมองเข้าไปด้านใน ให้เห็นตัวเองว่ามันอยู่ในสภาพอย่างไร ถ้าเรารู้สึกตัวว่ามีความอึดอัดขัดใจ มีความทุกข์ มีความหนักใจ เอ๊ะ ก็ถามต่อไปว่า นี่มันทุกข์เรื่องอะไร มันหนักใจในเรื่องอะไร อะไรมันเป็นปัญหาที่ทำให้เราต้องมีอาการอย่างนั้น มันต้องสอบสวนไป พิจารณาไป เพื่อให้พบความจริงของสิ่งเหล่านั้น อาการที่เราทำอะไรด้วยความต้องการนั้นอาจจะบรรเทาลงไป เพราะเรามองเห็นว่า ตัวความต้องการ เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวปัญหา เป็นตัวที่สร้างความไม่สบายใจให้เกิดขึ้นแก่เรา
เมื่อเรารู้ว่าตัวนี้ทำให้เกิดปัญหา เราก็แก้มันเสีย อย่ามีความอยากอะไรให้มันมากเกินไป (เพียง) แต่ว่า (ให้) เราทำไปตามหน้าที่ คล้ายกับเราปลูกต้นไม้ เราก็อย่าไปหวังอะไรมากเลย อย่าไปหวังว่าให้มันเจริญงอกงาม ออกดอกออกผลเท่านั้นเท่านี้ แต่ว่าเราปลูกตามหลักวิชา ขุดดินลงไป ผสมปุ๋ยตามส่วน เอาต้นไม้ลงปลูก ปักหลักให้แน่น อย่าให้ลมพัดมันโยกมันโคลง แล้วก็คอยรดน้ำ คอยดูแมลงไม่ให้กัดกินต้นไม้ ทำไปตามหน้าที่ที่เราจะต้องจัดต้องทำ อย่าไปหวังอะไรให้มันวุ่นวายเกินไป
ถ้าสมมติว่าต้นไม้นั้นตายไปเสีย เราไม่ต้องเสียใจว่ามันตายไป แต่เราจะศึกษาต่อไปว่ามันตายเพราะอะไร มันขาดอะไรจึงตายไป ใส่ปุ๋ยมากเกินไป มันสำลักปุ๋ยตาย(หรือ) รดน้ำมากเกินไป มันสำลักน้ำจึงตาย หรือว่าปลวกกินรากของมัน มันถึงตาย ต้องศึกษา พิจารณาต่อไปด้วยใจสงบใจเยือกเย็น แล้วเราค่อยแก้ปัญหาต่อไป ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ ไม่มีความเสียดายเพราะสิ่งนั้นมันตายลงไป เพราะเรานึกว่าอ้ายเรื่องธรรมดามันก็เป็นอย่างนี้ สิ่งทั้งหลายมันเที่ยงเมื่อไร มันถาวรเมื่อไร มันเป็นไปตามที่เราต้องการได้เมื่อไร เราคิดในแง่ความจริงที่เราเรียนรู้มาจากหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้วเราก็ยิ้มกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น บอกว่า “ดีเหมือนกัน มันจะได้ทำให้เราได้ศึกษาต่อไป” เพราะว่าถ้ามันไม่ตาย เราก็ไม่ค้นหาสาเหตุว่ามันตายเพราะอะไร มันเสียไปเพราะอะไร เราก็ไม่ค้นนี่ ไม่ค้นแล้วมันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร เราจึงควรดีใจว่า “แหม! มันดีจริงๆ ต้นไม้ต้นนี้มันตายลงไป เราจะได้ศึกษา ได้ค้นคว้า จะได้รู้เรื่องของมัน (ทะลุปรุโปร่ง) ต่อไป แล้วจะได้แก้ไขต้นอื่นต่อไป” เอ้า ดีไหมอย่างนั้น
แต่ถ้าเราพอเห็น “ตายแล้ว แหมเสียใจ” มานอนเอาผ้าคลุมโปงเลย ไม่พูดไม่จากับใครแล้ว ถ้าเขาถามเป็นอย่างไร “เสียดาย...ต้นไม้มันตายไปเสียต้นหนึ่ง” แล้วมันเรื่องอะไร เรามีต้นไม้ตั้ง ๑๐ ต้น ที่ลงปลูกไว้ มันตายต้นเดียว เหลือตั้ง ๙ ต้น เราจะไปเดือดร้อนอะไรนักหนา เราควรจะนึกว่า “เฮ้อ! มันเสียไปต้นเดียว มันยังเหลือตั้ง ๙ ต้น ที่เราจะต้องดูแลต่อไป อ้ายต้นเดียวที่เสียนี่ มันสอนเรานั่นเอง สอนให้เราฉลาดขึ้น ให้มีปัญญาขึ้น จะได้ศึกษาเรื่องต้นไม้ต้นนี้ให้มันละเอียดต่อไป” นึกอย่างนี้แล้วมันจะเสียใจอะไร โยมลองคิดดู ความเสียใจมันก็หายไป เพราะเราคิดในแง่ปัญญา
เรื่องคนก็เหมือนกัน เช่นว่าเรามีลูกคนสองคน สามคนอะไรก็ตาม ต่อมาก็ลูกคนหนึ่งมันป่วย เราก็รักษาตามหน้าที่แล้วล่ะ รักษาเต็มที่แล้ว แต่ว่าเอาไม่อยู่ ลูกคนนั้นตายไป ถ้าเราคิดในแง่ธรรมะแล้วเราก็ไม่เสียใจ ไม่เสียดายอะไร เพราะเรื่องความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา คนเราเกิดมาก็ตายทั้งนั้นแหละ บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้อง บางคนตายเมื่อออกมาได้นิดเดียว บางคนอยู่ได้เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง โตขึ้นมาหน่อย เป็นเด็กนักเรียนกำลังเรียนชั้นประถม เป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูของพ่อแม่ แต่ก็มาตายไป หรือบางคนก็อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์แล้วต้องมาตายไป
บางคนเวลาสงคราม เที่ยวหนีลูกระเบิดอยู่ได้ในยุโรป มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งลูกคนกรุงเทพนี่ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิด เขาอยู่ในเบลเยียม อยู่ในฮอลแลนด์ อยู่ในฝรั่งเศส อยู่ในประเทศเยอรมัน เที่ยวหลบอยู่...ไม่เป็นไร ไม่ถูกระเบิดตาย ไม่ถูกกระสุนตาย เดินทางกลับบ้านจนได้ มาให้พ่อแม่ชื่นใจ “แหม! แม่คิดถึงลูกเหลือเกิน กลับมาแม่ชื่นใจ ที่หลุดพ้นจากลูกระเบิดมาได้” มาอยู่บ้าน ๗ วันเท่านั้นเอง ไปอาบน้ำที่บางปู แล้วเกิดเป็นไข้ ๓ วันตายเลย ดูสิมันหลบมาได้ไม่ตาย ลูกระเบิดตกมันน่าตาย (แต่กลับ) ไม่ตาย มาตายเพราะอาบน้ำบางปูนี่เอง ตายไป แม่ก็เสียอกเสียใจ เพราะว่ามีลูกชายคนเดียว
คนเดียวนี้มันก็น่าเสียใจอยู่เหมือนกันแหละ แต่ถ้าเราคิดอีกทีหนึ่ง “เฮอะ! เขาก็ไม่ได้สัญญงสัญญาอะไรกับเรานี่นะ ว่าจะมาอยู่กันเท่านั้นปี เท่านี้เดือน เท่านี้วัน” หรือสัญญาว่า “ฉันจะเลี้ยงคุณแม่นะ” มันก็ไม่ว่าอย่างนั้น มันมาตามเรื่องของเขา มันไปตามเรื่องของเขา เราจะไปห้ามไปกันเขาได้เมื่อไหร่เล่า เรานึกอย่างนั้น ใจมันก็สบาย ไม่เกิดปัญหาอะไร
ข้าวของเงินทองที่เรามีนี่ก็เหมือนกัน บางครั้งบางคราวขโมยมันมาลักเอาไปเสีย บางคนก็เสียอกเสียใจว่า “แหม! อุตส่าห์พามาตั้งหลายปี เพชรวงนี้นี่ใช้มานานแล้ว ได้ใช้อยู่เสมอ ขโมยมันมาเอาไปเสีย” เสียดมเสียดาย ร้องไห้ร้องห่มไปก็ได้ เพราะไม่ได้คิดด้วยปัญญา แต่ถ้าคิดขึ้นด้วยปัญญาให้มันละเอียดรอบคอบ เราก็ปลงตกลงไปว่า “ฮึ! มันไม่ใช่ของเรานี่ เรายืมธรรมชาติมาใช้ เท่าสิทธิที่เราจะยืมได้”
ทุกคนมีสิทธิที่จะยืมของธรรมชาติมาใช้ได้ สิทธิเกิดจากการงานนั่นเอง เราเรียกว่า กรรมสิทธิ์ หรือพูดว่าทุกคนมีกรรมสิทธิ์ สิทธิ คือความเป็นเจ้าของในสิ่งนั้น เกิดจากอะไร? เกิดจากการกระทำ ใครทำเท่าใดมีสิทธิจะได้เท่านั้น เราก็ได้มาโดยกรรมสิทธิ์ หรือโดยการงานของเรา แต่เราได้มาแล้ว เราจะนึกว่า มันจะอยู่กับเราจนตาย ก็ไม่ได้ หรือ จะอยู่เท่านั้นเท่านี้ ก็แย่งสิทธิเราไปก็ได้ โดยเฉพาะขโมย มันทำกรรมแย่งสิทธิเราไปได้เหมือนกัน มันเอาไปแล้ว เราก็ต้องนึกว่า “เอ้า แล้วก็แล้วไป” มันเอาไปแล้ว เราจะไปทุกข์ร้อนอะไร ถึงทุกข์มันก็ไม่กลับมา เราเสียใจเปล่าๆ ร้อนใจเปล่าๆ เราไม่คิดถึงเรื่องนั้น เรานึกว่าช่างอุ่นใจ ไม่ต้องไปนั่งกังวล ห่วงใยต่อสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่เป็นไปแล้ว ก็ให้มันแล้วกันไป ใจมันก็สบาย ถ้าเราคิดเป็นนี่มันก็สบายใจ แต่ถ้าเราคิดไม่เป็นก็นั่งกลุ้มใจ ไปไหนก็กลุ้ม ไปดูตรงนั้นทีไรกลุ้มใจ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ใช้ปัญญา ปัญหามันก็เพิ่มมากขึ้น
จึงต้องคิดแก้ปัญหา ทำลายความอยาก ในเรื่องนั้นเสีย ได้มาก็อย่างนั้น เราได้อะไรมาก็บอก “อื้ม ได้มาก็ไม่เท่าไหร่หรอก มันคงจะจากเราไป (สักวัน) ถึงแกไม่จากข้า ข้าก็ต้องจากแกสักวันหนึ่งแหละ แต่วันนี้ยังไม่จากก็อยู่กันไปก่อน” เก็บให้เรียบร้อย ให้ไว้ในที่ปลอดภัย อย่าไปเที่ยววางเพ่นพ่านไว้ตามห้องน้ำอ่างน้ำ คนใช้มันจะฉกเอาไปเสีย แล้วก็อย่าไปอวดให้คนใช้ดู (ว่า) ใครมีอะไรนะ
คนใช้เดี๋ยวนี้ไม่ได้นะโยมนะ...ไม่ได้หรอก เรามีอะไรอย่าเอาไปอวดมันเข้า ไปซื้ออะไรมารีบซ่อน ใส่ตู้ใส่อะไรเสียให้เรียบร้อย กุญแจเก็บให้เรียบร้อย อย่าไปเที่ยวให้มันเห็นว่ามีเงินอยู่ที่นั่น มีเพชรอยู่ที่นี่ มีของมีค่าอยู่ที่นั่น มันเกิดตัณหาขึ้นมา แล้วมันจะเล่นงานเรา มันไม่เอาเองนะ แต่กลางคืนมันเปิดประตูหน้าต่างไว้ แล้วไปนัดใครๆ ว่าเข้าทางช่องนั้นนะ เดินทางนั้นนะ เดินไปเอาตรงนั้นนะ เรื่องมันก็เรียบร้อยเท่านั้นเอง อ้ายคนเปิดตู้มันก็เก่ง นักเปิดเซฟนี่มันเปิดง่ายๆ เพราะมันชำนาญ เขาก็เปิดเอาไปได้ เราก็สูญเสียสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะเราเผลอไปประมาทไป ไปเที่ยวอวดคนเหล่านั้น...มันไม่ได้ ต้องรู้จักเก็บข้าวของเป็นที่เป็นทาง คนใช้นี่ก็ต้องใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะราว อย่าใช้มันทุกเรื่อง ตรงไหนไม่ควรใช้... (อย่าไปใช้) ไม่ให้เข้าไป ให้อยู่ตรงนี้ใช้เรื่องนี้ อย่างคนใช้หุงข้าวก็อยู่ในครัว “อย่าไปยุ่งในห้องนอนของฉัน” เรากวาดของเราเองก็ได้ห้องนอน ไม่ต้องให้คนใช้เข้าไปถู เราถูเองดีกว่า มันถูไปมันดูไป...ดูไป ถูมาถูไปมันเกิดตัณหาขึ้นมา แล้วทีนี้ล่ะเกิดเรื่อง บ่อย...เดี๋ยวนี้ปรากฏบ่อย คนใช้นี่มีบ่อยๆ บางทีคนใช้อยู่กับเรา เราขัดอกขัดใจมาไล่ออกนะ มันไปวางแผนแล้วทีนี้ พอไล่ออกไปวางแผนกับพรรคพวก ยกพวกมา เข้ามาเอาเรียบร้อยเลย มันมีบ่อยๆ เรื่องอย่างนี้ เป็นบทเรียนทั้งนั้น เป็นเครื่องสอนใจให้เราอยู่ด้วยความไม่ประมาทในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ
วันนั้นมี (คน) มานิมนต์ไปรายหนึ่ง เรียกว่าน่าสงสาร (เป็น) คนแก่ทั้งคู่ ก็นึกว่าเอาคนมาไว้ใช้สักคนหนึ่ง (เพื่อ) จะได้ผ่อนแรง ก็ไปหาคนใช้มา เป็นผู้ชายเอามาไว้ในบ้าน ยังไม่ถึงวันเลย กำลังนั่งหุงข้าวจะให้มันกินนะ ให้คนที่มาเป็นลูกจ้างกินนะ มันเข้าไปทุบเอาคุณยายขณะหุงข้าว คุณตาเข้ามา มันทุบคุณตาอีก เลยตายทั้งคู่เลย เออ ดูสิเหมือนกับว่า (เป็น) คู่ล้างคู่ผลาญกันมาตั้งแต่ชาติไหนก็ไม่รู้ พอมาถึงก็เอากันเลยทีเดียว นี่มันเป็นอย่างนี้
คนสมัยนี้ไว้ใจไม่ค่อยได้ ต้องระมัดระวัง จิตใจคนมันเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของเศรษฐกิจ ของสิ่งแวดล้อม เราจะไปหาใครมาอยู่...ก็ต้องระวัง ไม่จำเป็นก็อยู่กันไปก่อน ช่วยตัวเองกันไปตามเรื่องตามราว ไปรับคนมาจากสำนักงาน สำนักไหน ไหนล่ะหัวนอนมันอยู่ทางไหน ปลายตีนมันอยู่ทางไหน เอามาอยู่ในบ้าน เดี๋ยวมันก็เล่นงานเราเข้าให้สิ มันลำบาก...ไว้ใจยาก คนโบราณเขาก็พูดไว้แล้ว อย่าเชื่อใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง เขาว่าเอาไว้ดีนะ
(๑) อย่าเชื่อใจทาง อย่านึกว่าทางนี้ปลอดภัย ขับรถเร็ว...ไม่ได้
(๒) อย่าวางใจคน “แหม! คนนี้ดี ไว้ใจได้” มันก็ไม่ได้
(๓) จะจนใจเอง เราก็มานั่งเป็นทุกข์ไปเอง มันเรื่องเสียหายทั้งนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้ ความปรารถนาของคนมันไม่จบ เราจึงต้องคอยควบคุมจำกัดความปรารถนาเสียบ้าง
ในประเทศที่เขาปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์นี่ เขาจำกัดความต้องการของคน เขาไม่ให้คนมีมากๆ ล่ะ ไม่ให้คนมีอะไรมาก ให้มีเท่านี้ ให้กินเท่านี้ ให้นุ่งเท่านี้ ให้มีบ้านอยู่เท่านี้ ให้มีที่ดินเท่านี้ มันอยากไม่ได้พวกนั้นน่ะ มันอยากนั่นแหละแต่มันอยากไม่ได้ เพราะมันไม่มีจะอยาก มันจำกัดในเรื่องอย่างนั้น อันนี้เขาเรียกว่าใช้วัตถุเป็นเครื่องแก้ มันยังไม่ดี เพราะจิตมันยังไม่ได้ถูกแก้นี่ แก้ทางวัตถุ แล้วก็คอมมิวนิสต์นี่เขาคิดแก้ทางวัตถุ มันก็ไปได้นะ แต่ว่ามันไม่ได้เรียบร้อยหรอก เพราะคนมันยังอยาก นี่ลองเปิดสิ ลองเปิดให้เสรีดู อยากกันใหญ่แล้วเวลานี้
คนเขาไปเมืองจีนบอกว่า “เดี๋ยวนี้นะ ถ้าซื้อลิปสติก ซื้ออะไรต่ออะไร (พวก) เครื่องแต่งหน้าไปนะ ราคาดี พวกแถวโน้นชอบ ซื้อไปแล้วแอบขาย ได้ราคาดี” เช่นว่าไปทัวร์ไปอะไรนี่ ซื้อลิปสติกไปบ้าง ซื้อแป้งซื้ออะไรเอาไปให้นะ เขาชอบ ที่โน่นมันไม่มีของอย่างนั้น เรียกว่าเริ่มให้กิเลสเกิดขึ้นอีกแล้วเวลานี้ ให้เสรี ให้เกิดความอยากเสียแล้ว มันก็อยากอยู่เหมือนกัน นี่มันไม่ใช่หยุดนี่ หยุดไว้โดยวัตถุ...เหมือนเราเอาหินทับหญ้าไว้ (มีหิน) กำลังทับอยู่ หญ้ามันก็ไม่ขึ้นนะ แต่ลองไปเปิดออก เดี๋ยวมันก็เขียวขจีต่อไป
กิเลสคนมันก็อย่างนั้น เราคุมด้วยวัตถุไม่ได้ บังคับนี่ไม่ได้ เราต้องให้ทุกคนบังคับตัวเอง ควบคุมตัวของตัวเอง อันนี้มันสูงกว่า การให้ทุกคนควบคุมตัวเองมันสูงกว่า การให้คนอื่นบังคับยังเป็นเด็กอยู่ เรียกว่าคนมันยังเป็นเด็กอยู่ จิตใจยังเป็นเด็ก ต้องถือไม้เรียวคอยหวดก้นอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นเด็กเรื่อยไปไม่รู้จักโตสักที
(ทีนี้มา) ระบอบประชาธิปไตยที่เราอยู่นี้ เรียกว่าให้คนเรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ว่าอะไรมันเป็นอะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความสุข ให้เรียนเอาเอง ให้ศึกษาเอาเอง แล้วก็จะเข้าใจมากขึ้น มันดี อ้ายอย่างนี้สบายกว่า แต่ว่าที่ยังบกพร่องก็คือว่ายังมีครูน้อยไป ในการที่จะชี้ทางให้ญาติโยมเกิดความรู้ความเข้าใจ ครูไม่ค่อยจะมี อันนี้เมื่อไม่ค่อยมี ก็มัน (ก็) ยังแก้กันไม่ค่อยได้ดี เพราะคนสอนมันน้อย อบรมกันน้อย พูดจาให้เข้าใจเรื่องชีวิตกันน้อย จึงยังมีปัญหาอยู่ แต่ถ้าเรามาสอนกันให้เข้าใจถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา ยังมีหวังว่าโลกนี้จะรุ่งเรืองด้วยศีลธรรม รุ่งเรืองด้วยความงามความดี ธรรมะจะครองโลกต่อไป
ถ้าเราเอาธรรมะมาครองชีวิต ครองเรือน ครองงาน ครองโลก มันสบาย แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะครองชีวิต ครองงาน ครองครอบครัว ครองโลก มันก็ยุ่ง เดือดร้อนวุ่นวายกัน ดังที่เราเห็นๆ กันอยู่ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาธรรมะมาคุ้มครองชีวิต ให้รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร สภาพจิตใจเราเป็นอะไรขึ้นมา
(ทีนี้) พวกอสุรกาย ท่านหมายถึงอะไร หมายถึงว่าเป็นพวกขี้ขลาด ไม่ชอบสิ่งดีสิ่งงาม ชอบแต่เรื่องไม่ดีไม่งามอยู่ในจิตใจ สนุกสนานในทางชั่ว ในทางต่ำ ในทางปล่อยใจปล่อยตัวไปตามอำนาจของกิเลส เรียกว่า พวกอสูร คือพวกไม่กล้า ไม่กล้าที่จะเข้านั่งใกล้ผู้รู้ ไม่กล้าที่จะประพฤติธรรม ไม่กล้าที่จะรักษาศีล (พอ) เขาชวนให้ถืออุโบสถ...กลัวอดข้าว ชวนให้มาวัด...กลัวเหนื่อย ถ้าไปเที่ยวบางแสนบางปูไม่เป็นไร (อย่างนี้เขา)เรียกว่า จิตใจมันไม่กล้าในการที่จะเข้าหาความงามความดี ชอบเลาะ ชอบแฝง ชอบแอบอยู่อย่างนั้น ก็เป็นอยู่ในขณะ ในสภาพอย่างนั้น ทำให้เกิดความตกต่ำทางจิตใจ
พวกผี ก็คือพวกที่ชอบคิดแต่จะหลอกเขา จะต้มเขาในเรื่องอะไรต่างๆ ถ้ามีความคิดว่าจะหลอกเขา จะไปต้มเขา จะทำให้เขาเสียหาย เรียกว่าผีมันเกิดขึ้นในใจของเรา ผีในป่าช้าไม่น่ากลัวอะไร ผีที่น่ากลัวก็คือความคิดที่จะทำร้ายผู้อื่นด้วยการหลอกลวง ด้วยการทำให้เขาเสียหาย นี่ฝ่ายต่ำมันเป็นสภาพอย่างนั้น ก็อยู่ในใจของเรา สูงขึ้นไปเรียกว่า สุคติ คนนี่มันอยู่ตรงกลาง สูงกว่าคนก็เป็นมนุษย์ สูงกว่ามนุษย์ก็เป็นเทวดา สูงกว่าเทวดาก็เป็นพระพรหม สูงกว่าพรหมก็เป็นพระอริยเจ้า อริยเจ้านี่สูงที่สุด เรียกว่าสูงที่สุด
เทวดานี่เขาแบ่งไว้เป็น ๓ พวก เขาเรียกว่า พรหมเทวดา (53.36 พรหมเทวดา กับ ภูมิเทวดา) เทวดาในโลกนี้ได้แก่ใคร ก็คือบุคคลชั้นสูงในสังคม (เช่น) พระราชา มหากษัตริย์ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นเทวดา เป็นสมมติเทวดา อยู่ในโลกนี้ก็เรียกว่าสมมติเทวดา ไม่ใช่ภูมิเทวดา สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ คือพรหมเขาสมมติยกให้...ยกว่าให้เป็นเทพเจ้า ให้เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพสักการะ เป็นปูชนียบุคคล เช่น ในหลวงของเรา เรายกให้ท่านเป็นเทวดา เป็นสมมติ คนมันสมมติให้ท่านเป็นเทวดา ท่านเป็นเทวดาโดยคนสมมติว่า ๑ แล้ว ท่านเป็นเทวดาโดยการประพฤติธรรมนี่ ในหลวงนี่ท่านประพฤติธรรมจริงๆ ท่านเป็นเทวดาโดยธรรม โดยการประพฤติธรรมด้วย ก็เรียกว่าเป็นเทวดาอย่างนี้
ส่วนเทวดาที่เราเห็นตามภาพฝาผนัง แต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อยลอยฟ่องอยู่ในก้อนเมฆ อันนั้นมันเทวดาแห่งความเพ้อฝัน คล้ายคนซื้อลอตเตอรี่ พอซื้อแล้ว แหม! ฝัน สร้างวิมานในฟ้า เอ๊ะ คราวนี้ต้องถูกแน่ๆ นะ ไม่มีใครซื้อเอาหางเลขสักคนเดียวลอตเตอรี่นี้ แต่ว่าจะเอาที่ ๑ ทั้งนั้นแหละ ฝันไป กว่าเงินเดือนจะออกมา กว่าลอตเตอรี่จะออก มันก็ดีเหมือนกันแหละ...ปลอบใจ ปลอบใจให้ฝันไปได้สัก ๔-๕ วัน พอถึงวันพฤหัสก็ออกแล้ว (ปรากฏว่า) ไม่ถูก ล้มไป...วิมานล้มไป เอ้า ซื้อใหม่ สร้างวิมานต่อไปอีกหลังหนึ่ง (แล้วก็) ล้มไป บางคนซื้อจนแก่ยังไม่ถูกสักที ซื้อมานานแล้วไม่เคยถูกสักที อย่างนี้แหละเรียกว่าไม่ได้ดั่งใจหรอก ไอ้ของอย่างนี้ เราอย่าไปฝันให้มันวุ่นวายไปเลย …… (55.26 เสียงไม่ชัดเจน) ความฝัน วิมานแห่งความฝัน
เทวดานี่ก็อยู่ในใจเรา ผู้ประพฤติธรรมนี่เป็นเทวดา เทวดานี่มีธรรมะอะไรเป็นฐานนะ (มีธรรม) ๒ อย่างเป็นฐาน ละอายบาป กลัวบาป นี่แหละ ๒ ตัวนี้ เรียกว่าเป็นฐานของเทวดา คนเป็นเทวดามัน ต้องละอายบาป ต้องกลัวบาป เทวดาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ในกระท่อมน้อยๆ อยู่ในย่านสลัมคลองเตยก็ได้ แต่ว่าเป็นคนละอายบาป กลัวบาป ถ้าเราไปเจอคนละอายบาป กลัวบาป อยู่ในสลัม ก็เรียกว่าเทวดามานั่งอยู่นั่นแล้ว มันเป็นเทวดาอยู่ตรงนี้ ละอายบาป กลัวบาป ตั้งมั่นอยู่ในกุศลกรรมบถ มีสัปปุริสธรรม ๗ ประจำจิตใจ เขาเรียกว่าเป็นเทวดา เทวดาก็คือคนมีธรรมะอันประเสริฐประจำจิตใจ จะเป็นเทวดาชั้นไหนก็ได้ เทวดาธรรมดาๆ
มนุษย์ก็คือคนที่ต้องต่อสู้ ทำงานทำการ อาบเหงื่อต่างน้ำ นี่เขาเรียกว่าเป็นมนุษย์ เทวดานี่ไม่ต้องต่อสู้เท่าใด เรียกว่าของทิพย์นี่มันไหลมาเอง ได้มาเอง กินดอกเบี้ยมั่ง เป็นเจ้าของธนาคารมั่ง ถือหุ้นในบริษัทห้างร้านไม่ต้องไปบริหารงาน พอถึงปีเขาก็แบ่งหุ้นมาให้ นี่เขาเรียกว่าของทิพย์มันมาเอง นี่เกิดจากของทิพย์เป็นเทพเจ้าที่มาเอง ไม่ต้องลำบาก พวกนายธนาคารนี่ส่วนมากเป็นเทวดาทั้งนั้น เพราะว่าไม่ต้องไปเหน็ดเหนื่อยเท่าใด ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ชาวนา ชาวไร่ คนทำงานทำการธรรมดานี่เป็นมนุษย์ที่ต้องออกแรง ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย เขาเรียกว่าเป็นมนุษย์
มีเรื่องว่าเทวดานี่ ถ้าจะจุติแล้วเหงื่อมักจะออกจากรักแร้ แปลว่าเริ่มใช้กำลังกายทำงานแล้ว จะเคลื่อนจากเทวดาแล้ว จะลงจากวิมานแล้ว ต้องไปหากินแล้ว นั่งเสวยความสุขอยู่ไม่ได้ เหงื่อมันออกจากรักแร้แล้วนี่ มันร้อนใจจนเหงื่อไหลแล้วนี่เทวดา “กูต้องไปทำมาหากินแล้ว” ต้องไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูแล้ว อยู่เป็นเทวดาไม่ได้แล้ว อันนี้คือเคลื่อนแล้ว จุติจากความเป็นเทวดา ลงมาเป็นมนุษย์เดินดินต่อไป ทำงานทำการมากๆ เข้า ได้เงินได้ทอง มีทุนพอจะเลี้ยงตัวเองได้ แล้วต้องทำงานต่อไป เอ้า เป็นเทวดาอีกแล้ว นอนกินไปตามเรื่อง กินดอกเบี้ยไปบ้าง ทรัพย์เก่า แก่แล้ว...เป็นเทวดาอย่างแก่ ถ้าเป็นมนุษย์ยามหนุ่มแล้วมันได้เป็นเทวดายามแก่ ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานในวัยหนุ่มแล้วมันจะเป็นเทวดาไม่ได้ มันเดือดร้อน ชีวิตตกต่ำไม่มีความก้าวหน้า เรื่องมันเป็นอย่างนี้
เราจึงควรจะคิดให้เห็นว่า อ๋อ มันอยู่ในตัวเราทั้งนั้น เราทำเอาได้ เราเป็นเทวดาก็ได้ เราเป็นพรหมก็ได้ สูงขึ้นเป็นพระพุทธเจ้ายังได้เลย นี่...พุทธศาสนานี่มันวิเศษตรงนี้ ตำแหน่งพุทธะนี้ไม่ได้สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะใครนะ เป็นตำแหน่งที่เปิดกว้างให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่ความเป็นพุทธะได้ ไม่ได้สงวนไว้ ผู้หญิงก็เป็นได้นะ โยมผู้หญิงนี่บางทีเสียอกเสียใจ “แหม! เสียดายเจ้าค่ะ เกิดเป็นผู้หญิง ชาติหน้าขอเกิดเป็นผู้ชาย จะได้บวชในพระศาสนา” ยุ่งไปเปล่าๆ ไม่เข้าเรื่องอะไร
ผู้หญิงผู้ชายนี่มันร่างกาย มัน (เป็น) เปลือกนอก จิตที่จะรู้ธรรมมันเท่ากัน มีโอกาสที่จะบรรลุธรรมเท่ากัน จะเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน เป็นได้ เปิดทางเปิดกว้างไว้แล้ว เป็นทางที่เรียกว่าสาธารณะ กว้าง ใครก็ไปเดินได้ ผู้ชายก็เดินได้ ผู้หญิงก็เดินได้ เจ๊กก็เดินได้ แขกก็เดินได้ ฝรั่งก็เดินได้ นิโกรผิวดำก็เดินได้ ไม่มีการกีดกันสีผิว ไม่มีการกีดกันเชื้อชาติ ไม่มีการกีดกันในเรื่องอะไร เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเปิดกว้างสำหรับคนทุกคน ซึ่งไม่มีในที่ใด เปิดกว้างไว้เหลือเกิน เราทั้งหลายควรภูมิใจว่า เราได้มายืนอยู่ในแผ่นดินที่มีธรรมะอันประเสริฐ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ว่าอย่าอยู่ใกล้เกลือแล้วก็ไปกินด่างเสียเป็นอันขาด อยู่ใกล้เกลือมันต้องใช้เกลือ ถ้าไปใช้ด่างนี้ไม่ได้ อายุมันจะสั้น เราต้องกินเกลือ กินเกลือก็ต้องศึกษา ต้องให้เข้าใจ ต้องเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราก็จะได้รับประโยชน์จากธรรมะของพระพุทธเจ้าสมความตั้งใจ
ดังที่พูดมา ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้