แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ญาติโยมที่อยู่ป่าไผ่ก็ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี พระสงฆ์ที่นั่งบนแท่นหิน ก็หันหน้ามาทางที่เสียงนี้ แล้วตั้งอกตั้งใจฟัง ญาติโยมที่มาเยี่ยมพระ อย่าไปชวนพระคุยขณะที่กำลังแสดงธรรม ไว้คุยกันทีหลัง เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว เพื่อจะให้พระลูกชายหลานชายที่มาบวชได้ฟังธรรมะ ได้ความรู้ความเข้าใจ จะได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือป้องกันภัยอันตรายสำหรับชีวิตของเราต่อไป ญาติโยมต้องตั้งใจฟังด้วย เพราะว่าธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่เราจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่ได้ใช้ธรรมะในชีวิตประจำวันแล้ว ก็จะเกิดปัญหาขึ้นด้วยประการต่าง ๆ
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็เพราะเราขาดธรรมะ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง จึงได้เกิดการผิดพลาดเสียหาย ธรรมะนี่จะช่วยป้องกันอันตราย ทั้งภายในทั้งภายนอกไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้เราถลำไปในทางที่ผิดพลาดเสียหายได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ธรรมะ ใช้ธรรมะไม่เป็น เราก็อาจจะเสียท่าแก่ข้าศึกที่มารบกวนตัวเราให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนได้ อย่าว่าแต่ญาติโยมทั้งหลายเลย เมื่อบวชเป็นพระอยู่ ถ้าไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ก็อาจจะไขว้เขวออกไปนอกลู่นอกทางจนกระทั่งต้องลาสิกขา ออกไปอยู่บ้านเหมือนญาติโยมทั้งหลายต่อไป การที่เป็นไปเช่นนั้นก็เพราะว่าไม่ได้ใช้ธรรมะให้มันสม่ำเสมอ หรือว่าไม่ค่อยจะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน
ธรรมะไม่ใช่สิ่งไว้สำหรับเล่น หรือคุยกันสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งเราจะต้องใช้ตลอดเวลา ใช้เหมือนกับใช้ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าหายใจออกเราต้องใช้ตลอดเวลา หายใจเข้าแล้วหายใจออก หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า เราต้องใช้ตลอดไป ถ้าเราไม่ได้ใช้ลมสำหรับหายใจเข้าออกเราก็ตาย ชีวิตถึงแก่ความตาย ธรรมะก็เป็นเช่นเดียวกัน ถ้าเราได้ใช้อยู่เป็นประจำตลอดเวลาแล้วเราไม่ตาย แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ธรรมะเมื่อใดเราก็จะตายเมื่อนั้น
อันความตายในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าตายทางร่างกาย ร่ายกายตายนั้นเป็นเรื่องวัตถุ เป็นเรื่องธรรมชาติ คนทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายทั้งนั้น ไม่มีใครซักคนหนึ่งที่หนีพ้นจากความตายไปได้ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในบ้านอยู่ในปราสาทราชฐาน หรือไปอยู่ในเรือดำน้ำใต้ทะเลลึก หรือไปอยู่บนอากาศในที่เรียกว่าอวกาศในดาวเทียม เมื่อถึงเวลาจะต้องตายมันก็ต้องตาย เพราะธรรมชาติเป็นเช่นนั้น ธรรมชาติของร่างการนี้มีการเกิดขึ้น แล้วก็แปรเปลี่ยนไป แตกสลายไปในที่สุด ไม่มีใครจะหลีกพ้นกฎธรรมชาตินี้ไปได้ เพราะเราเกิดมาโดยธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ กฎของธรรมชาติบังคับเราอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องเป็นไปตามระเบียบของธรรมชาติ อันนั้นเป็นเรื่องของร่างกาย ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดาย ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียดายเพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเป็นเช่นนั้น
แต่ว่าความตายอีกประเภทหนึ่งนั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่ใช่กฎของธรรมชาติ แต่เพราะความผิดพลาดในชีวิตเราจึงต้องตายไป ความตายอันนี้ก็เรียกว่าตายทางจิตทางวิญญาณ ความตายทางจิตทางวิญญาณ
ตายทางจิตทางวิญญาณนี้เป็นอันตราย ก่อปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ตนแก่ท่านด้วยประการต่าง ๆ ความตายทางจิตทางวิญญาณนั้นคือว่าจิตมันตายไป จากคุณงามความดี จากสิ่งที่ถูกที่ต้อง เขาเรียกว่าเป็นความตายทางจิต เป็นความตายทางวิญญาณ ความตายทางจิตนั้นตัวยังไม่ตาย ยังเดินได้พูดได้ทำอะไรได้ จึงไปก่อเรื่องสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนแก่ท่านด้วยประการต่าง ๆ ส่วนตายทางกายนั้นพอตายแล้วมันก็หมดเรื่องกัน มีแต่เรื่องว่าจะเอาไปเผาไปฝังกันเท่านั้น แค่ว่าคนที่ตายทางจิตนั้นกายยังไม่ตายจึงสามารถจะไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ เพราะเป็นผู้ตายเสียแล้วแต่ในทางจิตใจ ความตายอย่างนี้เป็นเรื่องน่ากลัว อันตรายแก่คนทุกคนก็ว่าได้ เพื่อจะให้เป็นผู้ไม่ตาย เราก็ต้องเอาธรรมะมาเป็นยารักษาจิตใจของเราไว้ไม่ให้จิตใจของเราตายไปจากคุณงามความดี เพราะถ้าใจเราไม่ได้ตายจากคุณงามความดีแล้ว เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่รอด
เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าผู้ใดถึงธรรมะ ผู้นั้นได้ชีวิต ผู้ใดไม่ถึงธรรมะ ผู้นั้นไม่ได้ชีวิต จึงเรียกว่าตายนั่นเอง ถ้าไม่ถึงธรรมะก็เรียกว่าเป็นผู้ตาย ถ้าถึงธรรมะก็เรียกว่าเป็นผู้ไม่ตาย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าผู้ใดมีพระพุทธเจ้า ผู้นั้นไม่ตาย ผู้ใดไม่มีพระพุทธเจ้า ผู้นั้นก็ตายไป ผู้ใดรักพระพุทธเจ้าจงรักภักดี ผู้นั้นก็ไม่ตาย แต่ถ้าเราเหนื่อยหน่ายต่อองค์พระพุทธเจ้า เราก็จะตายจากความเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าในแง่นั้นไป อันนี้แหละเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราเมื่อใดก็ได้
เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะได้สังเกตดูตัวเราว่าเราอยู่อย่างคนตายหรือว่าเราอยู่อย่างคนเป็น อยู่อย่างมีชีวิตหรืออยู่อย่างผู้ไร้ชีวิต ถ้าอยู่อย่างผู้มีชีวิตก็หมายความว่าจิตใจแนบสนิมอยู่กับธรรมะของพระพุทธเจ้า อยู่กับศีลกับธรรม อยู่กับสิ่งดีสิ่งงามตามหลักพระพุทธศาสนา เรียกว่าเราได้ชีวิตอยู่ เรามีชีวิตอยู่ แต่ถ้าหากว่าจิตใจของเราไม่มีธรรมะ แต่ว่ามีสิ่งอื่นแทนธรรมะอยู่ในใจ เราก็เรียกว่าเป็นผู้ตายจากคุณงามความดี
แล้วขณะใดที่ใจเราถูกกิเลสประเภทต่าง ๆ ครอบงำใจ ก็มีความมืดครอบงำใจ มีความโกรธครอบงำจิตใจ มีความหลงครอบงำจิตใจ มีความริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวรเกิดครอบงำจิตใจเมื่อใด เมื่อนั้นก็เรียกว่าเราเป็นผู้ไม่มีชีวิต เมื่อใดเราเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรานี้เป็นผู้ไม่มีชีวิต เราก็มาชุบชีวิตของเราขึ้นใหม่ เรียกว่าร่ายคาถาอาคม ชุบชีวิตให้มันเกิดขึ้นต่อไปเหมือนกับหนังสือเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ของคนสมัยโบราณเขาแต่งไว้ มนุษย์รบกับยักษ์ ยักษ์ยิงลูกศร มนุษย์ตาย เมื่อมนุษย์ตายก็ร้อนอกร้อนใจไปถึงพระฤาษีที่เป็นอาจารย์ ฤาษีเป็นอาจารย์ก็เหาะมา มาถึงก็เอาไม้เท้าเขกกบาลลูกศิษย์เข้าสามที ลูกศิษย์ก็ฟื้นขึ้นมา ไปรบกับยักษ์ต่อไป รบกันต่อไปได้ อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่าเขาชุบชีวิตใหม่ ชุบชีวิตลูกศิษย์ขึ้นมาได้จากความตาย
การชุบนั้นก็คือพระฤาษีเป็นผู้ชุบ ฤาษีนั้นคือภาพแห่งธรรมะ เป็นภาพแห่งคนดีคนเจริญด้วยศีลด้วยธรรม ด้วยสิ่งดีสิ่งงามนั่นเองไม่ใช่อะไร เพราะว่าฤาษีเป็นนักบวชอยู่ในป่า มีชีวิตสันโดษมักน้อย กินผลหมากรากไม้เป็นอาหาร มีจิตใจสงบสะอาดสว่าง เป็นผู้มีธรรมะ ฤาษีที่มีธรรมะก็มาชุบชีวิตลูกศิษย์ไม่ให้ตาย เพราะลูกศิษย์นั้นตายเพราะข้าศึก คือสิ่งมารบกวน เป็นข้าศึกภายนอกคือยักษ์ ยักษ์นี่ไม่ใช่อะไร ยักษ์ก็คือกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่มันเกิดรบกวนจิตใจ ยักษ์โลภ ยักษ์โกรธ ยักษ์หลง ยักษ์ริษยาพยาบาทอาฆาตจองเวร มานะถือตัว ด้วยประการต่าง ๆ นั่นคือภาพของยักษ์ ยักษ์ก็คือภาพแห่งกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่ทำใจให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง ให้ตายจากคุณงามความดีไป แต่นี่พระฤาษีคือพระหรือธรรมะ มาส่องแสงสู่จิตใจของคนที่ตายนั้น ให้เกิดความสำนึกรู้สึกตัว รู้สึกตัวว่าเรานี่เป็นยักษ์ไปเสียแล้ว หรือว่าเราตายไปแล้วจากคุณงามความดี พอได้เห็นพระฤาษีมาก็นึกได้ พอนึกได้ก็เลยเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจเข้าหาฤาษีคือธรรมะต่อไป เลยกลายเป็นคนไม่ตาย
นั่นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เขาเขียนไว้อย่างนั้น เขาเขียนให้คนดูเล่นสนุก ๆ แต่ถ้าดูเป็น มันก็เป็นธรรมะ เป็นข้อเตือนใจ ถ้าดูไม่เป็น ก็ไม่ได้เป็นธรรมะ ไม่ได้เป็นข้อเตือนใจ ที่หอประชุมเรานี้มีภาพอยู่ข้างหลัง ซึ่งเขียนไว้มากมาย เป็นเรื่องตลอดเรื่องในภาพนั้น ใครมีเวลาว่างมานั่งดูได้ ต้องใส่แว่นดูถ้าคนแก่ อ่านดู อ่านว่านั่นหมายถึงอะไร สิ่งนี้หมายถึงอะไร ในภาพต่าง ๆ คือธรรมะทั้งนั้น นั่นเป็นภาพธรรมะที่คนโบราณเขาเขียนไว้เพื่อสอนธรรมะแก่คน ที่มักจะดูด้วยภาพ เพราะมีภาพให้ดูด้วยมันเพลิดเพลินดี สบายใจได้ความรู้ความเข้าใจ
ท่านพุทธทาสท่านจึงสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ในโรงนั้นมีแต่ภาพทั้งนั้น ภาพเตือนจิตสะกิดใจ ภาพสอนเด็ก ภาพสอนผู้ใหญ่ ภาพสอนพระสอนสามเณร มีหมดในห้องนั้น เข้าไปเดินดูแล้วก็ได้รู้ได้เข้าใจ แต่ว่าคนไปเที่ยวโดยมากมันก็ดูไปงั้น ดูเผิน ๆ เสร็จแล้วก็ไปทัศนาจรหาดใหญ่ต่อไป เลยไปยังไม่ค่อยได้เรื่องอะไร เพราะคิดจะเที่ยว แต่ว่าคนไปเที่ยวเขาใส่ในโปรแกรมว่าแวะสวนโมก แวะเข้าไปดูต้นไม้ ไปดูฝาผนังนิดหน่อย เสร็จแล้วก็เดินทางพ้นไป ไปอย่างนั้นมันไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ได้แวะ ได้คุยกับเพื่อนว่าฉันไปแล้วเท่านั้นเอง แต่ว่าไม่ได้อะไรมาเท่าใด
ถ้าจะไปเอาอะไรมาใช้ต้องไปซักสองสามวัน ไปนั่งพักที่นั่น นอนที่นั่น แล้วก็เข้าไปดูภาพพระท่านอธิบาย ค่อยดูไป ดูไม่จบตอนเช้าก็ออกมานั่งพักเล่นใต้ร่มไม้สบาย ๆ แล้วตอนบ่ายเข้าไปดูอีกก็ยังได้ นี่เขาเรียกว่า ไปเพื่อการศึกษา ไปอย่างนั้นไปได้ประโยชน์ ได้ปัญญา แต่ถ้าไปเที่ยวทั้งหลายทั้งปวงที่เขาไป ๆ กันนั้น โดยมากก็ไปอย่างนั้น ท่านเจ้าคุณเขาบอกว่ามาไม่ค่อยได้เรื่อง ท่านเจ้าคุณบ่นอยู่เหมือนกัน ว่ามาไม่ค่อยได้เรื่อง ว่ามาทัศนาจรมาไม่ได้เรื่อง
การทัศนาจรต้องไปทัศนาจรเพื่อศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ ควรจะมีเวลาที่จะไปนั่งใกล้ท่าน แล้วก็ไต่ถามปัญหาสนทนาธรรมะ ชี้แจงแนวทางชีวิตให้เข้าใจ ถ้าเราไปในรูปอย่างนั้นก็เรียกว่าเราไปชุบชีวิต เราไปได้ชีวิตใหม่จากการไปเที่ยวชมสถานที่เหล่านั้น เป็นการได้กำไรคุ้มกับการลงทุนที่อุตส่าห์นั่งรถไปตั้งห้าร้อยกว่ากิโล เราก็ได้กำไรกลับมา แต่ถ้าไปอย่างอื่นก็ไม่ไปก็ได้ ถ้าจะเพียงแต่ไปดูต้นหมากต้นไม้ ไม่ต้องไปถึงที่โน่น มาดูในกรุงเทพก็ได้ เราไปไหน ๆ ก็ไปในรูปการศึกษา ไปแสวงหาอาหารใจ ไปหายาบำรุงจิตใจ เพื่อเพิ่มกำลังภายใน ให้มีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีความหนักแน่น เพื่อจะได้ต่อสู้กับปัญหาชีวิตต่อไป
อันปัญหาชีวิตที่เราจะต้องต่อสู้ในชีวิตประจำวันนั้นมีมากเหลือเกิน ยิ่งญาติโยมอยู่บ้านแล้วก็มีปัญหามาก เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ผู้เดียว เราอยู่เป็นครอบครัว มีคนเกี่ยวข้องในครอบครัวมาก ปัญหาเรื่องลูก ปัญหาเรื่องพ่อบ้าน ปัญหาแม่บ้าน ปัญหาคนใช้ ปัญหาการงานที่ติดต่อกับคนนั้นคนนี้ คนบางคนมันก็ดีมีศีลธรรมประจำใจ มีความซื่อสัตย์สุจริต ติดต่ออะไรก็เรียบร้อย ไม่บูดไม่เบี้ยว แต่ว่าบางคนคิดจะเอาเปรียบเพื่อนตลอดเวลา ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในชีวิตด้วยประการต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ถ้าเราเอามายึดมาถือมากเกินไป วิตกกังวลน้อยอกน้อยใจ ว่าเราไม่ควรจะเสียท่าคนอย่างนั้น
ถ้าคิดอย่างนี้มันก็คิดหนักไป เพราะว่าไปคิดในแง่ที่ว่าเราเสียท่าเขา ไม่น่าเลย ที่มันจะทำกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ คิดอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ กลุ้มใจไม่รู้จบไม่รู้สิ้น แต่ถ้าเราคิดว่าคนเรานี่มันมีพลาดได้ มีเผลอได้ มันไม่ได้ดีเสมอไป ในเรื่องการทำงานทำการ ยิ่งติดต่อกับคนมาก มันก็ย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ เพราะเราไม่มีญาณพิเศษที่จะรู้ว่าคนนี้คือใคร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร ไม่มีใครจะรู้ได้ เราทำการทำงานติดต่อ เขาเข้ามาติดต่อ มีทางที่จะได้เงินได้ทองจากการติดต่อกันในรูปนั้นรูปนี้ แต่ว่ามันไม่ได้เพราะคนนั้นมันโกงเรา เราก็ควรจะนึกว่า เฮ้อ ช่างมันเถอะ มันเป็นบทเรียนของเรา ทีหลังเราจะได้จำไว้ จะทำอะไรก็จะได้ใช้สติปัญญาให้มันมากเป็นพิเศษ ศึกษาให้มากเป็นพิเศษ ไม่หุนหันพลันแล่นที่จะรับอะไรง่าย ๆ หรือที่จะไปตกลงอะไรกับใครง่าย ๆ ถ้าเรายับยั้งชั่งใจไว้ได้ เราก็ไม่เสียท่าใคร
ชีวิตของคนเราความจริงนี่มันค่อยฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ ฉลาดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต คือเริ่มต้นออกไปปฏิบัติงานในชีวิตประจำวัน เรียกว่าเริ่มผจญแล้ว พอเริ่มเข้าทำงานนี่เรียกว่าเริ่มเข้าผจญภัยในชีวิตของเรา คล้ายกับเราเดินเข้าป่า มีอันตราย เสือ ช้าง แรด กวาง หมี สัตว์ป่าเยอะแยะที่ในป่านั้น เราเดินไปด้วยความเสี่ยงอันตราย ถ้าหากว่าเรามรสติดี มีปัญญาดี มีความเข้มแข็งในทางจิตใจ เราก็หลบหนีภัยอันตรายเหล่านั้นไปได้ ไปรอดปลอดภัย ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าหากว่าเราเดินด้วยความประมาท ไม่ระมัดระวัง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เราก็เสียท่าคนนั้นบ้าง เสียท่าต่อสิ่งนี้บ้าง เดินเข้าไปบางทีเจอผลไม้สีสวย ๆ เลยเก็บมากินเข้าไป พอกินเข้าแล้วมันเมา ไปไม่ได้นอนซมอยู่ตรงนั้น เลยเสือมาเอาไปกินเสีย อย่างนี้ก็มี มันมีอันตรายรอบข้าง ในชีวิตนี่มีอันตรายรอบข้าง แต่ว่าอันตรายเกิดขึ้นจากต้นไม้ จากสัตว์ป่า จากอะไร ๆ ซึ่งเป็นเรื่องมีอยู่ตามธรรมชาตินั้น ไม่น่ากลัวเท่าไร เพราะมันไม่ค่อยจะอันตรายนัก
อันตรายที่น่ากลัวคืออันตรายจากคนนี่ คนนี่มีอันตรายน่ากลัวมาก ถ้าพูดถึงแง่ดุร้ายก็ดุร้ายเหลือเกิน ถ้าพูดถึงแง่สุภาพก็สุภาพเหลือเกิน เรียกว่ามีทั้งดีทั้งเสีย ไอ้ที่ดีก็ดีเหลือเกิน ที่เสียมันก็เสียเหลือเกิน แล้วมันเป็นอันตรายแก่เราได้มาก เพราะฉะนั้นคนโบราณเขาจึงสอนนักสอนหนา ว่าคบกับคนนี่มันต้องระวัง คบกับเดรัจฉานนะมันค่อยยังชั่วกว่า เพราะเดรัจฉานนั้นมันซื่อ ตรงไปตรงมา มันจะกัดก็มันกัดเลย มันไม่มีลูกไม้ ไม่มีเล่ห์มีเหลี่ยม ไม่ได้ทำเป็นหน้าเนื้อใจเสือ หรือหน้าเสือใจเนื้ออะไร หน้าเนื้อก็เนื้อละ หน้าเสือก็เสือละ มันตรงไปตรงมา ท่านจึงกล่าวไว้ว่าสัตว์เดรัจฉานมันมีธรรมชาติซื่อตรง คือตรงไปตรงมา ถ้าชอบก็ชอบละ ถ้าชังก็กัดกันเลยทีเดียวละ มันไม่มีลูกไม้ ไม่มีเล่ห์มีเหลี่ยม เขาเรียกว่าเป็นทื่อ ๆ
แต่มนุษย์เรานั้นมันหลายเหลี่ยมหลายมุมเหลือเกิน หลายหน้า เขาว่าพระพรหมมีสี่หน้านะ แต่ว่ามนุษย์นี่มีหน้ามากกว่าพรหมไปซะด้วยซ้ำไป อาจจะหกหน้า เจ็ดหน้า สิบหน้า ร้อยหน้า เปลี่ยนได้ทุกเวลานาที เปลี่ยนไปตามเรื่องตามเหตุการณ์ เราจึงต้องระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากคนหลายหน้าหลายตาเหล่านั้น ซึ่งมีอันตรายแก่เราเมื่อไรก็ได้ จะต้มเราเมื่อไรก็ได้ ก็ดูฟังข่าว ปรากฏอยู่บ่อย ๆ ว่าคนมันต้มกันอย่างโน้น ต้มกันอย่างนี้ หนังสือสิ่งพิมพ์เขาก็ลง วิทยุก็ออกประกาศบ่อย ๆ แต่คนก็ไม่ค่อยสนใจฟังเอามาเป็นบทเรียน พอเผลอเข้า อ้าว เพื่อนมาต้มเอาไปแล้ว ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนไปตาม ๆ กัน นี่คืออันตรายที่เกิดขึ้นจากคนอันเราได้ประสบพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
ยิ่งเป็นคนหนุ่มคนสาวด้วยแล้วอันตรายมาก เพราะเรายังอ่อนต่อโลก ยังไม่ประสีประสา ออกไปทำมาหากิน ย่อมเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อน มีคนนึงเล่าให้ฟังว่าลูกนี่ออกไปทำมาหากิน ก็ไปเที่ยวรับเหมาก่อสร้างอะไรต่าง ๆ ก็ไปรับเหมาแห่งหนึ่ง ได้มาทำในเงินประมาณเจ็ดแปดแสน แต่ว่าพอทำไปงวดหนึ่งเขาก็จ่ายเงินให้ พองวดสองเสร็จแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของบอกว่า เฮ้ย เอา ๆ ไว้เบิกเงินกันทีเดียวตอนจ่ายงวดสามไง พองวดสามก็ เอาไว้จ่ายเงินกันทีเดียวงวดสุดท้ายเลย ตอนนี้เงินทองมันก็ไม่ค่อยคล่องอยู่ ไอ้เจ้านี่ก็เป็นคนซื่อ ทำจนเรียบร้อย พอทำจนเรียบร้อยแล้ว ไอ้สามงวดที่ผลัดไว้ก็ไม่ให้เลย มันไม่ให้ ทีนี้ไม่ให้ก็จะทำยังไง ไอ้คนที่มาติดต่อนั้นมันเป็นคนที่มีหุ้นน้อยในโรงงานนั้น มันมีนิดหน่อยเท่านั้นเองล่ะ ไอ้พวกหุ้นมากมันไม่มาติดต่อ ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรกับเด็กคนนั้น ไอ้หุ้นน้อยนี่แสดงว่าในชุดนั้นมันวางแผนแล้ว วางแผนจะต้มไอ้หนุ่มน้อยคนนี้ให้งอมแงมไปเลย อ้าว มันก็ต้มสำเร็จ จ่ายเช็คไว้ก็ไม่มีเงิน แต่ว่าค่อยยังชั่วหน่อย เอาไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ศาลบังคับให้จ่ายเงินให้ แต่ว่าจ่ายมันก็ไม่ได้จ่ายทันทีทันใด ศาลให้ไปทวงเอาได้ จ่ายตามสัญญา พอทางเอาทีมันก็ได้พันสองพัน เงินมันตั้งเยอะแยะ ทวงกันสามสิบปีมันถึงจะได้หมดนะ ก็กลุ้มใจ วิตกทุกข์ร้อนกังวลขึ้นมาในชีวิต
อันนี้เพราะอะไร เพราะใหม่ต่อโลกนั่นเอง ยังไม่มีประสบการณ์ ยังไม่ค่อยรู้อะไร แล้วก็มีความผิดพลาดอยู่ประการหนึ่งคือว่า ไม่ปรึกษาผู้ใหญ่ที่เขามีความรู้มีความชำนาญ หรือบางทีปรึกษาผู้ใหญ่ บอกว่ามันจะไม่ได้นะ ดื้อ เป็นคนดื้อไป คนหนุ่ม ๆ เรานี่นะ มักจะถือตัวว่าเก่ง ว่าสามารถ บางทีอาจจะดูหมิ่นคนแก่ไปซะด้วยซ้ำนะ หาว่าคนแก่นะ โอ๊ย ไม่ทันสมัย คุณปู่นี่ไม่ทันสมัยแล้ว ไอ้นั่นมันสมัยเมื่อหกสิบปีมาแล้ว ไอ้นี่มันสมัยนี้ คุณปู่มีความคิดอย่างนี้มันไม่ทันเขาหรอก มันว่าปู่ซะด้วยซ้ำไป หรือบอกว่าพ่อก็เหมือนกัน พ่อก็เก่าแล้ว ไม่ได้เรื่องหรอก สมัยนี้มันต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ แน่ะ ลองพอปล่อยเข้านะ เจ้าลูกชายพอไปทำก็ล้มตึงเลยทีเดียว มันไม่เชื่อคำคุณปู่คุณพ่อ อย่างนี้เพราะอะไร เพราะมีความหยิ่งในศักดิ์ศรีมากเกินไป สำคัญว่าตนมีความรู้มาก สำเร็จมาจากมหาวิทยาลัย พ่อไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย ลูกมันก็นึกว่ากูเก่งกว่าพ่อ
แต่ว่าพ่อนั้นมีมหาวิทยาลัยในชีวิต เรียนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ทำงานเข้ามาโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งตั้งตัวได้เป็นหลักเป็นฐาน แต่เด็กมันหนุ่มมันคิดไม่ได้ มันคิดว่าเราเรียนมาทฤษฎีมันเป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นมันเป็นอย่างนี้ จะมุเอาพักเดียว ผลที่สุดพังกันเท่านั้นเอง ไอ้ที่พัง ๆ ไปนั่นไม่ใช่เพราะอะไรหรอก เรื่องมุทะลุดุดัน ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ สำคัญคนว่ารู้มากอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยประการต่าง ๆ สังเกตดูลูก ๆ เรามันก็เป็นอย่างนั้นนะโยม ลูกหญิงลูกชายนี่ พอมันโตขึ้นหน่อยเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา มันชักจะเก่งขึ้นมาแล้ว ผู้ใหญ่พูดนี่มันชักจะไม่ฟังเสียงแล้ว หาว่าผู้ใหญ่นี่ไม่เข้าใจเรื่อง พูดจาไม่ถูกอะไรต่าง ๆ นา ๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ชีวิตมันก็เกิดความผิดพลาดได้ง่าย เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรอย่างนี้
อันนี้ก็สำคัญเหมือนกันที่จะต้องคอยแนะนำไปตั้งแต่เริ่มต้น ให้เขารู้จักเดินทางที่ถูกที่ชอบ คือว่าไอ้ไอ้แนะนำเบื้องต้นนี่ก็ไม่มีอะไรนอกจากว่า คอยตักเตือนแนะนำให้ได้มีความคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบ ให้เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างดุดัน ดุดื้อมากเกินไป ในการกระทำอะไร ๆ ต่าง ๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย (26.37 หลวงพ่อให้คนไปบอกช่างหยุดทำกุฏิไว้ก่อนเพราะเสียงดัง) ให้ไม่ดุดันไปด้วยประการต่าง ๆ อันจะเป็นเรื่องก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต ในการงาน อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่คนทั่ว ๆ ไป บางทีพ่อแม่หาทรัพย์สินเงินทองไว้มากมายเพื่อให้ลูกได้กินได้ใช้ แต่ว่าลูกใช้ไม่เป็น คือใช้อย่างชนิดที่เรียกว่าหักโหม ทำอะไรก็มุทะลุดุดัน ไม่คิดไม่ตรองให้รอบคอบ ในเรื่องที่จะจัดจะทำ ผลที่สุดก็หมดเนื้อหมดตัว ลำบากเดือดร้อนต่อไป นี่คือความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในชีวิตด้วยประการต่าง ๆ
ถ้าสมมติว่าเราเป็นคนหนุ่มคนสาวอะไรก็ตามที ถ้าจะไปทำอะไรนี่อย่าทำด้วยอารมณ์ แต่จะต้องคอยศึกษางานการ ต้องเชื่อผู้ที่ทำมาก่อนนะ คนเดินก่อนนี่ชำนาญกว่า เขามีประสบการณ์กว่า แม้เราจะมีความรู้ก็จริง แต่เรียกว่าทฤษฎี รู้ตามหลักการจากหนังสือจากตำรา แต่ว่ายังไม่เคยลงมือปฏิบัติเลย เหมือนกับคนเรียนการเกษตรแต่ไม่เคยปลูกข้าว ไม่เคยปลูกข้าวโพด ไม่เคยปลูกพืชอะไรเลย แต่ในหนังสือนั่นบอกไว้หมดว่าทำดินอย่างนั้น ใส่ปุ๋ยอย่างนี้ รดน้ำอย่างนั้น รู้หมดแหละ แต่ว่าไม่เคยปลูก แล้วก็จะไปเถียงกับคนที่เคยปลูกนี่มันก็ลำบากเหมือนกัน เขารู้นะเขาทำมานาน มีประสบการณ์ เราจะไปเถียงเขาก็ไม่ได้ แต่ถ้าทางที่ถูกก็ทำดูก่อน เรามีความรู้จากหนังสือจากตำรับตำรา เอาเข้าไปซักแปลงซิ ลองใช้หลักวิชาซักแปลงซิ ประเดี๋ยวก็ได้เรื่องเท่านั้นแหละ ทำไป ถ้าทำถูกมันก็เจริญแหละ ถ้าทำผิดมันก็ไปไม่รอด แต่ผู้ที่ทำมาก่อนนั้นเขารู้ว่าอะไรมันจะเสีย อะไรมันจะได้ อะไรเป็นอะไร เขาเข้าใจเรื่องตลอดแนว
ดังนั้นเขาจึงมักจะแนะนำตักเตือนคนหนุ่ม ๆ ทั้งหลายที่ทำงานว่า อย่าใจร้อน ใจเย็น ๆ ต้องค่อยทำค่อยไป สิ่งอะไรนี่จะบุ่มบ่ามไม่ได้ ต้องต่อยเป็นค่อยไป แต่ว่าคนบางคนก็ว่า ไม่ได้ มันต้องเด็ดขาดกันเลย มันต้องหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า ถ้าหักอย่างนั้นก็เข่าพังไปเลย พร้ามันไม่หักหรอกแต่ว่าเข่ามันจะหัก อันนี้มีตัวอย่างอยู่ทั่ว ๆ ไป คนอย่างนี้เขาเรียกว่ามีความคิดรุนแรง ในเรื่องการปฏิบัติอะไร ๆ ในหน้าที่ประจำวันชอบใช้ความรุนแรง ไม่ชอบการค่อยเป็นค่อยไป ทำอะไรก็จะใช้วิธีการหักโหมรุนแรงด้วยประการต่าง ๆ ครอบครัวก็ดี บ้านเมืองก็ดี ถ้ามีคนประเภทรุนแรงเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วมักจะเสียหาย มักจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ง่าย เพราะความรุนแรงนั้นมันขาดสติ
สติกับปัญญานี่มันเป็นของคู่กัน ต้องไปด้วยกันตลอดเวลา เรียกว่าเป็นเพื่อนฝาแฝด ทิ้งกันไม่ได้ ถ้าขืนทิ้งละมันก็เสียหายนะ เช่นคนมีปัญญามากแต่ขาดสติ ทำอะไรมันก็ผิดง่าย คนมีสติขาดปัญญาก็เสียเหมือนกัน คิดได้นึกได้แต่มันไม่รู้ว่าคิดอะไรนึกอะไร เพราะไม่มีหลักในการคิดนึก เพราะอย่างนั้นสองอย่างนี้ต้องคู่กัน มีสติ มีปัญญา ควบคู่กันไป
คนในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ มักจะมีปัญญามาก แต่สติมันน้อยไป ความคิดความตรองนั้นมันน้อย แต่คนผู้หลักผู้ใหญ่นั้นสติชักจะเฟื่องอยู่เหมือนกัน เลยมีความยั้งคิดมากเพราะเคยผ่านชีวิตมามาก เคยล้มหลายหนนะ เหมือนกับโยมแก่ ๆ นี่ผ่านชีวิตเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้ามานี่ พลิกท้อง (น่าจะหมายถึงหงายท้อง) มาซักกี่หนแล้ว เรารู้เดินอย่างไรมันล้ม เดินอย่างไรมันลื่น หัวจะแตกอย่างไรรู้แล้ว เพราะว่าชำนาญงาน รู้มานาน แต่ว่าลูกหลานของเราเด็ก ๆ นั้น มันยังไม่เคยล้ม มันเคยสบาย ต้องการอะไรก็คุณแม่ คุณพ่อ คุณพ่อนี่ยังไม่ค่อยกล้าขอเท่าไร เพราะคุณพ่อละชักจะดุหน่อย แต่คุณแม่ล่ะขอได้เรื่อยนะ คุณแม่ เข้าไปถึงกอดปั๊บเดียวล่ะ เอาไป ได้มาแล้วนะ จะให้วิธีใดก็ให้มันได้ก็แล้วกันละ แล้วมันก็สบายใจ มันยังไม่ได้ผจญภัย ยังไม่ได้ต่อสู้กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
ครั้นไปทำงานทำการเข้าจึงเสียหาย ให้สังเกตดูคนบางคน เรียนจบปริญญาในเรื่องอะไรต่าง ๆ อ้าว ส่งไปทำงาน ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะใช้แต่หลักวิชา ใช้ปัญญาอย่างเดียว แต่ว่าขาดสติในการปฏิบัติงาน เลยทำไม่สำเร็จ อ้าว ต้องเรียกตัวกลับมาอยู่ในกระทรวงต่อไป ส่งไปแล้วมันทำไม่ได้ หรือบางทีทำแต่ว่ามันรุนแรงเกินไป กระทบกระทั่งไปหมด คนได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ได้คิดให้มันละเอียดรอบคอบ จะทำให้มันได้ดังใจ แล้วก็บุกพักเดียว แล้วมันก็เสียหาย คนทั้งหลายก็ไม่ชอบในการกระทำเช่นนั้น นี่คือความร้อนใจ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นในชีวตด้วยประการต่าง ๆ ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลมันก็ไม่สู้กระไร เพราะเสียหายก็เสียหายในวงจำกัด ในเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องของประเทศชาติแล้วมันไม่ได้ มันกระทบกระเทือนมาก เสียหายมาก
เรื่องของประเทศชาตินี่ถ้าว่าพลาดไปแล้ว กลับตัวยากเหลือเกิน กลับมาสู่แนวทางที่สงบ ที่จะสะดวกสบายต่อไปนั้นมันยาก ลองสังเกตดู อาตมาก็ฟังข่าวอะไรต่ออะไร ก็นั่งพิจารณาดูอยู่เหมือนกันว่าไอ้ที่เขาเปลี่ยนอะไรกันอย่างรุนแรงนั้น มันไม่ค่อยจะดีเท่าใด ความรุนแรงนี่มันใช้กำลัง ใช้โมโหโทโส ใช้กิเลสมาก เพราะว่าความรุนแรงนี่มันต้องใช้กิเลส ไม่ค่อยได้ใช้ธรรมะเท่าใด เมื่อทำลงไปแล้วมันหยุดไม่ค่อยได้ มันแรงแล้วมันหยุดไม่ได้
เหมือนเราวิ่งพุ่งแรงไง แล้วเราไปถึงตรงนั้นมันเป็นหน้าผาชันมันหยุดไม่ทัน เมื่อถึงตรงนั้นแล้วมันจะเบรก ตัวโก่งแล้วมันเบรกไม่ได้แล้ว มันหน้าผามันชัน ก็ตกหน้าผาตายเท้านั้นเอง แต่ถ้าเราเดินไปด้วยความระมันระวัง เห็นแต่ไกลว่าทำไมตรงนั้นมันหลืบลึก ๆ แล้วมันก็หยุดได้แต่ไกล พอไปถึงหน้าผาแล้วมันก็หยุดได้ มันไม่ตกหน้าผาลงไป แต่ถ้าเดินอย่างแรงไป วิ่งอย่างแรงไปถึงหน้าผาละมันยั้งไม่ได้ ยั้งไม่ได้ก็หล่นม้วนลงไปก็เท่านั้นเอง กระดูกแหลกเหลวตายกันไปตาม ๆ กัน
เรื่องของงานบ้านเมืองประเทศชาติมันก็เป็นอย่างนั้น สังเกตดูเถอะ ประเทศไหนที่ใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงอะไร ๆ ต่าง ๆ นั้น มักจะไม่สงบไปกันนาน ๆ เดือดร้อน แต่ถ้าสงบลงไปได้ก็เรียกว่าฆ่ากันวินาศไปเลย ฆ่าคนเป็นพันเป็นหมื่นนะ ทำลายกันใหญ่โตนะ มันดีอะไรที่จะต้องทำอย่างนั้น ไม่น่าจะทำอย่างนั้น แต่ว่าทำด้วยอารมณ์ ไม่ได้ทำด้วยธรรมะ มันก็เกิดเป็นปัญหา ทำให้เกิดความวุ่นวายกันด้วยประการต่าง ๆ
ท่านมหาตมะคานธีนี่ท่านเป็นนักธรรมะ ท่านไม่ชอบความรุนแรง ไม่ว่าจะทำอะไร ท่านต่อสู้เพื่อประเทศชาติของท่าน แต่ท่านไม่ชอบความรุนแรง ถ้าใครจะทำความรุนแรงให้เกิดขึ้นล่ะ มันไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันจะเกิดความเสียหาย เมื่อเสียหายแล้วมันแก้ไม่ได้ จิตใจคนมันจะเปลี่ยนไปในทางเสื่อม เสื่อมไปแล้วเอาคืนมายาก เราต้องสู้อย่างนี้ ตามแบบสันติ แบบไม่เบียดเบียนกัน แบบที่ไม่ต้องทำใครให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ ท่านก็ทำมาอย่างนั้นเรื่อย ๆ ใช้วิธีการอย่างนั้น ก็สำเร็จมาโดยลำดับ จนสำเร็จเรียบร้อย
แต่ว่าพอเรียบร้อยแล้วนะ อินเดียมันจะแตกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งเป็นมุสลิม ภาคหนึ่งเป็นฮินดู ไอ้หนุ่มใจร้อนอีกและ ใจร้อนว่า เฮ้ย คานธีนี่เอาไว้ไม่ได้ เก็บมาพอแล้ว ใช้งานพอแล้ว ถ้าขืนเอาไว้เราจะรบกันก็ไม่ได้ มันก็เลยยิงคานธีเท่านั้นเอง นี่ไอ้หนุ่มใจร้อนมันยิงคานธีนะ มันไม่ได้คิดให้ละเอียดว่าท่านทำประโยชน์มาอย่างไร แล้วการที่จะรบกันนะมันได้อะไรขึ้นมามั่ง มันมีแต่ความตายกับตายเท่านั้นเอง ความฉิบหายกับฉิบหายเท่านั้นเอง มันจะได้อะไรขึ้นมา
หนุ่มมันคิดไม่ได้ มันคิดแต่ความร้อน …… (36.00 เสียงไม่ชัดเจน) พวกเหล่านี้ถ้าคิดแล้ว จะทำลาย …… (36.03 เสียงไม่ชัดเจน) เรื่อย ๆ ไป จะคุยแต่เรื่องจะทำลาย เรื่องฆ่า เรื่องทำลาย ทำให้เสียอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้มันไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคม ด้วยประการต่าง ๆ สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน
แต่ถ้าใช้วีการค่อยเป็นค่อยไป มันก็เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่เสียหาย เมืองไทยเรานี้นับว่าดีอย่างหนึ่งที่ว่า เรามีพระพุทธศาสนานี่เป็นห้ามล้อที่จิตใจ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่สอนคนให้ใจสงบ เยือกเย็น มีเหตุผล ไม่วู่วาม ทำอะไรก็ไม่บุ่มบ่าม เราจึงเอาตัวรอด
พวกเพื่อนบ้านข้างเคียงของเรา ความจริงก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน เช่นพม่านี่ก็นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกับเรา มีพระสงฆ์องค์เจ้าวัดวาอารามเหมือนกับเราทุกอย่างนะ แต่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของพม่านั้นใจมันร้อน พม่านี่ยุคไหนก็ร้อนหมด ใจร้อน บุ่มบ่าม ทำอะไรก็รุนแรง
เคยไปเมืองพม่า เห็นความรุนแรง เช่นพระนี่ท่านก็รุนแรง วันหนึ่งนั่งอยู่ในวัด มีคนมาขึ้นมะขามในวัด พอมาคนขึ้นแล้วท่านก็ ลงมา! บอกว่า คงจะบอกให้ลงมานั่นแหละ ไอ้นั่นลงมาถึงโคนมะขาม ท่านก็ตบเปรี้ยง ๆ ๆ ๆ เข้าให้ ไอ้นั่นก็วิ่งงงง พักเดียวแหละ …… (36.31 เสียงไม่ชัดเจน) อาตมานึกว่า เอ๊ย จะไปตบทำไม ลงมาแล้วก็พูดกันดี ๆ ก็ได้ ไม่ต้องตบก็ได้ แต่ว่าท่านใจร้อน พอลงมาถึงก็อารมณ์มันโกรธ ลืมไปหมดว่าจิตมีกี่ดวงนี่ลืมไปเสียแล้ว ท่องในอภิธรรมว่าจิตมีกี่ดวง นับไม่ได้ ไม่รู้ว่าดวงไหนมันเกิดขึ้นมาแล้ว เปรี้ยง ๆ เข้าให้ แต่ว่าชาวบ้านนี่ก็ดี เพราะว่าถ้ากับพระนี่มันไม่สู้ ชาวบ้านนี่ ตบมันก็หนีเท่านั้นแหละ เลยหนีไปแหละ นี่แสดงว่า ร้อนมาก ใจร้อน ไม่ได้เรื่องอะไร
มีอีกคราวหนึ่งเดินทางในรถไฟ เรือไฟสิ ก็นอนในพื้นเรือนี่ ก็โดยสารปากเรือนี่ก็เรียกว่า ….. (38.09 เสียงไม่ชัดเจน) พวกโดยสารปากเรือนี่ พระพม่าแกก็นอนอยู่ ไอ้เราก็นอนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าแขกคนหนึ่ง แขกทมิฬนะ แขกอินเดียนะมันเดินกะเร่อกะร่านิดหน่อยสะดุดเท้าพระพม่า พระพม่าลุกขึ้นได้เอารองเท้าตบหน้ามันเลย มันเดินสะดุดตีนนิดหน่อยเอารองเท้าตบหน้าทำไม นึกในใจว่าแหมทำไมทำอย่างนั้น ก็เลยนึกให้อภัยว่า พม่านี่ใจมันร้อน เพราะอย่างนั้นจึงเผากรุงศรีอยุธยาได้ง่าย ๆ เราไปเห็นก็ให้อภัย นิสัยมันร้อนมาแล้ว พวกนี้ใจมันร้อน ไม่เย็น
คนไทยเราไม่อย่างนั้นหรอก ใจไม่ร้อนอย่างนั้น มีอะไรเกิดขึ้นก็พอยอมได้ พอให้อภัยกันได้ พูดจากันได้ เราจึงไม่ค่อยจะเสียหาย พาบ้านเมืองรอดมาได้นี่ก็เพราะธรรมะนี่แหละ คือว่าไม่ร้อน เยือกเย็น สงบใจ คิดรอบคอบ แล้วจึงค่อยพูดค่อยจากัน ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องอะไร เราไม่ใจร้อน เพราะอย่างนั้นเรื่องไม่เสียหาย เช่นในสมัยรัชกาลที่ห้านี่อันตรายมากตรงนั้น คือเริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่สี่ของกรุงเทพ ฝรั่งเริ่มมา เริ่มมาจะมายึดประเทศพม่าบ้างแล้ว ยึดตอนชายทะเลแล้ว แต่ยังไม่ถึงกรุงบัณฑะเลย์ แต่ทีหลังก็ยึดเข้ากรุงบัณฑะเลย์ เอาพระเจ้าแผ่นดินลงเรือ เอาไปไว้อินเดียซะเลย แล้วยึดหมดทั้งประเทศ
ประเทศไทยนี่ก็ เขาก็อยากได้เหมือนกัน แต่ว่าทำกับคนไทยนี่ไม่ได้ เพราะคนไทยนี่ เขายื่นอาวุธมามันกลายเป็นดอกไม้ไปเสีย ยื่นยาพิษมาก็กลายเป็นดอกไม้ไปเสีย เพราะอะไร เหมือนกับหนังตะลุงมันเล่นไง พี่กับน้องไม่รู้จักกัน ไม่รู้จักกันมาเจอกันก็รบกันนะ พอแผลงศรแล้วศรกลายเป็นดอกไม้ไป เอาหอกพุ่งก็กลายเป็นดอกไม้ไป เอ๊ะ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น สองคนก็เลยมา เอ๊ะ หยุดรบกันทีเหอะ มาคุยกันหน่อย คุยไปคุยมา อ้าว พี่นั่นเอง อ้าว น้องนั่นเอง เลยกลายเป็นพี่น้องกันไป นี่มันกลายเป็นดอกไม้อย่างนั้น บ้านเมืองเราก็เหมือนกัน ไอ้สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยนะมันกลายเป็นดอกไม้ไป ทำไมจึงกลายเป็นดอกไม้ เพราะผู้บริหารประเทศท่านใจสงบใจเยือกเย็น โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินนี่ท่านสงบ ท่านได้รับการอบรมมาตามระเบียบประเพณีที่ดีที่งาม เพราะอย่างนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่วู่วาม
อำนาจสมัยนั้นมันอยู่กับพระเจ้าอยู่หัว เรียกว่ามีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการสั่งงานด้วยประการต่าง ๆ ท่านไม่ร้อนองค์เดียวคนอื่นจะร้อนทำไม ทหารจะร้อนก็ไม่ได้ ก็นายไม่สั่งนี่เราจะร้อนอย่างไร เพียงแต่ขยับดาบติ๊กแต๊ก ๆ ไปตามเรื่องแหละ แต่ว่าเจ้านายไม่สั่งนี่จะตีขอบดาบได้ยังไง ท่านไม่สั่งเพราะว่าท่านใจเย็น ก็ดูเหตุการณ์ ดูกำลังของเรา ดูกำลังคน ดูกำลังอาวุธ ฝ่ายที่เรามีมันพอสู้ไปได้ซักกี่เมื่อล่ะ มันต้องรู้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ รู้เหตุ รู้ผล รู้คน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้บุคคล รู้ชุมชนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เขาเรียกว่าเป็นธรรมของคนที่สงบ ท่านก็พิจารณาแล้ว ไม่ได้ อย่าไปเล่นกับมันไอ้ตาน้ำข้าวนี่ หมัดมันหนักกว่า มวยคนละชั้นนะ ขึ้นเวทีไม่ได้ ใช้ขึ้นเวทีไม่ได้ มันต้องพูดกันดี ๆ
เอ้า ต้องการอะไร ที่เอาทัพเอาเรือเข้ามานี่ต้องการอะไร ก็ต้องการจะขาค้าขาย โอ เรื่องเล็ก จะเข้ามาค้ามาขาย เมืองไทยยินดีต้อนรับ เราก็ต้อนรับขับสู้ ให้มาค้าขายสะดวกสบายไม่ให้เดือดร้อนวุ่นวาย แล้วคนไทยเรานี่มันนิสัยมันไม่ชอบรังแกคน ฝรั่งเค้ามาค้าขายเราก็ไม่รังแกเค้า ไม่เบียดเบียนเค้า
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงมันไม่อย่างนั้นนะ ประเทศญวณน่ะ พวกบาทหลวงเข้ามาสอนศาสนา พวกญวณเอาบาทหลวงไปต้มซะมั่ง เอาไปทำร้ายซะ พวกนั้นมันก็มุมานะว่า อ้อไอ้เมืองป่าเถื่อนนะมันต้องเอาให้อยู่นะ ทีนี้ไม่มาแต่บาทหลวงแล้ว ทหารถือดาบมาด้วยเลย เล่นงานเลย ประเทศญวณก็ล่มจมกันไปก็เท่านั้นเอง
ของเราไม่เป็นไร ท่านจะมาสอนศาสนาเหรอ เอ๊ย เชิญตามสบาย เช่นสมัยกรุงศรีอยุธยานี่พวกบาทหลวงเข้าไปสอนศาสนาถึงพระเจ้าแผ่นดินเลย เอาคัมภีร์ไบเบิลไปสอนศาสนาพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์ท่านก็เรียกว่าคนไทยนิสัยสงบเยือกเย็น ว่าเขามาสอนก็ ฮื้อ มันได้กำไรนี่ได้ความรู้ ก็ช่างเขา เขาก็มาสอน มาอธิบาย ตรงไหนสงสัยก็มาไต่ถาม อยากรู้อยากเรียนก็มาทีเดียวแหละ
บาทหลวงตายใจ เมืองไทยนี่เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือแล้ว เพราะพระเจ้าแผ่นดินเลื่อมใสในศาสนาคริสตังแล้ว จึงเขียนจดหมายไปคุยถึงปารีส คุยกับเพื่อนพระในปารีส บอกว่า เมืองไทยนี่เหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือแล้วเวลานี้ ไม่ต้องใช้กระสุน ไม่ต้องใช้ดาบ ใช้วาทะเอาเท่านั้นแหละคนไทยก็หลงลมแล้ว ว่าอย่างนั้น เวลานี้พระเจ้าแผ่นดินเลื่อมใสมาก ถ้าเราเข้าไปพูดให้ท่านฟังทุกวัน ๆ มีแต่จะทำพิธีเท่านั้นเอง นั่น คุยกันนะ นึกว่าตายแล้ว ยังไม่รู้ลูกไม้พี่ไทย ฝรั่งมันยังอ่อนหัดเหมือนกันนะ ไม่รู้ว่าพี่ไทยน่ะลูกไม้พราวทั้งตัว
ทีนี้ก็พอวันดีคืนดีก็บาทหลวงมากันหลายคน แต่งตัว เต็มยศเต็มอย่างเลย เข้าไปในวังนะ พระเจ้าแผ่นดินถามว่าวันนี้ครูจะมาทำอะไร บอกว่าวันนี้พระผู้เป็นเจ้าสั่งให้มาทำการแบ๊บติ๊ส หมายความว่าให้ท่านรับศีล เป็นคาทอลิกว่างั้น เพราะว่าท่านได้เรียนรู้มามากแล้ว ควรจะรับศีลได้แล้ว พระนารายณ์ท่านเก่งยังไง ท่านตอบว่ายังไงเดี๋ยวโยมฟังดูนะ
พระนารายณ์ท่านบอกว่า เออ ข้าพเจ้านี่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้ามีจริง แล้วข้าพเจ้าเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าส่งข้าพเจ้าให้มาอยู่เมืองไทย เมืองไทยนี่พระผู้เป็นเจ้าท่านก็รู้ว่าเป็นเมืองพระพุทธศาสนา ประชาชนทั้งหลายก็นับถือพุทธศาสนา เมื่อส่งข้าพเจ้ามาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศไทย ก็เท่ากับว่าส่งข้าพเจ้ามาเป็นพุทธบริษัท ถ้าข้าพเจ้าจะเปลี่ยนใจไปนับถือศาสนาคริสตัง มันจะขัดความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แล้วฉันจะทำยังไงได้ล่ะ อ้าว บาทหลวงหงายหลังผึ่งเลย บาทหลวงไม่รู้ว่าควรตอบอย่างไร ตอนนั้นก็เรียกว่าคนไทยมีลิ้นสำคัญเหมือนกัน ตอบอย่างคมคายที่สุดเลย บอกว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ฉันจะทำได้อย่างไร บาทหลวงซึ่งไม่รู้จะพูดอย่างไรได้ เลยก็ถวายพระพรกลับโบสถ์เท่านั้นเอง ไม่ได้อะไร
นี่มันเป็นอย่างงี้แหละ แล้วไทยก็อยู่ได้ ไม่เดือดร้อน พวกบาทหลวงนั้นก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร พระเจ้าแผ่นดินไม่กลับใจก็ไม่เป็นไร ก็สอนคนอื่นต่อไป อยู่ไป ๆ ก็ต่อมาบ้านเมืองเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน บาทหลวงพวกนั้นก็เดือดร้อนก็ถอยทัพกลับไปหมดเลย ไม่มีได้ลำบากอะไร เรียกว่าสมัยนั้นมีวิธีการนิ่มนวล ไม่หยาบคาย ไม่ขับไล่ไสส่ง ไม่ดูแคลน เอาความดีเข้าสู้ ใช้อาวุธคือปัญญา ดีกว่าใช้อาวุธคือดาบหอกเป็นไหน ๆ เอาตัวรอดมาได้
มาสมัยกรุงเทพก็เหมือนกันแหละ สมัยรัชกาลที่ห้า ฝรั่งเศสมาบุกปากอ่าวทะเลทีเดียวแหละ ทำให้เกิดความเสียหาย ยึดจันทบุรีไว้ เมืองตราดไว้เป็นหลักประกัน ในหลวงท่านจะทำยังไง ท่านก็ใช้อุบายนิ่มนวล ไม่หยาบคายกับเขา ปล่อยเขายึดไปก่อน ไม่ได้กลัว อ๊ะ ๆ ยึดไว้บ้างช่างหัวมัน มาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองแถวนั้น พระองค์ทำยังไง ต้องไปหามิตรก่อน เสด็จประพาสยุโรป เป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินในเอเชียไปยุโรปทีเดียวแหละ พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นยังไม่เคยไป ญี่ปุ่นก็ยังไม่ไป เราไป
ไปเที่ยวก็พบมิตรประเทศใหญ่ ๆ ไปประเทศเยอรมัน ไปประเทศออสเตรีย ไปประเทศรัสเซีย ไปประเทศอังกฤษ ทุกประเทศมีพระเจ้าแผ่นดิน แต่ประเทศฝรั่งเศสไม่แวะ ผ่านไป ๆ ประเทศสเปน ไม่แวะ รัฐบาลฝรั่งเศสทนไม่ได้ เฮ้ย พระเจ้าแผ่นดินไทยมาเที่ยวทุกประเทศ บ้านเราไม่เห็นแวะ ไปเชิญนะ ต้องไปเชิญให้เข้าประเทศฝรั่งเศส พอไปเชิญนะได้ไปคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ ไอ้นี่มันลูกกะหลั่วทั้งนั้นนะที่มาอยู่แถวนี้ ไปคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่มันก็รู้เรื่องกันนะ พอรู้เรื่องกันก็เรียบร้อย ก็นิด ๆ หน่อย ๆ เสียอะไรไปบ้าง เรียกว่าเสียแขนไปดีกว่าเสียหัว หัวยังอยู่ไม่เป็นไร เสียแขนซ้ายไปแต่แขนขวายังเขียนหนังสือได้ ยังตักข้าวใส่ปากได้ ไม่เป็นไรยอมเสีย
เพราะอย่างนั้นล่ะ เรามันต้องเสียบ้างเพื่อให้ส่วนใหญ่อยู่ ถ้าไม่มีการยอมเสียเลย เสียหมด เสียหมดก็เดือดร้อน นี่เขาเรียกว่าน้ำใจที่ใช้ธรรมะ ย่อมปลอดภัยอย่างนี้ ชีวิตของคนเรา แต่ละคนก็อย่างนั้น อย่าใจร้อน อย่าทำอะไรบุ่มบ่าม เอาแต่ใจ
เอาแต่ใจนะหมายความว่าเกิดอารมณ์ เกิดกิเลส เกิดมานะ เกิดความถือตัว เกิดอะไร ๆ หลายเรื่อง เรื่องเอาแต่ใจตัวทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เราต้องรู้ว่าไอ้ดวงใจดวงนี้มันไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ความร้อนนี่ใช้ไม่ได้ ร้อนนี่มันเผา เอามาใช้ได้เมื่อไหร่ ความเย็นใช้ได้ ลมเย็นใช้ได้ น้ำแข็งเย็นก็ยังใช้ได้ น้ำเย็นก็ดื่มได้ไม่ต้องเป่า แต่น้ำร้อนนะมันร้อน ไฟก็ร้อน โทสะก็ร้อน ...... (48.36 เสียงฟังไม่ชัด) ก็ร้อน โมหะมันก็ร้อน เรื่องร้อนทั้งนั้น เราจะไปใช้ทำไมของร้อน เย็นดีกว่า ถ้าเวลาใดร้อน ดับก่อน ดับทุกข์ก่อน ยืนนิ่ง ๆ ทำความสงบใจ นับหนึ่งถึงสิบ นับหนึ่งถึงร้อย ภาวนาพุทโธอระหัง พุทโธอระหัง อะไรไปตามเรื่อง จนกระทั่งมันเย็น พอเย็นแล้วค่อยพูดค่อยจากัน
คนเราพูดจากันเวลาใจเย็นนั้น มันสบาย แต่ถ้าพูดจากันด้วยใจร้อน หน้าตามันเปลี่ยนนะ หน้าสั่น ปากคอสั่น หูแดงนะ แสดงว่าไม่ใช่มนุษย์พูดแล้ว ยักษ์พูดแล้วเวลานั้น ถ้ายักษ์พูดแล้วมันยุ่งนะ เหมือนกับถ้าเราเป็นยักษ์ เราก็โอ๊ย กูไม่ยอมแพ้ กูเป็นยักษ์มั่ง อย่างนี้เลยกลายเป็นยักษ์วัดโพธิ์วัดแจ้ง ยกมาที่ท่าเตียน ฟาดกันจนท่าเตียนไปเลยนี่ เสียหายอย่างนี้ ใช้ไม่ได้ เรื่องร้อนมันใช้ไม่ได้ ต้องใจเย็น ทำอะไรเย็น ๆ แล้วมันได้อารมณ์เย็น นั่งเย็น นอนก็เย็น คิดอะไรด้วยใจสงบเยือกเย็น ไปติดต่ออะไรกับใครก็ต้องเย็น ๆ เป็นคนค้าขายก็ต้องใจเย็น คนซื้อก็ต้องใจเย็น ไม่ว่าทำอะไรมันต้องใจเย็น อย่าร้อน อย่าใช้อารมณ์ แต่ต้องค่อยพูดค่อยจากัน พาทีกันไปตามเรื่องตามราว เรื่องมันก็ไม่เสียหาย ไม่ยุ่งไม่ยาก
อันนี้ดูท่านเจ้าคุณที่นครศรีธรรมราช หลวงพ่อผาแก้ว เรียกว่าผาแก้ว ท่านใจเย็น ไม่วู่วามอะไร มีพระองค์หนึ่ง พระไม่ชอบทั้งวัด พระองค์นี้ไม่ชอบทั้งวัด มาบอกท่าน ท่านก็บอกว่าพวกคุณนี่ใจมันร้อนจริง ๆ ท่านว่าอย่างนั้นนะ เรื่องอย่างนี้มันต้องให้หลวงพ่อ อย่าใจร้อนดูไปก่อนเรียบ ๆ ท่านไม่ร้อน ท่านไม่วู่วามตามคำพูดของพระเหล่านั้น วันหนึ่งท่านก็เรียกพระองค์นั้นมา มาถึงก็ทำอะไร ท่านยื่นผลไม้ มีผลไม้ต้นฤดู เขาเอามาให้ ท่านก็ให้ไปนิมนต์องค์นั้นมาเลยองค์เดียว องค์อื่นไม่ให้ฉันท์หรอก องค์ที่เพื่อนเกลียดทั้งวัดนั่นนะ เอามาถึงฉันท์ผลไม้ ฉันท์แล้วก็นั่งคุยกันเย็น ๆ แล้วก็ท่านถามว่า คุณนี่มาบวชอยู่นี่กี่ปีแล้ว บอกว่ามาอยู่สิบปีแล้ว ไม่คิดถึงบ้านถึงช่องบ้างเหรอ บ้านมีคุณโยมไหม มีนะตั้งสองคน อายุเท่าไร ก็แก่แล้ว น่าจะได้ไปปฏิบัติคุณโยมมั่งนา อายุมาก ๆ อย่างนั้น ท่านแก่แล้วราเป็นลูกชายไปอยู่ใกล้ ๆ โยมจะได้สบายใจ ได้ช่วยเหลือนั่นเหลือนี่อะไรต่าง ๆ ท่านพูดแค่นี้ ไม่พูดถึงเรื่องความเสียของพระองค์นั้นเลย พูดแนะมาแนะไปพระองค์นั้นก็บอกว่า เออ ที่หลวงพ่อพูดนี่ก็เข้าที ผมอยากจะกลับบ้านแล้วว่าอย่างนั้น สตางค์มีไหมค่ารถ ก็ไม่มี ไม่เป็นไรคุณจะไปวันไหนมาเอาเลย ท่านให้ค่ารถไปเลย ไปแล้วก็หายไปเลยไม่ต้องมาหาต่อไป เรื่องมันก็เรียบร้อย ไม่ต้องให้มันอื้อฉาว
เขาเรียกว่าคนฉลาด ทำอะไรก็เรียบ ๆ ไม่อื้อไม่ฉาว ใช้วิธีการนุ่มนวล เพราะท่านเป็นคนใจเย็น ไม่ร้อน บางทีคนอื่นร้อนท่านก็บอกว่า ใจเย็น ๆ อย่าร้อน ค่อย ๆ เป็นค่อยไป ปล่อยไปก่อน ค่อยดึงกลับ นี่อะไรอย่างนี้ นี่วิธีการของคนที่เรียกว่าใจดี เราก็ถ้าอยู่ด้วยใจเย็นแล้วมันไม่มีภัย เช่น เกิดเรื่องคนสองบ้านใกล้กันมันเกิดเรื่อง ต่างคนต่างร้อนเลยยกพวกตีกันเท่านั้นเอง แต่ถ้าใจเย็นหยุด คือหยุดก่อนไม่พูดไม่จา ไว้วันหลังเมื่อสงบแล้ว เรื่องเรียบร้อยหลายวัน เชิญคนบ้านโน้นมากินข้าวด้วยกัน ค่อยคุยค่อยจากัน เรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรเราบ้านใกล้เรือนเคียง มันก็เรียบร้อย ใช้วิธีเย็นผูกมิตร ดีกว่าใช้วิธีร้อนเพื่อการแตกมิตร อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด
ชีวิตเป็นของที่มีค่า เราจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าใช้ผิดพลาดเมื่อใดก็เกิดความเสียหาย จึงนำมาพูดให้ญาติโยมทั้งหลายฟังในวันนี้ ก็สมควรแก่เวลา ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที