แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้าตอนบ่าย ก็เท่ากับว่าเรามาเฝ้าพระพุทธเจ้า มาฟังพระธรรม ทำตนให้กลายเป็นสงฆ์อันเป็นสิ่งที่เราเคารพสักการะบูชา สมัยก่อนเมื่อพระผู้มีพระภาคยังมีชีวิตอยู่ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาก็ไปเฝ้าตอนเย็นๆไปรับฟังโอวาทแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ครั้นเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ก็ไปกราบไปนมัสการสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ เช่นในสมัยนิพพานใหม่ๆ พระองค์เคยประทับ ณ สถานที่ใด เขาถือว่าที่นั้นเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ควรกราบควรไหว้ ควรนมัสการ กุฏิที่อยู่ที่อาศัยของพระพุทธเจ้าก็กลายเป็นที่สักการะไป ประชาชนไปนั่งกราบนั่งไหว้ ระลึกถึงคุณงามความดี ระลึกถึงคำสั่งสอน ที่พระองค์ได้สอนไว้ เพื่อไม่ให้ลืมพระ เพราะถ้าเราลืมพระเสียแล้วจิตมันก็ไปอยู่ใกล้ผีใกล้มาร อันจะเป็นปัญหาให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน จากการกระทำของตนเอง เขาจึงได้ไปเฝ้าไปคิดถึงบ่อยๆ ในสมัยต่อๆมาสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นสถานที่ที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์มารดาที่ลุมพินีสถาน สถานที่ตรัสรู้คือต้นโพธิ์ที่พุทธคยาในรัฐพิหารในประเทศอินเดีย สถานที่แสดงปฐมเทศนาคือเทศน์ครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนใกล้เมืองพาราณสี สถานที่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา หรือสถานที่ที่เคยประทับ เช่นเมืองสาวัตถี เมืองราชคฤห์ ซึ่งมีสถานที่เหล่านั้นเหลืออยู่ คนเขาก็ไปกราบไปไหว้ไปนมัสการสถานที่เหล่านั้น เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
เรื่องอย่างนี้ไม่ได้มีแต่ในในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ในศาสนาอื่นเขาก็มีเหมือนกัน เช่นพวกคริสเตียนเขาพยายามมาที่เมืองเยรูซาเลม เพื่อมานมัสการที่พระเยซูประสูติ มาดูสถานที่เกี่ยวกับชีวิตพระเยซู พวกอิสลามเขาก็พยายามเดินทางไปเมืองมักกะฮ์ ในประเทศอาหรับก็เพื่อจะไปดูสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับชีวิตของพระนบีมุฮัมมัด ที่บ้านเกิดที่ไปนั่งบนภูเขาแล้วเกิดความคิดที่จะไปเที่ยวสอนคน ที่ตายที่ฝังศพเขามีทั้งนั้น คนก็ไปไหว้ ไปนมัสการ การไปไหว้สถานที่เหล่านั้นก็เพื่อจะไปนึกถึงพระคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวโลกทั้งหลาย เพื่อไประลึกถึงคำสั่งสอน ที่พระองค์ได้สอนไว้ สิ่งเหล่านั้นเป็นภาพเตือนจิตสะกิดใจ ให้เกิดการคิดถึงให้เกิดความระลึกถึงสิ่งดีสิ่งงาม เขาจึงได้ไปกันในรูปเช่นนั้น
สำหรับเราผู้อยู่ประจำที่เราก็มานั่งน้อมใจระลึกถึงวันละสองครั้งเป็นพิธีการ คือตอนเช้าตอนเย็น ส่วนการระลึกถึงส่วนตนเฉพาะคน ระลึกถึงเมื่อไรก็ได้ที่ไหนก็ได้ แต่นี่เรียกว่าเราทำเป็นพิธีการ มาทำพร้อมๆกัน การทำอะไรพร้อมกันนั้นเป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจ ว่าเรามีความสามัคคีกัน มีความร่วมแรงร่วมใจกันในการปฏิบัติกิจตามหน้าที่อันเราจะต้องจับต้องทำ เป็นการสร้างความสงบในหมู่ที่อยู่ร่วมกัน ทีนี้เรามานั่งไหว้เราก็มาระลึกถึงพระคุณของพระองค์นั่นเอง เราจะนั่งไปทิศไหนก็ได้ เพราะว่าไม่มีความสำคัญในเรื่องทิศ เราถือว่าพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในเมื่อเราระลึกถึง ถ้าเราระลึกถึงแล้วก็มีพระ ถ้าเราไม่ระลึกถึงก็ไม่มีพระ แม้เราจะไปนั่งอยู่ในโบสถ์ถ้าเราไม่นึกถึงพระก็ไม่มีพระ แต่ถ้าเรานึกถึงพระเราอยู่ที่ใดที่นั่นก็มีพระด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการทำอย่างนี้ก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะให้ใจเราเข้าใกล้พระ เข้าใกล้ข้อปฏิบัติเป็นการสร้างเสริมกำลังใจให้มีความมั่นคงในพระศาสนา และจะได้เป็นเกราะป้องกันภัยอันตรายไม่ให้เกิดแก่เรา ภัยที่ป้องกันนั้นมันทั้งภายในภายนอก ภัยภายในก็คือความคิดชั่วความคิดที่ไม่ดีไม่งาม ความคิดที่มีกิเลสหนุนหลัง เช่นคิดด้วยอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยาความพยาบาทมานะถือตัว แข่งดีอะไรต่างๆ อันนี้เขาเรียกว่าภัยภายใน เมื่อมีภัยภายในมันก็ก่อภัยภายนอกขึ้นมาด้วย เช่น เรามีความโกรธเราก็ไปทำร้ายคนอื่น ก็เท่ากับว่าไปก้มหัวให้เขาทุบเล่น เขาก็ทำร้ายเรามั่ง เราทำร้ายเขา เขาก็ทำร้ายเรา เราไปด่าเขา เขาก็ด่าเรา เราโกรธเขาเกลียดเขา เขาก็โกรธเราเกลียดเรา มันถ่ายทอดถึงกันได้ ชดเชยกันอยู่ตลอดเวลา การกระทำเช่นนั้นเรียกว่าเป็นการสร้างภัย ให้เกิดขึ้นในตน เป็นเหตุให้ตนได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ในชีวิตด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่เราควรจะหลีกเลี่ยง ไม่รนหาที่ทุกข์ที่เดือดร้อน เราจึงต้องสร้างกำลังภายในให้เข้มแข็งมั่นคงตลอดเวลา จึงสามารถจะต่อสู้กับสิ่งชั่วสิ่งร้ายอันจะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจเราได้ นี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งเมื่อเรามาทำวัตรสวดมนต์แล้ว เราก็นั่งสงบใจ ๕ นาที การนั่งสงบใจนั้นเป็นการฝึก ฝึกตัวเอง ฝึกอะไรบ้าง ฝึกกายให้มีความอดทน เพราะเราต้องนั่งนิ่ง ๕ นาทีนี้คือนั่งนิ่ง วางเท้าวางมือให้มันเป็นระเบียบ วางให้เป็นระเบียบก็คือนั่งขัดสมาธิ พูดภาษาง่ายๆว่าขัดสมาธิ(ขัด-สะ-หมาด) สมาธิ(สะ-หมาด)ก็คือสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาเอาไปทับลงบนมือซ้ายวางไว้บนตัก นั่งตัวตรง นี่การนั่งเพื่อให้เกิดความสงบให้มีความตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ท่านั่งสมาธินี้เป็นท่าที่ดีที่สุดที่คนโบราณท่านคิดขึ้นได้ ให้นั่งในท่านั้น ก็ท่านั่งสมาธินี้มันไม่ล้ม ล้มไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ให้เราลองพิจารณาตัวเราเองเวลาเรานั่งทำขาอย่างนี้ ล้มไปข้างหน้าไม่ได้ ถ้าล้มไปมันก็ไปติดหน้าท้อง มันล้มไม่ได้ ล้มไปข้างขวามันก็ไม่ได้ ล้มไปข้างซ้ายมันก็ไม่ได้ ล้มไปข้างหลังมันก็ไม่ได้ มันบังคับอยู่ในตัว ท่านั่งมันบังคับนี่แค่เฉพาะนั่งเท่านั้นเอง ทีนี้มือเอามาค้ำไว้อีก เอามือมาวางไว้บนตัก เอามือขวาวางลง เอามือซ้ายวางลง เอามือขวาทับมือซ้าย เหมือนกับขาขวาทับขาซ้าย ก็เท่ากับว่าค้ำยันเข้าไปอีกทีหนึ่ง เอามือมาค้ำยันไว้ ให้เกิดความมั่นคงแน่วแน่ ถ้าเราเอามือไปวางไว้ที่อื่น เช่นวางไว้บนเข่า วางไว้บนขา หรือไปไว้ตรงนั้นตรงนี้ มันไม่ถูกท่าไม่ถูกแบบที่เขาได้วางไว้ ทำอะไรนี้มันต้องทำให้เข้าแบบเข้าแผน มีแบบมีแผน ถ้าไม่มีแบบทำไปมันก็อย่างนั้นแหละ ไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะฉะนั้นจึงทำในท่านั้น ทีนี้เมื่อนั่งท่านให้นั่งตัวตรง ยืดหลังให้ตรง ให้ตรงเต็มที่ คอตั้งตรง หน้าตั้งตรง นั่งตัวตรงนี้มันสำคัญนะ มันทำให้การหายใจดี สะดวก ถ้าเรานั่งหลังคดหลังแข็งอย่างนี้ หายใจมันไม่สะดวก อึดอัดนั่งไม่ได้นานไม่ว่าเราจะนั่งเก้าอี้ นั่งกับพื้นหรือว่ายืน ต้องหัดให้มันตัวตรงไว้เสมอ เช่นยืนก็ต้องยืนตัวตรง ขาตั้งตรง ถ้ายืนพักนี้แสดงความอ่อนแอ ยืนเข่าข้างหนึ่งคดข้างหนึ่งตรง หรือว่ายืนเอียงไปข้างนั้น เอียงมาข้างนี้ หัวก็เอียง หัวเอียงข้างนั้นเอียงข้างนี้ หรือว่ายืนก้มนั่งก้ม แสดงความอ่อนแอทั้งนั้น คนเรามันต้องหัดเหมือนกัน หัดให้เป็นคนเข้มแข็ง ในการนั่งในการยืนในการเดินในการกระทำอะไรต่างๆ
ความเข้มแข็งนั้นมันเสริมบุคลิกลักษณะให้ดีขึ้น เขาเรียกว่าเสริมบุคลิกลักษณะ personality ให้มันดีขึ้น คนบางคนนั่งหลังคู้หลังคด ยืนก็ไม่ตรง จะไปมาหาใครที่ไหน เขาก็มองว่า ไอ้นี่ไม่ไหวคนอ่อนแอ เราจะไปของานใครเราไปนั่งหลังคู้หลังงอเจ้าของงานเขาก็มองเห็นว่า คนนี้จะมาทำงานกับเราคงไม่ไหว ท่าทางมันอ่อนแอทรงตัวก็ยังไม่ได้ แล้วจะไปทรงงานได้อย่างไร จะไปทำอะไรได้อย่างไร แม้ตัวของตัวเองก็ยังทรงไว้ไม่ได้ เขาเห็นความอ่อนแอไม่มีความเข้มแข็ง เราจึงต้องเข้าไปนั่งตัวตรงยืนตัวตรง พูดจาก็เหมือนกัน ต้องพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ใช่พูดคำกล้อมแกล้มๆ กลืนไปซะบ้างหายไปซะบ้าง บางคำก็ดังแต่บางคำก็ไม่ได้ยิน ไม่ชัด พูดภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของมารดาบิดา เกิดมาก็พูดอยู่อย่างนี้แต่ก็พูดไม่ชัดถ้อยชัดคำ นี่ก็เพราะว่าเราไม่ฝึกฝน ไม่อบรมตัวเองให้มีลักษณะที่ถูกต้องเป็นที่ประทับใจของผู้ได้ประสบพบเห็น อันนี้มันต้องสร้างเหมือนกันนะ สร้างลักษณะ พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนภิกษุให้นั่งตัวตรง จะนั่งในวัดก็ตามนั่งในบ้านก็ตาม ตัวต้องตรง เช่นไปนั่งในบ้านนี่พระองค์บอกว่าพึงนั่งตั้งกายตรงในบ้าน ไม่นั่งโยกเยกไม่นั่งงอหลัง ไม่นั้งเท้าแขน ภายในบ้านนั่งเท้าแขนนี่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนนั่งเท้าแขนนี้ว่าแน่แสดงว่าไม่ค่อยอดทนนั่งตัวตรง นั่งเก้าอี้ก็ต้องนั่งตัวตรง เท้าก็ต้องวางให้มีระเบียบ ไม่เที่ยววางเพ่นพ่าน และก็ไม่อ้าขามากเกินไปมันไม่เหมาะ ขาเรานี่เปิดกว้างๆชะเวิบชะวาบนี้มันไม่ค่อยสวย ต้องนั้งเอาขาชิดเข้ามา มือก็เอามาวางไว้บนขา ถ้านั่งเก้าอี้มันต้องนั่งอย่างนั้น นั่งอยู่ในอาการสำรวม ยิ่งเราเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยแล้ว ต้องมีอาการสำรวม ระมัดระวังในการนั่งอยู่ตลอดเวลา ยืนก็ต้องสำรวมเหมือนกัน อันนี้ในทางพระท่านมีระเบียบทั้งนั้น ฝึกฝนไว้ทั้งนั้น แต่ว่าพวกเรามันบวชน้อยวันไม่จำเป็นจะต้องรู้ในเรื่องนี้เท่าใด จึงไม่ได้พูดให้ฟังไม่ได้อบรมเรื่องนี้ แต่ว่าบอกให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกันในเรื่องอย่างนี้ ที่จะแสดงลักษณะของเรา ให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นว่าเราเป็นคนอย่างไร มีความเข้มแข็งมีความหนักแน่นในการเป็นการอยู่ในรูปอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษารู้ไว้ การนั่งก็ต้องอย่างนั้น
ทีนี้เวลานั่งหายใจนี่ทำสมาธินี่ สมาธินี่เราทำเพื่อสร้างกำลังใจ สร้างกำลังภายใน พูดง่ายๆอย่างนั้น ต้องนั่งตัวตรง ทีนี้ตัวตรงแล้วต้องบังคับตัวให้นิ่ง เรื่องนิ่งนี้สำคัญมาก ให้ตัวนิ่งนี่สำคัญ เพราะการทำตัวให้นิ่งได้แสดงว่าเป็นคนมีอำนาจจิตเข้มแข็ง ถ้าเรานั่งไม่นิ่ง มือก็ไม่สุข แกว่งเท้าบ้าง กระดิกนิ้วบ้าง เราจะเห็นคนบางคนนั่งไม่ค่อยจะเรียบร้อย เช่นนั่งเก้าอี้ก็กระดิกขา อันนี้เขาเรียกว่าคนกระเป๋ารั่วทั้งนั้น กระดิกขากระดิกมืออะไรต่ออะไร หรือว่าทำอะไรเรื่อยไป แสดงว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถจะบังคับตัวเองได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร สิ่งที่กระทำอยู่นั้นมันเหมาะมันควรหรือไม่ ไม่รู้ไม่เข้าใจ นี่ภาษาจิตวิทยาเขาเรียกว่า “คนกระเป๋ารั่ว” กระเป๋ารั่วสตางค์มันก็หมดไปหล่นหายไปหมดเพราะกระเป๋ารั่ว ทีนี้กำลังจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าเรากระดุกกระดิกอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ไม่สุขตลอดเวลา ก็เรียกว่าเป็นคนกระเป๋ารั่วทางจิต กำลังจิตมันหายไปหมดไป โดยไม่ได้เรื่องอะไร เรื่องนี้สำคัญ เพราะฉะนั้นเวลานั่งฝึกสมาธินี้ท่านให้นั่นตัวตรง
อุชุกายัง หมายความว่า ตั้งกายตรง
ปะริมุขัง สะติง อุปัฏฐะเปตวา เอาสติไปตั้งไว้เฉพาะหน้า
เฉพาะหน้าที่ตรงไหน ที่ลมหายใจเข้าออก ให้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าหายใจออก อย่าให้มันไปนึกเรื่องอื่นคิดเรื่องอื่น อันนี้เขาเรียกว่าเป็นการฝึกหัด หัดทำสมาธิ ทำไมเราจึงต้องทำสมาธิ บางคนอาจนึกว่า ทำไปทำไมสมาธิ มันไม่ได้เรื่องอะไร นั่นคือไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สมาธินี้มันเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เราจะเป็นนักบริหาร คนค้าขาย คนทำราชการ หรื่อจะเป็นอะไรก็ตาม กำลังจิตที่เป็นสมาธินี้มันสำคัญมาก ที่จะเอามาใช้ในการปฏิบัติงานนั้นๆ ยิ่งเราอยู่ในบ้านเมืองที่คนพลุกพล่านมีเสียงจอแจมีเรื่องรบกวนสมาธิอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีกำลังสมาธิเพียงพอ ทำงานไม่ได้ รำคาญ ที่มันทำงานไม่ได้เพราะรำคาญ รำคาญเสียงนั้นรำคาญเสียงนี้ รำคาญสิ่งนู่นสิ่งนี่ อารมณ์หงุดหงิด พอเกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นสมาธิมันก็เสีย จิตใจก็ไม่มั่นคง ทีนี้จะทำอะไรก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย และบางทีก็พออารมณ์เสียก็ดุคนนั้นว่าคนนี้ ถ้าเราเป็นหัวหน้าคนเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็เดี๋ยวไปดุเขาให้ไปว่าคนนั้นว่าคนนี้ คนลูกน้องทั้งหลายก็รำคาญอีกเหมือนกัน รำคาญหาว่านายนี้ใจร้อน ใจเร็วหุนหันพลันแล่น เดี๋ยวดุเดี๋ยวว่า เขาก็ไม่ชอบหน้าเรา งานมันก็เสียอันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน
และอีกประการหนึ่งทว่าเรามีกำลังจิตดี การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันมันก็ดีขึ้น เช่นเกิดอารมณ์อะไรขึ้นมาเราก็รีบบังคับตัวเองได้ เกิดความโกรธเราบังคับให้หยุดโกรธได้ เกิดอารมณ์กระทบกระทั่งทางจิตใจ เราก็สามารถจะควบคุมตัวเองไว้ได้ มันไม่เสียหาย ไม่แสดงอะไรออกมา ให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนขาดคุณธรรม ขาดคุณธรรมเรื่องอะไร เรื่องไม่มีการบังคับตัวเอง คนเรานี้จำไว้ด้วย ยิ่งบังคับตัวเองได้มากเท่าใดยิ่งเป็นคนประเสริฐมากเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ในหมู่มนุษย์นี้ มนุษย์ที่บังคับตัวเองได้เป็นมนุษย์ประเสริฐสุด ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายมนุษย์ที่สามารถบังคับตัวเองได้เป็นมนุษย์ประเสริฐที่สุด อันนี้คนเราถ้าบังคับตัวเองไม่ได้ก็กลายเป็นคนที่เรียกว่าเจ้าอารมณ์นั่นเอง เจ้าอารมณ์ก็มีอาการหุนหันพลันแล่น ใจร้อนใจเร็ว ปึงปังโผงผาง ไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้ว่าใครเป็นอะไร สถานะอย่างไรเหตุการณ์อย่างไร ไม่รู้ ไม่เข้าใจทั้งนั้น ใจมันร้อนมันวุ่นวายแสดงออกในรูปต่างๆ ให้คนอื่นเห็น การแสดงออกในรูปอย่างนั้น มีแต่เรื่องลดราคาของตนเองทั้งนั้น ไม่ได้เพิ่มเลย ไม่ได้เพิ่มกำลังอะไรให้เกิดขึ้นแก่ตัวเลยแม้แต่น้อยนะ แต่มันค่อยลดลงไปลดลงไปเรื่อยๆ เช่นเราเป็นหัวหน้าคน ถ้าเราเป็นคนใจร้อนใจเร็ว หุนหันพลันแล่น ระเบียบวินัยมันจะเสีย การบังคับคนก็จะเสียไป คนเหล่านั้นจะขาดความนับถือเรา ขาดความยำเกรงในเรา แล้วตัวเราเองก็ทำตนให้เป็นตัวตลกไป ที่คนพวกนั้นจะหัวเราะเยาะบ่อยๆ เช่นเราแสดงความโกรธแสดงความอะไรออกมา ปึงปังโผงผางพวกนั้นก็แอบหัวเราะ แอบยิ้มกัน สนุกกัน เรื่องอะไรที่เราเป็นหัวหน้าเขาเป็นผู้นำเขา แล้วไปแสดงตัวเป็นลิเกกลางสนาม โดยไม่ได้ผลอะไรตอบแทน ทำให้คนเหล่านั้นหัวเราะฮือฮากัน แล้วก็ไปกระซิบกระซาบกันว่าวันนี้นายเราแสดงท่าอย่างโขนแต่เช้า แล้วก็เป็นตัวยักษ์เสียด้วยไม่ใช่ตัวพระลักษมณ์ พระราม ตัวดีๆไม่แสดง ไปแสดงท่าหนุมานบ้าง ท่าทศกัณฐ์บ้าง ท่ายักษ์ทั้งนั้นแหละ ท่ายักษ์กับลิงทั้นนั้นแหละ ไม่แสดงท่าพระลักษมณ์พระรามเลย ที่นี้ก็มันเสียคนนะ เราก็เคยดูโขนนะ พระลักษณ์พระรามนั้นเขารำแช่มช้อยนิ่มนวลสุภาพ แต่พอลิงออกมาก็เการักแร้บ้าง เกาหัวบ้าง ยักคิ้วหลิ่วตาบ้าง มันยักไปตามเรื่อง มันสวมหัวไว้เราไม่เห็นมันก็ยักตามหน้าที่ พยักพเยิดทำท่าอย่างนั้นทำท่าอย่างนี้ กระดิกหางบ้างอะไรบ้าง ท่าลิงท่ายักษ์ ท่าไม่สวยทั้งนั้น ลิงกับยักษ์ก็เป็นการแสดงภาพของการไม่รู้จักควบคุมตนเอง ไม่รู้จักบังคับตัวเอง ให้อยู่ในระเบียบในวินัยนั่นเอง นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกฝนในเรื่องอย่างนี้ หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาก็มี ๓ ขั้น เรียกว่าศีล แล้วก็สมาธิ แล้วก็ปัญญา ศีลสมาธิปัญญา หรือถ้าจะพูดเรื่องที่ศึกษาในพระพุทธศาสนาเขาเรียกว่าเรื่อง
ศีลสิกขา เรียนฝึกฝนอบรมตนด้วยศีล
จิตสิกขา การเรียนการฝึกฝนอบรมตนด้วยสมาธิ
ปัญญาสิกขา คือการเรียนการฝึกฝนการอบรมตนเพื่อให้เกิดปัญญา
มันมี ๓ขั้น เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นเป็นระเบียบที่ควบคุมคนเรา ไม่ให้หยาบเกินไปไม่ให้เป็นคนหยาบคาย การฆ่ากันนี้เป็นความหยาบคาย การลักก็เป็นความหยาบคาย การประพฤติผิดในกามนี่ก็เรื่องหยาบคายเหลือเกิน แสดงความต่ำช้าทางจิตใจ ขาดการควบคุมตัวเอง การพูดคำหยาบ คำโกหก คำเหลวไหลเพ้อเจ้อ คำที่ทำคนให้แตกจากกัน มันก็เป็นเรื่องหยาบคาย ไม่เหมาะแก่ผู้ดี ที่จะประพฤติปฏิบัติ การดื่มสุราเมรัยก็คือการทำลายความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ให้มันลดน้อยลงไป ทำลายความสมบูรณ์ทางจิตใจ ทำให้เสียสุขภาพ ทั้งร่างกายทั้งจิตใจทั้งสติปัญญา เป็นสิ่งไม่ดีทั้งนั้น ท่านจึงวางศีลไว้ว่าให้ปฏิบัติอย่างนี้ก่อน ให้ปฏิบัติในขั้นนี้ก่อน เริ่มต้นให้บังคับตัวเองให้อยู่ในศีลให้อยู่ในข้อปฏิบัติที่เรียกว่าเป็นเรื่องศีล เอาก่อนเป็นเบื้องต้น
ปฏิบัติในเรื่องนี้แล้วไม่พอ เพราะศีลนั้นเป็นเรื่องชำระภายนอกควบคุมร่างกาย ไม่ให้ล่วงล้ำก้ำเกินบุคคลอื่น เราจึงต้องขยับกันไปอีกหน่อยเรียกว่า “ฝึกสมาธิ” ทำจิตให้ดีขึ้น เรียกว่าจิตสิกขา หรือสมาธิการทำจิตให้มั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่มีอะไรที่จะมาผลักดันให้เสียความเป็นตัวเอง เสียความเป็นตัวเองก็คือว่าผลักดันให้เกิดความไม่สงบ ผลักดันให้เกิดความมืดขึ้นในจิตใจ ผลักดันให้เกิดความเร้าร้อนขึ้นในจิตใจ ถ้าเรามีสมาธิมั่นคงสิ่งนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นเราที่บวชเข้ามาในพระศาสนาที่วัดนี้จึงมีการฝึกฝนการอบรมภาวนา เราเรียกว่า “ภาวนา” ภาวนานี้ก็แปลว่า อบรมให้มันเจริญขึ้น อบรมให้เจริญขึ้น เจริญในด้านดี ไม่ใช่อบรมให้เจริญในด้านเสื่อม ความเจริญในด้านเสื่อมก็ได้ด้านดีก็ได้ เจริญด้านไหน เจริญด้านกุศลก็เรียกว่าด้านดี เจริญด้านอกุศลก็เป็นไปในด้านชั่ว อันนี้การภาวนาก็คือการทำให้มาก ทำบ่อยๆทำเพื่อให้มันเจริญขึ้น ในทางไหนบ้าง จุดหมายของการเจริญภาวนา ฝึกจิตนี้
๑. เพื่อให้ตั้งมั่น ให้จิตมันตั้งมั่น
๒. ให้มีความสงบ
๓. ให้มันอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน ให้อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน
จิตของคนเรานี้มันไม่ตั้งมั่นนะ ให้สังเกตุตัวเราเองแต่ละคน พอไปนั่งฝึกสมาธิหรือเจริญภาวนา เขาให้กำหนดลมหายใจเข้าออก โอ้ย ไปแล้ว ไปแล้ว วิ่งไปเลยวิ่งไปเลย คิดนั่นคิดนี่อะไรมากมาย ธรรมชาติมันอย่างนั้น เขาเรียกธรรมชาติจิตนี้ว่า ดิ้นรนกลับกลอกรักษายากห้ามยาก คำบาลีพระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผันทะนัง จะปะลัง จิตตัง ทุกรักขัง ทุนนิวาระยัง อุชุง กะโรติเมธาวี อุสุกาโรวะ เตชะนัง บอกว่าคนที่เป็นบัณฑิต ผู้ฉลาดในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต สามารถหักห้ามจิตที่ดิ้นรนกลับกลอกรักษายากได้
ธรรมชาติมันอย่างนั้นจิตดิ้นรนทุกคนนะ ทุกคน เขาจึงเปรียบว่า จิตเหมือนกับวานร เหมือนกับลิงแหละ เหมือนกับลิง ลิงนี้มันไม่นิ่ง ลองไปดูลิงซิ ที่วัดนี่ใครอุตริมาผูกไว้ตัวหนึ่งก็ไม่รู้ หาเรื่อง หาความรำคาญ เอาลิงมาผูกไว้ ทีนี้ถ้าเราไปนั่งดูลิงนี้ เพียงสัก ๒นาที ๓นาที ไม่มีเลย ลิงที่จะนิ่งนี่ไม่มีเลย มันต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่มือก็เท้าหัวตัวคิ้วคาง ทำท่าลอกแลกๆอยู่ตลอดเวลา นั่นลักษณะของลิง จิตก็มีสภาพเหมือนลิง เรียกว่าดิ้นรนเหมือนลิงกลับกลอกเหมือนลิง ไม่อยู่นิ่ง ไม่อยู่นิ่ง ไปไหนหละ มันไปเรื่อยไป ไปในที่ไกลๆไปด้วยอะไร ไปด้วยความคิด ตัวเรานั่งอยู่ตรงนี้แหละ แต่ว่าจิตมันคิดไปแล้ว พอเผลอแผล็บนู่นไปบางรัก ไปสาธร ไปย่านพัฒน์พงษ์ ไปสวนลุมพินี ไปสยามสแคว์ ไปราชประสงค์ ไปประตูน้ำ ไปที่ไหนก็ไม่รู้ ไปเรื่อยไป อย่างนี้เขาเรียกว่าคนจิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านอย่างนี้มันไม่มีกำลัง ไม่มีกำลังที่จะเอามานึกมาคิดอะไรได้ ใช้อะไรไม่ได้ คล้ายกับน้ำที่ไหลบ่าไปในทุ่ง เวลาหน้าน้ำนี้น้ำมันไหลบ่าเต็มทุ่ง มันได้ประโยชน์อะไร มันทำลายต้นข้าวทำลายพืชให้เสียหาย ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมันน้อย แต่ถ้าเราเอาน้ำนั้นมารวมไว้ ณ ที่เดียวให้มากเหมือนกักไว้ที่เขื่อนยันฮี เขื่อนสิริกิติ์ แล้วก็ปล่อยเข้าท่อไปหมุนกังหัน ทำให้เกิดไฟฟ้า เราได้ใช้เอามาพูดดังอยู่นี้ เพราะแรงน้ำแท้ๆน้ำที่เขารวมกันเข้าเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ฉันใด สภาพจิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้ฝึกฝนยังไม่ได้อบรมแล้ว มันก็เหมือนกับน้ำในทุ่ง มันไม่มีกำลังที่จะทำอะไรได้ ทำได้มันก็ไม่ดีเพราะว่ากำลังจิตมันไม่ได้รวมกันเข้า ไม่ได้เอามารวมกันเข้าให้เป็นหนึ่ง ให้ตั้งมั่นให้มันสงบ มันก็ไม่มีกำลังอะไร
แต่ถ้าหากว่าเราฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้มันรวมตัวกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียว เรียกว่ามีสมาธิ แล้วก็สงบ อ่อนโยนเหมาะที่จะใช้งาน จิตที่ยังไม่ได้ฝึกฝนมันไม่อ่อนโยน มันไม่อ่อนโยนคือมันแข็งกระด้าง คล้ายกับวัวที่ยังไม่ได้ฝึกไถนา เอามาเทียมแอกมันก็แตกหักไปเลย มันวิ่งแอกหักไป รถม้าเราเทียมด้วยม้า ม้าที่ยังไม่ได้ฝึก เอามาเทียมรถไม่ได้ ขืนเทียมรถมันได้วิ่งเตลิดเปิดเปิงไปเท่านั้นเอง เราเคยเห็นละครลิงไหม เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว สมัยก่อนนี้งานภูเขาทองวันสระเกศ เขามีละครลิงทุกปีๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเหลือแต่คน ลิงมันตายๆไปหมดแล้ว ลิงมันเล่นละครได้ ให้มันทำอะไรๆก็ได้ หรือว่าเราเคยดูพวกโทรทัศน์ละครสัตว์นี่สิงโต ช้าง เสือ สัตว์นานาชนิด เขาเอามาฝึกให้มันทำอะไรได้ ให้เล่นไอ้นู่นไอ้นี่ก็ได้ งานช้างสุรินทร์นี่ได้เงินปีละเท่าไร ฝรั่งมังค่าแห่กันมาตั้งแต่ยุโรปอเมริกา มาดูช้างเมืองสุรินทร์กันได้เงินปีหนึ่งไม่ใช่น้อย ช้างมันก็เป็นสัตว์ป่าแต่ว่าเขามาฝึกให้มันเชื่อง เรียกว่าให้มันอ่อนโยน เหมาะที่จะใช้งาน เอามาเตะฟุตบอลก็ได้ เอาไปทำอะไรได้ทั้งนั้น ลากซุงยกซุง เวลาแขกเมืองต่างประเทศมาเชียงใหม่ เขามักจะเอาไปดูช้างทำงาน มันทำงานอย่างดี เรียบร้อย เหมือนคนบางทีดีกว่าคนเสียด้วยมันทำงานได้เรียบร้อยมาก นี่เพราะเขาฝึก เขามีโรงเรียนฝึกช้างเลยอยู่ที่จังหวัดแพร่ เรียกว่าโรงเรียนฝึกช้าง ช้างน้อยๆช้างป่าที่จับมาใหม่ๆเอามาฝึก ฝึกให้มันอ่อนโยนให้เหมาะที่จะใช้งาน ฝึกได้ ฝึกช้างก็ได้ ฝึกม้าก็ได้ ฝึกหมาก็ได้ หมานี่เขาฝึกเก่ง
เคยไปที่นู่นที่ปากช่องที่นั่นเขามีเขาเรียกว่า ทหารหมา หมาทหาร เรียกทหารหมานี่มันไม่เหมาะ ตำรวจหมาก็ไม่เข้าท่า เรียกว่าตำรวจหมานี่ เรียกว่าหมาตำรวจ อย่าไปเรียกว่าตำรวจหมา เดี๋ยวเขาหาว่าไปว่าตำรวจเป็นหมา ทหารเป็นหมา ให้เรียกว่า หมาตำรวจ หมาทหาร ที่นั่นเขามีหมาทหารเยอะเชียว สร้างโรงให้อยู่ โรงอยู่มีเป็นร้อย อยู่กัน เสียงเห่าเกรียวเลย ใครเดินผ่านมันเห่าทั้งนั้นแหละ กลัวเข้าไปใกล้ที่พักมันก็เห่า คนเดินเข้าไปมันก็เห่า ตัวใหญ่ๆ ใหญ่กว่าไอ้เจ้าโทนนี้ด้วยซ้ำไป เขาเลี้ยงไว้ทหารคนหนึ่งมีหมาตัวหนึ่ง เราไปศึกษาดูว่าเขาทำอย่างไร เขาหัดเก่งหัดหมา สมมติว่าพาหมาไปตลาดเอาของวางไว้ แล้วบอกมันว่า “เฝ้า” มันอยู่นั่นแหละ มันไม่ไปไหน มันเฝ้าอยู่นั่นแหละ มันไม่ไปเที่ยวตามร้านกาแฟ หรือไม่ไปเที่ยวเบิ่งสาวอะไรต่ออะไร ไม่เหมือนคนหรอก คนเราบอกให้เฝ้า ก็ว่าไม่เป็นไรคนมากๆคงไม่หาย ไปแอ่วเสียแล้วไปเที่ยวเสียแล้ว คน หมาไม่ไปเฝ้าอยู่นั่นแหละ อันนี้ครูเขาแกล้งลอง มีคนแกล้งลอง ให้เจ้าของยืนแอบอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แกล้งลองเดินเฉียดเข้ามา ทำท่านะ มันกระโชกเอาเลยนะ ปั๊บเอาเลย ไอ้นั่นวิ่งเลย แต่ว่าพอกระโชกนี่เจ้าของบอกไปว่า ”หยุด” ปั๊บเลย มันก็หยุดเลย เขาว่าหยุดนี่มันหยุดพับเลยถึงขนาดอย่างนั้นนะ เอามาเข้าแถวให้หมอบ มันก็หมอบเรียงเป็นแถวหมอบคลานกันเป็นแถวเลย เขาบอกว่าหยุด หยุดปั๊บยืนตัวตรงเลย เอ่อ ให้ทำอะไรได้ทั้งนั้น วันนั้นเขาเอามาแสดงให้ดูว่าให้มันจับขโมยนะ จับขโมย เขาใส่ปลอกมาพอมาถึงก็เตรียม เตรียมจะถอดปลอกคอออกเลย พอถอดปลอกคอมันรู้แล้ว มันรู้ว่าต้องทำงานแล้ว หางชี้เด่ขึ้นมาแล้ว หูชันขึ้นมาเลย ทำท่าขึ้นมาเลย เขาบอกว่ามันรู้แล้วว่าจะต้องทำงาน มันเตรียมพร้อมที่จะเข้าทำงานแล้ว พอเสร็จแล้วเขากุมไว้ ทีนี้มีอีกคนหนึ่งเอาปลอกทำด้วย คล้ายๆกับหมอนหนาคลุมแขนไว้ แล้วก็ใส่ตัวคลุมหัวท่าทางเป็นไอ้โม่งเลยเป็นโจรเลย เข้ามา พอเข้ามาไอ้คนที่กำกับบอกว่า “เอา” คำเดียวเท่านั้นแหละพุ่งเข้าใส่เลยเข้าแขนงับมันกัดเลยกัดแขนนี้ แต่มันกัดไม่เข้า เพราะเขามีที่ใส่ไว้ กัดใหญ่ กัด กัด กัด พอเจ้าของ บอกว่า “หยุด” มันหยุดทันทีเลยหยุดเลย เขาสั่งอะไรมันทำอย่างนั้น ให้ทำก็ทำพอบอกให้หยุดก็หยุดเลย มันเชื่อฟังจริงๆ อันนี้มันเก่ง เขาหัดมา หมาของตำรวจหมาของทหารเหมือนกัน เขามาหัดไว้ไปจับผู้ร้าย เวลาเข้าป่านี่เขาพาไปด้วย เวลามันมีสายเชือกขึงไว้ ขึงเพื่อเวลาไปสะดุดมันระเบิด ลูกระเบิดมันอยู่แถวนั้นพอสะดุดพับมันระเบิด คนตาย หมามันไปด้วยไม่เป็นไรหรอก มันเก่ง พอไปถึงพอพบเชือกมันหยุดปั๊บเลย มันหยุดทันทีเลย หยุดแล้วมองคนที่เป็นพี่เลี้ยง มองบอกว่ามีอันตราย พวกนั้นก็ดู อ่อ มีเชือก มันหยุดทันที อันนี้เราจะข้ามเชือกอันนั้นไปก็ได้ ข้ามอย่าไปสะดุดมันเข้า มันก็ไม่ระเบิด อันนี้มันเก่ง มีลวด มีเชือกมีอะไรขวางมันรู้มันหยุดทันที ให้จับเฮโรอีนก็ได้จับกัญชาก็ได้ เขาหัดให้ดมกลิ่น มันก็ดม ประเดี๋ยวเจอวางไว้ตรงไหนมันขุดมา ลูกระเบิดฝังไว้มันก็รู้สุนัขพวกนี้ มันไปดมๆเจออยู่ตรงนี้ เขาก็ขุดขึ้นมามันปลอดภัย มันช่วยเจ้าของได้ ที่เขาหัดไว้แล้ว นี่หัดหมา หัดม้า หัดช้าง ช้างม้าอะไรก็ตามที่หัดได้อย่างนี้เขาเรียกว่า อาชาไนย อาชาไนย ม้าอาชาไนย หมาอาชาไนย ช้างอาชาไนย คนนี้ก็เป็นอาชาไนยเหมือนกัน อาชาไนยนี้แปลว่า ฝึกได้ จูงไปได้นำไปได้ เรียกว่าอาชาเนยโย หัดได้ เขาหัดได้ หัดอะไรทำอะไรก็ได้ ของแข็งเอามาแกะสลักก็เป็นช้างเป็นหมาอะไรก็ได้ แต่มันไม่เก่งยังไม่เก่ง
ไอ้ที่เก่งนั้นคือใครอัศวินนั้นคือใคร อัศวินนั้นคือคนที่คุมตัวเองได้หัดตัวเองได้ บังคับตัวเองได้ นี่แหละเรียกว่าอัศวิน เรียกว่าเป็นคนเก่งแท้ในโลกนี้ แต่ถ้ายังฝึกตัวเองไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ไม่เอาชนะความชั่วได้ เช่นสมมติว่าเราติดเหล้าเลิกไม่ได้ นี่มันแย่มาก บังคับตัวเองไม่ได้ ติดฝิ่นติดกัญชาติดเฮโรอีน ติดผู้หญิง ติดการพนัน ติดความสนุกสนานเหลวไหล แล้วเลิกไม่ได้ มันไม่ไหว คนอย่างนี้ไม่ไหว เอาตัวไม่รอด เมื่อวานซืนนี้นั่งรถกลับมาจากวัดมงกุฏ คนขับรถมาบอกว่า หลวงพ่อผมมีปัญหาในครอบครัว ถามปัญหาอะไร เขาบอกภรรยาผมนี่ไม่ไหว เมื่อก่อนดี แต่มันไปคบเพื่อนคบฝูงหมู่นี้มันชอบดูลิเกไปดูลิเก ไปดูแล้วลืมเลย ลืมมาบ้านหุงข้าวให้ผัวกินลูกกิน ทิ้งลูกทิ้งเต้า ไปดูลิเก อันนี้ผมต่อว่าต่อขานเขามีปากมีเสียงเขาไม่ยอม เขาบอกสิ่งที่เขาชอบต้องปล่อยให้เขาทำบ้าง เขาไม่ใช่ว่าจะมานั่งอยู่กับบ้านกับเรือนตลอดเวลา มันต้องสนุกบ้าง ไอ้สนุกบ้างครั้งคราวเขาก็ไม่ว่าหรอกเจ็ดวันไปดูสักทีหนึ่ง แต่นี่มันไปดูทุกคืน ดูจนเสียงานเสียการเสียเรื่องลูกเต้าไม่เอาใจใส่ เละเทะใหญ่แล้ว ทำยังไงหลวงพ่อ ทำยังไงดี
อันนี้หลวงพ่อแนะนำว่าอย่างนี้ บอกว่าเธอทำอย่างนี้สิ เอาเพื่อนผู้หญิงที่ทำงานมาสักคนหนึ่งให้ช่วยเขียนจดหมายรักใส่กระเป๋าเสื้อเธอไว้ ใส่ไว้อย่างนั้นแหละใส่แล้วทิ้งๆไว้อย่างนั้น กลับมาบ้านก็ถอดเสื้อวางไว้ ภรรยาเขาคงอาจจะมาดูเสื้อดูผ้าวันใด เขาเจอจดหมายก็ต้องเจอลายมือผู้หญิง พอเป็นลายมือผู้หญิงต้องอ่านพออ่านแล้วก็คิดนี่ท่าจะมีแฟนแล้ว อารมณ์หึงมันจะเกิดขึ้นมาผู้หญิงนี่เขามีอะไร เขาว่า เสียทองเท่าหัว กูไม่ยอมเสียผัวให้ใคร นี่ภาษิตของผู้หญิงเขาเรื่องอย่างนี้สำคัญนะ เสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร อันนี้มันคงจะหึง อันนี้หึงแล้วก็อาจจะนึกได้ว่า อ่อ ที่พี่เราไปคบคนอื่นเพราะเราไปดูลิเก ไปดูลิเก แล้วก็ให้เขียนไว้ในจดหมายว่า วันไหนแฟนคุณพี่ไปดูลิเกบอกให้หนูทราบด้วยหนูจะได้มาหา หยอดเข้าไปอย่างนั้นนะ ที่นี่มันไม่ไปดูลิเกแล้วหละมันกลัวผู้หญิงจะมาหาผัวมัน มันหึงขึ้นมาแล้วหละ ลองดูสิ ลูกไม้นี้จะใช้ได้ไหม ลองทำดูสิ เขาก็ว่าเข้าทีดี ผมจะลองดูเหมือนกันไปทำดูสักหน่อย ทางนี้บอกว่าถ้าทำแล้วยังไม่ได้ผลนะ วันหลังต้องพามาวัดบ้างพามาวัดมาพบหลวงพ่อ จะได้พูดจาแนะแนวให้เขาเข้าใจ นี่เขาเรียกว่าละเลยหน้าที่ หน้าที่เมียแต่ละเลยหน้าที่ หน้าที่แม่ก็ละเลยหน้าที่ ไม่เอาใจใส่มัวแต่ไปชอบลิเกดูลิเกเพลินเลยพอดูลิเก เออ มันก็แปลกนะไอ้ลิเกนี่ มันชอบนะ พวกแม่ม่ายสาวแก่ทั้งหลาย ชอบให้ของลิเกไปแต่ง แต่งๆแล้วมันไม่ส่งคืนก็ไปหาตำรวจ บอกว่าไอ้นี่มันเอากูหมด เอาไปแล้วไม่ส่งคืน เอาไปแล้วว่าจะมาไม่เห็นมา มันยุ่งไอ้พวกนี้จิตใจมันฟุ้งซ่าน ชอบพระเอกลิเกเอวบางร่างน้อย แล้วลิเกเวลามันเล่นเวลามันร้อง มันเห็นใครสวยๆมันยักคิ้วหลิ่วตาไปคนนั้นแหละ น้องเอ่ย นั่นมันมองไปที่คนนั้นหละ ไอ้คนดูมันก็ อุ่ย มันมองมาที่กูมันเรียกกูว่าน้องด้วย มันเกิดอารมณ์ขึ้นมามันบ้าเพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่อะไร แค่นี้แหละ
คนเรามันติดอะไรแล้วก็ละไม่ได้ นี้เขาเรียกว่าขาดกำลังภายในที่จะควบคุมตัวเองบังคับตัวเองให้เรียบร้อย มันก็ยุ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกำลังสำหรับที่จะควบคุมบังคับตัวเอง ในการบังคับตัวเองนั้นก็ต้องฝึกนะ ฝึกจิตนี้ เราอย่าไปนึกว่า เอ๊ะ ไปนั่งทำไม พอค่ำแล้วก็ไปนั่งแหละ ไปนั่งทำอะไร นั่งได้อะไร เรียกว่าที่เขาพูดกันว่าเจริญวิปัสสนา อันนี้มันยังไม่ถึงหรอกที่เราไปนั่งหนะ ไม่ถึงขั้นวิปัสสนา เขาเรียกว่าสมถ คือว่าภาวนานี่การฝึกฝนเรื่องนี้มันมีสองอย่าง เขาเรียกว่าสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา
สมถภาวนาคือการทำจิตให้สงบท่าเดียวให้สงบให้ตั้งมั่น ให้เหมาะที่จะใช้งานนี้เขาเรียกว่า สมถะภาวนา
วิปัสสนาภาวนา นั้นคือใช้กำลังจิตที่สงบแล้วตั้งมั่นแล้วอ่อนโยนแล้วเอาไปใช้งาน ใช้งานเรื่องอะไร พูดแล้วเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องที่มันดีมันงามเป็นประโยชน์เอาไปใช้ได้ แต่ถ้าเอาไปใช้ในแง่ปฏิบัติก็หมายความว่า เอาไปเพ่งพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามกฏพระไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์คืออะไร สัพเพสังขารา อนิจจา สิ่งทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมนามธรรมไม่เที่ยง สัพเพสังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สัพเพธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายไม่มีเนื้อแท้ ไม่มีตัวไม่มีตน เอาไปพิจารณาเรารู้ว่าไม่เที่ยงรู้ตามตัวหนังสือ มันยังไม่เห็นชัดเห็นแจ้งแก่ใจ จึงยังหลงรักติดพันอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ยังนึกว่ามันสวยมันงามมันน่ารักมันน่าพอใจ น่าอร่อย นี่เขาเรียกว่าไม่มีวิปัสสนาปัญญา จึงไม่เห็นแจ้งในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ก็เลยหลงใหลมัวเมาติดพันอยู่ มันไม่ดี จึงต้องเจริญวิปัสสนา
วิปัสสนาคือการคิดค้น เพื่อให้รู้ชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง เห็นตามสภาพที่เป็นจริงเขาเรียกว่า “ยถาภูตะ ญาณทัศนะ” ยาวหน่อยคำบาลี ยถาภูตะ ญาณทัศนะ
ทัศนะ แปลว่าความเห็น สิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง
ยถาภูตะ ภูตะ แปลว่า มันเป็น เป็นอยู่อย่างไร
ยถา แปลว่าอย่างไร
ยถาภูตะ ญาณทัศนะ ปัญญาที่เห็นสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง
สภาพที่เป็นจริงของสิ่งทั้งหลายก็คือว่า มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง แล้วก็มันเป็นทุกข์ ก็ต้องมองให้เห็นว่าเป็นทุกข์อย่างไร เป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนอย่างไร เขาเรียกว่าเจริญวิปัสสนา เมื่อใดก็ได้ที่ใดก็ได้วิปัสสนา เอาไปใช้พิจารณาได้ทั้งนั้น เพื่อให้รู้ชัดเห็นชัดในเรื่องอย่างนั้น ใจที่จะนำไปคิดมันต้องเป็นใจที่มีสมาธิ มีความสงบ มีความตั้งมั่นอ่อนโยนจึงจะใช้ได้ เหมือนเราเอาช้างไปทำงาน มันต้องอ่อนโยน ม้าอ่อนโยน สุนัขอ่อนโยน ใช้ได้แล้วเชื่องแล้ว เรียกว่าเชื่อง พูดภาษาง่ายว่ามันเชื่อง อันนี้ใจเรานี้มันเชื่องหรือยัง โอ้ย มันเถื่อนอยู่เหลือเกิน มันยังไม่เชื่องเลย ประเดี๋ยวไปนู่นประเดี๋ยวมานี่วิ่งวุ่นอยู่ตลอดเวลา มันยังเป็นใจเถื่อนอยู่นะมันยังไม่เชื่อง เราต้องฝึกหัดกำหนดลมหายใจเข้าออก อันนี้ง่ายที่สุด เรียกว่าเรื่องง่าย แต่เรื่องอื่นลำบาก เรื่องกสิณ เรื่องอสุภะ กสิณนี่ก็เพ่งวัตถุ เช่นเพ่งน้ำ เอาน้ำใส่ขันนั่งเพ่ง เอาไฟก็ติดไฟเข้าเอาวัตถุเป็นแผ่นเหมือนกับฟองน้ำเอามาเจาะรูให้มองเห็นเฉพาะ ไม่ให้ฟุ้งซ่านก็นั่งมองที่ไฟ หรือว่าเจริญสีต่างๆ ทำเป็นดินนี่ (47.13 ไม่ยืนยัน) ก็เอาดินมาใส่ๆเข้าแล้วก็ไปนั่งพิจารณาดินเฉพาะในวงนั้น เพ่ง เรียกว่าเพ่งให้เกิดสมาธิ ยุ่ง ทำยาก สู้อันนี้ไม่ได้ อยู่กับเราตลอดเวลา จะเจริญที่ไหนก็ได้ ในรถไฟก็เจริญได้ ในรถโดยสารแอร์ก็เจริญได้ นั่งอยู่ในสถานีรถไฟก็นั่งเจริญไปก็ได้ ไม่ดูใคร กูดูกูดีกว่า มาเพ่งลมหายใจเข้าออก ใจมันสงบมันไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าไปดูคน โอ้ย สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง น่ารักบ้าง น่าชังบ้าง เดี๋ยวมันก็ไปเกิดกิเลส อันนี้เรามาดูใจซะ แล้วเวลาไหนที่มันมีอารมณ์ไม่ค่อยจะดี เราก็นั่งนิ่ง กำหนดลมหายใจ เวลาอย่างนั้นต้องหายใจแรงๆ เวลาอารมณ์ไม่ดีต้องหายใจแรง เรียกว่าถอนใจ หายใจเข้าให้แรง หายใจออกให้แรง มันบรรเทาได้ บรรเทาอารมณ์ได้ เช่นเกิดอารมณ์โกรธ ให้หายใจแรงสัก๔-๕ครั้งเดี๋ยวหายโกรธ เมื่ออารมณ์เกลียดอารมณ์อะไรเกิดขึ้น หายใจแรงๆซะพอตั้งตัวได้ พอตั้งตัวได้แล้วเรากำหนดลมหายใจ ก็ไม่ฟุ้งซ่านไปคิดถึงเรื่องนั้น มันเปลี่ยนเรื่องแล้วมันเปลี่ยนมาคิดเรื่องลมเข้าลมออก จิตเราก็สงบ เมื่อสงบแล้วเรียกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้จิตสงบ
เมื่อจิตสงบแล้วเราจึงค่อยใช้ความสงบนั้นคิดว่า โกรธใครเมื่อตะกี้ เกิดเรื่องอะไร เวลาโกรธนี้มันดีไหม เวลาโกรธนี้ร้อนไหม มันเย็นไหม สงบไหม สุขหรือทุกข์ เราพิจารณา พิจารณาไปแล้วก็จะเห็นว่าไม่ได้ความเลย โกรธทีไรร้อนทุกที โกรธทีไรทุกข์ทุกที เมื่อตัวสั่นงันงก แสดงอาการเหมือนกับผีเข้า มันไม่ได้เรื่องอะไร ที่หลังอย่าทำนะ ให้บอกกับตัวเอง ที่หลังอย่าทำ ที่หลังอย่าทำ ให้จำไว้ นี่เราได้เตือนตัวเราเพราะเรามีสติมีปัญญา พอที่จะควบคุมตัวเองได้ เรื่องอะไรก็มันค่อยแก้ไปปรับปรุงให้ดีขึ้น อันนี้ถ้าเราเป็นคนที่ไม่สามารถจะควบคุมตัวเองได้ มันก็ไปกันใหญ่เลอะเทอะกันใหญ่ ชีวิตวุ่นวายสับสนมีปัญหาด้วยประการต่างๆ และถ้าเราเป็นคนใจร้อนใจเร็วนะ อยู่ที่ไหนไม่ได้ อยู่กับใครก็ไม่ได้ อยู่กับพ่อแม่ก็ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน เราไปเป็นลูกจ้างใครทำงานกับใครเดี๋ยวใจร้อนขึ้นมาปึงปัง ลาออกซะเลย อย่างนี้ก็แย่ เคยมีเพื่อนคนหนึ่งรู้จักกันมานาน ใจร้อน ใจร้อนมาก เวลาบวชเป็นสามเณรเขาให้ชื่อว่าเมตตา แต่ไม่ได้หรอก เผลอๆเดี๋ยวต่อยเพื่อนแล้ว ต่อยกันเรื่อยเลย จนอาจารย์บอก เมตตา เมตตา เมตตา ทำไมไม่นึกถึงชื่อของเธอบ้าง มันลืมไปนึกไม่ทันเปรี้ยงเข้าให้แล้ว ใจร้อน ที่หลังออกไปอยู่บ้าน ตั้งตัวไม่ค่อยได้ ร้อน ไปทำงานบริษัทนั้นบริษัทนี้เรื่อยเลย พบต้นปีนี่ทำงานที่ดีทแฮล์ม พอพบกลางปีไปอยู่บีคิวบ์แล้ว ไปพบปลายปีไปอยู่อรุโณทัยแล้ว(50.40 ไม่ยืนยัน) มันอย่างนี้นะ ปีหนึ่งมันได้งาน๓ครั้งนะ ถามเพราะทำไมถึงได้งาน (50.51 ไม่ยืนยัน) มันดูหมิ่นเราไอ้ฝรั่ง ใจมันร้อนเขาพูดอะไรกระทบนิดกระทบหน่อยไม่ได้ มันร้อนอกร้อนใจขึ้นมาเชียว นี้เขาเรียกว่าคนใจไวไฟ เหมือนดินประสิวนะถูกไฟไม่ได้ ลุกพรึบขึ้นมาเลยทีเดียว มันได้อะไร วิธีการนี้มันดีแล้วหรือเราลองพิจารณา ไม่ได้ ต้องใจเย็นๆ ต้องสงบ พูดจากันค่อยเป็นค่อยไป อย่าใจร้อนใจเร็วทำอะไรมันต้องเยือกเย็นต้องสงบ ทุกอย่างมันต้องความสงบเยือกเย็น
แต่ว่าถ้าเรามันร้อนก็ต้องฝึก ฝึกใจให้มันเย็นขึ้นหน่อย หัดทำสมาธิเสียบ้าง เหมือนเรามาบวชเนี่ย ๑๕วัน ๒๐วัน เดือนหนึ่ง หัดทำไว้ ทำให้มันพอรู้ พอรู้ไว้รู้แนวไว้ออกไปอยู่บ้านเราก็ทำบ่อยๆ กลางคืนก่อนนอนเอาเสียหน่อย ตื่นเช้าทำเสียหน่อย เวลาไปนั่งทำงานทำการ ถ้ารู้สึกแหม๋มันวุ่นวายใจจริงๆ นั่งบนเก้าอี้แหละหลับตาเสียหน่อยสำรวมใจ ทำสมาธิเสีย มันค่อยเบาไป เรียกว่ามีการรักษา ถ้ามีการรักษาโรคมันเบา ถ้าเราไม่รักษาโรคมันเจริญ ถ้าโรคเจริญเรามันจะแย่ เรามันจะแย่ลงไปทุกวันทุกเวลา อันนี้โรคทางกายมันไม่ร้ายนะ ไม่ร้ายเท่าโรคทางใจหรอก ไอ้โรคทางใจเนี่ยมันร้ายหนักหนานะ ถ้าเกิดขึ้นแก่ใครแล้วไม่รักษาคนนั้นจะหมดราคาเอาเลยทีเดียว อันนี้สำคัญมาก เพราะอะไรๆมันอยู่ที่ใจทั้งนั้น
ใจนี้เป็นใหญ่นักในชีวิตนี้ เป็นหัวหน้าเป็นนายงาน เป็นผู้สั่งการทุกอย่าง จะสุข จะทุกข์ จะดีจะชั่วจะเสื่อมจะเจริญ อยู่ที่เราใจของเรานี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึกฝนจิตใจของเราไว้ ให้มันเป็นนายที่ดีของร่างกายของอะไรๆอย่าให้เป็นนายปากร้าย อย่าให้เป็นนายใจร้อน นายใจเร็ว นายหุนหันพลันแล่น ปึงปังโผงผาง ทำอะไรเลอะเทอะ คนใจร้อนขับรถก็มีแต่เรื่องชนเท่านั้นเอง ร้อนก็ขับเร็วเดี๋ยวก็ชนเข้าแล้ว เดี๋ยวก็ตกคูเอา เดี๋ยวก็คอหักเท่านั้นเอง เรื่องร้อนๆนี้ไม่ดี ต้องเย็นต้องมีเหตุมีผล ต้องคอยบังคับควบคุมสภาพจิตใจของเราไว้ตลอดเวลา จึงจะได้ ฉะนั้นจึงต้องมีการฝึก ดังที่เราฝึกตอนค่ำ ไม่ใช่ไปฝึกในศาลาเท่านั้น พอว่างๆอยู่ในกุฏิก็นั่ง ทำเสียบ้าง มานั่งตามใต้ต้นไม้ร่มๆใต้ก่อไผ่ ใต้ต้นประดู่ตรงไหนเงียบๆไปนั่งทำ อยู่ในกุฏิก็หันหน้าเข้าฝาทำเสียบ้าง ทำบ่อยๆ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องนี้สำคัญ บวชเข้ามาต้องเอาเรื่องนี้ให้มาก ให้ความรู้นั้นเป็นเครื่องประกอบเราไปอยู่บ้านก็อ่านเอาได้ แต่เรื่องการฝึกจิตนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำจริงจัง
สมัยก่อนนั้นพระบวชแล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกให้วิธีทำจิตให้แล้วก็ ไปเข้าป่า ไปอยู่ในป่า อยู่ป่าที่ไม่ไกลบ้านเกินไปอย่างน้อยกิโลหนึ่ง ห่างบ้านกิโลหนึ่ง ไปเที่ยวแอบซุ่มอยู่ในป่า ซุ่มแล้วทำอะไร เจริญภาวนา ฝึกจิต ถ้ามีปัญหาก็มาถาม ไม่มีปัญหาก็ทำต่อไป ทำจนกระทั่งว่า จิตสงบ สะอาด สว่าง อยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง หลุดพ้นจากความทุกข์ ทำอย่างนั้น แต่สมัยนี้เราทำกันน้อยไปไม่เหมือนสมัยก่อน ที่วัดนี้จึงต้องการฟื้นฟู การบ่มจิตใจ ในเรื่องนี้โดยเฉพาะพระที่มาบวชก็อบรมบ่มกันไปตามโอกาส ท่านมหาเผียน (55.03 ไม่ยืนยัน) ก็ช่วยสอนทุกคืนๆ ก็ครูที่ไปสอนเรานี่ก็ต้องอดทน เหน็ดเหนื่อย อดหลับอดนอนไปนั่งสอนนั่งพูดกับเรา เราผู้เป็นศิษย์นี่ต้องรับฟังด้วยดี เพื่อเอาไปใช้ ในชีวิตประจำวัน บวชแล้วเอาไปให้ได้ ให้ได้อะไรไปบ้าง อย่าบวชเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร แล้วใครเขาจะว่าบวชแล้วไม่ได้เรื่อง คนเขาจะว่าเอา เออ ไอ้นี่บวชแล้วไม่ได้ความเลย ตายแล้วนะเสียหายใหญ่ เสียหายมาถึงหลวงพ่อด้วย หาว่าไม่สั่งสอนไม่อบรม บางทีหลวงพ่อสอนแล้วนะแต่ก็ไม่เอา ไม่รู้จะว่ายังไง อันนี้เราต้องเอาไปให้มันคุ้มกับที่ลงทุนบวชนี่หลายสตางค์นะ ซื้อเสื้อซื้อผ้า จีวรณ์ สบงค์ หลายตังค์ เราต้องเอาไปให้ได้ ทำอะไรไปให้ได้ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราต่อไป จึงจะเรียกว่าได้บุญได้กุศล ได้บุญก็ได้ความดีได้กุศลก็ได้ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของชีวิตจิตใจอย่างถูกต้องเพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป
ดังที่ได้พูดมาพอดีแล้ว เทศน์หมดแล้วใกล้จะหมดแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงนี้ ขอให้เราทั้งหลายนำไปพิจารณา เวลามันน้อย มันสั้น จงใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าเอาเวลาไปนั่งคุยกัน นั่งเล่นกัน นิดๆหน่อยๆ คุยกัน อย่าคุยนานๆ อยู่บ้านก็มีเวลาเยอะ เรามาวัดนี้มุ่งทางปฏิบัติรักษาจิตใจอย่างแท้จริง เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตของลูก ออกไปนี้ลูกต้องไปสู้ขึ้นเวทีชกกับไอ้เคลย์ เรามันมวยขนาดเล็กขึ้นชกมวยขนาดใหญ่ จึงต้องเข้มแข็งหน่อย เอ้า คุกเข่า กราบ