แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ไม่มีไฟฟ้าไปหน่อยหนึ่ง ญาติโยมที่มาฟัง ฟังกันไม่ชัด สำหรับที่ในหอประชุมนี้ก็ฟังได้ แต่ข้างนอกฟังไม่ชัด ก็ไม่มีไฟฟ้า วันนี้ไฟฟ้ามาตามปกติ เราทั้งหลายก็จะได้ฟังธรรมกันต่อไป
การบรรยายธรรมะในวันอาทิตย์ ก็เพื่อจะชี้แจงหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ให้ญาติโยมได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านทรงสอนไว้ เพราะว่าเรานับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาถูกต้อง ถ้าหากว่า ความเข้าใจนั้นไม่ถูกไม่ตรง ก็จะเกิดเป็นปัญหา คือ เกิดความลังเลสงสัยในการประพฤติปฏิบัติ ว่าการปฏิบัติเช่นนี้ เช่นนี้ จะได้ผลอะไร จะถูกตรงตามหลักที่พระผู้มีพระภาคจัดไว้หรือไม่
อีกประการหนึ่งจะทำให้เราถูกชักจูงไปในทางที่ผิดก็ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าหลักแท้จริงพระพุทธศาสนา เป็นอย่างไร มีใครมาพูดโน้มน้าวจิตใจ ชักจูงไปในเรื่องอะไร ก็อาจจะไขว้เขวไปได้ในรูปนั้นๆ เพราะจิตใจของคนเรานั้นที่เป็นปุถุชน หมายความว่า มีสติน้อย มีปัญญาน้อย ถ้าใครมาพูดแนะนำชักจูงในเรื่องอะไร ก็เกิดความหวั่นไหว หวาดกลัวต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น มีคนพูดว่า จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้..ถ้าไม่ทำอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ทำอย่างนี้ จะเกิดอย่างนี้ เราไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ ก็เลยตกอกตกใจไปในคำที่เขาพูดอย่างนั้น และเมื่อมีความตกใจ ก็เกิดความกลัว ความสะดุ้ง กลัวว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นแก่ตัวเรา ก็ต้องวิ่งเต้นไปกระทำอะไรๆ ในรูปต่างๆ ที่เราเข้าใจว่า จะช่วยเราให้พ้นภัย ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจ อันนี้แหละคือความเสียหายที่เกิดขึ้นในหมู่พวกเราพุทธบริษัทบ่อยๆ เพราะไปกระทำสิ่งที่ไม่น่าจะทำ ไปกระทำสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องพระพุทธศาสนาจึงเกิดวิธีการประเภทต่างๆ ขึ้นในวงการพุทธบริษัท เช่น เรื่องพิธีบนบานศาลกล่าว เซ่นสรวงบวงบนต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยประการต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะความกลัวนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร และเมื่อเกิดความกลัวแล้วก็ไม่รู้ว่า สิ่งนั้นมันมีจริงหรือไม่ มันจะทำให้เราทุกข์ร้อนอะไรหรือไม่ เราก็เกิดความหวาดกลัวสะดุ้งขึ้นมาในจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาด้วยประการต่างๆ
เมื่อเกิดปัญหามีเรื่องมีราวขึ้นมาในรูปเช่นนี้ ก็คิดหาทางแก้โดยไม่ถูกทาง เป็นเรื่องที่ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่คนทั่วๆไปอยู่ไม่ใช่น้อย และเป็นช่องทางที่จะให้พวกหากินทางต้มมนุษย์ได้มีโอกาส ช่องทางที่จะทำอะไรในทางหลอกลวงต่อไป
เราจึงเห็นว่า สำนักหลอกลวงคนนี่มีมาก ในสังคมมนุษย์ในยุคปัจจุบัน อ้างว่า มีเจ้าพ่อนั่น เจ้าพ่อนี่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ เข้ามาสิงสู่อยู่ในคนนั้นคนนี้ แล้วก็พูดอะไรออกไปในรูปต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ว่า เป็นเครื่องหลอกลวงมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความกลัว ความสะดุ้งกันด้วยประการต่างๆ แล้วก็ทำมาหากินกันได้อย่างชนิดที่เรียกว่า เป็นล่ำเป็นสัน เพราะคนประเภทที่ยังไม่รู้นั้นมีมาก ยังไม่เข้าใจนั้นก็มีอยู่มาก คนไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว ยังไม่มีใครช่วยชักช่วยจูงให้เกิดความรู้ความเข้าใจ จะทำอะไรๆ ก็มักจะอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้น อย่างนี้ ด้วยประการต่างๆ
เมื่อตอนเช้านี้ก็ฟังวิทยุพระเอ (05.10 เสียงไม่ชัดเจน) เป็นผู้พูดญาติโยม ชักจูงญาติโยมให้ไปปฏิบัติธรรม ให้ไปปฏิบัติธรรมที่ปราสาทพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทำไมจะต้องไปโฆษณาอย่างนั้น ทำไมจะต้องพูดว่า ในที่นั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือ วิธีการที่จะทำคนให้หลงไป ให้งมงายไป ให้ไปเชื่อในสิ่งเหล่านั้น ว่าจะดลบันดาล จะก่อให้เกิดอะไรๆขึ้นแก่ตนด้วยประการต่างๆ
ไม่พูดในแง่ของธรรมะว่า ถ้าเราปฏิบัติแล้วจิตใจมันจะสงบเยือกเย็น จะเกิดคำว่า สมาธิ จะเกิดปัญญา คิดค้นอะไรได้คล่องแคล่ว กลับไปอ้างว่า สถานที่ที่นั้นจะช่วยให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องเกี่ยวกับสถานที่นั้นไม่ใช่เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ แต่เนื่องจากว่า สถานที่นั้นอยู่ในที่สงบเงียบ เขาเรียกว่า ที่วิเวก “วิเวก” หมายความว่า มีความสงบ ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีอะไรที่จะทำให้จิตใจวอกแวก โยเยไปด้วยประการต่างๆ เรียกว่าเป็นที่เหมาะแก่การทำความสงบใจ ไม่ได้เกี่ยวด้วยความขลัง ไม่ได้เกี่ยวด้วยความศักดิ์สิทธิ์อะไรๆ มาหามิได้ แต่ว่าเกี่ยวด้วยสถานที่
ในสมัยก่อนนี้ก็เหมือนกัน ถ้าคนเข้าไปบวชในพระศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ไปเรียนวิธีปฏิบัติจิตจากพระอาจารย์ ครั้นเรียนแล้วก็ไปหาที่สงบในป่าใดป่าหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ไม่มีคนเข้าไปยุ่ง ไปรบกวนให้เสียสมาธิ ชาวบ้านเขาก็รู้ว่า พระที่อยู่ในป่านั้นต้องการความสงบเงียบ ต้องการตั้งหน้าภาวนา เขาก็ไม่ไปยุ่ง ให้อาหารท่านเท่านั้นเอง ตื่นเช้าท่านก็อุ้มบาตรเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เขาก็จัดอาหารถวาย พอเป็นที่สบายแก่พระที่จะฉัน ไม่มากมายเกินไป ท่านก็รับอาหารแล้วก็ไปฉัน ฉันเสร็จแล้วท่านก็ไปอยู่ในป่าเงียบๆ เดินจงกรมบ้าง นั่งเจริญภาวนาบ้าง หรือทำเรื่องอะไรของท่านไป เพื่อให้จิตใจสงบ
สถานที่เช่นนั้นเป็นสถานที่อำนวยเพื่อให้เกิดความสงบทางกาย อำนวยให้เกิดความสงบทางด้านจิตใจ ตามภาษาธรรมะเรียกว่าเป็นที่สัปปายะ “สัปปายะ” ก็หมายความว่า เป็นที่สบายแก่ผู้ที่ต้องการเจริญภาวนา ไม่ได้เกี่ยวด้วยความขลัง ไม่ได้เกี่ยวด้วยความศักดิ์สิทธิ์อะไร เกี่ยวด้วยความสงบเท่านั้น ที่ไหนที่มีความสงบ ที่นั่นใช้ได้ แต่ถ้าที่ไหนมีความสับสนวุ่นวาย มีเสียงอึกทึกครึกโครม มีคนไปมาพลุกพล่าน เช่น เราจะไปนั่งภาวนาที่น้ำตกนางรอง นี่มันไม่ไหว เพราะมีคนไปเที่ยวกันมาก หรือแถวสาริกา มันก็ไม่ไหว คนมันไปรบกวน เดี๋ยวเห็นพระนั่งๆหลับตา เดี๋ยวก็เข้าไปกราบขอหวย ขอเบอร์เท่านั้นเอง แล้วจะนั่งอยู่ได้อย่างไร ที่เช่นนั้นมันไม่เหมาะทำไม่ได้
อันนี้เราต้องไปหาที่เงียบๆ ที่เงียบในวัดมันก็มี แต่ว่ามุมใดมุมหนึ่งของวัดมีความสงบเงียบ เราก็ไปนั่งเงียบๆคนเดียว ไม่ยุ่งกับใคร ก็ใช้ได้ หรือแม้ในบ้านของเราเอง ถ้าเป็นที่สงบเงียบ ไม่พลุกพล่านด้วยเสียงจอแจ เช่น บางบ้านอยู่ห่างไกลถนน ไม่มีเสียงอะไรรบกวน เราก็นั่งทำใจให้สงบได้ ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร อย่างนี้มันก็ทำได้ ไม่ต้องมีอะไรเป็นเครื่องอ้างว่า ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง อย่างนั้นอย่างนี้ อะไรหามิได้ พระศาสนาไม่ใช่เรื่องขลัง ไม่ใช่เรื่องอะไรที่จะก่อให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ในทางขลังๆ แต่เป็นเรื่องแนวทางของชีวิตที่เราเดินตามแล้ว เราจะได้ผลจากการปฏิบัติ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราเอง หาได้เกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาดลบันดาลให้เป็นไปไม่ แต่เกิดจากการคิดการค้นในเรื่องนั้น แล้วก็ได้ปัญญา ได้ความรู้ความเข้าใจ
องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลายนั้น ที่ได้สำเร็จเป็นพุทธะขึ้นมาได้ ก็โดยอาศัยสถานที่สงบ สงัด เกิดใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา อันเป็นที่ๆ มันสงบในสมัยนั้น เพราะไม่มีบ้านคน อยู่ใกล้แม่น้ำ น้ำท่าสะดวก อาหารที่จะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านก็ไม่ไกลเกินไป เดินไปเดินมาก็พอเหงื่อไหลพอดีว่าอย่างนั้นเถิด ท่านก็ไปพักอยู่ที่นั่นแล้วนั่งทบทวนคิดค้นปัญหาต่างๆ อันเกี่ยวด้วยเรื่องความทุกข์ ความลำบากทางจิตใจของเพื่อนมนุษย์ ค้นไป ค้นไป ก็เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้นด้วยพระองค์เอง ในเรื่องความจริงที่เรียกว่า เป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้บอกใครๆ ว่า ไอ้สิ่งที่เรารู้เราเข้าใจนี้ รู้เข้าใจได้ด้วยการกระทำของเราเอง ท่านไม่อ้างอำนาจเบื้องบน
พระพุทธศาสนาของเรานั้น ไม่ชอบอ้างอำนาจอะไร ที่จะทำให้ใครเป็นอะไร ไม่ชอบอ้างอะไรว่าจะดลบันดาลให้ใครเป็นอะไร ไม่มีอย่างนั้นแต่ว่าสอนให้ทำเอาเอง ให้สนใจศึกษา ค้นคว้าปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อมีการปฏิบัติด้วยตนเอง ก็เกิดผลแก่ตนเอง
เหมือนเราต้องการจะข้ามฝั่งแม่น้ำ แล้วเราไปนั่งอยู่ที่ริมฝั่ง ยกมือไหว้วิงวอน บอกว่า ฝั่งน้ำเอ๋ย ขยับเข้ามาหน่อย..เพื่อให้ฉันกระโดดข้ามได้ ถ้านั่งทำอยู่อย่างนั้นแล้ว ไม่มีทางที่จะข้ามแม่น้ำได้ เพราะฝั่งน้ำมันไม่สามารถจะทำให้แคบเข้ามา หรือยุบเข้ามาหากันได้ ผู้ที่ข้ามฝั่งน้ำก็ต้องหาเรือ หาแพ หรือมิเช่นนั้น ถ้าเชื่อว่า ตนมีกำลังเพียงพอ กระโดดลงไป แล้วก็ว่ายไป สามารถจะไปถึงฝั่งโน้นได้ แต่ถ้าไปนั่งวิงวอนขอร้องให้ฝั่งน้ำเข้ามาหาตัวแล้ว มันไม่สำเร็จ
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่า สำเร็จได้ด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง พระองค์จึงกล่าวเตือนบ่อยๆ ว่า “ตถาคต เป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้ ส่วนการเดินทางนั้นเป็นเรื่องของเธอทั้งหลาย ที่จะลงมือเดินด้วยตัวของเธอเอง ตถาคตไม่สามารถจะอุ้มพวกเธอไปถึงพระนิพพานได้ หรือทำอะไรให้เกิดขึ้นมาได้ เกิดได้ด้วยการลงมือกระทำ” เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาเราจึงถือว่า การช่วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ การพึ่งตนเองก็เป็นเรื่องสำคัญแต่ว่าการช่วยตัวเองก็ดี การพึ่งตนเองก็ดี ต้องอาศัยการปฏิบัติทำตามธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ คือ การช่วยตัวเอง
เช่น เราจะบอกเด็กให้ขยันเรียนหนังสือ ก็เท่ากับว่า ถ้ามันขยันมันก็ช่วยตัวเองได้ รักการเรียน เอาใจใส่ ขยันขันแข็ง พยายามคิดค้นศึกษาในเรื่องที่ตัวจะเรียน เด็กคนนั้นช่วยตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ แต่ถ้าหากว่าเด็กคนนั้น ไม่พยายามเรียนหนังสือ ไม่เอาใจใส่ในเรื่องการเรียน การเขียน การอ่าน มันก็ช่วยตัวเองไม่ได้ สอบไล่มันก็ตกแน่ๆ เพราะไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นในทางที่ถูกนั้น ต้องสอนเขาให้รู้จักช่วยตัวเอง ให้เรียน ให้ศึกษา เราเพียงแต่แนะแนวให้ แต่ให้คิดเอาเอง
สมมติว่าเด็กมีการบ้าน ถ้าแม่กับพ่อรักลูกมาก กลัวลูกจะลำบาก ก็เลยทำให้เสียเลย เอามาถึงก็ทำให้เสร็จแล้วคัดใส่สมุดพาไปส่งครูได้เลย อย่างนี้พ่อแม่คนนั้นก็เหมือนกับว่า ตัดอนาคตของเด็ก ทำให้เด็กอ่อนแอ ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่รู้จักใช้สมอง ใช้ความสามารถของตัว แล้วเด็กคนนั้นโตขึ้น จะช่วยตัวเองได้อย่างไร จะพึ่งตัวเองได้อย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เราแต่เพียงพูดแนะแนว ให้เขาคิดเขานึกเอา ให้เขาคิดชักจูง พูดจาให้เขาเกิดปัญญา ให้เขาคิดเอาเอง ให้นึกเอาเอง ถ้านึกยังไม่ออกก็พยายามพูดแนะไป ให้คิดเรื่องนั้น ให้คิดเรื่องนี้ เปรียบเทียบอะไรต่ออะไร ตามวิธีการต่างๆ ให้เขาได้รู้ด้วยตัวเขาเอง นั่นจึงจะเป็นการถูกต้อง ตามแนวทางที่เรียกว่า “สั่งสอน”
พระผู้มีพระภาค ท่านทำกับภิกษุก็อย่างนั้นเหมือนกัน มักจะพูดจูงใจ แนะนำ เปรียบเทียบเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนกระทั่งผู้ฟังนั้นเกิดปัญญา แล้วเข้าใจเรื่องอะไรถูกต้องขึ้นมา นั่นคือวิธีการที่สอนให้ช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเอง ไม่ให้ไปเที่ยววิงวอน ขอร้อง หรือทำอะไรๆ ในรูปต่างๆ เพื่อจะช่วยตนให้พ้นภัย ในรูปอะไรก็ตามใจ เช่น เราเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ ถ้าเราถือหลักของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปหาหมอทันที เพราะหมอนั้นเขารู้สาเหตุของโรค เขารู้เรื่องวิธีจะรักษาด้วย และโรคมันจะได้หายไวๆ
แต่ถ้าเราไม่ไปหาหมอ เราไปหาพระให้ช่วยรดน้ำมนต์ให้สักหน่อย หรือให้ช่วยเป่ากระหม่อมให้สักหน่อย หรือให้ทำอะไรๆ ให้มันหายโรคหายภัย นั่นมันไม่ใช่วิธีการตามแบบของธรรมะ การกระทำอย่างนั้นโรคมันยิ่งหนักเข้าไป โรคบางอย่างถ้าเรารดน้ำเข้ามันจะตายไวๆ เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ขืนไปรดน้ำมนต์เข้า มันตายไวเท่านั้นเอง เพราะมันไม่ชอบน้ำ โรคอย่างนั้นไม่ชอบความเย็น เราจะต้องรีบไปหาหมอ
ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เรายึดถือหลักว่า “สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุ ผลมันเกิดไม่ได้” แต่ว่าเรานี้ไม่รู้ว่าเหตุมันคืออะไร เพราะเราไม่ได้เรียนเรื่องอย่างนี้ ดังนั้น ต้องรีบไปหาหมอ รู้สึกไม่สบายนิดๆหน่อยๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว รีบไปไวๆ จะได้รักษาทันท่วงที ไม่ปล่อยไว้ชักช้า ไม่ใช่ให้เขาหามไป แล้วไปหาหมอ อย่างนั้นก็เหมือนกับเอาศพไปให้หมอรักษา มีหวังว่าจะได้เผากันไวๆเท่านั้นเอง มันไปไม่รอด อันนี้เราต้องไม่ประมาท
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า “ไม่ประมาทในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เพราะเรื่องใหญ่นั้นมันมาจากเรื่องเล็กน้อย” เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเล็กน้อย เราก็ต้องรีบไปให้หมอตรวจตรา ดูแลรักษาให้เรียบร้อย ปฏิบัติตามหมอสั่ง โรคภัยไข้เจ็บมันก็พอจะทุเลาเบาบางลงไป เราก็อยู่ได้สบาย ดีกว่าที่จะไปทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือไปหาหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ โบสถ์นั้นโบสถ์นี้ บนบานศาลกล่าวว่า ให้หายสักทีเถอะ แล้วไม่ไปหาหมอ มีหวังว่าจะไม่หาย เว้นไว้แต่โรคบางอย่าง ไอ้โรคบางอย่างมันก็มีเหมือนกัน เป็นแล้วไม่รักษามันก็หายได้ โรคเล็กๆน้อยๆ ระยะมันนิดหน่อย สั้นๆ แล้วมันก็หายไปเอง อย่างนั้นมี หรือพอมันหายไปเราก็นึกว่า โอ้ ศักดิ์สิทธิ์ พระหลวงพ่อองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ช่วยเราได้ เลยหลงผิดไป ถ้าถึงโรคขนาดหนัก หลวงพ่อบอกว่า ฉันรักษาไม่ไหวโว้ย ทีนี้ละก็จะแย่ ลำบากเดือดร้อนไปตามๆกัน
อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องคิดนึกให้มันเป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ “ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรมันเป็นเหตุของอะไร ควรจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ เราก็ต้องไปศึกษาหาผู้รู้ เพื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เราพ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของเรา” นี่ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เช่น ความวิตกกังวลด้วยปัญหาต่างๆ อันนี้มีมาก คนบางคนนั้นเขาเรียกว่า มีวิตกวิจารณ์เป็นเจ้าเรือน เขาเรียกว่า “วิตกจริต” พวกวิตกจริตนี่คือ คิดมาก ชอบคิดนั่นคิดนี่ อะไรนิดอะไรหน่อย ก็คิดเรื่อยไป แต่ไม่ใช่คิดเพื่อให้เกิดปัญญา ไม่ใช่คิดเพื่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น คิดฟุ้งไปอย่างนั้นเอง คิดแล้วก็กลุ้มใจ นั่งกลุ้มใจด้วยเรื่องนั้นด้วยเรื่องนี้ เพราะอาศัยการคิดที่ไม่มีระเบียบ ไม่มีอะไรที่เรียกว่า เพื่อหาเหตุหาผลอย่างถูกต้อง ก็เลยนั่งคิดกลุ้มไปเรื่อยๆ ล่อแหลมต่อการที่จะเป็นโรคทางประสาท เพราะอาการคิดมากในรูปอย่างนั้น มีอยู่มากมาย เห็นอะไรก็วิตกกังวล เอามาคิดมานึกยุ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง อย่างนี้ทำให้เกิดความเสียหาย
เราจึงต้องคอยสำเหนียกตัวเราเอง เวลามันเกิดอะไรขึ้นมา ให้ตั้งปัญหาไว้เสมอว่า สิ่งนี้คืออะไร พอเราจะคิดอะไรขึ้นมาหรือว่าหวาดกลัววิตกในเรื่องอะไรก็ตาม เราก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า “อะไรกันนี่” ตั้งปัญหาอย่างนั้น “อะไรกันนี่” ตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเองว่า “อะไรกันนี่”
พอเราพูดว่า “อะไรกันนี่” มันเกิดอาการชะงักงันนิดหน่อย ชะงักงันในความคิด และเราก็คิดว่า เออ! อะไรกัน เรื่องอะไรกัน เราก็ดูในใจของเราว่า กำลังคิดเรื่องอะไร วิตกกังวลด้วยเรื่องอะไร ด้วยปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในใจของเรา เราก็พอจะรู้ว่า เรื่องอะไร เพราะสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจนั้น รู้ทั้งนั้น..แต่ไม่รู้ด้วยการคิดพิจารณา รู้แต่เพียงรู้ว่า คิดเรื่องนั้นอยู่ แต่ไม่รู้ต่อไปว่า ทำไมจึงคิดเรื่องนั้น เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วมันเป็นอย่างไร ร้อนใจหรือว่าเย็นใจ สงบหรือวุ่นวาย สับสนหรือว่าเรียบร้อย เราไม่ได้พิจารณาไปในแง่นั้น
เพราะฉะนั้นจึงต่อความยาวสาวความยืดออกไปในเรื่องความคิดนั้นๆ ไม่รู้จักจบจักไม่รู้จักสิ้น อันนี้เป็นความหลงผิด ทำให้เกิดปัญหาเรื่อยไป แล้วถ้าคิดมากอย่างนี้จะกระทบกระเทือนต่อกาย ทางประสาทร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ รับทานอาหารไม่ได้ ท้องไส้ผิดปกติ อะไรต่ออะไรไปกันใหญ่ เหมือนกับว่า เราเปิดประตูให้โรคเข้าบ้านเข้าเมืองคือร่างกายของเรา ทำให้สิ่งทั้งหลายทรุดโทรมลงไปโดยไม่จำเป็น
จึงอยากจะขอแนะแนวให้พิจารณาว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา เราก็ต้องถามทันทีว่า “อะไรกันนี่” ถามอย่างนั้น “อะไรกันนี่” ถามตัวเอง และเราก็บอกเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความทุกข์ด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็แยกแยะต่อไปว่าทุกข์ด้วยเรื่องอะไร
เอ้า! จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อาจจะเกิดขึ้นแก่ใคร เมื่อใดก็ได้ เจอความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ ตัวอย่างเช่นว่า พ่อแม่มีลูกหลายคนหรืออาจจะมีคนเดียวก็ได้ แล้วต่อมาก็ลูกนั้นถึงแก่กรรมไปด้วยอะไรก็ตาม ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา เพราะคนเกิดมาแล้วมันก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ว่ายังไม่แก่ตายก็มี
เรานี่มักจะนึกว่า แก่ก่อนจึงจะตาย นึกอย่างนี้มันนึกผิดธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้บอกเราว่าอย่างนั้น ไม่ได้บอกว่าแก่ก่อนจึงจะตาย คำว่าแก่ ก็หมายความว่า ผมหงอก ตามืด หูตึง หลังคู้หลังโกง อะไรๆ เปลี่ยนแปลงดังที่เราเห็นด้วยตา เรานึกอย่างนั้น แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะเด็กยังที่ไม่แก่อย่างนั้นมันตายก็มี เช่น เด็กตัวน้อยๆ พอเกิดมาจากท้องแม่ตายไปก็มี อายุ ๒ เดือนตายไปก็มี พอลูกตายอย่างนี้แม่ก็ต้องเป็นทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ ซึมเซาเหงาหงอย ไม่เป็นอันกิน ไม่เป็นอันนอน ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะความหลงผิดว่า ลูกเรามันไม่น่าจะตาย มันไม่ควรจะตาย ไม่คิดว่า เออ! มันต้องตายเป็นธรรมดา ไม่ได้ตายแต่ลูกเรา เพราะเราไม่ได้คิดอย่างนั้น
ความจริงถ้าไปดักอยู่ที่ปากทางเข้าโรงพยาบาล อาจจะเห็นเด็กตายเกือบทุกวันเหมือนกัน ที่โรงพยาบาลคนไปคลอดตายบ่อยๆ ถามนางพยาบาลดูแล้ว บอกไอ้ที่ไปคลอดๆ นั้นมัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไหม ที่มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไหม ไม่ ๑๐๐ หรอก ไอ้ที่ตายก็เยอะแยะ แต่ว่า ตายนี่เขาไม่พูดกัน เอาแต่เรื่องอยู่กันเท่านั้นเอง แล้วก็พาออกมา ความจริงมันก็มีตายเหมือนกันที่โรงพยาบาล หรือว่าเราไปดูที่ป่าช้าก็แล้วกัน ลองไปถามสัปเหร่อตามป่าช้าที่ต่างๆ ถามว่า นี่ที่เผาๆนี่ เผาคนแก่ทั้งนั้นหรือ สัปเหร่อคงจะมองหน้าเรา ว่า นี่มาอะไร จะมาถามปัญหานี้ ก็ไม่ได้เผาแต่คนแก่หรอก คนหนุ่มก็เคยเผา เด็กน้อยๆ ก็เคยเผา เด็กเกิดมายังไม่ถึงเดือนก็เคยเอามาเผากัน แต่บางคนมักเอามาฝัง
เหมือนที่วัดนี้เคยมี เด็กเกิดน้อยๆบอกว่า จะเอามาฝัง บอกว่า ฝังไม่ได้ มันไม่มีที่จะฝัง ถ้าให้ฝังสักคนเดี๋ยวก็ฝังกันใหญ่เลยก็มันกลายเป็นที่ฝังศพเท่านั้นเอง เผาเถอะ จัดแจงส่งเข้าเตาเผาเสียเรียบร้อยไปเป็นขี้เถ้า พอเป็นขี้เถ้าแล้วมันฝังง่ายหน่อย เอามาใส่โคนต้นไม้ที่ปลูกใหม่ๆ ต้นไม้จะได้เจริญเติบโตต่อไป
แต่ถ้าแม่เห็นว่า เอามาฝังไว้ที่ต้นไม้นั้นนะ มาวัดก็ต้องเดินเฉียดต้นไม้นั้นเข้าไปทุกที คือ นึกว่าลูกฉันนอนอยู่ที่นั่น ความยึดถือ ยึดถือว่า ลูกฉันๆ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง ลูกฉันเป็นขี้เถ้าไปแล้ว ก็ยังนึกถึงอยู่ตลอดเวลา กลับไปถึงบ้าน ไปเห็นที่นอนก็เศร้าใจ เห็นที่นั่งของลูกก็เศร้าใจ เห็นขวดนมวางอยู่ไม่มีใครดื่มก็เศร้าใจ มีแต่เรื่องเศร้าทั้งนั้น ทำไมจึงต้องเศร้าใจอย่างนั้น เพราะว่าเราไม่ได้ตั้งปัญหาว่า ฉันเศร้าใจเรื่องอะไร ทำไมจึงเสียใจในเรื่องนั้น ไม่ได้คิดเลย เอาแต่เศร้าๆ ซึม นัยน์ตาก็ปิดอยู่เรื่อย น้ำตาก็ไหล ร้องไห้ร้องห่มอยู่ตลอดเวลา
ถ้าแม่บ้านเป็นอย่างนั้น พ่อบ้านไม่ค่อยร้อง ผู้ชายนี่อดทนหน่อย เพราะต้อง หาวิธีพาแม่บ้านมาวัดมาวา พาไปหาพระวัดนั้น หาพระวัดนี้ ให้ช่วยเป่าหัวบ้าง รดน้ำมนต์น้ำพรบ้าง ทำอะไรต่ออะไรก็ไปตามเรื่องตามหน้าที่ บางทีก็พามาวัดที่เขาสอนธรรมะ ก็พยายามพูด แต่ว่า พูดก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าใด เพราะไม่ค่อยยอมรับ ยังไม่ค่อยยอมรับเท่าใด ยังเศร้าโศกเสียใจอยู่มาก รับไม่ค่อยได้ บางทีต้องพูดแรงๆ เพื่อให้กระทบกระเทือนจิตใจจะได้เปลี่ยนอารมณ์มาสมาธิในเรื่องปัญหานั้นขึ้นมาบ้าง อย่างนี้เขาก็ใช้เหมือนกัน
เหมือนกับพระเวสสันดรดุนางมัทรี เวลานางมัทรีไปป่าวันนั้น ทิ้งลูกไว้ ก็ทิ้งไว้ทุกวัน แต่ว่า วันนั้นบังเอิญตาชูชก แกแอบเข้ามาขอชาลี กัณหา ไป คือชูชกแกก็เก่ง แกรู้ใจ (26.47 เสียงไม่ชัดเจน) เหมือนกัน แกบอกว่า ไม่ได้ต้องรีบไปแต่เช้า เพราะถ้าไปสายเดี๋ยวนางกลับมา นางกลับมาแล้ว ผู้หญิงนี่มีปกติรักลูกมาก หวงแหน ถ้าเราไปขอตอนนั้นนางก็จะไม่ยอม เราก็จะไม่สำเร็จสมดังใจ ตอนนั้นต้องรีบไป นางเข้าป่า พอนางเข้าป่า แกก็ไปหาพระเวสสันดร ขอเลย พระเวสสันดรบอกว่า รออีกสักหน่อยเถิดให้นางกลับมาก่อน นางก็จะได้อนุโมทนาด้วย ชูชกแกฉลาด แกตัดพ้อต่อว่า เมื่อตะกี้ให้แล้ว..น้ำใจพระเวสสันดรนี้โลเล ให้แล้วแกล้งบิดแกล้งเบี้ยวรอให้นางกลับมา เผื่อนางจะได้ถ่วงเอาลูกกลับคืนไป ตัดพ้อพระเวสสันดร
พระเวสสันดรว่า ตามใจ ถ้าอย่างนั้นท่านจะเอาก็เอาไปเถิด จากนั้นแกก็พาชาลี กัณหา เอาเชือกผูกแล้วจูงไปเลยทีเดียว พอบ่ายคล้อยนางก็กลับมา ก่อนจะกลับมานี่ เทวดาก็เอาด้วยเสียเหลือเกิน แปลงเป็นเสือ ...... (27.49 เสียงไม่ชัดเจน) มาขวางทางเสียด้วย ขวางตรงช่องแคบ หลีกไม่ได้ เพราะทางตรงนั้นมันแคบเหลือเกิน มีหินสองข้าง เสือสองตัวมานอนขวางกันตรงนั้น นางจะไปก็ไม่ได้ ยกมือไหว้ก็ไม่ถอย จนกระทั่งเย็นจึงให้มา มาถึงก็พุ่งไปที่ลูกเคยเล่นเคยเที่ยว ไม่เห็นลูก ไปถามพระเวสสันดร ทำนั่งเฉยหลับตาเสียด้วย ไม่พูดไม่จา ไม่ไหวถ้าบอกไปนางจะกลุ้มใจมาก เลยทำท่าไม่บอก นางก็ไปเที่ยวหาอีก หาในป่าด้วยความระแวง ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรขี้นมา ผลที่สุดก็ไม่พบ
กลับเข้ามา พระเวสสันดร ว่า โอ้..นางเศร้าโศกเสียใจมาก ต้องเอาเรื่องอื่นมาพูดกันเถอะ เลยจะด่าว่านางมัทรีว่า วันนี้ไปป่าคงจะพบ …… (28.47 เสียงไม่ชัดเจน) คนธรรพ์แล้วไปสนุกสนานกัน เพราะว่าอยู่กับฉันนี่ ฉันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเธอมานานแล้ว คงจะไม่สบาย ไปพบอะไรคงจะเพลิดเพลินลืมลูกลืมเต้าสิ ว่าอย่างนั้น เรียกว่า เอาความหึงมาพูดหักอารมณ์โกรธของนาง นางก็เลยไม่คิดถึงลูกตอนนั้น โกรธผัวไปด้วย ไปคนละเรื่องไป มันเบาอันโน้นแต่มาหนักอันนี้ต่อไป วิ่งไปวิ่งมาก็สลบไสลไปหมดแรง พระเวสสันดรก็ไปอุ้มนาง เอาน้ำมาลูบหน้าลูบตา ฟื้นขึ้นมาก็บอกความจริงว่า อย่าเสียใจเลย เราให้ลูกเป็นทานไปแล้ว นางรู้ทีหลังก็เลยอนุโมทนา ไหนๆ ก็ให้ไปแล้ว เลยหมดความเศร้าโศกเสียใจไป อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
เราๆ ท่านๆ ในสมัยนี้ก็มีอาการอย่างนั้นอาจจะเกิดขึ้นในใจ เช่น ลูกตายจากไปแล้วเราก็เศร้าใจ ถึงวันนั้นก็เศร้าใจ วันนี้ก็เศร้าใจ เห็นเพื่อนของลูกมาก็เศร้าใจแล้ว เห็นใครมาก็ไม่สบายใจ ใครเคยเดินกับลูก เขาเดินมาคนเดียวไม่สบายใจ บางทีน้ำตาไหลนองหน้า อันนี้เขาเรียกว่า ความอาลัยในสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้ คนเป็นแม่ คนเป็นพ่อ เป็นพี่เป็นน้อง หรือว่าเป็นอะไรที่มีความสัมพันธ์กัน มันก็ต้องเกิดอารมณ์อย่างบ้างเป็นธรรมดา
แต่ถ้าหากว่า เรานั่งคิดเสียบ้าง นั่งคิดถึงว่า เออ..ไอ้ที่เขาตายจากเราไปนี่ เขาตายด้วยความสมัครใจหรือเปล่า คนเรานี้ไม่มีใครสมัครใจจะตายสักคนเดียว ฝืนใจตายทั้งนั้นแหละ ฝืนใจจากพ่อจากแม่ไป ส่วนคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ กำลังจะก้าวหน้าในชีวิตในการงาน หรือกำลังบริหารงานอันเป็นประโยชน์แก่ชาติแก่ประเทศอยู่ เช่น เป็นทหาร เป็นตำรวจ หรือเป็นข้าราชการอะไรก็ตาม เขาไม่อยากตายทั้งนั้นแหละ แต่ที่ตายไปๆ นั้นเขาเรียกว่า ถูกบังคับฝืนใจ ใครเป็นผู้บังคับ ใครเป็นผู้ฝืนใจ ธรรมชาตินั่นแหละ ธรรมชาติเป็นผู้บังคับ เป็นผู้ฝืนใจคนเหล่านั้นให้ต้องจากไป เขาก็ต้องจากไปเป็นธรรมดา ถ้าเรานึกอย่างนี้ ได้ว่า อ้อ..ความจริงนั่นเขาไม่อยากตายหรอก แต่ที่เขาตายนี่เพราะว่า ธรรมชาติบังคับ เช่น โรคภัยบังคับให้ถึงแก่ความตาย หรือบางทีเกิดอุบัติเหตุเช่นว่า ขับรถไปแล้วเกิดรถชนกัน นี่เขาเรียกว่า เหตุการณ์มันบังคับทำให้ถึงแก่ความตายไป หรือว่าเป็นทหารนักบิน แล้วก็ขึ้นฝึกบินหรือว่าไปสอนคนอื่นให้บิน ไอ้เครื่องยนต์นี่มันมีเวลาเสียทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าเรือบิน รถยนต์ จักรยานยนต์ ไอ้ยนต์ๆทั้งหลาย ก็มันประกอบกันเข้านี่ ไม่ใช่ของแท้ เมื่อมารวมตัวกันเข้า กลายเป็นเครื่องยนต์กลไกขึ้นมา มันของผสม ญาติโยมคิดดูนะ..ของผสมนี่มันเที่ยงแท้เมื่อไร มันถาวรเมื่อไร มันต้องมีเวลาเสีย ทีนี้มันมาเสียตอนลูกเรานั่งอยู่บนนั้นเสียด้วย แล้วก็ต้องลงมาตายไป เหตุการณ์มันบังคับทำให้เป็นไปในรูปอย่างนั้น แล้วถ้าคิดไปว่า เอ..เขาตายกันมากี่คนแล้วเพราะเรื่องอย่างนี้ สมมติว่าในกองทัพอากาศนี้ มีนักบินตกเรือบินตายมากี่คนแล้ว มากมายก่ายกอง ตายมาเยอะแยะ
มีคุณแม่คนหนึ่งเป็นชาวพัทลุง ลูกชายเป็นนักบิน ลูกกลับบ้านมาเยี่ยมแม่ แม่บอกว่า “ลูกเป็นนักบินอย่าขี่ไอพ่น” ลูกบอกว่า “เป็นนักบินไม่ขี่ไอพ่นแล้วจะไปขี่อะไรละแม่ สมัยนี่เรือบินมันไอพ่นทั้งนั้นแหละ ใบพัดเดียวเขาไม่ใช้แล้วในเวลานี้” แม่บอกว่า “ก็แม่กลัวว่าลูกจะอายุสั้น เดี๋ยวจะตายเสียก่อน” “โอ้..แม่ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าผมตายนี่ แม่ได้รับเบี้ยบำนาญ ราชการเขาเลี้ยงดูแม่ต่อไป แม่ไม่ใช่คนยากจนเงินทองเยอะแยะ”แม่ก็บอกว่า แม่ไม่ต้องการเงินหรอก แม่พอกินพอใช้ไม่เดือดร้อนอะไร แม่ต้องการให้ลูกอยู่มากกว่า ว่าอย่างนั้นนะ ลูกก็บอกว่า “เราเป็นทหารอากาศแม่ มันต้องนั่งเรือบิน แล้วเวลานี้เขาใช้ไอพ่นนะ เอฟ ๑๕ อะไรต่ออะไร ชนิดเร็วๆ ทั้งนั้นแหละ แล้วลูกไม่ขึ้นเรือบินแล้วมันจะไปได้อย่างไร” ลำบากคนไปไม่ได้ เว้นไว้แต่บางคน คือว่า หลาน มีอยู่รายหนึ่ง กลัวหลานจะขึ้นเรือบิน ไปกระซิบหมอให้ตรวจสุขภาพ บอกว่า ตรวจอย่าให้มันขึ้นเรือบินก็แล้วกัน ให้หมอช่วยหน่อย แล้วหลานชายก็ไม่รู้ตัวว่า สุขภาพตัวเองนั้นไม่ดี เลยไม่ได้ขึ้นเรือบิน เพราะว่าหมอเกรงคุณยายจะเดือดร้อน ยายนี้รักหลานเลยไปบอกหมอไว้ ตรวจสุขภาพอย่าให้มันขึ้นเรือบินได้ก็แล้วกัน หมอก็ทำตามนะ นายคนนั้นขึ้นเรือบินไม่ได้ แต่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนากับเขาเหมือนกัน แล้วก็มาเป็นช่างทหารอากาศอยู่โรงงานบางซื่อต่อไป ไม่มีโอกาสบินกับเขาเลย ตัวไม่ได้บินก็นึกว่า สุขภาพไม่ดี ความจริงสุขภาพของคุณยายมากกว่าไม่ใช่เรื่องอะไร คุณยายแกไปบอกหมอไว้ว่า ให้ทำอย่างนั้น ก็กลัวหลานชายจะตาย คุณยายไม่ได้นึกว่า อยู่บนดินมันก็ตายได้เหมือนกัน ไม่ต้องขึ้นเรือบินหรอก คนบางคนยืนอยู่ที่สนามบิน เรือบินยังพุ่งมาชนเอาตายได้เลย บางทีอยู่เฉยๆ เหมือนกับคนในโรงงานทอผ้าที่ข้างเรือบิน อยู่ดีๆ นอนหลับสบายๆ เรือบินอียิปต์แอร์ไลน์บินมาจากไหนก็ไม่รู้ โครมลงไป..เรียบร้อยไป นั่นไม่ได้ขึ้นเรือบินสักหน่อย เรือบินอุตส่าห์ลงมาตรงนั้น เขาเรียกว่า ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เรียบร้อยไปเลย ตายไปป่านนี้ยังไม่ได้ค่าชดเชยเลยพวกนั้น เพราะว่ายังไม่เรียบร้อย ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ไปดู …… (35.14 เสียงไม่ชัดเจน) อะไรต่ออะไรก็ยังไม่ได้เรื่อง ยังฟ้องกันไม่ได้มันเป็นอย่างนั้น
เรื่องความไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา นักบินตายไปบ้าง ทหาร ตชด.ไปอยู่ชายแดน เราควรจะนึกว่า อ้อ เขาไป ตชด. นี่มันต้องตายสักวัน ไอ้ไม่ตายนี่เรียกว่า วิเศษแล้ว แต่ถ้าว่ามันตายนี่เรื่องธรรมดา เพราะไปสู้กับเขา เขาก็ต้องเล่นงานบ้างละ ถ้าหากว่า ไม่ตายก็เรียกว่าบุญแล้ว แต่ถ้าตายก็ตายในหน้าที่ราชการ เราควรจะดีใจ เพราะคนเรามันตายทุกคน แต่ถ้าตายในหน้าที่นี่มันมีเกียรติ ประวัติศาสตร์ได้จารึกชื่อลูกชายสกุลไว้ ว่าได้ตายในราชการ เป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง ถ้านึกอย่างนั้น สบายใจ ไม่เสียอกเสียใจ แต่ถ้าเราคิดว่า ไม่น่าเลย ที่จะไปเป็นตชด. ไม่น่าเลยที่จะไปชายแดน แล้วถ้าเป็นตำรวจก็ต้องไปสิ หรือว่าพลทหารก็ต้องไป เป็นเรื่องธรรมดา จะไปเสียใจอะไร แต่ว่าเราคิดไปในแง่ให้เสียใจ ให้เป็นทุกข์ ให้กังวล ไม่ได้คิดในแง่ว่า มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้านึกไปว่า เออ...ลูกชายฉันนี่มันเก่งนะ มันตายในสนามรบ เออ...ลูกชายฉันนี่มันเก่งนะ มันตายเพราะเรือบินเพราะมันเป็นนักบิน หรือลูกชายฉันเป็นไปในกองทัพเรือ แล้วก็เรือจม มันก็ตายกับเรือ สมชายชาติทหาร ถ้าเรานึกอย่างนั้น ไอ้เสียใจมันก็คงไม่มี มีแต่ความปลื้มอกปลื้มใจ เห็นใครมาก็คุยได้ว่า โอ้ ลูกชายฉัน เขากล้าหาญชาญชัย เขาตายในราชการทหาร เขาตายในที่นั่นที่นี่ นึกอย่างนั้นสบายใจ
แต่ว่าเราไม่ค่อยจะนึกอย่างนั้น คุณแม่อาจจะไม่ค่อยนึกอย่างนั้น เสียดาย เสียใจ แหม อุตส่าห์ให้เล่าให้เรียนมาจนสำเร็จ ได้เป็นนั่นได้เป็นนี่แล้ว มันมาตายเสียก่อน แล้วอยู่ต่อไปมันไม่ตายหรือ เราลองถามตัวเราอย่างนั้น แล้วถ้ามันอยู่ต่อไปมันไม่ตายหรือ มันก็ตายเหมือนกัน..ไม่ตายวันนี้มันก็ตายวันหน้า มันต้องตายสักวันหนึ่ง
วันหนึ่งไปเยี่ยมพระที่กำลังป่วย ป่วยมาก ก็เลยบอกว่า อืม อาการมันหนักนะ ท่านบอกว่า ไอ้เรื่องตายนั้นไม่ต้องพูดถึง..ไม่ตายวันนี้มันก็ตายพรุ่งนี้..ไม่ตายเดือนนี้เดือนหน้ามันก็ตาย..อย่าไปทุกข์ร้อนเลยไอ้เรื่องตาย มันทุกข์ร้อนตรงที่มันป่วยเท่านั้นแหละ ไอ้ตายนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว ท่านก็พูดอย่างนั้นก็เรียกว่า สบายใจ เราผู้ไปเยี่ยมก็สบายใจ สบายใจว่า อ้อ..ท่านปลงแล้ว ปลงแล้วว่า มันต้องตายแน่ๆ ยอมแล้ว ยอมแพ้ บางคนไม่ยอม ยังจะสู้ต่อไป อีกสักยกสองยกก่อน สู้ไม่ไหว สู้กับรายอื่นยังพอสู้ แต่สู้กับมัจจุราชนี้สู้ไม่ไหว มันเก่งกว่าเราหลายเท่านัก ถ้าเรายกมือ ยกธงขาว แล้วก็ยอมว่า เอา ตายก็ตายกัน มันก็หมดเรื่องกันเท่านั้นเอง เราตายบ้าง ลูกตายบ้าง หลานตายบ้าง ใครๆก็ตายกันไปตามฐานะ ถ้าเราคิดตรงไปในรูปอย่างนั้น ใจมันก็สบาย
หรือตัวเราเองก็เหมือนกัน ถ้าร่างกายแก่ชราลงไปเรื่อยๆ ก็ควรจะบอกว่า ใกล้เข้าไปแล้ว ใกล้เข้าไปแล้ว และอย่าไปกลัวว่าจะตาย ควรนึกว่า ธรรมดา ไอ้เรื่องตายนี่ไม่ได้เจ็บปวดอะไร แป็ปเดียวเท่านั้นเอง มันปวดก่อนตาย ไอ้โรคภัยไข้เจ็บนี้มันปวด ..แต่ตายนี้ไม่ได้ปวดรวดร้าวอะไร อาตมาเคยนั่งดูคนแก่ๆที่ตายนะ ไม่เห็นดิ้นรนกระวนกระวายอะไร นอนเฉยๆ อ้าปากหายใจ เขาบอกว่า เหงื่อกาฬออก ก็ดูที่ปลายจมูกมันก็มีเหงื่อ หน้าผากก็มีเหงื่อกาฬออกแล้ว คืออะไรก็ไม่รู้หละ ไม่รู้ว่าเหงื่ออะไร เขาบอกว่า เหงื่อกาฬ หมายความว่า เหงื่อที่จะตายมันออกแล้ว ว่าอย่างนั้น นั่งดูๆไป ก็ค่อยๆหายใจแผ่ว แผ่วๆๆไปแล้วก็ ฮึบ ไปเท่านั้นเอง รู้สึกว่า ตอนสุดท้ายนี่หายใจแรงทีหนึ่ง พอหายใจแรงแล้วก็หยุดเงียบไป ก็หมดเรื่องกันเท่านั้นเอง ตายไปเท่านั้นเอง ไม่เห็นจะต้องดิ้นรนต่อสู้อะไร
เกิดเสียอีกลำบาก แม่ก็ลำบาก ลูกจะออกก็ลำบาก เวลาเกิดต้องมีผู้ช่วยหลายคน เวลาตายไม่ต้องให้ใครช่วย แต่ว่านางพยาบาลก็เที่ยวยุ่งเข้าไป ไม่ให้คนตายปกติ บางทีเราอย่าไปยุ่งคนจะใกล้ตาย อย่าไปยุ่ง อย่าไปจับมือจับไม้ บางทีลูกๆหลานๆ .. คุณแม่ๆ ไปกวน ตายไม่เป็นสุข ไปกวน บางทีท่านใจสงบดีแล้ว ปลงแล้วนะ ไปดึงกลับขึ้นมาอีกแล้ว เป็นกังวลขึ้นมาอีก อย่าไปยุ่ง คนแก่เจ็บหนักใกล้จะตายนี่อย่าไปยุ่ง ให้ท่านนอนสบายๆ อย่าไปเที่ยวทำอะไร อย่าไปเที่ยวฉีดหยูกฉีดยาอะไรให้ท่านวุ่นวาย เพราะว่า ไม่ไหวแล้ว ฉีดแล้วก็อย่างนั้นแหละ ไม่รอดแล้ว ให้ท่านนอนสบายๆ แล้วก็ตายอย่างสบาย
คนโบราณก็อย่างนั้นแหละ เขาตัดเขาเอง รู้ตัวว่าไม่ไหวแล้วก็ตัดอาหาร ดื่มแต่น้ำ ดื่มๆน้ำไป น้ำก็พอแล้วไม่ดื่มน้ำแล้ว นอนเฉยๆ นอนนิ่งๆ เงียบๆไป แต่เขามีระเบียบเหมือนกันคนเฒ่าคนแก่ อย่าไปยุ่งอย่าไปจับไปต้อง กำลังจะออกจากร่างแล้ว หมายความว่า วิญญาณกำลังจะออกจากร่างแล้ว อย่าไปจับไปต้องให้เกิดความกังวล ให้นั่งนิ่งๆ ถ้าให้ทำบ้างก็สวดมนต์เท่านั้นเอง ให้สวดมนต์ให้ฟัง เช่น สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ให้ดังๆออกไป สมัยนี้เราสวดไม่ได้ มีเทปก็อัดเทปสวดมนต์แปลอะไรก็ไปไหว้ คุณยายเจ็บหนัก ก็เปิดเทปให้ฟัง ให้เสียงดัง หูนี่ยังได้ยินนะ คนเราเวลาใกล้จะตาย ตามองไม่ค่อยเห็นนะ แต่หูนี่ยังใช้ได้นะ ยังได้ยินเสียงอะไรๆ ได้ยินแผ่วๆ ได้ยินเสียงสวดมนต์แผ่วๆ จิตใจก็เคลิ้มไปกับเสียงสวดมนต์ แล้วก็ดับจิตไปในขณะนั้น เรียกว่า ดับจิตด้วยความสงบ เป็นการช่วยให้สบายใจ เราช่วยได้อย่างนั้น ดีกว่าที่จะไปจับนั่นต้องนี่ ทำอะไรต่ออะไรให้วุ่นวายสับสน ทำให้ท่านตายยาก ทรมาน ทำให้เกิดปัญหา ถ้าตายไปก็ตามเรื่องของท่าน เราอย่าไปเที่ยวร้องไห้ร้องห่มอะไร แต่คนบางคนกลัวว่า ไม่ร้องเสียเลยเดี๋ยวเขาจะหาว่าไม่รัก ว่างั้นนะ เลยแกล้งบีบน้ำตาร้องไห้เสียเป็นการใหญ่ นี่เขาเรียกว่า แสร้งทำเอา เหมือนกับศพคนจีน ไปเคยเห็นที่ปีนัง โอ้ย นั่งอยู่ดีๆ นั่งอยู่ไม่มีอะไร หน้าตาก็ไม่ได้แดงอะไร เดี๋ยวเอาผ้าเช็ดหน้าขยี้ตา โฮ ขึ้นมาแล้ว เอาแล้วนะ อาเตียอย่างนั้น อาเตียอย่างนี้ ขึ้นมาแล้วนะ อันนี้เขาเรียกว่า แสร้งทำ ไอ้พอหยุดก็หยุดได้เฉยๆ หยุดแล้วก็ลุกขึ้นไป ไม่เห็นมีอะไร อันนี้เขาเรียกว่า แสร้งร้อง
สมัยก่อนพระมหากษัตริย์สิ้นพระชมน์นี่ เขามีนางร้องไห้เหมือนกันนะ มีคนร้องไห้ เรียกว่าจัดหมู่ไว้ไปร้อง แสดงความอาลัย ว่าคนคิดถึงนะ ร้องไห้ ความจริงนะคนถ้าคิดถึงมาก มันร้องไม่ออก ให้เราสังเกตุดู คนเรานี่ ถ้าว่าคิดถึงมากนี่ มันร้องไม่ออก ถ้าร้องออกนี่ คิดถึงไม่เท่าใดนี่ ก็ร้องได้นี่ ถ้าคิดถึงมากจนร้องไม่ออก พูดไม่ได้ คิดถึงมากนี่ พูดก็ไม่ได้ ร้องก็ไม่ได้ แต่ถ้ายังร้องได้นี่ก็ไม่เท่าใด เพราะงั้นคนที่คิดถึงจริงนี่มันร้องอยู่ข้างใน มันตันใจพูดไม่ออก ความจริงเป็นอย่างนั้นนะ แต่ว่าถ้าออกมาได้นี่มันโล่งใจไปหน่อยหนึ่ง จึงร้องออกมาเสียหน่อย ระบาย ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องมันเป็นอย่างนี้
คนเราจึงต้องพิจารณาไว้ ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่จะต้องพลัดพรากจากไป จะเป็นคน จะเป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เพชรนิลจินดาอะไรต่างๆ ที่เรามีเราได้ไว้ ก็นึกสอนใจตนเองเอาไว้ว่า มันเรื่องธรรมดา ที่จะเกิดจะมีขึ้นแก่เรา นึกไว้บ่อยๆ คิดไว้บ่อยๆ อย่าไปเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาคือ ความทุกข์ ความเดือดร้อนขึ้นมาในจิตใจ อย่างนี้ ใจสบาย จะไม่มีปัญหารบกวนจิตใจอะไรมากเกินไป ใช้ธรรมะนั่นแหละ ธรรมะเป็นเครื่องช่วย ใช้ธรรมะที่พระท่านสอนให้พินิจพิจารณา ก็ให้คิดไว้ล่วงหน้า เช่น คิดว่า ความแก่ นี้ต้องมีเป็นธรรมดา คนเรามันแก่ขึ้นไปเรื่อยๆ แก่ขึ้นไปทุกวัน อายุมาก คือความแก่นั่นเอง เกิดได้วันหนึ่ง พอวันที่สองก็แก่ขึ้นไปสองวันแล้ว เดือนหนึ่งก็แก่เดือนหนึ่งแล้ว หนึ่งปีก็แก่หนึ่งปีแล้ว สองปี สิบปีก็เรียกว่า แก่ขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งคุณโยมที่อายุตั้ง ๗๐ ๘๐ ปี เขาเรียกว่า แก่ ๘๐ ปีแล้ว ไม่ใช่เรื่องอะไรหละความแก่ แก่อยู่ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก แล้วความเจ็บก็ต้องเกิดมีบ้างเป็นธรรมดา นานๆจะเจอคนสักคนหนึ่งที่ไม่ค่อยป่วยตาย ร่างกายแข็งแรง ไม่เคยไปโรงพยาบาล อันนี้หายาก ร้อยละ ไม่รู้ว่าคิดเปอร์เซ็นต์อย่างไร เรียกว่าหมื่นละหนึ่ง มันน้อยเหลือเกิน นานๆจะเจอสักรายหนึ่งที่ไม่ค่อยมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แต่ไม่มีโรคอื่นเข้ามาเบียดเบียน ก็มีโรคชรา ชรานี่ก็เรียกว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่จะเกิดขึ้นแก่ทุกคน เกิดอยู่ทุกวันทุกเวลา เราก็ต้องมองว่า อืม ไอ้นี่ธรรมดา เรื่องแก่นี่ เรื่องเจ็บเรื่องไข้ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราศึกษาไว้เสียบ้าง ศึกษาว่าไอ้โรคภัยไข้เจ็บนี่มันเกิดจากอะไร เผลอไปในเรื่องใด จึงเกิดโรคนั้นเกิดโรคนี้ ต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขวิทยา อนามัย วารสารการแพทย์ การสาธารณสุขที่เขาพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจก หยิบมาอ่านๆเสียบ้าง ว่างๆจะได้รู้ว่า อ้อ โรคนั้นเกิดเพราะอะไร พาหะมันมาจากอะไร ติดต่อกันอย่างไร แสดงอาการอย่างไร หนักหรือเบา ตายหรือว่าไม่ตาย ก็ต้องเอามาพิจารณาศึกษา เพื่อจะให้เข้าใจไว้ เวลาใดเกิดขึ้นก็พอรู้ รู้แล้วจะได้รีบไปหาหมอทันท่วงที จะได้รีบรักษา รักษาไว้เพื่ออยู่ไปอีกหน่อย
แล้วอยู่ไปทำไม...อยู่เพื่อจะได้ใช้ร่างกาย ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือแก่ตนเองต่อไป เป็นประโยชน์แก่ตนก็หมายความว่า ใช้ตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมนั่นเอง ถ้าเราใช้ร่างกายชีวิตได้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมก็เรียกว่าเป็นประโยชน์แก่ตนด้วย แต่ถ้าใช้ร่างกายชีวิตเป็นประโยชน์ตนผู้เดียว ไม่ได้..ไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเรียกว่า ไม่ได้ ตนก็ไม่ได้ ผู้อื่นก็ปล่อยไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งต้องคิดถึงกันและกันว่า เราอยู่ร่วมกัน เราต้องช่วยเหลือกันตามฐานะที่จะช่วยกันได้ มีอะไรพอจะช่วยกันได้ก็หันมาช่วยกันตามสมควรแก่ฐานะ อย่างนี้ก็เรียกว่า ชีวิตมันปลอดภัย เพราะเราได้คิดไว้ล่วงหน้าถึงความเจ็บ ถึงความตาย ไอ้สิ่งที่เราได้ก็ต้องนึกว่า อืม นี่มันไม่ถาวรอะไรหรอก ไม่ได้อยู่กับเราเสมอไป อาจจะเปลี่ยนมือไปเมื่อใดก็ได้ ยิ่งสมัยนี้โจรผู้ร้ายชุกชุม มันอาจจะมาเอาเราไปเสียเมื่อใดก็ได้ ของหายไปเมื่อใดก็ได้ แต่เรารู้ว่ามันจะหายอย่างไร เราก็หาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า กันไว้ก่อน กันแล้วรักษาดีแล้ว มันยังหายอีก มันก็ดีไม่คุ้ม เรื่องธรรมดา อย่าไปเสียอกเสียใจกับเรื่องเหล่านั้นเลย เพราะสิ่งเหล่านั้นเราไม่ได้นำมา และสิ่งเหล่านั้นเราก็ไม่ได้นำไป มันเป็นของใช้ในโลกนี้ ชั่วครั้งชั่วคราว เรามาอยู่ในโลก เราก็เอามาใช้ ใช้ไม่เท่าใดก็ต้องส่งคืนให้เขาไป หรือไม่ทันส่งคืน เราหนีไปเสียก่อนก็มี เรื่องมันก็เท่านั้นแหละ นึกไว้ในรูปอย่างนี้ ช่วยปลอบโยนให้จิตใจคลายจากปัญหา คือความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ ซึ่งมันอาจจะเกิดมีแก่ใครเมื่อใดก็ได้ จึงต้องคิดไว้ล่วงหน้า ว่ามันจะต้องเกิดสักวันหนึ่ง แล้วถ้าเกิดขึ้นแล้วเราจะทำอะไร ก็เตรียมทำกันต่อไป ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
แล้วท่านให้คิดว่า อะไรๆนั้นที่เราทำว่า มันเป็นของเรา คือเราเป็นผู้รับผลของการกระทำ ทำดีก็ได้รับความสุขใจ ทำไม่ดีก็ได้รับความทุกข์ใจ เราหนีไม่พ้นจากผลเหล่านั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษคนนั้น อย่าไปโทษคนนี้ เที่ยวไปโทษคนอื่นนี่มันยุ่ง แต่เราควรจะนึกว่า เป็นเรื่องของฉันเอง ฉันเป็นผู้ก่อขึ้น ฉันสร้างมันขึ้น ฉันก็ต้องรับสิ่งนี้ แล้วก็จำไว้เป็นบทเรียนเพื่อเตือนใจว่า เราจะไม่คิดในรูปที่จะก่อให้เกิดสิ่งนี้ จะไม่พูด ไม่กระทำในอะไรที่จะก่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นแก่ชีวิตจิตใจของเราต่อไป เราจะอยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยความมีสติ ด้วยความมีปัญญา พิจารณา อะไรอย่างรอบคอบอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอไป ไม่ประมาทในเรื่องนั้นๆ ถ้าว่าเราประมาทไปบ้าง มันเกิดขึ้น ก็ไม่ควรจะโกรธใคร แต่ควรจะลงโทษตัวเองว่า เจ้าเป็นผู้ประมาท เรื่องนี้มันจึงได้เกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วจะไปคิดอะไรให้มันวุ่นวายทำไม จำไว้เป็นบทเรียน ที่คนโบราณเขาว่า เจ็บแล้วให้จำ จำไว้เป็นบทเรียน คราวหน้าเราจะไม่ให้มันเกิดสิ่งนี้ต่อไป เพราะเราเป็นผู้ได้รับบทเรียนแล้วในเรื่องอย่างนั้น ในเรื่องอย่างนี้ ถ้าคิดอย่างนี้ใจมันก็สบาย ไม่มีความอะไรทำให้เกิดปัญหาเดือดร้อนวุ่นวายใจ ทีนี้บางทีเราคิดปัญหาอื่นๆไปมากๆ ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า ไอ้เรื่องข้างหน้านี่อย่าคิดให้มันมากเกินไป
พระพุทธเจ้าท่านก็เตือนไว้เหมือนกันเรื่องอย่างนี้ เพราะบางทีคนเรามันคิดล่วงหน้าไปไกลๆ มากมายก่ายกองเกินไป ท่านให้คิด “ปัญหาเฉพาะหน้า” อะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเราก็มาคิดปัญหานั้น ทบทวนในเรื่องนั้นๆ ให้รอบคอบ เพราะไอ้ตัวปัจจุบันนี่มันสร้างอนาคต สร้างอดีตด้วยนะ
ปัจจุบันนี่สำคัญนักหนา สร้างทั้งอดีต สร้างทั้งอนาคต เพราะตัวปัจจุบัน ประเดี๋ยวมันก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว แล้วมันก็จะเป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้นในการต่อไปข้างหน้า
เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ให้ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ให้รู้ว่านั่นคืออะไร มันมาจากอะไร ผลมันที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในรูปใด จึงจะไม่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่เรา ในเรื่องเฉพาะหน้า ท่านสอนให้พิจารณาอยู่อย่างนี้ ผู้ใดใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ก็เรียกว่า ผู้ควบคุมได้หมด ควบคุมอดีตได้ด้วย ควบคุมอนาคตได้ด้วย สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายมันก็จะไม่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจของเรา เพราะเราใช้ปัญญาเฉพาะหน้า
แต่ว่าโดยปกตินั้น เราไม่ค่อยจะได้ใช้ ทำไมจึงไม่ใช้ปัญญา มันเพลินไปเสียบ้าง เมาไปเสียบ้าง หลงในเรื่องนั้นเสียบ้าง เช่นเรื่องใดที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ก็เพลินจนลืมตัวไป เรื่องใดที่ก่อให้เกิดความเมา ก็เมากันจนลืมตัวไป เรื่องใดที่ก่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ก็เศร้าโศกเสียใจกันจนลืมตัวไป ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ได้มีปัญญาเข้ามาแทรกแซง เพราะสิ่งนั้นมันเข้ามาขวางไว้เสียหมด เราจึงไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร อันนี้คือความผิดพลาด
เพราะฉะนั้นต้องหัดเหมือนกัน หัดพินิจพิจารณา ตั้งปัญหา ถามว่า อะไร สิ่งนี้คืออะไร มันมาอย่างไร ผลเป็นอย่างไร เราควรจะเข้าไปเกี่ยวกับสิ่งนี้ในรูปใด ต้องหัดตั้งปัญหา หัดทบทวนในสิ่งเหล่านั้น ให้รู้ชัดเห็นชัดในสิ่งเหล่านั้นตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าเราคอยได้คิด ได้พิจารณาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เผลอไม่ประมาท มันก็ดีขึ้น
ทีนี้การปฏิบัตินั้น ถ้ามันทำบ่อยๆ มันชินเอง เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากการกระทำบ่อยๆ เรื่องเผลอไผล เรื่องประมาท เรื่องมัวเมา ก็เกิดจากการทำบ่อยๆ เผลอบ่อยๆ มันก็กลายเป็นคนเผลอไป ประมาทบ่อยๆ ก็กลายเป็นคนประมาทมัวเมาไป หลงไหลบ่อยๆ ก็กลายเป็นคนที่หลงที่ไหลมัวเมาในเรื่องอะไรต่างๆ อันนั้นเป็นฝ่ายต่ำ เราไม่เอา
เรามาปรับใหม่ให้ขึ้นทางฝ่ายสูง หัดเป็นคนมีการควบคุมตัวเอง มีสติ มีปัญญา คอยนึกคอยคิดคอยกำกับเรื่องราวอะไรต่างๆไว้ อะไรเกิดขึ้นก็จำไว้เป็นบทเรียน เป็นเครื่องสอนใจ ถ้าไปพบอะไรที่มันจะเกิดสิ่งนั้น เราก็จะได้บอกว่า ระวังไว้ เดี๋ยวมันจะเหมือนวันก่อน พบคนก็ตาม พบเหตุการณ์ก็ตาม พบสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม ต้องคอยเตือนไว้ เช่น เราเป็นคนขับรถยนต์ ถ้าฝนตั้งเค้าตกอยู่ข้างหน้า ต้องเตือนตัวเองแล้ว ระวังไว้ เดี๋ยวมันจะลงไปในคู ถ้าเราเตือนอย่างนี้ มันจะลงได้อย่างไร เพราะเราเตือนตัวเราไว้ ขับด้วยความไม่ประมาท ไอ้คนที่ฝนตกถนนลื่นลงไปในคูนั้น ลืมไป..ลืมว่า ถนนลื่น ลืมว่าฝนตก ลืมว่า รถมันอาจจะหมุนตะแคงลงไปในคูก็ได้ ลืมไปนี่เรียกว่า ประมาทแล้ว ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นเครื่องเตือนตนเอง แต่ถ้าเราพอเห็นฝนตั้งเค้า บอกว่า ระวังนะ เดี๋ยวถนนมันจะลื่นนะ ไม่มีอันตรายเด็ดขาด เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้น
หรือเราไปพบใครสักคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นคู่ปรับกัน เคยไม่ถูกคอกัน ถ้าเราบอกล่วงหน้าว่า ระวังนะ..พบคนนั้นทำใจดีๆ อย่าไปโกรธเขา อย่าไปเกลียดเขา แต่ให้นึกแผ่เมตตาให้คนนั้นมีความสุข มีความเจริญ มีความก้าวไปในทางที่ถูกที่ชอบ เขาเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะจิตใจเขาตกต่ำอยู่กับความชั่วความร้าย เรานึกไปในแง่อย่างนั้นต่อบุคคลนั้น จิตใจมันก็ไม่มีพยาบาท ไม่มีความโกรธ ความเกลียดต่อบุคคลนั้น แต่จะเห็นบุคคลนั้นเฉยๆ เราไม่เกิดอะไร แล้วก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย แต่ถ้าเราไม่เตือนตัวเองไว้ก่อน พอไปเจอหน้ากันก็ใส่กันเลย เพราะว่าอารมณ์เก่ามันมี เราไม่ระวัง มันผุดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว พอผุดขึ้นมาก็เอากันเลย ต่อยกันใหญ่เลย ปากต่อปาก มือต่อมือ อย่าถือกันว่าอย่างนั้น ไปกันใหญ่ เพราะขาดความระมัดระวัง
อะไรอื่นนี่ก็เหมือนกันแหละ อารมณ์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส สิ่งถูกต้องได้มากระทบเรื่องอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา เราก็ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าต่อเหตุการณ์นั้นๆ สิ่งนั้นมันก็ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัยแก่เรา เพราะเราระมัดระวังไว้ เช่น เวลานี้ไฟฟ้ามันไม่ปกติ อาจจะดับลงไปเมื่อใดก็ได้ เมื่อมีอะไร อุบัติเหตุดับไฟขึ้นมา เราก็ต้องเตรียมไว้ เตรียมเทียนไว้ หรือไฟฉายไว้ วางในที่ๆหาง่าย ไม้ขีดก็วางในที่ๆหาง่าย พอดับปุ๊บ จุดปั๊บทันที มันก็ไม่รุนแรงอะไร แล้วอย่าไปบ่นว่า อะไร ไฟดับบ่อยๆ มันธรรมดา เกิดดับมันคู่กัน มีเกิดมันก็ต้องมีดับ เราอย่าไปโทษผู้ว่าการไฟฟ้ายัน มันเรื่องธรรมดา เวลานี้น้ำท่ามันน้อย น้ำมันมันก็แพง มันก็เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ละ
เราอย่าขุ่นมัว ไอ้เวลาขุ่นมัว นี่ลงโทษตัวเอง คือ ทำให้เราไม่สบาย จิตใจไม่สบาย ยิ้มรับเสียดีกว่า เรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดต้องมีในรูปเช่นนั้นบ่อยๆ มันไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก เรานึกอย่างนั้น จิตใจก็จะได้สบาย ไม่ขุ่นมัวไม่เศร้าหมองอะไรมากเกินไป นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดพิจารณา
เมื่อตะกึ้นี้ คุณเสรี มากระซิบบอกว่า คุณอะไรมาบอกว่า ท่านปัญญานี่ลำบากเหลือเกิน ถ้าจะนิมนต์ท่านต้องเตรียมเงินไว้ตั้ง ๔,๐๐๐ นะ เอาไว้ทำอะไร เตรียมไว้ทำอะไรไม่รู้เงินตั้ง ๔,๐๐๐ จะนิมนต์ท่านปัญญา เขาว่า ต้องเตรียมไว้ตั้ง ๔,๐๐๐ ว่าอย่างนั้นนะ นี่คือเป็นคนเขาเรียกว่าทำอะไร..แต้มสีท่านปัญญาเสียหน่อย ท่านปัญญาไม่มีสีก็ช่วยแต้มเสียหน่อย แต้มให้มันเลอะๆ เข้าไปสักหน่อยหนึ่ง
หมายความว่า ท่านปัญญานี่ เป็นคนถือเนื้อถือตัว นิมนต์ก็ยากอะไร นิมนต์ต้องมีเงินมากๆ ติดหน้ากัณฑ์ ความจริงเขาไม่ติดสักสตางค์หนึ่งก็มี บอกให้นะ ไปเทศงานศพบางงานนะ โอ้ ใหญ่โต พอพูดจบแล้วก็เฉยๆ จัดรถให้คันหนึ่งส่งกลับวัด ไม่เห็นถวายอะไร อาตมาก็ไม่ได้ไปประท้วง เดี๋ยวก่อนสิ! ไม่เห็นใส่ ไม่เห็นถวายอะไร อันนี้ก็ผิดระเบียบ อาตมาจะไปประท้วงอย่างนั้นมันก็ได้นะ แต่มันไม่ใช่วิสัยที่จะทำเช่นนั้น เขาไม่ถวายก็ไม่เป็นไร เราดีใจว่า ได้ไปเทศก์ก็พอแล้ว เพราะว่าได้ไปเทศก์ก็เรียกว่า ประเสริฐแล้ว เขาให้ไปเทศก์นี่ก็ดีแล้ว เขาจัดคนให้ฟัง เราได้ไปสอนคน ได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนนี่ก็สบายใจแล้ว ไอ้เรื่องหน้ากัณฑ์นี้มันเรื่องผลพลอยได้ ไม่ได้สลักสำคัญอะไร เขาให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ ไม่ลำบากอะไร
แล้วใครมานิมนต์ไม่ใช่พูดกันยากอะไร นิมนต์ไปไหน จะไปพูดทีนั่น เอ้า เดี๋ยวดูปฏิทินก่อน พอว่างก็ เอ้า ได้ วัดอะไรว่าอะไร จดทันที จดเสร็จแล้วก็เอ้า เสร็จแล้วนะ จดแล้ว ก็บอกไปได้แล้ว ไม่นั่งเซ้าซี้อยู่ ไปไวๆ จดแล้วมันก็หมดเรื่อง เท่านั้นแหละ.. ไม่มีอะไร ไม่ใช่ลำบากยากเข็ญ ไม่ต้องใช้นายหน้าอะไรมาติดต่ออะไรหรอก ใครมาก็ได้ รู้จักไม่รู้จักก็มาได้ทั้งนั้นแหละ คนบางคนไม่รู้จักกันเลยมานิมนต์ก็รับ แล้วก็ไปตามเรื่องเขาแหละ ไม่ได้คิดว่า มันจะนิมนต์เราไปต้มที่ไหน หรือไปเรียกค่าไถ่ ไม่ได้คิดฟุ้งไปถึงขนาดนั้นหรอก นึกแต่เพียงว่า เขาต้องการให้ไปเราเผยแผ่ธรรมะ เราก็ไปกับเขา ไม่ลำบากยากเข็ญอะไรหรอก แต่คนเขาเห็นว่า ท่านปัญญานี่คนนิมนต์มาก เขาก็ชักจะริษยา เลยเที่ยวป้ายสีว่า นิมนต์ยากท่านปัญญาต้องมีเงิน ๔,๐๐๐ ถึงจะได้ ไม่มีสักหน่อยก็ยังได้เลย ไม่ลำบากยากเข็ญอะไร เรื่องอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่า อยู่ว่างๆก็หาแปรง หาสี มาเที่ยวป้ายคนนั้นคนนี้เสียหน่อย เขาสบายใจ ถ้าได้ป้ายสีใครนิดๆหน่อยๆ แล้วสบายใจ เรื่องของคนประเภทนั้นนี่ก็มีอยู่ในโลกนี้ ..เราอย่าไปทุกข์ไปร้อนเลย แต่ว่าคุณเสรีมาเล่าให้ฟัง ก็เลยบอกโยมเสียหน่อยว่า คนเขาชอบเวลานี้..เขาชอบทำคนให้เปื้อน ถ้าคนไหนสะอาด เอ้า เล่นสงกรานต์ไปหน่อย มันเปื้อนๆแล้วก็สบายใจ มันมีเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไร ต่อไปนี้ก็เชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที