แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังเพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันอาทิตย์เป็นวันหยุดงานฝ่ายกายแต่เราก็ไม่หยุดงานฝ่ายจิต จึงได้ชักชวนกันมาวัดเพื่อทำการศึกษาข้อธรรมะอันเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตต่อไป เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้นมันมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวเรื่องนั้นเดี๋ยวเรื่องนี้เกิดขึ้นในจิตใจของเราบ่อยๆ ถ้าเราไม่มีเครื่องมือสำหรับที่จะแก้ไขก็ลำบาก เหมือนรถนี้เวลาไปไหนถ้าไม่มีเครื่องมือไปด้วย เกิดยางแตกขึ้นมาก็เดือดร้อนกันใหญ่ แต่ถ้าเรามีเครื่องมือพร้อมมียางอะไหล่ เราก็สบายใจ ถึงแม้มันจะเสียก็ไม่เป็นทุกข์มากเกินไป เพราะเราคิดว่าช่วยได้ แต่ถ้าเราไม่มีอะไรก็ลำบากฉันใด ในชีวิตของเราแต่ละคนนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีเครื่องมือคือธรรมะไว้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็มีความทุกข์มากมีความเดือดร้อนมาก ดังที่ท่านทั้งหลายเคยประสบมาในชีวิตด้วยกันแล้วทั้งนั้น กว่าจะเข้าถูกทางที่จะได้ใช้เครื่องมือธรรมะเป็น ก็ต้องระหกระเหินมีความทุกข์นานาประการเกิดขึ้น แต่เมื่อเราได้เข้าวัดก็ได้ศึกษาธรรมะ จากการอ่านจากการได้ยินได้ฟังที่พระท่านนำมาสอนเราให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เราก็รู้สึกว่ามันเบาขึ้น จิตใจสบายขึ้น ความวุ่นวายต่างๆนั้นค่อยหายไป มันยังเกิดอยู่นั่นแหละแต่ว่าเกิดแล้วมันไม่เป็นพิษแก่จิตใจของเรา ที่ไม่เป็นพิษแก่จิตใจก็เพราะว่า เรามีเครื่องมือกลั่นกรองสิ่งเหล่านั้นไม่ให้เกิดเป็นพิษแก่ตัวเราได้
ประโยชน์มันเกิดที่ตรงนี้ การศึกษาธรรมะนี้มันมีประโยชน์ตรงนี้ ตรงที่เราสามารถเอาไปใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ทำให้สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนสภาพไปในทางดีขึ้นได้ ท่านทั้งหลายจึงได้พอใจในการที่จะมารับฟังข้อธรรมะกันอยู่เป็นประจำ เพราะเราได้เอาไปใช้แล้ว แล้วก็ได้ผลบ้างแล้วตามสมควรแก่ฐานะ ยิ่งเรียนมากเข้าเอาไปใช้มากเข้าก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้นแก่ชีวิตของเราต่อไป จึงอย่าเบื่อหน่ายในการที่จะมาศึกษาที่จะสนใจในการปฏิบัติต่อหลักธรรมะนั้นๆในชีวิตประจำวันของเราตลอดไป แล้วก็อย่ามาคนเดียว เพื่อนฝูงมิตรสหายที่เรารู้จักมักคุ้น พอจะชักจะจูงเข้ามาในทางที่ถูกที่ชอบได้ ก็ควรจะช่วยกันชักจูงเขามาเป็นการสงเคราะห์เพื่อนทางจิตทางวิญญาณอย่างแท้จริง การช่วยเหลือเพื่อนฝูงนั้นถ้าเราช่วยกันในทางวัตถุ ให้เงินเขาใช้ให้เสื้อให้ผ้าเอาไปเลี้ยงตามภัตตาคารเป็นครั้งคราว มันก็เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักประกันสำหรับคนนั้นอย่างมั่นคงได้ แต่ถ้าเรานำเขามาหาธรรมะ ให้เขาได้ศึกษาได้รู้ได้เข้าใจในเรื่องธรรมะ เขาก็จะนำธรรมะนั้นไปใช้เป็นหลักประกันคุ้มครองชีวิตของเขาได้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ทานธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง” การให้ของอื่นนั้นเป็นเรื่องภายนอกแต่การให้ธรรมะนี้เป็นเรื่องภายใน …… ผู้อื่นนั้นเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ว่าธรรมะนั้นเป็นประโยชน์แก่จิตใจ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่จิตใจเป็นเรื่องที่เราควรให้ควรแจก หรือควรนำเขามารับรู้ในเรื่องที่เขาควรจะรู้ควรจะเข้าใจ สังคมในปัจจุบันนี้มีปัญหายุ่งยากมาก เราจึงควรจะอนุเคราะห์แก่เพื่อนฝูงมิตรสหายของเราด้วยการชักนำเข้าหาพระ ให้เขาได้รู้ได้เข้าใจในหลักธรรมะอันควรจะนำไปเป็นเครื่องมือ แก้ไขปัญหาต่อไป เช่นเราเห็นว่าเพื่อนของเรามีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เราก็ไปชวนเขามาวัด เช่นวันอาทิตย์นี่ก็ไปชวนเขามา ให้มานั่งสงบใจเสียบ้างให้ได้มาเรียนรู้เรื่องชีวิตให้เข้าใจถูกต้อง เขาก็จะคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน การช่วยเพื่อนในรูปอย่างนี้ เป็นการช่วยอย่างแท้จริง เป็นการช่วยอย่างถาวร ซึ่งถ้าเขามีไว้ใช้แล้ว เขาก็จะได้ใช้สิ่งนั้นตลอดไป จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติกิจทางศาสนาเราจึงมีหลักว่า เรียนรู้ได้เป็นดี ชักชวนผู้อื่นให้เรียนรู้ เรียนปฏิบัติด้วยตนเอง ชักชวนคนอื่นให้มาปฏิบัติด้วย หากเป็นการช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ให้คนเข้าถึงธรรมะในศาสนาให้ได้ปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้เข้าทางถูกทางชอบตามหลักของพระพุทธศาสนาตลอดไป นี่เป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งในชีวิตของคนเรานั้น ถ้าหากว่าเราคิดดูให้ดีแล้ว เริ่มตั้งแต่เราเป็นเด็กพอจำอะไรได้ แต่ก่อนนั้นมันไม่ได้เรื่องอะไร คือว่ายังเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา ที่เขาเรียกว่าไร้เดียงสาคือยังไม่รู้อะไรว่าเป็นอะไร ความเป็นไปในชีวิตก็เป็นไปตามเรื่องตามราว เราดูเด็กน้อยๆนี่เขามีแต่เรื่องกิน เรื่องเล่น กับเรื่องนอน นี่เป็นใหญ่เรื่องเขา เรียกว่านอนก็เป็นเรื่องหนึ่ง กินก็เป็นเรื่อง แล้วก็เล่น ๓อย่างนี้เราจะเห็นว่าเด็กๆเขาชอบ ชอบอย่างนี้อย่างนั้น นอน ตื่นขึ้นมาก็กิน กินอิ่มแล้วก็ไปเล่น สามเรื่องนี่เขาทำกันอยู่จำเจ เล่นอะไรก็ได้มีตุ๊กตามีนั่นมีนี่เขาก็ไปเล่นสนุกสนานของเขาเรื่อยไป เขาไม่ได้มีความคิดอะไรในทางปรุงแต่งจิตใจมากนัก คิดแต่เรื่องว่าจะกินเท่านั้น จะเล่น จะนอน เรื่องมันไม่มาก ความคิดของเด็กจึงไม่ค่อยจะมี แล้วถ้าเราสังเกตดูจิตใจของเด็กนี่ เขาไม่ค่อยจะเป็นทุกข์นานๆ ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เรานี่เรียกว่าเจริญเติบโต มีปัญญามีการศึกษาอะไรต่างๆมาก แต่ว่าพูดกันในแง่จิตใจในด้านที่เรียกว่ามีความสุข สู้เด็กไม่ได้ เพราะเด็กเขามีความสุขมากกว่าเรา เขาปล่อยวางได้มากกว่าเรา เขาไม่มีปัญญาปล่อยวางอะไรหรอก แต่ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ เขาปล่อยวางตามธรรมชาติของเขา เขาไม่ได้ยึดถือไว้ เราจึงเห็นว่าเด็กไม่มีความโกรธรุนแรงเหมือนผู้ใหญ่ ไม่มีความพยาบาท อาฆาตจองเวรเหมือนกับผู้ใหญ่เราทั่วๆไป จะโกรธเคืองกับใครประเดี๋ยวประด่าวแล้วก็หายไป เช่นเด็กมันเล่นกันหลายคน บางทีก็เกิดขัดใจกันขึ้นบ้าง แล้วก็หยิกกันข่วนกันนิดๆหน่อยๆ แล้วก็ไม่พูดด้วย หันหลังให้กัน หรือว่าต่างคนต่างเล่น ประเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวก็กลับมาเล่นกันต่อใหม่แล้ว ก็ลืมแล้ว ลืมเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ แสดงว่าเด็กเขาเข้าใจ คือมันเป็นธรรมชาติ ผู้ใหญ่เรานี้มันฝืนธรรมชาติ เด็กเขาเป็นธรรมชาติเขาอย่างนั้น เขาลืมง่าย เขาไม่จำอะไรไว้ให้วุ่นวายสับสนในจิตใจ เวลาเขาร้องไห้โกรธใครเคืองใคร ประเดี๋ยวก็หัวเราะได้ เดี๋ยวก็ลืมไปแล้ว ไอ้เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ นี่เขาเรียกว่า“ใจของเด็ก”
เพราฉะนั้นจิตใจของเด็กนี้ยังบริสุทธิ์กว่าผู้ใหญ่เรา ยังสงบกว่า ยังสะอาดกว่า เราทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ทำไมจึงมีอะไรมากมาย เพราะว่าเราสะสมสิ่งที่เป็นความยึดถือมากขึ้น ในลำดับของชีวิต ตั้งแต่พอเริ่มรู้เดียงสาขึ้นมาก็เริ่มสะสมอะไรแล้ว ยึดถืออะไรมากขึ้นแล้ว การยึดถือการสะสมอะไรในจิตใจของคนเรานั้น ก็เนื่องจากว่าผู้ใหญ่อีก คอยสอนคอยบอกให้อย่างนั้นให้อย่างนี้ ไอ้นี่ของเธอไอ้นั่นของฉัน อะไรต่างๆบอกให้เขายึดถือไว้ ไอ้เด็กมันก็ไปยึดไปติดในสิ่งนั้นๆ ในครอบครัว พ่อแม่ พี่เลี้ยง นางนม ก็สอนให้มีความยึดมั่นถือมั่น ให้สำคัญผิดในเรื่องอะไรๆต่างๆ หลายเรื่องหลายประการ ไปโรงเรียนโรงเรียนก็สอนอีก สอนให้มีความยึดในโรงเรียน ให้ยึดในสี ในพวกของตัว โรงเรียนมีหลายชั้น ชั้นหนึ่งก็ให้สีอย่างหนึ่ง เวลาเล่นกีฬาก็มีสีต่างๆกัน ให้เด็กยึดในสีนั้นๆ ให้เล่นให้ชนะ เอาเปรียบเอาอะไรไว้สอนกันไปในรูปอย่างนั้น ก็เท่ากับว่าสอนเด็กให้มีความยึดถือที่เรียกว่าอุปาทาน อันเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วเด็กยิ่งยุง่ายเสียด้วย ยุให้ยึดถือนี้ง่าย ยุให้มีอารมณ์แข่งกันก็ง่าย พวกที่ยุเป็นก็ยุใหญ่ เพราฉะนั้นเราจึงเห็นว่าเด็กนักเรียนยกพวกตีกัน เวลาไปเล่นกีฬาตามสถานที่ต่างๆ เสร็จจากการกีฬาแล้วยกพวกตีกัน หรือแม้ในสนามกีฬาก็มีการตีกัน เพราะเรื่องความยึดมั่นในตัวกู ถ้าพูดในแง่ธรรมะก็เรียกว่า อัตตามันเริ่มเกิดขึ้นในจิตใจของเขาแล้ว เมื่อสมัยเป็นเด็กน้อยๆอัตตามันไม่ค่อยจะมี พอเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ขึ้น ไม่เป็นผู้ใหญ่คนหนุ่มคนสาว ก็เริ่มมีอัตตา หมายความว่ามีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีตัวกูขึ้นมา มีของกูขึ้นมา แล้วก็มีอะไรๆมากมายก่ายกองมากขึ้นในลำดับในเรื่องความยึดถือเหล่านั้น ครูสอนหนังสือในโรงเรียนก็สอนเด็กให้ยึดถือ ให้เกิดมานะทิฐิ ให้เกิดความโกรธความเกลียดในสิ่งต่างๆ เช่นว่าสอนประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารประเทศไทยกับประเทศพม่าเคยรบกัน ประเทศไทยกับเขมรเคยรบกันเอามาสอน สอนเฉยๆไม่ว่า แต่ว่าเวลาสอนมักจะย้ำว่า “พม่ามันทำกับเราเจ็บนัก มันมาเผากรุงศรีอยุธยา” ก็พาเด็กไปดูซากปรักหักพังก็อธิบายว่า “นี่แหละพม่ามันมารังแกเรา มันมาเผากรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งล่มจมเสียหาย”
สอนอย่างนั้น เด็กก็เกิดความโกรธขึ้นในจิตใจ เคืองเขาพม่า เคืองฝังอยู่ในจิตใจ คนบางชาติบางประเทศโกรธกันในสายเลือดเลยทีเดียว เรียกว่าพอรู้ว่าเป็นชาตินั้นแล้ว มันก็โกรธขึ้นมาทันที มันเขม่นขึ้นมาทันที เขาเรียกว่าโกรธกันโดยสายเลือด ยิวกับอาหรับนี่โกรธกันโดยสายเลือด ลงรอยกันไม่ค่อยได้ ยิวถือหลักว่าตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถ้ามันมาฆ่าเรา ๑ เราต้องฆ่ามัน ๒ แล้วมันจะจบได้อย่างไร ฆ่ากันไปฆ่ากันมาก็ไม่รู้จักจบเลยก็เกลียดกันโดยสายเลือด หรือในชนชาติอื่นก็เป็นอย่างนั้น โกรธกันโดยสายเลือด ไม่จบไม่สิ้น นี่ก็เพราว่ามีการคิดการสอนให้มีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องอย่างนั้น โดยหารู้ไม่ว่าการสอนเช่นนั้น เป็นการสร้างอุปาทานให้เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นการเพาะเชื้อแห่งอัตตา ...... ให้เกิดขึ้นในจิตใจ อัตตาหมายความว่ามีตัว ...... หมายความว่าเนื่องด้วยของของตัวขึ้นมา เกิดเพาะเชื้ออย่างนั้นข้างในจิตใจของคน ก็ได้เข้าไปยึดไปติดในสิ่งเหล่านั้น โดยสร้างความรู้สึกรังเกียจแก่กันและกัน อันนี้ไม่เป็นการถูกต้อง ตามจริงเราสอนในแง่อื่นได้ เช่นสอนให้รู้ว่า นี่เอาซากปรักหักพังทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากสงครามระหว่างไทยกับพม่า สงครามนี้มันเกิดจากอะไร เราก็ควรจะสอนว่ามันเกิดจากกิเลส เกิดจากความโลภ เกิดจากความโกรธความหลง ความพยาบาท ความอิจฉาริษยา ในสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้น ไอ้สิ่งเหล่านี้มันเป็นความชั่ว ถ้าเกิดขึ้นในใจใครแล้ว จะทำให้คนนั้นมีจิตเศร้าหมอง เป็นบาป มีความคิดในทางที่ไม่ถูกต้อง มีการพูดในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มีการกระทำในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้คนเกิดรบราฆ่าฟันกัน ด้วยประการต่างๆ เราไม่ควรจะโกรธคน แต่เราควรจะโกรธอะไร โกรธกิเลส ควรจะโกรธกิเลสมากกว่า ถ้าเราไปโกรธคนเราไปทำร้ายคน กิเลสมันหาได้หมดไปไม่ แต่มันกลับเพิ่มขึ้นในคนอีกต่อไป เพราะการไปกระทำการตอบแทนกันด้วยอำนาจกิเลสก็เท่ากับเพิ่มกิเลส คนหนึ่งโกรธเราก็ไปโกรธเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งเกลียดเราก็ไปเกลียดเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งริษยาเราก็ไปตอบด้วยความริษยา เอาตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก็ต่างคนต่างเสียหาย ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนไปตามๆ กัน อันนี้ไม่ใช่วิถีทางที่จะทำให้เกิดความสงบขึ้นในสังคมของมนุษย์ แล้วมนุษย์เราก็ผิดกันอยู่ตลอดเวลา
ไอ้ที่เป็นเป็นกันอยู่ในเวลานี้นี่คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราศึกษาเหตุการณ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าศึกษาให้ดีแล้วตัวการสำคัญของเรื่องนั้นก็คือความยึดมั่นในตัวตนนั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร เรียกว่า “อุปาทาน” ตามภาษาธรรมะ เมื่อมีอุปาทานเกิดขึ้นแล้วก็มีทิฐิ มีมานะ เราไม่ยอมเป็นอันขาด ถึงยอมไปเดี๋ยวจะเสียหน้า ถ้ากลัวจะเสียหน้า เลยก็เสียหายกันใหญ่โตมากมายก่ายกอง รบราฆ่าฟันกันแต่คนคิดไม่ค่อยได้ เพราะความคิดของคนแต่ละคนนั้นอยู่ในวงจำกัด จำกัดอยู่ในเรื่องอะไร คือจำกัดอยู่ในเรื่องตัวเท่านั้นแหละ หาได้คิดกว้างไกลออกไปไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น อะไรมันจะเป็นปัญหา อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคม ในชาติ ในประเทศ รวมถึงในโลก เขาไม่ได้คิดไกลถึงขนาดนั้น แต่เราคิดแต่เพียงว่าต้องรักษาหน้ากูไว้ก่อน เลยคิดรักษาหน้า แล้วก็หาพรรคหาพวกเพื่อทำการต่อสู้ เพียงแต่เพื่อรักษาหน้าของตนคนเดียว จูงคนจำนวนร้อยจำนวนพันจำนวนหมื่นมาพลอยตาย ด้วยการจะรักษาหน้าของตัวเท่านั้น นี่คือความหลงใหลของมนุษย์ ซึ่งเราควรจะเรียกว่าเป็นความบ้าชนิดหนึ่ง ที่เป็นอยู่ในสังคมของมนุษย์เราทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นคนมีศาสนาเป็นหลักแต่ไม่ได้ใช้ธรรมะในศาสนา ไม่เอาหลักธรรมะมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ไม่ได้เอาธรรมะมาเป็นดวงประทีปส่องทางชีวิต เพื่อให้คิดได้ในทางที่ถูกในทางที่ชอบ อันควรจะได้ทำเรื่องให้มันสงบลงไปไวๆ
อันนี้เราเห็นกันโดยทั่วๆไปที่ปรากฏอยู่ เราจึงพูดว่าคนในสองชาตินั้นมันเกลียดกันโดยสายเลือด ความจริงไม่มี ในเลือดนั้นมันไม่มีความเกลียด ไม่มีความโกรธแต่ว่าเราไปเพาะเชื้อแห่งความนึกคิดให้เป็นความโกรธให้เป็นความเกลียดขึ้นในจิตใจของคน สอนกันในรูปอย่างนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาอะไรต่างๆขึ้น ในระหว่างครอบครัวก็เหมือนกันคนระหว่างสกุลสองสกุลบางทีก็ขัดเคืองกัน เรื่องมันเกิดกันมาในสมัยคุณปู่คุณทวดแล้วก็เลี้ยงความโกรธไว้ในครอบครัวทั้งสองฝ่าย ไอ้ครอบครัวนั้นอย่าไปคบกับมันเป็นอันขาด อย่าไปสมาคมกันเป็นอันขาด บางทีเด็กเกิดมาในหนหลังไม่รู้เรื่องหรอก บ้านอยู่ใกล้กันก็ไปมาหาสู่กัน เล่นกันอะไรกันไปตามสถานะของเด็ก ผู้ใหญ่เห็นเข้าก็เรียกมาสอน “ไม่ได้ไอ้ครอบครัวนี้มันเป็นศัตรูกับเรา” ความจริงเด็กนั้นก็ไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกันมันเล่นกันได้มีมะม่วงก็แบ่งกันกินคนละซีกได้ มีกล้วยแบ่งกันกินกันคนละท่อนได้ มีขนมก็แบ่งกันกินได้ แต่ผู้ใหญ่นั้นกลับ …… กว่าเด็กในเรื่องนี้ เห็นเด็กมันรักกัน..ไม่ได้ มันรักกันไม่ได้จะต้องสอนให้มันเกลียดกันต่อไป นี่มันเรื่องอะไร นี่คือความหลงผิด ที่เรียกว่าอวิชชาคือความไม่รู้ความไม่เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆตามสภาพที่เป็นจริง เลยสอนให้เกลียดให้โกรธกันมา พ่อถูกยิงตายลูกชายยังเล็กๆแม่ก็สอนลูกพูดให้ลูกฟังว่า ไอ้คนชื่อนั้นมันยิงพ่อของเจ้าตายพอเด็กคนนั้นโตขึ้นก็มีความโกรธฝังอยู่ในจิตใจ ถ้าไม่สอนเด็กมันจะรู้ได้อย่างไร สอนมันบอกมัน แล้วก็เที่ยวตาม ตามอยู่ตั้ง ๓๐ปีจึงเจอคนที่ยิงพ่อของตัวตาย พอถึงตัวก็ยิงปังเข้าให้..ตายไป กว่าจะได้ยิงนั้นไม่ใช่เวลาเล็กน้อยนะ ๓๐ปี ๓๐ปีนี่เรียกว่าเลี้ยงความโกรธไว้ในใจ เลี้ยงความพยาบาทเอาไว้ในใจ เพื่อจะไปฆ่าคนคนนั้นเท่านั้นเอง อันนี้เขาเรียกว่าเพาะเลี้ยงสิ่งชั่วร้ายไว้ในจิตใจ ผลที่ออกมาก็คือการฆ่ากันตาย เอ๊ะ! เราไปฆ่าเขาแล้วจะปลอดภัยหรือ มันก็ไม่ปลอดภัยหรอก ทีหลังไอ้ลูกคนโน้นมันถูกยิงเหมือนกันมันก็มาฆ่าคนนี้เอง แล้วก็ยิงกันไปยิงกันมา ยิงกันจนหมดโคตร ไม่มีใครเหลือกันต่อไป อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องเสียหาย
ในทางศาสนาในทางธรรมะนี่ ความจริงทุกศาสนาสอนหลักนี้ทั้งนั้น สอนหลักแห่งความไม่เบียดเบียน ความไม่จองเวร ความไม่พยาบาทอาฆาตกัน ให้รู้จักให้อภัยแก่กันและกัน แต่ว่าผู้สอนในรุ่นหลังนี้ ไม่ค่อยจะได้ย้ำในเรื่องอย่างนี้ บางทีก็เรื่องอื่นเข้ามาแทรกแซง เรื่องชาติ เรื่องประเทศ เรื่องลัทธิอื่นเข้ามาแทรกแซง ทำให้เขวไปจากหลักการเดิมของทางศาสนาเลยไปสอนในเรื่องอื่นไป อันนี้คือความยุ่งยาก ความมีปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ดังที่เราได้เห็นๆกันอยู่ ดั่งในปัจจุบันนี้เพราะคิดไม่ได้ แต่ถ้าคิดได้ สอนลูกไว้ให้คิดในทางที่ถูกที่ชอบ เหมือนกับเรื่องในเรื่องเรื่องเก่า ไม่ว่าเรื่องในสมัยเก่าพระพุทธเจ้าท่านนำมาเล่าให้พระทั้งหลายฟัง เพราะว่าพระเก่าแก่กันในสมัยนั้น เขาเรียกว่าเรื่อง“โกสัมพี” เรื่องเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องมากมายอะไร พวกหนึ่งถือวินัยเคร่งเครียด พวกหนึ่งก็ถือธรรมะ แต่ละคนก็ถือไม่ลืมหูลืมตาในหมู่พระเหล่านั้น ยังเป็นปุถุชนยังไม่เป็นพระอรหันต์ อันนี้พวกถือวินัยก็จ้องดูพวกฝ่ายพระนักเทศน์ นักสอน คอยเพ่งเล็งกันในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าทำอะไรนิดหน่อยก็เอามาซุบซิบกัน วันหนึ่งมีพระนักสอนธรรมะก็เข้าไปในห้องน้ำห้องส้วม เข้าไปถ่าย เสร็จแล้วก็ไม่ได้คว่ำภาชนะ ปกตินั้นมีข้อบัญญัติว่า ภาชนะน้ำที่ใช้แล้วให้คว่ำไว้ ไม่ให้หงายไว้ ที่ไม่ให้หงายไว้ก็เพื่อไม่ให้น้ำมันขังในภาชนะ แล้วก็จะได้แห้งได้สะอาด ถ้าลืมไปหรือเผลอไป เราก็ไม่คว่ำเมื่อไม่คว่ำก็ รู้สึกพระวินัยธร ผู้เคร่งครัดทางวินัยไปเห็นเข้า ไปเห็นเข้าก็พูดจาโพนทะนา เมื่อพูดออกมาพระที่เป็นนักสอนนักเทศน์ฝ่ายธรรมธร ก็บอกว่าโอ้..มันเผลอไปขอโทษปุ๊บผมจะไปปลงอาบัติ ความจริงเรื่องมันน่าจะจบเพียงเท่านั้น แต่ว่าพระอีกฝ่ายวินัยบอกว่า โอ้..เป็นนักเทศน์นักสอนเรื่องเท่านี้ก็ยังทำไม่ได้ ยังเผลอได้จะไปสอนคนอื่นได้ยังไง พูดไปก็เข้าหูพวกโน้น พวกโน้นก็ว่าพวกวินัยนี่ก็เหลือเกินนะ มันเคร่งไม่เข้าเรื่อง เรื่องเล็กๆน้อยๆก็ไปถือเป็นจริงเป็นจังแล้วก็มา …… กันบ่อยๆ เมื่อ …… กันบ่อยๆก็เลยแตกกัน เมื่อแตกกันก็ไม่ร่วมมือกันแยกกัน พระพุทธเจ้าไปบอกให้หยุดจากความแตกแยกก็ไม่มีใครฟังเสียงพระพุทธเจ้าท่านก็เลยเข้าป่าไป ไปอยู่ในป่าเสีย ไปอยู่กับลิงกับช้าง ที่เราเขียนรูปพระป่าเลไลย์คือพระท่านไปอยู่ที่ตำบลปาลิเลยยกะ แล้วก็อยู่นั้นก็มีช้างมาช่วยเหลือ มีลิงมาช่วยเหลือ เป็นภาพที่เขาเขียนไว้ แสดงว่าอยู่กับคนนี้ไม่ไหวแล้ว ไปอยู่กับสัตว์ดีกว่ามันสบายดี มันไม่มีเรื่อง ก็อยู่อย่างนั้น แต่ทีหลังมาพระเหล่านี้ก็รู้สึกตัวว่าเราทำผิด
พระพุทธเจ้าจึงหนีไปอยู่ในที่วิเวกเสีย รู้สึกตัวก็ไปขอขมาเมื่อไปขอขมาพระองค์ก็เล่าเรื่องเก่าให้ฟัง บอกว่าสมัยก่อนนี้เขาเจ็บแค้นมากกว่านี้ เขายังให้อภัยกันได้ แล้วก็เล่าให้ฟังว่าพระเจ้าทีฆีติ ครองเมืองโกศลกับพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองกาสี พาราณสี แคว้นโกศลกับแคว้นกาสีมันอยู่ติดกัน รบกันบ่อยๆ เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องอะไรเรื่องความเป็นใหญ่ เรื่องทรัพย์ในดินสินในน้ำ เลยรบกันหลายครั้งหลายหน ยังไม่แพ้ไม่ชนะกัน พระเจ้าพรหมทัตในแคว้นกาสีนึกว่า มันต้องเตรียมคนให้มากๆ บุกให้แหลกไปเลย เลยเตรียมคนหลายปี พอเตรียมแล้วก็บุกโกศลบุกแหลกไปแล้ว พระเจ้าทีฆีติโกศลก็ต้องหนีออกจากวัง พร้อมด้วยพระมเหสีซึ่งมีครรภ์แก่หนีปลอมตัวไปอยู่ในป่า แล้วก็ไปคลอดบุตรมาเป็นผู้ชาย ให้ชื่อว่าทีฆาวุแล้วก็ไปอยู่ในป่า อยู่ในป่าแล้วนึกแล้วว่าอยู่ในป่านี่มันไม่ได้ มีลูกด้วย ต้องแอบเข้าไปในเมือง เลยเข้าไปอยู่ในเมือง ไปรับจ้างปั้นดินอยู่ในโรงช่างปั้นหม้อปั้นดินขาย พระเจ้าพรหมทัตนี่นึกว่าชนะแล้วจะเป็นสุข แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ก็นอนเป็นทุกข์ พระเจ้าทีฆีติโกศลแพ้นอนเป็นทุกข์นั่งเป็นทุกข์ แต่ผู้ชนะก็เป็นทุกข์เหมือนกัน มันเป็นทุกข์ทั้งสองฝ่าย การทะเลาะเบาะแว้งกันมันเป็นทุกข์ทั้งสองฝ่าย ผู้ชนะก็เป็นทุกข์ตามแบบผู้ชนะ ผู้แพ้ก็เป็นทุกข์ตามแบบของผู้แพ้ ไม่มีใครที่จะนอนเป็นสุขได้สักคนเดียว เมื่อชนะแล้วก็คิดว่า เอ..พระเจ้าแผ่นดินหนีไปนี่ คงไม่ตาย อาจจะไปอยู่ที่ไหนซ่องสุมผู้คนแล้วก็มาแก้แค้น ก็เลยสั่งให้พวกอำมาตย์ให้ไปช่วย …… ทำภาพเขียน สืบสวนว่าพระเจ้าทีฆีตินี้ไปอยู่ที่ไหน แล้วก็เที่ยวสืบไปสืบมา รู้สึกว่าอำมาตย์ที่เคยอยู่กับพระเจ้าทีฆีตินั่นแหละไปเจอเข้า ที่โรงช่างหม้อเห็นแล้วจำได้ แม้ว่าแต่งเนื้อแต่งตัวมอมไปหน่อย เป็นคนทำงานกรรมกรนี่แต่คนที่เคยอยู่ใกล้ชิดก็จำได้ เลยลองดูกลับไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัต บอกว่าได้ข่าวแล้ว เวลานี้พระเจ้าทีฆีติกำลังอยู่ที่โรงช่างหม้อนอกเมืองทำเป็นกรรมกรอยู่แล้วก็มีลูกเป็นชายด้วย พระเจ้าพรหมทัตก็สั่งทหารให้ไปล้อมจับ จับได้มาพ่อกับแม่ ลูกชายไม่อยู่ไปเล่นที่อื่น ลูกชายก็เริ่มโตแล้ว เรียกว่าเริ่มเป็นเด็กหนุ่ม ไปเล่นอะไรอื่นเลยจับมาไม่ได้ ก็ได้มาสองคน เมื่อได้มาสองคนก็เห็นว่าเพื่อให้มันสิ้นเสี้ยนหนาม ไม่ต้องระแวงกันต่อไป รับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ในขณะที่เพชฌฆาตคุมตัวพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีไปเพื่อประหารชีวิตนี่ ทีฆาวุลูกชายของท่านมาเหมือนกัน เมื่อพ่อถูกจับก็แหวกมาอยู่ในฝูงคนเยอะๆ มาเที่ยวเดินดูพ่อ พอเขาจะประหารพ่อจะลงดาบแล้ว พ่อชำเลืองตาไปเห็น โอ้..ลูกชายยืนอยู่นั่น แล้วก็พูดออกมาเป็นเครื่องเตือนใจลูกชายว่า "ทีฆาวุ …… บอกว่าทีฆาวุ อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น ในกาลไหนๆเวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวรเลย" พูดได้เท่านั้น พูดได้เท่านั้นเขาก็ลงดาบประหาร ถึงแก่มรณะไป
ทีฆาวุก็หาวิธีการลักศพกลางคืนเอาไปได้ทั้งพ่อทั้งแม่ แบกพาไปเข้าป่าเอาไปทำการฌาปนกิจเสียเรียบร้อย ความแค้นมันสุมอยู่ในใจของทีฆาวุ นึกว่าพระเจ้าพรหมทัตนี้ทำให้พ่อแม่เราตาย ทำให้เราต้องลำบาก เราต้องหาทางกลับไปแก้แค้นให้ได้ จะทำอย่างไรให้เข้าไปแก้แค้นได้ ก็เลยไปเรียนวิชาดนตรี ดีดพิณ ร้องเพลง เพื่อจะได้เข้าไปดีดพิณ ร้องเพลงในวังแล้วจะได้เข้าใกล้พระเจ้าแผ่นดิน ครั้นมีความชำนาญในวิชาการดนตรีดีดพิณร้องเพลงแล้ว ก็ไปสมัครเป็นคนงานอยู่ที่กับควาญช้าง ก็กวาดขี้ช้างขี้ม้า เอาหญ้าให้ช้างให้ม้าเลี้ยงไปตามเรื่อง แต่ว่าตอนเย็นๆนี้มันว่างงาน ก็ขึ้นไปนั่งบนคอกช้าง นั่งแล้วก็ดีดพิณ ร้องเพลง ประสานเสียงทุกวัน ทำอย่างนั้นทุกวันๆ วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านมาทางนั้น ได้ยินเสียงพิณเสียงเพลงที่เพราะ ขับกล่อมไพเราะเสนาะโสต เป็นคติเตือนใจ ก็เลยถามว่าเด็กหนุ่มอะไร มันมาอยู่กับควาญช้าง มาร้องเพลง ดีดพิณ ประสานเสียงไพเราะดีเหลือเกิน ไปปรึกษาดูสิว่ามันเป็นใคร เขาก็ไปปรึกษารู้ว่าเป็นชายหนุ่ม แต่ไม่รู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร รู้แต่เพียงว่าควาญช้างเขาเอามาทำงานด้วย พระเจ้าแผ่นดินก็อยากจะฟังเสียงเพลงเสียงพิณของเด็กหนุ่มคนนั้น เลยรับสั่งให้เข้าเฝ้า แล้วก็ให้ดีดพิณร้องเพลงต่อหน้าพระที่นั่ง เป็นที่โปรดปราณพระทัยมาก อำมาตย์ข้าราชการทั้งหลายฟังแล้วก็ชอบอกชอบใจ เลยบอกว่า "เธอนี้มันไม่เหมาะที่จะไปกวาดขี้ช้างขี้ม้า ไม่เหมาะที่จะเป็นกรรมกรในโรงช้างโรงม้า เธอมาอยู่กับฉัน เป็นมหาดเล็ก มีหน้าที่ดีดพิณร้องเพลงให้ฉันฟังเวลาจะนอน" เลยได้เข้าไปอยู่ในห้องบรรทม
ไม่ใช่เล็กน้อย เข้าไปอยู่ในห้องบรรทมก็ทำหน้าที่อย่างดี ปฏิบัติ …… ดีดพิณร้องเพลงให้ฟังเสมอ แต่ยังหาช่องว่าจะทำอย่างไรที่จะฆ่าพระเจ้าแผ่นดินให้ได้ โอกาสมันยังไม่เหมาะ เพราะอยู่กันสองต่อสอง ถ้าฆ่าในห้องก็ถูกจับได้เท่านั้นเอง หนีไม่พ้น ก็ยังใจเย็นๆไปก่อน อยู่ไปก่อน อยู่ไปๆก็วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตอยากจะไปประพาสป่า ล่าสัตว์ ก็เรียกว่าเป็นกีฬาของพระราชา ไปประพาสป่า ล่าสัตว์ ทีฆาวุก็รับอาสาขับรถเอง ขับรถให้ ราชาก็ขึ้นประทับนั่งบนรถ ทีฆาวุก็ขับรถ ขับเสียเต็มที่เลย หวดม้าพาวิ่งฝ่าแสงแดดสายลมไป จนกระทั่งราชา …… พระราชาก็หวดตูมกระต่ายร้อง พอไปเข้าไปในป่าลึกไกลผู้ไกลคนแล้ว พระราชาก็บอกว่า "แหม..เธอนี่ขับรถฝีมือดี ดีเหลือเกิน ฉันร้อนเต็มทีแล้ว หยุดพักที่ริมห้วยสักแห่งเถอะ จะได้สรงน้ำ อาบน้ำอาบท่าเย็นๆใจหน่อย" เขาก็หาช่องโอกาสขับรถไปเจอลำห้วยหยุดรถ พระเจ้าแผ่นดินลงไปสรงน้ำ พอสรงน้ำแล้วมานั่งใต้ต้นไม้ ลมมันพัดเย็นๆ ไอ้หน้าร้อนนี้ถ้าเราไปนั่งที่ลมเย็นมันชักจะง่วงนะ พระราชาท่านก็ง่วงเหมือนกันนะ พอง่วงก็เลยบอกทีฆาวุว่า "เธอนั่งให้ดี ฉันจะนอนหน่อย" เลยเอาพระเศียรหนุนตักทีฆาวุนอนเลย นอนหลับเต็มที่เลย ทีฆาวุนึกในใจว่านี่แหละโอกาสเหมาะให้แล้ววันนี้ ไม่มีใครรู้เห็นนะเราหนีไปได้ง่าย เลยก็คิด คิดนะไอ้คนคนนี้ทำให้เราเดือดร้อน ชัดดาบออกมาจากฝักแล้ว ชักดาบออกมาจากฝักก็นึกถึงคำพ่อขึ้นมาได้ ที่พ่อสั่งว่า "อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น ในกาลไหนๆเวรไม่เคยระงับด้วยการจองเวร" พอคิดถึงคำนี้ หยุด เอาดาบเข้าฝัก ไม่ฆ่าวันนี้จะไปฆ่าวันไหน โอกาสมันเหมาะแล้ว ชักดาบออกมาครึ่งฝัก นึกถึงคำพ่ออีก เลยหยุดอีก อยู่อย่างนั้นถึงสามครั้งสามครา
พระเจ้าพรหมทัตนอนก็ฝัน ฝันว่านอนหลับไป แล้วก็มีบุรุษร่างกายกำยำล่ำสัน ถือดาบคมกริบ พุ่งเข้ามาจับผมแล้วก็จะเอาดาบฟันคอตัวเอง ตกใจตื่น พอตกใจตื่นขึ้นมา ทีฆาวุก็ชักดาบออกมาครึ่งฝักอยู่เหมือนกัน พอตื่นขึ้นมาเห็นก็ลุกขึ้น พอลุกขึ้นทีฆาวุก็วางดาบแล้วก็กราบลงแทบเท้า ประกาศตนเลย พอตื่นขึ้นทีนี้จับผมไว้เลย จับผมไว้ชักดาบออกมาประกาศว่า "ข้าพเจ้าคือทีฆาวุลูกพระเจ้าทีฆีติโกศลที่ท่านได้ประหารให้ถึงแก่ความตาย" พอได้ยินดังนั้นพระเจ้าพรหมทัตก็ตกใจเหมือนกัน คนเรานี้กลัวตายทั้งนั้น แม้จะเป็นใครก็กลัวตายเลยยกมือไหว้ขอชีวิต พอพระเจ้าแผ่นดินยกมือไหว้ขอชีวิต ทีฆาวุปล่อยผมพระเจ้าแผ่นดินทันทีวางดาบลงกับพื้น ก้มลงกราบแทบเท้าขอชีวิตเหมือนกัน ต่างคนต่างขอกัน ต่างคนต่างก็ให้กัน เลยก็ไม่โกรธกันต่อไปแล้ว ไม่โกรธกันต่อไป กลายเป็นมิตรกัน พระราชาก็ให้สั่งขับรถกลับวัง เมื่อกลับมาถึงวังก็เรียกประชุมข้าราชการทั้งหลาย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกับก็ประกาศว่า "นี่ทีฆาวุกุมาร ลูกของพระเจ้าทีฆีติโกศลซึ่งเราได้จับมาฆ่าเสียทั้งสองคน นี่เป็นลูกชายที่เหลืออยู่ วันนี้เขามีโอกาสร้อยเปอร์เซ็นต์ที่จะหั่นคอเราให้ขาดจากบ่า แต่เขาไม่ทำ เพราะเขาเคารพในคำของพ่อเขา เราจึงมีชีวิตรอดมาได้ เพราฉะนั้นเราจึงจะยกย่องท่านผู้นี้ต่อไป" เลยก็ให้แต่งงานกับลูกสาวพระธิดา แต่งงานกับพระธิดาแล้วให้กลับไปครองเมืองโกศลตามเดิม
ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต แคว้นกาสีก็ถูกผนวกเข้ากับแคว้นโกศล ไม่ต้องลำบากไม่เสียทหารได้สองแคว้นมาครองคนเดียว นี่เพราะอะไร เพราะว่าทีฆาวุนี้ เคารพพ่อ รักพ่อ รักพ่อรักแม่ ไอ้ความรักนี้ก็ใช้เป็นมันเป็นคุณอยู่ ถ้าใช้ไม่เป็นมันก็เป็นโทษเหมือนกัน คนเราบางคนรักพ่อรักแม่แต่ไปกระทำความผิดเพื่อพ่อเพื่อแม่หรือแสดงความกตัญญูกตเวทีผิดทางก็มีเหมือนกัน ยกตัวอย่างที่คนมักจะพูดกันกันอยู่บ่อยๆ ว่าการทำงานกับพ่อแม่ ทำเสียใหญ่โตสิ้นเปลืองเงินทองมากมาย แต่เนื้อหามันไม่ค่อยจะมี แล้วเขามักจะพูดว่าแม่คนเดียวเราจะต้องแสดงความกตัญญูหน่อย นั่นก็เรียกว่ากตัญญูไม่เข้าเรื่อง คือทำดีด้วยการผลาญเงินนั้นมันสูญไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เรื่อง นี่เขาไม่รู้ เพราะไม่มีใครสอนให้เข้าใจ ไม่มีใครปรับจิตปรับใจให้เขาใช้ความกตัญญูเป็น เขาจึงใช้กันอยู่ในรูปอย่างนั้น ไม่มีคนสอนมันลำบากตรงนี้ ถ้ามีคนพูดให้เข้าใจหน่อยว่า ทำไมความกตัญญูไม่ใช่แสดงในรูปอย่างนั้น เราแสดงในรูปที่ดีกว่านั้นก็ได้ ถ้าเรามีเงินมีทองเราจะเอาไปใช้เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณแม่คุณพ่อในรูปอื่นก็ได้ เช่นเอาไปช่วยเด็กกำพร้า ช่วยโรงพยาบาล ช่วยมูลนิธิต่างๆ หรือเอาไปบำรุงทางพระศาสนา ที่เป็นประโยชน์ดีกว่าที่จะไปจ่ายในทางเอาลิเก โขนหนัง เครื่องดนตรีมาแสดงให้คนดู มันดูแล้วมันก็ไม่ได้อะไร นอกจากง่วงนอน เสียเวลาการทำมาหากิน และเราก็เสียเงินมากมาย จากนั้นแล้วเราก็ได้ขยะไว้เป็นมัด มันไม่ได้อะไรนักหนา ถ้าอธิบายพูดจาทำความเข้าใจกันเสียบ้าง คนก็จะรู้จักกตัญญูถูกทาง รักพ่อรักแม่ถูกทางขึ้นมา นี่เขาเรียกว่าไม่รู้จึงทำอย่างนั้น
แต่ทีฆาวุนั้นเขารักพ่อแม่ถูกทาง คือรักแล้วคิดถึงคำสอนของคุณพ่อที่ใกล้ตายที่สอนว่า อย่าเห็นแก่ยาว อย่าเห็นแก่สั้น …… แปลว่าอย่าเห็นแก่ยาว …… อย่าเห็นแก่สั้น หมายความว่าอย่างไร อย่าเห็นแก่ยาวหมายความว่า อย่าโกรธกันนานๆ อย่าเกลียดกันนานๆ อย่าแค้นเคืองกันไว้นานๆ เรียกว่าอย่าเห็นแก่ยาว เพราะเห็นแก่ยาวในทางนั้นมันเสียหาย อย่าเห็นแก่สั้นหมายความว่า อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว อย่าด่วนตัดมิตรเสียแต่ให้คบกันต่อไปจึงจะอยู่ได้รอด เพราะในกาลไหนๆเวรมันไม่เคยระงับด้วยการจองเวรกัน แต่ระงับด้วยการไม่ผูกเวรกับใครๆ มีคำพูดที่พ่อสั่งไว้เขาจำได้ เขาก็มาคิดถึงคำนี้ อย่าเห็นแก่ยาวคือเขาไม่โกรธนาน ไม่พยาบาทนาน ไม่เกลียดนาน ไม่ริษยานาน เมื่อเกิดคิดมาชั่วขณะหนึ่งแล้วพอรู้เข้าขึ้นมา โอ้..ไอ้นี่ไม่ดีให้มันดับไปเสีย ดับแล้วอย่าให้มันเกิดซ้อนขึ้นมาอีก เรียกว่าอย่าเห็นแก่ยาว คือท่านทีฆาวุก็ปฏิบัติตาม อย่าเห็นแก่สั้นก็หมายความว่า อย่าด่วนแตกมิตร พระเจ้าพรหมทัตเป็นมิตรเสียแล้วตอนนี้ก็มาเป็นศัตรูกับพ่อกับแม่ แต่เดี๋ยวนี้เป็นมิตรของทีฆาวุ ทีฆาวุได้เข้าไปอยู่ในวัง ได้รับการชุบเลี้ยงอย่างดี ได้รับความไว้วางใจให้อยู่ในพระราชฐาน อยู่ในห้องบรรทมคอยปฏิบัติ …… อย่างใกล้ชิด ก็นึกว่าเป็นมิตรคืออนุเคราะห์แก่ตนอย่างเหนียวแน่นแล้วก็ไม่ควรจะด่วนแตกมิตร ไม่ควรจะใจร้อนทำร้ายมิตร เพราการประทุษร้ายมิตรนั้นเป็นความชั่ว เป็นความเสื่อมของชีวิตของบุคคลคิดได้ เมื่อคิดได้ก็ไม่ประหัตประหารแต่ว่าเป็นการแสดงอะไรข่มขู่มิตรหน่อย ให้รู้ว่าเขาคือใคร คือประกาศเท่านั้นบอกว่าข้าพเจ้าคือทีฆาวุ พร้อมกับจับผมพระราชาไว้ พอพระราชายกมือไหว้ขอชีวิต ทีฆาวุก็ไหว้ขอเหมือนกัน คือต่างคนต่างขอกัน ต่างคนต่างให้กัน อภัยทานก็เกิดขึ้นในสังคมของคนทั้งสองนั้นแล้ว พอเกิดอภัยทานขึ้นมา ความเป็นศัตรูหายไป ความโกรธความเกลียดพยาบาทอาฆาตจองเวรทั้งหลายหายไป ยิ้มเข้าหากัน อยู่กันด้วยความสุขต่อไป นี่คือคำสั่งของพ่อแม่ที่สั่งไว้ก่อนตาย แล้วก็เอามาปฏิบัติเอามาใช้
แล้วก็น่าชมพ่อของทีฆาวุว่า สั่งลูกถูกต้อง ไม่ให้โกรธกัน ไม่ให้เกลียดกัน ไม่ให้พยาบาทกัน แต่สอนไปในแง่ว่า ควรจะดีกันเสียดีกว่า อย่าเห็นแก่ยาวอย่าโกรธกันนานๆเลยลูกเอ๋ย อย่าเห็นแก่สั้น อย่าด่วนแตกร้าวกับผู้ที่ได้เป็นมิตรของเราเลย ในกาลใดแล้วเวรมันไม่เคยระงับด้วยการจองเวรกัน แต่ระงับได้ด้วยการไม่ผูกเวร ทีฆาวุก็จำมาเอามาใช้เลยได้ประโยชน์ ธรรมะมันเกิดขึ้นในใจ อธรรมหายไป ความสว่างเกิดขึ้นความมืดก็หายไป มันตรงกันอย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆว่าในชีวิตของคนเรานั้น ถ้าเราแก้ด้วยอะไรเหล่านี้แล้วมันจะดีขึ้น จิตใจจะสบาย แต่โลกเราไม่ค่อยได้ใช้หลักอย่างนี้ กลัวจะเสียเหลี่ยมบ้าง กลัวจะเสียหน้าบ้าง กลัวจะหาว่าไม่เป็นลูกผู้ชายบ้างอะไรๆบ้าง คือเราคิดไปในทางที่จะเพิ่มพูนกิเลสให้มันมากขึ้นในจิตใจเลยไปกันใหญ่ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น คือถ้าจะขอฝากแนวคิดไว้ เพื่อญาติโยมครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อเราจะได้เอาไปอบรมเด็กของเรา อย่าให้มีจิตคิดพยาบาทอาฆาตจองเวรแก่ใครๆ แม้ใครจะมาทำอะไรให้แก่เราบ้างเล็กๆน้อยๆหรือมากก็ตาม ให้อภัยเสียอย่าไปถือโทษโกรธเขาเลยต้องเอาน้ำสะอาดมาล้างสิ่งสกปรก ถ้าเอาน้ำสกปรกมาล้างแล้วมันจะสะอาดขึ้นได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องแรกๆที่เราเห็นกันอยู่ทั้งนั้น แต่เวลาใดกิเลสมันเกิดขึ้นในใจแล้วมันนึกไม่ออก นึกไม่ออกมีแต่ความโกรธ ความเกลียดความพยาบาทเกิดขึ้น แล้วก็ฆ่ากันไปฆ่ากันมา ฆ่ากันจนหมดโคตร อย่างนี้มันไม่ได้อะไร นอกจากว่าตายกันเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ได้อะไรมากขึ้น จึงควรจะใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องประคับประคองจิตใจของเราให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ชอบตามหลักคำสอนในทางพระศาสนา เพราะหลักคำสอนในทางพระศาสนานี้จุดรวมมันก็อย่างเดียวกัน คือให้รักผู้อื่นให้สงสารผู้อื่นให้ช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน
การช่วยเหลือผู้อื่นก็คือการช่วยตัวเราเองนั่นแหละ รักผู้อื่นก็เหมือนกับเรารักตัวเอง ถ้าเราเกลียดเขาก็เหมือนกับเกลียดตัวเอง เราทำร้ายเขาก็เหมือนกับทำร้ายตัวเราเอง เพราะสิ่งใดที่เราซัดไปมันก็จะสะท้อนกลับมาหาตัวเรา ถ้าเราปลูกความดีไปความดีกลับมา ปลูกความชั่วไว้ความชั่วมันก็กลับมา แล้วเราก็ได้สิ่งนั้นด้วย เช่นเราคิดชั่ว ความชั่วมันก็เพิ่มขึ้นในใจของเรา แต่ถ้าเราคิดดี ความดีก็เพิ่มพูนขึ้นในจิตใจของเรา ความคิดนี้มันสร้างนิสัยให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา คนไม่รู้ก็มักจะสร้างสิ่งไม่ดีให้เกิดขึ้น เช่นสร้างความโกรธสร้างความเกลียด สร้างความพยาบาทอาฆาตจองเวร ใจก็เลยร้อนอยู่ตลอดเวลา ร้อนด้วยไฟคือกิเลสที่มันแผดเผาจิตใจทำให้เร่าร้อน ร้อนแดดที่แผดเผานี้มันไม่รุนแรงอะไรหรอก ร้อนประเดี๋ยวประด่าวมันก็เปลี่ยนไปได้ แต่ว่าร้อนใจนี้มันร้อนนาน ร้อนไม่รู้จักดับไม่รู้จักสิ้น ตราบเท่าที่เรายังไม่รู้ว่าความร้อนนั้นมาจากอะไร และเราควรจะแก้ไขสิ่งนั้นโดยวิธีใด อันนี้แหละสำคัญ ถ้าไม่รู้แล้วความร้อนนั้นจะเกิดพอกพูนขึ้นเรื่อยไป แต่เมื่อใดเรามารู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มันมาจากอะไร ผลมันเป็นอย่างไร เราควรจะแก้ไขที่จุดไหน รู้จุดมัน รู้จุดดับของสิ่งนั้น เราก็เข้าไปดับสิ่งนั้นเสีย ไม่ให้มันเจริญงอกงามขึ้นเพื่อทำลายตัวเราต่อไป นี่นับว่าเป็นเรื่องที่ช่วยให้ชีวิตของเราอยู่ด้วยความสงบในชีวิตประจำวัน เรื่องของชีวิตนี้ควรจะเป็นเรื่องที่สนใจศึกษาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาจากใครที่ไหนหรอก บทเรียนมันอยู่ในตัวเราแล้ว อยู่ข้างในแล้ว ในกายา …… แล้ว มันเป็นบทเรียนอยู่ตลอดเวลา เป็นบทเรียนที่เราควรศึกษาควรทำความเข้าใจ ผู้ใดสนใจศึกษาเรื่องตัวเอง ผู้นั้นจะชนะตัวเองได้ แต่ผู้ใดไม่สนใจศึกษาเรื่องของตัวเอง ผู้นั้นจะอยู่ในฐานะลำบาก เราชอบหรือไม่การอยู่ด้วยความลำบากและยากเย็นทั้งหลายชอบไหม ไม่มีใครชอบสักคนเดียว เราอยากจะอยู่อย่างสบาย อย่างสงบ ไม่อยากมีปัญหาอะไร เมื่อเราไม่อยากจะอยู่อย่างมีปัญหา เราก็หมั่นมองดูตัวเรา มองดูข้างใน ดูความคิดของเรา ดูการกระทำของเรา ว่าเราคิดอะไร เราพูดอะไร เราทำอะไร เราสร้างบาปขึ้นในใจ หรือว่าเราสร้างบุญกุศลขึ้นในใจ สร้างความสงบเย็นหรือว่าสร้างความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เราจะต้องหมั่นตรวจสอบพิจารณาตัวเองอยู่บ่อยๆ เมื่อใดเกิดขึ้นอย่าปล่อยผ่านไปเฉยๆ ให้มันดับก่อน
ดับแล้วก็ต้องศึกษาว่ามันเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นเชื้อให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น เหมือนกับเราเกิดไฟไหม้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาดับกันเรียบร้อยแล้ว ไฟไม่ลุกลามแล้วแต่ก็ยังต้องมาศึกษาว่ามันเกิดจากอะไร ไฟนี้มันเกิดจากอะไร โดยมากก็ไฟฟ้าช็อต เรียกว่าหาเรื่องกับไฟฟ้าทุกที เพราะว่าไฟฟ้าช็อตนี้มันสบายดี มันไม่ต้องศึกษามาก ไฟฟ้าช็อต นั่นก็หมดเรื่องกัน ไม่รู้จะลงโทษใครจะไปลงโทษไฟฟ้าจะจับมันใส่คุกก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นไฟฟ้า เลยก็ง่ายดี ไม่รู้ไม่ต้องใช้วิจารณะ ปัญญาอะไร ไฟช็อต หมดเรื่อง ไฟฟ้าเมืองไทยมันจึงช็อตบ่อยๆ ช็อตที่บ้านนั้นช็อตที่บ้านนี้ แต่ว่าในต่างประเทศนี้เขาไม่ค่อยมีไฟฟ้าช็อต เพราะเขาระมัดระวัง เขารู้ว่าไอ้นี่มันเป็นพิษเป็นภัย เขาระวัง ในการที่จะติดต่อสายไฟอะไรต่ออะไรเขาควบคุมมาก ให้มันเซฟปลอดภัยที่สุด ของเรานั้นมีความระมัดระวังน้อย ใครๆก็เดินสายไฟได้ เดินเสร็จแล้วเขาก็มาต่อไฟให้ ไม่ค่อยจะตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ อันนี้ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องความขี้เกียจ ขี้เกียจดูขี้เกียจแลให้มันเรียบร้อย ให้มันพ้นหน้าที่ไปเท่านั้น จึงเกิดไฟฟ้าช็อตบ่อยๆ แต่ว่าเหตุมันอาจจะมีเรื่องอื่นอีกก็ได้แต่ไม่ได้ศึกษา มันจึงไหม้กันอยู่เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น ทีนี้ในใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีอะไรเผาไหม้ขึ้นในใจของเรา เราก็ต้องศึกษาว่านี่มันร้อนเรื่องอะไร มันทุกข์เรื่องอะไร กลุ้มใจเรื่องอะไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นต้องรู้ อย่าไปคิดว่าไอ้เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นแก้ไม่ได้ มันไม่ถูกเรื่อง ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายแก้ได้ เพราะมันเกิดจากเหตุในตัวเรา ไม่ใช่เกิดมาจากเหตุภายนอก อย่าไปคิดว่าดวงไม่ดี หรือว่าเวลานี้มันไม่ค่อยจะดี ดวงไม่ดีแล้ว อย่าไปพูดอย่างนั้นก็ลำบากแก้ยากเรื่องอย่างนี้
ตอนนั้นมีเด็กสาวคนหนึ่งซื้อดอกบัวมาตั้งกำใหญ่ เข้ามาถึงก็มาบอกว่าหนูมาเพื่ออะไร "ก็กลุ้มใจค่ะ จะมาให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์ให้หน่อย" ก็รดน้ำมนต์ เราก็บอกว่าดีแล้ว นั่งลงก่อ แล้วก็ถามว่าเรานั้นกลุ้มใจเรื่องอะไรรู้ไหม รู้ไหมว่ากลุ้มเรื่องอะไร เรื่องมาก เรื่องที่สำนักงาน เรื่องเพื่อน เรื่องมิตรสหาย นี่เรียกว่าเหวี่ยงแหไง เพราะว่าในนั้นมันมีแต่คนทำให้ตัวกลุ้มทั้งนั้นจึงได้กลุ้มใจ "แล้วหนูมานี่ต้องการรดน้ำมนต์นี่ หนูเข้าใจว่าน้ำมนต์นี่รดแล้วมันหายกลุ้มเหรอ" "เห็นเขาว่าอย่างนั้นค่ะ" "เขาว่าอะไร" "ไม่รู้เขาว่า เพื่อนฝูงเขาว่าไปรดน้ำมนต์วัดนั้นวัดนี้ ได้ยินชื่อหลวงพ่อว่ามีชื่อมีเสียง คงจะเก่งทางรดน้ำมนต์ด้วย เลยก็มาขอรดหน่อย" เราบอกว่า "หลวงพ่อนี่รดไม่เป็น น้ำมนต์มันไม่มีด้วย มีรดเก่งอยู่อย่างเดียวคือรดธรรมะ ให้มันรู้เรื่องให้เข้าใจความจริงของชีวิต หนูนั่งลงตั้งใจฟัง" ก็เลยพูดอธิบายกันไป ตามเรื่องตามราว ที่เขามีความทุกข์ความร้อนอกร้อนใจ ชี้ให้เห็นว่าความทุกข์นั้นมันเกี่ยวด้วยความคิดของเราเอง แม้มีสิ่งอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่สำคัญ มันสำคัญที่เรารับสิ่งนั้นผิด รับได้ผิด เมื่อได้รับได้ผิดเราก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเรารับไว้ถูกมันก็ไม่มีอะไร เรารู้จักรับสิ่งนั้น อาวุธลูกศรก็กลายเป็นดอกไม้ได้ถ้าเรารับเป็น ถ้ารับไม่เป็นอาวุธมันก็เป็นอาวุธ ลูกศรมันก็เป็นลูกศร แล้วมันจะเสียบแทงเราเจ็บปวดไปตามๆกัน นั่นก็รับไม่เป็น เราจะเห็นภาพพญามารมาผจญพระพุทธเจ้า ภาพหนึ่งด้านหนึ่งนั้นยักษ์ขี่ช้าง แล้วก็มีอาวุธลูกศรอยู่มากมาย แต่ด้านหนึ่งถือดอกบัวบูชา เขาเขียนเป็นสองด้าน หมายความว่า …… แพ้พระพุทธเจ้า ยิงลูกศรกลายเป็นดอกไม้ได้หมด มันสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้
เป็นภาพเตือนใจให้เห็นว่า พระองค์รู้จักรับอารมณ์ ในทางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่พระองค์ เขาขว้างอะไรมาในทางร้าย เรารับกลายเป็นดีได้หมดเลย เขาด่ากลายเป็นรับโดยไม่เป็นเรื่องด่าไป เขาพูดคำหยาบรับไว้ในรูปที่มันไม่หยาบคาย แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ไม่มีความร้อนอกร้อนใจนี่วิธีการอย่างนั้น เราก็เหมือนกัน เวลาใครส่งอะไรมาเราแปลงมันเสียต้องเข้าใจแปลงสิ่งนั้นให้มันเป็นคุณ อย่าให้มันเป็นโทษ เช่นคำด่าเราแปลงให้เป็นคุณเสีย คำอะไรที่เขานินทาว่าร้าย กิริยาท่าทาง การแสดงออกของใคร เราไม่รับ ถ้ารับก็แปลงให้มันเป็นคุณไปเสีย หรือไม่ถ้าอย่างนั้นก็ปฏิเสธเราไม่เอา ใครจะว่าอะไรเราไม่ได้ยิน ถึงได้ยินก็ไม่ใช่ว่าเรา เราไม่รับ เมื่อเราไม่รับแล้วมันจะยื่นอะไร นี่คนเรามันชอบแส่ เขาเรียกว่าแส่หาเรื่อง เป็นควายเขารี เดินไปไหนบ้างเถาวัลย์ก็มาติดเขาบ้าง คนเรานั้นเที่ยวรับนู่นเที่ยวรับนี่ เขาว่าอะไรก็ มันว่ากู ก็วิ่งไปรับ มันเรื่องอะไร ก็วิ่งไปรับนั้นไปรับนี้ แล้วเอามานั่งกลุ้มใจ นอนเป็นทุกข์ นี่ก็เพราะว่าเราคิดไม่เป็น ถ้าเราคิดเป็น เราก็ว่าเรื่องของเขา เรื่องของเขา มันไม่ใช่เรื่องของเรา ช่างเขา คนเรามันมีคนชมบ้างคนติบ้าง ใครชอบเขาก็ชม ใครไม่ชอบเขาก็ด่า ท่านปัญญานันทะเป็นนักเทศน์ บางคนก็ชมเทศน์มันดี แต่บางคนก็ด่าเทศน์ไม่ได้ความ ด่าเขาทุกที เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของอาตมา บางทีเขียนจดหมายด่ามา อาตมาอ่านแล้วก็ยิ้ม ยิ้มไปแล้วก็นึกในใจว่าไอ้นี่มันด่าไม่ได้เรื่องเลย ด่าไม่เป็น ด่าไม่เจ็บสักหน่อย มันจะใช้ได้อย่างไร ด่าไม่เป็น ด่าเขาไม่เจ็บ แล้วก็ไม่เซ็นต์ชื่อ เขาเรียกว่าขี้ขลาด ถ้ากล้าหาญจริงมันต้องออกมายืนด่า มาด่าในศาลานี้ก็ได้ แต่ว่าคนนั่งฟังพูดมากๆ ก็ขอเวลาขอโอกาสจะด่าพระครูปัญญาหน่อย อย่างนี้มันถึงจะดีหน่อย ด่าให้มันแสบเข้าทรวงไปเลย มันก็ไม่มีอะไร เขาด่าเราไม่รับ เราเฉยๆไม่ต้องมีอะไรให้กลายเป็นดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาไป
ญาติโยมทำหูทวนลมเสียบ้าง ปิดหูเสียบ้าง ปิดตาเสียบ้าง พระอรหันต์องค์หนึ่งท่านบอกว่า มีตาดีก็ทำเป็นคนตาบอดเสียบ้าง มีหูดีก็ทำให้เป็นคนหูหนวกเสียบ้าง มีลิ้นดีก็ทำเป็นคนใบ้เสียบ้าง มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นรีบเข้าห้องนอนคลุมโปงเสียมันก็ไม่มีเรื่องอะไร เราเข้าห้องปิดประตูนอนให้มันด่าอยู่ช่างหัวมัน ใครจะว่าอะไรก็ช่างเขา อย่าไปต่อล้อต่อเถียงกับเขา เหมือนกับหนังสือพิมพ์เขียนว่าอะไร เขาไม่ได้ว่าอะไรใครเลย อย่าไปถือเป็นอารมณ์ คนอ่านหนังสือพิมพ์อ่านวันเดียวแล้วก็ห่อของแล้ว ไม่มีใครเก็บหนังสือพิมพ์นั้นไว้อ่านซ้ำหลายวัน ห่อของ อ่านแล้วห่อของ อ่านแล้วห่อของ มันจะไปเดือดร้อนอะไรที่เราจะไปกลุ้มใจไปต่อล้อต่อเถียง ยิ่งไปต่อล้อต่อเถียงทำให้เขาชอบใจ เอาไปเขียนได้หลายวัน เรื่องอะไรที่เราจะไปให้อาหารกับคนด่าเรา เราเฉยๆทำไม่ได้ยิน มันด่าๆเราไม่เห็นได้ยิน เราไม่ตอบมันขี้เกียจมันก็หาคนอื่นด่าต่อไป เราก็นอนสบาย ไม่เห็นเดือดร้อนวุ่นวายอะไร นี่คือปัญหาว่ามันต้องคิดอย่างนั้น อย่าคิดให้มันวุ่นวายใจ ให้ยุ่งยากใจ จิตใจจะได้สบาย วันนี้ก็พูดมาสมควรแก่เวลาแล้ว ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้