แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
พวกเราทั้งหลายที่หยุดงานในวันอาทิตย์ อยู่ว่างๆ เปล่าๆ ก็มาหากำไรทางด้านจิตใจที่วัด กำไรทางด้านวัตถุก็มี กำไรทางด้านจิตวิญญาณก็มี กำไรในทางวัตถุก็คือได้เงินเพิ่มขึ้น หรือว่าได้อะไรๆ ที่เป็นวัตถุเพิ่มขึ้นในชีวิต เรียกว่า กำไรทางด้านวัตถุ
กำไรทางด้านวัตถุนั้นมันให้ความสุขชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ให้ความทุกข์อีกขณะหนึ่ง มันปนกันไปทั้งสุขทั้งทุกข์ เพราะเรื่องได้กับเรื่องเสียมันเป็นของคู่กัน เวลาใดได้ก็สบายใจ เวลาเสียก็ไม่สบายใจ ได้น้อยไปก็ไม่สบายใจ ถ้าได้มากจึงจะสบายใจ ทีนี้ได้มากหลายครั้ง มาได้น้อยสักครั้งก็ไม่สบายใจ เรามักจะพูดว่า "ขาดทุน"
ความจริงทุนไม่ได้ขาด แต่ว่ากำไรมันน้อยไป ควรจะพูดว่า "ขาดกำไร" มากกว่า แต่ว่าเรามักจะพูดว่า "ขาดทุน" กัน นั่นมันเป็นเรื่องทางวัตถุ เรื่องทางวัตถุนั้นมันก็อย่างนั้นแหละ มีได้-มีเสีย สับเปลี่ยนกันไป แต่ว่าจิตใจของคนเราที่ไม่รู้จักจัด มันก็ดีใจเมื่อได้ แล้วก็ไปเสียใจเมื่อเสีย สลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
ส่วนกำไรอีกประเภทหนึ่งนั้น มันเป็น กำไรทางจิตทางวิญญาณ เราเรียกว่ากำไรที่เป็นบุญเป็นกุศล กำไรที่เป็นบุญเป็นกุศลนั้นไม่ได้ทำให้มีความทุกข์ใจ ไม่ทำให้เกิดความเสียใจ แต่ว่าได้ความอิ่มใจ อิ่มอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอิ่มด้วยบุญด้วยกุศล อิ่มด้วยบุญด้วยกุศล ก็คืออิ่มอันเกิดขึ้นจากการคิดดี พูดดี ทำดี แล้วเราก็อิ่มใจสบายใจ ความอิ่มอย่างนั้น เราเรียกว่าเป็นความอิ่มเอิบในทางจิตใจ ใจมันอิ่มอยู่ด้วยความงามความดี เราก็รู้สึกสบายใจ คล้ายๆ กับว่ามันครึ้มๆ อยู่ในใจของเรา ไม่มีอะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งใจ กำไรอย่างนี้ควรแสวงหาด้วย
กำไรวัตถุก็ต้องหาเหมือนกัน เพราะว่าเรามีกายมีใจ ร่างกายยังต้องใช้วัตถุ คือยังต้องรับประทานอาหาร ยังต้องใช้เสื้อผ้า ยังต้องมีบ้านเรือนให้เขาอยู่ ยังต้องมียากินเมื่อเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย อันนี้ก็เป็นของจำเป็นที่เราจะต้องแสวงหา ที่จะต้องมีต้องได้ แต่ว่าการแสวงหาวัตถุเหล่านั้น ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่แสวงหาในทางที่เป็นทุกข์ ไม่ก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น มีธรรมะเป็นหลักประจำจิตใจว่า เราจะไม่ทำอะไรๆ ให้ใครเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แม้เราจะแสวงหาลาภผลเงินทอง เราก็จะไม่หาโดยวิธีที่จะทำคนอื่นให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราทำอย่างนี้ ชีวิตจะไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่กระทบกระทั่งกันกับใครๆ และไม่ต้องฆ่ากัน เหมือนกับที่เขาฆ่ากันอยู่ในสมัยนี้ในบางแห่ง ไอ้ที่ฆ่ากันอยู่ในบางแห่งบางที่ดังที่เราได้ยินข่าวนั้น ก็เนื่องจากการแสวงหานั่นเอง
หากำไรทางวัตถุ แล้วก็อยากมาก โลภมาก หากำไรในทางสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่คนอื่น ที่เราเรียกว่าผลประโยชน์มันขัดกัน พอผลประโยชน์ขัดกันก็สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้น ความทุกข์เกิดแก่เขา เขาก็เกิดความขุ่นเคืองในจิตใจ เมื่อเกิดความขุ่นเคืองแล้วก็ระงับไม่ได้ ก็เกิดคิดพยาบาท คิดแก้แค้น เมื่อระงับไม่ได้ก็เปรี้ยงปร้างกันขึ้นมา แล้วก็ตายกันไปข้างหนึ่ง เมื่อข้างหนึ่งตายไปอีกข้างหนึ่งก็ต้องตายอีก เพราะคนมันโกรธแล้วพยาบาทอาฆาตจองเวร อันนี้คือเรื่องสร้างปัญหาในชีวิต
การแสวงหากำไรด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อนจึงไม่ดี เราจึงควรจะมีหลักว่า เราหา...แต่ไม่ทำใครให้เดือดร้อน สิ่งใดจะกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น เราก็จะหยุดทำสิ่งนั้น ทำเฉพาะเรื่องที่สบายใจ ไม่สร้างปัญหาให้แก่ใครๆ เราก็จะกลายเป็นคนสงบ ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใครๆ การอยู่อย่างสงบนั่นแหละเป็นจุดหมายสำคัญของพุทธบริษัท หรือเรียกว่าของศาสนาทุกศาสนาก็ได้
ศาสนาทั้งหลายนี่สอนคนให้สงบทั้งนั้น ไม่ได้สอนคนให้วุ่นวาย ให้สร้างปัญหา แต่ว่าให้ช่วยกันทำลายปัญหาในสังคมด้วยวิธีการตามหลักศาสนา โดยใช้ธรรมะเป็นเครื่องแก้ปัญหา ปัญหามันก็น้อย แล้วมันก็จะไม่ลุกลามต่อไป แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะในศาสนาเป็นเครื่องแก้ปัญหา เราก็จะเพิ่มปัญหามากขึ้น ทำให้เดือดร้อนวุ่นวายกันทั่วๆ ไป
แล้วคนเรานั้นมีความบกพร่องอยู่ประการหนึ่ง ตัวผิดก็ไม่รู้ว่าตัวผิด...นี่สำคัญนักหนา ตัวขาดธรรมะก็ไม่ยอมรับว่าตัวขาดธรรมะ ตัวดำเนินการงานอะไรผิดพลาดก็ไม่ยอมรับในสิ่งนั้น แต่จะดื้อดันทางนั้นต่อไป ไปกันจนถึงที่สุดของสิ่งนั้น แต่ว่าไปๆ แล้วทางมันตัน เพราะทางที่ไม่มีธรรมะเป็นทางตัน เป็นทางมืด เป็นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ถ้าเราใช้ธรรมะ ทางมันตรงไป โล่งโปร่ง ไม่มีขวากหนาม ไม่มีอุปสรรค ไม่มีสิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แต่คนไม่ค่อยใช้ ชอบใช้ทางที่มันมีขวากมีหนามมีเปลือกมีตม ที่ไปมากันอย่างลำบากน่ะเขาชอบกัน เขาว่ามันโลดโผนดี อันนี้แหละคือตัวปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ มันก็เพราะเรื่องอย่างนี้ ถ้าชาวโลกมีความสำนึกในข้อนี้ แล้วก็หันมาใช้หลักศาสนาในทางที่ถูกที่ชอบ คือใช้ศาสนาเป็น ไม่ใช้ศาสนาในทางผิด เอาศาสนามาใช้ให้ถูกต้อง เพราะยึดหลักว่าศาสนาเป็นหลักคำสอนหรือการปฏิบัติที่สร้างความสงบสุขในสังคม
ถ้าเราเอาศาสนาไปใช้ผิดทางนี้ก็เรียกว่า เราไม่มีศาสนา แม้เราจะแต่งเครื่องแบบของนักศาสนา หรือประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือศาสนา แต่ว่าโดยจิตใจนั้นหามีศาสนาไม่ หามีพระอยู่ในใจไม่ แต่มีมารเข้าไปบงการอยู่ในใจของเรา โดยเราไม่รู้ในเรื่องนั้น ซึ่งเราเรียกว่า "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ก็เลยเกิดปัญหาเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น และเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาแล้ว ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าปัญหานี้มันเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น เราควรจะแก้ไขปัญหานี้ในรูปใด มันจึงจะหยุด จะจบกันเสียที ไม่คิดอย่างนั้น คิดแต่ว่าจะดันทุรังเรื่อยไป มันเข้าประเภท "วัวดื้อ" จูงก็ไม่เดิน ไล่หลังก็ไม่เดิน มันดันอยู่ตลอดเวลา แล้วจะไปรอดกันได้อย่างไร
เรื่องนี้น่าคิด สังคมในปัจจุบันมันสอนเราอย่างนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ สอนให้เรารู้ว่าคนใช้ศาสนาไม่ถูก เอาศาสนาไปใช้ผิดทางผิดที่ ผิดเวลา ผิดเหตุการณ์ ก็เลยเกิดปัญหาสับสนวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่เราควรคิดสอนใจไว้ เพราะมันเป็นบทเรียนสำหรับเราที่เป็นผู้นับถือศาสนา เราในฐานะเป็นพุทธบริษัท เราเรียกตัวเองว่า "พุทธะ" แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบาน แจ่มใสด้วยคุณงามความดี ก็ควรจะได้มองสิ่งที่มันผิดพลาดในสังคมมนุษย์ไว้ แล้วเราบอกตัวเราว่า “ขออย่าให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นในใจของเราเลย” “ขออย่าให้ความคิด และการกระทำเช่นนั้นมาเกิดขึ้นในใจของข้าพเจ้าเลย” “ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้อยู่ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีความยับยั้งชั่งใจได้ในปัญหาต่างๆ”
ถ้าเราคิดเตือนจิตสะกิดใจไว้ในรูปอย่างนี้ เราก็คงจะปลอดภัย จะไม่เกิดความวุ่นวายสับสนในปัญหาชีวิตด้วยประการต่างๆ การแสวงหาอะไรที่เป็นวัตถุ เราก็ทำอย่างมีธรรมะประจำจิตใจ ใช้ธรรมะเป็นหลักในการวินิจฉัยว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรกระทำ อะไรไม่ควรกระทำ เราวินิจฉัยด้วยหลักธรรมะ เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นบรรทัดฐาน แล้วพิจารณาสิ่งนั้นด้วยแยบคาย ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ แปลว่า การกระทำ(ใน)ใจโดยแยบคายในเรื่องนั้นๆ หรือพูดอีกแบบหนึ่งว่า พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบในเรื่องนั้นๆ ไม่ทำอะไรด้วยอารมณ์ ด้วยความผลุนผลัน ด้วยการขาดความพินิจพิจารณาในเรื่องนั้นๆ แต่ทำเพราะได้พิจารณาอย่างรอบคอบดีแล้ว และเห็นว่าถูกแล้วชอบแล้วแก่เรื่องนั้นๆ เราจึงทำลงไป เราก็จะไม่ลำบากด้วยปัญหาอะไรเลยแม้แต่น้อย
มีคนบางคนกระทำอะไรผิดพลาดลงไป แล้วก็บอกว่า “ไม่นึกว่ามันจะเป็นอย่างนี้” อันนี้แสดงว่าเวลาทำนั้นไม่ได้พิจารณา ไม่ใคร่ครวญเสียก่อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นิสัมมะ กะระณัง เสยโย แปลว่า ใคร่ครวญให้รอบคอบเสียก่อนจึงทำดีกว่า อย่าทำอะไรโดยมิได้ใคร่ครวญให้รอบคอบ เพราะจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ในภายหลัง
คนบางคนทำงานมาดีตั้งหลายปี แล้วก็มาผิดพลาดด้วยเรื่องเล็กน้อย ถูกออกจากงานไป กลายเป็นคนไม่มีงานทำ อันนี้น่าเสียดายในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำไมจึงได้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้น ถ้าศึกษาสาเหตุของเรื่องแล้ว จะพบว่ามัน(มี)หลายเรื่องเป็นสาเหตุ
เรื่องแรกก็คือเรื่อง การคบหาสมาคม เราชอบคบกับคนประเภทใจต่ำใจทราม คนประเภทที่ชอบทำอะไรตามใจตัวตามใจอยาก พวกที่หลงใหลมัวเมาในความสุขทางวัตถุมากเกินไป ชอบดื่ม ชอบเที่ยว ชอบสนุกสนาน ชอบใช้เงินเปลืองในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ เราไปคบกับคนประเภทอย่างนั้น แล้วก็ไปเที่ยวกับเขา ไปดื่ม ไปกิน สนุกกับเขา ชั้นแรกเขาก็จ่ายให้เรา แต่ต่อไปเราก็ต้องจ่ายเลี้ยงเขาบ้าง เที่ยวไปก็เพลินไป สนุกไป เลยลืมตัวว่า เรานี้คือใคร เรามีหน้าที่อะไร เราควรจะระมัดระวังตัวในรูปใด ลืมไป...พอลืมไปแล้วก็เลยทำอะไรผิดพลาดเสียหาย พอเสียลงไปแล้วเขาจับได้ ก็เลยต้องออกจากงานไป อันนี้นับว่าเป็นความเสียหายยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะชีวิตนี่มันไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นเรื่องจริงจัง เป็นเรื่องที่ควรจะระมัดระวังที่สุด
เดินไปไหนผิดพลาดแล้วมันล้มหัวแตก อาจจะถึง(กับ)ช็อกตายก็ได้ ถ้าเราไม่ได้พิจารณา คนเราบางทีมันพลาดไปในรูปเช่นนั้น แต่ว่ามักจะพูดว่า “แหม..ดวงไม่ดีจึงได้ผิดพลาดไป” มันไม่ใช่เรื่องดวงไม่ดี แต่มันเพราะเราคิดไม่ดี เราทำไม่ดี เราพูดไม่ดี เราไม่ได้คบกับคนดีไว้เป็นเพื่อน เป็นมิตรเป็นสหาย แต่ไปคบคนใจทรามเป็นมิตรเป็นสหาย เลยไหลไปกับสิ่งเหล่านั้น อันนี้สำคัญมาก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าพูดถึงเหตุภายนอกที่จะทำคนให้ดีหรือเสียแล้ว ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าการคบหาสมาคม
การคบหาสมาคมนี่ทำคนให้ดีก็ได้ ถ้าเราได้คนดีเป็นเพื่อน ทำคนให้เสียก็ได้ ถ้าเราไปได้คนชั่วเป็นเพื่อน มันมีอิทธิพลนักหนาทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนไว้อย่างนี้ แล้วยังกำชับไว้อีกว่า "ถ้าไม่มีเพื่อนที่ดีกว่าเราเป็นเพื่อนแล้ว ไปคนเดียวยังดีกว่า" เพราะการไปคนเดียวนั้นมันไม่ยุ่ง แต่ถ้าไปกับเพื่อนที่ไม่ดีแล้ว มันก็ยุ่ง มันมีปัญหา ต้องไปเข้าหุ้นกับเขาในเรื่องเสียด้วย แล้วได้รับส่วนแบ่งตามสมควรแก่การเข้าหุ้นกับเขา นี่มันคือความเสื่อมในชีวิต ซึ่งเป็นผลทางวัตถุ แต่มันก็กระทบกระเทือนจิตใจของเราเหมือนกัน เพราะมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ถ้าทุกข์หนักเข้าอาจจะทำอะไรที่มันไม่น่าจะทำไปอีกก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในชีวิตของคนเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังไว้
มีลูก มีหลาน มีคนในบังคับบัญชา เราก็ควรจะได้ตักเตือนบ่อยๆ วันละเล็กวันละน้อย เรียกมาแนะมาเตือนให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ ให้ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ อย่าให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย เพราะถ้าเกิดผิดพลาดเสียหายแล้ว อาจจะเกิดความเดือดร้อนมากกว่านี้ คอยเตือนเขาไว้
คนเราถ้าได้รับคำเตือนคำแนะบ่อยๆ ก็ไม่ค่อยจะทำการผิดพลาดอะไร มีข้อเสียอยู่ประการหนึ่งที่เรามักจะพูดกันทั่วไปว่า มันก็โตกันแล้วนี่นา จะต้องให้เตือนอะไรกันนักหนา อันนี้คือความเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่ามันโตแล้ว ทำไมจะต้องเตือนกันอีก นี่คือเราหลงผิดไป มันโตจริงนะ คนเรานี่มันโตทางร่างกาย แต่ว่าจิตใจอาจจะไม่เติบโตก็ได้ อายุ ๒๐ ปีแล้วเป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมาย เรียกว่า(บรรลุ)นิติภาวะ แต่ว่าจิตใจอาจจะไม่เติบโตก็ได้ ยังเป็นเด็กอมมืออยู่ก็ได้ ยังไม่รู้จักคิด ยังไม่รู้จักตรองในปัญหาต่างๆ แล้วอาจยังจะไม่คิดอะไรก้าวหน้าอะไรก็ได้ มีอยู่ถมไป ที่เป็นลูกของครอบครัวต่างๆ โตแล้วยังทำมาหากินไม่เป็น ยังไม่คิดทำงานทำการ ยังขอสตางค์คุณแม่ใช้ คุณแม่ก็เป็นน้ำบ่อทราย ให้ลูกตักไม่รู้จักหมดจักสิ้น ลูกก็เลยนึกว่า “ก็ยังมีกินมีใช้อยู่ จะไปขวนขวายอะไร” ก็เลยไม่ทำงานทำการ เพราะได้จากคุณแม่ใช้อยู่ อย่างนี้มันก็แย่ ชีวิตไม่ก้าวหน้า เพราะเขายังคิดว่าเขาเป็นเด็กอยู่ ยังต้องให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยง ยังขาดอย่างเดียวไม่ได้ป้อนข้าวให้มันกินเท่านั้นแหละ ยังหยิบข้าวกินเองได้ ถ้าถึงขนาดต้องป้อนข้าวแล้ว มันก็ควรจะทำเปลเห่ชาให้เขานอนสักอันด้วย อย่างนี้มันก็ไม่ไหว ชีวิตไปไม่รอด นั่นแหละเขาเรียกว่า โตแต่กาย ใจไม่เติบโต
เมื่อใจยังไม่เติบโตก็ต้องพูด ต้องแนะอะไรๆ กันไปตามเรื่องตามราว หาเรื่องพูดให้เขาเกิดความสำนึก รู้สึกผิดชอบชั่วดีในแง่มุมต่างๆ เพื่อเขาจะได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่า
เราเกิดมาทำไม ?
เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ?
สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไร ?
และเราได้กระทำสิ่งนั้นอยู่หรือเปล่า ?
อันนี้เขาจะได้เกิดความคิดขึ้นมา แล้วจะได้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งทั้งหลาย อันจะเป็นประโยชน์แก่ตนต่อไป เรื่องนี้ต้องเตือน อย่านึกว่าโตแล้วไม่ต้องเตือน...ไม่ได้ เพราะว่าโตแต่กายนี่ ใจยังไม่โต เราก็ต้องคอยเตือน คอยแนะ คอยบอกอยู่ตลอดเวลา
ท่านผู้ใหญ่บางคนท่านชอบเตือนคน ใครเข้าใกล้...เตือนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม เป็นคนสาว ผู้เฒ่า ซึ่งวัยต่ำกว่าท่าน ท่านก็เตือนก็บอกในเรื่องต่างๆ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ควร หรือควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะท่านเป็นผู้มีอายุมาก มีประสบการณ์ในชีวิตมากมาย ถ้าใครไปบอกว่าจะทำอะไร ท่านก็มักบอกว่ามันต้องอย่างนั้น มันต้องอย่างนี้ ท่านต้องชี้แนะให้เขา จะบวชลูก จะทำงานศพ จะแต่งงาน จะไปไหน ท่านต้องมีเรื่องเตือนทั้งนั้น เป็นผู้มีปกติชี้แนะอยู่ตลอดเวลา คนใดที่มีปกติชี้แนะอยู่อย่างนี้แหละ เรียกว่าเป็นคนดี มีชีวิตก้าวหน้า
เราจึงต้องสอนต้องเตือนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่อาจจะผิดพลาด อาจจะเสียหาย โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่นั้นต้องคอยเพ่งมองคนที่อยู่กับเราว่า เขาจะผิดอะไร จะพลาดอะไร มีอะไรควรบอก มีอะไรควรกล่าวเตือน เตือนไว้ก่อนเป็นการดี
พระพุทธเจ้าของเราท่านก็ทำอย่างนั้น เขาเรียกว่า “โอวาทอนุศาสน์” โอวาท คือ การสอนธรรมดา อนุศาสน์ ก็คือ การเตือนล่วงหน้า ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิต ให้ระมัดระวัง ไม่ประมาทในเรื่องนั้นๆ ทำทุกวัน ทุกเย็นเลย พระสงฆ์มาประชุมกันก็ต้องสอนทุกเย็น ชาวบ้านมาประชุมกันก็ต้องกล่าวสอนกล่าวเตือนทุกเย็น คนเข้าใกล้ก็ได้กำไรทางด้านจิตใจ อันเรียกว่า "กำไรเป็นกุศล"
กำไรที่เป็นกุศล นั้นทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เรารู้ในเรื่องอะไรต่างๆ ดีขึ้น จึงเป็นกำไรอีกประเภทหนึ่งที่ต้องแสวงหา ญาติโยมมาวัดนี่ก็อย่างนั้นแหละ มาหากำไรที่เป็นกุศล กำไรที่เกิดขึ้นจากการฟัง กำไรที่เกิดจากการอ่านหนังสือซึ่งรับ(กลับ)ไป(อ่านที่)บ้าน กำไรที่ได้มองเห็นสิ่งทั้งหลายรอบๆ ตัวเราว่า มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร ไปอย่างไร มีอะไรเป็นครูเราได้บ้าง ให้รู้ทั้งฝ่ายดี-ฝ่ายเสีย ฝ่ายบุญ-ฝ่ายบาป ฝ่ายกุศลและเป็นอกุศล เราได้รู้ได้ยิน มาวัดบ่อยๆ ก็ได้กำไรมากขึ้น มาทุกวันอาทิตย์ก็มีกำไรเพิ่มขึ้น ถ้าขาดไปเสียสัก ๒-๓ อาทิตย์ กำไรก็หายไป แล้วบางทีก็อาจจะสูญทั้งทุนด้วย เพราะไปทำอะไรๆ ลืมไป แต่ถ้าเรามาอยู่สม่ำเสมอ ก็เรียกว่าได้รับคำเตือนอยู่เสมอ
ทุกศาสนามีวิธีการเช่นเดียวกัน คือให้ศาสนิกในศาสนานั้นๆ ได้มาสู่ศาสนสถาน เช่น ไปมัสยิด ไปโบสถ์ ไปวัดไปวา ก็เพื่ออะไร? เพื่อจะได้ไปรับคำเตือนจากพระ รับคำเตือนจากผู้ทำหน้าที่สอนศาสนา จะได้เกิดความไม่ประมาท ไม่หลงผิดไปในเรื่องอะไรต่างๆ แล้วความเสียหายก็จะไม่เกิดขึ้น
ญาติโยมที่มาวัดอยู่ทุกวันอาทิตย์ๆ นี่ คงจะเห็นอยู่แล้วล่ะ เห็นผลว่า “อ้อ...มันดี เรามาแล้วดี” อย่างน้อยก็ได้ความสบายใจในขณะนั่งฟัง เพราะขณะฟังปาฐกถาธรรมนั้น บาปไม่เกิด อ่านหนังสือธรรมะอยู่บาปไม่เกิด เราเจริญภาวนาอยู่...บาปมันก็ไม่เกิด นี่มันได้อยู่แล้ว ได้อยู่ในตัวแล้ว แล้วก็ยังได้รู้อะไรอีกหลายอย่างหลายประการ ล้วนแต่เป็นกำไรในทางจิตใจของเราทั้งนั้น เราจึงได้มาเป็นประจำกันอยู่ แล้วก็บางทีก็ชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายที่ยังไม่เคยมาให้มาด้วย มารับแจกแบ่งสิ่งที่เป็นกำไรทางจิตใจกลับไปบ้าง เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
กำไรอย่างนี้เป็น "กำไรด้านใน" เป็นกำไรที่มีคุณค่า เป็นกำไรที่โจรผู้ร้ายปล้นไม่ได้ จี้เอาไปก็ไม่ได้ โจรมันปล้นเอาแต่เงินทองวัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่จะปล้นคุณธรรมของใครนั้นหาได้ไม่ มันเอาไปไม่ได้ เพราะไม่มีจิตใจที่จะรับสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ถูกปล้นของภายใน เว้นไว้แต่เราจะปล้นตัวเราเองด้วยการคิดผิด พูดผิด ทำผิด ไปในสถานที่ผิด ก็เหมือนกับเราปล้นตัวเราเอง เราก็จะสูญเสียกำไรด้านนั้นไป แต่ถ้าเราไม่เผลอ ไม่ประมาท สิ่งนั้นก็จะคงอยู่กับเราตลอดไป กำไรอย่างนี้จึงเป็นเรื่องดีมีประโยชน์
คนบางคนต้องการกำไรที่เป็นกุศลนี่ เดินทางไปไกลเพื่อจะไปเอากำไรที่เป็นกุศล ในสมัยโบราณก็มีเรื่องเล่าไว้หลายเรื่อง รู้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่โน่น...ไกลมาก เดินทางตั้งหลายวัน อุตส่าห์ไปเพื่อจะได้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ขอให้ได้ฟังสักนิดหน่อยก็ยังดี เดินทางเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอไปถึงก็ขอร้องทันที บอกว่า "ข้าพระองค์เดินมาไกล มาด้วยความประสงค์จะต้องการฟังธรรม ขอให้พระองค์พูดธรรมะให้ฟัง" พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "รอก่อน รอก่อน" (ยัง)ไม่พูดให้ฟัง เขาก็วิงวอน พระองค์ก็ยังไม่พูดให้ฟัง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น น่าจะให้ๆ เขาสมอยากเสียหน่อย แต่ว่าธรรมะนี่มันไม่ใช่อาหาร หรือน้ำ หรืออะไรที่เป็นวัตถุ (แม้)แต่อาหารหรือน้ำนี่ก็ไม่ได้นะ คนกำลังกระหายน้ำ...ให้กินน้ำไม่ได้ กำลังหิวข้าว...เอาข้าวมาให้กินไม่ได้ ต้องให้นิดๆ หน่อยๆ ให้กินมากไม่ได้ เช่นว่ากำลังกระหายน้ำ ร้อนเลย มาถึงก็กินจนเป็นลมไปเลย เขาเรียกว่าน้ำมันตีเอา เป็นลมคาขันน้ำไปเลย
คนโบราณเขามีห้ามล้อ ใครเดินทางไกลๆ มาขอน้ำนี่ เขาเด็ดใบไม้บ้าง อะไรบ้าง ใส่ลงไปในขัน เวลาพอดื่มอะไรมันมาขวาง ต้องหยุดเสียหน่อย เป่ามันออกไป แล้วก็พอดื่ม มันเข้ามาอีก เป่ามันออกไป มันยั้งอยู่ในตัว วิธีการเขาไม่ให้คนกำลังกระหายน้ำดื่มน้ำมากเกินไป เพราะจะถูกน้ำตีสลบไปได้ เขาจึงห้าม มาทำวิธีอย่างนั้น แต่ว่าทำอย่างนั้นบางทีของมันไม่สะอาด เช่น บอกว่าให้เด็ดใบจากที่มุงหลังคาใส่ลงไป สมัยเด็กๆ เคยได้รับคำสอนอย่างนั้น ไอ้ใบจากนั่นมันขี้ฝุ่นเยอะ ใส่ลงไปมันก็ไม่ดี แต่คนบ้านนอกเขาไม่ถือ เขากินกันทั้งนั้น ไม่มีอะไร แต่มานึกดูแล้วมันไม่สะอาด ถ้าเรามีดอกมะลิอะไรต่ออะไร ใส่ลงไปสักกำหนึ่งในขัน พอกินเข้าไป ดอกมะลิมาขวาง กิน...ดอกมะลิมาขวาง มันก็ห้ามไปในตัว กินช้าๆ ปลอดภัย ข้าวก็เหมือนกัน คนกำลังหิว ไม่ได้กินมาตั้งหลายวันแล้ว มาถึงยกให้สักชามเถอะ แล้วก็กินข้าวทีเดียวล้มเป็นลมไปเลย กินมาก กินจนแค่น ติดคอ กลืนไม่ลง เพราะว่าไม่ได้เคี้ยวนี่ รีบกลืน...รีบกลืน แค่นติดคอ ตายเหมือนกัน (อันนี้)นี่เรื่องวัตถุ
ในเรื่องธรรมะก็เหมือนกัน พระองค์เมื่อถูกเขาขอร้องให้แสดงธรรม พระองค์ไม่แสดง ทำไมจึงไม่แสดง เพราะว่าจิตยังฟุ้งซ่านอยู่ ยังไม่สงบ ร่างกายก็ยังเหน็ดเหนื่อย ให้นั่งพักเสียก่อน ให้นั่งพักให้สบาย ให้เย็นกายแล้วก็เย็นใจ แล้วจึงจะฟังธรรมกันรู้เรื่อง พระองค์จึงไม่พูดในเวลานั้น แต่ให้เขาเดินตามไปช้าๆ พระองค์ก็เดินช้าๆ เขาก็เดินตามไป ไม่พูดอะไรทั้งนั้น ให้เดินตามเท่านั้นแหละ
ความจริงก็แสดงอยู่ในตัวแล้ว (แม้)ไม่พูดแต่ว่าแสดงอาการให้ดู อาการที่แสดงออกนั้น คือความสุขทางใจ ความอิ่มเอิบในพระพักตร์ กิริยาท่าทางที่สงบเรียบร้อย นั่นก็คือธรรมะแล้วล่ะ เป็นการแสดงอยู่ด้วยการกระทำ ไม่แสดงด้วยคำพูด เพราะแสดงด้วยคำพูดยังไม่ได้ เดินไปๆ ถึงใต้ต้นไม้ใหญ่ ร่มดีก็นั่งลง นั่งแล้วก็ยังไม่พูด นั่งให้สบายให้สงบ แล้วค่อยพูดไต่ถามอะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยพูดธรรมะให้ฟัง คนนั้นจึงได้รับประโยชน์จากธรรมะ อันนี้ก็สำคัญอยู่เหมือนกัน เรียกว่าดูกาลเทศะที่ควรจะให้ ทั้งๆ ที่เป็นของเป็นประโยชน์ทางจิตใจ ก็ต้องพิจารณาก่อน สมัยก่อนก็เป็นอย่างนั้น
แต่สมัยนี้ก็เหมือนกันนะ เราจะพูดอะไรให้ใครฟัง ก็ต้องนั่งพักกันก่อน ค่อยๆ พูดค่อยจา หรือว่าคนบางคนเป็นฟืนเป็นไฟมา โกรธใครก็ไม่รู้ แล้วมาถึงไม่ทำอะไร พ่นแผล็บเดียว พ่นด้วยความโกรธเท่านั้นแหละ ปล่อยให้พ่นก่อน นั่งเฉยๆ เรานั่งฟังให้เขาพ่น ให้พ่นจนหมดฤทธิ์ พอหมดฤทธิ์แล้วก็นั่งนิ่ง ให้นั่งพักเสียก่อน แล้วจึงค่อยพูดค่อยจากัน จึงรู้เรื่อง ถ้าเราพูดในขณะที่อารมณ์ร้อนอยู่อย่างนั้น มันไม่เข้าไปในใจ มันตีออกหมด รับไม่ได้ จิตใจฟุ้งซ่าน จึงต้องให้สงบใจ
เรื่อง กำไรทางจิตใจ นั้น ต้องรับด้วยอาการสงบ แล้วก็ใจมันพร้อมที่จะรับ คล้ายดอกบัวที่จะบานในตอนเช้ารับแสงอาทิตย์ ถ้ายังไม่บาน ส่องลงไปมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องให้เขาบานก่อน พร้อมที่จะรับ แล้วก็พูดให้ฟัง คนนั้นฟังแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจ เอาไปปฏิบัติก็ได้ผลจากการปฏิบัติ อันนี้มีอยู่ในสมัยก่อน พระพุทธเจ้าท่านทรงกระทำอย่างนั้นแก่บุคคลที่มีความต้องการในด้านกำไรทางจิตใจ
สมัยนี้ ถ้าพูดกันไปแล้ว คนเราต้องการมากกว่าในสมัยก่อน เพราะสภาพวุ่นวายสับสนแห่งสังคม ปัญหามันมาก มีแต่ความร้อน ความวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ ทุกหนทุกแห่งเหมือนๆ กัน ไปที่ไหนก็พบคนประเภทอย่างนั้น ประเภทที่เรียกว่ามีปัญหา แล้วก็อยากจะแก้ปัญหา อยากจะรู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ว่าเรายังขาดบุคคลบางประเภท คือขาดคนที่จะไปช่วยทำให้เย็น ทำให้สว่าง ทำให้เกิดความสงบขึ้นมา มันยังไม่พอ เวลานี้คนมันไม่พอ
เมื่อวันศุกร์นี้อาตมาก็เดินทางไปสุราษฎร์ธานี ไปก็เพื่อแจกธรรมะให้แก่ประชาชนชาวบ้าน คนก็มาฟังกันเมื่อวานนี้...วันเสาร์ เวลาไปถึงลงรถไฟแล้ว พระนัดไว้ว่าจะมารับที่สถานี รถมันไปถึงตี ๕ ครึ่ง ลงรถก็เดินทั่วชานชาลา ไม่เห็นพระมารับ “เอ๊ะ ท่ามันจะไม่ได้ความแล้ว” ก็เลยเข้าไปในสถานี เข้าไปห้องนายสถานี นายสถานีแกก็ดี พอเห็นพระเข้าไปก็ยกมือไหว้ นิมนต์ให้นั่งแล้วก็ถามว่า “สว่างแล้ว ฉันอะไรได้บ้าง” บอกว่า “ฉันนิดๆ หน่อยๆ เอาน้ำชาสักถ้วย ปาท่องโก๋สักอันก็พอแล้ว” แต่เขาไม่เรียกว่า ปาท่องโก๋ เรียกว่า หยี่จาจุ้ย แกก็เลยให้เด็กไปสั่งน้ำชามาถ้วย ใส่นม ปาท่องโก๋อันหนึ่ง อันสั้นๆ ไม่ยาว สมัยก่อนมันยาวตั้งคืบ เดี๋ยวนี้มันเหลือนิดเดียว เอามาคู่หนึ่งก็นิดเดียว เอามาถึงก็ฉัน
ฉันเสร็จแล้วก็นึกว่า “เอ...ไม่ได้การแล้ว ป่านนี้ยังไม่มา” ต้องสืบสาวราวเรื่องหน่อย ฝากกระเป๋าเล็กๆ ไว้ที่สถานี บอกว่าอาตมาจะไปเดินดูตลาดหน่อย คือจะไปโทรศัพท์ถามพระในเมืองว่าเขามีงานกันจริงหรือเปล่า เพราะว่าเขามานิมนต์ไว้ตั้ง ๓ เดือนแล้ว นิมนต์แล้วก็หายไป ไม่ได้ส่งข่าวส่งคราวอะไร อาตมาก็จดไว้ ก็ต้องไปตามที่จดไว้ แต่ทางโน้นไม่ได้ติดต่อมาอีก ก็เลยว่า “เอ๊ะ...อาจจะเลิกไปเสียแล้วก็ได้ จึงไม่มารับ” ก็เลยไปถึงร้านนั้น เด็กหนุ่มนั่งขายของหน้าร้าน ยกมือไหว้ พอเห็นเขายกมือไหว้ก็เลยเข้าไป "เออ...ร้านเธอมีโทรศัพท์ไหม" (เขาตอบ) "มีครับ" "แล้วมีสมุดรายชื่อโทรศัพท์ไหม" "มีครับ" "ขอหน่อย" ก็ค้นดูว่าวัดไตรธรรมารามนี่มันเบอร์อะไร ก็เลยโทรไป(หา)เจ้าคณะจังหวัด บอกว่า
"ผมปัญญานันทะ มาอยู่ที่สถานีเวลานี้ เขานิมนต์ไปเทศน์ที่คีรีรัฐนิคม งานทำบุญอายุท่านพระครูเพื่อนกัน เขาทำหรือเปล่าครับ"
"อ้อ ทำๆ"
"อ้าว แล้วใต้เท้าไม่ไปหรือ"
"ติดธุระอื่น ไปไม่ได้"
"แล้วเขาไม่มารับ ผมจะไปอย่างไร"
"เอ้อ ไปรถไฟก็ได้"
"รถมันออกแล้วตั้งแต่เช้านะ"
"ยังมีอีกสาย มีอีกขบวน เดี๋ยวกลับมาก็ไปอีก รอไปแล้วกัน"
เลยนั่งคุยธรรมะกับเจ้านั่น คนหน้าร้าน(ที่)ขายของน่ะ พอนั่งประเดี๋ยว เขาเอาหนังสือมาเล่มหนึ่ง (แล้วพูดว่า) "ผมอยู่ที่นี่อ่านหนังสือท่านพุทธทาสมาก แต่ไอ้รายนี้เขาด่าท่านเจ้าคุณทั้งเล่มเลย หลวงพ่ออ่านหรือยัง" บอกว่า "ฉันไม่อ่านละ อ่านก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เลยไม่อ่าน ดูหน้าปกก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เขียนด้วยธรรมะ เขียนด้วยอารมณ์ เอากิเลสเข้าใส่ เป็นของนักอภิธรรมเขาเขียนขึ้น โต้ท่านพุทธทาสเรื่องจิตว่าง แล้วก็เขียนข้างในเรื่องอย่างนั้นๆ ไม่มีในคำสอนอะไร ว่าไปตามเรื่องตามอารมณ์ของเขา" เขาก็ถามว่า "มันจริงหรือเปล่าที่เขาว่านี่" บอกว่า "ฉันจะบอกว่าจริงก็ไม่ได้ ว่าไม่จริงก็ไม่ได้ เธอต้องอ่านเอง อ่านทั้ง ๒ ฝ่าย เอามาเปรียบเทียบกันว่าอันไหนมีหลัก อันไหนไม่มีหลัก ต้องพิจารณาด้วยปัญญา ถ้าฉันบอกก็มันอาจจะเข้าข้างท่านเจ้าคุณก็ได้ เพราะว่าร่วมงานร่วมการกันอยู่ เธอฟังแล้วก็บอกว่า เอ้อ...ท่านปัญญามันก็พวกเจ้าคุณท่านก็ว่าอย่างนั้นแหละ เพราะอย่างนั้นฉันจะบอกว่าเจ้าคุณถูกหมดก็ไม่ได้ เธอคิดเอาเองก็แล้วกัน" เราอย่าไปบังคับเขา ให้เขาคิดเอาเอง
เขาบอกว่า "ผมคิดแล้วว่าเจ้าคุณนี่ถูกนะ ไอ้นักเขียนโต้นี่มันไม่ได้ความเพราะว่ากิเลสมันมีตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย แหม ผมเอามาวางไว้อย่างนั้นแหละ ผมไม่ได้อ่านหรอก ซื้อมาเสียดายสตางค์อยู่เหมือนกัน" เลยบอกว่า "ทีหลังจะซื้ออะไร มันต้องดูให้มันตลอด อย่าไปซื้อง่ายๆ เล่มหนึ่งตั้ง ๑๐ บาท " เสียเวลาคุยกันพอสมควรก็มาสถานี พบเด็กยกมือไหว้
"โอ้ ผมมารับหลวงพ่อ"
"อ้าว...ทำไมมาสาย"
"รถมันไม่ปกติ" ว่างั้น (ก็เลยมาสาย)
"มากี่คน"
"พระมาด้วย"
"แล้วพระไปไหน"
"ไปที่วัด จะไปสืบว่าท่านเจ้าคุณไป(ที่)โน่นหรือเปล่า"
“เปล่า...ฉันอยู่นี่ นั่งอยู่ตรงร้านนั้น...ร้านแมวดำ” บอก “ไป เธอไปตามพระมา” เลยขึ้นรถไปกันเลย
ไปถึงนี่คนมาเยอะแล้ว มานั่งกันอยู่เต็มบริเวณ ไปถึงก็...เขาบอกว่า “นิมนต์ฉันอาหารก่อนนะ” บอกว่า "ไม่ต้องหรอก...ฉันแล้ว ฉันเสร็จแล้วเมื่อตอนเช้า ฉันไม่ได้ฉันมากอะไร ฉันนิดหน่อย" เขาว่า “ถ้างั้นเทศน์ได้เลย คนพร้อมแล้ว” ๙ โมงครึ่งเขาก็ให้เทศน์ เทศน์จนถึง ๑๑ โมง ๑๐ นาที หยุดฉันเพล แล้วก็ทำอะไรต่อไป คนที่มาฟังกันนั้นเขาก็นั่งฟังกันเรียบร้อยดี
เสร็จแล้วก็มีคนผู้ชายคนหนึ่งขับรถมาส่งตอนบ่าย แกบอกว่า “ผมนั่งฟังหลวงพ่อข้างในพอสมควรแล้วผมลุกขึ้นนะ หลวงพ่อคงเห็น ที่ลุกขึ้นน่ะไม่ใช่เรื่องอะไร อยากจะไปดูคนข้างนอกว่ามันฟังจริงหรือเปล่า หรือมันนั่งคุยกัน หรือมันทำเรื่องอื่น” บอกว่า “น่าชื่นใจ มันฟังจริงๆ มันหัวเราะตอนที่น่าขบขันที่หลวงพ่อพูด มันก็หัวเราะ แล้วมันก็ฟังกันเรียกว่าไม่ได้ละเลยเพิกเฉย ตั้งใจฟังดี แล้วก็พอเทศน์จบแล้ว ผมก็ถามว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าเทศน์อย่างนี้มันก็ค่อยน่าฟังสักหน่อย” ก็ว่าอย่างนั้น คือมันฟังได้
แล้วเขาก็บอกว่า “นี่แหละครับ ที่นี่ไม่ค่อยมีใครมาเทศน์ มีเหมือนกันนะ พระมาเทศน์ แต่คนมันไม่ค่อยฟัง ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เขาไม่มาฟัง หลวงพ่อจะมีโอกาสมาอีกสักครั้ง สองครั้งได้ไหม” บอก “มันก็ได้ล่ะ ถ้าว่างแล้วมันก็มาได้ ต้องไปที่ลึกเข้าไปอีกในป่าเข้าไปอีกหน่อย คนมันจะได้มาฟังบ้าง ถ้าได้ฟังแบบนี้สัก ๓-๔ ครั้งในปีหนึ่ง มันจะดีขึ้นนะคนมันจะดีขึ้น ได้ล้างมันเสียบ้าง มันค่อยจะดีขึ้น ปกตินี่ไม่ค่อยได้ล้างกันเลย มันไม่ได้อาบน้ำธรรมะ อาบแต่น้ำในคลองพุมดวงนี่มันไม่ไหวแล้ว” ว่างั้น
อันนี้แสดงให้เห็นว่า คนต้องการกำไรด้านนี้ แต่ว่าไม่มีคนไปให้ หรือให้แต่มันไม่เหมาะกับผู้รับ ก็ยังไม่เกิดคุณค่าทางจิตใจ จึงจะต้องแสวงหาคนที่จะไปให้ ส่วนคนรับน่ะไม่ต้องล่ะ มันพร้อมอยู่แล้ว ถ้าเราไปให้ให้เหมาะแล้ว มันก็ได้เรื่องได้ราว ทำอย่างนี้ก็เรียกว่า แจกสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา ให้เขาได้รู้ ได้เข้าใจในสิ่งควรรู้ควรเข้าใจ
ชาวบ้านทั่วๆ ไปนั้น ทำอะไรผิดกันอยู่ เพราะไม่มีคนสอน ไม่มีคนเตือนจึงได้ทำผิด ถ้าเราไปสอนไปเตือนให้รู้ให้เข้าใจแล้ว เขาก็ไม่ดื้ออะไรหรอก เพราะอะไร ? เพราะว่าคนทั้งหลายอยากดีกันทั้งนั้น อยากดี อยากจะเจริญ อยากจะได้บุญได้กุศลทั้งนั้น แต่ว่าที่เขาทำไปเพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ใช่บุญ สิ่งนั้นไม่ใช่กุศล ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า เวลาทำศพนี่ เขาเล่นการพนันกันบ้าง เลี้ยงเหล้ากันบ้าง บางแห่งขนาดหนักแล้ว รำวงกันในงานศพ เสียงเหมือนกับมีงานสนุกกันอย่างนั้น นี่งานศพ เขาทำอย่างนั้น เพราะเขานึกว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อคุณแม่คุณพ่อที่ตายไป แล้วบางคนก็บอกว่าทำให้มันเต็มที่เพราะแม่คนเดียว แต่ว่าเต็มที่ในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เรื่องบาปหรือเรื่องบุญก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เห็นเขาทำกันก็ทำตามกันมา ไม่มีใครไปบอกว่ามันไม่ถูก ทำอย่างนั้นมันไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นสัตถุศาสน์ของพระพุทธเจ้า เขาไม่รู้ เขาก็ทำไปตามเรื่องเขา
แต่ถ้ามีใครไปสะกิดบอกว่า “นี่นะไอ้ที่เราทำอยู่นี่มันไม่ได้เรื่องนะ มันไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศลนะ แล้วเราจะกรวดน้ำแผ่ไปได้อย่างไร ไอ้ในตัวมันไม่มีสักหน่อย แล้วจะไปกรวดอะไรให้เขา พ่อแม่มารับก็เก้อไปเท่านั้นเองน่ะ” พูดไปอย่างนั้น ก็เกิดงงงันขึ้นมา “แหม ไอ้ที่ทำๆ มาแล้ว มันไม่ได้เรื่อง แล้วทำไมไม่มีใครบอกล่ะ ไม่ให้รู้ในเรื่องอย่างนี้” เอาล่ะทีนี้จะไปเล่นงานพระเจ้าถิ่นเข้าแล้วละทีนี้ อันนี้มันก็ยุ่งเหมือนกันนะ พอไปเทศน์แล้ว พระเจ้าถิ่นบอก "ไม่ไหวเจ้าคุณ มาเทศน์แล้วทำให้ผมเสียผู้เสียคน" ว่าอย่างนั้น เลยชาวบ้านเขาไปต่อว่า “ทำไมไม่บอกมั่งล่ะ ที่ทำมาน่ะทำไมไม่บอก”
พระท่านไม่กล้า เกรงใจคนเหล่านั้น เพราะบางคนมันมีอิทธิพลเสียด้วยนะ (เช่นพวก)นักเลงหัวไม้ เวลาทำงานศพ มันทำชั่วทุกอย่างนะ แต่มันนึกว่าบุญ ภูมิใจว่า “แหม ทำงานศพคุณแม่คราวนี้ เต็มที่เลย ทำเต็มที่เลย” ถามว่ามีอะไรบ้าง “มีนั่น...มีนี่” คุยจ้อเลย อวดวิเศษขึ้นมาแล้วนะ ทั้งๆ ที่ไม่วิเศษอะไรเลย อันนี้ถ้าคุยอย่างนั้น บอกว่า “แหม ทำอย่างนี้ที่เรียกว่าตอบแทนบุญคุณนะ” พอพูดให้ฟังแล้วแกสลดใจ เคยมีนะ สลดใจเลย บอกว่า “แหม เสียเงินเสียทองไปเยอะแยะ” ที่บ้านนั้นก็มีพระเล่าให้ฟัง มีรายหนึ่งแม่ตายแล้วก็ทำบุญเต็มที่ มันเล่นการพนันกันนะชาวบ้าน คนเอาเงินมาอนุโมทนา จดบัญชีใส่ขันไว้ พวกนักการพนัน ๒-๓ คนมันแพ้ มาถึงก็ขยุ้มเอาในขันนั้น (มาเอา)ไปเล่นต่อ มาขยุ้มเอาไปเลย ไม่บอกไม่กล่าว ไม่บอกว่าหยิบว่ายืมอะไร ขยุ้มเอาไปเท่านั้นล่ะกำไปเลย เอาใบเขียวใบเหลืองก็ตามใจกู ขยุ้มเอาไปเลย
พอเสร็จงานแล้ว เจ้าภาพบ่นกับเพื่อนฝูงมิตรสหายว่า "กูทำบุญคราวนี้ ไม่ได้เป็นบุญเป็นอะไรเลย ไม่ได้เรื่อง ไอ้พวกนี้มันเอามาช่วยจริง แต่มันเอาคืนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ นับดูเหลือเท่าไร ถวายพระให้หมด ถวายวัดให้หมด อย่าเอาไปบ้าน...ไอ้เงินพวกนี้" แล้วก็ยังไม่ได้เผาศพแม่ เอาเก็บไว้ บอกว่า “เวลาเผานี่ต้องทำใหม่ ต้องทำให้มันเป็นบุญเป็นกุศลสักหน่อย พระท่านบอกให้ฟัง” แล้วบอกว่าถ้าเขาจะทำศพนี้ ต้องนิมนต์หลวงพ่อมาเทศน์สักที เทศน์ให้มันดังเสียสักทีในบ้านนี้ว่าไอ้ทำอย่างนี้มันเป็นอย่างไร ว่า “เอาละ เอาๆ เตรียมไว้ บอกเนิ่นๆ นะ จะมากันสักที ผ่าเปรี้ยงสักทีตรงนี้ มันมืดมานานแล้ว ฝนไม่ตกมานานแล้ว เอาสักที” ว่าอย่างนั้น เรื่องมันเป็นอย่างนี้
นี่มันเป็นอย่างนี้ คนมันอยากรู้ อยากได้ อยากดี แต่ว่าไม่มีใครบอก เขาก็เลยทำตามประสีประสาที่เขาทำกันมา นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ในที่ทั่วๆ ไป จึงเป็นความจำเป็นแล้วที่จะต้องช่วยกันให้สิ่งถูกต้องมันแพร่หลายออกไป
เขาก็ฟังวิทยุเหมือนกัน คนแถวนั้นได้ยินเหมือนกัน โดยเฉพาะวิทยุ (กระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์) วันอาทิตย์แรกของเดือน ญาติโยมบอกว่าเคยฟัง “วันอาทิตย์แรกนี่ฟังทุกครั้งนะ วันอาทิตย์ที่ ๓ ของท่านพุทธทาสก็ฟัง ส่วนอาทิตย์อื่นๆ ฟังบ้าง ไม่ได้ฟังบ้าง” แต่ ๒ อาทิตย์นี้นี่หมายไว้ไม่พลาด เขาฟังอยู่ แล้วก็เข้าใจในเรื่องอะไรต่างๆ ที่ควรกระทำ และไม่ควรกระทำ เขาเข้าใจ...อาศัยวิทยุสื่อสารนี้ แต่นี่วิทยุเรานี่มันยังสื่อสารที่เป็นประโยชน์น้อยไป ควรจะให้มากกว่านั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้มากกว่านั้น คนจะได้เข้าใจอะไรถูกต้องขึ้น
เวลาไปไหนๆ แล้วก็สังเกตดูสภาพความเป็นอยู่ของพุทธบริษัททุกหนทุกแห่งแล้ว มองเห็นว่ายังมีงานอีกมากที่จะต้องทำกับคนเหล่านั้น ยังจะต้องสอนกันอีกมาก สอนกันจนหมดลมหายใจก็ยังไม่หมดงาน เพราะว่ามันมาก...ไม่ทั่วถึง ที่จะต้องแก้ต้องปรับปรุง ต้องส่งเสริมอะไรให้ดีขึ้นนี่ยังอีกมากมายก่ายกอง ซึ่งจะต้องทำแก่คนเหล่านั้น
แต่ว่ามันยังขาดปัจจัยสำคัญ คือว่าคนนี่ ไอ้เรื่องอื่นไม่กลัว เรื่องเงินทองนี่ไม่กลัว เพราะว่าถ้าต้องการจะไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประกาศตูมตามมันก็ได้แล้วเงินทอง แต่คนนี่ลำบากเหลือเกิน ที่จะเอาคนที่เข้าใจงาน เสียสละ มีน้ำใจรักเพื่อนมนุษย์ รักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริงนั้นหายาก...หายาก ทำชั่วครั้งชั่วคราวพอหาได้ ชั่วแล่นเพื่อให้มีชื่อมีเสียง ให้ดังขึ้นมาสักหน่อย แล้วก็หล่นตุ๊บลงเหมือนกับจรวดที่ขึ้นไปบนฟ้าในงานศพ จุด...ปรู๊ดมันขึ้นแล้ว ขึ้นแล้วมันลงไปเสีย อย่างนี้พอหาได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ที่จะให้ตั้งใจทำงานจริงจัง มอบชีวิตจิตใจให้แก่งานนั้นยังหายาก...หายาก
ท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านจึงพูดบ่อยๆ ว่า "ผมทำงานมา ๕๐ ปีแล้ว ยังหาคนจริงจัง แท้จริงยากเหลือเกิน" มันมีจริงชั่วคราว จริงพักหนึ่ง แล้วก็หายไป มันจริงเท่านั้นเอง ไม่เอาจริงเอาจัง คือไม่มีฐานทางจิตใจในการที่จะทำงานให้ก้าวหน้า มีความมุ่งหวังเพียงบางสิ่งบางประการ เช่นว่าทำเพื่อได้ชื่อเสียง ทำเพื่อให้เด่นดัง ญาติโยมจะได้รู้จัก แล้วจะได้รับผลประโยชน์อะไรๆ ตามสมควร มันเพียงขั้นนั้น ไม่ได้เข้าถึงขั้นที่ว่า ทำงานเพื่องาน หรือทำงานเพื่อพระพุทธเจ้า เพื่อพระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง ไอ้ขั้นนี้มันยังหายาก ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในจิตใจคน แล้วเพาะไม่ได้เสียด้วย เสกไม่ได้ เสกไม่ค่อยได้
เสกคนให้เป็น "พุทธะ" ยังยาก แล้วจะไปเสก ดิน ทองเหลือง หรือว่าว่านให้เป็นพุทธะนี่ทำได้อย่างไร มันน่าคิดนะ ไอ้ที่เขาเสกกันอยู่บ่อยๆ พุทธาภิเษก ตั้งกองอะไร ก็พระไปนั่งหลับตาเสกกันอยู่ เสกคนให้เป็นพุทธะยังไม่ไหวเลย แล้วจะไปเสกว่าน เสกทองเหลือง เสกดินที่เขาผสมให้เป็นรูปพระพุทธเจ้า...แล้วให้เป็นพุทธะนี่ มันจะได้อย่างไร คนยังเสกไม่ไหวเลย จะไปเสกวัตถุให้เป็นได้อย่างไร มันเป็นไม่ได้ แต่ก็ขยันเสกกันในเรื่องนั้น เพราะว่า เสกทีไรก็ได้ทุกที...กำไรทางวัตถุ ไม่ใช่กำไรทางจิตใจ เรียกว่าได้วัตถุย่ามตุงกันไปตามๆ กัน นี่วัตถุทั้งนั้น
ส่วนเสกให้เป็นพุทธะ คือเสกคนให้เข้าถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงธรรมะ เข้าถึงสังฆะอย่างแท้จริงนั้นยังยาก ได้เพียงนิดๆ หน่อยๆ ผิวๆ เผินๆ แบบผักชีโรยหน้าพอหาได้ แต่จะลึกซึ้งลงไปในจิตใจ ยอมทุกอย่างเพื่อพระศาสนานี่ยังหายาก หาไม่ค่อยได้ โลเล เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ ตามสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาโน้มน้อมจิตใจไกวไปตามนั้น เหมือนกับธงปลายเสา โยมเห็นไหมธงอยู่ปลายเสาโน้น พลิ้วๆ อยู่ตลอดเวลาเลย ไม่แน่วแน่ (54.43 เสียงไม่ชัดเจน) ธงปลายเสานะ จิตใจคนเราเป็นอย่างนั้น อารมณ์มากระทบก็ไปตามเรื่องตามราว จึงยังหายากคนประเภทนี้ ยังหาอยู่เวลานี้ ก็ยังต้องการนี่ หวังเหลือเกิน...ที่จะให้มีคนเสียสละ ทำจริงในด้านเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน โดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน นอกจากหวังผลกำไรที่เป็นกุศล ต้องการให้คนรู้ ให้คนเข้าใจจริงจังเท่านั้น ส่วนผลวัตถุนั้นมันเกิดตามเรื่องตามราว ไม่ต้องตกใจหรอก มีเองได้เอง คนเขาให้ เขาช่วยการงานเอง แต่ว่าอย่าไปหวังอย่างนั้น ให้หวังแต่เพียงว่าเอากำไรทางจิตใจ ให้คนได้รู้ธรรมะ เข้าถึงธรรมะ ช่วยกันปฏิบัติธรรมะให้มากยิ่งขึ้น อันนี้ลำบาก ซึ่งจะต้องช่วยกันเหมือนกัน
ช่วยกันแต่พระก็ไม่ได้ ญาติโยมต้องช่วยด้วย โยมช่วยอย่างไร คือว่าเราเห็นพระรูปใดมีความรู้ มีความสามารถ ช่วยยุ ช่วยเชียร์ให้อยู่ต่อไป ให้รักษาพระศาสนา ให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้า ให้เป็นทหารอาสาสมัครของพระพุทธเจ้า อย่าไปเป็นอาสาสมัครของชาวบ้านเลย ยุกัน ช่วยยุ ช่วยแหย่ ช่วยเชียร์ ก็เรียกว่ากองเชียร์ พูดให้เห็นความทุกข์บ่อยๆ ความทุกข์ในบ้าน ความทุกข์ในการงาน ในอะไรต่างๆ
เมื่อคืนนั่งรถมานี่ก็ดูครอบครัวหนึ่งมากัน พ่อบ้านเด็กหนุ่ม ภรรยา คนใช้คนหนึ่ง แม่บ้านนี่นอนพักอยู่ คงจะไม่สบายหรืออะไร แต่เห็นนอนมาก แต่พ่อบ้านนี่วุ่นอยู่กับลูก ๒ คน เดี๋ยวลูกคนนั้นจะถ่าย เดี๋ยวลูกคนนั้นจะกินนม เดี๋ยวอุ้มลูกคนนั้น เดี๋ยววางลูกคนนี้ อาตมาก็นั่งสังเกตดู “อืม พ่อบ้านคนนี้น่ารัก เอาใจใส่ในเรื่องลูกเหลือเกิน” ไม่เป็นอันหลับอันนอนละ แต่แม่บ้านขึ้นไปนอนแล้ว เข้านอนแล้ว แต่ว่าพ่อบ้านนี่ยังขลุกอยู่กับลูก ดูๆ ก็นึกในใจว่า อืม...นี่เขาดี
แต่นึกไปอีกแง่หนึ่งว่านี่แหละคือความทุกข์ของครอบครัว คนที่ไปเป็นครอบครัวนั้น ไปรับภาระ ไอ้ทุกข์ของเรานี่มันก็พอแล้วล่ะ แต่ละคนนี่เขาเรียกว่ามี ๕
ภารา หะเว ปัญจักขันธา โยมสวดนะ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระหนักเน้อ หนักอะไร ? หนักที่จะต้องบริหารมัน ต้องหาน้ำให้มันอาบ ต้องหาอาหารให้มันกิน ต้องหาเครื่องแต่งตัวมานุ่งห่มให้ หาบ้านเรือนให้อยู่อาศัย หาเพชรนิลจินดามาประดับตรงนั้น มาประดับตรงนี้ เห็นไหม...มันหนักเหลือเกิน ไอ้ ๕ นี่ก็หนักอยู่แล้ว หนัก ๕ ไม่พอ ไปหามาอีก ๕ เอามาช่วยหนักกัน คือไปแต่งงาน แต่งงานก็เรียกว่าเพิ่มเข้าอีก ๕ ช่วยหนัก...ช่วยหนัก แล้วต่อไปก็ลูกออกมา ๕ เดี๋ยวก็ออกมาอีก ๑ ก็ ๕ ออกมาอีก ๑ (ก็) ๕
ครั้งแรกมันมี ๑๐ กลายเป็น ๑๕ เป็น ๒๐...๒๕...๓๐ เพิ่มหนักขึ้นไป หนักนะ อาตมานั่งดูๆ นี้มันความหนัก ไอ้เรานี่นับว่าบุญหนักหนา ที่ไม่ต้องหนักอย่างนั้น มันหนักเพียง ๕ ไม่ต้องถึง ๑๐ ถึง ๑๕ (หรือ) ๒๐
สบายใจ...มองแล้วก็สบายใจ ตื่นเช้าก็เอาอีกแล้ว พ่อบ้านก็ตื่นก่อนนะ จัดแจงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เออ...ดีเหลือเกิน เวลาลงจากรถนี่ก็นึกว่าชมเขาหน่อย เลยบอกว่า “แหม ฉันเห็นเธอมาตั้งแต่ตอนเย็นจนตอนเช้านี่ รู้สึกเลยว่าเธอนี่เป็นพ่อบ้านที่ดีเหลือเกิน ขอให้ดีอย่างนี้ตลอดไปนะเธอนะ” แล้วก็ลากัน ฉันลงรถที่บางซื่อ กลับวัดเท่านั้นเอง อันนี้มันเป็นอย่างนั้น เห็นแล้วอย่างนั้น
เดินทางนี่เป็นภาระที่จะต้องเลี้ยงต้องดู เหมือนเราๆ ทั้งหลายมีลูก ก็ต้องเลี้ยง ต้องเอาใจใส่ โยมที่แก่แล้วนี่เลี้ยงมาเท่าไร เลี้ยงลูกแล้วก็ตามไปเลี้ยงหลาน ถ้ายังแข็งแรงเขาเอาเหลนมาให้เลี้ยงอีก ใช้จนตาย ยังใช้ได้ก็ใช้เรื่อยไป ไม่ยอมหยุดยอมยั้งนะ
ภาระในชีวิตของคนเรามันก็มีอย่างนั้น แต่ถ้าเราทำด้วยใจที่เป็นธรรม มันไม่เป็นทุกข์ ทำเพียงสักแต่ว่าหน้าที่ที่จะต้องทำ ไม่ทุกข์โยม แต่ถ้าทำเพราะไม่รู้ ทำแล้ว(ใจ)มันทุกข์ ต้องบ่นเรื่อย “เลี้ยงกันไม่รู้จักจบ เลี้ยงลูกแล้วยังต้องเลี้ยงหลานอีก นี่มันเอาเหลนมาให้เลี้ยงอีก” อันนี้นี่ทุกข์แล้วใช่ไหม เลี้ยงด้วยความวิตกกังวล แต่ถ้าเรานึกว่า “เออ ทำอะไรได้ ก็ทำไปตามหน้าที่ เป็นงานเป็นการตามหน้าที่ อย่าไปยึดไปถือมัน อย่านึกว่าลูกเราหลานเรา นึกแต่เพียงว่า หน้าที่จะต้องช่วยกัน ก็ทำกันไปตามเรื่อง” ใจมันก็สบาย...ไม่ค่อยเดือดร้อน อันนี้ต้องเอาธรรมะเข้าช่วย ถ้าเราเอาธรรมะเข้าช่วย ใจก็ค่อยสบาย ไม่กังวลอะไรมากเกินไป
เรื่องนี้ขอฝากให้คิด สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ ๕ นาที นั่งสงบใจ นั่งตัวตรง หลับตา(จะ)ได้ไม่ยุ่ง หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ ให้สติมากำหนดอยู่ที่ลมเข้าลมออก ไม่วิ่งไปไหน เผลอไป (ก็)ดึงกลับมาอยู่ตรงนี้ ๕ นาที