แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ โยมที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนน ไปหาที่นั่งเสีย หิ้วปิ่นโตไปหิ้วปิ่นโตมาไม่รู้จะไปวางตรงไหน ไปนั่งให้เรียบร้อย ที่มีต้นไผ่(ไม่แน่ใจ) แล้วก็ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ตรงกับวันพระอีกเหมือนกัน แต่วันพระวันนี้คือ วันดับ เดือน ๔ คนไทยโบราณถือว่าวันดับเดือน ๔ เป็นวันสิ้นปี เพราะในสมัยก่อนถือเดือนเมษาเป็นต้นปี เพราะฉะนั้นขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เขาเรียกว่าเป็นวันปีใหม่ เป็นวันตรุษไทย เขามีการไปวัดไปวาทำบุญกันเป็นการใหญ่ ถ้าไปในวัดชนบทกันในวันนี้ ญาติโยมจะไปทำบุญในวัดกันเป็นจำนวนมาก มากกว่าวันใดๆ สำหรับในกรุงเทพฯเรานั้น ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าใดแล้ว เพราะว่าวันปีใหม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่ก็ยังมีมาบ้าง โดยเฉพาะวันนี้ตอนเช้าก็มีญาติโยมหิ้วปิ่นโตกันมา เพื่อมาทำบุญตามประเพณี การทำบุญตามประเพณีนั้น ก็มุ่งมาถวายอาหารแก่พระ ถวายอาหารเสร็จแล้วก็รีบกลับบ้าน เพื่อไปทำอะไรตามหน้าที่ต่อไป นั่นเรียกว่าทำตามประเพณี แต่ถ้าเราจะทำให้ได้ผลตามวันตรุษวันสงกรานต์ หรือว่าวันตรุษไทยก็ต้องมาศึกษาธรรมะ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องชีวิต จะได้ปฏิบัติจนให้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบมากยิ่งขึ้น
แต่ว่าโดยมากคนไม่ค่อยจะสนใจในการศึกษาเท่าใด สังเกตเห็นง่ายๆว่ามีการพูดธรรมะอยู่ บางคนก็ไม่สนใจจะฟัง เช่นว่ามีการพูดธรรมะทางวิทยุเหมือนเมื่อเช้านี้ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสพูดเรื่องธรรมะกับเศรษฐกิจ ฟังดูแล้วก็มีอะไรเป็นความรู้ใหม่ๆ ซึ่งน่าฟังน่าสนใจ แต่ว่าญาติโยมบางทีก็ ไม่สนใจ กลับไปอ่านป้ายที่เขาเขียนนานแล้วเสียบ้าง หรือว่าไปทำเรื่องอะไรอื่นเสียบ้าง อย่างนี้แสดงว่าจิตใจไม่ได้สนใจสิ่งที่ควรฟัง ที่ไม่สนใจนั้นก็อาจจะเนื่องว่าไม่รู้ว่าพระองค์ใดพูด เราโดยมากเราก็มักจะติดคนเทศน์อยู่เหมือนกัน ถ้าองค์นั้นเทศน์ เออ ฟังหน่อย ถ้าพระองค์อื่นเทศน์ไม่ฟัง อย่างนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ความจริงเมื่อเป็นเสียงธรรมะออกมาจากลำโพงขยายเสียง เราก็ควรจะตั้งใจฟัง เพราะว่าเสียงเป็นเสียงพระธรรม เป็นเสียงที่ฟังได้ ให้ประโยชน์กับเราผู้ต้องการฟังอยู่ ก็ฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ จึงจะได้ประโยชน์จากการฟัง มีคนมาหาอาตมาเมื่อเช้ามาไกล มาจากชุมแสง จะมานิมนต์ให้ไปเทศน์งานศพ ก็มาถึงพอดีเสียงวิทยุธรรมะดัง อาตมาบอกว่านั่งเถอะฟังเทศน์กันเสียก่อน แล้วจึงค่อยพูดอะไร เขาก็เลยนั่งฟังกันอยู่สองคน อีกสองคนนั้นไม่ฟัง ลุกขึ้นเดินไปเดินมา หรือว่าฟังเหมือนกันแต่ว่าเดินฟัง แต่ว่าดูท่าทางแล้ว ไม่ได้ฟังเท่าใดเพราะว่าไปสนใจเรื่องอื่นเสียเป็นส่วนมาก อันนี้เท่ากับว่าเราปิดประตูแห่งปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้จากการฟัง ทุกครั้งที่มีอะไรอันเป็นประโยชน์แก่ชีวิต เราควรจะฟัง แล้วควรจะฟังด้วยดี
พระสงฆ์องค์เจ้าตามวัดต่างๆในชนบทเวลาไปแสดงปาฐกถานี่ ไม่ค่อยมีลงฟังด้วย อยู่ในกุฏิ ไม่ใช่ฟังอยู่ที่กุฏิ แต่ว่าพักผ่อนอยู่ในกุฏิ อาตมาไปเทศน์ทีไรก็ว่าเอาทุกครั้ง ว่าไม่เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเขาอุตสาห์มาไกลๆเพื่อจะมาฟังปาฐกถา แต่พวกเราอยู่ในวัดกลับไม่สนใจ ไม่ลงมาฟัง นานๆจะพบสักวัดหนึ่งที่พระลงมากันอย่างพร้อมเพรียง นั่งฟังกันเป็นอันดี นานๆพบที เรียกว่ามีน้อย ร้อยละหนึ่งก็หายาก แต่ที่ไม่ฟังนั้นมีมาก ถ้ามีงานศพเขานิมนต์มา เกี่ยวกับงานศพ พออาตมาฉันเพล เจ้าภาพก็มักจะพอฉันเพลเสร็จก็ให้สวดมาติกา มาบังสุกุลศพ พอบังสกุลเสร็จแล้วพระก็กลับหมด เวลาแสดงธรรมไม่มีพระฟังด้วย มีแต่ชาวบ้าน เลยบอกเจ้าภาพว่าฉันเสร็จแล้วอย่าบังสุกุลก่อน อย่าถวายปัจจัยแก่พระก่อน ให้ท่านไปพักตามสบาย พอถึงเวลาปาฐกถาธรรมะก็ตีระฆังนิมนต์พระเณรทั้งหมดให้ท่านได้ฟังด้วย ฟังเสร็จแล้วก็นิมนต์มาติกาต่อ แล้วก็บังสุกุล ถ้าทำอย่างนี้ลงฟังกันอย่างพร้อมเพรียงดี ไม่หายไปสักองค์หนึ่ง อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าในเนื้อแท้ไม่ได้อยู่ที่ต้องการธรรมะ แต่ว่าอยู่ที่เรื่องอื่นมากกว่า เราทดลองอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าสนใจน้อยกว่า การสนใจน้อยไปทำให้พระศาสนาไม่เข้าถึงจิตใจคน แล้วก็ทำคนไม่ให้เข้าถึงธรรมะด้วย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเราไม่ได้เผยแผ่ธรรมะกันมานาน ไปเทศน์วัดใดถ้ามีคนฟังมาก แสดงว่าวัดนั้นมีการสอนบ่อยๆ มีการเทศน์บ่อยๆ คนสนใจธรรมะ จึงได้มาฟังกันมาก แต่ถ้าวัดไหนไม่ค่อยได้เทศน์สอนคน เวลาไปแสดงธรรมคนก็ไม่ค่อยมี มีน้อย ที่เป็นอย่างนั้นอาตมาก็บอกสมภารว่า ว่านี่เป็นเครื่องแสดงยี่ห้อสมภารแล้ว เพราะว่าคนไม่มาฟังเทศน์แสดงว่าสมภารไม่ค่อยได้เทศน์ให้คนฟัง คนจึงไม่รู้จักฟัง แต่ว่าวัดมีคนฟังมากก็แสดงว่าพระมีการชักจูงให้สนใจในธรรมะคนจึงได้มาฟังกันมากๆ อันนี้เป็นเครื่องชี้อยู่ในตัวอยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่ได้สนใจในการสอนแต่สนใจในเรื่องอื่น เช่นเรื่องการสวดเสียไปส่วนมาก
เรื่องสวดกับเรื่องสอนมันสำคัญอยู่ที่เรื่องสอนไม่ใช่สำคัญที่เรื่องสวด การสวดมนต์การทำพิธีรีตองต่างๆไม่เรียกว่าเป็นเรื่องสวดอันใดนั้น เรื่องสวดนี้ทำให้คนไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะว่าสวดภาษาที่เราฟังกันไม่รู้เรื่อง เช่นโยมไปฟังเพราะสวดมนต์นี่ ไม่รู้ว่าท่านสวดว่าอะไร หรือไปฟังเพราะสวดศพก็ไม่รู้ว่าท่านสวดเรื่องอะไร เราเพียงสักนั่งฟังไปตามประเพณี เป็นพิธีเท่านั้น นี่คือการสวด แต่ว่าการสอนนั้นคือการพูดชี้แจ้ง แสดงเหตุผลในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ให้คนที่มานั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ถ้ามีการสอนมากศาสนาก็แพร่หลาย แต่ถ้าสวดมากศาสนาคงเดิม คือ ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า ไม่ได้ทำตนให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในสมัยนี้ถ้ายังสวดกันอยู่มากๆ จะไปไม่รอด แต่ถ้าเราสอนกันให้มากจะดีขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน ญาติโยมจะทำอะไรก็ควรจะมุ่งไปในการสอน ในการเผยแผ่ธรรมะอย่ามุ่งเอาแต่เรื่องการสวดกันท่าเดียว เพราะว่ามันจะกลายเป็นพิธีรีตองไปหมด ไม่ใช่เนื้อแท้ของธรรมะ หรือไม่ใช่เนื้อแท้ของพระศาสนา ที่เราทั้งหลายควรจะเข้าถึงกัน ว่างๆสมมุติว่าเราจะนิมนต์พระไปที่บ้าน เรานัดญาตินัดโยมมาประชุมกัน เช่นในครอบครัวเรา วันไหนเรานึกขึ้นได้ถึงพ่อแม่ ปู่ ตา ย่า ยาย อยากจะทำบุญอุทิศให้ท่านเสียหน่อย เราก็นัดญาติทุกคนมาประชุมพร้อมกัน เมื่อประชุมพร้อมกันแล้วเราก็นิมนต์พระไปแสดงธรรม ให้คนที่มาประชุมกันฟัง ปรารภเหตุถึงการสิ้นบุญของพ่อแม่ คนที่มาทุกคนก็จะได้ลืมหูลืมตาเพราะได้ฟังธรรมะ ได้เกิดความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็จะได้เตือนให้สำนึกว่า เราทุกคนเป็นสมาชิกของตระกูลนี้ ของครอบครัวนี้ พ่อแม่ปู่ตาย่ายายท่านตายไปแล้ว ท่านได้ทำอะไรๆไว้ให้พวกเราทั้งหลายได้กินอยู่อาศัย สะดวกสบายอยู่ เราก็ควรจะสำนึกถึงคุณของคนเหล่านั้น แล้วควรจะสำนึกถึงความงามความดี ที่บรรพบุรุษของเราเคยกระทำมา ให้เดินตามทางที่บรรพบุรุษเคยเดิน ถ้าเรานิมนต์พระไปทำอย่างนั้นทุกคนก็จะได้รับความสำนึกในหน้าที่ ในการงาน อันตนจะพึงปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนเป็นหน้าที่ของตน อันนี้มันก็ดีขึ้น แต่ถ้าเรานิมนต์พระไปสวดมนต์ บังสุกุล ฉันเสร็จแล้วท่านก็กลับวัด อาตมามองๆดูแล้วไม่ค่อยจะได้อะไรเท่าไหร่ แต่ได้ความอิ่มใจนิดหน่อย อิ่มใจว่าได้ทำบุญอุทิศให้แล้ว ทีนี้จุดหมายของการจะทำอะไรทุกอย่างนั้น ไม่ได้มุ่งมาเพื่ออื่น แต่มุ่งเพื่อให้คนได้เข้าถึงพระ ให้พระได้เข้าถึงคน หรือให้คนเข้าถึงธรรมะ ให้ธรรมะเข้าถึงคนกันให้มากสักหน่อย
เพราะเดี๋ยวนี้ตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขามีบุญอันหนึ่ง เขาเรียกว่าบุญแจกข้าว บุญแจกข้าวนี่ทำกันจริงๆ พอเสร็จการเกี่ยวข้าวทำนาเสร็จ ก็มีทำบุญแจกข้าว นิมนต์พระไป สวดมนต์อะไรกันไปตามเรื่อง แล้วก็บังสุกุลอะไรกัน อาตมาเคยไปคราวหนึ่ง ไปที่อำเภอหนองเรือ ไปลึกเขาไปหน่อยในอำเภอนั้น เขาทำบุญแจกข้าว เขาถวายของเกือบทุกอย่างเลย ถวายผ้าซับน้ำ ถวายเสื้อ ถวายกางเกง ถวายเสื่อ ถวายหมอน ถวายกันเป็นการใหญ่ เรียกว่าตั้งแต่เทศน์ๆ มานี่ หน้ากัณฑ์มันมากและ เรียกว่าเครื่องมันมากถวายทุกอย่าง บอกว่านี่โยมถวายนี่จะให้อาตมาเอาไปทำอะไร เขาบอกว่าต้องรับไปแล้วสุดแล้วแต่หลวงพ่อจะใช้ให้เอาไปแจกคนอื่นต่อไป ทำไมเขาถึงทำครบชุดอย่างนั้น ก็เพราะว่าบรรพบุรุษมีทั้งชายทั้งหญิงที่ตายไปแล้ว เพราะอย่างนั้นผ้าถุงก็มีถวาย เสื้อผู้หญิง ผู้ชายก็มีถวาย กางเกงก็มีถวาย เสื้อ หมอนก็มี แล้วก็อาหารการขบฉันก็มีพร้อมไม่ให้ขาดแคลน อย่างนี้เขาเรียกว่าทำบุญแจกข้าว จุดมุ่งหมายของการกระทำบุญแจกข้าวก็เพื่อให้ลูกหลานได้น้อมใจระลึกถึงพ่อแม่ ปู่ ตา ย่า ยาย ที่ท่านตายไปแล้ว แล้วก็จะได้ทำความดี ตามรอยของท่านต่อไป แต่ว่าถ้าไม่มีการกระตุ้นให้เข้าใจ ก็ทำกันไปอย่างนั้น นิมนต์พระมาสวดอะไรกันไปตามเรื่อง ไม่ได้เทศน์ให้คนเข้าใจ วันนั้นเขานิมนต์ไป ก็ต้องการให้ไปเทศน์ แล้วก็เทศน์ชี้แจงแสดงเหตุผลให้รู้ให้เข้าใจว่าเราทำเพื่ออะไร ได้อะไร ให้เข้าใจเรื่อง คนก็จะได้รู้ได้เข้าใจขึ้น ปีนี้ก็เหมือนกันทุกปีก็ทำอย่างนั้น เรียกว่าทำบุญแจกกข้าว
ถ้าเป็นภาคกลางนี่ แถวนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก พอเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ถ้าปีไหนข้าวดี เรียกว่ามีแจงกันเหลือเกิน แจงกันเหลือเกิน มีงานแจง คือ ติดประเพณีว่า เรื่องบุญนี่ต้องแจง ต้องเทศน์แจง เทศน์แจงนั่นคือเทศน์อะไร สังคายนา ทำสังคายนา คือแสดงเรื่องสังคายนาให้คนฟังนั่นเองล่ะ เอาพระมาสามองค์ แล้วก็สมมุติเป็นพระอุบาลีองค์หนึ่ง เป็นพระอานนท์องค์หนึ่ง เป็นพระมหากัสสปะองค์หนึ่ง แล้วก็ไถ่ถามกันตามแบบที่ทำสังคายนาครั้งแรกที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ เอามาทำให้ดู แสดงให้ดูว่าทำสังคายนาเขาทำกันในรูปอย่างนี้ ทีนี้คนฟังทุกปีฟังเรื่องนั้น แจงกันแต่เรื่องนั้นเรื่องเดียวเทศน์กันอยู่ พระนักเทศน์นี้ฤดูนี้นี่งานมาก คือ ไปแจงที่นั่น ไปแจงที่นี่ไม่ค่อยได้หยุดได้หย่อนไม่ค่อยได้อยู่วัดอยู่วา ยังไม่ได้พัฒนาเรื่องการแจงนี้ให้มันทันสมัยให้ทันเหตุทันการณ์ เพราะว่าถามตอบตามพระคัมภีร์ว่ากันเรื่อยไป เรื่องจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เรื่องอะไรนี้ ถามกันอย่างนั้นตามคัมภีร์ ไม่ได้ถามเรื่องที่มันจำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบัน ว่าเราควรประพฤติอย่างไรควรปฏิบัติอย่างไร ถือศีลนี่จุดหมายมันอยู่ที่ตรงไหน ควรจะทำอะไรอย่างไร ไม่ได้พูดกันในรูปอย่างนั้น แต่ว่าพูดตามธรรมเนียมยาว ว่ากันไปจบ พอจบแล้วพระ ๒๕ องค์ก็สวด เขาเรียกว่าสวดแจง คือ สมัยก่อนทำสังคายนา ท่านไต่ถามซักไซ้กันแล้วก็ให้พระท่องไว้ จำไว้ สืบศาสนาต่อมา แล้วเวลานี้ก็ตัวคัมภีร์นั้นเรียบร้อยแล้วอยู่ในทำเป็นรูปหนังสือ ไม่ต้องลำบากแล้ว แต่ว่าก็มีการสวดกัน ๒๕ บางงานเขาเอามากหน่อย ๕๐๐ พระ ๕๐๐ ในกรุงเทพฯเคยแจงกัน ๕๐๐ งานศพคนใหญ่มีเงินมีทองมากๆ แจง ๕๐๐ นิมนต์พระ องค์นั้นรับไป ๒๐ ไปหามา องค์นั้นรับไป ๒๐ ไปหามา แล้วทุกรูปมาก็มีบัตรประจำมาว่าติดอยู่ในการนิมนต์ ศาลามันไม่พอนั่ง ๕๐๐ ก็นั่งเพ่นพ่านไป กางเต้นเข้าไปมั่งอะไรต่ออะไร แต่ว่านั่งในวิหารคดบ้าง ถ้าเป็นวัดโบราณ แล้วพระก็เทศน์ไป แต่โดยมากสมัยนี้ตั้งเต้นท์ให้พระไปนั่ง พอองค์หนึ่งเทศน์เรื่องพระสูตร พระก็สวดเรื่องพระสูตร พูดเรื่องพระวินัยจบก็สวดเรื่องพระวินัย พูดเรื่องอภิธรรมลงไปย่อๆสั้นๆ ก็สวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สวดกันอย่างนั้นล่ะ อย่างนี้ที่เขาเรียกว่าเทศน์แจง มีมาก เทศน์แจงมีมาก มีในสมัยนี้โยมยังมานิมนต์อยู่
วันนั้นเขามานิมนต์อาตมาว่า ขอนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์แจง แล้วก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า เทศน์แจงน่ะ เทศน์กับแจง มันคำเดียวกัน คือ เทศน์นี่มันภาษาบาลี มาจากคำว่า เทศนา เทศนัง คือ การชี้แจงแสดงเหตุผลในหลักคำสอนให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจ คำว่าแจงนั้นเป็นภาษาไทย แจงนั้นก็หมายความว่าแจกออกไป แยกออกไป อธิบายออกไป ถ้าถั่วมันกองอยู่ก็เอามาแจงออกไปหน่อย แจงกองละ ๑๐ กองละ ๑๐ ให้มันนับง่ายๆ หรือว่าเราแจงเบี้ย เบี้ยมันกองอยู่นับไม่ได้ เอามาแจงเบี้ย ไอ้นี่อันละสลึง ไอ้นี่ ๕๐ สองสลึง อันนี้อันละ ๑ บาท เอาไปแจงรวมกัน กองๆไว้ เรียกว่าแจง รวมความว่านิมนต์พระไปเทศน์แจง ก็คือ ไปอธิบายธรรมะให้ญาติโยมฟังนั่นเอง อาตมาพูดให้เขาฟังอย่างนั้น แล้วก็บอกว่าอย่าเทศน์ ๓ องค์เลยมันเสียเวลา มันยืดยาว เพราะบางทีบางองค์ก็ชอบเล่นสำนวน ถามไม่เข้าเรื่อง ถามตลกโปกฮาอยู่บนธรรมาสน์ โยมก็ได้ยินพระเทศน์หลายๆองค์มั้ย พูดตลก บางทีก็ถามบนธรรมาสน์กระทบไปถึงโยมข้างธรรมาสน์ด้วย เป็นเรื่องสนุกสนานไป ญาติโยมชอบ ได้พอเทศน์แล้วก็ชอบอยู่เหมือนกัน เรียกว่าไม่ได้ชอบธรรมะแต่ว่าชอบให้พระเทศน์สนุกๆ เลยอาตมาไม่ค่อยชอบในการแบบนั้น เมื่อก่อนก็เคยเทศน์อยู่เหมือนกันสมัยหนุ่มๆ น้อยๆ เทศน์มานาน เบื่อแล้ว สองธรรมาสน์ สามธรรมาสน์ นี่เทศน์มานานแล้ว แต่ว่าเทศน์ไปๆ มันก็เบื่อ เบื่อตัวเองว่านี่เทศน์ๆมานี่ไม่ได้เรื่องราวเลย ไม่ได้ทำคนให้ฉลาดเลยแม้แต่น้อย เลยหยุดไม่เทศน์อย่างนั้นแล้ว มาพูดแบบอธิบายน้อยๆ ให้คนได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในเมื่อเขามานิมนต์ไปแจงก็บอกว่าอย่าแจงเลย ให้อาตมาเทศน์องค์เดียวเถอะ มันจะได้เรื่องได้ราวหน่อย เขาบอกว่านิมนต์พระมาแล้วที่จะให้นั่งแจง ก็นั่งฟังไปสิ แจงให้พระฟังด้วย
พอถึงบทสวดก็จะบอกให้สวดเองแหละ ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร แต่ว่าอีกสององค์ไม่ต้องนิ มนต์มา ถ้านิมนต์มาแล้วก็ถวายปัจจัย ไม่ต้องเทศน์ก็ได้ ให้ท่านนั่งเฉยๆ ท่านชอบนี่ไม่ต้องทำงาน ได้ประโยชน์ ไม่ได้ลำบากอะไร แต่ว่าฉันจะเทศน์เอง คือ จะต้องให้เขาเข้าใจเทศน์ให้มันได้เรื่อง ให้เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร งานศพนี่ทำเพื่ออะไร ได้อะไรให้มันแจ่มแจ้งกันสักที แจงให้มันแจ้งหน่อย ไม่ได้แจงมัวๆ สลัวๆไม่ได้เรื่องอะไร พูดกับเขาอย่างนั้น เขาก็บอกว่าก็ได้เหมือนกัน อย่างนั้นให้หลวงพ่อแจงองค์เดียว แล้วก็ตกลงว่าแบบนั้นแหละไปแจงกัน ถ้าแบบไปแจงกัน ๓ องค์มันไม่ไหว เราก็เคยฟังมาแล้ว เราก็เคยเทศน์มาเองแล้ว มันก็นักเทศน์เก่าเหมือนกัน แต่ว่าแบบนั้นมันไม่ได้เรื่อง ก็มีนักเทศน์กรุงเทพฯก็ยังเทศน์กันอยู่ เรียกว่าคนยังนิมนต์ในรูปอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไข อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น แล้วมันจะก้าวหน้าได้อย่างไร อาตมาก็ไปพยายามพูดกับเขาอย่างนั้น ให้เข้าใจ ว่าแจงคืออะไร แล้วก็เทศน์เรื่องที่จำเป็นแก่ชีวิต แจงให้เขารู้ เรื่องอะไรที่มันงมงาย ไม่ถูกต้อง ไม่มีหลักฐาน ทำกันไปตามเรื่องตามราวก็แก้ไข หรือว่าอะไรที่เขาทำกันอยู่แบบฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่ได้ประโยชน์ ก็แก้ไข อธิบายให้เขาเข้าใจ เวลานี้ถ้าใครมานิมนต์ไปเทศน์งานศพในชนบทน้อย อาตมามักจะถามว่าทำแบบไหน ทำศพแบบไหน แบบฉิบหาย หรือว่าแบบอะไรแบบนั้น (หัวเราะ) เขาก็บอกแบบฉิบหายทำยังไง เอ้า-ก็หนังจอเยอะ ๒ จอ แล้วก็ยี่เก พิณพาทย์วงใหญ่ บางงานเอาถึงสองวงเลยแล้วก็ตีหนวกหูที่สุดเลย เราจะไปพูดธรรมะธรรมโมไม่ได้พูดแล้ว พอไปถึงก็ตี ตีพักเดียว ไม่ให้พูดแล้ว ก็บอกว่าถ้าแบบนี้นี่ อาตมาไม่ไปเทศน์เพราะไปแล้วมันไม่ได้เรื่องอะไร ไม่มีโอกาสจะคุยธรรมะกับญาติกับโยม แล้วก็เวลาเทศน์ก็คนไม่ค่อยมี เพราะว่าเมื่อคืนนี้ดูหนังจอยักษ์ ตั้งศพนี้เขามีหนังจอใหญ่ หรือมียี่เก มีอะไรนะคนไม่มีหรอกที่จะมาฟังธรรม เคยไป ไปมาแล้วก็มันไม่ไหวนะมีคนไม่กี่คนมานั่งฟังอยู่เท่านั้นเอง แบบนี้มันไม่คุ้มกับการเดินทาง เหน็ดเหนื่อย ไอ้เดินทางไกลๆนี่แล้วมันไม่ได้เทศน์อะไรมากมายนักหนา บอกว่าถ้าแบบนั้นไม่ไป เพราะถ้าไปเทศน์มันก็ขัดใจกับเจ้าภาพ คือเหมือนกันไปด่าเจ้าภาพเข้าให้ เวลาไปก็เอ้ย- ต้อนรับดีล่ะ พอจะกลับนี่เฉยๆ (หัวเราะ) ก็ไม่สนใจแล้ว ถูกว่าเข้าก็ไม่สนใจ
คราวหนึ่งไปเมืองอุทัย โอ้ย-เต็มวัดเลย มางานศพเต็มวัด ไม่ได้ถาม วันนั้นไป คราวนี้ไปก็เทศน์ตรงกันข้ามไป คือ ตอนที่จะไปยกยอเจ้าภาพอย่างนั้นอย่างนี้ กลับบอกว่ามันไม่ได้เรื่องอะไรทำแบบอย่างนี้ เรามีเงินมีทองก็ทำได้ แต่มันเป็นตัวอย่างแก่คนไม่มี ทำให้คนไม่มีทะเยอทะยาน อยากจะทำอย่างนี้บ้าง แต่ไม่มีเงินจะทำ ไม่มีเงินจะทำก็จะทำ เพราะว่าแม่คนหนึ่ง พ่อคนหนึ่ง เขาทำกันใหญ่โตเราก็ต้องให้ให้ใหญ่ เราถือว่าแสดงความกตัญญูกตเวที แต่รู้ไม่ว่าความกตัญญูกตเวทีที่แท้มันคืออะไร ถ้าว่าพ่อแม่ลุกขึ้นมาพูดจากหีบได้ คงลุกขึ้นมาว่าเอา บอกว่าแก่ทำข้าอย่างนี้ข้าไม่พอใจเลย เพราะว่าแกจะเดือดร้อน นาไร่ที่ข้าหาเอาไว้ ให้ลูกหลานจะได้ทำกินต่อไป แกจะเอาไปจำนำ จำนองจนขาด เอามาทำศพข้าอย่างนี้ ข้าไม่ชอบนะ ถ้าลุกขึ้นได้คงจะลุกขึ้นว่าอย่างนั้น แต่ว่าศพพูดไม่ได้ ท่านปัญญาก็มาพูดแทนศพเสียหน่อย อธิบายให้เขาฟังเสียหน่อย อันนี้พูดอย่างนั้นเขาก็ไม่พอใจเลยเจ้าภาพ เพราะเขาทำอยากเอาหน้า อยากให้สนุก คนมีสตางค์นี่ แล้วนิมนต์ท่านปัญญาไปก็เรียกว่าเอาหน้าอีกเหมือนกัน งานศพนี้ไม่ใช่ย่อยเลย เจ้าคุณปัญญายังมาเลย เขาได้หน้า หน้ามันเพิ่มมาอีกนิ้วหนึ่ง(หัวเราะ) อันนี้เราไปให้เขาได้หน้า แต่มันไม่ได้ประโยชน์กับประชาชน ก็เลยต้องพูดกันให้คนเข้าใจรู้เรื่องรู้ราว แล้วก่อนพูดต้องไปเที่ยวสืบเสาะก่อนว่าเขาจ่ายเงินนี่เท่าไหร่ในงานนี้ ไปคุยกับพวกยี่เก ไปถามว่ามีมาแสดงกี่คืนแล้ว คิดเวลาละเท่าไหร่ หนังจอยักษ์ว่าเท่าไหร่ พิณพาทย์เท่าไหร่ แล้วไปคุยกับสมภารเจ้าวัด ว่าวันเมื่อคืนนี้เขาสวดศพกี่เตียง ถวายเตียงละสักเท่าไหร่ เสร็จงานศพแล้วเขาจะถวายวัดสักเท่าไหร่ ศึกษาแล้ว ศึกษาหมดเลย ศึกษาแล้วก็เอามายกตัวอย่างวัดหนึ่ง ว่าค่ายี่เกเสียเท่านั้น หนังเท่านั้น พิณพาทย์หมดไปคิดเท่านั้น นี่มันไม่ได้เรื่องอะไร ถ้าเอาเงินเหล่านี้มาถวายวัดดีกว่า วัดกำลังสร้างอะไรค้างอย่างนี้ ก็เอาเงินทั้งหมดนี่มาถวายวัด โดยไม่ต้องไปทำแบบสรุ่ยสร่าย วัดก็จะได้เงินสร้างอะไรมากขึ้น ดีกว่าที่เราจะเอาไปถลุงเล่นกันให้มันสูญไปซะเปล่าๆ
ไอ้สมัยก่อนนั้นมหรสพในงานหนึ่งจำเป็น เพราะมันไม่มี นานๆจึงจะมีสักทีหนึ่ง นานๆเด็กจะได้ดูลิเกสักทีหนึ่ง จะได้ดูหนังสักทีหนึ่ง แต่เดียวนี้ดูกันจนตาเปียกตาแฉะ เพราะว่าหนังมันเยอะตามตลาดเล็กตลาดน้อย หนังเร่ หนังขายยา หนังหาเสียง มีมากมายวนไปฉายให้คนดูกันบ่อยๆ ไม่จำเป็นแล้วที่มีงานศพจะต้องมีมหรสพในรูปอย่างนั้น ซึ่งมันเป็นการสิ้นเปลืองในรูปที่มันไม่ควรจะสิ้นเปลือง คนเรามันชอบเอาหน้าไม่เข้าเรื่อง คือ เอาหน้าในทางที่จะหมดจะเปลืองในเรื่องที่ไร้สาระ เลยทำให้เกิดเป็นปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ทีหลังเมื่อมีการตกต่ำลงในชีวิตก็ไปพูดอีกว่า บุญกุศลไม่ช่วย เราทำบุญมามากแล้ว บุญไม่ช่วยเลย ก็ไม่รู้ว่าบุญคือ อะไร แล้วบุญจะช่วยเขาได้อย่างไร เขาไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็โทษว่าบุญไม่ช่วย เลยเกิดความเดือดร้อนกันใหญ่ เหมือนกับโยม 2 คน อยู่ที่พัทลุง เป็นคนที่เข้าวัดทำบุญเหมือนกัน ใจดี บริจาคทรัพย์ช่วยวัดช่วยวาดี ทีนี้คราวหนึ่งเกิดไฟไหม้ ที่ตลาด ไหม้ของอีกคนนึ่งนะหมดเลย แต่ของอีกคนคนหนึ่งไม่ถูกไหม้ ก็มานั่งคุยกันว่า เออ-นี่น้องเอ๋ย พี่นี่ก็ทำบุญมาก็มาก บุญไม่ช่วยได้เลยคราวนี้ น้องนี่ก็ว่า พี่เอ๋ย-น้องนี่ทำบุญมามาก บุญช่วยไว้ คราวนี้ไฟไม่ไหม้บ้าน เพราะว่ามันไหม้ฟากโน้น ฟากนี้ไม่ไหม้ ฟากโน้นมันของโยมคนนั้นทั้งนั้นไหม้หมด แต่ฟากนี้ที่ไม่ไหม้ก็เพราะดับเพลิงเขาช่วยป้องกันไว้ไม่ให้ไฟลุกลามมาฝั่งนี้ เขาก็บอก โอ ของน้องนี่บุญช่วยไม่เสียทีที่ได้ทำบุญไว้ แต่อีกคนหนึ่งว่าบุญไม่ช่วยเพราะถูกไฟไหม้หมดเลย
มันเป็นอย่างนี้ คือว่าความเข้าใจมันเป็นอย่างนั้น ว่าทำแล้วบุญก็จะต้องช่วย ความจริงนั้นก็ถูกต้อง คือ ทำดี ความดีก็คุ้มครองรักษาเรา ทำชั่วความชั่วก็ทำร้ายเรา แต่ว่าบางทีเราไม่เข้าใจว่าอะไรดี อะไรถูก อะไรชั่ว อะไรผิด ยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วก็ทำไปตามเรื่องตามราว ตามประเพณี ดีส่วนหนึ่ง ดีไปอีกส่วนหนึ่ง มันขาดไปอีกส่วนหนึ่งเลยคุ้มครองรักษาตัวไม่ได้ ความจริงเรื่องดีเรื่องชั่วนี่ ถ้าเราเข้าใจให้มันถูกต้อง เช่นเรื่องทำดี มันก็ต้องดีทุกแบบทุกมุม บางคนทำดีแต่เรื่องให้ แต่เรื่องหาไม่ค่อยดี เรื่องรักษาก็ไม่ค่อยจะดี เรื่องทำให้เกิดดอกออกผลเพื่อเพิ่มพูนก็ไม่ค่อยดี มันดีอย่างเดียวดีแต่เรื่องให้ แต่เรื่องหาไม่ดี เรื่องทำให้ออกดอกออกผลก็ไม่ดี ชักเลยไม่พอกินพอใช้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันต้องดีพร้อมนะ รู้จักเลว รู้จักดี ดีในการแสวงหา ดีในการรักษา ดีในการจับจ่ายใช้สอย ดีในการที่จะทำให้มันเพิ่มพูนออกไป แต่ว่าถ้าเราดีอันเดียว คือ ให้ ให้มันก็หมดเลย เหมือนน้ำในโอ่ง เรามีโอ่งหนึ่งแต่ว่าเราไม่ตักเพิ่ม ใครมาก็ตักแจกตักแจก หน้านี้แล้งหน่อย ต้องแจกน้ำหน่อย แจกกันไปแจกกันมา น้ำหมดโอ่ง พอหมดโอ่งไม่มีน้ำ แล้วจะไปบ่นว่า แหม—พระท่านบอกว่ายิ่งให้ยิ่งได้ แต่นี้มันไม่ได้ มันจะได้อย่างไรก็เราไม่หา (หัวเราะ) มันจะได้อย่างไร เราต้องรู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักทำให้มันพอกพูนต่อไป แล้วให้ก็เหมือนกัน ให้มันพอดี ไม่ใช่ให้หมด บางทีก็บอกให้หมดเรื่องไปเลย เมาบุญ ทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว จนถูกฟ้องล้มละลายเลยก็มี
คราวหนึ่งมีคนๆหนึ่ง แกทำบุญใหญ่ ตักบาตรนี่ตักจริงๆ ตักมาก วันหนึ่งที่ตักเป็นร้อยๆ องค์พระนี่ อยู่ที่เสาชิงช้า ตักมากมาย แล้วก็ไปทำบุญที่นั่น เลี้ยงพระที่นี่ คนเขาก็ยอกัน ชมเชยกันนักหนา แต่ว่าไม่ได้หาเลย มีแต่ของเก่าใช้ไปๆมันก็หมด หมดแล้วแต่จิตใจมันเคยให้ เคยทำ ลดไม่ลง ลดไม่ลงก็ต้องไปซื้อไปยืมเขามา เพราะว่าเราทำไม่ถูกเรื่อง ทำแต่ด้านเดียว ไอ้ด้านหนึ่งไม่มี ของที่เราจะให้ มันต้องมีชดเชย ถ้าการชดเชยมันไม่พอกับการให้ มันก็ลำบากนะ ทีนี้เราต้องรู้ว่าเราจะได้มาสักเท่าใดแล้วเราจะอะไรทำสักเท่าใดมันต้องอย่างนี้ เหมือนคนเราเคยทำอะไร เช่นว่า สมัยหนึ่งเรา เคยมั่งมีศรีสุข มีเงินมีทองมากๆ แต่ว่ามีลูกน้อง มีบริวาร พอถึงวันเกิดก็ทำบุญวันเกิดกัน ทำบุญวันเกิดมันเรื่องขึ้นอยู่กับฐานะเหมือนกัน คนใดฐานะใหญ่วันเกิดมันก็ใหญ่ ถ้าฐานะน้อย วันเกิดมันก็น้อย คนไม่ใหญ่ไม่โต วันเกิดคนไม่รู้จักหรอก แต่ว่าพอใหญ่โตขึ้น คนเที่ยวสืบแล้ว เกิดวันอะไร นี่เหมือนกับว่าท่านนายกฯใหม่นี่สมัยก่อนไม่รู้นะว่าเกิดวันอะไร คนไม่รู้ (หัวเราะ) แต่เดียวนี้คนชักจะถามแล้ว เอ๊ะว่านายกฯเราเกิดวันอะไร พอใกล้วันเกิดนายกฯก็เคลื่อนไหวกันแล้ว คนนี้ก็เข้าหา เคลื่อนไหว จัดแจงหาแจกัน หาดอกไม้ แจกันอันเล็กๆก็ไม่ได้นะ นายกฯมันต้องสูงต้องใหญ่ขนาดอย่างนี้ จัดดอกไม้ก็ต้องอย่างดี ต้องไปหาคนจัดเก่งๆ จัดทีหนึ่งมันต้อง ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ อะไรก็ต้องเอา เพราะว่าเอาไปให้ เอาไปให้ในวันเกิด ต่างคนก็เอาไปให้กัน อันนี้ก็เรียกว่าเขาก็ทำกันอย่างนั้น พอฐานะน้อยลงไป ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้แล้ว แต่ว่าเคยทำก็ต้องทำไปตามเรื่อง
นี่เขาเรียกว่าเราไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ต้องรู้จักเปลี่ยน คนเรานี่มันต้องรู้ว่า เมื่อสมัยหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง อีสมัยหนึ่งก็ต้องลดลงมาสักหน่อย ต้องรู้จักการเปลี่ยนแปลง เช่นสมัยก่อนนี้เราทำบุญวันเกิดนิมนต์พระมาฉัน แล้วก็ต้องนิมนต์พระชั้นดีอะไรทั้งนั้น สมเด็จอะไรมาฉัน ได้หน้าได้ตา ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ฉันไปอย่างนั้น มาฉันเสร็จแล้วก็ให้พร รดน้ำมนต์เสร็จ ท่านก็กลับวัดเท่านั้น ที่จะสั่งสอนตักเตือนอะไรก็ไม่มีหรอก ท่านไม่กล้าพูดไม่กล้าสอนอะไร ให้พร อย่างดีก็แจกพระเครื่องสักองค์หนึ่งสององค์ตามหน้าที่ แล้วก็เท่านั้นล่ะ อันนี่ต่อมาเมื่อเล็กลงทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ แต่ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ไม่เป็น ความจริงเปลี่ยนได้ เช่นว่าเราเคยใหญ่ วันเกิดเคยเลี้ยงพระอะไรกันตามเรื่อง ลดลงมาไม่ต้องเลี้ยงก็ได้ เราทำวันเกิดแบบอื่น บุญมันมีหลายอย่าง เราจะทำบุญด้วยให้ทานก็ได้ ทำบุญด้วยการักษาศีลก็ได้ ทำบุญด้วยไปนั่งเจริญภาวนาเงียบๆก็ได้ ทำบุญด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นในทางหนังสือหนังหาหรืออะไรเท่าที่ควรจะทำ มันก็ได้ทั้งนั้นล่ะ เช่นว่า เราไม่ได้ทำบุญเลี้ยงพระใหญ่โต พอถึงวันเกิดเราก็เงียบ ไปนั่งเงียบคนเดียว หรือไปพักที่ใดที่หนึ่งเงียบๆ ไปวัดไปวาเสียก็ได้ อยู่เงียบมันสักวันหนึ่ง มองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ให้รู้ว่าตัวเองนี้มีสภาพอย่างไร เวลานี้ฐานะหน้าที่ตำแหน่งการงาน การเงินของเราเป็นอย่างไร เรามันจะเติบโตเหมือนเมื่อก่อนมันก็เห็นจะไม่ไหว ต้องลดลงไปตามส่วน ทำอะไรเงียบๆ เขาไม่ว่าหรอก คนเขาไม่ว่า แต่เขาจะชมว่า เออ ท่านนั้นดี สมัยนี้ท่านตกระกำลำบาก การเงินการทองไม่สมบูรณ์ ท่านก็รู้จักประหยัด รู้จักอดออม อันนี้คนเขาก็ชม คนมีปัญญาเขาชม แต่คนที่เคยชินก็อาจจะติดว่า แหม วันเกิดไม่ได้กินอะไร ก่อนนี้มีก๋วยเตี๋ยวเต็มบ้าน เราได้ไปกินกัน ไอ้ตอนนี้ไม่ได้กินแล้ว มันพูดเรื่องไม่ได้กินเท่านั้นเอง คนมีปัญญาก็บอก เอ้อ--ท่านรู้จักถ่อมตัว รู้จักลดฐานะ ไม่ทำเหมือนก่อนมันก็ดีเหมือนกัน มันไม่ได้เสียหายอะไร ในเรื่องอย่างนั้น เราทำอะไรก็ได้ วันเกิดของเราเราไม่บอกใครก็ได้ว่าเราจะทำบุญวันเกิด เราทำของเราเงียบๆ นั่งสงบจิตสงบใจ หรือว่าถ้ามีอะไรก็เอาไปบริจาคเป็นทาน ช่วยเหลือมูลนิธิอะไรต่างๆ ที่เขาทำงานเป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องบอกช่างภาพว่า เอ็งไปถ่ายหน่อยนะ ตอนข้าจะไปให้(หัวเราะ) แล้วก็เขาถ่ายก็ต้องบอกช่างถ่ายไอ้นี่ยืนมือไปด้านนี้ หน้าไปด้านโน้น กลัวคนจะไม่เห็นหน้า อย่างนั้นเขาเรียกว่า ทำบุญเอาหน้า มันจะได้บุญที่ตรงไหน มันไม่ได้เรื่องอะไร เราไปให้เงียบๆ ไม่ต้องบอกใครก็ได้ แล้วเราก็กลับมาอิ่มใจของเราเอง อิ่มใจว่าวันเกิดนี้เราได้ทำอะไร ที่เป็นประโยชน์เป็นคุณเป็นค่า
หรือว่าวันเกิดเรามีลูกหลานมากๆ วันเกิดเราก็ประชุมลูกหลาน ประชุมลูกหลานมาแล้ว เราก็พาเข้าไปในห้องประชุม ถ้าห้องพระเรามีเราก็ไปนั่งในห้องพระ แต่ถ้าหลานมากลูกมากก็ไม่พอนั่งในห้องพระ มันแคบ เราก็มาประชุมให้ฟังว่า พ่อนี่ต่อสู้ชีวิตมาอย่างไร ตั้งแต่เป็นนักศึกษาเล่าเรียน เรื่องงานเรื่องการในชีวิตมาโดยอย่างไร สร้างเนื้อสร้างตัวมาอย่างไร ใช้คุณธรรมอะไรในการสร้างเนื้อสร้างตัว มีความอดทน มีความเสียสละ มีความขยันขันแข็ง รู้จักเก็บหอมรอมริบ สร้างเนื้อสร้างตัวมาโดยวิธีใด เล่าให้ลูกหลานฟัง ลูกหลานก็จะได้ภูมิใจว่า อ้อ-คุณพ่อคุณแม่ของเรานี่ท่านสร้างตัวสร้างตนมาด้วยความยากลำบากกว่าจะถึงตำแหน่งอย่างนี้ได้ กว่าจะมีเงินมีทอง ต้องเหน็ดเหนื่อยต้องต่อสู้เหมือนกันขึ้นภูเขาสูงที่คนไม่เคยขึ้นมาเลย ต้องฟันฝ่ากว่าจะขึ้นไปจนถึงยอดได้ ลูกหลานก็จะได้ภูมิใจ แล้วก็จะได้จำไว้ แล้วเราก็ขมวดตอนท้ายว่า ลูกทุกคนอย่าหยิ่ง อย่าภูมิใจว่าพ่อเป็นอย่างนั้น พ่อเป็นอย่างนี้ ไอ้ของอย่างนี้ มันหัวโขน มันไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้แน่นอนอะไร วันนี้เราเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ไม่แน่มันจะเป็นอย่างอื่นไปก็ได้ มันเป็นเรื่องธรรมดาของการเป็นอยู่ในมนุษย์ เราต้องรู้จักลดตัว ต้องรู้จักถ่อมตัว การรู้จักลดตัวเองถ่อมตัวเองนั้น ทำให้คนเขาเอ็นดู แต่ถ้าเราลดไม่ลงคนเขาก็จะหมั่นไส้ ในการเป็นการอยู่ของพวกเรา เงินทองเราก็ต้องประหยัดในการจับจ่ายใช้สอย อย่าฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย อย่าเป็นคนประเภทที่เขาเรียกว่า จมไม่ลง มันต้องจมบ้าง ผุดขึ้นมาดูบ้าง ผุดขึ้นมาดูว่ากูจะไปทางไหนต่อไป ถ้าไปไม่ได้ จมไว้ก่อน ต้องรู้จักอย่างนั้น มันก็สบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน ไม่มีปัญหาอะไร สมัยก่อนเราเคยนั่งรถคันใหญ่ ต่อมาเรานั่งคันเล็ก ไม่ต้องไปเสียใจว่านั่งรถคนเล็กมันน้อยหน้าคนอื่น แต่เราควรจะภูมิใจว่าเราทำตนให้เป็นตัวอย่าง แก่คนอื่นที่เรานั่งรถคนน้อยๆได้นี่ เพราะว่าสมัยหนึ่งเรานั่งรถคนใหญ่ ก็เพราะตำแหน่งเราใหญ่ หน้าที่เราต้องติดต่อกับคนมากก็ต้องเปลี่ยนมาใหญ่เป็นธรรมดา แต่นี่เราไม่ต้องติดต่อกับใคร นั่งรถน้อยๆ นั่งคุกเข่าก็ได้ ไปไหนไม่เห็นจะลำบากอะไร ใจก็สบาย ไม่มีความทุกข์ลำบากในจิตใจ อย่างนี้น่ะมันก็สบาย เขาเรียกว่ารู้จักปรับตัวให้สมกับฐานะ สมกับตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นความอยู่ของเรา มันก็ไม่ลำบากไม่เดือดร้อนอะไร
ครั้งหนึ่งเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ นิมนต์พระพุทธเจ้าไปฉันอาหารที่บ้าน คือ นิมนต์ฉันอยู่เสมอ นิมนต์พระพุทธเจ้าบ้าง พระองค์อื่นบ้างไปฉันอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เลี้ยงอาหารอย่างดี บ้านเศรษฐีน่ะ แต่ว่าต่อมาท่านเศรษฐีเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ตกต่ำมากทีเดียว เงินที่เขากู้เขายืมไปเขาก็ไม่ส่งให้ทั้งดอกทั้งทุน แล้วปีนั้นมันก็ฝนฟ้าไม่อำนวย การเพาะปลูกก็เสียหาย ฐานะการเงินตกต่ำมาก จนกระทั่งว่าต้องตัดอะไรหลายอย่าง แต่ว่าการเลี้ยงพระนี่เคยเลี้ยงมา เคยพบพระอยู่เสมอจะตัดก็ไม่ได้ ท่านก็นิมนต์มาแต่ว่าฉันแต่ปลายข้าวกับน้ำผักดอง คือ ก่อนนี้หุงข้าวสารดีๆ ข้าสารกี่เปอร์เซ็นต์ ชั้นดีๆ อันนี้ต่อมาก็ไม่มีข้าวสารอย่างนั้น มีแต่ปลายข้าวคล้ายกับรำ ปลายข้าว เอามาหุงแล้วกับข้าวก็ไม่มีอะไร มีน้ำผักดองเท่านั้นเองเอามาถวายพระ แล้วทานเศรษฐีก็ปรารภขึ้นว่า หมู่นี้ข้าพระองค์ยากจน การเงินการทองไม่ค่อยดี อาหารที่ถวายพระไม่เหมือนกับสมัยก่อนมีแตข้าวปลายเกวียนกับข้าวผักดองว่างั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านคหบดี ทานมันไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่จิตใจ ไม่ใช่ ความดีของทานไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่จิตใจ สิ่งใดที่เราให้ด้วยจิตใจ ด้วยความตั้งใจดี ด้วยน้ำใจเสียสละ ให้เพื่อความขูดเกลาความเห็นแก่ตัว ความโลภให้หายไป ทานนั้นเขาเรียกว่าประเสริฐ ตถาคตไม่ได้ตีคุณค่าของทาน ด้วยวัตถุ ด้วยคนบริจาค แต่ตีคุณค่าของความตั้งใจที่จะบริจาค คนเราเมื่อตั้งใจจะให้เขามีเท่านี้อุตสาห์เอามาให้ก็เรียกว่าน้ำใจดีเหลือเกิน ให้แล้ว เหมือนกันหญิงทาสีคนหนึ่งเห็นพระพุทธเจ้าเดินมาก็ไม่รู้ว่าจะให้อะไร แต่ว่ามีแป้งกำลังจี่อยู่ จาปาตี อินเดียเขาเรียกจาปาตี ขนมปังแป้งจี่ คือ ทำให้เป็นก้อนแบนๆ เอาไปจี่ เอาไปปิ้งที่ถ่านไฟ พลิกไปพลิกมา น้ำมันเนยก็ไม่มี ไขมันก็ไม่มี มีแต่แป้งล้วนๆ เอามาวางอังไปอังมา คล้ายๆกับข้าวเกรียบบ้านเรา แต่มันก็ไม่ออกเป็นข้าวเหนียว มันแข็งๆอยู่อย่างนั้น กำลังจี่อยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จมาพอดีก็เลยเข้าไป วิ่งไปตามไป บอกว่าหยุดก่อนพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ก็หยุดหันหน้ามา เขาก็เข้าไปใส่บาตร พระพุทธองค์ก็เปิดบาตรให้ถวาย พอถวายแล้วหญิงนั้นก็กลับไป นึกในใจว่าพระพุทธองค์คงรับไปอย่างนั้นละ คงจะเอาไปขว้างให้อะไรกินซะตรงไหนก็ไม่รู้ นึกอย่างนั้น ครั้นพระองค์ท่านรู้วาระจิตของแม่ทาสีคนนั้น ได้รู้ว่าเขาคิดอย่างนั้นพระองค์ก็เลยนั่งลงที่ตรงนั้นนั่งแล้วก็ฉันอย่างดี ฉันด้วยความปรกติ แม่หญิงคนนั้นก็นั่งมอง มองพระพุทธเจ้าฉัน เกิดความอิ่มอกอิ่มใจว่า แหม-ทานของเรามันต่ำต้อยเหลือเกินแต่พระองค์ก็ยังฉันด้วยความเอื้อเฟื้อ ที่พระองค์ฉันเพื่ออะไร ก็เพี่อให้แม่หญิงคนนั้นสบายใจว่าของที่ถวายพระองค์ฉัน เพราะเขาถวายด้วยใจศรัทธา มีเท่านั้นไม่ได้ไปมีอะไรอื่นมากกว่านั้น พระองค์ก็ฉันให้เห็นว่าไม่ได้รังเกียจอะไร อย่างนี้เป็นตัวอย่าง
เพราะฉะนั้นเรามีอะไร เราจะให้อะไร ก็อย่าไปตกอกตกใจ อย่าไปออกตัวว่า วันนี้ไม่มีอะไร เรามีเท่าไหร่ก็ให้ มันอยู่ที่น้ำใจที่เราจะให้ เรามีอะไรเราก็ให้ไป เราก็ถวายไป คนใดที่เขาลำบากยากจนเราให้อะไรให้เขาก็ให้ไป เท่าที่เรามีเราไม่ ไม่จำเป็นต้องออกตัวว่า ฉันมีอย่างนี้นะ ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ต้อง ให้ไปเถอะ ตามหน้าที่ที่เราจะพึงให้ได้ จิตใจมันก็สบาย ไม่มีความกังวลอะไร คนเรามันต้องเป็นอย่างนี้ เรียกว่าสมัยหนึ่งอยู่อย่างหนึ่ง อีกสมัยหนึ่งฐานะเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้มันทันเหตุทันการณ์ ลดได้ขยายได้ เมื่อเราทำมาหากินมากขึ้น เอ้า-ขยายขึ้นไปอีกหน่อย การเป็นการอยู่ก็ดีขึ้นหน่อย แต่ถ้าไม่มีอะไรก็ลดลงไป ตามฐานะ เช่นว่าในสมัยนี้ฐานะทางเศรษฐกิจมันไม่ค่อยจะดี เมื่อตอนเช้าท่านเจ้าคุณพุทธทาสท่านพูดเรื่องเศรษฐกิจ นี่ เศรษฐกิจนี่ท่านแปลว่าอะไร เมื่อเช้าท่านบอกว่า การกระทำที่ให้ประเสริฐขึ้น เศรษฐกิจคือการกระทำที่ทำให้ประเสริฐขึ้น เศรษฐะ นั้นแปลว่า ประเสริฐ ว่าดี แล้วก็กิจ ก็คือการกระทำ เศรษฐกิจนั้นก็คือว่า การกระทำที่ให้มันดีขึ้น ให้ ดีขึ้นในเรื่องอะไร ในเรื่องทรัพย์สมบัติ ในเรื่องการงาน ในเรื่องการเป็น การอยู่ของประชาชนทั้งหลาย เช่นว่ารัฐบาลนี่แก้ไขเศรษฐกิจ ก็หมายความว่าให้ประชาชนมีความสุขขึ้นในการมีกินมีใช้ แต่คำว่ามีกินมีใช้ ไม่ได้หมายความว่ากินดีอยู่ดีนะไม่ได้หมายอย่างนั้น หมายความแต่ว่าให้พอมีกินมีใช้ ไม่อดไม่อยาก ลำบากเกินไป เอาแต่พอมีกินมีใช้ ไอ้เรื่องกินดีอยู่ดีน่ะมันไม่มีมาตรฐานเป็นเครื่องวัดว่าดีขนาดไหน กินดีขนาดไหน อยู่ดีขนาดไหน วัดกันไม่ได้ คนแต่งตัวอย่างนั้นบอกเออ- อย่างนั้นดี แต่มีคนหนึ่งแต่งเก่งกว่านั้นอีก-บอกว่าอย่างนี้ดี แล้วก็มีคนอื่นแต่งดีกว่านั้นอีกบอก โอ้ย มันไม่ได้เรื่องหรอก ไอ้เรื่องดีอย่างนั้นมันไม่จบ แต่ถ้าหากว่ากินอยู่แต่พอดีไม่ให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ชาวไร่ชาวนาชาวป่าชาวดอย ก็เรียกว่าให้มีกินให้มีใช้กันอย่างทั่วถึง เรียกว่าทำให้มันดีขึ้น เศรษฐกิจให้มันดีขึ้น
ข้าวของก็ไม่ให้มันแพงเกินไป ให้พอหาซื้อกันได้สำหรับคนธรรมดาๆ เรียกว่าจัดเศรษฐกิจให้มันดีขึ้น เพราะเวลานี้เศรษฐกิจในบ้านเมืองของเรามันค่อนข้างจะลำบากอยู่ คือข้าวของมันแพง กำลังหากับกำลังซื้อนี่มันไม่สมดุลกัน หามาน้อยแต่ว่าจ่ายมากเลยเกิดความลำบากเดือดร้อน อันนี้คนเราเคยหาได้ เคยจ่ายมาก แล้วถึงบทหาไม่ได้ก็ยังจ่ายมากอยู่นั่นเอง คือ ติดนี่ ติดความเอร็ดอร่อย ความเพลิดเพลิน ในอาหารในเสื้อผ้าที่อยู่อาศัยอะไรๆต่างๆ เราติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ครั้งหนึ่งเราเคยกินอย่างนั้น เคยนุ่งห่มอย่างนั้น เคยเที่ยวเคยเตร่อย่างนั้น พอไม่มีอย่างนั้นใจมันเหี่ยวมันแห้งลงไป เกิดความทุกข์ไม่สบายใจ อันนี้ไม่เป็นการถูกต้อง เราจะต้องไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องอย่างนั้น แต่เราต้องรู้ว่าเวลานี้มันลำบาก ชาวโลกลำบากเวลานี้ ไม่ใช่ว่าสบายทั่วไป เหมือนกันหมดล่ะ ประเทศไหนๆเขาก็ลำบาก ประเทศฝรั่งมังค่าที่ว่าเขาอยู่ในฐานะพัฒนาดีแล้ว อย่างยุโรป อเมริกา คนก็ลำบากเวลานี้ ข้าวของมันก็แพง แพงเอามากทีเดียวล่ะ สมัยก่อนนี้เมื่อ ๒๕ ปี อาตมาไปค่าโรงแรมมัน ๑๐ เหรียญเท่านั้น พักโรงแรมน่ะ ๑๐ เหรียญเท่านั้นเอง ไม่ได้แพงอะไร เรียกว่าโรงแรมใหญ่สบาย อย่างดี ในเมือง (47.30 เสียงไม่ชัดเจน) ซาน ฟรานซิสโก หรือ นิวยอร์กก็ ๑๐ เหรียญเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไร แต่เวลานี้มันขึ้นไปคืนหนึ่งตั้ง 80 เหรียญ มันแพงกันไปถึงขนาดอย่างนั้น หรือว่าต่ำลงมาก็ ๓๐ เหรียญเป็นอย่างน้อยเป็นค่าพัก แสดงว่ามันแพงขึ้น อะไรๆ มันก็แพงขึ้นทั้งนั้น คนก็ลำบากในการเป็นการอยู่ เจอหน้าใครๆ ก็บอก เออ-หมู่นี้แย่ หาไม่ทันกับใช้ เลยก็เกิดปัญหา เพราะเคยใช้มาก
ครั้นพอได้น้อยมันก็ใช้ไม่พอ เลยเกิดความทุกข์เกิดความเดือดร้อน ธรรมะก็ต้องเข้ามาช่วยในเรื่องอย่างนี้ เราต้องเอาหลักศาสนาเข้ามาช่วยตัวเรา คือว่า เราจะต้องพอใจในสิ่งที่เรามีเราได้ในขณะนี้ เรามีเงินเท่านี้ก็ต้องพอใจในสิ่งที่เรามี แล้วเราไปซื้อของได้เท่านี้เราก็ต้องพอใจในของที่เราซื้อมาได้ เราปรุงเป็นอาหารขึ้นมาหนึ่งหม้อ ครั้งก่อนนี้เคยกินหลายอย่างแต่เวลานี้มันก็กินอย่างเดียว ก็ต้องพอใจ กินเพื่ออะไรต้องพิจารณา เราไม่ได้กินเพื่อเล่น เราไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อยเพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อความอ้วนพลีมีกำลังนักมวยปล้ำ แต่เรากินเพื่ออยู่ได้ แล้วจะได้ใช้ร่างกายนี้ประกอบกิจการงานอันเป็นประโยชน์แก่ครอบครัว แต่ประเทศชาติของเราต่อไป เราคิดอย่างนั้นเราก็จะรู้สึกสบายใจในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ไม่เดือดร้อนในทางจิตใจ เครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย กับปัจจัยอื่นก็เหมือนกัน ต้องรู้จักพอใจในสิ่งเหล่านั้น ความพอใจนั่นละคือความเป็นเศรษฐีแล้ว ถ้าเราไม่พอใจแม้เป็นเศรษฐีก็ยากจน เรานั่งรถเบนซ์แต่ว่าเห็นเขานั่งคาร์ดิแล็คเราไม่พอใจในรถเบนซ์ของเราว่าเราคามันน้อยกว่ารถคนนั้นไป หรือว่ามีอะไรมี่มันราคาที่มันมากขึ้นไปอีกไปกว่านั้นเราไม่พอใจทุกครั้งที่เราเห็นสิ่งนั้น เรานุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าอย่างดีก็อุ่นดีอยู่กันเหลือบกันยุงได้ปกปิดความละอายได้ แต่พอเห็นคนอื่นที่เขาแต่งชุดอย่างนั้นแบบใหม่อะไรขึ้นมา เราไม่พอใจเลยเกิดเป็นทุกข์ ทุกอย่างถ้าไม่พอใจมันก็เกิดเป็นทุกข์ รำคาญใจ เป็นปัญหา แต่ว่าเงินมันไม่พอ มันไม่อำนวยที่จะให้เราไปซื้อไปหามาได้ ก็เกิดความทะเยอทะยานอยากได้ในเรื่องนั้น ก็เลยไปทำการเบียดเบียนคนอื่น ไปฆ่าเขาไปทำเขาให้ถึงแก่กรรมไปด้วยประการต่างๆ เดี๋ยวนี้คนมันใจร้ายเหลือเกิน
เมื่อวานซืนนี้เขามานิมนต์มาบอกว่ามีคนตาย ญาติเขาตายเป็นคนรู้จักกัน บอกว่าตายเพราะอะไร คนใช้ทุบตาย คนแก่ แก่ทั้งสองคน ผัวก็แก่เมียก็แก่ แต่นี้บ้านมันอยู่เปลี่ยวหน่อย ไปอยู่ในทุ่ง ทุ่งลาดพร้าวแถวนี้ แต่ว่ามันก็ห่างคนอื่นหน่อย ก็มีรั้วรอบขอบชิดดี ก็นึกว่าไปหาคนใช้มาไว้ในบ้านสักคนหนึ่งพอจะได้ช่วยงานการอะไรต่างๆ ก็ไปได้มาในวันนั้นแหละ แล้วก็คุณยายนี่ก็มาทำกับข้าว หุงข้าวต้มแกงก็เพื่อจะกินกัน ๓ คนนั่นละ คนใช้ด้วย สามีด้วย ไอ้คนใช้มันเกิดนึกอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ เข้าไปเอาเหล็กท่อนใหญ่ทุบคุณยาย คุณตาเห็นเข้าก็วิ่งเข้าไปช่วยเหลือ ทุบคุณตาเข้าด้วย เลยตายทั้งคู่เลย ตายพร้อมกัน เอาศพไปเผาแล้วตั้งแต่วันก่อนนี่เขาจะมานิมนต์ไปเทศน์ แต่มันตรงกันงานอื่นเลยไม่ได้ไปเทศน์กัน ฟังดูแล้ว โอ น่าสงสารจริงๆ คนแก่คนเฒ่านึกว่าจะมีเด็กมารับใช้ ด้วย แล้วเด็กนี่โน่น- เอามาจากสำนักจัดหางานเขาหาให้ บอกว่าอยู่เมืองสกลนคร แต่ดีหน่อยคุณตาเป็นคนที่ชอบทำสถิติอะไรไว้ พอมาถึงก็เรียกมาถาม ชื่ออะไร พ่อแม่ชื่ออะไร อยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ ตำบลไหน จดไว้ จดทิ้งไว้ในบ้านนั่นแหละ เวลาเขาค้นไปพบกระดาษนี้ก็เลยรู้ว่า อ๋อ ผู้ร้ายชื่ออย่างนั้น อยู่บ้านนั้นเมืองนั้น พอจะไปสืบได้ถ้าตำรวจขยันหน่อย แต่ถ้าไม่ขยันก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน มันสืบไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่ว่าลูกๆก็บอกเอ้อ มันลำบาก ฆ่าแล้วก็แล้วไป เราก็เผากันไปตามเรื่อง อาตมาฟังแล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ะ คนสมัยนี้ไม่ได้นะ โยมๆทั้งหลายนี่ ถ้าจะไปหาคนมาใช้นี่อย่า ใช้ตัวเองดีกว่า ได้มาแล้วมันจะลำบาก มันไม่เหมือนใจแล้วก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน เราไม่รู้หัวนอนปลายตีนเขาว่าเป็นคนอย่างไรมาอย่างไร มาอยู่วันเดียววันเอาแล้ว ดูมันทารุณขนาดนั้น ถ้าหลายวันมันจะได้ดูว่ามีอะไรตรงนั้นตรงนี้ อันนี้ยังไม่ทันดูก็เลยจัดแจงเลยทีเดียว
เอาเลยแหม เหมือนกับว่าเป็นคู่แค้นคูฆ่ากันมาตั้งแต่ ๕๐๐ ชาติ อย่างนั้นละ พอเจอกันถึงก็เอากันเลยทีเดียว นี่ต้องระวังคนใช้ที่เราไปรับมาจากสำนักงานต่างๆโยมต้องระวัง อย่าเอาเลย แบบนั้น ถ้าจะเอาก็เรียกว่าต้องคุ้นเคยกันจริงๆ คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เขาหามาให้ เขาไม่มีอะไรก็ให้มาอยู่มารับใช้ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน ข้าวของเงินทองเราอย่าให้มันเห็น อย่าให้มันแทงตา ตามันจะเกิดพร่า เราต้องเก็บให้มันเรียบร้อย ตรงไหนเข้าได้ ตรงไหนเข้าไม่ได้ ห้องหับอะไรต้องระมัดระวังทุกอย่าง เผลอไม่ค่อยได้ เดี๋ยวนี้มันลำบากเหลือเกินคนเราเผลอไม่ได้ วัดวาอารามนี่ก็เผลอไม่ได้ นี่วันก่อนวัดเผลอนิดเดียว ศาลาหลังโน้นอยู่ริมกำแพง เครื่องขยายเสียงซื้อใหม่ ๔,๐๐๐ บาท ใช้ยังไม่ถึงปีด้วยซ้ำ วันนั้นไอ้คนงานไปกินข้าวศาลาโน้นเปิดประตูทิ้งไว้ แผ็บเดียวเอาไปแล้ว มายกเอาไปแล้ว เรียกว่ามันก็ไวดีเหมือนกัน เรียกว่ามาคอยจ้อง คือ จ้องวางแผนอยู่ดีแล้ว ว่าเผลอวันไหนกูเอาวันนั้นแหละเลยยกไปซะเลย ข้ามกำแพงไป พอบ่ายสองโมงพระจะเทศน์ ก็จัดแจงจะเปิดเครื่องเอ้า-เครื่องไม่มีเสียแล้ว ขโมยเอาไปใช้เสียแล้ว มันเคยได้ วัดชลประทานมีเครื่องขยายเสียงหลายเครื่องแล้วมันขอแบ่งเอาไปใช้มั่ง ก็เอาไปเถอะ เอาไปเลย (หัวเราะ) เราก็จะว่าอะไร เราก็ต้องพอใจเหมือนกัน พอใจว่า เออ มันเอาไปดีเหมือนกันจะได้ซื้อเครื่องใหม่ นี่ก็ซื้อแล้ว มีคนซื้อให้แล้ว ซื้อให้ใหม่ต่อไป แต่บอกคนงานว่าทีนี้มันต้องเด็ดขาดนะ ต้องใส่กุญแจ ต้องใส่ตู้ นี่ในนี้มีตู้ ใส่ตู้ไว้นี่แล้วก็ใส่กุญแจ ให้มันยากหน่อย เปิดตูแล้วมันต้องเปิดติ้วอีก ให้มันยากหน่อย ไอ้นั่นเปิดปั๊บแล้วมันยกเลย มันคล่องเกินไป มันเป็นความผิดของเราเอง ความผิดของสมภารด้วยที่ไม่ได้ทำให้เรียบร้อย มันจึงเอาไป มันก็ดีเหมือนกัน เท่ากับว่าเราได้บทเรียนว่า ต้องระมัดระวังต่อไป
อะไรต่ออะไร เหมือนกุฏิโน้นมันก็เคยเอาไป ทีหลังก็ไม่เอาต้องใส่กุญแจแบบใหม่ ต้องใส่ประตูหน้า ต้องใส่ประตู ใส่กลอนด้วย ล็อกด้วย แล้วก็นี่ประตูโน้นใส่กุญแจดี ออกด้านหลัง ออกแล้ว ไอ้หน้านี่มันมีกลอนค่อยยังชั่วหน่อย ถ้ามันจะมาเอา มันเปิดไม่ได้ดังใจ นอกจากว่าทุบแก้วให้มันแตกแล้วก็เข้าไปอีกถ้ามันจะเอาจริง แต่มันไม่ลงทุนถึงขนาดนั้น เพราะมันไม่มีอะไร มีแต่เครื่องขยายเสียง แต่ราคามันก็มาก เลยมันเอาไป แต่ว่าตอนซื้อใหม่มันไม่แพงเท่าไหร่ แต่ว่าไอ้พวกขี้ยาก็ยังชอบอยู่แหละ จะเอาได้ละ โยมญาติทุกคนจะต้องระวัง แต่ถ้ามันเอาไปแล้วโยมอย่าไปกลุ้มใจ เราก็ เออ เอาไปแล้วก็แล้วไป ของไม่ใช่ของฉัน ฉันยืมเขามาใช้ เมื่อแกเอาไปใช้อีก แกก็ยืมไปต่อไป แต่ว่าแกก็คงยืมไปไม่นานก็คงจะอยู่โรงจำนำต่อไป เพราะไอ้พวกนั้นมันรักษาไม่ได้ ชั่งหัวมันเถอะ ของนอกกาย เรายังมีชีวิตอยู่ ยังทำอะไรได้ หาได้ ของนั้นหายไปก็ไม่เป็นไร เพราะว่ารับทานอาหารก็ไม่ต้องใช้ของนั้นก็ได้ เรายังมีเงินทองซื้ออาหาร เรามีเงินมีทองก็ฝากธนาคารไว้ให้เรียบร้อย เพชรนิลจินดาก็อย่าเที่ยวใส่กระเป๋าหิ้วไป เดี๋ยวมันฉกกระเป๋าไป เอาของในกระเป๋าไปด้วย เดือดร้อนเหมือนกัน ฝากเก็บไปเงินทุนสำรองไม่ต้องถอนมาใช้เก็บไว้อย่างนั้น ไปเบิกเงินธนาคารก็ต้องระวังเหมือนกัน คนที่จะไปต้องไว้ใจ
เช่น คนรถนี่ต้องไว้ใจ ว่าไว้เนื้อเชื่อใจ คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจคือ เป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่เที่ยวเตร่เฮฮา คนพวกนี้ไว้ใจได้ แต่ถ้ามีนิสัยเป็นคนชอบดื่ม ชอบเล่นการพนัน ชอบเที่ยวชอบสนุก ไม่ค่อยได้ มันไม่ค่อยมีเงินใช้ พวกนี้ไว้ใจไม่ได้ เราจึงต้องระมัดระวังในเรื่องอย่างนี้ อย่าให้ประมาท เพราะมีบ่อย เบิกมาแล้วมาถึงประตูบ้านฉกเอาไปซะเลย หรือว่าฉกกลางทางก็มี เพราะฉะนั้นอันตราย เรื่องนี้ ตำรวจน่าจะกวดขัน ไปแอบมอง ไปจ้องๆอยู่ตามธนาคารบ้าง คอยดู คอยสืบ คอยเสาะ แต่ว่าตำรวจเรามันไม่พอ ยังมีน้อยอยู่ ต้องเพิ่มงบประมาณ รัฐบาลใหม่คงจะเพิ่มให้อยู่ล่ะ ถ้าต่อไปข้างหน้ามันค่อยๆดีขึ้นไปเรื่อย เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่อันตรายทั้งนั้นเราอยู่ในท่ามกลางอันตราย คล้ายกับอยู่ระหว่างเขาควาย ต้องระวังตัวใช้สติ ใช้ปัญญา พิจารณารอบคอบ รอบรู้ในเรื่องอะไรต่ออะไรต่างๆ เรื่องคนเรื่องงาน เรื่องทุกอย่างต้องรอบคอบ ไม่งั้นแล้วก็จะเสียหาย เกิดความทุกข์ขึ้นในภายหลัง แต่ถ้าเราระมัดระวังแล้วมันก็ยังเกิดก็นึกว่า เอ้อ เป็นกรรมของสัตว์ไม่รู้จะว่ายังไง ปลงไป วางไปในแง่ว่า มันไม่ใช่ของเรา เอาไปแล้วก็ชั่งหัวมัน นึกอย่างนี้ใจก็สบาย ไม่เดือดร้อนมากเกินไป
เอ้า วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา แต่นี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจ 5 นาที นั่งสงบใจ สำรวม หลับตาเสียหน่อย แล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก ให้ความคิดอยู่ที่ลมเข้า ลมออก เรียกว่ามีสติ คือ รู้สึกอยู่ที่ลมเข้าลมออกตลอดเวลา ญาติโยมยืนขึ้น สำรวมใจ แผ่เมตตา ปรารถนาความสุข ความเจริญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า (เสียงแผ่เมตตา)