แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาถกฐาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เอ้า! วันนี้เรามีสมาชิกน้อยๆ คือนักเรียนจากโรงเรียนๆ หนึ่ง มากันเต็มคันรถ มานั่งร่วมฟังกับคนที่มาฟังทุกวันด้วย วันก่อนๆ มีนักเรียนมาฟังบ้างเหมือนกัน แต่ว่านั่งอยู่ทางแถวบริเวณป่าไผ่ นั่งตรงโน้น พวกหนูๆ ก็ไม่เห็นหน้าผู้แสดง ได้ยินแต่เสียง เหมือนกับฟังวิทยุ ในวันนี้ก็จัดให้มานั่งบริเวณนั้น ซึ่งสามารถจะได้เห็นหน้าองค์ปาฐกด้วย เห็นหน้าด้วย ได้ยินเสียงด้วย นี่มันค่อยสบายใจ ฟังเพลินหน่อย ดังนั้นขอให้ตั้งใจฟังให้ดี เพื่อจะได้จดจำ นำไปเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไป
พูดกับหนูเดี๋ยวนี้เสียก่อนเล็กน้อยว่า เด็กๆ เรานี่ ยังเป็นเด็กอยู่ในวัยของการศึกษา กำลังเตรียมตัวเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ในกาลต่อไปข้างหน้า การเป็นเด็กกับการเป็นผู้ใหญ่นั้น ไม่เหมือนกัน เกิดเป็นเด็กนี่มีความรับผิดชอบในเรื่องการทำมาหากินน้อย เพราะมีคนรับผิดชอบแทนอยู่ คือคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่รับไปหมด ไม่ว่าเรื่องการกินอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ทุกประการ คุณพ่อคุณแม่รับผิดชอบจัดให้แก่เราทุกประการ เรามีหน้าที่เพียงประการเดียวที่สำคัญ คือการศึกษาหาวิชาความรู้ใส่ตัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้นจะอยู่อย่างเด็กก็ไม่ได้ ต้องทำมาหากิน ต้องเลี้ยงตัวเอง ต้องช่วยตัวเอง ถ้าเราไม่มีวิชาความรู้ ไม่มีความสามารถ ขาดความประพฤติดีเป็นหลักจิตใจ ก็จะเอาตัวไม่รอด จะอยู่อย่างลำบาก ยิ่งสังคมในยุคปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว ยิ่งลำบากมาก เพราะว่าต้องแข่งขันกัน ในเรื่องการเป็นอยู่ ในการแสวงหาอาชีพ สำนักงานราชการตรงไหน เปิดรับสมัครคนทำงาน จำนวนเพียงสัก ๑๐ คน มีคนไปสมัครตั้ง ๑,๐๐๐ ฉะนั้น คนใดที่เก่งจริงก็ได้ หรือไม่เก่งแต่ว่ามีเส้นมีสายก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าจะเอาเส้นเอาสายกันนี้มันไม่ดี สู้เอาความเก่งกันไม่ได้ ถ้าเราเก่งจริงแล้ว ไม่มีเส้นสาย เขาก็ต้องเอาเพราะว่าเก่งจริงๆ เขาเห็นคะแนน เห็นผลการสอบแล้วว่า อ้อ... คนนี้เก่งจริง ก็ต้องเอาไว้ แต่ถ้าเราเก่งไม่จริงถึงมีเส้นสายมันก็ลำบาก ถ้าออกไปทำงานแล้ว ทำไม่ได้ดี ไม่เท่าใดเขาคงจะให้เราออกจากงานไป เราก็จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ไม่มีเกียรติ ไม่มีชื่อเสียงในสังคมเป็นปัญหาเดือดร้อน
ฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้ดี ตั้งใจเรียนวิชาหาความรู้ใส่ตัวไว้ตั้งแต่เบื้องต้น เรียนอะไร เรียนให้รู้จริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ถ้าใครมาถามเรา ก็ต้องตอบได้อย่างถูกต้อง จึงจะชื่อว่าเป็นการเรียนที่ก้าวหน้า อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากหนูทุกคนไว้ ในเบื้องต้น แล้วก็จะพูดรวมๆ กันต่อไป สำหรับญาติโยมและหนูๆ จะคงฟังกันต่อไป
เรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ก็ใคร่ที่จะทำความเข้าใจกัน เพราะว่าในวันก่อนๆ โน้น ได้พูดมาโดยลำดับ ในเรื่องเกี่ยวกับคำที่เรากล่าวไหว้พระสวดมนต์ทุกวันๆ นี่ เราว่ากันแต่ว่าอาจจะไม่เข้าใจความหมาย ก็ได้อธิบายมาในเรื่องเกี่ยวกับคำกราบไหว้พระพุทธเจ้า พูดในเรื่องพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยกรุณาคุณ ปัญญาคุณ บริสุทธิคุณ ได้แสดงมาโดยลำดับ ก็อาจจะขาดตอนไปบ้าง แล้วก็แจกแจงเรื่องอื่นเข้ามาเสียบ้าง ก็เป็นอันจบไปแล้วในเรื่องนั้น ญาติโยมคงจะเข้าใจ ว่าพระพุทธเจ้าที่สำคัญนั้นก็คือ คุณงามความดีที่มีอยู่ในองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งเราเรียกว่า “สัจจธรรม” หมายถึง คุณค่าแห่งธรรมะที่มีอยู่ในใจของพระองค์ แม้นเสด็จนิพพานไปแล้ว แต่เพียงเนื้อหนัง ร่างกาย แต่ว่าธรรมะที่พระองค์ได้รู้ ได้เข้าใจ ได้นำมาสั่งสอนแก่ชาวโลกทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ยังอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่เอามาปฏิบัติก็จะไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิต แต่ถ้าเราศึกษาให้เข้าใจ นำมาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หรือว่าเอามาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาในชีวิตของเรา เราก็เหมือนกับว่าได้อยู่กับพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระองค์ เพราะการเห็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้น ต้องเห็นธรรมะ ดังคำที่พระองค์ตรัสว่า
“โยโข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ” ดูก่อน วักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตัวเรา ได้แก่ ตถาคต
ถ้าไม่เห็นธรรมะ ก็ไม่เห็นองค์พระพุทธเจ้า พูดว่าเห็นธรรมะ มันเป็นของลึกซึ้ง ถ้าพูดกันในส่วนลึก ก็ต้องเห็น “ปฏิจจสมุปบาท” คือเห็นความเกิด ความดับของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ว่ามันเกิดมาอย่างไร มันดับไปอย่างไร เป็นสายกันมาตลอดอย่างไร การเห็นอย่างนั้นก็เรียกว่า เห็นองค์พุทธะที่แท้จริง เห็นสัจจธรรมอันสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเรายังไม่เห็นถึงขั้นนั้น เพียงแต่ว่าเห็นในขั้นที่ เป็นขั้นศีลธรรม หรือในขั้นการปฏิบัติที่ให้เกิดความสงบเป็นครั้งคราว เวลาใดใจเราสงบไม่วุ่นวาย เราก็ชื่อว่าอยู่กับพระพุทธเจ้า หรือเวลาใดที่ใจเรามีความสะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ เราก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงองค์พระพุทธเจ้าเหมือนกัน ในส่วนนั้นเป็นเรื่องเราเข้าถึงได้ เป็นสิ่งสาธารณะ เปิดเผย ให้คนทุกคนเข้าไปถึงได้โดยไม่ลำบากอะไร ไม่ต้องลงทุนไปซื้อไปหาด้วยเงินตราที่ปรากฎใช้กันอยู่ แต่เราจะเข้าถึงได้ด้วยการสัมผัสสิ่งนั้นด้วยใจของเราเอง ซึ่งทุกคนก็มีใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าโดยมากเรามักจะเอาไปใช้ คิด คิด ในเรื่องที่ที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ เช่นเรื่องปัญหาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น คิดแล้วเกิดความกลุ้มใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน อันนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะแสวงหา แต่เราควรจะแสวงหาสิ่งที่เป็นความสงบใจ ให้มากที่สุดที่จะมากได้ การเข้าถึงพระพุทธเจ้าก็คือ การทำใจของเราให้เกิดความสงบ สะอาด สว่าง ตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องการเข้าถึงที่ถูกต้อง นี้ประการหนึ่ง
ทีนี้สิ่งที่พระองค์แสดงไว้นั้น เราเรียกว่า ธรรมะ เพียงแต่ว่าใช้คำนำหน้าว่า “พระธรรม” พูดว่าพระธรรม ก็หมายถึง คำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เวลาเราสวดเกี่ยวกับพระธรรม เราสวดว่า “สวาขาโต ภควตา ธัมโม” พระธรรมอันผู้มีพระภาคจัดไว้ดีแล้ว ... จัดไว้ดีแล้ว “ธัมมัง นมัสสามิ” ข้าพระเจ้าขอนมัสการพระธรรม กราบไว้พระธรรม การกราบไหว้พระธรรมนั้น หมายถึงไหว้อะไร คือเราไหว้คุณงาม ความดี ที่องค์พระธรรมนั้นเอง หรือว่าเรานึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็กราบไหว้ เพราะเราถือว่าธรรมะนี้ เป็นส่วนหนึ่งในรัตนที่เรานับถือในชีวิตประจำวัน คือเรานับถือองค์พระพุทธเจ้า นับถือพระธรรมอันเป็นหลักคำสอน นับถือพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนามาจนกระทั่งถึงพวกเราทั้งหลายในยุคปัจจุบันนี้ เราจึงได้กราบไหว้ พระธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งในสามสิ่งนั้น ถ้าพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมนั่นแล เป็นสิ่งสูงสุด เป็นสิ่งที่เราควรจะนึกถึงให้มากๆ พระพุทธเจ้าท่านเป็นพุทธะขึ้นมาได้ ก็เพราะว่าได้รู้ธรรมะ ถ้ายังไม่รู้ธรรมะ เราก็ไม่ได้เรียกพระองค์ว่าเป็นพุทธะ เราเรียกพระองค์ว่าเจ้าชายสิทธัตถะบ้าง มาออกบวชแล้วก็เรียกว่าพระโพธิสัตว์บ้าง พระมหากัปป์บ้าง หาได้เรียกว่าพุทธะไม่ เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมะ เราก็เรียกพระองค์ว่าเป็นพุทธะ หมายความว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้มีความเบิกบานเปี่ยมใจ พระองค์เป็นผู้รู้ตื่น เบิกบานแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา จึงได้รับนามว่าเป็น พุทธะ การเป็นพุทธะก็อาศัยธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะก็เป็นพุทธะขึ้นไม่ได้ ธรรมะนี้เป็นสิ่งมีอยู่ก่อน มีอยู่ตลอดเวลา เคยมีคนถามปัญหาว่า “พระพุทธ พระธรรม นี่... อันไหนมีเกิดก่อน” ถ้าตอบตามความถูกต้อง ก็เรียกว่า พระธรรมนี้มีอยู่ก่อน เคยมีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง มีอยู่ทั่วไป แต่ว่าไม่มีใครค้นพบ ไม่มีใครเอามาเปิดเผยกันแล้วแจกจ่ายแก่ประชาชน พระองค์ เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งต่อมาได้นามว่าเป็นพุทธะนี้ เป็นผู้ค้นพบพระธรรม แล้วก็นำมาเปิดเผย ทำให้รู้ เกิดแก่คนทั้งหลายให้เกิดความรู้ ความเข้าใจต่อไป พระธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง พระองค์จึงได้จัดไว้ในธรรมนิยามสูตรว่า
ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น มีอยู่แล้วในที่ทุกหนทุกแห่ง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ เปิดเผย แจกแจง แสดงแก่ชาวโลกทั้งหลายเท่านั้น อันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า พระธรรมนั้น หรือธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกตลอดเวลา แต่ว่าคนไม่รู้กันนั่นเอง แล้วในตัวเรานี้ก็มีธรรมะอยู่ แต่เราไม่รู้ว่ามีธรรมะอยู่ในตัวเรา เช่นว่าธรรมะ ๓ ประการ ซึ่งเรียกว่าเป็น “ธรรมสัจจะ” ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ที่เราสวดมนต์ทุกเช้าๆ ว่า รูปังอนิจจัง อะไรอย่างนี้เป็นต้นนั้น มันก็มีอยู่ในตัวเรา ในร่างกายของเรา ร่างกายที่ยาววา ๑ หนาคืบ ๑ กว้างศอก ๑ นี้ มีความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา มีความเป็นทุกข์อยู่ แล้วก็มีความเป็นอนัตตา จึงได้ชื่อว่ามีธรรมะปรากฎอยู่ แต่ว่าเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ เราไม่มีตาจะมองสิ่งเหล่านั้น ตามต้นหมากรากไม้ ต้นไม้ที่เราเล่น เช่นเราปลูกต้นกุหลาบ ปลูกกล้วยไม้ประเภทต่างๆ เอาไว้ดูเล่น เราก็ดูเล่นไปอย่างคนที่ดู.... ด้วยความเพลิดเพลิน พอมันออกดอกก็ดูสี ดูสรรมัน ดูแล้วก็สบายใจ ว่าต้นไม้ที่เราอุตส่าห์ปลูกออกดอกแล้ว สีสวยดี แต่ถ้ามีตัวแมลงมากินดอกนั้น เราก็เสียใจว่า “ว่าแหม... มันมากินไวเกินไป มันควรจะบานอยู่อีกตั้งหลายวัน” เราก็เสียใจบางทีโมโหโกรธาไม่อยากจะเลี้ยงต่อไป เพราะมมีแมลงรบกวน อย่างนี้ ถ้าพอใจก็เกิดความชอบ ไม่พอใจก็เกิดความชังในสิ่งนั้น นั่นไม่ได้มองในแง่ธรรมะ ถ้าเรามองในแง่ธรรมะ เราก็จะเห็น ตัวธรรมะปรากฎอยู่ในดอกไม้ คือความไม่เที่ยงก็ปรากฎอยู่ในดอกไม้เหล่านั้น มันเริ่มต้นด้วยการผลิออกมานิดหน่อย เป็นดอกตูม แล้วก็แย้ม แล้วก็บาน เมื่อบานแล้ว ไม่เท่าใดมันก็เหี่ยวแห้ง ดูครั้งหนึ่งไปทีละตูม จนกระทั่งหมด ไม่มีเหลือต่อไป นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป จนกระทั่งว่าเกิด-ดับสูญหายไป คือธรรมที่เราเห็นจากดอกไม้
แล้วก็ปีนี้อากาศมันแห้ง ญาติโยมที่มาวัดนี่ ถ้าไปดูต้นประดู่ที่ข้างถนนที่รถยนต์จอด จะเห็นว่าโกร๋นไป เหลือแต่ก้าน ใบมันไปไหนหมด ใบมันร่วงหล่นลงมากองอยู่บนถนน แต่ว่าโยมไม่เห็นใบที่กองเพราะว่ากวาดเสียตั้งแต่เช้ามืด มันก็ไปกองกันอยู่รวมกันอยู่แล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง ถ้าเราดูที่ใบไม้เหล่านั้น เราก็จะเห็นธรรมะ เพราะว่าใบไม้นั้นมันก็ผลิใบอ่อน แล้วต่อมาเป็นใบแก่ เป็นใบสีเหลือง แล้วมันก็ร่วงหล่นลงจากกิ่ง กองอยู่ที่พื้น ซึ่งเราจะต้องกวาดเอาไปฝังเสียเพื่อให้เป็นปุ๋ยของต้นไม้ต่อไป อย่าเอาไปเผา บางคนเห็นใบไม้รก เอาไปเผาหมด เผานี่มันเป็นขี้เถ้าไปเสียเปล่าๆ สูญไปไม่มีอะไรเหลือ ควรจะเอาไปฝังดินไว้หรือเอาไปหมักไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง หมักไว้นานๆ มันก็เปื่อยเน่า เอามาคลุกกับดิน เอาไปใส่ต้นไม้ในกระถาง ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามต่อไป ธรรมะก็มีปรากฎอยู่ในใบไม้ คือความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของใบไม้ ไม่ว่าเรามองไปที่ใด ถ้ามองด้วยความคิดค้นแสวงหาธรรมะ เราก็จะพบธรรมะ แต่ว่าถ้ามองเพื่อเพลิดเพลินเจริญใจ มองให้เกิดกิเลส เกิดราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง มันก็ไม่ได้อะไร เราได้ความร้อนใจ ได้ความร้อนใจเพราะไม่มองหาธรรมะ แต่ถ้ามองหาธรรมะ เราจะได้ความสุขใจที่แท้จริง ได้ความเย็นใจ ได้ความสงบใจ เพราะสิ่งนั้นมันปรากฎแก่เรา พระผู้มีพระภาคท่านจึงตรัสว่า “ในกาลใด ธรรมะทั้งหลายปรากฎแก่กาล (17.03 ปรากฎแก่กาล ผู้มีเพียรเช่นอยู่) เพราะมารู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ในขณะนั้นผู้นั้นย่อมมีความสุข”
ในพวกเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามองเห็นอะไรในแง่ธรรมะ เราจะมีความสุขใจ มีความสบายใจ หรือว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องสุขเรื่องทุกข์ มันก็เป็นธรรมะอยู่ในตัว ถ้าเรามองเป็นเราก็เห็นธรรมะ ถ้ามองไม่เป็นก็ไม่ได้เห็นธรรมะอะไร ตัวอย่างเช่น เรารับประทานอาหาร เราใส่อาหารเข้าไปในปาก แล้วเราก็เคี้ยว เมื่อเคี้ยวไปมันก็เกิดอะไรบางอย่าง เช่นว่าอาหารรสอร่อย ชอบอกชอบใจ มันก็เกิดความเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้น เรียกว่าเป็นตัณหาเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ชอบใจ บางทีคายทันที คายเสร็จแล้วไม่คายเปล่า ดุแม่ครัวให้ด้วยซ้ำไป หาว่าปรุงอาหารอย่างไร ไม่มีรสมีชาติกับเขาเลย หรือว่าบางทีปรุงไม่สุก ไม่เรียบร้อย เราก็ดุเขา หรือว่ามีทรายติดเข้าไปบ้างโดยแม่ครัวไม่รู้ เคี้ยวถูกทรายเข้า ก็รำคาญ หน้าตาไม่สบาย จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง มองอะไรไปก็เป็นเรื่องน่าโกรธไปเสียทั้งนั้น เหล่านี้เขาเรียกว่า มันไม่เป็นธรรม ถ้าเราไม่ได้มองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ได้คิดในสิ่งนั้นเพื่อให้เป็นธรรม จิตใจมันก็ไม่มีธรรมะ เมื่อจิตใจไม่มีธรรมะก็มีแต่ความขุ่นมัว เศร้าหมอง เร่าร้อน วุ่นวาย เรื่องอะไรต่างๆ มันก็เป็นธรรมะเหมือนกันถ้าจะเรียกกันในแง่ธรรมะ แต่ว่าเป็นธรรมะฝ่ายอกุศล ฝ่ายไม่ดี ไม่งาม เป็นฝ่ายดำไม่ใช่ฝ่ายขาว ถ้าเป็นธรรมะฝ่ายขาว ก็เป็นไปในด้านปัญญา ในด้านความรู้ ในด้านความเข้าใจ เอามาใช้เป็นเครื่องขจัด เหมือนกับแสงสว่างขจัดความมืดได้ ความมืดหายไป เราก็มองเห็นอะไรถูกต้อง ธรรมะฝ่ายที่เป็นฝ่ายขาว ฝ่ายกุศลเมื่อเกิดขึ้นในใจของเราแล้ว ทำให้จิตใจเราสงบขึ้น สะอาดขึ้น สว่างขึ้น มองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งตามสภาพที่เป็นจริง ขณะใดที่เราเห็นความจริง ขณะนั้นเราหมดความยึดมั่น ถือมั่นในเรื่องนั้นไปเรื่องหนึ่ง แต่แล้วก็เรื่องอื่นมันก็เกิดอีก เราก็มองต่อไปอีก ถ้าเราเห็นความจริงของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็ผ่อนคลายไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อน การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเราที่เป็นพุทธบริษัท จึงควรจะเป็นอยู่ด้วยการพิจารณาอยู่ตลอดเวลา พึ่งธรรมะอยู่ตลอดเวลา มองหาอะไรทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริงๆ อย่างนี้เรียกว่า เราอยู่ด้วยการเพ่งมองหาธรรมะเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตของเรา ธรรมะจึงเป็นสิ่งซึ่ง มีอยู่ในที่ทั่วไปดังนี้ ขอญาติโยมได้เข้าใจไว้เป็นประการต้น
พระพุทธเจ้าของเรา ท่านออกไปค้นหาธรรมะ เมื่อก่อนท่านไม่รู้ ท่านไม่เข้าใจ แต่ว่าท่านมีปัญหา มองเห็นอะไรก็รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ นั่นคือตัวปัญหาใหญ่ มองเห็นว่าคนนี้เป็นทุกข์ ความเกิดมาเป็นคนนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด ทุกข์เพราะประการสุดท้าย ทุกข์เพราะความตาย ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ พระองค์เคยเห็นคนร้องไห้ เป็นทุกข์ หน้าตาไม่สบาย แล้วก็คิดว่าเขาเป็นทุกข์นี่ ทุกข์นี้มันจะแก้ได้หรือไม่ ก็คิดหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ไขความทุกข์ได้ จึงได้ออกไปบวช เมื่อบวชแล้วก็ไปศึกษาตามสำนักอาจารย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้น เพราะว่าพระองค์ยังใหม่ต่อเรื่องนี้ เขาทำอะไรกันอยู่ก็ไปทดสอบ ในสำนักนั้นบ้าง ในสำนักนี้บ้าง ทดสอบดูก่อนว่ามันจะได้ผลเป็นประการใด ก็ได้ผลบ้างแต่ไม่ถึงจุดหมายปลายทาง คือไม่ดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ถึงจะดับได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เช่นว่าไปนั่งเข้าฌาณ นี่ .. ถ้ามาเข้าฌาณนั้นก็ไม่รับรู้อะไร ความทุกข์นี้ก็ไม่มี แต่ครั้นออกมาแล้ว จิตจะส่งไปรับรู้สิ่งนั้น สิ่งนี้ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ไปถูกต้องอะไรเข้า กิเลสมันยังแอบเกิดมาได้ ยังไม่หมดจากปัญหา คือความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วก็มองเห็นว่าไอ้ที่เรียนมาแล้วไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ทางแห่งการพ้นทุกข์อันแท้จริง จึงได้ไปคิดค้นกันใหม่ ศึกษากันใหม่ จึงได้แนวทางใหม่ ทฤษฎีใหม่ แล้วก็ปฏิบัติตามแนวทางนั้น จนกระทั่งปรากฏแก่พระองค์เองว่า ความทุกข์ไม่มี จิตใจสงบอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรมารบกวนให้เกิดความขุ่นมัว เศร้าหมอง วุ่นวาย เร่าร้อนอีกต่อไป จึงได้เรียกว่าเป็น พุทธะ การเป็นพุทธะจึงต้องอาศัยความรู้ทางธรรมะ ตัวธรรมะจริงๆ เป็นสิ่งสำคัญ ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ค้นพบเอามาเปิดเผยทำให้เราเข้าใจ
ทีนี้เมื่อพระองค์จะนิพพานนี่...พระอานนท์ก็ทูลถามปัญหาหลายข้อ แต่มีอยู่ข้อหนึ่ง พระอานนท์ท่านถามว่า “เมื่อพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้เข้าเฝ้า ได้ฟังธรรม ได้ถือเอาพระองค์เป็น (23.25 เสียงไม่ชัดเจน) ปูชณาจารย์ ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จนิพพานแล้ว พระองค์จะทรงตั้งผู้ใดให้เป็นตัวแทนพระองค์ต่อไป” พระพุทธเจ้าของชาวเรา ไม่ทรงตั้งตัวบุคคลให้เป็นผู้แทนพระองค์ เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า คนนี้จะสร้างปัญหา จะทำความวุ่นในกาลต่อไป ในยุคนั้นเมื่อมีนิพพานใหม่ๆ ยังคงไม่เป็นอะไรหรอก เพราะว่าสิ่งทั้งหลายยังดีงามอยู่ แต่ว่าในกาลต่อไปข้างหน้า อาจจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในวงการของพระศาสนา ถ้าตั้งบุคคลนั้นๆจะนำตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายนั้นไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อลาภยศสักการะ หรืออาจจะไปใช้ในการแสวงหาอำนาจเพื่อตน เพื่อพรรคพวกก็ได้ พระองค์จึงไม่ตั้งคนใดคนหนึ่งให้เป็นตัวแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้ตรัสเป็นคำบาลีว่า
“โย โข อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจุจเยน สตฺถ” (24.30 เติมคำบาลีให้ครบ) บอกว่า “อานนท์เอ๋ย ธรรมะอยู่ในอันใด ที่เราได้สอนแล้ว บอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมะนั้นนั่นแลจะเป็นศาสดา แทนเราต่อไป”
อันนี้ก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า พระธรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตั้งตัวธรรมะให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไป ถ้าเราจะเข้าถึงพระพุทธเจ้าในสมัยปัจจุบันนี้ เราก็ต้องพยายามเข้าถึงธรรมะ เอาธรรมะมาใส่ไว้ในใจของเรา ให้ใจเราอยู่กับธรรมะ ให้ธรรมะอยู่กับเรา พูดว่าเข้าถึงธรรม ธรรมเข้าถึงเรา เมื่อนั้นแล เราจะชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตใจของเราอย่างถูกต้องแท้จริง ทีนี้ในสมัยหลังๆ มานี่ มีสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแทนพระพุทธเจ้า สิ่งที่เป็นเครื่องหมายนั้นก็คือพระพุทธรูป อันเป็นรูปเปรียบแทนพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่า “พุทธปฏิมา” แปลว่า รูปเปรียบพระพุทธเจ้า คำว่า “รูปเปรียบพระพุทธเจ้า” นั้นอย่าเข้าใจไม่ดี อย่าเข้าใจว่าเปรียบด้วยรูปร่างของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระพุทธรูปนั้นเป็นรูปเปรียบแทนเนื้อหนังพระพุทธเจ้า หรือแทนร่างกายของพระพุทธเจ้า เพราะว่ารูปนี้เกิดภายหลัง เกิดเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปนานแล้ว ตั้ง ๗๐๐ กว่าปี ซึ่งมันไกลเหลือเกิน คนไม่รู้ว่าพระองค์มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เขานึกว่าก็เหมือนๆ คนเราธรรมดานั่นแล มีจมูก มีอะไร เหมือนกับคนธรรมดาในอินเดียในสมัยนั้นแล แต่ว่าจะว่าหน้าอย่างนั้น หน้าอย่างนี้ รู้ไม่ได้ นึกก็ไม่ออก เพราะไม่เคยเห็นเป็นภาพอะไร ว่าพระพุทธองค์มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ว่านึกไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปที่เขาสร้างขึ้นนั้นจึงไม่ได้สร้างแทนองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นเนื้อ เป็นหนัง แต่เขาสร้างแทนคุณงาม ความดีของพระพุทธเจ้า แทนพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่า พระกรุณา พระปัญญา พระบริสุทธิ์ กรุณาคุณ ปัญญาคุณ บริสุทธิคุณ เรียกว่าเป็นพระคุณของพระองค์ เขาปั้นรูปขึ้นมาให้คนได้นึกถึง ได้เห็นรูป เห็นรูปแล้วก็จะได้นึกถึงพระคุณเหล่านั้น นึกว่าพระองค์มีกรุณาอย่างไร มีปัญญาอย่างไร มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างไร แล้วเราจะได้นำเอาพระคุณที่เราได้มองเห็นด้วยใจของเรานั้นมาใส่ไว้ในใจของเรา สร้างพระให้เกิดขึ้นในใจ ทำใจเราให้มีพระ คือมีคุณงามความดีดังที่พระองค์มี รักษาคุณงาม ความดีนั้นไว้ในจิตใจของเราตลอดไป เขาเรียกว่า เราเป็นคนมีพระ เป็นผู้เข้าถึงพระ
เรามากราบไหว้พระพุทธรูป ก็ไหว้เพียงเพื่อจะได้ใช้พระพุทธรูปนั้นเป็นสื่อให้เราได้คิดถึงองค์พระพุทธเจ้า อย่าไปไหว้เพื่ออย่างอื่น ที่เราไหว้กันในรูปขลังบ้าง ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช จะช่วยกันให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นเนื้องอก เขาเรียกว่า “เป็นเนื้องอก” ในพระศาสนา มันเกิดขึ้นทีหลัง เกิดขึ้นในยุคที่คนมีจิตใจเป็นเด็ก มากกว่าเป็นผู้ใหญ่ มีจิตใจเด็กนั้นมันอยากเล่นตุ๊กตา อยากจะได้ของเล่น ได้รถน้อยๆ ม้าน้อยๆ ช้างน้อยๆ ตุ๊กตาประเภทต่างๆ เอามาเล่น เอามาไว้ในบ้านในเรือน (28.32 เสียงไม่ชัดเจน) เป็น …… น้อยๆ นะ ถ้าเป็นเด็กเมืองฝรั่งนะ ของเต็มห้อง มาซื้อไปมันเล่น ขลุกอยู่อย่างนั้น ขังไว้เลย ขังไว้แล้วขลุกอยู่กับของเล่นนั้น ไม่ต้องลำบากใจ พ่อแม่ไม่ต้องยุ่ง มีอาหารเอามาวางไว้ด้วยก็ได้ ไว้ในห้อง กินอยู่หลับนอนอยู่ในห้องนั้นน่ะ ตลอดเวลา.. มันก็เพลินอยู่กับของเหล่านั้น แต่พอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ บรรดาตุ๊กตาทั้งหลายที่ตัวเคยเล่น เคยสนุกสนานนั้น ทิ้งขว้างไม่อาลัยใยดี ถ้าใครเอามาให้เล่นอีก ก็ไม่เล่น เป็นได้แต่บางคนยังเป็นเด็กอยู่ ก็ยังชอบซื้อตุ๊กตาเล่นอยู่เลย อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน
เราไหว้พระไม่ใช่ไหว้อย่างรูปนั้น เราไหว้พระแบบที่เรียกว่า ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่ได้นับถือว่าเหมือนเราเด็กเล่นตุ๊กตา แต่เราไหว้ด้วยปัญญา ไหว้พระด้วยปัญญาแปลว่า ไปนั่งคิด ทำจิตให้สงบ ให้ได้เข้าถึงคุณงาม ความดีของพระพุทธเจ้า อย่างนั้นเป็นการไหว้พระถูกต้อง เดี๋ยวนี้มีคนหัวแหลม พอเห็นว่าคนนี้มันติดวัตถุกัน อยากจะได้พระกันมากๆ ก็เลยสร้างองค์น้อยๆ เรียกว่า พระเครื่อง เอามาให้เด็กห้อยคอกัน ผู้ใหญ่ก็เป็นเด็กไปด้วย เลยห้อยคอกัน บางคนห้อยคอกันเป็นพวงไปเลยทีเดียว อย่างนั้นเขาเรียกว่า ห้อยพระอย่างเด็ก ไม่ใช่ห้อยอย่างผู้มีปัญญา ถ้าห้อยอย่างผู้มีปัญญาก็ไม่ต้องมากอย่างนั้น องค์หนึ่ง แล้วก็ไม่ต้องเอาว่าสมเด็จนางพญา ขุนแผน ขุนช้างอะไรต่ออะไรตามที่เขามีชื่อกันนี่ ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียก อย่างนั้นก็ได้ ขอให้เป็นรูปพระก็แล้วกัน เอามาไว้เป็นเครื่องเตือนใจ เหมือนกับพวกคริสเตียน เขาผูกไม้กางเขนไว้ที่คอ แต่ก็มีน้อยคนที่จะรู้ความหมายของกางเขนว่าคืออะไร เขาแขวนไว้ในฐานะว่าเป็นเครื่องหมายว่า เรานี้เป็นคริสเตียน มีไม้กางเขนห้อยคอ แต่ความจริงกางเขนนั้น หมายความว่า เป็นเรื่องของความเสียสละ เป็นเรื่องของความเสียสละ เป็นเรื่องของทำลายความเห็นที่เป็นตัวเป็นตนออกไป ท่านพุทธทาส ท่านไปพูดที่โรงเรียนคริสเตียนที่เชียงใหม่ ท่านอธิบายว่า กางเขนนั้นน่ะ คือ ฆ่าตัวกู ให้มันหมด ฆ่าตัวกู อย่างเช่น กูนี้เป็นตัว I (ตัวไอ) ก็พูดอย่างนี้คือ ฆ่า ฆ่าไอเสีย ฆ่าไอนี้ก็คือฆ่าตัวแก่น (31.09 เสียงไม่ชัดเจน) นั่นเอง ทำลายความคิดความเห็นว่าเป็นตัวกู เป็นของกูให้หมดไป ถ้าใครมีไม้กางเขน มันต้องเข้าใจอย่างนั้น คือมีไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ทำลายความเห็นแก่ตัวให้หมดไป ไม่ใช่ว่าแขวนแล้วก็มีความเห็นแก่ตัว มีความยึดถือ มีมานะ มีทิฐิ มีอะไรขึ้นมาอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เรามีแขวนไว้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราจะเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เราจะทำลายความเห็นแก่ตัวให้หมดไป จุดหมายเป็นอย่างนั้นที่ผูกคอไว้ก็เพื่ออย่างนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น เรามีพระพุทธรูปเอาไว้กับตัวเราก็เหมือนกัน เรามีไว้เพื่อให้นึกถึง กรุณา ปัญญา บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า แล้วเราจะได้ทำใจของเราให้มีคุณงาม ความดีแบบนั้น คือให้ไปไหนด้วยความกรุณา ให้ทำอะไรด้วยปัญญา ให้มีฐานของจิตใจว่า เราอยู่อย่างผู้บริสุทธิ์ ไม่คิดอะไร ไม่พูดอะไร ไม่ทำอะไร ไม่ไปในที่ใดที่นั้นไม่บริสุทธิ์ อันจะเป็นเหตุให้เกิดปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือนร้อนแก่ตน แก่ครอบครัว ตลอดจนถึงส่วนรวมคือ ประเทศชาติ อย่างนี้เรียกว่ามี ฐานอยู่ในใจ คือความบริสุทธิ์ ก็เรียกว่าเป็นการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ที่เรามีสิ่งเหล่านั้นไว้ในบ้าน อันนี้ให้เข้าใจอย่างนี้ประการหนึ่ง
ทีนี้มาพูดถึงว่าหลักคำสอนต่อไปที่เรียกว่า ธรรมะ คำว่าธรรมะนี้ญาติโยมต้องเข้าใจนิดหนึ่ง คือธรรมะนี้เป็นคำกลางๆ ถ้าว่าพูดว่าธรรมะนี้หมายถึงสิ่ง ๔ ประการ แต่ว่าถ้าพูดว่า “พระธรรม” ก็ให้เข้าใจว่าหมายถึง หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า มี ๒ อย่าง เรียกว่า ธรรมะอย่างหนึ่ง วินัยอย่างหนึ่ง ธรรมะนั้นเป็นคำสอน เป็นข้อปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่วินัยนั้นเป็นระเบียบของพระสงฆ์ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดของหมู่สงฆ์ เพื่อให้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชน ชาวบ้าน เพื่อให้อยู่กันด้วยความสุข ความสงบ จึงต้องมีระเบียบ มีวินัย บัญญัติขึ้นเฉพาะ
ส่วนธรรมะนั้นเป็นสิ่งทั่วไป ซึ่งเราจะนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องมือป้องกันและแก้ไขปัญหาชีวิตได้ ป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิด ไม่ให้ความเสียหายเกิด ถ้าเราเผลอไป ประมาทไป มันก็เกิดขึ้นได้ ก็ใช้เป็นเครื่องแก้ต่อไป ธรรมะมีไว้สำหรับป้องกันก็มี มีไว้สำหรับแก้ไขก็มี ซึ่งสติปัญญามีไว้สำหรับป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ใช้เป็นเครื่องแก้อีกก็ได้เหมือนกัน เช่น สติรู้สึกตัวว่า “โอ้โห... กูผิดไปเสียแล้ว ไม่เหมาะ ไม่ควรเลยที่จะทำอย่างนี้” ใช้ปัญญาว่าจะแก้ไขอย่างไร สิ่งนี้มันเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เราควรจะแก้ไขสิ่งนี้อย่างไรต่อไป เราก็แก้ไขสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่าใช้ได้ ทั้งกันทั้งแก้ เป็นเครื่องรางอยู่ในตัว เป็นของศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว คำว่า “ศักดิ์สิทธิ์” นั้นหมายความว่า ธรรมะที่จะให้เกิดความสำเร็จ ศักดิ์ นี้ก็แปลว่า “อำนาจ” สิทธิ หมายถึง “ความสำเร็จ” ศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ อำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จขึ้น พระธรรมนั่นแลคือศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ไม่ต้องไปปลุก ไม่ต้องไปเสก ไม่ต้องทำพิธีรีตรองอะไร มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ผู้ใดนำมาใช้มันก็ศักดิ์สิทธิ์ คือมีอำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จขึ้นในตัวของเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ เอามาให้หนูๆ นักเรียนพอเข้าใจ ธรรมะ ๔ ประการนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือเรียกว่า “อิทธิบาท” อิทธิบาท ๔ นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คืออำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จในการศึกษา ในการค้นคว้า ในการปฏิบัติงาน ในอะไรๆ ต่างๆ มี ๔ ประการ คือ
ฉันทะ นี้ให้มีความพอใจในสิ่งนั้น
วิริยะ ให้มีความเพียรนั้นในสิ่งนั้น
จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งนั้น
วิมังสา ไตร่ตรองค้นคว้า หาเหตุหาผลในเรื่องนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา
ถ้าเรามี ๔ ประการนี้ก็เรียกว่า มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเรา มีอำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จ สำเร็จในทางการศึกษา เช่นเราเรียนอะไร เราเรียนด้วยใจรัก เรียนวิชาในโรงเรียนนี้ จะเรียนคณิตศาสตร์ เรียนภาษา เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนประวัติศาสตร์ เรียนอะไรก็ตาม เราเรียนด้วยใจรัก ถ้าเรารักแล้วมันเพลิดเพลิน ถ้าเราเบื่อหน่ายเสีย ไม่อยากเรียนเลยวิชานั้น เราไม่อยากเรียน ครูมาพูดอะไร ฟังอะไรนั่งง่วง นั่งซึมไป ไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่เข้าหูมันออกไปเสียเฉยๆ แต่ถ้าเรารักเราสนใจ เราอยากฟัง เราอยากเขียน อยากอ่าน อยากค้นคว้า นี่มันมีความรักในสิ่งนั้น เกิดอำนาจศักดิ์สิทธิ์ขึ้นแล้ว นี่เห็นไหม! พอรักแล้วมันเป็นเหตุให้เกิดความเพียร ให้เราทำอะไรด้วยความตั้งใจ เรียนจนสำเร็จ แล้วเกิดความเอาใจใส่ ไม่ละเลย ไม่เพิกเฉย เมื่อจะไปไหนก็คิดถึงเรื่องเรียน เรื่องเขียน เรื่องอ่านอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ใช้วิมังสา หมายความว่า ไตร่ตรอง ค้นคว้าในเรื่องนั้น ไม่ใช่อ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ทำไปเฉยๆ แต่ว่าค้นคว้าว่าสิ่งนี้มันมาอย่างไร มันไปอย่างไร ทำไมมันได้อย่างนี้ ใช้วิธีการอย่างไร คิดเห็นอย่างไร คอยคิดค้น เมื่อคิดไปค้นไปมันก็เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจในสิ่งนั้นอยู่ในสมอง สิ่งใดที่เราเข้าใจนั้นมันแนบแน่นอยู่ในสมอง แต่ถ้าจำนี้มันเลือนได้ นานๆ ไปความจำมันเลอะไป จำผิดจำถูก กลายเป็นผิดไปได้ แต่เข้าใจแล้วมันไม่มีผิด เหมือนว่าเราอ่านหนังสือออกนี้เพราะเราเข้าใจ เข้าใจแล้วมันไม่ลืม พอเราเห็นตัวนั้นก็เราอ่านออกทันที เพราะเราเข้าใจ ไม่ว่าเข้าใจภาษาไทยก็อ่านได้คล่อง เข้าใจภาษาอังกฤษก็อ่านได้คล่อง เข้าใจวิชาคำนวณก็คิดได้คล่อง เข้าใจวิทยาศาสตร์ก็สามารถจะแยกแยะ วิเคราะห์วิจัยอะไรได้ถูกต้อง เพราะความเข้าใจ
ความเข้าใจนั้นเกิดเพราะการคิดค้น ถ้าไม่มีการคิดค้นก็ไม่เข้าใจ ธรรมะ ๔ ประการนี้จึงเรียกว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว ทำให้เกิดอำนาจที่จะให้เกิดความสำเร็จ สอบไล่ได้คะแนนดี ได้ที่หนึ่ง คนที่เขาได้คะแนนเป็นที่หนึ่งในชั้น เป็นที่ ๑ ทั้งประเทศ เช่น สอบ มศ. ๕ ได้ที่ ๑ ทั้งประเทศ ไปศึกษาดูชีวิตของเด็กคนนั้นสิ เขามีความรัก เขามีความขยัน เขามีความเอาใจใส่ เขามีความคิดค้นวิชาในเรื่องที่เรียน เขาจึงสอบไล่ได้ที่ ๑ ทีนี้เราไปศึกษาเด็กที่สอบตกดูนะ มันไม่รักการเรียน มันรักโทรทัศน์บ้าง วิทยุบ้าง รักโรงหนังบ้าง นี่เห็นไหม ไม่รักการเรียน แล้วมันขี้เกียจ พอจะไปโรงเรียนขี้เกียจไม่อยากไป บางทีก็ไปไม่ให้คุณแม่ว่า แต่ว่าไม่ถึงโรงเรียน ไปเที่ยว แอบดูหนังซะบ้าง หรือไปเที่ยวไถลเสียบ้าง อะไรต่ออะไร มันขี้เกียจ ไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องเรียน มันไปเอาใจใส่เรื่องเหลวไหล แล้วไม่คิดค้นเรื่องเรียน มันไปคิดค้นเรื่องอื่น จนจะเอาตัวไม่รอด เพราะขาดธรรมะ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในจิตใจ ๔ ประการนี้ นี่ถ้าเราเอา ๔ ประการนี้ผูกติดตัวเราไว้ ให้เกิดความรัก ความขยัน เกิดความเอาใจใส่ เกิดการค้นคว้าอย่างจริงจัง เราก็จะสำเร็จในวิชาที่เราศึกษาเล่าเรียน
คนผู้ใหญ่ทำงานทำการก็เหมือนกัน ถ้ามีสิ่ง ๔ ประการนี้ก็ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เช่น เรามีความรักในงานที่เราจะทำ เราก็เกิดความขยัน เกิดความเอาใจใส่ เกิดการคิดค้นหาทาง ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งนี้มันดีขึ้น ให้มันก้าวหน้าขึ้น ให้ได้ประโยชน์มากขึ้น เราก็เจริญในหน้าที่การงาน สร้างเนื้อสร้างตัวได้เป็นหลักเป็นฐาน ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติขึ้นมา ก็เพราะอาศัยเจ้า ๔ ประการนี้แล เป็นมูลฐาน เห็นไหม ไม่ได้อาศัยอะไร ธรรมะนี่แลมันเกื้อให้เกิดความสำเร็จ “ถ้าเราประพฤติธรรม พระธรรมย่อมคุ้มครองรักษาเรา ให้เกิดความสำเร็จในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” ธรรมะให้ประโยชน์แก่เราอย่างนี้ เราจึงควรจะได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องรางที่ไม่ต้องปลุกเสก ไม่ต้องทำพิธีอะไร มันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวแล้ว เราเอามาใช้ได้ทันที เมื่อไรก็ได้ เวลาใดก็ได้ สถานที่ใดก็ได้ บุคคลใดก็ได้ เหตุการณ์ใดก็ได้ ขอให้เราเอามาใช้เถิด ย่อมเกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราไม่ใช้ธรรมะ ก็ได้ผลเหมือนกัน คือได้ผลเป็นความทุกข์ เป็นความเดือดร้อน เป็นความสูญเสีย เป็นความไม่ก้าวหน้าในชีวิต ในการงานด้วยประการต่างๆ นั่นคือการไม่ใช้ธรรมะ ขอให้ญาติโยมได้เข้าใจอย่างนี้
ทีนี้คำว่า “ธรรม” นี้มีความหมายอื่น ควรจะรู้ไว้ว่ามีความหมาย ๔ ประการคือ (๑) เรียกว่า ธรรมชาติ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า “สภาวะธรรม” ถ้าเราไปตามวัดตามวา ได้ยินพระพูดว่า “สภาวะธรรม” สภาพมันเป็นอย่างนั้น หรือว่านั่นมันเป็นสภาวะธรรม ก็หมายถึงธรรมชาติ คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ตามระเบียบของมัน มันเป็นอย่างนั้น เช่นเราเห็นอะไรก็นึกว่า เราไม่รู้ว่ามันเป็นมาอย่างไร แต่ความจริงนั้นมันมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ นี่คือตัวธรรมชาติที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น เรื่องฝนตก เรื่องแดดออก เรื่องอะไรๆ ต่างๆ นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นอยู่ตามธรรมชาติ เพียงแต่ธรรมชาตินี้เขามีกฎ กฎเกณฑ์ธรรมชาติเราเรียกว่า ธรรมดา ธรรมดานี้เป็นระเบียบของธรรมชาติ มีธรรมะ ก็มีธรรมชาติ แล้วมีกฎของธรรมชาติ แล้วก็ประการที่ (42.26 (๓) หลวงพ่อไม่ได้กล่าวประการที่ ๒. และ ๔. ไว้ในไฟล์เสียง) เรียกว่า หน้าที่ที่เราจะต้องกระทำ เรียกว่าเป็นธรรมะอันหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า หน้าที่ เมื่อเราทำอะไรตามหน้าที่ ผลมันก็เกิด ผลนั้นก็เรียกว่าเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เรียกว่า (42.42 เสียงไม่ชัดเจน) วิตกธรรม หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระทำของเรา
เพราะฉะนั้นคำว่า “ธรรมะ” จึงหมายถึงตัวธรรมชาติ หมายถึงกฎของธรรมชาติ หมายถึงหน้าที่อันเราจะต้องกระทำ หมายถึงผลอันเกิดขึ้นจากหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าเรื่องของธรรมะทั่วไป ซึ่งเราควรจะรู้ว่าที่เขาพูดว่า ธรรมะ หมายถึงว่าสิ่ง ๔ ประการนี้ แต่ถ้าพูดถึงว่า “พระธรรม” หมายถึง หลักคำสอนที่พระองค์ได้บัญญัติขึ้นตั้งไว้ เป็นส่วนธรรมะบ้าง เป็นส่วนวินัยบ้าง เป็นระเบียบที่เราควรจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงค้นคว้า จัดวางไว้เป็นเรื่องๆ ให้เรานำมาใช้ สุดแล้วแต่เราจะเลือกใช้ คล้ายกับยาสำเร็จรูปทีเดียว ยาสำเร็จรูป คือพิมพ์เสร็จแล้ว ใส่ขวดเรียบร้อย ปิดฉลากไว้ ยานี้แก้ปวดท้อง ยานี้แก้ปวดหัว ยานี้สำหรับแก้โรคนั้น แก้โรคนี้ มีมากมายซึ่งเราจะเอามากินได้ตามโรค แต่ว่าเราจะหยิบมากินเองตามชอบใจก็ไม่ได้ มันเสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคอะไร รู้แต่ว่าปวดๆ แต่ว่าไม่รู้ว่ามันปวดอะไร กินสุ่มสี่สุ่มห้ามันก็ไม่ได้ จึงควรจะไปหาหมอให้วินิจฉัยว่าเราเป็นโรคอะไรแน่ แล้วควรจะใช้ยาขนานไหน หมอเขาก็หยิบยาเหล่านั้นมาให้ บอกให้ใช้ กินเท่านั้น ใช้ทา ใช้ดม หรือว่าใช้ทำอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามหมอสั่ง จะกินเอาเองตามชอบใจก็ไม่ได้ หลักธรรมะนี้ก็คล้ายกัน ทรงบัญญัติไว้เสร็จแล้ว ธรรมที่จะให้เกิดความสำเร็จ ธรรมที่จะให้เกิดกำลัง ธรรมที่จะให้เกิดความรัก ความเมตตาในระหว่างเพื่อนมนุษย์ หรือเรียกว่าวิชามนุษย์สัมพันธ์ของพระพุทธเจ้า ธรรมที่จะให้สำเร็จนั้นสำเร็จนี้เป็นเรื่องเป็นราวไป มีเรียบร้อยเป็นข้อ เป็นข้อ เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจความหมายของถ้อยคำ ของเรื่อง ของสิ่งที่เราจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเข้าใจเรื่องเหล่านั้นถูกต้องดีแล้ว เวลามีอะไรเกิดขึ้นเราก็เลือก หรือเลือกหยิบเอามาใช้ เช่นว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรจะใช้ข้อใด ควรจะใช้เรื่องอะไรสำหรับแก้ปัญหาเหล่านั้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า เราสอบไล่ตกนี่ หนูๆ นักเรียนนี้น่ะสอบไล่ตก สอบไล่ตกนี้เราก็ควรจะคิดแล้วว่ามันตกเพราะอะไร ทำไมเขาสอบไล่ได้ แต่เราทำไมมันถึงตก เราก็ต้องรู้ว่าไอ้ที่สอบไล่ตกนี้เพราะว่าเราไม่รักการเรียน เราไม่ขยัน เราไม่เอาใจใส่ เราไม่คิดไม่ค้นจึงตอบไม่ถูกในเรื่องที่เขาถาม เหตุมันอยู่ที่ไหน ...มันอยู่ที่เรา เราไม่ทำ เรามันพลาดนี่ จึงสอบตก ไม่ใช่เพราะว่าดวงไม่ดีแล้วก็สอบตก ไม่ใช่อย่างนั้น หรือว่าเพราะไม่ได้ไปบนบานเจ้าพ่อหลักเมือง แล้วไม่ได้ไปรดน้ำมนต์หลวงพ่อวัดนั้น หรือว่าไม่ได้ไปขอของดีจากหลวงพ่อนั้น หลวงพ่อนี้ ก็มีอยู่เหมือนกันนักเรียนบางคนพอใกล้จะสอบแล้ว แอบไปแล้ว แอบไปทำการบนบานศาลกล่าวกับที่นั่น ที่นี่ หลวงพ่อวัดนั้น วัดนี้ หากบนบานไว้ แล้วก็สอบไล่ได้ พอสอบไล่ได้ไม่ได้นึกว่าตัวเก่ง นึกว่าหลวงพ่อช่วย นึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นั้นช่วย ที่นี้ช่วย อันนี้ไม่ถูกต้อง เราต้องช่วยตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง การช่วยตัวเองต้องพึ่งตัวเอง ต้องรู้จักตัวเราว่า เรานี้เป็นคนมีความรู้อย่างไร มีความรู้อ่อน หรือว่ามีความรู้แข็งข้อในเรื่องนั้นๆ ถ้าอ่อนให้ทำอย่างไร ถ้าเราอ่อน... ก็เปลี่ยนให้มันแข็งขึ้นมาสิ จะไปเปลี่ยนกับใครเล่า เราต้องหมั่นเข้าใกล้ครู ต้องหมั่นไต่ถามความรู้ ต้องตั้งใจฟัง ต้องนำมาคิดมาค้น ทำความเข้าใจกำหนดจดจำ อย่างนี้ไอ้ความรู้อ่อนมันก็แข็งขึ้น สามารถที่จะตอบคำถามใครๆ ได้ทันที เพราะเรารู้สาเหตุของเรื่องว่าอยู่ที่ตัวเอง ไม่ได้อยู่ที่สิ่งภายนอก ไม่ใช่เพราะดาวดวงนั้น ดาวดวงนี้ทำให้เราสอบตก ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะดาวขี้เกียจน่ะทำให้เราตก ไอ้ดาวดวงนี้น่ะสำคัญนะ ดาวขี้เกียจ ดาวไม่เอาถ่านน่ะ ดาวเถลไถลนะ อย่างนี้จำง่าย ไอ้ดาวที่ให้สอบตกนี้ ดาวขี้เกียจ ดาวเถลไถล ดาวโทรทัศน์ ชอบดูโทรทัศน์ ไอ้บอด...ไอ้ด้วน ไม่เอาใจใส่ในการเรียน ไอ้ดาวนี้แลที่ทำให้เราสอบตกกัน ไม่ใช่ดาวดวงไหน (47.46 เสียงไม่ชัดเจน) เราต้องทิ้งนะ …… ต้องห่างจากดาวดวงนั้นใหม่ ห่างจากความขี้เกียจ ห่างจากความสนุกสนาน หันมาสนใจการศึกษาเล่าเรียน เราก็ช่วยตัวเองได้ เพราพระท่านสอนว่าให้ช่วยตัวเอง ให้พึ่งตัวเอง ช่วยตัวเองหมายความว่า มองดูตัวเองว่าเราบกพร่องอะไร เราไม่ดีในเรื่องใด เราก็แก้ไขอย่างนั้น ธรรมะมันดีอย่างนี้แล เอามาใช้ หยิบมาใช้ได้ สุดแล้วแต่เราจะใช้อะไรในชีวิตของเรา แต่ว่าก่อนที่จะหยิบมาใช้นั้นเราต้องศึกษา จากผู้รู้ที่มีประสบการณ์ มีความเข้าใจมาก่อน เมื่อรู้แล้ว รู้เท่านั้นมันไม่พอ รู้เฉยๆ ไม่ได้ รู้แล้วต้องเอาไปใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พระพุทธศาสนาจึงสอนในหลักธรรมะที่ว่า “เป็นสิ่งที่ควรน้อมนำเข้ามาปฏิบัติ” ต้องน้อมเข้ามา ฟังแล้วต้องเอาเข้ามาใช้ เหมือนว่าเราเห็นอาหารนี้ว่าอาหารนี้อร่อย นั่งดูอยู่นั่นว่า ...อร่อย....อร่อย มันจะได้เรื่องอะไร นั่งดูอาหารแล้วมันจะกินได้อย่างไร อร่อยมันก็ต้องกินน่ะสิ กินเข้าไป แต่เราอย่ากินมากเกินไป กินพอดีๆ เราก็ได้รับประโยชน์จากอาหารนั้น
ไม่ว่าอะไร ต้องเอามาใช้ ใช้ก็คือว่า ลงมือปฏิบัติ แก้ไขปัญหาชีวิตของเราด้วยหลักธรรมะ เราจึงจะชื่อว่าใช้ธรรมะเป็น เราได้ประโยชน์จากธรรมะ ธรรมะหรือศาสนาจะเป็นประโยชน์แก่เราได้นั้น ต่อเมื่อเราเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่เอามาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว จะมีประโยชน์อะไร มันไม่ได้เรื่องอะไรนะ เหมือนกับเรามียาไว้ในขวด ปวดหัวนอนดูยานี้มันไม่หาย ปวดท้องนอนดูยามันก็ไม่หาย ต้องเอายามากินจึงจะหาย ฉันใด ธรรมะนี้ก็ต้องเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ธรรมะมีหลายขั้น หลายตอน ธรรมะเพื่อการสร้างตัว เพื่อการรักษาฐานะที่เราได้สร้างไว้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเสียหายเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เราก็เลือกหยิบเอามาใช้ มาเป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราจึงควรเข้าใกล้ผู้รู้ หมั่นมาฟังธรรม หมั่นอ่านหนังสือธรรมะ หมั่นมองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง เพื่อให้เห็นว่าเราบกพร่องอะไร เราไม่ดีที่ตรงไหน เราก็จะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ทำให้ดีให้งามขึ้น ทุกวันทุกเวลาให้ตั้งจิตอธิษฐานใจว่า
“เราต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ เราต้องก้าวหน้าขึ้นไป จิตใจจะต้องสงบขึ้น จะต้องสะอาดขึ้น จะต้องสว่างขึ้นด้วยปัญญา มีชีวิตอยู่ตราบใดจะต้องอยู่เพื่อความก้าวหน้า ในทางธรรมะ”
ถ้าก้าวในทางธรรมะแล้วมันก้าวทางอื่นได้ เช่นในเรื่องการทำมาหากิน ในการแสวงหาทรัพย์ ในการงานต่างๆ ถ้าเราก้าวอยู่ในทางธรรมะแล้วงานไม่ตกต่ำ อย่าไปคิดว่า คนบางคนที่มัวแต่เข้าวัดอยู่ มันจะเอาตัวไม่รอด ถ้าเข้าวัดเฉยๆ ไม่ทำงานก็ต้องเอาตัวไม่รอดนั่นแล แต่มันไม่ใช่เข้าอยู่ตลอดเวลา วันอาทิตย์เราก็มาวัด วันธรรมดาเราก็ไปทำงาน
ทีนี้การทำงานนี้ก็ต้องถือธรรมะเหมือนกัน คือต้องทำงานด้วยความตั้งใจ ทำให้งานก้าวหน้า ให้เป็นไปด้วยดีตามหน้าที่การงานของเรา ทีนี้เราอยู่ในสังคม อยู่กับคนมากๆ บางทีเราก็เอาแต่งานเรื่อยไป ไม่คบหาสมาคมกับใครเลยมันก็ไม่ได้เหมือนกัน มันเกี่ยวข้องกัน พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าให้คบหาสมาคมเหมือนกัน รู้จักคบคือ ให้คบคนที่เขาดีนั่นแล เขาเจริญ เขาก้าวหน้า อย่าไปคบกับไอ้คนพวกนิสัยต่ำทราม คบแล้วมันจูงเราไปโรงเหล้า ไปบ่อนการพนัน ไปสนามม้า ไอ้พวกนี้เราไม่เอา แต่ว่าคนใดที่เขาดีมีปัญญา เราก็ต้องเข้าใกล้ ผู้หลักผู้ใหญ่เราก็ต้องไปรู้จักมักคุ้นกันไว้ ไม่ใช่นึกว่าเรามันเก่งแล้วไม่ต้องเข้าใกล้ก็ได้ เขาไม่รู้จักว่าเราเก่งอย่างไร ถึงเก่งแต่เราไม่เข้าใกล้ เขาก็มองว่า “เอ๊ ... ไอ้นี่มันมีทิฐิ มานะ” หาว่าอย่างนั้น หาว่าเรามีทิฐิ มีมานะไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตัว นี้ก็ไม่ได้ หลักพุทธศาสนาท่านสอนให้มี “อปจายนะ” หมายความว่า ให้รู้จักอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ให้เข้าใกล้ มีดีของเรานั้นดีแล้ว แต่ว่าต้องใช้ดีนั้นให้เป็นประโยชน์ด้วย เข้าใกล้รู้จักมักคุ้นกันไว้ วิธีเข้าใกล้ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเสียทรัพย์สินเงินทองอะไร เราเข้าไปในฐานะศึกษางานการ บางทีงานการเรารู้แล้ว เราทำได้ แต่ว่าไปศึกษาเสียหน่อย เราไปศึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เราไปศึกษานี้ก็ภูมิใจ ภูมิใจว่า “แหม ...มันเคารพนับถือข้า” มีอะไรก็รีบมา อุตส่าห์มาศึกษานะ แม้เรารู้แล้วก็แสดงละครศึกษาเขาเสียหน่อย เขาก็รู้สึกว่า “อืม ...คนนี้เข้าที” มาหาบ่อยๆ ก็เกิดความรู้จักมักคุ้นกัน มารู้จักมักคุ้นกัน มีอะไรเขาก็นึกถึง เวลาจะเรียกเงินเดือน คนไหนคุ้นเขาก็เลือกคนนั้นก่อนนะ คนไหนไม่คุ้นหน้าเขาก็ว่า “เอ๊...นึกไม่ออก มันอยู่ที่ไหนไม่รู้ ชื่ออะไร” เขาเลยไม่เลือกให้ เพราะเขาไม่รู้จักกัน ถ้าเราบอกว่า “เอ๊.. เราทำดีไม่เห็นได้ดี” ดีมันไม่ครบน่ะ เรียกว่าดีมันไม่สมบูรณ์ ดีมันก็ต้องสมบูรณ์ ต้องเรียบร้อย มันต้องเรียบร้อย จะนั่งดีอยู่คนเดียวได้เมื่อไร จะต้องดีรอบด้าน ดีรอบตัว ดีในการคบหาสมาคม
ในการนั้นการนี้ มันมีดีหลายแบบนะ เราต้องปฏิบัติให้มันครบถ้วนเหมือนกัน จึงจะเรียบร้อยเป็นไปด้วยดี แล้วจะไปโทษว่าธรรมะไม่ช่วยก็ไม่ได้ เราทำไม่ถูก มันไม่เกิดผล แต่ถ้าทำถูกแล้ว เกิดผลไปโดยลำดับอย่างนี้ ถ้าว่าต้องมีกาละ ต้องมีเทศะ บุคคล เหตุการณ์อะไรเข้าไปเกี่ยวข้อง นี้ก็เป็นเรื่องของธรรมะทั้งนั้น ที่เราควรจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเรา อันนี้ขอทำความเข้าใจกับญาติโยมทั้งหลาย ให้เป็นเบื้องต้นกันก่อนเล็กๆ น้อยๆ แล้วสรุปไปก่อน แล้ววันอาทิตย์หน้าก็ค่อยว่าต่อไป ยังไม่จบเรื่อง มันมีเรื่องที่จะวินิจฉัยทำความเข้าใจกันอีกหลายแง่ หลายมุม ค่อยวันอาทิตย์หน้าก็ค่อยว่ากันอีก สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็ขอเชิญญาติโยมนั่งสงบใจเป็นเวลา ๕ นาที