แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ลำดับนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธ ศาสนาแล้ว ขอทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
เมื่อวันอาทิตย์ก่อน ได้พูดให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตร่างกายของเราว่า ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยวัตถุธาตุ มีตระการต่าง ๆ มีดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น แต่ว่าความจริงนั้นมีธาตุมากกว่านั้น หากแต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ชี้แต่เพียงว่ามันเป็นเรื่องของธาตุที่ผสมปรุงแต่งกันขึ้นตามกรรมวิธีของธรรมชาติ อาศัยมารดา บิดา เป็นที่เกิด โตขึ้น ถ้ากัมมันต์ดี (01.06 เสียงไม่ชัดเจน) ได้ธาตุอีกเหมือนกัน ถ้าธาตุในร่างกายนี้เป็นปกติ เราก็สบาย แต่ถ้าธาตุในร่างกายเกิดไม่พร้อมเพียงกัน หรือว่าขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง ร่างกายก็ผิดปกติ ซึ่งในสมัยนี้เขาเรียกว่าขาดวิตามิน วิตามินก็เป็นพวกธาตุ ต่าง ๆ ที่เอามารวมกันเข้าแล้วก็ รับประทานแก้โรคอย่างนั้น แก้โรคอย่างนี้
ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้ทำการค้นคว้าศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับร่างกายนี้ จนเข้าใจเรื่องสิ่งประกอบในร่างกายว่า ประกอบเกิดขึ้นด้วยอะไรบ้าง หากแต่เราเป็นโรคอะไรขึ้นมา แล้วก็หาวิธีแก้ไข ด้วยการกินอาหารที่ถูกส่วน ถ้าเรารับประทานอาหารถูกส่วน ก็หมายความว่า ผลธาตุที่ผ่านท้องสมบูรณ์ ร่างกายนี้จะเป็นปกติ ไม่ค่อยจะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน คนที่อายุมั่นขวัญยืน เพราะว่ามีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง อย่างเรื่องการรับประทานอาหาร การหลับ การนอน การปฏิบัติหน้าที่ มันสมดุลกัน ร่างกายจึงเป็นปกติ ไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนคนที่เป็นอยู่ไม่ค่อยจะปกติ เช่น นำสิ่งที่เป็นพิษใส่เข้าไปในร่างกาย ชอบดื่มของมึนเมา เสพสิ่งเสพติดประเภทต่าง ๆ เช่น บุหรี่ กัญชา ยาฝิ่น อะไรเหล่านี้ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดโรคขึ้นในร่างกาย หรือว่าอดหลับอดนอน เพราะมัวสนุกสนานในยามราตรี หรือไปมัวนั่งล้อมวงเล่นการพนัน เป็นอยู่อย่างนั้น จมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น จนไม่ได้หลับได้นอน ร่างกายก็อ่อนเพลีย ไม่มีความแข็งแรง ปล่อยให้โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนร่างกายได้ แม้อาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าว่ากินเกินความต้องการของร่างกาย มันก็สูญไปเสียเปล่า ๆ แต่ถ้าเรากินพอดิบพอดี ร่างกายนี้ก็แข็งแรง ไม่เกิดโรค เราก็อยู่ได้สบาย
เรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องของวัตถุที่เราสามารถ ป้องกัน แก้ไขให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อยได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน การศึกษาเรื่องนี้มีหนังสือตำรับตำรา ทางแพทย์ ทางหมอ เขาพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกมากมาย เช่นเอกสารของกระทรวงการสาธารณสุข เกี่ยวกับเรื่องร่างกายนี้มีมาก เราควรจะสนใจอ่านไว้บ้างเหมือนกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ร่างกายจะได้เป็นปกติ ไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากเกินไป “ อโรคยา ปรมาลาภา ” นี่เป็นพุทธภาษิต แปลว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง” เมื่อร่างกายไม่มีโรค ก็ย่อมจะสบาย สามารถจะทำงานทำการ แสวงหาปัจจัย เลี้ยงชีวิตได้สะดวก แต่ถ้าร่างกายเกิดมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แล้ว ก็ย่อมจะเกิดปัญหา ทำให้เราทำงานไม่สะดวก ทำให้เกิดการเสียอะไร ๆ หลายอย่าง จึงควรจะรู้จักรักษาตัวไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น
ถ้าเราเผลอไป ประมาทไป เช่นว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ เช่นเร็ว ๆ นี้ อากาศหนาวบ้าง ร้อนบ้าง มักจะปะปนกันไป ถ้าไม่ระมัดระวังก็เกิดโรคได้ง่าย ดังนั้นต้องระมัดระวังตัวไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น บางทีระวังแล้ว มันก็ยังเกิดขึ้นได้เหมือนกัน อาตมานี่ นอนตอนกลางคืนก็คลุมตัวให้อุ่นอยู่ บนศีรษะโกนผมใหม่ ๆ ก็เอาผ้ามาคลุมไว้ไม่ให้หนาว ถึงอย่างนั้นก็ยังคัดจมูกอยู่ ยังเป็นหวัดได้เหมือนกัน ตกลงได้ว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง มันมีการเปลี่ยนแปลง อย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนไปด้วยเรื่องร่างกาย หากได้เยียวยารักษากันไปตามหน้าที่ อย่าเป็นทุกข์ในเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งที่ผิดปกติไป
คนเรายึดถือในร่างกายมากเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เช่นว่า เราเห็นว่ารูปร่างเราไม่สวยงาม แค่เกิดเป็นแผลเป็นนิดหน่อยที่หน้า หรือที่ส่วนใดที่คนเห็นได้ ไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้แล้ว บางคนถึงกับทำลายตัวเอง เพราะว่าเสียไปนิดหน่อย อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจในเรื่องของชีวิต ของธรรมชาติ ร่างกาย ไปวิตกกังวลกับเรื่องปัญหาเล็ก ๆ ซึ่งความจริง ในร่างกายเรานั้น ถ้าแบ่งเป็นส่วน ๑๐๐ ส่วนแล้ว มันเสียไปเพียงส่วนเดียวเท่านั้น อีก ๙๙ ส่วนยังเรียบร้อยอยู่ เราจะไปกังวลอะไรกับส่วนนั้น เราไม่ได้เกิดมาเพื่อความสวย เราเกิดมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางชีวิตให้เรียบร้อย เหล่านี้ ก็ไม่เกิดความวิตกกังวลอะไร สิ่งนั้นไม่เป็นเครื่องทำให้เกิดความไม่สบายใจ ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในชีวิตของเรา ในร่างกายของเราถ้ามีอะไรมันผิดปกติ เราก็ยอมรับความจริงนั้นเสีย เราไม่ต้องกระดาก ไม่ต้องละอาย
ยกตัวอย่างเช่น คนบางคนผมบนศีรษะมันน้อยที่ตรงกลาง ยังอุตส่าห์หวีจากข้างล่างขึ้นปิดข้างบน ใคร ๆ ก็เห็นว่าคนผมน้อย ปิดเท่าไรก็หามิดไม่ แต่ก็อุตส่าห์ปิดมัน ถ้าเปิดมันจะดีกว่า คนก็รู้ว่าเรามันผมน้อย ไม่ได้เสียหายอะไร มันเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าผมน้อย แต่เราประพฤติชั่วช้าสามานย์อะไร หามิได้ เรื่องเหล่านั้น มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ความจริงคนผมน้อย เป็นคนสำคัญทั้งนั้น ลองสังเกตดู คนใหญ่คนโตในโลก เป็นคนผมน้อยเยอะแยะ เมืองไทยคนมีชื่อเสียง ผมน้อย ๆทั้งนั้น สมภารที่วัดบวรฯชั้นเอกของเมืองไทยนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นคนผมน้อยบนศีรษะ คุณหมอประจักษ์ การกุล (07.58 เสียงไม่ชัดเจน) ก็ผมน้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร คนผมน้อย อาตมาไปที่ประเทศลังกา เจอคนผมน้อยมากกว่าที่ใด ๆ ก็ธรรมดา เขาก็เดินไปเฉย ๆ ไม่ทุกข์ร้อนอะไร ก็มันเรื่องธรรมชาติเป็นอย่างนั้น คนเราจะต้องปกปิดอะไรหนักหนา เมื่อร่างกายเราปกติ จะเกิดอะไรขึ้นมา คอยปกปิดอยู่ตลอดเวลา
ที่วัดนี่ มีพระองค์หนึ่ง มือท่านหายไปแค่สองนิ้ว ปิดนักปิดหนา มือที่ขาดไปสองนิ้ว อาตมาก็บอกว่า เรานี่เป็นอาจารย์สอนภาวนา ทำไมปกปิด เดินไปไหน ก็เดินไปเฉย ๆ เปิดเผย เสื้อผ้าห่อไว้ทำไม ถ้าห่อไว้นั้นแสดงว่าไม่ยอมรับความจริง ทำให้คนเห็นว่ามือฉันมีแค่นี้นะ ไม่มีอะไร แต่ขาดมือมันไม่เสียหายหรอก แต่ถ้าขาดคุณธรรม มันเสียหาย ค่อยเทศน์ ให้ เข้าใจ เดี๋ยวนี้ค่อยเข้าใจดีขึ้นหน่อยแล้ว เปิดเผยได้แล้วว่ามือหาย เมื่อก่อนปิดนักปิดหนา กลัวคนจะเห็นว่ามือไม่ครบ มันไม่ได้เสียหายอะไร เรื่องธรรมดา ที่เป็นมาในรูปอย่างนั้น บางคนอาจจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่นว่ามือไม่ครบ บางคนมีอะไร บางคนมันออกเป็นติ่ง ติ่ง ๆ ไป บางทีก็ดี คนสมัยนี้ต้องไปซื้อเครื่องประดับมาห้อยที่ข้อมือให้ติ่ง ๆ ๆ ไปไหน คนนั้นไม่ต้องซื้อ มันมีอยู่แล้ว เราก็ว่า ฉันไม่ต้องซื้อ ฉันมีอยู่แล้ว แต่ก็รู้ว่ามันผิดปกติ อันนี้เพราะไม่เข้าใจในเรื่องธรรมชาติของร่างกาย เกิดมีความทุกข์ ความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องเป็นทุกข์อะไร อะไรมันเสียมันก็เสียไป เรื่องของธรรมชาติ เป็นของไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงได้ อย่าเป็นทุกข์อะไรให้มากเกินไปในเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของเรา แล้วก็อย่าไปอะไรมากเกินไป กินอะไรมากเกินไปก็เสี่ยง
สมัยนี้บางที คนก็กินยาประเภทบำรุงมากเกินไป เช่นว่าเวลามีท้องตั้งครรภ์ บางทีกินยาบำรุงมากเกินไป จนลูกออกมาไม่เรียบร้อย ร่างกายผิดปกติ หมอบอกว่าเพราะกินยามากเกินไป ไม่ต้องจำเป็นที่จะต้องกินยาอย่างนั้น เรากินตามธรรมชาติ กินอาหารตามธรรมชาติ กินข้าว กินกับข้าว กินกันแบบนี้ ลูกก็ออกมาเรียบร้อย คนสมัยก่อนไม่ได้มียาอะไร พ่อแม่ก็อยู่ตามเรื่องตามราว เกิดลูกมาก็เรียบร้อย ร่างกายสมบูรณ์ สติปัญญาก็สมบูรณ์ พอเดี๋ยวนี้มีปัญหา ไปดูเด็กที่หน้าวัดเด็กปัญญาอ่อนมากมาย ที่เขาเก็บมาเลี้ยงไว้ ถามพวกหมอ พวกแพทย์ว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ บอกว่านี่มันคือสิ่งที่บริโภคในทางร่างกาย เช่นกินยาอะไรบางอย่างโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางคนก็เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเด็กก็มี หรือเสียหายต่อตนเองก็มี
เรื่องหยูกยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ อย่าไปหายาจากหมอตี๋มากิน ไม่ได้ ยาหมอตี๋ ลองไปถาม เด็ก ๆ หนุ่ม ๆ ขายยา นี่ยานี้ดี ๆ กินเข้าไป มันไม่ได้ ร่างกายเราไม่ใช่สถานที่ทดลองยา เราควรไปปรึกษาแพทย์ว่า ควรใช้ยาอะไร ควรกินยาอะไร เมืองไทยเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการขายยา ไม่เหมือนต่างประเทศ ในทางยุโรป อเมริกา มีกฎหมาย เขาเห็นว่าชีวิตของคนเป็นของมีค่า เขาไม่อยากให้ตายโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงมีการควบคุมร้านขายยา ยาที่บริโภคเข้าไปแล้ว ซื้อไม่ได้ ถ้าไม่มีใบสั่งของแพทย์ ยกเว้นยาทาภายนอก เช่น ทาตามผิวหนัง อะไร ต่ออะไร อย่างนี้ซื้อได้ ถ้ากินยากินแก้ปวดหัว เช่น สมมุติว่าเราไปซื้อแอสไพรินกินเฉย ๆ เขาไม่ขายให้ จะซื้อ ...... (12.21 เสียงไม่ชัดเจน) มากินสักห่อ เขาก็ไม่ขายให้ เพราะเป็นยาที่ต้องได้รับการแนะนำจากหมอ จึงจะกินได้ กินสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างนี้ก็เรียกว่า เสี่ยงเกินไปในการกินการอยู่
อาหารการบริโภคก็เหมือนกัน สมัยนี้เป็นโรคเหมือนกัน โรคอะไร โรคติดอาหารประเภทผงชูรส ชอบกินกัน ตอนนั้น คบคนคนหนึ่ง เขาเป็นอนุสาคณาจารย์ บอกว่า แม่บ้านของผมซื้อผงชูรสทีหนึ่งตั้งกิโล เอาไปไว้ที่บ้าน ทำไมซื้อมากมายอย่างนั้น เติมทุกอย่าง ตำน้ำพริกเติมผงชูรส แกงจืดใส่ผงชูรส แกงป่าเผ็ดใส่ผงชูรส หุงข้าวต้มกินเช้า ๆ ก็ยังใส่ผงชูรส แม้กระทั่งข้าวต้ม อันนี้มันอันตราย เพราะว่าผงชูรสไม่ใช่ของดี หมอก็ประกาศทางวิทยุ อาตมาได้ฟังว่าแล้วโอ! อันตราย นี่ญาติโยม อย่าไปใส่ผงชูรสมาถวายพระสงฆ์องค์เจ้า เดี๋ยวพระชักดิ้นชักงอ ไม่ได้สอนคนกันต่อไป นี่มันเรื่องอะไร เราไม่ได้กินความอร่อยของอาหาร เรากินอาหาร พอแล้ว เราที่เกิดมา โยม ๆ ที่เกิดแก่ ที่อยู่มาได้ถึง ๗๐ – ๘๐ ปี ไม่เคยได้กินผงชูรส กินธรรมดา กินแกงเลียง แกงเผ็ด แกงส้ม แกงหวาน กินตามประสาชาวบ้านกิน มันก็อร่อย กินได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ เพราะติดการโฆษณา รสดี มั่ง ผงนั่น ผงนี่ โฆษณา แล้วก็หลงใหลคำโฆษณาเหล่านั้น ต้องซื้อมากิน หรือบางทีอาจนึกว่า ถ้าไม่กินผงชูรส มันจะล้าสมัย ไม่ทันสมัย เรื่องนี้มันเรื่องอะไร ของอะไรที่ใหม่ ๆ นั้นอย่าเห็นว่าเป็นของประเสริฐเสมอไป เราต้องศึกษาว่ามีอะไรเข้าไปเจือปนอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันไม่พูดอย่างนั้นบ้าง ไม่ใช่เห็นเขาโฆษณา ก็อามากินเรื่อยไป อย่างนี้มันก็เกิดทุกข์ เกิดโทษ
เมื่อเช้านี้ ฟังวิทยุบอกว่า น้ำอัดลมขึ้นราคา อาตมาฟังแล้วก็เฉย ๆ ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร เพราะว่าชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำอัดลม ขึ้นกับน้ำฝนที่ข้างกุฏิมากกว่า กินแต่น้ำฝน ไปไหนก็ไม่เคยฉันน้ำอัดลม ไปบ้านไหนโยมชอบเปิดน้ำอัดลม อาตมาต้องบอก โยม ไม่ต้องเปิด หยุดก่อน เพราะอาตมาไม่ฉัน ไม่สั่ง ญาติโยม จะไปเดือดร้อนอะไร กับน้ำอัดลมขึ้น เราไม่ได้อยู่ด้วยน้ำอัดลมเลย ไม่ใช่ร่างกายนี้ ถ้าไม่ได้กินน้ำอัดลม แล้วมันจะชักดิ้นชักงอเมื่อไร ถ้าไม่ได้เสพลมหายใจเข้าออก มันถึงจะตาย ลมหายใจไม่มีขึ้นราคาเด็ดขาดเลย ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมาครองเมือง รับรองไม่ขึ้นราคาลมหายใจ เราหายใจได้สบาย เมื่อหายใจได้ ถ้าที่บ้านอึดอัดก็มาวัดชลประทาน อาตมาให้เปล่า ๆ ไม่คิดราคาอะไร ลมหายใจ ไม่เดือดร้อน แต่ลมนี้จำเป็น แต่น้ำอัดลมไม่เห็นจำเป็นอะไร ไม่กิน ก็อยู่ได้ จะกินน้ำอื่นก็ได้ กินน้ำตามร้านอาหาร เขาต้มน้ำขายดี น้ำชา กาแฟ เราเอาน้ำต้มเฉย ๆ สบาย ถ้าหากว่ากินเฉย ๆ ไม่ได้ มีชา มีอะไร ใส่ลงไปหน่อย ใส่ชาเข้าไป ใส่น้ำแข็งสะอาด ถ้าน้ำแข็งไม่สะอาดก็ไม่น่าไว้ใจเหมือนกัน เพราะบางแห่งน้ำแข็งสกปรก เราไม่รับประทานเข้าไป เพราะว่าเป็นพิษ เป็นโทษต่อร่างกาย ถ้าทำได้อย่างนี้นี้ก็สบาย ไม่ได้เกิดความคิดว่า เป็นเรื่องลำบากอะไร
สิ่งใดที่ไม่จำเป็น และราคามันแพง เราก็หยุดรับประทานสิ่งนั้นเสียได้ อยู่ได้ เมื่อก่อนไม่มี ประเทศไทยเมื่อก่อนไม่มีโคคาโคลา ไม่มีเป๊ปซี่ ไม่มีสไปรต์ ไม่มี เซเว่นอัพ ไม่มีกรีนสปอต ไม่เห็นมีอะไร เมื่อก่อนนี้ ก็อยู่กันมาได้ ร่างกายแข็งแรงมาแล้ว อยู่ขนาดจนคุณโยมแก่ ๆ นี้ ไม่เคยกินน้ำอัดลม ก็อยู่มาได้จนบัดนี้ จะมาตอนแก่ เริ่มติดน้ำอัดลมกันบ้างแล้ว เขาเรียกว่า มาเสียคน เราจะไปเสียคนทำไมกับน้ำอย่างนั้น เรามีชีวิตอยู่ได้ ไม่ได้ลำบากเดือดร้อนอะไร นี่เป็นตัวอย่างในเรื่องร่างกาย ก็ต้องพิจารณาในเรื่องอย่างนั้น
วันนี้ จะพูดเรื่องเกี่ยวกับจิตใจต่อไป เพราะว่าเรื่องร่างกายนี้ จะมีคุณมีค่าเป็นประโยชน์ ก็อยู่ที่จิตใจ ที่ใจ พูดภาษาไทยแน่ ๆ ว่า อยู่ใจ ภาษาที่ใช้ในภาษาไทยว่า ใจ ภาษาบาลีว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง คำสามคำนี้ว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นภาษาบาลี เป็นคำ ๆ เดียวกัน ใช้แทนกันได้ ในบางครั้งใช้คำว่าจิต เช่น กล่าวว่า “จิตตสส ทมโถ สาธุ” “การฝึกฝนจิตเป็นความดี” บางครั้งท่านใช้คำว่า มโน ก็คำเดียวกัน บางครั้งใช้คำว่า วิญญาณ มีความหมายเดียวกัน เวลาเราไปอ่านหนังสือธรรม ถ้าได้พบคำสามคำนี้ เช่นพบคำว่า จิต คำว่า มโน คำว่า วิญญาณ ก็ให้รู้ว่ามันเรื่องเดียวกัน แต่ว่าอาจจะเปลี่ยนหน้าที่ไปบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ตามรูปของประโยคที่ใช้ แต่ความหมายก็เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าพูดในภาษาไทย เรียกว่า ใจ คงเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีอยู่ในร่างกาย สภาพของใจนี้ ฝึกอะไรนี้ เราจะว่าอยู่ ไหนก็ไม่ได้ เป็นส่วนประกอบที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งเหมือนกัน
จิตเป็นเรื่องการปรุงแต่งประกอบขึ้น ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือเรื่อง การคิด นึก จดจำอะไรต่าง ๆ ภาษาไทยเราเรียกว่า คิด นึก กำหนด จดจำ มีอยู่ห้าคำที่ใช้กันอยู่บ่อย ๆ ความคิด ก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง เช่น เราคิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดแต่สบายก็มี คิดแต่เดือดร้อนก็มี คิดแล้วกลุ้มใจก็มี คิดแล้วก็นั่งหัวเราะอยู่คนเดียวก็มี อันนี้เป็นเรื่องความคิดที่เกิดขึ้นในตัวของเรา เป็นเรื่องของใจ การนึก เรานึกเรื่องนั้น เรื่องนี้ นึกเฉย ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรานึกถึงเพื่อนของเรา ถึงมิตรสหาย คนคุ้นเคยกัน ลงมานั่งอยู่ที่นี่ บางทีอาจจะ ใจวกไปนึกบ้าง บางทีก็วกไปนึกเรื่องนั้น เรื่องนี้ อันนี้เป็นการนึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา
การกำหนดแบบนี้ ในเรื่องนั้น เรื่องนี้ เราเห็นอะไร ได้ยิน ได้ดม ได้กลิ่น ได้รสอะไร เรากำหนดว่าเป็นรสอะไร กำหนดว่าเป็นรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสขมอะไรต่าง ๆ นี่เรื่องของการกำหนดในเรื่องนั้น แล้วก็จดจำไว้ จำไว้ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้เกิดขึ้นที่นั่น เกิดเพราะคนนั้น เกิดเพราะคนนี้ เรื่องนี้ เป็นเรื่องจดจำ เรื่องเหล่านี้อยู่ในใจของเราเท่านั้น ร่างกายก็มีใจ ถ้าไม่มีใจไปอยู่ในร่างกาย ก็เป็นท่อนไม้ท่อนซุง ไม่มีสาระแก่นสารอะไรแล้ว เหมือนคนที่ตายไป เรียกว่าไม่มีใจ หรือคนสลบไปเรียกว่า พักไปชั่วครู่ชั่วยาม พอตอนนี้ก็ไปเที่ยวขณะหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงกับตาย อาจฟื้นขึ้นมาได้ บางคนนำกำหนดแล้วก็เลยไปก็ได้ แต่ถ้ามีใจสมบูรณ์ สามารถกำหนดนึกคิด กำหนด จดจำในเรื่องอะไรต่าง ๆ แล้ว เรียกว่ามีชีวิตอยู่ ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่
สิ่งที่เป็นประกอบขึ้นเป็นการนึก คิด กำหนด จดจำนั้น เราเรียกว่ารวมตัวกันเข้าเหมือนกัน ที่เรียกว่า เป็นสังขารเหมือนกัน แต่เป็นฝ่ายนามธรรม ร่างกายเป็นฝ่ายรูปธรรม ส่วนเรื่องของจิตใจนั้นเป็นเรื่องฝ่ายนามธรรม เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ด้วยอาการนึก คิด กำหนด จดจำ นั่นเอง แต่ก่อนอาการเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ในชีวิตของทุกคน แต่ว่า ที่หลังมีการศึกษา มีการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ เพราะว่าเอามาจำแนกแจกแจง ความคิดออกไปในรูปอย่างนั้น ในรูปอย่างนี้
ความคิดของคนเราเมื่อแบ่งออกไปแล้ว เป็นสองอย่าง คือ ความคิดฝ่ายดีอย่างหนึ่ง ความคิดฝ่ายชั่วอย่างหนึ่ง ฝ่ายดีเรียกว่า เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายฉลาด ฝ่ายปัญญา ความคิดฝ่ายชั่ว เรียกว่า ฝ่ายอกุศล เรียกไม่ฉลาด เรียกไม่มีปัญญาเรียกไม่มีประโยชน์ ก่อให้เกิดทุกข์แก่ตน แก่ผู้คิดในเรื่องนั้น เราคิดอยู่ในสองแง่อย่างนี้ เรียกว่าคิดฝ่ายกุศลอันหนึ่ง ฝ่ายอกุศลอันหนึ่ง แต่บางทีท่านวางไว้ตรงกลางอีกอันหนึ่งว่า เป็นกุศลก็ไม่ใช่ เป็นอกุศลก็ไม่ใช่ คือ อยู่กลางๆ ยังไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง ก็มีอยู่เหมือนกัน
ความคิดที่เป็นกลาง ๆ นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่เป็นกุศล ยังไม่เป็นอกุศล เป็นสภาพรับรู้ในเรื่องนั้น ๆ เท่านั้นเอง เช่น ตาได้เห็นรูป ก็รับรู้ได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ถูกต้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เกิดการรับรู้ขึ้น เรียกว่ายังไม่เป็นกุศล อกุศล แต่ต่อจากการรับรู้นั้น ก็เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา เป็นฝ่ายกุศลบ้าง เป็นฝ่ายอกุศลบ้าง ท่านจึงเรียกความคิด หรือสภาพของจิตใจของเราว่าเป็นส่วนดีกับเป็นส่วนชั่ว ความคิดฝ่ายดีนั้น มักก่อให้เกิดการป้องกัน เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อความเจริญทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ความคิดฝ่ายชั่วนั้น เป็นไปในทางทำลาย ทำลายตัวผู้คิด ทำลายผู้อื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นไปเพื่อความร้อน ไม่เย็น ไม่สงบ ไม่เป็นความสุขทางด้านจิตใจ นั่นเป็นความชั่ว
ในตัวคนเรามีความคิดอยู่สองขั้วแบบนี้ เป็นอยู่ปกติธรรมดา ถ้าว่าไม่มีการควบคุม จิตใจ เราก็มักจะคิดไปในทางที่เคยคิด คนที่เคยคิดนั้นว่า มันจะมีอะไรมาก่อน ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร อยู่ในสภาพความเป็นอยู่ ในครอบครัวอย่างไร สิ่งนั้นมีอำนาจที่จะสร้างเสริมนิสัยใจคอของคนนั้นให้เป็นอย่างนั้นได้ เช่น เด็กเกิดมาอยู่ในครอบครัวที่ชอบเล่นการพนัน นิสัยการพนันจะเข้าไปสิงสู่ในจิตใจของเด็กนั้น เกิดในครอบครัวที่ดื่มของมึนเมา เด็กนั้นก็โน้มเอียงไปในทางเป็นนักดื่ม หรือว่าเกิดในครอบครัวที่มีนิสัยเป็นอันธพาล ชอบลักขโมยข้าวของของคนอื่น นิสัยก็โน้มเอียงไปในทางนั้น อันนี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นทีหลังทั้งนั้น ไม่ใช่ของดั้งเดิมกับจิตใจของคนเหล่านั้น
เราควรจะถือเป็นพื้นฐานได้ว่า สภาพจิตใจคนนั้น เมื่อก่อนปกติ มีความบริสุทธิ์สะอาดอยู่ แต่เศร้าหมองขึ้นในภายหลัง เพราะอาศัยการคบหาสมาคมกับสิ่งแวดล้อมมีปัจจัยต่าง ๆ แต่ปัจจัยที่จะสร้างคนให้เป็นอะไรนั้น จึงอยู่ในครอบครัว ในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ แต่ว่า ในครอบครัวสำคัญที่สุด คือพ่อแม่ ปู่ตาย่ายาย หรือคนที่อยู่ใกล้มีนิสัยใจคออย่างไร เด็กก็มักจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นเข้ามาไว้ในจิตใจของเขา สมมุติว่า มารดา บิดา เกิดลูกมาแล้ว ไม่เลี้ยงเอง ให้คนเป็นพี่เลี้ยงเขาเลี้ยงเด็กคนนั้น นิสัยใจคอของพี่เลี้ยงอาจจะพอกเข้าไปในจิตใจของเด็กได้ คนโบราณเขาจึงพิถีพิถันในการหา แม่นม หาพี่เลี้ยง มาเลี้ยงลูกของเขา เพราะว่าเขารู้ว่าเด็กอาจจะรับอะไรได้ สภาพของเด็กเหมือนกับกระดาษก๊อป อาจจะก๊อปด้วยหมึกอะไรก็ได้ ถ้าหมึกสีดำ กระดาษก็สีดำ ถ้าหมึกสีแดง กระดาษก็สีแดง สีอย่าไรของหมึก ก็อยู่ในกระดาษอย่างนั้น จิตใจของเด็กเหมือนกัน สามารถจะสืบทอดอะไรได้ง่าย รับอะไรได้ง่าย เพราะเด็กยังไม่มีจิตที่จะวินิจฉัยว่า อันใดถูก อันใดผิด อันใดควร อันใดไม่ควร เขาไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนั้น เห็นผู้ใหญ่ทำ เขาก็นึกว่า ดีแล้ว ชอบแล้ว เพราะผู้เป็นใหญ่เขาทำอยู่ เช่น เห็นคุณพ่อ คุณแม่ ทำอะไร เขาไม่รู้ว่าดี ว่าชั่ว เขาก็นึกว่าเป็นการดี ถูกต้องแล้ว เขาก็รับสิ่งนั้นไว้ในใจ รับแล้วฝังไว้นาน ๆ จนเป็นสันดาน เป็นนิสัย หรืออยู่กับพี่เลี้ยงคนใด พี่เลี้ยงเดินอย่างไร นั่งอย่างไร พูดจาอย่างไร เด็กก็รับถ่ายทอดนิสัยจากพี่เลี้ยงได้เหมือนกัน อันเป็นเรื่องที่เห็นปรากฏอยู่
เด็กคนไทยเรา ถ้าเกิดไปอยู่เมืองฝรั่งตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เด็กนั้นก็มีท่าทางเป็นฝรั่ง พูดจา ท่าทางจะเดิน จะนั่ง การทำงานทำการก็เป็นฝรั่งมังค่าไป ลองเอาเด็กฝรั่งมาไว้ในครอบครัวคนไทย เติบโตขึ้นก็มีนิสัยเหมือนคนไทย กิริยามรรยาท ก็อ่อนโยน ในท่านั่ง ท่าเดินแบบไทย ๆ อันนี้เป็นอำนาจสิ่งแวดล้อม ที่จะทำคนให้เป็นเช่นนั้น ญาติโยมคงจะเคยดูหนัง เรื่องว่า เด็กไปอยู่ในป่า ไปอยู่กับพวกสัตว์ป่า นิสัยใจคอก็เป็นสัตว์เดรัจฉานไป แล้วไปอยู่กับสิ่งเหล่านั้น คนไทยเราจึงพูดว่า เออ จะให้ลูก ...... (27.20 เสียงไม่ชัดเจน) ไม่ร่ำ ไม่รวยโตขึ้นจะเป็นโล้ หมายความว่า อยู่ระเนระนาด ความคิดความอ่านไปต่าง ๆ นาๆ กัน อยู่กับคนที่เป็นพาล ก็เป็นพาลไป ถ้าอยู่กับหมู่บัณฑิต ก็เป็นบัณฑิตไป อันนี้เป็นสิ่งสภาพแวดล้อม ซึ่งจะสร้างนิสัยใจคอของคนได้
ประเทศที่เขาเจริญก้าวหน้า รู้คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามจัดสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น จัดบ้านจัดเมืองให้ดีขึ้น ให้มีระเบียบเรียบร้อย ให้มีความสะอาด ให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีงามขึ้น เพื่อจิตใจคนจะได้รับสิ่งที่เป็นระเบียบ เรียบร้อยดีงามเข้าไปใส่ไว้ในใจ ถ้าเราไม่จัดสิ่งแวดล้อมให้ดี คนก็เสียเหมือนกัน เดี๋ยวนี้บางคนก็ว่า ต้องจัดคนก่อน จัดพร้อมกันไปถึงจะได้ คนก็ต้องจัด สิ่งแวดล้อมก็ต้องจัดด้วยเหมือนกัน ถ้าเราจัดแต่เรื่องคน แต่ไม่ได้จัดสิ่งแวดล้อมให้สม่ำเสมอกันไป ก็ลำบาก
สมมุติว่า ครอบครัวเรานี่ พยายามอบรมสั่งสอนลูกของเรา แต่ว่ารอบ ๆ บ้านเรานั้นเป็นคนไม่ดี มีนิสัยชั่วร้าย เราสอนอยู่คนเดียวในครอบครัวนั้น ไปไม่ได้ เพราะไม่มีเวลาที่จะออกไปข้างนอก ไปคลุกคลีกับคนข้างนอกได้ สิ่งที่อยู่ข้างนอกก็มีอิทธิพลมากอยู่เหมือนกัน อาจจะทำให้เด็กของเรา เสียผู้เสียคนได้ ฉะนั้นจึงต้องจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ บุคคล อยู่รอบ ๆ ในบริเวณนั้นให้เรียบร้อยขึ้น เช่นในสลัมทั้งหลาย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น เมื่อดีขึ้น คนก็พลอยดีขึ้นด้วย เช่น คนอยู่ในที่สะอาด เขาก็ต้องเป็นคนสะอาดขึ้นมา ในเมืองสะอาดเรียบร้อย มีสนามหญ้า มีร่มไม้ มีดอกไม้สวย ๆ งาม ๆ ปลูกไว้ คนที่มาเที่ยว เขาก็มีจิตใจดีขึ้น มาเห็นบ่อย ๆ พบบ่อย ๆ จิตใจก็โน้มเอียงไปในทางรักความสะอาด รักความเป็นระเบียบ รักสวยรักงาม แต่ถ้าเรามีแต่เรื่องรุงรังเต็มไปหมด บ้านนั้นก็อย่างนั้น บ้านนี้ก็อย่างนั้น ไปถนนไหนก็สกปรกอยู่อย่างนั้น มีความคิดที่จะทำให้ดีขึ้น มันไม่มี เพราะว่าพบแต่สิ่งไม่สะอาด เขาก็นึกว่าดีแล้ว แต่พอไปพบสิ่งสะอาด ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้
มีเด็กสองคน พ่อเป็นคนจรจัด เที่ยวไปตามเรื่องตามราว นอนอยู่กับขี้ฝุ่นกับที่สกปรกตามที่ต่าง ๆ วันหนึ่งพ่อตายไป คนให้การสงเคราะห์ ก็ไปเก็บเด็กสองคนนั้นมา ไปพบพระที่วัด วัดต้องการเด็กไหม เด็กผู้ชาย กลายเป็นว่าวัดต้องเอาไปเลี้ยงไว้ที่วัด สมมุติว่าให้เสื้อใส่ ใส่อยู่อย่างนั้น ถ้าไม่บอกว่าให้ซักก็ไม่ซักเลย สีขาวกลายเป็นสีดำ เนื้อตัวสกปรก ไม่ค่อยอาบน้ำ ต้องคอยเตือนให้อาบน้ำ ให้ซักผ้า ซักเสื้อ การกินอาหาร ต้องคอยเตือน คอยบอกอยู่ตลอดเวลา ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเปลี่ยนได้น้อยเหลือเกิน เพราะมันติดมาเสียนานแล้ว ติดมากับสภาพอย่างนั้น ที่หลับที่นอน ต้องคอยดุ คอยว่า คอยสอน คอยเตือน ถ้าเตือนก็ทำได้สักวันหนึ่ง ถ้าไม่เตือนก็กลับไปสู่ภาวะเดิมอีก เพราะมันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เคยชินกับสิ่งเหล่านั้นมาเสียนาน พอโตขึ้นเป็นหนุ่ม เอาไม่อยู่ ชอบไปเที่ยว ไปเก พบเพื่อน พบฝูง ผลที่สุดก็กลับไปอยู่ในคุก ในตารางไป เวลาไปพบที่หลัง อ้าว... เด็กสองคนหายไปไหนแล้ว ย้ายไปอยู่ทะเบียนคุกเด็กแล้ว เพราะว่ากลางค่ำกลางคืนหนีไปเที่ยว ก่อนนี้เคยเที่ยวกลางค่ำกลางคืน เพราะมันติดนิสัยมาอย่างนั้น การเป็นอยู่ในที่อย่างดีแล้ว เช่นในวัด แต่ว่าสิ่งแวดล้อมข้างวัดยังมีความยั่วยุอยู่ เด็กก็ไปได้
การจัดสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหน้าที่ของวัด ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่จะจัด คนจัดจัดได้เฉพาะในบ้านของตัวในเขตของตัว จะไปจัดบ้านคนอื่นไม่ได้ กฎหมายบ้านเมือง หรือ เจ้าหน้าที่จึงต้องกวดขันเรื่องวัดในส่วนนี้ เห็นว่าอะไรจะเป็นเครื่องฟอกนิสัยใจคอของคนในบางส่วน เราต้องแก้ไขสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้น เพราะว่าอิทธิพลภายนอก หรือสิ่งแวดล้อม ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างจิตใจคนให้เปลี่ยนแปลง จากความดีให้กลายเป็นความชั่วได้ จากความสะอาดให้เป็นความสกปรกได้ จากความสงบกลายเป็นเรื่องความวุ่นวายได้เหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่ง จึงอยากจะขอทำความเข้าใจกับญาติโยมทั้งหลายไว้ เป็นประการต้น
สภาพของจิตใจของคนนั้น ถ้าไม่ได้ฝึกฝน มันมีคุณธรรม เพราะฉะนั้นมีการฝึกฝน ฝึกอบรม ความจริงสภาพจิตใจเดิมนั้น ไม่วุ่นวาย ไม่เศร้าหมอง ไม่อะไรหรอก แต่ว่าอยู่กับสิ่งแวดล้อม ดังที่กล่าวแล้ว คนเรามีปุ่มรับอารมณ์ภายนอก สิ่งภายนอกที่มากระทบ เรียกว่า อารมณ์ อารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่เกิดจากใจ รูปรับทางตา เสียงเข้ามาทางหู กลิ่นเข้ามาทางจมูก รสผ่านลิ้น โผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบร่างกายของเรา แล้วความคิดก็เกิดขึ้นในใจเรียกว่า เป็นธรรมารมณ์ คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสิ่งภายนอกที่มากระทบ
ร่างกายของคนเรานี้ จึงมีประตูห้อง ภาษาธรรม เรียกว่า ทวาระ หรือ ทวาร แปลว่า ประตู มี ๕ ห้อง คือประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูร่างกาย ซึ่งมีประสาททั่วทั้งตัว ห้าประตูนี้ เป็นที่รับสิ่งภายนอกเข้ามา สิ่งภายนอกเข้ามาทางตา เป็นพวกรูป เข้ามาทางหู เป็นพวกเสียงที่เราได้ยิน เข้ามาทางจมูกเป็นเรื่องของกลิ่นประเภทต่าง ๆ เข้ามาทางลิ้น เป็นเรื่องของรส ที่เรารู้ได้ด้วยลิ้น เข้ามาทางกาย สิ่งที่ถูกต้องทางกาย สิ่งเหล่านั้น เมื่อเข้ามาแล้วเกิดการปรุงแต่งขึ้นภายในใจของเรา ใจมีหน้าที่ปรุงแต่งสิ่งเหล่านั้น ถ้าสิ่งใดชอบใจก็เกิดความรัก สิ่งใดไม่ชอบใจก็เกิดความชัง แต่บางสิ่งบางอย่างก็เฉย ๆ ไม่รักก็ได้ ไม่ชังก็ได้
เราสังเกตเห็นได้ง่าย เวลาไปที่เราเกิดความชอบ หมายความว่า สิ่งนั้นเป็นที่ถูกใจ คำว่าถูกใจ ไม่ถูกใจนั้น เรื่องจาก ฐานเดิมที่มีอยู่ในใจของเรา เรียกว่ามีสมมุติฐานตั้งอยู่ในใจ ว่าเราชอบอย่างนั้น เราไม่ชอบอย่างนี้ ฐานเดิมก็เกิดขึ้นจากการได้คิด การกระทำบ่อย ๆ ในเรื่องนั้น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องอาหารนี่ เรามีฐานอยู่ในใจด้วยกันทั้งนั้น คนหนึ่งชอบอาหารอย่างหนึ่ง อยู่ในท้องถิ่นใดก็ชอบอาหารอย่างนั้น คนปักษ์ใต้ ชอบแกงเหลือง คนภาคเหนือชอบแกงแค คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ชอบส้มตำมะละกอ เรียกว่าเป็นของชอบ พอเห็นปุ๊บสบายใจขึ้นมาเชียว คนปักษ์ใต้ พอเห็นแกงเหลือง วันนี้รู้สึกมันครึ้ม ๆ คนภาคเหนือ เห็นแกงแค เห็นน้ำพริก เข้ามานี้ รู้สึกครึ้ม ๆ ในใจ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าเห็นส้มตำ รู้สึกว่าน้ำลายจะไหลออกมาอีกแล้ว อันนี้มีฐานอยู่ในใจ ถ้าสิ่งนั้นถูกกับฐานก็ชอบใจ แต่ถ้าไม่ถูกกับฐานที่มีอยู่ ก็ไม่ชอบ จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส อะไรก็ตาม ถ้าตรงกับฐานที่ตั้งไว้ในใจเรา เราก็ชอบใจสิ่งนั้น ถ้าไม่ตรงกับฐานที่อยู่ในใจ เราก็ไม่ชอบสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ประสบพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น จึงก่อให้เกิดความชอบใจได้ ให้เกิดความไม่ชอบใจได้
สิ่งใดที่ทำให้เกิดความชอบใจก็เพลิดเพลินไป มัวเมาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบใจ ก็เกิดอารมณ์ อึดอัดขึ้นมา ว่าไม่ชอบในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นกิริยาที่เกิดขึ้นในใจของคนเรานั้น มีสองอย่าง คือ ถ้าชอบก็ดึงเข้ามา ถ้าไม่ชอบก็ผลักดันออกไป วันหนึ่ง ๆ มีเรื่องสองเรื่องนี้เท่านั้น ดึงเข้ามา ผลักดันออกไป สิ่งใดที่เราชอบใจก็ดึงเข้ามา ดึงเข้ามาไว้ในใจ เก็บสิ่งนั้นไว้ อยากมีอยากได้ อยากจะเป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งนั้นเป็นที่ตรึงใจ พอใจ แต่ว่าถ้าสิ่งใดไม่เป็นที่ชอบใจ ก็เกิดความคิดจะผลักดันออกไป ให้สิ่งนั้นไปพ้นหูพ้นตา ที่เราพูดว่า แหม! รำคาญจริง ไปพ้นหูพ้นตาเสียทีเถอะ นี่คือเราไม่ชอบสิ่งเหล่านั้น พอไม่ชอบก็อยากจะผลักดันออกไป ไม่ว่าเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสัมผัส ไม่เหมือนแต่เดิมนั้น
ถ้าสิ่งใดชอบก็อยากจะยื้อนาน ๆ อยากจะกิน อยากจะดม อยากจะรับประทานสิ่งเหล่านั้น อยากจับ อยากใกล้สิ่งนั้น เขาเรียกว่าเกิดราคะขึ้นในใจ ราคะ หมายความว่า ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ถ้าสิ่งใดไม่ชอบใจ ก็เกิดปฏิภาค เป็นศัพท์ที่บัญญัติกันขึ้น ในเรื่องเกี่ยวกับภายในใจของคนเรา ปฏิภาค หมายความว่า เกิดหนึบ ๆ ยุ่งยาก อึดอัดขัดใจ ไม่พอใจในสิ่งนั้น เกิดอารมณ์เบื่อขึ้นมา แสดงอาการออกมาทางคำพูด แสดงออกมาทางสายตา แสดงออกมาทางมือ ว่าไม่ชอบอกชอบใจในสิ่งเหล่านั้น เพราะว่าใจนั้น เรารู้สึกว่า เป็นสุขชั่วขณะหนึ่ง คือเป็นสุขในขณะที่ชอบ แต่ว่าความชอบเปลี่ยนแปลงได้ เกิดทุกข์ภายหลังได้ เกิดทุกข์ได้อย่างไร สิ่งนี้เราชอบใจ เราก็สบายใจ แต่ว่าใจทีหลัง เกิดความคิดว่า กลัวสิ่งนี้จะออกไป จะหายไป กลัวคนจะลักพาไป หรือจะเปลี่ยนแปลงไป
ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เราดูหนังดูละคร จะไปดูในโรง หรือดูทางโทรทัศน์ก็ตามใจ พอจบเราเสียดาย มันจบ รู้สึกเสียดาย จบเร็วไป ควรจะต่อไปอีก นี่คือความรู้สึกเป็นทุกข์ เสียดายในเรื่องนั้นขึ้นมา สิ่งใดที่เราได้มาแล้ว ตอนนั้น เราเสียดาย หายไปเราก็เสียดาย นี่คือความทุกข์ที่ตามมา ท่านจึงกล่าวว่า ความสุขที่เกิดจากเครื่องล่อ เขาเรียกภาษาธรรมว่า อามิส อามิส หมายความว่า เครื่องล่อใจ เครื่อง จูงใจ บรรดาเครื่องล่อใจ จูงใจ ทำให้เราเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งเหล่านั้น พอสิ่งนั้นเปลี่ยนสภาพไปก็เป็นทุกข์
ท่านจึงพูดเป็นหลักว่า อามิสสุข มีปริมาณเท่าไร ความเชื่อว่าความสุขมีเท่าไร ความทุกข์ก็มีเท่านั้น เหมือนเราขึ้นต้นไม้ เราขึ้นตรงจุดนั้น เราก็ลงจุดนั้น จะลงมาก็ตาม ไต่มาก็ตาม ขึ้นกับลงเท่ากัน สิ่งใดที่ก่อให้เกิดความสุขใจ สบายใจ เมื่อมีความทุกข์ก็ทุกข์เท่ากัน อันนี้จึงมีคำพูดว่า ความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แต่มีบางคนบอกว่า รักมันเป็นสุข นั่นนะพูดตามกิเลส ไม่ใช่เรื่องอะไร ไม่ได้พูดตามหลักธรรมะหรือพูดตามหลักความจริง ที่พูดว่ารักเป็นสุข หมายความว่า พอได้สมใจ มันก็เพลิดเพลินไป หลงใหลไป มันไม่ใช่เป็นเรื่องของความสุข แต่เป็นเรื่องของความเพลิดเพลิน ความหลงใหล ในเรื่องนั้น ๆชั่วครู่ชั่วยาม แต่เราพ้นจากนั้น มันก็เกิดความทุกข์ต่อไป
เวลาใดสิ่งที่เรารักเปลี่ยนไป เราก็เป็นทุกข์มาก รักมากมันก็ทุกข์มาก รักน้อยก็ทุกข์น้อย คนที่ไม่มีความรัก คือมีความเฉย ๆในเรื่องนั้น ๆ ก็ไม่มีความทุกข์อะไร คนไม่มีความรักก็อยู่กันได้ คืออยู่ตามหน้าที่ สามีภรรยาอยู่กันตามหน้าที่ จึงไม่เป็นทุกข์ เพื่อนที่รักกันตามหน้าที่ก็ไม่เป็นทุกข์ เราทำงาน ทำหน้าที่ มันก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าทำด้วยความหลงใหล ด้วยความมัวเมาในเรื่องนั้น มันก็เกิดความทุกข์ ที่หนุ่มสาวรักกันด้วยกิเลสนี่มันเป็นความทุกข์ เมื่อความรักนั้นคือความอยากที่จะได้จะมี เกิดเป็นความเห็นแก่ตัว ความรักประเภทเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวก็คือ อยากได้สิ่งนั้นมาอยู่กับตัว ไม่อยากจะให้คนอื่นเข้ามายุ่ง ถ้ารักมากหลงมาก ก็เกิดความหึงหวง เพียงแต่ว่า ไปคุยกับคนนั้นก็ไม่ได้ ยุ่งกับคนนี้ก็ไม่ได้ มองตาคนนั้นก็ไม่ได้ นี่คือความทุกข์ ที่มันเกิดขึ้นในใจ เกิดความหึงความหวง
ความหึงหวงนั้นเกิดจากอะไร เกิดจากความหลงใหลมัวเมาในสิ่งนั้นด้วยความยึดมั่นถือมั่นมากเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหา เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่ถ้าเราไม่เกิดอารมณ์อย่างนั้น เราถือว่าอยู่กันตามหน้าที่ คนเรามันต้องอยู่กันตามหน้าที่ มีสำนึกเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิต เพราะเราเป็น (41.59 เสียงไม่ชัดเจน) ต้องมีเพื่อนที่ร่วมจิต ร่วมใจไว้สักคนหนึ่ง จะได้อยู่กันในครอบครัว ก็มีผู้หญิงมาอยู่ด้วย ในฐานะเป็นภรรยาสามีกัน ก็ทำหน้าที่สามีภรรยากันไปตามหน้าที่ แต่ว่าควรมีปัญญารู้เท่าทันในสิ่งทั้งหลาย ถ้าเราอยู่กันนี้ ก็อยู่กันไปอย่างนั้น แต่ว่าอาจจะจากกันก็ได้ อาจจะตายไปข้างหนึ่งก็ได้ อาจจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็ได้ แต่ตราบใดที่เราอยู่ด้วยกัน ก็อยู่กันด้วยปัญญา ไม่อยู่ด้วยโมหะคือความหลง ไม่อยู่กันด้วยความมัวเมา ด้วยความประมาท ถ้าอยู่อย่างนี้จิตใจมันสงบ ไม่วุ่นวาย (42.40 เสียงไม่ชัดเจน) และไม่เกิดปัญหาการหย่าร้างกันในครอบครัว ที่เกิดการหย่าร้างนั้นมันเรื่องเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องอะไร สามีก็เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ภรรยาก็เกิดความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ถ้าเกิดเอารัดเอาเปรียบไม่ได้ ก็เกิดไม่ชอบใจ ไม่อยากจะอยู่ด้วยแล้ว ก็เอาเปรียบไม่ได้เท่าที่ควร ก็อยากจะหย่าคนนี้ไปหาใหม่ต่อไป จะได้เอาเปรียบกันต่อไป อะไรอย่างนี้ นั่นมันเรื่องของกิเลส มันไม่ใช่เรื่องจิตใจที่สงบ ไม่ใช่เรื่องจิตใจที่สะอาด ไม่ใช่เรื่องจิตใจที่สว่างอยู่ด้วยปัญญา จึงได้เกิดปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อน ด้วยประการต่าง ๆ จึงควรจะรู้ว่า สิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์นี่ มันไม่ดี แต่สิ่งใดที่ให้เกิดความสงบใจนั้น เป็นการถูกต้อง
เมื่อเรารู้ว่าสภาพที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานั้น เกิดจากการปรุงแต่ง จากสิ่งภายนอกกระทบกับสิ่งภายใน เช่น รูปกระทบตาก็เกิดความรู้สึกทางตา เสียงกระทบหูก็เกิดความรู้สึกทางหู กลิ่นกระทบจมูกก็เกิดความรู้สึกทางจมูก รสกระทบลิ้นก็เกิดความรู้สึกทางลิ้น อะไรมากระทบผิวกายก็เกิดความรู้สึกทางร่างกายขึ้น ความรู้สึกอันนี้มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราเรียกว่าเป็นวิญญาณอันหนึ่ง ความรู้สึกนี่ก็วิญญาณ มันไม่หยุดเพียงเท่านั้น เมื่อมีตา มีรูป มีวิญญาณ สามอย่างแล้ว มันก็รวมตัวกันเข้า เราเรียกว่า ผัสสะ
ผัสสะ หมายความว่า มันประชุมของสามอย่าง คือ ตา รูป ความรู้สึกทางตา รวมสามอย่าง เกิดเป็นผัสสะขึ้นมา ถ้าเกิดผัสสะ ก็เกิดเวทนา เวทนาคือ ความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่พ้นจากนั้นมันก็เกิดตัณหา ถ้าสิ่งใดเป็นสุข ก็ชอบใจอยากได้ สิ่งใดมันเป็นทุกข์ ไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ มันก็เป็นตัวตัณหาทั้งนั้น ถ้าพอใจอยากได้ ก็เรียกว่า กามตัณหา ไม่พอใจไม่อยากได้ ก็เป็นวิภวตัณหาขึ้นมา ถ้าอยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ ก็เป็นภวตัณหาขึ้นมา มันก็อยู่ในวงตามนี้ เขาเรียกว่ากามตัณหา อยากมี และภวตัณหาก็อยากเป็น วิภวตัณหาไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ที่ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นด้วยความหลงเหมือนกัน
คนที่ฆ่าตัวตายเพราะล้วนแต่เป็นวิภวตัณหา อึดอัดขัดใจ ไม่มีปัญญาจะแก้ไข ไม่ได้มองอะไรในแง่ถูกต้อง แล้วก็เลยไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป เลยทำการฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายนั้นเป็นคนบาปนะ เรียกว่าเป็นคนบาป ใจก็เป็นบาป ฆ่าตัวเองได้นี่บาปเหลือเกิน เป็นบาปหนาทีเดียว ฆ่าคนอื่นนั่นก็บาปอยู่แล้ว แต่ไม่ร้ายเท่ากับฆ่าตัวเอง คนฆ่าตัวเองนี่ขาดคุณธรรม ขาดความเมตตาปรานี ไม่รู้จักคุณค่าของชีวิต ไม่รู้จักธรรมชาติของชีวิตที่ตนได้เกิดมา และก็ไม่คิดถึงคุณพ่อ คุณแม่ ว่าจะเสียอกเสียใจ ไม่คิดถึงคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย หรือเพื่อนฝูงมิตรสหาย ผู้มีความคุ้นเคยกับเรา ว่าเขาจะเสียดายว่าไม่น่าเลยที่จะใจน้อยใจสั้นอย่างนั้น มาฆ่าตัวตาย ไอ้คนคิดสั้นที่สุดเลย สั้นเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าอะไรมันสั้นแค่ไหน ครู่เดียวขึ้นมาก็เอาแล้ว เปรี้ยงเข้าให้ เรื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายในบ้าน อย่าวางไว้ให้เด็กหยิบง่าย ๆ มีมีด มีมีดสายอยู่ในบ้าน อย่าวางเอาไว้ให้หยิบง่าย ๆ ปืนผา หน้าไม้ ใส่ตู้ใส่อะไรไว้ให้เรียบร้อย ความจริงก็ไม่ควรจะซื้อปืนมาไว้ในบ้าน มันไม่จำเป็นอะไร ซื้อมาไว้ทำอะไร ไว้ป้องกันตัวหรือ ไม่เห็นใครป้องกันได้สักรายเดียว พวกจับจ้องย่องเบาออกกันไปแล้ว (46.59 เสียงไม่ชัดเจน) เอาปืนไปด้วย มีปืนอยู่ในบ้าน เปลืองเงินเปล่า ๆ กระบอกหนึ่งราคาเท่าไร ปืนนะ ปืนสั้น ๑๑ มม. ๒๐ มม. ราคามันหลายร้อย อย่าเอามาไว้ในบ้าน เท่ากับว่าช่วยซื้อปืนให้ขโมย มันไม่สะดวก มันมาเอาที่บ้านเรา ไม่มีอะไรที่จำเป็น ญาติโยมจะมีไว้ทำไม
มีคนๆ หนึ่งเขามีฐานะดี เพื่อนถามว่า คุณมีปืนบ้างไหม 47.59 เสียงไม่ชัดเจน) ผมไม่รู้จะเอามันไว้ทำอะไร เอาไว้ป้องกันตัว เราบอกว่ามันป้องกันไม่ได้หรอก มันเอาไปได้ทุกทีนั่นแหละ แล้วฟังข่าวดูสิ มันเอาไปทุกที บ้านใคร ๆ โรงรับจำนำมันยังเข้าไปเอาได้ ทางตำรวจ มีตำรวจถือปืน มันยังเข้าไปเอาได้เลย (47.46 เสียงไม่ชัดเจน) เขาเรียกว่า เกลือเป็นหนอน เกลือเมืองไทยมันเป็นหนอนมากนะเวลานี้ เดี๋ยวเกลือที่นั่นเป็นหนอน เกลือที่นี่เป็นหนอน ของอย่างนี้ไม่มีเสียดีกว่า ไปไหนอย่าพกปืนดีกว่า พกธรรมะไปดีกว่า เอาพระไป เอาพระผู้เป็นเจ้าใส่ใจไป ไปเจอใครก็สวัสดีครับ (48.43 เสียงไม่ชัดเจน) เรายิ้มกับมัน ยกมือไหว้ ดีจะตาย เรายิ้มกับเขาก่อน เราแผ่เมตตาให้เขา มันไม่ทำร้ายหรอก แล้วเราไม่มีอะไร เราไม่มีอะไรจะเอา
ถ้าสมมติว่ามันจะเอาอะไร นั่นก็ แหม! เสียใจเหลือเกิน คุณจะมาเอาอะไรกับผม ผมไม่มีอะไรจะให้อยู่เหมือนกันนะ ไม่มีสตางค์หรอก มีสองบาท เอาไปแบ่งกันคนละบาท แบ่งกันกิน เรามันเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันนะ พูดกันดี ๆ มันก็ไม่อะไรหรอก อย่าไปกวนโมโหนะ อย่าไปทำท่ากวนโมโหโทโสนะ ทำหน้าตาขึงขัง มันไม่ได้ใจนะ มันจะเอาบ้างนะ เหมือนสุนัขสองตัวมาเจอกัน มีนะ สุนัขบางตัวพอเพื่อนไล่มา มันนอนหงายนะ ขนาดนั้นนะ นอนหงายแล้ว เลือกเอาสิ เลือกกัดตามชอบใจเถอะ มันไม่กัดเลยนะ ไอ้ตัวที่ไล่มา มันไม่กัดเลย มันดมนะ มันดมหัว ดมหาง ดมตรงโน้น ตรงนี้ มันก็เดิน มันกระหยิ่มยิ้มย่องว่า กูเก่งแล้ว มันไม่สู้เลย โอกาสเป็นเจ้ายุทธจักรแล้ว มันแพ้แล้ว อย่างนี้ก็หมดเรื่อง ไม่มีอะไร เราแพ้มัน มันก็สบาย เพราะฉะนั้นคนโบราณจึงพูดว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ถ้าเรายอมแพ้ เราเป็นพระ ไปนานแล้ว เราปลงตก นี่มันไม่ใช่เรื่องอะไร จะไปสู้รบปรบมือกันทำไม แพ้เป็นพระ ถ้าเราคิดจะเอาชนะ มันเป็นมาร มารอยู่ในใจ อย่าไปยอมนะ จะเสียเหลี่ยม เสียทีเชิงชาย ตัวมารนั่นนะ มายุให้เราเสียผู้เสียคน มันไม่ใช่เรื่องอะไร ถ้าเราไม่มีอะไร มันก็สบาย ไม่ยุ่งไม่ยาก
ทรัพย์สมบัติก็เหมือนกัน อย่าเก็บไว้กับบ้าน เวลานี้เขามีธนาคารเกือบทุกถนนในกรุงเทพ เอาไปฝากธนาคารเถอะ เพชรนิลจินดาอะไร อย่าเอามาประดับกาย ไม่ต้องใส่หรอก ไม่มีเพชรประดับก็ยังกินข้าวได้ ยังนอนหลับ แต่ว่ามีเพชรประดับนี่จะนอนไม่หลับเลยนะ กลัวเขาจี้ จะนอนไม่หลับ เราอย่าประดับด้วยเพชรนิลจินดา เอาธรรมะประดับใจไว้พอแล้ว ของอย่างนั้น …… ปุ๊บ มีปุ๊บ เป็นหลับปั๊บ มีพอแล้วเป็นหลับปั๊บ(50.32 เสียงไม่ชัดเจน) เผื่อว่าเวลาฉุกเฉินจะได้เอาไปเก็บไว้ โรงรับจำนำ แต่ถ้ายังไม่ใช้ก็เอาไปใส่ตู้เหล็กเล็ก ๆ เอาไปฝากธนาคารเสีย มีเยอะแยะ ธนาคารอะไรก็ได้ เอาไปฝาก เขามีตู้ใส่
อาตมาเคยไปเปิดธนาคาร ตู้เยอะแยะ ไว้สำหรับญาติโยมเอาเพชรนิลจินดามาฝาก แล้วก็มีที่นั่ง มีเก้าอี้ให้นั่งเลือก จัดสรร เวลาจะเอาไปใช้มาเอาได้ ไปฝากไว้ได้ คิดค่าฝากไม่แพงอะไร สะดวกสบาย เงินทองก็เหมือนกัน เอาไว้กับบ้านทำไม ได้ยินข่าวว่าขโมยมาเอาไปสักสองแสน เหมือนจะตายแล้ว มีเงินตั้งสองแสนแต่ไม่มีปัญญารักษา นี่เป็นทุกข์ มีอะไร เอาไว้กับบ้านทำไมมากมายอย่างนั้น ตั้งแสนสองแสน ไม่จำเป็นอะไร เอาไปฝากธนาคารให้เรียบร้อย ไปไหนก็อย่าพกเงินไป เช่น จะไปเชียงใหม่ ไปหาดใหญ่ นั่งรถทัวร์ บางคนพกเงินไปตั้งสามสี่หมื่น เรียกว่า ไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เรื่อง ว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร นี่เรียกว่าไม่เรียนรู้ เรื่องเมืองไทยว่าสภาพเมืองไทยมันขนาดไหน พกเงินไปทำไมตั้งสองหมื่น เอาไปแจกพวกขโมยสิ ไม่ใช่อะไรหรอก อย่าเอาไปแจกมัน เวลาจะไปไหนก็ฝากเช็คเดินทางของออมสินก็ได้ เอกลักษณ์ธนาคารก็ได้ อะไรก็ได้ เยอะแยะที่ไม่ต้องเอาเงินไปก็ได้ ไม่ลำบากเดือดร้อนอะไร ขโมยมันเอาไป ก็ไปขึ้นไม่ได้ มันก็ไม่เอา บางทีมันจะโมโหทุบกบาลเราสักทีหนึ่ง ว่าอะไรมาเที่ยวมาเตร่ ไม่เห็นมีอะไรติดเนื้อติดตัวมาบ้างเลย มันก็คิดแต่ไม่เหมือนกัน นั่นนะอันธพาลแท้ ยกมือไหว้ แล้วยังทุบหัวอยู่เลย เรียกว่าเป็นอันธพาล ก็นึกว่าให้มันสบายใจ มันได้ทุบหัวเพื่อนแล้วมันสบายใจ เราเรียกว่าแผ่เมตตาว่า เออ..ดีแล้ว มึงสบายใจได้ทุบหัวกู แบบนี้มันก็ไม่มีเรื่องอะไร
เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็ควรจะคิดแก้ไขป้องกันเสียให้เป็นการเรียบร้อย วัดวาอารามนี่ บางวัดก็เก็บเงินไว้ในกุฏิ มีที่ไหน ข้อห้ามพระพุทธเจ้าท่านห้ามไว้แล้ว บอกว่าอย่าเก็บไว้ ฝืนคำสอนของพระพุทธเจ้า ขโมยมาจี้เอาไป แถมยังเสียหาย เอาไว้ทำไม สมัยนี้ ธนาคาร ฝากเสีย หมดเรื่อง ไปไหนก็เซ็นเช็คไปสำหรับจับจ่าย เช็คของออมสินนะดีแล้ว สะดวกสบาย ไปไหนก็ใช้ได้ เอาไปเท่าที่จำเป็นสำหรับซื้อ (53.15 เสียงไม่ชัดเจน) เดินทาง เผื่อกินอาหารกลางทาง ไปตรงโน้นก็ไม่ต้องอะไรหนักหนา เดี๋ยวนี้ก็สบาย
เราต้องรู้สภาพของสิ่งเหล่านี้ และเวลาใดจิตใจไม่สบาย ก็ให้รู้ว่า อันนี้ไม่ใช่ของเรา มันของปรุงแต่งขึ้น แล้วใครเป็นคนปรุง เราปรุงของเราเอง ไม่สบายก็เรื่องของเรา สบายก็เรื่องของเรา หัวเราะก็เรื่องของเรา ร้องไห้ก็เรื่องของเรา ทำเอาเองทั้งนั้น ท่านจึงบอกว่า เราทำเอาเอง ไม่มีใครทำให้ แล้วมันสมควรหรือที่เราจะนั่งเป็นทุกข์ สมควรหรือที่เราจะร้องไห้ด้วยเรื่องอะไร ปัญหาเล็ก ๆ เรื่องไม่สมควร ด้วยประการทั้งปวง
ผู้มีปัญญาจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งทั้งหลายอันจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แต่พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในใจของเราว่า อะไรเกิดขึ้น อะไรตั้งอยู่ในจิตใจของเรา และพยายามวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องนั้น เรียกว่า เจริญวิปัสสนา วิปัสสนาก็หมายความว่า การคิดพิจารณาสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เรื่องดีก็พิจารณา เรื่องชั่วก็พิจารณา เรื่องสุขก็ต้องพิจารณา เรื่องทุกข์ก็พิจารณา ขณะใดที่เราใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ ขณะนั้นความทุกข์ไม่เกิด ขณะใดเราไม่ใช้ปัญญา ขณะนั้นเราเป็นทุกข์ มีความร้อนอกร้อนใจ ทุกครั้งที่เป็นทุกข์ เรามีความโง่เขลา ทุกครั้งที่เราแก้ความทุกข์ได้ เรามีความฉลาดในปัญหาของชีวิต
พุทธบริษัทคือ ผู้รู้ ผู้เข้าใจในปัญหาชีวิตถูกต้อง และไม่ปล่อยตัวให้ตกอยู่ในความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยปัญหานั้น ๆ จึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ใคร ๆ ก็เป็นได้ ชาวพุทธก็เป็นได้ เป็นชาวคริสต์ก็เป็นได้ เป็นอิสลามก็เป็นได้ เป็นผู้รู้ได้ทั้งนั้น แม้จะไม่ทุกข์ด้วยกันเท่านั้น มนุษย์เรามันต้องการสิ่งนี้ อย่าสร้างปัญหา อย่าทำอะไรให้เกิดความวุ่นวายสับสนขึ้นแก่ชีวิต ก็ควบคุมจิตใจของเรานั่นเอง ทีนี้การควบคุมอย่างไรนั้นค่อยว่ากันต่อไป สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้