แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา ชีวิตของคนเราทั่ว ๆ ไปรวมถึงสัตว์เดรัจฉานซึ่งเรียกว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ย่อมมีความคิดอยู่ในใจประการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสากลเหมือนกัน คิดอย่างไรที่เรียกว่าเหมือนกัน คือคิดแสวงหาที่พึ่ง การคิดแสวงหาที่พึ่งนี้เป็นเรื่องของสัตว์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ย่อมแสวงหาที่พึ่งด้วยกันทั้งนั้น เราจะเห็นได้ว่าสุนัขที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน มันมาอาศัยเรา มันก็จงรักภักดี เข้าใกล้ เวลาใดที่มันรู้สึกว้าเหว่ทางจิตใจ มันพูดภาษาอะไรไม่ได้ แต่มันก็เข้ามาใกล้เคล้าแข้งเคล้าขา บางทีก็ทำอาการอย่างนั้นอย่างนี้ มันรู้สึกว่ามันอบอุ่นทางด้านจิตใจ นั่นก็แสดงว่ามันแสวงหาที่พึ่งที่อาศัย
สัตว์ป่ามันก็อยู่กันเป็นฝูง แล้วก็เข้าไปอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ อยู่ในถ้ำหรือในโพรง การที่เข้าไปอยู่ในที่เช่นนั้นมันก็หาที่พึ่งนั่นเอง เพราะว่าสัตว์ที่อยู่ในป่านั้นย่อมเบียดเบียนกันเอง สัตว์เล็กถูกสัตว์ใหญ่กิน สัตว์ใหญ่ก็รังแกสัตว์เล็กเพื่อเอามาเป็นอาหาร มันก็มีความหวาดกลัวตกใจเป็นธรรมดา เมื่อมีความหวาดกลัวขึ้นมาก็คิดว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งแก่มันได้ มันก็ต้องแสวงหาสิ่งนั้น การที่สัตว์มันขุดโพรงอยู่ในดินก็ดี ในต้นไม้ก็ดี หรือเข้าไปอยู่ในถ้ำ หรือดำลงไปอยู่ในน้ำอะไรอย่างนี้ แสดงว่ามันต้องการหาหลักประกันสำหรับชีวิตของมัน มันต้องการอยู่ให้ปลอดภัยจะได้นอนสบายนั่งสบาย ออกลูก โดยเฉพาะเวลาออกลูกนี้มันต้องหาที่พิเศษที่ปลอดภัยจริง ๆ จึงจะไปเตรียมตัวเพื่อจะออกลูกของมัน เพราะถ้าหากไปออกไว้ตามที่ ๆ เปิดเผย สัตว์อื่นเห็นง่าย มันก็เอาไปกินเป็นอาหารหมด เราจึงเห็นว่าสัตว์พวกนกพวกสัตว์ป่าสี่เท้าอะไรพวกนี้ มันจะต้องหาที่พึ่งของมันอย่างดี
สัตว์บางอย่างมันก็ต้องอาศัยสัตว์อื่นเป็นที่พึ่งด้วยเหมือนกัน มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือนกกระจาบกับตัวต่อมักจะอยู่ด้วยกัน ทำรังอยู่ด้วยกัน ถ้าเห็นรังนกกระจาบอยู่ที่ไหนมักจะมีรังต่อใหญ่ ๆ อยู่ที่นั่นด้วย ใครเป็นผู้ไปอาศัยใคร นกกระจาบนั่นแหละมันไปคิดอาศัยตัวต่อ เพราะว่าตัวต่อนี้มันมีพิษ มันต่อยใครแล้วก็หน้าบวมไปตาม ๆ กัน คนไม่กล้าไปรังแก กล้าปีนขึ้นไปต่อเล่นงาน ในรังนกกระจาบซึ่งถอนง่าย เอาง่าย มันก็อยู่ได้ปลอดภัย เราไปเห็นเมื่อสมัยเด็ก ๆ ก็เคยเห็นตามต้นไทร ต้นตาล ถ้ามีนกกระจาบก็ต้องมีตัวต่ออยู่ด้วย เห็นเวลานั้นก็ไม่คิดอะไร แต่มาคิดได้ตอนหลังว่า อ้อ สัตว์ทั้งหลายนี่มันคิดอาศัยกันพึ่งพากันในบางเรื่องบางประการ เช่น สัตว์ตัวเล็กก็เข้าไปพึ่งสัตว์ตัวใหญ่ สัตว์ที่มีพิษน้อยก็ไปพึ่งสัตว์มีพิษมีเขี้ยวมีงาพอจะอาศัยช่วยเหลือกันได้ตามประสา แม้จะไม่ช่วยมันก็มีความอุ่นอกอุ่นใจ สัตว์ที่ทำรังอยู่ตามยอดไม้ มันจะขึ้นไปทำรังสูง ๆ ที่ปลายกิ่ง กิ่งไม้เล็ก ๆ มารวมกันแล้วไปทำรังอย่างนั้น มันก็หาที่พึ่งเหมือนกัน คือว่าทำรังที่กิ่งเล็กนี่ คนใครจะปีนขึ้นไปไม่ได้เพราะกิ่งมันเล็ก ทานกำลังไม่ได้ มันก็ปลอดภัย นี่คือการหาที่พึ่งของสัตว์ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ
มนุษย์เราเป็นสัตว์ประเสริฐ มีร่างกายพิเศษเนื้อหนังดีกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย มีสมองซึ่งธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้มีความคิดตรึกตรองในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ได้ มนุษย์ก็มีความกลัวเหมือนกับสัตว์เดรัจฉานเหมือนกัน กลัวถูกทำร้ายถูกเบียดเบียนด้วยประการต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจึงคิดแสวงหาที่พึ่งพำนักอาศัย ที่พึ่งอย่างหยาบ ๆ ก็ที่พึ่งทางร่างกาย เช่น สมัยก่อนนี้คนยังไม่เจริญ ไม่มีบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย คนก็ไปอยู่ตามในถ้ำในภูเขาเพราะว่าในถ้ำนั้นมันมีทางเข้าทางเดียว ถ้าไปอยู่ในนั้นสู้ศัตรูได้ง่าย ไปรวมกันอยู่ในถ้ำ หรือว่าอยู่ในซอกภูเขา หรืออยู่ตามในป่า ถ้ามีโพรงไม้คนก็เข้าไปอยู่เหมือนกัน ดังนั้นในการเลือกจำพรรษาของพระนี้ ในโพรงไม้ก็ยังจำพรรษาได้ คือกันแดดกันฝนได้ แต่ว่าพระไม่ค่อยเข้าไปอยู่ ถ้าจำเป็นท่านก็เข้าไปอยู่ในโพรงไม้เพื่ออยู่จำพรรษา
คนสมัยก่อนนั้นก็อยู่อย่างนั้น จะแสวงหาที่พึ่งทางกายไม่ให้สัตว์ได้มาเบียดเบียนขบกัด ก็ปลอดภัยในรูปอย่างนั้น เราจะเห็นว่าเป็นอย่างนี้ หรือบางทีคนป่ายังขุดหลุมอยู่เหมือนกัน ลงไปอยู่ในหลุมแล้วก็ปิดปากหลุมไว้ เมื่อมีอะไรผ่านมาก็ไม่เห็น เขาก็อยู่กันได้อย่างปลอดภัย หรือการที่คนเรามาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นหมู่เป็นคณะ ก็ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องต้องการความปลอดภัยนั่นเอง เราจึงได้มาอยู่รวมกันในรูปอย่างนั้น ถ้าอยู่โดดเดี่ยวมันก็ไปไม่รอด สัตว์ป่าเอาไปกิน เสือคาบเอาไปกินซะ แต่ถ้าอยู่หลายคน สัตว์ได้มาก็เพียงแต่ร้องตะเพิดเสียงมันดัง ๆ สัตว์ร้ายก็จะหนีไป ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว หรือว่าพระไปเที่ยวป่า ไปธุดงค์ ท่านมีกลดไว้ กลดนี้มันน่ากลัวเหมือนกัน คือกลัวตรงไหน ตรงที่จุดเทียนขึ้นในกลด เช่น สัตว์ป่ามานี่ท่านจุดเทียนพรึ่บมันสว่างเลย ใหญ่เหลือเกิน เสือมองเห็นว่านี่ใหญ่กว่ากูเป็นไหน ๆ แล้วมันวิ่งเตลิดเลย ช้างก็เหมือนกัน ถ้าเห็นเทียนในกลดสว่างนี่มันวิ่งเลย เพราะมันใหญ่เหลือเกิน มันขาวไป มีแสงนี่มันน่ากลัว คนบอกว่าอยู่ในกลดแล้วมันปลอดภัย พูดปลอดภัยไม่เกี่ยวกับความขลังหรือเพราะความศักดิ์สิทธิ์อะไรหามิได้ แต่ว่ามันดูมันน่ากลัว แสงมันใหญ่ มันน่ากลัว สัตว์มันเห็นแล้วมันก็ไม่เข้าใกล้ มันวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปเท่านั้นเอง อยู่ในกลดจึงปลอดภัย พระธุดงค์ที่เดินในป่าก็มีกลดนั่นแหละเป็นหลักเป็นที่อาศัย ป้องกันทางร่างกาย
นี่เป็นเรื่องแสวงหาที่พึ่งทั้งนี้ ที่พึ่งทางกายนั้นมันก็หยาบตามวัตถุ ประณีตบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ตามเรื่องตามราวที่จะหาได้ ตามประสาของคนที่มีความคิดความอ่านขนาดไหน ถ้าเป็นคนป่าคนยังไม่เจริญก็หาที่พึ่งทางหยาบ ๆ ในทางร่างกายไปก่อน แต่ว่าเพียงเท่านั้นก็ยังไม่พอ มันยังมีความหวาดเสียวในจิตใจ มีความสะดุ้งกลัว ยังฝันร้าย คนเราถ้ากลัวอะไรมากมักจะฝันไปในเรื่องนั้น ฝันว่าสัตว์มากัดบ้าง มาเหยียบบ้าง งูมารัดบ้าง อะไรต่าง ๆ นา ๆ คนทำนายฝันก็มักจะทำนายให้สบายใจ เข่นว่าฝันงูรัดนี่เขาบอกไม่เป็นไรหรอก จะได้คู่ ว่าอย่างนั้น อันนี้บางคนบอกว่ามันไม่ใช่ตัวเดียว รัดตั้งสองตัว บอกว่าก็จะได้คู่หลายคน มันก็ดีอกดีใจ เหมือนกับเจ๊กคนหนึ่งไปหาหมอแล้วบอกว่าอั๊วฝันว่านกมันมาเกาะบนหลังคา บอกว่าลื้อจะได้ลาภได้ร่ำรวย มันเลยบอกว่าเกาะสองตัว ก็ยิ่งรวยใหญ่ มันบอกว่า สามตัว พอบอกว่าสามตัวลื้อจะตาย ตัวเดียว ตัวเดียว พอบอกว่าจะตาย มันเลยบอกว่าตัวเดียว ตัวเดียว
อย่างนี้เรียกว่าเป็นคำปลอบใจละดี ไม่ใช่อะไร ปลอบให้สบายใจ ให้นึกไปในทางแง่ดีแง่งาม ไม่เกิดอะไรขึ้นมา ไอ้ความจริงเรื่องฝันนี่ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก จิตใจพลุ่งพล่านนอนไม่หลับ คนเวลาฝันนั้นไม่หลับสนิท ถ้าหลับสนิทละก็ไม่ฝัน ตื่นก็ไม่ฝันเหมือนกัน คนเราที่ฝันนั้นคือว่าในระยะครึ่งหลับครึ่งตื่น จิตไม่ได้มีการควบคุมอะไรมันก็คิดไปตามเรื่อง คนเรานึกเรื่องอะไรมากก็คิดเรื่องนั้น เช่นคนเล่นหวยเล่นเบอร์ ฝันไปเรื่องหวยเรื่องเบอร์นี้ ฝันได้ทุกวัน แทงลอตเตอรี่ก็ฝันเรื่องลอตเตอรี่ ก็คนคิดจะทำอะไรก็มักจะฝันเรื่องนั้น อย่าเอามาเป็นจริงจังให้ยุ่งเปล่า ๆ เลย นึกแต่เพียงว่าจิตมันทำงานในเวลานั้นโดยไม่มีการควบคุม พลุ่งพล่านไปตามเรื่องตามราว แต่ถ้าคนนอนหลับเป็นปกติ จิตใจสงบไม่มีฝันอะไร ปีหนึ่งอาจจะไม่ฝันเลยสักครั้งหนึ่งเลยก็ได้ เพราะไม่พลุ่งพล่าน จิตใจไม่ยุ่งก็ไม่มีการฝัน แต่ถ้ายุ่งละก็ฝันไป อันนี้เป็นเรื่องทางใจ จิตใจของคนเรานั้นยังมีความสะดุ้งหวาดเสียวเรื่องนั้นเรื่องนี้ กลัวไปด้วยประการต่าง ๆ แล้วสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็นในชีวิตประจำวันนั้น บางอย่างมันก็ไม่รู้ว่ามาอย่างไรเป็นอย่างไร เกิดขึ้นโดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นฟ้าแลบเปรี้ยงอย่างนี้ คนก็ตกใจร้องออกมาตามประสาคนที่ตกใจ ถ้านับถือพุทธศาสนาก็เปล่งวาจา พุทโธ พุทโธ ตกใจก็ร้องว่าพุทโธ พุทโธ ฝรั่งก็นับถือพระเป็นเจ้าเขาก็พูดถึงพระผู้เป็นเจ้า พวกอิสลามก็ร้องว่าอัลล่าห์ อัลเลาะห์อะไรไปตามเรื่อง
ความกลัวเกิดขึ้นในใจเพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ธรรมชาตินี่มันมีอะไรแปลก ๆ เช่น ฟ้าร้องฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาไฟลุกเป็นเปลว คนก็ไม่รู้ว่า แหม มันพลิกแพลง สายฟ้าฟาดอะไรออกมา ทีหลังก็แต่งเป็นนิยายว่ารามสูรถือขวาน นางเมขลาแกถือแก้ว นางเมขลากับรามสูรนี่เรียกว่าเอาแก้วไปล่อกันบ่อย ๆ พอนางเมขลาล่อแก้ว รามสูรก็ขว้างเปรี้ยงลงไปให้ เกิดเสียงเปรี้ยงปร้างกระทบกระเทือนกันเป็นการใหญ่ ก็แต่งเป็นนิยายไป ให้คนฟังแล้วก็สนุกไปตามเรื่อง คนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร หรือว่าเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เกิดน้ำท่วมใหญ่ เกิดมีพายุรุนแรง เหมือนพายุแหลมตะลุมพุกอะไรอย่างนั้น ทำให้คนเสียหาย ก็ไม่รู้ว่าอะไรมาจากอะไร ก็กลัวกันไปอย่างนั้น หรือว่าไปเห็นอะไรแปลก ๆ ก็กลัว เช่นภูเขาใหญ่ ๆ ก้อนหินดำทะมึนสูงเสียดฟ้า เราเห็นแล้วรู้สึกว่า แหม น่ากลัว หรือไปเห็นแม่น้ำใหญ่ก็น่ากลัว ก้อนหินโต ๆ กรวดโต ๆ ต้นไม้ใหญ่ ๆ ก็น่ากลัวทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าคนเข้าไปไหว้ต้นไม้ ไปไหว้ภูเขา ไหว้จอมปลวก ไหว้แม่น้ำ หรือไหว้อะไร ๆ ที่มันแปลก ๆ โดยไม่รู้ว่าคืออะไร ทำไมจึงได้เข้าไปไหว้ แสวงหาที่พึ่งให้ตนได้อุ่นอกอุ่นใจ ไปไหว้ ๆ ไว้ ตกอกตกใจก็เอ่ยถึง พ่อนั่น ทวดนี่ สิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่คนเขานิยมกราบไหว้กัน คนบางคนตกใจมาก เช่นสมัยเรือบินมาทิ้งระเบิดสงครามญี่ปุ่น บางคนก็ตกใจมากแล้วก็เที่ยวพูดไว้ให้ปลอดภัย แล้วก็ปลอดภัยมาไม่ตาย พอเสร็จสงครามนี่เที่ยวแก้บนกันไม่รู้กี่หนกี่แห่ง บอกว่าทำไมต้องเที่ยวแก้มากมาย ก็ว่าไปทุกแห่งแหละ ต้นไม้ที่นั่น เจ้าพ่อที่นี่ เลยแก้บนเสียเงินไปตั้งเยอะแยะ เที่ยววิ่งแก้ไปที่นั่นแก้ที่นี่ นี่ก็เรื่องอาศัยว่าความกลัวเกิดขึ้นในใจ ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร คิดแสวงหาที่พึ่งไปตามเรื่องตามฐานะ
เราจะเห็นเด็กตัวน้อย ๆ ถ้ามีตกใจต้องโผเข้าอกแม่ ให้แม่ได้อุ้มได้กอดมันก็สบายใจ ลูกไก่พอแม่ร้องบอกว่าเหยี่ยวมา มันมีสัญญาณภัยของมัน พอร้องปั๊บมันก็วิ่งเป็นแถวเลย เข้าไปในอุ้งปีกของแม่ แม่ก็ปกปีกไว้ ป้องไว้ เหยี่ยวก็ไม่สามารถจะเฉี่ยวไปได้ ลูกสัตว์ไม่ว่าสัตว์อะไร พอตกใจก็วิ่งเข้ามาหาแม่ทั้งนั้น ก็แม่เป็นที่พึ่ง พ่อมันไม่มีสัตว์นี่ มันมีแต่มันหายหน้าไปเสียนานแล้ว เลยเอาแม่เป็นที่พึ่ง คนเราก็อาศัยพ่อแม่ อาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่พึ่งของคนนี้มันค่อยกว้างออกไปตามสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงเห็นว่าคน ๆ หนึ่งนี่พึ่งอะไรหลายอย่าง พึ่งเสาหลักเมืองก็มี พึ่งเจ้าพ่อเขาตกก็มี เจ้าแม่นั้น เจ้าโน้น เจ้านี้ มากมายก่ายกอง พึ่งพระพรหม พึ่งพระอินทร์ พึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เขานิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบรมโบราณ แล้วเราก็ไปเกาะจับเอาสิ่งนั้นเป็นที่พึ่ง ถ้าดูที่พึ่งทางใจของคนแล้ว บางทีมันมากเหลือเกิน จนกระทั่งพร่าไปหมด ไม่มีกำลังอะไรพอให้อุ่นอกอุ่นใจได้อย่างแท้จริง เลยวิ่งไปตรงนั้นวิ่งไปตรงนี้ มากมายก่ายกอง อันนี้มันวิ่งเพราะอะไร เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง จึงได้เกิดปัญหา
พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลายท่านออกบวชได้ตรัสรู้ธรรมะ เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง พระองค์จึงได้กล่าวว่า คนเป็นอันมากเมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือเอาวัตถุต่าง ๆ เป็นที่พึ่ง เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน ดิน จอมปลวก หรือว่าอะไรต่าง ๆ เทพเจ้าในสวรรค์ชั้นฟ้า เป็นที่พึ่งที่อาศัย นั่นไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันสูงสุดของจิตใจ ผู้ที่เข้าไปพึ่งสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถจะช่วยตนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ ไม่ช่วยตนให้พ้นทุกข์ได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เราลองมาคิดสักเล็กน้อยว่า ทำไม่พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าไม่ช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์ได้ มันช่วยได้เพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง หรือชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยแบบถอนรากถอนโคนเอาสิ่งที่เรากลัวนั้นให้หมดไป เพราะว่ามันเกิดขึ้นก็ร้องขึ้นกันไปทีหนึ่ง บนบานสานกล่าวกันไปทีหนึ่ง เสร็จแล้วก็เบาใจไป โล่งใจไปหน่อยหนึ่ง แต่มันก็ไม่หมด วันหลังมันกลัวอีกแล้ว กลัวเรื่องนั้น กลัวเรื่องนี้ เรื่องโน้น ที่เกิดขึ้นในใจอีกมากมายหลายเรื่องหลายประการ จึงกล่าวว่าไม่ใช่เครื่องแก้ทุกข์อย่างแท้จริง เขาเรียกว่าเป็นเครื่องปลดทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้แก้ แต่ว่ากลบไว้ กลบเกลื่อนไว้ ถือว่าเปลี่ยนอารมณ์ไปชั่วครั้งชั่วคราว คล้าย ๆ กับคนกลัวผี ตอนนี้เขาให้ท่องคาถาอันใดอันหนึ่ง สมมติว่าให้ท่องอรหัง สัมพุทโธ อะไรอย่างนี้ เวลาเดินไปก็ท่องเรื่อยไป พอเข้าเขตป่าช้าก็ยิ่งท่องใหญ่เลย บางทีท่องดัง ๆ เสียด้วย กลัวผีมันจะมารังแก พอผ่านพ้นนั้นแล้วก็ไม่ท่องต่อไป เพราะพ้นระยะอันตรายแล้ว แต่ว่าวันหลังพอผ่านตรงนั้นมันก็กลัวอีก ต้องท่องอย่างนั้นเรื่อยไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เพราะว่าฐานมันไม่ได้ถูกรื้อถอน เป็นแต่เพียงกลบเกลื่อนไว้ เอาอารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์ไปได้ชั่วขณะ เช่นเรากลัวผี นี่เราไปท่องคาถานี่ใจเราไม่ได้นึกถึงผี เราไปนึกถึงพระบ้าง นึกถึงอะไรบ้าง หรือว่าเอาวัตถุที่เราห้อยคอไว้ เช่นมีพระเครื่องห้อยคอ เราก็ปลอบใจตัวเองว่า นี่หลวงพ่อดีอยู่นี่แล้วจะไปกลัวอะไร เรามือกำหลวงพ่อไว้ เอาเป็นที่พึ่งทางใจ ความกลัวมันไม่เกิดในขณะนั้น มันพักไปชั่วครู่หนึ่ง ชั่วขณะหนึ่ง เราเดินไปที่อื่น แต่วันหลังเดินผ่านตรงนั้นมันก็กลัวอีก พบอะไรก็ยังกลัวอยู่ ยังสะดุ้งหวาดเสียวอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าปุถุชนที่ยังไม่ถอนรากเหง้าของอวิชชาออกจากจิตใจนั้น ย่อมมีอาการขนพองสยองเกล้าอยู่ตลอดเวลา อยู่ในป่าก็กลัว อยู่ในทุ่งก็กลัว อยู่ในบ้านก็กลัว ไปที่ไหน ๆ ก็มีความกลัวติดตัวไปเสมอ ความกลัวมันคล้ายกับเปลือกหอย ไอ้เรานี่มันเหมือนกับตัวหอย ว่าอย่างนั้นเถอะ ตัวหอยมันไปไหนมันก็เอาเปลือกไปด้วย ถ้าไม่เอาเปลือกไปมันก็ไปไม่ได้ เพราฉะนั้นมันต้องแบกเปลือกเคลื่อนไปด้วยทุกที่ คนเราที่ในใจมีความกลัวก็อย่างนั้น แบกความกลัวไปด้วย เดินไปที่ไหนพอรู้ว่ามีอะไรก็กลัว เช่นคนกลัวผีนี่ กลัวทุกอย่าง กลัวผี เห็นโลงผีก็กลัวแล้ว โลงเขาไม่ได้ใส่ศพก็กลัว เห็นกระดาษที่เขาติดไว้ข้างโลงก็กลัว เห็นเครื่องอะไรที่เขาประดับตกแต่งในงานศพก็กลัว ใจมันนึกไป นึกไปแล้วก็กลัว คนบางคนกลัวมาก ร้านขายหีบศพนี่ไม่กล้าเข้าใกล้ ไม่กล้าเดินเข้าไปถือว่าที่นั่นมันเรื่องเกี่ยวกับศพ ก็ไม่อยากเข้าใกล้ แต่คนขายหีบเขาไม่กลัว เขานอนอยู่ข้างหีบนั่นแหละ เดี๋ยวใครตายก็มาซื้อหีบ เขาไม่กลัวเพราะเขาได้สตางค์ บางทีเขามาจุดธูปเทียนบูชาด้วยซ้ำไป บอกให้คนตายมาก ๆ จะได้ขายคล่อง ๆ หน่อย ก็จะออกไปในรูปอย่างนั้น เขาบูชาพระยม พระยมคือเทพเจ้าแห่งความตาย จุดธูปเทียนบูชายมทูตบอกว่าช่วยหน่อยเถอะ หมู่นี้ขายไม่ค่อยออกแล้ว ถ้าขายได้จะเอานั่นเอานี่บูชา ว่ากันไปตามเรื่อง นี่คือพื้นฐานมันมาจากความกลัวทั้งนั้น ไม่ใช่อะไร ความกลัวของมนุษย์ที่ยังโง่ ก็พึ่งสิ่งโง่ ๆ แก้ไขไปแบบโง่ ๆ ตามเรื่องตามราว แต่ถ้าหากว่าความกลัวนั้นมันลึกซึ้งลงไปกว่านั้น กลัวที่ของที่มันลึกซึ้ง
พระพุทธเจ้าของเรานี่ ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าท่านก็กลัวเหมือนกัน แต่ไม่ได้กลัวแบบคนเขลาทั้งหลาย ท่านกลัวสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น สิ่งนั้นสิ่งที่ท่านกลัวนั้นคืออะไร ท่านกลัวความเกิด กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย หรือพูดสั้น ๆ ว่าท่านกลัวความทุกข์ กลัวความทุกข์ กลัวแล้วก็ไม่ใช่นอนเอามือปิดหูปิดตาคลุมโปง ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นมันไม่ได้อะไร ท่านกลัวแล้วท่านค้นหาสาเหตุ ว่าความกลัวนั้นมันเกิดจากอะไร เรากลัวอะไร อะไรเป็นเหตุให้เกิดความกลัว ความกลัวนี่แก้ได้หรือไม่ เราก็คิดค้นว่าเป็นเรื่องต้องแก้ได้ เมื่อแก้ได้เราจะแก้อย่างไร เรื่องนี้มันลึกซึ้ง จะต้องศึกษากันอีกนาน เราจะศึกษาค้นคว้านั่งคิดนั่งค้นอยู่ในวังไม่สะดวก เพราะว่ามีเรื่องรบกวน คนนั้นมา คนนี้มา งานเยอะ ก็ดูเหมือนในหลวงของเราแหละ ท่านก็ไม่ได้พักได้ผ่อน เขาเชิญไปยกช่อฟ้าบ้าง ไปตัดลูกนิมิตบ้าง ไปเจิมเทียนบาง ไปทำอะไรต่ออะไร ไม่ค่อยได้พักผ่อน ในหลวงต้องเสด็จไปเรื่อยไป เดี๋ยวนี้ก็ได้เจ้าฟ้าชายบ้าง เจ้าฟ้าหญิงบ้าง พอได้ผ่อนแรงบ้าง ทรงได้พักบ้าง ตรงนี้ให้เจ้าฟ้าชายไป ตรงนี้ให้สมเด็จพระเทพฯ ไป ได้เปลี่ยนกันไป ไม่อย่างนั้นก็ถูกเชิญเสียเรื่อย ให้ไปที่นั่นที่นี่
สมภารเจ้าวัดนี่ก็เหมือนกัน ถ้าว่ามีชื่อมีเสียงขึ้นสักหน่อย ขนาดท่านปัญญานันทะนี่ก็แย่แล้ว ไม่ได้หยุดได้หย่อนเลย ไม่ค่อยจะได้พักได้ผ่อนจริง ๆ ที่จะได้พักมันน้อย เพราะว่าเดี๋ยวคนนั้นมาคนนี้มา บางที อ้าว นั่งคุยกับคนนี้เสร็จขึ้นห้อง พอจะเอนหลังหน่อย อ้าว มาอีกแล้ว ก็ต้องทำหน้าเจี๋ยม ๆ ลงมาคุยกันต่อไป คุยกันไปตามเรื่อง ถ้าจะมาถึงบอก แหม ฉันเบื่อหน้าโยมเต็มทีแล้วนะ มันพูดได้เมื่อไร ทำอย่างนั้น ทำไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ แสดงกริยาอาการก็ไม่ได้ ต้องลงไป ไปแล้วก็ปฏิบัติไปตามเรื่อง พูดจาปราศรัยกันไป ถามเรื่องถามราวธุระอะไร โยมบางคนอาจจะนึกว่าอาตมานี่พูดจาขาด ๆ สักหน่อย ไม่ค่อยอ่อนหวานเท่าไร คืออ่อนหวานอยู่ไม่ได้ งานมันมาก ใครมาก็ต้อง อ้าว ธุระอะไรโยม ว่ากันไป ธุระก็ว่าธุระ ธุระเสร็จแล้ว อ้าว ได้ไม่ได้ก็ว่ากันไปตามเรื่อง พอเสร็จแล้วก็ อ้าว หมดเรื่อง โยมก็ดีเหมือนกัน มาถึงเสร็จธุระก็ไป ไม่นั่งคุยเซ้าซี้หรอก ไม่นั่งคุยอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าที่วัดนี่ไม่ได้เลี้ยงน้ำชา โยมมานี่ไม่เลี้ยงน้ำชา ขืนเลี้ยงน้ำโยมก็นั่งคุยใหญ่ คอชุ่มแล้วก็คุยใหญ่เลย พระก็ไม่ได้พักได้ผ่อน เลยว่าไม่ต้องเลี้ยงหรอกน้ำร้อนน้ำชา เลี้ยงอย่างอื่นจะดีกว่า เลี้ยงธรรมะกัน ประเดี๋ยวโยมก็ไปไม่เท่าได ยิ่งในบางวัดนะ แขกมานี่ท่านเอาน้ำชามาเลี้ยงแล้วก็นั่งคุย ไม่ได้ลุกขึ้นเลย ท้องผูกเป็นโรคอะไรกันไปเยอะแยะตาม ๆ กัน มันถ่ายไม่ออกนะนั่งนานๆ น่ะ ถ้ากินแต่น้ำชานี่มันท้องผูก บอกว่าอย่างนี้ก็แย่นะ ท่านต้องรู้จักให้แขกกลับไว ๆ เสียบ้างสิ บอกว่าไม่ได้เกรงใจเขา
พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ดี ท่านบอกว่า พูดด้วยวาจาที่ส่งเขากลับไป ท่านให้พูดด้วยวาจาที่ส่งเขากลับไป คือแขกมาหาพระนี่ ท่านบอกว่าให้พูดด้วยวาจาที่ส่งเขากลับไป วาจาที่ส่งเขากลับไปนั้นคืออะไร พูดแต่น้อย ๆ เอาแต่เรื่องจำเป็น พอหมดเรื่องจำเป็นแล้วก็โยมจะนั่งอยู่ทำไม หมดธุระแล้วแกก็ไปเสียก็ดี แล้วเราอย่าไปต่อ พอโยมยกมือไหว้แล้วก็ โอ้ เรื่องนั้นเป็นยังไง พอโยมยืนก็ โอ้ แล้วเรื่องนั้นเป็นยังไง ไม่ได้ไป โยมไม่ได้ไป ต้องมานั่งต่ออีก อย่างนี้ก็แย่สิ นั่นไม่ไหว นั่นเรียกว่าพูดไม่ให้เขาไป พูดให้เขานั่งต่อ เรื่องมันก็ยาว เพราะฉะนั้นก็ต้องต้อนรับไปตามเรื่อง ไม่ได้พักถ้าทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องพักบ้างตามสมควร หรือว่ามีงานอื่นที่จะต้องทำ จะต้องทำงานอื่นบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
ผู้หลักผู้ใหญ่คนมีงานมาก ๆ ก็อย่างนั้นแหละ สมมติว่าเราจะไปพบนายกรัฐมนตรีนี่ คุยนานได้เมื่อไร งานท่านเยอะ งานทั้งประเทศ ไปคุยกับอธิบดีนี่ก็งานเขามาก เพราะฉะนั้นเอาแต่เรื่องที่เป็นสาระ ตกลงกันมีอะไรก็ไว ๆ แต่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาเก่ง คือเขามักจะรับไว้ ไม่เป็นไรเรื่องนี้จะจัดการให้ ถ้าเราไปแล้วไม่ได้มี ไม่ได้จัดให้มันดี นั่นก็เรียกว่าเป็นศิลปะอันหนึ่ง ศิลปะผู้ใหญ่ที่จะให้เราออกไปจากห้องทำงานไว ๆ เลยบอกไม่เป็นไรเรื่องนี้จะจัดการให้เรียบร้อย แล้วเราไปนั่งคอยนะ คอยไปเถอะ เรียบร้อยแล้ว ว่าอย่างนั้น อย่าไปโกรธอย่าไปโทษท่าน บอกว่ารับแล้วจะทำไม่เห็นทำ มันเป็นศิลปะเท่านั้นเอง นี่เขาเรียกว่าศิลปะของการไล่แขกออกจากบ้านเท่านั้น เราอย่าไปเอาจริงเอาจังเลยที่เขาว่าไม่เป็นไรเรื่องนี้จะจัดให้ไว ๆ น่ะ คือหมายความว่ายังไม่ จะไม่จัดให้ก็ได้ หรืออาจจะจัดให้ก็ได้ มันสุดแล้วแต่เหตุการณ์ เราอย่าไปไว้ใจว่าจะได้ ให้รู้เรื่องศิลปะของผู้ใหญ่ว่าเขาพูดในรูปอย่างนั้น เป็นอุบายอันหนึ่งที่จะให้แขกออกไป เราก็จะได้ทำงานอื่นต่อไป ใคร ๆ มาก็อย่างนั้นแหละ พอมาต้อนรับเราก็ โอ้ เป็นไง อย่างนี้เป็นตัวอย่าง อย่างนี้ก็ว่าวิธีการ
พระพุทธเจ้าของเราเป็นเจ้าชาย ท่านอยู่ในวัง จะไปคิดปัญหาว่าความทุกข์คืออะไร มันมาอย่างไรมันไปอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร มันไม่ได้ ไม่สงบ เรียกว่าไม่มีกายสงบ วาจาไม่สงบ ใจก็ไม่สงบ คนที่จะทำอะไรใหญ่โตสำคัญนั้น หนึ่งต้องได้กายวิเวกคือความสงบทางกาย ได้จิตตวิเวกคือความสงบทางจิต ได้อุปธิวิเวกคือไม่มีสิ่งรบกวนใจภายใน กิเลสไม่รบกวนใจ จึงต้องคิดว่าอยู่ที่ไหนจึงได้กายวิเวก กายวิเวกนี่ต้องไปอยู่ที่สงบ ไม่มีใครรบกวน ไม่มีเสียง ไม่มีรูป ไม่มีกลิ่น ไม่มีอะไรที่จะมารบกวนทางกายให้วุ่นวาย จิตก็จะไม่วุ่นวาย เรียกว่าได้กายวิเวก แล้วสมมติว่าไปได้กายวิเวก จิตมันเริ่มสงบเอง ก็ไม่มีอะไร เช่นเราไปอยู่ในป่า ป่านี่มีแต่ต้นไม้ มีสัตว์ มีนก ญาติโยมลองสังเกตดูว่าจิตมันเป็นยังไง มันสงบกว่าอยู่ที่บ้าน โยมมาวัดชลประทาน สมมติว่าไปนั่งอยู่ตามใต้ต้นไม้ร่มรื่นแล้วเราจะรู้สึกว่าจิตมันเปลี่ยนไป ไม่เหมือนนั่งอยู่ที่บ้าน นั่นคือจิตมันสงบ ไม่มีอารมณ์ยั่วจิตมันถึงสงบ ถ้ามีอารมณ์มายั่วมันก็ไม่สงบ มันเพลินไปกับรูปที่ผ่านตา เพลินกับเสียงที่ผ่านหู เพลินไปกับกลิ่นที่เข้ามาทางจมูก เพลินไปกับรสที่มาทางลิ้น แล้วก็สัมผัสถูกต้องทางกาย มันยั่วให้เกิดอะไร ๆ มีความอยากได้อยากมี อันโน้นอันนี้ตลอดเวลา จิตไม่สงบ แต่ถ้าเราไปอยู่ในที่เงียบ (30.46 - 31.41 และ 29.50 - 30.46 ซ้ำ) อยู่ตามถ้ำตามภูเขามันก็เงียบสงบดี
เคยไปที่เรียกว่าถ้ำโพธิสัตว์ ที่ทับกวาง ที่นั่งเขามีถ้ำโพธิสัตว์ก็ขึ้นไป ต้องเดินขึ้น สูง คนแก่ ๆ ขึ้นไม่ไหว อาตมาไปขึ้นที่ไรก็ปวดเข่าปวดแข้ง แต่ว่าพอเข้าไปถึงในถ้ำแล้วมันเงียบหู เย็นจริง ๆ ในถ้ำนั้นไม่มีเสียงอะไร แล้วมันมืด เราถือเทียนไป ดับเทียนเสีย แล้วก็ลองยืนในที่มืดนั่น รู้สึกเหมือนว่าโลกนี้มันมีแต่เราคนเดียว ได้ยินเสียงหัวใจเต้นก็จะได้ยิน มันเงียบสงบ สมมติว่าเราไปนั่งอยู่ในที่สงบอย่างนั้นสักวันหนึ่ง คงจะมีอะไรเกิดขึ้นในใจ ใจมันจะสงบ มันจะมีความสุขบางอย่างเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าความสงบใจ อาศัยสถานที่เป็นเครื่องช่วย แล้วเมื่อใจสงบกิเลศมันไม่เกิด โลภไม่เกิด โกรธไม่เกิด หลงไม่เกิด ริษยา พยาบาท อาฆาต จองเวร มันทิ้งไว้ที่เชิงเขาแล้ว เอาขึ้นไปไม่ไหว ทิ้งไว้ที่นั่น แล้วไปแต่ตัว นิ่งสบาย มีความสุข อยู่อย่างนั้นมีความสุข คนที่เขาทำงานมาก ๆ จึงต้องไปหาความสงบเป็นครั้งคราว
เขาเล่าว่าบัณฑิตเนห์รูแห่งประเทศอินเดียนี่ ถ้าว่าท่านทำงานมากแล้วก็บินไปโน่นน่ะ มิสซูรี (33.13) หรือว่าไม่ที่เมืองดาร์จีลิ่ง หรือว่าไปที่เมืองอะไร เมืองตากอากาศ ไปอยู่คนเดียวไม่ให้ใครยุ่ง ทหารจะเฝ้าก็เฝ้าอยู่ข้างนอก ในบ้านนั้นท่านไปนั่งคนเดียว ไปนั่งเข้าฌานแบบอินเดียโบราณ ไปสงบจิตสงบใจ คิดอะไร วางแผนสร้างบ้านสร้างเมืองต่อไป ถ้าลงมาจากภูเขาละก็เรียกว่าสดใสขึ้นมาหน่อย จิตใจสงบ สดใส มีงานการดีขึ้น นี่เขาต้องการความเงียบ ฮิตเลอร์ก็เหมือนกัน สมัยมีชีวิตอยู่ ถ้าว่ามีเรื่องมากแล้วขึ้นไปอยู่บนบ้านบนภูเขา ไปนั่งคนเดียวเงียบ ๆ แต่ว่าถ้าลงมาจากภูเขาแล้วบุกทุกทีไม่ได้แล้ว ถ้าลงมาจากภูเขาแล้วบุกรุกโปแลนด์ไม่ได้แล้ว บุกไปประเทศนั้นประเทศนี้แล้ว ไปนั่งวางแผน ใจไม่สงบ ไปนั่งวางแผนเพื่อจะรุกราน เพื่อจะสร้างปัญหาให้โลกวุ่นวายสับสน นั่นไม่ได้สงบ คือไม่มีอุปธิ สงบ อุปธิก็คือกิเลศที่มาเกาะจับจิตใจ มันไม่สงบ มันไปสร้างกิเลศ ในที่สงบอย่างนั้นเกิดกิเลศแล้วมันแรง มันรุนแรง เพราะฉะนั้นเขาจึงเตือนว่าอยู่กับคนนี่ระวังคน อยู่คนเดียวระวังใจ อยู่คนเดียวนี่ระวังใจเรา ข้าศึกข้างในมันมี แต่ถ้าอยู่กับคนนี่เราระวังคนนั้นคนนี้ แต่ถ้าอยู่คนเดียวระวังจิต มันจะทำให้เรายุ่ง เกิดพลุ่งพล่านกระโดดออกจากถ้ำไม่รู้ตัวเหมือนกัน นี่มันก็มีอยู่ เพราะว่ามันฟุ้งไปไม่รู้ตัว จึงต้องพยายามให้เกิดความสงบอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าท่านจึงหนีออกไป ทำไมเวลาออกจึงไม่บอกให้ใครรู้ บอกก็ยุ่งสิ สมมติบอกนางพิมพาว่าพรุ่งนี้ฉันจะไปป่านะ นางพิมพาก็ไม่ต้องหลับต้องนอน แกก็ต้องกอดแข้งกอดขาไว้ไม่ให้ไป บอกพระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ก็ต้องปิดประตูไม่ให้เคลื่อนไหว เอาทหารล้อมวังแล้วก็ไปไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหนีในเวลากลางคืน รู้แต่นายฉันนะคนเดียว เพราะนายฉันนะเป็นควานม้า เป็นผู้เลี้ยงม้าดูแลม้ากันฐกะซึ่งเป็นม้าตัวเก่ง พระองค์ก็ขึ้นหลังม้าไป หนีไปเพื่อหาความสงบ ไปอยู่ในป่าเพื่อไปคิดค้นปัญหาแก้ทุกข์ ก็เรียกว่าไปหาที่พึ่งนั่นเอง ที่พึ่งทางใจอันเป็นที่พึ่งที่ประเสริฐ ทรงค้นหาไปด้วยพระองค์เองก่อน ค้นไปศึกษาไปในสำนักครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนได้ความรู้พอสมควร แต่ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ ยังช่วยตนให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้
ความรู้ที่ได้ไปเรียนในสำนักใหญ่ เช่นสำนักอาฬารดาบสอุทกดาบสนี่เป็นความรู้เพียงขึ้นฌาน แล้วก็นั่งจิตสงบได้เหมือนกัน ถึงกระนั้นมันก็ชั่วคราว ถ้าจะเอาหญ้ามาทับหินไว้ ถ้ามันเยื้องไปนิดหน่อยก็ขาวไปไม่ถูกกับแสงแดด แต่พอเรายกหินนั่นขึ้น หญ้าได้รับแสงแดด มันก็เจริญงอกงามเขียวชอุ่มต่อไป จิตใจของคนที่เข้าฌานอะไรก็อย่างนั้น คือนั่งสงบอยู่ได้วันหนึ่ง สองวัน สามวัน คนเข้าฌานเก่ง ๆ ก็นั่งถึงเจ็ดวันไม่ลุกขึ้น สงบอยู่นั้นแหละ ไม่กิน ไม่ถ่าย อยู่เฉย ๆ ตลอดเวลา เขาเรียกว่าเข้าสมาบัติ อันนี้เป็นวิชาที่มีมาก่อนยุคพระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือเขาทำกันมาก่อนแล้ว พวกนักบวชฮินดู ฤษี ชีไพรอะไร เขาทำกันมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนอื่นเขาทำกันมาแล้ว
พระองค์ออกไปบวชใหม่ ๆ ก็เป็นธรรมดา เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในการค้นคว้าเรื่องนี้ ก็ต้องไปทดสอบเขาก่อน ว่าใครที่เขาทำมาก่อนนี่มันเป็นยังไง ได้ผลเป็นประการใด พระองค์ก็ไปค้นคว้า ทดสอบ ปฏิบัติ ปฏิบัติในสำนักไหนนี่เอาจริงจังเลย เก่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด เก่งกว่าอาจารย์ด้วยซ้ำไป อาจารย์ต้องยกย่องว่าท่านมีความรู้เสมอกับเราแล้ว เราไม่มีอะไรจะสอนท่านต่อไป ขอเชิญท่านอยู่กับเราสั่งสอนศิษย์ต่อไปเถิด หมดแล้ว เรียนจนหมดพุงอาจารย์แล้ว แต่ว่าวิชาที่ได้นั้น พระองค์รู้ว่ามันไม่ใช่ทางที่จะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุดอย่างแท้จริง จึงไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น ที่ไม่หยุดก็เพราะว่าพระองค์ตั้งพระทัย อธิษฐานใจไว้แล้วว่าเราจะไปแสวงหาเครื่องมือสำหรับดับทุกข์ดับร้อนให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น ใจของตนรู้อยู่ว่ามันยังไม่พ้นเพราะยังมีอะไรรบกวน ยังมีกิเลสรบกวนอยู่ก็แสดงว่ายังไม่พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นต้องค้นคว้าต่อไป ศึกษาต่อไป
พระองค์ก็เดินทางออกจากสำนักเหล่านั้น ไปหาค้นคว้าด้วยตัวเอง ไปทำเอาด้วยตัวเอง ไปนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ นั่งคิดนั่งค้น นั่งทำไปตามเรื่อง จนกระทั่งว่าได้พบความจริง ได้ตรัสรู้หมายความว่าได้พบความจริง ได้บรรลุธรรมก็เหมือนกัน หมายความว่าได้ค้นพบความจริงสิ่งนั้น สิ่งที่พระองค์พบแล้วนั้นทำให้เบาไป ว่างไป พ้นจากความทุกข์ พ้นภาระลงได้ ไม่เหมือนคนแบกของต่อไป ไม่เหมือนกับคนที่กำลังยึดถือติดพันอยู่ในสิ่งอะไร ๆ ต่อไป ใจพระองค์ว่างจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เราเรียกกันว่าเป็นสัมมาสัมพุทโธ ซึ่งแปลว่าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง หรือเรียกสั้น ๆ ว่าพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้มีความเบิกบาน เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ที่พึ่งอันสูงสุดแล้ว พ้นจากความทุกข์ความเดือนร้อนอย่างเด็ดขาด
อันนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ชาวโลกทั้งหลายนั้นต้องการแสวงหาที่พึ่ง ต้องการทำตนให้พ้นจากความทุกข์ความเดือนร้อน แม้คนที่ทำอะไรผิดศีลธรรมก็มีความมุ่งหมายจะพ้นทุกข์นั่นแหละ แต่มันพ้นไม่ได้ เพราะไปทำผิด นอกแบบนอกแผน ยกตัวอย่างเช่นว่า คนดื่มเหล้า เขาดื่มเพื่อให้พ้นทุกข์ กลุ้มใจ กลุ้มใจไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่เข้าใกล้พระ ไม่มาวัด ไม่ฟังธรรม กลุ้มใจก็นั่งดวดเรื่อยไป กินเรื่อยไปจนกระทั่งหลับคาโต๊ะไปเลย เขาบอกว่าแก้ทุกข์ได้ ว่าอย่างนั้น มันจบทุกข์ได้ มันแก้ทุกข์ได้ พอหายเมาเพิ่มทุกข์เข้ามาอีก อีกก้อนใหญ่เลย เรื่องอะไรต่ออะไรก็เยอะแยะ ก็ทุกข์เพิ่มเข้ามาอีก นั่นก็คือเรื่องต้องการแก้ทุกข์นั่นแหละ แล้วไปเอาเหล้าเป็นที่พึ่ง คนที่ไปเล่นไพ่อยู่ทุกวัน ๆ นั่นมันเรื่องอะไร ก็เรื่องมันหาความสบายใจ อยู่คนเดียวมันเปลี่ยวใจ ไปหาเพื่อนรำพัดกันดีกว่า แล้วก็ไปนั่งล้อมวงแจกกันอยู่นั่นแหละ สบายใจ เรื่องหาความสบายใจ แต่ว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง หรือว่าคนชอบเที่ยวกลางค่ำกลางคืน พอค่ำแล้วก็ไปเที่ยวที่นั่นเที่ยวที่นี่ ไปเดินดูนั่นเดินดูนี่ไปตามเรื่อง พอเดินเหนื่อยก็แวะเข้าร้านกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าเสียชามหนึ่ง หรือกินอาหารแล้วก็เดินต่อไป เดินจนกระทั่งว่าเขาจะปิดร้าน พอปิดร้านก็กลับบ้าน มันเดินอยู่ได้ทุกคืน ๆ เพราะมันสบายใจ
เขาสบายใจเรื่องนั้น ความสบายใจในทางที่เราทำ การทำตามใจตัวเองเช่นการไปดื่มไปเที่ยวไปเล่นการพนัน ไปสนุกสนานตามบาร์ตามไนต์คลับต่าง ๆ นั่นมันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่เป็นการเพิ่มภาระคือความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนมากขึ้น และไม่ทุกข์คนเดียว คนในครอบครัวก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย เช่นว่าผู้ชายไปเที่ยว แม่บ้านก็เป็นทุกข์ ลูกและคนใช้ก็พลอยเป็นทุกข์เพราะต้องคอยเปิดประตูรับเจ้าประคุณที่กลับบ้านดึก ๆ ผิดปกติ มันก็กลุ้มใจ มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ สร้างปัญหาให้แก่คนนั้นคนนี้ แต่เขาคิดไม่ได้ เขานึกว่านี่แหละเป็นที่พึ่งของเขา เป็นความดับทุกข์ของเขา คือความดับทุกข์ชั้นเขลา ๆ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องดับ
ทีนี้ตามหลักพระพุทธศาสนาของเรานั้น พระพุทธเจ้าท่านกลัวทุกข์อย่างลึกซึ้ง ทุกข์ที่เกิดจากความเกิด ความแก่ จากความเจ็บ จากความตาย จากความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ที่เรียกว่าทุกข์ด้วยประการต่าง ๆ รวมความว่าความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในความเป็นเราเป็นเขานั่นแหละ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ทีนี้จะทำยังไงจึงจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นได้ ปัญหานี้แหละทำให้พระองค์ต้องออกบวชเพื่อไปนั่งศึกษาค้นคว้าหลักเหล่านี้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ แล้วจะได้นำมาแก้ทุกข์ต่อไป นี่คือการหาที่พึ่งนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ได้พ้นทุกข์แล้ว ทรงบอกกับชาวโลกว่า ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง รู้แจ้งในเรื่องอริยสัจสี่ คือรู้ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์ได้เป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะถึงความดับทุกข์ได้ ผู้นั้นจะถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง
อันนี้สำคัญที่ญาติโยมควรจะเข้าใจสักเล็กน้อย คือเพียงแต่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นที่พึ่งได้ แต่ว่าเป็นที่พึ่งอย่างอ่อน ๆ ไม่ใช่เป็นที่พึ่งอย่างแก่ หรือไม่ใช่เป็นที่พึ่งอย่างสูงสุด เพียงแต่ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอย่างอ่อนทั้งนั้น ยังเป็นที่พึ่งที่ไม่แก้ปัญหาอย่างถาวร เป็นที่พึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นว่าคนมีความทุกข์ ก็ไปไหว้พระ ไปไหว้พระตามโบสถ์ตามวิหาร แต่ไม่ได้ไหว้ตามแบบที่พระพุทธเจ้าให้ทำ ไปไหว้แบบอะไร แบบคนธรรมดาทั่วไป ไหว้แบบวิงวอน ขอร้อง บนบานศาลกล่าวให้ช่วยลูกช้างสักทีเถอะ แล้วก็มาบ้านรอคอยผลของการช่วยเหลือต่อไป แต่ว่าไม่ได้นอนรอเฉย ๆ หรอก ทำนั่นทำนี่เรื่อยไป ต่อมาก็ได้ผลจากการกระทำแล้วก็ยกผลประโยชน์ให้หลวงพ่อไปหมด ตัวเองทำนี่ไม่เอาเลยนะ ยกประโยชน์ให้ หลวงพ่อช่วย เลยต้องไปแก้บนหลวงพ่อต่อไป
อันนี้เขาเรียกว่าเป็นสรณะแบบเด็ก ไม่ใช่สรณะแบบผู้ใหญ่ การเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แบบนั้น เราเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นบุคคลหรือเป็นภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นภาษาธรรมะ เราเข้าแบบชาวบ้าน ภาษาชาวบ้าน หรือภาษาคนทั่วไป ไม่ได้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แบบภาษาธรรมะ ถ้าเราเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นภาษาคน เราก็ยังเป็นคนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราเข้าถึงแบบภาษาธรรมะ เราจะกลายเป็นอื่นไป คือเรา ธรรมะจะเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้จิตใจเราเปลี่ยนสภาพจากที่เราเคยเป็นเคยอยู่ มีความสงบในภายใน มีปัญญามองเห็นอะไรต่าง ๆ ชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่หลงใหลมัวเมาในสิ่งเหล่านั้นต่อไป นั่นเป็นการเข้าถึงที่ถูกต้องขึ้น การเข้าถึงที่ถูกต้องต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ในภาษาธรรมะ เราต้องรู้ว่าพระพุทธนั้นหมายถึงอะไร พุทธะหมายถึงความบริสุทธิ์ หมายถึงความบริสุทธิ์ หรือว่าหมายถึงความรู้ ความตื่น ความไม่หลงไม่งมงายในเรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ถ้าพูดเป็นคนก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าพูดเป็นธรรมก็หมายถึงว่าความรู้ ความตื่น ความเบิกบานในจิตใจ เราจะต้องเข้าถึงแบบภาษาธรรมะ ให้เรามีความรู้ มีความตื่น มีความเบิกบานแจ่มใส
เรามีความรู้นั้นหมายความว่าเราหายจากความไม่รู้ ความไม่รู้มันไม่มีอยู่ในจิตใจของเราไม่ว่าในแง่ใด ๆ อะไรมากระทบเราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่รับอย่างคนไม่รู้ แต่ถ้าเรารับอย่างเรารู้ รู้ว่าอะไรรู้อะไร พูดภาษาง่าย ๆ ว่ารับลูกเป็น พาลูกเข้าประตูง่าย ๆ ถ้ารับไม่เป็นเพื่อนมาแย่งเอาไปเสีย เราก็ไม่ได้อะไร ฉะนั้นเราต้องเป็นคนมีความรู้ แล้วก็มีความตื่นอยู่ในจิตใจ มีความเบิกบานอยู่ในจิตใจ มีความรู้ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นรู้ว่าอันนี้คืออะไร สิ่งนี้มันคืออะไร ไม่ใช่รู้โดยสมมติว่าเป็นนั้นเป็นนี้ เช่นรู้ว่าเป็นคน เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นท่านขุน คุณหลวง นี่รู้อย่างสมมติ เราไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันก็ยุ่งนี่แหละ เราจะรู้ว่าสิ่งนี้เป็นเพียงสาระอะไร สักแต่ว่าปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่น่ารัก ไม่มีอะไรที่น่าจะเอามาเป็นของตัว ไม่มีอะไรที่จะน่าเพลิดเพลินเจริญใจในสิ่งเหล่านั้น เรานึกไปในรูปเหล่านั้น รู้ไปในรูปเหล่านั้น ในสิ่งนั้น ๆ รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น กายได้ถูกต้องอะไร ใจเรามันทันท่วงที มันรู้ว่าไม่มีอะไร มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีอะไรที่น่าจะรัก ไม่มีอะไรที่น่าเกลียด ไม่มีอะไรที่น่าจะเอามาเป็นของเรา แล้วเราก็จะไปรักทำไม เกลียดทำไม โกรธทำไม คนเราที่เกลียดโกรธรักขึ้นมาในสิ่งนั้นๆ เพราะว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร
เราไปติดในสิ่งที่รูปสมมติ คนนั้นคนนี้ แล้วเราก็เอาตัวเราเข้าไปรับ เรามีตัวด้วย มีตัวออกรับ รับว่ามันด่าฉัน มันทำฉันอย่างนั้นอย่างนี้ มันน่าเกลียด มันน่าเกลียด น่าเคืองนัก ไม่ได้ มันลบเหลี่ยมกัน เรามันต้องแก้แค้น ไปกันใหญ่เลยทีนี้ ไปกันใหญ่ ห่างพระใหญ่โตแล้ว หน้ามืดเข้าทุกทีแล้ว ไปห่างไปตั้งโยชน์แล้ว มีปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือนร้อน เป็นอย่างนี้ก็ทุกข์ไปหมดเพราะเราไปติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ถ้าเป็นผู้รู้ก็รู้ว่า เออ ไม่เห็นมีอะไร มันเป็นแต่เรื่องอะไรอย่างหนึ่ง สะสมกันเข้า ไหลไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง แล้วมันก็ดับไปทั้งนั้นแหละ ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไอ้ตั้งอยู่นี่มันเล็กนิดเดียว มันสั้นเหลือเกิน คล้ายกับเอาเมล็ดงา เป็นเมล็ดนะ เอาไปวางบนปลาย ปลายเข็ม จะตั้งอยู่ได้สักเท่าไร เพียงแต่ปล่อยมือมันก็หล่นไปเท่านั้นเอง มันชั่วขณะเดียว ขณะตั้งอยู่มันน้อยมันสั้นเหลือเกิน แล้วมันก็ผ่านพ้นไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในชีวิตของคนเราทุกคนมันก็สามขณะนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วเราจะไปจับเอาตอนไหนว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา จะไปเอาตอนไหนว่าน่ารัก น่าเอา น่าชม หรือว่าน่าเกลียด น่ากลัว น่าจะไปทุบไปตีให้มันสาสมกัน ไม่ดีทั้งนั้น ล้วนแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น ความน่ารักก็เป็นทุกข์ น่าเกลียดก็เป็นทุกข์ น่าเอามาก็เป็นทุกข์ น่าผลักไสให้มันไปพ้นหูพ้นตาก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ลองคิดดูให้ละเอียด
คิดดูให้ละเอียดแล้วมันเรื่องทุกข์ทั้งนั้น เรื่องจะเอาก็เป็นทุกข์ จะผลักไสออกไปมันก็เป็นทุกข์ แล้วคนเราในชีวิตประจำวันมันก็อยู่แต่กับเรื่องนี้ เรื่องจะดึงเข้ามาดันออกไป ออกแรงทั้งสองอย่าง หมดเรี่ยวหมดแรงทั้งสองอย่าง ดึงกลับมามันก็เป็นทุกข์ ดันออกไปมันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน โยมลองไปคิดดู ในเรื่องอะไรต่าง ๆ เรารักมันก็เป็นทุกข์ เราเกลียดมันก็เป็นทุกข์ เราพอใจก็เป็นทุกข์ เบื่อหน่ายก็เป็นทุกข์ อยากได้ก็เป็นทุกข์ อยากมีก็เป็นทุกข์ อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่เรียกว่าก็เป็นทุกข์ ระยะนี้คนอยากเป็นผู้แทนก็เป็นทุกข์ไปตาม ๆ กัน เดินกันรองเท้าขาด วิ่งไปวิ่งมาหาเสียง ถูกโจมตีบ้างอะไรบ้าง ต้องแก้แค้นต้องว่ากันไป แหม เมืองไทยเรานี่น่ากลัว หาเสียงกันไม่มีแถลงนโยบาย เอาแต่โจมตี ไอ้นั่นมันอย่างนั้น ไอ้นี่มันอย่างนี้ หาเรื่องด่ากันได้ทุกวัน ๆ เรียกว่าจะเอาชนะกันด้วยการด่า แสดงว่าประชาชนเรา ขออภัยเถอะ การศึกษามันยังน้อย ยังไม่เจริญด้วยปัญญา ยังชอบการด่ากัน คนไหนด่าเก่ง ไอ้นี่ด่าเก่งเอาเข้าไปหน่อย เลือกเข้าไปด่าอยู่ในสภา แล้วมันจะได้เรื่องอะไร ไปนั่งด่า มันจะได้เรื่องอะไร
เราต้องดูว่าคนไหนมีปัญญามีความสามารถที่จะไปทำประโยชน์แก่ชาติแก่ประเทศได้ แล้วก็สมัครเข้ามา คนสมัครนี่ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เป็นทุกข์เรื่องว่าจะได้หรือไม่ได้ ลังเลใจ โน่นละ ๒๒ เมษายน การเมืองก็รู้วันนั้นแหละว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าได้ก็ดีใจกันอีกแหละ ดีใจ เลี้ยงเหล้าเลี้ยงอะไรกันครึกครื้น เลี้ยงหัวคะแนนว่ากันไปตามเรื่อง แต่ว่าไม่ได้ก็ปิดประตูบ้านเงียบเลย โรงพิมพ์ที่ไปพิมพ์ใบปลิวไว้ก็เที่ยวตามหาไม่เจอแล้วทีนี้ เป็นหนี้เป็นสินอีรุงตุงนัง แหม พิมพ์ใบปลิวตั้งหมื่นผมยังไม่ได้สักสตางค์เลย ตามก็ไม่เจอแล้ว ไม่มีสตางค์จะให้แล้ว แต่ถ้าได้ยังมีหวัง ได้เงินเดือนนี่ ตามในสภาได้ แต่ไม่ได้นี่ตามไม่เจอแล้ว ทุกข์ทั้งสองฝ่าย คนพิมพ์ก็เป็นทุกข์ คนสมัครก็เป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น
เรื่องจะได้จะมีก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่ถ้าเราฉลาดเราก็ไม่เป็น เช่น ถ้าเราสมัครผู้แทนนี่เรานึกว่าเรื่องสมัครนี่เป็นเรื่องของชาวบ้าน ถ้าเขาพอใจเขาก็เลือกเรา ถ้าเขาไม่พอใจเขาไม่เลือก เราจะไปบังคับกะเกณฑ์ก็ไม่ได้ เราเพียงแต่เสนอตัวให้เขาเลือก เสนอตัวไปเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ให้คนทั้งหลายเขาเห็นว่าพอจะเป็นคนรับใช้ประเทศชาติได้หรือไม่ ถ้าเขามองเห็นว่าคนนี้พอใช้ได้ เลือกเข้าไปพอใช้ได้ เขาก็เลือก แต่ถ้าเขาไม่เลือกก็อย่าไปเสียอกเสียใจว่าเขาไม่เลือกเรา ให้นึกว่าเรามันยังบารมีน้อยไป มีความรู้น้อยไป หรือว่ามีคนรู้จักน้อยไป อย่าท้อแท้ ขยับต่อไป ปีอื่นก็สมัครต่อไป ยังมีรัฐธรรมนูญอยู่ก็สมัครมันเรื่อยไป
คนคนหนึ่งที่พัทลุงสมัครสองครั้งยังไม่ได้ ครั้งที่สามสมัครอีก ไม่เป็นไร ไม่ได้คราวนี้ก็ไม่เป็นไร สมัครคราวต่อไป สมัครจนตาย ตายแล้วยังไม่ได้ เกิดชาติหน้าผมสมัครใหม่ อันนี้เอาจริง เรียกว่าทุ่มลงไปเลย ทุ่มชีวิตจิตใจลงไปจะเป็นนักการเมืองให้ได้ แต่แกก็ดี แกไม่เคยเลี้ยงใคร แกไปหาคะแนนที่ไหนแกไม่เลี้ยง แกไปเที่ยวสอนคนให้รู้จักทำมาหากินอะไรต่ออะไร แกพูดด้วยนะ พูดแล้วทิ้งท้ายไว้ว่ามหาขาวเบอร์หนึ่งนะพี่น้อง ใบนั้นแหละ คนก็ยังไม่เลือกแก ครั้งที่สามคนเลือก ได้คะแนนท่วมท้นเลย เขาเห็นว่าเป็นคนอิ่ม (56.36) แล้วเลยเลือก แล้วแกก็ดี มีชีวิตเรียบร้อย เลยได้เลือกเป็นผู้แทน ทีนี้คนบางคนเลือกทุกครั้ง สมัครเลือกทุกทีนี่แสดงว่าต้องมีดี มีดีในคนนั้น คนจึงพอใจ คนเราถ้าไม่ดีเขาเลือก ทีเดียวเขาก็ทิ้ง แต่ถ้ามีดีแล้วเขาก็เลือกเรื่อยไป เป็นผู้แทนถาวรไปเลย มันเรื่องอย่างนั้น คนที่เข้าใหม่ก็ต้องคิดว่าอาจจะได้ก็ได้ อาจจะไม่ได้ก็ได้ อย่าไปผูกใจให้มากเกินไป อย่าลงทุนอะไรให้มันมากเกินไป เพียงแต่เสนอตัวเพื่อให้เขาเลือกไปเป็นคนใช้ในสภา ถ้าเขาไม่เลือกก็ไม่ว่าอะไรเขา อย่าไปโกรธไปเคืองเขา วันหลังเจอกันค่อยไหว้กันใหม่ต่อไป อย่างนี้มันก็สบายใจ เรื่องอะไรมันสบายอย่างนี้ละ
ในชีวิตเราก็เหมือนกัน เราลงทุนทำอะไร อย่าไปหวังว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่าหวังว่าจะได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่เที่ยง โลกไม่แน่นอน ลมฟ้าอากาศสภาพสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ใครจะไปรู้ว่าอะไรเป็นอะไร น้ำมันขึ้นราคาใครจะไปรู้ มันขึ้นปุ๊ป ๆ ขึ้นเอาใหญ่เลย เราก็ลำบากไปตาม ๆ กัน เช่นพวกรับเหมาก่อสร้าง อ้าว รับเหมาไปแล้วของขึ้นราคา มันก็ต้องทำไปตามเรื่อง ขาดทุนก็ต้องทำแล้ว ก็รับไว้แล้ว ก็หากันต่อไป ใจมันต้องสบายอย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรมากเกินไป ต้องรู้ว่าอะไรมันก็ไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลง แม้ร่างกายคนนี่มันเที่ยงเมื่อไร มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้ท้องเสีย เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ ใครไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรเมื่อไร บางทีเดินอยู่ในบ้านดี ๆ นี่ อ้าว ลื่นล้มลง ขาแพลงไปได้แต่โขยกเขยกตามเรื่อง
มันไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิตของคนเรา อย่าไปหวังอะไรให้มันมาก แต่ให้นึกว่าเราจะต้องประพฤติธรรมไว้แหละดี ทำใจให้มันมองเห็นอะไร ๆ บ้าง ให้รู้สภาพความจริง ให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อย่างไรเป็นทุกข์อย่างไร ไม่มีอะไรเป็นเนื้อแท้ในตัวของมันเอง อะไรเกิดขึ้นก็นึกว่ามันไม่ถาวรหรอก ความทุกข์เกิดขึ้นมันก็ไม่ถาวร มันก็เปลี่ยนไป ความสุขก็ไม่ถาวร การได้ การเสีย การเป็นอะไรต่าง ๆ ไม่มีอะไรถาวรเที่ยงแท้ในโลกนี้ สภาพมันเป็นอย่างนั้น เรารู้ไว้อย่างนี้ไว้แล้วใจมันสบาย ธรรมะนี่แหละเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสูงสุดของเรา ที่เราควรจะแสวงหามาใช้เป็นหลักพึ่งพิงทางใจ พึ่งอย่างอื่นมันไม่ดี สู้พึ่งหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ได้ พระธรรมจึงเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ให้เรานึกไว้ว่า ธัมโม เม นาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งของเรา เราต้องปฏิบัติธรรม เอาธรรมเป็นประทีปนำทางชีวิตเดินไปตามทางของพระธรรมแล้วจะปลอดภัยด้วยประการทั้งปวง วันนี้ดังแสดงมาก็สมควรแก่เวลาขอยุติไว้เพียงนี้