แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดีเพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
เมื่อเช้านี้ ได้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขาลงข่าวว่า มีนักศึกษาคนหนึ่ง ได้ไปเรียนวิปัสสนามาหลายปี ว่าอย่างนั้น เมื่อได้เรียนวิปัสสนามาแล้วก็ วันหนึ่งเขาได้ทำการเข้าวิปัสสนา แล้วก็มีอาจารย์เข้าทรง เมื่อเข้าทรงแล้วก็บอกว่า อยู่ยงคงกระพัน ฟันไม่เข้าอะไรต่างๆ ก็เลยเอามีดมาเชือดมาเฉือนกัน แต่ว่าไม่เข้าในตอนนั้น ทีนี้ก็องค์อาจารย์องค์นั้นออกไป อาจารย์องค์ใหม่เข้ามาทรงอีก อ้างตัวว่า เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์โตพรหมรังสีว่าอย่างนั้น มาเข้าทรง แล้วก็บอกว่า พวกแกเชื่อไหมล่ะ ถามไอ้คนที่นั่งอยู่ข้างๆพวกนั้นก็กราบว่า ลูกช้างเชื่อแล้วพ่อ ว่าอย่างนั้น บอกว่า ไม่เชื่อรึ ไม่เชื่อเอาปืนมาลองก็ได้ เลยเด็กคนนั้นก็เลยเข้าไปในห้อง เอาปืนมา พวกที่ดูก็บอก ไม่ต้อง... เชื่อแล้ว... เชื่อแล้ว... ไอ้นั่นว่า ไม่ได้ ต้องให้เห็นจริงกัน เลยวางเข้าที่ขมับ กดเปรี้ยง..เปรี้ยง... กระสุนฝังใน ไปตายโรงพยาบาล เรียกว่ามันโง่แหละ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ อ่านแล้วก็นึกขำว่า เออ ไอ้เด็กคนนี้มันไปเรียนวิปัสสนาสำนักไหน จึงได้ไปเอาไกลถึงขนาดอย่างนั้น อันนี้ คือความหลงผิด เข้าใจผิด ในเรื่องการศึกษาวิปัสสนา ในทางพระพุทธศาสนาเรา
ในเมืองไทยเรานี้ ได้แต่ใช้คำนี้มานานแล้ว ใช้คำวิปัสสนานี่ ความจริงคำว่าวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องดี แต่ว่าคนไม่เข้าใจ เอาเรื่องวิปัสสนา ไปปนกับไสยศาสตร์ แล้วก็เลยทำ ไม่ถูก ไม่ตรงตามหลักพุทธศาสนา กลายเป็นเรื่องขลังไป เรื่องศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆไป เดี๋ยวนี้ก็มีชาวพุทธไม่ใช่น้อย เรียกว่า ตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มีความเชื่อไปในเรื่องทางวิปัสสนา เป็นเรื่องขลังๆ เรื่องแปลกๆอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นเขามักจะถาม เวลาพบพระ เช่นถามว่า ท่านเจริญวิปัสสนาหรือเปล่า ถ้าสมมติว่าพระองค์นั้นตอบว่าได้เจริญอยู่ เขาก็จะถามต่อไปว่า ได้เห็นอะไรบ้าง ได้เห็นนรก เห็นสวรรค์ หรือเห็นอะไรต่ออะไรหรือไม่ เขาถามในรูปอย่างนั้น หรือว่าถ้าพระองค์ใดทำเคร่งๆ นุ่งห่มจีวรดำๆคร่ำๆหน่อย คนก็มักจะเข้าไปหา แล้วมักจะพูดว่า องค์นี้ เก่งทางวิปัสสนา ถ้าวัดไหนมีงานพุทธาภิเษก มักจะได้รับเกียรติให้ไปนั่งหลับหูหลับตากันอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วก็เลยเชื่อว่า มันขลังนะ มันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาแล้ว อะไรอย่างนี้เป็นตัวอย่าง การเชื่ออย่างนี้เรียกว่า ไม่ถูกตามหลักพุทธศาสนา ไม่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ในกรุงเทพฯนี้ มีสำนักวิปัสสนาหลายแห่ง บางแห่งก็ไม่ใช่ของพระแต่เป็นของชาวบ้าน ตั้งตนเป็นอาจารย์วิเศษ เอาลูกศิษย์มาเจริญกันไปตามเรื่องตามราว แล้วก็มักจะเสออกไปนอกลู่นอกทาง คือเสไปในทางขลัง ในทางศักดิ์สิทธิ์ ในทางด้านไสยศาสตร์ด้วยประการต่างๆ ขอบอกให้ญาติโยมทั้งหลายทราบไว้ว่า นั่นไม่ใช่พุทธศาสนา ไม่ใช่วิปัสสนาตามแนวของพุทธศาสนา แต่ว่าเอาชื่อ เอาศัพท์เทคนิค ของทางพระพุทธศาสนาไปใช้ แล้วก็ใช้ไม่เป็น ใช้นอกลู่นอกทาง จนต้องตายด้วยกระสุนของตัวเอง เหมือนนักศึกษาที่ลงหนังสือพิมพ์เมื่อเช้านี้เอง อันนี้คือความโง่ชนิดหนึ่ง โง่ไหมล่ะ ยังไปเจออาจารย์โง่เข้าไปอีกคนหนึ่ง เขาเรียกว่า ตาบอด นำคนตาบอด คราวนี้เมื่ออาจารย์ก็ตาบอด ลูกศิษย์ก็ตาบอด แล้วไอ้ตาบอดจูงตาบอดแล้วมันจะไปไหน มันก็ตกเหวกันเท่านั้นเอง อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียวไส้อยู่ไม่ใช่น้อย อ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องควรจะนำมา พูดให้ญาติโยมเข้าใจกันเสียหน่อยในวันนี้ ว่าเรื่องนี้มันคือเรื่องอะไร
ทีนี้ในทางพระพุทธศาสนา เรานั้น มีข้อปฏิบัติเป็น ๓ ขั้น ดังที่ญาติโยมทั้งหลายได้ทราบกันอยู่บ้างแล้ว สำหรับชาวบ้านทั่วๆไปนั้น ก็มีข้อปฏิบัติ เรียกว่า ทาน การให้ การบริจาค ศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ภาวนา หมายถึง การทำจิตใจให้สงบ ให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริง ในสรรพสิ่งทั้งหลาย ตามสภาพที่เป็นจริง รวมเรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา แต่ถ้าพูดกับนักบวชนี่ ไม่พูดว่า ทาน ศีล ภาวนา ท่านพูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา พูดกับนักบวชพูดเรื่องอย่างนั้น เพราะนักบวชไม่มีเรื่องทาน มีแต่เรื่องรักษาศีล มีเรื่องการทำสมาธิ มีเรื่องการทำให้เกิดปัญญา เป็นบันได ๓ ขั้น ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไว้ ให้เราปฏิบัติ
ทีนี้ในเรื่องของชาวบ้าน ที่ว่าสอนว่าให้ทาน ก็มีจุดหมายเพื่อให้ ทุกคนเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกัน ฉันท์ญาติ ฉันท์พี่น้อง ไม่เอารัดเอาเปรียบกันด้วยประการต่างๆ เรียกว่าอยู่ในเรื่องของทาน ถ้าเราประพฤติตนเป็นคนอยู่ในระเบียบ ในวินัย ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของศีล การเคารพต่อกฎหมาย เคารพต่อประเพณี ต่อหลักศีลธรรมอันดีอันงามทั้งหลายนั้น รวมเรียกว่าอยู่ในขั้นศีลทั้งนั้น ส่วนการภาวนานั้น เป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรมด้านใน เพื่อให้จิตใจของเรามีความสะอาดขึ้น มีความสว่างขึ้น มีความสงบขึ้น ตามสมควรแก่ฐานะ เรียกว่าเป็นการเจริญภาวนา หลักการมันเป็นอย่างนั้น
ในเรื่องทาน เรื่องศีลนั้น วันนี้ จะไม่พูดให้ญาติโยมฟัง เพราะว่าคงจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว แต่ว่าอยากจะพูดในเรื่องเกี่ยวกับภาวนา ภาวนานั้น ถ้าแปลตามตัวก็แปลว่า อบรมให้มาก ทำให้มาก ทำให้เจริญให้เติบโต ให้งอกงามขึ้น ในด้านจิตใจโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นเรื่องทางร่างกาย ไม่ใช่เป็นเรื่องทางวัตถุ แต่เป็นเรื่องของจิตใจ การภาวนาก็พูดง่ายๆว่า การอบรม บ่มจิตใจ ให้ดีให้งามขึ้นนั่นเอง เรียกว่าเจริญภาวนา
ทีนี้ การเจริญภาวนาในพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่ ๒ ประการ เขาเรียกชื่อตามศัพท์เทคนิค ว่าสมถะภาวนาอย่างหนึ่ง วิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง สมถะภาวนานั้นเป็นการฝึกฝนอบรม เพื่อให้จิตใจสงบอย่างเดียว มุ่งความสงบอย่างเดียวเรียกว่า สมถะส่วนวิปัสสนานั้น เป็นการฝึกฝนอบรม เพื่อให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง อย่างนั้นเรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนา
เรื่องวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องปัญญา เป็นเรื่องความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องขลัง ไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องการปลุกเสก ไม่ใช่เรื่องการทำพิธีอะไรๆต่างๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆไป ที่เขาบอกว่าได้เรียนได้เชิญนักวิปัสสนาผู้เชี่ยวชาญ ในทางจิตมานั่งปลุกเสก เพราะนักวิปัสสนาจะไม่ไปปลุกเสกอะไร จะไม่ไปทำพิธีในรูปอย่างนั้น เพราะการกระทำอย่างนั้นเป็นความโง่เขลา ไม่ใช่วิสัยของผู้มีปัญญา ผู้เจริญวิปัสสนาในทางพระพุทธศาสนา จะไม่เป็นคนโง่ จะไม่เป็นคนหลง คนงมงาย แต่จะเป็นคนมีสติ มีปัญญา เข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง จึงเรียกว่าเป็นเรื่องนักวิปัสสนา
เพราะท่านว่า วิปัสสนานั้นแปลว่าเห็นแจ้ง เห็นจริง ในเรื่องอะไรต่างๆที่ควรจะรู้ควรเข้าใจ แล้วความเห็นแจ้งเห็นจริงนั้น เมื่อเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ทำให้บุคคลนั้นหลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน นั่นคือจุดหมาย ให้เราเข้าใจไว้ให้ตรงเป้าหมาย ว่าการฝึกฝนอบรมนั้นต้องการให้เกิดปัญญา ให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย แล้วจิตเรา สงบ สะอาด สว่าง หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน จึงจะเรียกว่า ได้ผลจากวิปัสสนาอันนี้ที่เราเข้าไปปฏิบัติกัน
ทีนี้สมถะภาวนา อันแรกนั้น มุ่งทำให้จิตใจสงบอย่างเดียว เพราะธรรมชาติจิตของมนุษย์เราโดยปกตินั้น มันดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยากไม่ค่อยอยู่กับที่สักเวลาเดียว ให้เราสังเกตดูสภาพจิตของเรา เดี๋ยวไปคิดเรื่องนั้นไปคิดเรื่องนี้ วิ่งไปโน้น วิ่งไปนี้ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับลิงที่กำลังซน ลิงมันก็ซนอยู่อย่างนั้นแหละ ตลอดเวลา ไม่มีอยู่นิ่ง แม้ชั่วขณะอึดใจเดียว ถ้าเราไปนั่งดูลิงนี่ ที่เขามัดไว้กับหลักนะ มันไม่มีนิ่งเลย ไม่ตาก็มือ ไม่มือก็เท้า ไม่เท้าก็ทั้งเนื้อทั้งตัว เราไปยืนดูแล้วจะเห็นว่าไม่เห็นมันนั่งนิ่งได้เลย สภาพจิตของคนเราก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ดูเราก็ไม่รู้ ว่าจิตนี้ซุกซนขนาดไหน แต่ถ้าเราไปกำหนดดูเข้าสักหน่อย เราก็บอกว่าไม่ไหวแล้วเอาไม่อยู่แล้ว เดี๋ยวมันไปโน่น เดี๋ยวมันไปนี่ตลอดเวลา นั่นคือธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เพราะจิตนั้นมีธรรมชาติดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง การฝึกฝนภาวนา ในเรื่องที่เรียกว่า สมถะภาวนานั้น เราต้องการให้จิตของเรายึด ไม่ไปวิ่งๆเต้นๆในเรื่องอะไรต่อไป
การที่จะให้จิตสงบนั้นเราจะทำอย่างไร อารมณ์มันมีหลายอย่าง เขาเรียกว่า อารมณ์สมถะ เช่นว่า กำหนดลมหายใจเข้าออก เจริญพุทธานุสติ นึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า หรืออะไรๆต่างๆ เช่นพวกกสิณ เพ่งกสิณ ปฐวีกสิณ เอาดินมาทำเข้าเป็นแผง แล้วก็จับนั่งดูเพ่งอยู่ที่ดินนั้น หรือว่าดูน้ำ ดูไฟ อะไรต่างๆ เพื่อจะให้จิตมันสงบ แต่ว่าผู้ที่ไปเจริญภาวนาในรูปอย่างนี้ มักจะเพ่งแล้ว เอาสมาธิที่ตัวได้นิดๆหน่อยๆนั้น ไปเพ่งในทางขลังๆไป ในทางปลุกๆเสกๆอะไรไปในรูปต่างๆ อันนั้นมันเป็นไปได้ด้วยอำนาจของจิตที่มีสมาธิอย่างแรง แต่พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้น เขาเรียกว่าเป็นการแสดงปาฏิหาริย์
ปาฏิหาริย์ในทางพระพุทธศาสนานั้นมันมีอยู่ ๓ ประการ เรียกว่า อิทธิ ปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้ ต่างๆนานา เช่น ทำคนเดียวให้เป็นหลายคนก็ได้ หายตัวไปเสียก็ได้ นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วปาฏิหาริย์หายไป คนอื่นมองไม่เห็นอะไรอย่างนี้ เขาเรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์ อีกอันหนึ่งเรียกว่า อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ประเภทนี้ สามารถที่จะรู้ใจคนอื่นได้ ทายใจคนได้ ว่าคิดอะไร นึกอะไร มานั่งอยู่ เขาก็ทายว่า นี่คุณกำลังคิดอะไร นึกเรื่องอะไร นั่นเรียกว่า อาเทศนาปาฏิหาริย์ ส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้นเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ อันนี้ สอนคนเก่ง คือ สามารถในการสอนคน อธิบายเหตุผล ให้คนได้เกิดความรู้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมะ แล้วก็ชักชวนให้เลื่อมใสศรัทธา พอใจในการปฏิบัติ อันนี้เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์
ในปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการนี้พระผู้มีพระภาค ห้ามสองอย่างข้างต้น อิทธิปาฏิหาริย์ ห้ามไม่ให้แสดง อาเทศนาปาฏิหาริย์ ห้ามไม่ให้แสดง ทำไมจึงทรงห้าม เพราะว่ามันไปพ้องกับการเล่นกลกลางบ้าน ในประเทศอินเดียนะ นักแสดงกลมันเยอะแยะ แสดงได้แปลกๆ เอาเชือกโยนขึ้นไปในอากาศ ไต่เลี้ยวๆๆขึ้นไปได้เลย อันนี้เป็นตัวอย่าง เอาคนมานอนในหีบ เลื่อยให้มันขาดเป็นสองท่อนนะก็ยังได้ เขาแสดงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่านั่นมันเป็นวิชากลางบ้าน เป็นวิชาเล่นกล คราวนี้ถ้าพระเราไปแสดงอย่างนั้น คนก็มองว่าพระปาหี่ก็เท่านั้นเอง เลยกลายเป็นพระเล่นกลไป พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ลูกศิษย์ของพระองค์ เป็นพวกนักแสดงกล หรือมายากลอย่างนั้น เพราะฉะนั้นห้ามไม่ให้แสดงกันเลย ไม่ให้แสดงต่อไปในเรื่องอย่างนี้
แต่ทรงอนุญาตให้แสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ โดยหมายความว่า ให้ขวนขวาย สนใจในเรื่องการสอนคนให้รู้จักธรรมะ ให้รู้จักหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ว่าเราจะแก้ไขปัญหา คือ ความทุกข์ได้อย่างไร ให้รู้เรื่องของความทุกข์ ให้รู้เหตุของความทุกข์ให้รู้ว่าทุกข์นี้เป็นเรื่องแก้ได้ และให้รู้ต่อไปว่า เราจะแก้ไขมันได้โดยวิธีใด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พระพุทธเจ้าต้องการให้พระสนใจศึกษาปฏิบัติ เอาไปแสดงกับญาติโยมชาวบ้าน หมายความว่า พระพุทธเจ้าให้เราสอนธรรมะอย่างเดียว ไม่ให้ไปนั่งทำพิธีปลุกๆเสกๆ สร้างพระ สร้างเหรียญ สร้างแหวน ขายชาวบ้านกันอยู่
การกระทำอย่างนั้นเขาเรียกว่าเป็นพวกนอกรีต นอกรอย ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา ไม่ได้ส่งเสริมสัจจะธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ว่าส่งเสริมความนิยมผิด ไปนิยมในด้านวัตถุ ให้คนไปเชื่อวัตถุ เข้าใจวัตถุนั้นศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดช สามารถจะช่วยกันให้พ้นภัย คนเหล่านั้นไม่คิดช่วยตัวเอง แต่กลายไปขอให้วัตถุช่วย ซึ่งเขาเรียกกันในสมัยนี้ว่าวัตถุมงคล อยากจะประกาศดังๆว่า วัตถุมงคลไม่มีในพระพุทธศาสนา มงคลในพระพุทธศาสนาคือการละชั่ว การประพฤติดี การทำจิตใจให้ สงบ สะอาดเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นมงคล ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราเป็นพุทธบริษัท อย่าไปเชื่อมงคลประเภทวัตถุอย่างนั้น อย่าไปตื่นข่าวเล่าลือ ว่าเขาเล่าลือกันว่าที่นั่นเป็นอย่างนั้น ที่นั่นเป็นอย่างนี้ ถ้าเล่าลือขึ้นในบ้านใดตำบลใด ให้รู้เถิดว่า มนุษย์หลอกลวงเกิดขึ้นในบ้านนั้นแล้ว วางแผนจะต้มชาวโลกให้หลงใหลมัวเมากันด้วยประการต่างๆ ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเล่าลือกันว่า มีอะไรผุดขึ้นแล้ว มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นแล้ว นั่นหมายความว่า เขาวางแผนแล้ว วางแผนจะล้วงสตางค์จากพี่น้องพุทธบริษัททั้งหลาย ที่ยังมีความหลงใหลมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเราอย่าโง่ให้เขาจูงไปเป็นอันขาด แต่ให้รู้ว่า เอาอีกแล้ว นักวางแผนมีอีกแล้ว เราไม่ตกหลุมพรางของคนเหล่านั้น เพราะอะไรๆที่จะทำให้เราดีนั้น มันอยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่การกระทำของเรา ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุทั้งหลาย อันจะช่วยให้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ เราอย่าไปเชื่อตามคำโฆษณาหลอกลวงทั้งหลาย ที่เขาเสกสรรปั้นแต่งกันขึ้นเป็นอันขาด อันนี้ ให้เข้าใจความจริงอันนี้ไว้ประการหนึ่ง
เรื่องสมถะภาวนานั้น เป็นเรื่องสงบใจ คือให้ใจมันเย็น ให้สงบ ให้มีสมาธิ ให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้น ถ้าเมื่อใดใจสงบ ใจมันก็เป็นสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิ มันก็บริสุทธิ์ ในขณะนั้น อันนี้แหละคือจุดหมาย ตัวอย่างเห็นง่ายๆ สมถะ ที่เราเจริญ อาณาปานสติคือ กำหนดลมหายใจเข้าออก เรานั่งตัวตรง แล้วก็กำหนดลมหายใจ หายใจเข้ากำหนดรู้ตามอยู่ หายใจออกกำหนดรู้ คอยคุมจิตไว้ ให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก ให้มีความรู้สึกอยู่ที่ลมเข้าลมออกตลอดเวลา อย่าให้มันไปที่ไหน อย่าให้มันคิดเรื่องอะไรอื่น แต่ว่ามันต้องไป เพราะธรรมชาติมันเคยไป เคยวิ่งวนอยู่อย่างนั้น มันก็ต้องไป เผลอเรามันก็ไป พอเผลอสติมันก็ไป เราจึงต้องคุมให้ถี่ ให้กำหนดอยู่ที่ตรงนั้นตลอดเวลา มันก็จะกลับมา เผลอมันก็ไปอีกแหละ ต้องทำนานๆ ทำบ่อยๆให้เป็นเวลา
เรื่องการฝึกจิตนั้นต้องมีระเบียบ เรียกว่าต้องมีศีล นั่นคือหมายความว่ามีระเบียบในการกระทำ ถึงเวลาไหน เราเคยทำ ต้องทำเวลานั้นทำบ่อยๆ ทำไป ทำไป ก็จิตใจก็ค่อยสงบลง บีบลง ดีขึ้น การใช้อำนาจจิตเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ก็ดีขึ้น ถ้าจะเปรียบให้เห็นง่าย สมถะก็เหมือนกับว่า เราได้สัตว์ป่ามาตัวหนึ่ง สัตว์ป่าน่ะเราได้มาใหม่ นี้มันยังระแวงภัยอยู่ ยังไม่ไว้ใจเราหรอก มันนึกว่าเราจะทำร้ายมัน จะเบียดเบียนมัน มันมองตาเราตาเขียวๆ พอเราเข้าใกล้มันก็ขนพองสยองเกล้า ทำท่าจะกระโดดโลดเต้น ไปตลอดเวลา แต่มันก็ไปไม่ได้ ถ้าเราเอาเชือกมัดแข็งแรงเหลือเกิน เมื่อเรามัดเช่นนั้นแล้ว เราก็เข้าไปใกล้ ค่อยๆทำอะไรกับมัน จับตรงนั้นจับตรงนี้ เอาอาหารให้มันกิน เอาน้ำให้มันดื่ม ลูบหัวบ้าง ลูบหลังบ้าง ลูบตามเนื้อตามตัวบ้างมันก็ค่อยคุ้นขึ้น ค่อยเชื่องขึ้น ผลที่สุดเราเข้าไปมันก็ยืนเฉย ไม่ดิ้นไม่หนี พอเรานานๆ เราก็ปล่อยเชือกออกได้ ปล่อยเชือกออกได้แล้ว สมมติว่ามันกินหญ้าอยู่ตรงนั้น เราเรียกว่า ชื่อมัน มันจะมาทันที
ที่วัดหนึ่งแถวอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี วัดนั้นมีวัวหลายตัว มีควายอยู่ตัวหนึ่ง ควายตัวนี้รูปร่างมันไม่เหมือนควายธรรมดา คือขนมันผิดปกติหน่อย ตรงหน้าผากนี้มีรูปขาวเป็นรูปใบโพธิ์ และเท้าทั้งสี่นั้นมีขนขาวๆ ธรรมชาติมันเป็นแปลกเพื่อนหน่อย ชาวบ้านก็ไม่กล้าเอาไปฆ่าไปแกง ซื้อมาแล้วไม่กล้าฆ่า เลยเอาไปปล่อยวัดสมภารตั้งชื่อว่า ไอ้โพธิ์ วันนั้นอาตมาไป สมภารท่านก็เรียกว่า ไอ้โพธิ์ พอเรียกไอ้โพธิ์ มันก็ตรงมา หูมันไวนะ พอไอ้โพธิ์แล้วก็มา มาถึงท่านสมภารท่านให้กินกล้วย กล้วยน้ำละว้านี่ ไอ้โพธิ์ชอบเหลือเกิน ชอบกินกล้วยน้ำละว้า ให้กินหวีหนึ่งหมด ยังไม่ไป ต้องกินอีกสักหวีหนึ่ง ให้กินอีกแล้วมันก็กิน เคี้ยวน้ำลายฟูมปากเลย นั้นมันเชื่องแล้ว มันสนิทแล้ว ไว้ใจสมภารแล้ว ว่าไม่เล่นงานกูแล้ววะไอ้แต่งตัวแบบนี้นะ เลยมันก็เข้าใกล้ สนิทสนม อยู่กันได้ด้วยความเรียบร้อย แม้เด็กวัดมันก็สนิทสนม เพราะเด็กวัดเอาข้าวใส่ถาดมาให้มันกิน กินข้าวสุกนะ ถ้าเหลือข้าวในก้นบาตรเยอะๆ เอามาเทเป็นถาดแหมให้มันกินสุขสำราญบานใจไปเลย เด็กวัดขึ้นขี่หลังขึ้นขี่คอ พาไปอาบน้ำอาบท่า นายโพธิ์ เขา ควรจะเรียกว่านายหน่อย อย่าไปเรียกไอ้มันเลย มันดีไปแล้ว นี่มันเป็นควายสุภาพแล้ว แต่ว่านายโพธิ์นี้มันเรียบร้อย ไม่รังแกเด็ก ไม่อะไรต่ออะไรทั้งนั้น นี่มันเชื่อง สงบแล้ว นิพพานแล้วก็ได้ เรียกว่ามันไม่ดื้อไม่ด้านแล้ว ท่านพุทธทาสก็ว่า ไอ้เรามันดื้อๆด้านๆ หัดมันเรียบร้อยก็เรียกว่ามันนิพพานได้เหมือนกัน คือมันหยุดจากเรื่องนั้นแล้ว อันนี้เป็นตัวอย่าง
จิตใจเรานี่ก็เหมือนกัน มันไม่ค่อยเรียบร้อย ไม่เป็นสมาธิ ไม่มีความสงบแล้วก็ไม่ค่อยบริสุทธิ์ มีกิเลสเกิดขึ้นรบกวน เช่น ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะ ความริษยา ความพยาบาท อาฆาตจองเวร อะไรต่างๆ เกิดขึ้นรบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลา มันก็วุ่นวาย สับสน ทำงานทำการก็ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ล่อแหลมต่อการที่จะเป็นโรคทางจิต หรือโรคทางประสาท ที่เขาสอน (23.40) กันอยู่บ่อยๆ นั่นก็พวกที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรมจิตใจนั่นเอง ไม่ใช้ธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจ ปล่อยไปตามเรื่องตามราว จนกระทั่งว่า ยุ่ง ต้องสูญเสียไอ้นั่นไอ้นี่ มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นในจิตใจด้วยประการต่างๆเป็นความยุ่งยากลำบากใจอย่างนี้
แต่ถ้าหากว่าเราฝึกเสียบ้าง เหมือนญาติโยมมาวัด ทีนี้เราก็มาฝึกจิตใจ อบรมจิตใจ หรือว่ามีเวลาว่างเรานั่งทำบ่อยๆ ทำที่บ้าน กลางคืนก่อนนอน เอาเสียหน่อยสัก ๑๕ นาที ๒๐ นาที แผ่ขยายมากออกไป แล้วตื่นขึ้นเช้า ตื่นตี ๔ ความจริงมันตื่นก่อนนั้น คนเรานอนนี่ถ้าร่างกายมันเต็มตื่น นี่มันก็ตื่นนะ ตื่นแล้ว นอนไปเถอะ ไม่หลับแล้ว ครึ่งหลับครึ่งตื่น ทีนี้มันฝันนะตอนนี้มันฝันนะ ใครเป็นนักแข่งม้า ก็โอ๊ยม้าตัวนั้นชื่อนั้นไปข้างหน้าแล้ว ไปนู่นนะ หรือว่านักหวยเบอร์ก็แหม เห็นแต่ตัวเลข อย่างนั้นนะ ใครชอบอะไรก็ฝันนะ จิตมันทำงานไม่มีการควบคุม อยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น แล้วก็เลยฝันนะ คนไหนฝันมาก ก็แสดงว่าจิตฟุ้งซ่านมาก คนที่ไม่ฟุ้งซ่านเขาไม่ฝัน คือหลับก็หลับไปเลย ตื่นก็ตื่นไป ความจริงถ้าเราตื่นขึ้นแล้ว ควรจะตื่นเสียดีกว่า เอาทำงานเสียดีกว่า อ่านหนังสือ หาความรู้ มิฉะนั้นก็นั่งสงบใจ บนเตียงนอนนั่นแหละ ขึ้นนั่ง สมาธิเข้า แล้วก็ทำฝึกอาณาปานสติ อย่างนี้เรียกว่าฝึกสมถะ ทำบ่อยๆจิตใจจะดีขึ้น
แล้วเมื่อเราทำจนเคยชิน ในเรื่องอย่างนี้ เวลาใดมีปัญหามีเรื่องยุ่งยากจิตใจ เช่นมีใครมาทำให้เกิดอารมณ์เสีย แทนที่เราจะไปแสดงอารมณ์เสีย เรานั่งหลับตาเสีย แล้วก็ทำสมาธิเสีย ประเดี๋ยวก็จิตสงบ พอจิตสงบ เรื่องนั้นหายไป เราก็สบายใจ อันนี้มันช่วยได้ ถ้าคนฝึกอย่างนี้บ่อยๆ สภาพทางกายก็จะดีขึ้น โรคทางกายนี่แก้ได้เหมือนกัน แก้ได้ด้วยสมถะนี่ ด้วยการฝึกอาณาปานสตินี่เป็นต้น ทำให้ร่างกายของเรามีสุขภาพดีขึ้น ทำไมมันจึงดีขึ้น ก็เพราะว่า สภาพจิตเป็นปกติ สั่งงานเรียบร้อยสมองทำงานเป็นปรกติ ความคิดความนึกมันก็ปรกติ มันมีความเป็นระเบียบขึ้นในร่างกาย เมื่อร่างกายเรามีระเบียบ การทำอะไรมันก็ดีขึ้น ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน
คนที่มีอาการท้องไม่ค่อยดี เช่นว่า ท้องผูก หรืออาหารไม่ย่อย นอนไม่ค่อยหลับ นี่แสดงว่าจิตใจเป็นเหตุ สับสนวุ่นวายด้วยปัญหาต่างๆ เวลานอน ไม่ได้นอน ก็คิดฟุ้งซ่าน ไปเรื่องอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้ อันนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร คิดดีมันก็ไม่ได้ จะนอนพักก็ไม่ได้ มันอยู่ในทางสองแพร่ง ไอ้ใจหนึ่งจะนอน ใจหนึ่งจะคิด เลยแย่งกัน สภาพทางร่างกายก็วุ่นวายสับสน ทำให้เกิดความทุกข์ทางกาย นานๆไปก็เป็นโรค หลายโรคเกิดขึ้น
แต่ถ้าเราฝึกจิตของเราให้มีระเบียบ ด้วยอำนาจสมถะภาวนา สภาพจิตของเราจะดีขึ้นร่างกายก็จะดีขึ้น เมื่อทำงานทำการก็จะเรียบร้อย เพราะคนมีสมาธิย่อมทำงานได้คล่อง กว่าคนที่ไม่มีสมาธิ ซึ่งสมติว่าเรามีอะไรจะต้องอ่าน อ่านเที่ยวเดียวรู้เรื่อง ถ้าเราไม่มีสมาธิ อ่านจบแล้วยังไม่ได้ความเลย ไม่รู้ว่าเรื่องอะไรเสียเวลาไปเท่าไร ถ้าเราอ่านกว่าจะจบใช้เวลา ๕ นาที แต่ไม่รู้ เอ้ามาๆๆ อีก ๕ นาที อันนี้มันสูญไปเสียเปล่าๆ ไม่ได้เรื่องอะไร ทำให้สูญเสียเวลา สูญเสียเรี่ยวแรง การงานก็ไม่เกิดผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างนี้มันขาดทุน
แต่ถ้าเราได้ฝึกจิตของเราแล้ว ก็สามารถที่จะอ่านอะไรได้ ทันท่วงที อ่านปุ๊บ รู้ปั๊บ ไม่ต้องไปอ่านซ้ำ ทำให้สภาพจิตใจ แคล่วคล่อง เรียกว่า ว่องไว ตื่นตัว ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา อันนี้ได้ประโยชน์ไม่ใช่น้อย จึงควรจะได้ฝึกฝนไว้บ้าง ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร แต่ขออย่างเดียวว่า ทำบ่อยๆ ทำให้เคยชินจนเป็นนิสัย แล้วจะแก้ปัญหาอะไรได้ เช่นว่าเรามีความจะทำให้เราโกรธ เราหยุดโกรธปั๊บ นั่งทำสมาธิ หลับตาเสีย ประเดี๋ยวอารมณ์นั้นก็จะหายไป จิตใจสงบเยือกเย็น มีเหตุมีผล ก็โดยอาศัยวิธีการอย่างนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ ยิ่งเด็กๆที่อยู่ในวัยต้องการศึกษา ถ้าเจริญภาวนาให้ถูกแบบ จะทำให้สมาธิในการเรียนดีขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน การเรียนก็จะก้าวหน้า
ครูตามโรงเรียน จึงควรจะได้เรียนเรื่องนี้ แล้วก็เอาไปฝึกเด็ก ฝึกบ่อยๆ อย่างน้อยพอจบวิชาหนึ่ง กว่าครูคนใหม่จะเข้ามา เอ้าทุกคนนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สบาย ให้มีความสงบใจ เพียงอย่างนี้ก็ ๒-๓ นาที จบวิชาหนึ่งก็สงบใจกันเสียทีหนึ่ง หรือว่า ในเวลาวิชาอื่น เราก็ฝึกไปในรูปอย่างนั้น เด็กจะเคยชินกับการหักห้ามจิตใจ เคยชินกับการทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ แล้วเขาจะเรียนดีขึ้น การศึกษาจะเกิดประโยชน์มากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องเชื่อได้ ทำได้ ของดีเรามี แต่เราไม่ค่อยเอาไปใช้ ในชีวิตประจำวัน อย่างนี้ก็ไม่ได้เรื่อง เหมือนคนมีเพชรแต่เอาไปตำก้อนข้าว หุงข้าว อย่างนี้ มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ราคามันเพียงทำข้าวให้สุกเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราเอาเพชรนั้นมาเจียรนัย เอาไปประดับสายสร้อย ประดับเรือนแหวน หรือว่าเอาไปวางไว้บนหัว สวมเป็นมงกุฎ นางจักรวาล …… (30.09) กันอยู่ในสังคมในยุคปัจจุบันนี้
นี้อันหนึ่งเรียกว่าสมถะ จำง่ายๆว่าสมถะเป็นเรื่องฝึกจิตให้เกิดความสงบเท่านั้นไม่ก้าวหน้าไปกว่านั้น เพียงแต่ให้เกิดความสงบ แต่ความสงบนั้นมันเกิดกำลัง เกิดอะไรขึ้นอีกหลายอย่าง ที่จะเอาไปใช้ในชีวิตต่อไป นี้อย่างหนึ่ง
อีกอันหนึ่งที่เรียกว่า วิปัสสนา นี่ เจริญเพื่อให้เกิดปัญญา แต่ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนา นี่ต้องทำสมถะมาก่อนนิดหน่อย พอสมควร คือฝึกจิตให้มันสงบก่อน ให้เป็นสมาธิก่อน พอสมควร แล้วจะได้ใช้กำลังสมาธิที่เรามีอยู่นั้น เพื่อศึกษาค้นคว้าต่อไป เรื่องของวิปัสสนานั้น ไม่ใช่เรื่องพิธีรีตองอะไร แต่เป็นเรื่องของการคิดการค้น ถ้าพูดตามภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า วิจัย วิจัยเรื่องที่จะทำให้เราจะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เราจะไปนั่งวิจัยตรงไหนก็ได้ นั่งใต้ต้นไม้ นั่งในห้อง หรือไปนั่งอยู่หลังบ้านที่มีสวนร่มรื่น ไปนั่งแล้วเราก็ยกปัญหาต่างๆขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เห็นชัดในปัญหานั้นตามสภาพที่เป็นจริง
สิ่งที่เราควรจะเอามาพิจารณา ในเรื่องเกี่ยวกับวิปัสสนานั้น ท่านวางหลักให้พิจารณาในเรื่อง นามรูป เพราะว่าเรื่องนามรูปนี่เป็นเรื่องตัวเราเอง ที่เราสมมติเรียกว่ามันเป็นเรื่องตัวเรา เพราะการศึกษาด้านวิปัสสนานั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อ ให้รู้จักตัวเอง ให้รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา ให้รู้เหตุของสิ่งนั้น และให้รู้ว่าเราจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร นี่คือจุดหมาย จุดหมายที่เราต้องการศึกษาให้รู้จักตัวเอง ให้รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้น ให้รู้จักเหตุของสิ่งนั้น ให้รู้ว่าเราจะแก้ไขสิ่งนั้นอย่างไร ที่เบื้องต้นเรียกว่าให้รู้จักตัวเราเองนะ ตัวเราเองนี่ประกอบขึ้นด้วยอะไร
เหมือนกับเราเรียนเครื่องยนต์ ต้องถอดออก ถอดเครื่องยนต์ออกไป แล้วเราจะเห็นว่า มีอะไรเป็นเครื่องประกอบบ้าง เช่นมีลูกสูบ มีอะไรต่ออะไร เอามาประกอบกันเข้า ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดหมุนอะไรขึ้นมาได้ แล้วก็ต้องมีอะไรเป็นกำลัง มีไฟเป็นกำลัง เกิดความร้อน มีลม มีน้ำ มีครบแหละ ธาตุ ๔ เหมือนกันนะ เครื่องยนต์ก็ ธาตุ ๔ นะ มีธาตุดินของแข็งก็คือเหล็ก ธาตุน้ำก็คือน้ำที่เราเติมเข้าไป ธาตุไฟก็ที่เกิดจาก แบตเตอรี่ สตาร์ทมีไฟ แล้วก็มีธาตุน้ำมันเข้าไปช่วยด้วย ทำให้เกิดความร้อน เกิดการหมุน ข้อเสีย (33.12) ลูกสูบเดิน ก็ทำให้ให้หมุนฉึบฉับๆอะไรไปตามเรื่องตามราว มันก็เป็นไปในรูปอย่างนั้น
คนเรียนรู้ในเรื่องอย่างนี้ เวลาอะไรเสียก็รู้ว่า อ้อ มันเสียตรงไหน แบตเตอรี่ไม่มีไฟรึ ไอน้ำไม่มีพอรึ แรงไฟไม่พอรึ หม้ออะไรมันเสีย ไดนาโมรึ อะไรต่ออะไรมันไม่ชาร์จ ก็เรียนรู้มาใช่รู้แต่หมุนพวงมาลัยขับไปขับมา อย่างเดียว พอรถเสียก็นั่งแอ๊คอยู่ตรงนั้นนะ ก็มันไม่รู้อะไร รู้แต่จะถือพวงมาลัยมันก็แย่เท่านั้นเอง เราต้องรู้เครื่องประกอบมัน ว่างๆเอามาดู อะไรมันเสีย จะได้รู้ รู้แล้วจะแก้ สิ่งทั้งหลายมันเกิดจากเหตุนะ ถ้าไม่รู้เหตุนะไปแก้ผลมันได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่าเสียตรงไหน ให้ดูเวลารถเสียนะ แหมช่างนี้นะยืนเต็มหน้าหม้อเลย เป็นช่างทุกคนนะ แต่ถ้าไปถามว่า รู้ไหมว่าอะไรเสีย ไม่รู้เหมือนกันว่าอย่างนั้นนะ ยืนดูให้มันแก้รำคาญไปเท่านั้นเองนะ ก็รถมันไปไม่ได้ก็เลยดูไป คลำไปตรงโน้น คลำไปตรงนี้ ถอดลูกสูบขึ้นมาดูไป ก็ไม่รู้ว่ามันอะไรมันเป็นอะไร แล้วก็สวมเข้าไปใหม่ แล้วก็ไปเช็คตรงนั้น ต่อตรงนี้ ว่าไปเถอะ ว่าไปตามอารมณ์เท่านั้นนะ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะไม่เรียนไว้ มันก็ลำบาก
นี้ร่างกายของเรานี่ก็เหมือนกับเครื่องยนต์อันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่า สรีระยันตังเครื่องยนต์คือสรีระ จตุจักกัง มีจักร๔ ลูกล้อ ๔ มือ ๒ เท้า ๒ แต่ว่าเราใช้ ๒ ล้อ ไม่ใช้ ๔ล้อ ถ้าขืน ๔ ล้อ มันก็ไม่ไหว มันไม่ได้เรื่อง เหมือนกันเดิน ๔ ล้อแต่มีเหมือนกันนะ พวกนักดื่ม เขาชอบใช้ ๔ ล้อเหมือนกัน ดื่มมากจนใช้ ๒ ล้อไม่ไหว เลย ใช้ ฟาด ๔ ล้อเข้าไปอย่างนี้นะเขาเรียกว่า มันไม่ใช่คนแล้วนะ ถ้า ๔ ล้อ มันก็เรียกว่า เดรัจฉาน คือมันขวางโลกแล้วนี่ เดรัจฉานไปตามขวาง โลกมันมีพวกอย่างนี้ คนนี่มันยืนตามส่วนสูงของโลก ไอ้สัตว์เดรัจฉานมันไปตามส่วนขวาง เดรัจฉานเขาแปลว่าขวาง สัตว์ทั้งหลายเขาเรียกว่าเดรัจฉาน คือ มันขวางโลก เดินขวางๆไปอย่างนั้นเอง อย่างนั้นมัน ๔ ล้อ
แต่ของเรามันใช้ ๒ จตุจักกัง มีทวาร ๙ นวทวารัง มีตา ๒ มีจมูก ๒ มีหู ๒ มีปาก ทวารหนัก ทวารเบา นี่เรียกว่า ทวาร ๙ ไหลออกมาตลอดเวลา ไหลเข้าไหลออกอยู่ ไหลเข้าคือ สูดลมหายใจเข้าไป ดื่มน้ำเข้าไป รับประทานอาหารเข้าไป แล้วเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว มันก็ไหลออก ไหลออกมาทางหู ไหลออกมาทางตา ไหลออกมาทางรูจมูก ไหลออกทางปาก ไหลออกมาทางขุมขน ไหลออกมาทางทวารเบา ไหลออกมาทางทวารหนัก ไอ้เรื่องไหลออกนี่มันไม่ได้เรื่องทั้งนั้น มันไม่ค่อยสะอาดทั้งนั้นแหละ
นี่แสดงให้เห็นว่าในร่างกายของเรานี้ มีของไม่สะอาด อยู่ด้วยประการต่างๆ เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณา ให้รู้ให้เข้าใจ แล้วก็พิจารณาว่า ชีวิตของเรานี่ ประกอบขึ้นด้วยอะไร เราสวดมนต์ว่า นามรูป นามะรูปัง อนิจจัง นามะรูปังทุกขัง นามะรูปังอนัตตา เรื่องนามรูปนี่แหละเป็นตัวอารมณ์ของวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เราจะต้องเอามาคิด มานึก ในเรื่องของนามรูป ให้แยกแยะ วิจัยวิจารณ์ออกไปว่า อะไรมันเป็นอะไร ก็แยกตัวคนเรานี้ได้ออกว่าเป็น ๒
๒ นั้นก็คือ รูปอย่างหนึ่ง นามอย่างหนึ่ง รูปคืออะไร รูปก็คือร่างกาย ทั้งหมด ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ยาววา หนาคืบ กว้างศอก อย่างนี้เรียกว่าเป็นเรื่องของรูป เรื่องของรูปนั้นมันเกิดมาจากอะไร รูปนั้นเกิดขึ้นจากการประสมปรุงแต่งของวัตถุธาตุ ที่เราเรียกว่า ธาตุ ๔ ความจริงนั้นมากกว่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ต้องการให้เราเรียนเรื่องธาตุอย่างละเอียด ให้เพียงแต่พอรู้ว่า ร่างกายนี้ มันเกิดขึ้นด้วยอาศัยธาตุทั้ง ๔ คือ ของแข็ง ของเหลว อุณหภูมิ แก๊ส ถ้าเรียกภาษาบาลีก็ว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม มีอยู่ในร่างกาย ไอ้ส่วนแข็งๆนั้นเรียกว่าดินทั้งนั้นนะ เช่น ว่า ผม ขนเล็บฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด ไต ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อันนี้เรียกว่าส่วนของแข็ง ของแข็งนั้นให้ถือว่าเป็นเรื่องของดิน ส่วนที่เหลว เอิบอาบซึมซาบไหลไปได้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องของน้ำ ส่วนที่ให้เกิดอุณหภูมิในร่างกาย มีความร้อน ก็เรียกว่า เป็นไฟ สิ่งเคลื่อนไหวไปมาก็คือลม เช่นลมหายใจเข้าออก ลมพัดอยู่ในท้องในไส้ บางคราวมันก็ขลุกขลักๆ ดังอยู่ข้างใน แก๊สมันมาก กินของแป้งมากๆ กินถั่วมากๆ อย่างนี้นะ มันชักจะมีแก๊ส แต่ว่าเอาไปหุงต้มก็ไม่ได้ มันอยู่แต่ในท้องนะ มันดัง อยู่ตลอดเวลา ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นเรื่อง ธาตุลม มีอยู่ในร่างกาย
ร่างกายนี้เป็นของประสม รูปนี่คือของประสม ไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้ แน่นอนอะไร เราพิจารณาว่ามันเป็นของประสม อันของประสมนั้น เอาความเที่ยงได้ไหม ไม่ได้ เอาความสุขได้ไหม มันก็ไม่ได้ เอาเนื้อแท้มันได้ไหม มันก็ไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ โดยไม่เที่ยง แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา หลักที่จะพิจารณา เข้าไปในรูปอย่างนั้น เรื่องของร่างกาย
ทีนี้ดังนั้นก็แยกร่างกายเรานี้ออกเป็นอาการ ๓๒ แยกออกไป ถอด เรียกว่า ถอดออกไป เอาผมไป ออกไปวางไว้ ไม่ใช่ถอนผมออกไปกองไว้ เรียกว่า ถอนในใจ สมมติว่าผมมันไปกองอยู่ตรงนั้น ขนก็เอาไปรวมไว้ตรงนั้น เล็บก็ไปรวมไว้ ฟันก็เอาไปถอดมาวางไว้ หนังก็ออกมาหมด เอามากองไว้ เห็นแต่เนื้อทีนี้ เอาเนื้อไปกองไว้ เอากระดูกไปกองไว้ ตับไตไส้พุงเลือกไว้ เป็นกอง เป็นกอง เป็นกอง แยกออกไป แล้วค้นหาดูสิ ตัวฉันนี่อยู่ตรงไหน ไอ้นั่นมันผมนะ ไอ้นั่นขนนะ นั่นเล็บนะ นี่ฟันนะ นี่หนัง นี่เนื้อ นี่เอ็น นี่กระดูก ไอ้นั่นตับ ไอ้นี่สำคัญนัก ถ้าดื่มมากเดี๋ยวตับแข็งนะ ตับแล้วก็ไต ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ไปกองอยู่หมดแล้ว เอาไปวางไว้ นั่งหลับตาพิจารณาเอาไปวางไว้ วางไว้ สมมตินะ สมมติเป็นภาพขึ้นว่าเป็นกองๆ แล้วเราก็นั่งคิด เออไอ้นี่ ผมนี่มันเป็นอย่างไร เป็นเส้นๆอย่างนั้นมันสะอาดไหม ไม่สะอาด เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด
ร่างกายของมนุษย์นี่ว่าโดยแท้จริงนะโยมนะ มันไม่สะอาดอยู่โดยปกติ โดยปกตินะมันไม่สะอาดนะ สะอาดนี้มันเกิดทีหลัง เป็นครั้งๆคราวๆ เอ้าตื่นเช้า อาบน้ำเสียหน่อยหนึ่ง ถ้าหน้าแล้งนี่ประเดี๋ยวเป็นอีกแล้ว เหงื่ออก ชุ่ม ไปหมด สกปรกตามเดิม เสื้อผ้าซักสะอาดเรียบร้อยแล้ว ใช้ผงเรียกว่า มหัศจรรย์นะว่าอย่างนั้นนะ เรียกว่าซักฟอกอย่างเรียบร้อย ใส่ไป อ้าว มีเหงื่อไคลติดแล้ว ยิ่งเดินในกรุงเทพแล้ว แหม สิ่งสกปรกเยอะๆ มลภาวะอะไรต่ออะไรมันมาก ทำให้สกปรกรกรุงรัง รวมความได้ว่าร่างกายเรานี่ สกปรกอยู่ตลอดเวลา ความสะอาดมีชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ถาวร ความหอมนี่ก็มีชั่วครั้งคราว เอาน้ำหอมมาใส่ กลิ่นมัน ก็หอมอยู่หน่อยหนึ่ง พอกลิ่นมันมันก็ของเดิมอย่างนี้ มันก็อย่างนั้นแหละตามปกตินะ
นึกไปคิดไปในเรื่องอย่างนี้ เมื่อตกไปแล้ว พิจารณาแล้ว ก็มองเห็นว่า เอ มันก็ไม่มีอะไรที่น่าจะหลงใหลมัวเมาอะไรกันหนักหนา เราควรจะอยู่กันให้มันสงบๆสบาย ให้พอใจในสิ่งที่เราอยู่เราได้ เช่นเราเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่เรือน ก็พอใจในคู่ครองของตัว พอใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นการเรียบร้อย อย่าวุ่นวาย อย่าพลุ่งพล่าน อย่าคิดให้มันเลอะเทอะ นอกเรื่องนอกราว เหมือนสังคมปัจจุบันนี่มันยุ่งกัน คิดมากไป เป็นส่งอะไรต่ออะไร ทำให้เกิดเป็นปัญหา เราใช้วิปัสสนาเป็นเครื่องพิจารณา ร่างกายทั้งหมดเป็นส่วนๆๆ ออกไป แล้วก็มองให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ มันทุกข์จริงๆ มันไม่มีอะไรที่เป็นเนื้อแท้จริงๆ ต้องมุ่งเข้าสู่หลักนี้ หลัก ๓ อย่างนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าพูดภาษาเทคนิค ธรรมะก็ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่า อนิจจตา เอา ตาใส่เข้าไปก็หมายความว่า ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่มีเนื้อแท้ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง เราพิจารณาในส่วนนี้ แยกออกไปเป็นส่วนๆ
ถ้าพิจารณามองไม่เห็น เวลามี ศพ มีอะไรนี่ เราไปในงานศพ ไปงานศพนี่ไม่ใช่ไปเพื่อพบปะเพื่อนฝูงมิตรสหายไปนั่งคุยกัน ไปกินเลี้ยงกัน หรือว่าไปดื่มเหล้ากัน หรือว่าไปเล่นการพนันกัน วัดตามสวนๆนะ ๔๓.๒๕ มักอย่างนั้นนะ ชาวบ้านก็เหมือนกัน ทำศพก็เปิดบ่อน เล่นการพนันกัน ดื่มเหล้ากัน สนุกสนาน เฮฮา บางทีก็ เขาเอาเครื่องสายไปช่วย บรรเลงเพลงสายกัน เขาตายแล้ว ยังบรรเลงเพลงอะไรอีกนี่ มันก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ไม่เป็นสาระ ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง คนที่ไปก็ฟังเพลงเพลินไป ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต
ถ้าเราไปในงานศพ เราก็ควรจะนั่งนิ่งๆ หลับตา เสีย ไม่เห็นคนนั้นคนนี้ เห็นแล้วมันไม่ได้ มันเดี๋ยวคุยกันใหญ่เลย คนเรานี่นานๆเจอกันก็คุยกันนะขึ้นไปเผาศพแล้ว ยังไม่ไป ยืนคุยขวางเพื่อนต่อไว้อีก นี่ลงมาข้างนี้นะยืนคุยกันแล้ว เพื่อนจะเดินก็ไม่คล่อง ไม่เกรงใจใคร ไม่นึกว่าเอ๊ะเพื่อนเขาจะบ้างเดินบ้าง ไอ้เรามายืนคุยกันอยู่ตรงนี้ นานๆพบกันทีก็คุยกันไป เรื่อยไปไม่ได้เกิดปัญญา แต่ถ้าเราพูดกับตัวเองซะดีกว่า นั่งสงบใจ นึกว่านี่ฉันมาทำไม มางานอะไร เอ้า มางานศพ ศพนี่คืออะไร คือร่างกายของเพื่อนที่เหลือทิ้งไว้ ทิ้งไว้ทำไม เอ้าต้องทิ้งสิ เอาไปไม่ได้มันก็ต้องทิ้งไว้อย่างนี้แหละ ให้เรามาเผากัน เรามาเผาศพนี่เราควรคิดอย่างไร อ้อ ควรจะคิดว่า เพื่อนกับเรามันก็เหมือนกัน เกิดเหมือนกัน กินข้าว หายใจ ดื่มน้ำ ทำมาหากินกันไปตามเรื่อง เวลานี้ ร่างกายเขาชรา สู้โรคไม่ไหว เลยต้องแพ้ แพ้แล้วเขาก็ตาย แล้วฉันนะจะตายเหมือนเขาบ้างไหม คิดไปในรูปอย่างนั้น ก็ตอบได้ว่า มันก็เหมือนกันละ ใครๆเกิดมาแล้วมันก็ตายทั้งนั้นแหละ ไม่เห็นใครเหลืออยู่ซักคนเดียวในโลกนี้ อ้อ ฉันก็ต้องตาย แล้วเมื่อจะตายอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไรต่อไป คิดไปในเรื่องเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เรื่องเป็นคุณเป็นค่า แก่ชีวิต
อย่างนี้เรียกว่า ได้เจริญวิปัสสนาจากสิ่งที่เราได้ประสบพบเห็น อะไรๆที่อยู่รอบๆตัวเรานั้น เป็นบทเรียนทั้งนั้น เป็นเครื่องสอนใจในด้านวิปัสสนาทั้งนั้นเพราะฉะนั้นพระในสมัยก่อนนี้ ท่านได้เห็นอะไรแล้ว ท่านเอามาคิดในแง่วิปัสสนา จิตท่านก็เบื่อหน่าย คลายความกำหนัด หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นไป เช่น นางภิกษุณี องค์หนึ่ง ต้มน้ำในโรงครัว ไฟน่ะมันฮือลุกขึ้น แล้วมันก็มอดไป ตามเชื้อนะ ตามเชื้อ ลุกขึ้นมอดไป ลุกขึ้นมอดไปเสร็จก็นั่งดูๆไป เห็นอนิจจตา เห็นความไม่เที่ยงของเปลวไฟ แล้วก็เอามาพิจารณาถึงตัวเอง พิจารณาไป พิจารณาไป ก็มองเห็นตามสภาพที่เป็นจริง จิตก็เลยหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น กิเลสดับไป เรียกว่า ได้ผลแล้ว จากการเจริญวิปัสสนาจากเปลวไฟนั้น
พระบางองค์ไปนั่งอยู่ที่ริมแม่น้ำ ที่น้ำมันไหลกระทบเกิดเป็นฟองขึ้นมา พอเป็นฟองแล้วก็หายไป แตกเป็นฟองแล้วก็หายไป หรือว่าเวลาฝนตก เราดูน้ำที่ชายคาน้ำมันขังอยู่ อันนี้ฝนตกลงมาเกิดเป็นฟอง ประเดี๋ยวมันก็หายไป แล้วก็มีฟอง แล้วมันก็หายไป นั่นคือบทเรียนนะ บทเรียนสอนใจแล้ว ให้เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลาย มีเกิดมีดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็นของแท้ มันประสมเกิดขึ้น ไหลไปตามอำนาจของสิ่งประสม แล้วมันก็ต้องแตกไปดับไป สิ้นไป ไม่มีอะไรที่เราควรจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา ว่าเป็นของเรา ให้เกิดปัญหาคือความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ
เราคิดได้ในสิ่งเหล่านั้น เราเล่นดอกไม้ เล่นกล้วยไม้ มันก็เป็นบทเรียน มันตูมมันแย้ม มันบาน สวย พักหนึ่ง ตามเวลานะ ดอกไม้บางชนิดก็หลายวันหน่อย เช่นดอกกล้วยไม้บางประเภท มันก็หลายวัน เราได้ดูนานๆ แต่ถึงนานสักเท่าใด มันก็ต้องเหี่ยว ร่วงผล็อยลงที่โคนต้น แล้วก็สิ้นไป หมดไป แม้ดอกไม้เราใส่แจกันมาบูชาพระ ยังสวยสดงดงามในยามเช้า พอหลายวันเข้า มันก็เหี่ยวแห้ง ร่วงโรยไป สิ่งเหล่านี้ เป็นบทเรียนวิปัสสนา เป็นครูสอนใจให้เราได้เพ่งพินิจ ให้เห็นว่า ดอกไม้เป็นอย่างใด ตัวเราก็เป็นอย่างนั้น ใบไม้เป็นอย่างใด ตัวเราก็เป็นอย่างนั้น หญ้าเป็นอย่างไหน เราก็เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในโลกนี้ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาค ท่านจึงบอกว่า ของในโลกนี่มันเหมือนกัน ๓ แง่เหมือนกัน ๓ แง่ คือเหมือนกันในแง่ ความไม่เที่ยง ในแง่ความเป็นทุกข์ ในแง่ความเป็นอนัตตา ๓ อย่างนี้ เขาเรียกว่า สามัญลักษณะ สามัญลักษณะ ลักษณะที่เหมือนกันของสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นหิน เป็นดิน เป็นอะไรก็ตามใจ มันขึ้นอยู่กับ ๓ อย่างนี้ทั้งนั้น เหมือนกัน ๓ อย่างนี้ ไม่แปลกกันเลย เรากับคนอื่นเหมือนกัน ชาติไทย ชาติจีน ชาติแขก ชาติฝรั่ง ผิวดำ ผิวขาว เหมือนกัน ในสามัญลักษณะ ๓ อย่างนี้
เราคิดในแง่อย่างนี้ ก็จะมองเห็นความจริง สิ่งใดเกิดอะไรขึ้นได้ ขึ้นมันก็เกิดขึ้นแก่เราได้ ต้นไม้ตายได้ เราก็ตายเหมือนต้นไม้ ดอกไม้เหี่ยวแห้งได้ ชีวิตเราก็เหี่ยวแห้งเหมือนกับดอกไม้ บ้านเรือนที่เราอยู่นานๆก็ค่อยโทรมไป สีกะเทาะไป มันก็เป็นบทเรียนเราทั้งนั้น ดูหลังคา ดูฟ้า ดูพื้น ดูเสา ดูสีที่เราทาเราฉาบไว้ มันสอนใจเราทั้งนั้น เราใช้เป็นหลักวิปัสสนา พิจารณาเทียบเคียง ระหว่างสิ่งนั้นกับตัวเรา ก็จะมองเห็นว่า มันเป็นอย่างเดียวกัน เราหนีจากความเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ ถ้าได้คิดได้อย่างนี้บ่อยๆจะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้เกิดความไม่ประมาท ไม่มัวเมาหลงใหล ในเรื่องอะไรๆต่างๆอันเป็นเรื่องที่ทำให้เรามีความยินดี มีความเพลิดเพลิน มัวเมาหลงใหล ซึ่งมันสร้างปัญหาทั้งนั้นแหละ สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตใจเราด้วยประการต่างๆ เราพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าดูในส่วนรูปของร่างกาย ที่เรามี เราพิจารณา เห็นบ่อยๆ นึกบ่อย
คือให้ถือหลักง่ายๆว่า เห็นอะไร ให้เอามาเตือนตนเสมอ เห็นใบไม้เหี่ยวก็เตือนตนว่า ฉันเหมือนใบไม้ เห็นดอกไม้ก็เตือนตนว่า ฉันเหมือนกับดอกไม้ เห็นสุนัขถูกรถยนต์ทับตายอยู่บนถนน ก็เตือนตนว่า เออ ถ้าฉันประมาทก็อาจจะตายอย่างนี้ก็ได้ เตือนๆไว้ บ่อยๆ ถ้าเตือนไว้บ่อยๆแล้ว มันจะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ เกิดการควบคุมตัวเอง เกิดความอดทน เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มันหลายเรื่องนะ เรื่องที่จะตามมานะมันหลายเรื่อง ได้ประโยชน์จากการเจริญวิปัสสนา ในเรื่องรูปร่างกาย ในเรื่องจิตก็เหมือนกัน เราพิจารณาว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของเรา เช่นความโกรธมันเกิดเพราะอะไร ความเกลียด เกิดขึ้นเพราะอะไร ความรักเกิดขึ้นเพราะอะไร ริษยา พยาบาท อะไรต่างๆ ซึ่งรวมเรียกอยู่ว่า เวทนา เวทนา เรื่องของนามนั้น ก็คือเรื่อง เวทนา เรื่องสัญญา เรื่องสังขาร วิญญาณ ท่านแบ่งไว้เป็น ๔
ที่เราสวดมนต์ว่า เวทนาอนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง อย่าสวดเฉยๆ ไอ้หนังสือสวนมนต์แปลนี่วิปัสสนาทั้งนั้นนะ ที่เราสวดเช้าๆนั่นนะ นั้นแหละคือตัว วิปัสสนา มันไม่ขลังอะไร ไม่ศักดิ์สิทธิ์อะไรหรอก เราเอาไปสวดไปพิจารณา รูปังอนิจจัง ดูตัวเรา มันนิจจังหรือเปล่า มันอนิจจังนะ มันไม่เที่ยง นิจจังมันเที่ยง เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูเถอะมันไม่เที่ยงนะ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา เวทนาที่เป็นสุขก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆก็มันก็ไม่เที่ยง
สัญญาคือความจำได้หมายรู้ก็ไม่ค่อยเที่ยง ยิ่งคนอายุมาก ก็นึกแล้วนึกอีก ก็นึกไม่ออก ว่ามันชื่ออะไร บางทีเคยเห็นกัน มาเดินเจอกัน เอ..ก็จำไม่ค่อยได้ นานๆพบกันทีก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เจ้าตัวนึกเอ๊ย ท่านเจ้าคุณนี่ไม่ไหวนะ เรามันคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กนี่มาเห็นท่านอยู่ ไม่ทักทายปราศรัย ต้องขออภัย บางทีมันก็เพลินๆไปบ้างเหมือนกัน เพราะว่า สัญญามันไม่ค่อยเที่ยงนะโยมนะ มันจำไม่ค่อยได้ คนมันมาก ไม่ค่อยได้ เดี๋ยวนี้รายงานตัว เลยมันค่อยยังชั่วหน่อย ว่าหนูชื่อนั้นนะ ลูกคนนั้นนะ อย่างนี้อ้าวก็นึกออกละอย่างนั้นนะเพราะว่าย้อนความหลัง พอจะนึกได้ ญาติโยมนี่ก็เหมือนกันแหละ ความจำมันก็เลอะเลือน สัญญาไม่เที่ยง
สังขาร คือเรื่องปรุงแต่งจิตใจ มันก็ไม่เที่ยง อยู่ในสภาพอย่างนี้ทั้งนั้น อันนี้ละเรียกว่า เจริญวิปัสสนา ทำได้ทุกโอกาส ไม่ต้องตั้งหม้อน้ำมนต์ ไม่ต้องเอาเงินใส่บาตร ๓ บาท ไอ้นั่นอาจารย์แกจะริบนั่นเองไอ้ ๓ บาทนั่นแหละ เงินสมัยก่อน ๓ บาทนั่นไม่ใช่น้อยนะสมัยก่อน กาแฟถ้วยละ ๕ สตางค์นี่ ๓ บาทมันได้ตั้ง ๖๐ ถ้วยนะ อาจารย์ก็จะเอาไอ้ ๓ บาทนั้นไปเสียด้วย มีผ้าขาว ไหว้ครู ผ้าขาวก็เอาเสียด้วยเหมือนกัน บางทีจะเอาอ้อยเองอีกแหละ อ้อยเอยผลหมากรากไม้ มันตั้งมาไหว้นั่นมันอุบายทั้งนั้นนะ อาจารย์จะริบทั้งนั้น เรื่องอย่างนี้นะ อันนี้เราก็ไปติดอย่างนั้น
คราวหนึ่งพบ คนๆหนึ่ง ถามว่าท่องอะไร ท่องอิติปิโสถอยหลัง ปัทโธ่ ทำไมท่อง จะเรียนวิปัสสนาว่าอย่างนั้น นี่คือสำนักผิดแล้ว ให้ลูกศิษย์ท่องอิติปิโสถอยหลัง มันลำบากนี่ท่องถอยหลังนี่มันกว่าจะจำมันก็แย่เหมือนกันนะ ไอ้ท่องไปข้างหน้าก็ยังไม่ค่อยจำอยู่เลย นี่มันให้ดันไปท่องถอยหลังเข้าไปอีก อยากจะเรียนวิปัสสนา ต้องเทียนขี้ผึ้งหนัก ๓ บาท ด้ายเท่านั้นเส้น แล้วเอาไปจุดเจริญวิปัสสนา นี่มันของฝอยทั้งนั้น เรียกว่าของแข็ง วิปัสสนามันไม่มีอะไร เราไปนั่งตรงไหนก็พิจารณาร่างกาย สภาพจิตใจสิ่งแวดล้อม ที่อยู่รอบๆตัวเราให้เกิดปัญญาเท่านั้น
ผู้เจริญวิปัสสนามีปัญญา ไม่ โง่ไม่เขลา ไม่เอาความรู้นี้ไปใช้ในทางผิด ถ้าเอาความรู้นี้ไปนั่งหลับตาเสกทองเหลืองละก็ มันไม่ใช่วิปัสสนา อย่าไปเรียกนักวิปัสสนาเลยท่านเหล่านั้น ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่เข้าใจ มุ่งไปในทางขลังเพราะรับมาอย่างนั้น มักมาจากอาจารย์ผิด เขาเรียกว่าเถรส่องบาตร ไม่ใช่เนื้อแท้ จึงขอทำความเข้าใจให้ญาติโยมได้รู้ไว้ เรื่องนี้ก็ปรารภเด็กที่มันไปเรียนวิปัสสนา แล้วมันเข้าทรงนะ โธ่เอ๋ย จะทรงเจ้าเข้าผีไม่ใช่พุทธศาสนานะ เราอย่าไปยุ่ง สำนักไหนทรงเจ้าเข้าผี เราอย่าเดินเฉียดสำนักนั้น มันจะบ้าไปกับพวกนั้นด้วยนะ ไปบ่อยๆโรคบ้าติดเอามานะ เดี๋ยวติดเอาแล้วนะ เจ้าพี่เจ้าพ่อเข้าทีนี้แล้วนะมามันจะเข้าทรงเราบ้างทีนี้ ฉิบหายละทีนี้ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร อย่าเฉียดเข้าไป ให้เราถือหลักว่า เราเป็นพุทธบริษัท เราเชื่อมั่นในพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ทำอะไรตามหลักการของพระพุทธศาสนา สิ่งใดไม่ใช่พุทธศาสนาเราไม่ไป เราไม่ส่งเสริม เราไม่สนับสนุน อย่างนี้จึงจะได้ เดี๋ยวนี้มันเลอะนะ เลอะทั้งพระทั้งชาวบ้าน มันเลอะกัน เต็มทีแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ต้องตะโกนกันบ่อยๆเวลานี้
นี่วันที่ ๘ นี้เขาจะให้ไปพูดพระอุปัชฌาย์ ๒๕๐ กว่าองค์ ก็คงโกรธกันไปหลายองค์วันนั้น เพราะว่าต้องพูดกันจริงจังแล้ว ไม่ได้แล้ว ต้องพูดกันที มันเลอะกันไปใหญ่ ไม่ไหว เรื่องมันเป็นอย่างนี้ นี่เอามาพูดให้ญาติโยมเข้าใจว่าอะไร เป็นอะไร เราจะได้รู้ว่า วิปัสสนาคืออะไร พูดมาวันนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต่อนี้ไปก็เราฝึก สมถะภาวนา นั่งสงบใจเพ่งลมหายใจเข้าออก ๕ นาที