แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๗๖ หยุดตัวเอง Stop ตัวเองด้วยศีล จึงจะสงบเย็นทั้งกายวาจาใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติของพวกเรานะ มันต้องถูกต้อง การปฏิบัติไม่ถูกต้องนั้นมันแก้ปัญหาไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าทุกคนต้องพากันแก้ที่ตนเองปฏิบัติที่ตนเอง และก็มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อพัฒนาใจและพัฒนากายคือวัตถุตามหลักเหตุหลักผลตามหลักวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้มันไม่ได้ เราทำอย่างนี้มันมันถึงเป็นศีล ทำอย่างนี้ที่ติดต่อต่อมันถึงเป็นสมาธิ เราทำอย่างนี้ถึงจะเกิดปัญญาที่รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันก็ไม่ลำบากแต่ มันต้องถูกต้อง สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้นถึงมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง
มนุษย์เราไม่อาจจะทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองทำตามความรู้สึก หรือทำตามที่เราชอบไม่ชอบ เพราะความถูกต้องนั้นมันก็คือความถูกต้อง เราต้องทำเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาตัวตนเป็นการดำเนินชีวิต เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต เอาความถูกต้องเป็นการดำเนินชีวิต ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะอรหันตสาวกของพุทธเจ้าท่านก็ทำตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะได้เป็นมนุษย์ เราจะได้เป็นข้าราชการ เราจะได้เป็นนักการเมืองที่สมบูรณ์ เราจะได้เข้าสู่ความดับทุกข์ เพราะเราทุกคนน่ะไม่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะใครๆ ก็ช่วยหายใจให้เราไม่ได้ ไปห้องน้ำห้องสุขาแทนเราก็ไม่ได้ เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น เรามาปฏิบัติที่ตัวเอง ศีลก็คือเรื่องรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเรื่องหยุดเป็นเรื่องที่มา Stop เป็นสมถะคือความสงบ ความสงบกายวาจาที่มาจากศีลที่ได้ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง พัฒนาเป็นสมาธิ และเป็นปัญญาคือรู้แจ้งเห็นจริง รู้เห็นจริงก็เหมือนที่เราหนังสือเล่มนี้ที่เรียนหมอก็ดี เราอ่านแล้วก็เข้าใจ ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่เราจะไปจำตัวอักษรหรอก แต่เป็นความรู้ความเข้าใจจริงๆ
เราต้องรู้ต้องเข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ ว่าเราจะไปตามอวิชชาตามความหลงไปไม่ได้ เพราะใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง เราจะไปตรึกในกามตรึกในพยาบาทอย่างนี้ไม่ได้ เรามีความเข้าใจผิดไปว่า ทำอะไรได้ตามใจนั่นเป็นความสุข นั่นไม่ใช่ความสุข มันเป็นความหลงของเราเอง ที่สุด ๒ ทางก็คือความชอบความไม่ชอบ ที่มันเป็นความหลง ให้พากันเข้าใจ เราจะได้รู้แล้วไม่วุ่นวาย เราจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ได้ไปเพิ่มไม่ได้ไปตัดอะไรหรอก เราไม่เข้าใจ ก็จะเอา...แต่ตามใจตัวเอง เอาแต่ตัวตน ตัวตนมันก็คือวัตถุ เน้นแต่ทางวัตถุ เราก็ให้อาหารอวิชชาให้อาหารแห่งความหลง เท่ากับเราไม่มีปัญญาเลย พวกเดือนพวกดาวแล้วก็ยังพอมองเห็น เรื่องตัวเรื่องตนนี้ ถ้าเราไม่อาศัยพระพุทธเจ้า ไม่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันไม่เข้าใจนะ พระพุทธเจ้าถึงสอน อย่าไปถือนิสัยของตัวเองเลย ต้องถือนิสัยแห่งความเป็นพุทธะ เอาธรรมะเป็นหลัก แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ถือตัวถือตน ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า แม้แต่พระอรหันต์ท่านไม่ได้ถือตัวถือตน ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์
อย่าไปดำเนินชีวิตด้วยความเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เราต้องรู้ แต่ก่อนเราไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่อง ทำอะไรไปก็เลยเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เหมือนผู้ที่มาบวชออกจากบ้านออกจากเรือนมา ก็ยังมาเอาตัวตน ก็ยังมาหาสร้างวัดสร้างกุฏิสร้างวิหารสร้างเจดีย์ จึงเป็นการมาสร้างครอบครัวในเพศบรรพชิต ไม่ใช่มาเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะอะไรเลย เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ตัวเองก็เดือดร้อนคนอื่นก็เดือดร้อน
เอาตัวตนเป็นที่ตั้งอยู่คนเดียวก็ทะเลาะกับตัวเองนี่แหละ อยู่หลายคนก็ยิ่งทะเลาะกัน เรานี่มันเห็นแก่ตัวมากมันหลงมาก เราไปเอาความสุขกับความทุกข์ของคนอื่น ไปเอาความสุขบนความทุกข์ของสัตว์บ้างของเพื่อนหมู่มวลมนุษย์บ้าง มันถูกต้องแล้วหรือ? ความคิดอย่างนี้มันก็เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ ผู้ที่มารักษาศีลนี้คือผู้ที่ไม่หยุดตัวเอง Stop ตัวเอง คือความหยุดตัวเองคือความสงบ แล้วก็ต้องเข้าสู่วิปัสสนาพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เห็นความเป็นของไม่แน่ไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถึงจะเป็นความสุขระยะยาวมันก็เป็นของไม่แน่ไม่เที่ยง มันมีอายุจำกัด เหมือนร่างกายเรามีอายุขัยไม่เกิน ๑๒๐ ปี เหมือนภพภูมิของสวรรค์ที่มีอายุชั้นนั้นชั้นนี้ แต่ก็ยังมีอายุขัยที่จำกัด ท่านถึงว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นถึงจะมีอายุยาวหรือสั้น แต่มันก็ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นแต่เพียงธรรมะเป็นแต่สภาวะธรรม ทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ในอุโปสถสูตร (ตรัสกับ นางวิสาขา) อายุเทวดาชั้นกามภพ
๑. จาตุมหาราชิกา มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์
๒. ดาวดึงส์ มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ (๔ เท่าของ จาตุ)
๓. ยามา มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ (๔ เท่าของ ดาวดึงส์)
๔. ดุสิต มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ (๔ เท่าของ ยามา)
๕. นิมมานรดี มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ (๔ เท่าของดุสิต)
๖. ปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ (๔ เท่าของนิมมานรดี)
(เทวดาชั้นสูงกว่าจะมีอายุเป็น ๔ เท่าของชั้นต่ำกว่า)
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรวิสาขา เธอมาแต่ไหนแต่ยังวันอยู่ นางวิสาขากราบทูลว่า วันนี้หม่อมฉันเข้าจำอุโบสถ พระพุทธเจ้าข้า ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับนางวิสาขาเรื่องอุโบสถศีลไว้ว่ามี ๓ ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทแบ่งออกตามวิธีการปฏิบัติ ดังนี้ คือ
๑. โคปาลกอุโบสถ คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างคนเลี้ยงโค
๒. นิคัณฐอุโบสถ คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างนิครนถ์
๓. อริยอุโบสถ คือ อุโบสถที่ปฏิบัติอย่างอริยสาวก
โคปาลกอุโบสถ เป็นของคนที่รักษาไม่จริง เมื่อสมาทานศีลอุโบสถแล้ว แทนที่จะรักษาและ ปฏิบัติธรรมตลอดหนึ่งวันหนึ่งคืน กลับไปคุยกันถึงเรื่องไร้สาระ เช่น วันนี้ได้กินอาหารอร่อยถูกปากอย่างนี้ พรุ่งนี้เราจะต้องเตรียมอาหารอย่างนี้มากินอีก เพราะอาหารอย่างนี้ใครๆ ก็ปรารถนา
ดังนั้น จึงเรียกการรักษาอุโบสถประเภทนี้ว่า เป็นเหมือนคนเลี้ยงโคที่มอบโคคืนเจ้าของในตอนเย็น แล้วคิดว่า วันนี้โคเที่ยวหากินหญ้าที่ทุ้งหญ้าโน้น ดื่มน้ำที่ลำธารโน้น วันพรุ่งนี้จะต้อนไปทุ่งหญ้าโน้น ดื่มน้ำลำธารสายโน้น เปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ
นิคัณฐอุโบสถ เป็นการกระทำอย่างพวกนักบวชนิกายหนึ่งที่มีนามว่า นิครนถ์ (นักบวชนอกศาสนา ที่เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร ปัจจุบันคือศาสนาเชนที่ยังอยู่ในอินเดีย) มีวิธีการ คือ ชักชวนสาวกให้ต้อนตี สัตว์ไปในทิศทางต่างๆ บ้างก็ชักชวนกันให้เมตตาสัตว์บางชนิด บ้างก็ให้ทารุณกับสัตว์บางชนิด บ้างก็ ชักชวนให้สลัดผ้านุ่งห่มทุกชิ้นในวันอุโบสถ ฯลฯ
พฤติกรรมของผู้ปฏิบัติอุโบสถทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก
อริยอุโบสถ เป็นการสมาทานรักษาอุโบสถของผู้ปรารภความเพียร คือ ทำจิตที่เศร้าหมองนั้นให้ ผ่องแผ้ว โดยระลึกถึงพระพุทธคุณ เมื่อระลึกอย่างนี้จิตย่อมผ่องใส เกิดปีติปราโมทย์ ละกิเลสเครื่อง เศร้าหมองของจิตเสียได้ ครั้นแล้วก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ พระสังฆคุณตามลำดับ หรืออีกอย่างหนึ่ง อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ระลึกถึงศีลของตน อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย เป็นไท ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกติเตียน เป็นทางแห่งสมาธิ เมื่อเธอระลึกถึงศีลอยู่ จิตย่อมผ่องใส ปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมละอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้ หรืออีกอย่างหนึ่งระลึกถึงเทวดา และธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาว่า เทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี พรหมกายิกา และเหล่าเทวดาที่สูงขึ้นไป กว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด จุติจากภพนี้จึงได้เกิดในภพนั้นๆ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นนั้นของเราก็มีอยู่พร้อมเหมือนกัน เมื่อระลึกอย่างนี้จิตย่อมผ่องใส เกิดปีติ ปราโมทย์ ละกิเลสเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้
อริยอุโบสถนั้น เป็นอุโบสถของพระอริยบุคคลผู้เว้นได้เด็ดขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลัก ทรัพย์ เว้นจากกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์ เว้นจากการกล่าวคำเท็จ เว้นจากการเสพของมึนเมา เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และการทัดทรง ตกแต่ง เครื่องประดับ เครื่องไล้ทา และเว้นจากการนั่ง หรือนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี
แล้วตรัสต่อไปว่า อริยอุโบสถนี้ที่บุคคลสมาทานรักษาแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก
ที่ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น พระพุทธองค์ทรงเปรียบให้นางวิสาขาเห็นว่า พระราชา เสวยราชสมบัติ และอธิปไตยในชนบทใหญ่ๆ ทั้ง ๑๖ แคว้น สมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ ถือว่า การเสวยราชสมบัตินี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว แต่ยังไม่ได้ถึงเศษเสี้ยวที่ ๑๖ ของอานิสงส์ที่เกิดจากการสมาทาน รักษาอุโบสถศีลเลย
อานิสงส์ของศีล มีผลและคุณประโยชน์มากมายมหาศาล หากบุคคลใดมีจิตศรัทธาตั้งมั่นในการดำรงรักษาศีลอยู่เป็นประจำ บุคคลเหล่านั้นจะทราบและรู้อยู่แก่ตนเองดี ว่าผลบุญทั้งหลายและอานิสงส์ทั้งหลายได้เกิดขึ้นกับตนเองอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งจะได้รับผลทั้งภายใน และผลทั้งภายนอก จะมีความสุขกาย สุขใจ อยู่ตลอดเวลา ปลอดภัยจากศัตรูและความชั่วทั้งหลาย ไม่สามารถจะคิดทำลายลงไปได้ แคล้วคลาดจากสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งปวง กลับตรงกันข้ามจะได้รับแต่ความสุขความเจริญชั่วนิรันดร
ศีลนั้นเมื่อบุคคลรักษาดีแล้วย่อมมีคุณานิสงส์หรือผลดีแก่บุคคลผู้รักษาหรือผู้มีศีลสมบูรณ์มากมายดังคำสรุปอานิสงส์ของศีลในตอนท้ายของคำ สมาทานศีลว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ ไปสู่สุคติเพราะศีล
สีเลน โภคสมฺปทา โภคทรัพย์ถึงพร้อมเพราะศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ถึงความดับทุกข์เพราะศีล
ตสฺมา สีล วิโสธเย เหตุดังนั้นสาธุชนพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
มนุษย์นั้นมีมากมายหลายประเภท สวยมาก สวยน้อย ดีมาก ดีน้อย บางคนทั้งสวยทั้งดีบางคนไม่สวยด้วยไม่ดีด้วย บางคนเรียบร้อย บางคนหยาบคาย บางคนอ่อนโยน บางคนดุร้ายบางคนมีศีล บางคนไม่มีศีล สุดแท้แต่กรรมจะจำแนกให้เป็นไป ในจำนวนคนมากมายหลายประเภทเหล่านี้ คนมีศีลเป็นคนประเสริฐ ยิ่งมีศีลด้วย สวยด้วยยิ่งประเสริฐสุดเหมือนดอกไม้ที่สวยทั้งสีและหอมทั้งกลิ่น ส่วนคนสวยที่ไม่มีศีลนั้น ก็เหมือนดอกไม้ที่สวยแต่สี หามีกลิ่นหอมไม่ คนเราจะมีศีลได้ก็เพราะมีหิริ และโอตตัปปะ คือ ความละอายและเกรงกลัวบาป ทั้งบาปของตนและของคนอื่น โดยอาศัยการมีสติเตือนตนว่า “เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ ไม่ควรกระทำความชั่ว” ดังนี้เป็นต้น หรือเพราะเกรงคา ครหาของผู้อื่นว่า “ผู้นี้เป็นถึงสาวกของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงประพฤติชั่วอย่างนี้” ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีสติคิดได้อย่างนี้ จิตใจก็อ่อนโยน ไม่กล้าทำความชั่ว เมื่อไม่ทำความชั่วก็ไม่เดือดร้อน ศีลจึงมีความไม่เดือดร้อนเป็นผลเป็นอานิสงส์
นอกจากนั้นพระพุทธองค์ท่านยังทรงแสดงไว้ด้วยว่า ผู้ที่หวังได้รับความรักใคร่ สรรเสริญจากบัณฑิตทั้งหลาย ควรทำศีลให้บริบูรณ์ ศีลเป็นที่พึ่งของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา
ศีล เป็นเสมือนน้ำที่ล้างมลทิน คือ ความชั่วของสัตว์ทั้งหลาย อันน้ำ ในแม่น้ำทั้งหลายไม่อาจล้างได้
ศีล ยังผู้รักษาให้สงบเย็น ไม่ร้อนรุ่มด้วยกิเลส กลิ่นใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลม และตามลมกลิ่นนั้นเสมอด้วยกลิ่นศีลไม่มี บันไดที่จะขึ้นสู่สวรรค์ และบรรลุนิพพาน ที่จะเสมอด้วยบันได คือ ศีลหามีไม่
บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าบุคคลที่มีศีลประดับกาย วาจา ใจ ผู้มีศีล ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงความประพฤติของตน ย่อมเกิดปีติทุกเมื่อ เพราะศีลมีอานิสงส์มากมายดังกล่าว ศีลจึงเป็นรากฐานแห่งคุณความดีทั้งหลาย และกำจัดความชั่วทั้งปวง
อรรถกถา ปัญจุโปสถิกชาดก
อดีตกาล ณ ประเทศอันเป็นอันน่ารื่นรมย์ อยู่ระหว่างพรมแดนแคว้นทั้งสาม มีชายคนหนึ่งบวชเป็นฤๅษีอาศัยอยู่ในอาศรมกลางป่า ไม่ไกลจากที่อยู่ของฤๅษีมากนักมีคู่สามีภรรยานกพิราบคู่หนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่เชิงเขา และงูอาศัยอยู่ที่จอมปลวก ถัดไปไม่ไกลแถวป่าละเมาะมีหมาจิ้งจอกอาศัยอยู่ ใกล้กันมีป่าขนาดเล็กมีหมีอาศัยอยู่ สัตว์ทั้งสี่มักจะเดินทางไป ฟังเทศน์ธรรมยังอาศรมฤๅษีอยู่บ่อยครั้ง
วันหนึ่งคณะที่ฤๅษีอยู่ที่อาศรม จู่ๆก็มีสัตว์ทั้งสี่ เดินทางมาหาดาบส แล้วเอ่ยกับพระฤๅษีว่าพวกเขาทั้งสี่อยากจะบำเพ็ญตบะ ดาบสจึงเอ่ยถามด้วยความสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงมาพร้อมหน้าพร้อมตากันเช่นนี้
"เจ้านกพิราบ เพราะเหตุไรจึงขวนขวาย อดกลั้นความหิวกระหาย มาบำเพ็ญตบะ ล่ะ" "ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าบินไปกับนางนกพิราบ จู่ๆมีเหยี่ยวตัวหนึ่งใช้กงเล็บจับเข้าที่ตัวภรรยา ก่อนที่จะงอยปากปักเข้าไปที่ร่าง สุดท้ายนางก็กลายเป็นอาหารมื้ออันโอชะของนกเหยี่ยวในที่สุด เมื่อนกหนุ่มเล่าจบน้ำตาค่อยๆไหลริน จึงใช้ปีกทั้งสองข้าง ปาดไปที่ดวงตาคู่โต "ฮึกๆ" "โถ..ความรักนี้ทำให้เราลำบากเหลือเกิน คราวนี้เรายังข่มความรักไม่ได้แล้ว จะไม่ขอออกไปหากินอีกต่อไป"
"เเล้วเจ้าล่ะงู ทำไมถึงมาเช่นกัน" ฤๅษีหนุ่มเอ่ยถาม เจ้างูมีสีหน้าเศร้าสร้อย "ข้าพเจ้ากัดโคจนถึงแก่ความตาย เมื่อวานกระผมออกหาเหยื่อจนเข้าไปยังหมู่บ้านใกล้ๆชายแดน ได้พบเข้ากับแม่โคสีขาวล้วนทั้งตัว ซึ่งเป็นของนายอำเภอ ขณะที่โคกำลังนั่งคุกเข่าแถวจอมปลวก
ขณะที่โคกำลังกินหญ้าอยู่ก็เอาเขาขวิดดินเล่นไปมา ข้าพเจ้าที่อยู่ไม่ไกลเกิดตกใจเสียงฝีเท้า จึงเลื้อยเข้าไปในจอมปลวก แต่ก่อนที่จะเข้าไปในรัง หางของข้าพเจ้าถูกเหยียบเข้า ด้วยความโกรธจึงกัดเข้าไปที่ขา ในที่สุดโคจึงสิ้นชีวิตลงตรงนั้น พวกชาวบ้านได้ยินข่าวว่าโคตายแล้ว ชาวบ้านต่างพากันร้องไห้ บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ ครั้นเมื่อทุกคนกลับไปแล้ว ข้าพเจ้าเลื้อยออกมาดูหลุมศพ "เพราะความโกรธแท้ๆ ถึงได้ฆ่าโคตัวนี้ ทำให้ชาวบ้านพากันโศกเศร้า เหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้รักษาศีล ด้วยคิดว่า ความโกรธอย่าได้มาถึงเราอีกเลย"
"ส่วนข้าพเจ้าสุนัขจิ้งจอก" "เมื่อเดือนที่แล้วกระผมเที่ยวออกหาอาหาร ได้เห็นช้างที่นอนตายเข้า ด้วยความหิวโหยจึงกระโจนเข้าไปกัดที่งวง แต่รสชาตินั้นเหมือนกัดเข้าไปที่หิน ข้าพเจ้าเลยเปลี่ยนไปกัดงาแทน และสุดท้ายผมย้ายเปลี่ยนไปตรงท้องจนสุดท้ายจึงมุดเข้าไปทางทวารของช้างตัวใหญ่ เข้าไปในท้อง กัดกินเครื่องในอย่างเอร็ดอร่อย จนกระทั่งอิ่ม ยามเมื่อท้องตึงหนังตาก็หย่อน
ข้าพเจ้าจึงนอนหลับอยู่ในนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ซากช้างที่นอนตากแดดตากลมก็ค่อยๆแห้ง ส่งผลให้ทวารปิดสนิท และสุนัขที่อยู่ในท้องอย่างผม ก็ติดอยู่ภายในเป็นเวลานาน จนร่างกายผ่ายผอม เมื่อเวลาผ่านไป ฝนเม็ดใหญ่ได้ตกลงมาอีกครั้ง จึงออกมาได้ "เพราะความโลภแท้ๆ ข้าพเจ้าต้องเกือบมาตายที่นี่ จากนี้เราจะไม่ขอหากินละ ก่อนเดินทางไปยังอาศรม บำเพ็ญตบะ เพื่อข่มความโลภของตน"
"และสุดท้ายเจ้าหมี" พระฤๅษีเอ่ยถามขึ้น "ข้าพเจ้านั้นดูหมิ่นถิ่นที่เคยอยู่ของตนออกจากป่า เดินไปยังหมู่บ้านชายแดนแคว้นมัลละ เมื่อกลุ่มชาวบ้านได้ยินข่าว ต่างถือธนูและพลอง
ไล่ตีจนข้าพเจ้าหัวแตกเลือดไหลอาบไปทั้งตัว" เจ้าตัวได้แต่ถอนหายใจก่อนเอ่ย "ทุกข์นี้เกิดเพราะอำนาจความโลภของข้าพเจ้าแท้ๆเลยสภาพเป็นเช่นนี้ จึงเดินเข้ามายังที่อาศรมของท่าน"
"พวกเจ้าเล่าเรื่องที่เจอมาจบแล้วใช่ไหม" "ครับ" สัตว์ทั่งสี่พยักหน้า "เราขอโทษพวกเจ้าทั้งสี่ด้วย" "เพราะเหตุใดท่านถึงเอ่ยคำขอโทษ" สัตว์ทั้งสี่ เอ่ยถามอย่างสงสัย "ก่อนหน้านี้ตัวของเรานั้นได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่งอยู่ในอาศรมของฉัน ท่านได้บอกให้ทราบทุกอย่าง ถึงอย่างนั้นฉันก็ไม่ได้กราบไหว้ท่าน นอกจากนั้นก็ไม่ได้ถามถึงนามของท่านเลย เพราะเหตุนั้น ฉันจึงรักษาศีล ด้วยคิดว่าทิฏฐิมานะอย่าได้มาถึงฉันอีกเลย"
"เมื่อวันก่อน ขณะเมื่อเรากำลังนอนอยู่ในศาลา ได้มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามายังอาศรมและนั่งอยู่บนอาสนะใต้ต้นไม้ เมื่อเราตื่นมาก็เห็นเข้า จึงเดินปรี่เข้าไปหาท่าน พร้อมกับด่าว่าอย่างเสียๆหายๆ ไอ้สมณะหัวโล้น มานั่งเหนือกระดานของข้าทำไม" ฤๅษีมีท่าทีรู้สึกผิดก่อนจะเล่าต่อ
"พระปัจเจกที่นั่งหลับตาอยู่ ค่อยลืมตาขึ้น ก่อนตรัส" "พ่อคนดีเหตุไร ถึงทำเช่นนี้ ท่านนั้นมีทิฏฐิมานะมากเกินไปลดเถิดสิ่งเหล่านี้จะส่งผลร้ายแก่ท่าน ตัวข้าพเจ้านั้นบรรลุปัจเจกพุทธญาณแล้วในชาตินี้ เรานั้นมีเรื่องที่จะบอกท่านคือ พระสัพพัญญูพระพุทธเจ้า ในชาติหน้าที่มีนามว่า สิทธัตถะ และมีอัครสาวกทั้งสี่ ท่านจะมัวแต่เป็นคนหยาบคาย เพื่ออะไรเล่า ไม่สมควรแก่ท่านเลย" แต่กระนั้นแทนที่เราจะสำนึกได้ กลับมีท่าทีเมินเฉยไม่แสดงความเคารพ ก่อนที่พระองค์จะเอ่ย ฤๅษีผู้นี้ไม่แม้แต่เคารพ มิหนำซ้ำไม่ถามด้วยว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อไร" ก่อนที่พระองค์จะทรงเงียบไปสักครู่ก่อนตรัส"เธอไม่รู้ถึงความใหญ่หลวงและความใหญ่โตของเรา หากเธอมีความสามารถถึงก็จงลอยไปในอากาศเหมือนเราสิ" จากนั้นพระองค์ก็เหาะขึ้นไปในอากาศ โปรยฝุ่นที่เท้า ให้ลงในชฎาของฤๅษี และเดินทางไปสู่หิมพานต์ตอนเหนือดังเดิม ครั้นเมื่อฤๅษีเห็นพระปัจเจกพุทธญาณ ก็อ้าปากค้าง ตระหนักได้ว่าคนตรงหน้า นั้นคงจะเป็นจริงก่อน ข้านั้นหยาบคายจริงๆที่ทำเช่นนั้น"
เมื่อพระปัจเจกพุทธเสด็จไปแล้ว ดาบสถึงคิดได้ว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะเหมือนกัน มีสามารถลอยอากาศได้ "เรานั้นที่เชื่อว่าเก่งที่สุดติดอยู่ในทิฏฐิมานะ กลับมิได้กราบเท้าพระองค์ ที่กรุณามาเตือน มีอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ได้ถามคือ เราจะเป็นพระพุทธเจ้าได้เมื่อไร "
"ศีลและความประพฤติเท่านั้นที่เป็นใหญ่ในโลกนี้ แต่ว่าทิฏฐิมานะของเราจะพาไปหานรกได้ ตอนนี้เรายังข่มมานะนี้ไม่ได้ จะไม่ออกไปหาผลไม้"
พระฤๅษีและสัตว์เหล่านั้น ต่างพากันไปที่อยู่ของตนนั่งบำเพ็ญตบะ พระฤๅษีมีฌานไม่เสื่อมคาย เมื่อสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นในพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า สัตว์พวกนั้นตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ได้ไปสวรรค์ตามๆ กัน
ณ พระวิหารเชตวัน พระศาสดาที่ตอนนี้นั่งประทับเหนือพระที่นั่งท่ามกลางบรรดาพระภิกษุสงฆ์ในธรรมสภา ทอดพระเนตรดูด้วยพระหฤทัยอันอ่อนโยน ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย พวกเธอพากันบำเพ็ญ หรือพระเจ้าพระเจ้าข้า พวกเธอกระทำดีแล้ว การบำเพ็ญนี้เป็นเชื้อสายแห่งหมู่บัณฑิตแต่ครั้งก่อน ที่จริงบัณฑิตแต่ครั้งก่อนพากันบำเพ็ญเพื่อข่มกิเลสมีราคะ
นกพิราบในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ หมีได้มาเป็น พระกัสสปะ
หมาจิ้งจอกได้มาเป็น พระโมคคัลลานะ งูได้มาเป็น พระสารีบุตร
ส่วนดาบสได้มาเป็น เราตถาคต แล.
นอกจากนี้อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีลยังได้ส่งผลประโยชน์และความสุข ได้อีก ๓ ประการ ได้แก่
ประการที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในโลกนี้ และความสุขในโลกนี้ คือ ความสุขในปัจจุบัน คือ ตัดความกังวลวุ่นวายในภารกิจงานเสียได้ เปิดโอกาสให้ตนได้ชำระกาย วาจา และใจ ให้สะอาดหมดจด เพิ่มพูนบุญกุศลให้แก่ตน ลด ละ เลิก กิเลสในตนให้เบาบาง ได้รับความบันเทิงใจ ว่าตนได้ทำความดี และได้รับการยกย่องจากคนทั่วไป
ประการที่ ๒ สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ในโลกหน้า และความสุขในโลกหน้า คือ ความสุขในโลกสวรรค์ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล เมื่อละสังขารไปแล้ว ย่อมประสบสุขในโลกสวรรค์ตามสมควรแก่การปฏิบัติตน ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงตรัสแก่นางวิสาขาในวิสาขาสูตร ว่าอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ที่บุคคลเข้าจำแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก มีผลมาก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความเจริญแผ่ไพศาลมาก การที่สตรีหรือบุรุษผู้เข้าจำอุโบสถศีล ที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล้ว หลังจากแตกกายทำลายขันธ์ไป ยังได้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
ประการที่ ๓ ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์สูงสุด คือ นิพพาน และความสุขอันสูงสุด คือ ความสุขอันเกิดแต่นิพพาน ปรมัตถประโยชน์ คือ การดับทุกข์โดยไม่เหลือ ถือเป็นประโยชน์ อันสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาตน ผู้รักษาอุโบสถศีลแม้ไม่อาจที่จะบรรลุได้ในชาตินี้ แต่หากหมั่นประกอบแต่ความดี ฝึกฝนอบรมตนตามหลักศีล สมาธิ และปัญญา ไปเรื่อยๆ อย่างไม่ย่อท้อ ย่อมสามารถที่จะบรรลุประโยชน์สูงสุดทั้ง ๓ ประการ นี้ได้
ศีลจึงเป็นที่สำคัญยิ่ง ทั้งสำหรับนักบวชและฆราวาสผู้ครองเรือน ซึ่งปรารถนาความสุขอันยอดเยี่ยมในกาลปัจจุบันและอนาคต ผู้ต้องการสะสมบุญบารมี เพื่อการรู้ธรรมเห็นธรรมและบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องใส่ใจศึกษาหาความรู้เอาไว้ พร้อมกับการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะเกิดอานิสงส์อันยิ่งใหญ่แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา จึงเปรียบเสมือนได้ว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้เลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee