แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๖ DNA แห่งโรคทางใจที่มาจากอุปกิเลสต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทันด้วยสติสัมปชัญญะ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ชีวิตของเราที่ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา มีอยู่ ๒ อย่าง มีใจอย่างนึง มีกายอีกอย่างนึง การประพฤติปฏิบัติเราต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะได้เป็นทางสายกลาง ใจนั้นเป็นนามธรรม กายนั้นเป็นรูปธรรม เราต้องพัฒนา ๒ อย่างนี้ให้สมดุลกัน เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุ เพราะสิ่งเหล่านี้มีสิ่งต่อไปนั้นถึงจะมี ที่เราพากันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น เพราะเรายังไม่รู้เหตุไม่รู้ปัจจัย เราถึงได้พากันทำทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูก ชีวิตของเราทุกคนถึงได้เป็นแต่เพียงคน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เราทุกคนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ เราได้รับ DNA แห่งความไม่รู้มาจากญาติๆบรรพบุรุษเป็นการดำเนินชีวิต เราทุกคนได้ครองธาตุครองขันธ์ครองอายตนะจากความไม่รู้ จากอวิชชาจากความหลง มันเป็น DNA ของอวิชชาของความหลง จึงได้มีศัพท์ขึ้นมาว่า โรค คำว่า โรค ศัพท์ของชาวบ้านพูดกันหมายถึงความเจ็บป่วยเจ็บไข้ไม่สบายที่มีอยู่ด้วยกันหลายโรคสารพัดโรค ผู้ที่เอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะครองใจ จึงพากันมีโรคเป็นโรค เป็นโรคทางกายโรคทางใจ จึงใช้คำว่าโรค นี้มันเป็นอวิชชาเป็นความหลง มันเป็นสาเหตุที่เราไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยถือเอาตัวตนเป็นโลก
ในทางการแพทย์ มีการค้นพบว่า ร่างกายของแต่ละคน ล้วนมีโรคฝังติดตัวกันมาแต่กำเนิด หลังจากคลอดแล้วโรคเหล่านี้ก็รอวันที่จะปะทุขึ้นมา มีทั้งโรคเกิดจากตับ จากไต จากอวัยวะภายในและอวัยวะภายนอก ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งค้นพบว่าโรคร้ายเหล่านั้นมันฝังตัวอยู่ลึกในรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA), อาร์เอ็นเอ (RNA) ถ้าเจ้าตัวไม่ระมัดระวัง โรคร้ายที่ฝังตัวอยู่ก็จะปะทุขึ้นมาได้ง่าย อาจทำให้ร่างกายพิการ หรือถึงแก่ชีวิตได้
ความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีสัพพัญญุตญานรอบรู้ในสิ่งทั้งปวงรวมทั้งเรื่องทางการแพทย์ด้วย พระองค์ตรัสถึงสาเหตุสำคัญแห่งการอาพาธไว้ ๘ ประการ ดังที่ปรากฎอยู่ในอาพาธสูตร ดังนี้ (๑) อาพาธอันเกิดจาก "ดี" เป็นสาเหตุ (๒) อาพาธอันเกิดจาก "เสมหะ" เป็นสาเหตุ (๓) อาพาธอันเกิดจาก "ลม" เป็นสาเหตุ (๔) อาพาธอันเกิดจาก "ดี,เสมหะ,ลม ประชุมกัน" (๕) อาพาธอันเกิดจาก "ฤดูแปรปรวน" (๖) อาพาธอันเกิดจาก "การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ" (๗) อาพาธอันเกิดจาก "การถูกทำร้าย" (๘) อาพาธอันเกิดจาก "วิบากกรรม"
สาเหตุแห่งการอาพาธทั้ง ๘ ประการที่กล่าวมานี้สามารถสรุปให้เหลือ ๒ ประการได้ดังนี้ คือสาเหตุทางกาย และสาเหตุทางใจ โดย ๗ ประการแรกถือเป็นสาเหตุทางกายส่วนข้อที่ ๘ คือ วิบากกรรมนั้นถือว่าเป็นสาเหตุทางใจ เพราะเป็นสาเหตุที่เกิดจากบาปที่อยู่ในใจส่งผล ให้เกิดการอาพาธด้วยโรคต่างๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่าโรคทางกายที่ว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังไม่ร้ายกาจ ยังมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในใจ แต่วิทยาการทั่วไปมองไม่เห็นเรียกว่า กิเลสๆ เป็นโรคร้ายฝังอยู่ในใจที่คอยบีบคั้นให้มนุษย์คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วผลของความชั่วทำไว้ก็ไม่หายไปไหน มันได้กลายเป็นมารร้ายย้อนกลับมา ตามจองล้างจองผลาญเราข้ามภพข้ามชาติ ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในอนาคต เด็กเมื่อแรกเกิดดูเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จริงๆ แล้วมีเชื้อกิเลสอยู่ในใจ รอเวลากำเริบเมื่อพบเหยื่อล่อ เหยื่อของโลกก็คือกามคุณ ๕ นี่คือวงจรของกฎแห่งกรรมที่มันมีอยู่ประจำโลก โดยมีกิเลสในใจแต่ละคนเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้นั้นเข้าไปติดอยู่ในวงจร
จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง ห่อหุ้ม เอิบอาบ แช่อิ่ม บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว แต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอุปนิสัย เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์นับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ มี ๑๖ ลักษณะเรียกว่า อุปกิเลส ๑๖ ซึ่งเป็นเหมือนกับลูกหลาน บริวาร สังกัดในกิเลส ๓ ตระกูล แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากดั่งพี่น้อง แต่อาจจะมีระดับต่างกัน ได้แก่
ตระกูลโลภะ ๑. อภิชฌาวิสมโลภะ จ้องละโมบ อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว
ตระกูลโทสะ ๒. พยาบาท คิดหมายปองร้าย ทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์คิดร้าย มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๓. โกธะ โกรธ คือ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจหรือไม่ปลื้ม ตรงกับคำว่า “ฉุน” หรือ “กริ้ว” มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
๔. อุปนาหะ ผูกโกรธ คือ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย ซึ่งตรงกับคำ ว่า “ตึง” เช่นประโยคที่ว่า “น้องสาวกับพี่สาวตึงกันมานานแล้ว” เป็นต้น การผูกโกรธ ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ
ตระกูลโมหะ ๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน หมายถึง ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น เป็นคนไม่รู้จักบุญคุณ, ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู"
๖. ปลาสะ ตีเสมอ หมายถึง คือการตีเสมอ ยกตัวเทียมท่าน ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆ ที่ตนต่ำกว่าเขา เช่น แมวคิดตีเสมอราชสีห์ เป็นต้น ตรงกับคำว่า “ยกตนเทียมท่าน”
๗. อิสสา ริษยา หมายถึง กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า เห็นเขาได้ดี ทนไม่ได้ เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี ริษยามีหลายระดับ ถ้ามีน้อยก็เพียงไม่สบายใจ ถ้ามีมากก็จะไปผลาญทำลายความดีผู้อื่น
๘. มัจฉริยะ ตระหนี่ ตรงกับที่พูดว่า “ถี่เหนี่ยว หรือ ขี้เหนียว” เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใครแม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม ซึ่งความตระหนี่นี้เป็นคนละเรื่องกับประหยัด ความตระหนี่นั้นยังหมายรวมไปถึงตระหนี่ชื่อเสียง หวงความดีความชอบผู้อื่น หวงวิชาความรู้
๙. มายา เจ้าเล่ห์, มารยา หมายถึง แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู เจ้าเล่ห์หลอกลวง ไม่จริงใจ พยายามแสดงบทบาทตัวเองเกินความจริง หรือจริงๆ แล้วเรามีน้อยแต่พยายามแสดงออกให้คนอื่นเข้าใจว่ามั่งมี เช่น ด้วยการแต่งตัว กินอยู่อย่างหรูหรา หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น
๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด หมายถึง หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง แฝงเจตนาให้ผู้อื่นเกรงกลัวหรือเลื่อมใส ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเอาออกมาอวด เช่น ถ้าอวดทรัพย์ ก็เรียกว่า อวดมั่งอวดมี ถ้าอวดความรู้ ก็เรียกว่า อวดรู้ เป็นต้น
๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ จิตใจแข็งกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์ ความดื้อมี ๒ แบบ ได้แก่ ดื้อด้าน เรียกว่า “คนหัวแข็ง” ส่วนดื้อดึง จะเรียกว่า “คนหัวรั้น” คนหัวดื้อในโลกนี้ อาจแบ่งใหญ่ๆ ได้เป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ดื้อเพราะความโง่หรือความขี้เกียจ จัดเป็นพวกดื้อด้าน ๒. ดื้อเพราะทิฏฐิมานะหลงตัวเองว่ารู้แล้ว จัดเป็นพวกดื้อดึง ๓. ดื้อเพราะโทสะโกรธง่าย จัดเป็นพวกบ้า
๑๒. สารัมภะ แข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม คือการแข่งดี มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้
๑๓. มานะ ถือตัว, ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง” “จองหอง” คือ สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา
๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก คือ ตีคุณค่าในตัวผู้อื่นให้มีราคาถูกหรือน้อยลง อติมานะก็เปรียบเหมือนพี่ของมานะ มานะนั้นเพียงถือตัว ส่วนอติมานะ จะดูหมิ่นกดคุณค่าของผู้อื่นเข้าไปอีก
๑๕. มทะ มัวเมา เมาในซึ่งต่างจากอาการเมาเหล้า ซึ่งจะเรียกว่า “มึนเมา” เท่านั้น แต่มัวเมานี้เป็นความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี ๔ ประการ ได้แก่ ๑. เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง ๒. เมาในวัย ๓. เมาในความแข็งแรง ๔. เมาในทรัพย์
๑๖. ปมาทะ คือ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก หลงใหลในอบายมุข เช่น ขลุกอยู่ในการพนัน เป็นความเมาที่ยิ่งกว่า มทะ ซึ่งจะเลินเล่อ, หรือชะล่าใจ ไม่คิดให้รอบคอบ เป็นอาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา
โลกนี้ได้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของโลกของดวงอาทิตย์ของดวงเดือนดวงดาว ด้วยเหตุด้วยปัจจัยที่มีฤดูกาลต่างๆ ที่เป็นกลางวันกลางคืน เราทุกคนให้พากันรู้นะ เราจะได้พัฒนาใจพัฒนากายไปพร้อมๆ กัน ด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพราะเราจะได้สร้างเหตุสร้างปัจจัยให้เข้าถึงความดับทุกข์ความไม่มีทุกข์ ด้วยปัญญาที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องว่า สภาวะธรรมนี้ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หากเป็นเหตุเป็นปัจจัยติดต่อต่อเนื่อง เป็นกระบวนการเป็นกระแส เหมือนน้ำหยดๆ ถี่ๆ จนเป็นสายน้ำ เหมือนกระแสไฟฟ้ามันส่งกระแสถี่ๆๆ จนเป็นไฟฟ้า เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องเหตุเรื่องปัจจัย อายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมันเป็นขั้วบวกขั้วลบ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เราจะได้หยุดอวิชชาหยุดความหลง ด้วยเหตุด้วยปัจจัยที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้หยุดไวรัสที่มันทำให้หมู่มวลมนุษย์เป็นโรคทางกายเป็นโรคทางใจ ด้วยความเข้าใจด้วยการเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อใจของทุกท่านทุกคนจะได้เป็นพุทธะ มีพุทธะเพื่อกายของเราจะได้เป็นเพียงวัตถุ ไม่เป็นโลกไม่เป็นอวิชชาไม่เป็นความหลง
หมู่มวลมนุษย์นี้จะได้ใช้ศัพท์ใหม่ว่าธรรมะ ธรรมะนี้หมายถึงใจของเรานี้สละเสียซึ่งอวิชชาซึ่งความหลง ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เรียกว่าธรรมะ ที่ว่าโลกจะได้เป็นเพียงวัตถุ เป็นวัตถุที่บริสุทธิ์ที่ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีแต่ธาตุแต่ขันธ์แต่อายตนะที่บริสุทธิ์ ใจของพระพุทธเจ้าท่านจึงมีเพียงธรรมะ ไม่มีโรคทางกายไม่มีโรคทางใจ ใจของท่านจึงมีแต่สติความสงบมีแต่สัมปชัญญะคือธรรมะ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราน่าจะใช้ศัพท์ว่า พัฒนาธรรมพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เราไม่ต้องมาใช้ศัพท์ว่าโลก เปลี่ยนเป็นพัฒนาธรรมพัฒนาวัตถุ ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้มันเป็นเพียงปริยัติ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้ค้นคว้าเรื่องเหตุเรื่องปัจจัยเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อหยุดเหตุหยุดปัจจัย เพราะการเวียนว่ายตายเกิดมาจากเหตุปัจจัย ที่จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ก็เกิดมาจากเหตุจากปัจจัยของเราของท่านนี้เอง ซึ่งการประพฤติการปฏิบัติ ถือว่าเป็นเรื่องของเราไม่ใช่เรื่องของคนอื่น การปฏิบัตินั้นถึงเริ่มต้นด้วยเหตุด้วยปัจจัย ถือเป็นมรรคเป็นอริยมรรคในปัจจุบันของเราทุกๆ คน อดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ ปัจจุบันนี้เป็นการประพฤติการปฏิบัติ
ใจของเรานั้นมันคิดได้ทีละอย่าง เหมือนสายน้ำเหมือนกระแสไฟฟ้า เมื่อเราหยุดอวิชชาหยุดความหลง ใจของเราก็จะมีพุทธะ ใจของเราก็จะเป็นพุทธะ ถ้าเราทำติดต่อต่อเนื่องกันก็จะเป็นสายน้ำเป็นแม่น้ำเป็นทะเลเป็นมหาสมุทร เพราะใจของเราคิดได้อย่างเดียว ให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันเข้าใจ เบื้องต้นถึงมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง หยุดตรึกในเรื่องของกามในเรื่องของพยาบาท เราทำอย่างนี้ติดต่อต่อเนื่องจนเป็นสายน้ำ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ตัดอดีต เป็นความว่างจากนิติบุคคลจากตัวตน ตัดความเป็นมนุษย์จากนิติบุคคลจากตัวจากตน เพราะปัจจุบันก็จะมีแต่พุทธะคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม ใจของเราจะเข้าสู่ความเป็นธรรม กายของเราจะเป็นความบริสุทธิ์
ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนหมู่มนุษย์ที่เกิดมาต้องพัฒนาปัญญาสัมมาทิฏฐิ ด้วยการเรียนหนังสือปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องโดยภาคบังคับ เพื่อให้หมู่มวลมนุษย์มีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราถึงได้มีการเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ได้มีการเรียนนักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพื่อให้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทั้งฝ่ายพุทธะทางจิตทางใจทั้งฝ่ายพุทธะทางวัตถุ การพัฒนาใจกับการพัฒนาวัตถุจึงไปพร้อมๆ กัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นสภาวะที่เกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย ที่มีความไม่รู้ที่เราเรียกกันว่าโลก โลกนั้นคือความไม่รู้ ถึงมีโรคทางกายโรคทางใจน่ะ ธรรมะเพื่อจะได้หยุดโลกทางใจ เพื่อจะได้หยุดโลกทางกาย การศึกษาการปฏิบัติของศาสนาพุทธมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นประธานตลอด ๔๕ พรรษา ท่านได้วางหลักการหลักวิชาการเพื่อเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เป็นพระธรรมเป็นพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ถึงจะมากมาย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็จริง แต่ทุกอย่างย่อลงมาสู่สติสู่สัมปชัญญะในปัจจุบัน ย่อลงมาที่ใจที่กายของเราในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนจึงต้องมีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม ถึงแม้โลกนี้จะกว้างใหญ่ไพศาล พระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็จริง ถ้าเรามาหาสติมาหาสัมปชัญญะในปัจจุบัน การประพฤติการปฏิบัติเราก็จะเป็นของง่าย เราจะไม่ได้พากันงง การปฏิบัติธรรมของเราเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
ให้เราทุกคนพากันเข้าใจความหมายในเรื่องกายเรื่องใจ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ต้องสละคืนซึ่งนิติบุคคลตัวตน ถ้าเราไม่สละคืนซึ่งนิติบุคคลตัวตนนั้นถือว่าเราถือสีลีพพตปรามาส เป็นผู้ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องปรับทั้งกายทั้งใจเข้าสู่ธรรมะ ปรับใจเข้าหาเวลา เพราะใจของเรามันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวตน ที่มันลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ ใจของเราน่ะมันเพลิดเพลินในกามในพยาบาท ทุกท่านทุกคนถึงต้องมีสติมีสัมปชัญญะให้มันติดต่อต่อเนื่อง นี่คือการอบรมบ่มอินทรีย์ นี่คือการเจริญมรรค เราต้องได้รับ DNA จากพระพุทธเจ้ารับ DNA จากพระอรหันต์ สิ่งที่มันไม่ดีทั้งกามทั้งพยาบาท พระพุทธเจ้าไม่ให้เราตรึกไม่ให้เรานึกไม่ให้เราคิดนะ เราต้องรับ DNA จากพระพุทธเจ้าทางจิตใจและทางวัตถุ เพื่อเราจะได้แบรนด์เนมทุกๆ อย่าง ทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ เราจะเอาแบรนด์เนมทางกายทางวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอาแบรนด์เนมทางจิตใจด้วย ต้องถอดแบบฉบับทั้งทางกายและทางใจด้วยสติด้วยความสงบด้วยสัมปชัญญะคือธรรมะ สิ่งที่เป็นอดีตที่หลายพันปีมาแล้ว ถ้าเราเอามาเป็นแบรนด์เนมที่เป็นธรรมทั้งกายทั้งใจน่ะ มันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ เพราะความถูกต้องนั้นมิใช่เรื่องอดีตไม่ใช่เรื่องอนาคตไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน ความถูกต้องคือความถูกต้อง เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้องตลอดกาลตลอดเวลา ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลาเป็นการพัฒนาหมู่มวลมนุษย์ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องไม่ตกต่ำ ท่านพุทธทาสภิกขุได้ประพันธ์เป็นคำพูดอมตะว่า เราเป็นมนุษย์ได้เพราะใจสูง…
ทุกท่านทุกคนต้องพากันสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เพื่อให้สติเป็นความสงบเพื่อให้เป็นสัมปชัญญะ เราจะพากันแก้ปัญหาได้ เราหยุดนิติบุคคลหยุดตัวหยุดตน ถามว่าเขาบรรลุธรรมเขาบรรลุยังไง การบรรลุธรรมก็คือการที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วพากันปฏิบัติถูกต้อง ที่มีสติคือความสงบ ที่มีแต่สัมปชัญญะคือธรรมะที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เรียกว่าการบรรลุธรรม เพราะไม่มีตัวไม่มีตน ก็มีแต่ธรรมะ การบรรลุธรรมนั้นเราฟังพระพุทธเจ้า สละคืนเสียซึ่งตัวซึ่งตน ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มีแต่ขบวนการทางเหตุปัจจัยที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม จึงเป็นของง่าย เมื่อง่ายอย่างนี้ ทำไมไม่ค่อยมีใครได้บรรลุกัน? จะบรรลุได้อย่างไร ก็เพราะมีความเห็นไม่ถูกต้องเข้า เข้าใจไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เลยเป็นของยาก เพราะเราไปเอาความถูกต้องเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้บริหารตนให้ถูกต้อง ไม่ได้บริหารส่วนรวมให้ถูกต้อง โครงสร้างนั้นดีอยู่แล้ว อย่างตำแหน่งเราคือความเป็นมนุษย์ คือผู้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง แต่เราปฏิบัติไม่ถูกต้อง เอาความเป็นมนุษย์เป็นตัวเป็นตน มันก็ไปไม่ได้ การปกครองหมู่มวลมนุษย์จึงมีชาติศาสน์กษัตริย์ เมื่อเราเป็นตัวเป็นตน มันก็ไปไม่ได้ เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดจึงเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่น
ชาติหมายถึงที่ทุกคนได้ร่างกายมาเป็นมนุษย์ มนุษย์คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาทางวัตถุทางใจไปพร้อมๆ กัน ถึงเรียกว่ามนุษย์ ถ้าเราทำตามความไม่รู้ตามอวิชชาตามความหลงนั้น เรียกว่าคน มันเป็นความหลง
ศาสน์คือพระศาสนา พระศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือพระศาสนา พระศาสนาไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่คนคือการพัฒนามนุษย์ทางใจพัฒนาทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าพระศาสนา โลกนี้มีพระศาสนาเยอะ ประเทศไทยมีศาสนาหลักๆ อยู่พอสังเขปอย่างนี้ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ฮินดู ซิกข์ ศาสนาทุกศาสนามีเป้าหมายอันเดียวกันคือไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนคือธรรมะ ทุกท่านทุกคนต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้ทุกคนมีสติความสงบ มีสัมปชัญญะคือปัญญา พระศาสนามีความเห็นเหมือนๆ กัน ทุกท่านทุกคนก็พากันมาแก้มาปฏิบัติที่ตัวของเราเองด้วยธรรมะ เราจะไม่ปกครองตัวเองด้วยอวิชชาด้วยความหลง ที่มันเป็นโลกธรรมของเรา เราต้องปกครองตัวเองด้วยพระศาสนา เรียกว่าธรรมคุ้มครองโลก
กษัตริย์ก็ได้แก่จิตใจที่มีสติคือความสงบ ได้แก่จิตใจมีสัมปชัญญะมีทั้งความสงบมีทั้งปัญญา เศียรของพระพุทธรูปที่แหลมๆ เปรียบเหมือนปัญญาสัมมาทิฏฐิ โลกนี้ถึงปกครองด้วยชาติศาสน์กษัตริย์ บางประเทศก็มีประธานาธิบดี โลกนี้ถึงปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ พัฒนาทั้งวัตถุพัฒนาทางใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่ารัฐธรรมนูญ การพัฒนามนุษย์ในโลกนี้เขาต้องพัฒนาหมู่มวลมนุษย์ให้เข้าถึงให้เข้าสู่รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยก็ยังเป็นสีดำสีเทาอยู่ สังคมนิยมประเพณีนิยมก็ยังเป็นสีดำสีเทาอยู่ เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้อง ไม่ได้ไปตามความชอบความไม่ชอบของใคร เราจะเอาหมู่คนส่วนมากมาออกกฎหมาย มันก็ยังเป็นความไม่ถูกต้อง กฎหมายนั้นก็ยังเป็นสีดำสีเทาอยู่ กฎหมายนั้นก็จะเป็นเผด็จการ กฎหมายมันต้องเป็นธรรมเป็นความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์ ให้ความเป็นธรรมแก่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย หยุดให้มีการฆ่าสัตว์ เอาของคนอื่นสัตว์อื่น ไม่หลงในกาม ไม่หลงในตัวไม่หลงในตน ไม่เอาความสุขทางวัตถุเป็นที่ตั้ง พัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน ด้วยมีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะคือธรรมะ ชีวิตของเราจะได้ดำเนินสู่ทางสายกลาง
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะการประพฤติการปฏิบัติของเราทุกคน มันเริ่มต้นที่ปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนต้องมีสติคือความสงบต้องมีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม
มนุษย์เราต้องพากันนอนพากันพักผ่อนวันละ ๖ ชั่วโมง พระพุทธเจ้าท่านทรงบรรทมวันละ ๔ ชั่วโมง พระอรหันต์ท่านทรงพักผ่อนทางกายทางสมอง ๕ ชั่วโมง อย่างมากก็ ๖ ชั่วโมง สำหรับบรรพชิตนักบวชควรจะนอนวันละ ๖ ชั่วโมงไม่เกิน ๗ ชั่วโมง สำหรับประชาชนคนที่ไม่ได้บรรพชาอุปสมบทมีงานเยอะควรจะนอน ๖-๘ ชั่วโมง สำหรบเด็กเล็กๆ ควรจะนอน ๘-๑๒ ชั่วโมง เมื่อเราทุกคนตื่นจากการนอนต้องพากันมีสติมีสัมปชัญญะ ความเคยชินที่มันเป็นตัวเป็นตน ทุกท่านทุกคนก็พากันมีสติมีสัมปชัญญะผ่อนกำลัง พุทธเจ้าท่านถึงให้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมด้วยหายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อเราจะได้มีสติรู้ตัว หายใจออกยาวๆ ให้สบาย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่กลับมา ก็ให้กลั้นลมหายใจ เพียงแค่เราหยุดลมหายใจ คนเราใจมันจะขาด มันก็กลับมา เพื่อเราทุกท่านทุกคนจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ใจของเราทุกคนมันคิดได้ทีละอย่าง มันคิดได้ไม่หลายอย่าง เมื่อเรากลับมาหาสติหาสัมปชัญญะ ใจของเราก็สงบ ใจของเราก็มีพุทธะ เพราะทุกท่านทุกคนจะได้ให้อาหารใจคือธรรมะ ที่ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราทุกคนจะได้อยู่กับความว่างเปล่าจากนิติบุคคลจากตัวจากตน การดำรงชีพของเรามันจะได้ก้าวไปด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติที่เป็นธรรมปัจจุบันธรรมในปัจจุบัน เราจะได้พัฒนาชีวิตของเราที่เป็นทางสายกลางที่ได้ให้อาหารกายและอาหารใจไปพร้อมๆ กัน
ทุกคนจะต้องพากันมาทำความเข้าใจ ทุกคนก็พากันมาประพฤติปฏิบัติตัวเอง เหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนเหมือนที่พระอรหันต์สอน พระพุทธเจ้าท่านสอนตัวเอง 100% ปฏิบัติเอง 100% ทรงบอกสอนผู้อื่นเพียงนิดเดียว เหมือนป่าทั้งป่าที่มีใบไม้เยอะ ทรงสอนหมู่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์เหมือนกับใบไม้ในกำมือที่เอามาใช้ดับทุกข์ได้จริง เมื่อเราบอกตัวเองได้สอนตัวเองได้ จึงสามารถไปบอกผู้อื่นได้ เหมือนที่หลวงพ่อชาท่านบอกว่าเวลาที่ท่านเทศน์สอน ท่านสอน ผู้อื่นเพียง 5% แต่สอนตัวเอง 100%
"ความดี ความถูกต้อง ธรรมวินัย" เท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรนั้นน่ะ "ศีล คือความรับผิดชอบ สมาธิ คือความหนักแน่น ปัญญา คือรู้จักรู้แจ้ง ปล่อยวาง เสียสละ อบรมบ่มอินทรีย์ พัฒนาตัวเองอย่างนี้ตลอดไป"
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee