แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประชาชนคนที่เกิดมาในโลกนี้ ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ทุกชาติทุกศาสนาที่เกิดมา ส่วนใหญ่ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่มีความมั่นใจ 100% ในการประพฤติในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เบื้องต้นต้องมีการเรียนการศึกษา ผู้ที่รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์นั้น ได้เเก่ พระพุทธเจ้า ผู้บำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ ที่ได้มาตรัสรู้ มาบอกพสกนิกรชาวโลก ทั้งฝ่ายบรรพชิต เเละ ฆราวาสผู้ครองเรือน ให้พากันประพฤติพากันปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ สำหรับบรรพชิต ก็ถือศีลพรหมจรรย์ระดับสูง ไม่มีคู่ครอง ไม่มีขั้วบวก ไม่มีขั้วลบ ระดับฆราวาสผู้ครองเรือน คือ ศีล ๕ เดือนหนึ่งให้ถือศีลแปด ๔ ครั้ง คือ ปฏิบัติตนไม่มีคู่ครอง
การประพฤติการปฏิบัตินี้นั้น เป็นเรื่องของใจของเจตนา ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจตั้งเจตนาสมาทานหยุด อย่างบรรพชิต ไม่มีคู่หญิง ไม่มีคู่ชาย เรียกว่าไม่มีขั้วบวก ขั้วลบ หยุดทั้งทางกาย หยุดทั้งทางใจ เพราะคนเราจะมีเซ็กซ์ทั้งสองอย่าง คือ มีเซ็กซ์ทางร่างกายอันหนึ่ง มีเซ็กซ์ทางจิตใจ ทุกท่านทุกคนฝ่ายบรรพชิต ต้องไม่มีเซ็กซ์ทั้งทางร่างกายเเละทางจิตใจ ถึงจะเรียกว่า บรรพชิต ถึงจะเรียกว่า นักบวช สำหรับฆราวาส รักษาศีล ๕ มีสามีได้คนเดียว มีภรรยาได้คนเดียว ถ้ามีหลายคน มันยุ่ง มันไม่สงบ มีเมียคนเดียว มีผัวคนเดียวก็ถือว่าวุ่นวายอยู่เเล้ว ไม่ต้องมีเล็ก มีน้อย มีอะไร เพื่อความไว้วางใจซึ่งกันเเละกัน เพื่อครอบครัวจะได้สงบอบอุ่น เเม้เเต่มีเซ็กซ์ทางจิตใจ ผู้ซึ่งรักษาศีล ๕ ก็ต้องไม่มีเซ็กซ์ทางจิตใจกับหญิงอื่นกับชายอื่น ถึงจะชายอื่นหล่อ หรือ หญิงอื่นจะสวยอย่างนี้ เราก็ไม่ไปยินดี ถ้าเรายินดี ก็ถือว่าเรามีเซ็กซ์ทางใจ มีเซ็กซ์ทางอารมณ์ อย่างนี้ไม่ได้ ถือว่าผิดศีล ๕ ทางจิตใจ
วันพระ วันอุโบศล เพื่อพัฒนาทางจิตใจ มันมีหลักเหตุผลหลักการหลักวิทยาศาสตร์ ให้พากันสมาทานศีล ๘ ศีลพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนถือ ศีล ๘ ให้ทานอาหารวันละ ๑ ครั้ง ที่มีฉันเพล ฉันอะไร อันนี้สำหรับคนป่วย สำหรับภิกษุสามเณรอาพาธ ประเทศไทยเราฉันเพล สำหรับภิกษุอาพาธ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตามประวัติศาสตร์ ไม่มีฉันเพล เดี๋ยวนี้ ที่มีฉันเพล เพราะใจมันป่วย กายไม่ได้ป่วย กายมันเเข็งเเรงอยู่ เพราะใจมันย่อหย่อนอ่อนเเอ ปล่อยให้ใจมันคิด มันปรุงเเต่ง มันเลยป่วย
ให้ทุกท่านเข้าใจหลักศาสนา ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ที่เราข้ามสัญชาตญาณ เราจะหาความสุขความดับทุกข์ได้ที่ไหน? หาได้จากปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เเละมีความสุขในการเสียสละในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเราต้องมีสัมมาทิกฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เพื่อสละคืนซึ่งสัญชาตญาณ มีความยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน ผู้ที่ถือศีล ๘ ศีลอุโบศล ท่านถึงไม่ให้ทานอาหารหลังเที่ยงไปจนถึงสว่างวันใหม่ เพราะมันอยู่ที่สมาทาน ถ้าเราสมาทานว่าจะไม่ทานไม่บริโภค หัวใจของเรามันปลงภาระปลงใจเเล้ว เรามีสัมมาสมาธิ ความปรุงเเต่งเราไม่มี ความอยากมันก็หยุดลง เพราะความอยากทางกายมันมี เเต่ ความอยากทางใจมันไม่มี มันก็หยุดไป ถ้าไม่มีความเหน็ดความเหนื่อย ความยาก ความลำบาก เราก็ไม่ได้ฝึกสัมมาสมาธิ ในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ ศีล ๘ ถึงไม่ให้ทานอาหารตอนบ่าย ไม่ให้ปะเเป้งเเต่งตัว ฟังเพลง เพราะพวกนี้มันเป็นอารมณ์ของฆราวาส ผู้ครองเรือน ที่ดูหนังฟังเพลง ดูละครต่างๆ ต้องหยุด ปัจจุบันสิ่งที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ความหลง หรือว่า ความบันเทิงนี้เเหละ พวกโทรศัพท์นี้เเหละ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต พวกนี้มีหนัง มีบันเทิง มีคอนเสิร์ต เดี๋ยวนี้ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์เราพัฒนากันมาอย่างนี้ มันทำให้ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานสับสน ต้องพากันเข้าใจ ทุกท่านทุกคนอย่าใจอ่อนๆ ในเรื่องโทรศัพท์ เรื่องหนัง เรื่องเกมส์ เรื่องข่าวคราวอะไรต่างๆ
สิ่งเหล่านี้มันกามในกาม ที่มันจะไม่เป็นกามคุณ มันจะเป็นกามโทษ เพราะโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตเฟสบุ๊ค ไว้ใช้ติดต่อสื่อสารใช้การใช้งาน ไม่ใช่ใช้ในการบันเทิง มันเป็นเหตุให้เราไม่ได้เจริญอานาปานสติ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ส่วนใหญ่เราทุกคนมันไม่เป็นโรคประสาท ก็เพราะเราทำงานมีความสุข เราไปเอาโทรศัพท์บันเทิงมาเป็นความสุข อย่างนี้มันทำให้ผู้ปฏิบัติมุ่งมรรคผลนิพพาน มีปัญหา เพราะพระที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นภิกษุเป็นสามเณรธรรมดา เป็นสมมุติสงฆ์ ติดโทรศัพท์ ติดเกมส์ ทั้งพระหนุ่ม เณรน้อย หลวงปู่ หลวงตา เเม่ชี ทั้งประเทศ นอกประเทศ เป็นประชาธิปไตยกันหมด จนไม่มีใครเป็นผู้นำกันเเล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ กว่าเราจะละได้ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์ อย่างไก่ฟักไข่ต้องใช้เวลา ๓ อาทิตย์ มันออกลูกออกตัว อย่างเราจะทำใจให้สงบก็ต้องใช้เวลามากกว่าไก่ เพราะเรื่องสอนคนอื่น มันสอนง่าย เเต่สอนตัวเองมันสอนยาก ถ้าเราไม่สมาทานไม่ตั้งใจจริงๆ ร้อยเปอร์เซ็นพันเปอร์เซ็น หมื่นเปอร์เซ็น มันก็ไม่ได้ เพราะอันนี้มันเรื่องเหตุ เรื่องผล เรื่องกฏเเห่งกรรม เรื่องหลักวิทยาศสาตร์
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ มรรคผลนิพพาน ไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย มันเป็นปัจจุบันธรรม เเต่เราไม่ได้พากันประพฤติ พากันปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ตามพระพุทธเจ้า มันเลยหมดสมัยไป เมื่อใด เกิดเเก่เจ็บตายพลัดพราก เมื่อใด เราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ในปัจจุบันนี้ ทำไมคนส่วนใหญ่พากันยากจน ก็เพราะสาเหตุเราไม่มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เราไม่ได้เห็นตัวอย่างเเบบอย่างในทางที่ดี เรายังเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ขยัน ไม่รับผิดชอบ ไม่อดไม่ทน ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ความยากจนทางเศรษฐกิจ ฐานะความมั่นคง มันก็ย่อมไม่มี เพราะทุกอย่างมันต้องเกิดจากเหตุจากปัจจัย มันต้องเข้าสู่หลักการประพฤติการปฏิบัติหลักเหตุหลักผล เพราะชีวิตของเรายังตกสู่อบายมุข อบายภูมิอยู่ เราก็เลยพากันยากจน บ้านที่อยู่ที่อาศัยก็ไม่สมบูรณ์ อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์ จิตใจก็พากันตกนรกทั้งเป็น ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิด เพราะดำเนินชีวิตผิดพลาด เราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราเป็นฆราวาส เราไม่ได้พัฒนาใจ ไม่ได้พัฒนาการเรียน การศึกษา การทำงาน เราไม่รู้จักอบายมุข อบายภูมิ เราไปตกอยู่ในกลุ่มพวกกินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ติดยาอี ยาไอซ์ อยู่ในกลุ่มอบายมุข อบายภูมิ ไม่มีโอกาสที่จะร่ำจะรวย เพราะรายรับมักมีน้อย รายจ่ายมีเยอะ เราถึงพากันจนวัตถุข้าวของเงินทอง จนทั้งธรรมะ ชีวิตของเราทุกคนยังไม่ตาย ก็พากันตกนรกทั้งเป็น ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทุกท่านต้องพากันเเก้ ถ้าอย่างนั้น อบายมุข อบายภูมิมันอยู่กับเราทุกครอบครัว อย่างนี้ไม่ได้หรอก
ด้านความสุขความดับทุกข์ทางจิตใจ คนเราความสุขความดับทุกข์มันจะมีได้เพราะปัญญา เพราะการช่วยเหลือ เรื่องเศรษฐกิจ การพัฒนาตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นสิ่งที่บรรเทาทุกข์ ในการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏะสงสาร เราต้องพากันพัฒนาใจ เพราะเหตุที่เเท้จริงมันอยู่ใน เราต้องรู้จักสภาวะธรรม รู้จักความเเก่ความเจ็บความตายพลัดพราก เพื่อให้เราพัฒนาใจ คนเราไม่อยากเเก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก เรียกว่า เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่า เราเป็นบ้า เรายังไม่ตายก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่า คนบ้า พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ท่านหายบ้า ท่านถึงมีความสุข เพราะท่านพัฒนาใจของท่าน เรามาคิดดูดีๆ ถ้าเราไม่เเก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่พลัดพรากอย่างนี้ เราไม่ได้พัมนาใจ เกิดปัญญา เข้าถึงวิมุติหลุดพ้น ต้องพากันเข้าใจ ความสุขมันระดับเเรก ระดับทางกาย มันเป็นเหมือนที่มีความเป็นอยู่ของเราทุกวันนี้
การดำเนินชีวิตของเราถือว่ายังไม่ถูกต้องนะ ที่เราเรียนหนังสือ ที่เราทำงาน ทำอะไรก็ทำเพื่อที่จะให้ตนเองมีแต่ความสุข ทำงานเพื่อให้ตนเองมีความสุข อย่างนี้เขาเรียกว่ายังมีตัวมีตนแอบแฝงอยู่ มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ พระพุทธเจ้าให้เรามีปัญญาฉลาดกว่านั้น เราไม่ต้องไปอยากมีความหลงแอบแฝง ให้มีความสุขในการเรียนหนังสือ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในความขยันอดทนรับผิดชอบ โดยไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ถึงจะได้ความสุขทั้งกายทั้งใจ เป็นความสุขที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นกามคุณคือเป็นคุณ ใจจะได้ไม่เป็นโทษ ถ้าเราเรียนหนังสือ ทำงาน ขยันอดทน รับผิดชอบ เพื่อความสุขความสะดวกสบาย จะได้แค่เพียงอารมณ์ของสวรรค์สมบัติ ใจเราจะไม่สะอาดไม่อาจก้าวไกลไปถึงพระนิพพานได้ เป็นเพียงความสุขความดับทุกข์ แค่ระดับต้นและระดับกลางเท่านั้น ไม่ใช่ความสุขความดับทุกข์ที่สูงสุด
ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 1 : แบ่งออกเป็น 2 ระดับ
1.1) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)
1.2) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)
ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง
ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก
พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก
ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้
ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 2 : แบ่งออกเป็น 10 ขั้น 3 ระดับ
ระดับที่ 1. กามสุข (ขั้นที่ 1) กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)
ระดับที่ 2. ฌานสุข (ขั้นที่ 2-9) ได้แก่ รูปฌาน 4, อรูปฌาน 4 จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน
ระดับที่ 3. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ 10) เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็นนิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม
เทียบกับแนวที่ 1. ขั้นที่ 1-9 เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ 10 เป็นโลกุตรสุข
สุขทั้ง 3 ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร, 25/12-13)
“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี, โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี, ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี, สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี, ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง, สังขาร (ความปรุงแต่ง) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง, ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง, นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค, 25/25)
บาทพระคาถาว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความว่า เพราะโรคอย่างอื่นรักษาคราวเดียวก็หาย หรือว่าอันบุคคลย่อมบำบัดได้ ด้วยความสามารถแห่งองค์นั้นๆ (คือเป็นครั้งคราว), ส่วนความหิวต้องรักษากันสิ้นกาลเป็นนิตย์ทีเดียว เหตุนั้น ความหิวนี้จึงจัดเป็นเยี่ยมกว่าโรคที่เหลือ.
บทว่า ความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง, จริงอยู่ ลาภทั้งหลาย แม้มีอยู่แก่คนมีโรค ไม่จัดเป็นลาภแท้ เพราะฉะนั้น ลาภทั้งปวงจึงมาถึงแก่คนไม่มีโรคเท่านั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา."
บาทพระคาถาว่า สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความว่า ภาวะคืออันยินดีด้วยวัตถุที่ตนได้แล้ว ซึ่งเป็นของมีอยู่แห่งตน ของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั่นแล ชื่อว่าสันโดษ, สันโดษนั้นเป็นทรัพย์อันยิ่งกว่าทรัพย์ที่เหลือ.
บาทพระคาถาว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี ความว่า มารดาก็ตาม บิดาก็ตามจงยกไว้, ไม่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั้นไม่ใช่ญาติแท้, แต่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั่นแม้ไม่เนื่องกัน ก็ชื่อว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง คืออย่างสูง เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "วิสฺสาสปรมาญาตี."
ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน ๓ ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และโลกุตตรสุข
ความสุขเหล่านี้ให้เราพากันเข้าใจนะ ถ้าเรายังไม่ถึงพระนิพพานที่สมบูรณ์ สวรรค์เราก็ได้อยู่แล้ว มันไม่ได้หนีไปไหนหรอก เพราะว่าหนทางมันเป็นไปอย่างนั้น เมื่อเรามีความสุขในการเรียนหนังสือมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยันรับผิดชอบ ประหยัดซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีอย่างนี้ สุคติโลกสวรรค์เหล่านั้นก็ได้อยู่แล้ว เราไม่ต้องไปสนใจ สนใจแต่หน้าที่ของเรา ที่ต้องรับผิดชอบในการประพฤติปฏิบัติธรรม ในการเสียสละ
เราต้องมีความสุขในการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พ่อแม่นี่สำคัญ เพราะทุกคนมันไปจากพ่อจากแม่ ถ้าพ่อแม่ดี เหมือนกับเราได้เข้าโรงเรียนดี ได้ความรู้ดี ได้ความประพฤติดี เราทุกคนเกิดมาก็ต้องมา มารู้จักอบายมุข เราจะได้ปิดประตูอบายภูมิ เพราะปัญหาของโลกของประเทศ มีปัญหาเรื่องไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ ในการทำงาน ความขยันความรับผิดชอบ ไม่มีความสุขในการอดทน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาได้ ที่พ่อแม่พาเราทำผิดพลาด พ่อแม่ก็คงได้มาจากปู่ย่าตายายผิดพลาด ต้องเพิ่มการประพฤติการปฏิบัติ เพิ่มอานาปานสติเข้าไป มันคงจะได้ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะมันเป็นระบบอัตโนมัติ อันไหนไม่ดี เราไม่คิด ไม่พูดไม่ทำ มันจะเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ มันจะได้เข้าถึงพระศาสนา เราอย่าเอาอัตตาธิปไตย อย่าไปเอาประชาธิปไตยแบบไม่ถูกต้อง
พื้นฐานของอวิชชาของความหลง เค้าเรียกว่าพื้นฐานของความไม่รู้หรือว่าพื้นฐานของคนทำไม่ถูกต้อง เราต้องแหวกว่ายออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะว่ามันติด รู้แล้วก็ตั้งใจสมาทานแล้วก็ประพฤติปฏิบัติ มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้ติดต่อสม่ำเสมอ เราอย่าเพียงแค่ฟังพระพุทธเจ้าบอกสอนเฉยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเก่งก็จะฉลาดก็จะไปเอง ถ้าเราขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไปไม่ได้
คนไม่ทำงานนั้นไม่มี คนเราต้องมีความสุขกับการทำงาน คนเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า? ถ้าไม่ทำงาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่เราทำงานกันทุกคน ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนเราจะมีความสุขได้เพราะทำงาน เราจะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนั้นเป็นเครื่องหมายของความเห็นแก่ตัว เป็นเครื่องหมายของความทุกข์
พระพุทธเจ้า ถึงเป็นผู้ที่ทรงเกียจคร้านไม่เป็น พระอรหันต์ ถึงเป็นผู้ที่เกียจคร้านไม่เป็น จึงต้องมีความสุขในการทำงาน เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ความจนจะมาจากไหน การคิดก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง คิดดีๆวางแผนดีๆ เราคิดดีคิดถูกต้องมันไม่เป็นกิเลสนะ มันไม่ได้เป็นความปรุงแต่งนะ เพราะว่าเราไม่มีความหลง ไม่มีอวิชชา คนเราต้องคิดเก่ง วางแผนเก่ง ไปตามหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ ตามกฎแห่งกรรม กฎของธรรมชาติ ความคิดความปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา มันไม่ได้ไปสร้างปัญหา ให้กับตนเองและผู้อื่น แต่เป็นการช่วยตนและผู้อื่น เป็นสัมมาทิฏฐิ
ต้องแยกใจออกจากขันธ์ ๕ แล้วก็ต้องรู้จักอริยสัจ ๔รู้จักยังไม่พอนะ ยังต้องฝึกต้องปฏิบัติ เพราะอวิชชามันทำลายระบบสมองสติปัญญาของเราเยอะ มันทำให้สมองเราเสียหมด ถ้าเรามีความสุขมีความพอใจอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ฝืน ก็ไม่ได้ทน ถ้าเราทำไปด้วยบังคับ มันก็หน้านิ่วคิ้วขมวด
เพราะความอดทนเป็นสิ่งที่ดีมาก ความขยันเป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติ มันปฏิบัติอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ว่าไปเดินจงกรมนั่งสมาธิหรอก อริยมรรคต้องมีกับเราตลอด เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ส่วนหนึ่ง สำหรับพระไม่มีงานก่อสร้าง ไม่มีงานทำไร่ไถ่นา ต้องเดินจงกรมถึงแข็งแรง เสนาสนะที่เค้าสร้างให้เราก็ปัดกวาดเช็ดถู มันต้องมีข้อวัตรข้อปฏิบัติอย่างนี้เพื่อฝึก ฝึกให้มีความสุข ละความเห็นแก่ตัว มันจะได้เคยชิน เพราะว่าเราทุกคนใจอ่อน ให้มาทางภาคปฏิบัติอย่างนี้
เราใช้ชีวิตประจำวัน เราก็ต้องกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิเช้าเย็น ประชาชนก็กราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ แต่การปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติทุกที่มันต้องมีอยู่ตลอด วัตถุสมัยใหม่ก็ต้องรู้จักสำหรับประชาชน พวกโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต social media พวกนี้เราต้องใช้ให้เกิดปัญญา เราอย่าเป็นคนไม่มีปัญญา อย่าไปหลงในรูป ในเสียงอะไรต่างๆ สำหรับพระละก็ถ้ามีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ต ความวิเวกก็ไม่มี เราต้องฝึกใจนะ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เราจะเป็นคนขาลง กายของเรามันก็จะไม่วิเวก ใจเราไปอยู่กับสิ่งภายนอก ไม่ได้ฝึกอานาปานสติ ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้
คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เพราะเราหยุดวัฏสงสาร เราหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือ สมัยนี้มันอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก ทางจิตใจ นี้เราบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิ ทุกท่านทุกคนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็งมันเป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษให้ภัยในวัฏสงสาร
เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนา ความสุข ถ้าหลงในความสุขมันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่ เราต้องมีสัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เราจะได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราจะรู้ว่าปฏิบัติยังไง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งของเรานี้ คือการปฏิบัติ เราอย่าไปอาลัย อาวรณ์ ให้คิดว่าชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อเติมเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนว่าเดี๋ยวก่อนๆ
มันไม่ได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลิน เราทุกคนนะ ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่การเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหาให้ ผู้ที่เป็นคนรวย หรือว่าเป็นเทวดา ผู้ทรงฤทธิ์ทรงอภินิหาร มันก็ต้องหมดบุญ เพราะว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ความสุขของมนุษย์มันถึงอยู่อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้บอก เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุขกัน เราจะไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราเอาอิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ปฏิบัติสม่ำเสมอ
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ การเรียนการศึกษาที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาเสียสละ การดำรงชีพ การทำมาหากิน มันต้องพัฒนาใจพร้อมๆ กันไป มันจะไปเอาเเต่ทางโลก ทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตมันต้องประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ใจของเราต้อง มีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติการปฏิบัติ เป็นศีลสมาธิ ปัญญาในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะไม่มีความสงสัยเลยว่า ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันจะเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะมันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะทุกอย่างมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เกิดมา เราจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม เราก็พากันปฏิบัติอย่างนี้เเหละ เพราะเราทุกคนเกิดมาเพื่อมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ผู้เป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่ พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามี โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ
วันเวลา ผ่านไป ให้หยุดคิด เพียงสักนิด ว่าเรา จะไปไหน
ถามใจดู ถามให้รู้ จากภายใน ถ้าตอบได้ ก็จะรู้ อย่าดูนาน
เพราะเวลา ไม่มี ให้นานนัก หากมัวรัก ผูกใจ หลายสถาน
เหมือนติดบ่วง รัดไว้ ทุกวันวาร เพราะบ่วงมาร ร้อยรัด มัดโดยตรง
มาคนเดียว ไปคนเดียว คือจริงแท้ อย่ามัวแต่ ยึดไว้ ใจลุ่มหลง
สัจธรรม คือธรรมะ พระพุทธองค์ ยังมั่นคง มิแปรผัน ชั่วกาลนาน ฯ