แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พุทธะที่แท้จริง ตอนที่ ๓๕ ย้อนมองดูการฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อมาแก้ไขตนเองในปัจจุบัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันพุธที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗
ปัญหาของเราทุกคนที่เป็นปัญหาเฉพาะตน ที่เหมือนกันทุกคนจนเป็นประชาธิปไตย ด้วยไม่รู้ปัญหา ด้วยการสร้างปัญหา เพราะเราไม่รู้เพราะเราไม่เข้าใจ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเราทั้งหลายว่าไม่รู้อริยสัจ 4 ไม่รู้เหตุไม่รู้ปัจจัยไม่รู้กระบวนการแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะต้องพากันเข้าใจ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ใกล้อยู่ที่ไกล แต่อยู่ที่กายวาจาใจกิริยามารยาทและอาชีพของเรานี่แหละ ความรู้ถึงเป็นคู่การประพฤติการปฏิบัติ การเรียนการศึกษาก็เพื่อให้เราเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติอยู่ทุกหนทุกแห่ง เป็นอริยมรรค ในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อเราจะได้ยกเลิกความทุกข์ยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิดที่เราเอาความหลงเป็นที่ตั้ง ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า มีแต่ความทุกข์เกิดขึ้น มีแต่ความทุกข์ตั้งอยู่ มีแต่ความทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เราแก้ปัญหาครอบครัวเราประเทศชาติบ้านเมืองเรา เราก็ต้องรู้ปัญหาว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวเรานี่เอง ประเทศไทยเรานี้ได้รับความเสียหาย ถึงแม้จะนำพระพุทธศาสนามาใช้มาปฏิบัติ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้มีการโกงกินคอรัปชั่นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของการโกงกินคอรัปชั่นทั้งนักบวชทั้งข้าราชการและการเมืองไม่ต่ำกว่า 60-70% ของการโกงกินคอร์รัปชั่น ที่มันเป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐินี่แหละ เกี่ยวกับผู้นำ เกี่ยวกับพ่อกับแม่ เกี่ยวกับครูบาอาจารย์ เกี่ยวกับข้าราชการ เกี่ยวกับนักการเมือง เกี่ยวกับนักบวช ที่ไม่รู้ ถ้ารู้ถ้าเข้าใจคงไม่เป็นไปถึงเพียงนี้
ปีนี้เป็นปีพุทธศักราช 2567 ประเทศไทยเรามีการจัดงานรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงออกผนวชเพื่อปรับปรุงพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 27 พรรษา จึงได้ทรงลาสิกขาออกมาครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม เราต้องเข้าใจว่า ทุกๆคนต้องมาแก้ที่เราแก้ที่ตัวเรา ต้องมาแก้ที่ผู้นำ แก้เรื่องระบบระเบียบ เข้าสู่ระบบระเบียบที่เป็นพระธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่มาในพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ ในพระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ ที่เป็นพระสูตร 21,000 พระธรรมขันธ์ที่เป็นพระอภิธรรม 42,000 พระธรรมขันธ์ การพัฒนาสมัยใหม่ออกกฎหมายออกกฎระเบียบข้อประพฤติข้อปฏิบัติ เพื่อโฟกัสเข้าหาความถูกต้อง มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติเข้าสู่ภาคปฏิบัติ เห็นความสำคัญของความถูกต้อง เพราะว่าทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปโทษใครหรอก เพราะเราเกิดมาระหกระเหินเร่ร่อนท่องเที่ยวในวัฏสงสารเพราะความเห็นผิดเข้าใจผิด ไปแก้แต่ภายนอก ไม่ได้แก้ไขตนเอง หันหลังให้ความถูกต้อง ไม่ได้เดินไปตามความถูกต้อง
การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย... ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
ในสยามสมัยหลังกรุงเก่า การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมเป็นส่วนสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนามิให้เสื่อมสูญไปตามภาวะสงครามและสภาพบ้านเมืองที่มีปัญหาขื่อแปเป็นเวลานาน จากนั้น การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมก็ยังคงได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติธรรมที่รุ่งเรืองและเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางในปัจจุบันจึงมิได้ดำเนินมาตามยถากรรม หากแต่ได้ผ่านการดูแลรักษาไว้แต่อดีต
สมัยกรุงธนบุรีเป็นสมัยที่การปฏิบัติธรรมได้รับการสืบทอดมิให้เสื่อมหายหรือขาดตอน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมให้เติบโตควบคู่ไปกับการศึกษาของพระสงฆ์ ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลางและตอนปลาย การปฏิบัติธรรมได้รับการชำระให้มีแนวทางที่ถูกต้องและตรงสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชาวพุทธ หลายร้อยปีแห่งการชำระแนวทางการปฏิบัติธรรมนี้เป็นเหตุอันมีส่วนสร้างความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน
การสิ้นสุดรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรี สำนักกรรมฐานของสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สายปฏิบัติที่มีประวัติพอติดตามได้นั้นได้มีการสานต่อที่วัดประดู่ในอยุธยาที่เคยร้างไปตั้งแต่ครั้งเสียกรุง
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมตามแนวทางสมถวิปัสสนายังคงมีการสานต่ออย่างเข้มแข็ง เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเชิญพระภิกษุอาวุโสจากกรุงเก่ามาเป็นหลักในงานวิปัสสนาธุระ เกิดสำนักกรรมฐานหลักขึ้นที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) และวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทั้งสองวัดเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีอัันเป็นวัดนอกเมืองที่มุ่งไปทางการปฏิบัติธรรม
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ซึ่งครองวัดพลับและพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) ซึ่งครองวัดสมอรายต่างสืบสายปฏิบัติมาจากคณะวัดป่าแก้วและต่างเป็นพระอาจารย์สำคัญในพระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ทรงเคยปฏิบัติธรรมในสำนักพระอาจารย์ทองอยู่ที่วัดระฆัง สมัยรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงปฏิบัติในสำนักพระปัญญาพิศาลเถร (ศรี) เมื่อครั้งที่พระองค์อุปสมบทในปี พ.ศ.2331 ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และ 4 ก็ทรงปฏิบัติในสำนักของสมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น การปฏิบัติธรรมได้รับการส่งเสริมอย่างมากและถือเป็นส่วนสำคัญของการสืบสานพระศาสนา มีการแต่งตั้งอาจารย์บอกกรรมฐานของวัดจำนวนมาก กุลบุตรกุลธิดาก็มีการศึกษาในวัดเป็นปกติ การปฏิบัติธรรมจึงมีบทบาทมากในหมู่ฆราวาสอย่างกว้างขวาง มิใช่เฉพาะพระภิกษุ
การศึกษากรรมฐานและธุดงควัตรแบบอรัญวาสีเป็นกิจที่พระสงฆ์สนใจปฏิบัติเพิ่มเติมจากการศึกษาพระบาลี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงส่งเสริมวิปัสสนาธุระมาก วัดที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระมีหลายแห่ง เช่น วัดเงินบางพรหม (วัดรัชฎาธิษฐาน) วัดสมอแครง
(วัดเทวราชกุญชร) วัดสระเกศ วัดอรุณ วัดอินทร์ และวัดสังเวชวิชยาราม ส่วนวัดทั่วไปก็มักส่งเสริมทั้งทางด้านปริยัติและวิปัสสนาควบคู่กัน
ส่วนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างวัดเพื่อการปฏิบัติธรรมโดยตรงถึง 2 แห่ง พระวชิรญาณเถระ รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวัดบรมนิวาสและกรมหลวงรักษ์รณเรศทรงสร้างวัดเพลงวิปัสสนา
การส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังทำให้พระภิกษุจำนวนมากต้องเข้ารับการฝึกอบรมที่สำนักกรรมฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดพลับ วัดต่างๆ ทั่วประเทศมีพระภิกษุที่สนใจการปฏิบัติอยู่ทั่วราชอาณาจักร หลายสำนักเป็นที่ศรัทธาจนถึงยุคหลัง สำนักกรรมฐานที่รู้จักกันดีในปัจจุบันเช่นสำนักของวัดท่าซุงของหลวงพ่อฤาษีลิงดำและวัดปากน้ำของหลวงพ่อสดล้วนสืบสายการปฏิบัติมาจากสำนักวัดพลับ เกจิอาจารย์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน
วัดพลับนับเป็นศูนย์กลางของการอบรมกรรมฐานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีรากฐานมาจากสายคณะป่าแก้วอันเป็นฝ่ายคามวาสีในสมัยกรุงเก่า การศึกษาจึงอาจเน้นความครอบคลุมวิธีปฏิบัติให้ครบ วิธีปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมีรวบรวมไว้ถึง 40 บท หลายบทว่าด้วยกสิณซึ่งนิยมสำหรับการเจริญฌานให้ได้ฤทธิ์หรืออภิญญา เนื่องจากแนวทางสมถวิปัสสนานี้เป็นการเดินมรรคสมาธิหรือฌานก่อน ความสุขในสมาธิหรือฌานจึงอาจทำให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เข้าอบรมต้องการเพียงนั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีหันไปนับถือพระศรีอาริยเมตไตรยไม่น้อย ที่หันไปทำมาหากินทางคาถาอาคมก็มีมาก ในช่วงต้นๆ ความสนใจที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตรงสู่พระนิพพานคงมีมากพอสมควร แต่เมื่อมีการเผยแผ่ออกไปมากขึ้น ครูอาจารย์ที่บอกกรรมฐานได้ดีและมีประสบการณ์สูงยากที่จะมีเพียงพอ แนวทางสมถกรรมฐานเป็นการปฏิบัติทางจิตที่อาจหลงทางได้ง่ายเนื่องจากมิได้อบรมทางด้านปัญญาอย่างเพียงพอตั้งแต่ต้น การปฏิบัติมักต้องอาศัยการควบคุมชี้แนะจากอาจารย์บอกกรรมฐานเป็นการเฉพาะค่อนข้างมาก
ความจริงแล้ว ค่านิยมที่สนใจสมถกรรมฐานเพราะต้องการอภิญญาและความพิเศษทางด้านไสยศาสตร์และคาถาอาคมนับว่ามีมากมาแต่อดีต แต่สิ่งเหล่านี้มีส่วนบั่นทอนพระพุทธศาสนาและสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เมื่อพระภิกษุจำนวนมากหันเหออกจากแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา มีความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์ มีการอวดอุตตริมนุสสธรรมและใช้ศาสนาในการแสวงหาผลประโยชน์หรือหลอกลวงประชาชนที่ขาดความรู้ พระสงฆ์ก็เริ่มมีการสะสมเงินทองและมีการแย่งชิงมรดก จนกลายเป็นปัญหาอลัชชีและการขาดศรัทธาขึ้นในหมู่พุทธบริษัท
ในรัชสมัยของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถร รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงปัญหาวินัยสงฆ์ พระองค์ทรงจัดตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อให้มีคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระวินัยอย่างจริงจัง ซึ่งในช่วงท้ายของรัชกาล ปัญหาอลัชชีก็ทำให้ฝ่ายปกครองสงฆ์ต้องสึกพระภิกษุเป็นจำนวนมากมาย (แต่ไม่ถึงขั้นมีการลงโทษที่รุนแรงหรือถึงแก่ชีวิตเหมือนที่เคยเกิดกับพม่าในอดีต)
พระวชิรญาณเถระ รัชกาลที่ 4 ทรงมั่นใจในคณะกัลยาณีสีมาของมอญว่าเป็นลังกาวงศ์ที่บริสุทธิ์ที่สุดในรัชสมัยนั้น พระองค์ทรงพยายามให้มีการสืบสมณวงศ์อย่างถูกต้องซึ่งมีประวัติว่าพระสงฆ์ต้นวงศ์ธรรมยุตมักมีการอุปสมบทใหม่กันหลายครั้ง คณะกัลยาณีสีมาเป็นการสืบทอดลังกาวงศ์ครั้งใหญ่ที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ.2013-2035) พระองค์เป็นพระภิกษุมาก่อนนามว่า “พระมหาปิฎกธร” และได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นนักปกครองชาวพุทธที่ยอดเยี่ยม เมื่อครองราชย์ได้ทรงยุบนิกายต่างๆ และให้พระสงฆ์มอญบวชใหม่จากคณะมหาวิหารทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี การสืบทอดเข้าสู่มอญระลอกนี้เกิดก่อนการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนาในลังกา
เมื่อคณะธรรมยุติกนิกายเกิดขึ้น คณะสงฆ์ส่วนที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากมายก็เรียกว่ามหานิกาย โดยมีแนวทางการปฏิบัติธรรมแบบสมถวิปัสสนาดั่งเดิม สำนักวัดพลับยังคงเป็นสำนักกรรมฐานหลักและมีพระสงฆ์จากฝ่ายธรรมยุติกนิกายไปศึกษาสมาธิภาวนาที่นั่นด้วย
ในการจัดตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย พระวชิรญาณเถรได้ทรงมีคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดและตั้งใจใฝ่การปฏิบัติเข้าร่วมอย่างมาก มีทั้งส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนหลังนี้หลายท่านเป็นชาวอุบลราชธานีและบริเวณใกล้เคียง ต่อมาจึงเกิดเป็นกำลังสำคัญขึ้น ซึ่งบางทีเรียกว่าคณะธรรมยุตสีทันดร อันเป็นจุดกำเนิดของพระสงฆ์สายวัดป่าในปัจจุบัน
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิบัติธรรมเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น คณะธรรมยุติกนิกายเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสทั้งในด้านวินัยสงฆ์และวัตรปฏิบัติ ธุดงควัตรได้รับการส่งเสริมตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังครองเพศบรรพชิตโดยพระองค์เสด็จจาริกไปตามป่าเขาทุกปี
ในรัชสมัยของพระองค์ วัดที่ทรงสร้างขึ้นสำหรับฝ่ายธรรมยุติกนิกายและการปฏิบัติธรรม ได้แก่ วัดโสมนัส วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐฯ และวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นต้น
กำลังสำคัญในพระวชิรญาณเถร รัชกาลที่ 4 ช่วงก่อตั้งคณะธรรมยุตเป็นศิษย์ในพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทโว) เป็นต้น ต่อมาศิษย์จากหัวเมืองมีเพิ่มขึ้น ส่วนที่มีบทบาทเด่นคือ ศิษย์ที่มาจากเมืองอุบล และเมืองโขง (สีทันดรหรือสี่พันดอน)
ศิษย์ที่มาจากหัวเมืองทั้งสองนี้เป็นกำลังที่สำคัญยิ่งในการเผยแผ่ธรรมในอีสาน พระอาจารย์ก่ำ คุณสัมปันโน ศิษย์ชาวสีทันดรที่วัดบวรนิเวศ ทรงให้ครองวัดปทุมวนาราม และเป็นผู้ไปบุกเบิกธรรมยุติกนิกายที่สีทันดรและจำปาศักดิ์ พระพันธุโล (ดี) ชาวเมืองอุบลไปครองวัดสุปัฏนารามที่อุบล พระเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นหลานของพระพันธุโลไปครองวัดศรีทอง ซึ่งสร้างขึ้นเป็นวัดธรรมยุตแห่งที่สอง ทั้งสามท่านนี้เป็นกำลังหลัก และมีการเผยแผ่พระศาสนาร่วมกัน วัดปทุมวนาราม วัดจำนวนมากในสีทันดรและวัดที่อุบล จึงนับเป็นแหล่งธรรมที่มีความปึกแผ่นจนเป็นสายปฏิบัติเดียวกัน ศิษย์พระอาจารย์ก่ำก็มาศึกษากับพระเทวธัมมี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามหลายรูปก็เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ก่ำ
ดังนั้นคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต จึงเริ่มมีเสาหลักด้านการปฏิบัติเพิ่มขึ้นมาเป็นที่วัดปทุมวนาราม และวัดศรีทองด้วย (ส่วนที่สีทันดรและจำปาศักดิ์ เมื่อสยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 2436 คณะสงฆ์ที่นั่นก็ได้รับผลกระทบ) และเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดศรีทองก็ได้ก่อกำเนิดพระปรมาจารย์กรรมฐานสายวัดป่า ซึ่งได้แก่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นั่นเอง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ถ้ากล่าวทางด้านแนวทางการปฏิบัติธรรม วิธีปฏิบัติของคณะธรรมยุตนั้นนับว่าแตกต่างออกไปจากแนวทางเดิมของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ ไม่เน้นกสิณและไม่เน้นการเจริญฌาน
การสืบทอดจากคณะกัลยาณีสีมาของมอญมีส่วนที่เป็นพระวินัยรวมทั้งส่วนที่พระธรรมด้วย ในประวัติศาสตร์นั้นคณะกัลยาณีได้รวบรวมคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากลังกามาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ความพยายามสืบสมณวงศ์ให้บริสุทธิ์ตามแบบของคณะกัลยาณีอาจมีผลไปถึงวิธีปฏิบัติได้ คณะธรรมยุติกนิกายถือเป็นวิปัสสนาวงศ์ที่สืบทอดต่อเนื่องมาจากคณะกัลยาณีสีมาแม้ว่าจะมีรากฐานมาจากสยามวงศ์อย่างมากก็ตาม แนวทางปฏิบัติที่สืบทอดมาแต่ครั้งกรุงเก่ามีอุปสรรคหลายประการ เช่น อาจารย์บอกกรรมฐานที่มีประสบการณ์สูงมีไม่เพียงพอ และมีพระภิกษุจำนวนมากยังติดอยู่กับการแสดงฤทธิ์เดช หรือคาถาอาคม โดยที่มีข้อกังขาว่าพระภิกษุเหล่านั้นมีความสำเร็จในสมถกรรมฐานมากจริงหรือไม่
สมถกรรมฐานเป็นสมาธิวิธีที่ให้ประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติได้อย่างมาก จึงเป็นที่นิยมมากในอดีต เป็นแนวทางที่ให้ความสุขทางจิตหรือฌานสุขและสามารถให้ศักยภาพพิเศษ ผู้ปฏิบัติในแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางทางอ้อมที่ให้การพักผ่อนทางจิตและมีประโยชน์ในทางโลก เช่น วิทยาคมและการรักษาความเจ็บป่วย แต่สำหรับพระสงฆ์นี้ยังมิใช่แนวทางแห่งการหลุดพ้น
การชี้แนะของอาจารย์บอกกรรมฐานมีความสำคัญสำหรับแนวทางสมถวิปัสสนา ทั้งนี้ เพราะสมถกรรมฐานเป็นการปฏิบัติทางจิตที่อาจติดประสบการณ์บางประการ เช่น นิมิต และปีติจนเกิดความเข้าใจผิด หรือหลงทางจนยากที่จะแก้ไขให้การปฏิบัติสามารถมุ่งตรงต่อไปสู่มรรคผล
นอกจากนี้ การอบรมกรรมฐานตามแบบฉบับดั้งเดิม มักครอบคลุมวิธีปฏิบัติมากมายหลายบทตั้งแต่กสิณต่างๆ จนถึงกรรมฐานบทอื่น ความเชี่ยวชาญในกรรมฐานเฉพาะที่ควรใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ จึงอ่อนลงไปถ้าผู้ปฏิบัติต้องทดลองเปลี่ยนแปลงวิธีเริ่มต้นไปหลายต่อหลายวิธี พระภิกษุที่สนใจแต่ละวิธีปฏิบัติยังต้องแสวงหาอาจารย์กรรมฐานที่เชี่ยวชาญเฉพาะวิธีนั้นๆ เช่น ผู้สนใจฝึกกสิณไฟ หรือกสิณลมก็ต้องเสาะหาอาจารย์ที่สำเร็จกสิณไฟ หรือกสิณลม เป็นต้น
สำหรับผู้คนจำนวนมาก การอบรมกรรมฐานที่ให้ผลดีจะเป็นการฝึกเจริญกรรมฐานบทที่ผู้ปฏิบัติทั่วไปมักเจริญภาวนาแล้วได้รับผลที่ก้าวหน้า ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สัพพัตถกกรรมฐาน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค สัพพัตถกกรรมฐานที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติเป็นเบื้องต้น ได้แก่ เมตตา ภาวนา และมรณกรรมฐาน โดยอาจมีการรวมการเจริญอสุภสัญญาเข้าไว้ด้วย
แนวทางกรรมฐานที่คณะธรรมยุติกนิกายมุ่งเน้นมาตั้งแต่ต้นคือ “จตุรารักขกรรมฐาน” และนับเป็นจุดเริ่มสำคัญของการชำระวิธีปฏิบัติให้เหมาะสม สำหรับพระภิกษุจำนวนมากที่ประสงค์มุ่งตรงสู่พระนิพพาน
จตุรารักขกรรมฐาน หรืออารักขกรรมฐาน ประกอบด้วยกรรมฐานหลัก 4 บท ได้แก่ พุทธานุสติ เมตตาภาวนา อสุภะ และมรณานุสติ กรรมฐานเหล่านี้ล้วนมีการรองรับความสำคัญในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น
กรรมฐานทั้งสี่นับเป็นการชำระที่สำคัญ และส่งผลต่อความก้าวหน้าที่ลัดสั้นในการปฏิบัติ เพราะเป็นการผสมมรรค และอนุสติที่หวังผลตรงไปสู่พระนิพพาน มีผลต่อความก้าวหน้าในสมาธิขั้นสูง โดยไม่จำเป็นต้องฝึกกสิณที่มุ่งไปที่การสำเร็จการเจริญฌาน และการได้อภิญญาเสียก่อน
สำหรับผู้ที่เจริญอานาปานสติแบบดั้งเดิมก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติแล้วประคองไว้จนเชี่ยวชาญถึงขั้นที่เป็นฌานแล้ว
การเจริญภาวนาแบบจตุรารักษ์นี้ปรากฏเด่นชัดในการอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) และหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลในเวลาต่อมา
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ธรรมยุติกนิกายยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว พระองค์ทรงสร้างวัดเทพศิรินทร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดโสมนัส ในสมัยนั้นมีการเผยแผ่ธรรมสายธรรมยุตไปถึงลาวตอนล่าง และกัมพูชา ต่อมาก็ได้ไปเติบโตในดินแดนมอญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเกิดเป็นนิกายมหายานขึ้นที่นั่น ผู้มีบทบาทสำคัญคือ พระมหาเย็น พุทธวังโส ศิษย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ส่วนทางด้านคณะสงฆ์มหานิกาย ซึ่งมีความเป็นพระบ้านและใกล้ชิดกับประชาชนทั่วไปอย่างมาก ความสนใจทางด้านคาถาอาคม และเครื่องรางของขลังมีผลต่อพระสงฆ์ การรบกวนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีมาก ไม่เพียงเฉพาะด้านพิธีกรรมเท่านั้น หลายรูปอาจมีเมตตาเพราะเห็นว่าการที่ประชาชนสนใจศาสนวัตถุก็ยังดีกว่าการไปกระทำบาปหรือเสพติดสิ่งอื่น ติดที่เปลือกอาจจะซึมเข้ากระพี้ได้
พระสงฆ์โดยทั่วไปที่มีชื่อเสียงด้านกรรมฐานและวิทยาคม จึงมักเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ยิ่งหลังจากกลับจากธุดงค์หรือเข้ากรรมฐานเป็นเวลานานๆ ประชาชนก็จะยิ่งขวนขวายที่จะขอพรและเข้าใกล้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า มีบันทึกว่าผู้ที่กล่าวกันว่าทรงคุณทางญาณและการปฏิบัติธรรมนั้นมี 13 รูป (สายธรรมยุต 3 รูป) เช่น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง, ขรัวจากสัพพัญญู วัดภาณุรังษี, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ, พระธรรมกิติ (แจ้ง) วัดรังษีสุทธาวาส (ต่อมาเป็นคณะรังษีหรือเหลืองรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร), พระจันโทปมคุณ วัดมกุฏกษัตริยาราม, พระอาจารย์โพธิ์ วัดเทพนารี, ท่านอาจารย์เหม วัดเทพากร, และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เขียว) วัดราชาธิวาส เป็นต้น ที่จริงก็เป็นที่ทราบกันว่ายังมีพระสงฆ์หลายรูปในสมัยนั้นที่เป็นพระเกจิที่เจริญสมถวิปัสสนา และมีชื่อเสียงทางด้านวิทยาคม
ในช่วงรัชสมัยนี้ สยามต้องเผชิญกับความรุนแรงของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกถึงขั้นที่มีความเชื่อว่าสยามจะไม่อาจรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส อิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และ 4 มีส่วนช่วยให้ชาวสยามรับรู้ถึงวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งมีผลดีต่อสยามในทางเศรษฐกิจและสังคม ในทางพระศาสนาก็ช่วยให้มีการตรวจสอบลัทธิความเชื่อเก่าๆ และมีความเป็นศาสตร์มากขึ้น ทว่าในยุคนี้สยามกลับต้องเผชิญกับการคุกคามรังแกและต้องปรับตัวอย่างมาก ต้องอาศัยที่ปรึกษาชาวตะวันตกในกิจการบ้านเมืองและมีขุนนางชั้นสูงที่เริ่มมองลัทธิล่าอาณานิคมแบบยอมจำนนมากขึ้นด้วย การศาสนาจึงมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยแบบตะวันตกตามไปด้วย ผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต การศึกษาของพระสงฆ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเน้นด้านปริยัติเป็นหลัก การสอบความรู้ทางด้านปฏิบัติกระทำได้ยากและต้องถูกยกเลิกไป
ในอดีตก่อนหน้านั้น กุลบุตรบวชและศึกษาในวัดช่วงระยะหนึ่ง การปฏิบัติธรรมเป็นการศึกษาปกติที่ทำให้ฆราวาสที่ผ่านการบวชเรียนแล้วมีความรู้และประสบการณ์ด้านการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่ พระภิกษุรุ่นใหม่หันไปสนใจปริยัติธรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตน ส่วนที่สนใจการภาวนาต้องแสวงหาครูอาจารย์กันเอง ฆราวาสที่ผ่านการบวชเรียนจึงเริ่มขาดความรู้ด้านการปฏิบัติ ต้องอาศัยการทำบุญทำทานและการถือศีลตามวาระที่สำคัญ
การปฏิบัติธรรมนับว่าเข้าสู่ระยะตกต่ำลงเรื่อยๆ กลายเป็นกิจเฉพาะของสงฆ์ที่เคร่งครัด ฆราวาสเริ่มห่างเหินการปฏิบัติธรรมและไม่ทราบว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นอย่างไรสำหรับชีวิตประจำวันของตน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปฏิบัติธรรมจะไม่ตอบโจทย์ของสังคมในขณะที่ทางการต้องพะวงอยู่กับการปฏิรูปการปกครองและการรับมือกับลัทธิล่าดินแดนเมืองขึ้น การปฏิบัติธรรมตามแนวทางสมถวิปัสสนาในหมู่พระสงฆ์ยังไม่เสื่อมหายไปซึ่งก็นับเป็นจุดเด่นของสยาม
พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายที่เป็นครูอาจารย์สมถวิปัสสนายังมีศิษย์ที่ดำเนินรอยตามอย่างเข้มแข็ง ส่วนฝ่ายธรรมยุต วัดโสมนัส วัดปทุมวนาราม วัดบวรนิเวศและอีกหลายวัดยังเป็นหลักได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลับมีสายวัดป่าที่เข้าใกล้ธรรมปฏิบัติขั้นสูงถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5
พระสงฆ์สายวัดป่ามีจุดเริ่มจากหลวงปู่เสาร์ กันตสีโลและหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสองท่านถือธุดงควัตรเข้มข้นและมุ่งจาริกไปตามป่าเขาเพื่อแสวงหามรรคผลนิพพานเท่านั้น อีกท่านที่มีบทบาทสำคัญคือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านเคยประจำที่เมืองอุบลและนครจำปาศักดิ์ก่อนเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ต่อมาไปฝึกปฏิบัติกับพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) ศิษย์ของพระอาจารย์ก่ำ คุณสัมปันโน ก่อนเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบรมนิวาส
ทั้งสามท่านนี้จึงมีรากฐานมาจากสายธรรมยุตสีทันดร ล้วนเป็นศิษย์สายตรงของพระเทวธัมมี (ม้าว) และต่างก็มีวัตรปฏิบัติเข้มข้นกว่าสายธรรมยุตทั่วไปที่หันไปสนใจปริยัติธรรมกัน
พระสงฆ์สายวัดป่าของไทยมิใช่พระสงฆ์ประจำวัดนอกเมือง แต่จาริกเผยแผ่ธรรมไปตามป่าเขาและชุมชนที่อยู่ห่างไกลกันดาร ไม่เหมือนพระนิกายวัดป่าสมัยหนึ่งในพม่าที่เคยสามารถสะสมทรัพย์สินได้ พระสงฆ์สายวัดป่าของไทยแสวงหาเพียงพระนิพพาน ไม่สะสมทรัพย์สิน ไม่ติดวัดและมักเป็นอนาคาริก
ในด้านการปฏิบัติธรรม พระสงฆ์สายปฏิบัตินี้ดำเนินแนวทางที่เน้นจตุรารักขกรรมฐาน แต่เมื่อหลวงปู่มั่นสำเร็จพระอนาคามิผลที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกาเมื่อปี 2455 การเดินมรรคที่มุ่งตรงสู่พระนิพพานจึงชัดเจนอย่างยิ่ง การบรรลุธรรมของหลวงปู่มั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธรรมปฏิบัติที่เคยชำระมาก่อนเกิดการลัดสั้นขึ้นอีก ครั้งแรกเมื่อหลวงปู่มั่นบรรลุพระอนาคามิผลและครั้งที่สองเมื่อท่านบรรลุพระอรหัตตผลในปี 2478
ในช่วงตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การเผยแผ่ธรรมปฏิบัติจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและให้ผลด้านการปฏิบัติไปจนทั่วอีสานและภาคเหนือ อันเป็นการเติบโตจากเมืองไปสู่ชนบทและป่าเขา ท่ามกลางภาวะตกต่ำด้านการปฏิบัติธรรมในสังคมเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปีกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500
การบวชที่ได้ผลต้องเน้นที่ปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับบวชสึกหรือบวชไม่สึก ต้องมาเน้นที่ปัจจุบัน มันถึงจะถูกต้องถึงจะใช้ได้ ไม่มีคำว่าสึกหรือไม่สึก ไม่มีคำว่าอยู่ในบ้าน ในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด หรือว่าอยู่ในวัดป่า ต้องเน้นเข้ามาหาปัจจุบัน
ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันก็จะไม่ทันกาลทันสมัยทันเวลา มันจะไม่เป็นธรรมวินัย มันจะไม่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ผู้ที่มาบวชให้พากันเข้าใจอย่างนี้นะ เพราะเราจะได้พัฒนาเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติบ้านเมือง เพราะโครงสร้างของประเทศเราเอาธรรมนำชีวิต การประพฤติการปฏิบัติที่ทำให้เราเกิดความสงบอบอุ่น ให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้ เราทุกคนจะได้สงบอบอุ่น มันจะได้ไม่ว้าเหว่ มีสติสัมปชัญญะ เพราะโลกนี้สมัยนี้ในปัจจุบัน มีความทุกข์มากมีความฟุ้งซ่านมาก ไม่มีความสงบอบอุ่น เราทุกคนต้องพากันมาเน้นที่ปัจจุบันนี้แหละ เรารู้แล้วว่าเราทำตามใจตามอารมณ์ทำตามความรู้สึกมันทำให้เสื่อม เหมือนที่เรามองเห็นพระพุทธศาสนาที่ผ่านมา เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้งเหมือนพระนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทายุคท้าย ผลสุดท้ายมันก็ถูกเผา ศาสนวัตถุสร้างใหญ่สร้างโตอลังการ ผู้ที่เผาใช้เวลาเผาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เอาตัวตนมันเสียหาย เราต้องรู้ความบกพร่องความผิดพลาดนะ พระที่บวชมาเป็นครูบาอาจารย์ เขาก็พากันไปบ่นไปว่าพวกคนสมัยใหม่ สมัยปัจจุบันนี้ไม่มีใครอยากบวช ให้พวกเราพากันรู้ ทำไมเขาไม่อยากบวช เพราะการบวชในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่พระพุทธศาสนาน่ะ มันเป็นตัวเป็นตนเป็นไสยศาสตร์เป็นสายมูเป็นพาณิช เพราะทุกคนมีการเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ตั้งแต่ น.ธ. ตรี จนถึง ป.ธ. 9 เพราะการมาบวชมาปฏิบัติทุกวันนี้คนไม่น่าจะมาบวช เพราะไม่มีการประพฤติไม่มีการปฏิบัติ สู้เขาไม่ได้บวชสู้เขาเป็นฆราวาสไม่ได้ มันดีกว่ามีประโยชน์กว่า เพราะว่าผู้ที่มาบวชเป็นตัวอย่างแบบอย่างไม่ได้พากันมุ่งมรรคผลมุ่งพระนิพพาน แต่จะพากันมาบวชเพื่อเอาศาสนาหาอยู่หาฉันหาเลี้ยงชีพ วัดต่างๆ คณะสงฆ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มีแต่แก๊งค์มีแต่โจร กุลบุตรลูกหลานเขาเลยไม่อยากพากันมาบวช พากันมาคิดดูดีๆ โรงเรียนที่ดีๆ มีในประเทศไหนเขาก็พากันไปเรียน เทอมนึงหลายหมื่น หลายแสน หลายล้าน เขาก็พากันไปเรียน ถ้าวัดประจำหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เหมือนพระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งกายวาจากริยามารยาท ตลอดถึงอาชีพ ทุกคนใครเขาจะไม่อยากจะบวชล่ะ เพราะการบวชเป็นความดีเป็นของที่ถูกต้อง เหมือนได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ พวกที่ติดแล้วก็เข้าสู่ภาคบำบัด ที่เขาอยากมาบวช เพราะพระเก่าเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี ต้องเข้าใจ ผู้ที่เป็นพระเก่าต้องพากันมาพิจารณาตนเอง ปีนี้เป็นปีที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ที่ท่านทรงออกผนวช ใช้เวลา 27 พรรษา ถึงได้ทรงลาสิกขามาเป็นพระมหากษัตริย์ ทุกคนต้องมาปรับปรุงแก้ไข ความคิด ความประพฤติ ปฏิปทาต้องยกสู่การประพฤติการปฏิบัติของตัวเอง ท่านบอกพวกเราว่า ไม่เป็นไร เรามาจากวรรณะไหนๆ ไม่มีปัญหา ให้เรายกเลิกตัวตน กุลบุตรลูกหลานเขาจะได้รับเอาสิ่งที่ประเสริฐที่พวกเขาได้พากันมาเกิดเป็นมนุษย์ควรจะได้
ให้ทุกคนเข้าใจ ประเทศไทยเราน่ะสมควรแล้วถึงเวลาแล้ว ที่ต้องเอาธรรมนำชีวิต เอาความถูกต้องนำชีวิต ชีวิตเราถึงจะสงบอบอุ่น เย็นเป็นแอร์คอนดิชั่น ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้แล้วก็มีความสุขด้วย เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้อง ที่เป็นอริยมรรค เป็นหนทางอันประเสริฐไปสู่ความดับทุกข์สงบเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee