แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พุทธะที่แท้จริง ตอนที่ ๒๖ การเห็นอะไร ก็ไม่ประเสริฐสุดเท่ากับการเห็นอริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ในกายในใจนี้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๗
ประชาชนผู้ที่เป็นฆราวาสพากันรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้งเช้ากลางวันเย็น พากันนอน 6-8 ชั่วโมง สำหรับนักบวชก็พากันนอน 5-6 ชั่วโมง ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่ช่วงเวลาเช้าจนถึงเที่ยง สำหรับพระผู้เฒ่าหรือว่าพระป่วยก็ฉันหลายครั้งในระหว่างช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยงนั้น พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เป็นสมมติบัญญัติเพื่อโฟกัสให้ทุกคนได้ประพฤติได้ปฏิบัติด้วยกายวาจากิริยามารยาทตลอดจนถึงอาชีพ เพื่อเข้าสู่ทางสายกลางด้วยเอาธรรมนำชีวิต ให้พวกเราเข้าใจธรรมวินัยหรือกฎหมายบ้านเมืองที่เป็นสมมุติบัญญัติ เพราะการดำเนินชีวิตของพวกเราทั้งหลายต้องเอาอริยมรรคมีองค์ 8 ที่มีอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน
สมัยปัจจุบันทุกวันนี้ หมู่มวลมนุษย์ได้พากันเป็นโรคจิตโรคประสาทกันเยอะ มีทั้งตัวเรามีทั้งคนอื่น ต้องพากันเข้าใจจะได้พากันแก้ไข เรื่องนอนไม่หลับนอนไม่พอนี้สำคัญ ประชาชนทั่วไป 3-4 ทุ่มก็ควรพากันนอน จะได้ตื่นขึ้นตี 4 ตี 5 ก่อนนอนก็นั่งสมาธิสัก 1 ชั่วโมง ตื่นขึ้นในตอนเช้าก็นั่งสมาธิอีก ให้เข้าใจความหมายของสมาธินะ การนั่งสมาธิคือว่างจากนิวรณ์ว่างจากตัวว่างจากตน สิ่งที่เป็นอดีตไปแล้วเราก็ยกสิ่งนั้นๆ เข้าสู่พระไตรลักษณ์ว่าทุกอย่างไม่แน่ไม่เที่ยงทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อนาคตมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ปัจจุบันเราต้องยกจิตยกใจเข้าสู่ความว่างจากความเป็นตัวเป็นตน หายใจเข้าให้มีความสุขหายใจออกให้มีความสุข เราพากันปฏิบัติอย่างนี้จะได้มีพื้นฐานทางจิตทางใจ โลกยุคใหม่สมัยใหม่มีทั้งโทรทัศน์โทรศัพท์มือถือคอมพิวเตอร์มากมาย สิ่งเหล่านี้มันเป็นความรู้ที่หมู่มวลมนุษย์ได้แชร์ความรู้ซึ่งกัน เราสมควรต้องยกสิ่งเหล่านี้เข้าสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อจิตใจเราจะได้ก้าวไปด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าบอกสอนเราเพื่อให้พวกเราไม่เป็นโรคจิตโรคประสาทโรคซึมเศร้าโรคฟุ้งซ่าน ต้องมีความสุขในการทำงานมีความสุขในการเรียนหนังสือ มนุษย์เราต้องมีความสุขในการทำงาน ถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน จะเป็นโรคจิตโรคประสาทโรคซึมเศร้า
ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรองว่า การทำจิตให้สงบเป็นสมาธินับเป็นการจัดระเบียบคลื่นสมองที่มีประสิทธิภาพที่สุด และถือเป็นการผ่อนคลายเชิงลึก ด้วยเหตุนี้ สมองอันปราศจากข้อมูลขยะของพระอรหันต์จึงไม่ต้องการช่วงเวลาหลับลึกเพื่อฟื้นฟูสภาพสมองและจัดระเบียบเซลล์ประสาทมากเท่าคนทั่วไป จึงนอนเพีงแค่วันละ ๔ ชั่วโมงก็พอแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการหลับอย่างมีสติไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑. ทำให้หลับเป็นสุข ๒. ทำให้ตื่นเป็นสุข ๓. ทำให้ไม่ฝันร้าย ๔. ทำให้เทวดารักษา ๕. ทำให้มีสติไม่หลงใหลในกามซึ่งเกิดจากความฝัน
๗ ขั้นตอนสู่ การนอนอย่างพระอรหันต์
๑. หมั่นเจริญสติและฝึกสมาธิระหว่างวันเพื่อจัดระเบียบสมองและลดการปรุงแต่งอารมณ์
๒. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้สมองและร่างกายตื่นตัวก่อนนอน เช่น การดูหนังแอ๊คชั่น การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การคิดเรื่องงาน ฯลฯ เพื่อให้ร่างกายพร้อมเข้าสู่การนอนอย่างสงบและมีสติ
๓. นอนอย่างปล่อยวาง ทำจิตให้ว่างก่อนเข้านอน ด้วยการสะสางงานและวางแผนสิ่งที่จะต้องทำในวันรุ่งขึ้นให้เรียบร้อย อาจวางกระดาษและดินสอไว้ข้างเตียงเพื่อจดสิ่งที่นึกขึ้นได้จะได้ไม่ต้องคิดวนไปเวียนมาเพราะความกังวล
๔ .นอนในที่เย็น เงียบ และมืด ปราศจากแสงเสียง และสิ่งรบกวนที่จะทำลายสมาธิในการนอน
๕. หลับไปด้วยจิตอันนิ่งสงบและเป็นกุศล แทนที่จะหลับไปอย่างเหนื่อยอ่อนเพราะคิดปรุงแต่งสารพัน
๖. จัดระเบียบการนอน มีกำหนดเวลานอนและตื่นที่ชัดเจนเพื่อสร้างวินัยให้ร่างกาย
๗. ลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงทันทีที่ตื่น อย่ามัวโอ้เอ้งัวเงียพ่ายแพ้ให้ความขี้เกียจ เพราะการตื่นขึ้นเองโดยไม่มีใครปลุกเป็นการส่งสัญญาณให้คุณรู้ว่าสมองได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว การนอนนานกว่านั้นจึงถือเป็นความขี้เกียจ
การนอนอย่างมีสติเป็นองค์ประกอบประการสำคัญที่ในการประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ เพื่อเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” อยู่ตลอดเวลาอย่างแท้จริง
เราทุกคนต้องยกเลิกตัวยกเลิกตน ถ้าไม่ยกเลิกตัวไม่ยกเลิกตนทุกคนก็ย่อมเครียด เพราะตัวตนมันคือความเครียด ตัวตนมันจึงเป็นความทุกข์ มีแต่ทุกข์เกิดขึ้นทุกข์ตั้งอยู่ทุกข์ดับไป ต้องมายกเลิกตัวตน
ให้พวกเราเข้าใจเรื่องศาสนา ในโลกนี้มีอยู่หลายศาสนา แต่ความหมายก็คืออันเดียวกัน เราพัฒนาวัตถุพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ทำงานก็ให้มีความสุขในการทำงาน จิตใจของเราก็มีความสุขเอากฎหมายบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง เอาธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง มนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน เพื่อมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เห็นอริยสัจ 4 บำเพ็ญพุทธบารมีตั้ง 20 อสงไขยนับเวลายาวนานตั้งหลายล้านชาติ แล้วนำมาบอกมาสอนพวกเรา ศาสนาพุทธก็คือผู้รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง เรียกว่าอริยสัจ 4 คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้สภาพความเป็นจริงถึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า พื้นฐานของผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดคือผู้ที่ยังไม่รู้อริยสัจ 4 การดำเนินชีวิตของเราต้องรู้อริยสัจ 4 เราต้องอาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ เป็นอุปกรณ์ตัวผู้รู้ ในชีวิตประจำวันเราเรียนเราศึกษาอย่างนี้ ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์เพื่อรู้ ทุกคนต้องพากันสนใจเอาใจใส่เป็นพิเศษ เราจะได้ถึงศาสนา ถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าคำว่าศาสนา คือตัวผู้รู้ รู้อริยสัจ 4 ถึงเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธก้าวไกลไปถึงที่สุดคือพระนิพพาน ถ้าเราไม่รู้ก็ทำทั้งผิดทั้งถูกทั้งดีทั้งชั่ว เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการประพฤติการปฏิบัติเพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันพระนิพพาน ปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด เพราะรูปมันก็สวย เสียงมันก็เพราะ อาหารมันก็อร่อย ที่อยู่ที่อาศัยก็สะดวกสบาย อันนี้มันเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติหรือว่าความสุขสงบที่เป็นพรหมโลกก็ว่ายังไม่มีทุกข์อะไร แต่พวกนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นเพียงถนนผ่าน เราทุกคนต้องเอาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมา มาเสียสละ การประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันที่ก้าวไป การปฏิบัตินี้ทุกแง่มุมเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8
อริยสัจ เป็นศาสตร์อิสระอีกชนิดหนึ่งต่างหากว่าด้วยการทำตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ และความมืดมนทั้งปวง คือหลักวิชาที่จะทำให้คนบรรลุเป็นพุทธะ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าผู้ค้นพบอริยสัจ ซึ่งเป็นผลจากการค้นคว้าวิจัยเรื่องความทุกข์และการพ้นทุกข์ของพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เพื่อประโยชน์แก่การบรรลุโลกุตตรธรรม อันเป็นจุดหมาย สูงสุดในพระพุทธศาสนา อริยสัจธรรม ๔ ประการนี้ เป็นหลักธรรมสำหรับบรรพชิต และคฤหัสถ์ที่ควรศึกษา ควรรู้และควรปฏิบัติตาม เพื่อความสิ้นไปจากกิเลสทั้งหลาย และเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ ครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “จตุนนํ อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สริตํ มมญฺเจว ตุมหากญฺจ : เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่เข้าใจในอริยสัจธรรมเหล่านี้ ตถาคต และพวกเธอจึงเร่ร่อนไปในภพทั้งหลายสิ้นกาลนาน” โดยตรัสว่า “ชนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาลและบัณฑิตทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำทั้งเล็กทั้งใหญ่ทั้งสุกทั้งดิบ ย่อมมีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น สังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”
ความเข้าใจในเรื่องอริยสัจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจอริยสัจแล้วจะสามารถหลีกเลี่ยงจากทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ และหลีกเลี่ยงให้พันจากเหตุเกิดของทุกข์ด้วยการละ อีกทั้งสามารถรู้แจ้งความดับทุกข์โดยอาศัยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องกำหนดรู้ขันธ์ ๕ พยายามละอวิชชาและตัณหา พร้อมทั้งเจริญสมาธิและปัญญาให้รู้แจ้งสู่ความเป็นอิสระจากกิเลส การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ตลอด ๔๕ พรรษา เน้นที่การประกาศอริยสัจทั้ง ๔ แต่เป็นการแสดงโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ฟังธรรมในแต่ละโอกาส
เรื่องของอริยสัจ นับเป็นของที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคนอยู่แล้ว ความทุกข์และเหตุของทุกข์มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ต้องไปศึกษาค้นคว้าที่ไหน ไม่ต้องลงทุนลงแรงในการศึกษา ซึ่งผิดกับการศึกษาสภาวะสัจจะบางอย่าง ที่นักวิทยาศาสตร์กระทำกันอยู่นั้น ต้องลงทุนนับเป็นพันๆ ล้านดอลล่าร์ ต้องสร้างจรวดออกไปศึกษาถึงในอวกาศ บางคนถึงกับเสียชีวิตในขณะศึกษา นับว่ามีภัยอันตรายรอบด้าน เมื่อรู้สัจจะที่ต้องการรู้แล้ว ก็ไม่สามารถทำให้ผู้รู้ดีขึ้นแต่อย่างใด ส่วนการศึกษาในอริยสัจนั้นไม่มีโทษไม่มีภัย ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร เมื่อรู้แล้วก็มีคุณประโยชน์อย่างเดียว
อริยสัจ ถ้าจะแปลตามความหมายแล้วก็จะได้ความว่า "ความจริงอันยังให้ผู้รู้เป็นอริยะ" คือหมายความว่าใครก็ตามเมื่อรู้อริยสัจแล้วก็สามารถเป็นพระอริยะได้ แต่ความรู้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ารู้จากตัวหนังสือหรือท่องบ่น การรู้แบบตัวหนังสือหรือท่องบ่นเป็นความรู้แบบ "สัญญา" คือความจำ ความรู้นี้เป็นพระอริยะไม่ได้ แต่เป็นบันไดที่จะนำไปสู่ความรู้อย่างแท้จริงคือ "รู้ด้วยปัญญา" อันเกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนา พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นการเห็น เพราะเห็นด้วยปัญญาจักษุ คือ ตาปัญญา
อริยสัจจ์ ๔ คือความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือทั้งรู้และเห็นแล้วทรงชี้ให้เราดู ได้แก่
๑. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ ๒. สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ๓. นิโรธ คือความดับทุกข์ ๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์
ถ้าจะเปรียบกับโรค
ทุกข์ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่ป่วยเป็นโรค
สมุทัย ก็เปรียบเหมือน ตัวเชื้อโรค
นิโรธ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่หายจากโรค แข็งแรงแล้ว
มรรค ก็เปรียบเหมือน ยารักษาโรคให้หายป่วย
คนทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนคนป่วยแต่ก็ไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ จะแก้ไขรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร ในมงคลนี้ จะทำให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิต ให้รู้กันเลยว่าที่เราทุกข์ๆ กันอยู่ทุกวันนี้น่ะ มันมีสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราจะได้รีบ ปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์กันเสียที
อริยสัจ ที่ ๑ ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระพุทธองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อย และมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น
ความทุกข์ในอริยสัจนี้แตกต่างจากความทุกข์ในไตรลักษณ์ ความทุกข์ในไตรลักษณ์นั่นหมายถึงสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ แต่ความทุกข์ในอริยสัจนั้นหมายถึงความทุกข์อันเกิดจากความเบียดเบียนต่างๆ นานา คือพระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คือ
๑. สภาวทุกข์ ได้แก่ความทุกข์อันเป็นผลโดยตรงของความเกิด ความแก่ และความตาย ทุกข์ประเภทนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทุกข์ชนิดนี้มี ๓ ประการได้แก่ชาติ การเกิด ชรา การแก่ มรณะ การตาย เพราะเมื่อเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายวิธีป้องกันความทุกข์นี้ก็คือ "ไม่เกิด"
ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา อย่างมากที่สุดก็บอกได้เพียงว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ส่วนการเกิดกลับถือว่าเป็นสุขเป็นพรพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานมาจากสรวงสวรรค์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำสมาธิมามาก ทรงรู้แจ้งโลกด้วยดวงปัญญาอันสว่างไสว และชี้ให้เราเห็นว่า การเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่ต้องขดอยู่ในท้อง พอจะคลอดก็ถูกมดลูกบีบรีดดันออกมา ศีรษะนี่ถูกผนังช่องคลอดบีบจนกะโหลกเบียดซ้อนเข้าหากัน จากหัวกลมๆ กลายเป็นรูปยาวๆ เจ็บแทบขาดใจ เพราะฉะนั้นทันทีที่คลอดออกมาได้ สิ่งแรกที่เด็กทำคือร้องจ้าสุดเสียง เพราะมันเจ็บจริงๆ และการเกิดนี่เองที่เป็นต้นเหตุ เป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆ ทั้งปวง ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไหร่ก็เลิกทุกข์เมื่อนั้น
อีกอย่างหนึ่งที่คนมักเข้าใจไขว้เขวกันก็คือ คิดว่าชราทุกข์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออายุ ๖๐-๗๐ ปี แต่จริงๆ แล้วทันทีที่เราเริ่มเกิด เราก็เริ่มแก่แล้ว ชรา- ทุกข์เริ่มเกิดตั้งแต่ตอนนั้น และค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ในร่างกายเริ่มแก่ตัวไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ขอให้เข้าใจกันเสียใหม่ด้วย
๒. ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร เกิดกับแต่ละคนด้วยระดับที่ต่างกันไปไม่แน่นอน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง ก็จะสามารถบรรเทาจากทุกข์ชนิดนี้ได้ เป็นความทุกข์อันเกิดจากไม่สามารถทนต่อการกระทบของเหตุภายนอกได้ ซึ่งมีอยู่ ๘ อย่างด้วยกันคือ ๑. โสกะ ความเสียใจ ๒. ปริเทวะ อาการคร่ำครวญ ๓. ทุกขะ มีอาการเจ็บทางกายและใจ ๔. โทมนัสสะ อาการเสียใจ น้อยใจ ๕. อุปายาสะ อาการท้อแท้ใจ-กลุ้มใจ ๖. อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ จากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
๗. ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกศัลย์โศกเศร้าเมื่อพลัดพรากจากของรัก
๘. ยัมปิจฉัง น ลภติ ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น
นี่เป็นผลจากการวิจัยความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ พระองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรคให้เราดูได้อย่างละเอียดชัดเจน “ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ อริยสัจ คือทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้”
อริยสัจ ที่ ๒ สมุทัย คือเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ฝึกสติสมาธิมาน้อย หาเหตุแห่งความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่างๆ นานา ว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้าบ้าง ของผีป่าบ้าง ถ้าเป็นจริงละก็ ผีป่าตนนี้คงใจร้ายน่าดู เที่ยวไปรังแก คนโน้นคนนี้ทั้งวันให้เขามีทุกข์ หน้าคงจะหงิกอยู่ทั้งวัน
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองเห็นความจริงอย่างชัดเจนว่า ที่เราทุกข์ๆ กันอยู่นี่ สาเหตุมาจาก ตัณหา คือความทะยานอยากในใจของเราเอง ซึ่งเรียก ว่า "ตัณหา" และได้ทรงแสดงอาการของความอยากออกไว้เป็น ๓
๑. กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุปคืออยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ ๒. ภวตัณหา ความอยากเป็น
๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ
มนุษย์เราเกิดมาจากตัณหา ลอยคออยู่ในตัณหา เคยชินกับตัณหา คุ้นเคยกันกับตัณหา จนเห็นตัณหาเป็นเพื่อนสนิท กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ถ้าขาดตัณหาแล้ว เขากลัวว่าจะขาดรสของชีวิตที่เคยได้ เคยอยู่ เคยเป็น แต่ตามความเป็นจริง ตัณหานั้นถ้าเป็นเพื่อนก็คือเพื่อนเทียม ที่คอยหลอกล่อนำทุกข์มาให้เราแล้วก็ยืนหัวเราะชอบใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญ ทรงแยกแยะสาเหตุของโรค สาเหตุของทุกข์ ให้เราเห็นว่ามาจากอะไร เชื้อโรคชนิดไหน กิเลสชนิดใด
“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ อริยสัจ คือทุกขสมุทัย อันเราพึงละ”
การค้นพบของพระพุทธเจ้านั้นเป็นการค้นพบเหตุของความทุกข์โดยตรง และเป็นการค้านลัทธิศาสนาฝ่ายเทวนิยมทั้งสิ้น ซึ่งสอนว่า ความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากการลงโทษลงทัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่บนสวรรค์ รวมทั้งเชื่อเรื่องผีสางนางไม้มา ทำให้คนทุกข์นั้นด้วย ถ้าจะเปรียบหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ากับเจ้าลัทธิอื่นๆ ก็คล้ายกับคนโบราณ เมื่อเป็นโรคอหิวาต์ หรือเป็นไข้มาเลเรีย แล้วก็มีความเชื่อถือว่าเกิดมาจากผีในป่า ในมหาสมุทร ในทะเล มาลงโทษเรา แล้วก็มีการเซ่นไหว้อ้อนวอนกับผีสางนั้น แต่เมื่อวิทยาการได้ก้าวหน้าและค้นพบว่า การที่เป็นโรคอหิวาต์นั้น ไม่ได้เกิดจากผีป่า ผีทะเลแต่อย่างไร มันเกิดมาจากเรากินของที่ผิดสำแดง หรือเกิดจากเราได้รับเชื้อโรคจากการกินน้ำไม่ได้ต้ม ฯลฯ ส่วนไข้มาเลเรียนั้นก็ไม่ได้เกิดมาจากผีทะเลอีกเช่นกัน ปัจจุบันค้นพบว่ายุงก้นปล่องนำเชื้อมา และยุงจะเกิดได้เพราะเราทำให้มีที่ขังน้ำไว้ เป็นที่เพาะเชื้อยุงซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้มาเลเรียมาสู่เรา แต่คนเรากลับมองข้ามไป โดยไปโทษผีสางนางไม้หรือเทวดาซึ่งทำให้เกิดทุกข์ ตรงข้าม พระพุทธเจ้าทรงชี้มาที่ตัวเองว่า ใจเรานั่นแหละทำให้เราทุกข์
อริยสัจ ที่ ๓ นิโรธ นิโรธ คือความดับทุกข์ หมายถึง สภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง ทำให้หมดตัณหาจึงหมดทุกข์ ทรงค้นพบลักษณะของความทุกข์ที่แท้จริง ที่ปลอดภัยที่สุดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งได้คำตอบว่า ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงนั้นจิตจะต้องหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ ความทุกข์ก็จะต้องมีอีก ยังไม่พ้นเด็ดขาด จิตที่หมดกิเลสแล้ว เรียกสั้นๆ ว่า "นิพพาน" คือ หมดจากกิเลส หรือเครื่องร้อยรัด
ความพ้นทุกข์ที่ว่านี้ ก็ไม่ตรงกับทัศนะของเจ้าลัทธิอื่นๆ อีกเหมือนกัน ตามทัศนะของเจ้าลัทธิศาสนาต่างๆ สอนความพ้นทุกข์ในลักษณะต่างกัน เช่น การคอยให้ผู้วิเศษรับไปอยู่สวรรค์ การทรมานตัวให้มึนชาต่อความรู้สึก การตัดความรู้สึกทางกายเสีย ลักษณะความพ้นทุกข์ดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธว่าไม่ใช่ความหลุดพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงการข่มทุกข์เอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น เป็นความพ้นทุกข์ที่ยังไม่พ้นทุกข์ แต่คนเหล่านั้นนึกเอาเองว่าพ้นแล้ว เหมือนคนเป็นไข้แต่อาการของมันสงบชั่วขณะ ก็เข้าใจว่าไข้หายแล้ว แท้จริงมันยังมีเชื้อไข้อยู่เต็มอัตรา เพียงแต่มันสงบอยู่เท่านั้น
การคอยรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยที่ไม่มีกำหนดแน่นอน ก็เป็นเพียงความสุขด้วยความหวังของตนเท่านั้นเหมือนคนที่ไม่มีอาหารจะกิน แต่เมื่อความหวังว่าจะต้องมีคนเชิญไปกินอาหารระหว่างการรอคอยนั้น ก็คงต้องกลืนน้ำลายตัวเองไปพลาง มันก็เป็นการสร้างความสุขได้ แต่ไม่ใช่ความพ้นทุกข์ที่แท้
การทรมานตัวให้มึนชาต่อความทุกข์ เช่นคนที่มีความเห็นว่าความทุกข์ทั้งหลายเกิดมาจากร่างกาย ได้รับความสะดวกสบายมากไป ต้องทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบากอย่างที่เรียกว่า "ทุกรกิริยา" แล้วจะได้เห็นความทุกข์อื่นเป็นเรื่องเล็กไป เพราะจิตใจหรือร่างกายได้รับการทรมานจนตายด้านเสียแล้ว วิธีนี้ก็ไม่ใช่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง ตัวเองก็ยังอยู่ในกองทุกข์นั่นเอง แต่ทำตัวไม่ให้รู้จักทุกข์ คล้ายๆ คนที่อยู่กลางป่า มีสัตว์ร้ายและอสรพิษมาก ตัวเองนี่นึกกลัวอันตราย อยากทำให้ตัวเองพ้นอันตราย แต่ใช้วิธีทำให้ตาตัวเองบอดเสีย ทำหูให้หนวกเสีย งูมาจะได้ไม่เห็นเสือร้องก็ไม่ได้ยินแล้วก็คิดว่าตัวเองพ้นอันตรายแล้ว
ส่วนการทำใจให้เข้าภวังค์ ตัดความรู้สึกทางกายเสีย ไม่รู้สึกหนาว ไม่รู้สึกร้อน แล้วคิดว่าตัวเองพ้นทุกข์แล้ว นั่นเป็นเพียงความฝัน เหมือนคนไข้ที่นอนหลับ และฝันว่าตัวเองหายจากไข้แล้ว มีกำลังร่างกายแข็งแรงดี พอตื่นแล้วก็ยังคงเป็นไข้อยู่อย่างเดิม นี่ก็ไม่ใช่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
เราจะสังเกตได้ว่า คำสอนของเจ้าลัทธิอื่นๆ เป็นการสอนให้หลบทุกข์ แต่พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ทุกข์ กำหนดทุกข์ และทำลายทุกข์ ความทุกข์จะหมดไปได้ต้องทำใจให้หมดจากกิเลส เหมือนกับไฟที่ยังลุกอยู่เพราะมีเชื้อ การใช้น้ำดับเป็นการระงับที่ปลายเหตุ ตราบใดที่ยังมีเชื้ออยู่ พอได้รับเหตุปัจจัย ไฟนั้นก็ยังติดได้อีก ส่วนการทำลายไม่ให้มีเชื้อเหลืออยู่ ไฟก็ติดไม่ได้ “ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ อริยสัจ คือทุกขนิโรธะ อันเราพึงทำให้แจ้ง” ดังนั้นเมื่อพระองค์ได้แสดงอย่างนี้แล้ว ได้ทรงแสดงต่อไปถึงหนทางแห่งความดับทุกข์ที่เรียกว่า "มรรค"
อริยสัจ ที่ ๔ มรรค หมายถึงวิถีทางแห่งความพ้นทุกข์ ซึ่งท่านได้แสดงถึงทางปฏิบัติก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ มีอยู่ด้วยกัน ๘ ข้อ เรียกว่า อริยมรรค ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญ เห็นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกิดทุกข์ชัดเจน แล้วก็ทรงสอนเราว่า ที่เราป่วยเราทุกข์ก็เพราะเจ้าตัณหาซึ่งเปรียบเหมือนเชื้อโรคนี่เอง ถ้าต้องการหายจากโรคก็ต้องกำจัดเจ้าเชื้อโรคนั้นให้หมดไป โดยพระองค์ทรงมอบยาดีไว้ให้เราใช้กำจัดเชื้อโรคนั้นด้วยซึ่งก็คือ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่ง ปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้น คือความเห็นถูกต่างๆ เช่น เห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือคิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือเลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก
๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗. สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เสมอ
๘. สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือมีใจตั้งมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับ จนเข้าถึงธรรมกาย จากสมาธิที่เป็นระดับโลกียะไปสู่สมาธิที่เป็นระดับโลกุตตระ
มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้ ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจนและพ้นทุกข์ได้ เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล ไม่ต้องไปวิงวอนพระเจ้าหรือใครๆ “ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ อริยสัจ คือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ”
เมื่อได้ฟังอริยสัจมาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่าทุกข์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรคมีองค์ ๘ จำได้หมด แต่นี่ยังไม่เรียกว่าเห็นอริยสัจ เป็นแต่เพียงฟังและจำอริยสัจได้เท่านั้น การเห็นอริยสัจแต่ละข้อจะต้องเห็นถึง ๓ รอบ รวม ๔ อริยสัจ เท่ากับ เห็นถึง ๑๒ ครั้ง เรียกว่า รอบ ๓ อาการ ๑๒ ของอริยสัจ การเห็นอริยสัจแปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือเมื่อเห็นแล้วจะสามารถ ทำได้ด้วย เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ว่า คือตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหาควรละ และก็ละตัณหาได้ด้วย เป็นการเห็นที่บริบูรณ์จริงๆ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนการรู้เรื่องยา จะเป็นความรู้ที่บริบูรณ์ ก็ต้องรู้อย่างนี้ คือ รู้ว่า นี่เป็นยา รู้ว่า ยานี้ควรกิน รู้ว่า ยานี้เราได้กินแล้ว
การเห็นอริยสัจนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็จะเห็นหมด เช่น เมื่อเห็นทุกข์ ก็จะเห็นสมุทัย นิโรธ มรรค ด้วย เห็นสมุทัย ก็จะเห็นทุกข์ นิโรธ มรรค ด้วย จะเห็นพร้อมกันทั้งหมด เพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตาหรือการนึกคิดเห็นธรรมดา แต่เป็นการเห็นด้วยธรรมจักษุ
การเห็นอริยสัจนั้น เป็นการเห็น ๒ ชั้น คือชั้นธรรมดาสามารถที่จะใช้ธรรมนี้ในทางดำเนินชีวิตในทางถูกต้อง และต้องทำใจของเราให้รับฟังเหตุผลด้วย
ในชั้นสูง การเห็นอริยสัจนั้น ไม่ใช่หมายถึงการเห็นอริยสัจการฟังการอ่านหรือคิดเอา แต่จะต้องปฏิบัติตามมรรค ๘ จนถึงข้อ "สัมมาสมาธิ" ทำสมาธิให้เกิดสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์จนเกิดดวงปัญญาขึ้น แล้วเห็นอริยสัจครบทุกข้อด้วยปัญญานั้น จึงเรียกว่าเห็นอริยสัจ
การเห็นอริยสัจด้วยปัญญานั้น ทำให้เราเป็นคนหายมืด หายหลงในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เลิกงมงายในลัทธิพิธีที่ไร้สาระเสีย ถ้าเราปฏิบัติได้ขั้นนี้แล้วผลที่จะเกิดขึ้นคือความดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee