แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พุทธะที่แท้จริง ตอนที่ ๒๒ ศีลสมาธิกับปัญญาอยู่ด้วยกัน ใจมันถึงจะเย็นได้ ไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๗
การประพฤติการปฏิบัติธรรม ให้พวกเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง เพราะธรรมะเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นเรื่องเหตุเรื่องผล เป็นเรื่องเพราะสิ่งที่มีสิ่งต่อไปถึงมี พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์ได้พัฒนามาถึงระดับความสงบ ได้สมาธิได้ฌานสมาบัติ 8 แต่เวลาออกจากสมาธิแล้วก็ยังมีความโลภความโกรธความหลงอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้มาต่อยอด เพราะความสงบยังไม่ใช่พระนิพพาน ยังเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนอยู่ เพราะรูปฌานเเละอรูปฌานก็ยังมีความปรุงเเต่งอยู่ ยังไม่ใช่ปัญญา ในชีวิตประจำวันอริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง จิตใจของเราก็ย่อมหยุดความปรุงแต่ง ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนเเก่ คนรวย คนจน มันเเก้ มันดับปัญหาได้ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ถึงเป็นฐานประพฤติฐานปฏิบัติ จะทำให้อริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ เพราะใจจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจจะอยู่กับสติสัมปชัญญะ อยู่กับศีลสมาธิปัญญา มันจะได้สมบูรณ์ เนื่องจากว่าศีลก็อบรมสมาธิ สมาธิก็อบรมปัญญา ปัญญาก็อบรมสมาธิ ก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างท่านเจ้าคุณโชดก ไปฝึกที่พม่า เค้าให้อยู่เก็บอารมณ์ในห้องกรรมฐาน ไม่ให้ไปไหนมาไหนตั้งหลายเดือน ไม่ให้ใจออกจากห้องสี่เหลี่ยม สามเมตรคูณสามเมตร คนเราถ้ากายกับใจมันอยู่ด้วยกัน ใจของเราคงจะเย็นได้ ถ้าศีลสมาธิกับปัญญาอยู่ด้วยกัน ใจมันถึงจะเย็นได้ เพราะว่ามันเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ใช่สมาธิหินทับหญ้า ต้องตั้งใจตั้งเจตนา
พระพุทธเจ้าจึงให้เราพัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กันให้เป็นทางสายกลาง เพื่อเป็นอริยมรรค เพื่อให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นธรรมะที่ยกเลิกสิ่งที่เข้าใจผิดและปฏิบัติผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการไว้ ตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่มาผัสสะ เป็นเหมือนแขกที่มาเยี่ยมมาเยือนบ้าน ตามปกติแล้วแขกมาเยี่ยมมายามแล้วก็ต้องจากไป
มีหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาของนิกายวัชรยาน(ทิเบต) ได้กล่าวถึงวิธีจัดการกับความทุกข์ (กิเลส) ที่เปรียบเสมือนแขกผู้มาเยือนไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือในการสอนธรรมะเกี่ยวกับการหาวิธีรับมือกับความทุกข์หรือกิเลสทั้งปวง คือ โลภ โกรธ หลง อิจฉา ริษยา หรือ กิเลสทุกประเภทที่อยู่ในตัวเรา คำสอนของวัชรยานได้เปรียบเทียบให้ความทุกข์หรือกิเลสทั้งปวงนั้นเป็นแขกผู้มาเยือน ส่วนร่างกายและจิตใจของเรานั้นเปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน และได้นำเสนอวิธีการจัดการกับความทุกข์(กิเลส) ที่เป็นแขกผู้มาเยืยนเจ้าของบ้านไว้ ๓ วิธีด้วยกัน ท่านทั้งหลายลองเรียนรู้ร่วมกันว่า ในฐานะเจ้าของบ้านเราจะให้การต้อนรับแขกผู้มาเยืยนด้วยวิธีการใด
วิธีที่ ๑ ให้เจ้าของบ้าน "ไล่แขก" ออกจากบ้าน
วิธีที่ ๒ ให้เจ้าของบ้าน "เชิญแขกเข้าบ้าน” แล้วทำให้แขกผู้มาเยือนสนิทสนมกับเราให้ได้
วิธีที่ ๓ ให้เจ้าของบ้าน "อยู่เฉยๆ" แขกผู้มาเยือนจะมาก็มา จะไปก็ไป เจ้าของบ้านไม่ต้องสนใจ
วิธีที่ ๑ ให้เจ้าของบ้าน "ไล่แขก" ออกจากบ้าน สำหรับวิธีการนี้ “ไล่แขก” ออกจากบ้านทันทีเมื่อรู้ว่าแขกผู้มาเยือนกำลังจะขึ้นบ้าน แต่สำหรับบางคนพอเห็นหน้าแขกผู้มาเยือนแล้ว อาจจะไล่ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาในเขตบ้านเลยก็ได้ วิธีการนี้ก็คือ เมื่อความทุกข์ หรือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเข้ามาสู่ชีวิตเรา เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ ก็จะทุรนทุรายแสดงอาการไม่พอใจ เวลาเห็นแขกผู้มาเยือนมายืนรออยู่หน้าบ้าน เช่น พอความทุกข์มากระทบกับชีวิต กิเลสเข้าครอบงำใจ คนประเภทนี้ก็จะเอาใจไปตามกิเลส เวลาทุกข์ก็ร้องไห้เสียใจจนแทบจะไม่เหลือชีวิต เวลาดีใจมีความสุขก็จะสุข จนกลายเป็นคนที่หลงความสุข ทำให้เกิดความประมาทในชีวิตในที่สุด ผลของการต้อนรับแขกด้วยวิธีนี้ ก็จะทำให้เจ้าของบ้าน คือตัวเราเกิดทุกข์ตามมาอย่างที่สุด เพราะดูแล้วแขกท่านนี้ก็คงไม่ออกจากบ้านถึงแม้ว่าเราจะไล่รุนแรงขนาดไหน (แต่ถ้าแจ้งตำรวจมาจับก็ไม่แน่เหมือนกัน)
วิธีที่ ๒ ให้เจ้าของบ้าน "เชิญแขกเข้าบ้าน” แล้วทำให้แขกผู้มาเยือนสนิทสนมกับเราให้ได้ สำหรับวิธีการนี้ รู้สึกว่าจะเป็นวิธีการที่ท้าทายเจ้าของบ้านอยู่ไม่ใช้น้อย ในทางวัชรยาน เรียกวิธีการนี้ว่า "เปลี่ยนกิเลสเป็นปัญญา" วิธีการนี้นอกจากจะไม่ไล่แขกออกจากบ้านแล้ว ยังให้เชิญแขกผู้มาเยือนเข้าบ้าน เมื่อแขกเข้ามาแล้วยังให้สร้างความคุ้นเคยสนิทสนนกับแขก จะด้วยวิธีการพูดคุย หรือ เอาอาหารหวานคาว น้ำเย็น ออกมาต้อนรับก็สุดแท้แต่เจ้าของบ้านจะพิจารณา เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ คือคนที่เห็นความทุกข์ หรือกิเลสที่มาเยือนว่า เป็นแขกเจ้าประจำของชีวิต โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา เป็นเรื่องธรรมดาไม่สามารถจะหนีได้ โดยเฉพาะปุถุชนอย่างเราๆ เมื่อเจ้าของบ้านเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เลยเข้าใจและยอมรับแขกผู้นี้ จึงไม่ไล่แขกแต่เชิญแขกเข้าบ้าน และเรียนรู้แขก คือ เข้าใจความทุกข์ ยอมรับว่ามีทุกข์ แล้วเรียนรู้ความทุกข์ เวลาโกรธก็เรียนรู้อารมณ์โกรธของตัวเอง ส่องกระจก
เพื่อดูว่าเวลาเราโกรธคนอื่น สามี ภรรยา ลูก เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คนรัก หน้าตาของเราเวลาความโกรธสิงสถิตอยู่น่ากลัวขนาดไหน ผลของการต้อนรับแขกด้วยวิธีนี้ จะทำให้เจ้าของบ้าน คือตัวเราเข้าใจและยอมรับความทุกข์ได้มากขึ้น เรียนรู้การอยู่ร่วมกับกิเลสได้อย่างเข้าใจ จนสุดท้ายก็จะสามารถเปลี่ยนกิเลสเหล่านี้ให้เป็นปัญญา พัฒนาชีวิตให้มีความสุขได้อย่างดี
วิธีที่ ๓ ให้เจ้าของบ้าน "อยู่เฉยๆ" แขกจะมาก็มา จะไปก็ไป เจ้าของบ้านไม่ต้องสนใจ สำหรับวิธีการสุดท้ายในการจัดการกับแขกผู้มาเยือน คือ "การอยู่เฉยๆ" นี่ถ้าเป็นการต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมบ้านของเราจริงๆ แล้วอยู่เฉยๆ คงได้โดนนินทาว่าทั้งซอย ว่าบ้านนี้ไม่รับแขก สำหรับวิธีการนี้ไม่ต้อง“ไล่แขก” ออกจากบ้าน และก็ไม่ต้อง “เชิญแขก” ขึ้นบ้าน แต่ให้อยู่เฉยๆ แขกจะขึ้นมาบนบ้านก็ขึ้นไม่สนใจ แขกจะออกจากบ้านก็ไม่สนใจ เพราะเจ้าของบ้านถือคติว่า “ฉันไม่ได้เชิญ” จะมาก็มา จะไปก็ไป ฉันไม่สนใจ มีอะไรไหม (ใจดำน่าดู) เจ้าของบ้านที่เลือกวิธีการนี้ เป็นเจ้าของบ้านที่ใช้ธรรมะข้อ “อุเบกขา” การวางเฉยเป็นเครื่องต่อสู้กับแขกผู้มาเยือน อะไรจะเกิดก็เกิด ความทุกข์ ความสุข จะมาก็มาได้ ไม่ยินดียินร้าย ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นจากการต้อนรับแขกด้วยวิธีการนี้จะได้ผลอย่างไร ฝากท่านทั้งหลายคิดต่อก็แล้วกัน
ทั้ง ๓ วิธีการในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเป็นคำสอนต่อศิษย์ของครูบาอาจารย์สายวัชรยาน ท่านทั้งหลายคงพอจะเข้าใจวิธีการต้อนรับแขกที่ว่า ใน ๓ วิธีนี้แล้ว ถ้าวิธีการต้อนรับแบบไหนท่านลองดูแล้วไม่สำเร็จ ก็ลองทำอีก ๒ สองวิธีดู หรือ อาจจะลองทั้ง ๓ วิธีการในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเลยก็ได้ บางทีในแต่ละวิธีอาจได้รสชาติและประสบการณ์จากการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ลองผิดลองถูกดูก็ได้ พระพุทธองค์ทรงทดลองมาก็หลายวิธีกว่าจะสำเร็จ ว่าแต่ว่าอย่าทดลองหลายวิธีจนลืมตัว “ชวนแขกท่านนี้ออกไป เที่ยวนอกบ้าน” เดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่
นอกจากวิธีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนของวัชรยาน ทั้ง ๓ วิธีการดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีวิธีการจัดการกับความทุกข์ในสายของเถรวาทบ้านเราอยู่วิธีหนึ่ง ที่อยากจะนำมาบอกกล่าว ผ่านเรื่องเล่าต่อไปนี้ มีพระอาจารย์รูปหนึ่งกำลังอธิบายลูกศิษย์เกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิต อธิบายอย่างไรลูกศิษย์ก็ไม่เข้าใจ พระอาจารย์จึงยกตัวอย่างให้ลูกศิษย์ฟังเป็นปริศนาธรรมว่า...
มีจอมปลวกอยู่ หนึ่งอัน จอมปลวกนั้นมีช่องอยู่ หกช่อง ในจอมปลวกมีงูพิษอยู่ หนึ่งตัว อยากจะให้งูพิษออกมาจากจอมปลวก โดยไม่มีอันตรายจะทำอย่างไร ?
ลูกศิษย์หลายคนผลัดกันตอบ บางคนบอกว่าให้เอาไม้มาทุบจอมปลวกทิ้งไปเลย บางคนเสนอให้เอาทรายเทเข้าไปในช่องของจอมปลวก แล้วเดี๋ยวงูพิษก็ออกมาเองเพราะไม่มีที่อยู่ จนในที่สุดพระอาจารย์ก็เฉลยวิธีการนำเอางูพิษออกจากจอมปลวก โดยแนะนำให้ลูกศิษย์ปิดช่องที่จอมปลวกห้าช่อง เปิดไว้หนึ่งช่อง แล้วให้เอาทรายหรือน้ำเทลงไปในจอมปลวก พระอาจารย์ได้เปรียบเทียบปริศนาธรรมที่เล่าไว้อย่างน่าคิด
จอมปลวกก็เปรียบเสมือนตัวของเรา ช่องทั้งหกช่องเปรียบเสมือน อายตนะทั้งหก ในร่างกายของเรา ซึ่งประกอบไปด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจ งูพิษหนึ่งตัวที่อยู่ในจอมปลวก เปรียบเสมือนกิเลสในใจของเรา
การที่เราจะเอากิเลสที่เปรียบเหมือนงูพิษออกจากใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดช่องของจอมปลวกทั้ง ๕ช่อง คือ ปิดอายตนะทั้งห้า คือ ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย แต่ให้เปิดอายตนะช่องหนึ่งไว้ คือ ใจ การที่เราเอาทรายหรือน้ำเทลงไปในช่องที่หกของจอมปลวก คือ การที่เรานำเอาธรรมะที่เป็นเครื่องชำระล้างใจ ด้วยการภาวนา การมีสติรู้ที่จิตของเรา
ดูเหมือนวิธีการนี้ก็จะคล้ายวิธีการต้อนรับแขกของวัชรยาน จะด้วยการไล่งูออกจากบ้าน หรือ “เชิญงูเข้าบ้าน” หรือ “เฉยๆ” งูจะมาก็มา จะไปก็ไป ฉันไม่สนใจแต่อย่ามากัดฉันนะ
การดำเนินชีวิตที่ต้องสัมพันธ์กับโลกภายนอกที่ถูกห้อมล้อมด้วยกิเลสทั้งปวงนั้น เป็นชีวิตที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้วิธีการจัดการกับความทุกข์และกิเลสทั้งปวง การกำหนดรู้ด้วยสติ ในการเห็นสิ่ง ต่าง ๆ ของตา การมีสติในการได้ยินเสียงที่ชื่นชม สรรเสริญ ตำหนิ นินทา การมีสติในการมากระทบของกลิ่นที่พอใจ และไม่พอใจ การมีสติในการได้ลิ้มรสชาติของอาหารทั้งหลาย การมีสติในการสัมผัสของร่างกาย และสุดท้ายการมีสติกำหนดรู้ที่ใจ เมื่ออารมณ์ต่างๆ มากระทบ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราได้ระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตไม่ให้หลงใหล หรือเพลิดเพลินไปกับการกระทบของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ตรงนี้เหมือนกับปริศนาธรรมที่สามเณรน้อยอรหันต์ได้ให้โอวาทแก่พระโปฐิละผู้ทรงพระไตรปิฎกแต่ขาดการปฏิบัติ จนพระพุทธเจ้าทรงเตือนให้สลดใจด้วยคำเรียกว่า “ตุจฉโปฐิละ ภิกษุใบลานเปล่า” ที่ว่า “ท่านอาจารย์ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง เหี้ยตัวหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกตามช่องทั้ง ๖ นั้นเสมอ บุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น จึงอุดช่อง ๕ ช่อง เปิดไว้เพียงช่องเดียว คอยเฝ้าอยู่ใกล้ช่องนั้น เมื่อเหี้ยออกช่องอื่นไม่ได้ ก็ออกมาทางช่องนั้น เขาก็จับเหี้ยตัวนั้นได้ตามประสงค์ เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ท่านอาจารย์”
พระเถระผู้พหูสูต ฟังแค่นี้ก็ “get” ทันที ท่านเข้าใจว่า ในกายของเรานี้มีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นดุจ “ช่อง” ให้จิตเราเข้า-ออกๆ อยู่เสมอด้วยความเคยชิน เป็นที่ตั้งใจแห่งรัก โลภ โกรธ หลง ผูกพันไว้กับทุกข์ตลอดเวลา เมื่อต้องการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ก็ต้องปิด “ช่อง” (ทวาร) ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ช่องเดียว คือ จิต คอยเฝ้าดูจิตตลอดเวลา บังคับให้มันอยู่กับที่เป็นสมาธินานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ไม่ตกเป็นทาสให้กิเลสตัณหามันเสือกไสไปตามปรารถนาของมัน
พูดให้สั้นก็คือ พระเถระนึกได้แล้ว จะพ้นทุกข์ต้องฝึกฝนจิตของตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แล้วก็ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแผ่รัศมีไปตรงหน้าท่าน ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ ดังหนึ่งปรากฏพระวรกายตรงหน้า ตรัสคาถา (โศลก) สอนว่า “โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย เอตํ เทวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ปญฺญา ปวฑฺฒติ - ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ เสื่อมไป เพราะไม่ตั้งใจพินิจ เมื่อรู้ทางเจริญ และทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางปัญญาจะเจริญ”
พระดำรัสสั้นๆ นี้ กระจ่างแก่พระโปฏฐิละเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกที่เข้าใจกันว่าเป็นคน สัตว์ ฯลฯ เป็นความจริงในระดับสมมุติ แต่ความจริงในระดับลึกลงไป ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงขันธ์ ที่เป็นรูปและนามรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่ม เปรียบได้กับรถยนต์อันเป็นที่รวมส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ยาง ล้อ ที่นั่ง เครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ตัวถังรถ และเปรียบเหมือนบ้านอันที่เป็นประชุมของหลังคา เสา พื้น ฯลฯ สมจริงดังข้อความว่า "แน่ะมาร ท่านเห็นผิดเชื่อว่าสัตว์มีอยู่หรือ สมมุติว่าสัตว์นี้เป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ ในกองสังขารนี้จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย เปรียบดั่งเมื่อรวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว คำสมมุติว่า รถ ย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมุติว่าสัตว์ก็มีฉันนั้น โดยแท้จริงแล้ว ทุกข์เท่านั้นมีอยู่ ทุกข์ตั้งอยู่และดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์เกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์ดับไป"
พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้เข้าใจความจริงของชีวิตในระดับลึกที่สุดจนเหลือเพียงขันธ์ ๕ จึงตรัสการเจริญสติปัฏฐานหมวดขันธ์ไว้เพื่อละความยึดติดในตัวตน เมื่อนักปฏิบัติหยั่งเห็นโครงสร้างทางร่างกายของตนเองดวามไม่รู้ก็จะหมดไป แล้วอนุสัยที่คอยสร้างทุกข์ให้ย่อมถูกขจัดได้โดยเด็ดขาด ส่งผลให้บรรลุความหลุดพ้นอย่างแท้จริง
พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ในพระสูตรบางสูตร และแสดงอายตนะ ๑๒ ไว้ในบางแห่ง คำว่า อายตนะ แปลว่า ที่อาศัยของจิตและนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต (เจตสิก) จำแนกออกเป็นอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัส และธรรมารมณ์ (มโนสัมผัส) จะเห็นได้ว่าอายตนะเหล่านี้เป็นที่ตั้งของจิตและเจตสิก ถ้าไม่มีตาหรือรูป จิตที่รู้อารมณ์ผ่านดวงตาก็ปรากฏไม่ได้ อายตนะเหล่านี้อาจจำแนกเป็น ๓ ประเภทตามลักษณะที่ปรากฏดังต่อไปนี้
๑. ธาตุรับ คือ อายตนะภายใน ๕ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่เป็นรูปธรรม
๒. ธาตุกระทบคือ อายตนะภายนอก ๕ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สัมผัส ที่เป็นรูปธรรมพร้อมทั้งธรรมารมณ์ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม
๓. ธาตุรู้ คือ อายตนะที่เป็นนามอันได้แก่ จิตที่รู้อารมณ์ผ่านดวงตาเป็นต้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อมีรูปมาปรากฏทางตา จิตที่เห็นรูปทางตาซึ่งเรียกว่า จักขุวิญญาณจิต ย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นโดยอาศัยตา คนตาบอดไม่สามารถเห็นได้ เพราะไม่มีตาเป็นสื่อผ่านถึงประตูใจ ตาจึงเป็นธาตุรับ รูปเป็นธาตุกระทบ ส่วนจิตเป็นธาตุรู้ แม้เสียงก็ปรากฏผ่านประตูหู ย่อมก่อให้เกิดจิตที่ได้ยินเสียง ดังนี้เป็นต้น
ประสาทตานั้นเป็นเยื่อบางๆ ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำมัน และเยื่อบางๆ เหล่านี้ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ถึง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะเหา (ไม่ใช่รูปเดียว) เป็นรูปที่ถูกผลิตสร้างขึ้นโดยอาศัยอำนาจของกรรม คือ กรรมชรูป
โสตปสาทรูปนั้น หมายถึง ประสาทที่อยู่ภายในช่องหู สำหรับรับสัททารมณ์อันได้แก่คลื่นเสียง มีสัณฐานเป็นวงๆ คล้ายวงแหวน แล้วมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงเรื่อๆ อยู่โดยรอบ มีโสตปสาทปกคลุมแผ่ไปทั่วในบริเวณนี้ เป็นที่รับเสียงและเป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ คือการ "ได้ยิน"
ฆานปสาทรูปนั้น เป็นรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากอำนาจของกรรม ตั้งอยู่ภายในช่องจมูกมีสัณฐานดังเท้าแพะ มีความใสเป็นเครื่องรับสัมผัสกลิ่น เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับคันธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ
ชิวหาปสาทรูปนั้น เป็นรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากอำนาจของกรรม ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้น มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกบัว เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีความใส เป็นเครื่องรับสัมผัสรส เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับรสารมณ์ คือรสต่างๆ
กายปสาท เป็นธรรมชาติของรูปที่เป็นประสาทกาย เป็นรูปที่เกิดขึ้นมาจากอำนาจกรรม มีความใส สำหรับรับสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กายปสาทนี้มีอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นแต่ที่ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนังที่หนาๆ ที่ประสาทกายตั้งอยู่ไม่ได้
หทัย (หทัยรูป) เป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ ได้แก่จิตที่ไม่ได้อาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ ข้างต้น ที่เกิดอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ มีลักษณะเหมือนบ่อ มีโลหิตอันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจบรรจุอยู่ประมาณกึ่งซองมือ (วิธีวัด คือให้ห่อฝ่ามือนิ้วเรียงชิดติดกัน นำน้ำมาใส่บรรจุไว้ในฝ่ามือปริมาตรน้ำประมาณครึ่งหนึ่งนั้นเท่ากับกึ่งซองมือ) มีสัณฐานโตประมาณเท่า เมล็ดในดอกบุนนาค เป็นรูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ
เมื่อเห็นหน้าของคน เราก็พูดกันว่า "เห็น" ในทันใดที่มองดู แต่อย่างไรก็ดี คลื่นของแสงก็หาใช่ว่าจะสะท้อนจากใบหน้ามากระทบกับจิตที่ประสาทตาพร้อมกันในทันทีทันใดหมดทั้งหน้าไม่ เพราะจิตใจจะต้องรับอารมณ์ทีละอารมณ์เท่านั้นในวิถีหนึ่ง รูปคือคลื่นของแสงมากระทบกับจิตที่ประสาทตา จะเกิดดับ ๑ รูป ต่อจิตที่เกิดดับถึง ๑๗ ขณะ นั่นเพียงวิถีเดียวเท่านั้น ความจริงเกิดมากมาย ด้วยเหตุดังนี้เอง รูป คือคลื่นของแสงที่สะท้อนจากใบหน้าคน จึงสะท้อนจากจุดต่างๆ บนใบหน้าแล้วมากระทบกับจิตที่ประสาทตาทีละจุดๆ เช่น จากดวงตา (ทั้งสองข้าง) คิ้ว (ทั้งสองข้าง) จมูก ปาก แก้ม คาง หน้าผาก ผม (โดยย่อเท่านั้น)
จิตจะรับอารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้นเอง จะรับสองอารมณ์พร้อมกันไม่ได้ เช่น รับ "เห็น" พร้อมกันจากจุดตรงปาก และตรงตาด้วยไม่ได้ เป็นต้น
ดังนั้น รูปารมณ์ คือคลื่นของแสงที่สะท้อนเข้ากระทบกับจิตที่ประสาทตา จึงเข้าหระทบทีละหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งจิตที่เข้ารับการกระทบก็เกิดดับสืบต่อกันไป
อารมณ์เหล่านี้ ผู้เห็นยังตัดสินว่าเป็นอะไรไม่ได้ สักแต่ว่า "เห็น" เท่านั้นเอง จึงจัดว่าเป็นปรมัตถอารมณ์ เป็นความจริงแท้แน่นอน เพราะคลื่นของแสง (รูปารมณ์) ก็มีจริงๆ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ก็มีจริงๆ
โมหะหรืออวิชชาจะเกิดที่ตรง “ได้ยิน” เพราะเมื่อเสียงมากระทบกับจิตที่ประสาทหูแล้ว จะต้องได้ยินอย่างแน่นอน “ได้ยิน” จึงมีจริง ๆ เป็น นามจิต และเป็นปรมัตถ์ด้วย แต่บุคคลทั้งหลายหาได้เข้าใจเช่นนี้ไม่ กลับสร้างมโนภาพขึ้นแล้วก็หลงใหลในมโนภาพของตนเอง ทำให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาโดยมิได้รู้สึกตัวแท้จริงแต่มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ อันเป็นรูปธรรม กับจิตได้ยิน อันเป็นนามธรรม หรือจะพูดว่า มีแต่เหตุกับผล หรือมีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง
จิตที่เป็นธรรมชาติรู้ ก็หาใช่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นสิ่งของอะไรต่างๆ ไม่ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุเหมือนกัน มีแต่เหตุกับผลเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปในทันใดเท่านั้นเอง แต่ผู้เห็นกลับหลงผิดคิดเอา สร้างมโนภาพให้เป็นไปต่างๆ แท้ๆ โดยอาศัยอดีตอารมณ์ของตนเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เพราะโมหะหรืออวิชชา ซึ่งได้แก่ความโง่ความหลงมาปิดบังอำพรางเอาไว้ ทั้งรูป ทั้งนาม เกิดดับรวดเร็วจนไม่สามารถเข้าไปเห็นความจริงได้ นอกจากผู้เข้าวิปัสสนากรรมฐานได้ญาณปัญญาเท่านั้น ที่ความจริงจะเข้ามาประจักษ์อยู่ต่อหน้า
การเจริญสติระลึกรู้อายตนะภายในและภายนอกนี้ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมหยั่งเห็นโลกทัศน์ภายในและภายนอกว่า ไม่ใช่ตัวตน มีเพียงกระบวนการเชื่อมโยงกันโดยความเป็นธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรู้ ปราศจากตัวเรา ของเรา ที่เที่ยง เป็นสุข บังคับบัญชาได้ ผู้ที่ไม่อาจแยกแยะขอบเขตของรูปนามในโลกภายในและภายนอก ย่อมหลงผิดปรุงแต่งสิ่งที่ใจรับรู้ตลอดเวลา ส่งผลให้กิเลสสั่งสมพอกพูนขึ้น แต่ผู้ที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาพิจารณาอย่างถูกต้อง ย่อมไม่ทำปฏิกิริยาปรุงแต่งด้วยความชอบหรือไม่ชอบ ส่งผลให้กิเลสอ่อนกำลังลง จนในที่สุดก็ถูกละได้โดยเด็ดขาดด้วยมรรคญาณ
พระพุทธองค์ตรัสระบุการกำหนดรู้สภาวะเห็นเป็นหลักไว้แก่ท่านพาหิยะว่า "ตสฺมาติห พาหิย เอวํ สิกฺขิตพฺพํ. ทิฏเฐ ทิฏฐมตฺตํ ภวิสฺสติ, สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ. เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺขิตพฺพํ" "ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึ่งศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นเพียงแต่เห็น เมื่อได้ยิน จักเป็นเพียงแต่ ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางใจ ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้"
ถ้านักปฏิบัติสามารถรู้เท่าทันสภาวะเห็นได้ ก็จะมีเพียงสภาวะเห็นโดยไม่มีรูปร่างของสิ่งที่เห็น และสังโยชน์คือกิเลสเครื่องผูกรัดก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าใจรับรู้ไปถึงรูปร่างของสิ่งที่เห็น ก็จะคิดปรุงแต่งและตอบสนองตามความรู้สึกของตน ส่งผลให้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้น
คนทั่วไปมักสำคัญว่าตาเห็นรูปพรรณสัณฐาน แท้ที่จริง อารมณ์ที่เห็นทางตา คือ สีต่างๆ (อันเป็นสภาวธรรม) ไม่ใช่รูปพรรณสัณฐาน (อันเป็นสมมุติบัญญัติ เมื่อตารู้สึกแล้วจะส่งการรับรู้นั้นให้ใจซึ่งรู้รูปพรรณสัณฐานต่อมา ใจจะเป็นผู้ปรุงแต่งตอบสนองอารมณ์ตามความปรารถนาในเชิงลบหรือบวก ดังนั้น สีจึงเป็นสิ่งที่เห็นทางตา ไม่ใช่รูปพรรณสัณฐานตามที่เข้าใจกันอยู่ ดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า "ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฐํ ยํ ทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ. อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห พชฺฌมาโน น มุจฺจติ. บุคคลดูสิ่งใด ไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งใด ไม่ชื่อว่าดูสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็นย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น"
คำว่า "บุคคลดูสิ่งใด ไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น" หมายความว่า บุคคลดูรูปร่างสัณฐานด้วยความเห็นผิดว่ามีตัวตน ย่อมเห็นรูปร่างสัณฐานเป็นหลัก ไม่เห็นรูปารมณ์ที่เป็นสีต่างๆ ซึ่งเห็นได้ด้วยตา
คำว่า "เห็นสิ่งใด ไม่ชื่อว่าดูสิ่งนั้น" หมายความว่า สิ่งที่บุคคลพบเห็นคือรูปารมณ์ที่เป็นสีต่างๆ แต่เขาไม่ดูรูปารมณ์ด้วยปัญญาจักษุตามความเป็นจริง
คำว่า "เมื่อไม่เห็นย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น" หมายถึง เมื่อเขาไม่เห็นสภาวะที่มีจริงคือรูปารมณ์ ย่อมหลงติดในอัตภาพและถูกกิเลสผูกไว้โดยเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น ตาหูจมูกลิ้นกายใจก็เปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่มาผัสสะ เป็นเหมือนแขกที่มาเยี่ยมมาเยือนบ้าน ตามปกติแล้วแขกมาเยี่ยมมายามแล้วก็ต้องจากไป การปฏิบัติธรรมต้องไม่สุดโต่ง ไม่เอาแต่ใจอย่างเดียว ไม่เอาแต่ทางวัตถุอย่างเดียว ต้องให้ไปทางสายกลาง ให้เข้าใจความหมายของศีลของสมาธิของปัญญา เพื่อเราจะได้รักษาศีล ไม่เป็นศีลที่เป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน ไม่ทำสมาธิเพื่อตัวเพื่อตน ไม่เจริญปัญญาเพื่อตัวเพื่อตน ถึงจะไม่เป็นสีลัพพตปรามาส การประพฤติการปฏิบัติธรรมถึงเป็นเรื่องปัจจุบัน
ในสติปัฏฐานถึงมีวิปัสสนาญาณ ๙ วิปัสสนาญาณ ๑๖ เห็นลมเข้าออกไม่เที่ยง มันจะพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เราจะได้เห็นตัวดับทุกข์มันอยู่ที่ความคิดความเห็นความเข้าใจ เรื่องการปฏิบัติ เพราะเราได้ถูกตั้งโปรเเกรมให้เวียนว่ายตายเกิดจากอวิชชาจากความหลง ต้องอาศัยความวิเวก ความสงบ ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ถึงเข้าสู่กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก ถึงจะเข้าสู่หลักวิปัสสนา เราถึงจะไม่มีกายไม่มีใจ ไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชาย ไม่มีเกิดเเก่เจ็บตายพลัดพราก เพราะเราสามารถปฏิบัติได้ทุกอิริยาบถ เราคิดอย่างนี้ต้องให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เพื่อจะได้เป็นนิพพาน ถ้าเรามีสมาธิ มีปัญญาในปัจจุบัน นั้นเเหละคือความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราหลง ถ้าเราหลงก็ยังมีความปรุงเเต่งอยู่ เพราะว่าเรื่องความหลุดพ้น มันต้องเหนือความปรุงเเต่ง เพราะใจทุกคนจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่มีอะไรเข้าไปปรุงเเต่ง อยู่กับปัจจุบันประกอบด้วยปัญญา เราจะได้ชัดเจน ต้องเข้าใจอย่างนี้
ผู้ปฏิบัติธรรมหมั่นประกอบความเพียร ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee