แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พุทธะที่แท้จริง ตอนที่ ๒๐ การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันศุกร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๗
เมื่อพระพุทธเจ้าได้บอกสอนพวกเราแล้ว ให้พวกเราเอาธรรมะเป็นที่ตั้งเอาเวลาเป็นที่ตั้ง อย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ให้เข้าใจอย่างนี้ ที่พวกเราเรียนหนังสือที่โรงเรียนตั้งแต่เด็กก็เพื่อเข้าสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม หลายๆ วัดในประเทศไทยลงท้ายด้วยคำว่าธรรมารามๆ ก็เพื่อจะให้รู้ว่าต้องเอาธรรมนำชีวิต เราต้องมีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ให้เน้นเข้ามาหาตัวเอง กฎหมายบ้านเมืองเป็นสมมุติบัญญัติเป็นสมมติสัจจะ ถ้ามายกเลิกตัวตนกฎหมายบ้านเมืองถึงจะใช้ได้ ถึงจะเป็นข้าราชการนักการเมืองที่แท้จริงได้ ไม่งั้นจะเป็นแต่ข้าราชการ เพราะทุกอย่างล้วนจะเป็นภาษีอากรของประชาชนคนในประเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนแต่ต้องเสียภาษีไปในตัว เราจึงต้องมาแก้ที่ต้นเหตุให้ถูกต้อง จะไปแก้ที่ปลายเหตุไม่ได้ เราต้องมาแก้ที่ตนเอง เห็นคุณค่าของธรรมะเห็นคุณค่าของเวลา ไม่ถ้าไม่อย่างนั้นการปกครองก็จะปกครองแต่ที่ปลายเหตุ มันทำให้เสียหาย มีทุจริตคอรัปชั่นมากมาย เราจึงต้องเข้าใจทั้งอรรถะทั้งพยัญชนะ เข้าใจทั้งสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ เพราะในประเทศเรานักบวช 99.9% เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง หันหลังให้พระพุทธเจ้า บ้านเมืองเราจึงเป็นอย่างนี้
คำว่าสมมุติในทางโลกนั้นให้นิยามกันว่า สิ่งที่ไม่เป็นจริงหรือสิ่งที่เป็นแค่จินตนาการ ไม่สามารถจะเป็นจริงได้ และคำว่าสมมุตินี้เมื่อไปใช้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในรูปประโยคการสื่อสาร ไม่ว่าพูดหรือเขียนก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเรื่องนั้นสิ่งนั้นไม่เป็นความจริงเสมอ
แต่ในทางธรรมนั้นคำว่า สมมุติ มักจะมีต่อท้ายคำว่า สัจจะ นั่นย่อมมีความหมายอันลึกซึ้งที่หมายถึงว่า "เป็นความจริงในสิ่งสมมุติทั้งปวง"
อาทิเช่น ร่างกายก็เป็นความจริงแต่เป็นความจริงที่ถูกสมมติขึ้นว่า นี่คือแขน นี่คือขา นี่คือศีรษะ เป็นต้น หรือแม้แต่รถก็เป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ถูกสมมติขึ้นให้เรียกว่ารถ ที่อยู่อาศัยก็ถูกสมมติให้เรียกว่าบ้าน ให้เรียกว่าคอนโดหรือให้เรียกว่าทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม แตกต่างกันออกไปด้วยรูปลักษณะ
ความจริงในสิ่งสมมุติหรือที่เรียกว่า สมมุติสัจจะ จึงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าคำว่า สมมุติในทางโลก เพราะมันคือความจริงที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์สร้าง โดยมนุษย์หรือสร้างโดยธรรมชาติก็สุดแท้แต่บริบทนั้นๆ
แต่พวกเราทั้งหลายโดยมากอยู่กับสมมุติ แล้วก็ไปยึดติดในสมมุติ โดยเฉพาะสมมุติติดสัจจะทั้งปวงที่เรามีความทุกข์กันทุกวันนี้ที่เราพอมีความสุขบ้างในทุกวันนี้ก็เพราะเข้าไปยึดติดในสมมติสัจจะด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
สมมุติสัจจะทั้งหลายที่เราใช้ร่วมกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรารู้จักใช้ให้มันพอดีเราก็จะรู้สึกไม่มีความทุกข์ใดๆ และจะเป็นการใช้ที่ทำให้เรามีความสุขและจะทำให้เราสบายใจ แต่เมื่อไหร่ที่เราเข้าไปยึดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ทันที โดยไม่มีข้อแม้ไม่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย
เหตุทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้เราจะยอมรับกันได้หรือไม่ว่าล้วนแต่เกิดจากการที่เข้าไปยึดติดทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องวัตถุนิยมทั้งปวง ที่ทำให้คนต้องสร้างบาปสร้างกรรมใส่กัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เงินทองหรือวัตถุนิยม มีความสำคัญในชีวิต เพียงแต่ว่าถ้าเราใช้สิ่งเหล่านั้น ด้วยความรู้สึกที่ดีด้วยความรู้สึกที่รู้จักคำว่า พอ ความทุกข์ทั้งปวงก็จะไม่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย
เราลองมาปรับฐานความคิด ฐานจิตใจของเราดูว่า ต่อไปนี้เราจะอยู่กับสมมุติสัจจะทั้งปวงด้วยความพอดี ไม่คลั่งไคล้หลงใหลแบบตามกระแส ความทุกข์ในใจของเรา ย่อมจะน้อยลงความสุขของเราจะมีมากขึ้นจากเดิมได้อย่างแท้จริง หรือไม่คำตอบที่เป็นผลลัพธ์มันอยู่ที่ใจของเราเองทั้งสิ้น
เชื่อเหลือเกินว่าบนโลกใบนี้ ถ้าใครเข้าใจความจริงและรู้จักการยอมรับความจริง และอยู่กับความจริงในเรื่องนั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ ได้ เขาผู้นั้นจะเป็นคนที่ทุกข์น้อยที่สุดในการใช้ชีวิตบนโลกนี้
พระพุทธเจ้าใน ภาษาคนภาษาธรรม ถอดอัตตาให้ไปสู่วิมุตติ
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวความหมายของพระพุทธเจ้าโดยแยกเป็น ภาษาคนภาษาธรรม ได้อย่างลึกซึ้งมาก ทำให้เห็นว่าที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าในสองภาษา อาจเป็นพระองค์เดียวกัน แต่กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งไปคนละอย่าง หากเราเข้าใจในภาษาธรรม ก็จะเข้าใจพระพุทธเจ้าในภาษาคนด้วย ทำให้เราไปสู้วิมุตติได้ไม่ยาก คือไม่ยึดติดในสมมติสัจจะที่ชาวโลกบัญญัติ แต่เข้าใจถึงสภาวะธรรมที่เป็นจริง ซึ่งสภาวะธรรมนี้ที่ทำให้มนุษย์สามารถตรัสรู้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานได้นั่นเอง
คนทั้งหลายทราบกันดีว่า “พุทธะ” ในภาษาคน หมายถึงพระพุทธเจ้า คือเจ้าชายสิทธัตถะผู้สละราชสมบัติ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ทรงมีพระชนม์ชีพเมื่อสองพันปีก่อน เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระสรีรสังขารถูกเปลวเพลิงเผาพลาญสิ้นไปแล้ว นั่นคือพุทธะในภาษาสามัญที่ชาวโลกรู้จัก
แต่ส่วนพุทธะในภาษาธรรม หมายถึงองค์ธรรมแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ ๆ ก็ไม่เชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” ลองตรองดูว่า ธรรม ในที่นี้คืออะไร
ธรรม ในที่นี้คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่มีรูปร่าง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่านั่นแหละคือตัวตถาคต เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าในภาษาธรรม คือตัวธรรมะที่ทำบุคคลสามัญให้กลายเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าได้เห็นแล้วจึงได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
คนในสมัยพุทธกาลหลายคน ไม่พอใจ ไม่ชอบพระพุทธเจ้า ด่าพระองค์ ทำร้ายพระองค์ เพราะเขาเห็นแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นเปลือกนอก เข้าใจพระองค์ในภาษาคน แต่พระพุทธเจ้าเป็นเนื้อหาแห่งภาษาธรรม คือ ธรรมะในใจของพระองค์
หรืออีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลาย ในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา” ความหมายว่าพระพุทธเจ้าที่แท้นั้นไม่ได้ดับหายไป ไม่ได้สูญไป ดับหายไปแต่ร่างกายหรือเปลือกเท่านั้น พระศาสดาองค์แท้คือธรรมวินัยยังอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ
สรุปความว่าพระพุทธเจ้าในภาษาคนหมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล พระพุทธเจ้าในภาษาธรรม หมายถึงธรรมะที่ทำให้เกิดความเป็นพระพุทธเจ้า
ทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุที่อธิบายให้เราทั้งหลายเข้าใจถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ ๆ ก็ไม่เชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” และ “ธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลาย ในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา” เพื่อให้เห็นว่าธรรมะหรือคำสอนของพระองค์ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง
“ธรรม” ภาษาคน หมายถึง พระคัมภีร์ หนังสือ ที่เรียกกันว่าพระธรรมอยู่ในตู้ หรือเสียงที่ใช้แสดงธรรม
ภาษาธรรม หมายถึง บทธรรมที่เป็นธรรมะที่กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงหนังสือ คัมภีร์ ใบลาน หรือเสียงเทศน์เป็นความหมายที่ลึกซึ้ง ที่หมายถึงทุกสิ่งที่เข้าใจได้ยากก็มี เข้าใจได้ง่ายก็มี
“พระสงฆ์” ภาษาคน หมายถึง นักบวช
ภาษาธรรม หมายถึง คุณธรรม หรือพระธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของคน อย่างที่เราเรียกว่าพระสงฆ์มี ๔: โสดา,สกิทาคา, อนาคา และ อรหันต์ ก็หมายถึง คุณธรรม ไม่ได้หมายถึงตัวคน เพราะเปลือกหรือตัวคนนั้นเหมือนกันหมด ผิดกันแต่คุณธรรมในใจที่ทำให้เป็น พระโสดา, พระสกิทาคา, พระอนาคา และพระอรหันต์ขึ้นมา
“พระศาสนา” ภาษาคน หมายถึง โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์ และตัวคำสั่งสอน (มีโบสถ์วิหารสะพรั่งไปหมด ก็พูดว่า พระศาสนาเจริญแล้ว)
ภาษาธรรม หมายถึง ธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะใดเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ดับทุกข์ให้มนุษย์ได้จริง ธรรมะนั้นคือศาสนา คือพรหมจรรย์ นั่นคือประพฤติปฏิบัติจริง ๆ ตามทางธรรมเป็นพรหมจรรย์ที่งดงามในเบื้องต้น, งดงามในเบื้องกลาง และงดงามในเบื้องปลาย งามในเบื้องต้น คือการศึกษาเล่าเรียน งามในท่ามกลาง คือการปฏิบัติ งามในเบื้องปลาย คือผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ
ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้วรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวด ทรมาน และตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว
ขุททกนิกาย ธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๒๘๑-๒๘๙ เรื่องลูกสุกร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ภัยในท่ามกลางสังสารวัฏ ตรัสพระธรรมเทศนาให้พุทธบริษัททราบถึง สังสารวัฏอันหาระหว่างมิได้ คือติดต่อกันจากภพนี้ สู่ภพอื่น ๆ ดังมีเรื่องของนางลูกสุกรเป็นอุทาหรณ์ ความว่า
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นลูกสุกรตัวหนึ่ง ได้ทรงแย้มพระ โอษฐ์ พระอานนทน์ทูลถามเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์นั้น พระศาสดาจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า เธอเห็นนางลูกสุกร นั่นไหม ? พระอานนท์กราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าถึงบุรพกรรมของลูกสุกรนั้นว่า ในอดีตนางลูกสุกรนี้เกิดเป็นแม่ไก่ อยู่ในที่ ใกล้โรงฉันแห่งหนึ่ง ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ นางไก่นั้น ฟังเสียงประกาศธรรมของ ภิกษุรูปหนึ่ง สาธยายวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ นางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในราชตระกูล เป็นพระราชธิดาพระนามว่า อุพพรี ในกาลต่อมา พระนางเสด็จเข้าไปยังสถานที่ถ่ายอุจจาระ ทอดพระเนตรเห็นหมู่หนอน ยังให้ปุฬวกสัญญา (ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด) ให้เกิดขึ้นในที่นั้น ได้ปฐมฌานแล้ว พระนางดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นจนสิ้นอายุ จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดในพรหมโลก พระนางจุติจากพรหมโลก สับสนอยู่ด้วยอำนาจคติ จึงมาเกิดเป็นลูกสุกร ในบัดนี้ เราเห็นเหตุนี้ จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ
พระบรมศาสดา ทรงยังความสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงประกาศโทษแห่งราคะตัณหา ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั้นเอง ได้ทรงภาษิตว่า ยถาปิ มูเล อนุปทฺทเว ทเฬฺห ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปุนเรว รูหติเอวมฺปิ ตณฺหานุสเย อนูหเต นิพฺพตฺตติ ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ.
เหมือนอย่างว่า เมื่อรากไม้ยังมั่นคง ต้นไม้แม้จะถูกตัดแล้ว ก็ย่อมงอกขึ้นได้ฉันใด เมื่อตัณหานุสัยยังไม่ถูกถอนขึ้นก็ฉันนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ
กระแส (แห่งตัณหา) ๓๖ อันไหลไปในอารมณ์ เป็นที่พอใจ เป็นธรรมชาติกล้า ย่อมมีแก่บุคคลใด, ความดำริทั้งหลายอันใหญ่ อาศัยราคะย่อมนำบุคคลนั้น ผู้มีทิฏฐิชั่วไป.
กระแส (แห่งตัณหาทั้งหลาย) ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่, ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้น เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด.
โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไป และเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียว ย่อมมีแก่สัตว์, สัตว์ทั้งหลายนั้นอาศัยความสำราญ จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข, นระเหล่านั้นแล ย่อมเป็นผู้เข้าถึงซึ่งชาติชรา.
หมู่สัตว์ อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายอันนายพรานดักได้แล้วฉะนั้น, หมู่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ อยู่ช้านาน.
หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้วฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำความ ดิ้นรนเสีย.
ตัณหานุสัย – อนุสัยคือตัณหา กิเลสอันนอนนิ่งอยู่ในขันธสันดาน คติของบุคคลผู้ยังกิเลสเป็นของไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ สูงบ้างต่ำบ้าง
ตัณหาประกอบด้วยกระแส ๓๖ ด้วยสามารถแห่งตัณหาวิจริตเหล่านี้ คือตัณหาวิจริตอิงอายตนะภายใน ๑๘ ตัณหาวิจริตอิงอายตนะภายนอก ๑๘ (ตัณหานั้นท่านจัดไว้ตามธรรมดาเป็น ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ นี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ๓ คูณด้วย ๖ จึงเป็น ๑๘) ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าไหลไปในอารมณ์เป็นที่ชอบใจ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมไหลไป คือเป็นไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันเป็นที่ชอบใจ เป็นธรรมชาติกล้า คือมีกำลัง ย่อมมีแก่บุคคลใด, ความดำริทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นธรรมชาติใหญ่ เพราะความเป็นของใหญ่ โดยอันเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่อาศัยฌานหรือวิปัสสนา อาศัยราคะ ย่อมนำบุคคลนั้นผู้ชื่อว่ามีทิฏฐิชั่ว เพราะความเป็นผู้มีญาณวิบัติไป.
ความหิวและความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะทรงอยู่ได้เพราะอาหาร มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร การกินเพราะความหิวจึงเป็นการจำเป็น การกินเพราะความหิวมีเวลาอิ่มและเบื่อได้ ทั้งมีขีดจำกัด ตามขนาดกระเพาะของแต่ละบุคคล
ความอยาก เป็นอาการของใจที่ประกอบด้วยตัณหา การกินด้วยความอยาก หามีอะไรเป็นขอบเขตจำกัดไม่ ยิ่งหามาสนองความอยากได้มากเท่าใด ก็ยิ่งจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้นเท่านั้น ที่สุดของความอยากไม่มี ผู้ที่กินด้วยความอยาก ย่อมไม่มีเวลาอิ่มท้องจะต้องแตกตาย เหมือนตาชูชกผู้กินด้วยความอยาก หาใช่กินเฉพาะทางปากเท่านั้นไม่ บางคนยังสามารถกินสิ่งที่ไม่น่าจะกินได้ เช่น กินจอบ กินเสียม กินตึก กินถนนหนทาง และรถเรือนเป็นต้น ไฟไม่อิ่มเชื้อ ทะเลไม่อิ่มน้ำฉันใด คนที่มีโลภตัณหาก็ไม่อิ่มในสิ่งใดๆ ดังภาษิตโตปเทศว่า
ธรรมดาไฟย่อมไม่พักพอไม้เชื้อ ทะเลใหญ่ไม่ปรากฏว่าเบื่อน้ำ
มฤตยูไม่เคยอิ่มหนำประชาสัตว์ นางผู้งามจำรัสก็ไม่รู้สึกจุใจในผู้ชาย
ขอเปลี่ยนวรรคสุดท้ายเป็น “คนละโมภสมบัติก็ไม่รู้สึกจุใจในสิ่งใด”
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
นางลูกสุกรนั้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในราชตระกูลในสุวรรณภูมิ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในกรุงพาราณสี
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนพ่อค้าม้าที่ท่าสุปปารกะ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของนายเรือที่ท่าคาวิระ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของอิสรชน ในเมืองอนุราธปุรี
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดเป็นธิดาในเรือนของกุฎุมพีชื่อสุมนะ ในเภกกันตคาม ในทิศทักษิณของเมืองนั้น ชื่อ สุมนา ต่อมาบิดาของนางได้ไปสู่แคว้นทีฆวาปี อยู่ในหมู่บ้านชื่อมหามุนีคาม อํามาตย์ของพระเจ้าทุฏฐคามินี นามว่าลกุณฏกอติมพระ ไปที่บ้านของนางด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นนางแล้ว ทํามหามงคลอย่างใหญ่ พานางไปสู่บ้านมหาปุณณคามแล้ว
ครั้งนั้น พระมหาอุตลเถระผู้อยู่ในมหาวิหารชื่อโกฏิบรรพต เที่ยวไปในบ้านนั้นเพื่อบิณฑบาต ยืนอยู่ที่ ประตูเรือนของนาง เห็นนางแล้วกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า นางลูกสุกรนี้ถึงความเป็นภรรยาของมหาอํามาตย์ชื่อ ลกุณฏกอติมพระแล้ว โอ น่าอัศจรรย์จริงพอนางได้ฟังคําที่พระมหาอตุลเถระกล่าวดังนั้นแล้ว กลับได้ญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติได้ นางเกิด ความสังเวช อ้อนวอนสามีขอบวชในสํานักของพระเถรีด้วยอิสริยยศอย่างใหญ่ ได้ฟังกถาพรรณามหาสติปัฏฐานสูตร ในติสสมหาวิหารแล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ภายหลังเมื่อพระเจ้าทุฏฐคามินีทรงปราบทมิฬได้แล้ว พระสุมนาเถรี กลับไปสู่บ้านเภกกันตคามซึ่งเป็นที่อยู่ของมารดาบิดา ได้ฟังอาสีวิสูปมสูตรในกัลลกมหาวิหาร ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ในวันที่จะปรินิพพาน นางถูกพวกภิกษุณีซักถาม นางได้เล่าประวัติทั้งหมดอย่างละเอียดแก่ภิกษุณี สงฆ์ทั้งหลาย แล้วสนทนากับพระมหาติสสเถระผู้กล่าวบทแห่งธรรม ผู้มีปกติอยู่ในมณฑลาราม ณ ท่ามกลาง ภิกษุสงฆ์ผู้ประชุมกันแล้ว กล่าวว่าในกาลก่อน ข้าพเจ้าจุติจากกําเนิดมนุษย์แล้ว เป็นแม่ไก่ ถูกตัดศีรษะจากสํานักเหยี่ยว ปฏิสนธิใน กรุงราชคฤห์แล้วบวชในสํานักปริพาชิกาทั้งหลาย แล้วเกิดในภูมิปฐมฌาน จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในตระกูล เศรษฐี ต่อกาลไม่นานนัก จุติจากมนุษย์แล้วไปสู่กําเนิดเดียรัจฉานเป็นลูกสุกร จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปสู่สุวรรณภูมิ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่เมืองพาราณสี จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่ท่าสุปปารกะ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่ ท่าคาวิระ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่เมืองอนุราธปุรี จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่บ้านเภกทันตคาม ข้าพเจ้าได้ อัตภาพอันสูงๆ ต่ำๆ วนเวียนไปมาอยู่ในสังสารวัฏ ยาวนานอย่างนี้
บัดนี้ มีโอกาสได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้อัตภาพอันอุกฤษฎ์แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลาย จงยังธรรมที่เป็น กุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด นางสุมนาได้ยังบริษัท ๔ ให้สังเวช แล้วปรินิพพาน ดังนี้แล
ส่วนใหญ่จะว่าตัวเองรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันไม่จริงนะ ถ้ารู้ทุกข์มันทำไม มันยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกของตัวเอง ถือว่าเรายังไม่รักตัวเองนะ ที่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก เรียกว่ามันไม่ใช่คนรักตน เราเห็นอคติทั้ง 4 เห็นไหมเค้าหลง เค้าไม่ได้รักตัวเองหรอก ถ้ารักตัวเองมันต้องรักธรรมะ ต้องเอาตัวเองออกจากวัฏฏะสงสาร ไม่ได้รักลูกรักหลานหรอก ที่พ่อแม่ใจอ่อน ไม่นำลูกเข้าสู่ธรรมะ ไปรักลูกโอ๋ลูก ก็เป็น เพราะว่า พ่อแม่นะหลงใหลในตัวตน หลงใหลในวัตถุ หลงใหลในกาม ถึงอย่างนี้ พวกพ่อแม่ต้องพากันรู้นะ พวกผู้ที่เกิดมาก็ต้องเป็นพ่อเป็นแม่
โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เปรียบได้หลายอย่าง ที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ โลกนี้เปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ ความจริงโลกนี้คือ ตะรางที่สำหรับขังนักโทษอย่างใหญ่มหึมานั่นเอง แต่เหล่าหมู่มนุษย์สำคัญผิดคิดไปว่า การเกิดมาในโลกนี้เป็นความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า “โลกนี้ตั้งอยู่บนกองแห่งความทุกข์” โลกนี้เป็นสวรรค์สำหรับคนโง่ แต่มันเป็นนรกสำหรับคนที่รู้ความจริงของมัน แล้วคนที่เกิดมา ซึ่งเท่ากับตกอยู่ในกรงขังอันมหึมา และเต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการ เช่น แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น บางคนยังสร้างกรงและหาโซ่มาใส่ตัวเองอีก ถึงเช่นนั้นบางคนกลับพูดว่า “ดีเสียอีกที่เข้าอยู่ในคุกในตะราง บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ถ้าอยู่ตามธรรมดา ข้าวก็ต้องซื้อกิน บ้านก็จะต้องเช่าเขาอยู่ บางทีก็ยังหาไม่ได้เสียอีก” นี่เรียกว่า ต้องจองจำกลับยินดี อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า การต้องจองจำด้วยเชือกโซ่เป็นต้น เป็นเครื่องจองจำภายนอกแก้ได้ง่ายและมีกำหนดเวลาพ้นโทษ ยังมีเครื่องจองจำภายในที่แก้ได้ยาก และไม่มีกำหนดพ้นโทษเมื่อไร เครื่องจองจำนั้นคือ ความรักความติดในทรัพย์สมบัติ ในบุตรภรรยาสามี ดังคำโคลงในโลกนิติว่า
มีบุตรห่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ (ปุตโต คีเว) ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้ (ธนัง ปาเท)
ภริยาเยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา (ภริยา หัตเถ) สามห่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้น สงสาร
มัดตราสังข์สามเปราะ มัดที่คอ หมายถึง บ่วงรักลูก, มัดที่มือ หมายถึงบ่วงรักสามี - ภรรยา, มัดตรงข้อเท้า หมายถึง บ่วงรักทรัพย์สมบัติ ใครติดอยู่สามบ่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และเกิดแต่หญ้าปล้อง ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่องจองจำนั้น ว่าเป็นของมั่นคงไม่. นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความกำหนัดและความเยื่อใย ของชนทั้งหลายผู้กำหนัด ยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตรแลในภรรยาทั้งหลาย นั่นว่า เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง เป็นเครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆ (แต่) เปลื้องได้โดยยาก. นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั่นแล้วเป็นผู้ไม่มีไยดี ละกามสุขแล้วบวช.
คนเราจะบวชหรือไม่บวชก็ไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องมีความสุขในการหายใจ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยัน ปิดอบายมุขของตัวเอง คนขี้เกียจขี้คร้านเรียกว่า อบายมุข มันจะนำเราไปสู่อบายภูมิ คือยากจน มันลามปามไปตามวิสัยพาล อย่าไปคบคนชั่ว คนเหล้าเมายา เล่นการพนัน อย่างสังคมไทยหรือสังคมต่างประเทศที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย มันเป็นระบบเข้าสู่กระบวนการเดินขบวน เราต้องเอาใหม่ เรื่องที่แล้วก็ให้แล้วไป เราต้องประพฤติปฏิบัติ เราต้องหายใจเอง เข้าห้องน้ำเอง ปฏิบัติเอง ต้องมีความสุข ถ้ายังเสพติดอยู่ คือการที่ยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าใจมันเสพติด ติดความปรุงแต่ง เราต้องมาแก้ไขที่ตัวเองก่อน ถ้ายังติดอารมณ์ ติดความคิดอยู่ เพราะเราไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก มันไม่มีหลัก ต้องมาพัฒนาที่ใจก่อน เราต้องอยู่กับปัจจุบัน ก้าวไปที่ปัจจุบัน คนเราจะหนุ่มจะแก่ ก็ยังไม่สายที่จะประพฤติปฏิบัติ ที่จะมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในปัจจุบัน
คนส่วนใหญ่มันก็ไม่ดีมาก่อนทั้งนั้น คนเราจะฉลาดได้ก็ต้องโง่มาก่อนทั้งนั้น เราต้องมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ต้องไปคิดจะช่วยเขา เราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน มีความสุขในการหายใจ มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยันรับผิดชอบ มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในสัมมาสมาธิในความตั้งมั่น คนเรามันต้องแก้ไขที่ตัวเองก่อน เหมือนคนเรามันต้องมีเงินก่อนถึงจะไปให้คนอื่นได้ จึงต้องมาแก้ไขใจตนเองให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีคุณธรรมภายใน จึงจะไปแก้ไขช่วยเหลือผู้อื่นได้
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee