แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พุทธะที่แท้จริง ตอนที่ ๑๖ พระแปลว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้ละอายชั่วกลัวต่อบาป ซื่อสัตย์ต่อพระธรรมพระวินัย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันจันทร์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๗
ให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติทั้งกายวาจากิริยามารยาทหน้าที่การงาน ทั้งผู้ที่เป็นข้าราชการนักการเมืองพ่อค้าประชาชนและนักบวช เราต้องเอาความถูกต้องนำชีวิต เพื่อจะได้เดินทางสายกลางไปพร้อมๆกัน ในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน เอาสมมุติบัญญัติ เอากฎหมายบ้านเมือง เพื่อโฟกัสตนเอง เอาสมมุติที่มนุษย์บัญญัติเป็นกฎหมายเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนเราทุกคนต้องปรับเข้าหาสมมุติสัจจะ ปรับเข้าหาเวลา เราจะเอาตามใจตามอัธยาศัยไม่ได้ เราต้องกระชับเราต้องปฏิบัติเพื่อไม่ให้กาลเวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ด้วยการตั้งมั่นในตัวในตนด้วยความเพลิดเพลินด้วยความประมาท สิ่งเหล่านี้มันจบไม่เป็น เรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจ เปรียบเสมือนเจ้าของบ้าน รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์นึกคิดที่มาจากภายนอก เปรียบเสมือนแขกเหมือนอาคันตุกะที่มาเยี่ยมเรา เมื่อมาเยี่ยมเราแล้วทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็ต้องจากไป จะต้องพากันเข้าใจเพื่อจะได้ชำนิชำนาญว่าแขกว่าอาคารทุกอย่างมาเยี่ยมแล้วก็จากไป ในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน เมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็จะเป็นอย่างนี้ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น จนกว่าเราจะไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี้เป็นธรรมเป็นสภาวะธรรมที่จะให้พวกเราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ
วันหนึ่งคืนหนึ่งฆราวาสผู้ที่ไม่ใช่นักบวช พากันนอน 6-8 ชั่วโมงเพื่อจะได้เอาสรีระร่างกายไปทำงานไปปฏิบัติธรรม ไปพร้อมๆ กัน การทำการทำงานกับการปฏิบัติธรรมต้องให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพื่อเป็นอริยมรรคในการดำรงชีวิต สำหรับนักบวชก็พากันพากันนอนพากันพักผ่อน 4-6 ชั่วโมง ที่เรียกว่าจำวัด ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ที่ไหนก็พากันประพฤติพากันปฏิบัติอยู่ที่นั่น การปฏิบัติธรรมกับการดำเนินชีวิตต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องมายกเลิกตัวตนให้หมด อย่าให้ตัวตนครอบงำ อย่าให้โลกธรรมครอบงำ ตัวตนนั้นมันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นทุกข์ที่ตั้งอยู่ทุกข์ที่ดับไป ตัวตนนั่นแหละคือความทุกข์ ให้พากันเข้าอกเข้าใจ นิมิตหมายความเข้าใจในอดีตที่ผ่านมา ที่เราทุกคนเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร มันก็จะก้าวไปเรื่อยๆ ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าอกเข้าใจ เพื่อมาหยุดกงกรรมกงเกวียน กงล้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดของตนเอง ด้วยการประพฤติด้วยการปฏิบัติที่เป็นทั้งศีลที่เป็นทั้งสมาธิที่เป็นทั้งปัญญา
ท่านให้ทุกท่านทุกคนโฟกัสมาที่ตัวเราอย่างนี้แหละ เราจะได้พากันยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิดของตนเองทั้งผู้ที่เป็นนักบวชทั้งผู้ที่เป็นฆราวาส เคร่งเราก็ไม่เคร่ง หย่อนเราก็ไม่หย่อน เพราะพระธรรมวินัย 84,000 พระธรรมขันธ์ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ พระองค์ได้ตรัสก่อนเสด็จดับขันธ์แต่ปรินิพพานว่า เมื่อเราล่วงลับจากไป พระธรรมพระวินัยที่เราได้แสดงได้บัญญัติไว้จะเป็นศาสดาแทนเราตถาคต ไม่ต้องตึงไม่ต้องหย่อน ปรับกายวาจาใจเข้าหาพระธรรมวินัย 84,000 พระธรรมขันธ์นี้ เพราะสมมุติบัญญัติจะได้โฟกัสเพื่อเข้าถึงปรมัตถสัจจะ เพื่อยกเลิกจากการเวียนว่ายตายเกิด ยกเลิกจากตัวตน ที่ทุกคนไม่ตรึกในกามไม่ตรึกในพยาบาท เพราะใจของเราทุกคนมันคิดได้ตรึกได้ทีละขณะจิตเดียว ต้องเอาธรรมะเอาพระวินัยนำชีวิต ด้วยการอบรมบ่มอินทรีย์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปจึงมี ที่เป็นบารมี 10 ทัศ 20 ทัศ 30 ทัศ ไม่ต้องตึงไม่ต้องหย่อน ปฏิปทาต้องสม่ำเสมอ ยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต้องเอาธรรมเอาวินัยนี่แหละ เราต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยทั้งกายวาจากิริยามารยาทอาชีพหน้าที่การงานและจิตใจ พากันมีความสุขในการทำงาน ถ้าไม่มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติน่ะ จะเป็นโรคจิตโรคประสาทโรคซึมเศร้า ต้องมีฉันทะมีความพอใจ มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เราถึงจะไม่เป็นโรคจิตโรคประสาทโรคซึมเศร้า เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตามปัญญาสัมมาทิฏฐิตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้แหละ จึงจะเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ทุกคนก็เก่งก็ฉลาดพอๆ กัน เมื่อมายกเลิกตัวยกเลิกตน จะเป็นทั้งคนดีคนเก่งคนฉลาด ถ้าเอาตัวเอาตนเอาวิชาเอาความหลง มันไม่ได้ มันไปไม่ได้ ถึงจะเรียนมาศึกษามาในทุกๆ ศาสตร์ มันก็ไม่เก่งไม่ฉลาดหรอก เพราะเป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน พัฒนาตั้งแต่ตัวตน พัฒนาวิทยาศาสตร์ เราต้องพัฒนาใจของเรา เพื่อให้ใจของเราจะได้ยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ผู้ที่มาบวชเป็นพระ ได้รับสิทธิพิเศษจากประชาชน เป็นบุคคลสาธารณะ เรามีโอกาสพิเศษ จึงต้องพากันตั้งใจตั้งเจตนา จะเป็นพระวัดบ้านวัดป่าก็ไม่มีปัญหา เพราะการประพฤติการปฏิบัตินั้น ไม่มีพระวัดบ้านวัดป่า เพราะเราเอาพระธรรมเอาพระวินัยยกเลิกตัวตน ในทุกหนทุกแห่งก็มีแต่ความสงบมีแต่ความวิเวก เพราะความสงบความวิเวกนั้นอยู่ที่เรายกเลิกตัวยกเลิกตนทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ฆราวาสคู่ครองเรือน ถ้าเรายกเลิกตัวตน ทุกหนทุกแห่งก็มีแต่ความสงบมีแต่ความวิเวก เพราะธรรมะที่เป็นพุทธะ ไม่ได้ไปแก้ที่ภายนอก แก้ที่ใจของเรา กายวาจากิริยามารยาทธุรกิจหน้าที่การงาน อยู่ทุกที่ทุกแห่งก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ผู้ที่เป็นพระวัดบ้าน ผู้บริหาร นักเรียนนักศึกษา ทั้งอยู่ในบ้านในนิคมในเมืองหลวง ต้องเข้าใจการประพฤติการปฏิบัติ เพราะการประพฤติการปฏิบัติต้องกระชับเข้ามาหาตัวเอง เพื่อจะได้รู้กาละรู้เทศะ เพื่อจะเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราอยู่ในที่เจริญ ยิ่งต้องประพฤติต้องปฏิบัติกายวาจาใจ ด้วยการพัฒนากายวาจาจิตหน้าที่การงานทั้งอาชีพให้รอบคอบให้กระชับขึ้น อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เพื่อจะไม่เป็นการเสียเวลา
การที่นักบวชฆราวาสตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินตั้งอยู่ในความประมาทย่อหย่อนอ่อนแอ ชีวิตสุดโต่ง เอาแต่วัตถุ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งทำให้ชีวิตเสียหาย ให้พากันเข้าใจการที่เราหลงเพลิดเพลินมันเสียหาย เหมือนต้นไม้ที่เมล็ดพันธุ์เล็กๆ หลายปีก็เจริญเติบใหญ่ขึ้นสูงตระหง่าน ความเพลิดเพลินความประมาทที่ทำจนเป็นประชาธิปไตย ทำเหมือนๆ กันเป็นสภาคาบัติ ประชาชนส่วนใหญ่เกิดมาก็เห็นแต่เนื้องอก ไม่เข้าใจ เลยทำให้ศาสนาพุทธที่อยู่สูงส่ง พากันดึงลงมาทำให้ต่ำต้อยด้อยค่า ด้วยการเอามาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินอย่างไร้ยางอาย ไร้หิริโอตตัปปะ ไร้ความละอายชั่วกลัวต่อบาป คนที่มาบวชก็มาบวชแต่ทางกาย แต่ใจไม่ได้บวช ใจก็ยังเป็นโจร เป็นมหาโจร เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน มาตรฐานของผู้ที่มาบวชส่วนใหญ่ ก็มาจากเกรดต่ำ เช่น ระบบสมองสติปัญญาเป็นคนไม่ฉลาด ติดเหล้า ติดยาเสพติด ติดการพนัน เป็นคนไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจขี้คร้าน พอบวชแล้วก็เอานิสัยเดิมๆ อยู่ ไม่ได้มาบวชเพื่อมรรค ผล นิพพาน แต่ว่าบวชเพื่อเอาศาสนาทำมาหาเลี้ยงชีพ กินๆ นอนๆ ไปวันๆ เท่านั้น แถมยังประกอบมิจฉาชีพ อันเป็นมิจฉาอาชีวะ เป็นเดรัจฉานวิชาดังที่ว่ามา เราจึงจะเอาเป็นมาตรฐานไม่ได้ เราจะเอาพระส่วนใหญ่ที่ทำแบบนี้ ที่ทำกันมากๆ ทำกันจนเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว จะเอามาเป็นแบบอย่างตัวอย่างไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ เอาแต่ตัวตน เอาประโยชน์ตน ประโยชน์พวกพ้องเป็นที่ตั้ง ทำเหมือนกันหมด ไม่เอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ทำกันแบบนี้จนเป็นประชาธิปไตยของอลัชชีไปแล้ว เป็นผู้ไม่ละอายชั่ว ไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่ละอายชั่วกลัวบาปจึงเป็นสิ่งที่ปิดกั้นมรรค ผล พระนิพพาน จึงพากันเป็นสภาคาบัติกันหมด คือทำผิดเหมือนๆ กัน ต่อให้แสดงอาบัติอย่างไรก็แสดงไม่ตก เพราะผิดเหมือนๆ กัน
มนุษย์เราต้องมีปัญญา หมู่มวลมนุษย์ที่ตั้งอยู่ในอวิชชาความหลง ตั้งอยู่ในความประมาท ก็เพราะความอร่อยในวัตถุที่เป็นรูปประธรรม ทำให้ทุกคนหลงเพลิดเพลิน พระพุทธเจ้าให้พวกเราเห็นภัยในวัฏสงสาร นักบวชที่พากันมาบวชคือผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ถ้าเราเอาตัวตน เราก็เป็นผู้ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นแต่เพียงผู้ขอ มันไม่ถูกต้อง ต้องเห็นภัยในวัฏสงสาร เราทุกคนมีความจำเป็นต้องมายกเลิกตัวตนยกเลิกอวิชชาความหลง
“ภิกขุ” มาจาก ภย ซึ่งแปลว่า ภัย เป็นบทหน้า อิกขุ ธาตุ เป็นไปในความเห็น ต่อกันเข้าเป็น ภิกขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร หมายความว่า ผู้มีปัญญา พิจารณาเห็นความเป็นของไม่จิรังยั่งยืน ของรูปและนาม อยากจะหลุดพ้นไปจาก กามโลก รูปโลก อรูปโลก จึงได้ตั้งใจบำเพ็ญไตรสิกขาให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป จนได้นามว่าภิกขุ ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น
“ภัย” แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว น่าหวาดสะดุ้ง น่าเกรงขาม มีอยู่หลายประการ จะพึงเห็นได้จาก หลักฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๖๒ เป็นต้นว่า
“จัตตารีมานิ ภิกขเว ภยานิ ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย” ภัยมี ๔ อย่าง เหล่านี้คือ ๑. อัตตานุวาทภยัง ๒. ปรานุวาทภยัง ๓. ทัณฑภยัง ๔. ทุคคติภยัง
๑. อัตตานุวาทภยัง แปลว่า ภัย คือ การติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า การติเตียนตนจึงได้ละกายทุจริต วจีทุจริตเสีย แล้วประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๒. ปรานุวาทภยัง ภัย คือ การถูกผู้อื่นติเตียน หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าคนได้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ถึงคนอื่นเขามิได้ติเตียนโดยศีลก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็กลัวต่อการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๓. ทัณฑภยัง ภัย คือ อาชญา หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นโจรผู้ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองถูกจับได้ ถูกโบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตลอดจนถึงเอาขวายผ่าอกบ้าง แทงด้วยหอกทีละน้อยจนตายบ้าง ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุมครอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาเหล็กไถบ้าง เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินบ้าง รวมทั้งสิ้นมี ๓๒ ประการ ครั้นเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงพิจารณาว่าถ้าเราทำชั่วเช่นนั้น ก็จะต้องได้รับโทษอย่างนี้แน่นอน เขาไม่ยอมทำความชั่วทางกาย วาจา ใจเลย มีแต่ทำความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่า กลัวต่อภัยคือ อาชญา
๔. ทุคคติภยัง ภัย คือ ทุคคติ ทุคคติมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า ผลชั่วของทุจริตทางกาย วาจา ใจเป็นของมีอยู่แน่นอน หากว่าเราประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ในโลกนี้ เราก็เดือดร้อน แม้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ไปสู่ปรโลก เราก็จะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่นอน เมื่อเขากลัวต่อทุคติภัยเช่นนี้ จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ เสียหมดสิ้น รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี อย่างนี้ เรียกว่า ภัย คือ ทุคติ
ภัยนอกจากที่บรรยายมาแล้วนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายหลายประการ เช่น
๑. ชาติภยัง ภัย คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก ความปริเทวนาการ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ประจวบกับของอันไม่เป็นที่รักใคร่ ชอบใจ พลัดพรากจากของรักใคร่ชอบใจ ปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อก็คือขันธ์ ๕ นี้แหละเป็นภัย ๒. อัคคิภยัง ภัยเกิดจากไฟ เช่น ถูกไฟไหม้บ้าน เป็นต้น
๓. อุทกภยัง ภัยเกิดจากน้ำ เช่นถูกน้ำท่วม คนตาย ท่วมนาทำให้ข้าวตาย ท่วมสวนเงาะ สวนทุเรียน สวนผัก สวนส้ม เป็นต้น ๔. โจรภยัง ภัยเกิดจากโจร
๕. อูมิภยัง ภัย คือ คลื่น ได้แก่ โลกธรรมทั้ง ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์
๖. กุมภีลภยัง ภัย คือ จระเข้ ได้แก่ ความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง ทนความอดอยากไม่ได้ และได้แก่ นิวรณ์ทั้ง ๕ มีกามฉันทะ พยายาท เป็นต้น
๗. อาวาฏภยัง ภัย คือ น้ำวน ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชาวโลกพากันเดือดร้อนเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้มากมายเหลือเกิน ฆ่ากันตาย ทะเลาะวิวาทกัน เพราะกามคุณทั้ง ๕ นี้ไม่เว้นแต่ละวัน ดังนั้นกามคุณ ๕ จึงถือว่าเป็นภัยอย่างหนึ่ง
๘. สุสุกาภยัง ภัย คือ ปลาฉลาม ปลาฉลามมี ๒ อย่าง คือ ปลาฉลามภายนอก ได้แก่ปลาฉลามที่อยู่ในน้ำทะเล เป็นภัยแก่ประชาชนมิใช่น้อย ปีหนึ่งๆ บุคคลถูกปลาฉลามกิน ก็มีมากอยู่ และปลาฉลามภายในคือกิเลส กัดบุคคลทุกๆ คน ไม่ยกเว้นใครเลย เว้นไว้แต่พระอริยเจ้า ผู้ฆ่ากิเลสได้หมดแล้วเท่านั้น เพราะกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เป็นภัยแก่สรรพสัตว์อย่างร้ายแรงมาก เปรียบเหมือนข้าศึก เปรียบเหมือนยาพิษ เปรียบเหมือนหัวฝี เปรียบเหมือนอสรพิษ เปรียบเหมือนสายฟ้า สรรพสัตว์ทั่วสากลโลก จะเดือดร้อนก็เพราะปลาฉลามภายใน นี้เท่านั้นเป็นต้นเป็นเหตุ ดังนั้นนักปราชญ์จึงจัดว่า เป็นภัยอันร้ายแรงมาก
คำว่า “วัฏสงสาร” แยกเป็น ๒ ศัพท์ คือ วัฏ + สงสาร
“วัฏฏะ” แปลว่า วน หรือ หมุน มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. กิเลสวัฏฏ์ วน คือ กิเลส ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กรรมวัฏฏ์ วน คือ กรรม ได้แก่ ภพ สังขาร
๓. วิปากวัฏฏ์ วน คือ วิบาก ได้แก่วิญญาณนาม รูป อายตนะ ๖ ผัสสะ เวทนา
เพราะกิเลสมีอยู่ จึงเป็นเหตุให้ทำกรรมที่เป็นบุญบ้าง เป็นบาปบ้าง เพราะทำกรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดผลแห่งกรรม เพราะผลของกรรมจึงเป็นเหตุให้กิเลสเกิดขึ้นอีก และทำกรรมอีก เกิดวิบากอีก ในที่สุดก็วนกันไปวนกันมาอย่างนี้ จนหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจทั้ง ๔ จากนั้นก็ไม่สามารถที่จะออกจากภพ หรือจากโลกได้ เหมือนตาบอดลักควาย หรือพายเรือในหนอง ฉะนั้น
นิทานคนตาบอดลักควาย คนตาบอดริอ่านเป็นขโมย เข้าไปลักควายเขา จับควายได้แล้วขึ้นขี่หลังตีควายเรื่อยไป ควายก็เดินวนอยู่ในคอกเรื่อยไป แต่ควายจะเดินไปถึงไหนอย่างไรก็หารู้ไม่ ตีควายเรื่อยไปจนสว่าง นึกว่าคงไปไกลแล้ว ที่แท้ควายเดินวนอยู่ในรั้วบ้านนั่นเอง จนเจ้าของตื่นขึ้นมาเห็น และร้องถามว่า นั่นจะเอาควายเขาไปไหน จึงรู้สึกว่าตนหลงตีควายเสียแย่ ในที่สุดก็วนเวียนอยู่ในรั้วบ้านนั่นเอง การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตาของตัวบอดไม่แลเห็นทางออก จึงได้วนอยู่ไม่รู้จักสิ้นสุด ข้อนี้ฉันใด ปุถุชนที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่ก็ฉันนั้น ไม่เห็นอริยสัจ ไม่เห็นลู่ทางที่จะสลัดออกไปจากโลก หรือจากกองทุกข์ได้ ไม่ผิดอะไรกับคนตาบอดลักควายดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เพราะเหตุฉะนั้น เราท่านทั้งหลายจึงพากันท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสังสารวัฏไม่รู้จักสิ้นสุด ส่วนอุปมา คนพายเรือในหนอง กระจ่างดีอยู่แล้ว ถึงจะพายไปจนเมื่อย จะช่วยกันสักสิบพาย ก็พายวนอยู่ในหนองนั่นเอง
ถ้าเห็นอริยสัจ ๔ แล้ว จะพ้นทุกข์ พ้นวัฏฏะ พ้นสังสาร ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก มีหลักฐานอ้างอิงปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ หน้า ๕๓๖ - ๕๔๒ ว่า “จตุนนัง อริยสัจจานัง ยลาภูตัง อทัสสนา สังสริตัง ทีฆมัทธานัง ตาสุ ตาเสวว ชาตีสุ - การที่เราท่านทั้งหลาย ได้พากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ตลอดกาลนานหลายหมื่นหลายแสนชาติ ก็เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอด อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง”
“ตานิ เอตานิ ทิฏฐานิ ภวเนตติ สมูหตา อุจฉินนัง มูล ทุกขัสส นัตถีทานิ ปุนัปภโว - อริยสัง ๔ เหล่านั้น เราและท่านทั้งหลาย ได้เห็นแล้ว ได้ถอนตัณหา ที่จะนำไปสู่ภพแล้ว ตัดมูลรากของทุกข์ให้หมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว”
คำว่า “สงสาร” นั้น แปลว่า ท่องเที่ยวไป หมายความว่า แล่นไปในภพน้อยภพใหญ่ คือไปสู่สุคติบ้าง ไปสู่ทุคติบ้าง สงสารนั้นมีอยู่ ๓ อย่างคือ
๑. เหฏฐิมสงสาร สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบายภูมิ ๔
๒. มัชฌิมสงสาร สงสารท่ามกลาง ได้แก่มนุษย์ ๑ เทวดา ๖
๓. อุปริมสงสาร สงสารเบื้องบน ได้แก่ รูปพรหม และอรูปพรหม
พระแปลว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในความแก่ เห็นภัยในความเจ็บ เห็นภัยในความตาย เห็นภัยในความพลัดพราก มันเป็นการไม่สิ้นสุดในชีวิตในภพในชาติ ถ้าเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และจะทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีวันจบสิ้น
พระจึงเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำบาปทำกรรม เอาศีลเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นตัวที่ทำให้ตัดเวรตัดกรรม ให้ทำความดี ข้อวัตรปฏิบัติให้ถึงพร้อม เป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนหัวใจเข้มแข็งหัวใจไม่อ่อนแอ คนเราถ้าเราเป็นคนอ่อนแอจิตใจไม่เข้มแข็ง มันจะละกิเลสไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ มันจะเป็นคนล้มเหลวในชีวิตหรือว่าอะไรๆ ไม่มีใครที่อ่อนแอจะละกิเลสหมดกิเลสได้
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะเราเป็นคนอ่อนแอ ไม่บังคับตัวเอง คนเรามันต้องบังคับตัวเอง บังคับในการคิด ในคำพูด ในการทำงาน บังคับตัวเองในการทำความดี ข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนคนเขาจะเดินทางในถนน เขาขับรถเขาต้องบังคับพวงมาลัยให้ดีๆ ต้องมีสติบังคับทาง ถ้าไม่บังคับทาง จะไปได้กี่กิโล ฉันใด เราจะไปพระนิพพาน เราต้องบังคับตัวเองให้เอาศีลเป็นที่ตั้ง ให้เอาข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่ตั้ง อย่าไปขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบาย อย่าเป็นคนประมาท เราอย่าไปโทษคนอื่นโทษสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราไม่เกิดมาเราจะไม่ได้พบสิ่งเหล่านี้ ตัวเราเองเป็นคนสร้างปัญหา
ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ตามกิเลสตัวเอง ท่านให้เราตัดภพตัดชาติ การปฏิบัติธรรมของเราต้องทำให้สม่ำเสมอ ติดต่ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกว่าเราจะถึงพระนิพพาน เราถือว่าเราเป็นคนโชคดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีอริยมรรคคือองค์แปด ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราต้องเป็นคนซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อพระธรรมพระวินัย ซื่อสัตย์ต่อการประพฤติปฏิบัติให้ซื่อตรง อย่าเป็นคนจิตใจสกปรก เน่าใน จิตใจหยาบ จิตใจก้าวร้าว จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ เราอย่าไปทำตามความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบ สิ่งไหนมันไม่ดีก็ช่างหัวมันเอาใหม่ มันเจ็บมันล้มเหลวในด้านจิตใจ ก็ให้จำมันไว้ดีๆ ให้เป็นบทเรียนที่มีค่า เราอย่าไปคิดว่าตัวเองมันเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ความประมาทมันทำให้เราพังพินาศ ฉิบหาย คนเราถ้าศีลไม่ดี ข้อวัตรไม่ดี จิตใจมันตกต่ำ เหมือนตกในเหวนรก มันเจ็บมากมันช้ำมาก อยากจะไปทำแต่สิ่งเก่าๆ เหมือนกับคนที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา
ทุกคนต้องเห็นภัยเห็นโทษ เห็นคุณเห็นประโยชน์ อย่าไปตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ทุกคนต้องเอาศีลเอาสมาธิเอาปัญญามาประพฤติปฏิบัติ เพราะเราดูแล้ว ผลกรรมที่ปรากฏออกมา นั่นคือผลของการตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เมื่อเราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกตัวเอง ตัวเองก็ยังสอนตัวเองไม่ได้ บอกตัวเองไม่ได้ จะไปบอกลูกบอกหลานเขาได้อย่างไร ทำให้ลูกหลานเราเสียหายอีก เราก็ยังไปโง่โทษลูกโทษหลาน ผลกรรมมันจะปรากฏออกมาตามที่เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความไม่เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องฝึกตนเอง ฝึกลูกฝึกหลาน อย่างภิกษุที่บวชในพระศาสนาที่ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ผลก็ออกมาอย่างนี้แหละ คือมรรคผลนิพพานก็ไม่เกิด เราอย่าไปใจอ่อน เราจะไปใจอ่อนไม่ได้ เพราะศีลสมาธิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นยานพาหนะที่จะนำเราออกจากวัฏสงสาร หากผู้นำที่ใจอ่อนก็นำพาไปไม่รอด และก็นำตัวเองออกจากวัฏสงสารไม่ได้ มันต้องฝืนมันต้องทวน ความอดทนนี้แหล่ะมันจะเป็นการหยุดโลก ถ้าเราไม่หยุด ศีลสมาธิปัญญาก็ไม่มี
เราดูซ้ำๆ แล้ว มันน่าดีกว่าแต่ก่อนอีก เพราะเทคโนโลยีมันมาช่วยเยอะอย่างนี้ ทุกคนต้องฉลาดนะ ให้ทุกคนอย่าไปหลงตัวเอง อย่าไปเชื่อตัวเอง มันเป็นความเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่ได้เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก ท่านเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็เหมือนกัน ท่านต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรระเป็นใหญ่ ถึงเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เป็นพระศาสนา
ให้เราเข้าใจความหมายของพระของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะได้รู้จักคุณค่าที่เราเป็นคนประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ผู้ที่อ่อนแอทั้งหลายให้เข้มแข็ง เพราะว่าทุกคนมีความหวังกับเรา ไม่ว่าพ่อแม่ญาติโยม พุทธบริษัททุกคน ให้เราเป็นพระก็เป็นพระที่ดี เป็นญาติโยมก็ให้เป็นคนดี พระพุทธเจ้าท่านตรัสพระธรรมคำสอนพระวินัยคำสั่งให้เราทำอย่างนี้ๆ เราก็ต้องทำต้องปฏิบัติ มีความสุขกับการปฏิบัติธรรมตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนเข้านอน เป็นผู้ยินดีพอใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปทำตามความชอบความไม่ชอบ ความเบื่อความไม่เบื่อ มันเป็นเพียงความคิดเป็นอารมณ์ อย่าไปสนใจมัน เดี๋ยวจะเป็นคนไม่มีจุดยืนเอา เป็นคนมีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด เป็นคนบริโภคปัจจัยสี่ ข้าวของต่างๆ เสียเวลาเปล่า มีภาระในการกินการนอนต่างๆ ไปวันๆ หนึ่ง คุณธรรมความดีมันก็ไม่เกิด เราอย่าเป็นคนใจกล้าหน้าด้าน สกปรก ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตัวเองให้เป็นพระ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร คำว่าพระหมายถึงทางด้านจิตใจ ไม่ได้หมายถึงพระที่แต่งตั้ง ถ้าใครประพฤติปฏิบัติ หัวใจก็เป็นพระหมด เพราะหัวใจของเราทุกคนมันไม่มีสมมุติ มันไม่มีแก่เจ็บตาย มันไม่มีช้ามีเร็ว เป็นของบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากตัวตน ไม่มีความปรุงแต่งให้กิเลสเข้าไปได้
เราทุกคนมีโอกาสพิเศษที่สังคมเขาสมมุติให้เราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ทุกอย่างอำนวยความสะดวก สบายหมด พวกเราและท่านจะมาทำผิดธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้ "เราต้องเน้นมาหาใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เจตนาที่ไม่มีความผิด ทั้งทางใจ ทางคำพูด ทางการกระทำ"
"เราทำไม่หยุด ปฏิบัติไม่หยุด มรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นกับเราได้โดยไม่ต้องสงสัย" ที่ทำไปสงสัยไป แสดงว่าใจเราไม่แน่วแน่ ถ้าจิตใจเราไม่แน่วแน่ในพระธรรมวินัย 'ยังเป็นผู้ไม่สุจริต' ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้กราบไหว้ตัวเองได้ ไม่ใช่ให้คนอื่นมากราบไหว้ 'พวกนั้นมันบาป'
เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้แข่งเรื่องมีลาภมาก มีบารมีมาก ท่านให้เน้นที่จิตที่ใจเพื่อดับกิเลส ดับตัวตน...
เราต้องยืนหยัดหนักแน่นตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า เอาปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าพากันถือนิสัยของตัวเอง ตัวเองมันเป็นปุถุชนจะไปถือนิสัยมันทำไม มันพึ่งโผล่มาจากนรกขุมไหน ไปถือนิสัยมันทำไม หมายถึงตัวเองนี้นะ เราต้องเข้าใจ เพราะเราทุกคนต้องพากันแก้ไขตัวเอง คือนำตัวเองเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เอาพระธรรมเป็นสรณะ เอาพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นสรณะ ก็คือตัวเรานี้แหละ เราต้องใจเข้มแข็งต้องมีปัญญา
จิตใจของตนต้องดี ต้องเบิกบาน ต้องมีความสุข เราจะได้เป็นไท เป็นอิสระจากอวิชชา ความหลง เราต้องกลับมาหาศีล หาธรรม หาคุณธรรม อย่าไปกลัวตาย อย่าไปกลัวอดตาย มันจะตายที่ไหน เพราะเราต้องเป็นคนเสียสละ เราถึงจะมีปัญญา เราทุกคนต้องเสียสละ ไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามความคิดตัวเอง ถึงจะมีสัมมาสมาธิ ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้ ศีล สมาธิ ปัญญาถึงได้ไปพร้อมๆ กัน เป็นอริยมรรคมีองค์แปดที่สมบูรณ์ ชีวิตของเราจึงจะได้มีความสุขความดับทุกข์คือพระนิพพานได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee