แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๖๙ ให้สมาธิกับปัญญากลมกลืนเป็นธรรมชาติ เพื่อจิตใจจะได้สงบเย็นเป็นประโยชน์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความรู้ ความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราทุกคนจะได้เข้าสู่การประพฤติ การปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นมรรค เป็นอริยมรรค เพื่อเราทุกคนจะได้ทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ ทั้งใจและทั้งกาย ที่เป็นทางสายกลาง จนกว่าอายุขัยของร่างกายทุกคนจะหมดไป วันหนึ่งคืนหนึ่งมี 24 ชั่วโมง การนอนการพักผ่อน 6-8 ชั่วโมง สามัญชนคนที่อยู่ที่บ้าน สำหรับนักบวช การนอนพักผ่อน 4-5 ชั่วโมง ไม่เกิน 6 ชั่วโมง เวลาเราตื่นอยู่อย่างนี้ ต้องเอาพุทธะ พุทธะแปลว่า รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เน้นที่ปัจจุบัน โฟกัสตรงที่ปัจจุบัน คนเราในปัจจุบันมันคิด มันพูด มันทำ ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เราทำได้ ปฏิบัติได้ทีละอย่าง ปัจจุบันมันเป็นอริยมรรค เราต้องเอามาใช้ เอามาทำงาน เอามาประพฤติเอามาปฏิบัติ เราทุกคนต้องยกเลิกตัวตน ไม่เอาความรู้สึกที่มันสุข มันทุกข์ มันร้อน มันหนาว ที่มันชอบ ไม่ชอบ ต้องเอาความถูกต้อง ที่พวกเราทุกคนจะต้องยกเลิกตัวตน ต้องมีความสุขในการทำงาน ในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน จะเป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ จะให้ทุกท่านทุกคนถือว่ามันเป็นข้อสอบ เราต้องตอบด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อให้มันเป็นศีล เป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน
ปัญหาต่างๆ สิ่งเหล่านี้เราทุกคนต้องมาแก้ที่ตัวเอง มาโฟกัสแก้ที่ตัวเอง เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราทุกคนอย่าพากันลูบคลำในศีล ในข้อวัตร ในข้อปฏิบัติ ปัจจุบันเราต้องเข้าหาความถูกต้อง ถึงกาล ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เราจะได้เป็นผู้ที่รู้จักกาละเทศะ รู้จักการประพฤติในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าถึงบอกหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายว่า สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นี้ อยู่ที่พวกเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่เรายกเลิกตัวตนนี่แหละ ไม่ต้องไปหาความกับทุกข์ที่ไหน หาความดับทุกข์ที่เราในปัจจุบัน ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ด้วยกิริยามารยาท
ทุกท่านทุกคนต้องมีความตั้งมั่น ต้องมีความเข้มแข็ง อย่าไปใจอ่อน ยกทุกอย่างเข้าสู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกอย่างนั้นได้เกิดขึ้นกับเรา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าไม่แน่ ไม่เที่ยง ว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นเกมส์ มันเป็นไฟท์ เป็นโอกาสพิเศษ ที่จะให้พวกเราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ พวกเราทุกคนพากันปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ให้เป็นเหมือนน้ำ เหมือนสายน้ำ เพื่อไหลลงสู่ทะเลลงสู่มหาสมุทร เมื่อเรายกเลิกตัวตน ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรียกว่าผู้นั้นตกสู่กระแส แห่งมรรคผล แห่งพระนิพพาน พากันอบรมอินทรีย์ด้วยภาพประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ความหลง ความประมาท เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เป็นสิ่งที่เราได้พบเจอ ได้สัมผัส ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเพียงเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ทุกอย่างก็เกิดขึ้น ก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อย่าให้อดีตมาปรุงแต่งเราได้ อดีตนั้นมันปรุงแต่งเรา จนกลายเป็นจริต จนเป็นนิสัย เรียกว่าจริตทั้ง 6 ถ้าเราไม่เน้นที่ปัจจุบัน ไม่โฟกัสที่ปัจจุบัน ไม่เอาอารมณ์มาพิจารณา ไม่พิจารณายกสิ่งที่เกิดขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ จริต 6 ก็จะไม่หายไปจากเราได้ เราก็ตัดกรรม ตัดเวร ตัดภัยไม่ได้
ใจของเราเมื่อได้รับการอบรมจากสิ่งแวดล้อมชนิดใดบ่อยๆ หรือเข้าไปเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยและพึงพอใจในสิ่งนั้น แล้วก็เลยเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่กับสิ่งนั้น การที่จิตท่องเที่ยววนเวียนไปตามอารมณ์ประเภทที่จิตชอบนั่นเอง เรียกว่า "จริต" คำว่า จริตก็แปลว่าจิตที่เที่ยวไป เช่นจิตที่เที่ยวไปในทางดี เราเรียกว่าสุจริต ถ้าจิตเที่ยวไปในทางชั่ว เรียกว่าทุจริต
จริต ยังแปลได้ว่า ความประพฤติ, กิริยาอาการ การอบรมหรือการเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน ย่อมมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดเป็นอุปนิสัยได้ อุปนิสัย แปลว่า ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นฐานมาในสันดานดังนั้น ถ้าจิตของเราชอบเที่ยวไปในทางไหนบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชินขึ้นแล้ว ก็จะกลายมาเป็นจริต หรืออุปนิสัย ของคนคนนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น จริต คือ ลักษณะนิสัยหรือความประพฤติพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติ ตามความเคยชินของจิตใจเดิมของบุคคลนั้น
ในทางพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันนั้นเกิดจาก "กรรมในอดีต" และสัดส่วนองค์ประกอบของ "ธาตุทั้ง ๔" ภายในร่างกายของแต่ละคน คนโดยทั่วไป จะไม่แสดงจริตของตนในที่สาธารณะ เพราะมีข้อบังคับ หรือต้องทำตามกฎระเบียบนั้น แต่เมื่ออยู่ในที่ส่วนตัว และไม่มีใครรู้เห็น เช่นห้องนอนของตนเอง จริตของตนจะแสดงออกอย่างชัดเจน การรู้จักสังเกตจริตของตน ทำให้รู้จักแก้ไข ขจัดนิวรณ์ได้โดยใช้กรรมฐานพิเศษ เฉพาะ ให้เหมาะกับจริตของตน ซึ่งต้องกระทำบ่อย ๆ เปรียบเสมือนยารักษาโรคเฉพาะทาง สำหรับคนนั้น ๆ เป็นกรณี ๆ ไป และกรรมฐานพิเศษเหล่านั้น สามารถปฏิบัติได้พร้อมกันกับอานาปานสติ
จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริต คือ
๑. ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ สังเกตดูห้องนอนของตนเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ละเอียด ประณีต
กรรมฐานพิเศษ - อสุภกรรมฐานบ่อยๆ เพื่อปรับจิตไม่ให้ไปยืดถือความสวยงาม จนทำให้เกิดกามฉันทะนิวรณ์
๒. โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์ จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมาชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีตสะอาดสะอ้าน
"รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว ทุฏฺฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ มุฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ
---รอยเท้ากระโหย่ง (เว้ากลาง) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าราคะ...
---รอยเท้ามีส้นบีบ (หนักส้น) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าโทสะ....
---และรอยเท้ามีปลายจิกลง (หนักปลายนิ้ว) เป็นรอยเท้าของคนเข้าโมหะ
---ส่วนรอยเท้าราบเรียบเสมอกันอย่างนี้ เป็นรอยเท้าท่านผู้หมดกิเลสแล้ว
กรรมฐานพิเศษ - เมตตาพรหมวิหารธรรม (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)
๓. โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง ขี้หลง ขี้ลืม ง่วงๆ ซึมๆ เบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้าๆ ซึ้งๆ พูดจาเบาๆ นุ่มนวลอ่อนโยนยิ้มง่าย อารมณ์ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่นเดินแบบขาดจุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น
กรรมฐานพิเศษ - พิจารณาอาการ ๓๒ เป็นต้น และอานาปานสติ
๔. วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ความคิดพวยพุ่งฟุ้งซ่าน อยู่ในโลกความคิดไม่ใช่โลกความจริง มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการอัตตาสูง คิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง
กรรมฐานพิเศษ - เพ่งดูกสิณ เช่นต้นไม้เขียว ภูเขาเขียว ทะเลสีน้ำเงิน และอานาปานสติ
๕. ศรัทธาจริต หรือ สัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษ งมงาย ขาดเหตุผล ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการหรือความเชื่อ ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธา คิดว่าตัวเองเป็นคนดี น่าศรัทธา ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจังพูดมีหลักการ
กรรมฐานพิเศษ - อสุสสติ ๑๐ เช่น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และศีลของตน (อนุสติ ๖ ข้อแรก ได้ทั้งหมด)
๖. ญาณจริต หรือ พุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล ชอบพูดมาก ชอบสอน ชอบอธิบาย ชอบแนะนำผู้อื่น ดูเหมือนรู้ทุกอย่าง แต่บางทีตนเองไม่ปฏิบัติก็มี เป็นผู้คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตาม ภาพความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งพร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต มีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใสตาเป็นประกาย ไม่ทุกข์
แก้โดย ลงมือปฏิบัติเสีย พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรมและ สิ่งดีงาม ที่ให้เจริญปัญญา เช่น พิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการรู้จริตนั้น คือ ประโยชน์ด้านการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพเพื่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาด้านจิต (อารมณ์) และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับจริต ถึงจะได้ผลดี การรู้จริตของตน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองอย่างไร มีสิ่งใดที่เหมาะสมอยู่แล้วมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น พราะจริตอันหมายถึงความประพฤติที่เป็นพื้นของจิตใจ ดังที่เรียกชื่ออื่นว่า อัธยาศัย นิสสัย ย่อมมี ๔ อย่าง คือ ๑ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ๒ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง ๓ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ๔ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อ เพื่อผู้มีจริตทั้ง ๔ นั้น จักได้ยกขึ้นปฏิบัติ กำหนดพิจารณาให้เหมาะแก่จริตของตน
ตัณหาจริต ๒ บุคคลจำพวกที่เรียกว่าตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น ก็คือมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพื่อที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อที่จะให้สิ่งและภาวะที่ไม่ชอบใจไม่พอใจหมดสิ้นไป ดั่งที่เรียกว่าที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือไม่เป็นในภาวะที่ไม่พอใจไม่ชอบใจ
บุคคลที่เป็นตัณหาจริตดั่งที่กล่าวมานี้อย่างหยาบ ดังที่ติดอยู่ในกาย ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในกาย ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณากาย ส่วนบุคคลที่เป็นตัณหาจริตคือมีความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้นอย่างละเอียด ก็ติดในเวทนา เช่นต้องการสุขเวทนาเป็นสำคัญ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณาเวทนา
ทิฏฐิจริต ๒ ส่วนบุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตนั้น ทิฏฐิก็คือความเห็น อันหมายถึงความเห็นยึดถือที่ไม่ถูกต้อง ดั่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา อย่างหยาบ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต ส่วนที่มีทิฏฐิคือความเห็นอย่างละเอียด ยึดถืออย่างละเอียด แต่ว่าเป็นความยึดถือมั่นในธรรมะที่ผิด เช่นยึดถือในขันธ์ ๕ หรือนามรูป ว่าตัวเราของเราเป็นต้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณาในสติปัฏฐานหมวดธรรมะ
พระอาจารย์ได้แสดงว่า เพราะบุคคลในโลกมีจริตต่างๆ กันเป็น ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ สำหรับให้เหมาะแก่ผู้ที่มีจริตทั้ง ๔ นี้ ได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะแก่จริตของตน อีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้โดยทั่วๆ ไปว่า ทุกๆ คนย่อมมีจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างก็มีความเห็นเป็นเหตุยึดถือต่างๆ จึงอาจที่จะจับปฏิบัติได้ทั้ง ๔ ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือข้อกาย ต่อมาข้อเวทนา ต่อมาข้อจิต ต่อมาข้อธรรม
จะเป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาดก็ปฏิบัติได้พอๆ กัน เราดูตัวอย่างแบบอย่างการบรรลุธรรมเราฟังพระพุทธเจ้า เชื่อในพระพุทธเจ้าในพระธรรมในพระอริยสงฆ์ ก็ได้บรรลุธรรมกัน ในวิมุตตายตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงวิมุตตายตนะ แปลว่า บ่อเกิดของวิมุตติคือหลุดพ้น ไว้ ๕ อย่าง คือ
๑. ฟังธรรม ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมสนใจในธรรมก็หลุดพ้นได้ เป็นพระอรหันต์ได้เพียงแต่ตั้งใจฟังอย่างเดียว
๒. คิดไตร่ตรองใคร่ครวญธรรม บางท่านใคร่ครวญธรรมแล้วก็ได้ปีติปราโมทย์ แตกฐาน ขบธรรมะแตก ก็ได้ บรรลุก็มี
๓. แสดงธรรม แสดงไปๆ ได้ปีติปราโมทย์จากการแสดงธรรม เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้เราก็มี เรื่องนี้เราก็มี ก็เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น ก็บรรลุธรรมในขณะแสดงธรรมตัวอย่างคือ พระนาคเสน ได้แสดงธรรมให้อุบาสิกาฟัง อุบาสิกาฟังไปด้วยพิจารณาตามไปด้วยจนได้บรรลุโสดาบัน และพระนาคเสนก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วย
เวลาแสดงธรรม ใจมันเป็นสมาธิกว่าปกติ ถ้าเผื่อได้พูดถึงคุณสมบัติที่ผู้แสดงมีบำเพ็ญอยู่ กระทำอยู่ ปีติปราโมทย์มันก็เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เขามีกำลังใจในการทำงานแสดงธรรมต่อไป
๔. สาธยายธรรม คือสวดท่องบ่นบางท่านสวด อิติปิ โส ภควา สำรวมใจให้ดีเวลาไม่สบายใจให้สวดมนต์ จำอะไรได้ ให้เอามาสวดให้หมดเลย ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที บางทีหัวเราะออกเลย หรือจำได้น้อยสวดกลับไปกลับมาก็ได้ เวลาที่ไม่สบายอย่างนี้ก็ได้บรรลุธรรมเหมือนกัน
๕. เจริญสมถวิปัสสนา ซึ่งคนทำกันอยู่ต้องทำไปด้วยกัน ทำสมถะบ้าง ทำวิปัสสนาบ้างสลับกันไป ถ้าทำสมถะอย่างเดียวก็เพียงแต่ระงับไว้ได้เท่านั้น
นี่คือ วิมุตตายตนะ บ่อเกิดของวิมุตติ ๕ อย่าง เพราะฉะนั้น ก็ขอให้รู้ว่ามนุษย์สามารถบรรลุธรรมด้วยวิธีต่างๆ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือมาตัดอดีต อดีตเรื่องที่ผ่านไปต้องตัด ต้องยกเลิกอย่างเด็ดขาด ต้องขอบใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มาปรากฏในปัจจุบัน ที่ให้เราได้มีโอกาสภาวนาได้พิจารณา ได้ประพฤติได้ปฏิบัติ เพื่อจะได้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมนำชีวิต ได้มีโอกาส มีความตั้งมั่น ได้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่พระไตรลักษณ์ว่า ทุกอย่างนั้นไม่แน่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องพากันมีสติมีสัมปชัญญะ พยายามตั้งมั่น เข้มแข็ง มีปัญญา เข้าถึงปัจจุบันที่เป็นธรรม เป็นคุณธรรมให้ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เราต้องยกเลิกอดีต แม้แต่ความสุขในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นความไม่แน่ ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าบอกเราว่า สวรรค์เป็นทางที่เราจะต้องผ่าน พรหมโลกเป็นทางที่เราจะต้องผ่าน เราต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ การพัฒนา พวกเราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะได้พัฒนาใจ พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน จิตใจของเราก็ไม่ยิ่งหย่อน วัตถุก็ไม่ยิ่งหย่อน มันต้องไปพร้อมกันอย่างนี้ ไปเป็นทางสายกลาง เราทุกคนต้องตระหนักใจว่าเราทุกคนต้องพากันมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เพราะว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ พูดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ เพื่อจะได้ไม่หลงในสิ่งต่างๆ เพราะว่าเมื่อสิ่งภายนอก สิ่งภายใน ทำให้มีผัสสะเกิดขึ้น ทำให้เราทุกๆ คนหลง พากันเพลิดเพลิน ลืมการประพฤติลืมการปฏิบัติ
การประพฤติการปฏิบัตินั้น ถึงธาตุถึงขันธ์ถึงอายตนะ ถึงความรู้สึก มันจะเป็นเรา เป็นของเรา พระพุทธเจ้าก็บอกว่าให้พวกเราทั้งหลายต้องมายกเลิก ให้ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติ เพื่อทุกคนจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ เหมือนพระพุทธเจ้าพาทำ เหมือนพระอรหันต์พาทำ ที่เรามีตัวมีตนนั้นมันไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นทั้งประโยชน์ตนเอง ไม่เป็นประโยชน์คนอื่น ที่พวกเราทั้งหลายว่ารักตัวเอง รักพี่ รักน้อง รักสรรพสัตว์ทั้งหลาย รักประเทศชาติ รักพระศาสนา เรื่องนี้มันไม่จริง มันเป็นความหลงต่างหาก มันไม่ใช่ความบริสุทธิคุณ ปัญญาธิคุณ กรุณาธิคุณ ตัวตนนั้นมันเป็นความหลง เราต้องพากันมารู้จักอริยสัจ 4 รู้ความจริง เรารู้เราเห็น ที่โลกนี้เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ความเป็นมนุษย์มันก็ไม่ได้มี มันเป็นได้แต่เพียงคน เพียงความหลงเท่านั้น เป็นข้าราชการก็ไม่ได้ เป็นนักการเมืองก็ไม่ได้ เป็นนักบวชก็ไม่ได้ เพราะตัวตนนั้นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้ หมู่มวลมนุษย์ต้องพากันมาพัฒนาตัวเอง เพื่อยกเลิกตัวตน
การเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก หรือตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค มันถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เราพากันคิดดูดีๆ โลกนี้พัฒนาวิทยาศาสตร์ การเรียนการศึกษามันก้าวไปไกล จนถึงไปสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ไปสู่ยานอวกาศ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้พัฒนาใจ ให้ใจของเราเอาธรรมนำชีวิต ไม่ได้พัฒนาวัตถุเพื่อเป็นธรรมนำชีวิต การเรียน การศึกษามันถึงเป็นความล้มเหลว การเรียน การศึกษาที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ถึงเป็นความล้มเหลว การบริหารข้าราชการที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง ที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง มันถึงเป็นความล้มเหลว การบริหารของนักการเมืองทั้งหลาย ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันถึงเป็นความล้มเหลว ให้เราทุกๆคนที่ได้มีโอกาสพิเศษ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ให้ได้พากันเข้าใจ ว่าการดำเนินชีวิตต้องเอาธรรมนำใจ เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันจะไปได้ยังไง เพราะตัวตนนั้นมันทุจริต มันเป็นไปไม่ได้ มันไปไม่ได้
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ เราก็ไปไม่ได้ คนอื่นก็ไปไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้ พระเจ้า พระสงฆ์ก็ไปไม่ได้ ที่เราเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้งน่ะ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง มันไม่ได้สัมมาทิฏฐิทางจิตใจ ไม่ได้สัมมาทิฏฐิทางวัตถุ อย่างนี้ ให้พวกเราเข้าใจ อย่าได้มีความเห็นผิด เข้าใจผิด แล้วก็พากันปฏิบัติผิด เรามีความเห็นผิด เข้าใจผิด มันก็ปฏิบัติผิด มันก็ทำให้ตัวเราเดือดร้อน ทำให้ลูกหลานเราผิด อย่างเรารู้เราเห็นกันอยู่อย่างนี้นะ อย่างข้าราชการก็ดี นักการเมืองก็ดี อย่าไปคิดว่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันถูกต้อง มันหลงไปหนะ หลงจนแก่เลย แก่แล้วก็ยังให้ลูกให้หลานมาทำอย่างเราน่ะ มาโกงมากินต่อ มาหลงต่อ เมื่อโลกทั้งโลกมันหลงอย่างนี้ เราเข้าใจว่าตัวเองหลงนะ แล้วก็ไม่ต้องไปแก้ใครที่ไหนหรอก เพราะทุกคนก็ต้องแก้ที่ตัวเอง เอาตัวตนเราก็จะได้อย่างมากก็ได้แค่ความสงบแบบหินทับหญ้า ได้แก่สมาธิ พระพุทธเจ้าตรัสถึง คนเราจะนั่งสมาธิอย่างนานสุดก็ 7 วัน ภาพรวม คนเราก็ต้องทานข้าวทานอาหาร ท่านถึงให้พัฒนาเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะความสุข ความดับทุกข์ของเราน่ะ มันจะเอาแค่ความสงบ มันไม่ได้ มันต้องปัญญาสัมมาทิฏฐิ มันจะได้เอาใช้ให้ถูก ดึงมาหาอริยมรรค โฟกัสมามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เอาพระไตรลักษณ์มาใช้ โฟกัสมา เพราะเราจะได้ต่อยอด เราเอาความสงบเป็นที่ตั้ง พระกรรมฐานที่เมืองไทยเราหรือทุกประเทศหรือหลายประเทศ เขาเอาแต่ความสงบ ไม่ได้ทำเหมือนพระพุทธเจ้าเลย จะเอาแต่ความสงบ เทศน์ไหนก็สอนแต่เรื่องความสงบ ก็คือว่า มันยังไม่ใช่ความเป็นพุทธะ เหตุนั้นมันเสียหายทำให้โลกนั้นเสียหาย เพราะความไม่เข้าใจ
การปฏิบัติธรรมมันง่ายอยู่ ต้องเข้าใจ ความไม่เข้าใจ ถ้าผู้มีการศึกษาน้อยก็เสียหายระดับนึง ถ้าผู้มีการศึกษาระดับสูงก็เสียหายระดับสูง ถ้าโจรทางเอเชียก็เป็นโจรระดับนึง ถ้าโจรทางยุโรปน่ะ ที่เขามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์ ทางอุตสาหกรรม โจรใหญ่กลัวนะอย่างนี้ เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง อย่างมากก็ได้แต่ความรู้ ความฉลาด ได้วิทยาศาสตร์ เพื่อเอาความหลงเป็นที่ตั้ง คนรุ่นใหม่สมัยใหม่ มันมีความเห็นผิดเข้าใจผิด มันจะเอาแต่ทางวัตถุไม่ได้ ต้องเอาทางจิตใจคุณธรรมไปด้วย เอาทางวัตถุทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช พัฒนาทั้งใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน
ทุกคนไม่ได้ต่อสู้กับใครหรอก ต่อสู้กับอวิชชาความหลง ถ้าเรายกเลิกตัวตน เราก็ถือว่าไม่ลำบาก ลำบากก็เพราะเราไม่ยกเลิกตัวตนนี่แหละ เมื่อเรายกเลิกตัวตนแล้ว เราก็ไม่ได้เพิ่ม ไม่ได้ตัดออก เราเพียงแต่ทำให้มันถูกต้อง คิดถูกต้อง พูดถูกต้อง ทำประโยชน์ให้มันถูกต้อง เพราะฉะนั้นโฟกัสมาอย่างนี้ ถึงจะทีสัมมาทิฏฐิ การเรียนการศึกษาถึงเป็นที่สำคัญ พ่อแม่ถึงสำคัญ พระเจ้าพระสงฆ์สำคัญ ข้าราชการ นักการเมืองสำคัญ พวกศาสตร์ต่างๆ ให้ดึงมาเป็นพุทธศาสตร์ อย่าให้เป็นไสยศาสตร์ อย่าให้เป็นตัวตนเหมือนอย่างนี้เลย เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ทุกคนมาปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปทำกำแพงล้อมรั้วอะไร เราไม่ต้องไปออกกฎหมายอะไร เพราะเราก่อนหน้านี้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักผิด รู้จักถูก กฎหมายหรือว่าสมมติสัจจะ ก็เพื่อจะให้โฟกัสไปที่เรา ยกเลิกตัวตนซะ ให้ทุกคนได้เสียสละ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง สมมติสัจจะที่เอามาทำประโยชน์มันก็ทำลายทั้งตัวเรา ทำลายทั้งคนอื่น ตัวตนมันมีอิทธิพลมากนะ เพราะมันเป็นประชาธิปไตยแห่งความหลง ครองโลก มันเป็นความหลง ตัวตนครองโลก เราจะคิดเป็นประชาธิปไตยนี่ก็ คิดเปอร์เซ็นต์ 99.9 น่าจะไม่เกิน 1% หรอกที่ยกเลิกตัวตนน่ะ ทุกคนกลับมาแก้ตัวเอง กลับมาพัฒนาตัวเองในถิ่นฐานบ้านเกิด ตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็แสวงหาแต่ความหลงกันไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราจะมีสงครามในจิตในใจ เราจะอยู่ด้วยการขัดแย้ง อยู่ด้วยการต่อต้าน ไม่ได้กลับมาแก้จิตแก้ใจของเรา ไม่รู้จักว่า "โลกนี้เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เรายังไม่เกิด" ให้เรารู้จักหยุด ให้รู้จักเย็น รู้จักฟังคนอื่นเค้าบ้าง เราจะเอาหัวชนฝาอย่างเดียว มันก็ตายเปล่า มันไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราถึงเวลาปล่อยวาง ก็ปล่อยวาง ถึงเวลาทำก็ทำ ถึงเวลาหยุดก็หยุด เป็นคนมีระเบียบวินัย ตื่นขึ้นก็กราบพระไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย แผ่เมตตา ตั้งใจทำงานให้มีความสุขสิ่งไหนไม่ดี เราอย่าไปคิด มันเป็นไปไม่ได้ก็อย่าไปคิด ให้เราเบรกตัวเองไว้ หยุดตัวเองไว้
"ฐานที่สำคัญของเรา ก็คือความคิดนี่แหละ..." ฝึกพัฒนาความคิด' อย่าเป็นคนวุ่นวายกับความคิดมาก เพราะคนมันยังไม่ตายก็ต้องคิดโน่นคิดนี่ ยิ่งเราเป็นคนฉลาดมากปัญญามาก ก็ยิ่งคิดเยอะ ให้เรารู้จักความคิด เราอย่าไปวุ่นวายกับความคิด รู้มาก ฉลาดมาก เป็นคนเก่ง เราต้องเอาสมาธิเข้ามาช่วยให้อยู่กับการหายใจเข้าสบายบ้าง ออกสบายบ้าง คนเรามันฉลาดมันคิดไม่หยุด ให้เรามีความสงบกับความคิดสลับกันไป เพื่อให้ 'สมาธิ' กับ 'ปัญญา' กลมกลืนเป็นธรรมชาติ เพื่อจิตใจของเราจะได้เกิดความสงบ ความร่มเย็น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee