แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันอังคารที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๖๗ ทำอย่างไรจิตใจเราถึงจะหนักแน่น จิตใจเราถึงจะไม่หวั่นไหว
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
าสัมพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้ความไม่เข้าใจ เราไม่รู้เหตุไม่รู้ปัจจัยเรียกว่าไม่รู้ความจริงไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราเอาความไม่รู้ดำเนินชีวิตเอาอวิชชาความหลงดำเนินชีวิต ความไม่รู้นั้นได้ดำเนินไปอย่างไม่มีการหยุดเรียกว่าความเกิดเรียกว่าวัฏฏสงสาร เปรียบเสมือนทะเลมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ เปรียบเหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อเพลิง เพราะความไม่รู้นั้นได้ก้าวไปอย่างไม่มีวันหยุด มีความทุกข์ทั้งกายมีความทุกข์ทั้งใจ
พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาบอกพวกเราทั้งหลายว่าความไม่รู้นั้นมันทำให้เราทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเลย...การประพฤติปฏิบัติของพวกเรา เราต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กันทั้ง ๒ อย่าง เพื่อหาวิธีแก้ทางกายทางวัตถุเพื่อบรรเทาทุกข์ เราทุกคนยอมรับว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้ไม่สบายเป็นธรรมดา มีความตายจากไปเป็นธรรมดา ทุกคนต้องรู้อริยสัจ ๔ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ยอมรับความจริงจนกว่าอายุขัยของเราทุกคนจะหมดไปตามกาลตามวาระของชีวิต
ความทุกข์ทางกายเราก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราจะได้เอาความทุกข์ทางกายมาภาวนาพิจารณาสู่ความจริงสู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวของเราหากเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ได้เป็นธาตุขันธ์อายตนะ จัดว่าเป็นพวกวัตถุธาตุหาใช่นิติบุคคลหาใช่ตัวตนไม่ เป็นเพียงสภาวธรรม
ถึงเราจะมีความรู้สึกหนาวร้อนสุขทุกข์ อันนี้เป็นเพียงสภาวธรรม เราไปแก้ไขไม่ได้ เราต้องรู้ความจริง เมื่อรู้แล้วเราก็ไม่ต้องไปเพิ่มไม่ต้องไปตัด เพราะความถูกต้องคือความถูกต้อง มันไม่ได้เพิ่มมันไม่ได้ตัด ปล่อยให้ทุกอย่างมันอยู่เก้อๆ ของมันอย่างนั้นแหละ เราจะได้เอาสุขเอาทุกข์มาเป็นข้อสอบเราจะได้ตอบด้วยพุทธะ ด้วยการรู้สภาวธรรมว่าทุกอย่างนั้นมันเป็นอย่างนั้นเอง แล้วแต่เราจะไปผัสสะกับอะไร ผัสสะกับฟ้ากับฝนอากาศสิ่งแวดล้อมแล้วแต่เหตุการณ์ เราต้องพากันรู้จัก หาใช่นิติบุคคลตัวตนไม่แต่เป็นเหตุเป็นปัจจัย
พระพุทธเจ้าท่านถึงมีความสุขมีความดับทุกข์ทางจิตใจ ท่านอยู่ที่ไหนท่านก็มีความดับทุกข์ทางจิตใจ ท่านจะอยู่ทุกหนทุกแห่งสิ่งต่างๆ นั้นก็ย่อมไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะอยู่ตามโคนไม้ตามป่าเขาตามหมู่บ้านนิคมเมืองหลวงก็มีความดับทุกข์ด้วยไม่มีทุกข์ทางจิตใจ เพราะท่านได้บำเพ็ญพุทธบารมีของท่านมาสมบูรณ์ บารมี ๑๐ ทัศ ๒๐ ทัศ ๓๐ ทัศ ท่านอบรมบ่มอินทรีย์มาสมบูรณ์
หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายการมาตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมายกเลิกความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิดเรียกว่าพุทธะ มายกเลิกทาสยกเลิกชั้นวรรณะ เอาสมมติสัจจะต่างๆ มาใช้งานเพื่อโฟกัสในสิ่งเหล่านั้นว่ามาใช้งาน
เราทำอย่างไรจิตใจถึงจะหนักแน่น จิตใจของเราถึงจะไม่หวั่นไหว เพราะเราก็เป็นมนุษย์ธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกจิตใจให้มี "สัมมาสมาธิ" คือความตั้งมั่นในธรรม ตั้งมั่นในความดี ตั้งมั่นในความถูกต้อง "มนุษย์ เราแปลว่า ผู้ประเสริฐ" มันประเสริฐอยู่ที่ไหน.... มันประเสริฐที่ตั้งมั่นในธรรม ในความเป็นธรรม ในการที่ไม่โยกคลอน ไม่หวั่นไหว
ผัสสะที่มันมากระทบกับเราในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาน่ะ เราทุกคนนั้นย่อมไม่เป็นตัวของตัวเอง ขึ้นอยู่กับผัสสะ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม อากาศร้อน อากาศหนาว ทำให้เราโยกคลอน สิ่งที่ดี...ที่ชั่ว...มันก็ทำให้เราโยกคลอน
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนมีสมาธิที่แข็งแรง พยายามมีสติ มีสัมปชัญญะให้มันมาก มนุษย์ส่วนใหญ่น่ะ... นอกจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์แล้ว ย่อมตกอยู่ในอิทธิพลสิ่งแวดล้อม
พระพุทธเจ้าน่ะ ท่านสอนเราให้มีความสุขในการปฏิบัติธรรม ในชีวิตของเรานี้ถือว่าเป็น 'การปฏิบัติธรรม' พยายามเอาความดี เอาความถูกต้องมาไว้ที่ใจของเรา ไว้ที่วาจา ที่การกระทำของเรา ต้องมีความสุข...ความดับทุกข์ในการทำความดีอย่างนี้ วันหนึ่งคืนหนึ่งน่ะ ๒๔ ชั่วโมง เวลาเรานอนพักผ่อนนั้น อย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ชั่วโมง ถ้าเราไม่ทำใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์ ใจไม่มีสติสัมปชัญญะนั้น เราทุกคนก็จะตกนรกทั้งเป็นในด้านจิตใจ
การเกี่ยวข้อง การผัสสะนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะสุข ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะรวยหรือจะจนนั้น มนุษย์เราทั้งหลายต้องพากันปฏิบัติพัฒนา...
พระพุทธเจ้าไม่ให้เรากลัวผัสสะ กลัวอารมณ์ กลัวสิ่งแวดล้อม แล้วแต่อะไรมันจะเกิด... แก้ด้วย 'ศีล' คือการทำความดี แก้ด้วย สมาธิ' คือความหนักแน่น แก้ด้วย 'ปัญญา' คือการไม่หลงในอารมณ์ ไม่หลงในประเด็น
ทุกท่านทุกคนน่ะต้องขอบคุณผัสสะ ขอบคุณสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มันเล็กน้อยหรือรุนแรงที่มาให้เราทุกท่านได้ภาวนา ได้พัฒนา ได้ฝึกจิตใจ สร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม มนุษย์ของเรา คือผู้ที่มาแก้ไขที่ใจของตัวเอง มาแก้ไขที่คำพูดของตัวเอง มาแก้ไขที่การกระทำของตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ คือธรรมาธิปไตย
คนส่วนใหญ่น่ะ...ถืออัตตาธิปไตยเป็นหลัก ตัวเองถึงมีปัญญา แล้วทำให้คนอื่นมีปัญหา เพราะเอาประชาธิปไตยเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าให้เราเอาธรรมเป็นใหญ่ ปรับตัวเองเข้าหาธรรม ถ้าเราเอาความโลภ ความหลงของคนส่วนใหญ่ ตัวเราก็ย่อมมีปัญหา สังคมส่วนรวมก็มีปัญหา เพราะประชาธิปไตยนั้นเอาสิ่งที่ไม่ดีเป็นใหญ่ โดยพร้อมเพรียงกัน เราเลยไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมของความเป็นมนุษย์
เราเรียนมาก เรารู้มากน่ะ...มันดี เพราะคนที่เรียนนั้นมันฉลาด มันรู้เหตุรู้ผล รู้ว่าทำอย่างนี้จน ทำอย่างนี้รวย แล้วก็เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่เอาความรู้ ไม่เอาความฉลาดเพื่อที่จะให้มนุษย์นี้พัฒนาเข้าหาศีล หาธรรม หาคุณธรรม โลกของเรา สังคมของเรามันถึงร้อน
มนุษย์เราทุกคนถึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติธรรม จำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ไม่มีใครยกเว้นเรื่องการประพฤติการปฏิบัติธรรม
ถ้าเราตั้งมั่นในธรรม ตั้งมั่นในความดี ตัวเราเองก็มีความสุข ไม่มีทุกข์ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เรา ก็ได้รับอานิสงส์ไปกับเราพร้อมๆ กัน
บุคคลหนึ่ง... มันสำคัญอยู่ที่ตัวของเราเอง มนุษย์เราถึงต้องตั้งมั่นในความเป็นธรรม มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในความดี 'การทำความดี' นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะเราได้พัฒนาสิ่งภายนอก และพัฒนาทั้งด้านจิตด้านใจของเรา
เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้นำนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์คนหนึ่งนี้ สำคัญอยู่ที่หัวใจ ครอบครัวๆ หนึ่งสำคัญอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ หน่วยงานกระทรวงหนึ่งก็สำคัญอยู่ที่หัวหน้า หัวหน้ามีความสำคัญอยู่ที่ทีมงาน ต้นไม้ต้นเดียวยืนอยู่กลางนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องมีต้นใหญ่ ต้นรอง ต้นเล็กจนถึงกระทั่งหญ้า ต้นไม้ใหญ่นั้นถึงจะตั้งอยู่ได้ ทุกท่านนั้นถือว่ามีความสำคัญพอๆ กันน่ะ นิ้วมือนี้น่ะก็สำคัญทั้งหมดทั้ง ๕ นิ้ว
ทุกท่านน่ะพระพุทธเจ้าถึงให้เราหันมาหาธรรมะ มีความเมตตาตัวเองด้วยการตั้งมั่นในศีลในธรรม เมตตาคนอื่น เพราะทุกคนทุกท่านนั้นย่อมมีทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ทุกข์ทางหน้าที่การงาน ทุกข์จากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลน่ะ เดี๋ยวนี้เรากำลังมาพัฒนาใจของเราให้มันดี ให้มันสบาย ให้มันไม่มีทุกข์
เราจะเจ็บไข้ไม่สบายก็ช่างหัวมัน ต้องทำใจให้สบาย ใจไม่มีทุกข์ เป็นคนนอนหลับยาก เป็นคนนอนไม่หลับก็ต้องทำใจสบาย ใจไม่มีทุกข์น่ะ เป็นคนที่มีความวิตกกังวลมาก ก็ต้องฝึกทำใจให้สบาย ทำใจไม่มีทุกข์ ฝึกปล่อยฝึกวาง เราจะได้พัฒนาเราไปในชีวิตประจำวันน่ะ
'ใจ' ของเรา ถ้าเราไม่ฝึกน่ะมันไม่ได้ มันก็อย่างเก่า มันก็เท่าเก่า "เราต้องฝึก' ถ้าเราปล่อยไว้ ปัญหามันก็ยืดเยื้อไปเรื่อยน่ะ ผงนิดเดียวมันเข้าตาเราก็มองไม่เห็น มันสร้างปัญหาให้เราทั้งนั้นน่ะ เราต้องทำจิตทำใจของเราให้ใจของเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แก้ปัญหาไปเป็นเปลาะๆ ตามชีวิตจิตใจเรื่องใหญ่ ถ้าเราคิดว่าไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาต่างๆ มันอยู่ที่เรามีความหลง อยู่ที่มีความเห็นแก่ตัว เราถึงเป็นทุกข์ เราถึงมีความกังวล เราถึงนอนไม่หลับ
ความไม่รู้ ความไม่ฉลาด ความไม่เข้าใจน่ะมันทำให้กิเลสของเรานั้นพุ่งกระจุยกระจายไปหมด แถมทั้งเครียด ทั้งโกรธเข้ามาอีก อะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะตั้งอยู่นั้น พระพุทธเจ้าเมตตาบอกเราให้สมาธิแข็งแรงไว้ อย่าไปคิดอะไร อย่าไปปรุงแต่งอะไร อุเบกขาต่ออารมณ์ เป็นธรรมะของผู้ใหญ่ เป็นความเจริญด้านจิตใจ ให้เรามีไว้ อดเอาทนเอาเดี๋ยวทุกอย่างมันก็ผ่านไปหรอก... อย่าเป็นคนใจเบา อะไรมากระทบ อะไรมาสัมผัสเราก็ตามไปหมด ถูกความหลงมันมาหลอกลวงน่ะตั้งหลายครั้งหลายคราวก็ยังไม่จำ ให้อด ให้ทน ให้ทบทวน...
การงานที่เราปฏิบัติประจำในชีวิตประจำวันน่ะ ต้องมีความสุข ต้องมีความดับทุกข์จริง เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ ทำงานเพื่อไม่มีตัวไม่มีตน ทุกท่านทุกคนก็จะได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งทรัพย์สมบัติ ชื่อว่าได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ควบคู่กันไป สมกับเราทุกคนที่เป็นผู้ประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์แท้ เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง
เรื่องคนอื่น... ใครเค้าจะดีเค้าจะชั่วก็ช่างเค้า เราเอาความดี เอาความถูกต้อง เอาความเป็นธรรม เอาคุณธรรม ในโลกนี้... มันต้องมีกลางวัน กลางคืน มีหน้าหนาว หน้าฝน หน้าแล้ง มีทั้งคนดีคนไม่ดีน่ะ "เราจะเอาแต่สิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราไม่ต้องการ เราจะเอาไปไว้ไหนน่ะ...?" เพราะโลกมันเป็นของเขาอยู่อย่างนี้
พระพุทธเจ้าน่ะให้เราทุกคนพากันฉลาด เพราะเราเกิดมาเพื่อความฉลาดสมกับเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ที่ไม่มีความหลง
ร่างกายของเราทุกคนประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ มีอายุขัยจำกัด ที่จะให้เราทุกท่านนั้นได้พากันสร้างความดี สร้างบารมีเมื่อโอกาสเป็นของเรา... ทุกๆ ท่านทุกคนน่าจะดีใจ ภูมิใจที่ได้สร้างบารมีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
การฝึกจิตใจให้สบาย ฝึกจิตใจให้ไม่มีทุกข์นี้เป็นสิ่งสำคัญน่ะ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "ความสุขอันใดสู้ความสงบไม่ได้ไม่มี..." คนเราจะจนจะรวยไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ใจสงบ ใจไม่มีทุกข์...
คนรวยถ้าใจไม่สงบก็มีทุกข์ คนมียศ มีตำแหน่ง ถ้าใจไม่สงบ ก็มีทุกข์ คนสุขภาพร่างกายดี ถ้าใจไม่สงบก็มีทุกข์น่ะ
"ความสงบ คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการ... " พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนฝึกทำใจสงบ ด้วยการฝึกหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... ในทุกลมหายใจที่เราระลึกได้ ไม่เฉพาะนั่งสมาธิน่ะ เราทำอะไรอยู่เราก็ฝึกหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... เราทำงานไป เรานึกได้เมื่อไหร่เราก็กลับมาหายใจเข้าสบาย...ออกสบาย เหมือนนักกีฬาเค้าพักยกนะ เราทำงานก็มีเวลาพักผ่อนน่ะ
"การพักผ่อนทางจิตใจ ก็คือ ฝึกหายใจเข้าสบาย... ออกสบาย..."
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับการหายใจเข้าสบาย ออกสบาย เรื่องอดีตอย่างที่เราทำอยู่อย่างนี้ เราพูดอยู่อย่างนี้ เราที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างนี้ เราต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าผ่านไปแล้วเป็นอดีตน่ะ ผ่านไปแล้วนาทีหนึ่ง สองนาที พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอามาวิตกกังวล ความวิตกกังวล นั้นคือ ความยึดมั่นถือมั่น เป็นอาการที่บุคคลจักปล่อย ไม่รู้จักวาง มันจะดีที่สุดเราก็ต้องปล่อยวาง มันจะเลวที่สุดเราก็ต้องปล่อยวาง ทุกท่านทุกคนต้องฝึกวางจิตใจอย่างนี้ให้ได้ ถ้าเราไม่ฝึกปล่อยไม่ฝึกวางนี้ เรานี้แย่เลยนะ "ดีก็แบก ชั่วก็แบก" พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราเป็นบุคคลที่แบกของหนักพาไป เค้าเรียกว่า ใจของเรายังเป็นเด็กๆ มันยังไม่รู้จักปล่อย ยังไม่รู้จักวาง อาการจิตใจของเรานี้ไม่ดีเลย ไม่เข้าท่าเลยน่ะ เราต้องฝึกปล่อยฝึกวาง ต้องฝึกหัด ต้องปฏิบัติ มันถึงจะเข้าใจมันถึงจะชำนาญ
เราทำไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติไปเรื่อย ผลของมันจะเกิดมันก็เท่ากับเราปฏิบัตินี้แหละ มันจะได้มากได้น้อยกว่านั้น มันคงเป็นไปไม่ได้ เรามีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติ ให้เหตุปัจจัยมันถึงพร้อมแล้วทุกอย่าง มันก็จะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์เอง เราทุกๆ คนก็จะเข้าถึงความสุข...ความดับทุกข์ เข้าถึงสวรรค์เข้าถึงพระนิพพานตามที่เราตั้งใจ ที่สร้างบารมีด้วยกันทุกท่านทุกคนโดยไม่ต้องสงสัย...
ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิด ว่าถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาติ อย่าไปคิดอย่างนั้น...!
คิดอย่างนั้น คือ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพ สร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง "ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์" ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
ครั้งหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นชาวนาผู้หนึ่งเข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ แล้วทรงใคร่ครวญอยู่ว่า "เหตุอะไรหนอแล? จักมี" ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า "ชาวนาคนนี้จักไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่, แม้พวกเจ้าของภัณฑะไปตามรอยเท้าของโจรทั้งหลายแล้ว เห็นถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งในนาของชาวนานั้น แล้วก็จักจับชาวนานั่น, เว้นเราเสีย คนอื่นชื่อว่าผู้เป็นพยานของชาวนานั้นจักไม่มี, แม้อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชาวนานั้นก็มีอยู่, เราไปในที่นั้น ย่อมควร." จึงได้เสด็จไปยังที่นาของชาวนาผู้หนึ่ง พร้อมกับพระอานนท์...
ณ ที่แห่งนั้น ชาวนาได้ตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำนาเหมือนเช่นเคย เมื่อไปถึงที่นาก็ลงมือทำนา ครั้นได้แลเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมกับพระอานนท์ จึงได้เข้าไปกราบท่าน... พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสคำใดๆ แก่ชาวนา เพียงรับการกราบไหว้ของชาวนาแล้วเสด็จเลยไปในที่พอแก่ชาวนาจะได้ยินพระสุรเสียงของท่านได้
พระพุทธองค์ทรงรับสั่งแก่พระอานนท์อย่างนี้ว่า อานนท์ เธอเห็นไหมอสรพิษ ? พระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า อสรพิษร้าย... แล้วพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จจากไป ชาวนานั้น ได้ยินพระดำรัสของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ ก็สำคัญว่ามีงูเห่าอยู่ในที่นาของตน จึงได้หยิบปฏักมา หมายจะตีงูเห่าให้ตาย
ครั้นเดินมาถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคได้ยืนประทับเมื่อครู่ ก็ไม่แลเห็นอสรพิษแต่อย่างใด.. กลับพบเห็นถุงเงินตกหล่นอยู่ที่คันนา เมื่อหยิบขึ้นมาดูก็พบว่า มีเงินอยู่ในห่อถึง ๑๐๐๐ กหาปณะ ก็เข้าใจว่าคงจะมีใครทำตกไว้ ความยินดีพอใจก็เกิดขึ้นแก่ชาวนาโดยมิทันปรารภพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคกับ พระอานนท์แม้แต่น้อย จึงได้หยิบห่อเงินนั้นเดินไปที่ท้ายคันนาแล้วขุดหลุมฝังเงินไว้ แล้วก็ไปทำนาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คิดถึงเงิน ๑๐๐๐ กหาปณะนั้นอยู่
ที่มาของเงินถุงนั้นก็มีอยู่ว่า....คืนก่อนวันเกิดเหตุ โจรกลุ่มหนึ่งได้พากันมุดอุโมงค์ท่อน้ำ เพื่อแอบเข้าไปยังหมู่บ้าน แล้วได้เข้าไปปล้นเงินในบ้านของเศรษฐีผู้หนึ่ง ได้กวาดเอาทรัพย์สินเงินทองไปเป็นจำนวนมาก แล้วได้จากไปในยามดึกนั่นเอง ครั้นลอดออกพ้นจากอุโมงค์ท่อน้ำ แล้วก็พากันหลบหนีมาจนถึงที่นาของชาวนานั้น โจรผู้หนึ่งขณะปล้นทรัพย์ของเศรษฐี ก็เกิดยักยอกเงินจำนวน ๑๐๐๐ กหาปณะ ใส่ห่อไว้ เหน็บซ่อนไว้ที่เอว ในขณะที่มีการแบ่งเงิน ทรัพย์สินของพวกโจรทั้งหลาย ปรากฏว่า ถุงเงินที่โจรผู้นั้นแอบยักยอกไว้เกิดหล่นลงไปที่พื้นดินโดยไม่มีใครมองเห็น เพราะเป็นเวลาคืนเดือนมืด...
และนี่เป็นที่มา ของเงินที่ชาวนาแอบซ่อนเอาไว้ในคราวที่พบตอนเช้าตรู่
ในเวลาสาย พวกชาวบ้านได้ออกตามรอยเท้ากลุ่มโจรที่ผ่านอุโมงค์ค์น้ำ ตามมาจนถึงที่นาของชาวนา จากนั้นก็เห็นรอยเท้าใหม่ของชาวนาก็ติดตามไปจนถึงบริเวณที่ชาวนาขุดหลุมฝัง ห่อเงินไว้ ได้ขุดขึ้นมาแล้วพบห่อเงิน ก็สำคัญว่า ชาวนานั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มโจร
จึงได้กรูกันเข้ามาทำร้ายชาวนาแล้วมัดมือไพล่หลังนำส่งพระราชาให้ลงโทษ พระราชาตัดสินประหารชีวิตชาวนา ราชบุรุษจึงได้นำชาวนาที่ถูกมัดมือไพล่หลังนั้นนำตัวไปเพื่อประหารชีวิต ระหว่าง ทาง ชาวนาได้สำนึกผิดและระลึกถึงคำของพระผู้มีพระภาคขึ้นมา จึงสะท้อนใจว่าตัวไม่เฉลียวใจในคำว่าอสรพิษเลย...จึงคร่ำครวญร้องไห้ แล้วกล่าวขึ้นมาว่า... “อานนท์ เธอเห็นไหม...อสรพิษ...?” “เห็นพระเจ้าข้า อสรพิษร้าย...”
ชาวนากล่าวไปมาอยู่อย่างนี้ พวกราชบุรุษได้ยินจึงถามชาวนาว่า ใยจึงกล่าวอ้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนั้น ชาวนาจึงเล่าเรื่องราวให้ราชบุรุษฟัง ราชบุรุษจึงได้กราบทูลขอพระราชาให้สอบสวนใหม่ ชนทั้งหลายจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นได้กราบพระผู้มีพระภาค แล้วยืนในที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เอ่ยถามเรื่องของชาวนาแก่พระองค์ พระองค์ทรงตรัสรับรองว่าเป็นจริงแล้วได้กล่าวธรรมกถาว่า “น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา อนุตปฺปติ ยสฺส อสฺสุมุโข โรทํ วิปากํ ปฏิเสวติ. บุคคล กระทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตาร้องไห้ เสวยผลของกรรมอยู่ กรรมนั้น อันบุคคลทำแล้วไม่ดีเลย ไม่ควรทำ”
หลังจาก ได้ฟังธรรมกถาของพระผู้มีพระภาค ชาวนาผู้นั้นก็ได้บรรลุธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชา
คาถาธรรมบทดังกล่าว ท่านแสดงถึงความร้ายกาจของเงินประดุจอสรพิษ คืองูเห่า แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเศรษฐีที่ท่านมีทรัพย์เงินทองมากมายที่ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีวะอาทิ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้นนั้น เป็นผู้เลี้ยงงูเห่าไว้... ไม่ปรากฏว่าท่านได้กล่าวเช่นนั้น
ท่านหมายถึงว่า ธรรมชาติของเงินนั้นมีความร้ายกาจประดุจงูเห่า ถ้าผู้ใช้ใช้ด้วยความประมาท หรือเกี่ยวข้องกับเงินโดยไม่ระวัง ไม่เป็นอย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว ก็จะถูกงูเห่ากัดตายได้ เงินนั้นใครๆ ก็ชอบ พวกเราทุกคนก็ชอบทั้งนั้น เพราะเราเข้าใจว่า เงินนั้นสามารถซื้อความสุขได้ เงินนั้นมีอำนาจมาก ดังคำเปรียบเทียบเสียดสีในภาษิตของจีนมีอยู่ว่า...“เงินจ้างผีโม่แป้งได้” หมายถึงสามารถทำอะไรๆ ได้ เพราะเงิน เรียกว่าเงินบันดาล หรือมีภาษิตที่เสียดสีอำนาจของเงินดอลล่าร์ว่า “เงินหยวนพูดภาษาจีน เงินเยนพูดภาษาญี่ปุ่น เงินบาทพูดภาษาไทย ส่วนเงินดอลล่าร์พูดได้ทุกภาษา” อย่างนี้เป็นต้น
เงินนั้นมี อำนาจเพราะเป็นที่ปรารถนาของทุกคน แต่ขอให้พิจารณาว่าเงินนั้น ซื้อทุกสิ่งได้จริงหรือ ?
เงินซื้อบริวารได้ แต่ซื้อความซื่อสัตย์จงรักภักดีไม่ได้
เงินซื้อ ตำแหน่งได้ แต่ซื้อศรัทธา ความเคารพรัก นับถืออย่างจริงใจของผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ เงินซื้ออาหารได้ แต่ซื้อสุขภาพที่ดีไม่ได้
คนเรากิน ได้เพียง ๑ อิ่ม แม้มีเงินสักเท่าใด บุคคลก็หาได้กิน ๒ อิ่ม ๓ อิ่มไม่ ในเวลาเดียวกัน เงินนั้นแม้จำเป็น แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ผู้หาด้วยว่า มีปัญญาไหม หามาด้วยความสุจริตไหม ? บางคนตายจากอัตภาพนี้แล้วไปเป็นเปรตด้วยเหตุแห่งทรัพย์มากมาย หรือไปเกิดเป็นงูเฝ้าสมบัติก็มีมาก
ท่านแสดงว่า บุคคลหาแสวงหาทรัพย์ด้วยความโลภเกินพอดี นั้นเป็น วิสมโลภะ (ความโลภเกินขอบเขต) บุคคลใดหาเงินมาด้วยความไม่บริสุทธิ์ ก็ชื่อว่ามีอสรพิษร้าย ระวังมันกัดเอาถึงตาย บางคนหาเงินมาได้แม้ชอบธรรม แต่ใช้ไปในทางที่ผิดเหมือนลูกเศรษฐี ๔ ตระกูลที่ได้มรดกมากมาย นำเงินไปเที่ยวเล่นเสเพลจนกระทั้งไปทำบาปต้องไปตกนรก แม้ขณะนี้ยังอยู่ในโลหกุมภีนรก (ทุ..สะ..นะ..โส)
ถึงแม้เราจะรวยเท่าเศรษฐีของเมืองไทยหรือเศรษฐีอเมริกา ของประเทศอังกฤษ มันก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ ถ้าใจไม่มีความเห็นถูกต้อง ไม่เข้าใจถูกต้อง ไม่ปฏิบัติถูกต้อง มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันก็มีแต่จะผลิตปืน ระเบิด ยาพิษ พวกนี้ เพราะเราไปหลงวัตถุภายนอก ความสุขมันต้องเกิดจากเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีเศรฐกิจพอเพียงในปัจจุบัน อานาปานสติทุกคนต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติ พากันปฏิบัติ ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ เพราะอันนี้มันคือบ้านทางจิตใจ เราจะได้ไม่เป็นคนพเนจร ตั้งอยู่ในความเพลินในความประมาท ที่นี้แหละโรคทางกายมันก็จะได้ลดน้อยลง เพราะเรามันนอนหลับดี เรามันพักผ่อนไปในตัว เพราะว่าเราวางภาระหนักทางจิตใจ
ทุกๆ ท่านทุกคนต้องทำให้ได้ ต้องปฏิบัติให้ได้ การประพฤติปฏิบัตินั้นไมใช่ของยาก ไม่ใช่ของง่าย แต่เป็นการประพฤติการปฏิปัติให้ถูกต้อง แล้วก้าวไปด้วยความดี ด้วยการเสียสละ โดยที่เราทั้งหลายไม่หวังอะไรตอบแทน เราก็จะได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์น่ะ
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนน่ะเข้าใจเรื่องธรรมะ ถ้าใครปฏิบัติ ตามอริยมรรค ท่านผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ หัวใจของเราทุกคนจะเข้าถึงความเป็นพระได้ด้วยกันทุกท่านทุกคน "ถ้าที่ไหนมีการประพฤติปฏิบัติ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์..."
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee