แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๖๖ รู้หน้าที่ รู้การปฏิบัติ ถึงจะเป็นผู้รู้จักกาลรู้จักเวลา เพื่อสร้างบารมีให้ถึงพร้อม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์ที่เกิดมา การดำรงชีวิตต้องเอาความถูกต้องนำชีวิต ความถูกต้องได้แก่อะไร ความถูกต้องได้แก่ธรรมะ ธรรมะนั้นคือความถูกต้อง ที่เราเอาความรู้สึกสุข ทุกข์ หนาว ร้อน เป็นเรา เป็นของเรา ที่เราทุกคนพากันยึดมั่นถือมั่น เป็นความรู้ ความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้อง เมื่อครั้งพุทธกาลมีโยมคนหนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามคนนั้นว่า มาจากไหน และจะไปไหน เขาตอบพระพุทธเจ้าว่า เขาไม่รู้ว่ามาจากไหน และเขาไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน จึงได้มาฟังโอวาสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเขามาจากไหน แล้วเขาจะไปที่ไหน เขาไม่ได้ตอบว่ามาจากที่บ้าน เพราะเขารู้อยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้ารู้ว่าเขามาจากที่บ้าน ก็เลยพูดจากใจ จากความไม่รู้ ในการมา การไปของเขา
พระศาสดาตรัสถามนางว่า "ดูก่อนกุมาริกา เธอมาจากไหน" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" นางทูลตอบ
"เธอจะไปไหน" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" / "เธอไม่ทราบรึ" "ทราบพระเจ้าข้า" / "เธอทราบรึ" "ไม่ทราบพระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อแก่นาง ด้วยประการฉะนี้
มหาชนซึ่งประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ได้ฟังแล้วก็พากันตำหนิว่า "ดูเถิด ท่านทั้งหลาย ธิดาช่างหูกกล้ากล่าวเล่นลิ้นกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นปานนี้ ก็เมื่อพระองค์ตรัสถามแล้ว ตอบเสียตามความเป็นจริงมิได้หรือว่า มาจากเรือนของนายช่างหูกผู้เป็นบิดา และจะไปสู่โรงทอผ้า"
พระตถาคตเจ้าทรงทราบเรื่องที่มหาชนตำหนินางเช่นนั้นแล้วจึงตรัสถามว่า "ที่เธอบอกว่า ไม่ทราบว่ามาจากไหนนั้น หมายความว่าอย่างไร"
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐข้าพระพุทธเจ้าทราบดีว่า มาจากเรือนของนายช่างหูก แต่ไม่ทราบว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ข้าพระพุทธเจ้ามาจากกำเนิดใด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงทูลว่าไม่ทราบ"
"ก็เมื่อเราถามว่าเธอจะไปไหน ทำไมเธอจึงบอกว่าไม่ทราบ" "ข้าพระองค์ทราบว่าจะไปสู่โรงทอผ้า แต่ข้าพระองค์ไม่อาจทราบได้ว่า เมื่อสิ้นชีพจากชาตินี้แล้วจะไปเกิดในที่ใด จะถือกำเนิดเป็นมนุษย์ หรือเดรัจฉาน เปรต อสูรกาย หรือเทพเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง"
"เมื่อเราถามว่า ไม่ทราบรึ เธอตอบว่าทราบ หมายความว่าอย่างไร" "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์ทราบว่าข้าพระองค์จะต้องตายอย่างแน่นอน"
"เมื่อเราถามว่า เธอทราบรึ เหตุไฉนเธอตอบว่าไม่ทราบ"
"ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบว่าจะตายวันใด จะตายเวลาใด และจะตายที่ไหน"
พระศาสดาได้ทรงประทานสาธุการทุกครั้งที่นางตอบปัญหาของพระองค์ รวม ๔ ครั้ง และแล้วพระองค์ก็ได้ตรัสกับประชาชนว่า "ท่านทั้งหลาย ท่านมิได้รู้ความหมายอันลึกซึ้งที่ธิดาช่างหูกกล่าวแล้วจึงติเตียน บัดนี้เธอได้อธิบายจนแจ่มแจ้งแล้ว เราสาธุการต่อคำตอบของเธอ คำตอบนั้นถูกต้อง บุคคลผู้มีจักษุพิจารณาแล้วย่อมเห็นตาม"
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า "อนฺธภูโต อยํ โลโก ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ สกุโณ ชาลมุตฺโตว อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ. โลกนี้มืดยิ่งนัก สัตว์โลกส่วนใหญ่เป็นผู้มืดบอด มีน้อยคนที่มีปัญญาเห็นแจ้ง และมีคนจำนวนน้อยที่ไปสวรรค์ เหมือนนกที่ติดข่ายแล้ว ที่รอดพ้นจากข่ายของนายพรานได้นั้นมีน้อยนัก”
โลกนี้มืดยิ่งนัก มืดอยู่ด้วยอวิชชาและความหลงผิด หาใช่ความมืดของอากาศโลกไม่ แต่หมายถึงสัตว์โลก สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในโลก เขาอยู่ในความมืดจนเคยชินกับความมืดนั้น แต่เมื่อใดเขาค่อยๆ เดินออกมาสู่แสงสว่างทีละน้อยๆ กระทั่งได้รับแสงสว่างเต็มที่ เขาจะได้การเปรียบเทียบ จึงรู้ว่าการอยู่ในความมืดนั้นเป็นความทรมาน เป็นการเสี่ยงต่ออันตรายอันน่าหวาดกลัว และการอยู่ในที่ใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสว่างนั้นเป็นความผาสุก มีอันตรายน้อย มีโอกาสเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้มากกว่า เป็นที่น่าเสียดายว่ามีคนเป็นจำนวนน้อยที่มีปัญญาเห็นแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร ความจริงก็พอจะรู้บ้างว่าอะไรควรเว้นอะไรควรทำ แต่อะไรเล่าที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในห้วงแห่งความมืด อะไรเล่าที่ทำให้เขาต้องทนทรมานอยู่ในข่ายคือโมหะ อาจเป็นเพราะเขาประมาทมัวเมาเกินไป อาจเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าของธรรมะน้อยเกินไป หรือเพราะไม่อาจทนต่อสิ่งเร้าอันยั่วยวนต่างๆ ได้"
เมื่อจบพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ธิดาช่างหูกได้บรรลุโสดาปัตติผล พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก
พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้เข้าใจ ว่ามนุษย์เราการดำเนินชีวิต ต้องเอาธรรมนำชีวิต ทั้งทางเรื่องจิตใจ เรื่องวัตถุ ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อเราจะได้พัฒนา 2 อย่างนี้เป็นทางสายกลาง ทางจิตใจของเราก็ให้ถูกต้อง ทางนามธรรมก็ให้ถูกต้อง ทางรูปธรรมก็ให้ถูกต้อง ถึงเราจะมีความรู้สึกนึกคิด หนาว ร้อน สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่ใช่เรา ที่พระพุทธเจ้าบอกสิ่งเหล่านี้มันเป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ ที่มันเกิดจากอวิชชา เกิดจากความหลง มันทำให้เราก่อภพ ก่อชาติ พากันเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร พวกเราพากันรู้จัก ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เพื่อเราจะได้ยกเลิกตัว ยกเลิกตน การยกเลิกตัว ยกเลิกตนนั้น ก็จะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปในตัว พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมี 10 ทัศ 20 ทัศ 30 ทัศ ตลอดเวลา หลายอสงไขย ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ยกเลิกตัวตน เรียกว่าบำเพ็ญพุทธบารมี
บารมี 10 หรือ ทศบารมี คือปฏิปทาอันยวดยิ่ง คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บําเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูงสุด เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้าและความเป็นมหาสาวก เป็นต้น ท่านจัดไว้เป็น 10 ประการด้วยกันคือ
1. ทานบารมี หมายถึงการที่บุคคลมีจิตใจประกอบด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรารถนาที่ที่จะสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ช่วยเหลือผู้อื่นที่ควรแก่การสงเคราะห์ อนุเคราะห์ การสงเคราะห์นั้นจะเป็นการสงเคราะห์ด้วยอามิสคือวัตถุสิ่งของที่ควรจะให้หรือสามารถจะให้ได้ ตลอดถึงการแนะนําพรํ่าสอน ซึ่งจัดเป็นธรรมทาน
2. ลีลบารมี หมายถึง เจตนาวิรัติงดเว้นตามสิกขาบท โดยวิธีสมาทานวิรัติ คือ รับจากบุคคลอื่น สัมปัตตวิรัติ งดเว้นเมื่อวัตถุที่จะล่วงศีลมาถึงเข้า และสมุจเฉทวิรัตติ ตัดขาดไม่กระทําความชั่วเลย
3. เนกขัมมบารมี เนกขัมมะ แปลว่า การออกเพื่อคุณอันใหญ่ หมายถึง การหลีกคือการทํากายและใจของตนให้หลีกออกจากอารมณ์ชวนให้เกิดความกําหนัดขัดเคือง และลุ่มหลงมัวเมา เป็นต้น จนถึงกับการออกบวช เป็นนักบวชประเภทใดประเภทหนึ่ง มุ่งหมายที่จะขจัดโทษอันพึงเกิดจากทางกาย ทางวาจา และทางใจของของตน ตามอุดมคติของนักบวชนั้นๆ
4. ปัญญาบารมี คําว่า ปัญญา แปลว่าความรอบรู้ หมายถึงความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
5. วิริยบารมี ได้แก่ ความเพียรพยายามในการดํารงชีวิตประกอบกิจการการงานตามภาระหน้าที่ของตน และการเพียรพยายามเพื่อจะละความชั่วประพฤติดี มีจิตใตที่กล้าแข็ง พร้อมที่จะผจญต่อต่ออุปสรรคต่างๆ ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคเหล่านั้น และความเพียรนี้ในบางครั้งก็อาจจะมีการกระทําในลักษณธที่ยอมเสียสละชีวิตร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา
6. ขันติบารมี ขันตินั้นคือความอดทน ความทนทานของจิตใจสามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอํานาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติที่ตั้งใจไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอํานาจแห่งกิเลส
7. สัจจบารมี คําว่า สัจจะคือความจริง ได้แก่ มีความจริงใจต้องการจะทําสิ่งใดแล้วทําสิ่งนั้นให้ได้จริงๆ ไม่ทอดทิ้งหรือถ้อถอยเมื่อยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตนได้กําหนดไว้ แต่การกระทํานั้นจะเป็นสัจจะบารมีได้ก็ต่อเมื่อความตั้งใจจริงในการกระทําความดีและละความชั่วเท่านั้น
8. อธิฏฐานบารมี หมายถึง ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยววางจุดหมายแห่งการกระทําของตนไว้แน่นอน และดําเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่
9. เมตตาบารมี คือ ความรัก ความปรารถนาดี ความมีไมตรีเกื้อกูลต่อบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โดยมีความอยากรู้อยากเห็นบุคคลและสัตว์เหล่านั้นดํารงชีวิตอยู่ด้วยความปกติสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่เบียนเบียดซึ่งกันและกัน เมื่อสัตว์เหล่านั้นประสบอันตรายก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเขาเหล่านั้น
10. อุเบกขาบารมี หมายถึง ความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสมํ่าเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้าย หรือชอบชัง
เราทุกคนต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือพระพุทธเจ้า เราทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ ธรรมะคือสิ่งที่ถูกต้อง เวลาคือสิ่งที่ถูกต้อง นาฬิกาก็คือสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา การเรียนการศึกษาของพวกเรา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม 9 นั่นคือสัมมาทิฏฐิทางจิตใจ สัมมาทิฏฐิทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นทางสายกลาง เพราะความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องนั้น มันจะเป็นอริยมรรค จะเป็นศีล จะเป็นสมาธิ ปัญญา เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม มันจะยกเลิกตัว ยกเลิกตน ยกเลิกอวิชชา ยกเลิกความหลง ยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิด ตัวตนนี่แหละมันเผาเราทุกๆ คน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไร ตัวตน อวิชชาความหลงมันจะเผาเรา ให้พวกเราพากันเข้าใจ ถ้าเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ การบำเพ็ญบารมี 10 ทัศ 20 ทัศ 30 ทัศ ต้องตามรอยพระพุทธเจ้า เรียกว่ามาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า มายกเลิกถือนิสัยของตัวเอง มายกเลิกตัวตนอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น
เราเอาตัวตนมันเป็นของยาก เป็นของที่ทำไม่ได้ ตัวตนคือทำไม่ได้ ทำไมถึงทำไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง เรามีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง เราก็จะพากันไปแก้แต่ภายนอก สาเหตุไม่ใช่ภายนอก มาจากพวกเรานี่เอง มันไม่ถูกต้อง มันแก้ไม่ได้ ที่มีความเห็นผิด เข้าใจผิด จะพากันแก้ภายนอกอย่างเดียว พระพุทธเจ้าท่านให้เราแก้ทั้งตัวเรา แก้ทั้งภายนอก เรียกว่าพัฒนาใจ พัฒนาวัตถุ เป็นทางสายกลางอย่างนี้ เราถึงแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง มันเป็นวัคซีน มันเป็นบารมี ตามอวิชชา ตามความหลง มันไม่ใช่บารมี มันเป็นการทำลายบารมี เราก็เหมือนไม่มีวัคซีนป้องกัน ภพภูมิที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นภพภูมิที่พอดี ที่มันมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เพื่อให้เราทุกคนพากันสร้างบารมี ที่มาเป็นข้อสอบ ให้พวกเราได้ตอบ พวกเราได้ปฏิบัติในปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นการประพฤติ เป็นการปฏิบัติของเราทุกคน เราต้องปรับเข้าหาธรรมะ ต้องยกทุกอย่างให้สู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเราจะได้ไม่หลงตามสิ่งแวดล้อม ให้รู้จักว่า สิ่งเหล่านี้มาให้เราประพฤติ มาให้เราปฏิบัติ ให้เราได้พัฒนาติดต่อต่อเนื่อง เราจะได้รู้เรื่องพระไตรลักษณ์ รู้จักอนิจจัง รู้จักทุกขัง รู้จักอนัตตา ว่าทุกอย่างนี้ว่าไม่แน่ ไม่เที่ยงเลย เราต้องขอบใจรูป ขอบใจเสียงกลิ่นรสลาภยศ สรรเสริญ เราต้องขอบใจเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพราก เพื่อเราจะได้พัฒนาตัวเองอย่างนี้แหละ
เมื่อไม่รู้ความจริง ไม่รู้อริยสัจ 4 หนะ ก็มีหนาว มีร้อน มีสุข มีทุกข์ มีกลางวัน กลางคืน หรือมีอะไรต่างๆ น่ะ เพื่อให้หมู่มวลมนุษย์รู้จักอริยสัจ 4 พัฒนาใจ พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เราต้องขอบคุณนะ ที่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านจะมีความสุขหมดหรือ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตากแดด ตากลม ตากอะไรอย่างนี้นะ คนเรามันไม่รู้จักอริยสัจ 4 เลย โอ้... มีแต่วิ่งตามอวิชชา ตามความหลง มีสิ่งเหล่านั้นยิ่งจะขอบคุณ คนไม่รู้จักอริยสัจ 4 น่ะ โอ้ แย่เลยนะ พระเทวทัตเอาตัวตน ไม่รู้เรื่องเลย เอาตัวตนจะโค่นพระพุทธเจ้า ลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้งหลายครา ส่วนพระเจ้าอชาตศัตรูก็ฆ่าพ่อ โอ้...ตัวตนนี่มันไม่รู้จักพุทธะเลย ไม่รู้อันไหนดี อันไหนชั่วเลย ไม่รู้อริยสัจ 4 เลย แผนการสุดท้ายพระเทวทัตเลยทำสังฆเภท ด้วยการไปขอข้อปฏิบัติพิเศษจากพระพุทธเจ้า อย่างให้ฉันแต่ผักผลไม้ตลอดชีวิต ห้ามฉันเนื้อฉันปลา จริงๆ ฟังดูมันก็ดีอยู่ แต่เพราะจะทำเพื่อตัวเพื่อตนเพื่อจะเอาจะมีจะเป็นน่ะ พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาต พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันเนื้อ ไม่ได้ฉันผัก ท่านยกเลิกตัวตนหมด เราจะฉันอะไร ถ้าไม่เข้าใจ มันก็ยังฉันเป็นตัวเป็นตนกว่าเก่านั้นแหละ ถ้างั้นเป็นวัวเป็นควาย มันก็เป็นอรหันต์หมดแหละ
พระพุทธเจ้าให้เราเข้าใจอย่างนี้ เราจะเอาแต่ตัวจะเอาแต่ตน จะเอาแต่ความสุข ความสงบ อย่างนั้นไม่ได้ ความสุขที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราเสียสละ ยกเลิกตัวตน ความสุขความสงบ มันก็ย่อมมีอยู่แล้ว เพราะความสุขความสงบมันเป็นทางผ่านของเรา พระพุทธเจ้าถึงให้พวกเราภาวนาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ให้มากขึ้น เรามีตัวมีตน ก็ไม่อยากพิจารณาพระไตรลักษณ์ เอาแต่ความสุขความสงบนึกว่า แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่า ตราบใดเรายังไม่ได้เป็นพระอรหันตขีนาสพ เรายังไม่เพียงพอ เราต้องมีสติมีสัมปชัญญะ เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เพราะความสุขมันก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง ความสงบก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันก็ผ่านไปแน่นอน ไม่มีอะไรไม่ผ่านไป เราอย่าไปหลงประเด็น พยายามยกทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่พระไตรลักษณ์ ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาตัวเองเข้าสู่มรรคผลให้เร็ว พระพุทธเจ้าถึงให้ผู้มาบวชมาพิจารณาร่างกาย แยกออกเป็นชิ้น เป็นส่วน แยกออกเป็นชิ้น เป็นชิ้น ไปเลยอย่างนี้แหละ เหมือนกับคนนึงแยกชิ้นส่วนออก แล้วความเป็นรถยนต์มันก็จะไม่มี ต้องทำอย่างนี้บ่อยๆ เพื่อมันจะได้ติดต่อต่อเนื่อง เพื่อมันจะได้เห็นชัดเจน ก็เหมือนเราไปที่ไหนใหม่ๆนี่แหละ ครั้งแรกเมื่อไปมันก็ยังจำไม่ได้หรอก ไปหลายครั้งมันก็จำเอง ต้องทำบ่อยๆ เราต้องเห็นความสำคัญในเรื่องศีล ในเรื่องข้อวัตร ในเรื่องกิจวัตร ในเรื่องสมาธิ ในเรื่องการเจริญวิปัสสนาอย่างนี้ ต้องให้มีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้แหละ
ถ้าเรามีศีล ได้ยกเลิกตัวตนเรามีความสุขอยู่แล้ว เพราะศีลนั้นคือยกเลิกตัวตน ถ้าเรามีสมาธิ ยกเลิกตัวตนเราก็มีความสุข พิจารณาภาวนาเรื่องพระไตรลักษณ์ เราดูตัวอย่างแบบอย่าง พระพุทธเจ้าท่านยกเลิกตัวตน อยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่โคนไม้ก็มีความสุข ตากแดด ตากลม ร้อน หนาว จะได้ฉัน หรือไม่ได้ฉัน ก็ดับทุกข์ได้ เพราะเรายกเลิกตัวตน เราทุกคนก็จะมีความสุขอย่างนี้ ความสุขความดับทุกข์นั้น มันมีอยู่ที่เรามีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพราะเรายกเลิกตัวตน ตัวตนมันจะได้ไม่เผาเรา เขาเรียกว่ายกเลิกตัวตน เวลามันจะไม่กลืนกินเรา เพราะเราได้หยุดตัวตนแล้ว เวลาไม่กลืนกินเรา เราลองดูทุกคนสิ ตัวตนมันเผาเรา หืม... มันเป็นความช้า ความเร็ว เราอยากให้มันเร็ว ก็ว่าอันนี้ช้า อยากให้มันช้า ก็ว่ามันเร็ว เราต้องรู้จักตัวตน ตัวตนมันมาก มันทั้งฟุ้งซ่าน ทั้งสงสัย ทั้งไม่พอใจ นี่คืออาการของตัวตน อาการของนิวรณ์ต่างๆ เราต้องพากันรู้จัก พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพากันมาแก้ที่ตัวของเราเอง การปฏิบัติก็เหมือนกับทานอาหารนี่แหละ เราเป็นใครเมื่อทานอาหารแล้วก็ดับทุกข์ได้เหมือนกันหมด อยู่ในเมืองหลวงก็เหมือนกัน อยู่ในต่างจังหวัดก็เหมือนกัน อยู่ในบ้าน ชนบท ก็เหมือนกัน เราต้องพากันเข้าใจ เราต้องโฟกัสมาหาตัวเรา เพราะใจของเราทุกคนมันก็คิดได้ทีละอย่าง เราต้องโฟกัสมาที่เรา อันไหนไม่ดีไม่ถูกต้อง เราไม่คิด อันไหนดีอันไหนถูกต้อง เช่นภาวนาใจ พัฒนาใจของเราสู่พระไตรลักษณ์ อย่างนี้เราก็ต้องคิด ต้องพิจารณา เพื่อให้มันเป็นความเพียรชอบ เราต้องเข้าใจ ปากของเราก็พูดได้ทีละอย่าง อย่างนี้เป็นต้น ต้องมาแก้ที่ตัวเองอย่างนี้ ต้องรู้หน้าที่ รู้การปฏิบัติ ถึงจะชื่อว่าเป็นผู้รู้จักกาล รู้จักเวลา เป็นผู้รู้กาลเทศะ เพราะธรรมะเป็นเรื่องปัจจุบัน ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง การประพฤติการปฏิบัติของเรา มันก็ไม่มี ไม่เป็นการสร้างบารมี
วันหนึ่งคืนหนึ่ง พวกเราพากันนอน 6 ชั่วโมง อย่างมากก็ 8 ชั่วโมง สำหรับฆราวาส ฆราวาสนอน 6-8 ชั่วโมง สำหรับนักบวชก็นอน 4 ชั่วโมง อย่างมากก็ 6 ชั่วโมง ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ มันไม่ได้ เพราะเราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ ปรับตัวเข้าหาเวลา เราทุกคนอย่าไปคอรัปชั่นเวลา เราต้องพัฒนาใจ พัฒนากายไปด้วย เพราะธาตุขันธ์อายตนะ เราต้องทำให้ถูกต้อง เราพูดแต่เรื่องจิต เรื่องใจ ก็ไม่ได้ เราจะเอาแต่เรื่องกาย เรื่องวัตถุก็ไม่ได้ ทั้ง 2 อย่างต้องไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาอย่างนี้ ทุกคนต้องทำให้ได้มาตรฐาน ต้องทำให้ได้สแตนดาร์ด ให้ทุกคนเป็นเหมือนน้ำตาล ให้มันหวานได้มาตรฐาน เหมือนเกลือให้มันเค็มได้มาตรฐาน เหมือนพริกให้มันมีความเผ็ดได้มาตรฐาน ทุกๆ คนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลาอย่างนี้ พวกเราพากันรู้หลัก รู้เหตุ รู้ผล รู้หลักการ ถ้าเราเอาตัวตนเรา ก็จะรับผัสสะของพระพุทธเจ้าไม่ได้ จากพระอรหันต์ไม่ได้ โลกนี้หมู่มวลมนุษย์ 8,000 ล้านคน ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง อันนี้ไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ทางสายกลาง มันต้องเอาทั้งธรรมะ เอาทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน มันถึงจะถูกต้อง เราต้องพากันเข้าใจ เราอย่าเอาตัวตนเป็นแนวทาง เป็นตัวอย่าง อันนั้นมันยังไม่ถูกต้อง ถึงแม้โลกนี้จะเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยนั้นมันยังเป็นตัวตนอยู่ คนในโลกเขาไม่มีศีล 5 อย่างนี้ พระในโลกนี้ ผู้ถือศีล 227 ในพระปาฏิโมกข์ เขาไม่มีศีล 21,000 พระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก เพราะเขายังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราจะเอาอย่างเขาไม่ได้
เราทุกคนต้องโฟกัสมาหาที่ตัวของเราเอง ถ้าเราไม่โฟกัสมาหาตัวของเราเอง เราจะไม่ได้บำเพ็ญบารมี การที่เขาจะแต่งตั้ง หรือว่าสมมติให้เป็นนั่น เป็นนี่ ก็เพื่อโฟกัสให้เราจะได้ทำหน้าที่รับผิดชอบที่สูงสุด เพื่อเสียสละ เพื่อละตัว เพื่อละตน เราต้องเอาสมมติสัจจะมาใช้งาน มาทำงาน เราอย่าเอาสมมติมาเป็นตัว เป็นตน เราไม่เข้าใจเอาสมมติมาเป็นตัว เป็นตนมันไม่ได้ มันเสียหาย เอาสมมติมาเพื่อประพฤติ ปฏิบัติ มาเพื่อใช้งาน เพื่อมาเสียสละต่างหาก ตำแหน่งทุกตำแหน่ง ก็โฟกัสให้เรามามีสัมมาทิฏฐิทางธรรม มีสัมมาทิฏฐิทางวัตถุไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ทุกคนเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ มันจะมีปัญญาได้ยังไง พระพุทธเจ้าที่ท่านเทศน์ ถึงพูดถึงการเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ ปรับตัวเข้าหาธรรมะ ปรับตัวเข้าหาเวลามันไม่ได้ ต้องเสียสละ
พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมี ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ ได้ตรัสรู้อรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ ท่านมีพระมหากรุณาที่บริสุทธิ์ ได้ประกาศพระธรรมคือคำสอน พระวินัยคือคำสั่ง ในโลกนี้ไม่มีใครที่จะนำเราออกจากความทุกข์ได้ มีเพียงองค์เดียวคือ “พระพุทธเจ้า” นอกจากนั้นไม่มี เราทุกคนจึงต้องมาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยพระพุทธเจ้าได้แก่การปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นน่ะ นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทางสายกลาง
ชาวพุทธในปัจจุบันนี้น่ะ นับถือพระพุทธศาสนา แต่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกันไม่ค่อยได้ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา
พระก็เหมือนกัน โยมก็เหมือนกัน... พระก็ทิ้งธรรมวินัยไปมาก โยมก็ทิ้งพระธรรม ทิ้งศีล ทิ้งภาวนากันไปมาก พระก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก โยมก็ไปเอาทางวัตถุเอาทางโลก พากันทิ้งศีล ทิ้งธรรม ทิ้งคุณธรรม ทิ้งสิ่งที่ประเสริฐที่มนุษย์ที่เกิดมาควรได้รับ ร่างกายของเราทุกๆ คนที่เกิดมาส่วนใหญ่ก็ไม่เกินร้อยปี ถ้าเกินไปบ้างก็มีเป็นส่วนน้อย ร่างกายของเราทุกๆ คนนี้เป็นวัตถุที่ไม่ถาวร มีความแก่เจ็บตาย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาร่างกายนี้มาทำคุณประโยชน์ คือเดินตามทางสายกลาง คือ พระธรรม พระวินัย
ต้องจับหลักให้ได้ จับประเด็นให้ได้ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ทุกๆ คนต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นตัวของตัวเอง ตัวของตัวเองนั้นได้แก่พระธรรมพระวินัย อย่าให้สิ่งต่างๆ มาครอบงำทำให้เราไขว้เขว ย่อหย่อนอ่อนแอ การประพฤติการปฏิบัติธรรมนั้นน่ะต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ามันไม่ตายก็ให้มันได้บรรลุธรรม
สิ่งที่ทุกท่านที่จะละจะวางที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองนี้คือ “สัญชาตญาณ” คือภพภูมิที่ทำให้ตกต่ำ ทุกท่านทุกคนต้องหยุดตัวเอง อย่างจิตใจของเรามันคิดไม่ดีอย่างนี้แหละ มันคิดครั้งที่หนึ่ง ไม่ควรให้มันคิดครั้งที่สอง ถ้ามันคิดครั้งที่สามครั้งที่สี่ มันจะควบคุมตัวเองไม่อยู่ ควบคุมตัวเองไม่ได้
ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร สิ่งไหนเป็นธรรมเป็นวินัยที่ใจเรามันจะย่อหย่อนอ่อนแอ ให้มันคิดครั้งเดียว ครั้งที่สองเราไม่ต้องให้มันคิดน่ะ จับหลักธรรมหลักวินัยให้ได้ เราอย่าไปหลงประเด็นว่าทางสายกลาง มันไม่ใช่ทางสายกลาง มันคือความโลภ ความโกรธ ความหลง
ทรัพย์ของเราน่ะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราจะได้พัฒนาให้มันเป็นอริยทรัพย์ ความงามของมนุษย์น่ะอยู่ที่ศีล อยู่ที่สมาธิ อยู่ที่ปัญญา พระเราอย่าพากันหลงประเด็น อยู่ที่ไหน ภาคไหน ที่ใด ท่านต้องตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่
การเดินทางไปพระนิพพานนี้แหละ มันต้องละสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด ให้ใจมันโล่ง ใจมันว่าง รูปก็เป็นรูป เสียงก็เป็นเสียง กลิ่นก็เป็นกลิ่น รสก็เป็นรส ไม่ให้มันเกี่ยวข้องกับจิตใจน่ะ ไม่ให้มันซาบซึมเข้าไปในจิตในใจของเราได้ ทุกท่านทุกคนทำตามสัญชาตญาณทำอย่างไรมันก็ไม่ได้ผล เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัย มันก็ย่อมหมดกำลังใจ เหมือนกับจมอยู่ในน้ำ ยิ่งมีแต่จะหมดลมหายใจ เพราะมันมีแต่จะเหนื่อยเข้าเหนื่อยเข้า ที่มันแสดงออกมาถึงความท้อใจนี้แหละ
ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันก็เป็นเรื่องง่ายๆ การถือนิสัยถือวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สำคัญ เพื่อมรรคผล เพื่อพระนิพพาน เพื่อเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee