แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๖๐ รู้จักใช้สมมติให้เกิดประโยชน์ ไม่ติดไม่หลงในสมมติ จึงจะถึงวิมุตติได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทั้งหลายต้องมีความเห็นให้ถูกต้อง ความเข้าใจให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นทางสายกลาง เพราะธรรมะนั่นก็คือธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เพราะไม่ได้ไปตามความรู้สึกนึกคิดของเรานั่นแหละ พวกธาตุ พวกขันธ์ พวกอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราต้องรู้จักว่าอันนั้นคือธรรมะ คือหน้าที่ เราทุกคนต้องพากันรู้อริยสัจ 4 รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์น่ะ เราจะได้โฟกัส เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นมันไปตามความจริง ที่เราจะได้เอาร่างกายที่ประเสริฐ ที่อายุขัยนี้มาใช้งาน และมาปฏิบัติธรรม ที่เราทุกคนได้รับการแต่งตั้ง เพื่อทุกคนจะได้สะดวกในการใช้การใช้งาน เราจะไม่ได้หลง เพราะสมมติก็คือสมมติ สมมติว่าให้เป็นอะไร มันก็ไม่เป็นอะไรหรอก เพียงแต่เราเพื่อให้มันสะดวกสบายเฉยๆ เราต้องรู้จักให้พอดี ให้ชัดเจน สมมติมันดี มันถูกต้อง เราต้องใช้สมมติให้ดี ให้ถูกต้อง เราอย่ามองข้าม เราต้องใช้สมมติให้ถูก อย่าให้สมมตินั้นมาทำร้ายตัวเอง ถ้าเราไม่เข้าใจ สมมติก็จะกลับมาทำร้ายเรา ด้วยเราไม่รู้อริยสัจ ๔ เราเอาสมมตินั้นมาเป็นตัว เป็นตน เราต้องใช้สมมติให้ถูกต้อง เพื่อเราจะได้สะดวกสบาย เราต้องลองมองรายละเอียด ปฏิบัติตามสมมติให้ถูกต้อง แต่เราต้องมีพุทธะ เราอย่าไปหลงงมงาย จนถ้าไม่ทำตามอย่างนั้น ก็ว่าไม่ถูกต้องอย่างนี้ ที่เขาแต่งตั้ง เขาจะได้โฟกัสไปที่เรา ให้เราเสียสละตัวตนเพื่อจะเอาสมมติมา มาสละตัว สละตน เราจะได้มีความสุขในการทำงาน เราทุกคนต้องพึ่งพุทธะ ไม่ต้องอาศัยใคร อาศัยเราที่มีพุทธะ ที่เราเสียสละตัวตนที่ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ ต้องให้มันเป็นอริยมรรค เราต้องปฏิบัติต่อสมมติ ให้มีความสุข ยกเลิกตัวตน
คำว่าสมมุติในทางโลกนั้นให้นิยามกันว่า สิ่งที่ไม่เป็นจริงหรือสิ่งที่เป็นแค่จินตนาการ ไม่สามารถจะเป็นจริงได้ และคำว่าสมมุตินี้เมื่อไปใช้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในรูปประโยคการสื่อสาร ไม่ว่าพูดหรือเขียนก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเรื่องนั้นสิ่งนั้นไม่เป็นความจริงเสมอ
แต่ในทางธรรมนั้นคำว่า สมมุติ มักจะมีต่อท้ายคำว่า สัจจะ นั่นย่อมมีความหมายอันลึกซึ้งที่หมายถึงว่า "เป็นความจริงในสิ่งสมมุติทั้งปวง"
อาทิเช่น ร่างกายก็เป็นความจริงแต่เป็นความจริงที่ถูกสมมติขึ้นว่า นี่คือแขน นี่คือขา นี่คือศีรษะ เป็นต้น หรือแม้แต่รถก็เป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ถูกสมมติขึ้นให้เรียกว่ารถ ที่อยู่อาศัยก็ถูกสมมติให้เรียกว่าบ้าน ให้เรียกว่าคอนโดหรือให้เรียกว่าทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม แตกต่างกันออกไปด้วยรูปลักษณะ
ความจริงในสิ่งสมมุติหรือที่เรียกว่า สมมุติสัจจะ จึงมีความละเอียดอ่อนมากกว่าคำว่า สมมุติในทางโลก เพราะมันคือความจริงที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์สร้าง โดยมนุษย์หรือสร้างโดยธรรมชาติก็สุดแท้แต่บริบทนั้นๆ
แต่พวกเราทั้งหลายโดยมากอยู่กับสมมุติ แล้วก็ไปยึดติดในสมมุติ โดยเฉพาะสมมุติติดสัจจะทั้งปวงที่เรามีความทุกข์กันทุกวันนี้ที่เราพอมีความสุขบ้างในทุกวันนี้ก็เพราะเข้าไปยึดติดในสมมติสัจจะด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
สมมุติสัจจะทั้งหลายที่เราใช้ร่วมกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรารู้จักใช้ให้มันพอดีเราก็จะรู้สึกไม่มีความทุกข์ใดๆ และจะเป็นการใช้ที่ทำให้เรามีความสุขและจะทำให้เราสบายใจ แต่เมื่อไหร่ที่เราเข้าไปยึดแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ทันที โดยไม่มีข้อแม้ไม่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย
เหตุทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้เราจะยอมรับกันได้หรือไม่ว่าล้วนแต่เกิดจากการที่เข้าไปยึดติดทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องวัตถุนิยมทั้งปวง ที่ทำให้คนต้องสร้างบาปสร้างกรรมใส่กัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เงินทองหรือวัตถุนิยม มีความสำคัญในชีวิต เพียงแต่ว่าถ้าเราใช้สิ่งเหล่านั้น ด้วยความรู้สึกที่ดีด้วยความรู้สึกที่รู้จักคำว่า พอ ความทุกข์ทั้งปวงก็จะไม่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย
เราลองมาปรับฐานความคิด ฐานจิตใจของเราดูว่า ต่อไปนี้เราจะอยู่กับสมมุติสัจจะทั้งปวงด้วยความพอดี ไม่คลั่งไคล้หลงใหลแบบตามกระแส ความทุกข์ในใจของเรา ย่อมจะน้อยลงความสุขของเราจะมีมากขึ้นจากเดิมได้อย่างแท้จริง หรือไม่คำตอบที่เป็นผลลัพธ์มันอยู่ที่ใจของเราเองทั้งสิ้น
เชื่อเหลือเกินว่าบนโลกใบนี้ ถ้าใครเข้าใจความจริงและรู้จักการยอมรับความจริง และอยู่กับความจริงในเรื่องนั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ ได้ เขาผู้นั้นจะเป็นคนที่ทุกข์น้อยที่สุดในการใช้ชีวิตบนโลกนี้
สมมุติ วิมุตติ : หลวงปู่ชา สุภัทโท หนังสือ หมวดนอกเหตุเหนือผล
สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ที่เราสมมุติขึ้นมาเองทั้งสิ้น สมมุติแล้วก็หลงสมมุติของตัวเอง เลยไม่มีใครวางมัน เป็นทิฐิ มันเป็นมานะความยึดมั่นถือมั่น อันความยึดมั่นถือมั่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะจบได้ มันจบลงไม่ได้สักที เป็นเรื่องวัฏฏสงสารที่ไหลไปไม่ขาด ไม่มีทางสิ้นสุด ทีนี้ถ้าเรารู้จักสมมุติแล้วก็รู้จักวิมุตติ ครั้นรู้จักวิมุตติแล้วก็รู้จักสมมุติ ก็จะเป็นผู้รู้จักธรรมะอันหมดสิ้นไป
ก็เหมือนเราทุกคนนี้แหละ แต่เดิมชื่อของเราก็ไม่มี คือตอนเกิดมาก็ไม่มีชื่อ ที่มีชื่อขึ้นมาก็โดยสมมุติกันขึ้นมาเอง อาตมาพิจารณาดูว่า เอ! สมมุตินี้ ถ้าไม่รู้จักมันจริงๆแล้ว มันก็เป็นโทษมาก ความจริงมันเป็นของเอามาใช้ให้เรารู้จักเรื่องราวมันเฉยๆเท่านั้น ก็พอให้รู้ว่าถ้าไม่มีเรื่อง “สมมุติ” นี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะพูดกัน ไม่มีเรื่องที่จะบอกกัน ไม่มีภาษาที่จะใช้กัน
เมื่อครั้งที่อาตมาไปต่างประเทศ อาตมาได้ไปเห็นพวกฝรั่งไปนั่งกรรมฐานกันอยู่เป็นแถว แล้วเวลาจะลุกขึ้นออกไป ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม เห็นจับหัวกันผู้นั้นผู้นี้ไปเรื่อยๆ ก็เลยมาเห็นได้ว่า โอ! “สมมุติ” นี้ถ้าไปตั้งลงที่ไหน ไปยึดมั่นหมายมั่น มันก็จะเกิดกิเลสอยู่ที่นั่น ถ้าเราวางสมมุติได้ ยอมมันแล้ว ก็สบาย
อย่างพวกนายพลนายพันทหารมาที่นี่ ก็เป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ครั้นมาถึงอาตมาแล้วก็พูดว่า “หลวงพ่อกรุณาจับหัวให้ผมหน่อยครับ” นี่แสดงว่าถ้ายอมแล้วมันก็ไม่มีพิษ อยู่ที่นั่นพอลูบหัวให้ เขาดีใจด้วยซ้ำ แต่ถ้าไปลูบหัวเขาที่กลางถนนดูซิ ไม่เกิดเรื่องก็ลองดู นี่คือความยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ฉะนั้นอาตมาว่าการวางนี้ มันสบายจริงๆ เมื่อตั้งใจว่าเอาหัวมาให้อาตมาลูบก็สมมุติลงว่าไม่เป็นอะไร แล้วก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ ลูบอยู่เหมือนหัวเผือกหัวมัน แต่ถ้าเราไปลูบอยู่กลางทางไม่ได้แน่นอน
นี่แหละ เรื่องของการยอม การละ การวาง การปลง ทำได้แล้วมันเบาอย่างนี้ ครั้นไปยึดที่ไหนมันก็เป็นภพที่นั่น เป็นชาติที่นั่น มีพิษมีภัยขึ้นที่นั่น พระพุทธองค์ของเราท่านทรงสอนสมมุติ แล้วก็ทรงสอนให้รู้จักแก้สมมุติโดยถูกเรื่องของมัน ให้มันเห็นเป็นวิมุตติ อย่าไปยึดมั่นหรือถือมั่นมัน สิ่งที่มันเกิดมาในโลกนี้ก็เรื่องสมมุติทั้งนั้น มันจึงเป็นขึ้นมา ครั้นเป็นขึ้นมาแล้ว และสมมุติแล้ว ก็อย่าไปหลงสมมุตินั้น ท่านว่ามันเป็นทุกข์ เรื่องสมมุติ เรื่องบัญญัติ นี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าคนไหนปล่อย คนไหนวางได้ มันก็หมดทุกข์
แต่เป็นกิริยาของโลกเรา เช่นว่า พ่อบุญมานี้เป็นนายอำเภอ เถ้าแก่แสงชัยไม่ได้เป็นนายอำเภอ แต่ก็เป็นเพื่อนกันมาแต่ไหนแต่ไร แล้วเมื่อพ่อบุญมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ ก็เป็นสมมุติขึ้นมาแล้ว แต่ก็ให้รู้จักใช้สมมุติให้เหมาะสมสักหน่อย เพราะเรายังอยู่ในโลก ถ้าเถ้าแก่แสงชัยขึ้นไปหานายอำเภอที่ที่ทำงาน และเถ้าแก่แสงชัยไปจับหัวนายอำเภอมันก็ไม่ดี จะไปคิดว่าแต่ก่อนเคยอยู่ด้วยกัน หามจักรเย็บผ้าด้วยกันจวนจะตายครั้งนั้น จะไปเล่นหัวให้คนเห็น มันก็ไม่ถูกไม่ดี ต้องให้เกียรติกันสักหน่อย อย่างนี้ก็ควรปฏิบัติให้เหมาะสมตามสมมุติในหมู่มนุษย์ทั้งหลายจึงจะอยู่กันได้ด้วยดี ถึงจะเป็นเพื่อนกันมาแต่ครั้งไหนก็ตาม เขาเป็นนายอำเภอแล้ว ต้องยกย่องเขา เมื่อออกจากที่ทำงานมาถึงบ้านถึงเรือนแล้ว จึงจับหัวกันได้ไม่เป็นอะไร ก็จับหัวนายอำเภอนั่นแหละ แต่ไปจับอยู่ที่ศาลากลางคนเยอะๆ ก็อาจจะผิดแน่ นี่ก็เรียกว่าให้เกียรติกันอย่างนี้ ถ้ารู้จักใช้อย่างนี้ มันก็เกิดประโยชน์ถึงแม้จะสนิทกันนานแค่ไหนก็ตาม พ่อบุญมาก็คงจะต้องโกรธหากว่าไปทำในหมู่คนมากๆ เพราะเป็นนายอำเภอแล้ว นี่แหละ มันก็เรื่องปฏิบัติเท่านี้แหละโลกเรา ให้รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักบุคคล
ท่านจึงให้เป็นผู้ฉลาดสมมุติก็ให้รู้จัก วิมุตติก็ให้รู้จัก ให้รู้จักในคราวที่เราจะใช้ ถ้าเราใช้ให้ถูกต้อง มันก็ไม่เป็นอะไร ถ้าใช้ไม่ถูกต้องมันก็ผิด มันผิดอะไร มันผิดกิเลสของคนนี่แหละ มันไม่ผิดอันอื่นหรอก เพราะคนเหล่านี้อยู่กับกิเลสมันก็เป็นกิเลสอยู่แล้วนี่ เรื่องปฏิบัติของสมมุติ ปฏิบัติเฉพาะในที่ประชุม ในบุคคล ในกาล ในเวลา ก็ใช้สมมุติบัญญัติอันนี้ได้ตามความเหมาะสมก็เรียกว่าคนฉลาด ให้เรารู้จักต้นรู้จักปลายทั้งที่เราอยู่ในสมมุตินี้แหละ มันทุกข์เพราะความไปยึดมั่นหมายมั่นมัน แต่ถ้ารู้จักสมมุติให้มันเป็น มันก็เป็นขึ้นมา เป็นขึ้นมาได้ โดยฐานที่เราสมมุติ แต่มันค้นไปจริงๆแล้ว ไปจนถึงวิมุตติ มันก็ไม่มีอะไรเลย
อาตมาเคยเล่าให้ฟังว่าพวกเราทั้งหลายที่มาบวชเป็นพระนี้ แต่ก่อนเป็นฆราวาส ก็สมมุติเป็นฆราวาส มาสวดสมมุติให้เป็นพระ ก็เลยเป็นพระ แต่เป็นพระเณรเพียงสมมุติ พระแท้ๆ ยังไม่เป็น เป็นเพียงสุมมติ ยังไม่เป็นวิมุตติ นี่ถ้าหากว่าเรามาปฏิบัติให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเหล่านี้เป็นขั้นๆ ไป ตั้งแต่ขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไปจนถึงพระอรหันต์ นั้นเป็นเรื่องละกิเลสแล้ว แต่แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังเป็นเรื่องสมมุติอยู่นั่นเอง คือสมมุติอยู่ว่าเป็นพระอรหันต์ อันนั้นเป็นพระแท้ครั้งแรกก็สมมุติอย่างนี้ คือสมมุติว่าเป็นพระแล้วก็จะละกิเลสเลยได้ไหม? ก็ไม่ได้ เหมือนกันกับเกลือนี่แหละ สมมุติว่าเรากำดินทรายมาสักกำหนึ่ง เอามาสมมุติว่าเป็นเกลือ มันเป็นเกลือไหมล่ะ? ก็เป็นอยู่ แต่เป็นเกลือโดยสมมุติ ไม่ใช่เกลือแท้ๆ จะเอาไปใส่แกงมันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะว่าเป็นเกลือแท้ มันก็เปล่าทั้งนั้นแหละ นี่เรียกว่าสมมุติ
ทำไมจึงสมมุติ? เพราะว่าเกลือไม่มีอยู่ที่นั่น มันมีแต่ดินทราย ถ้าเอาดินทรายมาสมมุติว่าเป็นเกลือมันก็เป็นเกลือให้อยู่ เป็นเกลือโดยฐานที่สมมุติ ไม่เป็นเกลือจริง คือมันก็ไม่เค็มใช้สำเร็จประโยชน์ไม่ได้ มันสำเร็จประโยชน์ได้เป็นบางอย่าง คือในขั้นสมมุติ ไม่ใช่ในขั้นวิมุตติ
ชื่อว่าวิมุตตินั้น ก็สมมุตินี้แหละเรียกขึ้นมา แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันหลุดพ้นจากสมมุติแล้ว หลุดไปแล้ว มันเป็นวิมุตติแล้ว แต่ก็ยังเอามาสมมุติให้เป็นวิมุตติอยู่อย่างนี้แหละ มันก็เป็นเรื่องเท่านี้ จะขาดสมมุตินี้ได้ไหม? ก็ไม่ได้ ถ้าขาดสมมุตินี้แล้ว ก็จะไม่รู้จักการพูดจา ไม่รู้จักต้นไม่รู้จักปลายเลย ไม่มีภาษาจะพูดกัน
ฉะนั้นสมมุตินี้ก็มีประโยชน์ คือประโยชน์ที่สมมุติขึ้นมาให้เราใช้กัน เช่นว่า คนทุกคนก็มีชื่อต่างกัน แต่ว่าเป็นคนเหมือนกัน ถ้าหากไม่มีการตั้งชื่อเรียกกันก็จะไม่รู้ว่าพูดกันให้ถูกคนได้อย่างไร เช่น เราอยากจะเรียกใครสักคนหนึ่ง เราก็เรียกว่า “คนๆ” ก็ไม่มีใครมา มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์เ พราะต่างก็เป็นคนด้วยกันทุกคน แต่ถ้าเราเรียก “จันทร์มานี่หน่อย” จันทร์ก็ต้องมา คนอื่นก็ไม่ต้องมา มันสำเร็จประโยชน์อย่างนี้ ได้เรื่องได้ราว ฉะนั้น ได้ข้อประพฤติปฏิบัติอันเกิดจากสมมุติ อันนี้ก็ยังมีอยู่
ดังนั้นถ้าเข้าใจในเรื่องสมมุติเรื่องวิมุตติให้ถูกต้องมันก็ไปได้ สมมุตินี้ก็เกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ความจริงแท้แล้วมันไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น แม้แต่ว่าคนก็ไม่มีอยู่ที่นั่น เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้น เกิดมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน เจริญเติบโตด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน ให้ตั้งอยู่ได้พอสมควรเท่านั้น อีกหน่อยมันก็บุบสลายไปเป็นธรรมดา ใครจะห้ามก็ไม่ได้จะปรับปรุงอะไรก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงเท่านั้น อันนี้ก็เรียกว่าสมมุติ ถ้าไม่มีสมมุติก็ไม่มีเรื่องมีราว ไม่มีเรื่องที่จะปฏิบัติ ไม่มีเรื่องที่จะมีการมีงาน ไม่มีชื่อเสียงเลยไม่รู้จักภาษากัน ฉะนั้น สมมุติบัญญัตินี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษาให้ใช้กันสะดวก
เหมือนกับเงินนี่แหละ สมัยก่อนธนบัตรมันไม่มีหรอก มันก็เป็นกระดาษอยู่ธรรมดา ไม่มีราคาอะไร ในสมัยต่อมา ท่านว่าเงินอัฐเงินตรามันเป็นก้อนวัตถุเก็บรักษายาก ก็เลยเปลี่ยนเสีย เอาธนบัตรเอากระดาษนี้มาเปลี่ยนเป็นเงิน ก็เป็นเงินให้เราอยู่ ต่อนี้ไปถ้ามีพระราชาองค์ใหม่เกิดขึ้นมา สมมุติไม่ชอบธนบัตรกระดาษ เอาขี้ครั่งก็ได้ มาทำให้มันเหลว แล้วมาพิมพ์เป็นก้อนๆ สมมุติว่าเป็นเงิน เราก็จะใช้ขี้ครั่งกันทั้งหมดทั่วประเทศ เป็นหนี้เป็นสินกันก็เพราะก้อนขี้ครั่งนี้แหละ อย่าว่าแต่เพียงก้อนขี้ครั่งเลย เอาก้อนขี้ไก่มาแปรให้มันเป็นเงิน มันก็เป็นได้ ทีนี้ขี้ไก่ก็จะเป็นเงินไปหมด จะฆ่ากันแย่งกันก็เพราะก้อนขี้ไก่ เรื่องของมันเป็นเรื่องแค่นี้
แม้เขาจะเปลี่ยนเป็นรูปใหม่มา ถ้าพร้อมกันสมมุติขึ้นแล้ว มันก็เป็นขึ้นมาได้ มันเป็นสมมุติอย่างนั้น อันนี้สิ่งที่ว่าเป็นเงินนั้น มันเป็นอะไรก็ไม่รู้จัก เรื่องแร่ต่างๆที่ว่าเป็นเงินจริงๆแล้วจะเป็นเงินหรือเปล่าก็ไม่รู้เห็น แร่อันนั้นเป็นมาอย่างนั้น ก็เอามาสมมุติมันขึ้นมามันก็เป็น ถ้าพูดเรื่องโลกแล้วมันก็มีแค่นี้ สมมุติอะไรขึ้นมาแล้วมันก็เป็น เพราะมันอยู่กับสมมุติเหล่านี้ แต่ว่าจะเปลี่ยนให้เป็นวิมุตติ ให้คนรู้จักวิมุตติอย่างจริงจังนั้นมันยาก
เรือนเราบ้านเรา ข้าวของเงินทอง ลูกหลานเรา เหล่านี้ ก็สมมุติว่าลูกเราเมียเรา พี่เราน้องเรา อย่างนี้เป็นฐานที่สมมุติกันขึ้นมาทั้งนั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าพูดตามธรรมะท่านว่าไม่ใช่ของเรา ก็ฟังไม่ค่อยสบายหูสบายใจเท่าใด เรื่องของมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่สมมุติขึ้นมาก็ไม่มีราคา สมมุติว่าไม่มีราคา ก็ไม่มีราคา สมมุติให้มีราคาขึ้นมา ก็มีราคาขึ้นมา มันก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้น สมมุตินี้ก็ดีอยู่ ถ้าเรารู้จักใช้มัน ให้รู้จักใช้มัน
อย่างสกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เราหรอก มันเป็นของสมมุติ จริงๆแล้วจะหาตัวตนเราเขาแท้มันก็ไม่มี มีแต่ธรรมธาตุอันหนึ่งเท่านี้แหละ มันเกิด แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นจริงเป็นจังของมัน แต่ว่าสมควรที่เราจะต้องใช้มัน
อย่างว่าเรามีชีวิตอยู่ได้นี้เพราะอะไร? เพราะอาหารการกินของเราที่เป็นอยู่ ถ้าหากว่าชีวิตเราอยู่กับอาหารการกินเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงเป็นปัจจัยจำเป็น เราก็ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ให้มันสำเร็จประโยชน์ในความเป็นอยู่ของเรา เหมือนกับพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนพระ เริ่มต้นจริงๆท่านก็สอนเรื่องปัจจัยสี่ เรื่องจีวร เรื่องบิณฑาต เรื่องเสนาสะ เรื่องเภสัชยาบำบัดโรค ท่านให้พิจารณา ถ้าเราไม่ได้พิจารณาตอนเช้า ยามเย็นมันล่วงกาลมาแล้ว ก็ให้พิจารณาเรื่องอันนี้
ทำไมท่านจึงให้พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาให้รู้จักว่ามันเป็นปัจจัยสี่เครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา นักบวชก็ต้องมีผ้านุ่งผ้าห่ม อาหารการขบฉัน ยารักษาโรค มีที่อยู่อาศัย เมื่อเรามีชีวิตอยู่เราจะหนีจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นอยู่ ท่านทั้งหลายจะได้ใช้ของเหล่านี้จนตลอดชีวิตของท่าน แล้วท่านอย่าหลงนะ อย่าหลง สิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงเท่านี้ มีผลเพียงเท่านี้
เราจะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปจึงอยู่ได้ ถ้าไม่อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะบำเพ็ญภาวนา จะสวดมนต์ทำวัตร จะนั่งพิจารณากรรมฐาน ก็จะสำเร็จประโยชน์ให้ท่านไม่ได้ ในเวลานี้จะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าไปติดสิ่งเหล่านี้ อย่าไปหลงสมมุติอันนี้ อย่าไปติดปัจจัยสี่อันนี้ มันเป็นปัจจัยให้ท่านอยู่ไปๆ พอถึงคราวมันก็เลิกจากกันไปถึง แม้มันจะเป็นเรื่องสมมุติก็ต้องรักษาให้มันอยู่ ถ้าไม่รักษามันก็เป็นโทษ เช่น ถ้วยใบหนึ่ง ในอนาคตถ้วยมันจะต้องแตก แตกก็ช่างมัน แต่ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านรักษาถ้วยใบนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นเครื่องใช้ของท่าน ถ้าถ้วยใบนี้แตก ท่านก็ลำบาก แต่ถึงแม้ว่าจะแตก ก็ขอให้เป็นเรื่องสุดวิสัยที่มันแตกไป
ปัจจัยสี่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พิจารณานี้ก็เหมือนกัน เป็นปัจจัยส่งเสริมเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิตให้ท่านทั้งหลายรู้จักมัน อย่าไปยึดมั่นหมายมั่นมันจนเป็นก้อนกิเลสตัณหาเกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจของท่านจนเป็นทุกข์ เอาแค่ใช้ชีวิตให้มันเป็นประโยชน์เท่านี้ก็พอแล้ว
เรื่องสมมุติกับวิมุตติมันก็เกี่ยวข้องกันอย่างนี้เรื่อยไป ฉะนั้น ถ้าหากว่าใช้สมมุติอันนี้อยู่ อย่าไปวางอกวางใจว่ามันเป็นของจริง จริงโดยสมมุติเท่านั้น ถ้าเราไปยึดมั่นหมายมั่นก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไม่รู้เรื่องอันนี้ตามเป็นจริง เรื่องมันจะถูกจะผิดก็เหมือนกัน บางคนก็เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เรื่องผิดเรื่องถูกไม่รู้ว่าเป็นของใคร ต่างคนต่างก็สมมุติขึ้นมาว่าถูกว่าผิด อย่างนี้แหล ะเรื่องทุกเรื่องก็ควรให้รู้
พระพุทธเจ้าท่านกลัวว่ามันจะเป็นทุกข์ถ้าหากว่าถกเถียงกันเรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันจบ ไม่เป็นคนหนึ่งว่าถูกคนหนึ่งว่าผิด คนหนึ่งว่าผิดคนหนึ่งว่าถูก อย่างนี้ แต่ความจริงแล้วเรื่องถูกเรื่องผิดนั้นน่ะเราไม่รู้จักเลย เอาแต่ว่าให้เรารู้จักใช้ให้มันสบาย ทำการงานให้ถูกต้อง อย่าให้มันเบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น ให้มันเป็นกลางๆไป อย่างนี้มันก็สำเร็จประโยชน์ของเรา
รวมแล้วส่วนสมมุติก็ดี ส่วนวิมุตติก็ดี ล้วนแต่เป็นธรรมะ แต่ว่ามันเป็นของยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่มันก็เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เราจะรับรองแน่นอนว่าอันนี้ให้เป็นอันนี้จริงๆอย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้วางไว้ว่า “มันไม่แน่” ถึงจะชอบมากแค่ไหนก็ให้รู้ว่ามันไม่แน่นอน ถึงจะไม่ชอบมากแค่ไหนก็ให้เข้าใจว่าอันนี้ไม่แน่นอน มันก็ไม่แน่นอนอย่างนั้นจริงๆ แล้วปฏิบัติจนเป็นธรรมะ
อดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม เรียกว่าปฏิบัติธรรมะแล้ว ที่มันจบก็คือ ที่มันไม่มีอะไร ที่มันละมันวาง มันวางภาระที่มันจบ จะเปรียบเทียบให้ฟัง อย่างคนหนึ่งว่าธงมันเป็นอะไรมันจึงปลิวพริ้วไป คงเป็นเพราะมีลม อีกคนหนึ่งว่ามันเป็นเพราะมีธงต่างหาก อย่างนี้ก็จบลงไม่ได้สักที เหมือนกันกับไก่เกิดจากไข่ ไข่เกิดจากไก่ อย่างนี้แหละ มันไม่มีหนทางจบคือมันหมุนไปๆตามวัฏฏะของมัน
ทุกสิ่งสารพัดนี้ก็เรียกสมมุติขึ้นมา มันเกิดจากสมมุติขึ้นมา ก็ให้รู้จักสมมุติ ให้รู้จักบัญญัติ ถ้ารู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็รู้จักเรื่องอนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา มันเป็นอารมณ์ตรงต่อพระนิพพานเลยอันนี้ เช่น การแนะนำพร่ำสอนให้ความเข้าใจกับคนแต่ละคนนี้มันก็ยากอยู่ บางคนมีความคิดอย่างหนึ่ง พูดให้ฟังก็ว่าไม่ใช่ พูดความจริงให้ฟังเท่าไรก็ว่าไม่ใช่ ฉันเอาถูกของฉันคุณเอาถูกของคุณ มันก็ไม่มีทางจบ แล้วมันเป็นทุกข์ ก็ยังไม่วางก็ยังไม่ปล่อยมัน
อาตมาเคยเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งว่า คนสี่คนเดินเข้าไปในป่าได้ยินเสียงไก่ขัน “เอ๊กอี๊เอ้กเอ้ก” ต่อกันไป คนหนึ่งก็เกิดปัญญาขึ้นมาว่า เสียงขันนี้ใครว่าไก่ตัวผู้หรือไก่ตัวเมีย สามคนรวมหัวกันว่าไก่ตัวเมีย ส่วนคนเดียวนั้นก็ว่าไก่ตัวผู้ขัน เถียงกันไปอยู่อย่างนี้แหละ ไม่หยุด สามคนว่าไก่ตัวเมียขัน คนเดียวว่าไก่ตัวผู้ขัน “ไก่ตัวเมียจะขันได้อย่างไร?” “ก็มันมีปากนี่” สามคนตอบคน คนเดียวนั้นเถียงจนร้องไห้ ความจริงแล้วไก่ตัวผู้นั่นแหละขันจริงๆตามสมมุติเขา แต่สามคนนั้นว่าไม่ใช่ ว่าเป็นไก่ตัวเมีย เถียงกันไปจนร้องไห้เสียอกเสียใจมาก ผลที่สุดแล้วมันก็ผิดหมดทุกคนนั่นแหละ ที่ว่าไก่ตัวผู้ไก่ตัวเมีย ก็เป็นสมมุติเหมือนกัน
ถ้าไปถามไก่ว่า “เป็นตัวผู้หรือ?” มันก็ไม่ตอบ “เป็นไก่ตัวเมียหรือ?” มันก็ไม่ให้เหตุผลว่าอย่างไร แต่แรกเคยสมมุติบัญญัติว่ารูปลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้ รูปลักษณะอย่างนั้นเป็นไก่ตัวเมีย รูปลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้มันต้องขันอย่างนี้ ตัวเมียต้องขันอย่างนั้น อันนี้มันเป็นสมมุติติดอยู่ในโลกเรานี้ ความเป็นจริงของมัน มันไม่มีไก่ตัวผู้ไก่ตัวเมียหรอก ถ้าพูดตามความสมมุติในโลกก็ถูกตามคนเดียวนั้น แต่เพื่อนสามคนไม่เห็นด้วย เขาว่าไม่ใช่ เถียงกันไปจนร้องไห้มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มันก็เรื่องเพียงเท่านี้
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นทำไมจะปฏิบัติได้? ปฏิบัติไปเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่ จะเอาปัญญาแทนเข้าไปในที่นี้ยากลำบาก นี่แหละ ที่ไม่ให้ยึดมันจึงเป็นของยาก มันต้องอาศัยปัญญาแหลมคมเข้าไปพิจารณามันจึงไปกันได้ อนึ่ง ถ้าคิดไปแล้วเพื่อบรรเทาทุกข์ลงไป ไม่ว่าผู้มีน้อยหรือมีมากหรอก เป็นกับปัญญาของคนก่อนที่มันจะทุกข์ มันจะสุข มันจะสบาย มันจะไม่สบาย มันจะล่วงทุกข์ทั้งหลายได้ เพราะปัญญาให้มันเห็นตามเป็นจริงของมัน
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้อบรม ให้พิจารณา ให้ภาวนา ภาวนาก็คือให้พยายามแก้ปัญญาทั้งหลายเหล่านี้ให้ถูกต้องตามเรื่องของมัน เรื่องของมันเป็นอยู่อย่างนี้ คือ เรื่องเกิด เรื่องแก่เรื่องเจ็บ เรื่องตาย มันเป็นเรื่องของธรรมดาๆแท้ๆ มันเป็นอยู่อย่างนี้ของมัน ท่านจึงให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ให้ภาวนา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย บางคนไม่เข้าใจ ไม่รู้จะพิจารณามันไปทำไม เกิดก็รู้จักว่าเกิดอยู่ ตายก็รู้จักว่าตายอยู่นั่นแหละ มันเป็นเรื่องของธรรมดาเหลือเกิน มันเป็นเรื่องความจริงเหลือเกิน ถ้าหากว่าผู้ใดมาพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอยู่อย่างนี้มันก็เห็น เมื่อมันเห็นมันก็ค่อยแก้ไขไป ถึงหากว่ามันจะมีความยึดมั่นหมายมั่นอยู่ก็ดี ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามันก็บรรเทาทุกข์ไปได้ ฉะนั้น จงศึกษาธรรมะเพื่อแก้ทุกข์
ในหลักพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีอะไร มีแต่เรื่องทุกข์เกิด กับทุกข์ดับ เรื่องทุกข์จะเกิด เรื่องทุกข์จะดับ เท่านั้น ท่านจึงจัดเป็นสัจจธรรม ถ้าไม่รู้ มันก็เป็นทุกข์ เรื่องจะเอาทิฐิมานะมาเถียงกันนี้ก็ไม่มีวันจบหรอก มันไม่จบมันไม่สิ้น เรื่องที่จะให้จิตใจเราบรรเทาทุกข์สบายๆนั้น เราก็ต้องพิจารณาดูเรื่องที่เราผ่านมา เรื่องปัจจุบัน และอนาคตที่มันเป็นไป เช่นว่า พูดถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทำยังไงมันจึงจะไม่ให้เป็นห่วงเป็นใยกัน ก็เป็นห่วงเป็นใยอยู่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าหากบุคคลมาพิจารณารู้เท่าตามความเป็นจริง ทุกข์ทั้งหลายก็จะบรรเทาลงไป เพราะไม่ได้กอดทุกข์ไว้
แต่ก่อนเราไม่เข้าใจปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไร้ประโยชน์เสียเวลา เราตามหาความสุขความดับทุกข์ แต่ว่ามันผิด มันไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง การดำเนินชีวิตมันเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ด้วยเราไม่เข้าใจหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ชีวิตของเราก็ไม่มีความสุข ไม่มีความอบอุ่น ให้พากันเข้าใจเราจะได้พัฒนาให้มันถูก มันไม่ยากลำบาก มันอยู่ที่เข้าใจตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพราะอันนี้เป็นของดี ดีจริง ดีอย่างประเสริฐ ดีอย่างไม่มีโทษ เพื่อความดับทุกข์ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee